ผู้เขียน หัวข้อ: “น้ำเกลือ 6 ถุงในราคา 546 ดอลลาร์” : ความลับของบิลค่าใช้จ่ายห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล  (อ่าน 824 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 คนทั่วไปคงรู้จัก “ซาลีนโซลูชัน” ในภาษาการแพทย์ ที่จริงๆ แล้วคือ เกลือ และน้ำ ในความเข้าใจของคนทั่วไป หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้เปิดเผยความลับที่น่าตกใจว่า ทำไมถุงน้ำเกลือ หรือถุง IV ที่เป็นเสมือนยาสำหรับห้องฉุกเฉินนั้น จึงมีราคา 546 ดอลลาร์ และได้ขุดคุ้ยถึงการเกิดโรคอาหารเป็นพิษระบาดทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งมีผู้ป่วยมากกว่า 100 รายถูกชาร์จมากกว่า “200 เท่า” ของราคาจากป้ายที่ติดไว้ในร้านขายยาวอลกรีนส์ ที่มีราคาตั้งแต่ 44 เซนต์ ถึง 1 ดอลลาร์ รวมกับค่าบริการทางการแพทย์ในการให้น้ำเกลือ
       
       ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลไวท์เพลนส์ ในนิวยอร์ก ซึ่งประกันสุขภาพอยู่กับเอ็ตนา อินชัวรันซ์ ได้รับแจ้งบิลค่ารักษา ซึ่งรวมถึงถุงน้ำเกลือ1หน่วย ราคา 91 ดอลลาร์ (ต้นทุนที่โรงพยาบาลซื้อมา 86 เซนต์) รวมทั้งค่าจัดการอีก 127 ดอลลาร์ โดยยอดสุทธิแล้วผู้ป่วยชาวนิวยอร์กคนนั้นต้องจ่ายราว 546 ดอลลาร์ สำหรับการให้น้ำเกลือ 6 ถุง หลังจากเธอได้เข้าแอดมิดที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเดียวกันกับที่เธอเข้ารับรักษาตัวนั้นมีต้นทุนการซื้อซาลีนโซลูชั่น 6 ลิตรในราคาแค่ 5.16 ดอลลาร์ ซึ่งทางนีน่า เบอร์นสไตน์ แห่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์เผยว่า ชาวอเมริกันต่างรู้สึกมึนงงกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของอเมริกาที่สูงเกินจริง แต่เมื่อดูราคาที่ดูถูกจนต้องน่าขนลุกของถุงน้ำเกลือที่คนไข้ในนิวยอร์กต้องจ่ายแล้ว มันมีอะไรที่มากกว่านั้นซ่อนอยู่ภายใต้ป้ายราคานั้น
       
       จากการสอบถามไปที่โรงพยาบาลเกิดเหตุ ทางตัวแทนของโรงพยาบลไวท์เพลนส์อ้างถึง ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตของโรงงาน ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผลิตภัณฑ์ แต่กระทบต่อการให้บริการและกระบวนการ เช่น กระบวนการจัดซื้อ กระบวนการจัดเก็บ ซึ่งจะไม่รวมอยู่ในค่าธรรมเนียม 127 ดอลลาร์ ที่เป็นแค่ค่าจัดการถุงIV และ 893 ดอลลาร์ สำหรับการให้บริการห้องฉุกเฉิน
       
       บิลมหาโหดค่าใช้จ่ายห้องฉุกเฉินที่ลงในนิวยอร์กไทม์นี้เป็นเรื่องปกติสำหรับค่าใช้จ่ายการแพทย์ที่แพงเกินจริงในดินแดนเทพีเสรีภาพแห่งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข่าวรายงานถึงชายชาวอเมริกันที่ยอมบินไปกลับเบลเยียมเพียงเพื่อเปลี่ยนสะโพกด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดราว 13,666 ดอลลาร์ เทียบไม่ได้เลยกับตัวเลขค่าใช้จ่าย 80,000 ดอลลาร์ หากชายผู้นี้เลือกที่จะทำการรักษาในอเมริกา คริส เฮย์ ผู้ดำเนินรายการ “ออล-อิน” แห่งสถานีทีวีเน็ตเวิร์ก MSNBC ให้ความเห็นว่า ดังนั้นการที่ชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายโอบามาแคร์หรือประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ บารัค โอบามา เพราะกลัวลัทธิสังคมนิยม หรือถูกรัฐบาลเข้าครอบงำ ควรต้องจำเรื่องราคาถุงน้ำเกลือไว้ให้ดี
       
       ราคาที่เปลี่ยนแปลง
       
       ทางด้าน เบอร์นสไตน์ เผยต่อไปว่า การที่ราคาซาลีนโซลูชันขนาด 1 ลิตรมีราคาสูงถึง 91 ดอลลาร์ นี้เป็นการสมคบกันระหว่าง 1.บริษัทยา 2.กลุ่มบริษัทคนกลางในการจัดซื้อ และ 3.บริษัทประกันสุขภาพ ที่ทำให้บิลค่ารักษาคนไข้นั้นดูคลุมเครือจนแยกไม่ออกว่า แท้ที่จริงแล้วว่าราคาของยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายจริงนั้นเท่าไหร่ “คนรู้สึกตกใจที่รู้ต้นทุนของถุงน้ำเกลือในโรงพยาบาลราคาแค่เสี้ยวหนึ่งของราคากาแฟสตาร์บัคในตอนเช้าเสียอีก” เด็บบอราห์ สปาค โฆษกจากบริษัทยา Baxter International ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของบริษัทยาชั้นนำของโลกที่ผลิตถุงน้ำเกลือป้อนให้เกือบทั้งหมดของตลาดภายในสหรัฐฯ
       
       ในถุงน้ำเกลือที่จำหน่ายในสหรัฐฯนั้นประกอบไปด้วย เกลือป่นทั่วไป 9 กรัม หรือน้อยกว่า 2 ช้อนชา และน้ำบริสุทธิ์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯกำหนดไว้ ซึ่งเฮย์กล่าวผ่าน MSNBC ว่าสามารถซื้อถุง IV ในร้านขายของในย่านแมนฮัตตันได้ในราคา 5.99 ดอลลาร์ หรือถ้าไม่ต้องการที่จะต้องเดินทางออกไปซื้อเองนั้น ทำได้ง่ายโดยซื้อเกลือป่นละเอียดที่ขายตามร้านทั่วไป เช่นเกลือป่นมอร์ตันกระป๋องละ 1.45 ดอลลาร์ และ น้ำแร่ราคา 1.29 ดอลลาร์ ซึ่งจากรายงานล่าสุด ราคาซาลีน 1 ลิตรที่กำหนดไว้ขึ้นจาก 44 เซนต์ในปี 2010 เป็น 1.07 ในปีนี้
       
       คนกลางธุรการจัดหา
       
       และนิวยอร์ไทม์ยังรายงานต่อไปว่า มีโรงพยาบาลในสหรัฐฯน้อยรายที่จัดการซื้อ “ซาลีนโซลูชัน” ส่วนใหญ่ใช้บริการจากกลุ่มคนกลางขนาดยักษที่ดำเนินธุรกิจในเรื่องธุรการจัดหามีความเชี่ยวชาญในการต่อรองการซื้อขายสินค้าที่เป็นล็อตใหญ่ และทางโรงพยาบาลยังใช้บริการจากบริษัทกระจายสินค้าที่พร้อมดำเนินการจัดส่งให้กับโรงพยาบาลอีกทอดนึง
       
       จากรายงานพบว่า 3 บริษัทจัดซื้อลำดับต้นๆของสหรัฐฯมีสัญญาอยู่ในมือมากกว่าครึ่งของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทุกยี่ห้อที่จัดจำหน่ายอยู่ในสหรัฐฯ รวมถึงถุงน้ำเกลือที่ใช้ในเคสโรคอาหารเป็นพิษระบาดทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์กทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก ซึ่งมีผู้ป่วยมากกว่า 100 ราย และถูกชาร์จราคามากกว่า “200 เท่า” ซึ่งถุงน้ำเกลือพวกนั้นถูกกระจายโดยบริษัทกระจายสินค้าในสหรัฐฯ
       
       ถึงแม้ว่าระบบนี้จะช่วยให้โรงพยาบาลในสหรัฐฯประหยัดไปได้หลายพันล้านดอลลาร์จากการสั่งซื้อในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์ต่างกล่าวว่าบริษัทกลางที่จัดการซื้อขายนั้นไม่เพียงแต่เอาส่วนต่าง แต่ยังมีเจตนาที่จะทำให้ราคายาและอุปกรณ์ทางแพทย์คงราคาสูงไว้ และควบคุมให้มีการแข่งขันด้านการซื้อขายให้น้อยที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะผูกสัญญาทำข้อตกลงกับบริษัทยาที่ให้ประโยชน์มากเป็นพิเศษ ซึ่งบริษัทยาพวกนี้มักขายเป็นแบบแพคเก็จที่ขายยาราคาแพงพร้อมกับยาพื้นฐาน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 สิงหาคม 2556