ผู้เขียน หัวข้อ: องค์กรลดอุบัติเหตุ-องค์กรงดเหล้า หนุน ตร.เพิ่มโทษเมาแล้วขับ  (อ่าน 766 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
เครือข่ายลดอุบัติเหตุ-องค์กรงดเหล้าประสานเสียงหนุนตำรวจเพิ่มโทษเมาแล้วขับ ชี้ต้องบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง เครื่องมือในการตรวจจับต้องมีเพียงพอ แนะทำระบบฐานข้อมูลยื่นศาลเพิ่มโทษฟันคนทำผิดซ้ำซาก
       
       นพ.พรหมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า สคอ.พร้อมสนับสนุนการเพิ่มโทษกรณีเมาแล้วขับ เพราะโทษปัจจุบันไม่ส่งผลต่อคนมีเงิน ทั้งนี้ โทษจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ โทษปรับ และโทษอาญา กรณีที่เกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิต รวมทั้งถ้าคนผิดเป็นข้าราชการก็จะถือว่ามีความผิดวินัยร้ายแรง การเพิ่มโทษจึงเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้มีวินัยมากขึ้น แต่ปัญหาของการเพิ่มโทษ คือต้องมีกลไกในการบังคับใช้จริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมาการบังคับใช้ทางกฎหมายยังไม่เข้มงวดเพียงพอ รวมไปถึงเครื่องมือในการตรวจจับ เช่น เครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ก็ยังมีปัญหาไม่เพียงพอ โดยมีอยู่เพียงประมาณไม่เกิน 1 พันเครื่อง ทั้งที่ประเทศไทยมีโรงพักประมาณ 3-4 พันแห่ง ขณะที่การตรวจจับก็ยังมีปัญหาส่งผลต่อการใช้งานจริง ที่สำคัญการจัดซื้อเครื่องมือเหล่านี้ยังกระจัดกระจายแทนที่จะเป็นหน้าที่ของตำรวจโดยเฉพาะ บ้างก็ยังซื้อโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัด หรือขนส่งจังหวัด เป็นต้น ทำให้เวลาบำรุงรักษาจึงมักมีปัญหา ดังนั้น เห็นด้วยที่จะมีการเพิ่มโทษ แต่ปัญหาดังกล่าวก็ต้องมีการจัดการให้เป็นระบบด้วย
       
       “ที่ผ่านมาเคยเสนอแนวคิดนี้ให้กับทางศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เมื่อช่วงกลางปี 2556 โดยขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด ภายใต้เครื่องมือที่มีอย่างเพียงพอ ดังนั้น ข้อเสนอนี้อยากให้มีการนำไปใช้จริงๆ” ผอ.สคล.กล่าว
       
       ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า หากตำรวจมีมาตรการที่จะเพิ่มโทษเมาแล้วขับจริงก็เห็นด้วย และพร้อมสนับสนุนให้ข้อมูล แต่นอกจากการเพิ่มโทษแล้วปัจจัยที่จะช่วยให้ลดอุบัติเหตุได้จริง ก็คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจัง อย่างญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พบว่าสามารถลดอุบัติเหตุลงได้ 70-80% สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นโทษปรับเพียงอย่างเดียว และจำนวนในการปรับก็ถือว่าน้อย ขณะที่โทษจำคุกที่จะทำให้คนเข็ดหลาบกับความผิดนั้นมักไม่ค่อยถูกนำมาบังคับใช้ รวมไปถึงคนที่กระทำความผิดแบบซ้ำซาก ก็ไม่มีข้อมูลยื่นต่อกระบวนการยุติธรรมเพื่อเพิ่มโทษแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้ต้องถามกลับไปที่ทางตำรวจว่ามีข้อมูลเหล่านี้มากเพียงพอหรือไม่ ดังนั้น หากจะเพิ่มโทษเมาแล้วขับ ก็ควรที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขในเรื่องเหล่านี้ด้วยอย่างเป็นระบบ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2556