ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิวัติน้ำมันพืช (ตอนที่ 9-10-11) :“น้ำมันมะพร้าว”  (อ่าน 3149 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ธัยรอยด์ฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญสารอาหารให้เป็นพลังงาน หรือ เมแทบอลิซึม (Metabolism) เพราะมีการเผาผลาญนี้เองจึงสามารถเปลี่ยนคอเลสเตอรอลให้กลายเป็นฮอร์โมนที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เช่น โปเจสเตอโรน เอสโตรเจน ดีเอชดีเอ เทสโทสเตอโรน อัลดอสเตอโรน คอร์ติโซล ฯลฯ
      
       บางคนมีรูปร่างผอมบาง แต่กลับปรากฏว่า คอเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูง ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) ที่มักถูกเรียกว่าไขมันตัวเลวอยู่ในระดับสูงในหลอดเลือด รวมถึงไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL) ไขมันตัวดีอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ก็เพราะการเผาผลาญในร่างกายนั้นต่ำเกินไป และสาเหตุที่มีการเผาผลาญต่ำก็เพราะธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำนั่นเอง
      
       ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าคอเลสเตอรอลนั้นร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เองถึง 70%-80% และจะสังเคราะห์มากผิดปกติในช่วงที่เราอดอาหารตามความจำเป็นในการใช้งาน ดังนั้นถ้าตับผลิตคอเลสเตอรอลออกมาแล้วปรากฏว่า ธัยรอยด์ฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำก็แปลว่าอัตราการเผาผลาญต่ำ ผลก็คือระดับของ ไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL) หรือที่เรียกว่าไขมันตัวดีซึ่งจะมีหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลและ ไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) ไปส่งที่ตับเพื่อเอามาผลิตฮอร์โมนและน้ำดีจะอยู่ในระดับต่ำด้วย
      
       ผลก็คือร่างกายมีไขมันในเส้นเลือดสูง แต่มีระดับฮอร์โมนความจำเป็นต่อร่างกายอยู่ในระดับต่ำ
      
       นพ.เปี่ยมโชค ชลิดาพงศ์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง “ทำไมคุณถึงป่วย เล่ม 2” ระบุว่าอาการที่อาจเกิดขึ้นจากธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำนอกจากจะมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงแล้ว อาจพบว่าคนเหล่านี้อาจมีชีพจรเต้นต่ำกว่า 85 ครั้งต่อนาที เพราะร่างกายมีพลังงานจากการเผาผลาญที่ต่ำ หรือบางคนอาจมีชีพจรเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที เป็นเพราะร่างกายปรับตัวเรื่องนี้ด้วยการหลั่งฮอร์โมนแอดดรีนาลินออกมาทำงานแทนธัยรอยด์ ถ้าร่างกายใช้วิธีนี้อยู่นานๆ ก็จะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้จากการกระตุ้นเกินไปของแอดดรีนาลิน
      
       นอกจากนี้อาการที่ยังบ่งชี้ต่อได้แก่ มือเย็น เท้าเย็น เป็นผลจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี และถ้ามีการบวมไปที่ข้อมือ ก็จะทำให้ชาปลายตามนิ้วมือ และเวลาตื่นนอนเช้าจะกำมือได้ยาก ซึ่งอาการเหล่านี้ตามโรงพยาบาลทั่วไปจะวินิจฉัยว่า “พังผืดรัดข้อมือ” (Carpal tunnel syndrome)
      
       บางคนมีอาการท้องผูก สาเหตุเพราะลำไส้เคลื่อนตัวช้า เนื่องจากการเผาผลาญสร้างพลังงานในร่างกายอยู่ในระดับต่ำ และอาหารจะตกค้างอยู่ในลำไส้นานกว่าคนปกติทั่วไป
      
       และการที่มีธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวตามมาด้วย เช่น ปวดหัวจากเอสโตรเจนสูงมากกว่าโปรเจสเตอโรน จึงทำให้เกิดอาการปวดหัวในช่วงมีประจำเดือน หรืออาจเกิดอาการปวดหัวจากลำไส้ใหญ่ เพราะอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้นานๆ ทำให้เกิดการเน่าเสียและหมักหมมจนของเสียเหล่านี้ถูกดูดซึมเข้าร่างกายทำให้เกิดอาการปวดหัว
      
        นอกจากนี้อาจมีอาการซึมเศร้าและปัญหาเรื่องอารมณ์ เพราะเมื่อพลังงานในร่างกายตก การทำงานของสมองก็ผิดปกติไปได้อย่างง่ายๆ
      
       และเมื่อการผาผลาญพลังงานไม่ดี ทำให้ภูมิต้านทานไม่ดี เกิดการติดเชื้อบ่อย เพราะปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้เป็นหวัดบ่อย หลอดลมอักเสบบ่อย เจ็บคอและต่อมทอนซิลบ่อยๆ หรือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย
      
       นอกจากนั้นยังมีอาการผิวหนังและเส้นผมมีปัญหา เช่น ผิวหนังแห้ง สิว เอ๊กซีม่า สะเก็ดเงิน ผมร่วง เป็นต้น
      
       และเพราะการเผาผลาญพลังงานต่ำ ผลก็คืออาจเกิดอาการต่างๆเพิ่มมาได้อีกอันเนื่องมาจากการที่พลังงานไม่เพียงพอ เช่น นอนไม่หลับ อ้วนง่าย โรคลิ้นหัวใจรั่ว ปวดข้อ มีซิสต์ที่เต้านม เนื้องอกที่รังไข่ ซิสต์ที่รังไข่ เอ็นโดเมททริโอซิส
      
        และเพราะการเผาผลาญแปลงคอลเลสเตอรอลให้กลายเป็นฮอร์โมนเพศอยู่ในระดับต่ำ ก็ย่อมทำให้เกิดอาการวัยทองก่อนวัยได้ และอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย
      
       ธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ แม้ว่าจะสามารถตรวจเลือดได้ แต่จากหนังสือ “Dr.Baraly’s Food Allergy & Nutrition - Revolution ของนายแพทย์ เจมส์ บราลี ในปี พ .ศ. 2535 ได้ระบุเอาไว้ว่า
      
        “การวินิจฉัยภาวะธัยรอยด์ต่ำเป็นเรื่องค่อนข้างยาก การตรวจเลือดมาตรฐานทั่วไปๆเชื่อถือไม่ค่อยได้ วิธีจะวินิจฉัยภาวะธัยรอยด์ต่ำที่ดีกว่า คือการวัดปรอทตอนเช้าก่อนที่จะลุกจากเตียงนอน 5 วัน ติดต่อกัน”
      
       คือ สำหรับผู้หญิงก่อนหมดวัยประจำเดือน ถ้าวัดได้เฉลี่ยต่ำกว่า 36.4 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการใดอาการหนึ่งข้างต้น บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
      
       สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว หรือในผู้ชายถ้าวัดได้ค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 36.3 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการใดอาการหนึ่งข้างต้น บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ภาวะเช่นนี้เรียกว่า “ธัยรอยด์ต่ำแฝง” หรือ Subclinical Hypothyroidsm”
      
       สาเหตุที่ ดร.ลิต้า ลี นักเคมี ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดด้วยเอนไซม์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ จากมลรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่าเราแทบทุกคนในโลกกำลังมีปัญหาโรคธัยรอยด์กันมากขึ้น และสาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ “คลื่นรังสี” จากเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ตั้งแต่ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ไมโครเวฟ ฯลฯ
      
       นอกจากนี้สาเหตุยังมีอีกหลายประการ โดย นพ.เปี่ยมโชค ชลิดาพงศ์ ได้ระบุเอาไว้ถึงสาเหตุอื่นๆอีกหลายประการ เช่น การกินผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมากเกินไป กินหวานมากไป มีเอสโตรเจนจากอาหารมากไป (เช่น ยาคุมกำเนิด นม ไข่ และเนื้อสัตว์) รวมถึงผู้หญิงที่รับประทานอาหารที่ออกฤทธิ์เหมือนเพิ่มเอสโตรเจนมากเกินไป (Estrogenic Foods เช่น จมูกข้าวสาลี อาหารมียิสต์ เช่นขนมปัง ไวตามินเม็ดที่สกัดจากยิสต์ เบียร์ ไวน์ กราวเครือขาว กระเจี๊ยบแดง ฯลฯ) รับไอโอดีนมากไป รับประทานพืชบางชนิดที่ไม่ผ่านความร้อนมากไป (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บล็อกโคลี)
      
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กินไขมันทั้งหลายโดยเฉพาะไขมันทรานส์ เนยเทียม มาร์การีน พีนัทบัตเตอร์ ซึ่งมาจากไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันทรานซ์ในอาหารที่เกิดจากการทอดซ้ำหรือโดนความร้อนสูงจาก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ฯลฯ
      
       สำหรับการแก้ไขปัญหาด้วยการ ลด ละ เลิก พฤติกรรมการบริโภคข้างต้นแล้ว ผมมีความเห็นว่าควรรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มฮอร์โมนเพศที่ชื่อ โปรเจสเตอโรนในผู้หญิง และเทสโทสเตอโรนในเพศชายจะช่วยลดฤทธิ์สัดส่วนของเอสโตรเจนที่สูงมากเกินไปได้ด้วย ได้แก่ อาหารทีให้แร่ธาตุ ซิงค์ แมกนีเซียม วิตามินบี วิตามินซี ซึ่งแหล่งอาหารเหล่านี้ได้แก่ เมล็ดฟักทอง ฟักทอง ถั่วชิกพี ผักโขม ข้าวกล้อง งาดำ กล้วย มันฝรั่ง เป็นต้น
      
       อย่างไรก็ตามแม้แหล่งอาหารในการสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นข้างต้นแล้ว อาจเพิ่มเป้าหมายในการเผาผลาญในร่างกายให้สูงขึ้นได้ ด้วยการ “ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ” รับประทานอาหารฤทธิ์เผ็ดร้อนมากขึ้นเพื่อช่วยในการเผาผลาญ(พริก ขิง ขาตะไคร้) และรวมถึงการดื่มน้ำมันมะพร้าว เพราะร่างกายไม่สมดุลมีสภาพ “หยิน” / “เย็น”เกินไป
      
        ดร.เรย์ พีท นักชีวเคมี ผู้เชี่ยวชาญด้านธัยรอยด์ฮอร์โมน เอนไซม์ จากสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่า น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายสั้นและปานกลางอยู่ในระดับสูงที่สุดจึงดูดซึมเร็วมากแตกต่างจากน้ำมันชนิดอื่น เมื่อถูกส่งไปยังตับจึงสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็วมาก ส่งผลทำให้การทำงานของธัยรอยด์ฮอร์โมนสูงขึ้นในเวลาไม่นานนัก
      
       ดร.เรย์ พีท ได้ทดลองผู้ป่วยโรคธัยรอยด์ ฮอร์โมนต่ำ ที่มีอุณหภูมิในร่างกายอยู่ในระดับต่ำมาก ชีพจรเต้นต่ำ และมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นหลายอาการ โดยให้ดื่มน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นวันละ 4 ช้อนโต๊ะ เป็นเป็นเวลา 4 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน พบว่าอาการธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำนั้นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนมาก
      
       เพราะต้องไม่ลืมว่าถ้าอัตราการเผาผลาญในร่างกายสูงขึ้น ตับก็จะผลิต HDL หรือไขมันตัวดีในกระแสเลือดจะสูงขึ้น เพราะร่างกายต้องการขนส่งคอเลสเตอรอล และ LDL หรือไขมันตัวเลวในเส้นเลือดไปส่งที่ตับเพื่อผลิตเป็นฮอร์โมนและน้ำดีได้มากขึ้น ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนที่จำเป็นต่อร่างกายสูงขึ้นอาการที่กล่าวมาข้างต้นก็จะค่อยๆทุเลาลงไปตามลำดับ
      
       และอย่าแปลกใจ และอย่าตกใจ ที่บางคนรับประทานน้ำมันมะพร้าวแล้วคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น (ไม่เช่นนั้นจะถูกบริษัทขายยาลดคอเลสเตอรอล และบริษัทน้ำมันถั่วเหลืองหลอกเอาอีก) เพราะความจริงร่างกายกำลังต้องการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลไปผลิตเป็นฮอร์โมนให้มากขึ้น
      
       “ดังนั้นให้พิจารณาดูสัดส่วนระหว่างคอเลสเตอรอล หารด้วย HDL นั้นจะมีสัดส่วนลดลงไปเรื่อยๆ เป็นสำคัญ”!!!!
      
        ดังนั้นอย่าแปลกใจด้วยว่า หากใครเป็นมือใหม่ในการดื่มน้ำมันมะพร้าว จะมีอาการคล้ายท้องเสีย หรือท้องร่วงในช่วงแรก แท้ที่จริงแล้วมันเป็นการปรับตัวอันเนื่องมาจากลำไส้เคลื่อนตัวเร็วขึ้น จากการที่มีพลังงานในร่างกายสูงขึ้น
      
       ดังนั้นในช่วงแรกๆให้เริ่มรับประทานจากทีละน้อยๆแล้วค่อยๆเพิ่มทยอยสูงขึ้นเพื่อให้ร่างกายปรับตัวจนเหมาะสมกับร่างกายของแต่ละคนในที่สุด

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    6 ธันวาคม 2556
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มีนาคม 2014, 22:36:21 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเกิดคำถามมากสำหรับคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติว่าทำไม่คนจำนวนหนึ่งยังเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้ ทั้งๆที่คนเหล่านั้นไม่รับประทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์
       
        ตัวอย่างเช่น เจ้าตำรับสูตรอาหารชีวจิต เน้นการรับประทานธัญพืช ผัก ปลาบ้างเล็กน้อย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ อย่าง ดร.สาทิส อินทรคำแหง ได้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ !?
       
        พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ปฏิบัติธรรมถือศีลเคร่งครัด ปฏิบัติตามอิทธิบาทสี่ รับประทานอาหารมื้อเดียว ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน และล้างพิษตับด้วย แต่ปรากฏว่าพบหลอดเลือดตีบหรืออุด ตันบริเวณหัวใจถึง 3 เส้น จนต้องเข้ารักษาด้วยการทำบอลลูนจึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
       
        จึงเกิดคำถามว่าทำไมบุคคลสำคัญในด้านสุขภาพ 2 ท่านนี้จึงมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดตีบได้อย่างไร?
       
        จริงอยู่ที่ว่าการปฏิบัติตนดูแลสุขภาพไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด มนุษย์เราก็ไม่สามารถเป็นอมตะนิรันดร์กาลได้ และเราทุกคนก็มีอายุขัยของตัวเองไม่เท่ากันซึ่งแล้วแต่บุญกรรมที่ทำมา และวันใดที่เราหมดอายุขัยเราทุกคนก็ต้องเป็นเจ็บป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่งก่อนที่จะจากโลกนี้ไป เพียงแต่การที่เราเข้าใจในบางเรื่องทียังไม่เข้าใจในวันนี้ก็จะทำให้เรามีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นให้ได้ดีมากขึ้น
       
        คนส่วนใหญ่ในยุคนี้มักจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันพืชในการทำอาหาร ได้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ธัญพืช ผัก ข้าว ไข่ไก่ โดยส่วนใหญ่น้ำมันพืชที่เราใช้ในการทำ ความร้อนนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา ฯลฯ
       
        น้ำมันพวกนี้เมื่อมีความไม่อิ่มตัวสูง ก็จะเปิดช่องทำให้เกิดการทำ ปฏิกิริยา กับออกซิเจนได้ง่ายหรือที่เรียกว่าออกซิเดชั่นทำให้เกิดการหืนได้ง่าย หรือ เมื่อโดนความร้อนก็จะทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนเกิดเป็นไขมันทรานส์ อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการอักเสบและอุดตันของหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็งได้ด้วย
       
        ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้คนไทยสมัยก่อนที่ใช้น้ำมันอิ่มตัว ทั้งน้ำมันมะพร้าว กะทิ และน้ำมันหมู กลับไม่พบอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดมากเหมือนคน ปัจจุบัน


       จากความเดิมในหลายตอนที่ผ่านมาได้นำเสนอมาแล้วว่าการเกิดของโรคหัวใจไม่สัมพันธ์กับปริมาณคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดแต่ประการใด
       
        งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2537 ที่ได้เคยเกิดงานวิจัยครั้งใหญ่จากการสำรวจสถิติกลุ่มตัวอย่างถึง 3,641 คน โดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลวาเนีย เมืองฟิลาเดเฟีย มลรัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณคอเลสเตอรอลและโรคหัวใจ ซึ่งจัดทำโดย Kinosian, B; Click, H; and Garland, G.1994 ในหัวข้อ “Cholesterol and coronary heart disease: Predicting risks by levels and ratios.” ตีพิมพ์ใน Ann. Internal Med. 121:641-7 ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ให้คำตอบกว่าการกำหนดปริมาณเกณฑ์การใช้คอเลสเตอรอลในกระแสเลือดที่อ้างว่าจะทำให้เกิดโรคหัวใจนั้นไม่สามารถชี้ชัดได้เลย และเมื่อเก็บสถิติแล้วกลับพบว่าความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน่าจะใช้วิธีอื่นวัดน่าจะถูกต้องมากกว่า
       
        ความสัมพันธ์ที่สำคัญที่จะต้องพิจารณาเสมอคือปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดต้องไม่เกิน 5 เท่าของ HDL (High Density Lipoprotein) หรือที่วงการแพทย์มักเรียกว่าไขมันชนิดดี หมายถึงว่ายิ่ง HDL เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ อัตราการความเสี่ยงเกิดปัญหาเรื่องการอุดตันของหลอดเลือดหรือหลอดเลือดตีบก็จะลดลงไปด้วย
       
        เป้าหมายการลดหรือป้องกันโรคหลอดเลือดตีบและหัวใจ จึงไม่ใช่การลดคอเลสเตอรอล (เพราะคอเลสเตอรอลมีความจำเป็นต่อร่างกายและส่วนใหญ่เกือบ 80% ร่างกายเราสังเคราะห์เองจากตับ) แต่เราต้องหาทางเพิ่ม HDL ให้มากขึ้น
       
        การเพิ่ม HDL จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ใน J.Manag .Care Pharm 2008 พบว่า high triglycerides และ low HDL- cholesterol ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคหัวใจ การทำให้คนไข้ LDL ต่ำเหลือประมาณต่ำกว่า 130 การเป็นโรคหัวใจก็ไม่ลดลง แต่พบว่าการเพิ่ม HDL การเป็นโรคหัวใจก็ลดลงทันที”
       
       “มีรายงานวิจัยการเพิ่ม HDL-C ลงพิมพ์ใน Postgrand.Med.J.ปี 2008 พบว่า การเพิ่ม HDL –C เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลดอัตราการเป็นโรคหัวใจในคนไข้ ซึ่งการรักษาตัวยา Statin LDL ต่ำมากแล้ว อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แต่ถ้าเพิ่ม HDL แล้ว คนไข้โรคหัวใจ และ โรคต่างๆกินน้ำมันมะพร้าวเพิ่ม HDL ได้ดีกว่าทั้งหมด”
       
        ทั้งนี้น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันชนิดเดียวในโลกที่มีกรดไขมันอิ่มตัวมาก ที่สุด และเป็นกรดไขมันสายสั้นและปานกลางมากที่สุดในโลก จึงทำให้ดูดซึมสร้างพลังงานให้กับตับได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้อัตราการเผาผลาญเป็นพลังงานสูงขึ้น เมื่ออัตราการเผาผลาญสูงขึ้น ตับก็จะผลิต HDL เพื่อไปเก็บคอเลสเตอรอลและ LDL ตามหลอดเลือดส่งมายังที่ตับ เพื่อนำคอเลสเตอรอลเหล่านั้นไปผลิตเป็น ฮอร์โมนหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย น้ำดี และเยื่อหุ้ม เซลล์ เหตุเพราะการเผาผลาญในร่างกายสูงขึ้น
       
        ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น น้ำมันมะพร้าวจึงเป็นน้ำมันที่ทำให้เพิ่ม HDL โดยตรง และสามารถลดอัตราความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดตีบและอุดตันได้!!!
       
        หลายคนรู้เพิ่มมากขึ้นในวันนี้ว่าการบริโภคไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์ในยุคนี้ก่อให้เกิดโรคมากมายมหาศาลจึงได้หยุดรับประทานไป โดยเฉพาะวงการปศุสัตว์ทั้งหลายที่มีสารพิษตกค้างจากยาเคมี ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ สารเร่งเนื้อแดง ฟอร์มาลีน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดโรคร้ายตามมาได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง แต่เมื่อหลายคนงดเนื้อสัตว์จึงต้องหันไปบริโภคโปรตีนจากธัญพืชแทน


       ธัญพืชที่เราบริโภคส่วนใหญ่นั้นก็ล้วนแล้วแต่มีกรดไขมันที่เริ่มไม่อิ่มตัวตำแหน่งที่ 6 (ตำแหน่งคาร์บอนแขนคู่ทำให้เริ่มตำแหน่งไม่อิ่มตัวตำแหน่งที่ 6) ที่เรียกว่า "กรดไลโนเลอิก" หรือที่เรียกว่า โอเมก้า 6 เป็นจำนวนมาก และจะยิ่งมากขึ้นไปอีกด้วยการใช้น้ำมันไขมันที่ได้จากธัญพืชส่วนใหญ่ก็มีโอเมก้า 6 อยู่ในระดับสูงด้วย คราวนี้ก็จะเกิดความไม่สมดุลในการบริโภคกรดไขมันถึง 2 ชั้น ทั้งจากธัญพืชที่เราบริโภคแทนโปรตีน และจากน้ำมันจากธัญพืชที่นำมาผัดหรือทอด
       
        ผลก็คือคนที่หันมาทานมังสวิรัติในลักษณะเช่นนี้ ก็จะมีกรดไขมันไลโนเลอิก หรือ โอเมก้า 6 มากเกินไปจนขาดสมดุล ผลที่ตามมาเมื่อเกิดการอักเสบของหลอดเลือดจากกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งเกิดทั้งอนุมูลอิสระได้มากและเกิดไขมันทรานส์ได้ง่าย
       
        ถ้ามีกรดไขมันชนิดโอเมก้า 6 มากเกินไปมากๆ ผลก็คือผนังหุ้มเซลล์จะเสียหายอย่างรุนแรงและปลดปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า Cytokines ออกมาทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังอย่างรุนแรง หลังจากนั้นจะพยายามรักษาตัวเองด้วยการหยุดการอักเสบนั้นด้วยการ นำไขมัน ลิ่มเลือด และแคลเซียมไปพอก หลอดเลือดจะแข็งตัว เมื่อพฤติกรรมการบริโภคเช่นนี้ปล่อยไว้ยาวนานขึ้นก็ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้ในที่สุด
       
        นักโภชนาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่าเราจำเป็นต้องบริโภคให้เกิดความสมดุลของกรดไขมันด้วย โดยสัดส่วนที่เหมาะสมก็คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวของโอเมก้า 6 นั้น ควรมีสัดส่วนไม่เกิน 4 เท่าตัว ของ กรดไลโนเลนิค หรือ กรดไขมันอิ่มตัวที่เริ่มไม่อิ่มตัวในตำแหน่งคาร์บอนที่ 3 ที่เรียกกันว่า โอเมก้า 3 ซึ่งมีในน้ำมันปลา สาหร่ายบางชนิด และ ธัญพืชบางชนิดที่ขึ้นในอุณหภูมิเย็นๆ
       
        โดยเชื่อว่าน้ำมันที่เป็นโอเมก้า 3 นั้นจะลดการอักเสบของหลอดเลือด ส่งผลทำให้ลดคอเลสเตอรอลที่พอกตามหลอดเลือด ลดลิ่มเลือด แต่ถ้ารับประทานมากเกินพอดีก็จะทำให้เลือดเหลวอ่อนตัว แข็งตัวยาก ดังนั้นสัดส่วนที่เหมาะสมในการบริโภคคือ
       
        กรดไขมันโอเมก้า 6 ไม่ควรเกิน 4 เท่าของกรดไขมันโอเมก้า 3
       
        แต่เมื่อลองพิจารณาน้ำมันถั่วเหลืองกลับปรากฏว่า มีปริมาณโอเมก้า 6 สูงมากถึง 54% และมีโอเมก้า 3 เพียง 7 % หมายความว่า มีโอเมก้า 6 สูงกว่าโอเมก้า 3 ถึง 7 เท่าตัว
       
        น้ำมันดอกทานตะวันอันตรายหนักไปกว่านั้น คือ มีปริมาณโอเมก้า 6 สูงถึง 68% และมีโอเมก้า 3 เพียง 1% หมายความว่า มีโอเมก้า 6 สูงกว่าโอเมก้า 3 ถึง 68 เท่าตัว
       
        น้ำมันงา มีปริมาณโอเมก้า 6 อยู่ในระดับสูงถึง 45% โดยที่ไม่มีโอเมก้า 3 เลย
       
        แม้น้ำมันรำข้าวจะจัดว่าเป็นเป็นน้ำมันชนิดที่ค่อนข้างดี เพราะมีวิตามินอีต้าน อนุมูลอิสระสูง ทั้งในกลุ่มโทโคฟีรอล และไทโคโตรอีนอล และโอรีซานอล ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่น้ำมันรำข้าวก็ยังไม่เหมาะกับการผัด ทอด หรือโดนความร้อนอยู่ดี เพราะอย่างไรเสีย น้ำมันชนิดนี้ก็ยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัว รวมกันสูงถึง 82% โดยเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งสูงถึง 37% และเป็นไขมันไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่งอีก 45% หากโดนความร้อนก็จะทำให้อนุมูลอิสระเข้าโจมตีได้ และหากนำมาผัดทอดซ้ำในอุณหภูมิสูงก็เกิดไขมันทรานส์ได้ และทำให้เกิดการอักเสบ ของหลอดเลือดได้เช่นกัน
       
        แต่นักชีวเคมีชื่อดัง ดร.เรย์ พีท จากมหาวิทยาลโอเรกอน สหรัฐอเมริกา โต้แย้งว่า น้ำมันที่เรียกว่า โอเมก้า 3 หรือกรดไลโนเลนิกที่หลายคนตามหาเพราะคิดว่ามีประโยชน์นั้น แท้ที่จริงแล้วกรดไขมันชนิดนี้ก็ไม่อิ่มตัวเช่นกัน กรดไขมันเหล่านี้เกิดขึ้นในอุณหภูมิที่เย็น ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ที่มีอุณหภูมิที่ร้อนกว่า จึงถูกอนุมูลอิสระทำลายจนหมดสิ้น
       
        เป็นที่ทราบดีว่าโอเมก้า 3 มีมากในปลา แต่ปรากฏว่างานวิจัยของ Brouwer และคณะ พ.ศ. 2552 และ Saravanan และคณะ พ.ศ. 2553 ของมหาวิทยาลัยแห่งวาเก็นนิงเก้น แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาชายหญิงอายุเกิน 55 ปี จำนวน 5,299 คน อยู่ชานเมืองอัมเสตอร์ดัมพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ชอบกินปลาและไม่ชอบกินปลาไม่มีผลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ต่อมาผู้วิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารโรคหัวใจแห่งยุโรป สรุปว่า "กรดไขมันจำเป็นที่เป็นโอเมก้า 3 ที่มีอยู่ในน้ำมันปลา จะมี สรรพคุณช่วยป้องกันโรคหัวใจ เหมือนกับที่มีข่าวว่ามันช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้นั้น ไม่เป็นความจริง!!!"
       
        แต่ลองคิดดูว่าปกติคนที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์มาก ก็ต้องใช้ความร้อนสูงกว่าการผัดทอดผักหรือธัญพืช เพราะต้องการทำให้สุกจึงต้องใช้น้ำมันมาก ในบางกรณีต้องทอดจนน้ำมันท่วม ยิ่งใช้ความร้อนสูงน้ำมันเหล่านี้ก็จะกลายเป็นไขมันทรานส์และเป็น สารก่อมะเร็งได้ในที่สุด
       
        สรุปว่าเราเลือกบริโภคธัญพืชมากแล้วผัดหรือทอดด้วยน้ำมันพืชไม่ อิ่มตัว หลายตำแหน่ง (น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา ฯลฯ) ก็มีโอกาสทำให้หลอดเลือดอักเสบ ตีบ และอุดตันได้ทั้งนั้น แต่ถ้ารับประทานกับเนื้อสัตว์มากนอกจากจะมีโอกาสทำให้หลอดเลือดอักเสบแล้ว ยังจะได้โรคมะเร็งตามมาได้ด้วย
       
        การอักเสบของหลอดเลือดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเฉพาะไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งที่ผ่านกรรมวิธีหรือผ่านความร้อนสูงเท่านั้น (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด ด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา ฯลฯ) แต่ยังรวมถึงการอักเสบจากการบริโภคน้ำตาลมาก ทั้งจากการรับประทานหวานมาก หรือรับประทานอาหาร พวกแป้งขัดขาวมากเกินไปได้ด้วย
       
        ถ้าเราพิจารณาจาก ดร.สาทิส อินทรกำแหง ใช้สูตรชีวจิต โดยเน้นเรื่องการบริโภคโปรตีนจากธัญพืชในสัดส่วนค่อนข้างมาก ซึ่งย่อมหมายความว่าการบริโภคเช่นนี้ย่อมมีสัดส่วนของโอเมก้า 6 ค่อนข้างโดดมาก
       
        ในขณะที่ พลตรีจำลอง ศรีเมือง รับประทานโปรตีนจากธัญพืชเช่นกัน เดิมใช้น้ำมันถั่วเหลืองมาอย่างยาวนาน ต่อมาใช้น้ำมันรำข้าว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น ไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งทั้งสิ้น และชอบรับประทานอาหารรสจืดโดยไม่ใส่เครื่องเทศใดๆ
       
        ชาวอินเดียที่รับประทานอาหารมังสิวิรัติมาก แม้จะบริโภคโปรตีนจากธัญพืชค่อนข้างสูง แต่พวกเขาก็รับประทานควบคู่ไปกับเครื่องเทศ ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าผักและผลไม้ อันเป็นการลดข้อด้อยของธัญพืชที่มีกรดไขมัน้ำมันไม่ อิ่มตัวหลายตำแหน่งที่เปิดช่องให้อนุมูลอิสระโจมตีได้มาก
       
        การวัดค่าสารต้านอนุมูลอิสระนั้นสามารถวัดได้หลายวิธีและยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ แต่การวัดวิธีหนึ่งที่เรียกว่า Oxidation Radical Absorbance Capacity (ORAC) ซึ่งจัดทำฐานข้อมูลในองค์กรในเครือข่ายโดย USDA ของสหรัฐอเมริกา ได้เคยจัดอันดับเมื่อปี พ.ศ. 2555 ว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่มากที่สุด พบว่าส่วนใหญ่อยู่ใน "เครื่องเทศ" และ "สมุนไพร"
       
        เช่น เมล็ดซูแมค ( Sumac: สมุนไพรของชาวตะวันออกกลาง) มีค่า ORAC สูงถึง 312,400 μmol ต่อ 100 g, กานพลู มีค่า ORAC สูงรองลงมาคือ 290,283 μmol ต่อ 100 g, เครื่องเทศ ออการีโน มีค่า ORAC 175,295 μmol ต่อ 100 g
       
        ส่วนที่เรารู้จักกันดีในภูมิภาคนี้ก็คือ อบเชย (อันดับ 7) มีค่า ORAC 131,240 μmol ต่อ 100 g, ขมิ้น (อันดับ 8) มีค่า ORAC 127,068 μmol ต่อ 100 g
       
        อันที่จริงมีเครื่องเทศอีกหลายชนิดของไทยที่ไม่ได้มีโอกาสตรวจวัดค่า ORAC แต่เครื่องเทศ เช่น หัวหอม กระเทียม พริก พริกไทยดำ ต่างมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงทั้งสิ้น ซึ่งคนอินเดียที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์จึงมักรับประทานกับธัญพืชควบคู่ไปกับเครื่องเทศและสมุนไพรด้วย ด้านหนึ่งเป็นการขับลม อีกด้านหนึ่งคือลดทอนข้อด้อยของกรดไขมันไม่อิ่มตัวจากธัญพืชที่เปิดโอกาสให้อนุมูลอิสระโจมตีมาก
       
        ในความเห็นของผมจากการศึกษางานวิจัยหลายชิ้นจึงสรุปสำหรับการป้องกันโรคหัวใจจาการบริโภคว่า
       
        1. เราควรใช้น้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีกรดไขมันอิ่มตัวสูงที่สุดในการผัดหรือทอดอาหาร เพื่อป้องกันไม่ใช้น้ำมันที่ไม่อิ่มตัวชนิดอื่น โดยเฉพาะคนที่รับประทานมังสวิรัติที่ได้มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวโอเมก้า 6 ซึ่งบริโภคจากโปรตีนจากธัญพืช ควรต้องใช้น้ำมันมะพร้าวสำหรับการผัดทอด และควรดื่มสกัดเย็นในช่วงเช้าเพื่อเพิ่มปริมาณ HDL ให้สูงขึ้น
       
        2. แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงเรื่องน้ำมันโอเมก้า 3 ว่าดีจริงหรือไม่ เราควรสลับรับประทานกรดไขมันชนิดอื่นบ้าง เช่น งาขี้ม้อน สาหร่ายเกลียวทอง ฯลฯ เพื่อให้ได้โอเมก้า 3 มาลดสัดส่วนของ โอเมก้า 6 บ้าง
       
        3. การรับประทานอาหารที่เน้นธัญพืชที่มาแทนเนื้อสัตว์ ควรพิจารณาในการรับประทานควบคู่กับเครื่องเทศด้วย เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระและลดข้อด้อยของกรดไขมันจากธัญพืชเหล่านั้นที่ไม่อิ่มตัวมาก
       
        4. ควรลดแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง และควรทานผักให้มากขึ้น โดยต้องเข้าใจว่าไม่ว่าโปรตีนและไขมันต่างก็ออกฤทธิ์เป็นกรดทั้งสิ้น ไม่ว่าในรูปของ แป้ง น้ำตาล ไขมันและโปรตีน จึงควรรับประทานให้สัดส่วนของอาหารที่พอดีพอเพียง นั่นก็คือพยายามรับประทานผัก ผลไม้ ที่ให้ฤทธิ์ด่างให้มากขึ้นนั่นเอง และควรดื่มน้ำให้มากพอ 8 แก้วต่อวัน

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    20 ธันวาคม 2556

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ฤดูหนาวปีนี้ในประเทศไทยดูเหมือนจะมีความเย็นกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา เสื้อกันหนาวที่ใช้กันไม่ได้หลายปีก็กลับเอามาใช้ได้มากขึ้น
       
        "น้ำมันมะพร้าว" ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวจะเริ่มแข็งตัวเมื่ออุณหภูมิเย็นกว่า 25 องศาเซลเซียส ดังนั้นใครก็ตามที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องน้ำมันมะพร้าวมาก่อน ก็อาจจะถูกหลอกอีกว่าเห็นไหมน้ำมันพวกนี้เป็นไขลองคิดดูว่าถ้ามันเข้าไปในร่างกายเรามันจะเป็นไขตามหลอดเลือดเราขนาดไหน?
       
        แต่ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะพบว่าน้ำมันมะพร้าวจะเป็นไขเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ร่างกายมนุษย์มีอุณภูมิความเย็นระหว่าง 36.4-37.0 องศาเซลเซียส จึงไม่สามารถจะเกิดเป็นไขได้เลย
       
        ในทางตรงกันข้ามถ้าเราเอาน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งส่วนใหญ่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งสูง (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด ฯลฯ) มาทอดด้วยความร้อนสูงแล้วตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องหรือตากแดดเอาไว้ให้ที่ใกล้เคียงอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ เรากลับพบว่าน้ำมันเหล่านั้นเหนียวเป็นคราบแล้วล้างออกได้ยาก ซึ่งแตกต่างจากน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหมูที่มีไขมันอิ่มตัวมาก เมื่อโดนความร้อนจึงไม่เป็นคราบเหนียวๆเหมือนน้ำมันพืชเหล่านั้นเลย
       
        ความจริงแล้วการเป็นไขในอุณหภูมิเย็นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะน้ำมันมะพร้าวที่มีกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่สูงเท่านั้น แม้แต่น้ำมันหมูเมื่อโดนอุณหภูมิที่เย็นก็จะเป็นไขได้เช่นเดียวกัน และเมื่ออุณหภูมิปกติใกล้เคียงร่างกายมนุษย์ไขเหล่านี้ก็จะหายไปทั้งหมด
       
        ดร.เรย์ พีท นักเคมีจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เคยเขียนเรื่องอุณหภูมิกับน้ำมันเอาไว้ความตอนหนึ่งว่า
       
        "ไขมันอิ่มตัวจะเกิดขึ้นในพืชที่ขึ้นในเขตร้อนชื้นและในสัตว์เลือดอุ่นซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับเสถียรภาพของน้ำมันที่อุณหภูมิสูง ดังนั้นน้ำมันมะพร้าวหากเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 1 ปี มันจะไม่หืน เพราะต้นมะพร้าวโตในอุณหภูมิประมาณ 37.7 องศาเซลเซียส ดังนั้น ณ อุณหภูมิห้องมันจะไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน (Oxidative)
       
        ในขณะที่น้ำมันปลาและน้ำมันดอกคำฝอยซึ่งเจริญเติบโตในอุณหภูมิเย็นจะไม่สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้เลย เพราะในอุณหภูมิเพียง 36.6 องศาเซลเซียส มันจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนอย่างรวดเร็วมาก
       
        สิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิยิ่งสูงไขมันจากสิ่งที่มีชีวิตเหล่านั้นจะมีความอิ่มตัวมาก เช่นเดียวกับแหล่งเพาะปลูกของน้ำมันพืช ตัวอย่างเช่น "แกะ" เป็นสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวสูง แต่ไขมันชั้นบนติดผิวหนังจะกลายเป็นไขมันไม่อิ่มตัว เพื่อป้องกันไม่ให้แตกกระด้าง(หรือเป็นไข)เมื่อโดนอุณหภูมิเย็น นอกจากนี้จากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ เรย์ วูฟ ในหัวข้อ เคมีของโภชนาการและอาหารของโลก ของมหาวิทยาลัยโอเรกอน มลรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2529 ได้ค้นพบว่า "ถ้านำหมูมาใส่เสื้อกันหนาว หมูตัวนั้นจะมีไขมันอิ่มตัวมากกว่าหมูตัวอื่น"
       
        เช่นเดียวกับน้ำมันปลา ปลาปกติมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิความเย็นจนเกือบแข็งตัวมันเองไม่เป็นไขหรือแตกกระด้าง แต่มันจะตายลงทันทีหากมันปลาเป็นสัตว์ที่สะสมไขมันอิ่มตัว ดังนั้นไขมันที่ไม่อิ่มตัวซึ่งเจริญเติบโตและมีชีวิตอยู่กับความเย็นมันจะหืนง่ายเมื่อโดนความร้อน เมื่อไขมันเหล่านี้ถูกเก็บเอาไว้ในเนื้อเยื่อเราที่มีอุณหภูมิสูงกว่าทีมันเคยมีชีวิตอยู่ มันจะเปิดรับทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลายเป็นอนุมูลอิสระได้มาก"
       
        เมื่อเราได้เข้าใจเรื่องประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวได้มากขึ้น คำถามที่ตามมาก็คือ ฤดูหนาวเมื่อโดนอุณหภูมิที่เย็น มันก็จะกลายเป็นไขแล้วเราจะบริโภคหรือใช้มันได้อย่างไร?
       
        เรื่องนี้ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา นักเกษตรอาวุโส ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และเป็นประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นถึงปัญหาคาใจนี้ในตีพิมพ์ในนิตยสารกัลปพฤกษ์ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ความตอนหนึ่งว่า:
       
        "น้ำมันมะพร้าวที่ตั้งไว้ เกิดแข็งตัว หรือถ้าหนาวไม่มากนัก ก็เปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น หนืดขึ้น ทำให้บางคนไม่กล้าใช้ หรือถ้ามันแข็งตัวในขวดก็เทไม่ออก ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากสมาชิกของชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวฯ นับเป็นสิบ ๆ ราย ถามถึงผลเสียจากการแข็งตัวดังกล่าว
       
        ก่อนที่จะอธิบายถึงเรื่องราวของการแข็งตัวของน้ำมันมะพร้าว ขอเล่าถึงรายการเกี่ยวกับสุขภาพทางวิทยุรายการหนึ่ง เมื่อสองสามปีมาแล้ว มีนายแพทย์คนหนึ่ง จากโรงพยาบาลวิภาวดี เป็นผู้ดำเนิการ ได้โจมตีน้ำมันมะพร้าวว่า เมื่อนำน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันถั่วเหลืองไปเข้าตู้เย็นปรากฎว่าน้ำมันมะพร้าวแข็งตัว ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองยังเป็นของเหลวอยู่ แพทย์ผู้นั้น จึงสรุปว่า ลองคิดดูซิว่า หากบริโภคน้ำมันมะพร้าวเข้าไปแล้ว ไปแข็งตัวในหลอดเลือด อะไรจะเกิดขึ้น เสียดายที่รายการนั้น ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังถามปัญหา ผู้เขียนจึงไม่มีโอกาส “สอนสังฆราช” ว่า ท่านเป็นถึงแพทย์ แต่ไม่รู้ว่าอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์อยู่ที่ 37oซ. ไม่ใช่ 25oซ. ซึ่งเป็นจุดที่น้ำมันมะพร้าวแข็งตัว สิ่งที่ท่านทำไปสอดคล้องกับโฆษณาของน้ำมันถั่วเหลือง ที่มีสปอตโฆษณาทางโทรทัศน์ ที่แสดงว่า น้ำมันถั่วเหลืองไม่เป็นไขเมื่อนำเข้าเก็บในตู้เย็น อาจเป็นได้ที่แพทย์คนนี้ รับค่าโฆษณาจากบริษัทขายน้ำมันถั่วเหลือง
       
        กลับมาพูดถึงเรื่องน้ำมันมะพร้าวเริ่มแข็งตัวที่อุณหภูมิ 25oซ. หากอุณหภูมิต่ำลง มันจะเป็นของแข็ง แต่ถ้าสูงขึ้นมันก็กลับเป็นของเหลวดังเดิม มีหลายคนทำตัวเป็นผู้รู้ว่า โครงสร้างของน้ำมันมะพร้าวเปลี่ยนไป เมื่อเปลี่ยนสภาพจากของเหลวไปเป็นของแข็ง แล้วกลับไปเป็นของเหลว จึงไม่ควรนำมาใช้อีก ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ไม่ควรดื่มน้ำ เพราะน้ำเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็ง คือน้ำแข็ง เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงถึง 0oซ. และเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งก็ละลาย แต่ไม่ปรากฏว่าคุณสมบัติของน้ำเปลี่ยนไปแต่อย่างใด
       
       การที่น้ำมันมะพร้าวเป็นของแข็ง ก็มีข้อดีดังต่อไปนี้:
       
       1. ทำให้บริโภคได้ง่ายขึ้น สามารถนำมาทาขนมปัง รับประทานได้สะดวก
       
       2. ไม่มีกลิ่นหรือกลิ่นลดลง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นน้ำมันมะพร้าว ที่จริงน้ำมันมะพร้าวแข็ง มีกลิ่นคล้ายชอกโกแลตขาว (white chocolate) บางคนเรียกน้ำมันมะพร้าวแข็งนี้ว่า เนยมะพร้าว (coconut butter หรือ margarine)
       
       ที่จริงการแข็งตัวของน้ำมัน เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา ของวงการอุตสาหกรรมอาหาร เพราะต้องการให้ผลิตภัณฑ์อาหารไม่เหนียวเหนอะหนะเวลาจับต้อง ดังเช่นโดนัท บิสกิต แครกเกอร์ หรือขนมประเภทกรุบกรอบ สิ่งที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทำก็คือ อัดก๊าซไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันถั่วเหลือง เพื่อเปลี่ยนให้เป็นน้ำมันอิ่มตัว (แล้วทำไมไปปรักปรำน้ำมันอิ่มตัวว่าไม่ดี?) ทำให้น้ำมันนั้นแข็งตัวในอุณหภูมิห้อง แต่กระบวนการนี้ ก็เปลี่ยนน้ำมันส่วนหนึ่งให้เป็นไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
       
       สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการให้น้ำมันมะพร้าวแข็งตัวในฤดูหนาว โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ และภาค อีสาน สามารถทำได้โดยนำขวดน้ำมันมะพร้าวไปผูกไว้ด้านหลังตู้เย็น ที่มีคอยล์ร้อน หรือถ้าน้ำมันแข็งในขวด เทไม่ออก ก็เพียงแต่แช่น้ำอุ่นจากก๊อกน้ำ (ถ้ามีน้ำอุ่น) หรือที่ได้จากการต้มน้ำ เช่นหม้อต้มน้ำร้อนสำหรับชงกาแฟ
       
       ส่วนผู้ที่ต้องการบริโภคน้ำมันมะพร้าวแข็ง เพราะไม่มีกลิ่น หรือเพื่อใช้ทาขนมปัง ก็เทน้ำมันมะพร้างลงในขวดปากกว้าง และนำไปแช่ตู้เย็น เวลาบริโภค ก็ใช้ช้อนหรือมีดทาขนมปังขูดขึ้นมาจากขวด แล้วทาขนมปัง หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่นทาตัว ซึ่งน้ำมันมะพร้าวจะหลอมเหลวเมื่อถูกกับผิวหนังที่อุ่น"
       
       ต้องกราบขอบพระคุณ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ได้กรุณาอนุญาตให้ผมเผยแพร่ข้อความดังกล่าวข้างต้นนี้เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าวมือใหม่ คราวนี้เราก็ได้บริโภคน้ำมันมะพร้าวในตอนที่เป็นไขได้อีกรสชาติหนึ่งที่ไม่มีกลิ่นน้ำมันมะพร้าวได้ในฤดูหนาวแล้ว!!!

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 ASTVผู้จัดการรายวัน    27 ธันวาคม 2556