ผู้เขียน หัวข้อ: การดูแลพ่อแม่สูงอายุที่ป่วย (และอาจดื้อมาก)  (อ่าน 1462 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
วันนี้ นึกถึงสิ่งที่อาจถูกมองข้ามในการดูแลพ่อแม่สูงอายุที่ป่วย (และอาจดื้อมาก) ได้เป็นข้อๆ เลยนำประสบการณ์มาแบ่งปันให้ได้ตระหนักกัน ดังนี้ครับ

๑. ไม่ว่าเราจะโตแค่ไหน มีความรู้เยอะเพียงใด อายุก็ยังห่างกับพ่อแม่เท่าเดิม

อย่าพยายามที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของท่าน ถึงแม้จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อโรคเลยก็ตาม เถียงกันไปเราจะเหนื่อยทั้งกายและปวดทั้งใจ

ให้ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในชีวิตท่านอย่างเนียนๆ วันนึงที่พ่อแม่เห็นด้วยตัวเองว่า ทำแบบนี้แล้วสบายตัวขึ้น ท่านจะยอมทำเอง โดยไม่มีใครเสียฟอร์ม ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๒. ดูแลพ่อแม่อย่างลูกพึงดู ไม่ใช่อย่างแพทย์ ผู้รู้ นักวิชาการ สปอนเซอร์ หรือผู้ปกครอง

อย่าลืมว่าพ่อแม่ทุกคนต้องการความรัก ความอบอุ่น และความเคารพจากลูกมากกว่าอะไรทั้งหมด ถึงแม้บางท่านอาจจะแสดงออกในทางตรงกันข้ามก็ตาม

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๓. ไม่มีใครอยากป่วย อยากเป็นคนป่วย อยากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรืออยากเป็นคนแก่ ที่สูญเสียความเคารพตัวเอง

อย่าลืมว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ข้อนี้คนเป็นลูกมักจะมองข้ามมากที่สุด

ไม่ว่าท่านจะป่วยหรือแก่ขนาดไหนก็ตาม ท่านมีสิทธิเต็มที่ ที่จะได้รับการปฏิบัติต่อด้วยความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีนั้น

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๔. อย่ายัดเยียดสิ่งที่เราเห็นว่า เหมาะที่สุดกับพ่อแม่ โดยท่านไม่เต็มใจ ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่เลิศเหลือเกินในสายตาเรา หรือชาวโลกก็ตาม

หลายๆ คนบ่นให้ฟังว่า หาคนมาดูแลก็ไม่เอา ซื้อเตียงใหม่ให้ก็ไม่ชอบ ทำห้องให้ใหม่ก็ไม่ยอมอยู่ หมอที่เรารู้จักเก่งกว่าตั้งเยอะ ก็ไม่ยอมเปลี่ยนหมอ ฯลฯ

ขอให้ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้น ผู้ใหญ่จะรับความหวังดีจากเราด้วยความเต็มใจเอง

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๕. การเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถูกดูแล มาเป็นผู้ดูแล ทั้งทางกาย ทางใจ ทางการเงิน เป็นการเปลี่ยนผ่านที่อาศัยเวลาและความเข้มแข็งมหาศาล

อย่าโทษตัวเอง ถ้าพบว่ามันไม่ง่ายและท้อแท้ คิดถึงหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ที่มีต่อเรา แล้วจะพบว่าหัวใจของลูกที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนท่าน ไม่ได้ยิ่งใหญ่น้อยไปกว่ากันเลย

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๖. ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องรู้เวลากิน นอน ขับถ่าย ความดันเลือด ชีพจร ปริมาณน้ำ อาหารและยา และการตอบสนองทั้งหมดต่อสิ่งเหล่านั้น
รวมทั้งเลขหมายโทรศัพท์โรงพยาบาล หมอ และบริการฉุกเฉิน เพราะภ่าวะฉุกเฉินเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ยิ่งข้อมูลพร้อมเท่าไหร่ การรักษาพยาบาลจะผิดทางน้อยลงเท่านั้น

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๗. เป็นคนพาพ่อแม่ไปหาหมอทุกครั้ง

แรกๆ อาจได้รับการปฏิเสธไม่ให้ไปด้วย ให้พยายามแทรกซึมจนท่านชินที่มีเราไปอำนวยความสะดวก ที่สุดแล้วท่านจะรู้สึกชินกับความสบายนี้ และเปิดใจให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษา

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๘. หากจะจ้างคนดูแล เราต้องแน่ใจที่สุด ว่าเรามีเวลาในการดูแลการทำงานของเขาอย่างใกล้ชิด

คนดูแลไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าเรา และไม่ได้มีใจรักพ่อแม่เราอย่างที่เรามีแน่นอน

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๙. จัดหาทุกอย่างที่พ่อแม่เคยชอบเคยใช้ แม้ว่าจะไม่ค่อยได้ใช้แล้วก็ตาม
เช่น เสื้อผ้าที่นานๆ จะมีโอกาสใส่สักครั้งนึง

นอกจากท่านจะรู้สึกว่าเราเอาใจใส่แล้ว ท่านจะยังรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
ไม่มีอะไรเสื่อมถอยจนด้อยค่า ใช้ของดีๆ สวยๆ ไม่ได้แล้ว
คุณค่าทางใจแบบนี้ประมาณค่าไม่ได้เลย

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๑๐. แบ่งหน้าที่กันกับพี่น้อง หรือคนในครอบครัวให้ชัดเจน
จะช่วยลดภาระทางกายและทางใจลงได้เยอะ
อย่างน้อยที่สุด ก็ลดความตึงเครียดในครอบครัว
รวมทั้งลดการดูแลซ้ำซ้อน เช่น การให้ยาซ้ำ อันอาจเป็นอันตรายได้

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๑๑. คุยทิศทางการรักษา และการดูแล กับคนในครอบครัวให้ชัดเจนก่อนคุยกับหมอ

เมื่อหมอเสนอวิธีการรักษาอะไร อย่ากลัวที่จะถาม
อย่ากลัวที่จะขอเวลาหมอหาข้อมูลเพิ่มเติม
ความเห็นที่สอง (2nd opinion) ความเห็นที่สาม (3rd opinion) สำคัญเสมอ
อย่าหลับหูหลับตาเชื่ออะไรที่ไม่เข้าใจ

และก่อนตัดสินใจอะไรสำคัญๆ ทุกครั้ง อย่าลืมหาข้อมูลของแต่ละทิศทาง
และผลข้างเคียงประกอบการตัดสินใจด้วย

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๑๒. ถ้าคุยกับคนในครอบครัวไม่รู้เรื่อง ญาติที่ไกลออกไปหน่อยที่มีความเป็นกลาง จะช่วยไกล่เกลี่ยได้ดีมาก

จำไว้เสมอว่าเราอาจเป็นคนที่คิดผิดเองก็ได้ และทิฏฐิมานะไม่เคยช่วยให้อะไรดีขึ้น

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

๑๓. เกิดอะไรผิดพลาด อย่ามัวแต่โทษตัวเองหรือปิดบังความจริง
ให้รีบแจ้งหมอ แจ้งครอบครัว และช่วยกันแก้ไขปัญหา
ทุกข้อมูลสำคัญกับการรักษาทั้งสิ้น

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

ขออนุโมทนากับลูกทุกคนที่มีโอกาสดูแลพ่อแม่
เมื่อเราทำเต็มที่ใจจะไม่รู้สึกขาดเลย ใจจะอิ่มจะเต็ม และเป็นพลังชีวิตที่ยิ่งใหญ่

พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร
อาหุเนยฺย จ ปุตฺตานํ ปชาย อนุกมฺปกา

มารดา บิดา ท่านว่าเป็นพรหม เป็นบุรพาจารย์
เป็นที่นับถือของบุตร และเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร
(พุทธภาษิตจาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พรหมสูตร ข้อ ๔๗๐)


เครดิต : พล.ต. สรานุวัตร ประดิษฐพงษ์

amppatty

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 9
    • ดูรายละเอียด
Re: การดูแลพ่อแม่สูงอายุที่ป่วย (และอาจดื้อมาก)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2013, 14:28:52 »
... :-X :-X :-X