แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - pani

หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 51
31

ภาพ : รัฐเซาท์ดาโคตา
ภาพโดย : ปีเตอร์ เอสสิก
คำบรรยายภาพ : ด้วงสนภูเขารุกคืบทำลายผืนป่าทางตะวันตกของสหรัฐฯ รวมถึงป่ารอบๆเมานต์รัชมอร์เหล่านี้ ป่าสนที่เห็นเป็น สีเทาคือสนใบโกร๋นที่ยืนต้นตาย ส่วนที่เห็นเป็นสีสนิมเพิ่งตายลงและยังเหลือใบอยู่ คำถามคือฝูงด้วงจะแพร่ระบาดไปทั่วทวีปอเมริกาเหนือหรือไม่

ด้วงสนภูเขาที่ทำลายล้างผืนป่าในสหรัฐฯ กำลังรุกคืบเข้าสู่แคนาดา เราจะหยุดยั้งหายนะนี้ได้หรือไม่



ยามเช้าอากาศเย็นเยือกวันหนึ่งของเดือนตุลาคม ปี 2013 ไดอานา ซิกซ์ จอดรถที่ชายป่าสนในหุบเขาบิกโฮล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐมอนแทนา  ใต้เงื้อมเงาของหมู่ยอดเขาห่มหิมะคือป่าสนลอดจ์โพลสี่สีปกคลุมไปทั่ว เนินเขา  แต่ละสีที่เห็นคือลำดับเวลาการถูกทำลาย  สีเทาคือต้นไม้ใบโกร๋นเหลือแต่ลำต้นและกิ่งก้าน พวกมันตายไปตั้งแต่ปี 2009  ส่วนต้นสีแดงอ่อนๆยังไม่ทิ้งใบคือพวกที่ชะตาขาดเมื่อปี 2011 ตามมาด้วยสนต้นสีแดงอมส้มเข้มที่ตายลงเมื่อปี 2012  และแม้แต่สนที่ยังดูเขียวก็อาจไม่แข็งแรงอย่างที่เห็น คือคำอธิบายของซิกซ์ นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยมอนแทนา ราวหนึ่งในสี่ของต้นสนเหล่านั้นหมดหนทางเยียวยาแล้ว

ซิกซ์คว้าขวานแล้วเดินเข้าป่า เธอหยุดที่ดงสนลอดจ์โพลซึ่งมีทั้งต้นสีเขียวมรกตและสีส้มไหม้ปะปนกัน ใช้ขวานค่อยๆถากเปลือกไม้จากต้นสีเขียวต้นหนึ่ง แล้วบากร่องจนเห็นเนื้อไม้ซีดๆ ในนั้นมีตัวอ่อนสีดำของด้วงขนาดเท่าเมล็ดงา ตัวอ่อนเหล่านี้ตายเพราะน้ำค้างแข็งซึ่งมาก่อนฤดูกาล แต่ก็ช้าเกินกว่าจะช่วยชีวิตสนต้นนี้ไว้ได้ แม้มันจะยังดูเขียวสด แต่โฟลเอ็ม (phloem) หรือเนื้อเยื่อท่อลำเลียงอาหารใต้เปลือกก็แห้งเกรียมเสียแล้ว

ซิกซ์หันไปเฉือนเปลือกของอีกต้นซึ่งดูเหมือนจะแข็งแรงเช่นกัน โฟลเอ็มยังเป็นสีชมพูอมเขียวชุ่มฉ่ำ เห็นได้ชัดว่ายังมีน้ำหล่อเลี้ยง แต่พบรอยด้วงกัดเป็นร่องชัดเจน เมื่อดูจากขนาดของร่องและการไม่พบตัวอ่อนซิกซ์สรุปว่าสนต้นนี้เพิ่งถูกด้วงเจาะไม่ถึงสัปดาห์

นี่คือสภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในป่าสนเนื้อที่หลายล้านไร่ทั่วภูมิภาคตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ถ้าขับรถผ่านพื้นที่บางส่วนของรัฐโคโลราโด คุณอาจเห็นไหล่เขาหลายลูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้สีสนิม สนเกือบ ทุกต้นยืนต้นตายเพราะแมลงตัวร้ายขนาดเล็กกว่าหัวเป๊กติดกระดาน พวกมันคือด้วงสนภูเขานั่นเอง และหากไปเยือนรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ภาพความเสียหายอาจรุนแรงกว่านี้ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ป่าสนราว 180,000 ตารางกิโลเมตรของที่นั่นถูกแมลงชนิดนี้รุกรานสร้างความเสียหายในหลายระดับ

ด้วงสนภูเขาแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆที่กำลังคุกคามภูมิทัศน์ของทวีปอเมริกา เพราะพวกมันไม่ใช่ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หากเป็นสัตว์ประจำถิ่นของป่าสนในแถบตะวันตกและปกติมีอยู่ไม่มากนัก พวกมันเจาะต้นสนตายอย่างมากก็แค่ต้นสองต้นตรงนี้บ้าง ตรงโน้นบ้าง ประชากรของด้วงชนิดนี้อาจทวีจำนวนบ้างเป็นครั้งคราว และบางทีก็ถึงขั้นทำลายป่าผืนใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จำกัดวงอยู่ในภูมิภาคเดียว ไม่ใช่ทำลายป่าครึ่งค่อนทวีปแบบนี้

การระบาดคราวนี้นับว่ารุนแรงและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ผืนป่าตั้งแต่ทางตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโกขึ้นไปจนถึงรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาถูกด้วงเจาะตายคิดเป็นพื้นที่มากกว่า 2,430,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อการระบาดในรัฐบริติชโคลัมเบียสิ้นสุดลง สนโตเต็มวัยราวร้อยละ 60 ของที่นั่นอาจพากันล้มตาย คิดเป็นเนื้อไม้มากถึงหนึ่งพันล้านลูกบาศก์เมตร

ไม่ใช่แค่ต้นไม้ที่ตกเป็นเหยื่อ ป่าที่ตายแล้วส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่สายใยอาหารไปจนถึงเศรษฐกิจในท้องถิ่น เมืองทำไม้หลายเมืองในรัฐบริติชโคลัมเบียขาดรายได้ ขณะที่หมีและนกในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนขาดแหล่งอาหารสำคัญ และเมื่อไม่มีรากไม้คอยยึดเกาะ หน้าดินก็ถูกกัดเซาะ

ด้วงสนภูเขาอาจนึกขอบคุณพวกเราที่ช่วยให้พวกมันได้เสพสุขกันอย่างในตอนนี้ เราใช้เวลาตลอดศตวรรษที่ผ่านมาพยายามกำจัดไฟป่า ส่งผลให้มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์ให้ด้วงได้อิ่มหมีพีมัน ตอนที่วิกฤติด้วงสนภูเขาเปิดฉากขึ้น ต้นสนโตเต็มวัยในป่าของรัฐบริติชโคลัมเบียขึ้นกันหนาแน่นมากกว่าป่าที่ปล่อยให้เกิดไฟป่าตามธรรมชาติถึงสามเท่า เช่นเดียวกับด้วงสนภูเขา ไฟป่าเองก็เป็นปัจจัยธรรมชาติประจำถิ่นของป่าสนแถบตะวันตก และมีความสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไม่ต่างจากฝน ไฟป่าช่วยบำรุงดิน กระจายเมล็ดพันธุ์ และเปิดที่โล่งให้แดดส่องถึงพื้นดิน ทำให้ป่าเป็นถิ่นอาศัยสำหรับสรรพชีวิต

แอลลัน แคร์รอลล์ นักนิเวศวิทยาด้านแมลงจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย อธิบายว่า เมื่อร้อยปีก่อนรัฐบริติชโคลัมเบียมีสนลอดจ์โพลที่โตเต็มวัยและสุ่มเสี่ยงจะเป็นอาหารของด้วงอยู่เพียงร้อยละ 17 พอถึงกลางทศวรรษ 1990 จำนวนก็ทวีขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 50

กระนั้น ลำพังการเพิ่มขึ้นของไม้โตเต็มวัยอย่างเดียวไม่น่าจะทำให้ผืนป่าในสิบรัฐของสหรัฐฯและสองรัฐในแคนาดาถูกด้วงเจาะจนตายยกภูเขา ความเปราะบางนั้นเกื้อหนุนให้การระบาดทวีความรุนแรงขึ้น แต่ปัจจัยที่โหมกระพือคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราเองที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของด้วงด้วยการทำให้โลกอุ่นขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งทำให้ต้นไม้อ่อนแอจนไม่อาจต้านทานภัยจากผู้รุกรานได้ สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นยังช่วยเพิ่มประชากรของด้วงและขยายถิ่นกระจายพันธุ์ของมันให้กว้างใหญ่ไพศาล พวกมันขยายอาณาเขตขึ้นไปทางเหนือมากขึ้นและบนพื้นที่สูงกว่าเดิม โจมตีสนพันธุ์ต่างๆอย่างสนแจ็กไพน์และสนไวต์บาร์กที่ไม่ค่อยพานพบศัตรูตัวฉกาจนี้กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ สามในสี่ของสนไวต์บาร์กโตเต็มวัยในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนตายหมดแล้ว ส่งผลกระทบต่อหมีกริซลีและนกเจาะลูกสนสีเทาซึ่งอาศัยกินลูกสนเหล่านี้

เมื่อปี 2008 แคร์รอลล์และนักวิจัยคนอื่นๆรายงานผลการวิจัยต่อรัฐบาลแคนาดา โดยสรุปว่าความเสี่ยงที่ด้วงสนภูเขาจะระบาดในหมู่สนแจ็กไพน์ในป่าไม้เขตหนาวเหนือ (boreal forest) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึงหนึ่งในสี่ของแคนาดานั้นมีอยู่น้อย แต่ก็น่าเป็นห่วง ถึงตอนนี้ด้วงสนภูเขาก็เจาะทะลวงสนแจ็กไพน์ได้แล้ว พวกมันยึดครองผืนป่าตั้งแต่รัฐแอลเบอร์ตาไปถึงรัฐซัสแคตเชวันทางตะวันออก ขึ้นเหนือไปจนถึงดินแดนยูคอนและนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ สนแจ็กไพน์ต่างจากสนลอดจ์โพลตรงที่สามารถเติบโตในผืนป่าทางตะวันออกไกลถึงรัฐโนวาสโกเชีย และลงใต้ไปถึงแถบมิดเวสต์ตอนบนและภูมิภาคนิวอิงแลนด์ของสหรัฐฯ

“แล้วด้วงจะระบาดไปทั่วทวีปหรือไม่” คือคำถามของแคร์รอลล์ เพื่อนร่วมงานตั้งฉายาให้เขาว่า  “ดร.ดูม”  (Dr. Doom)  ถ้าเห็นเขาไปพบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ไหน ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า ผืนป่าแถบนั้นหมดหวังแล้ว เขาตอบคำถามนั้นของตัวเองว่า “ระบาดแน่”

เรื่องโดย ฮิลลารี รอสเนอร์
สิงหาคม 2558

32

ภาพ : สวนสัตว์สงัดเสียง
ภาพโดย : โรเบิร์ต คลาร์ก
คำบรรยายภาพ : ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันในมหานครนิวยอร์ก จอร์จ ดันเต นักสตัฟฟ์สัตว์ กำลังตกแต่งหมีสีน้ำตาลในฉากหลังสามมิติที่จำลองถิ่นอาศัยในธรรมชาติ

การสตัฟฟ์สัตว์มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า แต่ปัจจุบันบทบาทดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

การสตัฟฟ์สัตว์มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งเป็นยุคสมัยที่นักล่าสัตว์นิยมนำสัตว์ที่ล่าได้ไปให้ช่างทำเบาะช่วยสตัฟฟ์ให้  สัตว์ที่ได้รับการสตัฟฟ์อย่างดีทำให้เรามีโอกาสชื่นชมสัตว์ที่อาจพบเห็นได้ยากในธรรมชาติในระยะประชิด  เรามองดูพวกมันได้โดยไม่มีกรงเหล็กขวางกั้นเหมือนอย่างในสวนสัตว์ ท่วงท่าก็อาจละม้ายคล้ายคลึงกับเวลาที่อยู่ตามธรรมชาติ และให้ “ประสบการณ์เรียบง่ายตรงไปตรงมาบางอย่าง” ทิโมที โบวาร์ด นักสตัฟฟ์สัตว์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในลอสแอนเจลิสเคาน์ตี บอก

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมเดินทางมาชมการแข่งขันสตัฟฟ์สัตว์ระดับโลก (World Taxidermy Championships) ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมในเมืองเซนต์ชาลส์ รัฐมิสซูรี  ด้วยความหวังว่าจะได้พักจากการเขียนเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมที่หาประโยชน์จากสัตว์ป่ามานานหลายปี   แต่ในงานนี้ผมกลับได้ยินผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนใส่เวนดี คริสเตนเซน นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ว่า “นั่นผิดกฎหมายชัดๆ!”

ผู้ชมที่กำลังโกรธจัดรายนี้ชี้ไปยังกอริลลาสตัฟฟ์ซึ่งอยู่ในท่านั่ง ขณะที่คริสเตนเซนกำลังจัดแต่งขนรอบๆ นิ้วมืออันใหญ่โตของมัน หญิงคนนั้นตะโกนขึ้นมาว่า “ฉันเคยอยู่ในรวันดา และฉันรู้ว่ากอริลลาเป็นสัตว์สงวน!”

คริสเตนเซนเป็นผู้หญิงที่ดูน่าเกรงขาม เธอเผชิญหน้ากับผู้กล่าวหาด้วยท่าทางสงบเยือกเย็นพร้อมกับอธิบายว่า กอริลลาตัวนี้ชื่อแซมซัน เป็นดาวเด่นของสวนสัตว์มิลวอกีเคาน์ตีมาร่วมสามสิบปีแล้ว หญิงคนนั้นกล่าวขอโทษก่อนจะอ้าปากค้างกับสิ่งที่คริสเตนเซนบอกต่อมาว่า เจ้าสัตว์ที่นำมาสื่อถึงเรื่องราวของแซมซันตัวนี้ไม่มีส่วนประกอบจากกอริลลาจริงๆแม้แต่นิดเดียว

คาร์ล เอกลีย์ คือบิดาแห่งการสตัฟฟ์สัตว์สมัยใหม่ เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจ เอกลีย์ยกระดับ การสตัฟฟ์สัตว์จากเทคนิคการหุ้มเบาะหนังซึ่งส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง (ตั้งแต่การถลกหนัง ต้มกระดูก ใช้ลวดมัดกระดูกให้เป็นโครง แล้วยัดเศษผ้ากับฟางเข้าไปในโครงที่หุ้มด้วยหนังสัตว์) ให้กลายเป็นงานศิลปะด้วยตัวคนเดียว

เอกลีย์ขึ้นรูปและปรับแต่งท่วงท่าของสัตว์ให้ดูเป็นธรรมชาติด้วยการใช้ดินเหนียวและเศษกระดาษแปะทับเป็นชั้นๆ (เทคนิคปาปีเย-มาเช) เพื่อถ่ายทอดรูปทรงของกล้ามเนื้อและเส้นเลือดของสัตว์ตัวอย่างด้วยความถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แล้วจึงหุ้มหนังของสัตว์ที่จะสตัฟฟ์ทับลงไป จากนั้นเขาก็รวบรวมชิ้นส่วนต่างๆที่ดูเหมือนจริงแล้วจัดวางเป็นฉากหลังสามมิติเลียนแบบถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ

ตรงกลางห้องเอกลีย์ฮอลล์ออฟแอฟริกันแมมมอลส์ (Akeley Hall of African Mammals) ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากทวีปแอฟริกาในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน มีผลงานของเอกลีย์ที่ชื่อ ดิอลาร์ม (The Alarm) ซึ่งเป็นโขลงช้างแปดตัวจัดแสดงอยู่ ผลงานชิ้นนี้มีอายุร่วมร้อยปี แต่ยังดูน่าตื่นตาตื่นใจ ผู้คนจำนวนไม่น้อยยกย่องว่า งานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างการสตัฟฟ์สัตว์ที่ประณีตที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม งานอีกชิ้นในห้องจัดแสดงแห่งนี้อาจถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเอกลีย์ นั่นคือ ฉากแสดงกอริลลาภูเขาที่ถูกทีมของเขาฆ่าในคองโกเมื่อปี 1921 สมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของเบลเยียม การเดินทางครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของเอกลีย์ ในเวลาต่อมาเขาสารภาพหลังมองดูร่างไร้ลมหายใจของกอริลลาเพศผู้ว่า “ผมต้องย้ำกับตัวเองอย่างมากว่าทำลงไปในนามของประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นฆาตกร”

เมื่อกลับจากแอฟริกา เอกลีย์กราบทูลหว่านล้อมให้พระเจ้าอัลเบิร์ตที่หนึ่ง กษัตริย์แห่งเบลเยียม ทรงจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์กอริลลาภูเขา อุทยานแห่งชาติอัลเบิร์ตจึงก่อตั้งขึ้นในปี 1925 และเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของแอฟริกา ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ อุทยานแห่งชาติวีรุงกา (Virunga National Park) ความพยายามเหล่านี้ส่งผลให้เอกลีย์เป็นที่ยอมรับในฐานะบิดาแห่งการอนุรักษ์กอริลลา

 

แซมซันเป็นกอริลลาที่ราบตะวันตกจากแคเมอรูนที่ได้รับการเลี้ยงดูดีเกินไปจนมีน้ำหนักตัวถึง 296 กิโลกรัม มันมีชื่อเสียงจากการชอบทุบกระจกกรงขังในสวนสัตว์มิลวอกีเคาน์ตี ซึ่งทำให้ผู้ชมทั้งหวาดผวาและสนุกตื่นเต้นระคนกัน วันหนึ่งเมื่อปี 1981 แซมซันล้มฟุบลงพร้อมกับจับหน้าอกต่อหน้าผู้ชม สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ไม่สามารถกู้ชีพมันกลับมาได้ การชันสูตรในเวลาต่อมาเผยว่า มันเคยหัวใจล้มเหลวมาแล้วห้าครั้ง

ซากของแซมซันได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นของสวนสัตว์นานหลายปี เมื่อพิพิธภัณฑ์สาธารณะมิลวอกีได้ครอบครองในท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ก็พบว่าผิวหนังของมันเสียหายเกินกว่าจะสตัฟฟ์ได้ 

เวนดี คริสเตนเซน เป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่รู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องนี้ เธอเริ่มสตัฟฟ์สัตว์ตั้งแต่อายุ 12 ปี คริสเตนเซนเสนอจะทำให้เจ้าแซมซันฟื้นคืนชีพด้วยวิธีการสตัฟฟ์สัตว์ที่เรียกว่า การสร้างขึ้นมาใหม่ (re-creation) เป็นการสร้างเลียนแบบโดยไม่ต้องใช้สัตว์ต้นแบบหรือแม้กระทั่งสัตว์ชนิดเดียวกัน ในปี 2006 หรือ 25 ปีหลังการตายของแซมซัน คริสเตนเซนก็เริ่มลงมือสร้างแซมซันจำลองขึ้นโดยไม่มีต้นแบบ

คริสเตนเซนหล่อใบหน้าซิลิโคนขึ้นโดยใช้เบ้าปูนปลาสเตอร์ที่หล่อจากใบหน้าของแซมซันตอนที่มันตาย และอาศัยภาพถ่ายอีกหลายพันภาพในการเทียบเคียง  เธอสั่งซื้อโครงกระดูกกอริลลาจำลองและขนปลอมผสมกับขนจามรีจากซัปพลายเออร์เฉพาะทาง 

คริสเตนเซนใช้เวลาหนึ่งปีหลังจากนั้นทำงานบนนั่งร้านที่เปิดให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มองเห็นได้อย่างเต็มที่เธอบรรจงติดขนลงบนใบหน้าและคอของแซมซันที่หล่อจากซิลิโคน ขณะที่เด็กๆถามคำถามมากมาย ส่วนพ่อแม่ก็บอกเล่าถึงความทรงจำแสนสุขที่ได้เห็นกอริลลาตัวนี้สมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็ก

กรรมการคนหนึ่งในการแข่งขันสตัฟฟ์สัตว์ระดับโลกครั้งนี้ตั้งข้อสังเกตว่า  ศิลปะการสตัฟฟ์สัตว์ไปไกลเกินไปแล้วหรือไม่  เขาบอกว่า  การล่าสัตว์ที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมเพื่อคว้ารางวัลจากการประกวดเท่ากับว่า “เรากำลังดึงเอายีนที่ดีที่สุดออกไปจากยีนพูล [gene pool – ยีนทั้งหมดที่มีอยู่ในประชากรในช่วงเวลาหนึ่ง] ซึ่งส่งผลเสียต่อสัตว์ชนิดนั้นๆ

เมื่อคริสเตนเซนพาแซมซันเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เธอไม่เพียงแข่งกับสัตว์สตัฟฟ์ที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งกับสัตว์สตัฟฟ์ชั้นยอดของโลกที่สร้างจากของจริงอีกด้วย เธอคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันประเภทสร้างขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ยังคว้ารางวัลขวัญใจกรรมการและรางวัลการจัดแสดงดีเด่น เอาชนะนักสตัฟฟ์สัตว์ระดับโลกที่พาสัตว์สตัฟฟ์ของจริงฝีมือขั้นเทพเข้าร่วมประกวดด้วย

เธอทำทั้งหมดนี้ได้โดยไม่ทำให้ขนกอริลลาจริงๆร่วงแม้แต่เส้นเดียว

เรื่องโดย ไบรอัน คริสตี
สิงหาคม 2558

33

ภาพ : พิธีกรรมอำลามหานทีสีมรกต
ภาพโดย : แรนดี โอลสัน
คำบรรยายภาพ : ชนเผ่าเอลโมโลจับปลาตามวิถีดั้งเดิมโดยใช้แหลนและความอดทนในท้องน้ำใกล้ชายฝั่งตะวันออกของทะเลสาบเทอร์แคนา

โครงการพัฒนาทางต้นนํ้าของทะเลสาบเทอร์แคนาอาจทำให้ทะเลสาบแห่งนี้กลายสภาพเป็นแอ่งฝุ่น และทำลายวิถีชีวิตของชนเผ่าในท้องถิ่น



ยามเช้าที่อากาศร้อนวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ กัลเต เนียเมโต ยืนอยู่ริมทะเลสาบเทอร์แคนา พลางกวาดสายตามองเพื่อให้แน่ได้ว่าไม่มีจระเข้ป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น  เนียเมโตผู้เป็นแม่หมอประจำเผ่าดาฮาซานัชมีคนไข้ต้องรักษา และจะเป็นเรื่องอัปมงคลอย่างยิ่งทั้งในแง่จิตวิญญาณและร่างกาย หากพิธีกรรมถูกขัดจังหวะจากสัตว์ที่เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณอันชั่วร้าย             

            ห้วงน้ำสีน้ำตาลพลิ้วไหวเป็นระลอกตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้างจากปลายปีกของนกฟลามิงโกหรือปลาที่ดำผุดดำว่าย ไม่มีวี่แววของจระเข้ ไม่มีกระทั่งวัวหรืออูฐสักตัว เนียเมโตซึ่งดูพออกพอใจพาหญิงสาวนามเซทีล  กัวโกล  ลงไปในน้ำ  บอกให้นั่งลงและชำระร่างกาย  กัวโกลวักน้ำขึ้นรดใบหน้าและแผ่นหลัง

            ขณะเดียวกัน  แม่หมอเนียเมโตก็ใช้มือตักโคลนข้นๆขึ้นมา  และรีบกอบโคลนที่หยดเป็นทางพอกไปตามแนวสันหลังที่ปูดโปนของกัวโกล

            “บาดับ” (จงไปให้พ้น)  เนียเมโตท่องคำคำนี้ไปด้วยทุกครั้งที่พอกโคลน   เพื่อขับไล่ความตายด้วยวจีกรรมและกายกรรม “ทะเลสาบคือสถานที่ชำระล้าง” นางบอก

            เนียเมโตเป็นที่รู้จักในฐานะแม่หมอผู้เป็นที่พึ่งสุดท้าย   เมื่อวิธีอื่นไร้ผล  ไม่ว่าจะเป็นยาจากคลินิก  พระเจ้าในโบสถ์ของคนขาว  หรือองค์กรสาธารณกุศลในอาคารปูน  ชาวบ้านจะพาความป่วยไข้และความกลัวมาหานาง ส่วนเนียเมโตจะหยิบยื่นความหวังให้คนเหล่านั้นแลกกับเศษเงิน

            “ฉันนี่แหละป้ายสุดท้ายก่อนไปยมโลก” เนียเมโตบอกอย่างนั้น

            เนียเมโตพอกโคลนและล้างตัวให้กัวโกลด้วยสัมผัสของมารดาท่ามกลางแสงแดดแผดเผาในยามเช้า เมื่อพิธีเสร็จสิ้นลง เธอก็พยุงกัวโกลให้ลุกขึ้น ทั้งคู่เดินจับมือกันขึ้นจากน้ำ

            “เราจะไม่มองกลับไป” เนียเมโตบอกอย่างขึงขัง “เราทิ้งวิญญาณชั่วร้ายพวกนั้นไว้ข้างหลังแล้ว”

            ส่วนกัวโกลที่เนื้อตัวสั่นเทิ้มเพราะความหนาว และร่างผอมบางราวต้นอ้อบอกว่า “ฉันเชื่อว่าฉันต้องหายค่ะ”

 

เซลีโชเป็นเมืองเล็กๆ ในภูมิภาคอันห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของแอฟริกาตะวันออก  แทบจะเรียกได้ว่าตั้งอยู่ทางเหนือสุดของเคนยา  ห่างจากถนนสายหลักที่ใกล้ที่สุดกว่า 400 กิโลเมตร  และเดินอีกไม่เท่าไรก็ถึงชายแดนเอธิโอเปีย  หากหมายจะไขว่คว้าหรือมองหาอะไรสักอย่างที่ให้ความหวัง สิ่งนั้นก็คงอยู่ไม่ไกลจากประตูบ้านของเนียเมโตเท่าไรนัก  และการที่เธอใช้ทะเลสาบในรักษาโรคก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้  ศรัทธาและความหวังอยู่คู่กับสายน้ำที่นี่เป็นธรรมดา  และ ณ ตอนนี้ ทะเลสาบเทอร์แคนาก็หยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ให้อย่างโอบอ้อมอารี

            นี่คือทะเลสาบถาวรกลางทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก และดำรงอยู่ในภูมิภาคนี้มาราวสี่ล้านปีแล้วมีทั้งช่วงเวลาที่แผ่ขยายและหดตัวอยู่ในร่องภูเขาไฟที่ทอดยาวไปตามขอบหุบเขาเกรตริฟต์แวลลีย์ โฮมินินโบราณอาศัยอยู่ริมทะเลสาบแห่งนี้ และมนุษย์ยุคแรกๆก็ล่าสัตว์ เก็บของป่า และจับปลากันที่นี่ขณะเดินทางขึ้นเหนือในการอพยพออกจากแอฟริกาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว ทะเลสาบมีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันหลายเท่า ก่อนจะหดตัวลงเมื่อราว 7,000 ปีก่อน ชนเผ่ายุคหินใหม่ตั้งเสาหินปริศนาไว้บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ริมชายฝั่ง และทุกวันนี้เนียเมโตเองก็สืบทอดขนบที่หยั่งรากลึกอยู่ในสายน้ำและอาจเก่าแก่มากจนไม่มีใครล่วงรู้ที่มา

            แต่ทะเลสาบเทอร์แคนาก็เปราะบางไม่ต่างจากแหล่งน้ำกลางทะเลทรายอื่นๆ น้ำจืดส่วนใหญ่ของที่นี่หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 มาจากแม่น้ำโอโม ปัจจุบัน แผนการพัฒนาขนาดใหญ่ริมสองฝั่งแม่น้ำของรัฐบาลเอธิโอเปีย รวมถึงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดยักษ์ และการผันน้ำไปหล่อเลี้ยงไร่อ้อยที่หิวกระหายจะคุกคามสายน้ำโอโมที่ไหลชั่วนาตาปีและทำให้ทะเลสาบขาดน้ำ ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ทะเลสาบเทอร์แคนาจะหดตัวและเหือดแห้งไปอย่างช้าๆ นั่นจะทำให้ผู้คนในท้องถิ่นกลายเป็นผู้อพยพจากทุ่งฝุ่นอันกว้างใหญ่ไพศาลของแอฟริกา

            เผ่าของเนียเมโตอยู่ในกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโครงการอันทะเยอทะยานของเอธิโอเปีย และพวกเขายังแทบไม่มีปากเสียงที่จะคัดค้าน ดินแดนของชนเผ่าดาฮาซานัชทอดข้ามพรมแดน และยังถูกแบ่งแยกเมื่อกว่าร้อยปีก่อนโดยนักสำรวจที่มุ่งช่วงชิงผลประโยชน์ให้ฝ่ายอังกฤษด้านหนึ่งและจักรวรรดิเอธิโอเปียอีกด้านหนึ่ง การแบ่งแยกนั้นส่งผลให้ชนเผ่าดาฮาซานัชส่วนใหญ่อยู่ในเอธิโอเปีย ขณะที่กลุ่มเล็กกว่ามากอยู่ในเคนยา พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทั้งเล็กและอ่อนแอที่สุดกลุ่มหนึ่งของเคนยา

            มีชาวดาฮาซานัชสัญชาติเคนยาอยู่ราว 10,000 คน แต่เพิ่งมีผู้แทนจากการเลือกตั้งคนแรกเมื่อไม่นานนี้ ทว่าเป็นเพียงผู้แทนระดับภูมิภาค ห่างไกลจากรัฐสภาในกรุงไนโรบีชนิดไม่เห็นฝุ่น และอยู่เกือบท้ายแถวเมื่อพูดถึงการได้รับความช่วยเหลือจากทางการ               

            ไมเคิล โมโรโต โลมาลิงกา หัวหน้าเผ่าดาฮาซานัช ตระหนักถึงความเป็นคนชายขอบเกือบจะตั้งแต่ เขาลืมตาดูโลกที่นี่เมื่อราว 60 ปีก่อน  “ทางการไม่นับพวกเราครับ” โมโรโตซึ่งใช้เพียงชื่อกลาง บอก  “ในการสำรวจสำมะโนประชากร  พวกเราจัดอยู่ในกลุ่ม ‘อื่นๆ’ คุณคงพอเข้าใจนะครับว่านี่แหละปัญหา”

            โมโรโตอาศัยอยู่ในเยลเรต หมู่บ้านเลี้ยงแพะฝุ่นตลบไม่ไกลจากเซลีโช บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบ เขาก็ไม่ต่างจากหัวหน้าเผ่าอื่นๆในเคนยาที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการ โมโรโตอยู่ในตำแหน่งนี้มาเกือบ 20 ปีแล้วโดยทำหน้าที่คล้ายนายกเทศมนตรีของเมืองเล็กๆ ที่คอยรับเรื่องร้องทุกข์สารพัด แต่เมื่อเดือนเมษายน ปี 2014 หลังภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน โมโรโตต้องเผชิญปัญหาร้ายแรงกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา นั่นคือความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้น้ำ

            ทางตะวันออก ชนเผ่ากับบราต้อนปศุสัตว์เข้ามาหากินในดินแดนของชาวดาฮาซานัช ขณะที่ทางตะวันตก ชนเผ่าเทอร์แคนาข่มขู่คุกคามชาวประมงดาฮาซานัชในทะเลสาบ ทั้งสองเผ่ามีขนาดใหญ่กว่าเส้นสายทางการเมืองดีกว่า  และครอบครองอาวุธผิดกฎหมายมากกว่าชาวดาฮาซานัช

            แต่ในเรื่องนี้ชนเผ่าดาฮาซานัชก็หาได้ซื่อใสไร้เดียงสา  พวกเขามีศักดิ์ศรีและอาวุธ  จึงโต้กลับอย่างหนักหน่วงและบ่อยครั้งก็เป็นฝ่ายก่อเรื่องเสียเอง  โมโรโตในฐานะหัวหน้าเผ่าต้องพยายามป้องปรามไม่ให้โทสะลุกลามจนนำไปสู่วัฏจักรเก่าแก่แห่งการเข่นฆ่าและล้างแค้นซึ่งมักกินเวลาหลายชั่วอายุคน

            “ชาวดาฮาซานัชอย่างเราเป็นคนชายขอบครับ” โมโรโตบอก “สู้กันไปเรามีแต่เสียกับเสีย แถมรัฐบาลยังไม่ช่วยอะไร พวกเขาไม่จัดการกับความขัดแย้งเวลาทุกอย่างสงบ แต่จะลุกขึ้นมาสร้างสันติภาพเฉพาะเวลาเกิดปัญหาเท่านั้น”

            และความขัดแย้งก็ส่อเค้ามาแล้ว  เพราะนอกจากการกระทบกระทั่งอันเป็นปกติวิสัยของเหล่าชนเผ่ากลางทะเลทรายแล้ว  ยังมีเขื่อนกับไร่อ้อยรออยู่   บรรดาผู้นำทางการเมืองในไนโรบีแทบไม่อินังขังขอบแต่โมโรโตรู้ดีว่า  ทะเลสาบที่หดตัวลงจะนำมาซึ่งความรุนแรงมากแค่ไหน


เรื่องโดย นิล ชี
สิงหาคม 2558

34

ภาพ : มรดกบาปแห่งสงคราม
ภาพโดย : สตีเฟน วิลก์ส
คำบรรยายภาพ : อาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งบางส่วนเป็นวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด ถูกทำลายในปี 2012 เพื่อทำให้ท้องทุ่งแห่งนี้ปลอดภัย

ลาวเป็นชาติที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก แต่ก็อาจเป็นชาติที่ทรหดอดทนมากที่สุดชาติหนึ่งในโลกเช่นกัน

ตลอดหลายวันบนทุ่งไหหิน  ผมพยายามเก็บภาพ คิดคำพูดเปรียบเปรย และตกผลึกความคิดที่สามารถสื่อความหมายของความเป็นลาว ชาติที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดชาติหนึ่งในประวัติศาสตร์  แต่สามารถหยัดยืนและก้าวต่อไปจนพบอนาคตอันสดใส สุดท้ายผมพบสิ่งที่ตามหาบนถนนสายหลักอันจอแจในโพนสะหวัน เมืองเอกของแขวงเชียงขวาง นั่นคือเปลือกระเบิดกองมหึมาที่หลงเหลือจากยุทธศาสตร์ทิ้งระเบิดของสหรัฐฯในลาว ถัดจากซากสรรพาวุธกองนั้นมีตู้เอทีเอ็มใหม่เอี่ยมตั้งอยู่ตู้หนึ่ง “สถูปแห่งเงินตรา” สีฟ้าสดตัดกับสีขาวแวววาวตู้นี้ทำให้กองขยะสนิมกรังจากสงครามที่ผู้คนแทบลืมเลือนไปแล้วดูต่ำต้อยด้อยค่าไปถนัดตา ผมเดินไปที่ตู้เอทีเอ็ม เสียบบัตรเดบิตเข้าไป แล้วกดเงินจำนวนหนึ่งล้านกีบ หรือราว 120 ดอลลาร์สหรัฐออกมา ธนบัตรใบละ 50,000 กีบทั้งหมดที่คายออกมาจากตู้บอกเล่าเรื่องราวสดใหม่ของประเทศลาว ที่ซึ่งยุคสมัยแห่งลูกระเบิดหลีกทางให้ยุคแห่งเงินตรา

ผู้คนในแขวงเชียงขวางเคยใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆในถ้ำและอุโมงค์อยู่นานหลายปี ทุกวันนี้ โพนสะหวันเป็นเมืองคึกคักถึงขนาดต้องมีไฟจราจรพร้อมจอดิจิทัลบอกให้คนเดินเท้ารู้ว่ามีเวลาข้ามถนนกี่วินาที สองฟากถนนเรียงรายไปด้วยร้านรวง ธนาคาร ร้านอาหาร และตลาด  สิ่งที่อยู่เคียงคู่บรรดาคนโทหินขนาดใหญ่อันโด่งดังแห่งทุ่งไหหินซึ่งจุดประสงค์ในการสร้างยังเป็นปริศนาสำหรับนักโบราณคดี คือเศษซากจากสงครามทางอากาศของสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 1964 จนถึงปี 1973  ซากอดีตเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว  กองเปลือกระเบิดกองนั้นตั้งอยู่หน้าสำนักงานการท่องเที่ยวของท้องถิ่น

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนคล้ายลูกระนาดสลับกับที่ราบและทุ่งหญ้า บางส่วนของทุ่งไหหินจึงดูละม้ายสนามกอล์ฟขนาดมหึมา บ่อทรายหลายแห่งเกิดจากห่าระเบิดที่ทิ้งลงมา  นับล้านๆลูกที่ระเบิดตูมตาม ขณะที่อีกหลายล้านลูกไม่ระเบิดและกลายเป็นภัยถาวร  โดยเฉพาะต่อชาวไร่ชาวนาและชาวบ้านที่เลี้ยงปากท้องด้วยการเก็บกู้เศษโลหะมีค่าจากลูกระเบิดด้าน

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งมีประชากรไม่ถึงเจ็ดล้านคน แต่ปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือแล้วเกือบห้าล้านเครื่อง  ที่บ้านปากอู  หมู่บ้านทางภาคเหนือริมฝั่งแม่น้ำโขง  ชาวประมงพากันยืนนิ่งไม่ไหวติงบนเรือลำเล็กที่เห็นเป็นเงาดำในแสงสีอำพัน ผืนน้ำรอบๆทอประกายระยิบระยับ ภาพนั้นดูเหมือนภาพเมื่อหลายร้อยปีก่อน เว้นแต่ว่าชายแต่ละคนกำลังใช้โทรศัพท์มือถือพูดคุยไปด้วยระหว่างหาปลา

ในอดีต กรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว  เป็นเมืองเล็กๆที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ  ปัจจุบันกลายเป็นเมืองใหญ่ที่ยังคงไร้ระเบียบ  เมื่อก่อนเคยปกคลุมด้วยความเงียบ  สอดแทรกด้วยเสียงฝน  เสียงร้องไห้กระจองอแงของเด็กน้อย เสียงหัวเราะของผู้คน และเสียงพระสวดมนต์ ทุกวันนี้ ทุกสิ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความอึงอลของเสียงเครื่องปรับอากาศครางหึ่งๆ เสียงเครื่องปั่นไฟ เสียงรถเครื่อง และเสียงแตรรถบาดแก้วหู

เศรษฐกิจลาวกำลังอยู่ในช่วงเติบโตเกือบร้อยละแปดต่อปี  ธงของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (Lao People’s Revolutionary Party) ที่มีรูปค้อนเคียวตามแบบโซเวียต  ยังคงปลิวไสวอยู่เคียงค้างธงชาติ แต่เหล่าผู้นำรัฐบาลบัดนี้ กลับมีบทบาทต่างไปจากเดิม นั่นคือเป็นผู้ผลักดันการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (ASEAN Economic Community: AEC) ลาวตั้งเป้าว่าจะต้องไต่ให้พ้นจากบัญชีรายชื่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุดขององค์การสหประชาชาติให้ได้ภายในปี 2020

ในลาว คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น และแม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุด  ท่ามกลางผู้คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนที่สุด ผมยังพบช่องทางเข้าถึงความเป็นไปได้ต่างๆของโลกภายนอกที่ไม่มีใครนึกฝันถึงก่อนหน้านี้  ในลาวตอนกลางใกล้ชายแดนเวียดนาม  ผมเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งบึ่งมอเตอร์ไซค์กลับบ้านพร้อมจานดาวเทียบหนีบอยู่ใต้แขน  ตามหมู่บ้านบนเขา ผมเห็นกลุ่มเด็กนักเรียนในชุดเครื่องแบบสีขาว-น้ำเงิน และยังเห็นศาสนสถานต่างๆได้รับการปฏิสังขรณ์ซึ่งแน่นอนว่ามีวัดในพุทธศาสนา  และยังมีศาลพระภูมิเจ้าที่ต่างๆอยู่เป็นจำนวนมากด้วย รวมทั้งโบสถ์คริสต์อีกสองสามแห่ง คุณยังเห็นพระห่มจีวรอยู่ทุกหนแห่ง เพียงแต่เดี๋ยวนี้ท่านอาจหิ้วกระเป๋าคอมพิวเตอร์แทนการสะพายย่ามกันบ้างแล้ว

                แม่น้ำโขงยังคงไหลผ่านเวียงจันทน์   แต่พื้นที่ริมสองฝั่งน้ำแปรเปลี่ยนไปแล้ว  จากที่เคยเป็นตลิ่งดินเลนสลับกับท่าทราย  เดี๋ยวนี้กลายเป็นลานคนเดินน่ารื่นรมย์ความยาวราวสามกิโลเมตร ครบครันด้วยเครื่องออกกำลังกายกับทางวิ่ง ทุกเย็นผู้คนมารวมตัวกันที่นี่  นักดนตรีบรรเลงเพลง  ครูสอนออกกำลังกายนำคนออกกำลัง ขณะดวงอาทิตย์อัสดงของเมืองร้อนค่อยๆเร้นกายฝากริ้วสลัวลางทาบทาขอบฟ้า  แล้วความครึกครื้นก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งด้วย  แสงสว่างจากหลอดนีออนบนรถเข็นของพ่อค้าแม่ขาย และแสงไฟวูบไหวจากไฟหน้าของรถมอเตอร์ไซค์

เช่นเดียวกับเกือบทุกสิ่งในลาว  สวนสาธารณะริมน้ำแห่งนี้บอกเล่าเรื่องราวลึกลงไปใต้รูปลักษณ์ภายนอก  นั่นคือชัยชนะของการวางผังเมืองเพื่อประโยชน์ของประชาชน  อันที่จริง  ลานที่ว่านี้เป็นแนวเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันเมืองหลวงจากน้ำท่วม  และข้อเท็จจริงที่ว่าใครเป็นผู้สร้างก็เผยเรื่องราวลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือ  งบประมาณส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ที่รัฐบาลเกาหลีใต้เสนอให้ ปัจจุบัน ประเทศต่างๆในเอเชียต่างยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ลาว มากกว่าที่มหาอำนาจตะวันตกเคยหยิบยื่นให้ในอดีต

ตลอดช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ครอบงำลาว ทั้งสองประเทศไม่เคยสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเลยแม้ สักแห่งเดียว ทุกวันนี้ลาวมีสะพานสวยหรูทอดข้ามแม่น้ำโขงถึงหกแห่ง หนึ่งในนั้นอยู่ที่เมืองท่าแขกซึ่งเป็นจุดที่มีระยะทางเชื่อมต่อจากลาวไปยังเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของไทยและเวียดนามสั้นที่สุด  นั่นคือเพียง 145 กิโลเมตร จากท่าแขก ผมมองเห็นไทยได้จากหน้าต่างโรงแรมระหว่างชมรายการ เวียดนามไอดอล ทางทีวี

                ยุคสมัยแห่งการเชื่อมโยงถึงกันอย่างสันติยุคใหม่นี้เผยให้เห็นผ่านใบหน้าของผู้คนทุกหนแห่งที่คุณไปถึง รูปร่างหรือเค้าโครงของการเชื่อมโยงถึงกันยังสามารถมองเห็นได้จากทางอากาศ ขณะบินอยู่เหนือแม่น้ำโขงจากแขวงสะหวันนะเขต คุณจะเห็นสะพานใหญ่อีกสะพาน [สะพานมิตรภาพไทย-ลาว] ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งผู้คนและผลิตภัณฑ์ต่างๆทั้งเข้าและออกจากลาว เลยสะพานนี้ขึ้นไปทางต้นน้ำเพียงเล็กน้อย คุณจะเห็นเสาไฟฟ้าแรงสูงต้นสูงเท่าตึกระฟ้านำส่งไฟฟ้าซึ่งลาวส่งออกไปยังอีกฟากของแม่น้ำโขง

เรื่องโดย ที. ดี. ออลแมน
สิงหาคม 2558

35

ภาพ : ตามรอยจาริกพระบรมศาสดา
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต่างนิกายล้อมวงนั่งสมาธิรอบต้นโพธิ์ริมสระสรงสนาน ณ ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ลุมพินีวันเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล

ย้อนรอยเส้นทางชีวิตจากเจ้าชายแห่งแว่นแคว้นเล็กๆ สู่สมณะผู้ละทางโลกและเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม

ผผมกำลังเดินเท้าผ่านด่านพรมแดนโสเนาว์รี ปราการด่านสุดท้ายในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย ก่อนเข้าสู่เขตประเทศเนปาล พร้อมนักท่องเที่ยววัยแสวงหาอีกหลายสิบชีวิต พวกเขาล้วนมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สาครมาทา “หน้าผากแห่งท้องฟ้า” หรือชื่อในภาษาท้องถิ่นของเอเวอเรสต์  ยอดเขาสูงที่สุดในโลก  ทว่าเส้นทางของผมนั้นต่างออกไป เพราะการมาเยือนเนปาลครั้งนี้ คือการตามรอยจาริกของมหาบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งอุทิศชีวิตแสวงหาความจริงอันยิ่งใหญ่ ทว่าธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง  จนค้นพบสัจจธรรมที่เรียกว่า “ธรรมะ” อันนำไปสู่การพ้นทุกข์  มหาบุรุษผู้นั้นคือพระศาสดาพุทธโคดม หรืออดีตเจ้าชายสิทธัตถะ

จากพรมแดนเนปาล  ผมโดยสารรถประจำทางท้องถิ่นไปยังตลาดเมืองเตาลิฮาวา เพื่อต่อรถไปยังเมืองติเลาราโกฏ  [เมืองโบราณติเลาราโกฏ (Tilaurakot) ในปัจจุบัน อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลประมาณ 300 กิโลเมตร] เป็นที่ตั้งของนครกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงแห่งแคว้นสักกะ แคว้นอิสระที่ปกครองตนเองโดยศากยวงศ์ สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะและประทับอยู่จนกระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา

แม้ปัจจุบัน กรุงกบิลพัสดุ์จะเหลือเพียงกองซากอิฐ แต่ความพยายามฟื้นฟูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ดำเนินการมายาวนานแล้ว  ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2439  ดร.เอ.เอ. ฟือห์เรอร์  นักโบราณคดีชาวเยอรมัน และคัคก้า ซัมเชอร์ จุง บาฮาดูร์ ราณา นักโบราณคดีชาวอินเดีย ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลอังกฤษให้เข้ามาฟื้นฟูอุทยานลุมพินี สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ อจิตมัน ตามัง สมาชิกและเลขานุการของกองทุนพัฒนาลุมพินี (Lumbini Development Trust) บอกว่า "เจ้าชายประสูติที่นี่ครับ ผมคิดว่าถ้ารวมหลักฐานต่างๆ ที่ค้นพบมากมายที่นี่ รวมทั้งสถานที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  น่าจะมากและหนักแน่นพอที่จะยืนยันได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ครับ”         

อุทยานลุมพินีเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถานในพุทธศาสนา  อยู่ห่างจากนครกบิลพัสดุ์ไปทางตะวันออกประมาณ 25 กิโลเมตร  ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล หลักฐานสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือจารึกข้อความอักษรพราหมี (นักวิชาการบางคนแย้งว่า เป็นภาษามคธ) บนเสาอโศก เสาหินทรายขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สาม ถอดความได้ว่า “...สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี [พระนามของพระเจ้าอโศกมาหราช] ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20ปี ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง  ด้วยว่าพระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้ โปรดให้สร้างรูปสลักหิน [บางท่านแปลว่ารั้วหิน] และประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย  โดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านลุมพินี และทรงให้เสียแต่เพียงหนึ่งในแปดของผลผลิต เป็นค่าภาษีที่ดิน...”  [ถอดเป็นภาษาไทยโดยเจ้าคุณราชธรรมมุนี)

ข้อความในจารึกและลักษณะทางภูมิศาสตร์สนับสนุนความเป็นไปได้ที่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะน่าจะประสูติในสวนป่าลุมพินีแห่งนี้ เนื่องจากที่ตั้งของสวนป่าอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ บ้านเกิดของพระนางมายาเทวีพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อใกล้ถึงเวลามีพระประสูติกาล พระนางน่าจะมีพระประสงค์เสด็จกลับสู่เมืองเทวทหะ เพื่อให้กำเนิดราชบุตรตามธรรมเนียมพราหมณ์แต่อาจมีเหตุสุดวิสัยบางประการที่ทำให้พระนางมีพระประสูติกาลราชบุตรในสวนป่าแห่งนี้     

ในยุคสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น ศาสนาพราหมณ์แผ่อิทธิพลไปทั่วชมพูทวีป ระบบวรรณะใช้ปกครองสังคมของชาวอารยันมาช้านาน หลังประสูติได้ 5 วัน  คณะพราหมณ์จำนวนหนึ่งได้ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อตรวจดวงชะตาและลักษณะของราชกุมาร คำพยากรณ์ต่างเห็นพ้องต้องกันในสองทางคือ “หากเจ้าชายครองฆราวาสก็จักได้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่หากครองเพศบรรพชิตก็จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก” [น่าสนใจที่คำพยากรณ์เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับพระมหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน  ซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน]

 

สู่เพศปริพาชก

การค้นหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดเจ้าชายหนุ่มจึงตัดสินพระทัยละทิ้งราชสมบัติ  แล้วเสด็จออกไปครองเพศปริพาชก เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมชมพูทวีในอดีต เราจะพบว่ายุคสมัยของเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคสำริดเข้าสู่ยุคเหล็ก (1,200 – 200 ปีก่อนคริสตกาล) ประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ความยากจนข้นแค้น ผู้คนเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีให้เห็นเป็นปกติ น่าจะมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด ตลอดจนความเบื่อหน่ายในการครองเรือนและเต็มอิ่มในโลกียะที่พระองค์ทรงได้รับการปรนเปรอมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์

นอกจากนี้ในทางการเมือง ดร.อัมเพทการ์ รัฐบุรุษ “จัณฑาล” ของชาวอินเดียได้วิเคราะห์สาเหตุการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะไว้ในหนังสือ The Buddha and His Dhamma หรือ “พระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์” ว่าเกิดจากข้อพิพาทในการใช้น้ำจากแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ แม่น้ำสายนี้เกิดแล้งในบางฤดู จนนำไปสู่การแย่งชิงน้ำระหว่างสองนคร ในที่สุดสภากรุงกบิลพัสดุ์ลงมติต้องการประกาศสงคราม ทว่าเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกเสียงไม่เห็นด้วย

เจ้าชายหนุ่มวัย 29 พรรษาเสด็จออกจากประตูเมืองกบิลพัสดุ์ทางทิศตะวันออก พร้อมด้วยนายฉันนะ ผู้ดูแลม้าทรงและกัณฐกะซึ่งเป็นม้าทรง มุ่งหน้าเป็นระยะทางกว่า 120 กิโลเมตรมาจนถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้อยู่ในประเทศอินเดีย ทางใต้ของเมืองโคราฆปูระ ในรัฐอุตตรประเทศ (ชาวบ้านเรียกว่า “แม่น้ำอามี”) เจ้าชายสิทธัตถะทรงใช้พระขรรค์ปลงพระเกศาจนเหลือประมาณสององคุลี (ประมาณสองนิ้วตามมาตรวัดปัจจุบัน) และเปลี่ยนเครื่องทรงวรรณะกษัตริย์เป็นชุดสมณเพศสีเหลืองหม่น จากนั้นจึงออกจาริกเพียงลำพังมุ่งหน้าสู่แคว้นมคธต่อไป

 

ตรัสรู้และเผยแผ่หลักธรรม

ตลอดหกปีนับตั้งแต่เจ้าชายหนุ่มเสด็จออกจากประตูพระราชวัง พระองค์ทรงตระเวนแสวงหาความรู้ตามสำนักลัทธิต่างๆมากมาย  ทรงกระทำอัตตกิลมถานุโยคหรือทุกรกิริยา ซึ่งถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานร่างกายตนเองอย่างรุนแรง ทว่ากลับไม่มีประโยชน์อันใด นักบวชหนุ่มกลับมารับบิณฑบาตรข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาเพื่อฟื้นฟูร่างกาย  แล้วใช้เวลาทบทวนความรู้โดยใช้สมาธิบนพื้นฐานสติปัญญาและร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงอีกครั้ง จนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด

ในช่วงเวลาที่คลื่นความร้อนในอินเดียกำลังรุนแรง ผมและผู้ช่วยออกเดินทางจากมหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ ตรัสรู้ของพระพุทธองค์มุ่งหน้าสู่เมืองสารนาถ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แคว้นกาสี หรือเมืองพาราณสีในปัจจุบัน ตามรอยเส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่เคยร่วมศึกษาแสวงหาความหลุดพ้นมาด้วยกัน

พระพุทธองค์ทรงค้นพบหลักธรรมอันลึกซึ้งว่าด้วยธรรมชาติของชีวิต ทว่าการอธิบายให้ผู้คนในยุคสมัยที่มีความเชื่อหลากหลายเข้าใจได้นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย นักประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า การเผยแผ่หลักธรรมใหม่โดยนักบวชวัยเพียง 35 ปี  นับว่าเสี่ยงมาที่จะล้มเหลว เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าซึ่งเพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ เมื่อได้รับฟังและมีดวงตาเห็นธรรมในเวลาไม่นาน จึงเป็นพุทธสาวกกลุ่มสำคัญที่ช่วยกระจายหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จนเป็นที่ยอมรับของเหล่ากษัตริย์ พราหมณ์ ตลอดจนเจ้าลัทธิต่างๆ

                ตลอด 45 พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงจาริกเพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในแคว้นต่างๆ ได้แก่ โกศล มัลละ วัชชี วังสะ มคธ สักกะ พระองค์ทรงอธิบายหลักธรรมที่เที่ยงตรง และเป็นความจริงของธรรมชาติแก่ผู้คนในหลายลัทธิความเชื่อ  โดยมุ่งหมายให้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิตอันเท่าเทียมและไม่ได้ถูกกำหนดโดยชนชั้นวรรณะ

 

ดับขันธปรินิพพาน

“เจ้าชายทรงข้ามแม่น้ำตรงนี้ครับ” อจิต กุมาร เด็กหนุ่มผู้เป็นตัวแทนชาวบ้านในหมู่บ้านอันธยะดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษเมื่อได้พบกับผม “ประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว เคยมีคนของทางการเข้ามาที่นี่ครับ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเข้ามาอีกเลย แม้ผมและคนในหมู่บ้านจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ปู่ย่าตายายของเราเคยเล่าเรื่องการข้ามแม่น้ำผามูหรือแม่น้ำกกุธานที ก่อนที่เจ้าชายจะสิ้นพระชนม์ ณ ป่าสาลวันใกล้กรุงกุสินารา เราก็เลยพอทราบเรื่องราวอยู่บ้าง” อจิตบอก

ภารกิจตามรอยจาริกของพระพุทธองค์ของผมใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อผมมาถึงริมฝั่งแม่น้ำกกุธานทีสีเขียวใส มองเห็นท้องน้ำและฝูงปลาแหวกว่าย ผมเดินลัดเลาะไปตามสายน้ำเล็กๆ บางช่วงตื้นเขินจนเด็กเล็กๆ สามารถเดินลุยข้ามได้ ที่นี่อยู่ใกล้กับบ้านของนายจุนทะ ผู้ศรัทธาถวายภัตตาหาร “สูกรมัททวะ” แด่พระพุทธองค์เป็นมื้อสุดท้าย ก่อนจะทรงอาพาธหนักและเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ปัจจุบัน หมู่บ้านของนายจุนทะเป็นชุมชนมุสลิมเรียกว่า ปาวานคร อยู่ห่างจากนครกุสินาราราว18 กิโลเมตร ลักษณะคล้ายซากสถูปขนาดใหญ่ และยังไม่มีการขุดค้น อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียกำลังมีแผนบูรณะฟื้นฟูที่นี่อีกครั้งในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา “คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนครับ กว่าที่นี่จะเสร็จสมบูรณ์เราทำงานควบคู่กับนักโบราณคดีที่ทางการส่งมา พวกเราจะทำให้ดี เพราะผมรู้มีความหมายสำหรับพวกคุณ” นิสรูดิน หัวหน้าฝ่ายบูรณะบอกกับผม

ที่หมู่บ้าน “เจ้าชายสิ้นชีพ” ตามคำนิยามของชาวบ้านท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีต  ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ใน ตำบลกาเซีย จังหวัดกุศินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ แม้เรื่องราวจะผ่านมากว่า 2,500 ปี ทว่าภายในสวนป่าสาลวัลแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นหมู่บ้านและพุทธสถานนานาชาติ กลับยังคงอบอวลไปด้วยบรรยาเศร้าหมอง นี่คือสถานที่สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปัจฉิมโอวาทแก่เหล่าพุทธสาวก  เป็นสัจจธรรมที่ยังคงดังก้องดั่งคำเตือนของพุทธบิดาที่ประทานแก่พุทธบุตรพุทธิดาทั้งปวงว่า

"สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

 เรื่องโดย ทรงวุฒิ อินทร์เอม
สิงหาคม 2558

36
บางทีการเดินจาริกแสวงบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อาจเป็นการเดินทางสู่โลกภายในเพื่อการรู้แจ้ง

ระหว่างฤดูร้อนปี 2012 และ 2013 ผมเดินเท้าเป็นระยะทางมากกว่า 1,500 กิโลเมตรไปตามกามิโนเดซานดีอาโก (Camino de Santiago) หรือที่รู้จักกันในหมู่คนพูดภาษาอังกฤษว่า  เส้นทางเซนต์เจมส์ (Way of St. James) อันเป็นเส้นทางจาริกแสวงบุญอายุหลายร้อยปีของชาวคริสต์ที่ตัดผ่านฝรั่งเศสและสเปน ในแต่ละปีตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีผู้คนราว 183,000 ถึง 273,000 คนจากทั่วโลกเดินทางไปตามเส้นทางสายนี้ซึ่งตัดผ่านเมือง ขุนเขา และทอดไปตามแนวถนนยุคโรมัน ก่อนจะไปสิ้นสุด ณ อาสนวิหารซานดีอาโกเดกอมปอสเตลาที่เชื่อกันว่าเป็นที่ฝังร่างของนักบุญยากอบ บุตรเศเบดี (James, son of Zebedee) หรือนักบุญยากอบองค์ใหญ่ (James the Greater) หนึ่งในสิบสองอัครทูตของพระเยซู

ระหว่างที่ผมเดินไปตามเส้นทางสายนี้ ผมกลายเป็นส่วนหนึ่งของขนบโบราณที่ยังคงรุ่งเรืองอยู่ในโลกสมัยใหม่ แม้การจาริกแสวงบุญจะเป็นธรรมเนียมที่หยั่งรากลึกอยู่ในคริสต์ศาสนา แต่เมื่อเวลาผ่านไป เส้นทางสายนี้กลับงอกงามกลายเป็นหนทางสู่การแสวงหาทางจิตวิญญาณมากกว่าจะเป็นเรื่องทางศาสนา ในปี 2012 มีผู้จาริกแสวงบุญเพียงร้อยละ 40 ที่มาในนาม คริสต์ศาสนา ขณะที่คนอื่นๆมุ่งหน้ามาเพราะอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน หรือไม่ก็เพียงต้องการปลีกวิเวกจากภารกิจประดามีในชีวิต  เพื่อปลดพันธนาการจากความตึงเครียด ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมา หรือเปลี่ยนเส้นทางเดินชีวิต ระหว่างบทสนทนาตลอดเส้นทาง ผมมักได้ยินคนพูดว่า ผมหรือฉันมาที่กามิโนเพื่อค้นพบตัวเองหรือไม่ก็เพื่อหาคำตอบบางอย่างให้ชีวิต

จิตวิญญาณของความเป็นชุมชนเชื่อมโยงทุกคนไว้ด้วยกันในกามิโน ภายในไม่กี่วัน คุณจะพบว่าตัวเองได้เดินเคียงข้าง พูดคุย และทานมื้อค่ำกับเพื่อนร่วมทาง ผมเรียนรู้อย่างรวดเร็วที่จะใช้เวลาร่วมกับผู้อื่นอย่างมีคุณค่า เมื่อเพื่อนใหม่สักคนกลายเป็นจุดเล็กๆ ณ ขอบฟ้า  ผมรู้สึกใจหายอย่างน่าประหลาด

การเดินของผมสิ้นสุดลง ณ ชายฝั่งตะวันตกของสเปนเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ผมมุ่งหน้าสู่ประภาคารยามอาทิตย์อัสดง และเฝ้ามองผู้จาริกแสวงบุญเผารองเท้าบู๊ตที่สวมใส่มาตลอดทาง ขณะที่ท้องฟ้าแดงกล่ำราวเปลวเพลิง

ผมมักบอกใครต่อใครว่า กามิโนคือสถานที่อันเงียบสงัด เป็นเครื่องเตือนใจง่ายๆถึงวิถีทางที่ชีวิตควรจะเป็น บางคนอาจบอกว่านั่นไม่ต่างอะไรจากการได้พบพระเจ้า เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจยามที่ชีวิตช่างโหดร้าย

เรื่องโดย ไมเคิล จอร์จ
กรกฎาคม 2558

37

ภาพ : ล้อมวงกินกลางสมุทร
ภาพโดย : พอล นิกเคลน
คำบรรยายภาพ : วาฬเพชฌฆาตล่าปลาเฮร์ริงในน่านน้ำรอบอันด์ฟยอร์เดนในนอร์เวย์ สมาชิกในฝูงเคลื่อนไหวสอดประสานกันเพื่อต้อนปลาเฮร์ริงให้เกาะกลุ่มอย่างแน่นหนาคล้ายลูกบอลยักษ์ จากนั้นจึงฟาดหางเข้าไปที่ฝูงปลาเพื่อฆ่าหรือทำให้มึนงง ก่อนจะรุมกินโต๊ะ

พบสารพัดกลยุทธ์สุดทึ่ง เมื่อเหล่าวาฬเพชฌฆาตเผยความเฉลียวฉลาดให้เป็นที่ประจักษ์ ขณะร่วมมือกันออกหาอาหาร

วาฬเพชฌฆาตไม่เคยโลดแล่นอยู่ในวรรณกรรมตะวันตก แม้พวกมันจะดูคล้ายสัตว์ในตำนาน เจ้าของรูปร่างปราดเปรียว สีขาวดำตัดกันเหมือนแพนด้า และฟันแหลมคม แต่กลับไม่เคยได้รับบทตัวละครในวรรณกรรมชิ้นเอกเรื่องใดเลย ไม่มีเรื่องราวของวาฬเพชฌฆาตที่เทียบได้กับโมบี ดิก วาฬสีขาวในวรรณกรรมคลาสสิกก้องโลก ถึงกระนั้น พวกเราไม่น้อยก็มีภาพพวกมันอยู่ในใจ เพราะเคยเห็นจากภาพยนตร์ที่มีฉากการแสดงโชว์ของวาฬเพชฌฆาตตามสวนหรือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ บางคนมองว่า วาฬเพชฌฆาตในสถานเพาะเลี้ยงต้องทนทุกข์กับความบอบช้ำทางจิตใจเพราะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น

ความคิดอย่างหลังนี้ช่างน่าปวดใจ  เพราะถ้าคุณมีโอกาสได้สัมผัสกับวาฬเพชฌฆาตในธรรมชาติ คุณจะสัมผัสได้ถึงสิ่งที่ขาดหายไปในการแสดงโชว์ นั่นคือจิตวิญญาณ ความฉลาดหลักแหลม ความสุข และปฏิภาณไหวพริบ

วันหนึ่งของเดือนมกราคมที่อากาศหนาวเหน็บ  ฉันมีโอกาสได้อยู่ท่ามกลางเหล่าวาฬเพชฌฆาต (Orcinus orca) สีขาวสลับดำหลายร้อยตัว  จริงๆแล้วพวกมันไม่ใช่วาฬ  หากเป็นโลมาขนาดใหญ่ที่สุดมากกว่า  พวกมันแหวกว่ายตามกันอย่างรวดเร็วราวกับฝูงหมาป่าไปตามท้องน้ำของอันด์ฟยอร์เดนในนอร์เวย์ หลังและครีบหลังสูงตระหง่านทอประกายในแสงอาทิตย์อัสดงของดินแดนอาร์กติก  ขณะที่พวกมันดำผุดดำว่ายและทำงานเป็นทีมเพื่อล้อมฝูงปลาเฮร์ริงไว้ ก่อนจะทำให้มึนงงและจับกินเป็นอาหาร

นานๆครั้งวาฬเพชฌฆาตตัวหนึ่งจะใช้หางฟาดผิวน้ำ พวกมันทำเช่นเดียวกันเวลาอยู่ใต้น้ำซึ่งเปรียบเหมือนสัญญาณมรณะสำหรับปลาเฮร์ริง  ตามคำอธิบายของทีอู ซีมีแล นักชีววิทยาด้านซีเทเชียน (Cetacean) หรือสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และมีส่วนในการบุกเบิกการศึกษาวาฬเพชฌฆาตในนอร์เวย์  ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลยุทธ์การล่าที่เรียกว่า  การล้อมวงกินแบบม้าหมุน (carousal feeding)  ของวาฬเพชฌฆาต   เธอขยายความว่า  แรงกระแทกจากการฟาดหางไม่ได้ทำให้ปลาเฮร์ริงตายเสมอไป  แต่ก็อาจทำให้มึนงงจนกลายเป็นเป้านิ่งให้ถูกจับกินได้ง่ายๆ “สิ่งที่เราเห็นบนผิวน้ำเป็นเพียงเบาะแสที่บ่งบอกว่าเกิดอะไรขึ้นใต้ผิวน้ำ “วาฬแต่ละตัวมีหน้าที่ของตัวเอง  จะว่าไปก็เหมือนการเต้นบัลเลต์  พวกมันเคลื่อนไหวสอดประสานกันอย่างดี  ต้องสื่อสารและตัดสินใจร่วมกันว่าจะทำอะไรต่อไป”

ทั้งๆที่ปลาเฮร์ริงมีจำนวนมากมายมหาศาล  แต่ก็ใช่ว่าวาฬเพชฌฆาตจะจับกินได้ง่ายๆ  เพราะปลาเฮร์ริงว่ายน้ำเร็วกว่าและเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนแน่นหนาเหมือนกำแพงป้องกันการโจมตี วาฬเพชฌฆาตไม่สามารถทำแบบเดียวกับวาฬกรองกินที่พุ่งเข้าชาร์จเหยื่อพร้อมอ้าปากกว้างกลืนทั้งปลาและน้ำเข้าไปพร้อมกันได้ แต่พวกมันใช้วิธีต้อนเหยื่อให้เกาะกลุ่มกันแน่นเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมลักษณะเดียวกับสุนัขเลี้ยงแกะต้อนฝูงแกะ  ซีมีแล อธิบายว่า “วาฬเพชฌฆาตต้องพยายามกันไม่ให้ปลาเฮร์ริงดำหนีลงไปใต้น้ำ พวกมันจึงต้องคอยต้อนให้ปลาเฮร์ริงว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำและเกาะกลุ่มกันเหมือนลูกบอลยักษ์ด้วยการว่ายวนไปรอบๆ”

สมาชิกในฝูงวาฬเพชฌฆาตจะผลัดกันว่ายลงไปใต้ฝูงปลาเฮร์ริงและว่ายวนเวียนขึ้นๆ ลงๆ เหมือนม้าหมุน   พร้อมพ่นฟองอากาศออกมา  ส่งเสียงร้อง และตีลังกาหงายท้องสีขาวเพื่อขู่ให้เหยื่อตกใจ  ซึ่งทำให้ฝูงปลาเฮร์ริงยิ่งว่ายเกาะกลุ่มกันแน่นขึ้น เมื่อฝูงวาฬเพชณฆาตบีบวงล้อมเข้ามาเต็มพิกัด ปลาเฮร์ริงจะพยายามหนีตายด้วยการกระโดดขึ้นมาเหนือผิวน้ำ  “จนดูเหมือนทะเลกำลังเดือดปุดๆเลยละค่ะ” ซีมีแลบอก

เมื่อฝูงวาฬควบคุมฝูงปลาเฮร์ริงได้อยู่หมัดแล้ว วาฬตัวหนึ่งในฝูงจะใช้หางฟาดเข้าที่บริเวณรอบนอกของฝูงปลาเฮร์ริงเพื่อทลายปราการป้องกัน ก่อนจะลงมือกินอย่างเอร็ดอร่อย

การล้อมวงกินแบบม้าหมุนเป็นหนึ่งในหลายเทคนิคที่วาฬเพชฌฆาตใช้ล่าเหยื่อ นักวิทยาศาสตร์บางคนรวมถึงซีมีแลมองว่า  นี่เป็นแง่มุมหนึ่งใน “วัฒนธรรม” ของสัตว์ชนิดนี้ซึ่งรวมถึงกลยุทธ์หลายอย่างสำหรับใช้ล่าเหยื่อแต่ละชนิด  ในอาร์เจนตินา วาฬเพชฌฆาตใช้วิธีพุ่งตัวขึ้นไปบนฝั่งเพื่อจับลูกสิงโตทะเลที่ไม่ทันระวังตัว ขณะที่ฝูงวาฬเพชฌฆาตในแถบแอนตาร์กติกาช่วยกันทำให้เกิดคลื่นลูกใหญ่จนซัดแมวน้ำตกลงมาจากแพน้ำแข็ง วาฬที่อายุน้อยกว่าจะเรียนรู้เทคนิคเหล่านี้จากวาฬที่อาวุโสกว่า

วาฬเพชฌฆาตเป็นสัตว์ในวงศ์เดลฟินิดี (Delphinidae) และเป็นซีเทเชียนที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายมากที่สุดในบรรดาสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด แต่ถึงจะพบวาฬเพชฌฆาตได้ในทุกน่านน้ำมหาสมุทรและทุก ละติจูด ตั้งแต่อาร์กติกลงไปจรดแอนตาร์กติกา  พวกมันก็ยังคงเป็นปริศนา  เราไม่รู้แม้กระทั่งว่า พวกมันมีอยู่ด้วยกันกี่ชนิดและมีกี่ชนิดย่อย (subspecies) จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่ประเมินคร่าวๆว่าน่าจะมีอย่างน้อย 50,000 ตัว

ซีมีแลซึ่งศึกษาวาฬเพชฌฆาตในนอร์เวย์มาตลอด 20 ปี เฝ้าติดตามพวกมันทุกฤดูหนาว ขณะพวกมันมุ่งหน้าสู่ฟยอร์ดเพื่อไล่ล่าปลาเฮร์ริง เธอและเพื่อนร่วมงานตะลุยถ่ายภาพวาฬเพชฌฆาตให้ได้มากที่สุดเพื่อให้สามารถระบุตัวได้ และยังดำลงไปใต้น้ำเพื่อถ่ายภาพพวกมันขณะกินเหยื่อ

ซีมีแลเล่าว่า “สมัยนั้นเราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับวาฬเพชฌฆาตพวกนี้เลย ผู้คนบอกต่อกันมาว่า พวกมันอันตรายและเป็นเหมือนศัตรูพืชแห่งท้องทะเล  พวกมันกินปลาของเราจนหมด”

ชาวประมงยิงวาฬเพชฌฆาตทุกครั้งที่เห็น และคร่าชีวิตพวกมันไป 346 ตัวระหว่างปี  1978 ถึงปี 1981 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการล่าวาฬเพชฌฆาตเพื่อลดจำนวนประชากร (culling) อย่างไรก็ตาม ชาวนอร์เวย์จำนวนไม่น้อยยังคงมองว่า วาฬเพชฌฆาตเป็นเครื่องจักรสวาปามปลาเฮร์ริงจนกระทั่งถึงปี 1992 ในปีนั้น สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งได้แพร่ภาพวิดีโอการศึกษาวิจัยของซีมีแลมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกมันค่อยๆกินปลาเฮร์ริงทีละตัวอย่างเอร็ดอร่อย ไม่ใช่กวาดต้อนกินเข้าไปทั้งฝูงอย่างตะกละตะกลาม 

ดูเหมือนฝูงวาฬเพชฌฆาตที่สูญเสียสมาชิกไปจากการถูกยิง หรือมีสมาชิกที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนหรือคมฉมวกจะไม่เคยลืมประสบการณ์เหล่านั้นเลย ซีมีแลเล่าว่า “เราเห็นแผลเป็นจากกระสุนบนวาฬเพชฌฆาตบางตัว  เราไม่สามารถเข้าใกล้ฝูงเหล่านั้นได้เลยกระทั่งถึงตอนนี้  ทันทีที่พวกมันได้ยินเสียงมอเตอร์เรือ พวกมันจะว่ายหนีทันที”

ฝูงวาฬเพชฌฆาตใช้ระบบแม่ใหญ่หรือมีวาฬเพศเมียเป็นจ่าฝูง  และซีมีแลคิดว่าบรรดา “แม่ผู้ชาญฉลาด” เหล่านี้สอนลูกๆให้หลีกเลี่ยงเรือประมง ซึ่งเปรียบเหมือนการสืบทอดความทรงจำของฝูงจากรุ่นสู่รุ่น ซีมีแลบอกว่า “ฉันไม่รู้ว่าพวกมันสื่อสารเรื่องนี้กันด้วยวิธีไหน บางทีอาจจะเป็นการที่จ่าฝูงพาตัวอื่นๆหลบไปเวลาได้ยินเสียงมอเตอร์เรือก็เป็นได้”

เรื่องโดย เวอร์จิเนีย มอเรลล์
กรกฎาคม 2558

38

ภาพ : จุดหมาย ณ ดาวพลูโต
ภาพโดย : Art by Dana Berry
คำบรรยายภาพ : เมื่อถึงกลางเดือนกรกฎาคม ยานนิวฮอไรซันส์ขององค์การนาซาจะเดินทางรวมแล้วราวห้าพันล้านกิโลเมตร และจะผ่านดาวพลูโตที่ระยะ 12,500 กิโลเมตร ดังแสดงให้เห็นในรูปประกอบนี้พร้อมกับดวงจันทร์คารอน บริวารขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนห้าดวงที่เรารู้จัก

ในเดือนนี้ ยานนิวฮอไรซันส์ขององค์การนาซาจะเข้าใกล้ดาวเคราะห์แคระในตำนาน อดีตสมาชิกดวงที่เก้าแห่งระบบสุริยะ

เล็ก เย็น และไกลเหลือเชื่อ ดาวพลูโตหวงความลับของตัวเองมาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ถูกค้นพบเมื่อปี 1930 ดาวเคราะห์แคระดวงนี้ก็โคจรไปไกลเกินเอื้อม พื้นผิวน้ำแข็งของมันดูรางเลือน ลึกลับ กระทั่งกล้องโทรทรรศน์ทรงพลังที่สุดก็ยังมองไม่ชัด เรารู้เกี่ยวกับดาวพลูโต แต่ไม่รู้จักมันอย่างถ่องแท้

นั่นจะเปลี่ยนไปในวันที่ 14 กรกฎาคมปีนี้ เมื่อยานนิวฮอไรซันส์ขององค์การนาซามีกำหนดจะบินไปถึงระยะ 12,500 กิโลเมตรจากดาวพลูโต  ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี  การเผชิญหน้าเพียงชั่วครู่จะเผยโฉมพิภพดวงสุดท้ายที่ยังไม่เคยมีการสำรวจในระบบสุริยะ  ในที่สุด  เราจะได้ยลโฉมพื้นผิวของดาวพลูโตและของคารอน (Charon) ดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของมัน  แม้นักวิทยาศาสตร์จะคาดเดาไว้บ้างแล้วว่าจะพบอะไรที่นั่น แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาบอกได้เต็มปากเต็มคำคือดาวพลูโตต้องมีอะไรให้เราประหลาดใจแน่

 “ดาวพลูโตที่อยู่ในความนึกฝันของเราจะปลิวหายไปเหมือนควันครับ” อลัน สเติร์น หัวหน้านักวิจัยของโครงการนิวฮอไรซันส์ บอก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดาวพลูโตเล่นตลกกับความคาดหวัง ย้อนหลังไปเมื่อปี 2006 ซึ่งเป็นปีที่ยานนิวฮอไรซันส์ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ  ดาวพลูโตก็หลุดจากบัญชีดาวเคราะห์ และปรากฏโฉมใหม่ในฐานะ “ดาวเคราะห์แคระ” (dwarf planet) ความจริงก็คือดาวพลูโตเป็นเทห์ฟ้าหรือวัตถุท้องฟ้าที่เข้าใจยากมาตั้งแต่ก่อนหน้าถูกค้นพบเสียอีก

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1840 การคำนวณอันพิสดารทำนายถึงความมีอยู่ของดาวเคราะห์ที่ไกลกว่าดาวเนปจูน เพราะเมื่อใช้มวลดาวเนปจูนเป็นฐาน วงโคจรของดาวเนปจูนและดาวยูเรนัสดูจะไม่เป็นไปตามแนวโคจรที่คำนวณได้ ดังนั้นนักดาราศาสตร์บางคนจึงเสนอว่า ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่ยังค้นไม่พบอย่างน้อยหนึ่งดวงที่ขอบระบบสุริยะคือตัวรบกวน ทำให้ดาวน้ำแข็งยักษ์ทั้งสองโคจรรอบดวงอาทิตย์ผิดเพี้ยนไปจากเส้นทางที่ควรจะเป็น

เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษใหม่ การตามล่าดาวเคราะห์ที่หายไปยิ่งคึกคัก เพอร์ซิวัล โลเวลล์ ผู้ดีเก่าจากเมืองบอสตัน เรียกมันว่า “ดาวเคราะห์เอกซ์” ชายผู้นี้ลงมือค้นหาอย่างจริงจัง เขาถึงกับสร้างหอดูดาวส่วนตัวไว้ใช้ที่เมืองแฟลกสแตฟฟ์ รัฐแอริโซนา และในปี 1905 หอดูดาวแห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้นหาดาวเคราะห์เอกซ์ โลเวลล์คำนวณซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อกำหนดตำแหน่งที่อาจเป็นไปได้ แต่เขาเสียชีวิตลงเสียก่อนเมื่อปี 1916 โดยที่ยังไม่ทันรู้ว่าดาวเคราะห์เอกซ์มีอยู่จริง

ตัดเวลาข้ามไปถึงปี 1930 บ่ายคล้อยวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ไคลด์ ทอมบอก์ วัย 24 ปี นั่งในที่ประจำของเขาที่หอดูดาวโลเวลล์ ทอมบอก์ผู้มีพื้นเพมาจากท้องไร่ของรัฐแคนซัส ได้รับมอบหมายให้หาดาวเคราะห์แสนกลของโลเวลล์ เขาไม่เคยเรียนดาราศาสตร์ แต่หัดสร้างกล้องโทรทรรศน์เอง

ทอมบอก์ใช้เวลาราวหนึ่งปีค้นหาดาวเคราะห์เอกซ์ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า เครื่องวัดเทียบกะพริบ (blink comparator) ผู้ใช้งานเครื่องจักรจอมอึกทึกนี้จะพลิกภาพถ่ายท้องฟ้าที่เปิดรับแสงเป็นเวลานานสองภาพกลับไปกลับมาภาพแต่ละภาพที่ถ่ายห่างกันหลายวันในบริเวณเดียวกันมักมีดาวหลายแสนดวง สิ่งใดที่เคลื่อนที่ในช่วงหลายวันนั้น เช่น ดาวเคราะห์หรือดาวเคราะห์น้อย จะดูเหมือนขยับได้ขณะภาพถูกพลิกไปมา

บ่ายคล้อยวันนั้นซึ่งตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ทอมบอก์นั่งจ่อมอยู่กับเครื่องวัดเทียบ หรี่ตาดูดาวนับพันดวงและประเมินแต่ละดวงด้วยสายตา ทันใดนั้น ในภาพที่ถ่ายห่างกันหกวันในเดือนมกราคม เขาเห็นจุดแสงเล็กๆที่ไม่อยู่นิ่ง ในภาพแรกจุดอยู่ทางซ้ายของดาวสว่างสองดวง ในภาพถัดไปมันกระโดดไปอยู่ทางขวาของดาวสองดวงนั้นสองสามมิลลิเมตร ทอมบอก์พลิกสองภาพกลับไปกลับมาและดูจุดแสงกระโดดไปมาจากตำแหน่งตั้งต้น เขาคว้าไม้บรรทัดมาวัดระยะห่างของทั้งสองตำแหน่งอย่างแม่นยำ แล้วหาภาพถ่ายท้องฟ้าบริเวณนั้นที่ถ่ายก่อนหน้าในเดือนมกราคมเช่นกันมาค้นหาตำแหน่งเดิม สุดท้ายเขาส่องแว่นขยายเพื่อยืนยันจุดที่อาจเป็นดาวเคราะห์ในภาพถ่ายอีกชุดหนึ่งด้วย

เขาพบดาวเคราะห์เอกซ์เข้าให้แล้ว

หอดูดาวโลเวลล์ต้องคิดหาชื่อให้ดาวเคราะห์ดวงใหม่อย่างกะทันหัน จดหมายหลายร้อยฉบับหลั่งไหลเข้ามา  เด็กหญิงชาวอังกฤษวัย 11 ขวบชื่อ เวนีเชีย เบอร์นีย์ เสนอชื่อมาง่ายๆว่า “พลูโต” ตามชื่อเทพเจ้าแห่งปรโลกของโรมัน นับเป็นชื่อที่มืดหม่นเหมาะกับดาวเคราะห์ ณ ชายขอบแห่งอนธการ และเข้ากับขนบการตั้งชื่อดาวเคราะห์ตามชื่อเทพเจ้าพอดี ด้วยเหตุนี้ พอถึงวันที่ 1 พฤษภาคม หอดูดาวโลเวลล์จึงประกาศว่า ดาวเคราะห์เอกซ์จะได้ชื่อว่า “พลูโต”

ยานนิวฮอไรซันส์ซึ่งถูกส่งขึ้นจากแหลมคะแนเวอรัลในรัฐฟลอริดา  บินข้ามระบบสุริยะด้วยความเร็วเฉลี่ยเกือบ 1.6 ล้านกิโลเมตรต่อวัน ใช้เวลาปีกว่าก็ไปถึงดาวพฤหัสบดี แล้วอาศัยความโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ยักษ์ดวงนั้นเร่งความเร็วจนประหยัดเวลาเดินทางไปได้เกือบสี่ปี แต่ยานก็ยังต้องเดินทางไปอีกแปดปีกว่าจะถึงอดีตดาวเคราะห์อย่างพลูโต

เพื่อรู้จักดาวพลูโตอย่างถ่องแท้ เราต้องไปที่นั่น แล้วจ้องมองโลกนั้นจากประตูทางเข้า เราต้องใช้เวลาถึง 85 ปี แต่ในที่สุดเรากำลังจะไปกระทบไหล่กับดาวเคราะห์แคระเจ้าปัญหาของทอมบอก์กันแล้ว อีกนัยหนึ่ง ตัวเขาเองก็จะไปเช่นกัน ยานนิวฮอไรซันส์มีหลอดแก้วเล็กๆบรรจุอังคารของทอมบอก์ติดไปด้วย ประหนึ่งเป็นทูตเชิงสัญลักษณ์ที่จะบินผ่านดาวพลูโต มุ่งหน้าสู่แถบไคเปอร์ และบางทีอาจตามล่าโลกเล็กๆไว้สำรวจอีกสักใบ

เรื่องโดย นาเดีย เดรก
กรกฎาคม 2558

39
วิกฤติการณ์ที่เกิดจากเชื้ออีโบลาไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ติดตามนักแกะรอยไวรัสที่มุ่งสืบหาแหล่งกบดานของไวรัส

ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ย้อนหลังไปเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2013 เด็กชายตัวเล็กๆที่ล้มป่วยในหมู่บ้านเมเลียงดูในประเทศกินี จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโรคระบาดอันน่าสะพรึงกลัวที่ไม่เพียงสร้างความสูญเสียมหาศาลให้สามประเทศในแอฟริกา  แต่ยังก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความวิตกกังวลไปทั่วโลก

ไม่มีใครนึกฝันว่า การตายของเด็กน้อยจะเป็นการเสียชีวิตรายแรกของอีกหลายพันชีวิตที่จะตามมา เด็กชายผู้มีชื่อว่า เอมีล อูอามูโน มีอาการชัดเจน ทั้งไข้สูง ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ และอาเจียน แต่อาการเหล่านี้อาจเป็นการสำแดงของอีกหลายๆโรค รวมถึงมาลาเรีย แต่ไม่นานหลังจากนั้น พี่สาวของเด็กก็เสียชีวิตลง ตามมาด้วยแม่และยาย หมอตำแยและพยาบาลประจำหมู่บ้าน โรคติดต่อแพร่จากเมเลียงดูไปยังหมู่บ้านอื่นๆทางตอนใต้ของกินี นี่เป็นช่วงเวลาเกือบสามเดือนก่อนที่คำว่า “อีโบลา” จะผุดขึ้นในอีเมลที่ส่งโต้ตอบระหว่างกินีและโลกภายนอก

หน่วยงานด้านสาธารณสุขในกรุงโกนากรี เมืองหลวงของกินี และนักตามรอยไวรัสจากต่างประเทศไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านเมเลียงดูตอนที่เอมีล อูอามูโน เสียชีวิต ถ้าพวกเขาอยู่ที่นั่นและรู้ว่าเด็กชายเป็นคนไข้รายแรกจากการระบาดของไวรัสอีโบลา พวกเขาอาจมีเวลาพอในการหาคำตอบของปริศนาที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ เด็กชายล้มป่วยได้อย่างไร เด็กไปทำอะไรมา ไปสัมผัสอะไร และกินอะไรเข้าไป

เรื่องชวนพิศวงที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับไวรัสอีโบลา หลังจากปรากฏตัวและเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน คือการที่ไวรัสจะหายไปนานคราวละหลายปี หลังการระบาดเมื่อปี 1976 ในบริเวณที่เคยเป็นประเทศ ซาอีร์ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน) และการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใกล้ชิดซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันทางตอนใต้ของประเทศซูดานในขณะนั้น (ปัจจุบันคือสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน) การระบาดของอีโบลาทั้งใหญ่และเล็กก็เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งนานถึง 17 ปี  (1977 ถึง 1994) ที่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสอีโบลาเลยแม้สักรายเดียว

เชื้อไวรัสไม่สามารถอยู่รอดได้นานหรือแพร่พันธุ์ได้เลย ถ้าอาศัยอยู่นอกร่างกายสิ่งมีชีวิต ซึ่งหมายความว่าไวรัสต้องการตัวถูกเบียน (host) หรือสัตว์รังโรค ซึ่งได้แก่สัตว์ พืช รา หรือเชื้อโรค อย่างน้อยหนึ่งชนิด ขอเพียงแค่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้นมีสภาพแวดล้อมและกลไลภายในเซลล์ที่ไวรัสสามารถใช้ประโยชน์ในการขยายพันธุ์ได้ ไวรัสอันตรายบางชนิดหลบซ่อนอยู่ในสัตว์และแพร่เข้าสู่มนุษย์ในบางโอกาส พวกมันทำให้เกิดโรคที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ซูโนซิส (zoonosis) หรือโรครับจากสัตว์ อีโบลาเป็นโรครับจากสัตว์ที่นับว่าอันตรายและซับซ้อนมาก เชื้อนี้คร่าชีวิตเหยื่อที่เป็นมนุษย์ได้ในเวลาไม่กี่วัน และทำให้อีกหลายคนมีอาการปางตาย ก่อนที่มันจะหายไปอย่างลึกลับในช่วงท้ายของการระบาด ไวรัสมฤตยูนี้ไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหนระหว่างการระบาดแต่ละครั้ง

ที่แน่ๆไม่ใช่ในชิมแปนซีหรือกอริลลา การศึกษาในภาคสนามเผยว่า อีโบลาคร่าชีวิตพวกมันบ่อยครั้งเช่นกัน ชิมแปนซีและกอริลลาล้มตายเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน และใกล้แหล่งที่พบการระบาดในมนุษย์ และยังมีการตรวจพบร่องรอยไวรัสอีโบลาในซากชิมแปนซีและกอริลลาบางซาก อันที่จริง การกินซากเอปเป็นอาหารเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ติดเชื้ออีโบลาได้โดยตรง ด้วยเหตุนี้ จึงมีโอกาสน้อยมากที่เอปในแอฟริกาจะเป็นแหล่งรังโรคของเชื้ออีโบลา ไวรัสโจมตีและสังหารพวกมัน อีโบลาต้องซ่อนตัวอยู่ที่อื่นเป็นแน่

ไวรัสก่อโรครับจากสัตว์จะอาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ตัวถูกเบียนเก็บเชื้อ (reservoir host) หรือสัตว์รังโรคได้เป็นเวลานานโดยมักไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ ลิงเป็นสัตว์รังโรคของไวรัสไข้เหลือง ค้างคาวกินผลไม้เอเชียในสกุล Pteropus   เป็นสัตว์รังโรคของไวรัสนิปาห์ (Nipah virus)  ที่สังหารผู้คนในมาเลเซียไปกว่าร้อยชีวิตระหว่างการระบาดเมื่อปี 1998 ถึง 1999 การเดินทางของไวรัสจากสัตว์รังโรคไปยังสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นนี้เรียกว่าการแพร่กระจายของโรค (spillover)

ในกรณีของอีโบลา ถ้าคุณได้ยินมาว่า ค้างคาวกินผลไม้เป็นสัตว์รังโรค นั่นคือการคาดคะเนที่คลาดเคลื่อนซึ่งคนตีความว่าเป็นข้อเท็จจริง  แม้นักวิทยาศาสตร์จะพยายามอย่างหนักมาตลอด แต่ยังไม่เคยมีใครแกะรอยอีโบลาไปจนถึงแหล่งที่อยู่ในป่าได้สำเร็จเลย

“ไวรัสอยู่ที่ไหนกันตอนที่ไม่ได้ทำให้คนติดเชื้อ” คาร์ล เอ็ม. จอห์นสัน พูดกับผมเมื่อไม่นานมานี้ จอห์นสันเป็นนักวิทยาไวรัสคนสำคัญ และเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับอีโบลา เขาเป็นหัวหน้าคณะทำงานนานาชาติเพื่อต่อต้านการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 1976 ที่ประเทศซาอีร์ และยังเป็นผู้นำทีมที่ระบุเชื้อไวรัสในห้องปฏิบัติการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี (Centers for Disease Control and Prevention: CDC)   ซึ่งทำให้โลกรู้ว่านี่เป็นไวรัสชนิดใหม่และได้รับการตั้งชื่อตามลำน้ำสายเล็กๆในซาอีร์ที่ชื่อแม่น้ำอีโบลา

ต่อมาในเดือนเมษายน ปี 2014 ไม่นานหลังข่าวผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการติดเชื้ออีโบลาทางตอนใต้ของกินีแพร่สะพัดออกไป ฟาเบียน เลนเดิร์ทซ์ ก็ไปถึงที่นั่นพร้อมทีมนักวิจัย เลนเดิร์ทซ์เป็นนักนิเวศวิทยาเชื้อโรคชาวเยอรมันและสัตวแพทย์จากสถาบันโรแบร์ตค็อกในกรุงเบอร์ลิน ผู้ศึกษาโรครับจากสัตว์ที่ทำให้สัตว์ป่าล้มตายในไอวอรีโคสต์ที่ซึ่งเขาทำงานด้านโรคระบาดในชิมแปนซีและสัตว์อื่นๆ อยู่นานถึง 15 ปีโดยปักหลักอยู่ที่อุทยานแห่งชาติตาอี

เขานำเครื่องมือและคณะทำงานมาเต็มสามคันรถ พร้อมคำถามสองข้อที่ว่า ชิมแปนซีหรือสัตว์ป่าอื่นๆล้มตายในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้คนที่ชอบบริโภคเนื้อเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากซากสัตว์ หรือบางทีอาจเป็นการติดต่อโดยตรงจากสัตว์รังโรคของอีโบลา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใดก็ตาม มายังเหยื่อรายแรกที่เป็นมนุษย์หรือไม่ ในตอนนั้น เลนเดิร์ทซ์ยังไม่รู้เรื่องของเด็กชายเอมีล อูอามูโน ทีมของเขาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และคนในท้องถิ่น และเดินสำรวจป่าสงวนสองแห่ง แต่ไม่พบร่องรอยหรือหลักฐานทางกายภาพของการตายที่น่าสงสัยในหมู่ชิมแปนซีหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆเลย ต่อมา พวกเขาจึงเบนความสนใจไปที่หมู่บ้านเมเลียงดู  พูดคุยกับชาวบ้านที่นั่น  และได้ยินเรื่องราวที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับโพรงไม้ที่เต็มไปด้วยค้างคาวขนาดเล็กซึ่งกินแมลงเป็นอาหาร ทีมของเลนเดิร์ทซ์ให้ชาวบ้านดูรูปและอธิบายเพื่อให้แน่ใจว่า ชาวบ้านกำลังพูดถึงค้างคาวปากย่นแองโกลา (Mops condylurus)  ค้างคาวเหล่านี้อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในโพรงขนาดใหญ่ของต้นไม้ต้นหนึ่งที่ยืนต้นอยู่ข้างทางเดินใกล้หมู่บ้าน เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น มีคนเผาต้นไม้ต้นนั้นเพื่อเก็บน้ำผึ้ง และทำให้เกิดสิ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “ห่าฝนค้างคาว”

ชาวบ้านยังบอกกับทีมของเลนเดิร์ทซ์ด้วยว่า เด็กๆในหมู่บ้านซึ่งบางทีอาจรวมถึงเอมีล อูอามูโน ชอบเข้าไปเล่นในโพรง และบางครั้งก็จับค้างคาวเล่น และเผลอๆ อาจเอามาเสียบไม้ย่างกินกันด้วย

“ผมเลยเริ่มถือหลอดกับช้อนวิ่งไปทั่วเพื่อเก็บตัวอย่างดินจากใต้ต้นไม้ต้นนั้น” เลนเดิร์ทซ์บอกผมพอกลับไปถึงเบอร์ลิน การเรียงลำดับยีนยืนยันว่า มีค้างคาวปากย่นแองโกลาอยู่จริง ค้างคาวกินแมลงชนิดนี้จึงมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบผู้ท้าชิงตำแหน่งการเป็นสัตว์รังโรคของอีโบลา  แทนที่ค้างคาวกินผลไม้ ทว่าคำตอบสุดท้ายที่ว่า สัตว์อะไรเป็นรังโรคของเชื้ออีโบล่ากันแน่ ยังต้องอาศัยเวลาและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

เรื่องโดย เดวิด ควาเมน
กรกฎาคม 2558

40

ภาพ : สงครามยาเสพติด
ภาพโดย : วินัย ดิษฐจร
คำบรรยายภาพ : สาวประเภทสองคนนี้กำลังสูดไอระเหยจากการเผายาบ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ระบาดมากที่สุดในประเทศไทย แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคสมัยจะประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ แต่ “สงครามยาเสพติด” ยังคงยืดเยื้อและไม่ทีท่าจะปิดฉากลงง่ายๆ

สงครามย่อมต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ เราจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ในสงครามอันยาวนานกับยาเสพติด

กลางดึกที่ร้อนอบอ้าวคืนหนึ่งของเดือนเมษายน  เป็นเวลาที่ผู้คนต่างหลับใหล  ร้านรวงและผับบาร์ปิดบริการไปนานแล้ว แต่ผมยังกระสับกระส่ายไม่อาจข่มตาหลับ ผมนอนเงี่ยหูฟังเสียงเพลงแผ่วๆที่ดังแว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง เป็นบทเพลง Desperado ของวง The Eagles  เพลงหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตช่วงวัยรุ่นของผม

                “…เจ้าคนกล้าบ้าบิ่นเอย เจ้าไม่มีทางย้อนเวลากลับไปอย่างเดิมได้หรอก ความเจ็บปวดที่เจ้าได้รับ ความหิวโหยที่เจ้าประสบ น่าจะทำให้เจ้ายอมรับสภาพได้เสียที...”

                ด้วยเหตุบังเอิญบางอย่าง ทำให้ครั้งหนึ่งในชีวิต ผมได้เข้าไปสังเกตการณ์ในเรือนจำกลางคลองเปรมเป็นระยะ เวลาสั้นๆ ผู้ต้องขังที่นั่นส่วนใหญ่ถ้าไม่ต้องคดียาเสพติด ก็มักมีส่วนเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด ผมได้เห็นภาพอันน่าสลดหดหู่ และความเวทนาต่อเพื่อนมนุษย์ จนรู้สึกว่าชีวิตในวังวนขบวนการค้ายาเสพติดของพวกเขาเหมือนถูกล่ามด้วยพันธนาการที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าห้องขังใดๆในโลก เสียงเพลงในค่ำคืนนั้นและผู้คนในเรือนนอนหลังนั้นคอยติดตามและย้ำเตือนในอีกหลายปีต่อมา  ผมจึงเริ่มบันทึกวังวนและเรื่องราวชีวิตของพวกเขาผ่านภาพถ่าย

                ย้อนหลังไปกว่า 20 ปีก่อน ระหว่างที่ผมตามติดชีวิตของเด็กเร่ร่อนและคนไร้บ้าน เพื่อบันทึกภาพให้กับสื่อมวลชนสำนักหนึ่ง ผมได้เห็นชีวิตริมถนนหรือในชุมชนแออัดที่มียาเสพติดเป็นของคู่กันเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ยุคนั้นเป็นยุคเดียวกับที่อิทธิพลดนตรีตะวันตกกำลังครอบงำประเทศไทย ศิลปินผู้เสพยาเป็นอาจิณเป็นเสมือนฮีโร่ของวัยรุ่น สารระเหยหรือทินเนอร์เป็นที่นิยมในหมู่เด็กเร่รอนไร้บ้าน พอๆกับยาม้าที่สิงห์รถบรรทุกหรือผู้ใช้แรงงานอาศัยเป็นแรงขับ เคลื่อนเพื่อต่อสู้กับความลำบากตรากตรำของชีวิตรายวัน และยังมีผู้คนอีกมากที่ติด “เข็ม” หรือเฮโรอีนที่ระบาดรุนแรงในเวลานั้น ชะตากรรมของผู้คนที่ผมรู้จักจำนวนไม่น้อย ถ้าไม่จบลงด้วย “เกมส์” คือเข้าคุกเข้าตะราง ก็มักจบชีวิตเพราะพิษร้ายของยาเสพติด เอชไอวี คมกระสุน หรืออะไรก็ตามที่พรากชีวิตของเขาและเธอไปก่อนวัยอันควร

กระทั่งทุกวันนี้ สถานการณ์ยาเสพติดและผู้ใช้ยายังคงวนเวียนอยู่ในรูปแบบเดิมๆ แต่พัฒนายกระดับไปสู่ผู้คนหลากหลายกลุ่มโดยเฉพาะเยาวชน และตัวสารเสพติดก็มีความหลากหลายมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2557 มีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งเสพและจำหน่ายประมาณสองล้านคน สถิตินี้แทบไม่ลดลงเลยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา  และส่วนใหญ่เป็นผู้คนที่อายุระหว่าง 15 − 30 ปี ซึ่งเป็นทั้งอนาคตและแรงงานสำคัญของประเทศ

ภาครัฐประกาศสงครามกับยาเสพติดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สถานการณ์ยาเสพติดกลับดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น กลยุทธ์ของขบวนการยาเสพติดมีทั้งระบบที่ทันสมัยและการตลาดเข้มแข็ง จนเป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่คอยกัดกินสังคมไทยมาตลอดหลายทศวรรษ และมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ก็เป็นได้แค่เพียงยาบรรเทาอาการป่วยไข้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

 

ลองนึกภาพใครสักคนที่ติดยาเสพติด  เขาหรือเธอคนนั้นมักมีจุดเริ่มต้นคล้ายกับ “น้ำพุ” ในวรรณกรรม “เรื่องของน้ำพุ” ของสุวรรณี สุคนธา นักเขียนหญิงชั้นครูผู้ล่วงลับ  เด็กน้อยที่บ้านมีปัญหา พ่อแม่แยกทางกัน ต้องแบกรับแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง หลงเชื่อตามคำชักชวนหรืออยากเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง วรรณกรรมเรื่องของน้ำพุเป็นแรงบันดาลใจชิ้นสำคัญของผม และทำให้ผมตั้งคำถามว่า “ทำไมมนุษย์จึงต้องใช้ยาเสพติด”  เพราะเหตุใดมนุษย์จึงต้องแสวงหา “ภาวะเหนือปกติ”  แล้วไฉนเราถึงเจ็บปวดจนไม่อาจทนอยู่กับปัจจุบัน

 

ภาวะหรือโรคสมองติดยาเกี่ยวข้องกับสมองสองส่วน ได้แก่ สมองส่วนนอก (cerebral cortex) ซึ่งเป็นสมองส่วนความคิด มีหน้าที่ควบคุมสติปัญญาแบบมีเหตุมีผล และสมองส่วนใน (limbic system) หรือสมองส่วนอยากซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก

ยาเสพติดจะไปกระตุ้นสมองส่วนอยากให้หลั่งหรือสร้างสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข เช่น โดพามีน เซโรโทนิน เอนดอร์ฟีน กลูตาเมต และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเสพติด ผู้เสพจึงมีความสุขชั่วคราว แต่เมื่อยาหมดฤทธิ์ สมองจะลดการหลั่งสารเคมีเหล่านี้ลง ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ซึมเศร้า ทรมาน ทุรนทุราย จนต้องขวนขวายหายามาใช้อีก ทว่าธรรมชาติของสมองจะปรับสภาพให้ตอบสนองต่อฤทธิ์ยาน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นผู้เสพจึงต้องเพิ่มปริมาณและความถี่มากขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นภาวะเสพติดหรือภาวะที่เรียกว่า “อยากก็เอา เมาก็เลิก” ผู้เสพหลายรายที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วยสารภาพว่า พวกเขาเคยเสพยาหนักที่สุด “จนเบลอ” ถึงขนาด “จำหน้าพ่อแม่ไม่ได้” บางคนบอกว่า “เห็นภาพหลอนเต็มไปหมด” หรือไม่ก็ “หวาดกลัวจะมีคนมาทำร้าย”   

การแสวงหายาเสพติดเป็นเรื่องง่ายกว่าที่คิด ขอเพียงคุณรู้ว่าจะต้อง “รับ” มันจากใคร วัยรุ่นมักเริ่มจากกัญชายาเสพติดที่เรามักคิดว่าไม่มีอันตรายใดๆ แต่หลายคนใช้กัญชาเป็นบันไดขั้นแรกสำหรับพัฒนาไปสู่อะไรที่เชื่อว่า “แรงกว่า” อย่างยาบ้า และยาไอซ์ เป็นต้น

ขณะที่การแสวงหาเงินมาซื้อกลับเป็นเรื่องยากกว่าการแสวงหาตัวยา ด้วยเหตุนี้ ผู้เสพส่วนใหญ่ที่ไม่มีเงิน ถ้าไม่ลักเล็กขโมยน้อย หรือก่ออาชญากรรมเพื่อนำเงินมาซื้อยาแล้ว ก็มักจะเบนเข็มเข้าสู่วังวนอีกระดับ นั่นคือการเป็นผู้จำหน่ายรายย่อยเสียเอง กลวิธีของขบวนการค้ายาเสพติดลักษณะนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่ยังเรียกยาบ้าว่า “ยาม้า” ผู้เสพที่ต้องการยาแต่ไม่มีเงินจะรับ “ของ” มาจากตัวแทนจำหน่าย แล้วนำมา “ปล่อย” เอง ด้วยวิธีที่เรียกว่า “ม้าสามขา” คือจะได้รับส่วนแบ่งยาสำหรับเสพร้อยละ 25 จากที่จำหน่ายได้ (ยาหนึ่งเม็ดมี 4 ขา) วิธีนี้คล้ายๆ กับนักธุรกิจขายตรงในปัจจุบัน และเมื่อจำหน่ายได้มากขึ้นเรื่อยๆจนเกินเสพแล้ว พวกเขาก็สามารถทำเงินจากยาเสพติดได้มหาศาล ที่น่าสนใจคือความเชื่อเก่าๆที่ว่า คนขายยาเสพติดเป็นคนยากจนที่ต้องการรายได้ กลับไม่จริงเสมอไปอีกแล้ว เพราะผู้จำหน่ายหลายรายที่ผมพบและพูดคุยด้วยหลายคนเป็นคนมีฐานะดี หรือไม่ก็เป็นพนักงานบริษัทด้วยซ้ำ

ยาเสพติดที่ครองแชมป์อันดับหนึ่งมายาวนานคือยาบ้า เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ที่เปลี่ยนวิธีการเสพเรื่อยมาตั้งแต่กินเป็นเม็ดๆ  ไปจนถึงการเผาบนกระดาษฟอยล์แล้วสูดไอระเหย ยาบ้าเป็นยา “ตัวเล็ก” ของคนทุกระดับชั้น โดยเฉพาะตลาดล่าง  ส่วนยา “ตัวใหญ่” หรือยาไอซ์ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นยาเสพติดของคนเมืองหรือพวกมีระดับกว่า กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าเป็นยาที่บริสุทธิ์กว่า และซุกซ่อนง่ายกว่าแบบเม็ด ในแต่ละปี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสามารถจับกุมยาบ้าได้มากกว่า 20 ล้านเม็ด และยาไอซ์กว่า 1,500 กิโลกรัม นั่นอาจเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับที่เล็ดรอดไปได้

ความล้ำลึกของโลกยาเสพติดในปัจจุบัน คือความพยายามแสวงหาสารเสพติดที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงวัยหนึ่ง ผมมีโอกาสทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตยาสามัญประจำบ้าน และได้เห็นแท่นผลิตเม็ดยาที่มีราคาแพง แต่ปัจจุบัน แท่นผลิตยาเหล่านั้นย่อขนาดเล็กลงมากและสามารถหาซื้อหาได้ง่าย อย่างน้อยก็อาจประยุกต์หรือดัดแปลงได้หากคนทำมีความรู้ทางช่างกับทางเคมีนิดหน่อย ยาเสพติดจากธรรมชาติอย่างใบกระท่อมถูกนำมาเล่นแร่แปรธาตุโดยกินกับน้ำอัดลมหรือต้มกับยาแก้ไอเป็น “สี่คูณร้อย” หรือหลายปีก่อนที่มีการไล่เก็บยาแก้หวัดตามท้องตลาดที่มีสารซูโดรอิเฟดรีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด เนื่องจากพบว่ามีการกว้านซื้อจำนวนมากเพื่อผลิตยาเสพติด

แม้ผมจะไม่อาจวิเคราะห์เจาะลึก แต่อย่างน้อยปรากฏการณ์เหล่านี้น่าจะสะท้อนให้เห็นสังคมที่ป่วยไข้เรื้อรัง แหล่งข่าวหญิงคนหนึ่งที่ผมรู้จักมานาน เธอเป็นคนหนึ่งที่จากโลกนี้ไปด้วยพิษยาเสพติด แน่นอนว่าเดิมทีเธอเป็นคนสะสวย ผิวพรรณสะอาดสอ้าน และใบหน้าอิ่มเอม แต่ชั่วระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี ยาบ้าก็ชักนำเธอเข้าสู่วงจรค้ากาม เธอซูบผอมลงจนผมจำแทบไม่ได้  ท้ายที่สุดมันก็ปลิดชีวิตเธอเหมือนปลิดใบไม้จากกิ่ง

เป็นความจริงที่ว่า ในสังคมที่ดารา นักร้อง นักแสดง หรือคนมีชื่อเสียง หากเลิกยาเสพติดได้ พวกเขาจะได้รับการยกย่องเชิดชู และอาจถึงขั้นได้รับการอุปโลกน์เป็นทูตให้องค์กรสาธารณะต่างๆ แต่หากเป็นชาวบ้านทั่วไป พวกเขากลับถูกตราหน้าว่าเป็น “อดีตขี้ยา” และไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆเลย แม้แต่การขอวีซ่าไปต่างประเทศก็ยังลำบาก การเลิกยาเสพติดสำหรับคนทั่วไปย่อมหมายความว่า พวกเขาต้องพยายามมากกว่าหลายเท่า เพื่อกลับไปสู่จุดเดิมที่เคยยืนอยู่ก่อนติดยาเสพติด

ในเบื้องลึก ผู้ติดยาเสพติดทุกคนล้วนแล้วแต่อยากหลุดพ้นจากวังวนนรก บทความหนึ่งซึ่งเขียนโดยผู้ติดยาเสพติดตัดพ้อว่า “...พวกเราเป็นแค่เพียง ‘หญิงแพศยา’ หรือ ‘ชายสารเลว’ ที่ใช้ชีวิตไปวันๆ ทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาสนองความรื่นรมย์กับยาเสพติด บันดาลความสุขแค่เพียงชั่วยาม พอสร่างฤทธิ์ยาก็พบความจริงอันโหดร้ายของชีวิตที่จมปลักในโคลนตม พวกเราต่างเหนื่อยล้า และในใจลึกๆ ปรารถนาจะหลุดพ้นจากมัน แต่สุดท้ายพวกเราต่างพ่ายแพ้ทุกครา...”

 
ตลอดการทำสารคดีชิ้นนี้ ผมไม่เชื่อว่ายาเสพติดจะหายไปหรือลดจำนวนลงได้ในเร็ววัน อย่างน้อยที่สุดก็คงจะไม่ได้ทันเห็นในยุคสมัยของเรา เพราะความรุนแรงของมันเหนือกว่าสงครามครั้งไหนๆ และสงครามยาเสพติดก็เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเรา

แต่ขึ้นชื่อว่าสงคราม ย่อมต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ เพียงแต่เราจะจารึกไว้ว่า  มันชนะเรา หรือเราชนะมัน ก็เท่านั้น

เรื่องโดย วินัย ดิษฐจร เรียบเรียง ราชศักดิ์ นิลศิริ
กรกฎาคม 2558

41

ภาพ : ตามรอยมหาบุรุษนามคานธี
ภาพโดย : เรนา เอฟเฟนดี
คำบรรยายภาพ : เมื่อว่างจากงานในไร่ ที่หมู่บ้านสีโหล รัฐคุชราต คีตา เภน จะทอส่าหรีให้กลุ่มสหกรณ์สตรีที่ได้แรงบันดาลใจจากโมหันทาส คานธี

ตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของบุรุษผู้ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งชาติอินเดีย” ยังคงเรืองรองอยู่ในอินเดียยุคใหม่ สมดังคำกล่าวที่ว่า ประทีปแห่งคานธีจะฉายฉานต่อไปอีกนับพันปีจริงหรือ

เขาตื่นก่อนฟ้าสาง เช่นที่เคยทำเป็นกิจวัตรในอาศรม ท่ามกลางความมืด เขานำสวดภาวนาบนผืนดินริมฝั่งแม่น้ำสพาร์มตี จากนั้นเขาซึ่งอยู่ในชุดโธตี หรือผ้านุ่งสีขาวกับผ้าคลุมไหล่ ก็คว้าไม้เท้าไม้ไผ่ แล้วเดินออกจากประตูบ้านที่อยู่มา 13 ปี

            โมหันทาส คานธี ไม่ได้ไปโดยลำพัง ขณะที่เขาก้าวเข้าสู่ถนนลูกรังชานเมืองอัห์มดาบาด เมืองใหญ่ที่สุดในรัฐคุชราตบ้านเกิด ชายสวมชุดขาว 78 คนก็ออกเดินเรียงสองตามหลังเขาเป็นแถวยาว ผู้คนหลายหมื่นคน              ต่างเบียดเสียดกันอยู่สองข้างทาง พวกเขาตะโกนขึ้นว่า “คานธี กี ชัย คานธีจงมีชัย”

            นั่นคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปี 1930 คานธีกับผู้ติดตามใช้เวลา 25 วันเดินทาง 388 กิโลเมตรสู่ทะเลอาหรับ เพื่อประท้วงกฎหมายอยุติธรรมของอังกฤษที่สั่งห้ามการทำเกลือในดินแดนอาณานิคม คานธี                          ผู้ช่ำชองในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อปลุกกระแสทางการเมือง ก้มลงใกล้ชายหาดและกอบดินเค็มๆขึ้นมากำมือหนึ่ง และเมื่อการทำเกลือผิดกฎหมายระบาดไปทั่วประเทศ การจับกุมคุมขังและการทุบตีก็เกิดตามมา สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทางการอังกฤษมองว่าเป็นเพียงละครการเมืองฉากเล็กๆกลับลุกลามบานปลายกลายเป็นการเรียกร้องเอกราชทั่วประเทศ  นับตั้งแต่วันที่เริ่มออกเดินขบวนเกลือ (Salt March) หรือสัตยาเคราะห์เกลือ จนถึงวันที่เขาเสียชีวิตในอีก 18 ปีต่อมา คานธีได้มอบการปฏิวัติที่ผสมผสานแนวคิดทางการเมืองกับความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณให้อินเดีย เขาเรียกหลักการต่อสู้แบบสันติอหิงสานี้ว่า สัตยาเคราะห์ หรือพลังแห่งสัจจะ

            อิทธิพลของคานธีมิอาจลบเลือน เขานำพาอินเดียสู่เอกราช ปลุกสำนึกเพื่อนร่วมชาติให้ตั้งคำถามท้าทายอคติที่หยั่งรากลึกที่สุดของตน ทั้งเรื่องวรรณะ ศาสนา และการใช้ความรุนแรง

            ไม่กี่ชั่วโมงหลังคานธีจบชีวิตจากคมกระสุนสังหารเมื่อปี 1948 หรือเพียงห้าเดือนครึ่งหลังอินเดียได้รับเอกราช ยวาหร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ก็ประกาศว่า ประทีปที่บุรุษผู้เปรียบได้กับบิดาของชาติได้จุดไว้จะฉายฉานต่อไปอีกนับพันปี

            มาถึงวันนี้ ประทีปดวงนั้นยังสว่างเรืองรองเพียงใด

 

เพื่อหาคำตอบ ผมตัดสินใจตามรอยคานธี ผมจะจาริกไปตามเส้นทางเดินขบวนเกลือของเขา คำปราศรัยและบทความของเขาพูดถึงปัญหาต่างๆที่อินเดียทุกวันนี้ยังเผชิญอยู่ และชาวอินเดียยังคงถกเถียงถึงมรดกตกทอดของบุรุษผู้เป็นที่รู้จักในนามมหาตมา (Mahatma) หรือ “จิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่”

            คานธีเป็นคนเดินเร็ว จังหวะก้าวของเขานับว่าน่าทึ่งสำหรับชายวัย 61 ปี ซึ่งมีอาการปวดข้อจากโรครูมาติก ทุกวันหลังเดินทางเฉลี่ยราว 16 ถึง 19 กิโลเมตรฝ่าคลื่นความร้อน คณะของเขาจะหยุดตามหมู่บ้านต่างๆเพื่อสวดภาวนา พักผ่อน กินอาหาร และให้คานธีปราศรัยกับผู้ฟังที่ปลื้มปีติ คานธีเป็นบุคคลสำคัญระดับชาติคนแรกที่ผูกสัมพันธ์กับชาวบ้านระดับรากหญ้า สำหรับเขาหมู่บ้านคือจิตวิญญาณของอินเดีย

            ทุกวันนี้ วิสัยทัศน์ของคานธีที่มองว่า หมู่บ้านต่างๆคือผืนดินอุดมที่จะนำพาอินเดียไปสู่ความก้าวหน้า ช่างดูราวกับความฝันถึงโลกอุดมคติในยามเพ้อไข้ เมืองน้อยใหญ่ต่างหากที่เป็นแหล่งงาน โรงเรียน และชีวิตทางสังคม ปัญหาของเมืองใหญ่ เช่น มลพิษ อาชญากรรม คนล้นเมือง และการจราจร เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่ครอบงำบทสนทนาของผู้คน ทั้งๆที่เกือบร้อยละ 70 ของประชากรอินเดียกว่า 1,200 ล้านคนยังอาศัยอยู่ในชนบท

            ฝูงชนที่ทักทายคานธีตลอดเส้นทางเดินขบวนเกลือไม่ใช่คนที่ชาวอินเดียยุคใหม่คาดคิด ในสนามของโรงเรียนหรือตามท้องทุ่ง ผู้หญิงหลายร้อยคนมาฟังคานธีปราศรัย พวกเธอออกันอยู่เต็มท้องถนนในเมืองเพื่อร่วมเดินไปกับผู้ประท้วง คานธีเกรงจะเกิดเหตุรุนแรงจึงเลือกเฉพาะผู้ชายมาร่วมขบวน แต่เขาเห็นผู้หญิงเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติ “ผมรู้สึกว่าพวกเธอตีความหลักอหิงสาได้ดีกว่าผู้ชาย” คานธีกล่าว “ไม่ใช่เพราะพวกเธออ่อนแอ ดังที่ความทะนงตนทำให้ผู้ชายคิดเช่นนั้น แต่เพราะพวกเธอกล้าหาญมากกว่าต่างหาก”

            คานธีชอบยั่วยุคน โดยมักท้าทายผู้ฟังอยู่เนืองๆ ที่เมืองคเชระ ราวสิบวันหลังออกเดิน เขานั่งบนเวทียกพื้น ต่อหน้าผู้ฟังที่คาดหวังโดยไม่ปริปาก ผู้ฟังเริ่มอึดอัด และเมื่อคานธีพูดขึ้นในที่สุด เขาก็บอกว่าจะไม่ปราศรัยจนกว่าผู้นำหมู่บ้านจะเชิญจัณฑาลมาร่วมวงด้วย นี่เป็นคำขอที่ท้าทายขนบชนิดยอมหักไม่ยอมงอ

            ชาวฮินดูชิงชังผู้อยู่ต่ำสุดของระบบวรรณะกลุ่มนี้อย่างยิ่ง พวกเขาทำงานที่สกปรกที่สุด ใช้ชีวิตแยกต่างหาก ห้ามเข้าวัดหรือตักน้ำจากบ่อน้ำในหมู่บ้าน กระทั่งเงาก็ยังห้ามทอดทับชาวฮินดูวรรณะอื่น

            บางทีนี่อาจเป็นบททดสอบที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจมากที่สุดที่คานธีหยิบยื่นให้ผู้ที่ออกปากว่าเป็นผู้ติดตามเขา เจ้าหน้าที่ซึ่งมีท่าทีอับอายส่งสัญญาณให้เหล่าจัณฑาลบนเนินใกล้ๆเข้าร่วมการชุมนุมด้วย

 

ในที่สุดกลุ่มผู้ประท้วงก็ได้ยินเสียงคลื่น หลังจากเดินกันมากว่าสามสัปดาห์ พวกเขาเข้าใกล้หมู่บ้านชายฝั่งชื่อทันที ขณะที่ผู้คนจำนวนมากในอินเดียและโลกตะวันตกเฝ้าดู กองกำลังรักษาความสงบ สื่อมวลชน ฝูงชนที่สนใจใคร่รู้และกลุ่มผู้สนับสนุน มารวมตัวกันเพื่อรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

            โมหันทาส คานธี ทำผิดกฎหมายในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 6 เมษายน ปี 1930 ณ หมู่บ้านทันทีซึ่งอยู่ใกล้ทะเล บุรุษที่มิตรสหายและคนแปลกหน้าเรียกขานว่า บาปู หรือ “บิดา” ก้มลงกอบดินเลนขึ้นมากำมือหนึ่ง และพอหมดวัน ผู้สนับสนุนหลายร้อยคนก็ทำเช่นเดียวกัน ตลอดช่วงหลายเดือนต่อมาทั่วทั้งอินเดีย ผู้คนอีกมากมายพากันผลิตเกลือสมุทรอย่างผิดกฎหมายชนิดที่ตำรวจตามจับไม่ทัน การเดินขบวนเกลือไม่ได้ล้มล้างการปกครองของอังกฤษก็จริง เพราะกว่าอินเดียจะได้รับเอกราชก็ต้องรออีก 17 ปีต่อมา หากเป็นการเขย่าฐานรากให้แตกร้าว

            การสร้างฉากนั้นขึ้นมาใหม่เป็นเรื่องยาก ภูมิทัศน์ของชายฝั่งเปลี่ยนไปแล้ว และจุดที่คานธีก้มลงกอบเกลือบัดนี้กลายเป็นผืนดินแห้งๆ การตามหาคานธีในอินเดียที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

            แต่ขณะที่ผมมองหาคานธี ค้นหาเขาท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครมและความสับสนวุ่นวายของชีวิตในเมืองและชนบท ผมก็พบเขา วิญญาณอันหาญกล้า จิตใจอันสูงส่ง และบุคลิกอันกร้าวแกร่ง ที่ขับเคลื่อนการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต การกระทำชำเราแก่สตรี ความรุนแรงที่เกิดจากการถือวรรณะ และการไล่ที่ชุมชนแออัด ในอาศรมหลายแห่งของเขา ผมรับรู้ได้ถึงพลังจากแบบอย่างการใช้ชีวิตอันสมถะ แม้ในบางแง่มุมคานธีจะล้มเหลวอย่างน่าเศร้า และไม่สามารถทำให้อะไรดีขึ้นได้เลย เช่น การป้องกันความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม หรือการแยกประเทศปากีสถานซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม แต่ ณ ชายหาดแห่งนี้ที่หมู่บ้านทันที ภาพของครอบครัวชาวมุสลิมและฮินดูที่เดินลุยคลื่น ยกชายส่าหรีขึ้น เลิกผ้าคลุมศีรษะไปข้างหลัง คือประจักษ์พยานแห่งความยั่งยืนของประชาธิปไตยแบบทางโลกที่ยอมรับในความแตกต่าง ซึ่งคานธีเชื่อว่าเป็นมรดกตกทอดของอินเดีย

 เรื่องโดย ทอม โอนีล
กรกฎาคม 2558

42

ภาพ : รัฐเซาท์ดาโคตา
ภาพโดย : ปีเตอร์ เอสสิก
คำบรรยายภาพ : ด้วงสนภูเขารุกคืบทำลายผืนป่าทางตะวันตกของสหรัฐฯ รวมถึงป่ารอบๆเมานต์รัชมอร์เหล่านี้ ป่าสนที่เห็นเป็น สีเทาคือสนใบโกร๋นที่ยืนต้นตาย ส่วนที่เห็นเป็นสีสนิมเพิ่งตายลงและยังเหลือใบอยู่ คำถามคือฝูงด้วงจะแพร่ระบาดไปทั่วทวีปอเมริกาเหนือหรือไม่

ด้วงสนภูเขาที่ทำลายล้างผืนป่าในสหรัฐฯ กำลังรุกคืบเข้าสู่แคนาดา เราจะหยุดยั้งหายนะนี้ได้หรือไม่


ยามเช้าอากาศเย็นเยือกวันหนึ่งของเดือนตุลาคม ปี 2013 ไดอานา ซิกซ์ จอดรถที่ชายป่าสนในหุบเขาบิกโฮล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐมอนแทนา  ใต้เงื้อมเงาของหมู่ยอดเขาห่มหิมะคือป่าสนลอดจ์โพลสี่สีปกคลุมไปทั่ว เนินเขา  แต่ละสีที่เห็นคือลำดับเวลาการถูกทำลาย  สีเทาคือต้นไม้ใบโกร๋นเหลือแต่ลำต้นและกิ่งก้าน พวกมันตายไปตั้งแต่ปี 2009  ส่วนต้นสีแดงอ่อนๆยังไม่ทิ้งใบคือพวกที่ชะตาขาดเมื่อปี 2011 ตามมาด้วยสนต้นสีแดงอมส้มเข้มที่ตายลงเมื่อปี 2012  และแม้แต่สนที่ยังดูเขียวก็อาจไม่แข็งแรงอย่างที่เห็น คือคำอธิบายของซิกซ์ นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยมอนแทนา ราวหนึ่งในสี่ของต้นสนเหล่านั้นหมดหนทางเยียวยาแล้ว

ซิกซ์คว้าขวานแล้วเดินเข้าป่า เธอหยุดที่ดงสนลอดจ์โพลซึ่งมีทั้งต้นสีเขียวมรกตและสีส้มไหม้ปะปนกัน ใช้ขวานค่อยๆถากเปลือกไม้จากต้นสีเขียวต้นหนึ่ง แล้วบากร่องจนเห็นเนื้อไม้ซีดๆ ในนั้นมีตัวอ่อนสีดำของด้วงขนาดเท่าเมล็ดงา ตัวอ่อนเหล่านี้ตายเพราะน้ำค้างแข็งซึ่งมาก่อนฤดูกาล แต่ก็ช้าเกินกว่าจะช่วยชีวิตสนต้นนี้ไว้ได้ แม้มันจะยังดูเขียวสด แต่โฟลเอ็ม (phloem) หรือเนื้อเยื่อท่อลำเลียงอาหารใต้เปลือกก็แห้งเกรียมเสียแล้ว

ซิกซ์หันไปเฉือนเปลือกของอีกต้นซึ่งดูเหมือนจะแข็งแรงเช่นกัน โฟลเอ็มยังเป็นสีชมพูอมเขียวชุ่มฉ่ำ เห็นได้ชัดว่ายังมีน้ำหล่อเลี้ยง แต่พบรอยด้วงกัดเป็นร่องชัดเจน เมื่อดูจากขนาดของร่องและการไม่พบตัวอ่อนซิกซ์สรุปว่าสนต้นนี้เพิ่งถูกด้วงเจาะไม่ถึงสัปดาห์

นี่คือสภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในป่าสนเนื้อที่หลายล้านไร่ทั่วภูมิภาคตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ถ้าขับรถผ่านพื้นที่บางส่วนของรัฐโคโลราโด คุณอาจเห็นไหล่เขาหลายลูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้สีสนิม สนเกือบ ทุกต้นยืนต้นตายเพราะแมลงตัวร้ายขนาดเล็กกว่าหัวเป๊กติดกระดาน พวกมันคือด้วงสนภูเขานั่นเอง และหากไปเยือนรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ภาพความเสียหายอาจรุนแรงกว่านี้ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ป่าสนราว 180,000 ตารางกิโลเมตรของที่นั่นถูกแมลงชนิดนี้รุกรานสร้างความเสียหายในหลายระดับ

ด้วงสนภูเขาแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆที่กำลังคุกคามภูมิทัศน์ของทวีปอเมริกา เพราะพวกมันไม่ใช่ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หากเป็นสัตว์ประจำถิ่นของป่าสนในแถบตะวันตกและปกติมีอยู่ไม่มากนัก พวกมันเจาะต้นสนตายอย่างมากก็แค่ต้นสองต้นตรงนี้บ้าง ตรงโน้นบ้าง ประชากรของด้วงชนิดนี้อาจทวีจำนวนบ้างเป็นครั้งคราว และบางทีก็ถึงขั้นทำลายป่าผืนใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จำกัดวงอยู่ในภูมิภาคเดียว ไม่ใช่ทำลายป่าครึ่งค่อนทวีปแบบนี้

การระบาดคราวนี้นับว่ารุนแรงและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ผืนป่าตั้งแต่ทางตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโกขึ้นไปจนถึงรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดาถูกด้วงเจาะตายคิดเป็นพื้นที่มากกว่า 2,430,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อการระบาดในรัฐบริติชโคลัมเบียสิ้นสุดลง สนโตเต็มวัยราวร้อยละ 60 ของที่นั่นอาจพากันล้มตาย คิดเป็นเนื้อไม้มากถึงหนึ่งพันล้านลูกบาศก์เมตร

ไม่ใช่แค่ต้นไม้ที่ตกเป็นเหยื่อ ป่าที่ตายแล้วส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่สายใยอาหารไปจนถึงเศรษฐกิจในท้องถิ่น เมืองทำไม้หลายเมืองในรัฐบริติชโคลัมเบียขาดรายได้ ขณะที่หมีและนกในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนขาดแหล่งอาหารสำคัญ และเมื่อไม่มีรากไม้คอยยึดเกาะ หน้าดินก็ถูกกัดเซาะ

ด้วงสนภูเขาอาจนึกขอบคุณพวกเราที่ช่วยให้พวกมันได้เสพสุขกันอย่างในตอนนี้ เราใช้เวลาตลอดศตวรรษที่ผ่านมาพยายามกำจัดไฟป่า ส่งผลให้มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์ให้ด้วงได้อิ่มหมีพีมัน ตอนที่วิกฤติด้วงสนภูเขาเปิดฉากขึ้น ต้นสนโตเต็มวัยในป่าของรัฐบริติชโคลัมเบียขึ้นกันหนาแน่นมากกว่าป่าที่ปล่อยให้เกิดไฟป่าตามธรรมชาติถึงสามเท่า เช่นเดียวกับด้วงสนภูเขา ไฟป่าเองก็เป็นปัจจัยธรรมชาติประจำถิ่นของป่าสนแถบตะวันตก และมีความสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไม่ต่างจากฝน ไฟป่าช่วยบำรุงดิน กระจายเมล็ดพันธุ์ และเปิดที่โล่งให้แดดส่องถึงพื้นดิน ทำให้ป่าเป็นถิ่นอาศัยสำหรับสรรพชีวิต

แอลลัน แคร์รอลล์ นักนิเวศวิทยาด้านแมลงจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย อธิบายว่า เมื่อร้อยปีก่อนรัฐบริติชโคลัมเบียมีสนลอดจ์โพลที่โตเต็มวัยและสุ่มเสี่ยงจะเป็นอาหารของด้วงอยู่เพียงร้อยละ 17 พอถึงกลางทศวรรษ 1990 จำนวนก็ทวีขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 50

กระนั้น ลำพังการเพิ่มขึ้นของไม้โตเต็มวัยอย่างเดียวไม่น่าจะทำให้ผืนป่าในสิบรัฐของสหรัฐฯและสองรัฐในแคนาดาถูกด้วงเจาะจนตายยกภูเขา ความเปราะบางนั้นเกื้อหนุนให้การระบาดทวีความรุนแรงขึ้น แต่ปัจจัยที่โหมกระพือคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราเองที่ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของด้วงด้วยการทำให้โลกอุ่นขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งทำให้ต้นไม้อ่อนแอจนไม่อาจต้านทานภัยจากผู้รุกรานได้ สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นยังช่วยเพิ่มประชากรของด้วงและขยายถิ่นกระจายพันธุ์ของมันให้กว้างใหญ่ไพศาล พวกมันขยายอาณาเขตขึ้นไปทางเหนือมากขึ้นและบนพื้นที่สูงกว่าเดิม โจมตีสนพันธุ์ต่างๆอย่างสนแจ็กไพน์และสนไวต์บาร์กที่ไม่ค่อยพานพบศัตรูตัวฉกาจนี้กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ สามในสี่ของสนไวต์บาร์กโตเต็มวัยในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนตายหมดแล้ว ส่งผลกระทบต่อหมีกริซลีและนกเจาะลูกสนสีเทาซึ่งอาศัยกินลูกสนเหล่านี้

เมื่อปี 2008 แคร์รอลล์และนักวิจัยคนอื่นๆรายงานผลการวิจัยต่อรัฐบาลแคนาดา โดยสรุปว่าความเสี่ยงที่ด้วงสนภูเขาจะระบาดในหมู่สนแจ็กไพน์ในป่าไม้เขตหนาวเหนือ (boreal forest) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึงหนึ่งในสี่ของแคนาดานั้นมีอยู่น้อย แต่ก็น่าเป็นห่วง ถึงตอนนี้ด้วงสนภูเขาก็เจาะทะลวงสนแจ็กไพน์ได้แล้ว พวกมันยึดครองผืนป่าตั้งแต่รัฐแอลเบอร์ตาไปถึงรัฐซัสแคตเชวันทางตะวันออก ขึ้นเหนือไปจนถึงดินแดนยูคอนและนอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ สนแจ็กไพน์ต่างจากสนลอดจ์โพลตรงที่สามารถเติบโตในผืนป่าทางตะวันออกไกลถึงรัฐโนวาสโกเชีย และลงใต้ไปถึงแถบมิดเวสต์ตอนบนและภูมิภาคนิวอิงแลนด์ของสหรัฐฯ

“แล้วด้วงจะระบาดไปทั่วทวีปหรือไม่” คือคำถามของแคร์รอลล์ เพื่อนร่วมงานตั้งฉายาให้เขาว่า  “ดร.ดูม”  (Dr. Doom)  ถ้าเห็นเขาไปพบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ไหน ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า ผืนป่าแถบนั้นหมดหวังแล้ว เขาตอบคำถามนั้นของตัวเองว่า “ระบาดแน่”

เรื่องโดย ฮิลลารี รอสเนอร์
สิงหาคม 2558

43

ภาพ : มรดกบาปแห่งสงคราม
ภาพโดย : สตีเฟน วิลก์ส
คำบรรยายภาพ : อาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งบางส่วนเป็นวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด ถูกทำลายในปี 2012 เพื่อทำให้ท้องทุ่งแห่งนี้ปลอดภัย
ลาวเป็นชาติที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก แต่ก็อาจเป็นชาติที่ทรหดอดทนมากที่สุดชาติหนึ่งในโลกเช่นกัน



ตลอดหลายวันบนทุ่งไหหิน  ผมพยายามเก็บภาพ คิดคำพูดเปรียบเปรย และตกผลึกความคิดที่สามารถสื่อความหมายของความเป็นลาว ชาติที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดชาติหนึ่งในประวัติศาสตร์  แต่สามารถหยัดยืนและก้าวต่อไปจนพบอนาคตอันสดใส สุดท้ายผมพบสิ่งที่ตามหาบนถนนสายหลักอันจอแจในโพนสะหวัน เมืองเอกของแขวงเชียงขวาง นั่นคือเปลือกระเบิดกองมหึมาที่หลงเหลือจากยุทธศาสตร์ทิ้งระเบิดของสหรัฐฯในลาว ถัดจากซากสรรพาวุธกองนั้นมีตู้เอทีเอ็มใหม่เอี่ยมตั้งอยู่ตู้หนึ่ง “สถูปแห่งเงินตรา” สีฟ้าสดตัดกับสีขาวแวววาวตู้นี้ทำให้กองขยะสนิมกรังจากสงครามที่ผู้คนแทบลืมเลือนไปแล้วดูต่ำต้อยด้อยค่าไปถนัดตา ผมเดินไปที่ตู้เอทีเอ็ม เสียบบัตรเดบิตเข้าไป แล้วกดเงินจำนวนหนึ่งล้านกีบ หรือราว 120 ดอลลาร์สหรัฐออกมา ธนบัตรใบละ 50,000 กีบทั้งหมดที่คายออกมาจากตู้บอกเล่าเรื่องราวสดใหม่ของประเทศลาว ที่ซึ่งยุคสมัยแห่งลูกระเบิดหลีกทางให้ยุคแห่งเงินตรา

ผู้คนในแขวงเชียงขวางเคยใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆในถ้ำและอุโมงค์อยู่นานหลายปี ทุกวันนี้ โพนสะหวันเป็นเมืองคึกคักถึงขนาดต้องมีไฟจราจรพร้อมจอดิจิทัลบอกให้คนเดินเท้ารู้ว่ามีเวลาข้ามถนนกี่วินาที สองฟากถนนเรียงรายไปด้วยร้านรวง ธนาคาร ร้านอาหาร และตลาด  สิ่งที่อยู่เคียงคู่บรรดาคนโทหินขนาดใหญ่อันโด่งดังแห่งทุ่งไหหินซึ่งจุดประสงค์ในการสร้างยังเป็นปริศนาสำหรับนักโบราณคดี คือเศษซากจากสงครามทางอากาศของสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 1964 จนถึงปี 1973  ซากอดีตเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว  กองเปลือกระเบิดกองนั้นตั้งอยู่หน้าสำนักงานการท่องเที่ยวของท้องถิ่น

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนคล้ายลูกระนาดสลับกับที่ราบและทุ่งหญ้า บางส่วนของทุ่งไหหินจึงดูละม้ายสนามกอล์ฟขนาดมหึมา บ่อทรายหลายแห่งเกิดจากห่าระเบิดที่ทิ้งลงมา  นับล้านๆลูกที่ระเบิดตูมตาม ขณะที่อีกหลายล้านลูกไม่ระเบิดและกลายเป็นภัยถาวร  โดยเฉพาะต่อชาวไร่ชาวนาและชาวบ้านที่เลี้ยงปากท้องด้วยการเก็บกู้เศษโลหะมีค่าจากลูกระเบิดด้าน

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งมีประชากรไม่ถึงเจ็ดล้านคน แต่ปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือแล้วเกือบห้าล้านเครื่อง  ที่บ้านปากอู  หมู่บ้านทางภาคเหนือริมฝั่งแม่น้ำโขง  ชาวประมงพากันยืนนิ่งไม่ไหวติงบนเรือลำเล็กที่เห็นเป็นเงาดำในแสงสีอำพัน ผืนน้ำรอบๆทอประกายระยิบระยับ ภาพนั้นดูเหมือนภาพเมื่อหลายร้อยปีก่อน เว้นแต่ว่าชายแต่ละคนกำลังใช้โทรศัพท์มือถือพูดคุยไปด้วยระหว่างหาปลา

ในอดีต กรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว  เป็นเมืองเล็กๆที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ  ปัจจุบันกลายเป็นเมืองใหญ่ที่ยังคงไร้ระเบียบ  เมื่อก่อนเคยปกคลุมด้วยความเงียบ  สอดแทรกด้วยเสียงฝน  เสียงร้องไห้กระจองอแงของเด็กน้อย เสียงหัวเราะของผู้คน และเสียงพระสวดมนต์ ทุกวันนี้ ทุกสิ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความอึงอลของเสียงเครื่องปรับอากาศครางหึ่งๆ เสียงเครื่องปั่นไฟ เสียงรถเครื่อง และเสียงแตรรถบาดแก้วหู

เศรษฐกิจลาวกำลังอยู่ในช่วงเติบโตเกือบร้อยละแปดต่อปี  ธงของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (Lao People’s Revolutionary Party) ที่มีรูปค้อนเคียวตามแบบโซเวียต  ยังคงปลิวไสวอยู่เคียงค้างธงชาติ แต่เหล่าผู้นำรัฐบาลบัดนี้ กลับมีบทบาทต่างไปจากเดิม นั่นคือเป็นผู้ผลักดันการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (ASEAN Economic Community: AEC) ลาวตั้งเป้าว่าจะต้องไต่ให้พ้นจากบัญชีรายชื่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุดขององค์การสหประชาชาติให้ได้ภายในปี 2020

ในลาว คนรวยยิ่งรวยมากขึ้น และแม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุด  ท่ามกลางผู้คนที่อ่อนน้อมถ่อมตนที่สุด ผมยังพบช่องทางเข้าถึงความเป็นไปได้ต่างๆของโลกภายนอกที่ไม่มีใครนึกฝันถึงก่อนหน้านี้  ในลาวตอนกลางใกล้ชายแดนเวียดนาม  ผมเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งบึ่งมอเตอร์ไซค์กลับบ้านพร้อมจานดาวเทียบหนีบอยู่ใต้แขน  ตามหมู่บ้านบนเขา ผมเห็นกลุ่มเด็กนักเรียนในชุดเครื่องแบบสีขาว-น้ำเงิน และยังเห็นศาสนสถานต่างๆได้รับการปฏิสังขรณ์ซึ่งแน่นอนว่ามีวัดในพุทธศาสนา  และยังมีศาลพระภูมิเจ้าที่ต่างๆอยู่เป็นจำนวนมากด้วย รวมทั้งโบสถ์คริสต์อีกสองสามแห่ง คุณยังเห็นพระห่มจีวรอยู่ทุกหนแห่ง เพียงแต่เดี๋ยวนี้ท่านอาจหิ้วกระเป๋าคอมพิวเตอร์แทนการสะพายย่ามกันบ้างแล้ว

                แม่น้ำโขงยังคงไหลผ่านเวียงจันทน์   แต่พื้นที่ริมสองฝั่งน้ำแปรเปลี่ยนไปแล้ว  จากที่เคยเป็นตลิ่งดินเลนสลับกับท่าทราย  เดี๋ยวนี้กลายเป็นลานคนเดินน่ารื่นรมย์ความยาวราวสามกิโลเมตร ครบครันด้วยเครื่องออกกำลังกายกับทางวิ่ง ทุกเย็นผู้คนมารวมตัวกันที่นี่  นักดนตรีบรรเลงเพลง  ครูสอนออกกำลังกายนำคนออกกำลัง ขณะดวงอาทิตย์อัสดงของเมืองร้อนค่อยๆเร้นกายฝากริ้วสลัวลางทาบทาขอบฟ้า  แล้วความครึกครื้นก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งด้วย  แสงสว่างจากหลอดนีออนบนรถเข็นของพ่อค้าแม่ขาย และแสงไฟวูบไหวจากไฟหน้าของรถมอเตอร์ไซค์

เช่นเดียวกับเกือบทุกสิ่งในลาว  สวนสาธารณะริมน้ำแห่งนี้บอกเล่าเรื่องราวลึกลงไปใต้รูปลักษณ์ภายนอก  นั่นคือชัยชนะของการวางผังเมืองเพื่อประโยชน์ของประชาชน  อันที่จริง  ลานที่ว่านี้เป็นแนวเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันเมืองหลวงจากน้ำท่วม  และข้อเท็จจริงที่ว่าใครเป็นผู้สร้างก็เผยเรื่องราวลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือ  งบประมาณส่วนใหญ่มาจากเงินกู้ที่รัฐบาลเกาหลีใต้เสนอให้ ปัจจุบัน ประเทศต่างๆในเอเชียต่างยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ลาว มากกว่าที่มหาอำนาจตะวันตกเคยหยิบยื่นให้ในอดีต

ตลอดช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ครอบงำลาว ทั้งสองประเทศไม่เคยสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเลยแม้ สักแห่งเดียว ทุกวันนี้ลาวมีสะพานสวยหรูทอดข้ามแม่น้ำโขงถึงหกแห่ง หนึ่งในนั้นอยู่ที่เมืองท่าแขกซึ่งเป็นจุดที่มีระยะทางเชื่อมต่อจากลาวไปยังเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของไทยและเวียดนามสั้นที่สุด  นั่นคือเพียง 145 กิโลเมตร จากท่าแขก ผมมองเห็นไทยได้จากหน้าต่างโรงแรมระหว่างชมรายการ เวียดนามไอดอล ทางทีวี

                ยุคสมัยแห่งการเชื่อมโยงถึงกันอย่างสันติยุคใหม่นี้เผยให้เห็นผ่านใบหน้าของผู้คนทุกหนแห่งที่คุณไปถึง รูปร่างหรือเค้าโครงของการเชื่อมโยงถึงกันยังสามารถมองเห็นได้จากทางอากาศ ขณะบินอยู่เหนือแม่น้ำโขงจากแขวงสะหวันนะเขต คุณจะเห็นสะพานใหญ่อีกสะพาน [สะพานมิตรภาพไทย-ลาว] ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งผู้คนและผลิตภัณฑ์ต่างๆทั้งเข้าและออกจากลาว เลยสะพานนี้ขึ้นไปทางต้นน้ำเพียงเล็กน้อย คุณจะเห็นเสาไฟฟ้าแรงสูงต้นสูงเท่าตึกระฟ้านำส่งไฟฟ้าซึ่งลาวส่งออกไปยังอีกฟากของแม่น้ำโขง

เรื่องโดย ที. ดี. ออลแมน
สิงหาคม 2558

44

ภาพ : สวนสัตว์สงัดเสียง
ภาพโดย : โรเบิร์ต คลาร์ก
คำบรรยายภาพ : ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันในมหานครนิวยอร์ก จอร์จ ดันเต นักสตัฟฟ์สัตว์ กำลังตกแต่งหมีสีน้ำตาลในฉากหลังสามมิติที่จำลองถิ่นอาศัยในธรรมชาติ

การสตัฟฟ์สัตว์มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า แต่ปัจจุบันบทบาทดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

การสตัฟฟ์สัตว์มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งเป็นยุคสมัยที่นักล่าสัตว์นิยมนำสัตว์ที่ล่าได้ไปให้ช่างทำเบาะช่วยสตัฟฟ์ให้  สัตว์ที่ได้รับการสตัฟฟ์อย่างดีทำให้เรามีโอกาสชื่นชมสัตว์ที่อาจพบเห็นได้ยากในธรรมชาติในระยะประชิด  เรามองดูพวกมันได้โดยไม่มีกรงเหล็กขวางกั้นเหมือนอย่างในสวนสัตว์ ท่วงท่าก็อาจละม้ายคล้ายคลึงกับเวลาที่อยู่ตามธรรมชาติ และให้ “ประสบการณ์เรียบง่ายตรงไปตรงมาบางอย่าง” ทิโมที โบวาร์ด นักสตัฟฟ์สัตว์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในลอสแอนเจลิสเคาน์ตี บอก

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมเดินทางมาชมการแข่งขันสตัฟฟ์สัตว์ระดับโลก (World Taxidermy Championships) ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมในเมืองเซนต์ชาลส์ รัฐมิสซูรี  ด้วยความหวังว่าจะได้พักจากการเขียนเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมที่หาประโยชน์จากสัตว์ป่ามานานหลายปี   แต่ในงานนี้ผมกลับได้ยินผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนใส่เวนดี คริสเตนเซน นักสตัฟฟ์สัตว์ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ว่า “นั่นผิดกฎหมายชัดๆ!”

ผู้ชมที่กำลังโกรธจัดรายนี้ชี้ไปยังกอริลลาสตัฟฟ์ซึ่งอยู่ในท่านั่ง ขณะที่คริสเตนเซนกำลังจัดแต่งขนรอบๆ นิ้วมืออันใหญ่โตของมัน หญิงคนนั้นตะโกนขึ้นมาว่า “ฉันเคยอยู่ในรวันดา และฉันรู้ว่ากอริลลาเป็นสัตว์สงวน!”

คริสเตนเซนเป็นผู้หญิงที่ดูน่าเกรงขาม เธอเผชิญหน้ากับผู้กล่าวหาด้วยท่าทางสงบเยือกเย็นพร้อมกับอธิบายว่า กอริลลาตัวนี้ชื่อแซมซัน เป็นดาวเด่นของสวนสัตว์มิลวอกีเคาน์ตีมาร่วมสามสิบปีแล้ว หญิงคนนั้นกล่าวขอโทษก่อนจะอ้าปากค้างกับสิ่งที่คริสเตนเซนบอกต่อมาว่า เจ้าสัตว์ที่นำมาสื่อถึงเรื่องราวของแซมซันตัวนี้ไม่มีส่วนประกอบจากกอริลลาจริงๆแม้แต่นิดเดียว

คาร์ล เอกลีย์ คือบิดาแห่งการสตัฟฟ์สัตว์สมัยใหม่ เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจ เอกลีย์ยกระดับ การสตัฟฟ์สัตว์จากเทคนิคการหุ้มเบาะหนังซึ่งส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง (ตั้งแต่การถลกหนัง ต้มกระดูก ใช้ลวดมัดกระดูกให้เป็นโครง แล้วยัดเศษผ้ากับฟางเข้าไปในโครงที่หุ้มด้วยหนังสัตว์) ให้กลายเป็นงานศิลปะด้วยตัวคนเดียว

เอกลีย์ขึ้นรูปและปรับแต่งท่วงท่าของสัตว์ให้ดูเป็นธรรมชาติด้วยการใช้ดินเหนียวและเศษกระดาษแปะทับเป็นชั้นๆ (เทคนิคปาปีเย-มาเช) เพื่อถ่ายทอดรูปทรงของกล้ามเนื้อและเส้นเลือดของสัตว์ตัวอย่างด้วยความถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แล้วจึงหุ้มหนังของสัตว์ที่จะสตัฟฟ์ทับลงไป จากนั้นเขาก็รวบรวมชิ้นส่วนต่างๆที่ดูเหมือนจริงแล้วจัดวางเป็นฉากหลังสามมิติเลียนแบบถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ

ตรงกลางห้องเอกลีย์ฮอลล์ออฟแอฟริกันแมมมอลส์ (Akeley Hall of African Mammals) ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากทวีปแอฟริกาในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน มีผลงานของเอกลีย์ที่ชื่อ ดิอลาร์ม (The Alarm) ซึ่งเป็นโขลงช้างแปดตัวจัดแสดงอยู่ ผลงานชิ้นนี้มีอายุร่วมร้อยปี แต่ยังดูน่าตื่นตาตื่นใจ ผู้คนจำนวนไม่น้อยยกย่องว่า งานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างการสตัฟฟ์สัตว์ที่ประณีตที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม งานอีกชิ้นในห้องจัดแสดงแห่งนี้อาจถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของเอกลีย์ นั่นคือ ฉากแสดงกอริลลาภูเขาที่ถูกทีมของเขาฆ่าในคองโกเมื่อปี 1921 สมัยที่ยังเป็นอาณานิคมของเบลเยียม การเดินทางครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของเอกลีย์ ในเวลาต่อมาเขาสารภาพหลังมองดูร่างไร้ลมหายใจของกอริลลาเพศผู้ว่า “ผมต้องย้ำกับตัวเองอย่างมากว่าทำลงไปในนามของประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นฆาตกร”

เมื่อกลับจากแอฟริกา เอกลีย์กราบทูลหว่านล้อมให้พระเจ้าอัลเบิร์ตที่หนึ่ง กษัตริย์แห่งเบลเยียม ทรงจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์กอริลลาภูเขา อุทยานแห่งชาติอัลเบิร์ตจึงก่อตั้งขึ้นในปี 1925 และเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของแอฟริกา ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ อุทยานแห่งชาติวีรุงกา (Virunga National Park) ความพยายามเหล่านี้ส่งผลให้เอกลีย์เป็นที่ยอมรับในฐานะบิดาแห่งการอนุรักษ์กอริลลา

 

แซมซันเป็นกอริลลาที่ราบตะวันตกจากแคเมอรูนที่ได้รับการเลี้ยงดูดีเกินไปจนมีน้ำหนักตัวถึง 296 กิโลกรัม มันมีชื่อเสียงจากการชอบทุบกระจกกรงขังในสวนสัตว์มิลวอกีเคาน์ตี ซึ่งทำให้ผู้ชมทั้งหวาดผวาและสนุกตื่นเต้นระคนกัน วันหนึ่งเมื่อปี 1981 แซมซันล้มฟุบลงพร้อมกับจับหน้าอกต่อหน้าผู้ชม สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ไม่สามารถกู้ชีพมันกลับมาได้ การชันสูตรในเวลาต่อมาเผยว่า มันเคยหัวใจล้มเหลวมาแล้วห้าครั้ง

ซากของแซมซันได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นของสวนสัตว์นานหลายปี เมื่อพิพิธภัณฑ์สาธารณะมิลวอกีได้ครอบครองในท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ก็พบว่าผิวหนังของมันเสียหายเกินกว่าจะสตัฟฟ์ได้ 

เวนดี คริสเตนเซน เป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่รู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องนี้ เธอเริ่มสตัฟฟ์สัตว์ตั้งแต่อายุ 12 ปี คริสเตนเซนเสนอจะทำให้เจ้าแซมซันฟื้นคืนชีพด้วยวิธีการสตัฟฟ์สัตว์ที่เรียกว่า การสร้างขึ้นมาใหม่ (re-creation) เป็นการสร้างเลียนแบบโดยไม่ต้องใช้สัตว์ต้นแบบหรือแม้กระทั่งสัตว์ชนิดเดียวกัน ในปี 2006 หรือ 25 ปีหลังการตายของแซมซัน คริสเตนเซนก็เริ่มลงมือสร้างแซมซันจำลองขึ้นโดยไม่มีต้นแบบ

คริสเตนเซนหล่อใบหน้าซิลิโคนขึ้นโดยใช้เบ้าปูนปลาสเตอร์ที่หล่อจากใบหน้าของแซมซันตอนที่มันตาย และอาศัยภาพถ่ายอีกหลายพันภาพในการเทียบเคียง  เธอสั่งซื้อโครงกระดูกกอริลลาจำลองและขนปลอมผสมกับขนจามรีจากซัปพลายเออร์เฉพาะทาง 

คริสเตนเซนใช้เวลาหนึ่งปีหลังจากนั้นทำงานบนนั่งร้านที่เปิดให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มองเห็นได้อย่างเต็มที่เธอบรรจงติดขนลงบนใบหน้าและคอของแซมซันที่หล่อจากซิลิโคน ขณะที่เด็กๆถามคำถามมากมาย ส่วนพ่อแม่ก็บอกเล่าถึงความทรงจำแสนสุขที่ได้เห็นกอริลลาตัวนี้สมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็ก

กรรมการคนหนึ่งในการแข่งขันสตัฟฟ์สัตว์ระดับโลกครั้งนี้ตั้งข้อสังเกตว่า  ศิลปะการสตัฟฟ์สัตว์ไปไกลเกินไปแล้วหรือไม่  เขาบอกว่า  การล่าสัตว์ที่มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมเพื่อคว้ารางวัลจากการประกวดเท่ากับว่า “เรากำลังดึงเอายีนที่ดีที่สุดออกไปจากยีนพูล [gene pool – ยีนทั้งหมดที่มีอยู่ในประชากรในช่วงเวลาหนึ่ง] ซึ่งส่งผลเสียต่อสัตว์ชนิดนั้นๆ

เมื่อคริสเตนเซนพาแซมซันเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เธอไม่เพียงแข่งกับสัตว์สตัฟฟ์ที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งกับสัตว์สตัฟฟ์ชั้นยอดของโลกที่สร้างจากของจริงอีกด้วย เธอคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขันประเภทสร้างขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ ยังคว้ารางวัลขวัญใจกรรมการและรางวัลการจัดแสดงดีเด่น เอาชนะนักสตัฟฟ์สัตว์ระดับโลกที่พาสัตว์สตัฟฟ์ของจริงฝีมือขั้นเทพเข้าร่วมประกวดด้วย

เธอทำทั้งหมดนี้ได้โดยไม่ทำให้ขนกอริลลาจริงๆร่วงแม้แต่เส้นเดียว

เรื่องโดย ไบรอัน คริสตี
สิงหาคม 2558

45

ภาพ : ตามรอยจาริกพระบรมศาสดา
ภาพโดย : ทรงวุฒิ อินทร์เอม
คำบรรยายภาพ : พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต่างนิกายล้อมวงนั่งสมาธิรอบต้นโพธิ์ริมสระสรงสนาน ณ ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ลุมพินีวันเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล

ย้อนรอยเส้นทางชีวิตจากเจ้าชายแห่งแว่นแคว้นเล็กๆ สู่สมณะผู้ละทางโลกและเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม

ผผมกำลังเดินเท้าผ่านด่านพรมแดนโสเนาว์รี ปราการด่านสุดท้ายในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย ก่อนเข้าสู่เขตประเทศเนปาล พร้อมนักท่องเที่ยววัยแสวงหาอีกหลายสิบชีวิต พวกเขาล้วนมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สาครมาทา “หน้าผากแห่งท้องฟ้า” หรือชื่อในภาษาท้องถิ่นของเอเวอเรสต์  ยอดเขาสูงที่สุดในโลก  ทว่าเส้นทางของผมนั้นต่างออกไป เพราะการมาเยือนเนปาลครั้งนี้ คือการตามรอยจาริกของมหาบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งอุทิศชีวิตแสวงหาความจริงอันยิ่งใหญ่ ทว่าธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง  จนค้นพบสัจจธรรมที่เรียกว่า “ธรรมะ” อันนำไปสู่การพ้นทุกข์  มหาบุรุษผู้นั้นคือพระศาสดาพุทธโคดม หรืออดีตเจ้าชายสิทธัตถะ

จากพรมแดนเนปาล  ผมโดยสารรถประจำทางท้องถิ่นไปยังตลาดเมืองเตาลิฮาวา เพื่อต่อรถไปยังเมืองติเลาราโกฏ  [เมืองโบราณติเลาราโกฏ (Tilaurakot) ในปัจจุบัน อยู่ห่างจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลประมาณ 300 กิโลเมตร] เป็นที่ตั้งของนครกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงแห่งแคว้นสักกะ แคว้นอิสระที่ปกครองตนเองโดยศากยวงศ์ สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะและประทับอยู่จนกระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา

แม้ปัจจุบัน กรุงกบิลพัสดุ์จะเหลือเพียงกองซากอิฐ แต่ความพยายามฟื้นฟูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ดำเนินการมายาวนานแล้ว  ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2439  ดร.เอ.เอ. ฟือห์เรอร์  นักโบราณคดีชาวเยอรมัน และคัคก้า ซัมเชอร์ จุง บาฮาดูร์ ราณา นักโบราณคดีชาวอินเดีย ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลอังกฤษให้เข้ามาฟื้นฟูอุทยานลุมพินี สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ อจิตมัน ตามัง สมาชิกและเลขานุการของกองทุนพัฒนาลุมพินี (Lumbini Development Trust) บอกว่า "เจ้าชายประสูติที่นี่ครับ ผมคิดว่าถ้ารวมหลักฐานต่างๆ ที่ค้นพบมากมายที่นี่ รวมทั้งสถานที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  น่าจะมากและหนักแน่นพอที่จะยืนยันได้ว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ครับ”         

อุทยานลุมพินีเป็นหนึ่งในสี่สังเวชนียสถานในพุทธศาสนา  อยู่ห่างจากนครกบิลพัสดุ์ไปทางตะวันออกประมาณ 25 กิโลเมตร  ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตประเทศเนปาล หลักฐานสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือจารึกข้อความอักษรพราหมี (นักวิชาการบางคนแย้งว่า เป็นภาษามคธ) บนเสาอโศก เสาหินทรายขนาดใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สาม ถอดความได้ว่า “...สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี [พระนามของพระเจ้าอโศกมาหราช] ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20ปี ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เอง  ด้วยว่าพระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้ โปรดให้สร้างรูปสลักหิน [บางท่านแปลว่ารั้วหิน] และประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย  โดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านลุมพินี และทรงให้เสียแต่เพียงหนึ่งในแปดของผลผลิต เป็นค่าภาษีที่ดิน...”  [ถอดเป็นภาษาไทยโดยเจ้าคุณราชธรรมมุนี)

ข้อความในจารึกและลักษณะทางภูมิศาสตร์สนับสนุนความเป็นไปได้ที่ว่า เจ้าชายสิทธัตถะน่าจะประสูติในสวนป่าลุมพินีแห่งนี้ เนื่องจากที่ตั้งของสวนป่าอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ บ้านเกิดของพระนางมายาเทวีพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ และพระมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อใกล้ถึงเวลามีพระประสูติกาล พระนางน่าจะมีพระประสงค์เสด็จกลับสู่เมืองเทวทหะ เพื่อให้กำเนิดราชบุตรตามธรรมเนียมพราหมณ์แต่อาจมีเหตุสุดวิสัยบางประการที่ทำให้พระนางมีพระประสูติกาลราชบุตรในสวนป่าแห่งนี้     

ในยุคสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้น ศาสนาพราหมณ์แผ่อิทธิพลไปทั่วชมพูทวีป ระบบวรรณะใช้ปกครองสังคมของชาวอารยันมาช้านาน หลังประสูติได้ 5 วัน  คณะพราหมณ์จำนวนหนึ่งได้ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะเพื่อตรวจดวงชะตาและลักษณะของราชกุมาร คำพยากรณ์ต่างเห็นพ้องต้องกันในสองทางคือ “หากเจ้าชายครองฆราวาสก็จักได้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ แต่หากครองเพศบรรพชิตก็จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก” [น่าสนใจที่คำพยากรณ์เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับพระมหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน  ซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน]

 

สู่เพศปริพาชก

การค้นหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดเจ้าชายหนุ่มจึงตัดสินพระทัยละทิ้งราชสมบัติ  แล้วเสด็จออกไปครองเพศปริพาชก เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์และสังคมชมพูทวีในอดีต เราจะพบว่ายุคสมัยของเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคสำริดเข้าสู่ยุคเหล็ก (1,200 – 200 ปีก่อนคริสตกาล) ประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ความยากจนข้นแค้น ผู้คนเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีให้เห็นเป็นปกติ น่าจะมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นอย่างเห็นได้ชัด ตลอดจนความเบื่อหน่ายในการครองเรือนและเต็มอิ่มในโลกียะที่พระองค์ทรงได้รับการปรนเปรอมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์

นอกจากนี้ในทางการเมือง ดร.อัมเพทการ์ รัฐบุรุษ “จัณฑาล” ของชาวอินเดียได้วิเคราะห์สาเหตุการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะไว้ในหนังสือ The Buddha and His Dhamma หรือ “พระพุทธเจ้าและธรรมะของพระองค์” ว่าเกิดจากข้อพิพาทในการใช้น้ำจากแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ แม่น้ำสายนี้เกิดแล้งในบางฤดู จนนำไปสู่การแย่งชิงน้ำระหว่างสองนคร ในที่สุดสภากรุงกบิลพัสดุ์ลงมติต้องการประกาศสงคราม ทว่าเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ออกเสียงไม่เห็นด้วย

เจ้าชายหนุ่มวัย 29 พรรษาเสด็จออกจากประตูเมืองกบิลพัสดุ์ทางทิศตะวันออก พร้อมด้วยนายฉันนะ ผู้ดูแลม้าทรงและกัณฐกะซึ่งเป็นม้าทรง มุ่งหน้าเป็นระยะทางกว่า 120 กิโลเมตรมาจนถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้อยู่ในประเทศอินเดีย ทางใต้ของเมืองโคราฆปูระ ในรัฐอุตตรประเทศ (ชาวบ้านเรียกว่า “แม่น้ำอามี”) เจ้าชายสิทธัตถะทรงใช้พระขรรค์ปลงพระเกศาจนเหลือประมาณสององคุลี (ประมาณสองนิ้วตามมาตรวัดปัจจุบัน) และเปลี่ยนเครื่องทรงวรรณะกษัตริย์เป็นชุดสมณเพศสีเหลืองหม่น จากนั้นจึงออกจาริกเพียงลำพังมุ่งหน้าสู่แคว้นมคธต่อไป

 

ตรัสรู้และเผยแผ่หลักธรรม

ตลอดหกปีนับตั้งแต่เจ้าชายหนุ่มเสด็จออกจากประตูพระราชวัง พระองค์ทรงตระเวนแสวงหาความรู้ตามสำนักลัทธิต่างๆมากมาย  ทรงกระทำอัตตกิลมถานุโยคหรือทุกรกิริยา ซึ่งถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานร่างกายตนเองอย่างรุนแรง ทว่ากลับไม่มีประโยชน์อันใด นักบวชหนุ่มกลับมารับบิณฑบาตรข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาเพื่อฟื้นฟูร่างกาย  แล้วใช้เวลาทบทวนความรู้โดยใช้สมาธิบนพื้นฐานสติปัญญาและร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงอีกครั้ง จนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด

ในช่วงเวลาที่คลื่นความร้อนในอินเดียกำลังรุนแรง ผมและผู้ช่วยออกเดินทางจากมหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ ตรัสรู้ของพระพุทธองค์มุ่งหน้าสู่เมืองสารนาถ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แคว้นกาสี หรือเมืองพาราณสีในปัจจุบัน ตามรอยเส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าที่เคยร่วมศึกษาแสวงหาความหลุดพ้นมาด้วยกัน

พระพุทธองค์ทรงค้นพบหลักธรรมอันลึกซึ้งว่าด้วยธรรมชาติของชีวิต ทว่าการอธิบายให้ผู้คนในยุคสมัยที่มีความเชื่อหลากหลายเข้าใจได้นั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย นักประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์ว่า การเผยแผ่หลักธรรมใหม่โดยนักบวชวัยเพียง 35 ปี  นับว่าเสี่ยงมาที่จะล้มเหลว เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าซึ่งเพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ เมื่อได้รับฟังและมีดวงตาเห็นธรรมในเวลาไม่นาน จึงเป็นพุทธสาวกกลุ่มสำคัญที่ช่วยกระจายหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จนเป็นที่ยอมรับของเหล่ากษัตริย์ พราหมณ์ ตลอดจนเจ้าลัทธิต่างๆ

                ตลอด 45 พรรษาหลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงจาริกเพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในแคว้นต่างๆ ได้แก่ โกศล มัลละ วัชชี วังสะ มคธ สักกะ พระองค์ทรงอธิบายหลักธรรมที่เที่ยงตรง และเป็นความจริงของธรรมชาติแก่ผู้คนในหลายลัทธิความเชื่อ  โดยมุ่งหมายให้เข้าถึงสัจธรรมของชีวิตอันเท่าเทียมและไม่ได้ถูกกำหนดโดยชนชั้นวรรณะ

 

ดับขันธปรินิพพาน

“เจ้าชายทรงข้ามแม่น้ำตรงนี้ครับ” อจิต กุมาร เด็กหนุ่มผู้เป็นตัวแทนชาวบ้านในหมู่บ้านอันธยะดูกระตือรือร้นเป็นพิเศษเมื่อได้พบกับผม “ประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว เคยมีคนของทางการเข้ามาที่นี่ครับ หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเข้ามาอีกเลย แม้ผมและคนในหมู่บ้านจะนับถือศาสนาฮินดู แต่ปู่ย่าตายายของเราเคยเล่าเรื่องการข้ามแม่น้ำผามูหรือแม่น้ำกกุธานที ก่อนที่เจ้าชายจะสิ้นพระชนม์ ณ ป่าสาลวันใกล้กรุงกุสินารา เราก็เลยพอทราบเรื่องราวอยู่บ้าง” อจิตบอก

ภารกิจตามรอยจาริกของพระพุทธองค์ของผมใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อผมมาถึงริมฝั่งแม่น้ำกกุธานทีสีเขียวใส มองเห็นท้องน้ำและฝูงปลาแหวกว่าย ผมเดินลัดเลาะไปตามสายน้ำเล็กๆ บางช่วงตื้นเขินจนเด็กเล็กๆ สามารถเดินลุยข้ามได้ ที่นี่อยู่ใกล้กับบ้านของนายจุนทะ ผู้ศรัทธาถวายภัตตาหาร “สูกรมัททวะ” แด่พระพุทธองค์เป็นมื้อสุดท้าย ก่อนจะทรงอาพาธหนักและเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ปัจจุบัน หมู่บ้านของนายจุนทะเป็นชุมชนมุสลิมเรียกว่า ปาวานคร อยู่ห่างจากนครกุสินาราราว18 กิโลเมตร ลักษณะคล้ายซากสถูปขนาดใหญ่ และยังไม่มีการขุดค้น อย่างไรก็ตาม ทางการอินเดียกำลังมีแผนบูรณะฟื้นฟูที่นี่อีกครั้งในฐานะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา “คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนครับ กว่าที่นี่จะเสร็จสมบูรณ์เราทำงานควบคู่กับนักโบราณคดีที่ทางการส่งมา พวกเราจะทำให้ดี เพราะผมรู้มีความหมายสำหรับพวกคุณ” นิสรูดิน หัวหน้าฝ่ายบูรณะบอกกับผม

ที่หมู่บ้าน “เจ้าชายสิ้นชีพ” ตามคำนิยามของชาวบ้านท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีต  ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ใน ตำบลกาเซีย จังหวัดกุศินาคาร์ รัฐอุตตรประเทศ แม้เรื่องราวจะผ่านมากว่า 2,500 ปี ทว่าภายในสวนป่าสาลวัลแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันแปรสภาพเป็นหมู่บ้านและพุทธสถานนานาชาติ กลับยังคงอบอวลไปด้วยบรรยาเศร้าหมอง นี่คือสถานที่สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปัจฉิมโอวาทแก่เหล่าพุทธสาวก  เป็นสัจจธรรมที่ยังคงดังก้องดั่งคำเตือนของพุทธบิดาที่ประทานแก่พุทธบุตรพุทธิดาทั้งปวงว่า

"สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

เรื่องโดย ทรงวุฒิ อินทร์เอม
สิงหาคม 2558

หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 51