ผู้เขียน หัวข้อ: ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ-วิพากษ์-ตอนที่ 1 (พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา)  (อ่าน 1848 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 1 เหตุผลในการต้องมีพ.ร.บ.

(เกี่ยวกับ) มาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขไทย
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
(สผพท.)   

   รัฐบาลโดยนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความพยายามที่จะนำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของบุคลากรสาธารณสุขมากกว่า 100,000 คน ที่ได้รับรู้เนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ฉบับรัฐบาลแล้ว ว่าไม่สมควรนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร เพราะในปัจจุบัน ได้มีการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545  และสมควรไปแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ครอบคลุมการรักษาและการคุ้มครองความเสียหายให้เหมือนกันทุกคน

   แต่ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรี ไม่ยอมรับฟังบุคลากรทางการแพทย์ เพราะนายกรัฐมนตรีเองคงไม่ได้ใส่ใจที่จะทำความเข้าใจว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ของรัฐบาลเอง จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนและระบบบริการสาธารณสุขของประเทศชาติอย่างไรบ้าง

   ในร่างพ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาล ได้อ้างเหตุผลในการที่จะต้องมีการตราพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฉบับนี้ว่า จะชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว  ส่งเสริมให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายจากบริการสาธารณสุข และยังจะกำหนดให้ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการลงโทษหรือไม่ลงโทษผู้ให้บริการ สาธารณสุขในกรณีที่ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาทด้วย

    ผู้เขียนขอวิเคราะห์ และวิจารณ์เหตุผลในการจะเสนอกฎหมายของรัฐบาลดังนี้

1.   ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
 วิจารณ์ ข้อนี้รัฐบาลทำได้โดยวิธีอื่นที่ไม่มีกฎหมายนี้หรือไม่? คำตอบก็คือรัฐบาลย่อมทำได้อย่างแน่นอน โดยการแก้ไขมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ให้ครอบคลุมประชาชนทั้ง 65 ล้านคน
 และไปบังคับให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานว่า ประชาชนเขาเรียกร้องว่าเงินที่จ่ายตามมาตรา 41 นั้นมีจำนวนน้อยเกินไป ประชาชนที่เสียหายเขาได้เงินไม่พอใช้ ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายเงินให้ประชาชนที่เสียหายให้พอเพียงกับการครองชีพหน่อย ในเมื่อเงินตามมาตรา 41 ก็ยังมีเหลืออยู่อีกมากมาย

2.   ต้องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข
วิจารณ์  รัฐบาลต้องการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุข
 ขออธิบายว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการสาธารณสุขนั้นยังดีอยู่ และไม่มีข้อพิพาทใดๆเกิดขึ้นระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการสาธารณสุขส่วนมาก 
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ให้บริการสาธารณสุขคือบุคลากรทางการแพทย์นั้น ส่วนใหญ่แล้วตั้งใจทำงานในหน้าที่ของตนเองอย่างสุดวามสามารถ ทั้งนี้โดยวิชาชีพทางการแพทย์นั้น ได้รับการปลูกฝังจากครูบาอาจารย์ ให้มีวิชาความรู้คู่คุณธรรมความเมตตากรุณา ปรารถนาจะทำงานของตนในการดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยทุกคน ให้มีความปลอดภัยจากความเจ็บป่วย และมีชีวิตรอดพ้นจากโรคาพยาธิ มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีใครอยากถูกร้องเรียนกล่าวหาว่า ทำงานไม่ดีจนผู้ป่วยได้รับความเสียหาย

     ในส่วนของผู้มารับบริการสาธารณสุขนั้น ที่ต้องมาพบแพทย์ก็เพราะมีความทุกข์ คือเจ็บป่วย ต้องการมาให้แพทย์พยาบาล ช่วยดูแลรักษาให้หายเจ็บป่วยและมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น ฟื้นไข้ หายเจ็บป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าประชาชนหายจากอาการเจ็บป่วย ประชาชนเหล่านี้ก็ไม่มี “การพิพาทกับแพทย์” อย่างแน่นอน

      แต่ในการรักษาความเจ็บป่วยนี้ อาจจะไม่ได้รับผลสำเร็จในทางที่ทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นทุกราย  ทั้งนี้ความไม่สำเร็จหรือที่เรียกว่า “ความเสียหาย” ต่อสุขภาพของผู้ป่วยนั้น อาจเกิดได้จาก “ความผิดพลาด”ของแพทย์หรือระบบริการสาธารณสุข หรือเกิดอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ใช่ความผิดพลาดของใคร
 ความเสียหายที่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของแพทย์ หรือระบบบริการสาธารณสุขนั้น  เกิดจาก “ร่างกายหรือสังขาร” ของผู้ป่วยเอง ที่อาจป่วยหนักจนอยู่เหนือความสามารถของมนุษย์ปุถุชนเช่นแพทย์ ที่จะไปหยุดยั้งไว้ได้

    หรือเกิดจากสารเคมีในตัวผู้ป่วยเอง ที่ทำปฏิกิริยากับ “ยา” ที่กินหรือฉีดเข้าไป ทำให้ผู้ป่วยแพ้ยา ซึ่งการแพ้ยานี้อาจรุนแรงถึงตายหรือพิการเช่นตาบอดได้

     หรือเกิดจากโรคแทรกซ้อน โรคที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวผู้ป่วย ที่ยังไม่แสดงอาการตั้งแต่ทีแรก แต่มาแสดงอาการหลังจากเริ่มรักษาไปแล้ว และซ้ำเติมอาการของผู้ป่วยให้ทรุดหนัก จนไม่อาจจะเยียวยาให้ดีขึ้นดังเดิมได้ ทั้งๆที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์นั้น ได้ให้การดูแลรักษาตามมาตรฐานแล้ว

    ในกรณีเช่นนี้ ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยเอง ก็คงมีความผิดหวังและคงอยากให้แพทย์อธิบายหรือขอโทษ หรือชดเชยความเสียหาย แต่ในเมื่อแพทย์ได้ให้การรักษาที่ดีตามมาตรฐานแล้ว จะให้แพทย์ “ขอโทษ” ในสิ่งที่ไม่ได้ทำผิดนั้น แพทย์ส่วนมากคงไม่กล้าเอ่ยคำว่า ขอโทษ เพราะการกล่าวคำว่าขอโทษอาจจะทำให้ผู้ป่วยหรือญาติเข้าใจผิดว่าแพทย์ได้ กระทำความผิดจนทำให้ผู้อื่นเสียหาย

    แพทย์อาจแสดงความเสียใจได้ แต่ถ้าแพทย์กล่าวคำขอโทษในกรณีที่ไม่ได้ทำผิดเช่นนี้ จะทำให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจ(ผิด)ว่าแพทย์ได้ทำการรักษาผิดพลาด ฉะนั้นเมื่อเกิดความเสียหายต่อผู้ป่วย และแพทย์แน่ใจว่าได้ทำการรักษาตามมาตรฐานแล้ว แพทย์จึงไม่กล้าที่จะกล่าวคำขอโทษ ซึ่งญาติ/ผู้ป่วยอาจจะพูดเสมอว่า หมอไม่เคยเอ่ยคำว่าขอโทษ ก็อยากจะถามประชาชนไทยว่า ควรจะใช้คำขอโทษเมื่อรู้ตัวว่าเราเป็นผู้ทำผิดเท่านั้น หรือใช้ได้ในทุกกรณี ขอความเข้าใจตรงนี้ด้วย
เช่นในกรณีนางดอกรัก ที่แพ้ยาจนตาบอด กรณีนี้ไม่ใช่ความผิดของแพทย์ มันเกิดขึ้นเพราะ “สังขารหรือร่างกาย”ของผู้ป่วยมีปฏิกิริยารุนแรงต่อยาจนมีการตาบอด

    แต่ในกรณีนี้ แพทย์ทั้งหลายก็ตกเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว เพราะผู้ป่วยน่าสงสาร และควรได้รับความช่วยเหลือ
  ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ในต่างประเทศ เขามีวิธีการให้ความช่วยเหลือ เรียกว่า “No Fault Compensation”ซึ่งแปลว่า การชดเชย(ความเสียหาย)โดยปราศจากความผิด ซึ่งผู้เขียนพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... และผู้สนับสนุนพ.ร.บ.นี้ไม่ว่าจะเป็นหมอบางกลุ่มหรือประชาชนเอง เข้าใจผิดว่า “No Fault Compensation” แปลว่า “ไม่ต้องพิสูจน์ถูก/ผิด. ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์

   ในประเทศไทยท่านอ.นพพร โพธิรังสิยากร ผู้พิพากษาศาลฎีกาได้บรรยายที่รพ.พระนั่งเกล้าว่า ประเทศไทยก็จำหลัก No Fault Compensation เอามาใช้บ้างในมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่มีมาตรา 42 มากำกับว่าให้ไปไล่เบี้ยเอากับผู้ทำผิดได้ จึงทำให้คนไทยลืมไปว่า ในการไปรับการรักษาจากแพทย์นั้นอาจเกิดความเสียหาย “โดยที่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ทำอะไรผิดเลยก็มี”

    ในส่วนความเสียหาย ที่เกิดจาก “ความผิดพลาด” ของแพทย์หรือบุคลากรทางแพทย์นั้น อาจารย์นพพร ได้กล่าวว่าแพทยสภาและคำประกาศสิทธิผู้ป่วยได้กำหนดไว้ว่า แพทย์จะต้องประกอบวิชาชีพเวชกรรมในมาตรฐานที่ดีที่สุด และผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในมาตรฐานที่ดีที่สุด
ซึ่ง การกำหนดเช่นนี้ทำให้ประชาชนและศาลเข้าใจว่า ถ้าแพทย์ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานที่ดีที่สุดแล้ว ต้องถือว่าเป็นความผิดของแพทย์ เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงฟ้องแพทย์และผู้พิพากษาจึงลงโทษจำคุกแพทย์ เพราะเข้าใจว่าเป็นแพทย์ทั่วไปแล้วไปทำบล็อกหลังและมีอาการแทรกซ้อนจนผู้ ป่วยตายนั้นมีสาเหตุมาจากแพทย์ไม่ได้ทำตามมาตรฐานที่ดีที่สุด เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิสัญญี (การระงับความรู้สึก)

    การตัดสินของศาลครั้งนั้นจึงทำให้แพทย์ทั่วไปที่ไม่ใช่วิสัญญี แพทย์ไม่กล้าดมยาสลบหรือบล็อกหลังผู้ป่วยอีกเลย เพราะกลัวว่าถ้าเกิดอาการแทรกซ้อนแล้วจะถูกตัดสินจำคุก

    และแพทย์ทั้งหลายนั้น มีความตั้งใจดีที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วย แต่ต้องสี่ยงในการสูญเสียอิสรภาพ เพราะอาจถูกศาลตัดสินจำคุกได้ง่ายๆเหมือนกับเป็นอาชญากรชั่วร้าย เนื่องจากเหตุผลในวรรคสุดท้ายของร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสวาธารณสุขพ.ศ..... นั้น ได้เขียนลงไปว่า กำหนดให้ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการลงโทษหรือไม่ลงโทษผู้ให้บริการสาธารณสุข ในกรณีที่ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาข้อหากระทำการโดยประมาทด้วย
 
   อาจารย์นพพร ได้ชี้แจงว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการฟ้องหมอมากที่สุดในโลกนั้น หมอไม่กลัวการฟ้องร้องเลย เพราะเขาถือว่า เขาได้รักษาผู้ป่วยโดย “ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน” แม้ในยุโรปก็เช่นเดียวกัน  และเขาลงโทษเฉพาะทางแพ่งเท่านั้น ไม่ลงโทษทางอาญาในกรณีที่แพทย์ “ไม่มีเจตนาร้าย”

    และอาจารย์นพพร ยังบอกอีกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้พิจารณาคดีผ่าไส้ติ่งที่ร่อนพิบูลย์โดยยึดหลัก “การรักษาที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน” จึงได้ยกฟ้อง เพราะแพทย์ไม่ได้ทำการบล็อกหลัง” ต่ำกว่ามาตรฐาน” และในประเทศไทยเรานี้ ประชาชนทุกคนก็คงเข้าใจเหมือนๆกับที่อาจารย์นพพรเข้าใจว่า มาตรฐานทางการแพทย์ไทยก็ไม่ได้ “ดีที่สุด” เท่าๆกันทั่วประเทศ และก็ไม่ “ดีที่สุด” เทียบเท่าสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป และอาจารย์ยังได้กล่าวว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยทุกชนิดของแพทย์ เป็นการ “ละเมิด” ผู้ป่วยทั้งสิ้น แต่ศาลจะไม่ถือว่า การละเมิดนี้เป็นการผิดกฎหมาย เนื่องจากผู้ป่วยเอง ได้ยินยอมให้แพทย์ทำการรักษา แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการ “ละเมิด”  ศาลจะถือว่าเป็นความผิดก็ต่อเมื่อแพทย์ทำการรักษา “ โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง”เท่านั้น

  และการตัดสินว่า “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” หรือไม่ ก็คือ การตัดสินว่า “ไม่ได้ทำตามมาตรฐาน”เท่านั้น และท่านผู้พิพากษาได้ย้ำว่า แพทย์ต้อง “อธิบาย” ให้ผู้ป่วยฟังจนเข้าใจและจำได้ ว่าแพทย์จะรักษาผู้ป่วยอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วย “ยินยอม” ที่หมอจะทำการรักษาแบบนั้นๆ  แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบันของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ที่มี “ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล” นั้น แพทย์จะสามารถทำให้ “ผู้ป่วยเข้าใจและจำได้” หรือไม่ว่า แพทย์ได้อธิบายว่าอย่างไร ?
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมี “ความเสียหาย” เกิดขึ้น ผู้ป่วยและญาติก็คงเพ่งโทษไปที่ “หมอ” ก่อนคนอื่น โดย “ลืม”สิ่ง ที่หมอได้อธิบายไปแล้ว

      จึงเกิดการกล่าวหาว่า “เป็นความผิดของแพทย์” เสมอไม่ว่าความเสียหายจะเกิดจากอะไร และแพทย์ก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมทันที ซึ่งในกรณีเช่นนี้ จะถือว่าแพทย์มีข้อพิพาทกับผู้ป่วย/ญาติไม่ได้
แต่แพทย์ต้องตกเป็นจำเลย และผู้ป่วย/ญาติเป็นผู้กล่าวหาแพทย์ แพทย์จึงต้องการที่จะชี้แจงความจริง แต่ก็จะถูกประชาชนกล่าวหาซ้ำอีกว่า “แก้ตัว”

    ฉะนั้นกลุ่มแพทย์จึงรับไม่ได้กับการอ้าง “หลักเหตุผล” ในการต้องตราพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ..... เนื่องจากจะทำให้แพทย์ “ถูกกล่าวหา” มากขึ้น เพราะประชาชนคงหวังที่จะได้เงินชดเชยง่ายๆ ในขณะที่แพทย์ต้องปฏิบัติงานบนความเสี่ยง โดยที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุจ ไม่เคยคิดแก้ไขในการปรับปรุงระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้มีมาตรฐาน ทำให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายในการไปรับบริการและแพทย์เสี่ยงต่อการ “ตกเป็นจำเลย
บริการของกระทรวงสาธารณสุข ขาดทั้งงบประมาณ ขาดการพัฒนา ขาดยาและเครื่องมือ และสำคัญที่สุดคือขาดบุคลากรในการรับภาระงาน  จนทำให้แพทย์มีความเสี่ยงต่อการทำงานรักษาผู้ป่วยที่ “ต่ำกว่า” มาตรฐาน   

    แต่รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ และยังไม่เห็นประกาศนโยบายว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เห็นแต่จะมาหาเสียงกับประชาชนว่า จะเร่งผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสวาธารณสุขพ.ศ.....เพื่อชดเชยความเสียหาย แต่ไม่เห็นท่านจะ “ป้องกัน” ความเสียหายโดยการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ให้มีคนทำงาน มีเงิน มีอาคารสถานที่เพียงพอแต่อย่างใดไม่ลดความเสี่ยงต่อ "ความเสียหาย" รอให้เกิด "ความเสียหาย" แล้วจึงจะช่วยเหลือ
 
 แต่ก็ช่วยเฉพาะ "ผู้ไปรับบริการ"
 
 แต่ไม่ป้องกัน "ผู้ให้บริการ" ให้ได้ทำงาน "ตามมาตรฐาน" แต่อย่างใด