ผู้เขียน หัวข้อ: ข้าราชการ อำนาจและจริยธรรม-ข้าราชการ คือ ผู้นำคุณธรรม  (อ่าน 3718 ครั้ง)

Meem

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2576
    • ดูรายละเอียด
ข้าราชการคือผู้นำคุณธรรม

             การใช้ดุลพินิจของข้าราชการภายใต้กรอบของกระบวนการนโยบายสาธารณะภาคประชาชน จึงต้องเป็นดุลพินิจเพื่อสาธารณะไม่ใช่เพื่อการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์  ข้าราชการต้องปรับวิธีคิด ค่านิยมและวิสัยทัศน์ในกรอบของการใช้อำนาจดุลพินิจในแนวดิ่งที่มีอิทธิพลต่อ กระบวนการนโยบายสาธารณะในอดีต การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของระบอบประชาธิปไตยแบบ ไทยที่อำนาจราชการต้องรับใช้ประชาชนและแผ่นดิน  การเปลี่ยนแปลงนี้จุดสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของชนชั้นนำในระบบ ราชการ

             ข้าราชการชนชั้นนำควรมีลักษณะอย่างไรจึงสามารถตัดสินใจนำการเปลี่ยนแปลงและ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในระบบราชการแนวใหม่ที่ประชาชนเป็นใหญ่ได้  ในระบบธุรกิจเมื่อแจ๊ค แวลล์ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของ GE สร้างและเปลี่ยนแปลงองค์กรของบริษัทนั้น เขาได้รับสมญานามจากบุคคลมากมาย ส่วนใหญ่อธิบายแจ๊ค แวลล์ ในฐานะผู้นำที่เด็ดขาด เข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ยาวไกลและกล้านำการเปลี่ยนแปลง มีศักยภาพที่จะสื่อสารกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงให้เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้ บังคับบัญชาทราบ เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

             ผู้นำที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ ควรมีศักยภาพในการนำสูงเด่นกว่าคนทั่วไป  ศักยภาพนั้นเรียกว่า ความมีปัญญาเหนืออารมณ์  ผู้นำที่มีความสามารถจำเป็นต้องมีองค์ประกอบของปัญญาเหนืออารมณ์  ค่อนข้างสูงกว่าปกติ  เพราะศักยภาพนี้เป็นดัชนีชี้ให้เห็นความแตกต่างของผู้นำกับผู้ตาม  คนที่เป็นยอด กับบุคคลธรรมดาสามัญ ความมีปัญญาเหนืออารมณ์ จึงสามารถปกครองคนส่วนใหญ่ได้ดี เป็นผู้นำคุณธรรมและใช้ธรรมเป็นกลไกของปัญญาในการบริหารประเทศ

             ผู้นำคุณธรรมที่ใช้ปัญญาเหนืออารมณ์ รู้จักและเข้าใจตนเอง สามารถการบริหารตนเองรอบรู้สภาพแวดล้อมในสังคมและมีทักษะในการบริหารความ สัมพันธ์ ซึ่งขยายความได้ดังนี้  ประการแรก การรู้จักและเข้าใจตนเอง    ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญสามประการคือ การรู้จักอารมณ์ของตนเอง ควบคุมสติได้ดี ตระหนักในผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการทำงาน การประเมินตนเองตลอดเวลาทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง การรับฟังความเห็นของผู้อื่นและพัฒนาให้ดีขึ้น และความมั่นใจในตนเอง

             ประการที่สองคือ ความสามารถในการบริหารตนเอง มีปัจจัยประกอบเป็นศักยภาพหกประการคือ การควบคุมตนเอง  ผู้นำที่สามารถควบคุมตนเองได้จะมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดีทั้งต่อตนเองและคนอื่นรอบด้าน มีจิตใจเยือกเย็นสามารถรับปัญหาและความกดดันรอบด้านได้  มีความโปร่งใส คือเป็นผู้นำที่สร้างศรัทธาให้ผู้ตามโดยมีลักษณะที่เปิดเผย จริงใจ เชื่อถือได้ กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและความผิดพลาดด้านจริยธรรมได้อย่างดี

             ผู้นำยังมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้าหรือเหนือกว่าสภาพแวดล้อม คือสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในองค์กรได้ทุกรูปแบบ  ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับการท้าทาย การเปลี่ยนแปลงจากภายนอกและภายในองค์กร  ปรับแนวคิดจากข้อมูลที่มีการพัฒนาและนำมาแก้ปัญหา  เป็นผู้นำที่มุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นเป้าหมาย มีมาตรฐานในการทำงานสูง ปรับปรุงตนเองและนำเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เป็นนักปฏิบัติและมีความสามารถในการประเมินเป้าหมาย พยากรณ์ความเสี่ยงและปรับปรุงทางแก้ที่ดีกว่าเสมอ

             นอกจากนั้น ความสามารถในการบริหารตนเอง  ยังรวมปัจจัย ด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และ การมองปัญหาในแง่ดี เชิงบวก  ผู้นำที่เป็นยอดจึงต้องคิดริเริ่ม สร้างสรรค์หรือการมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลกว่าผู้อื่น  การมีความคิดริเริ่มที่ดีทำให้ผู้นำมีพลังในการนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ รู้จักการแสวงหาโอกาสใหม่โดยไม่คิดจะนอนรอคอยโชคชะตาของชีวิต เป็นผู้นำที่คิดเร็ว ทำเร็ว ไม่อืดอาดแบบระบบราชการ  ลดขั้นตอนที่ล่าช้าในการบริหารองค์กร ส่วนการมองโลกในเชิงบวกเป็นปัจจัยเสริมให้ผู้นำทำงานโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ เชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต

             การรอบรู้สภาพแวดล้อมในสังคม  ผู้นำต้องเข้าใจความรู้สึก และมีความเห็นใจ ผู้อื่นสามารถเก็บอารมณ์ ความรู้สึกตนเองได้ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นใด และทำงานได้กับบุคคลทุกประเภท  ผู้นำประเภทนี้จะเข้าใจสภาพแวดล้อมขององค์กรที่มีบุคลากรหลากประเภท หลายความคิดอยู่รวมกัน มีความเข้าใจการเมืองภายใน ปรับตัวและ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ มีจิตใจเป็นนักบริการที่ประชาชนและลูกค้าสัมผัสได้ เข้าใจลูกค้า และทำงานเพื่อความพึงพอใจและความประทับใจของลูกค้า

             ประการสุดท้ายคือการบริหารความสัมพันธ์  ผู้นำต้องเป็นนักบริหารความสัมพันธ์ คือเป็นผู้มีทักษะในการสื่อสารที่กระตุ้นและนำบุคคลเชื่อ ใช้วิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลนำองค์กร ทำให้ทุกคนมีทัศนคติที่ดีร่วมกันเพื่อความสำเร็จในอนาคต  เป็นผู้นำที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น มีพลังดึงดูดคนส่วนใหญ่ให้คล้อยตาม มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงบุคคลอื่นให้มีความสามารถ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง มีความสามารถในการแก้ไขความขัดแย้งในองค์กรและทำงานเป็นทีม

สรุป

             ข้าราชการที่มีคุณธรรมเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะภาคประชาชน เป็นผู้นำที่ใช้ความรู้และปัญญาในการประสานประโยชน์และใช้ดุลพินิจเพื่อความ เป็นธรรมและเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งสังคม ในอดีตการใช้อำนาจดุลพินิจของระบบราชการเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่กระบวนการ ทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทย ปัญญาการเข้าแทรกแซงและเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคม ไทยมาจากการใช้ดุลพินิจเชิงอำนาจของข้าราชการและชนชั้นปกครองนักการเมืองที่ มองประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์ของแผ่นดิน

             ถึงเวลาแล้วที่เหล่าข้าราชการผู้เป็นผู้นำคุณธรรมของแผ่นดินจะแสดงความชอบ ธรรมในการบริหารนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชนและเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบาย สาธารณะที่ดีเพื่อความสุขในทุกมิติของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย  ข้าราชการจึงต้องเป็นผู้นำเชิงคุณธรรมจึงจะสามารถสร้างและผลักดันนโยบาย สาธารณะจากกระบวนการเชิงจริยธรรมคือกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้ อย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมาย  กระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนจึงเป็นกระบวนการเชิงจริยธรรมที่ขับเคลื่อน ความรู้ ความดี ความสุขและประโยชน์สาธารณะเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในสังคมไทยทุกคน

ดร. บวร ประพฤติดี*

www.idis.ru.ac.th
ก.ย. 18, 2010,