ผู้เขียน หัวข้อ: 'มุมมอง ความคิด'ที่มีต่อศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยฯ ในทัศนะของ...ดร.นพ. ธวัชชัย กม  (อ่าน 768 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด


 
 
'มุมมอง ความคิด'ที่มีต่อศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยฯ ในทัศนะของ...ดร.นพ. ธวัชชัย กมลธรรม


ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- เสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2556 00:00:53 น.
ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อีกหนึ่งเจ้ากรมในกระทรวงสาธารณสุข ที่ทางทีมข่าวสาธารณสุข นสพ.บ้านเมือง ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ พูดคุย...ในฐานะอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกคนปัจจุบัน ซึ่งท่านได้มาสะท้อนมุมมอง ความคิดในแง่มุมต่างๆ ที่ชี้ให้คนไทยได้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทย

"คำถามแรก" ของการเปิดประเด็นพูดคุย เป็นการถามถึงความแตกต่างระหว่างงานผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กับงานใหม่ในฐานะอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ในประเด็นนี้ ดร.นพ.ธวัชชัย ตอบว่า งานในฐานะผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นงานที่ได้รับมอบหมายโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลักษณะของงานจะมีหลายมิติและกว้างพอสมควร เพราะเป็นงานที่เกี่ยวกับบทบาทและอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นการทำงานแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขในหลายๆ เรื่อง และเป็นงานของผู้ตรวจจริงๆ ที่ต้องดำเนินการ ซึ่งวิธีการทำงานก็จะศึกษาข้อมูลจากรายงานและจากการลงพื้นที่ในประเด็นที่ต้องเจาะลึก เน้นการตรวจ ติดตาม กำกับการทำงานในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน การเงิน การคลังของโรงพยาบาล ทั้ง รพ.ศูนย์ และ รพ.ชุมชน ซึ่งมีประมาณ 68 แห่ง ไม่รวม รพ.สต. หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีกประมาณ 700 แห่ง สมัยเป็นผู้ตรวจฯ ต้องดูแลพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 6 ครอบคลุมทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา


 
"ถ้าจะเปรียบเทียบงานผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กับงานในตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก"

ถึงแม้การเป็นอธิบดีจะเป็นการทำงานมิติเดียว แต่ก็เป็นงานเชิงลึก มีความท้าทาย และเป็นงานที่ต้องเร่งดำเนินการทั้งที่เป็นงานตามความคาดหวัง และงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดคุณค่าและเกิดการพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทยของประเทศ การเป็นอธิบดีจึงต้องมีความรับผิดชอบค่อนข้างสูงในบทบาทหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งประเทศ และยังต้องถูกประเมินทุกๆ 3 เดือน จากงานที่ได้รับมอบหมาย โดย น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงถือเป็นภารกิจที่หนักพอสมควรในขณะที่ก็มีความท้าทายเช่นเดียวกัน

"ภารกิจแรก" ที่ได้ดำเนินการทันทีเมื่อมาเป็นอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ดร.นพ.ธวัชชัย บอกว่า งานแรกที่ทำคือการปฏิรูปองค์กรหรือจัดทัพใหม่ โดยมีการปรับชื่อ ปรับบทบาทองค์กร อย่างการเปลี่ยนชื่อจากเดิมที่ใช้ชื่อว่ากรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ต้องมีการขยายผลต่อ เพราะกรมฯ ไม่ได้มีภารกิจเพื่อการพัฒนาอย่างเดียว แต่รวมถึงภารกิจในการกำหนดทิศทาง การกำกับดูแลมาตรฐานด้านการแพทย์แผนไทย รวมถึงการพัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อทำให้การแพทย์แผนไทยเกิดความก้าวหน้า และเป็นการแพทย์ทางเลือกประจำประเทศไทยให้ได้ โดยมีการนำเอาแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์มาใช้ในการจัดทำแผนตามไตรมาส ปรับแผนจากที่ผ่านมา คือในช่วงไตรมาสแรกที่ว่าแผนต้องเสร็จสิ้นและมีทิศทางที่ชัดเจนในการดำเนินงาน ในไตรมาสต่อไปจะเป็นการนำแผนและนโยบายต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติและติดตามกำกับ เพื่อเป็นการทำงานตลอดทั้งปี

"ความแตกต่างระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์แผนไทยฯ"
ในประเด็นนี้ ดร.นพ.ธวัชชัย ได้ให้ความคิดเห็นว่า ศาสตร์ของการแพทย์แผนปัจจุบันจะเน้นในเรื่องการกำจัดเชื้อโรคและมุ่งในเรื่องของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย แต่ศาสตร์ของการแพทย์แผนไทยฯ จะมุ่งเน้นที่การสร้างความสมดุลของร่างกายคือทำให้ร่างกายแข็งแรงและเกิดภูมิต้านทาน สามารถอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคและให้ลักษณะนี้อยู่ในตัวของทุกคน ศาสตร์นี้จะสามารถดูแลโรคที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย ที่มาจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคเกี่ยวกับอัมพฤกษ์ อัมพาตต่างๆ ซึ่งศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกนั้นเกิดขึ้นจากการแพทย์แผนปัจจุบันจึงสามารถไปด้วยกันได้แต่ต้องมีการบูรณาการ ดังนั้นหากมีการผสมผสานทั้ง 2 ศาสตร์นี้เข้าด้วยกัน นำเอามารวมกันทำให้มีความสมบูรณ์ในการดูแลประชาชนจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดียิ่งขึ้น

"เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทยได้มากขึ้น"
ดร.นพ. ธวัชชัย บอกว่า ในปี 57 นี้จะมุ่งสนับสนุนให้มีการเปิดคลินิกแพทย์แผนไทยครอบคลุมทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนอย่างน้อยต้องมีแพทย์ประจำ 2-3 คน ด้านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะเน้นให้พยาบาลใช้ศาสตร์ของแพทย์แผนไทยปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วย และส่งเสริมให้มีแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย เพื่อทำให้ยอดการใช้บริการการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 16 ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าที่สามารถเบิกค่ารักษาได้ฟรี และเบิกจากกรมบัญชีกลางภายใต้สิทธิ์ข้าราชการ โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการในเขต กทม. เป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลยศเสประมาณเดือนธันวาคม 56 นี้ มีเตียงบริการประมาณ 30 เตียง เพื่อให้การรักษาโรคทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์กรอนามัยโลกที่เน้นให้มีการนำศาสตร์ของการแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์พื้นบ้านเข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพด้วย

นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมพัฒนา อสม. ให้มีองค์ความรู้เรื่องการแพทย์แผนไทยเพื่อนำไปใช้ในการดูแลประชาชน และจะมีการเผยแพร่ให้ประชาชนใช้ศาสตร์แห่งการแพทย์แผนไทยดูแลตนเอง การลงพื้นที่ออกหน่วยทุกครั้งจะเน้นสอนให้มีการใช้ศาสตร์แห่งการแพทย์แผนไทยในการดูแลรักษาสุขภาพมากกว่าที่จะแจกจ่ายยา โดยในปีนี้จะมีการออกหน่วยร่วมกับมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว. และได้เตรียมสนับสนุนยาไทยให้กับ พอ.สว. ไว้ทั้งหมด 54 จังหวัดทั่วประเทศ

ส่วนการดำเนินงานของกรมฯ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในโครงการ "สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่" (Good Health Starts Here) นั้น ดร.นพ.ธวัชชัย บอกว่า ทางกรมฯ ได้ดำเนินการครบในทุกมิติ ทั้งเรื่องการส่งเสริม รักษา ป้องกัน และฟื้นฟู ด้านการส่งเสริมสุขภาพจะเน้นให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยตนเองโดยการใช้สมุนไพร ซึ่งมีสมุนไพรหลายชนิดที่กินเป็นยาอายุวัฒนะ เช่น ตรีผลา ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งและเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ถ้ามีการดื่มเป็นประจำจะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และส่งเสริมการออกกำลังกายโดยใช้โยคะและฤๅษีดัดตน ด้านสุขภาพจิตจะส่งเสริมการรักษาสุขภาพโดยใช้ทางจิตช่วยและสนับสนุนให้มีการดูแลผู้ป่วยโดยใช้แพทย์ทางเลือก เช่น การทำสมาธิ มนตราบำบัด การทำโยคะที่ช่วยฝึกจิตใจให้สงบ ด้านการฟื้นฟูสภาพจะใช้การนวดประคบในผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ช่วยลดปัญหากล้ามเนื้อที่เกิดการฝ่อหรือตายจากการที่ไม่ได้ใช้งาน ลดการยึดติดของข้อต่างๆ ก่อนระยะเวลาที่ร่างกายจะฟื้นปรับสภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้ผลดีค่อนข้างมาก

"หากมองย้อนไปในรอบ 100 ปี หลังจากที่แพทย์แผนปัจจุบันเข้ามา จะเห็นว่าศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยถูกลดทอนความสำคัญลงเรื่อยๆ แพทย์แผนไทยจึงตายไม่ได้ เพราะเรามีต้นทุนในเรื่องนี้จำนวนมาก ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม วิถีชีวิต การกินการอยู่ต่างๆ เพื่อไม่ให้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยถูกกลืนหายไป และไม่อยากให้คนไทยลืมว่าเรามีองค์ความรู้ที่มีคุณค่ามหาศาล ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ ช่วยกันสนับสนุนศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยให้เป็นการแพทย์หลักประจำประเทศไทยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ เพื่อการดูแลสุขภาพให้ครบทุกมิติทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ สนับสนุนการใช้ยาแผนไทย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ดูแลตนเองด้วยศาสตร์ของการแพทย์แผนไทยให้มีสุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาว เพื่อให้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยได้อยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป" ดร.นพ.ธวัชชัย กล่าวปิดท้าย

ADVERTISEMENT

 
Facebook
Twitter
 
ข่าวทั่วไป เสาร์ที่ 23 พ.ย. 2013ข่าวทั่วไปล่าสุด
 

 

© 2007 - 2013 InfoQuest Limited, All Rights Reserved (s99 : 0.012)