ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดทำแท้งเสรีช่วยลดความไม่ปลอดภัย กรมอนามัยเผยหญิงไทยทำแท้งเองกว่า 20%  (อ่าน 877 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 กรมอนามัยชี้เปิดทำแท้งเสรี ช่วยลดอัตราการทำแท้งเถื่อนและไม่ปลอดภัยได้จริง ระบุไทยถูกจำกัดด้วยกฎหมายส่งผลสาวทำแท้งเองถึง 20% เน้นบีบหน้าท้อง ยัดของแข็งเข้ามดลูก เสี่ยงภาวะแทรกซ้อน ตกเลือดมาก ด้านแพทย์หนุนใช้ยาทำแท้ง ช่วยลดอัตราเสี่ยงอันตรายได้ ยันเป็นบริการทางการแพทย์

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       วันนี้ (2 ต.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเสวนาเรื่อง “ยาทำแท้ง...ทางเลือกหรือทางตันของการยุติการตั้งครรภ์” ในการแถลงข่าวเปิดตัว “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม” จัดโดยสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า การทำแท้งเป็นเรื่องที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งขณะนี้ สธ.ก็มีจุดยืนในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยชัดเจนขึ้น แม้จะมีการตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็นทางเลือกที่ สธ.ควรจะสนับสนุนหรือไม่ เพราะมีข้อกังวลว่าอาจเกิดการสนับสนุนให้เกิดการทำแท้งอย่างเสรีและอาจมีการทำแท้งมากขึ้นกว่าเดิม แต่ข้อเท็จจริงคือการจำกัดการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ก็ไม่สามารถแก้ปัญหากลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่ให้ไปทำแท้งเถื่อนได้ หรืออาจตั้งครรภ์จนคลอดแต่สุดท้ายก็นำเด็กไปทิ้งเช่นกัน
       
       นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำแท้งเสรี พบว่า การคลอด การตั้งครรภ์ และการแท้งลดลงทั้งหมด ประเทศโรมาเนีย พบว่า ช่วงเปิดให้ทำแท้งเสรี มีอัตราการทำแท้งไม่ปลอดภัยต่ำมาก แต่เมื่อแก้กฎหมายจำกัดการทำแท้งเสรีกลับทำให้อัตราการทำแท้งไม่ปลอดภัยพุ่งสูงมาก จนต้องกลับมาแก้กฎหมายอีกครั้ง ซึ่งภายในปีเดียวสามารถลดการทำแท้งแบบไม่ปลอดภัยได้ลงถึงครึ่งหนึ่ง หรือแม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็สรุปว่าระหว่างประเทศที่กฎหมายอนุญาตและไม่อนุญาตให้ทำแท้งเสรี สถิติการทำแท้งไม่แตกต่างกันมาก แต่กลุ่มประเทศที่กฎหมายจำกัดจะมีการทำแท้งเถื่อนและทำแท้งไม่ปลอดภัยสูงกว่ามาก ขณะที่กลุ่มประเทศที่ไม่จำกัดอัตราแทบเป็นศูนย์
       
       “กฎหมายไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง บางประเทศกฎหมายให้ทำ แต่คนก็ยังไม่เข้าถึง เพราะไม่มีแพทย์ ส่วนประเทศไทยสถานการณ์เหมือนจะดีขึ้น แต่การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ยังน้อย เพราะไม่อนุญาต แม้แต่ในโรงพยาบาลก็ยังใช้เหล็กขูดมดลูกอยู่ ยังไม่มีเครื่องดูดมดลูกระบบสุญญากาศ และไม่มียายุติการตั้งครรภ์ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งในการดำเนินการการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย” นพ.บุญฤทธิ์ กล่าว
       
       นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับไทยยังถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมาย ซึ่งจากการสำรวจโรงพยาบาล 101 แห่ง ใน 13 จังหวัด เพื่อเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทย เมื่อปี 2554 พบว่า 1 ใน 3 เป็นผู้ป่วยทำแท้ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปี มากที่สุดถึงร้อยละ 28 เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจร้อยละ 71.5 และไม่ได้คุมกำเนิดถึงร้อยละ 53.1 สาเหตุที่ตัดสินใจทำแท้งส่วนใหญ่เป็นเพราะสังคมและครอบครัว สุขภาพ และฐานะทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยมากถึงร้อยละ 20 ทำแท้งด้วยตัวเอง และอีกเกือบร้อยละ 20 ทำแท้งโดยผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ทราบว่าผู้ทำแท้งคือใคร ส่งผลให้มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 10 ทำแท้งด้วยวิธีการที่ไม่ปลอดภัย เช่น การบีบหน้าท้อง การใส่ของแข็งหรือฉีดสารต่างๆ ทางช่องคลอด รวมทั้งผู้ป่วยอีกร้อยละ 9 ที่ใช้วิธีการทำแท้งด้วยการขูดมดลูก ส่งผลให้ผู้ป่วยทำแท้งร้อยละ 21.4 มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง พบมากที่สุด คือ ตกเลือดมากจนต้องให้เลือดมากถึงร้อยละ 14.8
       
       ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์ที่ดำเนินการโดยแพทย์ในกรณีการตั้งครรภ์ไม่พร้อม คือ บริการทางการแพทย์ เมื่อมีผู้ป่วยเกิดขึ้นก็จำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อหารือและแนะนำแนวทางการรักษา ซึ่งในบางครั้งอาจไม่จบลงที่การทำแท้งเสมอไป เพราะมีทางเลือกอื่นเกิดขึ้นระหว่างการพูดคุย เช่น แม่ของผู้ที่ตั้งครรภ์พร้อมที่จะเลี้ยงเด็กให้ เป็นต้น ทั้งนี้ วิธีการยุติการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ยา ทำให้การตายและบาดเจ็บลดลง ภาวะแทรกซ้อนน้อยลง แต่ต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมของแพทย์และทำในโรงพยาบาล หากแพทย์ไม่ดำเนินการแล้วปล่อยให้ผู้ที่ตั้งครรภ์ไปทำแท้งเถื่อนจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ต้องตัดมดลูก ตัดขา หรือถึงแก่ชีวิต ปัจจุบันมีการใช้ยา 2 ประเภท คือ ยาไมโซพรอสตัล และใช้ควบระหว่างไมโซพรอสตัล และอาร์ยู 486 ซึ่งเป็นยาที่ WHO รับรองเป็นบัญชียาจำเป็นเมื่อปี 2005
       
       “การใช้ยาในการยุติการตั้งครรภ์ก็เหมือนการมีเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยและสำเร็จผลตามที่หวัง ถ้าปิดกั้นก็จะทำให้การใช้เทคโนโลยีน้อยลง และเกิดความผิดพลาดจากการใช้ด้วยความไม่เข้าใจ ซึ่งจะเป็นอันตรายสูง เช่น ใช้ยาในช่วงอายุครรภ์ไม่เหมาะสม ผลที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้เกิดการแท้งแต่มดลูกแตก เป็นต้น” ผศ.นพ.ธนพันธ์ กล่าวและว่า หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ควรใช้ไมโซพรอสตัล แต่ต้องใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะใช้แล้วจะมีการตกเลือดสูง ซึ่งโรงพยาบาลจะมีการดูแลรักษาอย่างดี ส่วนยาอาร์ยู 486 ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีการควบคุมคุณภาพหรือการผลิตที่ไหนอย่างไร จึงไม่แนะนำให้สั่งซื้อมาใช้เอง โดยยาตัวนี้ควรใช้ตอนอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 ตุลาคม 2556