ผู้เขียน หัวข้อ: บทความ-สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ-ตอนที่1  (อ่าน 3280 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
บทความเรื่อง สาเหตุที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ
โดย นายแพทย์สยาม พิเชฐสินธุ์
(ขออนุญาตนำมาเผยแพร่นะครับ)
......
ในอดีตการตื่นตัว เรื่องการลาออกของแพทย์ในระบบราชการยังมีไม่มากนัก แต่ในปัจจุบันมีกระแสต่างๆที่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานและชีวิตความ เป็นอยู่ของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิผู้ป่วย ปัญหาการฟ้องร้อง ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น ความรู้และวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งเรื่องของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จนทำให้บางครั้งแพทย์อาจปรับตัวรับกับสภาพต่างๆเหล่านี้ไม่ทัน บทความนี้จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุต่างๆที่ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการ ซึ่งแต่ละปัจจัยก็มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันให้แพทย์ลาออก ดังต่อไปนี้

1.   สาเหตุจากรายได้ไม่เพียงพอ (เงินเดือนต่ำ)
เนื่องจากอัตราบัญชีเงินเดือนของแพทย์ที่รับราชการขึ้นกับอัตราบัญชีเงินเดือนของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งต่างกับอัตราบัญชีเงินเดือนของสาขาวิชาชีพอื่นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ที่มี ภาระต้องดูแลครอบครัว มีความจำเป็นที่จะต้องหารายได้เพิ่มเติม นอกจากการเปิดคลินิก ทำงานนอกเวลาเพิ่มในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งจะทำให้เวลาพักผ่อนและเวลาของครอบครัวลดน้อยลง
 
การลาออกจาก ระบบราชการเพื่อมาทำงานเต็มเวลาในโรงพยาบาลเอกชน ( พบว่าแพทย์ที่จบใหม่มีค่าตอบแทนมากกว่าบุคลากรส่วนอื่นที่ทำงานมาแล้ว 10-20 ปี ) หรือเปิดคลินิกส่วนตัวเต็มเวลา ซึ่งจะทำให้มีรายได้มากกว่าการรับราชการ 5-10 เท่าขึ้นไป ก็เป็นทางเลือกวิธีหนึ่ง
 
ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจว่าแพทย์ร่ำรวย ซึ่งคงจริงถ้านำไปเปรียบเทียบกับกรรมกร แต่ในความเป็นจริงแล้ว แพทย์ที่รับราชการมีรายได้เพียงแค่อยู่ได้ ไม่อดอยาก แต่ก็ต้องทำงานเสริมนอกเวลาราชการด้วย ถ้าแพทย์จะรวย ก็จะต้องร่ำรวยมาจากมรดกของครอบครัว ทำธุรกิจส่วนตัว หรือลาออกไปเป็นนักการเมือง
 
คำว่ารายได้ไม่เพียงพอนั้น ยังมีความหมายในเชิงนามธรรมด้วย หมายความว่าไม่เหมาะสมต่อศักดิ์ศรีของวิชาชีพ วิชาชีพที่จะต้องรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ค่าตอบแทนในการทำงานควรจะแปรผันโดยตรงกับความรู้ ความสามารถ และที่สำคัญที่สุดคือความรับผิดชอบต่อสังคมและ เพื่อนมนุษย์ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ ทำหน้าที่ดูแลและตัดสินเกี่ยวกับความยุติธรรมในสังคม ก็ได้เงินเดือนระดับหนึ่ง นักการเมืองที่ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ได้เงินเดือนในอีกระดับหนึ่ง
 
แต่แพทย์ซึ่งรับผิดชอบดูแลสุขภาพ และชีวิตของทุกชีวิตในสังคมกลับได้เงินเดือนในอีกระดับหนึ่ง โดยที่แพทย์จบใหม่ได้เงินเดือน 8,200 บาท จบมา 10 ปี ได้เงินเดือนประมาณ 13,500 บาท ส่วนเงินที่ไม่ทำเวชปฏิบัติส่วนตัวจำนวน 10,000 บาทนั้น ไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา เพราะแพทย์ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่รับเพียง 10-15 % และที่รับก็มักจะเป็นแพทย์ใช้ทุนหรือเแพทย์เฉพาะทางที่ไม่ใช่สาขาหลัก เพราะไม่สามารถเปิดคลินิกได้ ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนให้ทำนอกเวลา หรือไม่มีแรงจะทำงานเพิ่มอีก (เพราะงานในโรงพยาบาลทั้งในและนอกเวลาก็หนักพอแล้ว)
 
นอกจากเรื่อง เงินเดือนที่ต่ำแล้ว ค่าตอบแทนในการทำงานนอกเวลาราชการก็ยังต่ำกว่าในภาคเอกชน 10-20 เท่าอีกด้วย ( รัฐบังคับให้อยู่เวรนอกเวลาราชการด้วยค่าตอบแทน 400-900 บาท ต่อ 8 ชั่วโมง )
 
ดังนั้น ทางภาครัฐจึงควรจะแยกบัญชีเงินเดือนของแพทย์ที่รับราชการออกจากข้าราชการ ส่วนอื่น โดยมีการประชุมร่วมของทุกฝ่ายด้วยความจริงใจเพื่อหาฐานเงินเดือนที่เหมาะสม ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และร่วมกับการปรับเงินเดือนเพิ่มเป็นพิเศษตามความกันดารของท้องถิ่น (เพิ่มในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลจังหวัดที่อยู่ไกลมาก ไม่ใช่เงินค่าเบี้ยกันดาร 10,000-20,000 บาท ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ยั่งยืนและโรงพยาบาลที่อยู่ในข่ายก็มีจำนวนน้อย ไม่เป็นการแก้ปัญหาในภาพรวม) ซึ่งจะทำให้การกระจายตัวของแพทย์ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
......จบตอนที่1