ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องเล่าของหมอผ่าตัดสมองบ้านนอก-โอกาสเข้าถึงการรักษาของคน๓จังหวัดชายแดนภาคใต้  (อ่าน 1003 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
เสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวชีวิตคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากเรื่องเล่าของหมอผ่าตัดสมอง คนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ต้องรับมือกับแรงกดดันภายใต้สภาวะความไม่สงบ ความขาดแคลนอุปกรณ์และทีมงานทางการแพทย์

ส่งผลให้ “โอกาส” ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเยียวยาชีวิตให้กลับสู่สภาพปรกติ กลับกลายเป็นสิ่งลำบากยากเข็ญ ในขณะที่ สส. และ สว. มีพร้อมทั้งนาฬิกาดิจิตอลเรือนละ 75,000 บาท เพื่อแจ้งบอกเวลาให้มาประชุมโดยพร้อมเพรียง และไอแพดเพื่อนั่งดูภาพโป๊ขณะที่ประชุมสภา สภาพดังกล่าวนั้นต่างกันลิบลับกับสภาพหมอ พยาบาล และทีมงานในโรงพยาบาล ที่ทำงานหนักท่ามกลางความเสี่ยง แต่กลับต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ช่วยชีวิตคนไข้อย่างอัตคัดขัดสน

แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช ประสาทศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัดสมอง) โรงพยาบาลยะลา
เล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของการเป็นหมอผ่าตัดสมองบ้านนอก และสภาพที่ดำเนินอยู่ท่ามกลางความด้อยโอกาสในการเข้ารับการรักษาของคนไข้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าฟังถึงชีวิตที่เริ่มจากการไปใช้ทุนที่จังหวัดยะลาในปี 2540 จากนั้นไปเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ด้านประสาทศัลยศาสตร์ จนเรียนจบปี 2545

“ไปเรียนโดยเอาทุนจากโรงพยาบาลยะลา ก็กลับมาอยู่โรงพยาบาลยะลา ช่วงนั้นเหตุการณ์ยังปกติอยู่ มีคนไข้ให้ผ่าตัดเยอะ เพราะยะลารับรีเฟอร์เคสจากปัตตานี นราธิราส และสงขลาบางส่วน จริงๆ ช่วงนั้นตั้งใจจะกลับมาเป็นอาจารย์ต่อที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะอาจารย์ชวนไว้ แต่คิดว่าจะไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลยะลาให้ครบ 3 ปีก่อน แล้วค่อยกลับมา”

แต่เหตุการณ์ไม่สงบเริ่มช่วงปี 2547 ช่วงนั้นก็ใช้ทุนครบ 3 ปี ก็คิดบวกลบแล้วว่าจะอยู่ต่อหรือจะมาคณะแพทย์รามาฯ ตอนนั้นก็ติดต่อทางรามาฯ เรียบร้อยแล้ว แต่สถานการณ์มีเคสคนไข้บาดเจ็บเยอะ ก็เลยคิดว่าถ้าเราออกมาเราก็ปลอดภัย แต่ถ้าเราออกมา คนไข้ที่บาดเจ็บและต้องรีเฟอร์ไปไกลขึ้น ต้องส่งไป มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ที่สงขลา มันไม่ทัน จากจุดนั้นก็เลยอยู่ที่โรงพยาบาลยะลาต่อมาถึง ณ ปัจจุบัน

ถามว่าเหตุการณ์ไม่สงบกลัวไหม ก็กลัวกันทุกคน เพียงแต่เราคิดไว้เสมอว่า บุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ยังไม่ใช่เป้าหมายของเขา ซึ่งเป้าหมายเขาจะมีกลุ่มทหาร ตำรวจ สังเกตจากเคสที่ถูกยิงก็เป็นทหาร ตำรวจ หรือไม่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง แต่ถ้าเป็นเคสที่โดนระเบิด สร้างสถานการณ์ อันนั้นจะเป็นชาวบ้าน ซึ่งระเบิดแปลว่าเราอย่าไปอยู่ที่ชุมชนคนเยอะ ไปไหนมาไหนก็มองซ้ายมองขวานิดหนึ่ง และมักจะมีชาวบ้านเกริ่นมาก่อนว่า ช่วง 2-3 วันนี้หมออย่าไปแถวนั้นนะ จะมีระเบิด ซึ่งจะจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เชื่อไว้ก่อน เพราะว่ามักจะจริง ถ้าไม่ตรงวันที่เขาบอกในสัปดาห์นั้น ก็จะมีสักวัน

ปัญหาที่ประสบอยู่ในโรงพยาบาลคือบุคคลากร โดยเฉพาะหมอประสาทศัลยศาสตร์หรือหมอผ่าตัดสมอง ถ้าดูจำนวนทั้งประเทศอาจจะไม่ขาดแคลนมากนัก แต่หมอผ่าตัดสมองส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนกลางครึ่งต่อครึ่งจากทั้งหมด ทำให้ต่างจังหวัดขาดแคลน บวกกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหตุการณ์ไม่สงบ ความขาดแคลนยิ่งเยอะเข้าไปใหญ่ เราก็เห็นใจน้องๆ (หมอรุ่นใหม่ๆ) ที่ไปอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหมอผ่าตัดสมอง หรือหมอผ่าตัดอื่นๆ ก็ตาม พอแต่งงานมีครอบครัวก็เริ่มนึกถึงครอบครัว นึกถึงลูกว่าจะไปโรงเรียนอย่างไร ปลอดภัยไหม มีโรงเรียนที่มีคุณภาพสำหรับลูกไหม สุดท้าย 80-90% แต่งงานก็จะหาที่ย้ายออก

ขณะที่เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังขาดแคลนอยู่เยอะ ความทันสมัยสู้ในเมืองไม่ได้ ต้องใช้แบบกระเบียดกระเสียร ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ผ่าตัดสมอง อาทิ ตัวเจาะกะโหลก ลองนึกถึงสว่านที่ใช้เจาะไม้ ก็จะมีสว่านที่ใช้เจาะกะโหลก ตัวใบมีด เมืองนอกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ของเราใช้แล้วเอาไปนึ่ง และใช้จนกว่าใบมีดไม่คมแล้วจึงจะทิ้ง

เครื่องสว่าน ตามหลักการทำความสะอาด เมื่อใช้แล้วต้องอบแก๊ส ใช้เวลา 8 ชั่วโมง ดังนั้นเราต้องมีเครื่องนี้อย่างน้อย 3 เครื่อง ถึงจะใช้ได้ 24 ชั่วโมง แต่เนื่องจากจำนวนการผ่าตัดมีมากกว่า 3 เคสต่อวัน ขณะที่จำนวนเครื่องที่โรงพยาบาลยะลามีแค่ 2 เครื่อง เราต้องใช้วิธีเอาไปนึ่งไอน้ำ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ดังนั้น อายุการใช้งานของเครื่องมือจะสั้นลง และงบประมาณที่ได้มา เราขอไปปีนี้ พอปีถัดไปเราขอใหม่จะถูกติงว่าเพิ่งขอไป ทำไมขออีก ก็ต้องบอกว่าเครื่องเก่ามันเสีย เพราะเราใช้งานมันเยอะมากกว่าความทนทานของเครื่อง ใช้จนใบมีดไม่คมแล้วค่อยทิ้ง

ไทยพับลิก้า : ไม่คมแล้วจะเจาะสมองได้ยังไง

คืออุปกรณ์ไม่พอ พอมันไม่คมเราจึงจะเปลี่ยนอันใหม่ เพราะตัวสว่าน ถ้าตามการเบิกจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีรหัสการเบิกค่าตัวสว่าน เพราะมันเหมารวมในค่าผ่าตัด เราต้องจำเป็นใช้ซ้ำ จนกว่าจะใช้ไม่ได้ ถึงค่อยเปลี่ยนอันใหม่

ไทยพับลิก้า : การใช้ซ้ำในแง่คุณภาพ ความปลอดภัยเป็นอย่างไร

ก็ต้องบอกว่า ต้องมีตรงกลาง สมมติสว่าน ถ้าใช้ 4-5 ครั้ง เริ่มจะไม่ดีแล้ว รีบเปลี่ยนก่อน ถ้าเราใช้เลยกว่านั้น มันอาจจะทะลุกะโหลกไปถึงสมองได้ ซึ่งอันตรายมาก ถ้าจะเอาตามมาตรฐานก็บอกว่าใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราก็ไม่ไหว เลยต้องเจอกันที่จุดตรงกลาง

ไทยพับลิก้า : ราคาแพงไหม

ตัวสว่าน ราคาตัวละ 4-5 พันบาทต่อชิ้น ใช้แล้วทิ้ง และตัวเครื่องเจาะกะโหลกเครื่องละกว่า 1 ล้านบาท ใช้ได้ประมาณ 2-3 ปี นอกจากนั้นจะเป็นอุปกรณ์อื่นๆ กล่าวคือ อุปกรณ์การแพทย์จะมี 2 อย่าง คือ อุปกรณ์สิ้นเปลือง เช่น สว่าน ใช้แล้วต้องทิ้ง และอุปกรณ์ที่ใช้ได้นานหน่อย อย่าง เครื่องเจาะ ตัวกล้องช่วยผ่าตัด เตียงผ่าตัด ก็มีอายุการใช้งาน โดยส่วนใหญ่ถ้ารองบประมาณจะไม่ค่อยพอ

ไทยพับลิก้า : ได้งบประมาณปีละเท่าไหร่

งบประมาณต้องจัดสรรรวมทั้งจังหวัด แล้วในจังหวัดพอมาแบ่งในโรงพยาบาล ก็ต้องจัดสรรกับแผนกอื่นๆ ทั้งหมดอีก ถ้าสามารถแยกแผนกประสาทศัลยศาสตร์ออกมาจากศัลยกรรม การจัดงบประมาณอาจจะง่ายกว่า เพราะจริงๆ แล้วหากดูจำนวนเคสของการผ่าตัดสมองอาจจะไม่เยอะเท่าการผ่าตัดทั่วไป แต่ความสิ้นเปลืองของอุปกรณ์จะมากกว่า เพราะเป็นการผ่าตัดที่ละเอียดกว่า อุปกรณ์ราคาแพงกว่า โดยเน้นสภาพของงาน

ไทยพับลิก้า: เฉพาะที่โรงพยาบาลยะลา มีผู้บาดเจ็บมากน้อยแค่ไหน

เคสผ่าตัดสมอง จะมีทั้งโรคที่ผ่าตัดสมอง เช่น โรคเนื้องอก ส่วนที่บาดเจ็บ จากที่เก็บข้อมูลมีประมาณ 12,000 รายต่อปี จำนวนผู้บาดเจ็บจะเพิ่มขึ้นทุกปี และในจำนวนนี้เป็นเคสผ่าตัดสมองประมาณ 15-20% ของ 12,000 ราย แต่ถ้าไปดูข้อมูลที่เรียกว่าความสิ้นเปลืองหรือยูนิตคอสต์ (unit cost) ในการรักษา การผ่าตัดสมองหนึ่งคนเทียบกับผ่าตัดทั่วไปประมาณ 10 คน หรือ 20 คน เพราะฉะนั้น จำนวนน้อยกว่าก็จริง แต่งบประมาณในการใช้ไม่ต่างกันสักเท่าไหร่

ไทยพับลิก้า : แล้วมีหมอผ่าตัดสมองกี่คน

ที่ยะลามี 4 คน คือที่รับราชการ 2 คน ส่วนหมออีก 2 คน โรงพยาบาลต้องใช้วิธีจ้างพิเศษแบบเอกชน เพราะ 2 คนที่มีอยู่ไม่เพียงพอ วิธีการให้หมอมาอยู่ได้ต้องให้แรงจูงใจคือให้เงินเดือนสูงๆ 180,000 บาท/เดือน โรงพยาบาลใช้วิธีนี้มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว การแก้ปัญหาแบบนี้ถือว่าดี ที่มีหมอมาช่วย แต่เขาช่วยได้สัก 1 ปี หรือ 2 ปี เขาได้ผ่าตัด (ฝึกประสบการณ์) และได้เงินประมาณหนึ่ง เขาก็ขอย้ายออก เพราะสถานการณ์ไม่สงบ เขามีลูกเขาก็ไป ถึงแม้เงินเดือน 180,000 บาท หรือบวกค่าผ่าตัดนอกเวลาแล้วประมาณ 200,000 บาทต่อเดือน ก็เอาไว้ไม่อยู่ ก็ไปอยู่ดี

ไทยพับลิก้า : คิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

คือถ้ามองเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากจะดึงงบประมาณมาทั้งหมด หมอก็ยังคิดว่าอาจจะเห็นแก่ตัวเกินไป ใจคิดว่าในส่วนของประสาทศัลยแพทย์หรือหมอผ่าตัดสมองทั้งระบบ ทั้งประเทศ พัฒนาไปด้วยกัน เพราะเรารู้แล้วว่า อันดับแรก หมอผ่าตัดสมองขาด ทำอย่างไรให้เพิ่มจำนวนหมอผ่าตัดสมอง แล้วดึงให้กลับมาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขให้ได้ รักษาเขาไว้ให้ได้ เพราะส่วนใหญ่พอจบออกมาสัก 2-3 ปี เขาผ่าตัดคล่องเขาก็ออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน อย่างผ่าตัดเลือดออกในสมอง โรงพยาบาลรัฐบาลได้ค่าผ่าตัด 2,400 บาทต่อคน แต่โรงพยาบาลเอกชนขั้นต่ำ 30,000 บาทต่อคน เท่ากับว่าการผ่าตัดในโรงพยาบาลรัฐบาล 10-15 คน เท่ากับผ่าตัดในโรงพยาบาลเอกชนคนเดียว ความเหนื่อยล้าก็ต่างกัน และต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นหลังอย่าง Gen Y หากไปถามเขา คงหายากที่จะเสียสละเพื่ออะไรก็ไม่รู้ ตอนนี้ทุกอาชีพเงินก็ต้องมาก่อน ต้องให้พอเหมาะกับค่าครองชีพและเรื่องภาระงาน ให้อยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่าเยอะเกินหรือน้อยเกิน

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาผลิตหมอผ่าตัดสมองไปอยู่เอกชนเป็นส่วนใหญ่

ใช่ หลังจากจบมาสักพัก เพราะยังมีความแตกต่างระหว่างรัฐบาลกับเอกชนเยอะ ทั้งความสบายของงาน และค่าตอบแทน (หมอผ่าตัดสมองประสบการณ์ 3-4 ปี โรงพยาบาลเอกชนอันดับต้นๆ จ้างเดือนละ 1 ล้านบาท)

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าการเข้าถึงของประชาชนส่วนใหญ่ในการผ่าตัดสมอง ในแง่โรงพยาบาลรัฐมันลำบากใช่ไหม นอกจากยอมไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน

ใช่ อาจจะเสียเปรียบ เพราะจำนวนโรงพยาบาลรัฐบาล หมอผ่าตัดสมองมีน้อย คนไข้ผ่าตัดต้องรอคิวนาน ถ้าเป็นเคสผ่าตัดที่ไม่ฉุกเฉินก็ไม่มีปัญหามาก แต่ถ้าหากฉุกเฉิน ต้องผ่าภายในครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมง เรารู้ว่าระยะเวลาการผ่าตัดสมองมีผลมากกับการรอดชีวิตของคนไข้ เช่น คนไข้มีอุบัติเหตุ เลือดออกในสมอง หากผ่าตัดได้ภายในครึ่งชั่วโมงแรก มีโอกาสกลับไปมีชีวิตทำงานปกติ แต่ถ้าเลยไปอีก 1-2 ชั่วโมง ก็อาจจะเป็นคนพิการ หรือถ้าผ่าช้าไปอีก 3 ชั่วโมง ก็อาจจะเสียชีวิตไปเลย ทั้งๆ ที่เป็นโรคเดียวกัน

เพราะฉะนั้น คิดว่าสำหรับเคสอุบัติเหตุก็ต้องมีประสาทศัลยแพทย์ให้พอที่จะผ่าตัดได้ทันที เพราะผลของการผ่าตัดมันจะต่างกันเยอะ และชีวิตคนทุกคนไม่ว่าอาชีพไหน สำคัญเท่ากันทุกคน

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณหมอยังต้องทำงานหนักตลอดเวลา

ใช่ เนื่องจากหมอเป็นฝ่ายตั้งรับ ไม่ใช่ฝ่ายที่จะไปป้องกัน ในแง่การรักษาคนไข้เรารักษาหมดทุกคน ทั้งคนกระทำและคนถูกกระทำ ทั้งชาวบ้าน ทั้งโจร หากยังอยู่ในภาวะไม่สงบก็ต้องเตรียมให้พร้อมทั้งเรื่องคน ประสาทศัลยแพทย์ พยาบาล สถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือ

ไทยพับลิก้า : หมอผ่าตัดสมองใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีกี่คน

ที่ยะลามี 4 คน สิ้นปีนี้ก็ย้ายออก ก็จะเหลือ 2 คน ที่นราธิวาสมี 1 คน ปัตตานีไม่มี และโรงพยาบาลยะลารับรวมของปัตตานีทั้งหมด นราธิวาสจะรับเป็นบางวันที่หมอนราธิวาสไม่ได้อยู่เวร เพราะหมอเขาอยู่คนเดียว การจะอยู่เวร 30 วัน คงไม่ไหว

ไทยพับลิก้า : คุณหมอต้องผ่าตัดทุกวัน

ผ่าทุกวันทั้ง 4 คน ทำงานในเวลาราชการก็ทำด้วยกันทั้งหมด นอกเวลาราชการ 30 วัน ก็หาร 4 ก็ตกประมาณคนละ 7-9 เวรต่อเดือน นั่นหมายความว่าเดือนหนึ่งก็อาจจะมี 7-8 วัน ที่เราอาจจะไม่ได้นอนทั้งคืน

ไทยพับลิก้า : เคยมีผ่าตัดต่อเนื่องไหม

เคย มีตั้งแต่เช้า กลางวัน จนเช้าอีกวัน มีอยู่บ่อยๆ ถ้าไปถามหมอผ่าตัดสมองที่อื่น ก็มีแบบหมออีกเยอะ

แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลยะลา

ไทยพับลิก้า : โอกาสเสี่ยงที่จะพลาดเยอะ เคยกลัวว่าจะถูกฟ้องบ้างไหม

ใช่ ก็ต้องยอมรับว่าความล้าก็มีบ้าง อย่างตี 3 ตี 4 ต้องผ่าตัดคนที่ 6 -7 ความเนียนในการผ่าตัด แม้กระทั่งทีมงานที่ช่วยผ่าตัด หรือหลังผ่าตัด อย่างพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดก็ล้า เพราะคนไข้หลังผ่าตัดใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นคนไข้หนัก ต้องอยู่ไอซียู และไอซียูที่โรงพยาบาลยะลามี 13 เตียง แต่คนไข้ที่หนักมีเกิน 13 คน ก็ต้องไปอยู่วอร์ดสามัญที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดชีพจร ไม่ดีเท่าห้องไอซียู และพยาบาลก็ล้า ก็จะสงสารคนไข้ที่ต้องไปอยู่วอร์ดสามัญทั้งๆ ที่ต้องอยู่ไอซียู

เคยนึกอยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าเกิดเป็นเรา ในวันใดวันหนึ่งต้องมานอนในตึกสามัญ ใช้เครื่องช่วยหายใจแบบนี้ แล้วพยาบาลก็ล้าแบบนี้ เราจะกล้าอยู่ไหม เราเป็นหมอเรายังไม่กล้าอยู่เลย แต่ ณ ปัจจุบัน ชาวบ้านต้องอยู่เพราะเขาไม่มีทางเลือก เขาไม่รู้ แต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด เท่าที่เราทำได้ ถ้าไอซียูว่างก็พยายามย้ายกลับเข้ามา เรารู้ว่าคุณภาพการดูแลนอกไอซียูสู้ในไอซียูไม่ได้ แต่เราก็ทำให้เขาไม่ได้

เป็นความไม่เท่าเทียมในสังคม ใครมาเร็วได้ก่อน เป็นความไม่เท่าเทียมที่เราไม่ตั้งใจ แต่ถ้ามีสถานที่พอ มีงบในการสร้างห้องไอซียูเพิ่มขึ้น ซื้ออุปกรณ์ได้มากขึ้น คุณภาพทั้งหมดเพื่อคนไข้กลับไปรอดชีวิตแบบที่ดีกว่า เราอยากให้ทุกคนที่ประสบเหตุ เป็นโรค สามารถกลับไปทำงานช่วยเหลือตัวเองได้ เราไม่อยากให้มีคนพิการ

เวลาเกิดเหตุใน 3 จังหวัดฯ จะมาโรงพยาบาลยะลา อาจจะมีบางกรณีที่ข้ามจากเกิดเหตุไป มอ. เลย เช่น คนไข้ที่ต้องถูกส่งโดยเฮลิคอปเตอร์ เพราะว่าถนนปิด รถไม่สามารถผ่านได้

ไทยพับลิก้า : ยะลาเป็นโรงพยาบาลจังหวัด มีกี่เตียง

เป็นโรงพยาบาลศูนย์ มีประมาณ 600 กว่าเตียง

ไทยพับลิก้า : พอไหม

ไม่พอ อย่างศัลยประสาทมี 24 เตียง แต่ยอดคนไข้ตกประมาณ 40 คน เพราะฉะนั้นจำนวนเตียงไม่พอ ต้องนอนเตียงเสริม นอนเตียงเสริมนอกตึก นอนตรงข้างบันได ถ้าเตียงไม่พอก็ต้องนอนเตียงผ้าใบ

ไทยพับลิก้า : เป็นคนไข้อาการหนัก

เราต้องเลือกคนที่ไม่หนักอยู่ข้างนอก คนที่หนักก็อยู่ข้างใน บางคนอยู่ข้างนอกอาการดี แต่ตอนหลังแย่ลงก็ต้องย้ายเข้าข้างใน เราต้องจัดทีมพยาบาลเพิ่มต่างหากหากมีคนไข้อยู่ข้างนอกตึก จำนวนอัตรากำลังพยาบาลก็ไม่เพียงพอ เราต้องการพยาบาล 8 ชั่วโมง เวรละ 6 คน หากจำนวนคนไข้มากขึ้น พยาบาลต้องเพิ่มเป็น 8-10 คน แต่บางครั้งก็ได้แค่ 8 คน พยาบาลหมดตึกแล้วไม่มีคนมาขึ้นเวร ก็ต้องเฉลี่ยกันไป

ไทยพับลิก้า : สภาพแบบนี้เป็นมานานแค่ไหน

มีเป็นช่วงๆ ช่วงไม่ยุ่งก็มี แต่โดยสภาพเฉลี่ยแล้วจะเยอะอย่างนี้ตลอด ถามว่างบประมาณมาไหม ก็มาเรื่อยๆ มีการพัฒนาเรื่อยๆ เพียงแต่ว่างบประมาณกับการพัฒนายังไม่ทันกับจำนวนคนไข้ ไม่ทันกับจำนวนโรค ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า : คนไข้ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุหรือโรคอื่นๆ

ส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุจราจร ความไม่สงบก็มีด้วยส่วนหนึ่ง ในช่วงที่มีระเบิด ถ้ามาเยอะ 20 คน 30 คน ก็จะไม่ทัน จะต้องตามทีมชุดใหญ่มา ที่โรงพยาบาลจะมีแผนรับมืออุบัติเหตุหมู่ ก็จะเปิดแผนตามที่วางไว้ ถ้าแผนใหญ่ตามหมอทุกคนมา ตามพยาบาลมาหมดทุกคน

ไทยพับลิก้า : เมื่อตอนต้นที่บอกว่าเตียงไอซียูมีแค่ 13 เตียง นี่ต้องการเพิ่มอีกกี่เตียงถึงจะเหมาะสม

โรงพยาบาลส่วนใหญ่ ห้องไอซียูจะใช้รวมกัน มีทั้งอายุรกรรม ศัลยกรรม เด็ก ของที่โรงพยาบาลยะลามีไอซียูเพิ่มขึ้นมาคือไอซียูอุบัติเหตุทุกประเภท ความตั้งใจเดิมจะรับคนไข้อุบัติเหตุทุกอย่าง รวมทั้งศัลยกรรมทั่วไป กระดูก สมอง แต่เท่าที่ผ่านมา ไอซียูทั่วไปมี 16 เตียง อุบัติเหตุมี 13 เตียง อัตราครองเตียงในไอซียูตอนนี้เรียกได้ว่าเต็ม 100% และไอซียูอุบัติเหตุ เคสส่วนใหญ่เป็นเคสผ่าตัดสมอง และถึงมี 13 เตียง ก็ไม่พอ จริงๆ แล้วพยาบาลคนที่ดูเคสในไอซียูผ่าตัดสมองกับไอซียูจากอุบัติเหตุก็ไม่เหมือนกัน ในความเห็นหมอ หากเรามีไอซียูเฉพาะสำหรับประสาทศัลยศาสตร์ ดูคนไข้ผ่าตัดสมองแยกออกมาจากศัลยกรรมอุบัติเหตุ น่าจะดีกว่ากันเยอะ เพราะการดูแลไม่เหมือนกัน จะได้คุณภาพด้วย

ไทยพับลิก้า : ต้องใช้เงินเยอะแค่ไหน

เครื่องมือก็แพง เครื่องช่วยหายใจอย่างน้อยๆ ราคา 1 ล้านบาทต่อเครื่อง เครื่องมอนิเตอร์ อาทิ เครื่องวัดความดันและเครื่องวัดชีพจรที่มีหน้าจอ ราคาก็ 5-6 แสนบาท เตียงก็ต้องเป็นไฟฟ้าที่ปรับได้เพราะคนไข้ไม่รู้สึกตัว พยาบาลไขเตียงไม่ไหวแล้ว คนไข้พลิกตัวเองไม่ได้ ต้องพลิกทุก 2 ชั่วโมง หรือต้องดูดเสมหะ ดังนั้น ราคาอุปกรณ์ต่อคนไข้หนึ่งเตียงประมาณ 2 ล้านบาท ถ้าไอซียูมี 10 เตียง ก็ 20 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าก่อสร้างอื่นๆ อันนี้คิดแบบถูกสุดๆ แล้ว

ไทยพับลิก้า : คุณหมอเคยท้อบ้างไหม

มีบ้าง แต่ยังได้กำลังจากคนไข้ เพราะหมอจะรู้สึกดีมากถ้าคนไข้มาผ่าตัดแล้วกลับบ้านได้ จะรู้สึกว่า ถ้าเราไม่อยู่ คนนี้จะต้องถูกส่งไปหาดใหญ่ คนไข้รอดเหมือนกัน แต่ด้วยการผ่าตัดที่ช้า เขาอาจจะพิการ แต่ที่นี่เขาได้ผ่าเลย เขาสามารถกลับไปทำงานเลี้ยงครอบครัวได้ต่อ สำหรับคนไข้หนึ่งคน ไม่พิการ กลับมารอดชีวิต หมอก็ดีใจแล้ว

ไทยพับลิก้า : สิ้นปีนี้มีหมอเหลือแค่ 2 คน

ใช่ น้องที่มาจากการจ้างแบบพิเศษ เขาบอกชัดเจนตั้งแต่แรกว่ามาเพราะที่นี่มีเคสเยอะ และเพราะเงินเดือน เราคุยกันแบบตรงไปตรงมา เพราะยินดีที่มีหมอมาช่วย เราดีใจ

มีคนถามว่าที่เราจ้างหมอแบบพิเศษเงินเดือน 180,000 บาท แล้วหมอเองได้เงินเดือน 30,000 บาท บวกค่าผ่าตัดนอกเวลา รวมแล้วเดือนละประมาณ 70,000-80,000 บาท และเราจบมาหลายปีแล้ว น้องมาได้เงินเดือนเป็น 2-3 เท่าของเรา ไม่น้อยใจหรือ ก็…คิดว่าไม่รู้จะน้อยใจไปทำไม ในเมื่อเขาก็มาช่วยเรา และเงินเดือน 180,000 บาท ก็ถือว่าคุ้ม เพราะการผ่าตัดคนไข้หนึ่งคน หากเขารอดชีวิต ก็คุ้มแล้ว เงิน 180,000 บาท สำหรับชีวิตคน

ดังนั้น โรงพยาบาลยะลาก็ยังมีนโยบายรับหมอแบบพิเศษต่อ ใครมาเราก็จ้างต่อ น้อง 2 คน ที่เขามาช่วย เขาได้ผ่าตัดแล้ว เขาพอใจแล้ว เขาก็ขอย้ายไปอยู่ที่อื่น คนใหม่มาเราก็รับ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารับมาทำงาน 3-4 คน รู้แล้วว่าจุดหมายเหมือนกันคือมาผ่าตัด รับเงินแล้วก็ไป แต่ก็ยังยินดีที่เป็นแบบนี้ นอกจากว่าเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุข หรือว่า สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่มีอะไรมาดึงดูดให้หมอใหม่ๆ อยู่ตลอด ตราบใดที่เหตุการณ์ยังไม่สงบ

ไทยพับลิก้า : ปกติมีเงินพิเศษสำหรับหมอในพื้นที่เสี่ยง

ใช่ มีเพิ่มเดือนละ 1 หมื่นบาทสำหรับหมอ ส่วนพยาบาล 2,500 บาท ถามว่าสำหรับหมอผ่าตัดสมอง หมื่นหนึ่งกับที่เขาจบมา เทียบกันไม่ได้กับเขาไปอยู่ที่ปลอดภัย เขาเปิดคลินิกได้ มีเวลาไปเที่ยว หมื่นหนึ่งเล็กน้อยมาก

แต่อยู่ที่นี่ ไม่ได้อยู่ด้วยความหวาดระแวง ก็เป็นช่วงๆ อยู่ได้ อย่าไปผิดที่ผิดทาง

ไทยพับลิก้า : อยากจะบอกอะไรกับใครไหม

สำหรับผู้บริหารหรือนักการเมือง ถ้างบประมาณที่เหลือๆ ไม่รู้จะเอาไปไหน (หัวเราะ) ส่งมาให้ทางการแพทย์ ส่งมาให้ 3 จังหวัดภาคใต้ หรือให้ประสาทศัลยแพทย์ หรือทางการแพทย์ ยังไงก็คุ้มทุนที่สุด เพราะเป็นการให้ชาวบ้าน ให้กับผู้เสียภาษี ดีกว่า

อีกอันหนึ่งสำหรับโรงพยบาลยะลา อุปกรณ์ที่ราคาแพงๆ เราของบประมาณไปทางกระทรวงสาธารณสุข จะได้ไม่ทันกับความต้องการใช้ เราได้ขอพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ เพราะอุปกรณ์ที่ขอไปหลายปียังไม่ได้ เราก็ขอไปทางสำนักพระราชวัง เราส่งข้อมูลคนไข้ ข้อมูลการผ่าตัด ไปให้พระองค์ท่าน ก็มีราชเลขามาดูว่าอุปกรณ์นี้จำเป็นแค่ไหน ทางโรงพยาบาลยะลาได้รับพระราชทานมาหลายเครื่อง และเราส่งรายงานไปตลอด เมื่อวันก่อนได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพฯ ได้ทูลรายงาน ซึ่งพระองค์บอกว่าดีมากที่ได้ให้อุปกรณ์เหล่านี้มา คุ้มที่สุด เพราะพระองค์เห็นข้อมูลที่เรารายงานไป

http://thaipublica.org/2013/08/nuntaka-neurological-surgeons/
19 สิงหาคม 2013