ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จัก'โบรเมต'ภัยเงียบ ในน้ำดื่ม-น้ำแร่  (อ่าน 844 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

 
 
รู้จัก'โบรเมต'ภัยเงียบ ในน้ำดื่ม-น้ำแร่

 
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- เสาร์ที่ 21 กันยายน 2556 00:00:45 น.
"น้ำ" คือสิ่งสำคัญที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับในทุกๆ วัน แต่ถ้าในน้ำมีสารอันตรายเจือปนอยู่ก็อาจกลับกลายเป็นภัยร้ายที่บั่นทอนสุขภาพของผู้บริโภคได้ การเฝ้าระวังคุณภาพมาตรฐานในน้ำดื่มจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า น้ำดื่มที่ผู้บริโภคใช้ดื่มกินกันอยู่ในทุกวันนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ น้ำดื่มที่มาจากพื้นผิวดินตามธรรมชาติผ่านการฆ่าเชื้อบรรจุอยู่ในขวดทั่วๆไป และน้ำดื่มที่มาจากชั้นใต้ผิวดินหรือที่เรียกกันว่า "น้ำแร่ธรรมชาติ" ซึ่งจะต้องมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติจริงๆ เช่น น้ำพุธรรมชาติ น้ำพุร้อน โดยไม่มีการนำเอาแร่ใดๆ มาแต่งเติมใส่เอง ผู้ประกอบการน้ำดื่มแต่ละแห่งต่างก็มีกระบวนการฆ่าเชื้อในน้ำดื่มบรรจุขวดหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้แสงอัลตราไวโอเลต การนำไปผ่านโอโซน และการใช้คลอรีนซึ่งวิธีนี้ทำให้ยังคงมีกลิ่นคลอรีนตกค้างอยู่ ผู้ประกอบการน้ำดื่มส่วนใหญ่จึงนิยมการฆ่าเชื้อด้วยการใช้โอโซนมากกว่า ซึ่งกระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยโอโซนนี้เองที่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดสาร "โบรเมต" ในน้ำดื่มได้


 
"โบรเมต" เป็นสารก่อกลายพันธุ์และอาจก่อมะเร็งในคน เนื่องจากน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่จะนำมาผลิตเป็นน้ำดื่มจะมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "โบรไมด์" ซึ่งการใช้โอโซนฆ่าเชื้อในน้ำดื่มอาจไปทำปฏิกิริยากับสารโบรไมด์ ที่มีอยู่จนกลายเป็นโบรเมต โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้มีโบรเมตในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดใช้ค่ามาตรฐานดังกล่าว

เพื่อให้สาธารณะได้ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพจากโบรเมตในน้ำดื่ม กระทรวงสาธารณสุขโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการวิจัยเรื่อง "การประเมินความเสี่ยงจากโบรเมตในน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแร่ธรรมชาติ" โดยการพัฒนาวิธีวิเคราะห์โบรเมตในน้ำดื่มด้วยเทคนิคไอออนโครมาโตกราฟ สำรวจปริมาณโบรเมตในน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแร่ธรรมชาติ พร้อมกับประเมินความเสี่ยงจากโบรเมตในน้ำ จากการเก็บตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด 100 ตัวอย่าง และน้ำแร่ 54 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า น้ำดื่มบรรจุขวด 20 ตัวอย่าง มีค่าเฉลี่ยของสารโบรเมตอยู่ที่ 14.9 ไมโครกรัมต่อลิตร และน้ำแร่ 21 ตัวอย่าง มีค่าเฉลี่ยโบรเมตอยู่ที่ 20.5 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 14 และ 12 เท่า ผลการตรวจวิเคราะห์ที่ออกมานี้ ชี้ให้เห็นว่า ตลาดน้ำดื่มในบ้านเราบางชนิดยังคงมีค่าโบรเมตเกินมาตรฐานสากล

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งนั้นบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่อย่าลืมว่าเมื่อใดก็ตามที่เราดื่มน้ำที่มีค่าโบรเมตปริมาณมากความเสี่ยงก็จะมากขึ้นด้วย จึงอยากฝากบอกไปถึงผู้ประกอบการน้ำดื่มให้มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยใช้กรรมวิธีที่ถูกต้องในกระบวนการผลิต อาจจะมีการตรวจวัดคุณภาพสารโบรเมตในน้ำดื่ม เพื่อทำให้น้ำดื่มของท่านได้คุณภาพตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก และได้น้ำดื่มที่สะอาดบริสุทธิ์ให้ผู้บริโภคได้ใช้ดื่มกินอย่างปลอดภัย เพราะสารโบรเมตในน้ำดื่มเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า

สำหรับประชาชนผู้บริโภค สิ่งที่อยากแนะนำก็คือ ก่อนที่จะเลือกบริโภคน้ำดื่มชนิดใดก็ตาม ควรอ่านฉลากกำกับทุกครั้ง ถ้าเป็นน้ำแร่ก็ควรดูด้วยว่ามีสรรพคุณอย่างไร มีแร่ธาตุใดเป็นส่วนประกอบ หรือเกินค่ามาตรฐาน และที่สำคัญคือ ไม่ควรยึดติดกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายรับแร่ธาตุมากเกินไปจนกลับกลายเป็นอันตรายได้

อย่างไรก็ตามการฆ่าเชื้อโรคด้วยการใช้โอโซนใช่ว่าจะทำไม่ได้ แต่เมื่อใช้แล้วค่าโบรเมตที่ได้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตามหลักสากล บ้านเรายังไม่มีการกำหนดค่าโบรเมตในน้ำดื่ม พอไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานก็เท่ากับว่าไม่มีการควบคุม ผู้ประกอบการบางรายก็หวังผลเพียงแต่ว่าฆ่าเชื้อโรคแล้วจะปลอดภัย โดยไม่มีการศึกษาว่ามันทำให้เกิดโบรเมตขึ้นมามากเท่าไหร่ หากเป็นไปได้ในอนาคตก็อยากให้มีการศึกษาและกำหนดค่าโบรเมตให้เป็นไปตามหลักสากล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัย


© 2007 - 2013 InfoQuest Limited, All Rights Reserved (s99 : 0.012)