ผู้เขียน หัวข้อ: บทความ-สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ-ตอนที่3  (อ่าน 2627 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
....................ต่อจากตอนที่2
4.   สาเหตุเนื่องจากความเสี่ยงในวิชาชีพมีมากขึ้น ได้แก่
 
4.1 ความเสี่ยงในการถูกฟ้องร้อง ในปัจจุบันผู้ป่วยมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการรักษาของแพทย์เพิ่มมากขึ้น ทั้งๆที่โดยเกือบจะทั้งหมดจะเกิดจากเหตุสุดวิสัยต่างๆในการรักษา หรือเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการรักษาซึ่งพบได้ในตำรารักษาโรค โดยที่ปัญหาต่างๆเหล่านี้ไม่มีแพทย์คนใดต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุของความเสี่ยงในการฟ้องร้อง ได้แก่
 
4.1.1 แพทย์มีเวลาดูแลรักษาผู้ป่วยน้อยลง เพราะจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการจากโรงพยาบาลของรัฐมีจำนวนมากขึ้น ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ต้องตรวจผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นตั้งแต่ 50-100 คนต่อแพทย์หนึ่งคนต่อวัน ในการตรวจและอธิบายถึงสาเหตุของโรค วิธีการรักษา ผลของการรักษา และภาวะแทรกซ้อนของการรักษาให้ผู้ป่วยเข้าใจ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-20 นาที ขึ้นไปต่อผู้ป่วยหนึ่งคน (ซึ่งจะมีส่วนทำให้การฟ้องร้องลดน้อยลง) เพราะฉะนั้น ถ้าทำงานโดยไม่หยุดพักเลยใน 1 วันทำการ แพทย์จะรักษาผู้ป่วยได้ไม่เกิน 30 คนต่อวัน
 
แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ที่แพทย์จะทำเช่นนั้น เพราะจะมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ต้องรอตรวจ จึงทำให้เกิดคำพูดที่ว่า “ตรวจผู้ป่วยมากถูกฟ้องมาก ตรวจผู้ป่วยน้อยถูกฟ้องน้อย ทำงานมากถูกฟ้องมาก ทำงานน้อยถูกฟ้องน้อย”
 
4.1.2 ผู้ป่วยมีความคาดหวังในการรักษาสูง ผู้ป่วยส่วนมากเข้าใจว่า เวลามาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา จะต้องได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาที่ถูกต้อง ต้องรักษาหายและไม่มีภาวะแทรกซ้อน แม้ว่าแพทย์จะได้อธิบายถึงความเสี่ยงของการรักษา (morbidity and mortality) แล้ว แต่บางครั้งผู้ป่วยก็ไม่เข้าใจหรือไม่พยายามเข้าใจ
 
ใน ความจริงของการรักษาโรคนั้น อาการบางอาการหรือโรคบางโรคจะมีลักษณะที่คล้ายหรือใกล้เคียงกัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์ วินิจฉัยโรค หรือบางครั้งต้องรอดูอาการของโรคเพื่อหาคำตอบสุดท้าย
 
ซึ่งถ้าหาก ผู้ป่วยไม่เข้าใจคิดว่าแพทย์ที่ตนเองกำลังรักษาอยู่นั้นไม่เก่ง ก็จะย้ายโรงพยาบาลไปหาแพทย์คนอื่น ซึ่งก็อาจจะต้องตรวจหรือดูอาการต่อไปอีก และผู้ป่วยก็อาจจะย้ายไปอีกจนถึงแพทย์คนสุดท้าย ซึ่งก็อาจจะวินิจฉัยโรคได้เพราะได้ข้อมูลมาพร้อม ผู้ป่วยแสดงอาการของโรคที่ชัดเจนขึ้นจนตัดโรคอื่นๆได้หมด ถ้ารักษาจนหายก็อาจจะไม่มีเรื่อง (หรือแพทย์คนแรกๆอาจถูกต่อว่าหรือตำหนิได้) แต่ถ้ารักษาไม่หายหรือเสียชีวิต แพทย์ที่รักษาคนแรกก็อาจจะถูกฟ้องได้ว่ารักษาโดยไม่รอบคอบหรือประมาท ทั้งๆที่แพทย์คนแรกอาจจะเก่งและดูแลผู้ป่วยดี แต่เนื่องจากเป็นโรคที่ยากทำให้ต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยหรือเป็นโรคที่มี ความเสี่ยงในการรักษาสูง ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบได้อยู่บ่อยๆ จนหลายครั้งทำให้แพทย์หมดกำลังใจในการรักษาได้
 
4.1.3 ความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยและสังคมของแพทย์ โรคบางโรคมีความซับซ้อน มีความเสี่ยงและค่อนข้างยากต่อการรักษาหรือการผ่าตัด ถ้าแพทย์ทุกคนหรือแพทย์ส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะรักษาหรือกลัวที่จะถูกฟ้องร้อง ถ้าผลของการรักษาของแพทย์ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติ แพทย์จึงส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์แทน ผู้ป่วยก็จะได้รับผลกระทบ ที่แน่นอนก็คือ จะได้รับการรักษาที่ช้าลง เนื่องจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะรับผู้ป่วยไว้รักษาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องคอยคิวนานขึ้นในการรักษา อาการหรือความรุนแรงของโรคก็จะลุกลามมากขึ้น จนบางครั้งอาจช้าไปหรือเสียโอกาสในการรักษา ทั้งๆที่การรักษาอาจทำได้เหมือนกันในโรงพยาบาลทั่วไป แต่การรักษาก็ย่อมมีความเสี่ยง แพทย์ที่ทำการรักษาบางครั้งเหมือนยอมแบกรับความเสี่ยงด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับโอกาสในการรักษาที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งถ้าผู้ป่วยและญาติไม่เข้าใจ และถ้ามีปัญหาหรือภาวะแทรกซ้อนในการรักษาเกิดขึ้นมา แพทย์ก็อาจจะถูกฟ้องร้องได้ว่าไม่ยอมส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ขนาดใหญ่หรือรักษาโดยประมาท นอกจากนั้น การเดินทางเข้าโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์ ก็ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายต่างๆในการไปเยี่ยมไปเฝ้า ทำให้ต้องสูญเสียเงินทองตามมาอีกเป็นจำนวนมาก
 
นอกจากนั้น โรคบางโรคอาจต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ หรือการตรวจทางรังสีเพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ตามตำราที่แพทย์ได้ศึกษามา (มักจะเป็นตำราต่างประเทศ) ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง แพทย์ส่วนใหญ่มีความเข้าใจถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย ต้องนำเข้าเทคโนโลยีในการรักษาเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในบางครั้งแพทย์ก็ตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือตรวจทางรังสีไม่ครบ ตามตำราที่ได้ศึกษา (ตรวจตามความจำเป็น ไม่ใช่เป็นการประมาท) เนื่องมาจากงบประมาณอันมีจำกัด ด้วยสาเหตุเหล่านี้ ถ้าผู้ป่วยไม่เข้าใจและเอาข้ออ้างต่างๆเหล่านี้มาฟ้องร้องแพทย์ ต่อไปแพทย์ก็คงจะต้องตรวจและอธิบายผู้ป่วยอย่างละเอียด ส่งผู้ป่วยตรวจทางห้องปฏิบัติการและทางรังสีทุกอย่างที่มีในตำรา จนบางครั้งอาจกลายเป็นการส่งตรวจเพื่อป้องกันตนเองในกรณีที่มีการฟ้องร้อง (protective medicine) ซึ่งแน่นอนจะทำให้ผู้ป่วยต้องรอคอยการรักษาที่ นานขึ้น (แพทย์ตรวจได้ไม่เกินวันละ 30 คน) และจะทำให้งบประมาณของระบบสาธารณสุขไทยจะต้องเพิ่มขึ้นและบานปลายมากกว่า ปัจจุบันอีกหลายเท่าตัว ซึ่งคงไม่มีรัฐบาลไหนอยากเจอสภาพเช่นนี้
 
4.1.4 การทำงานนอกเวลาราชการ (โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืน) แพทย์ซึ่งทำงานมาแล้วทั้งวันในเวลาราชการ จะมีความอ่อนล้า อิดโรย การทำงานของสมองและการตัดสินใจเริ่มเฉื่อยลง แต่ผู้ป่วยที่มีอาการ หนักมักจะมาตอนกลางคืน ทำให้การรักษาอาจผิดพลาดได้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่เกิดจากความไม่พร้อมของร่างกายและจิตใจของแพทย์ ซึ่งมีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ
 
4.1.5 การขาดประสบการณ์ของแพทย์ใช้ทุนที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดส่งแพทย์ซึ่งสำเร็จการศึกษาไปทำงานในจังหวัด ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วย ซึ่งเรียกว่าไปเป็นแพทย์ใช้ทุน แต่ประชาชนทั่วไปกลับเข้าใจว่าแพทย์ที่ส่งไปนั้นมีความสามารถรอบด้าน
 
ซึ่ง ในความเป็นจริงถึงแม้ว่าน้องๆแพทย์ใช้ทุนเหล่านี้จะจบแพทย์แล้ว แต่ยังขาดประสบการณ์ในการวิเคราะห์และรักษาโรค โดยเฉพาะในการทำหัตถการต่างๆ ทำให้เหมือนกับว่าส่งน้องๆแพทย์ใช้ทุนไปขึ้นเขียงรอวันผิดพลาด และอย่างที่ทราบว่าในปัจจุบันนี้ผู้ป่วยมีความคาดหวังสูง ถ้าแพทย์ทำผิดพลาดเมื่อใด ก็จะต้องถูกฟ้องร้อง แม้ว่าจะเกิดจากสาเหตุสุดวิสัยหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆก็ตาม และที่สำคัญก็คือ การขาดประสบการณ์ในการดูแลและรักษาเบื้องต้นในผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉินในเรื่องการคลอด ซึ่งมารดาที่มาคลอดและญาติมาโรงพยาบาลด้วยความหวังที่จะมีสมาชิกใหม่เกิด ขึ้น ถ้าเกิดภาวะฉุกเฉินที่เกี่ยวกับการคลอดในการดูแลของแพทย์ใช้ทุน แล้วมีการสูญเสียขึ้น เรื่องคงจะไม่จบง่ายๆ ซึ่งพบได้เรื่อยๆ
 
ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขจึงควรปรึกษากับโรงเรียนแพทย์ให้เน้นในเรื่องภาว ะฉุกเฉินต่างๆก่อนที่จะจบการศึกษาประมาณ 1 เดือน และถ้าเป็นไปได้ให้ทุกคนอยู่ในโรงพยาบาลจังหวัด 1-2 เดือนก่อนที่จะส่งไปโรงพยาบาลชุมชน เพื่อเสริมทักษะในหัตถการต่างๆให้แน่น ความเสี่ยงต่างๆจะได้ลดลง (เนื่องจากพบว่า การฟ้องร้องแพทย์ใช้ทุนจะพบบ่อยที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เพราะเป็นช่วงที่แพทย์ใช้ทุนเริ่มไปทำงาน)
 
และกระทรวงสาธารณสุขควร ยอมรับความจริงและบอกกับประชาชนว่าแพทย์ใช้ทุนเหล่า นี้เป็นผู้เสียสละมาทำงานในชุมชน แต่ยังขาดประสบการณ์ จึงควรจะมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าแพทย์ใช้ทุนเหล่านี้ลาออก ก็คงจะไม่มีแพทย์มาทำงานในโรงพยาบาลชุมชน
 
จากที่กล่าวมาทั้งหมด เกี่ยวกับการฟ้องร้องแพทย์นั้น นอกจากแพทย์อาจจะต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียชื่อเสียง ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือด้านจิตใจ แพทย์บางคนรักษาผู้ป่วยมาตลอดชีวิต ดูแลผู้ป่วยให้หายเป็นพันเป็นหมื่นคน แต่กลับมาถูกฟ้องร้องในเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจหรือเป็นเหตุสุดวิสัยที่หลีก เลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้แพทย์หลายคนลาออกจากระบบราชการ เพราะไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ถูกฟ้องได้ มาอยู่ระบบเอกชนดีกว่า เพราะงานเบากว่า (หรืออาจจะพอๆกัน) แต่รายได้ดีกว่ามาก แพทย์บางคนถึงกับเลิกอาชีพแพทย์ไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ไปประกอบธุรกิจส่วนตัวหรือธุรกิจขายตรงต่างๆ เป็นตัวแทนขายประกัน ชีวิต ไปสอบเป็นผู้พิพากษา เป็นต้น ซึ่งนับวันก็จะมีแพทย์ลาออกจากราชการมากขึ้นเรื่อยๆ
และเป็นที่น่า สังเกตว่า ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้มีการผลิตแพทย์ขึ้นโดยตรง โดยไม่ได้ผ่านระบบโรงเรียนแพทย์เหมือนที่ผ่านมา ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่เริ่มตั้งข้อสังเกตและเป็นห่วงถึงมาตรฐานและคุณภาพของ แพทย์ที่จะจบออกมา ซึ่งอาจจะมีส่วนทำให้การฟ้องร้องเพิ่มขึ้นได้
 
4.2 ความเสี่ยงในการติดเชื้อจากผู้ป่วย เชื้อที่พบบ่อยได้แก่ ไวรัสโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) ไวรัสตับอักเสบ เชื้อวัณโรค ซึ่งถ้าแพทย์ติดเชื้อมาจากผู้ป่วยก็จะทำให้เกิดผลร้ายต่อตนเองและครอบครัว ซึ่งผลที่ตามมาจะหนักหรือเบาก็ขึ้นกับตัวเชื้อโรคที่ได้รับ 
กระทรวง สาธารณสุขควรจะจัดอุปกรณ์และเครื่องมือที่ได้รับมาตรฐานและ เพียงพอแก่แพทย์และบุคลากรทาง การแพทย์เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และมีมาตรการชดเชย สวัสดิการที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อจากผู้ป่วย
 
4.3 ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ บ่อยครั้งที่แพทย์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากการอยู่เวรนอกเวลาราชการในตอนกลางคืนจนถึงเช้า ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่พอเพียงกับความต้องการ หลังจากออกเวรในตอนเช้า อาจจะมีความจำเป็นต้องขับรถกลับบ้านหรือไปทำธุระส่วนตัว ทำให้อาจหลับในจนเกิดอุบัติเหตุ บางครั้งก็ร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
 
4.4 ความเสี่ยงของสถาบันครอบครัว เนื่องจากเงินเดือนของแพทย์ที่รับราชการไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ทำให้แพทย์ส่วนมากต้องทำงานเสริมนอกเวลาราชการ ไม่เปิดคลินิกก็ทำงานพิเศษในโรงพยาบาลเอกชน จนบางครั้งทำให้ไม่มีเวลาดูแล ให้ความอบอุ่นแก่ครอบครัว และอบรมสั่งสอนบุตร บางครั้งอาจก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้ จนกลายเป็นปัญหาสังคม หรือแม้แต่ตัวของแพทย์เองที่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 59 ปี ซึ่งเกิดจากการทำงานหนัก สะสมความเครียดในการดูแลรักษาผู้ป่วย ถ้าเกิดแพทย์ผู้นั้นมีอันเป็นไปก่อนวัยอันสมควร ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บ จะทำให้ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังลำบากที่จะต้องสู้ชีวิตต่อไปโดยลำพัง ซึ่งก็อาจจะเกิดปัญหาสังคมได้อีก ถ้าไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ
..................จบตอนที่3