ผู้เขียน หัวข้อ: ตั้งกองทุนชดเชยผู้เสียหาย ลดปัญหาผู้ป่วยฟ้องแพทย์--อ่่านกันอีกที  (อ่าน 1795 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 31/12/2550

โดย ดวงกมล สจิรวัฒนากุล

ความ ขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย เริ่มส่อเค้ารุนแรง และส่งสัญญาณว่าจะสร้างปัญหามากขึ้น หลังศาลจังหวัดทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช พิพากษาจำคุกแพทย์หญิงประจำโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

คำตัดสินดังกล่าว ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับวงการแพทย์ไทยไม่น้อย โดยเฉพาะแพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพทย์เพิ่งจบใหม่ ซ้ำยังขาดความพร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือแพทย์ในการช่วยชีวิตผู้ ป่วย

ความไม่พร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์อาจจะส่งผล ให้ความตั้งใจในการช่วยชีวิตผู้ป่วย อาจจะผิดพลาด และ จบลงด้วยการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่าง เพราะความเข้าใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยที่มีช่องว่างมากขึ้น รวมไปถึงกระแสการเรียกร้องและรักษาสิทธิของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ใน ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีคดีร้องเรียนแพทย์ต่อแพทยสภาและการฟ้องร้องแพทย์เพิ่มมากขึ้น

ความ ไม่มั่นใจในการรักษาผู้ป่วยของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน ส่งผลให้เพิ่มปัญหาระบบสาธารณสุขมากขึ้น แพทย์ไม่กล้าผ่าตัด โดยจะเห็นว่าอัตราการผ่าตัดของแพทย์โรงพยาบาลชุมชนลดอย่างมาก โดยแพทย์ส่วนใหญ่จะเลือกส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม แทน มากกว่าที่จะแบกรับความเสี่ยงในการผ่าตัดในโรงพยาบาลขนาดเล็ก

ปัญหา ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ จึงส่งให้อัตราการส่งต่อผู้ป่วยจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยปัญหานี้ไม่เพียงแต่โรงพยาบาลที่รับส่งต่อจะเพิ่มความแออัดจำนวนผู้ป่วย แต่นั่นหมายความว่าแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะต้องแบกรับภาระงานผ่าตัดเพิ่ม มากขึ้น รวมไปถึงกระทบต่อการบริการผู้ป่วย ที่จะต้องรอคิวผ่าตัดนานขึ้น ทำให้ได้รับการรักษาล่าช้า และอาจทำให้อาการป่วยลุกลามไปมากขึ้น

ความบกพร่องของ "ระบบ"

ปัญหา ความขัดแย้งระหว่างแพทย์ และผู้ป่วยมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นหากยังไม่มีมาตรการลดความขัดแย้งที่ เกิดขึ้น น.พ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากระบบการบริการที่เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นบัตรผู้มีรายได้น้อย รักษาฟรี ที่เป็นความช่วยเหลือระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ทำให้เกิดความผูกพันกัน แต่จากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิในการรักษา พยาบาล โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่ารักษา ทำให้แพทย์เป็นเพียงลูกจ้างที่ประชาชนนำเงินค่าใช้จ่ายรายหัวมาให้ กลายเป็นระบบซื้อขาย ความสัมพันธ์ที่เคยมีจึงได้หายไป

“เมื่อ ก่อนผมอยู่โรงพยาบาลอำเภอ เห็นคนกำลังกำเงินแค่ 2-3 ร้อยบาทจนเหงื่อออก เพราะเป็นเงินยืมมาจ่ายค่ายา ทำให้รู้สึกเห็นใจ และจากความทุกข์ที่ติดอยู่ในใจนี้เอง จึงรีบทำโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าออกมา ซึ่งก็ได้ผลดี เพราะไม่น้อยกว่า 1 แสนหลังคาเรือนไม่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล แต่น่าเสียดายที่ความสัมพันธ์ดีๆ ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยหายไป" น.พ.มงคลกล่าว

อย่างไรก็ตามถือเป็นความผิดพลาด ของกระทรวงสาธารณสุขที่คิดเพียงชั้นเดียว อยากให้ทุกคนมีสิทธิรักษาพยาบาล ไม่ต้องแยกชั้นคนจนคนรวย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมีช่องว่างห่างกันออกไปมากยิ่งขึ้น

น.พ.มงคล กล่าวถึงแนวโน้มคดีฟ้องร้องแพทย์ว่า ขณะนี้มีคดีฟ้องแพทย์อยู่ที่ศาลจังหวัดนนทบุรีอีกกว่า 60 คดีแล้ว ซึ่งกรณีการฟ้องแพทย์โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์นั้น จะต้องโทษไปที่กลไกของระบบที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอ ดังนั้นจึงอยากให้เดินหน้า “โครงการจิตอาสา” ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วย ขณะที่แพทย์จะได้มีเวลาออกไปเยี่ยมชุมชน ซึ่งจะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

ขณะที่ น.พ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการระบบวิจัยสาธารณสุข (สวรส.) บอกสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยว่า ส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารที่ล้มเหลว กรณีแพทย์หญิงโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ เริ่มจากลูกสาวของคนตายต้องการคำอธิบายและคำขอโทษ แต่แพทย์คิดอีกแบบว่า ทำดีที่สุดแล้วจะให้ทำอะไร เป็นการยืนคนละมุม ซึ่งเมื่อผู้เสียหายไม่ได้รับคำตอบที่ดี และยังได้รับคำกระตุ้นว่า “ถ้าไม่พอใจก็ไปฟ้อง” จึงเป็นการเริ่มเข้าสู่ระบบการร้องเรียน

“ปัญหา นี้ไม่รู้จะแก้ได้อย่างไร ตราบใดที่ฝ่ายวิชาชีพไม่มองเชิงบวกกับผู้ป่วย และยังคิดว่าคนไข้เริ่มจับผิดและต้องฟ้องเอาเงินชดเชย ซึ่งเป็นการมองคนละด้าน หากไม่แก้โดยหาทางออกที่ดีจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นต้องมีกลไกที่ดึง 2 ฝ่ายมาพูดคุย โดยลดอัตตาตนเองลง”

เสนอกฎหมายกองทุนชดเชยเยียวยา

อย่าง ไรก็ตามยอมรับว่า มีผู้เสียหายจากการรักษาบางส่วนฟ้องแพทย์เพื่อต้องการเงินชดเชย เนื่องจากเกิดความลำบากภายในครอบครัวขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากการรักษา ดังนั้นจำเป็นต้องช่วยบรรเทาความเดือนร้อนผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อลดการเผชิญหน้าไม่นำไปสู่ความรุนแรง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมจัดทำ “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนชดเชยผู้ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์” เพื่อลดการฟ้องแพ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของทางกฤษฎีกา

ส่วน การฟ้องอาญายังเป็นสิทธิผู้ป่วยหากเห็นว่าเป็นการกระทำผิดประมาทเลินเล่อ ร้ายแรง ทั้งนี้เท่าที่ถามความเห็นนักกฎหมายต่างยืนยันว่า แพทย์ที่รักษาโดยปฏิบัติตามทางวิชาชีพ ไม่สามารถนำเข้าคุกได้ เพราะกฎหมายอาญาให้การคุ้มครองอยู่ แต่กรณีแพทย์หญิงโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุกนั้น เป็นเรื่องแปลกเพราะไม่ได้เกิดจากสาเหตุความประมาท แต่น่าจะมาจากความผิดพลาดในการต่อสู้คดีจนทำให้คำตัดสินออกมาเช่นนี้ ซึ่งต้องดูรายละเอียดในกระบวนการในชั้นศาล เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาการต่อสู้ในชั้นศาลให้กับแพทย์ที่จบใหม่ต่อไป

ขณะ ที่ น.พ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เองเห็นว่า พ.ร.บ.กองทุน ชดเชยผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ อาจจะไม่เพียงพอเพราะขณะนี้แพทย์ต่างวิตกต่อการรักษาผู้ป่วย เพราะทำหน้าที่บนความเสี่ยงการถูกฟ้องร้อง โดยเฉพาะทางอาญา ทำให้การทุ่มเทรักษาเพื่อช่วยผู้ป่วยลดลง เนื่องจากต้องคอยระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้ถูกฟ้องร้องไปด้วย ดังนั้นแพทยสภาจึงเห็นควรผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ.......” เพื่อออกมาบังคับใช้โดยเร็ว ไม่ให้แพทย์ต้องรับผิดในคดีอาญา เพราะการรักษานั้น แพทย์ทำเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่มีเจตนาที่จะฆ่าคน ไม่ใช่อาชญากร ดังนั้นหากแพทย์ที่ตั้งใจช่วยเหลือผู้ป่วยและมีมาตรฐานในการรักษา แต่มีปัญหาโรคแทรกซ้อนจึงไม่ควรต้องรับผิดทางอาญา

“เป็น ที่ทราบโดยทั่วกันว่า แพทย์ไทยทำงานภายใต้ข้อจำกัด นอกจากปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ซึ่งทำให้แพทย์โรงพยาบาลรัฐต้องตรวจคนไข้ 80-200 คนต่อวันแล้ว แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนยังเป็นแพทย์จบใหม่ขาดประสบการณ์ และไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำ ขาดความพร้อมเครื่องมือการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตจึงเกิดปัญหา ขึ้น ”

นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม เห็นด้วยการกับออกกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ และร่าง พ.ร.บ.กองทุนชดเชยผู้ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ เพราะไม่เห็นด้วยที่แพทย์ผู้ซึ่งรักษาผู้ป่วยต้องรับโทษทางอาญา กรณีมีความเสียหายจากการประกอบวิชาชีพขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องมีระบบไกล่เกลี่ยและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ เพื่อช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความสมดุลของสัมพันธภาพระหว่างแพทย์กับผู้ ป่วย

กรณีโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ สะท้อนถึงระบบประนีประนอมทำได้ไม่เต็มที่ เพราะต่างฝ่ายมีข้อจำกัด โดยทางแพทย์เห็นว่า หากขอโทษและยอมรับว่าผิดพลาดในการรักษาจะส่งผลต่อประวัติการทำงาน และเมื่อเห็นว่าไม่ผิดก็ควรที่จะต่อสู้มากกว่า ขณะที่ฝ่ายผู้เสียหายที่รู้สึกแย่อยู่แล้ว เมื่อไม่มีการรับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้รู้สึกลบไปอีก ประกอบกับในทางกฎหมายหากคดีอาญาสรุปว่าไม่ผิด คดีแพ่งก็จะหลุดไปด้วย ทำให้ผู้เสียหายทุ่มต่อสู้ในคดีอาญา เพราะเมื่อชนะคดีอาญาแล้ว คดีแพ่งก็ชนะด้วย จึงเกิดปัญหาขึ้นเพราะเมื่อแพทย์ในฐานะจำเลยไม่รับสารภาพ

“สังคมโดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องคิดว่า จะรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่มีแต่ดั้งเดิมให้ยืนยาว ได้อย่างไร หากปล่อยให้รุนแรงถึงขนาดเป็นปฏิปักษ์ต่อกันจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพนี้ ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินโดยไม่คำนึงถึงอย่างอื่น และรักษาตัวรอดอย่างเดียว ความสูงส่งของวิชาชีพแขนงนี้จะพลอยตกต่ำไปด้วย"

แน่นอนว่าเมื่อแพทย์ไม่พร้อมในการรักษา ผลเสียจะตกกับประชาชนโดยรวมจึงไม่มีใครได้ประโยชน์จากการลงโทษทางอาญา และท้ายสุดผลเสียจะตกต่อผู้ป่วยที่จะมารับการรักษา ดังนั้นถึงเวลา ที่จะต้องเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย รวมไปถึงการสร้างมาตรการทางด้านกฎหมายเพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจาก แพทย์ เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้อง เพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยมากขึ้น