ผู้เขียน หัวข้อ: ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ-วิพากษ์-ตอนที่ 2 (พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา)  (อ่าน 1667 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 2 ชื่อร่างพระราชบัญญัติ และมาตรา 1-3

    ชื่อร่างพระราชบัญญัตินี้แสดงว่า ผู้ที่ไปรับบริการสาธารณสุข ต้อง “เกิดความเสียหาย” ขึ้นภายหลังจากไปรับบริการสาธารณสุขจากสถานพยาบาล โดยมาตรา 3 กำหนดความหมายของสถานพยาบาลว่า หมายถึงสถานพยาบาลทุกแห่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะสังกัดหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน และยังมีสถานพยาบาลที่คณะกรรมการตามพ.ร.บ.นี้จะกำหนดภายหลังอีกก็ได้

     วิพากษ์ โรงพยาบาลหรือคลินิกต่างๆทั่วประเทศ ไม่ว่าจะสังกัดสภากาชาด ตำรวจ กลาโหม มหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้านขายยา ร้านหมอนวดแผนไทย(ที่มีผู้ประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทย) รวมทั้งสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  ร้านวัดสายตา ที่มีนักทัศนมาตรศาสตร์ประจำ สถานพยาบาลที่ตั้งในกระทรวงสาธารณสุข ต่างก็ต้องถูกบังคับให้ต้องทำงานภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัตินี้

      และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ออกไป "ให้บริการสาธารณสุข" เพราะจะต้องมี "ผู้รับบริการสาธารณสุข"
และได้ให้คำจำกัดความของ “บริการสาธารณสุข” หมายความถึงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการบริการโดยบุคลากรประเภทใด ได้แก่ แพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ทันตแพทย์ กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์  เภสัชกร และผู้มีใบประกอบโรคศิลปะทุกชนิด  ซึ่งหมายรวมถึงผู้ประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนจีน แผนไทยประยุกต์ ไคโรแพรคติค ฝังเข็ม ทัศนมาตรศาสตร์  การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกอื่นๆ รวมถึงหมออนามัยด้วย
ซึ่งในตอนนี้ส่วนมากของ ผู้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัตินี้ อาจจะยังไม่รู้ตัว ว่าตนเองและ “สถานพยาบาล” ที่ตนทำงานอยู่นั้น จะต้องมีภาระผูกพันทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ถ้าร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... สามารถตราออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับได้

     ในส่วนกองทุนนั้นก็แปลกไปจากพ.ร.บ.อื่นๆ ที่มีชื่อกองทุนเป็น “กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข” ไม่ใช่ “กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ตามชื่อพระราชบัญญัติ และชื่อคณะกรรมการก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็น “คณะกรรมการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ตามชื่อพระราชบัญญัติ แต่เปลี่ยนไปเป็น “คณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข” โดยมีสำนักงานเป็น “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ”

    แสดงว่า ผู้ที่อยากจะรับผิดชอบการทำงานตามพระราชบัญญัตินี้ก็คือ ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขนั่นเอง ยิ่งไปอ่านมาตรา 4 ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ก็ยิ่งมองเห็นว่า รัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข มิได้เอาใจใส่ทำงานในหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกัน ควบคุม หรือดูแลแก้ไข ในการไม่ให้เกิด “ความเสียหายต่อประชาชน” ที่ไปรับบริการสาธารณสุขเลย ปล่อยให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนแล้วจะมาออกกฎหมายใหม่ เพื่อไป “ช่วยเหลือ” ผู้เสียหายทีหลัง

    ทั้งๆที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ในการบริหารจัดการให้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขทุกประเภท ทุกแห่ง ให้มีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยแก่ประชาชน
และยังมีหน้าที่โดยตรง ในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสถานพยาบาลภาครัฐอื่นๆ
และควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสถานพยาบาลเอกชนทุกชนิด ทุกแห่ง ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสถานพยาบาลอยู่แล้ว
ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยและไม่ได้รับความเสียหายจากการไปรับ “บริการสาธารณสุข”
แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่แล้ว ปล่อยให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนก่อน แล้วจึงจะมาออกพระราชบัญญัติใหม่ เพื่อมาคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

    ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐานของสถานพยาบาลต่างๆ และกำกับการทำงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 อยู่แล้ว  แต่คณะกรรมการจ่ายเงินตามมาตรา 41 น้อยเกินไป จนประชาชนร้องเรียนว่า ไม่ได้รับการช่วยเหลือให้พอเพียงที่จะครองชีพได้ แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธารกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะไปกำชับให้คณะกรรมการจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่รัฐมนตรีฯก็ไม่ทำ แต่มาผลักดันให้มีการนำพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเข้าสภาฯโดยเร็ว

    จึงน่าสงสัยในประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และน่าสงสัยว่าอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน จากการมีพระราชบัญญัติใหม่และกองทุนใหม่หรือไม่