ผู้เขียน หัวข้อ: ขรก.ซวยรับปีใหม่ ถูกรอนสิทธิเข้าถึงยา “จิตเวช-สมองเสื่อม-มะเร็ง”  (อ่าน 610 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 ข้าราชการมีสิทธิซวยรับปีใหม่ ชมรมพิทักษ์สิทธิฯชี้ชัดประกาศกรมบัญชีกลางลิดรอนการเข้าถึงยา โรงพยาบาลแบกรับภาระค่าใช้จ่าย แพทยสภาร่วมยันยาชื่อสามัญมีไม่ครบตามยาต้นแบบ หลายตัวก็แทนกันไม่ได้ วอนชะลอการบังคับใช้ หามาตรการอื่นและฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง

ขรก.ซวยรับปีใหม่ ถูกรอนสิทธิเข้าถึงยา “จิตเวช-สมองเสื่อม-มะเร็ง”
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
   
       พล.ต.หญิง พูลศรี เปาวรัตน์ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าวว่า การที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ออกระเบียบการเบิกจ่ายยาในระบบกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยการจ่ายยาชื่อสามัญ (Generic) จะให้โรงพยาบาลบวกกำไรได้สูงร้อยละ 100-200 ของต้นทุนค่ายา และการจ่ายยาต้นแบบ (Original) บวกกำไรได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของราคาที่จัดซื้อและไม่เกินกว่าราคากลางที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 เป็นต้นไป ถือลิดรอนสิทธิการได้รับยาและเข้าถึงยาของข้าราชการ เพราะยาชื่อสามัญยังไม่มียาที่หลากชนิดพอในการรักษาผู้ป่วยให้หายเร็วได้ อาจทำให้โรคหายช้าหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงทำให้รายได้โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากยาชื่อสามัญหายไปด้วย จนกระทบต่องบต่างๆ เช่น การจ้างพนักงาน การช่วยผู้ป่วยยากไร้ เป็นต้น
       
       พล.ต.หญิง พูลศรี กล่าวอีกว่า ข้าราชการส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ประกาศดังกล่าว เพราะคำสั่งถูกส่งไปยังโรงพยาบาล จึงเหมือนถูกมัดมือชก อย่างไรก็ตาม ระเบียบดังกล่าวไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงเหมือนที่กรมบัญชีกลางคาดไว้ แต่จะทำให้มีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องแพทย์เพิ่มขึ้น เพราะอาจจ่ายยาไม่ถูกโรค เนื่องจากไม่มียาที่ถูกกับโรคจ่ายให้ผู้ป่วย ที่ผ่านมา ชมรมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร แล้ว หากกรมบัญชีกลางยังไม่ชะลอคำสั่งก็เท่ากับว่าข้าราชการไทยจะต้องซวยรับปีใหม่ และยังบีบงบสาธารณสุขรับปีใหม่โดยการออกคำสั่งบังคับแพทย์ในการสั่งยา
       
       พล.ต.หญิง พูลศรี กล่าวด้วยว่า ชมรมฯจะไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ก.คลัง และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 17 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ชะลอประกาศดังกล่าว เนื่องจากจากการยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสาธารณสุขก่อนหน้านี้ ได้มีการหารือกันว่าจะเสนอให้ สธ.และ ก.คลัง ชะลอคำสั่งไปก่อน แต่ชมรมฯก็ยังไม่มั่นใจ และเกรงว่า ก.คลัง จะไม่รับคำสั่งดังกล่าว เพราะยังไม่เห็นความคืบหน้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร
       
       ด้าน พล.ต.หญิง สลิลลา วีระรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ในฐานะที่ปรึกษา ผอ.รพ.พระมงกุฏเกล้า กล่าวว่า ยาชื่อสามัญยังมีไม่ครบทุกตัวของยาต้นแบบ อาจส่งผลต่อการรักษาโรคบางโรค เช่น โรคจิตเวช สมองเสื่อม มะเร็ง ลมชัก และโรคติดเชื้อบางโรค ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้สั่งห้ามให้ซื้อยาต้นแบบ แต่การให้คิดกำไรไม่เกินร้อยละ 3 จะทำให้โรงพยาบาลขาดค่าบริหารจัดการ ส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของคนไข้ อย่างไรก็ตาม เรื่องยาเป็นเรื่องสำคัญ หากรัฐบาลยังไม่มีองค์กรเข้ามาควบคุมคุณภาพ ประกาศดังกล่าวจะส่งผลให้โรงพยาบาลขาดทุน จนอาจต้องปลดพนักงานออก สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรทำคือ จัดทำระบบไอทีฐานข้อมูลเชื่อมโยงประวัติการใช้ยาของคนไข้ระหว่างโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดช่องโหว่ในการจ่ายยาซ้ำซ้อน ดังนั้น กรมบัญชีกลางควรชะลอคำสั่งและกลับไปจัดการเรื่องระบบเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว และมีกฎหมายที่เข้มงวดเอาผิดบริษัทยาที่ไม่ได้คุณภาพ
       
       นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ตามหลักการถ้าทำได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เกิดการประหยัด แต่จากการหารือกับหลายฝ่าย อาทิ ห้องยา แพทย์ ก็ไม่มีใครเห็นด้วย เนื่องจากทำให้ต้องเลิกซื้อยาหลายตัว แต่หากนำมาขายก็จะได้กำไรเพียงร้อยละ 3 ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แพทย์ก็มีความเห็นว่า ยาบางตัวอาจจะทดแทนกันได้ แต่ยาหลายตัวจะมีปัญหา เพราะมันไม่เหมือนของต้นแบบ ส่งผลให้ไม่มีใครกล้าเอาชีวิตคนไข้มาเป็นเดิมพัน เพราะในระยะยาวจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต รัฐบาลเองก็ไม่กล้ารับประกัน และยังไม่มีการตรวจสอบที่ชัดเจน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบคือข้าราชการ และโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ดังนั้น แพทยสภาได้ขอให้คณะกรรมาธิการสาธารณสุข ยื่นหนังสือไปยังรัฐบาล ขอให้ชะลอการบังคับใช้ และหามาตรการอื่น เนื่องจากจะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะรัฐบาลก็ยังมีข้อมูลไม่พร้อม ยังไม่เคยรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าแต่ละฝ่ายมีมุมมองความคิดเห็นอย่างไร

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 ธันวาคม 2556