กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
81
วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2567) ศ.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชนก (สบช.) เปิดเผยถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์วิพาก์วิจารณ์เกี่ยวกับการเปิดหลักสูตรผลิตพยาบาลเร่งด่วน 2 ปีครึ่ง โดยเปิดให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์เข้าเรียน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาล จำนวน 2 รุ่น ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สบช. และสภาการพยาบาลมีความห่วงใยในเรื่องนี้ โดยสัปดาห์หน้า คณะพยาบาลศาสตร์ สบช. และ ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการพยาบาลจะมีการหารือเรื่องคุณภาพการเรียนในหลักสูตรนี้

“หลักสูตรการเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ คณะพยาบาลทั่วประเทศมีการหารือร่วมกันและพิจารณา จนเกิดหลักสูตรการเรียนการสอนนี้ขึ้น มีการเริ่มเรียนไปแล้วในมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” ศ.นพ.วิชัย กล่าวและว่า การเรียนหลักสูตรพยาบาลนี้ เน้นกลุ่มคนเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีการเจาะลึกข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ และภาคปฏิบัติ โดยคงหัวใจหลักของหลักสูตรไว้ คือ การขึ้นวอร์ด หรือ เวรปฏิบัติ ที่ต้องมีชั่วโมงการเรียนที่ครบถ้วน เพราะคือทักษะสำคัญของการเป็นพยาบาล

ศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า ยืนยันว่า สบช.ที่มีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีมากถึง 30 แห่ง ยังคงคุณภาพการเรียนการสอนเหมือนเดิม ไม่ได้ละวางหรือปล่อย โดยหลักสูตรพยาบาล 4 ปี กับ 2 ปีครึ่ง เนื้อหาและคุณภาพไม่แตกต่างกัน หากแต่นำบางวิชาที่ได้เรียนไปในพื้นฐานของปริญญาตรีมาเทียบโอน ส่วนวิชาการเป็นหัวใจ ยังต้องเรียนเสมอ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานและค่าตอบแทน ศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า ทราบว่า รัฐมนตรีว่าการ สธ. กำลังเตรียมพิจารณาเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า พยาบาลส่วนใหญ่ที่มีอายุการทำงานนาน มีประสบการณ์มาก หรือ มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักจะขอย้ายตัวเองไปขึ้นวอร์ดเช้า ทำงาน 8 ชั่วโมง หรือหันไปทำอาชีพอื่น เนื่องจากประสบการณ์การทำงานจนเชี่ยวชาญสามารถเป็นครูพยาบาลได้ มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยหลายแห่งต้องการตัว ต้องยอมรับว่า บางคนพลาดหวังจากตำแหน่งราชการหรือเงินเดือน ด้วยอายุที่มากขึ้น มีภาระครอบครัว จึงหันไปทำอาชีพอื่นแทน

24 กุมภาพันธ์ 2567
มติชน
82
“ชลน่าน” มอบปลัดสธ.หารือ สภาการพยาบาล ถก ‘พยาบาลขาดแคลน’ กับหลักสูตรการเรียนการสอน 2 ปีครึ่งตอบโจทย์แค่ไหน ด้าน นายกสภาการพยาบาลแจงคุมคุณภาพทุกหลักสูตรการเรียนการสอน ขณะที่หลักสูตร 2ปีครึ่ง จริงๆแค่ขั้นต่ำ แต่อาจมากกว่านี้ ที่สำคัญจบแล้วต้องสอบใบประกอบวิชาชีพทั้งหมด  ย้ำความเป็น "พยาบาล" ไม่ต่างกัน เป็นการให้โอกาสคนจบ ป.ตรีแล้วมาต่อยอด 

จากกรณีที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นชอบกรณีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เสนอโครงการผลิตพยาบาลแบบเร่งด่วน หลักสูตร 2 ปีครึ่ง เริ่มปีการศึกษา 2568 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาล ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพมาตฐานของหลักสูตรจะไม่เท่าการเรียน 4 ปี และอาจไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องของค่าตอบแทนและภาระงาน

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอบคำถามสื่อสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ที่ประชุมผู้บริหาร สธ.แค่เห็นชอบในหลักการ และ สบช.เพิ่งเสนอเข้ามา ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดอะไร แค่เสนอวิธีแก้ปัญหาว่าวิธีการแบบนี้จะแก้ได้ไหม ยังต้องไปดูรายละเอียดอีกเยอะ  ล่าสุดได้มอบหมายให้มีการหารือรายละเอียดเหล่านี้ ซึ่งช่วงบ่ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือประเด็นต่างๆกับทางสภาการพยาบาลเช่นกัน

สภาการพยาบาล เผยรายละเอียดหลักสูตร 2 ปีครึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นหลักสูตรการเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง เกิดคำถามว่า นอกจากคุณภาพหลักสูตรจะเทียบเท่าพยาบาล 4 ปีหรือไม่แล้ว ยังมีคำถามสำคัญคือ จะแก้ปัญหาให้พยาบาลคงอยู่ในระบบอย่างไร เพราะสุดท้ายมองว่า เมื่อเติมเข้าระบบแต่หากไม่มีแรงจูงใจที่ดีพอก็ไหลออกอยู่ดี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่สภาการพยาบาล รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า สภาการพยาบาลในฐานะองค์กรวิชาชีพ ทำหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเพื่อคุ้มครองประชาชน สนับสนุนการผลิตพยาบาลอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เช่น พัฒนาพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางและพยาบาลเชี่ยวชาญในระบบ เพื่อรองรับการดูแลความเจ็บป่วยในปัจจุบัน เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรี แบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต รับนักศึกษาจากคุณวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จากเดิมที่รับเฉพาะสายวิทย์ ตอนนี้ก็ไม่มีการแบ่งสายแล้ว มีระยะเวลาศึกษา 4 ปี และ 2.หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพการพยาบาล รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่นๆ มีระยะเวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 6 เดือน

ย้ำ! หลักสูตรพยาบาลต้องมีมาตรฐานทั้งหมด
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ทั้งสองหลักสูตรเราดำเนินงานตามมาตรฐานของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เหมือนกัน คือ โดยสถาบันการศึกษาที่จะเปิดหลักสูตรพยาบาล จะต้องนำเสนอหลักสูตรมายังสภาการพยาบาลเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน โดยสภาฯ จะดูหลักสูตรว่าต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง มีจำนวนอาจารย์เท่าไร ซึ่งจะรับจำนวนนักศึกษาได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับจำนวนอาจารย์ เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะส่งไปยัง อว.พิจารณา แล้วถึงส่งไปยังสภามหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาแห่งนั้นอนุมัติในการเปิด เรียกได้ว่าหลักสูตรพยาบาลที่จะเปิดเราดูแลคุณภาพมาตรฐานถึง 3 ชั้น ทั้งเกณฑ์มาตรฐานของ อว. วิชาชีพ และมหาวิทยาลัย พยาบาลปริญญาตรีที่จบออกมาไม่ว่าที่ไหนก็ต้องผ่านมาตรฐานนี้ทั้งสิ้น

"ที่สำคัญผู้สำเร็จเป็นบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์ จะต้องเข้ามาสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะทำเป็นระดับประเทศ คือจบมาสอบพร้อมกัน แต่ละรุ่นมีการสอบ 9 พัน - 1 หมื่นคน หลังสอบได้ใบประกอบวิชาชีพก็จะไปทำหน้าที่ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล ตรงนี้เป็นการรับประกันคุณภาพอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ เรายังมีการกำกับมตรฐานสถาบันการศึกษาด้วย เราจะเข้าไปรับรอง ยิ่งหลักสูตรพยาบาลเปิดใหม่เราต้องเข้าไปรับรองทุกปี" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว

หลักสูตรพยาบาลปริญญาตรี (2ปีครึ่ง) รวม 106 แห่ง
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่ผลิตหลักสูตรพยาบาลปริญญาตรี จำนวน 106 แห่งในประเทศไทย รับนักศึกษารวมปีละประมาณ 12,500 คน ถือว่าผลิตได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสถานศึกษามีการเปิดมากขึ้นทุกปี ส่วนการผลิตพยาบาลจากผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น ปัจจุบันมีประมาณ 4 แห่ง เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จำนวนคนเรียนหลักสูตรนี้มีไม่มากปีแรกประมาณ ไม่เกิน 250 คน ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่เรียนจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาต่อยอดหรือเป็นทางเลือกในการไปประกอบอาชีพ ส่วนของสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เขาก็เสนอหลักสูตรมาให้สภาฯ พิจารณา ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2568 ก็ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาหลักสูตรตามเช่นกัน

หลักสูตร 2 ปีครึ่งเทียบโอนหน่วยกิต ไม่แตกต่าง 4 ปี
ถามถึงรายละเอียดหลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่ง มีความเข้มข้นเหมือนหรือแตกต่างจากพยาบาล 4 ปีอย่างไร  รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับวิชาชีพสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น พ.ศ. 2563 มีการกำหนดรายละเอียดเอาไว้ ซึ่งเราใช้โครงสร้างแบบเดียวกับหลักสูตร 4 ปี จำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรไม่น้อยกว่า 120 หน่วยกิต และไม่เกิน 150 หน่วยกิต เพียงแต่เปิดโอกาสให้สามารถเทียบโอนรายวิชาที่เรียนมาแล้วในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี ตามแนวปฏิบัติของ อว.และระเบียบการเทียบโอนผลการเรียนของสถาบันการศึกษา ซึ่งบางแห่งอาจเทียบโอนได้มาก บางแห่งเทียบโอนได้น้อย ซึ่งรายวิชาไหนที่เทียบโอนไม่ได้ก็ต้องไปลงเรียนเพิ่ม อย่างวิทยาศาสตร์ทั่วไปถ้าเทียบโอนไม่ได้ก็ต้องมาสอบเรียนเพิ่ม ส่วนที่ต้องเรียนเกี่ยวกับพยาบาลจริงๆ ก็จะมี 2 กลุ่มรายวิชา คือ

1.วิทยาศาสตร์สุขภาพที่สัมพันธ์กับรายวิชาการการพยาบาล ซึ่งจะเรียนแบบบูรณาการ ครอบคลุมเนื้อหาสาระ อาท กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา พยาธิวิทยา เภสัชวิทยา  ชีวสถิติ จิตวิทยาพัฒนาการตามวัย โภชนศาสตร์  และระบาดวิทยา และ 2.กลุ่มวิชาชีพ รายวิชาเฉพาะสาขาวิชาชีพพยาบาล ทั้งภาคทฤษฎี การเรียนในห้องปฏิบัติการ และภาคปฏิบัติทางการพยาบาล มีเนื้อหาครอบคลุมที่ทำให้เกิดสมรรถนะผู้ประกอบวิชาชีพ และต้องมีการฝึกปฏิบัติงานอย่างน้อย 36 หน่วยตามข้อกำหนดมาตรฐานของ อว. ซึ่งหลักสูตร 2 ปีครึ่งก้ต้องผ่าน 36 หน่วยเช่นกัน

"ดังนั้น จริงๆ แล้วการเรียนหลักสูตรพยาบาลสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีมาแล้ว จริงๆ อาจคืออาจจะต้องเรียนอย่างน้อย 2 ปีครึ่งหรือมากกว่านี้ ขึ้นกับการเทียบโอนรายวิชา หากโอนไม่ได้ก็ต้องเรียนเพิ่ม และการเรียนที่จะต้องผ่านตามมาตรฐาน อย่างฝึกปฏิบัติงานบางแห่งอาจจะกำหนดมากกว่า 36 หน่วยก็ได้" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว

หลักสูตร 2 ปีครึ่ง เพื่อเปิดโอกาสสาขาอื่นต่อยอดเรียน
ถามว่ามีการสื่อสารออกไปว่า เป็นหลักสูตรเร่งรัดเพื่อผลิตพยาบาลแบบเร่งด่วนแก้ปัญหาขาดแคลน แต่จริงๆ หลักสูตรนี้เป็นการเปิดโอกาสให้คนมาเรียน  รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า หลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่ง เราเปิดโอกาสให้คนมาเรียนต่อยอด เนื่องจากกลุ่มที่มาเรียนนี้ก็คือคนที่สำเร็จปริญญาตรีแล้ว ก็จะมีความรู้ชุดหนึ่งหรืออาจจะไปทำงานมาแล้ว ก็ดูจะมีความเป็นผู้ใหญ่และเป้าหมาย เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ อย่างบางคนแม่เป็นพยาบาลอยู่แล้วเปิดเนอร์สซิ่งโฮม เขาก็มาเรียนต่อพยาบาลเพื่อกลับไปช่วยงานที่บ้าน หรือบางคนจบวิศวะมาต่อพยาบาล ก็ไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อช่วยดูแลสุขภาพต่อ หรือบางคนก็อยากมาทำงานต่อด้านนี้ ซึ่งจะเห็นว่าช่วยให้มีโอกาสทำงานที่กว้างและไกลมากขึ้น ซึ่งต่างประเทศก็มีการเปิดหลักสูตรเช่นนี้ ก็เป็นทางเลือกที่ อว.ก็เห็นตรงเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คน และเป็นเทรนด์ของการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง อุดมศึกษาก็มุ่งไปที่การศึกษาที่รองรับคนวัยทำงานแล้วมาเรียนต่อมากขึ้น

"ตรงนี้เป็นหลักสูตรเปิดโอกาสให้คนที่มุ่งมั่นได้มาเรียนพยาบาล ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องผลิตได้มากน้อยเท่าไร หรือต้องเติมคนเข้าระบบ ซึ่งอาจจะเติมได้บ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องมีคนตัดสินใจที่จะมาเรียน ซึ่งแตกต่างจาก ม.ปลายที่สมัครเข้าเรียน เพราะ ม.ปลายที่สมัครเขามาแรงดึงดูดว่าเรียนพยาบาลจบแล้วมีงานทำ 99% นอกจากนี้ หลังจากเปิดหลักสูตร 2 ปีครึ่งมาแล้ว 2 ปี ทำให้คิดว่านี่เป็นโอกาสของประชาชนด้วย จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลจากพยาบาลมากขึ้น" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว

ทางออกแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาความขาดแคลนพยาบาล สภาการพยาบาลเราคำนึงตลอด ซึ่งสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อพันกว่ามาตลอดตั้งแต่ปี 2536 ตั้งแต่นั้นเราก้มีการผลิตพยาบาลเพิ่ม ส่วนปัจจุบันเรามีประมาณ 2.5 แสน แต่เราควรมี 3 แสนคน ก็ต้องการอีก 5 หมื่นคน โดยเฉพาะการลงไปอยู่ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งบ่ายวันที่ 28 ก.พ.จะมีการหารือกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ถึงข้อเสนอในการดูแลบุคลากรพยาบาลทุกด้าน ทั้งความขาดแคลน ภาระงาน ค่าตอบแทนต่างๆ

ถามถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรียนหลักสูตร 2 ปีครึ่ง เหมือนต้องมาสอนงานใหม่หมด เพราะทำอะไรไม่เป็น  รศ.ดร.สุจิตรา  กล่าวว่า ไม่ว่าจะหลักสูตรไหน เมื่อจบพยาบาลออกมา สิ่งที่พยาบาลใหม่ทำได้คือ ตามรายวิชาพื้นฐาน จากห้องแล็บแล้วไปฝึก รพ. อย่างพอไปวอร์ดอายุรกรรม ก็ต้องทำพื้นฐานพยาบาลอายุรกรรม แต่ปัจจุบันคนไข้เราซับซ้อน การมอบหมายงานพยาบาลจบใหม่จึงควรดูแลน้องๆ เชื่อว่าเมื่อเข้าไปทำงาน ทุกหน่วยบริการจะมีการปฐมนิเทศให้เด็กไปดูว่า ที่นี่ทำอะไรบ้าง น้องใหม่ต้องทำอะไรบ้าง เช่น ถูกไปอยู่อายุรกรรม ก็ต้องเวียนดูทุกวอร์ดในอายุรกรรม ไม่ว่าจะหลักสูตร 4 ปี หรืออย่างน้อย 2 ปีครึ่ง จบออกมาแล้ว "ความเป็นพยาบาลเท่ากัน"

28 February 2024
https://www.hfocus.org/content/2024/02/29866
83
สธ.แก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน เพิ่มหลักสูตรเรียนพยาบาลจบใน 2 ปีครึ่ง เปิดโอกาสให้ผู้ปริญญาตรีทุกสาขา เรียนหลีกสูตรพยาบาลจบใน 2 ปีครึ่ง หลังพบบางพื้นที่พยาบาล 1 คน ต้องดูแลประชากร 700 คน

วันนี้ (21 ก.พ.2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบข้อเสนอจากสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล ในการผลิตพยาบาลเพิ่มในได้ภายใน 10 ปี หรือจำนวน 10,000 คน เฉลี่ยปีละ 2,500 คน โดยเปิดโอกาสให้ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ มาศึกษาต่อในคณะพยาบาลศาสตร์อีก 2 ปีครึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลน

โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2568 เนื่องจากปัจจุบันพบว่า มีปัญหาขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชน บางพื้นที่มีพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 700 คน อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมเฉลี่ยยังขาดแคลนอยู่ถึง 51,420 คน ในภาพรวมพบว่าพยาบาล1 คนต้องดูแลประชากร 343 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเกณฑ์และสัดส่วนของพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 270 คนเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย พบว่า มีปัญหาการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพในส่วนภูมิภาค 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 400 คน และมี 15 จังหวัดที่มีสัดส่วน พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 500 คน
และมีถึง 5 จังหวัด ที่พบสัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากรจำนวนมาก คือ 
1.หนองบัวลำภู สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 712 คน
2.บึงกาฬ สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อพยาบาล 608 คน
3.เพชรบูรณ์ สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 572 คน
4.กำแพงเพชร สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 571 คน และ
5.ศรีสะเกษ สัดส่วนพยาบาล 1คน ต่อประชากร 569 คน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่เรื่องการผลิตพยาบาล ยังมีอีกโครงการที่ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบผลิตทีมหมอครอบครัว ซึ่งเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา เพื่อไปประจำในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฯ พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข คาดจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี เมื่อผลิตครบจะมีคนเข้าสู่ระบบราว 6.2 หมื่นคน

21 ก.พ. 67
ไทยพีบีเอส
84
ครม. เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพฯ 62,000 คน ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี แต่ใช้งบรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ 2568-2583

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย และอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข กระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2568-2577 ซึ่งจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 รวม 16 ปี.

20 ก.พ. 2567
ไทยรัฐ
85
คติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชาวันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัท น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน ๓ หลังสมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสรู้และประกาศพระศาสนาแล้ว ๙ เดือน

เมื่อพิจารณาจากประวัติการณ์แห่งวันจาตุรงคสันนิบาต ย่อมเห็นประจักษ์ว่า พระภิกษุผู้มาประชุมกันเป็นมหาสังฆสันนิบาตนั้น ต่างพรั่งพร้อมกันมา ณ เวฬุวันมหาวิหาร ด้วยอานุภาพแห่ง “คารวธรรม” พุทธบริษัททั้งหลายผู้เป็นอนุชน จึงพึงเทิดทูนจริยาของพระอรหันต์ทั้งนั้น ขึ้นเป็นแบบอย่างทางประพฤติแห่งตน ๆ โดยสำนึกว่า ถึงแม้พระสาวกทุกรูป ได้บรรลุถึงคุณธรรมสูงสุด ดับกิเลสเพลิงทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้ว แต่ก็ยังคงเคารพนอบน้อมอย่างยิ่งต่อพระบรมศาสดา และพระธรรม เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทผู้มุ่งหมายความสุขความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม จึงจำเป็นต้องมี “นิวาตธรรม” คือความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นพื้นอุปนิสัย ขอจงระลึกไว้ว่า คุณธรรมแห่งพระอรหันต์นั้น สูงส่งเหนือกว่าอิสริยยศทั้งปวงในโลก หากแต่พระอรหันต์กลับปราศจากความอวดดื้อถือดี ปราศจากความเนรคุณลบหลู่ดูหมิ่น เพราะทุกรูปต่างมีความคารวะนอบน้อมอย่างมั่นคง ต่อพระรัตนตรัย ต่อการศึกษา ต่อความไม่ประมาท และต่อการปฏิสันถาร ดังนี้ บรรดาผู้ยังมีธุลีในดวงตา มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองครอบงำใจอยู่ จึงพึงเพียรหมั่นเพิ่มพูนคารวธรรม ให้งอกงามขึ้นในตนอยู่เสมอ ให้สมด้วยธรรมภาษิตที่ว่า “มหตฺตปตฺโตปิ นิวาตวุตฺติ” แปลความว่า “ถึงแม้จะดำรงตำแหน่งใหญ่ คืออิสริยยศที่กว้างขวาง แต่ก็ไม่ผยองด้วยยศ ถ่อมตน ทำตามโอวาทของบัณฑิต.” เพื่อความผาสุกร่มเย็นในจิตใจตน ตลอดจนประเทศชาติ และโลกนี้ได้อย่างยั่งยืน

ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอสาธุชนทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองสถาพรสืบไป เทอญ.”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
86
วันที่ 23 ก.พ. รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจขยายบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในโรงพยาบาลอย่างเต็มรูปแบบเป็นการชั่วคราว เนื่องจากความกังวลว่าวิกฤตระบบการแพทย์จะย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหัดทั่วประเทศ

แพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านหลายพันคนในโรงพยาบาลรัฐในกรุงโซลและหลายเมืองได้ลาออกจากงานและหยุดงานประท้วงต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แล้ว เพื่อคัดค้านแผนของรัฐบาลที่จะรับนักเรียนเข้าโรงเรียนแพทย์เพิ่มอีก 2,000 คนในปีหน้า

นอกจากการขยายบริการแพทย์ทางไกลแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ยังยกระดับคำเตือนวิกฤตด้านสุขภาพของรัฐขึ้นสู่ระดับ “ร้ายแรง” หรือระดับสูงสุด ซึ่งเป็นครั้งแรก และได้กำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน

พัค มินซู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ กล่าวว่า “บริการการแพทย์ทางไกลจะได้รับอนุญาตเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้ จนกว่าแพทย์จะยุติการนัดหยุดงาน”

เขาเสริมว่า “รัฐบาลจะยกเลิกกฎระเบียบทั้งหมดเกี่ยวกับบริการการแพทย์ทางไกลเป็นการชั่วคราว คลินิกท้องถิ่นระดับล่าง ๆ หลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่รองรับผู้ป่วยที่ไม่รุนแรง จะได้รับอนุญาตให้ให้บริการดังกล่าวได้”

บริการการแพทย์ทางไกลเปิดให้บริการบางส่วนตั้งแต่ปี 2020 หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวด มีเพียงโรงพยาบาลระดับสูงเท่านั้นที่มีสิทธิ์ให้บริการการแพทย์ทางไกลสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้มาโรงพยาบาลเป็นครั้งแรก ยกเว้นผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงกรณีที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนและวันหยุด

ณ คืนวันที่ 22 ก.พ. จากแพทย์ฝึกหัดของประเทศจำนวน 13,000 คนในโรงพยาบาลใหญ่ 96 แห่งในกรุงโซลและเมืองอื่น ๆ พบว่า มีอยู่ 8,897 คน หรือ 78.5% ได้ยื่นเรื่องลาออกแล้ว และ 7,863 คนในจำนวนนั้นไม่มาทำงานเลย

ตัวเลขล่าสุดลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขวันก่อนหน้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแพทย์กลับมาทำงานแล้ว เนื่องจากมีโรงพยาบาล 6 แห่งที่ไม่ได้นำข้อมูลมารวมด้วย เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ

โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ได้ลดการผ่าตัดในห้องผ่าตัดลงเหลือเพียง 50% และผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องถูกเลื่อนการผ่าตัดและการรักษาที่จำเป็นอื่น ๆ ออกไป

รัฐบาลได้รับการร้องเรียนเพิ่มเติม 40 เรื่องจากผู้ป่วยและคนอื่น ๆ เกี่ยวกับการหยุดงานประท้วงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดรายงานดังกล่าวอยู่ที่ 189 เรื่องแล้ว ณ วันที่ 22 ก.พ.

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนหนึ่งบอกว่า “สิ่งต่าง ๆ จะวุ่นวายไปหมด หากสถานการณ์ดำเนินต่อไปอีกสักสัปดาห์หนึ่ง”

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ระยะเวลาการฝึกอบรมสำหรับแพทย์ฝึกหัดจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าร่วมการหยุดงานประท้วงนั้น คาดว่าจะสิ้นสุดในเดือน ก.พ. นี้ และสัญญาของแพทย์จำนวนมากก็จะสิ้นสุดลงภายในสิ้นปีนี้ด้วย นั่นหมายความว่า แม้แพทย์เหล่านี้จะไม่ได้ลาออกหรือหยุดงานประท้วง แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการแพทย์ในเกาหลีใต้เพิ่ม

แพทย์อีกคนหนึ่งบอกว่า “ภาระงานส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 3 เท่า และระบบปัจจุบันจะคงอยู่ได้ไม่นาน เราจะเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ที่แท้จริงหลังจากวันที่ 29 ก.พ.”

สำหรับการประกาศคำเตือนวิกฤตด้านสุขภาพเป็นระดับร้ายแรง รัฐบาลให้คำมั่นว่า จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากสถาบันการแพทย์สาธารณะ โดยขยายเวลาทำการในวันธรรมดาให้นานที่สุด และขยายบริการช่วงสุดสัปดาห์และวันหยุด รวมถึงจะเพิ่มหน่วยที่รับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย

นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดใช้งานคำเตือนระดับสูงดังกล่าว เนื่องจากปัญหาด้านบริการทางการแพทย์

รัฐบาลได้เตือนว่า ผู้ที่เป็นหัวหอกในการรณรงค์ให้แพทย์หยุดงานหรือลาออกอาจถูกจับกุม และอาจถูกยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

PPTVHD36
23 ก.พ.2567
87
ตำรวจหญิง สังกัดพิสูจน์หลักฐาน จ.นนทบุรี ยื่นใบลาออก ร่ายยาวเหตุผล แต่ละอย่างสุดพีก ทั้งเหนื่อย อึดอัด อ้างนายลำเอียง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จนป่วยซึมเศร้า

วันที่ 23 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี ในโลกโซเชียลมีการแชร์ บันทึกข้อความขอลาอออก ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงนายหนึ่ง สังกัดพิสูจน์หลักฐาน จ.นนทบุรี ซึ่งระบุว่า ตัวเองเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 พร้อมอ้างว่ามีความประสงค์ขอลาออกจากราชการเพราะอึดอัด เหนื่อย ปัญหาที่ทำงานเยอะ นายเลือกที่รักมักที่ชัง ลำเอียง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า และคิดจะฆ่าตัวตาย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังพิสูจน์หลักฐานจังหวัดนนทบุรี ริมถนนนนทบุรี 1 เพื่อสอบถามเรื่องการลาออกดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ ว่าที่ พ.ต.ท.หญิง คนดังกล่าว ได้เดินทางไปยัง ศปก.ตร. เพื่อชี้แจ้งถึงเหตุผลในการลาออกครั้งนี้แล้ว.

23 ก.พ.2567
ไทยรัฐ
88
มีการเปิดเวที High Level Policy Forum “ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย” จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และมีการเปิดผลโครงการวิจัย สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT 

ซึ่งได้ออกแบบมาเพื่อวัดทักษะรากฐาน (Foundational Skills)  ของเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี ประกอบด้วย ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะดิจิทิล  และทักษะทางอารมณ์และสังคม  ครอบคลุม 6 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และ EEC  โดยออกแบบเพื่อสร้างตัวชี้วัดที่สามารถเป็นตันแทนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

นายโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก นำเสนอผลวิจัยระบุว่า   ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตทักษะทุนชีวิต คล้ายกับหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้  คือมีสัดส่วนที่ใหญ่มากของเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทุนชีวิต หรือ Foundational Skills ต่ำกว่าเกณฑ์ กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐานและการคำนวณอย่างง่ายๆ และไม่แสดงออกว่าจะสามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นหรือเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ 

ทั้งนี้เกือบสองในสาม หรือ ร้อยละ 64.7  ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทยมีทักษะด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอ่านและเข้าใจข้อความสั้นเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น การทำตามฉลากยา

ขณะที่จำนวนสามในสี่ หรือร้อยละ 74.1 ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (pointing device) และแป้นพิมพ์ (keyboard) บนคอมพิวเตอร์พกพาและไม่สามารถทำงานง่ายๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ ยิ่งไปกว่านั้น

ร้อยละ 30.3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์  หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นและมีจินตนาการซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนรับมือและประสบความสำเร็จในที่ทำงาน
ทักษะทางอารมณ์และสังคมเหล่านี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่าช่วยให้บุคคลสามารถผ่านความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และความตื่นตระหนกในชีวิตประจำวัน รวมถึงการระบาดล่าสุดของโควิด-19 และภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักประสบ

 งานวิจัยยังพบว่า ประเทศไทยมีประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบหนึ่งในห้า หรือร้อยละ 18.7 ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้งสามด้าน 

การขาดทักษะหลาย ๆ ด้านนั้น หมายความว่าบุคคลนั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย และมีแนวโน้มว่าจะเหลือเพียงทางเลือกที่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อชดเชยวิกฤตด้านทักษะ ประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ที่อยู่ในชนบทมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอwายุ 40 ปีขึ้นไปมีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 75)   ร้อยละ 60 ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปั และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65)

กลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทอาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา    ร้อยละ 89 ของผู้ที่อยู่ในภาคเหนือมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 84 ของผู้ที่อยู่ภายใต้มีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 75%)

นายโคจิ กล่าวว่า ผลลัพธ์นี้สามารถเปรียบเทียบกับตัวเลขที่คล้ายกันจากการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ของ OECD ซึ่งรวมถึงผลลัพธ์จากฟินแลนด์ (ร้อยละ 37.1 ในปี 2555) เอสโตเนีย (ร้อยละ 47.3 ในปีพ.ศ. 2555) เกาหลี (ร้อยละ 49.9 ในปีพ.ศ. 2555) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 49.1 ในปีพ.ศ. 2555) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 56.6 ในปีพ.ศ. 2558) (OECD 2562)  ผลการศึกษาจำนวนมากจากการสำรวจทักษะผู้ใหญ่ของ OECD ชี้ให้เห็นว่าทักษะเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของตลาดแรงงานและผลลัพธ์ทางสังคมในระดับบุคคล ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ

“การที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ของเยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์นั้น เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจทมหาศาล  โดยมีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 20.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product: GDP)  ในปี พ.ศ. 2565  โดยมูลค่าดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่างบประมาณภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 (3.1 ล้านล้านบาท) ขณะที่ความแตกต่างหรือช่องว่างของรายได้แรงงานต่อเดือนระหว่างผู้ที่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์และสูงกว่าเกณฑ์ มีรายได้ต่างกันถึง 6,300 บาท หรือ 190 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน” 
   
สำหรับ Foundational Skills หรือทักษะทุนชีวิต คือทักษะด้านสมรรถนะที่เด็ก เยาวชนและประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องมี ประกอบด้วย ด้านการอ่านออกเขียนได้ ด้านดิจิทัล ด้านสังคมและอารมณ์  เพื่อเผชิญกับความท้าทาย สามารถแก้ปัญหาที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน  ช่วยพัฒนาความสามารถของบุคคลให้ก้าวไปข้างหน้า และใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21 

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า  ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 หรือกว่า 48 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงติดอยู่ในสถานะที่ทางธนาคารโลกเรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” อยู่ และประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอีกราว 40% เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ ภายใต้ความร่วมกับธนาคารโลกในการดำเนินโครงการวิจัย สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน หรือ ASAT ในครั้งนี้ กสศ.มุ่งใช้ข้อมูลและพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในระดับนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางนโยบายระดับชาติให้ประเทศไทยการก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ด้วยพลังของคนไทยทุกคนภายในระยะเวลาอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ได้

ดร.ประสาร ชี้ว่า จากข้อค้นพบในงานวิจัยกสศ.มีข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาล 3 ด้าน ได้แก่

1.การเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต(Foundational Skills) ทั้ง 3 ด้าน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่มีอยู่ในทุกระดับการศึกษา และการฝึกอบรมพัฒนาประชากรวัยแรงงาน อย่างเสมอภาค โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบาง การมีทักษะทุนชีวิตนี้เพิ่มขึ้นในประชากรวัยแรงงานของไทย ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในศตวรรษที่ 21

2.การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ (Learning Culture) ให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาทักษะทุนชีวิตของเด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานทุก ๆ คน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของการลงทุนในทักษะทุนชีวิต 

3.การลงทุนในทุนมนุษย์อย่างทักษะทุนชีวิต รวมทั้งการลงทุนในมาตรการอื่น ๆที่เกี่ยวข้องถือเป็นเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และการพาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางที่ตรงจุดและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดที่ต้องการการนำ (Leadership) จากรัฐบาลในการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันใช้ประโยชน์จากงานวิจัยฉบับนี้สู่การปฏิบัติแก่ประชาชนคนไทยทุกคน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแนวทางเชิงกลยุทธ์ ผ่านโครงการครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ข้อมูลการวัดระดับทักษะ เพื่อให้เราได้เห็นภาพศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของเรา ตามความเป็นจริง  จะช่วยให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เห็นจุดสำคัญ ทั้งในด้านช่องว่างทางทักษะ (หรือ skill gaps) และการขาดแคลนทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายในชีวิต ในศตวรรษที่ 21

รัฐบาลเห็นสัญญาณของปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำนี้มาเป็นเวลานาน ทั้งจากการวัดผลด้านทักษะระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ความแตกต่างระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ด้อยโอกาส มีช่วงห่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจ 

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาทักษะให้แก่ เด็ก เยาวชนและประชาชน ผ่านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อสร้างโอกาสและเส้นทางสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ที่ดีขึ้น เช่น นโยบาย “Thailand Zero Dropout” หรือ “Learn to Earn” สำหรับทุกช่วงวัย รวมถึงการที่รัฐบาลพยายามเชิญชวนภาคธุรกิจเอกชนจากทั่วโลก ที่มีจุดแข็ง ที่หลากหลาย เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือ ความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาทุนมนุษย์ สนับสนุนการเรียนรู้ และการฝึกอบรมทักษะที่ต้องมีในตลาดแรงงาน สำหรับคนไทยทุกช่วงวัย

“ข้อค้นพบ และข้อเสนอนโยบายจากงานวิจัยนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมี Roadmap  การพัฒนาทุนมนุษย์ทุกช่วงวัยที่ตรงจุด และสร้างผลลัพธ์ในการพัฒนาคนได้สูงที่สุด  รวมทั้งช่วยให้ภาคเอกชน ทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ มีความมั่นใจในการลงทุนเพื่ออนาคต ช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมขอย้ำว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อยกระดับประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง  ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ที่ต้องการ “การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” ในการสร้างระบบนิเวศของการศึกษา และการฝึกอบรม ให้เข้มแข็ง ยืดหยุ่นและยั่งยืนความพยายามทั้งหมดนี้ คือ “สัญญาประชาคม สู่สังคมแห่งการเรียนรู้” ที่รัฐบาลมีต่อคนไทยทุกคน เพื่อให้เยาวชนและคนไทยทุกคนมีโอกาสที่จะเรียน ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะที่เปราะบางเพียงใด เพราะเราเชื่อว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือสังคม

Thansettakij
22 กพ 2567
89
ศาลสูงสุดแห่งรัฐแอละบามาของสหรัฐฯ มีมติ 7 ต่อ 2 เสียง ตัดสินให้ตัวอ่อนแช่แข็งมีสภาพเป็นเด็ก ภายใต้กฎหมายของรัฐ และมีสิทธิได้รับสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับเด็กทารกในครรภ์คนอื่น ๆ

ในคำแถลงของผู้พิพากษาเจย์ มิตเชลส์ ประจำศาลสูงสุดแห่งรัฐแอละบามา ระบุว่า เด็กที่ยังไม่เกิด ให้ถือเป็น “เด็ก” โดยไม่มีข้อยกเว้น อ้างอิงจากพื้นฐานของระยะพัฒนาการ ตำแหน่งทางกายภาพ หรือลักษณะเฉพาะอื่น ๆ

คำตัดสินดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการฟ้องร้องดำเนินคดีในกรณีการเสียชีวิตโดยมิชอบ (Wrongful death) กับคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากในเมืองโมบาย เมื่อปี 2021 หลังจากผู้ป่วยรายอื่น บุกเข้าไปในห้องเก็บตู้แช่แข็งตัวอ่อนสำหรับการผสมเทียม และทำให้ถาดบรรจุตัวอ่อนแช่แข็งหล่นและเสียหายหลายถาด
ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลสูงสุดแห่งรัฐแอละบามา เปิดทางให้คู่รัก 3 คู่ สามารถฟ้องร้องคลินิกในกรณีการเสียชีวิตโดยมิชอบได้

PPTVHD36
22กพ2567
90
รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศเตือนแพทย์หลายพันคนที่นัดหยุดงานให้กลับเข้ามาทำงานทันที หรืออาจเผชิญกับการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์เหล่านี้ส่งผลกระทบกับการให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยทำให้การผ่าตัดและการดำเนินงานของโรงพยาบาลในด้านอื่นๆ ต้องหยุดชะงัก

อี ซังมิน รัฐมนตรีมหาดไทยและความปลอดภัยของเกาหลีใต้ แถลงว่า การดำเนินการของแนวร่วมดังกล่าวได้เอาชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนเป็นตัวประกัน ไม่สามารถจะให้หาเหตุผลใดๆ มาสร้างความชอบธรรมได้ทั้งสิ้น

อีกล่าวว่า รัฐบาลจะออกคำสั่งอย่างเป็นทางการให้แพทย์ที่หยุดงานกลับเข้ามาทำงานของพวกเขา และย้ำว่ารัฐบาลจะจัดการกับการหยุดงานประท้วงของแพทย์ด้วยความเข้มงวดตามกฎหมายการแพทย์และกฎระเบียบอื่นๆ

ทั้งนี้ กฎหมายการแพทย์ของเกาหลีใต้อนุญาตให้รัฐบาลออกคำสั่งให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ กลับเข้ามาทำงานได้ เมื่อมีความกังวลร้ายแรงด้านสาธารณสุข หากมีการปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับเป็นเงิน 30 ล้านวอน หรือกว่า 8 แสนบาท และการลงโทษดังกล่าวอาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตทางการแพทย์ตามมาอีกด้วย

พัค ซองแจ รัฐมนตรียุติธรรมเกาหลีใต้ กล่าวหาแพทย์บางคนว่าพยายามปกป้องผลประโยชน์ของตังเอง และหากพวกเขาปฏิเสธที่จะกลับไปทำงาน เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีทางกฎหมายต่อพวกเขา และจับกุมผู้ที่เป็นผู้นำในการนัดหยุดงานประท้วง

ด้านแพทย์ฝึกหัดของเกาหลีใต้ระบุว่า คำสั่งให้กลับเข้าทำงานของรัฐบาลเป็นการข่มขู่และจะต้องมีการถอนคำสั่งทันที โดยสมาคมการแพทย์ของเกาหลี (KMA) ซึ่งเป็นตัวแทนของแพทย์ 140,00 คน กล่าวว่า สมาคมสนับสนุนการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหัด แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการหยุดงานประท้วงด้วยหรือไม่

จู ซูโฮ โฆษกคณะทำงานเฉพาะกิจของ KMA กล่าวหารัฐบาลว่าดูหมิ่นแพทย์ พร้อมกับประณามรัฐบาลที่จับประชาชนเป็นตัวประกัน และปราบปรามแพทย์
พัค มินซู รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขเกาหลีใต้ ระบุว่า นับจนถึงคืนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่า แพทย์ฝึกหัด 8,820 คน จากทั้งหมด 13,000 คน หรือร้อยละ 71 ของแพทย์ฝึกหัดในเกาหลีใต้ได้ยื่นใบลาออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่ไม่มีการอนุมัติการลาออกแต่อย่างใด แต่จำนวนของแพทย์ฝึกหัดที่ไม่มาทำงานอยู่ที่ 7,813 คน หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากตัวเลขเมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์

“หน้าที่พื้นฐานของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์คือการปกป้องสุขภาพและชีวิตของประชาชน การกระทำของใครก็ตามที่คุกคามสิ่งนี้ไม่อาจบอกว่าเป็นเรื่องถูกต้องได้” พัคกล่าว

รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศนโยบายปรับเพิ่มเพดานการรับบุคลากรเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศอีก 2,000 คนเริ่มจากปีหน้าเป็นต้นไป เพื่อรองรับจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเกาหลีใต้ ซึ่งกลุ่มแพทย์ได้ปฏิเสธแผนการดังกล่าว โดยระบุว่ามหาวิทยาลัยไม่พร้อมที่จะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่นักศึกษาแพทย์จำนวนมากขนาดนั้น

นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า การที่รัฐบาลผลักดันให้มีแพทย์มากขึ้นจะส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสาธารณะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะแพทย์จะถูกขังอยู่ท่ามกลางการแข่งขันซึ่งอาจทำให้มีการรักษาที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น

สมาคมแพทย์ฝึกหัดประจำบ้านของเกาหลีออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การเพิ่มเติมนักศึกษาแพทย์อีก 2,000 คนต่อปีเป็นตัวเลขที่ไร้สาระ เราหวังว่ารัฐบาลจะคิดแผนใหม่และกำหนดนโยบายที่สะท้อนเสียงของแพทย์ฝึกหัด

แพทย์ฝึกหัดให้เหตุผลด้วยว่า การปฏิรูปการศึกษาด้านการแพทย์ครั้งใหม่ของรัฐบาลเป็นฝางเส้นสุดท้ายสำหรับคนจำนวนมากในสายอาชีพที่ต้องดิ้นรนกับสภาพการทำงานที่ยากลำบาก อาทิ ในห้องฉุกเฉิน

“แม้จะทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และได้รับค่าตอบแทนตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่แพทย์ฝึกหัดก็ยังถูกรัฐบาลละเลยมาจนถึงขณะนี้” แถลงการณ์ของสมาคมแพทย์ฝึกหัดประจำบ้านของเกาหลีระบุ

โดยปกติแล้ว แพทย์จบใหม่จะให้การสนับสนุนแพทย์อาวุโสระหว่างการผ่าตัดและดูแลผู้ป่วยใน การนัดหยุดงานประท้วงของพวกเขาสร้างภาระให้กับการดำเนินงานของโรงพยาบาล

กระทรวงสาธารณสุขของเกาหลีใต้ระบุว่า นับจนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ได้รับเรื่องร้อนเรียน 58 กรณีเกี่ยวกับการนัดหยุดงานประท้วง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดที่ต้องล่าช้าออกไปโดยไม่มีกำหนด รวมถึงการยกเลิกการรักษาพยาบาลอื่นๆ

เหตุการณ์ที่คนไข้ได้รับผลกระทบจากการนัดหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหันดังกล่าว มีตั้งแต่สตรีที่ตั้งครรภ์ถูกยกเลิกการผ่าตัดคลอด ขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งต้องเลื่อนการรักษาออกไป และยังมีผู้โพสต์บนพอร์ทัล Naver ของเกาหลีใต้ว่า การผ่าตัดหลอดเลือดโป่งพองในสมองของแม่ของเธอที่รอคอยมานานต้องถูกเลื่อนกระทันหัน ทำให้รู้สึกโกรธมากที่หมอทำตัวไร้ความรับผิดชอบขนาดนี้

ขณะที่รัฐบาลได้รับมือกับการหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหัดด้วยการเปิดโรงพยาบาลทหารให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ ขยายเวลาทำการของสถาบันการแพทย์ของรัฐ และมีศูนย์รักษาพยาบาลฉุกเฉินที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดีหากการนัดหยุดงานประท้วงยืดเยื้อหรือมีแพทย์อาวุโสเข้าร่วมด้วย ก็อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่ในการให้บริการทางการแพทย์โดยรวมของเกาหลีใต้

22 กพ 2567
มติชน
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10