ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิวัติน้ำมันพืช(ตอนที่ 6-7-8):"น้ำมันมะพร้าวแก้โรคความจำเสื่อม  (อ่าน 4853 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
   ผมในฐานะสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจและเผยในเรื่องน้ำมันมะพร้าวได้ตระหนักอยู่เสมอว่า การติดอาวุธทางปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติน้ำมันพืชและการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสุขภาพได้ จึงเข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการในเรื่อง "ขี้ลืม! ความจำเสื่อม! น้ำมันมะพร้าวอาจช่วยได้" ซึ่งได้จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้นที่กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 โดยชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวและสถาบันพืชสวน ซึ่งมี ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา เป็นประธาน
      
        การสัมมนาในครั้งนี้ได้รวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบันและนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน เช่น ดร.นพ.อุทัย อุดสุข อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายกสมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทย พ.อ.ดร.นพ.ดำรง เชี่ยวศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สภากาชาดไทย ดร.นพ.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ แพทย์สาขาอายุรกรรม คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา อดีตประธานวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย รศ.พญ.ลำดวน วงศ์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณาการทางการแพทย์ Bangkok Health Clinic น.ส.วิไลศรี ลิมปพยอม นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา นักเกษตรอาวุโสขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่ผลักดันในเรื่องน้ำมันมะพร้าวมาอย่างยาวนาน
      
        ก่อนที่จะสรุปเนื้อหาในประเด็นที่น่าสนใจจากการสัมมนาของนักวิชาการคณะนี้ ก็ต้องขออธิบายเบื้องต้นก่อนเพื่อเป็นการปูพื้นเพื่อจะได้มีความเข้าใจตรงกัน เกี่ยวกับ "ความยาวของกรดไขมัน" และความสัมพันธ์ระหว่าง "กรดไขมัน กับ ไตรกลีเซอไรด์" ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่จะเกี่ยวพันกับเรื่องที่จะเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับโรคความจำเสื่อมที่จะกล่าวถึงต่อไป
      
        น้ำมันพืชที่เราใช้กันอยู่นั้น ประกอบไปด้วย กรดไขมัน (Fatty Acids) 3 โมเลกุล รวมกับกลีเซอรอล เกิดเป็นไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) โดยในกรดไขมันนั้นสามารถแบ่งออกเป็นตามความยาวของกรดไขมันดังนี้



ภาพที่ 1 ตัวอย่างกรดไขมันสายสั้น สายปานกลาง และสายยาว


       1. กรดไขมันสายโซ่สั้น (Short Chain Fatty Acids SCFAs) เป็นกรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันเป็นสายสั้นเพียง 2 ถึง 4 ตัวเท่านั้น เช่น กรดบิวไทริก (คาร์บอน 2 ตัว) กรดโปรปริออนิก (คาร์บอน 4 ตัว)
      
        2. กรดไขมันสายโซ่ปานกลาง (Medium Chain Fatty Acids - MCFAs) เป็นกรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันเป็นสายปานกลางประมาณ 6-12 ตัวเท่านั้น เช่น กรดคาร์โปริก (คาร์บอน 6 ตัว) กรดคาร์ปริลิก (คาร์บอน 8 ตัว) กรดคาร์ปริก (คาร์บอน 10 ตัว) กรดลอริก (คาร์บอน 12 ตัว)
      
        3. กรดไขมันสายโซ่ยาว (Long Chain Fatty Acid -LCFA) เป็นกรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนระหว่าง 14 ถึง 24 ตัว เช่น กรดไมริสติก (คาร์บอน 14 ตัว) กรดปาล์มิติก (คาร์บอน 16 ตัว) กรดสเตียริก (คาร์บอน 18 ตัว) กรดโอเลอิก (คาร์บอน 18 ตัว) กรดไลโนเลอิก (คาร์บอน 18 ตัว) กรดไลโนเลนิก (คาร์บอน 18 ตัว)
      
        แต่กรดไขมันสายสั้นและปานกลางนั้นมีคุณสมบัติเด่นคือสามารถดูดซึมเร็วเป็นพลังงานแก่ตับได้เร็วมากภายใน 1 ชั่วโมง โดยไม่ตกค้างหรือสะสมซึ่งต่างจากกรดไขมันสายยาว ซึ่งกรดไขมันสายสั้นและปานกลางมีมากที่สุดเฉพาะใน "น้ำมันมะพร้าว" โดยมีสัดส่วนสูงถึง 62% - 71%



ภาพที่ 2 แผนภูมิแสดงตัวอย่างปริมาณกรดไขมันสายสั้นและปานกลางที่มีมากที่สุดในน้ำมันมะพร้าว

       ถ้าจะเปรียบเทียบอุปมาให้เข้าใจน้ำมันก็คือแหล่งเชื้อเพลิง ถ้าเรามีท่อนซุงขนาดใหญ่โยนลงไปในเปลวที่มีอยู่น้อยนิด นอกจากทำให้ไฟดับแล้วเราจะมีท่อนซุงสะสมค้างเป็นขยะอยู่ด้วย ในทำนองเดียวกันถ้าเรามีท่อนฟืนที่ผ่าเป็นซีกเล็กๆโยนเข้าไปในเปลวไฟที่มีอยู่น้อยนิดเปลวไฟนั้นก็จะลุกโชนขึ้นกลายเป็นกองไฟขนาดใหญ่ขึ้นจนสามารถเผาผลาญท่อนซุงที่อยู่ข้างเคียงให้เป็นพลังงานได้เกือบทั้งหมดด้วย
      
        การเผาผลาญที่ดีทำให้เราได้แปลงไขมันเป็นได้ทั้งฮอร์โมน น้ำดี และเพราะน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลางมีโมเลกุลที่สั้นกว่า จึงถูกใช้เปลี่ยนเป็นพลังงานให้ตับ และเปลี่ยนเป็นสารชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "คีโตน" ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูสมองได้

นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ
       นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ซึ่งจบทั้งคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และจบปริญญาเอกด้านชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นอาจารย์พิเศษให้คณะแพทย์ศาสตร์หลายแห่ง และเป็นแพทย์สาขาอายุรกรรมคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ได้เขียนคำอธิบายถึงความสำคัญในเรื่อง กรดไขมันสายปานกลางในน้ำมันมะพร้าว ในเอกสารประกอบคำบรรยายเรื่อง "All Fats Are Not Created Equal" ความบางตอนดังนี้
      
        "การศึกษาทางวิจัย พบว่า หากปรับเปลี่ยนอาหารการกิน โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่จำกัดแป้งและน้ำตาล (Restricted carbohydrate diet) จะบังคับให้เซลล์ในร่างกายต้องหันไปใช้พลังงานที่ได้จากการเผาผลาญไขมันแทน การเผาผลาญไขมันจะทำให้ร่างกายมีระดับสารคีโตน (Ketone bodies) เพิ่มขึ้น จึงเรียกสูตรอาหารนี้ว่าเป็นอาหารคีโตเจนนิก (Ketogenic dites) อีกชื่อหนึ่ง ซึ่งสูตรอาหารนี้อาจนำไปใช้รักษาโรคบางอย่างได้
      
        หากร่างกายได้รับกรดไขมันสายโซ่ปานกลางจากการบริโภคพบว่า กรดไขมันสายโซ่ปานกลางจะมีขบวนการดูดซึมและเผยผลาญเป็นพลังงานต่างจากกรดไขมันสายโซ่ยาว คือพบว่ากรดไขมันสายโซ่ปานกลางจะดูดซึมจากลำไส้ผ่านกระแสเลือดแล้วไปเข้าสู่ตับได้โดยตรง นอกจากนั้น กรดไขมันสายโซ่ปานกลางยังสามารถผ่านเข้าไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) ได้ง่าย ผิดกับกรดไขมันสายยาวซึ่งหลังดูดซึม จะต้องเข้าสู่ระบบไหลเวียนในรูปไคโลไมครอน (Chylomicron) และการเข้าสู่เซลล์ก็ต้องอาศัยเอนไซม์ Lipoprotein Lipase และการผ่านเข้าไปในไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) เพื่อการเผาผลาญก็ต้องอาศัย CPT-1 เป็นตัวพา นับว่ากรดไขมันสายโซ่ปานกลางจะผ่านเข้าไปในเซลล์และเผาผลาญเป็นพลังงานง่ายกว่ากรดไขมันสายโซ่ยาว และสามารถผลิตคีโตน (Ketone body) ได้มากกว่าด้วย
      
        หากเรากินอาหารที่จำกัดแป้งและน้ำตาล แล้วให้เซลล์ใช้พลังงานจากไขมันที่คนเราสะสมอยู่เดิม พลังงานที่ได้ส่วนใหญ่ก็จะได้จากการเผาผลาญกรดไขมันสายยาว
       หรือบริโภคไขมันจากสัตว์เซลล์ก็จำเป็นต้องผลิตพลังงานจากกรดไขมันสายยาวเช่นกัน
      
        ในรายที่ต้องการให้เซลล์ได้พลังงานจากไขมัน แต่เซลล์มีภาวะผิดปกติสามารถใช้กรดไขมันสายยาวได้น้อยลง หรือในรายที่ต้องการผลิตคีโตน (Ketone bodies) เพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้มีการบริโภคกรดไขมันสายโซ่ปานกลางเสริมขึ้นมา"
      
        นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ยังได้ระบุด้วยว่าปัจจุบันได้มีการศึกษาใช้กรดไขมันสายปานกลางร่วมกับการอาหารคีโนเจนนิก (งดแป้งและน้ำตาล) สำหรับการ "โภชนะบำบัด" เช่น กลุ่มอาหารโรคกินเกิน (รวมอาหารอ้วนลงพุง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไขมันจุกตับ ฯลฯ), โรคลมชักและโรคไมเกรน, โรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์, โรคไมโตคอนเดรียทำงานผิดปกติและเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว, โรคเนื้องอกและมะเร็ง
      
        นอกจากนี้ นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ยังได้เขียนบทความอีกชิ้นหนึ่งในเอกสารประกอบบรรยายในการสัมมานาครั้งนี้ที่ชื่อ "ขี้ลืม! ความจำเสื่อม! - โรคที่คนแก่ไม่อยากเป็น" ว่านอกจากจะเกิดขึ้นในคนอายุมากตามวัยแล้ว ยังอาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การเกิดจากกรรมพันธุ์หรือไม่ก็มีพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมเดียวกัน, สมองได้รับการกระแทก (Cerebral concussion), ความเครียด (Mental Stress), ความบกพร่องในระบบเลือดไหลเวียน และในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสารคีโตนคือกรณีความจำเสื่อมจากเซลล์สมองมีความบกพร่องในการใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงาน
      
        ที่กล่าวถึงเหตุผลนี้เพื่อจะบอกเหตุผลว่าการเกิดของโรคความจำเสื่อมนั้นเมื่อเกิดได้มาจากหลายสาเหตุ ก็ไม่ได้แปลเสมอไปว่าการรักษาด้วยวิธีการหนึ่งวิธีการใดจะเป็นการตอบโจทย์แก้ไขปัญหาโรคความจำเสื่อมได้
      
        แต่สำหรับกรณีโรคความจำเสื่อมอันเนื่องมาจากเซลล์สมองมีความบกพร่องในการใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงานนั้นถือได้ว่าเกี่ยวพันกับการเสริมด้วยน้ำมันมะพร้าวที่จะช่วยเรื่องอาการความจำเสื่อมได้ โดย นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ได้อธิบายว่า
      
        "โดยปกติ เซลล์สมองในทารกแรกเกิดจะใช้สารคีโตนเป็นพลังงานหลัก สารคีโตนนี้ได้จากการเผาผลาญไขมันประเภท "ไตรกลีเซอไรด์สายโซปานกลาง" (Medium Chain Triglycerides - MCT) ที่มีค่อนข้างสูง (ประมาณ 15-20%)
      
        ในนมมารดา เมื่อเด็กโตขึ้น เซลล์สมองจะหันมาใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงานหลักจนถึงเป็นผู้ใหญ่ แต่คนแก่ที่มีความจำเสื่อม การฉีด (F-18) Fluorodeoxy-glucose แล้วถ่ายภาพสมองด้วย PET Scan พบว่าสมองส่วนที่ทำหน้าที่จดจำ มีการใช้น้ำตาลกลูโคสได้น้อยลงผิดปกติ บางท่านเปรียบเทียบปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น "เบาหวานประเภท 3"
      
        ต่อมา การวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่มีความจำเสื่อม สมองสามารถใช้สารคีโตนเป็นพลังงานได้ดีกว่า และเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Bioenergetic shift ทั้งการวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่าเซลล์สมองที่ป่วยเมื่อได้สารคีโตน สามารถทำงานดีขึ้น ทั้งสมองที่มี Beta-amyloid plaque ก็มีจำนวนลดลง ก็อาจเป็นการอธิบายว่า Beta-amyloid plaque เพราะเซลล์สมองได้สารคีโตน ก็อาจมีหลายวิธี
      
        วิธีหนึ่ง คือ การให้สารคีโตนเข้าทางหลอดเลือด ซึ่งก็อาจใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ในภาวะสมองขาดเลือดกะทันหัน
      
        วิธีที่สอง คือ กินคีโตน เอสเตอร์ Ketone ester (D-beta-hydroxybutyrate-(R)-1,3 butanediol) ที่ผลิตโดย R.Veech แห่ง สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH)
      
        วิธีที่สาม คือง่ายกว่าสองวิธีแรก คือบริโภคอาหารที่มีโปรตีนและไขมัน แต่จำกัดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เป็นการบังคับให้ร่างกายเผาผลาญไขมันเป็นพลังงาน และในเวลาเดียวกัน ตับก็จะสร้างคีโตนจำนวนมากสำหรับสมองและกล้ามเนื้อนำไปใช้เป็นพลังงานได้
      
        ในการใช้วิธีที่สามนี้ หากการเผาผลาญไขมันจากไขมันสะสม หรือจากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ที่บริโภค ส่วนใหญ่เป็นไตรกลีเซอไรด์ห่วงโซ่สายยาว (Long Chain Triglycerides -LCT) ซึ่งในบางกรณี ร่างกายเผาผลาญไตรกลีเซอไรด์ห่วงโซ่สายยาวไม่ได้ดีเท่า ไตรกลีเซอไรด์ห่วงโซ่สายปานกลาง (Medium Chain Triglycerides - MCT) จึงเกิดนวัตกรรมที่เรียกว่า อาหาร ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลางผนวกเข้ากับอาหารคีโตเจนิก ( MCT-Ketogenic Diets) คืองดแป้งและน้ำตาล เน้นกินโปรตีนและไขมัน และเสริมด้วยน้ำมันที่มีไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางสูง"
      
        และน้ำมันพืชที่มีไตรกลีเซอไรด์สายปานกลางสูงที่สุดก็คือ "น้ำมันมะพร้าว" และนี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงได้มีการใช้น้ำมันมะพร้าวมาช่วยบรรเทาในเรื่องอาการสมองเสื่อมได้!!!


ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    8 พฤศจิกายน 2556
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มีนาคม 2014, 22:19:53 โดย story »

Wisnee

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 30
    • ดูรายละเอียด
Post by See Belief Oneself SBO

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ปฏิวัติน้ำมันพืช (ตอนที่ 7): สัมมนาตามหาความจริง "น้ำมันมะพร้าวแก้โรคความจำเสื่อม"

จากความเดิมในตอนที่แล้ว นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ แพทย์สาขาอายุรกรรมคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ได้กล่าวถึงกรณีการเกิดโรคความจำเสื่อมจากเซลล์สมองมีความบกพร่องในการใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงาน นั้นสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการงดแป้งและน้ำตาล และเสริมด้วยน้ำมันมะพร้าวซึ่งมีไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง (Medium Chain Triglyceride : MCT) อยู่ในระดับสูง ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้สมองได้รับ "สารคีโตน" ซึ่งสังเคราะห์จากไขมันเป็นอาหารให้กับเซลล์จนสมองฟื้นตัวได้
      
        ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา นักเกษตรอาวุโสขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าว ได้รวบรวมงานเขียนและงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ซึ่งนำมาบรรยาเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจอยู่หลายประการ ในชั้นนี้จะกล่าวถึงเฉพาะงานวิจัยที่ ดร.ณรงค์นำมาบรรยายดังนี้
      
        "จากงานวิจัยในปี พ.ศ. 2547 ของ Reger et al. (2004) รายงานว่า การใช้ไตรกลีเซอไรด์สายปานกลาง 40 มิลลิกรัม จะช่วงปรับปรุงเชาว์ปัญญาของผู้สูงวัยที่มีปัญหาในเรื่องความทรงจำได้ โดยการศึกษาครั้งนั้นได้มีการใช้อาสาสมัคร 20 คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือมีอาการขี้ลืม
      
        ปรากฏว่ามีการเพิ่มระดับสารคีโตนที่ชื่อ beta-hydroxylutyrate (beta-OHB) ในพลาสมาของเลือด หลังจากเริ่มการทดลองไป 90 นาที และระดับของ beta-OHB เพิ่มสูงขึ้น หรือคงที่ระหว่างเวลาที่ดูดเลือด 90 และ 120 นาที
      
        นอกจากนี้การตรวจเชาว์ปัญญา พบว่าการใช้ ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง ได้ช่วยฟื้นฟูอาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และพบว่าค่าคีโตนที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับอาการที่ดีขึ้นอย่างมาก หลังการใช้ไตรกลีเซอไรด์ห่วงโซ่สายปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกในอาสาสมัครทุกคน
      
        จากการทดสอบเมื่อปี พ.ศ. 2555 Krikorian (2012) ได้ใช้อาสาสมัครสูงวัยจำนวน 23 คน ที่มีอาการขี้ลืม ให้บริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ หรืออาหารปกติเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ตรวจผลของการกินอาหารทั้งสองต่อการทำหน้าที่รับความทรงจำในผู้ที่มีอาการขี้ลืม พบว่ามีการปรับปรุงคะแนนความทรงจำอย่างมีนัยสำคัญ
      
        ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ยังได้กล่าวต่อว่า ในขณะอดอาหาร ร่างกายสามารถผลิตคีโตนจากไขมันที่สะสมไว้ แต่อาจผลิตได้จากไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง ที่มีอยู่ในอาหาร น้ำมันมะพร้าวเป็นแหล่งที่มากที่สุดของ ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง และช่วยฟื้นชีวิตของเซลล์ประสาท (Neuron) ได้ ทำให้สื่อประสาทต่างๆ ที่ถูกทำลายกลับฟื้นขึ้นมา นอกจากนี้มีการใช้อาหารที่มีไขมันสูงที่เปลี่ยนเป็นคีโตนได้ และมีการรักษาโรคลมชักในเด็กมานานแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มีการนำมาใช้โรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ รวมทั้งโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และ ชนิดที่ 2
      
        ความหมายของโรคสมองเสื่อม ที่ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา กล่าวถึงนั้น หมายรวมถึง โรคความจำเสื่อมรวมทั้งโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคฮันติงตัน โรคเส้นประสาทสันหลังเสื่อม โรคปลอกประสาทอักเสบ
      
        ดร.ณรงค์ ได้อธิบายต่อว่า ไขมันในร่างกายจะถูกย่อยโดยน้ำดี ก่อนที่จะแตกตัวในระบบย่อยอาหาร แต่ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง จะเคลื่อนย้ายไปยังตับโดยตรง และตับจะเปลี่ยนไขมันให้เป็นคีโตน โดยไม่ผ่านการทำงานของน้ำดี จากนั้นตับก็จะปลดปล่อยคีโตนเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนหนึ่งจะเคลื่อนย้ายไปสู่สมองเพื่อใช้เป็นพลังงานที่นั่น และสรุปได้ว่าคีโตนเป็นแหล่งของอาหารที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ หรืออาการสมองเสื่อม ซึ่งเซลล์ประสาทในบางส่วนของสมองไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าไปได้ เพราะเกิดการดื้อต่ออินซูลินและค่อยๆตายไป และถ้าเซลล์มีคีโตนมันจะยังมีชีวิตอยู่ได้ และยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ
      
        จากการศึกษาประวัติของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่ได้บริโภคน้ำมันมะพร้าว แสดงให้เห็นว่ามันเป็นไปได้ไม่เพียงแต่ที่จะหยุดยั้งความก้าวหน้าของโรคนี้ แต่ยังก่อให้เกิดการปรับปรุงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้กรดไขมันสายโซ่ปานกลางมีผลทางบวกต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เพราะมันแสดงว่าอาการที่ดีขึ้นนั้น เกิดขึ้นเกือบจะทันที ด้วยการดื่มเครื่องดื่มที่มีกรดไขมันสายโซ่ปานกลางเพียงครั้งเดียว และด้วยเหตุผลการศึกษาดังกล่าว องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงได้อนุมัติทางการแพทย์ (Medical Foods) ที่มีกรดไขมันสายโซ่ปานกลางสำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ จึงสรุปได้ว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นโภชนะชั้นเยี่ยมสำหรับส่งเสริมสุขภาพของสมอง
      
        ดร.ณรงค์ ได้กล่าวถึงการทำหน้าที่ของสารคีโตนว่า สารคีโตนจัดหาเชื้อเพลิงทดแทนที่เป็นที่ต้องการอย่างสูงสำหรับสมอง ที่สามารถเร่งกระบวนการทางด้านการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน ทำให้เกิดการปรับปรุงเชาว์ปัญญา สารคีโตนนี้มาจากการให้ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง ไตรกลีเซอร์ไรด์สายโซ่ปานกลางนั้นยังถูกดูดได้ง่ายกว่าอาหารไขมันส่วนใหญ่ที่เราบริโภคเข้าไป
      
        และน้ำมันมะพร้าวเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของไตรกลีเซอไรด์ โดยมีไตรกลีเซอร์ไรด์สายโซ่ปานกลางถึง 2 ใน 3 ส่วน (โดยปริมาตร)
      
        ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ได้เล่าถึงกรณีศึกษา จากนิตยสารไทมส์ ฉบับเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ในหัวข้อ "Doctor says an oil lessened Alzheimer's effect on her husband." โดย Hosley-Moore แม้จะไม่ใช่งานวิจัยแต่ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่อาจสร้างแรงบรรดาลใจให้คนที่สิ้นหวังหรือหมดหนทางในการบรรเทาหรือรักษาโรคอัลไซเมอร์
      
        คือมีชายคนหนึ่งชื่อ สตีฟ นิวปอร์ท เป็นนักบัญชี เมื่ออายุ 53 ปี เริ่มมีปัญหาในการทำงาน เช่น ไม่เป็นระเบียบ ผิดพลาด มีภาวะกดดัน และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ ที่เริ่มก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
      
        อย่างไรก็ตาม สตีฟ นิวปอร์ มีภรรยาเป็นแพทย์ ชื่อ แพทย์หญิงแมรี่ นิวปอร์ท ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของ Neonatal Intensive Care Unit, Spring Hill Regional Hospital, Tampa, Florida, USA พยายามจะรักษาสามีตัวเอง จนพบข้อมูลอันหนึ่งเกี่ยวกับการใช้ไขมันประเภทที่แสดงผลที่น่าพอใจสำหรับอาการทางประสาท
      
        ไขมันที่กล่าวถึงนี้มีชื่อเรียกว่า ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง (Medium Chain Trigylcerides : MCT) อยู่ในปริมาณสูงที่สุด คือน้ำมันมะพร้าว


       ดร.แมรี่ นิวปอร์ท ได้ให้น้ำมันมะพร้าวแก่สามีของเธอโยการใส่น้ำมันมะพร้าว 7 ช้อนชา ลงไปในอาหารทุกมื้อ ภายหลังจากการใช้ครั้งแรก ก็มีสิ่งที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้น


       เพราะก่อนดื่มน้ำมันมะพร้าว 1 วัน สตีฟแทบจะวาดรูปนาฬิกาไม่ได้เลย ไม่สามารถวาดรูปได้แม้กระทั่งเรือนนาฬิกาได้เลย ไม่สามารถเรียงตัวเลขจาก 1-12 ได้


       ปรากฏว่าหลังดื่มน้ำมันมะพร้าวทุกวันจนครบ 14 วัน เมื่อให้มาวาดรูปนาฬิกาใหม่ ปรากฏว่าสตีฟ นิวปอร์ท สามารถวาดรูปนาฬิกาได้ และเรียงตัวเลขได้ดีขึ้น คือสามารถวาดรูปเรือนนาฬิกาได้ และเรียงตัวเลขได้หมด แต่กอาจจะมีการขีดเส้นตรงแบ่งในวงกลมซ้ำไปมาอยู่บ้าง


       หลังจากนั้นดื่มนำมันมะพร้าวจนครบ 37 วันปรากฏว่าสตีฟ นิวปอร์ท สามารถวาดรูปนาฬิกาได้เกือบจะสมบูรณ์
   

        อีก 2 เดือนต่อมา สตีฟ นิวปอร์ท เริ่มมีอาการดีขึ้นอย่าเห็นได้ชัด พูดมากขึ้น และมีอารมณ์ขันกลับมาอย่างช้าๆ มีความตั้งใจและสามารถที่จะอยู่กับงานที่ทำอยู่ได้ดีขึ้น และในการสังสรรค์ในครอบครัว สตีฟสามารถจำชื่อญาติได้ ทั้งๆที่เมื่อ 1 ปีก่อนหน้าที่เขาจำใครไม่ได้เลย


       หลังจากการใช้น้ำมันมะพร้าวหนึ่งปีครึ่ง สตีฟ นิวปอร์ท ได้เป็นอาสาสมัครในห้องเก็บของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และสนุกกับงานและเพื่อนร่วมงาน อาการที่ก้าวเดินไม่ได้เมื่อก่อน ดีขึ้นจนสามารถวิ่งได้ สามารถอ่านหนังสืออย่างเข้าใจเนื้อหาได้อีกครั้ง รวมทั้งความทรงจำระยะสั้นดีขึ้น จนเขามีความรู้สึกว่าชีวิตเขากลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว
      
        ดร.แมรี่ นิวปอร์ท ให้เหตุผลของการฟื้นจากอาการของโรคอัลไซเมอร์ว่าเป็นผลของสารคีโตน (Ketone) เพราะไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง มีพฤติกรรมไม่เหมือนกับ ไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ยาว ที่มีในไขมันทั่วไป ทั้งที่เพราะมันมีขนาดโมเลกุลที่สั้นกว่า จึงถูกดูดซึม และถูกใช้ในการเปลี่ยนให้เป็นพลังงานที่ตับ และแทนที่จะเก็บไว้ในรูปของของไขมัน มันกลับไปเปลี่ยนเป็นสารคีโตนที่เป็นแหล่งของพลังงานทนแทนของร่างกาย"
      
        อย่างไรก็ตามอาจมีคนโต้แย้งว่า สตีฟ นิวปอร์ท มีอาการแย่ลงหลังจากนั้น 2 ปี !?
      
        ความจริงแล้ว ในช่วง 2 ปีที่ดื่มน้ำมันมะพร้าวนั้น (พ.ศ. 2551 -2553) สตีฟ นิวปอร์ท มีอาการดีขึ้นค่อนข้างชัดเจนมากแล้ว แต่สุขภาพของของสตีฟแย่ลงหลังปี 2553 เมื่อ "พ่อของสตีฟ นิวปอร์ท เสียชีวิตจึงกระตุ้นให้ สตีฟ เกิดอาการสะเทือนใจอย่างรุนแรงครั้งใหม่" โดยสตีฟบอกว่าเห็นเงาของพ่อของเขาที่เสียชีวิตในเงามืดของหน้าต่างในเวลากลางคืน
      
        หลังจากความสะเทือนใจครั้งนั้นในต้นปี พ.ศ. 2555 สตีฟ เริ่มรับประทานยานอนหลับ 3 สัปดาห์ต่อมา เขาเริ่มเดินวนไปวนมาและพูดกับตัวเองไม่หยุด เมื่อตกกลางคืนก็จะมีอาการสั่น หวาดกลัว และสับสน
      
        สตีฟ นิวปอร์ท ต้องเข้าไปในโรงพยาบาลและต้องให้ยาบำบัดโรคจิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่ปรากฏว่าความเชื่อในเรื่องยาได้ทำให้อาการของสตีฟแย่ลง คราวนี้แพทย์หญิงแมรี่ ตัดสินใจหยุดยาทุกชนิด รวมถึงยารักษาอัลไซเมอร์ด้วย ซึ่งเธอเชื่อว่ายากพวกนี้ไม่ได้ผล วันนี้เขารับประทานยาเฉพาะโรคเกาท์ หลังจากที่สัปดาห์ก่อนหน้าต้องรับประทานยารักษาโรคลมชัก
      
        วันนี้ สตีฟ นิวปอร์ท ยังคงเดินได้แต่ช้า ไม่สามารถปล่อยให้อยู่คนเดียวได้ สตีฟเดินอยู่ในบ้าน ดูโทรทัศน์ฟังเพลง สตีฟ นิวปอร์ท มีความสับสนเมื่อมีคนที่ไม่เคยพบเห็นมาในช่วงเวลาไม่นานมานี้มาเยี่ยมที่บ้าน และบางวันสตีฟ เรียกชื่อภรรยาของเขาผิด แต่วันอื่นๆเขาก็จะถลานอนไปใกล้ภรรยาที่เก้าอี้ยาวแล้วถามถึงเรื่องราวในแต่ละวันกับภรรยาของเขา
      
        น้ำมันมะพร้าวคงไม่ใช่คำตอบในการแก้ทุกสาเหตุของโรคความจำเสื่อมได้ โดยเฉพาะความเสียใจ ความเครียด หรือความสะเทือนใจอย่างรุนแรง แต่อย่างน้อยน้ำมันมะพร้าวก็ทำให้สตีฟ นิวปอร์ท มีอาการดีขึ้นจากโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์เป็นเวลาถึง 2 ปี จากคีโตนที่ได้จากไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลางที่มีมากในน้ำมันมะพร้าว
      
        แพทย์หญิงแมรี่ นิวปอร์ท กล่าวว่า :
      
        "ก่อนให้สตีฟ นิวปอร์ท ดื่ม น้ำมันมะพร้าว อาการของสตีฟแย่ลงอย่างหนัก" เธอเชื่อว่าถ้าไม่มีน้ำมันมะพร้าวในวันนั้นเธอคงสูญเสียสามีของเธอไปหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว
      
        ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ยังได้กล่าวถึงกรณีของงานศึกษาของ Whitaker ในปี พ.ศ. 2552 แนะนำให้คนที่เป็นโรคสมองเสื่อม รวมทั้งอาการขี้ลืม ใช้วีบำบัดด้วยคีโตนโดยการบริโภคน้ำมันมะพร้าว และมีประจักษ์พยานที่การบำบัดวิธีนี้ สามารถใช้ได้กับคนไข้ที่เป็นโรคในกลุ่มดาวน์ ออติสซึม และเบาหวาน การบำบัดด้วยคีโตน และการบำดบัดด้วยคีโตนเป็นวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ที่น่าประทับใจ เพราะการเกิดการดื้อต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลไม่สามารถเข้าไปในเซลล์สมองได้ ทำให้เกิดอาการความเสื่อมของระบบประสาทอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่คนยังไม่มีอาการ ที่จะใช้วิธีบำบัดด้วยคีโตน ในการใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาโรคอัลไซเมอร์
      
        ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ได้บรรยายว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาเพื่อรักษาอาการขี้ลืมอยู่เพียงขนาดเดียว คือยา"อะโซนา" เป็นยาที่ผลิตออกจำหน่ายในรูปของอาหารทางการแพทย์ (Medical Food) โดยจุดเด่นของยานี้คือมีผลการศึกษามาเป็นอย่างดียของสารที่มีคุณสมบัติสร้างคีโตนในรูปของสารบริสุทธิ์ ที่เข้มข้นจากน้ำมันมะพร้าว ในขณะที่ขจัดองค์ประกอบที่เพิ่มปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ที่มันมีอยู่
      
        ยาอะโซนา เป็นอาหารคีโตนที่มีองค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าว ช่วยปรับปรุงความจำและเชาว์ปัญญา มีความเสี่ยงน้อยในเรื่องผลข้างเคียง เช่น อาการวิงเวียนและท้องร่วง และแม้ว่ายานี้จะได้รับรองจาก อย.ของสหรัฐอเมริกา แต่ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจหาทั้งผลระยะยาวด้วย
      
        สำหรับการบำบัดโรคความจำเสื่อมด้วยคีโตนนั้น ดร.ณรงค์ โฉมเฉลาแนะนำปริมาณในการบริโภคว่า:
      
        "ระดับของไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลางที่ใช้เพื่อการรักษาโรคสมองเสื่อม อยู่ที่ 20 กรัม/วัน หรือเทียบเท่ากับน้ำมันมะพร้าว 35 มิลลิลิตร หรือ 7 ช้อนชา"!!!

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    15 พฤศจิกายน 2556
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มีนาคม 2014, 22:27:31 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ปฏิวัติน้ำมันพืช (ตอนที่ 8): สัมมนาตามหาความจริง "น้ำมันมะพร้าวแก้โรคความจำเสื่อม"

นพ.ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ แพทย์สาขาอายุรกรรมคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ได้กล่าวถึงกรณีสาเหตุทีเกิดของโรคความจำเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายกรณี โดยปรากฏอยู่ในเอกสารประกอบการบรรยายในหัวข้อ "ขี้ลืม ความจำเสื่อม!-โรคที่คนแก่ไม่อยากเป็น" ความตอนหนึ่งว่า:
      
        "ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยทั่วไป แม้จะมีข้อมูลว่ามีหลายคนในครอบคัวเป็นโรคเดียวกัน ก็อาจเพราะว่าคนในครอบครัวมีพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกันมากกว่า แต่เมื่อแพทย์ไม่รู้ว่าโรคมีต้นเหตุจากอะไร ก็มักจะเหมากล่าวโทษว่าเพราะปัจจัยทางพันธุกรรม แม้จะมีการศึกษาปัจจัยทางพันธุกรรมอย่างกว้างขวาง แต่คงจะห่างไกลจากมีวิธีแก้ไขทางพันธุกรรมได้
      
        สมองได้รับแรงกระแทก (Cerebral Concussion) ก็อาจทำให้เกิดอาการความจำเสื่อมในภายหลัง ตัวอย่างทีเห็นชัดเจน เช่น นักมวย หรือนักฟุตบอลที่ชอบใช้ศีรษะโม่งลูกฟุตบอล มีโอกาสเกิดความจำเสื่อมได้มาก
      
        ความเครียด (Mental Stress) ในสัตว์ทดลอง หากให้เกิดความเครียดนานๆ พบว่าเซลล์สมองส่วน Hippocampus จะมี Long-term potentiation (LTP) หรือ Synaptic Plasticity เชื่อว่าเป็นผลจากฮอร์โมน Coticosteroids ที่เพิ่มขึ้นจากความเครียด ในมนุษย์ก็เช่นกัน คนที่มีความเครียดสูงตอนวัยกลางคน จะพบมีสมองส่วน Hippocampus ฝ่อลง และเป็นโรคความจำเสื่อมในตอนแก่
      
        ความบกพร่องในระบบเลือดไหลเวียน คือผู้ป่วยที่มีอาการความจำเสื่อม การตรวจด้วย FMRI ขณะให้สอมงทำความจดจำด้วย จะพบว่าสมองส่วน Hippocampus และ prefrontal cortex ซึ่งทำหน้าที่ในการจดจำ จะมีเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงสมองส่วนนี้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคนปกติ ภาวะนี้มักจะเกิดในคนที่มีพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจ ไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ หรือในภาวะที่มีอุดตันหรือมีพยาธิสภาพในเส้นเลือดใหญ่ (Macroangiopathy)
      
        และที่สำคัญกว่ามาก คือการมีพยาธิสภาพในเส้นเลือดเล็กและฝอย (Microangiopathy) ทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถแพร่กระจายไปถึงเซลล์สมองที่ต้องการ เรียกภาวะนี้ว่า Neurovascula uncoupling ซึ่งมักจะพบในคนอ้วน หรือคนเป็นโรคเบาหวาน โรความดันเลือดสูง หรือคนเป็นโรคไตเรื้อรัง
      
        ความจริง โรคความดันเลือดสูง ก็เป็นอาการบ่งบอกว่าร่างกายอาจมีอวัยวะ (โดยเฉพาะสมองและไต) ได้รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงสั่งการผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ บงการให้หัวใจบีบแรงขึ้น ทั้งให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะอื่นมีการหดตัว (Vasoconstriction) เพื่อผันเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่ขาด และป้องกันหลอดเลือดที่ไม่ต้องการมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้นมีแรงดันเลือดสูงเกิน เพราะแรงดันเลือดที่สูงขึ้น อาจทะลุทะลวงจนผนังหลอดเลือดฝอยเกิดการแตกรั่ว
      
        การใช้ยาลดความดันก็คงไม่แก้ปัญหาที่บางอวัยวะในร่างกายต้องการเลือดมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น การรักษาน่าจะเน้นการแก้ที่สาเหตุ เช่น ความดันสูงเพราะเครียด ก็ต้องแก้กันที่จิตอารมณ์ หรือหากเป็นความดันเลือดสูงเพราะอ้วน ก็ควรพยายามลดความอ้วน ความดันเลือดก็จะลดลงเป็นปกติ หรือแม้แต่คนที่มีอการการไตเสื่อมเพราะอ้วน (Obestiy-related glomerulopathy) การลดความอ้วนก็จะช่วยให้อาการไตเสื่อมดีขึ้นด้วย
      
        เซลล์สมองมีความบกพร่องในการใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงาน ซึ่งได้กล่าวในตอนแรกไปแล้วว่า งานวิจัยค้นพบว่าผู้ที่สูงอายุที่มีอาการความจำเสื่อม สมองสามารถใช้สารคีโตนเป็นพลังงานได้ดีกว่า
      
        "ทั้งนี้การงดแป้ง น้ำตาล และเสริมด้วยการบริโภคน้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลางสูง จะช่วยทำให้เกิดสารคีโตนช่วยเป็นพลังงานให้กับเซลล์สมองในผู้ที่มีอาการความจำเสื่อมได้"
      
        นักวิชาการผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา, พ.อ.ดร.นพ.ดำรง เชี่ยวศิลป์, ดร.นพ.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ, รศ.พญ.ลำดวน วงศ์สวัสดิ์ ต่างเห็นตรงกันว่าวิธีการที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะมีส่วนช่วยเรื่องโรคความจำเสื่อมได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เซลล์สมองมีความบกพร่องในการใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงาน
      
        ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ได้บรรยายว่า:
      
        "ข้อดีของน้ำมันมะพร้าวในการใช้รักษาอาการขี้ลืม คือเป็นสารธรรมชาติที่ปราศจากสารพิษ เพราะธรรมชาติได้จัดหาทุกสิ่งที่เราต้องการในการรักษาอาการเจ็บป่วยใดๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมยาได้เน้นถึงการใช้ยา วัคซีน และสารอื่นๆ โดยปราศจากการพิจารณาประสิทธิภาพของการรักษาแบบทางเลือกอื่นๆ ที่ได้มีการพิสูจน์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
      
        การรักษาด้วยยา สิ่งที่เราได้มาก็คือการรักษาโรคใดๆ ที่มาพร้อมกับผลข้างเคียงที่อันตราย มันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่จะรวมเอาอาอารหเข้าไปอยู่ในกรอบของยา และยิ่งดีไปกว่านั้นคือจะพยายามใช้มันโดยอาศัยความจริงที่ว่ามันไม่มีผลข้างเคียง
      
        นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังสามารถแก้อาการขี้ลืมได้แม้ในการใช้เพียงครั้งเดียว โดยมีการพบว่าไตรกลีเซอไรด์สายโซ่ปานกลาง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของความทรงจำในผู้สูงอายุที่มีปัญหาในเรื่องความเสื่อมของความทรงจำที่รุนแรง เช่น โรคอัลไซเมอร์ และไม่ใช้เวลานานเป็นเดือน หรือเป็นวันในการรักษา แต่เป็นเวลาเพียง 40 นาทีของการใช้เพียงครั้งเดียว
      
        น้ำมันมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตและหาได้ง่ายๆ และสามารถผลิตเอาไว้ใช้ได้เอง โดยไม่ต้องมีเครื่องมือหรือปัจจัยการผลิตที่ยุ่งยาก จึงสะดวกและประหยัดและนำมาใช้รักษาอาการขี้ลืม
      
        นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังมีผลพลอยได้มากมาย เพราะน้ำมันมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่นำไปใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง สำหรับในด้านสุขภาพนั้น น้ำมันมะพร้าวเป็นสารที่ได้มีการใช้มาเป็นยากรักษาโรคเป็นเวลา 4,000 ปี ดังที่ปรากฏในตำราอายุรเวท และนานนับเป็นพันๆปี ในบรรดาประเทศต่าๆในเอเชียและแปซิฟิก
      
        อาการขี้ลืมเป็นอาการที่เกิดได้กับทุกคน แต่อุบัติการณ์จะเพิ่มมากขึ้น ในผู้สูงอายุ แม้ว่าจนกระทั่งปัจจุบันจะไม่มีผู้ใดระบุได้อย่างถูกต้องว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ประจักษ์พยานต่างๆ ที่มีอยู่ พอที่จะกล่าวได้ว่าเกิดจากการที่เซลล์สมองถูกรบกวน ทำให้เกิดความต้านทานต่ออินซูลินในการนำน้ำตาลเข้าไปเป็นอาหารให้แก่เซลล์สมอง
      
        น้ำมันมะพร้าวมีราคาถูกกว่ายาเคมี หาซื้อได้ง่ายๆ และที่สำคัญคือใช้แล้วได้ผล โดยไม่เกิดผลข้างเคียง ไม่เกิดอาการดื้อยาดังเช่นยาเคมี แต่มีผู้คัดค้านว่าไม่มีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ใดๆที่พิสูจน์ได้ว่า น้ำมันมะพร้าวสามารถรักษาอาการขี้ลืมได้จริง แต่ในฐานะที่ ดร.ณรงค์ เป็นนักวิทยาศาตร์คนหนึ่งจึงยินดีรับฟังข้อท้วงติงดังกล่าว และกำลังให้ทุนนักวิจัย ที่จะดำเนินการทดลองจนสามารถพิสูจน์ได้ว่า น้ำมัมะพร้าวสามารถรักษาอาการขี้ลืมได้จริงๆ โดยมีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับ
      
        แต่จากการที่ในปัจจุบัน มีผู้มีอาการขี้ลืม และเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และอายุผู้ป่วยก็น้อยลง โดยที่วงการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาอาการและโรคเหล่านี้ได้เลย
      
        หากมีหนทางใดที่สามารถรักษาอาการขี้ลืม รวมถึงโรคสมองเสื่อมได้ และที่สำคัญราคาไม่แพง หากซื้อได้สะดวก และไม่มีอันตรายใดๆ ผู้ที่มีอาการผู้ป่วยดังกล่าวจะสนใจไหม?
      
        หากท่านมีญาติพี่น้องที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือแค่มีอาการขี้ลืม ท่านจะปล่อยให้เขาอยู่กับอาการดังกล่าวไปตลอดชีวิตหรือ?
      
        การใช้น้ำมันมะพร้าวรักษาอาการเหล่านี้ มีประจักษ์พยานมากมายว่ามันใช้ได้ผล โดยไม่เกิดผลเสียแต่อย่างใด ท่านจะไม่นำไปใช้บ้างหรือ ในเมื่อท่านไม่สามารถพึ่งแพทย์ที่จะจัดหายาใดๆมารักษาได้?
      
        ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าอยากจะถามแพทย์ทุกคนว่าในปัจจุบันมีอะไรดีกว่าน้ำมันมะพร้าวที่จะรักษาอาการขี้ลืม หรือโรคสมองเสื่อมอื่นๆ?
      
        สรุปในตอนท้ายเพื่อให้คนที่สนใจในทางเลือกนี้จะได้ลองดูและป้องกันโรคความจำเสื่อม คือ 1. งดแป้งและน้ำตาล 2. ดื่มน้ำมันมะพร้าวตอนเช้า 35 ซีซี หลังจากที่เรานอนหลับซึ่งเท่ากับเป็นการอดอาหารตามธรรมชาติโดยปราศจาการบริโภคแป้งและน้ำตาล แล้วทิ้งพักไว้ 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะบริโภคอย่างอื่น
      
        นี่เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองและช่วยเหลือคนในครอบครัวอย่างง่ายๆ ในการรักษาโรคความจำเสื่อม ไม่ลองก็ไม่รู้จริงไหมครับ !?
      

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    22 พฤศจิกายน 2556