หมวดหมู่ทั่วไป > สหสาขาวิชาชีพ

เรื่องค่าตอบแทนบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข-ดร.กฤษดา แสวงดี

(1/1)

story:
ขอเขียนอะไรยาวๆ ช่วยอ่านกันหน่อยนะคะ
เรื่องค่าตอบแทนบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน มากกว่า 10 ปี และพยาบาลก็จะอยู่ในฐานะเสียเปรียบ จากเหตุผลง่ายๆ ที่ฟังไม่ขึ้นว่า คนเยอะ ตัวหารเยอะ เงินแต่ละคนจึงน้อย เป็นที่เข้าใจค่ะ ว่า ค่าตอบแทน เป็นต้นทุนค่าแรง ก็เหมือนต้นทุนค่ายา ค่ารักษาอื่นๆ ที่ต้องมีเพดานการจ่าย ไม่เช่นนั้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะสูงมาก จนเศรษฐกิจล่มจมไปเลยก็ได้ ปัญหาก็คือ แล้วเท่าไหร่ ล่ะ วิธีจ่ายแบบไหนล่ะ ที่จะได้ผลคุ้มค่า

มาพูดเรื่องค่าตอบแทนในกระทรวงสาธารณสุข มีระเบียบให้จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรหลายฉบับ ที่ไม่ได้มีการพูดถึง เช่น ค่าตอบแทนแพทย์ ทันตแพทย์ ทุกคนที่ไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัวเดือนละ 10,000 เภสัชกร เดือนละ 5,000 พยาบาลเดือนละ 0 บาท จ่ายกันมาตั้งแต่ปี 2544 ก็คงจ่ายไปอีกเรื่อยๆ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ม่ว่าระบบสุขภาพจะสร้างหลักประกันให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ดีขนาดไหน เพราะไม่มีใครกล้าแตะต้อง

ไม่ใช่แค่ที่เป็นประเด็นโต้แย้ง ว่า P for P หรือเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายควรเป็นฉบับไหนดี ในฐานะนักวิชาการ การจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร แต่ละแบบก็มีเป้าหมายต่างกัน เช่นเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ในพื้นที่ห่างไกล ยากลำบาก หรือพูดง่ายๆ ว่าค่าอยู่ยาก ใครไปอยู่เรียกว่าเสียสละ ก็ต้องให้แรงจูงใจเพื่อค่าเสียโอกาสต่างๆ ตรงนี้ก็เป็นประเด็น บุคลากรแต่ละวิชาชีพ อยู่ยากต่างกันไม๊ เสียโอกาสเท่ากันหรือเปล่า ซึ่งวิชาการยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีพอ ทีนี้พอใช้ความเห็นตัดสิน ก็ เป็นเรื่องที่โต้แย้งกันเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เฉพาะระหว่างวิชาชีพ แม้แต่ในวิชาชีพเดียวกัน ก็ยังพบความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ที่อยู่ โรงพยาบาลใหญ่กว่า ซึ่งน่าจะมีความพร้อมกว่า กับผู้ที่ยิ่งอยู่ไกล และโรงพยาบาลเล็ก

หรือที่พยาบาลพูดถึง ความแตกต่างระหว่างค่าตอบแทน ตั้งแต่ 8 เท่าถึง 27 เท่า ในคนทำงานที่อายุงานเท่ากัน โรงพยาบาลเดียวกัน ด้วยเหตุผลอะไร ดิฉัน คิดส่วนตัวง่ายๆ คือ เพราะเงินมีเพดานจ่าย เมื่อจ่ายให้คนที่ได้ในอัตราสูงๆ ไปหมดแล้ว เงินเหลือแค่นี้แหละ คนที่เหลือก็แบ่งกัน ก็แล้วกัน พอพยาบาลคนเยอะ กลายเป็นความผิดของตัวหารเยอะ ปรากฏการณ์ นี้เกิดขึ้นในหลายๆ ระเบียบ ดังนั้น เมื่อกระทรวง ออกมาพูด หลักการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในระบบค่าตอบแทน แม้จะเพียงเรื่องเดียว ในอีกกว่า 10 เรื่อง พยาบาล ดีใจมากนะคะ เราเรียกร้องกระทรวง มานานมากแล้วเรื่องความไม่เป็นธรรม ครั้งนี้จึงมีการสนับสนุนการปรับปรุงระเบียบฉบับ ที่ 8.1 นี้แม้ว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำจะลดลงมาได้ นิดเดียว ซึ่งเรื่องนี้ถามความพอใจคงไม่ได้ แต่หวังว่าถ้าเริ่มตั้งต้นได้จะมีการพัฒนาต่อไป

สำหรับเรื่อง P4P ดิฉันคิดว่าโดยหลักการ ก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเป็นรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนที่สามารถเพิ่มผลิตภาพของกำลังคนได้ หลายองค์กรนำมาใช้ในรูปแบที่แตกต่างกัน เช่นเอกชน จ่ายให้แพทย์เป็นค่า doctor fee ตรวจคนไข้ ก็ได้รับ ไม่ตรวจก็ไม่ได้รับ ต่างกันก็คือ เงินที่นำมาจ่ายค่าตอบแทนเขา charge จากคนไข้ ใบเสร็จก็ออกมาค่าบริการทางการแพทย์ แต่ในภาครัฐ จ่ายจากงบประมาณ ก็ภาษีประชาชนเหมือนกัน ที่ต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข
ดังนั้น P4P จึงเป็นเพียงประเด็นที่โต้แย้งกันในกระทรวงฯ เกี่ยวกับวิธีการวัดผลการทำงาน ว่ายุ่งยาก เสียเวลา หรือเปล่า ก็เป็นเรื่องธรรมดา ของการเริ่มต้น ดังนั้น ถ้าระเบียบ ฉบับ ที่ 9 ที่กระทรวงเปิดกว้างให้มีทางเลือกในการพัฒนาวิธีการทำงาน ก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือ การติดตามประเมินผล และการพัฒนาต่อเนื่อง สำนักงาน กพ. ที่ดูแลเรื่องกำลังคนพลเรือน ก็น่าจะมาร่วมศึกษากับกระทรวงสาธารณสุขด้วยซ้ำ

ปัญหาอย่างหนึ่งที่เรา พยาบาลและสหสาขาวิชาชีพ กังวลก็คือ ความล่าช้าของการปรับปรุงระเบียบ ที่ว่ามา ทั้ง 8.1 และ 9 เพราะยิ่งช้า การเยียวยาให้ทุกคนได้เท่าเดิมก่อนปรับปรุงหลักเกณฑ์ ตามมติครม ก็ยิ่งทำให้ปัญหายืดเยื้อออกไป เงินที่รัฐบาลให้มาแก้ปัญหาก็คงหมดก่อนที่จะได้ลดความเหลื่อมล้ำ เลยไม่รู้ว่า กลุ่มที่ล้มมติ ของคณะทำงานกระทรวง ทุกครั้ง หวังลากยาว เพื่อเยียวยาไม่สิ้นสุดหรือเปล่า การเยียวยานี้ไม่ส่งผลแค่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แต่ส่งผลต่อ P4P ของพยาบาลและสหสาขาวิชาชีพ ของ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปด้วย เพราะจะไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น ที่กำหนดสัดส่วนไว้เพียง 1 ใน 4 ของแพทย์ ก็จะน้อยลงไปอีก

ก็ต้องขอเรียกร้อง ให้ผู้แทนชมรม แพทย์ชนบท เข้าประชุม นะคะ เราได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของกระทรวงแล้ว หน้าที่ต้องช่วยกันหาทางออก พอท่านไม่เข้าประชุม ท่านก็เสียโอกาสในการที่จะเสนอ แนวทางของท่านให้กรรมการพิจารณา และเสียโอกาสที่จะให้ความเห็นดีๆ ของท่านต่อกรรมการ ในร่างหลักเกณฑ์ ต่างๆ พอที่ประชุมเห็นพ้อง ในสิ่งที่ท่านไม่เห็นด้วยแล้วก็กดดันกันผ่านวิธีการอื่นๆ ประกาศชัยชนะ ดิฉันถามว่าใครชนะและใครแพ้ เพื่อนร่วมงานกันทั้งนั้น ซึ่งเรื่องการออกหลักเกณฑ์ หรือแก้หลักเกณฑ์ ก็เป็น เรื่องการบริหารราชการ กระทรวงมีกำลังคน ก็ดูแลคนให้มีแรงจูงใจ มีทัศนคติที่ดี ที่จะดูแลสุขภาพประชาชน ก็เท่านั้น เป็นหน้าที่ของผู้บริหารกระทรวงที่ต้องคิดต้องทำ ก็เท่านั้น ก็ไม่อยากให้ใช้วิธีการกดดันทางการเมือง บ้านเมืองเรากำลังเดือดร้อนวุ่นวาย เราควรใช้ปัญญากับการดูแลบ้านเมือง หยุดเรื่องนี้เถอะค่ะ ลดอัตตาลง ไม่มีใครแพ้หรือชนะหรอก อย่าซ้ำเติมปัญหาเลย

5 ธค 2556

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version