ผู้เขียน หัวข้อ: การอภิปราย-มาตรฐานการกำหนดค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์-ของข้าราชการ-ตอนที่1  (อ่าน 3169 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
(ของเก่าแต่น่าสนใจ)
การอภิปรายเรื่อง
“มาตรฐานการกำหนดค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ”
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 เวลา 09.00 – 12.00 น.
ณ หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ  สำนักงาน ก.พ.  จังหวัดนนทบุรี

   นายจาดุร  อภิชาตบุตร นายกสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย : ผู้ดำเนินการอภิปรายกล่าวนำว่าปัจจุบันนี้มีข่าวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลและครอบครัวอยู่บ่อยๆ ด้วยความเป็นห่วงว่า การเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจะนำไปสู่นโยบายที่ส่งผลกระทบทางลบต่อระบบข้าราชการ สมาคมข้าราชการพลเรือนฯ และสมาคมข้าราชการอาวุโสจึงจัดการสัมมนาเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความรู้และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกคนเกิดความตระหนักและเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นและร่วมหาทางแก้ปัญหาให้กับเรื่องดังกล่าวด้วยความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

นายปรีชา  วัชราภัย อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน:
o   ความคาดหวังของข้าราชการทุกคนตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน คือ 1)มีบำเหน็จบำนาญ 2) มีเกียรติและศักดิ์ศรี 3) มีโอกาสได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 4) สวัสดิการ โดยสิ่งที่นึกถึงอันดับแรกคือ สิทธิ์รักษาพยาบาลทั้งตัวเองและครอบครัว  สวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการมีความสำคัญทางใจค่อนข้างมาก ข้าราชการหวังพึ่งในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถึงแม้บางคนจะไม่ได้ใช้เลยตลอดชีวิตการรับราชการ
o   สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่ดูแลข้าราชการ ทั้งการทำงานและการจัดระเบียบข้าราชการให้ได้สัมฤทธิ์ผลกับภารกิจของรัฐ การทำงานให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับเงินเดือนหรือสวัสดิการ ซึ่งการจะรับราชการให้ได้ดีที่สุดขึ้นอยู่ที่การมีสุขภาพแข็งแรงของข้าราชการด้วย
o   ปัญหาการที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น ควรพิจารณาว่าต้นเหตุที่แท้จริงคืออะไร เช่น การพัฒนาของการแพทย์ที่ทำให้คนแข็งแรงขึ้น อายุยืนยาวขึ้น จึงจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น การลดสวัสดิการลงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด และคิดว่า เงิน 45,000 ล้านบาทต่อปีไม่ได้มากเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนคน  

   น.ส.สุวิภา  สุขวณิชนันท์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานค่าตอบแทนและสวัสดิการ กรมบัญชีกลาง :
o   งบประมาณในเรื่องค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการสูงขึ้นทุกปี จากปี 2545 ค่าเบิกจ่ายรักษาพยาบาลในภาพรวมอยู่ 20,000 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 54,904 ล้านบาท และ ปี 2552 เพิ่มเป็น 61,304 ล้านบาท ซึ่งใช้จ่ายเกินงบกลาง จึงได้นำเงินคงคลังมาชดเชย นับเป็นภาระหนึ่งที่ต้องควบคุมให้มีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
o   ปัจจุบันพบว่ามีการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง หลังจากการทำระบบจ่ายตรงตั้งแต่ปี 2550 ค่าใช้จ่ายก็พุ่งสูงขึ้น จึงมีการตรวจสอบระบบและพบว่าราคาสูงที่รายการยา แต่จะเกิดจากราคายาสูงขึ้น หรือเกิดจากการใช้ยาฟุ่มเฟือย หรือเกิดจากการใช้ยาไม่เหมาะสมหรือเปล่า เป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างศึกษา กรมบัญชีกลางกำหนดว่ายาที่ให้เบิกได้ คือ ยาในบัญชียาหลัก และถ้าจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักก็ต้องมีคณะกรรมการแพทย์ 3 คน เซ็นต์ให้ และพบว่าจาก 34 โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายสูง ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยนอกใช้ยานอกบัญชียาหลักประมาณ 60% ของค่ารักษาทั้งหมด ปัญหาคือว่าจำเป็นที่จะต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักหรือไม่
o   ขณะนี้กรมบัญชีกลางจะเสนอกระทรวงการคลังให้ตั้งคณะกรรมการมาช่วยกันศึกษาระบบการใช้จ่ายและความจำเป็นในการใช้ยานอกบัญชียาหลักของข้าราชการ

  ศ.พญ.แสงสุรีย์  จูฑา แพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็งเม็ดเลือด โรงพยาบาลรามาธิบดี:
o   เรื่องการเบิกจ่ายข้าราชการมีอยู่ 3 มุมมอง 1) มุมมองของรัฐในฐานะผู้จ่ายเงิน ซึ่งค่าใช้จ่ายของการเบิกใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลของข้าราชการเพิ่มขึ้นทุกปีจากเดิม รัฐก็ย่อมที่จะต้องการพยายามจำกัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ยาใหม่ๆ ที่ดี ที่ได้ประสิทธิภาพ ราคาก็แพงขึ้นแน่นอน การได้มาซึ่งตัวเลขต่อหัวของระบบประกันสังคม  ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการข้าราชการนั้นไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายต่อหัวของระบบข้าราชการคือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ไปในแต่ละปีหารด้วยจำนวนของข้าราชการแล้วออกมาเป็นรายหัว แต่ค่าใช้จ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประกันสังคม คือจำนวนเงินที่องค์กรทั้ง 2 จ่ายให้กับโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยจากระบบ ซึ่งในความจริง โรงพยาบาลอาจมีค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้ป่วยจากระบบทั้งสองมากกว่าที่รัฐบาลจัดให้
o   2) มุมมองของข้าราชการ ซึ่งยอมรับที่จะทำงานโดยได้รับเงินเดือนน้อย แต่มีเหตุจูงใจคือหากเจ็บป่วยจะได้รับสวัสดิการที่ดี  บิดา มารดา และลูก จะได้รับการดูแลรักษาอย่างดี
o   3) มุมมองของแพทย์ ในฐานะผู้ให้การรักษาผู้ป่วยย่อมอยากให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วย ดังนั้นแพทย์ต้องทำตามวิธีรักษาที่คิดว่าดีที่สุดในเวลานั้น ปัจจุบัน ยาใหม่ที่สามารถรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง แล้วอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีสามารถทำงานได้เช่นปกติต่อไปอีกหลายสิบปี แพทย์ย่อมต้องการให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้ยาใหม่นี้และไม่สามารถบอกผู้ป่วยว่ายาที่รักษาได้ราคาสูงมากไม่คุ้ม ควรไปใช้ยาอีกชนิดที่ราคาถูกกว่าแล้วไม่นาน ก็เสียชีวิต............จบตอนที่1
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 กุมภาพันธ์ 2010, 13:37:15 โดย pradit »