ผู้เขียน หัวข้อ: ความขัดแย้งทางการแพทย์  (อ่าน 6706 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9754
    • ดูรายละเอียด
ความขัดแย้งทางการแพทย์
« เมื่อ: 23 ตุลาคม 2013, 22:40:47 »
ประเทศไทยมีความเข้าใจกฎหมายการแพทย์ผิดพลาด มีการฟ้องหมอที่ทำให้แพทย์ไม่สบายใจมากที่สุด แต่ประเทศ สหรัฐ อังกฤษ ยุโรป หมอไม่เดือดร้อนเมื่อถูกฟ้อง ทั้งนี้เนื่องจากประเทศต่างๆเหล่านั้น ไม่มีใครเข้าใจกฎหมายการแพทย์คลาดเคลื่อนเหมือนในประเทศไทย
เราเข้าใจกฎหมายการแพทย์ผิดพลาด
แพทย์จะรับผิดได้ในความผิดฐานผิดสัญญา และความผิดฐานละเมิด

1.ไม่ทำตามสัญญาหรือผิดสัญญา เช่นจ้างคนมาสร้างบ้าน แต่สร้างไม่ดี แสดงว่าผิดสัญญา

ในกรณีการรักษาผู้ป่วย แพทย์จะต้องรับผิดตามสัญญา เมื่อรับประกันผล ฉะนั้นแพทย์ทั่วโลก จึงไม่มีการรับประกันผลว่ารักษาแล้วผู้ป่วยจะหายจากการป่วย จึงไม่ถือว่าผิดสัญญา แพทย์จะรับผิดตามสัญญา ถ้ามีการรับประกันผล เพราะฉะนั้นแพทย์ทั่วโลก ไม่มีใครรับประกันผลว่าหาย จึงไม่ถือว่าผิดสัญญา

2.ความผิดฐานละเมิด ในกรณีของแพทย์ ความผิดฐานละเมิดมีการ ประมาทเลินเล่อ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้น ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ในกรณีที่แพทย์รักษาแล้ว แต่ผู้ป่วยตาย แพทย์อาจจะถูกศาลพิพากษาในความผิดทางอาญาว่าทำให้เกิดความตายเช่นในกรณีที่ ศาลตัดสินว่า แพทย์ประมาทเลินเล่อในกรณีที่ไม่ใช่วิสัญญีแพทย์เป็นผู้ทำการบล็อกหลังผู้ป่วยเพื่อทำผ่าตัด ซึ่งในกรณีนี้หลังจากบล็อกหลังผู้ป่วยเสียชีวิต ตัดสินจำคุกแพทย์ 4 ปี

ประเทศไทยไม่ได้ผลิตวิสัญญีแพทย์ ให้มีครบทุกโรงพยาบาล หลังจากศาลตัดสินคดีนี้แล้ว ทำให้รพ.ชุมชน770แห่งทั่วประเทศไม่มีวิสัญญีแพทย์ ศาลตัดสินว่าเมื่อไม่ใช่วิสัญญีแพทย์ผิด โรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีวิสัญญีแพทย์ จึงไม่ยอมทำผ่าตัดอีกเลย

ทำไมหมอจึงตกใจเมื่อจะมีกฎหมายทางการแพทย์ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเข้าใจกฎหมายการละเมิดไม่ถูกต้อง สมัยก่อนคนไทยไม่ฟ้องหมอ แต่เมื่อเป็นการแพทย์แบบฝรั่ง ทำให้เริ่มมีการฟ้องหมอ หลักการรักษาของแพทย์ทั่วโลกถือว่า ทันทีที่หมอทำการรักษาเมื่อนั้นคือการทำละเมิด แล้วทำไมหมอถึงไม่ถูกฟ้อง ก็เพราะถือหลักมา 4,000 ปีว่า “ความยินยอมไม่เป็นการละเมิด”

ฉะนั้นก่อนการรักษาแพทย์จึงต้องอธิบายว่าจะทำการรักษาอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยยินยอมให้หมอดำเนินการรักษา ถ้าคนไข้ไม่ยินยอม แล้วหมอรักษา ถือว่าหมอทำผิดทันทีเป็นการละเมิด จึงทำให้เกิดหลักการ “ยินยอม” หรือ “consent” ซึ่งต้องเป็นการแสดงเจตนาโดยความบริสุทธ์ใจ(ไม่ถูกบังคับ)ของผู้ป่วยที่ยินยอม(เต็มใจหรือตกลงใจ)ให้หมอรักษา หมอจึงจะรักษาได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิด

ในการที่ผู้ป่วยจะยินยอมโดยความบริสุทธิ์ใจได้ จะต้องรู้วิธีการรักษาก่อน ซึ่งผู้ป่วยแทบทุกคนก็จะไม่รู้หรือไม่เข้าใจวิธีรักษา เพราะฉะนั้นหมอต้องอธิบายให้คนไข้ยินยอมเสียก่อน เรียกว่า “informed consent” คนไข้จะยินยอมโดยความบริสุทธิ์ใจได้ จะต้องรู้ว่าหมอจะรักษาอย่างไร ฉะนั้นหมอต้องอธิบาย (inform) จึงเกิดหลักของ informed consent กลายเป็นหลักในข้อกฎหมายทั่วโลก

ฉะนั้นหลักการสำคัญก่อนที่หมอจะรักษาผู้ป่วยได้ หมอต้องมีความรู้ 3 อย่างคือ
1.การวินิจฉัยโรค
2.ต้องเลือกวิธีการรักษา
3.ต้องรู้วิธีที่จะinform ผู้ป่วย

หลักการ inform มีอยู่แค่ 4 เรื่อง ซึ่งหมอเสียเวลาไม่เกิน 2 นาทีในการบอกผู้ป่วย กล่าวคือ
1.หมอจะรักษาด้วยคุณด้วยวิธีนี้
2.การรักษาด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยงอย่างไร
3.ถ้าไม่เอาโดยวิธีนี้ จะมีทางเลือกรักษาอย่างไร
4.ความเสี่ยงจากการรักษาโดยทางเลือก
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าหมอจะทำการรักษาอย่างไรและจะได้ผลอย่างไร

ส่วนการรักษาที่เกิดเรื่องฟ้องร้อง ส่วนมากอาจจะเป็นเพราะ หมอบอกคนไข้ยังไม่ชัดพอ หรือบอกแล้วผู้ป่วยไม่เข้าใจแต่ก็ไม่(กล้า)ถาม
การฟ้องหมอให้รับผิดทางละเมิด ถ้าไม่มีเจตนาทำผิดประเทศอื่นๆ ไม่ถือว่าเป็นคดีอาญา มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่ความรับผิดทางแพ่งเป็นคดีอาญาด้วย เป็นความบกพร่องในการเขียนกฎหมาย ในประเทศอื่นการละเมิดทางแพ่งไม่นับเป็นคดีอาญา
ในคดีเรื่องการประมาทหมายถึงไม่ได้ทำการรักษาตามมาตรฐาน ถ้าหมอทำถูกต้องในการรักษาตามมาตรฐาน จะฟ้องหมอไม่ได้
เรื่องคดีอาญา ของแพทย์ต้องแก้ไข เพราะว่าหมอตั้งใจรักษาผู้ป่วย(ลุกขึ้นมาทำความดี) แต่กลับถูกพิจารณาความผิดทางอาญา
การผิดสัญญาทางแพ่งไม่ใช่ความรับผิดทางอาญา การละเมิดทางอาญาและแพ่งก็ไม่เหมือนกัน

ละเมิด ตามมาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ(ประมาทคือไม่ทำการรักษาตามมาตรฐาน) แต่ถ้าทำตามมาตรฐานแล้ว ไม่ถือเป็นการละเมิด
ในต่างประเทศฟ้องหมอไม่ได้ ถ้าคนไข้อาการหนักขนาดนี้ แต่หมอได้ช่วยเต็มที่แล้ว จะเอาผิดหมอไม่ได้ เพราะอาการป่วยเป็นมากแล้ว เกินที่หมอจะรักษาเยียวยาให้กลับคืนดีได้

เปรียบเหมือนกับทนายความที่ว่าความให้ลูกความแพ้คดี จะเอาผิดทนายความไม่ได้เนื่องจากทนายความก็ต้องแก้ต่างลูกความตามข้อเท็จจริง(ที่มีอยู่แล้ว)ของลูกความ
ความเข้าใจมาตรฐานในประเทศไทยนั้นผิด หมอเข้าใจผิด ทำให้ศาลเข้าใจผิดด้วย

มาตรฐานคืออะไร? ในทางแพทย์ Hippocrates ได้กำหนดว่าการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องเป็น Best practise แปลว่าหมอต้องรักษาดีที่สุด และในประทศไทยพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมพ.ศ. 2525 แพทยสภาได้ออกข้อบังคับไว้ในหมวดจริยธรรมในการรักษาว่า แพทย์ต้องรักษาอย่างดีที่สุด
แต่ในความเป็นจริงในโลกนี้ การรักษาที่ได้มาตรฐานคือการรักษาที่หมอคนไหนๆที่มีความรู้ในสาขาเดียวกัน ก็ต้องรักษาเหมือนกัน ส่วนการถือว่าการรักษาตามมาตรฐานที่ดีที่สุดมีที่ประเทศไทยประเทศเดียวในโลกเท่านั้น

นอกนั้นเขาถือว่า ถ้าหมอรักษาตามมาตรฐาน หมอไม่ผิด แต่บางครั้งมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย(เขียนขอยกตัวอย่างดังนี้ เช่นอาการป่วยนั้นๆไม่ตอบสนองต่อยา หรือมีผลข้างเคียงจากยา แพ้ยา มีโรคแทรกซ้อน หรืออาการหนักจนไม่สามารถรักษาได้ มีโรคอื่นอยู่แล้วที่ตรวจไม่พบในตอนแรกที่มาโรงพยาบาล แต่อาการมากำเริบทีหลัง หรือมีโรคแทรกซ้อนภายหลังการรักษา ) ซึ่งไม่ใช่ความผิดพลาดจากแพทย์ผู้รักษา แต่ผู้ป่วยมีความเสียหายมากบ้างน้อยบ้าง เช่นแพ้ยาเกิดอาการ Steven Johnson’s Syndromeจนตาบอด จึงน่าเห็นใจผู้ป่วยจึงเกิดกองทุน No Fault Liability คือการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโดยที่ไม่มีความผิดเกิดขึ้น กล่าวคือแพทย์ไม่ได้ทำผิด แต่มีผลเสียหายหรือผลร้ายเกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย จึงมีกองทุนขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในกรณีที่หมอไม่ผิดเพราะผู้ป่วยน่าเห็นใจ

ประเทศไทยเอาอย่างในการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไม่มีใครผิดบ้าง โดยเอาไปใส่ในมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ในมาตรา 41.
แต่คณะกรรมการพิจารณามาตรา 41 นี้ ก็พิจารณาให้เงินแก่ผู้ป่วย ในกรณีที่หมอไม่ผิด

แล้วถ้าหมอผิดจนเกิดความเสียหายกับผู้ป่วย จะต้องทำอย่างไร? คำตอบที่ถูกต้องก็คือต้องไปฟ้องทางละเมิด แต่ในที่สุดก็ไปตั้งมาตรา 42 ไปไล่เบี้ยเอากับผู้ที่ทำผิด
ผลที่สุดมาตรา 41 ก็มั่ว ใช้กันทั้งหมอผิดและหมอไม่ผิด ถ้าผิดไปไล่เบี้ยตามมาตรา 42 จึงทำให้คนไม่เข้าใจว่าหมอไม่ผิดมีด้วยหรือ? ทำให้ไม่เกิดความเข้าใจว่าหมอรักษาไม่ผิดนั้นมีอยู่ด้วย

ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก ที่เอามาตรฐานการรักษาดีที่สุดในการกำหนดของแพทยสภาและคำประกาศสิทธิผู้ป่วยที่แพทยสภาก็ออกประกาศรับรองไปด้วย
แต่รัสเซีย ออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ไม่ได้ถือ การรักษาที่ดีที่สุด ( best practice) แต่ถือหลักการรักษาไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน(คือรักษาในระดับเดียวกับมาตรฐาน)

Baron Denning (commonly known as Lord Denning) ผู้พิพากษาศาลสูงของอังกฤษ (Judge of the High Court of Justice of England and Wales)ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้ในช่วง 7 มีนาคม1944-19489ตามความเห็นของLord Denning และความเห็นของท่านนับว่าเป็นที่ยอมรับของศาลอังกฤษและศาลอื่นๆทั่วโลก ได้มีบันทึกไว้ว่า ถ้าจะให้หมอรับผิดทางละเมิดไม่ใช่ตัดสินโดยอาศัยผลของการรักษาที่ผิดไปจากความบังเอิญ(mischance) หรืออุบัติเหตุ หรือความผิดพลาดในการรักษาเนื่องจากเลือกการรักษาบางอย่าง แต่หมอจะต้องรับผิดทางละเมิดเนื่องจากหมอรักษาต่ำกว่ามาตรฐานที่เพื่อนแพทย์ในสาขาเดียวกันรักษา โดยเน้นที่ “มาตรฐานการรักษา” (the standard of Care )

: In the opinion of Lord Denning, as expressed in Hucks V. Cole a medical practitioner was not to be held liable simply because things went wrong from mischance or misadventure or through an error of judgment in choosing one reasonable course of treatment in preference of another. A medical practitioner would be liable only where his conduct fell below that of the standards of a reasonably competent practitioner in his field.”

ฉะนั้นถ้าหมอรักษาต่ำกว่ามาตรฐานจากการตัดสินใจรักษาผิดพลาด(ถึงแม้จะตั้งใจดี)จึงจะถือว่าหมอทำผิดหรือถือว่าประมาทเลินเล่อหรือขาดความระมัดระวังและหมอจะต้องรับผิดในการรักษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (an error of medical judgment, though made in good faith, may amount to negligence and lead to the physician’s liability, if in reaching his judgment he failed to exercise the legally requisite level of skill.)
จะเห็นว่าความเห็นของผู้พิพากษาในต่างประเทศจะถือว่าไม่มีหมอคนไหนรักษาดีที่สุด ถ้าเมื่อไรมีการรักษาที่ดีที่สุดในโลก จะทำให้การแพทย์ไม่พัฒนา เพราะว่ามันดีที่สุดแล้ว จะเป็น the beginning of the end คือการแพทย์ไม่สามารถพัฒนาได้ เพราะมันดีที่สุดแล้ว

ฉะนั้น แพทยสภาต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า “ การรักษาของแพทย์(หรือการประกอบวิชาชีพเวชกรรม) นั้น ไม่ใช่การรักษา (การประกอบวิชาชีพเวชกรรม)ที่ดีที่สุด แต่เป็นการรักษาที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งผู้บรรยายได้สรุปว่าในประเทศไทยควรเข้าใจตรงกันไม่ว่าแพทย์ แพทยสภา และศาลว่า

1.หมอต้องรักษาไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่ใช่การรักษาตามมาตรฐานที่ดีที่สุด จากคดีร่อนพิบูลย์ ชมรมฟ้องแพทย์บอกว่า หมอไม่รักษาดีที่สุด
ในสหรัฐถ้า Inform (อธิบาย) ผู้ป่วยแล้ว และหมอทำการรักษาผู้ป่วยมาตรฐานการรักษาแล้ว คนไข้จะเป็นอะไรก็ช่วยไม่ได้ หมอไม่ผิด เพราะคนไข้ยินยอมแล้ว
ฉะนั้นหมอไทยก็ต้องให้ความสนใจกับการอธิบายให้ผู้ป่วยให้ความยินยอมในการรักษา ซึ่งการอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจในการขอให้ผู้ป่วยยินยอมรับการรักษานั้น ท่านผู้พิพากษานพพร รังสิยาธร ได้แนะนำไว้แล้ว

2. การรักษาดีที่สุดเป็นไปไม่ได้ อนามัย รพ.ชุมชน รพท. รพศ. มาตรฐานการรักษาย่อมไม่เท่ากัน
นพ.สงกรานต์ นิยมเสน บอกว่าหมอต้องรักษาดีที่สุดถ้าต่ำกว่าดีที่สุดคือประมาท ทำให้ศาลเข้าใจผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้ค้นข้อกฎหมายแล้วได้ความว่า Best Practice ไม่มี ฉะนั้นต้องรักษาตามสภาพนั้นๆ เผอิญไม่มีการฎีกา การตัดสินนั้นๆจึงไม่มีผลผูกพันกับศาลอื่น การรักษาดีที่สุดไม่มีที่ใดในโลก และศาลในโลกนี้ยกเว้นในประเทศไทยไม่เอาด้วย

Lord Denning บอกว่า หมอรักษาตามสภาวะขณะนั้น เรียกว่า current accepted situation เช่นการผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชนก็สามารถทำได้ตามมาตรฐานของสภาวะนั้นๆ โดยหมอได้กระทำโดยความระมัดระวังอย่างเหมาะสม(by taking appropriate precaution)
แต่ประชาชนหรือผู้ป่วยและญาติมักจะเข้าใจผิด หมอรักษาไม่ผิดพลาดแต่ผลมันผิดคาด โอกาสที่จะทะเลาะกันก็สูง
การจะนำเอาพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมพ.ศ. 2540 มาใช้กับการแพทย์นั้นใช้ไม่ได้เป็นคนละประเด็นกับกฎหมายการแพทย์
Professional liability หมอกับทนายความเหมือนกัน ถ้าเป็นคดีความ ข้อเท็จจริงของคุณเป็นอย่างนี้ ทนายความก็ช่วยไม่ได้ ในกรณีที่คุณป่วยและคุณอาการหนัก หมอก็ช่วยไม่ได้


บทความที่แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม

1. Lord Denning on Medical malpractice :
http://manishmehrotra.wordpress.com/2012/09/22/lord-denning-on-medical-negligence/

2, The standard of care:
http://books.google.co.th/books?id=n09nDlSQA9YC&pg=PA93&lpg=PA93&dq=lord+denning+and++medical+malpractice&source=bl&ots=zF2ZvMzQry&sig=rmAq1rR2XmUFCV278jT6kpe_VMk&hl=en&sa=X&ei=oy5hUoHgCpDPrQfoxYGICQ&ved=0CDwQ6AEwAg#v=onepage&q=lord%20denning%20and%20%20medical%20malpractice&f=false



พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
(เก็บความจากคำบรรยายของนายนพพร รังสิยาธร ผู้พิพากษาศาลฎีกา)
บรรยายที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
 October 21
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 ตุลาคม 2013, 22:47:03 โดย story »