ผู้เขียน หัวข้อ: ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ-วิพากษ์-ตอนที่ 5-6-7 (พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา)  (อ่าน 1639 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 5 คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข(ต่อ)

มาตรา 11การประชุมคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
 ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
  การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
   ในการประชุม ถ้ามีการพิจารณาเรื่องที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสีย ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้นั้น มีหน้าที่แจ้งให้คณะกรรมการทราบและมีสิทธิเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแสดง ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้นแต่ไม่มีสิทธฺเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนเสียง
   วิธีการประชุมและการมีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งประธานกรรมการหรือกรรมการมีหน้าที่ต้องแจ้งให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนด

วิพากษ์ ถ้าประธานไม่สามารถมาประชุมได้ ก็ไม่สมควรที่จะเรียกประชุม ถ้ามีเรื่องด่วน ก็ควรมอบหมายให้กรรมการคนใดคนหนึ่งที่รู้ประเด็นหรือหัวข้อในการประชุมเป็นประธานแทน

มาตรา 12 คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมายดังนี้
(1)    คณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 27 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านละหนึ่งคน
(2)    คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยตามมาตรา 30 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอด้านละหนึ่งคน
(3)    คณะอนุกรรมการอื่นๆตามที่เห็นสมควร
หลักเกณฑ์และวิธีการการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และเขตพื้นที่รับผิดชอบของคณะอนุกรรมการตามวรรค(1) และ (2) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด
ประธานคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการเลือกกันเอง
ให้อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพหรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพมอบหมาย แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แล้วแต่กรณีเป็นฝ่ายเลขานุการ
  ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจแต่งตั้งมากกว่าหนึ่งคณะก็ได้
 ให้นำมาตรา 11 มาใช้บังคับการประชุม วิธีการประชุม และการมีส่วนได้เสียของคณะอนุกรรมการและอนุกรรมการโดยอนุโลม

วิพากษ์ คณะอนุกรรมการเหล่านี้ ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข จึงไม่น่าจะเข้าใจว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการไปรับบริการสาธารณสุข” นั้น เป็นความเสียหายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 หรือไม่ การตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและคณะอนุกรรมการ จ่ายเงินชดเชยตามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.นี้
คณะอนุกรรมการเหล่านี้ จึงไม่สามารถที่จะพิจารณาได้อย่างเป็นธรรมว่า ผู้ร้องขอเงินช่วยเหลือและชดเชยนี้ อยู่ในข่ายผู้เสียหายตามมาตรา 6 (ซึ่งหมายความว่า ได้รับบริการที่ไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น) 
และ อนุกรรมการก็ตัดสินโดยไม่ได้อาศัยหลักวิชาการ ใช้แต่ดุลพินิจ(หรืออารมณ์ความรู้สึก)เพียงอย่างเดียว มาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะส่งผลให้การพิจารณาให้การช่วยเหลือและชดเชยนั้นหมายถึงการปฏิบัติ วิชาชีพทางการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐานทุกกรณีไป  (ทั้งๆที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ได้ปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพแล้วซึ่งจะมีผลทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยนั้นๆ ต้องถูกสภาวิชาชีพดำเนินการสอบสวนซ้ำอีกครั้ง ในข้อกล่าวหาว่าประกอบวิชาชีพโดยไม่มีมาตรฐาน
 
ซึ่งในการตัดสินของสภาวิชาชีพเช่นแพทยสภา จะตัดสินการประกอบวิชาชีพของผู้ใด จะต้องรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพนั้นๆ โดยอาศัยการชี้ขาดขององค์คณะผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ผู้ประกอบวิชาชีพและแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
 
ฉะนั้น ถ้าสภาวิชาชีพเช่นแพทยสภา ได้ตัดสินว่าแพทย์ได้ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปตามมาตรา 6 แต่คณะอนุกรรมการได้จ่ายเงินช่วยเหลือและเงินชดเชยไปแล้ว ซึ่งหมายถึงว่าแพทย์ทำผิดมาตรฐาน (เนื่องจากมาตรา 6 บอกว่า ถ้าไม่ผิดมาตรฐานจะจ่ายเงินไม่ได้)
 
ถ้าแพทย์ต้องการยืนยันว่า การทำงานของตนถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว ก็มีช่องทางเดียวเท่านั้น คือต้องฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งของคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการตามพ.ร.บ.นี้
   ส่วนประชาชนที่ร้องขอเงินช่วยเหลือและเงินชดเชยนั้น ถ้าไม่พอใจการตัดสินของคณะอนุกรรมการ ก็สามารถได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการอุทธรณ์ หรือไปฟ้องศาลแพ่ง/ศาลอาญาได้อีก
   การกำหนดคุณสมบัติและการสรรหากรรมการและอนุกรรมการตามที่บัญญัติไว้ในมาตร 11 และ12 จึงไม่น่าจะเป็นการบัญญัติที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน และผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข และไม่น่าจะเอาข้อมูลเหล่านี้ ไป”พัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายจากบริการสาธารณสุข” ตามที่อ้างไว้ในเหตุผลที่จะตราพระราชบัญญัตินี้แต่อย่างใด
 และจะทำให้มีการฟ้องร้องมากขึ้นอย่างแน่นอน  ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างบนนี้ โดยไม่สามารถที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุขตามที่เขียน (อ้าง) ไว้ในพ.ร.บ.นี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น
 
นอกจากนั้น ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว ก็จะพบว่า การกำหนดให้มีการช่วยเหลือและชดเชย ตามขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.นี้แล้ว จะเห็นว่า เป็นกฎหมายที่ขาดความสมดุล คือประชาชน มีแต่ "ได้กับได้" ทุกขั้นตอน
 
แต่บุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์นั้น นอกจากจะต้องรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพ ตามที่ต้องยึดถือไว้อย่างเคร่งครัดแล้ว ยังต้องมีภาระผูกพันในการส่งเอกสารรายงาน ไปให้คำชี้แจง แก่คณะอนุกรรมการ คณะกรรมการใหญ่ คณะกรรมการอุทธรณ์ ศาลแพ่ง ศาลฎีกาอีก 6 ศาล(ต้น อุทธรณ์ ฏีกา) แลฃะอาจจะตกเป็นจำเลยสังคมทางสื่อศาลมวลชนอีกมากมาย ตามบทบัญญัติในมาตราอื่นๆของพ.ร.บ.นี้
บุคลากรทางการแพทย์ มีแต่ "เสียกับเสีย" รัฐบาลไม่ให้ "ภูมิคุ้มกันใดๆ" จากการประกอบวิชาชีพเลย  ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ในขณะที่บุคลากรมีน้อย บุคลากรทำงานมากเกินขีดมาตรฐาน
 
 จึงทำให้แพทย์บอกว่า จะจำกัดจำนวนการรักษาผู้ป่วย เพื่อไม่เปิดโอกาส "การทำผิดมาตรฐานทางการแพทย์" เพื่อประชาชนจะได้รับการดูแลตามมาตรฐาน  จะได้ไม่ร้องขอเงินช่วยเหลือและชดเชย และแพทย์จะได้ไม่ถูกร้องเรียน/ฟ้องร้อง
.....................................................................................
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 6 คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข(ต่อ)

มาตรา  13 ให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์  ด้านการแพทย์และสาธารณสุขด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านละหนึ่งคน และผู้แทนสถานพยาบาลและผู้แทนผู้รับบริการด้านสาธารณสุข ฝ่ายละหนึ่งคน
การแต่งตั้งฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้นำมาตรา 42 วรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หลักเกณฑ์และวิธีการการได้มาและเขตพื้นที่รับผิดชอบของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ในการแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งมากกว่าหนึ่งคณะก็ได้
ให้นำมาตรา 11 มาใช้บังคับกับการประชุม วิธีการประชุม และการมีส่วนได้ส่วนเสียของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์โดยอนุโลม

มาตรา 14 คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 28และ31

วิพากษ์ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 คือพิจารณาใหม่ว่าจะพลิกคำตัดสินของคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น ที่ไม่รับคำขอของผู้เสียหายที่ยื่นขอรับเงินชดเชยหรือไม่ โดยที่ประชาชนผู้ขอไม่ต้องยื่นอุทธรณ์ แบบนี้เท่ากับว่า ถ้าคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่อนุมัติตามคำร้องขอ ก็ให้ส่งเรื่องอุทธรณ์แทนประชาชนได้เลย
 แสดงว่าคณะอนุกรรมการฯนี้คงไม่ต้องพินิจพิจารณาให้ดีนักก็ได้  เพราะมีกรรมการอุทธรณ์คอยแก้ไขให้โดยอัตโนมัติแล้ว แตกต่างจากระบบศาลยุติธรรม ที่ผู้ตัดสินครั้งที่ 1 และผู้พิจารณาอุทธรณ์ แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด
 แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นี้ มีที่มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการชุดเดียวกันกับที่พิจารณาคัดเลือกคณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชย และยังมีการกำหนดคุณสมบัติให้เลือกแบบเดียวกัน จึงน่าสงสัยว่าคณะอนุกรรมการฯและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะตัดสินแตกต่างกันหรือไม่? ในขณะที่ทั้ง 2 คณะนี้ ต่างก็ไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางการแพทย์เป็นหลักในการพิจารณา
 
ในมาตรา 31 คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยต้องให้ประชาชนร้องอุทธรณ์เอง ในกรณีที่ไม่พอใจจำนวนเงินที่คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยวินิจฉัย
สรุปแล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต้องมีคุณสมบัติที่ดีกว่าคณะอนุกรรมการฯทั้ง 2 คณะอย่างไรบ้าง?
ส่วนคณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือและชดเชยใดๆทั้งสิ้น  แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ 2 คณะและคณะกรรมการอุทธรณ์เท่านั้น

มาตรา 15 และ 16 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง และค่าตอบแทนของอนุกรรมการ และกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์

มาตรา 17 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์  ประธานอนุกรรมการหรือ อนุกรรมการ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

วิพากษ์ ประธานกรรมการนั้นมาจากตำแหน่งทางการเมือง ส่วนกรรมการหลายตำแหน่ง ประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์  ประธานอนุกรรมการหรือ อนุกรรมการ ล้วนเป็นบุคคลที่มีที่มาโดยการเลือกของคณะกรรมการ ไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก/ คัดเลือก หรือพิจารณาอย่างโปร่งใส ในการเข้าสู่ตำแหน่งทางราชการ  และได้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
เป็นที่น่าสงสัยว่า คณะกรรมการและอนุกรรมการเหล่านี้จะมีคุณสมบัติดีพอที่จะได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง และมีความเป็นธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่งเหมือนข้าราชการ หรือตุลาการหรือไม่ และจะทำงานได้อย่างเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่หรือไม่

มาตรา 18 ให้คณะกรรมการ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคณะอนุกรรมการ มีอำนาจสั่งให้สถานพยาบาล ผู้เสียหายหรือทายาท บุคคล หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือมาให้ถ้อยคำด้วยตนเอง หรือส่งข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานตามกำหนดเวลาที่เห็นสมควร
ให้บุคลที่มาให้ถ้อยคำด้วยตนเองตามวรรคหนึ่งได้รับค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าป่วยการ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

วิพากษ์ สถานพยาบาลต่างๆ อาจจะต้องมีภาระส่งเอกสารรายงาน และแพทย์อาจมีภาระไปให้ถ้อยคำด้วยตนเองบ่อยขึ้น เพราะถ้าไม่ไปตามคำสั่ง ก็จะถูกลงโทษตามมาตรา 46 คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
จึงเห็นว่าคณะกรรมการ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคณะอนุกรรมการ มีอำนาจที่ “น่าสะพรึงกลัว” สำหรับสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในขณะที่ยังมีข้อกังขาในการได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งอย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือก/สอบคัดเลือกว่ามีความรู้และความสามารถเหมาะสมกับอำนาจหน้าที่หรือไม่ เหมือนเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาอื่นๆ

จึงเท่ากับว่าสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ จะต้องตกอยู่ “ใต้อำนาจของคณะบุคคลเหล่านี้” ที่ทำให้ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล และผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องเล่าเรียนและฝึกอบรมพร้อมทั้งสั่งสมประสบการณ์อันยาวนานในการตรวจรักษาผู้ป่วย แต่ต้องกลับมาตกอยู่ใต้ “อำนาจคำสั่ง” ของผู้ที่ไม่ต้องผ่านการคัดเลือกในด้านความรู้และประสบการณ์อย่างเข้มงวดเลย สักแต่ว่าเป็นพวกเดียวกันกับประธานหรือกรรมการคนใดคนหนึ่ง ก็อาจจะเข้ามามีตำแหน่งและใช้อำนาจบังคับผู้ที่มีคุณสมบัติในวิชาชีพเฉพาะได้โดยง่าย

นับว่าพระราชบัญญัตินี้ก่อให้เกิด “ความไม่เป็นธรรม” แก่ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง
..................................................................................................
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 7 คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข(ต่อ)

มาตรา 19 ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะอนุกรรมการ และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1)    รับและตรวจสอบคำขอรับเงินค่าเสียหาย และคำอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(2)    ประสานงานกับสถานพยาบาลเพื่อให้ส่งเวชระเบียนของผู้เสียหายหรือข้อมูลเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้คณะกรรมการ  คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือ คณะอนุกรรมการตามมาตรา 18
(3)    ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ องค์กรหรือบุคคลใดๆ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงหรือความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(4)    รับ จ่าย และเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุนเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(5)    เก็บ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลการจ่ายเงินค่าเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้และวิธีป้องกัน ความเสียหายเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(6)    สนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย รวมทั้งการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข
(7)    มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐ องค์กร หรือบุคคลอื่นยทำกิจการที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้
(8)    จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการ  คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะอนุกรรมการ และสำนักงาน เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(9)    ประชาสัมพันธ์และแจ้งผู้ยื่นคำขอและประชาชนทั่วไปเพื่อความเข้าใจหลักการและเหตุผล ขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัตินี้
(10)ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
 
วิพากษ์ ตามหน้าที่ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพนั้น มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนให้ทำงานอย่างมีมาตรฐาน ออกใบอนุญาตการจัดตั้งสถานพยาบาล รับการร้องเรียนจากประชาชน ในการตรวจสอบความเสียหายและตรวจสอบมาตรฐานของการบริการสาธารณสุขของสถานพยาบาลทุกแห่งอยู่แล้ว
 ในส่วนของการจ่ายเงินชดเชยผู้เสียหายนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่ขึ้นเกิดภายในหน่วยงานของรัฐบาล ก็น่าจะเป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานต้นสังกัด ( ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงใดๆ และส่วนมากที่สุดก็สังกัดกระทรวงสาธารณสุข) ที่จะต้องจัดหางบประมาณมาเพื่อดำเนินการในการช่วยเหลือประชาชน  โดยไม่ต้องไปตั้งคณะกรรมการให้มามีอำนาจ สั่งการ และเป็นเจ้านายโดยตรงของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพอีกต่อหนึ่ง
   ในส่วนของสถานพยาบาลภาคเอกชนนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็มีอำนาจในการตรวจสอบ ควบคุม และสั่งการได้ทุกอย่างอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ต้องรอให้มีการตราพระราชบัญญัตินี้
   แต่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกระทรวงสาธารณสุข อาจไม่มีความสามารถในการจัดทำคำของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อมา “ช่วยเหลือและชดเชยความเสียหาย” ของการบริการสาธารณสุขในสถานพยาบาลภาครัฐ  กระทรวงสาธารณสุขจึงหวังจะตราพระราชบัญญัติใหม่ ไปบังคับให้สถานพยาบาลภาครัฐ เอกชน ส่งเงินสมทบมาให้กองทุนตามร่างพ.ร.บ.นี้ และให้รัฐบาลโอนเงินตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาให้ใช้ด้วย
โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยอมลดศักดิ์ศรีของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่สามารรถทำงานโดยอิสระ มาเป็นเพียง เลขานุการของคณะกรรมการ ต้องทำหน้าที่ตามคำสั่งของประธานกรรมการและคณะกรรมการ ประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และคณะกรรมการ ประธานอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นและประธานอนุกรรมการและคณะอนุกรรมการ ประเมินเงินชดเชย เท่านั้น
.................................................................................