ผู้เขียน หัวข้อ: บทความ-สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ-ตอนที่2  (อ่าน 3246 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
................ต่อจากตอนที่1
2.   สาเหตุจากความรับผิดชอบที่หนักเกินไป โดยเฉพาะนอกเวลาราชการ
 
ในช่วงชีวิตของการเป็นแพทย์ ส่วนใหญ่จบการศึกษาเมื่ออายุได้ 23-24 ปี หลังจากนั้นก็ไปทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุน และส่วนใหญ่ก็จะไปศึกษาต่อเฉพาะทาง จนจบเมื่ออายุได้ประมาณ 30-31 ปี จากการศึกษาพบว่าแพทย์มีอายุเฉลี่ยประมาณ 59 ปี (ชาย 62 ปี หญิง 55 ปี) ซึ่งน้อยกว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยมาก (ประมาณ 70 ปี) ดังนั้นแพทย์จึงมีเวลาทำงานแค่ประมาณ 30 ปี หลังจบเฉพาะทาง จึงมีคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ช่วงชีวิต 30 ปี ที่เหลือนี้มีความสุขอย่างสมดุลได้มากที่สุด
 
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของ แพทย์ที่รับราชการคือ การอยู่เวร และที่สำคัญก็คือไม่มีการระบุไว้ในระเบียบของทางราชการว่าแพทย์จะต้องอยู่เวรไม่เกินกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรืออายุเท่าไรจึงจะไม่ต้องอยู่เวร (ในเวลาราชการแพทย์ต้องมาทำงานทุกวันอยู่แล้ว)
 
นั่นหมายความว่า ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ขึ้นอยู่กับจำนวนแพทย์ที่มีในแผนก เป็นสำคัญ เช่น ถ้ามีแพทย์ในแผนก 2 คนต้องทำงาน 108 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้ามีแพทย์ 3 คน ต้องทำงาน 85 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้ามีแพทย์ 4 คนจะต้องทำงาน 74 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้ามีแพทย์ 5 คน จะทำงาน 68 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งยังไม่รวมเวรห้องฉุกเฉิน เวรชันสูตรพลิกศพ และเวรอื่นๆอีก ซึ่งหมายความว่าถ้าไปทำงานในโรงพยาบาลที่มีแพทย์เป็นจำนวนมากเท่าใด คุณภาพชีวิตก็จะดีมากขึ้นเท่านั้น มีอายุยืนยาวและสุขภาพแข็งแรงพอที่จะดูแลประชาชนได้นานขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้
 
2.1 แพทย์อาวุโส ซึ่งส่วนใหญ่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ที่ยังมีภาระต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการ ไม่สามารถอยู่เวรนอกเวลาราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในการทำงานหลังเที่ยงคืน ซึ่งจะทำให้สุขภาพกายและใจทรุดโทรม ตอนเช้าก็จะรู้สึกไม่สดชื่น ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลง
ซึ่งแพทย์อาวุโสเหล่านี้ถ้าทนอยู่ได้ก็อยู่ไป ถ้าอยู่ไม่ได้ก็อาจจะคุยกันในแผนกก่อน ถ้าแพทย์ในแผนกมีน้อยอยู่แล้วและจำเป็นต้องอยู่เวร ก็ลาออกจากราชการไป ซึ่งพบได้อยู่เรื่อยๆ และเป็นที่น่าเสียดายซึ่งแพทย์อาวุโสเหล่านี้เป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ และยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาราชการ
 
2.2 เกิดผลกระทบแบบโดมิโน (Domino effect) ในการทำงานของแพทย์ จะเน้นการทำงานเป็นทีม มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับผู้ป่วย มีการช่วยกันทำงาน ช่วยกันอยู่เวรในแผนก ถ้าเกิดมีแพทย์ในทีมลาออกไปจะทำให้แพทย์ที่เหลือมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นทั้งใน และนอกเวลาราชการ ถ้าทนได้ก็ทน ทนไม่ได้ก็ลาออกไป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบไปเรื่อยๆจนหมดแผนก หรือจนกว่าจะรับแพทย์เข้ามาใหม่
 
นอกจากนั้น ในวันหยุดราชการ แพทย์ยังคงต้องมาดูแลผู้ป่วยประจำวันในตอนเช้า (ROUND) ทั้งๆที่ไม่ได้อยู่เวร (จึงไม่ได้ค่าแรงที่มาทำงานนอกเวลาราชการ แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังคงทำอยู่ เพื่อผู้ป่วยและจรรยาบรรณของแพทย์) ซึ่งการทำงานนอกเวลาที่มากเกินพอดี ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ขาดเวลาทำกิจกรรมที่ทำให้คลายความเครียดจากการทำงาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แพทย์มีอายุเฉลี่ย 59 ปี
 
ในประเทศ ฝรั่งเศส มีกฎหมายห้ามแพทย์ทำงานเกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่แพทย์ส่วนใหญ่คิดว่าคงยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่ก็ควรจะมีการประชุมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เช่น การเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการและพิจารณาชั่วโมงการทำงานของแพทย์ให้เหมาะสม เพิ่มสวัสดิการเป็นพิเศษให้กับแพทย์อาวุโสที่จำเป็นต้องอยู่เวรนอกเวลาราชการ เช่น อายุราชการทวีคูณ หรือผลประโยชน์อื่นๆที่เหมาะสม

3.   สาเหตุเนื่องจากสภาพครอบครัวและสังคม
 
โดยที่แพทย์แต่ละคนมีสภาพพื้นฐานทางครอบครัวและสังคมแตกต่างกัน บางคนบิดา มารดา ต้องการให้กลับมาอยู่ด้วยกัน บางคนบิดา มารดา มีสุขภาพไม่แข็งแรงทำให้ต้องกลับไปดูแลใกล้ชิด บางคนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขในจังหวัดหรือโรงพยาบาลที่ไปทำงานอยู่ บางคนต้องกลับไปอยู่กับบุตรและภรรยา บางคนต้องย้ายเพื่อไปหาสถานศึกษาหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับครอบครัว ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่มีใครผิดและบางครั้งไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ ทำให้แพทย์ที่กลับไปทำงานในจังหวัดที่ไปรับทุนมาศึกษาต่อหรือโดยทุน ส่วนกลาง มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายข้ามโรงพยาบาลหรือย้ายข้ามจังหวัด
 
ซึ่งบางครั้งวิสัยทัศน์ของผู้บริหารหรือระเบียบของทางราชการที่นำมาบังคับใช้กับ  แพทย์ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า มีปัญหา เช่น ผู้บริหารไม่ยอมให้ย้าย ไม่มีเลขที่ตำแหน่งรองรับ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องมีความยืดหยุ่นและมีข้อยกเว้นสำหรับแพทย์ที่ตั้งใจจะรับราชการต่อ
 
การแก้ปัญหาเหล่านี้ ควรจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เปิดโอกาสให้แพทย์ที่ต้องการย้ายเข้าไปคุยถึงเหตุผล สามารถเปิดตำแหน่งข้าราชการให้ได้ในโรงพยาบาลปลายทางที่ต้องการรับ แพทย์เป็นวิชาชีพที่มีทางออกในช่องทางการทำงาน เมื่อขอย้ายไปรับราชการต่อใกล้บ้าน แล้วถูกปฏิเสธ แต่มีความจำเป็นต้องย้าย แพทย์ส่วนมากจึงต้องใช้วิธีการลาออกเพื่อไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน หรือเปิดคลินิกส่วนตัว นอกจากนั้นยังอาจมีแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนอีกบางส่วนซึ่งมีความต้องการที่จะกลับเข้ารับราชการ แต่ไม่มีตำแหน่งให้ ทั้งๆที่โรงพยาบาลของรัฐยังขาดแคลน
 
นอกจากนั้น รัฐยังต้องเร่งสร้างความเจริญให้ทั่วถึง โดยเฉพาะตามชนบทที่ห่างไกล และต้องเน้นในเรื่องระบบการศึกษา พัฒนาสถานศึกษาให้มีความเจริญทัดเทียมกัน ในทุกภูมิภาคของประเทศซึ่งจะทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งมีความสุขเพียงพอที่จะรับราชการในจังหวัดเดิม หรือในจังหวัดที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ
....................จบตอนที่2