กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 ... 8 9 [10]
91
มีการเปิดเวที High Level Policy Forum “ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และมีการเปิดผลโครงการวิจัย สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT 

ซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อวัดทักษะรากฐาน (Foundational Skills)  ของเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี ประกอบด้วย ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทิล  และทักษะทางอารมณ์และสังคม  ครอบคลุม 6 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ EEC  โดยออกแบบเพื่อสร้างตัวชี้วัดที่สามารถเป็นตันแทนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

นายโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก นำเสนอผลวิจัยระบุว่า   ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตทักษะทุนชีวิต คล้ายกับหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้  คือมีสัดส่วนที่ใหญ่มากของเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทุนชีวิต หรือ Foundational Skills ต่ำกว่าเกณฑ์ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐานและการคำนวณอย่างง่ายๆ และไม่แสดงออกว่าจะสามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นหรือเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ 

ทั้งนี้เกือบสองในสาม หรือ ร้อยละ 64.7  ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทยมีทักษะด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอ่านและเข้าใจข้อความสั้นเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น การทำตามฉลากยา

ขณะที่จำนวนสามในสี่ หรือร้อยละ 74.1 ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (pointing device) และแป้นพิมพ์ (keyboard) บนคอมพิวเตอร์พกพาและไม่สามารถทำงานง่ายๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น

ร้อยละ 30.3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์  หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นและมีจินตนาการซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนรับมือและประสบความสำเร็จในที่ทำงาน
ทักษะทางอารมณ์และสังคมเหล่านี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วยให้บุคคลสามารถผ่านความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และความตื่นตระหนกในชีวิตประจำวัน รวมถึงการระบาดล่าสุดของโควิด-19 และภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักประสบ

 งานวิจัยยังพบว่า ประเทศไทยมีประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบหนึ่งในห้า หรือร้อยละ 18.7 ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้งสามด้าน 

การขาดทักษะหลาย ๆ ด้านนั้น หมายความว่าบุคคลนั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย และมีแนวโน้มว่าจะเหลือเพียงทางเลือกที่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อชดเชยวิกฤตด้านทักษะ ประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ที่อยู่ในชนบทมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอwายุ 40 ปีขึ้นไปมีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 75)   ร้อยละ 60 ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปั และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65)

กลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทอาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา    ร้อยละ 89 ของผู้ที่อยู่ในภาคเหนือมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 84 ของผู้ที่อยู่ภายใต้มีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 75%)

นายโคจิ กล่าวว่า ผลลัพธ์นี้สามารถเปรียบเทียบกับตัวเลขที่คล้ายกันจากการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ของ OECD ซึ่งรวมถึงผลลัพธ์จากฟินแลนด์ (ร้อยละ 37.1 ในปี 2555) เอสโตเนีย (ร้อยละ 47.3 ในปีพ.ศ. 2555) เกาหลี (ร้อยละ 49.9 ในปีพ.ศ. 2555) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 49.1 ในปีพ.ศ. 2555) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 56.6 ในปีพ.ศ. 2558) (OECD 2562)  ผลการศึกษาจำนวนมากจากการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ของ OECD ชี้ให้เห็นว่าทักษะเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของตลาดแรงงานและผลลัพธ์ทางสังคมในระดับบุคคล ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ

“การที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ของเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์นั้น เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจทมหาศาล  โดยมีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 20.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product: GDP)  ในปี พ.ศ. 2565  โดยมูลค่าดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่างบประมาณภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 (3.1 ล้านล้านบาท) ขณะที่ความแตกต่างหรือช่องว่างของรายได้แรงงานต่อเดือนระหว่างผู้ที่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์และสูงกว่าเกณฑ์ มีรายได้ต่างกันถึง 6,300 บาท หรือ 190 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน” 
   
สำหรับ Foundational Skills หรือทักษะทุนชีวิต คือทักษะด้านสมรรถนะที่เด็ก เยาวชนและประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องมี ประกอบด้วย ด้านการอ่านออกเขียนได้ ด้านดิจิทัล ด้านสังคมและอารมณ์  เพื่อเผชิญกับความท้าทาย สามารถแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน  ช่วยพัฒนาความสามารถของบุคคลให้ก้าวไปข้างหน้า และใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21 

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า  ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 หรือกว่า 48 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงติดอยู่ในสถานะที่ทางธนาคารโลกเรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” อยู่ และประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอีกราว 40% เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ ภายใต้ความร่วมกับธนาคารโลกในการดำเนินโครงการวิจัย สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT ในครั้งนี้ กสศ.มุ่งใช้ข้อมูลและพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในระดับนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางนโยบายระดับชาติให้ประเทศไทยการก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ด้วยพลังของคนไทยทุกคนภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ได้

ดร.ประสาร ชี้ว่า จากข้อค้นพบในงานวิจัยกสศ.มีข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาล 3 ด้าน ได้แก่

1.การเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต(Foundational Skills) ทั้ง 3 ด้าน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่มีอยู่ในทุกระดับการศึกษา และการฝึกอบรมพัฒนาประชากรวัยแรงงาน อย่างเสมอภาค โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบาง การมีทักษะทุนชีวิตนี้เพิ่มขึ้นในประชากรวัยแรงงานของไทย ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในศตวรรษที่ 21

2.การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning Culture) ให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาทักษะทุนชีวิตของเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานทุก ๆ คน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของการลงทุนในทักษะทุนชีวิต 

3.การลงทุนในทุนมนุษย์อย่างทักษะทุนชีวิต รวมทั้งการลงทุนในมาตรการอื่น ๆที่เกี่ยวข้องถือเป็นเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และการพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่ตรงจุดและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดที่ต้องการการนำ (Leadership) จากรัฐบาลในการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันใช้ประโยชน์จากงานวิจัยฉบับนี้สู่การปฏิบัติแก่ประชาชนคนไทยทุกคน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางเชิงกลยุทธ์ ผ่านโครงการครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ข้อมูลการวัดระดับทักษะ เพื่อให้เราได้เห็นภาพศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของเรา ตามความเป็นจริง  จะช่วยให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นจุดสำคัญ ทั้งในด้านช่องว่างทางทักษะ (หรือ skill gaps) และการขาดแคลนทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายในชีวิต ในศตวรรษที่ 21

รัฐบาลเห็นสัญญาณของปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำนี้มาเป็นเวลานาน ทั้งจากการวัดผลด้านทักษะระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ความแตกต่างระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ด้อยโอกาส มีช่วงห่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจ 

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้แก่ เด็ก เยาวชนและประชาชน ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อสร้างโอกาสและเส้นทางสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ที่ดีขึ้น เช่น นโยบาย “Thailand Zero Dropout” หรือ “Learn to Earn” สำหรับทุกช่วงวัย รวมถึงการที่รัฐบาลพยายามเชิญชวนภาคธุรกิจเอกชนจากทั่วโลก ที่มีจุดแข็ง ที่หลากหลาย เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือ ความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ สนับสนุนการเรียนรู้ และการฝึกอบรมทักษะที่ต้องมีในตลาดแรงงาน สำหรับคนไทยทุกช่วงวัย

“ข้อค้นพบ และข้อเสนอนโยบายจากงานวิจัยนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมี Roadmap  การพัฒนาทุนมนุษย์ทุกช่วงวัยที่ตรงจุด และสร้างผลลัพธ์ในการพัฒนาคนได้สูงที่สุด  รวมทั้งช่วยให้ภาคเอกชน ทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ มีความมั่นใจในการลงทุนเพื่ออนาคต ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมขอย้ำว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อยกระดับประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง  ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ที่ต้องการ “การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” ในการสร้างระบบนิเวศของการศึกษา และการฝึกอบรม ให้เข้มแข็ง ยืดหยุ่นและยั่งยืนความพยายามทั้งหมดนี้ คือ “สัญญาประชาคม สู่สังคมแห่งการเรียนรู้” ที่รัฐบาลมีต่อคนไทยทุกคน เพื่อให้เยาวชนและคนไทยทุกคนมีโอกาสที่จะเรียน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะที่เปราะบางเพียงใด เพราะเราเชื่อว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือสังคม

Thansettakij
22 กพ 2567
92
ศาลสูงสุดแห่งรัฐแอละบามาของสหรัฐฯ มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ตัดสินให้ตัวอ่อนแช่แข็งมีสภาพเป็นเด็ก ภายใต้กฎหมายของรัฐ และมีสิทธิได้รับสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับเด็กทารกในครรภ์คนอื่น ๆ

ในคำแถลงของผู้พิพากษาเจย์ มิตเชลส์ ประจำศาลสูงสุดแห่งรัฐแอละบามา ระบุว่า เด็กที่ยังไม่เกิด ให้ถือเป็น “เด็ก” โดยไม่มีข้อยกเว้น อ้างอิงจากพื้นฐานของระยะพัฒนาการ ตำแหน่งทางกายภาพ หรือลักษณะเฉพาะอื่น ๆ

คำตัดสินดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการฟ้องร้องดำเนินคดีในกรณีการเสียชีวิตโดยมิชอบ (Wrongful death) กับคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากในเมืองโมบาย เมื่อปี 2021 หลังจากผู้ป่วยรายอื่น บุกเข้าไปในห้องเก็บตู้แช่แข็งตัวอ่อนสำหรับการผสมเทียม และทำให้ถาดบรรจุตัวอ่อนแช่แข็งหล่นและเสียหายหลายถาด
ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลสูงสุดแห่งรัฐแอละบามา เปิดทางให้คู่รัก 3 คู่ สามารถฟ้องร้องคลินิกในกรณีการเสียชีวิตโดยมิชอบได้

PPTVHD36
22กพ2567
93
รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศเตือนแพทย์หลายพันคนที่นัดหยุดงานให้กลับเข้ามาทำงานทันที หรืออาจเผชิญกับการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์เหล่านี้ส่งผลกระทบกับการให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยทำให้การผ่าตัดและการดำเนินงานของโรงพยาบาลในด้านอื่นๆ ต้องหยุดชะงัก

อี ซังมิน รัฐมนตรีมหาดไทยและความปลอดภัยของเกาหลีใต้ แถลงว่า การดำเนินการของแนวร่วมดังกล่าวได้เอาชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนเป็นตัวประกัน ไม่สามารถจะให้หาเหตุผลใดๆ มาสร้างความชอบธรรมได้ทั้งสิ้น

อีกล่าวว่า รัฐบาลจะออกคำสั่งอย่างเป็นทางการให้แพทย์ที่หยุดงานกลับเข้ามาทำงานของพวกเขา และย้ำว่ารัฐบาลจะจัดการกับการหยุดงานประท้วงของแพทย์ด้วยความเข้มงวดตามกฎหมายการแพทย์และกฎระเบียบอื่นๆ

ทั้งนี้ กฎหมายการแพทย์ของเกาหลีใต้อนุญาตให้รัฐบาลออกคำสั่งให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ กลับเข้ามาทำงานได้ เมื่อมีความกังวลร้ายแรงด้านสาธารณสุข หากมีการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับเป็นเงิน 30 ล้านวอน หรือกว่า 8 แสนบาท และการลงโทษดังกล่าวอาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตทางการแพทย์ตามมาอีกด้วย

พัค ซองแจ รัฐมนตรียุติธรรมเกาหลีใต้ กล่าวหาแพทย์บางคนว่าพยายามปกป้องผลประโยชน์ของตังเอง และหากพวกเขาปฏิเสธที่จะกลับไปทำงาน เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีทางกฎหมายต่อพวกเขา และจับกุมผู้ที่เป็นผู้นำในการนัดหยุดงานประท้วง

ด้านแพทย์ฝึกหัดของเกาหลีใต้ระบุว่า คำสั่งให้กลับเข้าทำงานของรัฐบาลเป็นการข่มขู่และจะต้องมีการถอนคำสั่งทันที โดยสมาคมการแพทย์ของเกาหลี (KMA) ซึ่งเป็นตัวแทนของแพทย์ 140,00 คน กล่าวว่า สมาคมสนับสนุนการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหัด แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการหยุดงานประท้วงด้วยหรือไม่

จู ซูโฮ โฆษกคณะทำงานเฉพาะกิจของ KMA กล่าวหารัฐบาลว่าดูหมิ่นแพทย์ พร้อมกับประณามรัฐบาลที่จับประชาชนเป็นตัวประกัน และปราบปรามแพทย์
พัค มินซู รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขเกาหลีใต้ ระบุว่า นับจนถึงคืนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่า แพทย์ฝึกหัด 8,820 คน จากทั้งหมด 13,000 คน หรือร้อยละ 71 ของแพทย์ฝึกหัดในเกาหลีใต้ได้ยื่นใบลาออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่ไม่มีการอนุมัติการลาออกแต่อย่างใด แต่จำนวนของแพทย์ฝึกหัดที่ไม่มาทำงานอยู่ที่ 7,813 คน หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากตัวเลขเมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์

“หน้าที่พื้นฐานของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์คือการปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชาชน การกระทำของใครก็ตามที่คุกคามสิ่งนี้ไม่อาจบอกว่าเป็นเรื่องถูกต้องได้” พัคกล่าว

รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศนโยบายปรับเพิ่มเพดานการรับบุคลากรเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศอีก 2,000 คนเริ่มจากปีหน้าเป็นต้นไป เพื่อรองรับจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ ซึ่งกลุ่มแพทย์ได้ปฏิเสธแผนการดังกล่าว โดยระบุว่ามหาวิทยาลัยไม่พร้อมที่จะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่นักศึกษาแพทย์จำนวนมากขนาดนั้น

นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า การที่รัฐบาลผลักดันให้มีแพทย์มากขึ้นจะส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสาธารณะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะแพทย์จะถูกขังอยู่ท่ามกลางการแข่งขันซึ่งอาจทำให้มีการรักษาที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น

สมาคมแพทย์ฝึกหัดประจำบ้านของเกาหลีออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การเพิ่มเติมนักศึกษาแพทย์อีก 2,000 คนต่อปีเป็นตัวเลขที่ไร้สาระ เราหวังว่ารัฐบาลจะคิดแผนใหม่และกำหนดนโยบายที่สะท้อนเสียงของแพทย์ฝึกหัด

แพทย์ฝึกหัดให้เหตุผลด้วยว่า การปฏิรูปการศึกษาด้านการแพทย์ครั้งใหม่ของรัฐบาลเป็นฝางเส้นสุดท้ายสำหรับคนจำนวนมากในสายอาชีพที่ต้องดิ้นรนกับสภาพการทำงานที่ยากลำบาก อาทิ ในห้องฉุกเฉิน

“แม้จะทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และได้รับค่าตอบแทนตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่แพทย์ฝึกหัดก็ยังถูกรัฐบาลละเลยมาจนถึงขณะนี้” แถลงการณ์ของสมาคมแพทย์ฝึกหัดประจำบ้านของเกาหลีระบุ

โดยปกติแล้ว แพทย์จบใหม่จะให้การสนับสนุนแพทย์อาวุโสระหว่างการผ่าตัดและดูแลผู้ป่วยใน การนัดหยุดงานประท้วงของพวกเขาสร้างภาระให้กับการดำเนินงานของโรงพยาบาล

กระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ระบุว่า นับจนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ได้รับเรื่องร้อนเรียน 58 กรณีเกี่ยวกับการนัดหยุดงานประท้วง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดที่ต้องล่าช้าออกไปโดยไม่มีกำหนด รวมถึงการยกเลิกการรักษาพยาบาลอื่นๆ

เหตุการณ์ที่คนไข้ได้รับผลกระทบจากการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหันดังกล่าว มีตั้งแต่สตรีที่ตั้งครรภ์ถูกยกเลิกการผ่าตัดคลอด ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งต้องเลื่อนการรักษาออกไป และยังมีผู้โพสต์บนพอร์ทัล Naver ของเกาหลีใต้ว่า การผ่าตัดหลอดเลือดโป่งพองในสมองของแม่ของเธอที่รอคอยมานานต้องถูกเลื่อนกระทันหัน ทำให้รู้สึกโกรธมากที่หมอทำตัวไร้ความรับผิดชอบขนาดนี้

ขณะที่รัฐบาลได้รับมือกับการหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหัดด้วยการเปิดโรงพยาบาลทหารให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ ขยายเวลาทำการของสถาบันการแพทย์ของรัฐ และมีศูนย์รักษาพยาบาลฉุกเฉินที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดีหากการนัดหยุดงานประท้วงยืดเยื้อหรือมีแพทย์อาวุโสเข้าร่วมด้วย ก็อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในการให้บริการทางการแพทย์โดยรวมของเกาหลีใต้

22 กพ 2567
มติชน
94
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2567 ว่า วาระพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ได้ติดตามผลการขับเคลื่อนนโยบายของ สธ. โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน หรือ ควิกวิน (Quick Win) เพื่อประเมินผลนโยบายไตรมาส 2 กลางปี (Midyear Success) ส่วนประเด็นที่น่าสนใจอื่น ได้แก่
1.ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีการกำจัดไขมันทรานส์ออกจากอุตสาหกรรมอาหารจนได้รับการรับรอง ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสุขภาพของประชาชน

2.ที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลน โดยสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) และสภาการพยาบาล ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนในการผลิตพยาบาลใน 2 ปี 6 เดือน โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขความขาดแคลนพยาบาลอยู่ประมาณ 50,000 คน ทั้งนี้ การผลิตพยาบาลในโครงการดังกล่าวจะใช้วิธีการออกหลักสูตรเร่งรัดที่ได้มาตรฐาน ใช้เวลาศึกษา 2 ปี 6 เดือน ซึ่งรับผู้ที่จบปริญญาตรีทุกสาขาแล้วไปต่อยอดให้เป็นพยาบาล แต่หากเป็นสาขาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็จะเป็นต้นทุนที่ดี อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ แต่ให้ข้อสังเกตเรื่องของกระบวนการผลิตหลักสูตรและการรับรอง ไปจนถึงเรื่องของงบประมาณ จึงมอบหมายให้ สบช. ไปผู้ดูแลโครงการและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

3.กรณีที่มีข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาอนุมัติยารักษาโรคจิตเวชชนิดฉีด (LONG ACTING ANTIPSYCHOTIC INJECTABLE) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness: SMI) ที่ไม่ยอมรับประทานยา ซึ่งมีจำนวน 42,000 คน แยกเป็นระดับ V1 ที่ทำร้ายตัวเอง และ V4 ที่ทำร้ายสังคม เบื้องต้นให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป มีสำรองยาไว้ใช้ได้ราว 3 เดือน แต่ด้วยยาตัวนี้ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพภาครัฐ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเสนอยาตัวนี้เข้าสู่ขั้นตอนเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนระหว่างที่มีการพิจารณาให้เสนอเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อใช้เงื่อนไขเชิงนโยบาย พิจารณาใช้งบประมาณอุดหนุนมาจัดหาให้ผู้ป่วยใช้ก่อน

4.การขับเคลื่อนงานในไตรมาสที่ 2 ในโครงการพาหมอไปหาประชาชน ที่ดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 14 ม.ค. รวม 16 จังหวัด ให้การดูแลประชาชน 70,683 ราย, โครงการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ที่จะเริ่มเปิดโครงการในวันที่ 29 ก.พ.นี้ โดยจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งจะมีงานที่วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และเชิญ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวิกฤติพยาบาลขาดแคลน ณ ขณะนี้คืออะไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า วิกฤตที่เจอคือ ความขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชน อย่างแพทย์ 1 คน ต้องมีพยาบาลอย่างน้อย 4 คน แต่พยาบาลเรามีสัดส่วนดูแลประชาชนเฉลี่ยเพียง 1 ต่อ 300 กว่าคน มีเพียงบางพื้นที่อยู่ 1 ต่อ 700 คน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเฉลี่ยยังขาดแคลนอยู่ 51,420 คน นี่คือเฉพาะภาครัฐ ไม่ได้รวมเอกชน จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องผลิตเพิ่ม แม้ที่ผ่านมาจะประสานภาคเอกชนที่ผลิตว่า จบมาแล้วจะดึงเข้าระบบกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่พอ

“การขาดแคลนพยาบาล และปัญหาการกระจายกำลังคนด้านบริการสุขภาพตามภูมิภาคนั้น สัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 343 ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุสัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรที่ 1 ต่อ 270 คน โดยไทยมีปัญหาการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพในส่วนภูมิภาค 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ต่อ 400 และมี 15 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า 1 ต่อ 500 โดยสัดส่วนประชากรต่อพยาบาลสูงสุดใน 5 จังหวัดแรก คือ 1.หนองบัวลำภู สัดส่วน 1 ต่อ 712 คน 2.บึงกาฬ สัดส่วน 1 ต่อ 608 คน 3.เพชรบูรณ์ สัดส่วน 1 ต่อ 572 4.กำแพงเพชร สัดส่วน 1 ต่อ 571 และ 5.ศรีสะเกษ สัดส่วน 1 ต่อ 569” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่เรื่องการผลิตพยาบาล ยังมีอีกโครงการที่ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบผลิตทีมหมอครอบครัว ซึ่งเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา หรือ 9 หมอ ลงไปในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฯ พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี เมื่อผลิตครบจะมีคนเข้าสู่ระบบราว 6.2 หมื่นคน

ผู้สื่อข่าวถามกรณีจะสร้างแรงจูงใจคนมาเรียนทีมหมอครอบครัว โดยเฉพาะแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ผ่านมาคนเรียนน้อย นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องนี้เราให้ความสำคัญ ได้วางแนวทางเพื่อรองรับให้กับแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีหลายแนวทาง ยกตัวอย่าง เมื่อเร็วๆ นี้ ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้ปรับแก้หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดคล้อง รวมถึงการเพิ่มเงินค่าตอบแทนพิเศษ หรือ พ.ต.ส. จาก 10,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

“สธ.กำลังเสนอเรื่องอายุงาน อย่างหากเรียนเพื่อไปปฏิบัติงานหน่วยบริการปฐมภูมิจริง เราจะทำความตกลงกับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่า จะเริ่มนับอายุงานตั้งแต่เริ่มเรียน ขณะนี้กำลังเจรจาอยู่ แต่เวลาจ่ายค่าตอบแทนไม่ได้จ่ายขณะเรียน ต้องทำงานก่อน แต่นับอายุงานย้อนหลังให้ ซึ่งเป็นสวัสดิภาพ สวัสดิการต่างๆ ได้ ที่สำคัญคือการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับเนื้องาน เช่น สามารถจัดเม็ดเงินลงไปลักษณะเหมาจ่ายรายหัวแบบแยกเรื่องของบริการผู้ป่วยนอก หรือส่งเสริมสุขภาพเฉพาะปฐมภูมิได้หรือไม่ นี่เป็นข้อเสนอที่กำลังหารือกันอยู่” นพ.ชลน่านกล่าว

มติชน
21 กุมภาพันธ์ 2567
95
เป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก หลังจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ ว่า สธ.จ่อเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทุกสาขา สามารถมาเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง แก้ไขปัญหา “พยาบาล” ขาดแคลนนั้น
 
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “ไม่ใช่หมอบ่น-aggressivenotdoctor” โพสต์ข้อความระบุว่า “ว่าด้วยพยบ 2.5ปี”

พร้อมกับแนบแชตที่พยาบาลรายหนึ่ง เข้ามาทักข้อความหาเพจ เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ที่เจอนักศึกษาพยาบาลที่เรียนลักษณะนี้ มาฝึกงานในโรงพยาบาลที่เธออยู่ โดยระบุว่า

อยากเล่าเรื่องนี้มาก แต่ไม่อยากเม้นในโพสต์เพราะเดี๋ยวคนที่ทำงานจำได้ค่ะ

พูดไปจะหาว่าดราม่ามั้ย จะบอกว่ามีมหาลัยนึงเปิดหลักสูตรนี้แล้วค่ะ น้องเป็นรุ่น 1 เลย แต่ยังเรียนไม่จบ เพราะหลักสูตรเพิ่งเปิดใหม่ๆ
มาฝึกงานวอร์ดเรา…น้องแทบไม่มีความรู้ในหัวเลย ต้องมาสอนกันใหม่หมด ยาอะไรก็ไม่รู้จักสักตัวคนหน้างานก็สอนยาก ไม่ใช่ว่าไม่ยาก

สอน…แต่ถ้าน้องไม่มีองค์ความรู้ประมาณนึง จะไปกล้าให้น้องทำหัตถการกับคนไข้ได้ยังไงความเสี่ยงก็เยอะ แล้วน้องไม่มี

อาจารย์มาคุมด้วย พยาบาลในวอร์ดเองก็งานล้น จะมานั่งจ้ำจี้จ้ำไชสอนเด็กที่ไม่รู้พื้นฐานอะไรเลยมันก็ยาก

พอมาเจอกันอีกที่น้องก็มาฝึกปี 3 คราวนี้น้องบอกว่ารอบนี้ผ่านห้องคลอดมาแล้ว แต่รับเด็กไม่เป็น ไม่รู้ว่าเด็กคลอดแล้วต้องตรวจเด็กยังไง ไม่รู้ว่าต้องตรวจเด็กด้วยซ้ำ แค่ไปให้พี่พยาบาลจับมือเอาเด็กออกมา แล้วเค้าก็ให้ผ่านๆ ไปก่อน

เนี่ยแหละเลยคิด ว่าเราจะกล้าฝากชีวิตคนไข้ไว้กับพยาบาลหลักสูตรนี้จริงๆ เหรอ?

มติชน
22 กพ 2567
96
โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และพื้นที่อื่นๆ เผชิญความยากลำบากในการรองรับผู้ป่วยในวันนี้ หลังแพทย์ฝึกหัดหลายพันคนผละงานประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 คัดค้านแผนรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มอีก 2,000 คนตั้งแต่ปีหน้า จากปัจจุบันที่รับปีละประมาณ 3,000 คน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์

สมาคมการแพทย์เกาหลีเตือนว่า การรับสมัครแพทย์เพิ่ม ทำให้งบประมาณโครงการประกับสุขภาพแห่งชาติตึงตัว และจำนวนแพทย์ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนหมอเฉพาะทาง

แหล่งข่าวในวงการแพทย์ระบุว่า การที่แพทย์ฝึกหัดลาออกพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความวิตกกังวลเรื่องภาวะสุญญากาศในการบริการด้านสุขภาพ ขณะนี้โรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงโซลจำนวน 5 แห่งต้องลดคิวผ่าตัดลงถึง 50%

สำนักข่าวยอนฮัป รายงานว่า ความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับรัฐบาลเกาหลีใต้ในประเด็นดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น หลังทางการเกาหลีใต้ประกาศว่าจะขอหมายจับแกนนำที่ยุยงให้แพทย์ฝึกหัด และแพทย์ประจำบ้านแห่ลาออกทั่วประเทศ
พัค มินซู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วงกลางคืนของวันพุธ (21 ก.พ.67) มีแพทย์ฝึกหัดยื่นใบลาออกแล้ว 9,275 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 74.4% ของแพทย์ฝึกหัดทั้งหมดประมาณ 13,000 คน โดยในจำนวนดังกล่าว 8,024 คนไม่ไปทำงานแล้ว

พัคระบุว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สั่งให้แพทย์ฝึกหัดกว่า 6,000 คนกลับมาทำงาน และจนถึงขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ได้รับคำร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการพร้อมใจกันลาออกของแพทย์ฝึกหัดแล้ว 150 ครั้ง

พัคได้เรียกร้องให้เหล่าแพทย์ฝึกหัดเข้าร่วมเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาทางออกร่วมกัน และขอให้แพทย์ฝึกหัด “จดจำเอาไว้ว่าผู้ป่วยกำลังรอคอยอยู่”

Bangkokbiznews
22 กพ 2567
97
ปัญหาสังคมผู้สูงวัยของญี่ปุ่นกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้จะเห็นข่าวผู้สูงวัยของญี่ปุ่นยังคงทำงานอยู่ในตลาดแรงงาน และแนวโน้มจะมากขึ้นด้วย โดยมีหลายเหตุผลตั้งแต่ความพึงพอใจอยากจะทำงานต่อไป และเหตุผลจำเป็นทางชีวิตที่ยังต้องทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง บางคนถึงกับยังต้องช่วยเหลือครอบครัว ทำให้ตอนนี้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่อายุเกิน 65 ปี ขึ้นไป สมัครงานเพิ่มขึ้นในตำแหน่งที่พอจะทำได้ในวัยนี้

แต่ในบางธุรกิจก็ต้องการแรงงานในแบบที่เป็นคนหนุ่มสาว หรือวัยทำงานนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ด้วยวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นค่อนข้างไม่เปิดรับแรงงานต่างชาติเท่าที่ควร แต่หลายปีมานี้หลังจากปัญหาขาดแคลนแรงงานเริ่มหนักขึ้น ทำให้หันมาเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันบริษัทและสถานที่ต่างๆ ที่จ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น 6.7% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 318,775 แห่ง เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

แต่ก็ยังมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องยื่นขอล้มละลายจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน

รายงานที่ออกโดย Tokyo Shōkō Research เปิดเผยว่า จำนวนบริษัทในญี่ปุ่นที่ล้มละลายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 35.2% คิดเป็น 8,690 แห่ง และหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น

ถ้ามองแบบใกล้ๆ ตัวเลย ร้านซูชิ ที่ถือเป็นอาหารโดดเด่นระดับซอฟท์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นเองก็ปิดตัวเพิ่มขึ้น ทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อ ขาดแคลนแรงงาน ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น

ข้อมูลจาก Tokyo Shōkō Research ระบุว่า การล้มละลายมากสุดอยู่ในอุตสาหกรรมบริการ คือยื่นขอล้มละลาย 2,940 แห่ง เพิ่มขึ้น 41.6 % ส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและราคาวัสดุที่พุ่งสูงขึ้น แจ้งล้มละลาย 1,693 แห่ง เพิ่มขึ้น 41.7 %

ถัดมาคืออุตสาหกรรมการผลิตมี 977 แห่ง เพิ่มขึ้น 35.3 % เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น
ภาพรวมจำนวนบริษัทในญี่ปุ่นที่ล้มละลายเนื่องจากขาดแคลนแรงงานเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยมีบริษัทที่ล้มละลายเพราะปัญหานี้ 158 แห่ง ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่การสำรวจครั้งแรกในปี 2556 นอกจากนี้ยังมีการล้มละลาย เพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้นด้วย

จากผลสำรวจนี้จะเห็นว่า การเพิ่มค่าจ้างเพื่อรักษาทรัพยากรมนุษย์และการรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีกำลังกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญของฝ่ายบริหารของหลาบริษัท ซึ่งปีที่่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งใช้วิธีเพิ่มค่าตอบแทนและเพิ่มโบนัสเพื่อดึงบุคลากรไว้กับองค์กร

แต่สภาพที่ปฏิเสธไม่ได้คือ วันนี้ปัญหาสังคมสูงวัยของญี่ปุ่นที่ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และญี่ปุ่นก็ต้องปรับตัวยอมเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น

กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ระบุว่าจำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดพุ่งสูงกว่าระดับ 2 ล้านคนเป็นครั้งแรก โดยมีสัดส่วนแรงงานต่างชาติในงานภาคการก่อสร้าง การแพทย์ และสวัสดิการมากที่สุด

แรงงานต่างชาติที่มากที่สุดตอนนี้ เป็นแรงงานชาวเวียดนาม 518,364 คน รองลงมาคือจีน 397,918 คน ตามด้วยฟิลิปปินส์ 226,846 คน และเนปาล 145,587 คน

ในกรุงโตเกียวมีแรงงานต่างชาติมากที่สุดจำนวน 542,992 คน รองลงมาคือจังหวัดไอจิในภาคกลางมีแรงงานต่างชาติ 210,159 คน และโอซาก้ามีแรงงานต่างชาติ 146,384 คน

มองสถานการณ์ญี่ปุ่นแล้วย้อนมองมาที่ประเทศไทยก็อาจจะเห็นภาพที่อาจคล้ายกันได้ (ในส่วนของสังคมผู้สูงวัย) เพราะประเทศไทยใช้เวลาแค่ 19 ปี ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ถือว่าใช้เวลาเร็วมากถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ

ตอนนี้ถ้าดูสัดส่วนของไทย เรามีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16%

ประชากรวัยทำงานของไทยปัจจุบันมีอยู่ 42.4 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ประเมินกันว่าในอีกไม่ถึง 30 ปี แรงงานของไทย ที่มีอายุ 15-59 ปี ต่อประชากรทั้งหมด จะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียง 50% ในปี 2593

เรื่องนี้ไม่ใช่เกิดแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาร่วมทั่วโลกที่ขาดแคลนแรงงานภาคการผลิต หลายอุตสาหกรรมสามารถผลิตต่อโดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนบางอุตสาหกรรมปรับไปใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และ AI มากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป

สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ประเมินกันว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยแก้ปัญหาวิกฤติเกิดน้อยได้สำเร็จจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน

WORKPOINT
19 กพ 2567
98
นายกฯ ตรวจเยี่ยมค่ายประจักษ์ศิลปาคม-รพ.รองรับผู้ป่วย 30 บาท รักษาทุกที่ เร่งแก้ปัญหาแพทย์สมองไหล เล็งพัฒนาเป็นโมเดลโรงพยาบาลทหารนำร่องที่อุดรฯ

เมื่อเวลา 08.45 น. วันที่ 19 ก.พ.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภารกิจวันที่สาม ในการลงพื้นที่อีสานเหนือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วยนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เดินทางไปยังค่ายทหารประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ติดตามตรวจเยี่ยมและดูความเป็นอยู่ของกำลังพล

โดยนายกฯ ได้สอบถามถึงอายุอาคารที่อยู่อาศัยของกำลังพลที่ส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้ และเก่าทรุดโทรม ซึ่งอาจจะต้องก่อสร้างอาคารใหม่เป็นที่พักสำหรับทหารชั้นประทวน หากกองทัพมีพื้นที่เพียงพอควรก่อสร้างเป็นลักษณะแฟลตชั้นเดียว หรือ สองชั้น มากกว่าอาคารตึกสูง เพราะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถูกกว่า

นายกฯ กล่าวว่า มาเยี่ยมที่อยู่อาศัยในค่ายทหารประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี เพราะตั้งใจที่จะช่วยปรับปรุงสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของทหารโดยรวมให้ดีขึ้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ทั้งนี้ บ้านพักหลายจุดก่อสร้างตั้งแต่ปี 2495 สภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรมมาก และจำนวนไม่เพียงพอ ซึ่งเราควรจะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างเท่าเทียม

การมาดูครั้งนี้รัฐบาลตั้งใจจะทดลองปรับปรุงที่พักอาศัยใหม่ ให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น โดยจะทดลองปรับปรุงในพื้นที่ค่ายทหารต่างจังหวัดที่มีพื้นที่เยอะก่อน

จากนั้นนายกฯ เดินทางต่อไปที่โรงพยาบาลประจักษ์ศิลปาคม ติดตามการบริหารจัดการและการให้บริการรักษาทั้งกำลังพลและประชาชนทั่วไป ซึ่งกำลังพัฒนาโรงพยาบาลทหารให้สามารถรองรับผู้ป่วยและนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้ เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ป่วยในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยมีผู้ป่วยที่มารอรับบริการรวมถึงญาติผู้ป่วยเข้ามาขอถ่ายรูปกับนายกฯ เป็นที่ระลึกจำนวนมาก

นายกฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลทหารในค่ายประจักษ์ศิลปาคม และที่อื่นๆ สามารถพัฒนาให้รองรับกับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ได้ ซึ่งโรงพยาบาลทหารที่นี่ ดูแลประชาชนที่เป็นผู้ป่วยนอก คิดเป็นสัดส่วน 77% ต่อปี อัตราการรักษา แพทย์ 1 คน ต่อคนไข้ 14,000 คนต่อปี และยังมีรถโมบายออกพื้นที่ตรวจรักษาประชาชนในอุดรฯ จังหวัดใกล้เคียง และตามแนวชายแดนหนองคาย แต่ยังประสบปัญหาขาดบุคลากร ขาดอุปกรณ์ ขาดระบบไอที ขาดรถพยาบาลเคลื่อนที่ไม่พอ

ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์สังกัดกระทรวงกลาโหม ลาออกกันเยอะ เพราะไม่มีโอกาสเติบโต ไม่มีโอกาสบรรจุ อัตราเงินเดือนน้อยกว่าเงินสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดนี้ตนตั้งใจจะช่วยแก้ปัญหาให้โดยเร็วที่สุด และพัฒนาเป็นโมเดลโรงพยาบาลทหารนำร่องที่อุดรฯ และ rollout ไปในที่อื่นๆต่อไป


19 ก.พ.2567
ข่าวสด
99
เกาหลีใต้ สั่งแพทย์ฝึกหัด กลับมาทำหน้าที่ งัด กม.ขู่เล่นงาน หลังแห่ลาออก ประท้วงแผนเพิ่มโควต้า น.ศ.แพทย์

ระบบสาธารณสุขของเกาหลีใต้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์อันตึงเครียด โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สั่งให้แพทย์ฝึกหัดกลับมาทำหน้าที่ของตนเอง พร้อมขู่จะดำเนินการทางกฎหมาย หลังจากเหล่าแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านนับพันคนที่ทำงานอยู่ใน 5 โรงพยาบาลใหญ่ในกรุงโซล พากันยื่นใบลาออกในวันจันทร์ที่ 19 ก.พ.นี้ และจะเริ่มไม่มาทำงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เพื่อประท้วงแผนการปฏิรูปของรัฐบาล ที่มุ่งเพิ่มโควต้ารับนักศึกษาแพทย์เข้าโรงเรียนการแพทย์เพิ่มขึ้น ภายใต้ความมุ่งหวังส่วนหนึ่งที่จะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตอย่างเร็วรวดของประเทศ

แต่แผนการปฏิรูปดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนักจากผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ในเกาหลีใต้ ที่มองว่าแผนการรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะกระทบต่อคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ ขณะที่นักวิจารณ์ชี้ว่าการคัดค้าน เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่กังวลว่าแผนปฏิรูปดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเงินเดือนและสถานะทางสังคมของพวกเขา

นายพัค มินซู รัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ แถลงต่อผู้สื่อข่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้แพทย์ฝึกหัดทุกคนในโรงพยาบาลฝึกอบรมทั่วประเทศ 221 แห่ง ปฏิบัติหน้าที่ในการให้การรักษาต่อไป พร้อมกล่าวว่า เราผิดหวังอย่างมากจากสถานการณ์เช่นนี้ที่แพทย์ฝึกหัดพากันปฏิเสธที่จะทำงาน และเราขอให้แพทย์ฝึกหัดยกเลิกการตัดสินใจที่จะลาออกและผละงาน

“ผมขอร้องให้แพทย์ฝึกหัดอย่าหันหลังให้กับคนไข้” นายพัคกล่าว และว่า รัฐบาลจะตรวจสอบโรงพยาบาลต่างๆ ให้ตรวจเช็กว่ามีแพทย์ที่ร่วมผละงานประท้วงด้วยหรือไม่

ด้านตำรวจเกาหลีใต้เตือนว่า อาจดำเนินการจับกุม “ผู้ยุยงปลุกปั่นสำคัญ” ให้มีการหยุดงาน

ทั้งนี้ เอเอฟพีรายงานว่า แผนการปฏิรูปดังกล่าวของรัฐบาลเกาหลีใต้ ตั้งเป้าจะเพิ่มโควต้ารับนักศึกษาเข้าโรงเรียนการแพทย์เพิ่มขึ้นถึง 65% ในปี 2025 ขณะที่สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนเพิ่มโควต้านักศึกษาเข้าโรงเรียนการแพทย์เพิ่มจำนวน 2,000 คน เริ่มในปีหน้า จากปัจจุบันที่รับอยู่แล้วปีละ 3,058 คน

การเพิ่มโควต้ารับนักศึกษาแพทย์ดังกล่าวของรัฐบาล ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประชาชนในเกาหลีใต้ ที่ต้องเผชิญกับการรอคิวเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ เป็นเวลานาน โดยโพลสำรวจของ โคเรียน กัลลัพ เมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 75% เห็นด้วยกับการรับนักศึกษาแพทย์เพิ่ม ขณะที่ทางการระบุว่า เกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในประเทศต่ำที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน และการที่รัฐบาลพยายามผลักดันอย่างหนักให้ผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อรับมือกับการเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้

19 ก.พ 2567
มติชน
100
เปิดประสบการณ์ทีมแพทย์ในกาซา เมื่อพวกเขาต้องผ่าตัดผู้ป่วยโดยปราศจากยาชา หันหลังให้กับผู้ที่มีโรคเรื้อรัง และการรักษาบาดแผลเน่าเปื่อยด้วยยุทธภัณฑ์ทางการแพทย์อันจำกัด

“ด้วยความไม่เพียงพอของยาแก้ปวด เราต้องปล่อยให้ผู้ป่วยกรีดร้องเป็นชั่วโมง ๆ” แพทย์คนหนึ่งกล่าวกับบีบีซี

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำจำกัดความสภาวะทางสาธารณสุขของกาซาว่า “เกินคำบรรยาย”

WHO ระบุว่า หากนับถึงวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา โรงพยาบาลในกาซายุติการให้บริการไปแล้ว 23 แห่ง ขณะที่โรงพยาบาลอีก 12 แห่งให้บริการได้เพียงบางส่วน และมีอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ให้บริการได้อย่างจำกัดมาก ๆ

WHO กล่าวว่าการโจมตีทางอากาศและทรัพยากรที่มีไม่เพียงพอ ได้ “ขูดรีดระบบที่มีทรัพยากรไม่เพียงพออยู่แล้ว” ให้ยิ่งร่อยหรอลงไปอีก

กองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) กล่าวว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาส “วางแผนใช้โรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์เพื่อดำเนินกิจกรรมก่อการร้ายอย่างเป็นระบบ”
ในแถลงการณ์ถึงบีบีซี กองกำลังป้องกันอิสราเอลระบุว่า กองกำลังฯ “ไม่ได้ ‘โจมตี’ โรงพยาบาล แต่บุกเข้าไปยังพื้นที่เฉพาะ… [เพื่อ]ทำลายโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ของฮามาส และจับกุมผู้ก่อการร้ายฮามาส โดยการกระทำทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนความระมัดระวังอย่างสูง”

กองกำลังฯ ระบุว่า พวกเขาอนุญาตให้มีความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่กาซา ซึ่งนั่นรวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ

ด้านหน่วยงานให้ความช่วยเหลือรวมไปถึง WHO กล่าวว่า พวกเขาถูก “ตั้งเงื่อนไขและปฏิเสธการเข้า[พื้นที่]บ่อยครั้ง”

สุดความสามารถของโรงพยาบาล
บุคคลกรณ์ทางสาธารณสุขหลายคนกล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลจำนวนมากให้กาซามีคนไข้เยอะกว่าที่จะรับรองไหว และเครื่องมือทางการแพทย์ก็มีไม่เพียงพอ มีรายงานจำนวนมากที่ระบุด้วยว่า โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซาให้บริการในอัตรามากกว่า 300% ของจำนวนเตียงที่มีเพื่อรองรับผู้ป่วย

โรงพยาบาลสนาม 4 แห่งได้ถูกตั้งขึ้นในกาซา โดยมีจำนวนเตียงรวมกัน 305 เตียง ตามข้อมูลจาก WHO

เมื่อวันอาทิตย์ (18 ก.พ.) ที่ผ่านมา WHO รายงานว่า โรงพยาบาลนาสเซอร์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซา เป็นโรงพยาบาลล่าสุดที่ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ หลังจากถูกโจมตีโดยกองกำลังของอิสราเอล

กองกำลังป้องกันอิสราเอลกล่าวเมื่อคืนวันศุกร์ (16 ก.พ.) ว่ากองกำลังฯ พบอาวุธจำนวนหนึ่งที่โรงพยาบาลดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบยาซึ่งมีชื่อและภาพของตัวประกันแปะอยู่ด้วย นอกจากนี้ ไอดีเอฟยังระบุว่าได้จับกุม “ผู้ก่อการร้ายนับร้อย ๆ คน” ที่หลบซ่อนอยู่ที่นั่น

ไอดีเอฟบอกกับบีบีซีก่อนหน้านี้ว่า “ฮามาสยังคงทำให้ประชากรที่เปราะบางที่สุดของกาซาอยู่ในอันตรายร้ายแรงอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้โรงพยาบาลเป็นแหล่งก่อการร้ายอย่างไร้ความสำนึกคิดถึงผู้อื่น”

บุคลากรที่โรงพยาบาลใกล้ ๆ กล่าวว่า ปฏิบัติการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลนาสเซอร์ทำให้พวกเขามีความเครียดมากขึ้น ยูเซฟ อัล-อักกาด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาซายูโรเปียน ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองข่าน ยูนิส ให้คำจำกัดความสถานการณ์ปัจจุบันว่า “เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ที่เราเผชิญหน้ากับสงครามมา”

“ก่อนหน้านี้สถานการณ์ก็รุนแรงอยู่แล้ว คุณคิดว่ามันจะเป็นยังไงล่ะเมื่อเราต้องรับ[ผู้ป่วย]อีกหลายพันคน ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานแล้วมาอยู่ตามโถงทางเดินและพื้นที่สาธารณะ”

เขากล่าวว่าโรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษา ดังนั้นบุคลากรของโรงพยาบาลจึงเอาผ้ามาปูบนแผ่นเหล็กหรือไม้ และต้องให้ “ผู้ป่วยจำนวนมากนอนอยู่บนพื้นโดยไม่มีอะไรเลย”

แพทย์อื่น ๆ ทั่วฉนวนกาซาอธิบายสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน “ถ้าหากมีใครบางคนเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหรือมีปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับหัวใจ เราก็จับพวกเขานอนบนพื้นและเริ่มรักษากันตรงนั้น” ดร.มาร์วาน อัล-ฮามส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาร์เทอร์ โมฮัมเหม็ด ยูซุฟ อัล-นัจญาร์ กล่าว

คณะกรรมการการเมืองแห่งฮามาสเป็นคนแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐในกาซา ในบางกรณี ผู้อำนวยการเหล่านี้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนที่ฮามาสจะเข้ามาปกครองพื้นที่ฉนวนกาซา

ยาและทรัพยากร
แพทย์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาเผชิญหน้ากับความยากลำบากเมื่อต้องทำงานในภาวะที่มีทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ “เราหาออกซิเจนไม่ได้สักหยด” แพทย์คนหนึ่งบอกกับบีบีซี

“เราไม่มียาชา สิ่งจำเป็นสำหรับห้องไอซียู ยาค่าเชื้อ และล่าสุดคือยาแก้ปวด” ดร.อัล-อักกาด กล่าว “มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีบาดแผลไฟลวกสาหัส… เราไม่มียาแก้ปวดที่เหมาะสมให้กับพวกเขา”

แพทย์คนหนึ่งยืนยันว่า มีการผ่าตัดเกิดขึ้นจริงโดยปราศจากยาชา ทีมงานของ WHO คนหนึ่งกล่าวว่า พวกเขาพบกับเด็กหญิงวัย 7 ขวบคนหนึ่ง ณ โรงพยาบาลกาซายูโรเปียน ที่มีแผลไฟลวกมากถึง 75% ของร่างกาย แต่ก็ไม่ได้รับยาแก้ปวดเพราะยามีจำกัด

ดร.โมฮัมเหม็ด ซัลฮา รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลอัล-ออว์ดา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกาซา กล่าวว่า ผู้คนถูกพาตัวมารักษาด้วยลาหรือม้า

“หายนะเกิดขึ้นเมื่อแผลของผู้ป่วยเริ่มเน่า เนื่องจากบาดแผลเหล่านี้เปิดมาแล้วกว่าสองถึงสามสัปดาห์” เขากล่าว

ดร.ซัลฮา กล่าวว่า แพทย์จำนวนหนึ่งต้องผ่าตัดด้วยไฟฉายคาดหัวเนื่องจากทรัพยากรไฟฟ้าที่ขาดแคลน

บุคลากรต้องแยกจากครอบครัว
WHO ระบุว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ราว 20,000 คนอยู่ในกาซา ทว่าบุคลากรเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ “เนื่องจากพวกเขาต้องพยายามเอาชีวิตรอดและดูแลครอบครัวตัวเอง”

ดร.อัล-อักกาด กล่าวว่า ตัวเลขบุคลากรและอาสาสมัครในโรงพยาบาลของเขาเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คนที่พลัดถิ่นมาจากพื้นที่อื่นได้อาสาเข้ามาช่วยเหลือ แต่เขากล่าวว่านั่นก็ยังไม่พอเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยและรูปแบบของการเจ็บป่วยที่หลากหลาย

หลังการทิ้งระเบิด เขากล่าวว่าผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะเดินทางมาที่โรงพยาบาล “ด้วยสภาพราวกับคอฟตา” ซึ่งหมายถึงอาหารชนิดหนึ่งที่ทำมาจากเนื้อบด

“คน ๆ เดียวกันมาด้วยอาการบาดเจ็บทางสมอง กระดูกซี่โครงและแขนขาหัก และบางครั้งก็สูญเสียดวงตา… ทุกการบาดเจ็บที่คุณจะจินตนาการได้ คุณจะได้เห็นมันที่โรงพยาบาลของเรา”

เขาเล่าว่า มีผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 5 คนในการดูแลรักษา เนื่องจากผู้ป่วยคนดังกล่าวบาดเจ็บหนักในหลายส่วนมาก

แพทย์จำนวนหนึ่งที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ต้องแยกจากครอบครัวของพวกเขา

“ครอบครัวของผมไม่ได้อยู่กับผมมามากกว่าสามเดือนแล้ว และผมอยากจะโอบกอดพวกเขาเหลือเกิน” ดร.ซัลฮา ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทางตอนเหนือ ขณะที่ครอบครัวได้ลี้ภัยไปอยู่ทางตอนใต้แล้ว กล่าว

“สิ่งปลอบประโลมใจผมคือการที่ผมได้อยู่ที่นี่เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ผู้หญิง และคนสูงอายุ ให้ได้รับบริการทางสาธารณสุขและช่วยชีวิตพวกเขา”

ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง
แพทย์หลายคนกล่าวกับบีบีซีว่า ผู้คนในกาซาที่มีโรคเรื้อรังต้อง “จ่ายด้วยราคามหาศาล”

“พูดตรง ๆ คือเราไม่มีเตียงจะรองรับพวกเขา หรือติดตามอาการกับพวกเขาได้” ดร.อัล-อักกาด กล่าว

“ใครก็ตามที่ต้องฟอกไตสี่ครั้งต่อสัปดาห์ก่อหน้านี้ ตอนนี้พวกเขาได้ฟอกไตสัปดาห์ละครั้ง ถ้าคนคนนี้เคยได้ฟอกไต 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตอนนี้เขาจะได้ฟอกไต 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”

ผู้หญิงบางคนต้องคลอดลูกในเต็นท์โดยไร้ซึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่โรงพยาบาลที่ให้บริการการผดุงครรภ์ระบุว่า พวกเขาไม่สามารถรองรับคนป่วยได้มากกว่านี้แล้ว

“ในแผนกหนึ่งมีคนตาย ขณะที่อีกแผนกหนึ่งมีเด็กเกิดใหม่ เด็กเกิดขึ้นมาใหม่แต่ไม่มีนมให้พวกเขา โรงพยาบาลจะเตรียมนมหนึ่งกล่องให้กับเด็กทุกคน” ดร.ซัลฮา กล่าว

ผู้คนเดินทางมายังโรงพยาบาลพร้อมกับโรคต่าง ๆ ที่แพร่ระบาดได้ในภาวะที่มีผู้คนแออัดและไม่สะอาด

“มีภาวะเจ็บป่วยเกิดขึ้น แล้วเราก็หาที่ที่จะรักษาโรคเหล่านี้ไม่ได้” อาบู คาลิล วัย 54 ปี ผู้ที่พลัดถิ่นมายังเมืองราฟาห์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกาซา กล่าว

“เราต้องออกเดินทางกันตั้งแต่รุ่งเช้าเพื่อไปเข้าแถว และบางครั้งคุณจะพบกับผู้คนราว 100 คน ที่มาก่อนคุณ คุณอาจต้องกลับบ้านมือเปล่า”

รายงานเพิ่มเติมโดย มูอัธ อัล คาทิบ

BBC News ไทย
19 กพ 2567
หน้า: 1 ... 8 9 [10]