ผู้เขียน หัวข้อ: สลด! ผู้ป่วยทางจิตถูกทิ้งรพ.เพิ่มขึ้น แต่ละปีเข้ารักษากว่าล้านคน  (อ่าน 839 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

สลด! ผู้ป่วยทางจิตถูกทิ้งรพ.เพิ่มขึ้น แต่ละปีเข้ารักษากว่าล้านคน
Pic_384721
สลด! ผู้ป่วยทางจิตถูกทิ้งรพ.เพิ่มขึ้น เบื้องต้นพบกว่า 500 รายทั่วประเทศ เหตุสังคมไม่เข้าใจ ไม่ให้โอกาส กรมสุขภาพจิตเร่งสำรวจตัวเลขหาทางช่วยเหลือ ฝึกทักษะอาชีพ ไม่ให้เป็นภาระใคร แนะต้องกินยาสม่ำเสมอ ขณะที่คนไทยป่วยทางจิตเข้ารักษาปีละกว่า 1 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นคนเร่ร่อน...

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในกิจกรรมปันความรู้ "เปิดบ้านหลังคาแดง ชมพิพิธภัณฑ์จิตเวชแห่งแรก" จัดขึ้นที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาราชนครินทร์  โดยกล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยอาการทางจิตเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมสุขภาพจิต กว่า 1 ล้านคน ซึ่งรวมทั้งผู้ป่วยโรคจิตเวช และผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิต ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนเร่ร่อน ไม่มีญาติ ไม่มีหลักฐานแสดงตัว บางคนถูกนำตัวมาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล เมื่อรักษาหายแล้ว ไม่มีญาติมารับ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลศรีธัญญา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชขนาดใหญ่ ต้องแบกรับภาระดูแลผู้ป่วยไร้ญาติกว่า 300 คน เฉพาะในปี 2556 มีมากถึง 114 คน ซึ่งส่วนใหญ่หาญาติไม่เจอ ผู้ป่วยจำบ้านตัวเองไม่ได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ประสานให้กรมประชาสงเคราะห์ รับไปดูแลจำนวนหนึ่ง กรณีของผู้ที่หายแล้วและไม่สร้างภาระให้กับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้ขอให้แต่ละโรงพยาบาลจิตเวชสรุปตัวเลขผู้ป่วยที่ถูกทอดทิ้ง เพื่อหาทางแก้ไข อย่างเช่น โรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ พบปีนี้ผู้ป่วยถูกทิ้ง 38 ราย โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ 56 ราย และสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เบื้องต้นทราบว่ามีร่วม 100 ราย บางรายถูกทิ้งไว้นานกว่า 30-40 ปี ซึ่งขณะนี้ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการน่าจะมีประมาณเกือบ 500 รายทั่วประเทศ

สำหรับกิจกรรมปันความรู้ “เปิดบ้านหลังคาแดง" เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการให้สังคมภายนอกเห็นศักยภาพของผู้ป่วย ซึ่งได้พยายามจะพัฒนาทักษะทุกด้านเพื่อคืนผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้ กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวและสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ เช่น งานศิลปะ การร้อยมาลัย เย็บปักถักร้อย ไปจนถึงงานช่างต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ผู้ป่วยอยู่ในชุมชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้ หรือมีอาชีพที่ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น หรือเป็นภาระให้น้อยที่สุด ซึ่งในต่างจังหวัดบางคนออกจากโรงพยาบาลไปอยู่วัด ไปช่วยงานพระ บางคนไปทำไร่ไถนา บางคนมีอาชีพเสริมจากที่ได้รับการฝึกอบรม

ส่วนเทคนิคง่ายๆในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชหลังกลับไปอยู่ที่บ้าน นอกจากดูแลเรื่องการกินยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอแล้ว คนในครอบครัวและชุมชน ควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียน หรือแสดงความโกรธเกรี้ยว ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยหลายรายที่กลับไปอยู่บ้าน และมีอาการกำเริบอีก เนื่องจากถูกกดดัน บีีกคั้นจากคนรอบข้าง ทั้งที่รักษาหายแล้วจนออกจากโรงพยาบาลสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้นครอบครัวและชุมชนต้องช่วยกัน มีที่ให้เขายืน โดยยอมรับให้โอกาส ซึ่งผู้ป่วยไม่ได้อยากให้สงสาร แต่อยากได้โอกาสมากกว่า

ทั้งนี้ จากงานวิจัยพบ ว่า 60-70% มีอาการทุเลาลง ไม่อันตราย แต่อาจมีอาการอื่นหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น หลงผิด หวาดระแวง หรือความเสื่อมทางด้านร่างกายโดยเฉพาะสมองยังมีอยู่ แต่ถ้ากินยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เนื่องจากยาในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตมาก.

ไทยรัฐออนไลน์
โดย ทีมข่าวการศึกษา
23 พฤศจิกายน 2556, 02:40 น.