กระทู้เมื่อเร็วๆ นี้

หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 10
61
อุทยานฯ เขาแหลม ประกาศปิดน้ำตกเกริงกระเวีย ชั่วคราว ปมน้ำน้อยเพราะปัญหาภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายอภิสิทธิ สมบัติมาศ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ด้วยอุทยานแห่งชาติเขาแหลมมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติจำนวนหลายแห่ง ซึ่ง น้ำตกเกริงกระเวีย ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 323 (ทองผาภูมิ-สังขละบุรี) หลักกิโลเมตรที่ 232 ท้องที่หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่ผ่านมาน้ำตกเกริงกระเวียเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมและใช้บริการเป็นจำนวนมาก

แต่จากสถานการณ์ปัญหาภัยแล้งในปัจจุบันส่งผลให้ปริมาณน้ำในน้ำตกเกริงกระเวียมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อการประกอบกิจกรรมต่างๆ ของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการและพักผ่อนหย่อนใจ อาจส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวได้

ดังนั้น อุทยานแห่งชาติเขาแหลมพิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการรักษาสภาพธรรมชาติ ระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อการบริการด้านการท่องเที่ยว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ประกอบระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2563 ข้อ 3

จึงประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกเกริงกระเวีย ในอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

แต่หากนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่ผ่านมาต้องการหยุดรถเพื่อพักผ่อนให้หายเพลียจากการขับรถระยะไกล ยังสามารถเข้ามาใช้บริการซื้อน้ำ หรือกาแฟ หรือนั่งเล่นที่ร้านสวัสดิการอุทยานแห่งชาติเขาแหลมและลานจอดรถบริเวณน้ำตกเกริงกระเวียได้ตามปกติ

© Matichon
1 มีนาคม 2567
62
สาวเตือนอุทาหรณ์ รพ.จ่ายยาผิด แม่กินมา 2 เดือนเพิ่งรู้ เอะใจทำไมแผงยาไม่เหมือนเดิม

วันที่ 2 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีหญิงรายหนึ่งโพสต์เตือนภัยไว้เป็นอุทาหรณ์ลงในกลุ่ม “พวกเราคือผู้บริโภค” หลังโรงพยาบาลจ่ายยาผิดมาให้แม่กิน แต่เพิ่งรู้หลังผ่านมาแล้ว 2 เดือน โดยเธอเล่าว่า

โพสต์นี้…อยากฝากถึงทุกคนเลยค่ะ ซึ่งไม่คิดว่าจะเจอกับตัว นั่นคือการจ่ายยาผิดให้คนไข้ และความสะเพร่าของตัวเอง คุณแม่เป็นโรคเบาหวานค่ะ ซึ่งหน้าซองยาระบุไว้ชัดเจนว่า “ยาลดน้ำตาล” กินติดต่อกันมา 2 เดือน..คือเดือนมกรา-กุมภา

รอบล่าสุดไปหาหมอตามนัดเมื่อวาน ได้ยามาใหม่ เพิ่งสังเกตดูว่าทำไมแผงยาถึงไม่เหมือนเดิม เลยกลับไปถามหมอดู สรุป ได้ยาผิด แม่กินยาผิดมา 2 เดือน #ฝากพี่ๆ เช็คให้ละเอียดก่อนกินยาทุกตัวด้วยนะคะ #ปล.แม่ไม่มีอาการข้างเคียง หรือผิดปกติใดๆ นะคะ

พร้อมกับโพสต์ภาพเปรียบเทียบแผงยาที่ได้ครั้งก่อนกับแผงยาที่เพิ่งได้มาใหม่ โดยตัวยาคั้งก่อนเป็นยารักษาโรคเก๊าท์ นอกจากนี้ยังมีหลายคนแนะนำว่าควรเอาเรื่อง เพราะอาจจะเกิดอันตราย หรือผลข้างเคียงได้

ยาที่ต้องกิน   Glipizide 
ยาที่ให้ผิด    Colchicine

2 มี.ค. 2567
ข่าวสดออนไลน์
63
สามีภรรยาขี่ จยย.ตามหาลูกชาย โดนจับเสพยาบ้าต้องมารายงานตัวที่ศาลอุดรธานี หายสาบสูญไป 5 เดือน พร้อมอธิษฐาน “อุ๋งอิ๋ง เพชรบ้านแพง” ถ้าวาจาศักดิ์สิทธิ์จริง ขอให้เห็นลูก ก่อนพบนั่งในวัด ดีใจจนร้องไห้ แต่ลูกชายกลายเป็นคนเสียสติ จำใครไม่ได้แม้แต่พ่อแม่ตัวเอง

เวลา 12.30 น. วันที่ 2 มีนาคม 2567 ร.ต.อ.ถิรโยธิน ทรัพย์สินธ์ รอง สวป.สภ.เมืองอุดรธานี ได้รับแจ้งจากนายธนิต สุคำภา 41 ปี นางสุภาวรรณ วงวิพา อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ 7 ต.บ้านชัย อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี มาตามหานายโชคชัย สุคำภา หรือหนึ่ง อายุ 24 ปี ลูกชาย ซึ่งเดินทางมารายงานตัวที่ศาลจังหวัดอุดรธานี ข้อหา เสพยาเสพติดประเภท 1 (ยาบ้า) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 แต่หายตัวไป ไม่กลับบ้าน จึงได้ขี่รถจักรยานยนต์จากบ้านมาตามหาลูก และพบลูกอยู่ที่หน้าโบสถ์วัดมัชฌิมาวาส เขตเทศบาลนครอุดรธานี แต่ลูกจำพ่อแม่ไม่ได้ เหมือนคนเสียสติ จึงมาขอความช่วยเหลือตำรวจช่วยนำตัวไปรักษา

จากนั้น ร.ต.อ.ถิรโยธิน นำกำลังสายตรวจ 191 ไปที่หน้าโบสถ์วัดมัชฌิมาวาส แต่ไม่พบนายโชคชัย จึงได้ออกตามหา พบนายโชคชัยแต่งกายมอมแมม เดินถือถุงเก็บขวดพลาติกอยู่ถนนอุดรดุษฎี หน้าวงเวียนหอนาฬิกา จึงเข้าไปสอบถามแต่นายโชคชัยบอกว่าจำไม่ได้ ซึ่งนายโชคชัยบอกว่าทั้งสองคนไม่ใช่พ่อแม่ พอพ่อแม่ชวนกลับบ้านก็ไม่ยอมกลับ ด่าว่าพ่อแม่และตำรวจ พยายามวิ่งลงถนน ตำรวจ 4 นายตัดสินใจเข้าไปล็อกตัวขึ้นท้ายกระบะรถตราโล่เพื่อนำตัวไปบำบัดรักษา แต่นายโชคชัยก็พยายามขัดขืนพุ่งลงถนน เมื่อนายธนิต พ่อ ขึ้นไปนั่งบนท้ายกระบะด้วย นายโชคชัยก็ด่าทอและพยายามพุ่งจะเข้าทำร้าย สุดท้ายต้องให้นายธนิต มาขี่รถจักรยานยนต์ตามไปที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี

นายธนิต เล่าว่า ก่อนหายตัว ลูกชายโดนจับข้อหาเสพยาบ้า ศาลอุดรธานีให้มารายงานตัววันที่ 20 กันยายน 2566 ตนให้เงินลูกชาย 200 บาทเป็นค่าเดินทางมา จากนั้นลูกก็ไม่กลับบ้านอีกเลย เดือนแรกนึกว่าตำรวจจับตัวไว้ แต่พอผ่านเข้าเดือนที่ 2-3 ตนก็เห็นว่าผิดปกติ เพราะติดต่อไม่ได้ จึงได้ออกตามหาสถานที่ลูกเคยไปแต่ก็ไม่พบ ล่าสุดลงในเพจข่าวต่างๆ ซึ่งมีคนพบลูกชายเดินอยู่ห้างสรรพสินค้า แต่พอเรียกชื่อก็ไม่ขานตอบ วันนี้จึงชวนภรรยามาตามหาในเขตเทศบาลนครอุดรธานี โดยตามหาที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ แต่ไม่พบ จากนั้นก็เข้าไปในวัดมัชฌิมาวาส และพบลูกชายนั่งอยู่ศาลาหน้าโบสถ์ ตนและภรรยาดีใจจนร้องไห้ แต่ลูกจำพวกตนไม่ได้ ไม่ยอมรับว่าเป็นพ่อแม่ อาจจะเพราะเสพยา ก่อนหน้านี้ลูกชายหน้าตาดี เป็นคนขยัน ช่วยงานพ่อแม่ ไม่ก้าวร้าว ช่วงโควิดไปคบกับเพื่อนไม่ดี ชวนไปเสพยาบ้า หลังจากนั้นก็มีพฤติกรรมก้าวร้าว ไล่ตีพ่อแม่

“พอเห็นลูกก็ดีใจ ซึ่งไม่ได้บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน เพียงแต่เห็นในเพจหมอลำอุ๋งอิ๋ง เพชรบ้านแพง ว่าอธิษฐานขอกับอุ๋งอิ๋งจะได้ตามนั้น ขณะที่ขับรถมาก็ได้พูดขึ้นลอยๆ ว่า ถ้าอุ๋งอิ๋งวาจาศักดิ์สิทธิ์จริง ก็ขอให้พบลูกชาย ถ้าพบจะยอมรับนับถือ พูดเล่นๆ ซึ่งภรรยาก็ได้ยิน ส่วนตัวไม่เคยดูหมอลำสาวน้อยเพชรบ้านแพง ไม่ได้รู้จักอุ๋งอิ๋งเป็นการส่วนตัว เห็นคนอื่นพูดก็เลยลอง และก็พบลูกจริงๆ”

ส่วนนางสุภาวรรณ เล่าว่า สามีชอบ “อุ๋งอิ๋ง เพชรบ้านแพง” ขณะขี่รถจากบ้านเข้ามาตัวเมืองอุดรธานี สามีได้พูดว่า “น้องอุ๋งอิ๋งเอ๊ย ถ้าปาฏิหาริย์มีจริง ถ้าอิหล่าช่วยพ่อได้จริงๆ อิหล่าก็ให้พ่อตามหาอ้ายหนึ่งเจอ นายโชคชัย สุคำภา ส่วนตนบอกว่าไม่เชื่อว่าอุ๋งอิ๋งจะช่วยได้ ถ้าเจอจริงๆ ถึงจะเชื่อ” แต่พอขี่ผ่านวัดมัชฌิมาวาส อะไรมาดลใจไม่รู้ เลี้ยวเข้าไปในวัดเพื่อไปหาลูก และก็ไปพบลูกนั่งอยู่ศาลาหน้าโบสถ์ แต่ลูกจำพ่อแม่ไม่ได้ ต่อต้าน จนตนร้องไห้ ชวนลูกกลับบ้าน ลูกก็ไม่ยอมกลับ แถมถามย้อนคืนว่า “มาตามหากูทำไม กูไม่ใช่ลูกมึง มึงเป็นบ้าเหรอ กูว่ากูบ้าแล้ว มึงยังบ้ากว่ากูอีก อย่ามาร้องไห้ใส่กู” จึงบอกว่าแม่คิดถึงจึงมาตามหา ก่อนหน้านี้ลูกต่อต้านพ่อแม่ แต่ก็ยังจำพ่อแม่ได้ แต่ครั้งนี้ร้ายแรง จำพ่อแม่ไม่ได้เลย

2 มีค 2567
ไทยรัฐ
64
องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มนักวิจัยระหว่างประเทศเปิดเผยผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่อาศัยเก็บรวบรวมข้อมูลผู้คนมากกว่า 220 ล้านคนในกว่า 190 ประเทศ และมีการประมาณการว่า อัตราการเกิดโรคอ้วนในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงปี 1990-2022 และเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวในเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 5-19 ปี

ขณะที่จากการวิเคราะห์พบว่า ในช่วงเวลาเดียวกันพบสัดส่วนของผู้ที่น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานในเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชายและผู้ใหญ่ต่างลดลงราว 1 ใน 5 และ 1 ใน 3 ตามลำดับ

ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่า โรคอ้วนได้เกิดขึ้นในผู้คนจำนวนมาก และพบบ่อยกว่าคนที่มีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐานในประเทศส่วนใหญ่ รวมถึงประเทศที่มีรายได้น้อย และปานกลางที่เคยต่อสู้กับภาวะการขาดสารอาหารมาก่อนด้วย
ฟรานเซสโก แบรนกา ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่าโรคอ้วน หรือโรคที่มีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปถือเป็นภาระสองเท่าของภาวะทุพโภชนาการขณะที่ในอดีตเราอาจคิดว่าภาวะโรคอ้วนเป็นปัญหาของคนมีฐานะเท่านั้น แต่ปัจจุบันโรคอ้วนกลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว

"อัตราโรคอ้วนได้เพิ่มขึ้นทุกประเทศ หรือเกือบทุกประเทศในโลก มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถรักษาอัตราโรคอ้วนไว้ได้ที่ระดับเดียวกับเมื่อ 30 ปีก่อน แต่โดยทั่วไปแล้วมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศที่มีรายได้สูง และในประเทศที่มีรายได้น้อย ดังนั้นเราจึงเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากของอัตราโรคอ้วนในแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และในหมู่เกาะแปซิฟิก" แบรนกากล่าว

ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการขององค์การอนามัยโลก  ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง 2 อย่าง คือ ระบบอาหาร ณ ปัจจุบันที่มีอาหารแปรูรูป หรืออาหารที่มีการใช้ไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง มากขึ้น และอาหารเหล่านี้มีราคาถูกลงมาก  และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการออกกำลังกาย ของผู้คน

สำหรับคนที่ประสบปัญหาเป็นโรคอ้วนเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและความพิการก่อนวัยอันควร เนื่องจากโรคดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และไตในระยะเริ่มแรก และปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนการมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอย่างรุนแรงอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก และภาวะที่รุนแรงที่สุดอาจทำให้ผู้คนอดอยากจนเสียชีวิตได้

PPTVHD36
2มีค2567
65
"ธนาคารไทยพาณิชย์" เดินหน้าความยั่งยืนให้กับสังคมไทย ประกาศความพร้อมเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเพื่อใช้ในกิจกรรมองค์กรเป็น "พลาสติกรีไซเคิล 100%" สร้างคุณค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ธนาคารไทยพาณิชย์ ตระหนักถึงบทบาทในการเป็นตัวกลางที่จะผลักดันสังคมยั่งยืน ด้วยเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่ Net Zero จากแผนการดำเนินงานภายในของธนาคารภายในปี 2030 และจากการให้สินเชื่อและการลงทุนภายในปี 2050 แม้ว่าสถาบันการเงินจะเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ แต่ธนาคารก็ยังให้ความสำคัญที่จะบูรณาการแนวทางการปฏิบัติงานภายในที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยในปีนี้ได้ริเริ่มลดการใช้พลาสติกภายในองค์กร จากการเปลี่ยนขวดน้ำดื่มที่ใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ของธนาคาร เป็นขวดน้ำที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100% จำนวนปีละกว่า 1.3 ล้านขวด โดยเป็นธนาคารแรกที่ริเริ่มใช้ขวดประเภทดังกล่าว

ด้วยความห่วงใยถึงความสะอาดและความปลอดภัยของลูกค้าและผู้บริโภค ธนาคารจึงได้เลือกใช้ขวดน้ำดื่ม rPET (Recycled Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นขวดพลาสติกที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติกมาตรฐานยุโรปที่ทันสมัย โดยโรงงานรีไซเคิลพลาสติกคุณภาพสูง ENVICCO หนึ่งใน GC Group ที่ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพความสะอาดและความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานจาก อย.สหรัฐ rPET นับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะพลาสติกปิดเส้นทางขยะสู่หลุมฝังกลบ โดยหมุนเวียนพลาสติกใช้แล้วในประเทศไทยให้กลับมาเป็นทรัพยากรสำหรับการขึ้นรูปเป็นขวดน้ำใหม่ สามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขวดน้ำดื่ม "น้ำใจไทยพาณิชย์ rPET" โฉมใหม่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด "Sustainable Bloom" ความยั่งยืนที่เบ่งบานสู่อนาคต นำเสนอในลวดลายดอกไม้หลากสีรวม 17 สี อันสื่อถึง 17 เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นตัวแทนแสดงเจตจำนงของธนาคารที่จะส่งมอบความยั่งยืนให้แก่สังคมและดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับโลกใบนี้

ทั้งนี้ การใช้ขวด rPET สามารถลดปริมาณขยะฝังกลบและขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล ลดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ขวดน้ำดื่ม "น้ำใจไทยพาณิชย์ rPET" ขนาดบรรจุ 320 มิลลิลิตร จำนวน 1.3 ล้านขวด นับเป็นการรีไซเคิลพลาสติกกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ แม้จะดูเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับขวดน้ำในอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่การลดปริมาณพลาสติกใหม่จำนวน 1.3 ล้านขวดเทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นไม้ 2,200 ต้นในเวลา 1 ปี และคิดเป็นการปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการใช้เม็ดพลาสติกผลิตขวดน้ำแบบเดิมถึง 60%

ตามแผนงานการมุ่งสู่ Net Zero ผ่านการปฏิบัติงานภายในธนาคารไทยพาณิชย์ในปี 2030 นั้น การเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเป็นขวด rPET จำนวน 1.3 ล้านขวดต่อปี ในช่วงปี 2024-2030 คิดเป็นปริมาณขวด rPET รวมประมาณ 8 ล้านขวด เทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นไม้ได้ถึง 13,500 ต้น สามารถบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกได้ในระยะยาว

ปลูกจิตสำนึกพนักงานไทยพาณิชย์ ลดการใช้พลาสติก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากเปลี่ยนขวดน้ำดื่มเป็น "น้ำใจไทยพาณิชย์ rPET" แล้ว ธนาคารยังมีโครงการปลูกฝังจิตสำนึกพนักงานในการลดการใช้ขวดพลาสติกภายในชีวิตประจำวัน ด้วยการรณรงค์การนำกระบอกน้ำหรือบรรจุภัณฑ์ส่วนตัวที่ทนทานและใช้ซ้ำได้มาใช้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปัญหาขยะพลาสติก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

พร้อมกันนี้ในอนาคต ธนาคารได้วางนโยบายขยายผลเพิ่มการเก็บกลับขวดพลาสติกใช้แล้วโดยร่วมมือกับ GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์มบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้ว เพื่อนำขวดพลาสติกเข้าสู่ระบบเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล และนำกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ให้ได้มากที่สุดตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปูทางสู่เป้าหมาย Net Zero ของทั้งสององค์กร ร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืน

2 ม่ีค 2567
ไทยรัฐ
66
ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดแพร่กระจายทั่วโลก คำแนะนำเรื่อง ล้างมือ บ่อย ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะปฏิบัติอยู่เสมอเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ เมื่อลองย้อนดูประวัติศาสตร์ก่อนที่การล้างมือจะกลายมาเป็นเรื่องสำคัญอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างเช่นทุกวันนี้ ความจำเป็นและประโยชน์ของการล้างมือ เคยเป็นประเด็นที่ถูกโต้เถียงกันอย่างมากสำหรับวงการแพทย์

กว่าที่การล้างมือจะเป็นที่ยอมรับก็ใช้เวลาในการพิสูจน์อยู่ไม่น้อย หากย้อนเวลากลับไปในอดีต จะพบว่า “การล้างมือ” เคยเป็นพิธีกรรมที่ผู้คนในยุคกลางยึดถือปฏิบัติ รวมถึงยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแสดงสถานะทางชนชั้นอีกด้วย

ผู้คนจำนวนไม่น้อยในยุคกลางได้รับการปลูกฝังและให้ความสำคัญเรื่องมารยาทและความสะอาดบนโต๊ะอาหาร เห็นได้จากภาพวาดในยุคกลางที่มักจะแสดงให้เห็นเหยือกน้ำ อ่างน้ำ และผ้าสำหรับเช็ดมืออยู่เสมอ

สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนรู้จักระเบียบมารยาท อย่างไรก็ตาม เดิมทีแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อสุขอนามัยที่ดีเป็นอันดับแรก เนื่องจากมันเริ่มต้นมาจากเรื่องของมารยาทและความสุภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเป็นพิธีปฏิบัติที่แสดงถึงฐานะและอำนาจของแต่ละบุคคล

บทความของ Sarah Durn ในเว็บไซต์ของ National Geographic ที่อธิบายเรื่องชนชั้นสูงในยุคกลางใช้การล้างมือเป็นสัญญะในการแสดงสถานะทางอำนาจ Sarah เล่าถึงมารยาทและข้อปฏิบัติบนโต๊ะอาหารไว้ว่า ในยุคกลาง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจำพวกมีด ช้อน และส้อม เป็นของหายาก ผู้คนทั่วไปส่วนใหญ่มักรับประทานอาหารด้วยมือ

การล้างสิ่งสกปรกในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงยังเป็นการแสดงความสุภาพ และความเคารพต่อผู้อื่น ดังข้อความที่ปรากฏใน Les Contenances de Table ซึ่งเขียนเกี่ยวกับมารยาทบนโต๊ะอาหารในศตวรรษที่ 13 ไว้ว่า “จงดูแลนิ้วและเล็บของคุณให้สะอาดเป็นอย่างดี”

ในบทความนี้ยังอ้างถึง Amanda Mikolic ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ประจำฝ่ายศิลปะยุคกลางแห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะคลีฟแลนด์ (Cleveland) ในรัฐโอไฮโอ ซึ่งเธออธิบายเกี่ยวกับพิธีปฏิบัติก่อนรับประทานอาหารสำหรับชนชั้นสูงไว้ว่า ในบรรดาขุนนางหรือเหล่านักบวชจะมีการล้างหน้าเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากการล้างมือ
หากเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ พิธีปฏิบัติจะยิ่งซับซ้อนและประณีตมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาอย่างละเอียด เพื่อแสดงถึงอำนาจและสถานะทางชนชั้นระหว่างบุคคลในยุคกลาง

โดยเฉพาะสำหรับบรรดาแขกของกษัตริย์ในยุคกลาง พวกเขาจะได้รับการต้อนรับด้วยบทเพลงอันไพเราะจากเหล่านักดนตรี จากนั้น พวกเขาจะถูกนำไปยังในห้องน้ำที่ประกอบไปด้วย “อ่างน้ำอันหรูหรา … ผ้าขนหนูสีขาวสะอาด และน้ำปรุงกลิ่นหอม” โดยแขกผู้มาเยือนจะทำความสะอาดมือของตน และที่สำคัญต้องคอยระวังไม่ให้ผ้าขนหนูสกปรก

นอกจากนี้แล้ว ผู้หญิงจะต้อง ล้างมือ มาก่อนที่จะมาถึง เพื่อให้แน่ใจว่า “เมื่อเอาผ้าขาวมาเช็ดมือ จะไม่มีเศษดินหรือคราบสกปรก [เปื้อนผ้าขาว] ซึ่งเป็นการพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของสุภาพสตรี”

จากนั้น เมื่อบรรดาแขกของกษัตริย์ได้เข้าไปนั่งในห้องโถงใหญ่เรียบร้อยแล้ว กษัตริย์จึงจะเข้าไป โดยบรรดาแขกผู้มาเยือนจะลุกขึ้นยืน ขณะที่กษัตริย์กำลังล้างทำความสะอาดพระหัตถ์ และเมื่อกษัตริย์ล้างพระหัตถ์เป็นที่เรียบร้อย ทุกคนจึงจะนั่งลง

สถานะทางอำนาจและชนชั้นที่ถูกแสดงออกผ่านพิธีปฏิบัตินี้ ยังควบคู่ไปกับข้าวของเครื่องใช้อันหรูหรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกันสำหรับชนชั้นสูงไม่ว่าจะเป็น สบู่ หรือ ภาชนะสำหรับ ล้างมือ

ในยุคกลาง เรียกได้ว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากสบู่ประเภทที่ผลิตจากไขมันของสัตว์ที่นิยมเมื่อศตวรรษก่อน ๆ มาเป็น สบู่อเลปโป (Aleppo) ซึ่งถือว่าเป็นของที่มีราคาและดูมีคลาสสำหรับผู้คนในยุคกลาง

อเลปโป เป็นสบู่ที่ผลิตจากน้ำมันมะกอกและน้ำมันลอเรล ซึ่งถูกนำเข้ามายังยุโรปโดยชาวแซ็กซอน และจากนั้นไม่นาน ผู้คนทั่วยุโรปจึงเริ่มคิดค้นวิธีการทำสบู่อเลปโปด้วยสูตรของตนเอง โดยใช้น้ำมันมะกอกที่มีอยู่ตามท้องถิ่นของตน

นอกจากสบู่อเลปโปที่ดูดีมีคลาสแล้ว ความมั่งคั่งของเหล่าชนชั้นสูงยังถูกแสดงออกผ่านภาชนะที่หรูหราในครัวเรือน เช่น Aquamaniles (เหยือกน้ำ) และ Lavabos (ลักษณะคล้ายกาน้ำที่ถูกแขวนไว้) ภาชนะเหล่านี้จะบรรจุน้ำปรุงกลิ่นหอมที่ใช้สำหรับล้างมือไว้ และคนรับใช้จะมีหน้าที่เทน้ำปรุงกลิ่นหอมลงฝ่าบนมือของผู้รับประทานอาหาร

ภาชนะเหล่านี้มีล้ำค่ามากจน Jeanne d’Évreux ราชินีแห่งฝรั่งเศสและพระชายาของพระเจ้าชาร์ลที่ 4 ทรงนำ Aquamaniles มาใช้เป็นเครื่องประดับบนโต๊ะอาหารอันทรงคุณค่าของพระองค์

ประเพณีเหล่านี้อยู่คู่กับชาวยุโรปเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 18 เมื่อช้อนและส้อมเริ่มมีบทบาทบนโต๊ะอาหารมากขึ้น การล้างมือจึงเริ่มเป็นสิ่งไม่จำเป็น และจึงหลุดออกจากพิธีปฏิบัติบนโต๊ะอาหารในที่สุด โดย Mikolic ได้กล่าวว่า

“พิธีกรรมเกี่ยวกับการล้างมือเริ่มจางหายไปเมื่อเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร [ช้อน ส้อม ฯลฯ] เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และแต่ละครัวเรือนเริ่มมีเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับบรรดาแขกเหรื่อ”

รวมถึง “เมื่อคุณสามารถรับประทานอาหารได้ในขณะที่ยังสวมถุงมืออยู่” Mikolic กล่าว

นอกจากนี้ ในศตวรรษที่ 18 ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับการล้างมือ จากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงพิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับมายาทและความสุภาพ จนเมื่อเกิดการตั้งข้อสันนิษฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับการล้างมือโดย Ignaz Semmelweis นายแพทย์ชาวฮังการีประจำโรงพยาบาล Vienna General Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแพทย์ขนาดใหญ่ มีแบ่งแผนกตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกเป็นสองวอร์ด คือ วอร์ดแรกสำหรับแพทย์และนักเรียน และอีกวอร์ดหนึ่งสำหรับพยาบาลผดุงครรภ์

Semmelweis ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตหลังคลอดของมารดาในวอร์ดสำหรับแพทย์และนักเรียนที่สูงถึง 98.4 ต่อ 1,000 ซึ่งเกิดจากไข้หลังคลอด

Semmelweis พยายามตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตหลังคลอดและพิสูจน์ข้อสันนิษฐานต่าง ๆ จนในปีค.ศ. 1847 Jakob Kolletschka เพื่อนร่วมงานของ Semmelweis ก็ทำให้เขาพบข้อมูลสำคัญ เมื่อ Kolletschka ได้กรีดนิ้วของเขาบนมีดผ่าตัดระหว่างการชันสูตรพลิกศพ และเกิดการติดเชื้อที่ทำให้เขาเสียชีวิต

Semmelweis สงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อประเภทเดียวกันนี้ในแผนกสูติกรรมของแพทย์หรือไม่

แม้ว่าข้อสันนิษฐานของ Semmelweis จะยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่การปฏิบัติต่อทฤษฎีของเขานั้นค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่เข้าท่าแล้ว เขาเริ่มสั่งให้แพทย์ในวอร์ดล้างมือด้วยปูนคลอรีนทุกครั้งหลังจากการชันสูตรพลิกศพ

จนในที่สุด ระหว่างปี ค.ศ. 1848 ถึง 1859 อัตราการเสียชีวิตของมารดาในวอร์ดสำหรับแพทย์ก็ลดลง เหลือระดับเดียวกับวอร์ดพยาบาลผดุงครรภ์ แต่ถึงแม้ว่า Semmelweis จะพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนในวงการแพทย์ยอมรับในข้อปฏิบัติของเขา แต่ก็ใช่ว่าทุกคนทำตามข้อปฏิบัตินี้ง่าย ๆ ข้อปฏิบัติของเขาถูกปฏิเสธและไม่เป็นที่ยอมรับตลอดในช่วงชีวิตของเขา

กระนั้นก็ตาม Semmelweis ไม่ใช่คนเดียวที่พยายามต่อสู้เพื่อข้อเสนอนี้ ยังมีนายแพทย์ชาวอเมริกัน โอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ (Oliver Wendell Holmes) ซึ่งได้ตีพิมพ์บทความไว้ในในปี ค.ศ. 1843 โดยเสนอว่า มือที่ไม่สะอาดเป็นสาเหตุให้เกิดไข้หลังคลอดได้ แม้แต่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) พยาบาลชาวอังกฤษซึ่งถือเป็นผู้ก่อตั้งการพยาบาลสมัยใหม่ ยังได้เขียนไว้ในหนังสือ Notes on Nursing ที่เผยแพร่ในปีค.ศ. 1860 ว่า “พยาบาลทุกคนควรหมั่นล้างมืออยู่เป็นประจำในระหว่างวัน”

ถึงที่สุดแล้ว วงการแพทย์ก็ยังไม่สามารถเข้าใจในประโยชน์และความสำคัญของการล้างมือได้จริง ๆ จนกระทั่งมีการตีความทฤษฎีที่เกี่ยวกับเชื้อโรคและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องการติดเชื้อจากจุลินทรีย์ที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา

ทฤษฎีดังกล่าวได้รับการยอมรับและเป็นที่ประจักษ์ เมื่อโจเซฟ ลิสเตอร์ (Joseph Lister) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ สามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงเป็นอย่างมาก โดยการผลักดันให้ศัลยแพทย์หมั่นล้างมือและฆ่าเชื้อเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้กับผู้ป่วย การล้างมือจึงกลายเป็นเรื่องของสุขอนามัยที่จำเป็นต่อสุขภาพจากนั้นมาจนถึงทุกวันนี้

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564
เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

2 มีค 2567
67
“จุลพันธ์” แจง ที่ราชพัสดุ ไม่เคยเรียกสิทธิการเช่าคืน ชี้ ระบบสิทธิการเช่า 3 ปี เพื่อไม่ให้ประชาชนเสียค่าธรรมเนียมมาก ยันสืบทอดถึงทายาทได้ ด้าน “ชนินทร์” อัด “พิธา” จะให้นำที่ดินของรัฐมาออกเป็นโฉนดหมดไม่ได้

เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 2 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่หนองวัวซอ รับฟังปัญหาที่ดินของประชาชน แล้วพูดถึงการให้สิทธิในการเช่าที่ดิน 3 ปีไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ ทำให้ไม่มีความมั่นคงในชีวิตนั้น ล่าสุดนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน x ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับนโยบายมอบสิทธิการเช่าที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำกินในการดูแลของกรมธนารักษ์ ผมขออนุญาตเพิ่มเติมรายละเอียดสิทธิประโยชน์ในการเข้าสู่ระบบเช่าของกรมธนารักษ์ดังนี้ครับ

พื้นที่ราชพัสดุถูกจัดสรรให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องและยังไม่เคยเรียกคืนสิทธิการเช่า เว้นพื้นที่ติดภารกิจสำคัญทางราชการ เช่น ภารกิจทางทหารที่อาจเป็นอันตรายต่อประชาชน ก็จะไม่สามารถให้เช่าได้

ระบบสิทธิการเช่า 3 ปี เป็นการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ หากจัดให้เช่ามากกว่าสามปี เช่น 30 ปี จะมีการต่ออายุสัญญาเช่าอย่างต่อเนื่องคราวละ 3 ปี เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิการเช่าจำนวนมาก (ในกรณีเช่าคราวละเกิน 3 ปี)

สิทธิในการเช่าที่ดินราชพัสดุสามารถสืบทอดไปยังทายาทได้ ตั้งแต่ดำเนินการมารัฐยังไม่เคยเรียกคืนสิทธิการเช่า

มีอัตราค่าเช่าที่ต่ำ ดังนี้

สำหรับการเช่าเพื่ออยู่อาศัย เนื้อที่เช่าทั้งหมดไม่เกิน 100 ตารางวา คิดอัตรา 25 สตางค์/ตารางวา/เดือน เกินกว่า 100 ตารางวา คิดอัตราค่าเช่า 50 สตางค์/ตารางวา/เดือน
หากเช่าเพื่อการเกษตร เนื้อที่เช่าทั้งหมดไม่เกิน 50 ไร่ คิดอัตราค่าเช่า 20 บาท/ไร่/ปี เกินกว่า 50 ไร่ คิดอัตราค่าเช่า 30 บาท/ไร่/ปี กรมธนารักษ์จะยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าทั้งหมด ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการรังวัดทั้งหมด และเรียกเก็บหลักประกันสัญญาเช่าเท่ากับอัตราค่าเช่าเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น

ผู้เช่าจะได้รับการอำนวยความสะดวกและการดูแลจากรัฐในฐานะที่ดินเช่า มีการจัดการสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การขอทะเบียนบ้าน และการช่วยบรรเทาความเสียหายเมื่อเกิดเหตุอุบัติภัยต่างๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ในการกำกับดูแลของรัฐโดยตรง

ผู้เช่าสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น เพราะสิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุสามารถนำไปเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากธนาคารที่ดำเนินการโดยรัฐได้ เมื่อทำสัญญาเช่าที่ดิน จะมีการยกเว้นค่าเสียหายฐานบุกรุกที่ดินราชพัสดุให้ผู้ได้สิทธิเช่า เป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐและประชาชนอย่างยั่งยืน

ด้านนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่าน X ตอบโต้นายพิธา เช่นเดียวกัน ว่า คุณพิธาต้องเข้าใจว่า สิทธิทำกิน มีหลายประเภท จะคาดหวังให้นำที่ดินของรัฐมาออกเป็นโฉนดทั้งหมดไม่ได้ครับ

ทั้งนี้ที่ดินหนองวัวซอ ที่รัฐบาลส่งมอบ 9,000 ไร่ ให้ประชาชน ถึงแม้จะไม่ใช่ ‘กรรมสิทธิ์ขาด’ แต่ก็เป็น ‘สิทธิการเช่า’ ที่พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นแน่นอน ทั้งนี้การจะวิพากษ์วิจารณ์ต้องเข้าใจก่อนว่า ที่ดินหนองวัวซอ เป็นที่ดินธนารักษ์ (ของรัฐ) มาอยู่แล้ว แต่มีกองทัพเข้าไปใช้งาน

สิ่งที่รัฐบาลทำ คือเจรจาดึงสิทธิบนที่ดินกลับมา แล้วมาออกเอกสารสิทธิการเช่าให้ประชาชน มีที่ดินทำกิน “แบบถูกต้องตามกฎหมาย” ไม่ต้องบุกรุก ไม่ต้องมีข้อพิพาท

การเช่าจากรัฐครั้งนี้ เป็นการเช่า 3 ปี ต่อ 3 ปี ไปเรื่อยๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และค่าเช่าถูกมากกกก

(จะให้โอนกรรมสิทธิ์ของรัฐให้เป็นที่ดินประชาชนโดยขาดไปเลย ก็อาจจะยังไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมในกรณีนี้)

สิทธิการเช่านี้ ใช้เป็นหลักทรัพย์ขอสินเชื่อได้ อาจจะไม่มากเท่ากรรมสิทธิ์ขาด แต่ก็เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทุนของประชาชน


ไทยรัฐ
2 มีนาคม 2567
68
ศิริราชมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี 2565 ให้แก่ "นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง" แพทย์ชำนาญการ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ริเริ่มโครงการต่อลมหายใจ กองทุนช่วยเหลือเด็กป่วย สู่การส่งผู้ป่วยเด็กกลับบ้านพร้อมเครื่องช่วยหายใจ วางแนวคิดก่อตั้ง รพ.เด็กสรรพสิทธิประสงค์แห่งแรกของเขตสุขภาพที่ 10

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานงานแถลงข่าว “ประกาศผลพร้อมมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565” พร้อม ผศ. นพ.สมุทร จงวิศาล ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบทโดย ศ.นพ.อภิชาตระบุว่า แพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565 คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกให้ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ประจำปี 2565

ผศ.นพ.สมุทร กล่าวถึงการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ว่า คณะกรรมการฯ มีการพิจารณาคุณสมบัติหลายประการ ประกอบด้วย การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การบริหาร มนุษยสัมพันธ์ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ในวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งระยะเวลาในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช

สำหรับปี 2565 ได้มีการเสนอชื่อแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบท ให้คณะกรรมการฯ พิจารณา จำนวน 11 คน จากนั้นจึงเดินทางไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงาน โดยมีการสัมภาษณ์แพทย์ ผู้ร่วมงาน และผู้มารับบริการ ตลอดจนเยี่ยมชมผลงานและโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการพิจารณาขั้นสุดท้าย เพื่อคัดเลือกแพทย์ที่มีความเหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ยังนำผลงานแพทย์ที่เคยตรวจเยี่ยมและสัมภาษณ์เมื่อปีก่อนมาพิจารณาด้วย คณะกรรมการฯ สามารถคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565 ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ อีกทั้งยังเป็นผู้อุทิศตนปฏิบัติราชการในจังหวัดห่างไกล รวมทั้งปรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยในความเชี่ยวชาญอย่างครอบคลุมถึงครอบครัวและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ ความชำนาญ ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการและทรัพยากรสุขภาพ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างสุดความสามารถ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรและชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรและประชาชนในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างยั่งยืน เป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันดาลใจที่ดีของการทำงานอย่างมีความสุขในทุกระดับการบริการสาธารณสุข

ผศ.นพ.สมุทรกล่าวว่า นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง เป็นแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นด้านการครองตน การครองคน และการครองงาน ยึดถือการปฏิบัติงานบนปณิธานที่จะใช้ศักยภาพของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากผลงานของแพทย์ท่านนี้ที่ประจักษ์สู่สาธารณชน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าท่านเป็นผู้ใช้ศาสตร์ทางการแพทย์และศิลปะในเสียงเพลง เพื่อการต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแค่ในหน่วยบริการสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังคงใส่ใจประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกสถานะ ทุกเชื้อชาติ อย่างเท่าเทียมกันตลอดมา ดังนั้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จึงมีมติให้ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง เป็นผู้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2565 เพื่อเป็นเกียรติประวัติ เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่แพทย์ท่านอื่นสืบไป

สำหรับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประกอบด้วย โล่เกียรติยศและเงินรางวัลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จำนวน 200,000 บาท บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 50,000 บาท และบริษัท เทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 20,000 บาท

ประวัติ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง เกิดวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2515 จบการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต ปี 2540 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่) , วุฒิบัตรสาขากุมารเวชศาสตร์ ปี 2546 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวุฒิบัตรสาขาโรคระบบหายใจเด็ก ปี 2548 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนประวัติการทำงาน ปี 2540 - 2541 ตำแหน่ง นายแพทย์ 4 รพ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี , ปี 2542-2548 ตำแหน่ง นายแพทย์ 5 - 6 รพ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ปี 2549 - ปัจจุบัน ตำแหน่ง นายแพทย์ 7 (ชำนาญการ) ด้านเวชกรรมสาขากุมารเวชกรรม รพ.สรรพสิทธิประสงค์

ผลงานดีเด่น ปี 2549 โครงการต่อลมหายใจ (Home Ventilator) และกองทุนช่วยเหลือเด็กป่วย โดยเป็นตันแบบและพัฒนางานไปสู่การเป็น Home Ventilator Center ในระดับภูมิภาค รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ สามารถส่งผู้ป่วยเด็กกลับบ้านพร้อมเครื่องช่วยหายใจได้เป็นรายแรกของ สปป.ลาว ในปี 2561 โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยในโครงการต่อลมหายใจที่สามารถกลับบ้าน พร้อมเครื่องช่วยหายใจและอยู่ในความดูแลต่อเนื่องร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ จำนวนมากที่สุดในไทย คือ 42 ราย

ปี 2563 วางแนวคิดและร่วมก่อตั้ง “รพ.เด็กสรรพสิทธิประสงค์” ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่การใช้งาน รพ.สนามเดิมของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ หลังจากการรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และแก้ไขปัญหาความแออัดของหอผู้ป่วยเด็กใน รพ.ศูนย์ “รพ.เด็กสรรพสิทธิประสงค์” สามารถเปิดให้บริการเป็น รพ.เด็กแห่งแรกในเขตบริการสุขภาพที่ 10 และในระดับภูมิภาค ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2564

นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง ได้รับการเรียกขานว่า “หมอนักร้อง” เนื่องจากได้ประพันธ์เพลง ขับร้อง และจัดคอนเสิร์ตการกุศลอยู่เสมอ เพื่อหาทุนช่วยเหลือผู้ป่วยและชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นนักพูด นักเขียน นักกิจกรรม ในหัวข้อ “เรื่องเล่าเร้าพลัง (Empowerment)” และเขียนหนังสือ “หน้าต่างความดีงาม” เพื่อเผยแพร่มุมมอง และทัศนคติในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อสังคม เพื่อหาทุนในการจัดกิจกรรม ได้แก่ ก่อตั้งหน่วยโรคระบบทางเดินหายใจเด็กและกองทุน โครงการมีชีวา

อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง ได้รับเชิญจากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นวิทยากรในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 215 ครั้ง ซึ่งมีผู้ฟังมากกว่า 50,000 คน รวมถึงเป็นผู้มีทักษะในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ โดย ปี 2562 จ.อุบลราชธานีประสบอุทกภัย นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง เสียสละโดยการลงพื้นที่ บริจาคเงินส่วนตัว และเครื่องอุปโภคบริโภค ภายหลังที่สถานการณ์คลี่คลายลง ได้จัดคอนเสิร์ตร่วมกับ ม.ราชภัฏอุบลราชธานีและเครือข่ายทางสังคม เพื่อขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้าช่วยเหลือ พร้อมทั้งเปิดช่องทางการสื่อสารผ่าน YouTube เพื่อเผยแพร่ภาพประกอบบทเพลง “ลมหายใจ” ปี 2563 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง ได้เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ผ่านสื่อออนไลน์ในท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอและเผยแพร่มิวสิกวิดีโอ ทาง YouTube นั่นคือ เพลง หมอขอร้อง “โคโรน่าออกไป” ซึ่งดัดแปลงจากเพลง “I will survive”

นอกจากนี้ นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง ยังได้รับเกียรติจาก สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ HA Thailand ให้จัดแสดงมินิคอนเสิร์ต “นักรบเสื้อขาว เธอผู้ไม่ยอมแพ้” เพื่อให้กำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศไทย ที่ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งมีผู้รับชมการถ่ายทอดสดมากกว่า 10,000 คน

สำหรับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ก่อตั้งเมื่อปี 2516 เพื่อเชิดชูเกียรติแพทย์ผู้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ในชนบท และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการแพทย์และงานส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ให้เจริญก้าวหน้า เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนร่วมวิชาชีพและนักศึกษาแพทย์ โดยเฉพาะบัณฑิตแพทย์ที่ต้องออกไปปฏิบัติงานในชนบท ให้มีทัศนคติที่ดีและมองเห็นคุณค่าของการทำประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคมในชนบท

รางวัลนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยที่แพทย์ผู้รับรางวัลจะได้รับเกียรติให้แสดงปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ เพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แด่ ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม โปษะกฤษณะ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านเป็น “ครูแพทย์” ที่สำคัญของศิริราช ที่มีความรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งในวิทยาการหลายสาขา เป็นผู้ที่เอาใจใส่ ดูแล สนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติงานของแพทย์ไทยในชนบทอย่างดีตลอดมา แม้ว่าท่านจะครบเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านยังไปเยี่ยมเยียน เป็นกำลังใจ และเป็นที่ปรึกษาแก่แพทย์ที่ทำงานในชนบท โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ทักษะในการทำผ่าตัดต่าง ๆ ต่อมาเป็นเวลาหลายปี นามของท่านจึงสมควรปรากฏเพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่บุคคลรุ่นหลังสืบไป โดยบรรดาศิษย์และญาติมิตรของท่านอาจารย์ได้ร่วมกันบริจาคเงินจำนวนหนึ่งก่อตั้ง “ทุนศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ” ใช้ดอกผลดำเนินงานเกี่ยวกับ “ปาฐกถาอุดม โปษะกฤษณะ” และเป็นรางวัลแก่แพทย์ดีเด่นในชนบท


2 มี.ค. 2567  ผู้จัดการออนไลน์
69
ปัจจุบัน “ขยะทะเล” เป็นปัญหาที่สร้างวิกฤติให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มักไม่ได้รับการจัดการ หรือทำลายให้ถูกต้องเหมาะสม ประมาณ 10 – 15% ของขยะพลาสติกทั้งหมด มีโอกาสไหลลงสู่ทะเลผ่านทางแม่น้ำลำคลอง ทำให้ขยะพลาสติกที่ตกค้างเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเล

ขยะพลาสติกเหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลมากที่สุด โดยเฉพาะเต่าทะเล โลมา และวาฬ ส่งผลให้สัตว์เหล่านี้เสียชีวิตจากสาเหตุขยะพลาสติกเข้าไปอุดตันในกระเพาะอาหารทำให้ร่างกายของพวกมันทำงานไม่ได้ จนเสียชีวิตในที่สุด

นอกจากขยะพลาสติกจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำแล้ว มนุษย์ก็อาจได้รับผลกระทบจากขยะทะเลด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อสัตว์น้ำกินเศษขยะหรือมีเศษขยะขนาดเล็ก ที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” เข้าไปในร่างกาย เมื่อมนุษย์บริโภคสัตว์น้ำเป็นอาหาร ได้รับปริมาณไมโครพลาสติกที่มากขึ้นในทุกๆ วัน ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้  การติดตั้งทุ่นดักขยะ เพื่อลดปริมาณขยะที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะในทะเล

ธ.กรุงเทพ ติดตั้งเครื่องมือดักขยะในทะเล
“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้เริ่มต้นดำเนินโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ เพื่อร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะในแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยในปัจจุบันได้เริ่มดำเนินงานในระยะที่ 1 อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ได้ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่น ประชาชน และชุมชนในพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ติดตั้งเครื่องมือดักขยะในพื้นที่นำร่องบริเวณคลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยากรณ์ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากศึกษาข้อมูลและสำรวจพื้นที่ร่วมกันพบปัญหาขยะจำนวนมากที่ไหลจากชุมชนต่างๆ มารวมบริเวณนี้ก่อนจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกปากแม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย

ดักขยะไหลลงแม่น้ำลำคลอง
เครื่องมือดักขยะที่ติดตั้งในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ประเภทเครื่องมือ ได้แก่ ทุ่นดักขยะ (Boom) ผลิตจากพลาสติก HDPE สีเหลือง ขนาด 0.35x0.50 เมตร พร้อมตาข่ายความยาว 15 เมตร และลึกลงไปจากผิวน้ำ 50 เซนติเมตร อายุการใช้งาน 5-7 ปี กระชังไม้ไผ่ดักขยะ เป็นโครงไม้ไผ่ติดอวน ขนาด 3x3 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี และเครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก เป็นโครงไม้ไผ่ผูกอวน ขนาด 5x10 เมตร อายุใช้งาน 3-5 ปี ซึ่งเครื่องมือทั้ง 3 ประเภทเหมาะสมกับสภาพกระแสน้ำ สามารถรองรับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงได้ จะเป็นตัวช่วยดักขยะที่ไหลมาตามน้ำไม่ให้ไหลต่อลงสู่แม่น้ำท่าจีนและทะเลอ่าวไทย

ติดตั้ง “น้องจุด” หรือ ฉลามวาฬพี่ใหญ่แห่งท้องทะเล เป็นที่พักขยะแบบถาวร สำหรับพักขยะประเภทขวดพลาสติก ทั้งจากการดักจับบนผิวน้ำและเกิดขึ้นบนบก ซึ่งขวดพลาสติกเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในขยะทะเลที่ถูกพบมากในประเทศไทย โดยจะตั้งวาง “น้องจุด” ไว้ 2 จุดในบริเวณลานวัดสหกรณ์โฆสิตาราม ซึ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมและตลาดนัดเป็นประจำ

ทั้งนี้ อุปกรณ์ทุกประเภทดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้ามาดูแลเป็นประจำ โดยตักขยะเพื่อนำไปคัดแยกและรีไซเคิล ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้ว หรือขยะกำพร้า จะถูกส่งไปทำเชื้อเพลิงทดแทนให้เกิดประโยชน์ต่อไป

กอบศักดิ์ กล่าวว่านอกจากการติดตั้งเครื่องมือดักขยะแล้ว คณะทำงานยังได้เริ่มดำเนินงานตามแผนในระยะ 2 โดยจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังในเรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้แก่ชุมชน และโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่าและเป็นรายได้ให้แก่ครอบครัว

 “เมื่อชุมชนเริ่มมีองค์ความรู้และขยะที่คัดแยกออกมาได้มีปริมาณที่มากขึ้น ธนาคารจะเริ่มพัฒนาและต่อยอดสู่การก่อตั้งโครงการธนาคารขยะในชุมชนต้นแบบ ให้ประชาชนและบริษัทรับซื้อ เข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายขยะในพื้นที่ เพื่อให้จัดการขยะได้อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน”

ทั้งนี้แม่น้ำท่าจีน เป็น 1 ใน 5 แม่น้ำสายสำคัญที่จะไหลลงสู่ทะเล และพบปัญหาขยะที่มีมากกว่า 14 ล้านชิ้น หรือประมาณ 148 ตันต่อปี เป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องเร่งกำจัดขยะเหล่านี้ออกให้เร็วที่สุด ควบคู่กันก็คือ ต้องสกัดไม่ให้ขยะใหม่ไหลลงไปสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น อันเป็นที่มาของการติดตั้งเครื่องมือดักขยะ  โดยจะมีการบันทึกข้อมูลเพื่อวัดปริมาณขยะแต่ละประเภทและวิเคราะห์ที่มาของขยะ เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาอย่างชัดเจนและแก้ไขไปจนถึงต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา แก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน

พิทักษ์ธรรมชาติและประชาชน
วสันต์ แก้วจุนันท์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกขาม มากว่า 37 ปี กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องมือดักขยะตามแผนงานโครงการ ‘Bualuang Save the Earth : รักษ์ท่าจีน’ จะช่วยแก้ไขปัญหาขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลได้เป็นอย่างดีและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เนื่องจากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เมืองเริ่มขยายตัวมากขึ้น มีหมู่บ้านจัดสรรและโรงงานเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยปัญหาขยะและน้ำเสียที่ไหลลงแม่น้ำลำคลอง กระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งส่งผลให้พื้นที่การทำประมงและพื้นที่ธรรมชาติถูกรุกล้ำมากขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง หรือการทำวังกุ้ง ก็ทำได้ลำบาก หาลูกกุ้งธรรมชาติได้ยากมากขึ้น หรือแม้แต่การลงเล่นน้ำในคลองก็ทำไม่ได้ เพราะน้ำไม่สะอาด

“หวังว่าการติดตั้งทุ่นดักขยะ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยดักขยะไม่ให้ไหลลงสู่ชายฝั่งและทะเล ที่เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหา จากนั้นคงต้องช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง พวกลูกกุ้งธรรมชาติจะได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อมีการส่งเสริมความรู้เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าเมื่อเด็กมีนิสัยที่ดีติดตัว ก็จะช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ในอนาคต” 

Bangkokbiznews
1 มีค 2567
70
จากกรณีข่าวชายต่างชาติ ทำร้ายร่างกายหมอธารดาว ที่บริเวณชายหาดยามู จังหวัดภูเก็ต ขณะนั่งเล่นริมหาด เนื่องจากชายต่างชาติอ้างว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่วิลล่าของเขา ซึ่งวันนี้ทางฝั่งคู่กรณีได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้เตะแต่อย่างใดเป็นเพียงล้ม พร้อมขอโทษหมอธารดาวและครอบครัวแล้วนั้น

ล่าสุด หมอธารดาว เปิดใจว่า ในวันนี้คู่กรณีได้มีการแถลงข่าวขอโทษ ซึ่งเธอมองว่าหากเป็นการขอโทษมาจากก้นบึ้งของหัวใจเธอก็ยินยอมและจะรับคำขอโทษนั้น แต่ในเมื่อกระทำผิดไปแล้วก็ควรเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย

และนอกจากนี้เธอมองว่าการทำร้ายร่างกายไม่ควรเกิดขึ้นกับใครไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหนหรือคนประเทศอะไร คนก่อเหตุก็ไม่ควรใช้ความรุนแรง  ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆคนรับไม่ได้ มองว่าไม่ได้ส่งผลต่อสภาพร่างกายเพียงอย่างเดียวยังส่งผลต่อสภาพจิตใจอีกด้วย

ขณะที่นายเกษม พ่อของหมอธารดาว เปิดเผยว่า การที่คู่กรณีซึ่งเป็นชาวต่างชาติมีพฤติกรรมดังกล่าวเชื่อว่ามีคนระดับสูงหนุนหลัง และเชื่อว่าคู่กรณีที่เป็นชาวต่างชาติจะต้องเป็นคนที่ค่อนข้างมีอิทธิพลในพื้นที่ ส่วนประเด็นที่มีการแจ้งความและตำรวจมีลักษณะคล้ายข่มขู่  เนื่องจากกฎหมายในการบุกรุกมีทั้งหมด 3 ข้อแต่ทางเจ้าหน้าที่กลับเลือกที่จะบอกข้อหาที่หนักที่สุด ใครต้องการทำให้ลูกสาวของตัวเองเกิดความกลัว

ทั้งนี้มองว่าตำรวจที่เข้าไปในพื้นที่ควรจะปกป้องประชาชน ที่ถูกกระทำไม่ใช่ปกป้องคู่กรณี ซึ่งมันผิด ดังนั้นตำรวจอย่าเป็นเห็บ ต้องเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ไม่เช่นนั้นสังคมไทยจะอยู่อย่างไรต่อไป และอยากให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างในสังคมไทย
อย่างไรก็ตามควรจะมีการจัดการพื้นที่ในการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตใหม่ ต้องมีการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะในแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าไปใช้พื้นที่ได้ และอยากให้คนในพื้นที่ภูเก็ตออกมาเปล่งเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีอีก 1 คน ได้ส่งข้อความมาหา หมอธารดาว ผ่านทางโซเชียลว่า ตนเองก็ถูกกระทำจากชายชาวต่างชาติรายนี้เหมือนกัน โดยพฤติกรรมคือฝั่งคู่กรณี ขับรถหวาดเสียวตนจึงได้เข้าไปแจ้งความแต่ทางคู่กรณีได้แจ้งความกลับในข้อหาหมิ่นประมาท และเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 ทางคู่กรณีได้มีการยกนิ้วกลางใส่ชายคนดังกล่าว โดยที่ชายคนนี้ยังเผยว่าคู่กรณีที่เป็นชาวต่างชาติมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างแย่

PPTVHD36
1มีค2567
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 10