แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - pani

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 51
16
ไอเดียแหวกแนวของพ่อครัวชาวลอสแอนเจลิสคนหนึ่ง พลิกโฉมหน้าวัฒนธรรมอาหารติดล้อจนโด่งดัง ติดลมบนได้อย่างไร

เวลาสี่ทุ่มของคืนวันเสาร์อันหนาวเย็นในลอสแอนเจลิส ผู้คนกว่า 30 ชีวิตสวมหมวกและผ้าพันคอฝ่าอุณหภูมิเก้าองศาเซลเซียสซึ่งนับว่าหนาวมากสำหรับนครแห่งนี้ มาเข้าแถวอยู่ริมทางเท้าหน้ารถสเตปแวน (step van)  ที่ดัดแปลงเป็นรถขายอาหารเคลื่อนที่หรือฟู้ดทรัก (food truck) เมื่อหน้าต่างด้านข้างรถเลื่อนเปิดออก ปรากฏการณ์อาหารฮอตฮิตในนาม “โคกิ บาร์บีคิว" (Kogi BBQ) ก็เข้าเกียร์พร้อมเสิร์ฟแล้ว

            โคกิบาร์บีคิวโกยทั้งเงินทั้งกล่องตั้งแต่แจ้งเกิดเมื่อปี 2008 หลังสองเกลอหุ้นส่วนฟูมฟักไอเดียบรรเจิดในการรวมรสชาติของเนื้อย่างเกาหลีเข้ากับทาโกหรือแป้งห่อสไตล์เม็กซิกัน และขนขึ้นรถบรรทุกเล็กเร่ขายตามข้างถนนในลอสแอนเจลิส จะว่าไปแล้วรถขายอาหารไม่ใช่ของใหม่สำหรับเมืองนี้  แต่เป็นแหล่งขายอาหารราคาถูกที่หาซื้อได้ตามข้างถนนหรือไม่ก็ไซต์งานก่อสร้าง และผู้คนมักมองแบบเหยียดๆว่าเป็น “แผงแมงสาบ” ดังนั้นความคิดที่จะขายทาโกแนวเกาหลีในฟู้ดทรักจึงฟังดูเป็น “ไอเดียเพี้ยนๆ” ตามที่รอย ชอย ผู้ก่อตั้งโคกิบาร์บีคิว กล่าวไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำของเขาที่ชื่อ L.A. Son หรือ “ลูกชายของแอล.เอ”

            สิ่งที่ทำให้โคกิบาร์บีคิวโด่งดังขึ้นมา คือการเป็นเจ้าแรกๆที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เข้าถึงลูกค้า ในตอนแรกทีมงานเล็กๆของโคกิขายอาหารให้บรรดานักเที่ยวกลางคืนที่มึนเมานอกไนต์คลับในย่านซันเซตบูเลอวาร์ด  แต่ไปได้ไม่ดีนัก จนกระทั่งทีมงานลองหันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเพิ่งเริ่มฮิตในช่วงนั้นโดยใช้ทวิตเตอร์  โคกิจะคอยส่งข่าวอัปเดตสถานที่ขายซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ กลุ่มลูกค้าคนเมืองวัยหนุ่มสาวติดโซเชียลมีเดียเริ่มติดตามรถโคกิ ภายในเวลาไม่กี่เดือน โคกิก็มีลูกค้าเพิ่มเป็นหลายร้อยคน นิตยสาร นิวส์วีก เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ร้านอาหารไวรัลร้านแรกของอเมริกา” [viral – ปรากฏการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ที่บางเรื่องเป็นที่รู้จักหรือพูดถึงอย่างรวดเร็วราว] ปัจจุบัน โคกิบาร์บีคิวมียอดผู้ติดตาม 132,000 คน เพิ่มรถขายอาหารเคลื่อนที่เป็นสี่คัน  อีกทั้งยังมีรถจอดอยู่กับที่หนึ่งคันที่สนามบินแอลเอเอกซ์ (LAX) ของลอสแอนเจลิส

            น่าแปลกที่วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 กลายเป็นสภาพการณ์ที่เอื้อต่อการบ่มเพาะอุปสงค์    และอุปทานของรถขายอาหารเคลื่อนที่  บรรดาพ่อครัวหัวป่าก์และผู้ประกอบการที่หลงใหลในธุรกิจอาหารสามารถเปิดกิจการได้โดยใช้เงินลงทุนเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของการเปิดร้านอาหาร  ขณะที่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้นยามที่เงินในกระเป๋าน้อยลง  โดยสามารถหาซื้ออาหารที่แตกต่างในแง่รสชาติและความคิดสร้างสรรค์ได้ในราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับอาหารตามภัตตาคารหรู สื่อสังคม ออนไลน์จึงกลายเป็นสื่อกลางที่เชื่อมต่อรถขายอาหารกับลูกค้า และก่อให้เกิดเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการอาหาร

 

ทุกวันนี้ รถขายอาหารที่จัดว่าค่อนข้างมีระดับหลายพันคันวิ่งตระเวนไปตามท้องถนนในเมืองใหญ่ๆ ตั้งแต่แซนแฟรนซิสโกลงไปถึงออสตินในรัฐเทกซัสและวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเร่ขายสารพัดสิ่ง ตั้งแต่แซนด์วิชกริลชีสสั่งได้ตามใจชอบ ลอบสเตอร์โรลล์หรูเลิศ  ไปจนถึงไอศกรีมโคนโฮมเมด  และป๊อปคอร์นคั่วใหม่ๆ สิ่งที่ตอนแรกดูเหมือนจะเป็นแค่เทรนด์ไฟไหม้ฟางกลับเติบโตเป็นธุรกิจมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีไปแล้ว

            ยิ่งไปกว่านั้น ฟู้ดทรักอเมริกันยังเคลื่อนทัพบุกไปถึงอิตาลีในงานแสดงสินค้าโลก (World’s Fair) ประจำปีนี้ที่มิลาน  โดยเปิดขายอาหารยอดนิยมต่างๆซึ่งแน่นอนว่ามีทาโกสูตรเกาหลีรวมอยู่ด้วย กระแสนี้ยังลามไปยังภูมิภาคอื่นๆของโลก ไม่เว้นแม้แต่ “แดนสวรรค์ของสตรีทฟู้ด” อย่างเมืองไทย

            กระนั้น ธุรกิจที่กำลังรุ่งนี้ก็ไม่ใช่ของหมูๆ “ไม่ใช่อยู่ดีๆมีรถขายอาหารแล้วเงินจะไหลมาเทมานะครับ” เป็นคำเตือนจากปากของรอส เรสนิก ผู้ก่อตั้งโรมมิ่งฮังเกอร์ (Roaming Hunger) แอปพลิเคชั่นในสมาร์ตโฟนที่แสดงแผนที่ระบุตำแหน่งของรถขายอาหารหลายร้อยคันทั่วสหรัฐฯตามเวลาจริงหรือเรียลไทม์  “คุณต้องมีกลยุทธ์และแบรนด์ที่แข็งแกร่งครับ”

            นอกจากแบรนด์ที่เด่นชัดและแตกต่างแล้ว จำนวนลูกค้าก็สำคัญ รถขายอาหารหลายคันจะไปจอดตามที่ที่มีคนเดินถนนพลุกพล่าน บางวันจะมีรถราวสิบคันจอดอยู่ที่ถนนวิลเชอร์บูเลอวาร์ดฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะของลอสแอนเจลิสเคาน์ตีในช่วงพักกลางวัน การที่มีอาคารสำนักงานอยู่ฝั่งหนึ่งและพิพิธภัณฑ์อีกฝั่งหนึ่งทำให้รถขายอาหารได้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

 

กลับมาที่แผงของโคกิบาร์บีคิว กลางดึกคืนวันเสาร์ที่หนาวเหน็บคืนนั้น แถวค่อยๆขยับ แต่ลูกค้าใหม่ๆก็มาสมทบจนหางแถวยาวออกไปเรื่อยๆ  การเข้าคิวรอทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน คนแปลกหน้าเริ่มเปิดบทสนทนา คู่รักหนุ่มสาวจากคลีฟแลนด์ที่มาเที่ยวแคลิฟอร์เนียบอกว่า พวกเขาขับรถสองชั่วโมงเพื่อมาต่อแถว อีกคู่ซึ่งอยู่ข้างหน้าบอกว่า เดินมาจากบ้านแค่สองช่วงตึกพร้อมสุนัขเพื่อซื้อโคกิกิน ทั้งสี่คนแบ่งปันเสียงหัวเราะ และเรื่องราวสัพเพเหระ พวกเขาสั่งอาหาร ได้ตามออร์เดอร์ แล้วก็ลงมือกินอย่างเอร็ดอร่อย ช่างเป็นความสุขที่เรียบง่าย แถมอิ่มทั้งกายใจ แนวคิดนี้คงไม่ใช่แค่ความคิดเพี้ยนๆ  เสียแล้วกระมัง


 เรื่องโดย เดวิด บรินด์ลีย์
ตุลาคม 2558

17
เผยสองสุดยอดกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดของกิ้งก่าคามิลเลียน ได้แก่ การเปลี่ยนสีสันบนเรือนร่างอันน่าทึ่งและลิ้นที่ว่องไวปานสายฟ้า

โลกคงมีสัตว์อีกเพียงไม่กี่ชนิดที่เทียบรัศมีกิ้งก่าคาเมเลียนได้ในแง่ของความสามารถทางสรีระอันน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่ลิ้นที่ยาวกว่าลำตัวพุ่งออกไปตวัดจับแมลงได้ในชั่วเสี้ยววินาที  สายตาที่มองเห็นได้ชัดแจ๋วราวกับกล้องส่องทางไกลหมุนได้รอบทิศทาง  เท้าที่มีนิ้วเท้าแยกออกเป็นสองชุดทำหน้าที่ยึดจับได้แน่นหนาราวปากคีบ เขาที่ยื่นออกมาจากคิ้วและจมูก ไปจนถึงแผงคอที่สวยงามราวกับผ้าลูกไม้

            จากคุณลักษณะพิสดารทั้งหลายแหล่ของกิ้งก่าคาเมเลียน สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดและเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่โบร่ำโบราณคือ ผิวหนังที่เปลี่ยนสีสันได้  ดังความเชื่อที่ว่า กิ้งก่าคาเมเลียนสามารถเปลี่ยนสีผิวหนังไปตามสิ่งที่มันจับต้องหรือสัมผัส แม้การเปลี่ยนสีในบางครั้งจะช่วยให้พวกมันกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมก็จริง แต่สีผิวหนังที่เปลี่ยนไปแท้จริงแล้วเป็นปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาเพื่อการสื่อสารเสียส่วนใหญ่ กิ้งก่าคาเมเลียนเป็นสัตว์ เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าชนิดเดียวที่ใช้สีสันแทนภาษาและการแสดงออกเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่กระทบมัน ทั้งการเกี้ยวพาราสี การแข่งขัน และความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม

            อย่างน้อยนี่คือความเชื่อในปัจจุบัน คริสโตเฟอร์ แอนเดอร์สัน นักชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งก่าคาเมเลียนที่มหาวิทยาลัยบราวน์ บอกว่า “แม้กิ้งก่าคาเมเลียนจะเป็นที่สนใจมานานหลายร้อยปี แต่ปัจจุบันยังคงมีปริศนามากมายเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ เรายังคงพยายามทำความเข้าใจกลไกการทำงานของมันอยู่ครับ” ตั้งแต่การแลบลิ้นออกไปอย่างรวดเร็วไปจนถึงฟิสิกส์ของการเปลี่ยนสีผิวหนัง

            เมื่อสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์หรือไอยูซีเอ็น เผยแพร่บัญชีแดง (Red List) ฉบับใหม่เกี่ยวกับสถานะเชิงอนุรักษ์ของกิ้งก่าคาเมเลียนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ชนิดพันธุ์กิ้งก่าคาเมเลียนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจัดว่าถูกคุกคามหรือใกล้ถูกคุกคาม แอนเดอร์สันเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องกิ้งก่าคาเมเลียนของไอยูซีเอ็น เช่นเดียวกับคริสตัล ทอลลี นักชีววิทยาผู้ได้รับทุนเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก  ทอลลีเดินทางไปค้นคว้าวิจัยทางตอนใต้ของแอฟริกาและบันทึกการค้นพบกิ้งก่าคาเมเลียนชนิดใหม่ๆ รวมถึงแหล่งอาศัยที่กำลังหดหายไป

            ในจำนวนชนิดพันธุ์กิ้งก่าคาเมเลียนที่รู้จักกันกว่า 200 ชนิด  ราวร้อยละ 40 พบบนเกาะมาดากัสการ์ นอกนั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา  และมากกว่าร้อยละ 20 ของชนิดพันธุ์ที่รู้จักกันได้รับการระบุชนิดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง

            แอนเดอร์สันศึกษาการล่าเหยื่อของกิ้งก่าคาเมเลียนอย่างละเอียด โดยใช้กล้องที่จับภาพได้ถึง 3,000 เฟรมต่อวินาทีเขาถ่ายทำฉากการกินจิ้งหรีดนาน 0.56 วินาทีของกิ้งก่าคาเมเลียนและตัดต่อเป็นวิดีโอความยาว 28 วินาทีที่แสดงให้เห็นกลไกการพุ่งและตวัดลิ้นของมัน

            ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนสีผิวหนังของกิ้งก่าคาเมเลียนเพิ่มพูนขึ้นตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน และก้าวหน้าไปอย่างมากเมื่อต้นปีนี้หลังการตีพิมพ์งานวิจัยของไมเคิล มิลินโควิตช์ นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อกันมานานแล้วว่า กิ้งก่าคาเมเลียนเปลี่ยนสีเมื่อสารสีในผิวหนังแพร่กระจายไปตามเซลล์ที่เชื่อมต่อกันเหมือนเส้นเลือด แต่มิลินโควิตช์ ซึ่งเป็นนักพันธุศาสตร์เชิงวิวัฒนาการและนักชีวฟิสิกส์ แย้งว่า ทฤษฏีนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะกิ้งก่าคาเมเลียนสีเขียวจำนวนมากไม่มีสารสีในผิวหนังที่เป็นสีเขียวเลย

            ดังนั้นมิลินโควิตช์กับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเจนีวาจึงเริ่ม “ศึกษาทั้งในเชิงฟิสิกส์และชีววิทยาไปพร้อมๆกัน” ภายใต้ชั้นเซลล์ผิวหนังที่มีสารสี พวกเขาพบเซลล์ผิวหนังอีกชั้นหนึ่งที่ประกอบด้วยผลึกขนาดนาโน (นาโนสเกล) เรียงตัวกันเป็นโครงข่ายรูปสามเหลี่ยม

            เมื่อนำตัวอย่างผิวหนังของกิ้งก่าคาเมเลียนไปทดสอบภายใต้แรงดันและสารเคมี นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า ผลึกเหล่านี้สามารถ “ปรับแต่ง” เพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างผลึกได้ตามต้องการ ซึ่งจะส่งผลต่อสีของแสงที่สะท้อนจากโครงข่ายผลึกรูปสามเหลี่ยม เมื่อระยะห่างระหว่างผลึกเพิ่มขึ้น สีที่สะท้อนออกมาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากสีฟ้าเป็นเขียว จากเขียวเป็นเหลือง จากเหลืองเป็นส้มและแดง เป็นเหมือนภาพคาไลโดสโคปซึ่งมักพบได้เห็นในกิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์เวลาเปลี่ยนจากอารมณ์สงบไปสู่ความรู้สึกตื่นเต้น หรือความรู้สึกสเน่ห์หา

            แม้ว่ากิ้งก่าคาเมเลียนทุกชนิดจะเปลี่ยนสีได้ แต่หลายชนิดไม่สามารถเปลี่ยนสีได้ฉูดฉาดพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น อย่างไรก็ตาม กิ้งก่าคาเมเลียนเกือบทุกชนิดมีเทคนิคอีกอย่างในการข่มขวัญอีกฝ่าย  นั่นคือพวกมันทำให้ตัวเองดูใหญ่ขึ้นด้วยการบีบลำตัวให้ลีบเข้าแต่สูงขึ้นโดยอาศัยการผายซี่โครงที่เชื่อมต่อกันเป็นรูปตัววีเพื่อยกกระดูกสันหลังให้สูงขึ้น  นอกจากนี้ พวกมันยังสามารถทำให้ลำตัวดูใหญ่ขึ้นอีกด้วยการขดหางเข้ามาให้แน่น แล้วใช้กลไกในลิ้นดันให้คอขยายใหญ่

            และแม้กิ้งก่าคาเมเลียนจะพรางตัวจากภัยคุกคามบางชนิดได้ แต่ไม่อาจเอาตัวรอดจากการทำเกษตรด้วยวิธีแผ้วถางป่า ซึ่งทำลายถิ่นอาศัยของพวกมัน ไอยูซีเอ็นกำหนดให้กิ้งก่าคาเมเลียน 9 ชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง  37 ชนิด  จัดว่าใกล้สูญพันธุ์  20 ชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธ์  และ35 ชนิดใกล้ถูกคุกคาม


เรื่องโดย แพทริเชีย เอดมอนส์
ตุลาคม 2558

18
วัฒนธรรมอาหารที่แข็งแรงของไทยสามารถและยืนหยัดหยิบยืมอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารตะวันตกโดยไม่สูญเสียอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างไร

กินกันก่อน   

            ลืมเรื่องแคลอรีแล้วกินซะ! ให้สมกับที่รอมาครึ่งชั่วโมง สองมือจับให้มั่น อ้าปากกว้างเข้าไว้ แล้วกัดลงไป ขนมปังนุ่มๆ ประกบหอมใหญ่ทอดกรอบ วางบนไส้เนื้อทอดชิ้นยักษ์สะใจ โปะชีสละลายเยิ้มเต็มแผ่น แซมด้วยผักกาด รองพื้นด้วยเบคอนทอดและขนมปังอีกแผ่น  คุณได้กลิ่นกรุ่นจากชีสอุ่นๆไหม  ไหนจะเนื้อนุ่มติดมันละลายในปากอีก เสียงกรุบๆ จากหอมทอดกรอบเคล้าเบคอนมันเยิ้ม ทำลายมโนธรรมในการควบคุมน้ำหนักของคุณจนราบคาบ จะเลอะเทอะนิดหน่อยก็ช่างปะไร คุณขอตามใจปากตัวเองสักวัน และยอมรับเถิดว่าเบอร์เกอร์ของพวกเขาอร่อยชะมัดยาด เพราะนาทีนี้คุณกำลัง “ฟิน”

            นี่ไม่ใช่เบอร์เกอร์ที่สั่งมานั่งกินตามร้านจานด่วนขึ้นห้างทั่วไป และคุณไม่ได้อยู่ที่ลอสแอนเจลิสหรือนิวยอร์ก  แต่กำลังนั่งซัดเบอร์เกอร์คำเท่ากำปั้นอยู่ริมฟุตบาทหรือบันไดอาคารสักแห่งในกรุงเทพฯ ไม่ก็ริมรั้วนอกงานคอนเสิร์ตเก๋ๆ หรืองานออกร้านตลาดนัดแบกะดินของเหล่า “ฮิปสเตอร์” กลางกรุงสักงาน เพราะนี่คือเบอร์เกอร์จากรถขายอาหารหรือฟู้ดทรัก (Food Truck) เทรนด์ล่ามาแรงที่กำลังติดลมบนในบ้านเรา

            ช้าก่อน! คุณเกือบลืมว่าแล้วก็ล้วงกระเป๋าหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมา เปิดแอปยอดฮิต  “อินสตราแกรม” มือซ้ายกระชับเบอร์เกอร์ ถ่ายภาพไส้เนื้อและชีสไหลเยิ้ม  โดยมีรถที่ว่าเป็นฉากหลัง  เลือกใช้ฟิลเตอร์ย้อมสีภาพเสียหน่อย แล้วพิมพ์ข้อความว่า “ตะเตือนใต ในที่สุดก็ได้กิน ฟินคนับ” จากนั้นจึงติดแฮชแท็ก #Mothertrucker #Burger #Fin #อร่อยน้ำตาจิไหล แล้วจึงโพสต์ แน่นอน ยอดไลค์กำลังเดินทางมา

และนี่คือ Mother Trucker ฟู้ดทรักที่คุณเพิ่งโพสต์ถึงเมื่อครู่

 

“ภูมิใจที่ได้กิน”

            ในไทยแลนด์แดนสตรีตฟู้ดและฟู้ดคาร์ต (รถเข็นขายอาหาร)  ฟู้ดทรักเปิดตำราบทใหม่ของการขายอาหาร และพัฒนามาเป็นขวัญใจของนักแสวงกินอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากรสชาติเฉพาะที่หาไม่ได้จากร้านแฟรนไชส์ตามห้างสรรพสินค้า และคุณภาพอาหารที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา  พ่วงท้ายด้วยคุณค่าที่เจ้าของรถบางคันบอกว่า  เป็น “งานศิลปะเคลื่อนที่และเคี้ยวได้” นอกจากนี้ การที่ฟู้ดทรักบางคันตกแต่งอย่างหวือหวาแหวกขนบเก่าๆ จึงกลายเป็นขวัญใจเด็กแนวหรือเหล่าฮิปสเตอร์ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

            ลองดูอย่าง Mother Trucker ก็ได้  ฟู้ดทรักสีดำด้านสุดแนวคันนี้มีหุ้นส่วนเป็นเด็กหนุ่ม (หัวการค้า) สามคน พวกเขาเพิ่งอายุประมาณ 24-25 ปี โปรเจคต์นี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมฟู้ดทรักในสหรัฐฯ พวกเขาตั้งใจทำเบอร์เกอร์ต้นตำรับ “ที่จริงผมไม่ใช่คนกินเบอร์เกอร์หรอกครับ แต่เห็นว่ามันง่ายและสะดวกดี เป็นฟาสต์ฟู้ดประเภท ‘Grab and Go’ ไงครับ” อาร์มี่ หิญธีระนันทน์ หนึ่งในสามผู้ก่อตั้ง Mother Trucker บอก

            พอหารถที่ถูกใจได้ พวกเขาจึงไปจ้างร้านต่อเติม จากนั้นจึงตั้งชื่อรถ (ร้าน) โดยล้อเลียนคำสบถ (ออกอากาศไม่ได้) ของฝรั่ง ออกแบบกราฟิกข้างรถให้หวือหวา และเลือกใช้โทนสีดำด้าน (เขาบอกว่าถ่ายรูปขึ้น) จากนั้นก็ใช้ข้าวของเหลือใช้จากพร็อพกองถ่ายมาตกแต่ง

            ด้วยรูปลักษณ์โฉบเฉี่ยวที่มาพร้อม “ถ้อยคำ” สั้น กระชับ โดนใจวัยรุ่น เช่น สกรีนบนห่อเบอร์เกอร์และข้างตัวรถอย่าง “สะใจ ใหญ่ โหด” กอปรกับหน้าตาเบอร์เกอร์ชิ้นยักษ์สะใจ  และการใช้สื่อบนโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก จุดพลุให้พวกเขาโด่งดังในเวลาไม่ถึงปี  พวกเขาได้ออกรายการโทรทัศน์ (พวกเขาบอกว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ) และกลายเป็นฟู้ดทรักไม่กี่คันที่มีแฟนติดตามโดยไม่ต้องออกงานใหญ่ มียอดไลค์ในเฟซบุ๊คทะลุ 50,000 ไลค์ มากที่สุดในบรรดาฟู้ดทรักของไทย “นี่ไม่ใช่แค่ฟู้ดทรักครับ  แต่เป็นแบรนด์ไปแล้ว” อาร์มี่บอก

 

สโลว์ไลฟ์

            เชียงใหม่... ละอองฝนโปรยปรายหยอกเย้าสันดอยสุเทพ ฟ้ามัวไร้แดด แต่เดินได้ชิลๆ เลือกเสื้อผ้าชิคที่สุดออกมา คว้ารถถีบแล้วออกปั่นไปตามตรอกซอกซอยกัน ไม่ต้องรีบ ชีวิตยังอีกยาวไกล

            รถไดฮัทสุไฮเจ็ท (กะป๊อ) สีเหลืองทองเจือโทนน้ำตาล “จิ๊นห่อตอง” จอดอยู่ใต้ต้นโพธิ์ข้างบ้านผู้กำกับ (ตำรวจ ไม่ใช่ภาพยนตร์) ขายข้าวนึ่งห่อหมูทอด หมูฝอย และไส้อั่ว ข้าวเหนียวอุ่นๆ นอนในกระติก ตู้กระจกเรียงหมูทอดใสสะอาด เจ้าของรถกำลังพักสูบบุหรี่ชิลๆ ไม่รู้ว่านางหายแฮงก์หรือยังจากเมื่อคืน

            “รวมมิตรชุดหนึ่งสิคะ” ว่าแล้วนางก็กุลีกุจอปีนขึ้นรถกะป๊อ (อย่างทุลักทุเล) แล้วค่อยๆ บรรจงเปิดกระติกข้าวเหนียว คดขึ้นมาใส่ใบตอง คีบเรียงสารพัดหมูแล้วค่อยๆห่อ ช้าๆ เบาๆ อืม รับน้ำพริกหนุ่มอีกสักกระปุกด้วยแล้วกัน

            เปิ้ล – อรทัย ห่านทอง เป็นแม่ค้าลุคแนวๆ วัย 34 ปี ที่มีชีวิตควรอิจฉา นางเป็นช่างภาพชาวปราจีนบุรีรับถ่ายรูปสารพัด  เคยสอนศิลปะให้เด็กๆ ตามบ้าน และมาอยู่เชียงใหม่นานแล้ว ทุกวันนี้ กิจวัตรของนางคือตื่นนอนตามแต่สังขารจะอนุญาต ขนข้าวเหนียวและสารพัดหมู (หุงและทำเองทั้งหมด) กับอุปกรณ์ขายนิดหน่อยขึ้นหลังรถกะป๊อ แล้วขับออกจากรั้วบ้านมาจอดตรงนี้แหละ แต่ขอโทษ ระยะทางจากรั้วบ้านมาถึงจุดที่จอดรถห่างไม่ถึงร้อยเมตร เราถามนางว่า เพื่อ… “จริงๆ ขี้เกียจค่ะ มันสะดวกดี มีอะไรก็โยนๆ ขึ้นรถให้หมด แล้วก็ไม่ต้องขนลงบ่อยๆ” เราขำ พอสายๆ หมูหมด ตกบ่าย นางจะขับรถไปถ่ายรูปชิลๆ

            วันที่เราพบกัน มีครอบครัวชาวกรุงเทพฯ (พ่อ แม่ และลูกๆ วัยประถมปลายสองคน) มาตระเวนตามซื้อข้าวเหนียวหมูของนางถึงที่ คุณแม่ (ซึ่งดูแล้วคงเป็นผู้จัดการทุกอย่างในบ้าน) บอกกับเราว่า “เห็นมาจากรายการทางอินเทอร์เน็ต  ฉันว่าจะตระเวนกินให้ครบทุกร้านเลยค่ะ” เธอบอกว่าการใช้ใบตองทำให้เธอคิดถึงตอนเด็ก “สมัยก่อนอะไรๆ ก็สะอาดค่ะ เรียบง่าย ไม่มีสารพิษ”

            จากหมูฝอยบ้านๆ ที่ลองทำให้เพื่อนกิน กลายมาเป็นหนึ่งในฟู้ดทรักเชียงใหม่ที่คนกรุงเทพฯ ตระเวนหา นางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์  หัวหน้าภาควิชาสื่อสารตรา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ว่า “Consumer Insight” นั่นคือ “ปม” ที่ดึงดูดให้ลูกค้ายอมซื้อสินค้า “ถ้าสะกิด ‘ปม’ ของลูกค้าได้ แบรนด์นั้นก็อาจโด่งดังชั่วข้ามคืนเลยครับ”


เรื่องโดย ราชศักดิ์ นิลศิร
ตุลาคม 2558

19

ภาพ : มนุษย์ปริศนาหน้าใหม่
ภาพโดย : มาร์ก ทีสเซน
คำบรรยายภาพ : โฮโม นาเลดี ที่จอห์น เกอร์ชี ศิลปินแนวบรรพชีวินวิทยา ขึ้นรูปด้วยดินและหล่อด้วยซิลิโคน คือสมาชิกใหม่ล่าสุด ในสกุล โฮโม

ขุมทรัพย์ฟอสซิลที่พบลึกเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งของแอฟริกาใต้ ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า สิ่งใดกันแน่ที่ทำให้เราเป็นมนุษย์

ตอนนั้นเป็นวันที่ 13 กันยายน ปี 2013 สตีฟ ทักเกอร์ และริก ฮันเตอร์ นักสำรวจถ้ำสมัครเล่นสองคนเดินเข้าสู่ถ้ำหินโดโลไมต์ชื่อ  “ไรซิงสตาร์” (Rising Star)  ตั้งอยู่ห่างจากเมืองโจฮันเนสเบิร์กไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 50 กิโลเมตร   ถ้ำแห่งนี้เป็นที่นิยมในหมู่นักสำรวจถ้ำมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เครือข่ายทางเดินและคูหาน้อยใหญ่อันซับซ้อนของมันล้วนได้รับการสำรวจและทำแผนที่ไว้อย่างดี  ทักเกอร์และฮันเตอร์หวังจะพบเส้นทางที่ยังไม่ค่อยมีใครใช้กันนัก             

            แต่พวกเขามีภารกิจอื่นในใจ  ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ  มีการค้นพบฟอสซิลบรรพบุรุษมนุษย์  ยุคแรกๆในภูมิภาคแถบนี้มากเสียจนได้รับการขนานนามว่า  “ต้นกำเนิดแห่งมนุษยชาติ”  แม้ยุคทองแห่งการล่าฟอสซิลของที่นี่จะผ่านมานานแล้ว  แต่นักสำรวจถ้ำทั้งสองต่างรู้ดีว่า  นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยวิตวอเตอส์แรนด์ในโจฮันเนสเบิร์กกำลังมองหากระดูกอยู่

            ลึกเข้าไปในถ้ำ  ทักเกอร์และฮันเตอร์ใช้เส้นทางแคบๆชื่อ “ซูเปอร์แมนส์ครอว์ล” ที่ได้ชื่อนี้เพราะคนส่วนใหญ่จะผ่านไปได้ก็ต่อเมื่อแนบแขนข้างหนึ่งไว้กับลำตัวและชูแขนอีกข้างขึ้นเหนือศีรษะเหมือนท่าบินของซูเปอร์แมน  พวกเขาผ่านคูหาใหญ่แห่งหนึ่ง  แล้วปีนผนังหินขรุขระขึ้นไปจนสุด  ด้านบนเป็นโพรงเล็กๆสวยงามมีหินย้อยประดับ ทักเกอร์ค่อยๆลดตัวลงในรอยแยกที่พื้นถ้ำ  เท้าของเขาสัมผัสแง่งหินเล็กๆแง่งหนึ่ง  ก่อนจะเจออีกแง่งใต้แง่งนั้น และจากนั้นก็พบแต่ความว่างเปล่า

            เขาหย่อนตัวลงไปและพบว่าตัวเองอยู่ในปล่องถ้ำแคบๆแนวดิ่งที่บางช่วงกว้างเพียง 20 เซนติเมตร  เขาตะโกนเรียกฮันเตอร์ให้ตามลงมา  ทั้งคู่จัดว่ามีรูปร่างผอมบางเป็นพิเศษ  พูดง่ายๆคือมีแต่กล้ามเนื้อกับกระดูก  ถ้าตัวใหญ่กว่านี้อีกหน่อย พวกเขาคงไม่สามารถลงไปตามช่องนั้นได้  และการค้นพบฟอสซิลมนุษย์ที่อาจเรียกได้ว่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ  และน่าพิศวงที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย คงไม่มีวันเกิดขึ้น

 

ลี เบอร์เกอร์ นักมานุษยบรรพกาลวิทยา ผู้ขอให้นักสำรวจถ้ำช่วยสอดส่องมองหาฟอสซิล  เป็นชาวอเมริกันร่างใหญ่   ศีรษะเถิกและชอบฉีกยิ้มกว้างจนแก้มแทบปริ   ย้อนหลังไปในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ตอนที่เบอร์เกอร์ได้งานที่มหาวิทยาลัยวิตวอเตอส์แรนด์ (เรียกสั้นๆว่า “วิตส์”) และเริ่มออกเสาะหาฟอสซิล ความสนใจในการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ได้ย้ายศูนย์กลางไปยังเกรตริฟต์แวลลีย์ในแอฟริกาตะวันออกมานานแล้ว

            นักวิจัยส่วนใหญ่มองว่า  แอฟริกาใต้เป็นเรื่องประกอบในมหากาพย์ว่าด้วยวิวัฒนาการของมนุษย์  ไม่ใช่พล็อตหรือโครงเรื่องหลัก  เบอร์เกอร์ตั้งใจจะพิสูจน์ว่าพวกเขาคิดผิด  แต่การค้นพบที่ไม่ค่อยสลักสำคัญของเขาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีมีแต่จะยิ่งตอกย้ำว่า แอฟริกาใต้ไม่มีอะไรจะหยิบยื่นให้เป็นคุณูปการแก่การศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์

            และแล้วในปี 2008  เบอร์เกอร์ก็ค้นพบสิ่งที่มีความสำคัญจริงๆ ระหว่างขุดค้นในสถานที่ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า  มาลาปา (Malapa) ห่างจากถ้ำไรซิงสตาร์ราว 16 กิโลเมตร  เขากับแมตทิว ลูกชายวัย 14 ปี พบฟอสซิลโฮมินินโผล่ออกมาจากกองหินโดโลไมต์


เรื่องโดย เจมี ชรีฟ
ตุลาคม 2558

20
ช่างภาพผู้หลงใหลในธรรมชาติมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ คว้าโทรศัพท์มือถือออกไปสำรวจโลกธรรมชาติใกล้บ้าน แล้วเก็บภาพแมลงตัวเล็กจ้อย ดอกไม้แสนสวย ไปจนถึงสัตว์น้อยใหญ่ในสวนหลังบ้าน

ตอนที่โจชัว ไวต์ เติบโตขึ้นทางใต้ของรัฐอินดีแอนา  เขามักใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงนอนเฝ้าดูมดและแมลงเต่าทองตัวน้อยในสนามหลังบ้าน  เขาเผชิญหน้ากับสัตว์โลกตัวจิ๋วเหล่านี้ด้วยความอัศจรรย์ใจและพยายามทำความเข้าใจความลี้ลับแห่งโลกธรรมชาติ  ไวต์เก็บรวบรวมการค้นพบทางกีฏวิทยาไว้ในขวดโหล ถ้วยโฟม หรือไม่ก็ในสองมือ

          ไวต์เติบใหญ่เป็นศิลปิน เขาเพิ่งย้ายไปตั้งรกรากอยู่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนาที่ซึ่งเขายังคงใช้เวลาทeกิจกรรมโปรดใน วัยเด็ก นั่นคือการเดินเล่นในละแวกบ้านและคอยสังเกตโลกรอบตัว  ทว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ  ตอนนี้เขา “จับ” สัตว์โลกตัวจิ๋วที่พบด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ

          ความหลงใหลในโลกธรรมชาติของเขาถ่ายทอดผ่านโครงการ “สำรวจหลังบ้านอเมริกันผ่านภาพถ่าย”  (A Photographic Survey of the American Backyard) ภาพถ่ายสีซีเปียและรูปแบบการจัดวางเลย์เอาต์ละม้ายคล้ายคลึงกับการจัดทำระเบียนชนิดพันธุ์ทางวิทยาศาสตร์สมัยศตวรรษที่สิบเก้าซึ่งเป็นภาพวาดด้วยมือ 

          ไวต์บันทึกภาพพันธุ์พืชและสัตว์ที่พบเห็นได้ดาษดื่นในชีวิตประจำวัน แต่แทบไม่เคยมีใครมองเห็นคุณค่า “คุณไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสถานที่แปลกๆ เพื่อให้ได้ภาพที่น่าสนใจ” เขาบอกและเสริมว่า “ความสวยงามอยู่รอบตัวเราตลอดเวลาครับ”

          ไวต์เชื่อว่าพวกเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยนึกถึงสิ่งแวดล้อมเราอาศัยอยู่   “หรือความเป็นไปของโลกที่อยู่ใต้เท้าเรา” ภาพถ่ายที่เขาแบ่งปันผ่านช่องทางต่างๆ  เรียกร้องอย่างอ่อนโยนให้เราหันมาสนใจสรรพชีวิตที่มักถูกมองว่าเป็นพวกก่อความรำคาญหรือไม่ก็เป็นศัตรูพืช ทว่าในหลายแง่มุมพวกมันกลับมีสำคัญอย่างยิ่งในฐานะรากฐานของระบบนิเวศทางกายภาพ


เรื่องโดย เจมส์ แอสทริน
กันยายน 2558

21
สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะเปลี่ยนวาติกัน หรือวาติกันจะเปลี่ยนสมเด็จพระสันตะปาปา ผู้ทรงมุ่งหวังให้พระศาสนจักรคาทอลิกรับใช้คนยากไร้

          คราวที่คนแปลกหน้าราว 7,000 คน ได้เห็นพระองค์เป็นครั้งแรกอย่างไม่คาดฝันบนเวทีสาธารณะ  พระองค์ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปา   ทว่ามีบางสิ่งที่น่าประทับใจในตัวชายผู้นี้   ภายในสตาเดียมลูนาปาร์กใจกลาง  กรุงบัวโนสไอเรส  เมืองหลวงของอาร์เจนตินา ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและชาวคริสต์นิกายเอวังเยลิสต์ (Evangelist)  มาร่วมงานพิธีที่จัดขึ้นสำหรับคริสตชนทุกนิกาย  ศาสนบริกร (ศิษยาภิบาล) คนหนึ่งบนเวทีเชิญพระสังฆราช (บิชอป)  ของเมืองหลวงแห่งนี้ขึ้นกล่าวบางสิ่งกับผู้เข้าร่วมพิธี  พวกเขาต้องประหลาดใจ  เพราะบุรุษที่ก้าวยาวๆขึ้นมาข้างหน้า นั่งอยู่ด้านหลังตลอดเวลาหลายชั่วโมงราวกับเป็นบุคคลที่ไม่สลักสำคัญใดๆเลย  แม้จะดำรงสมณศักดิ์เป็นถึงพระคาร์ดินัล  แต่ท่านมิได้ห้อยสร้อยกางเขนตามธรรมเนียมคงสวมเพียงเสื้อเชิ้ตและเสื้อนอกกระดุมสองแถวสีดำแบบนักบวชไม่ต่างจากบาทหลวงธรรมดาๆ ที่เคยเป็นเมื่อหลายสิบปีก่อน  ในเวลานั้นหรือเมื่อเก้าปีที่แล้ว  เป็นเรื่องยากที่จะคิดจินตนาการว่า  ในวันหนึ่งข้างหน้า  สุภาพบุรุษชาวอาร์เจนตินาที่สมถะและเคร่งขรึมผู้นี้จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะบุคคลผู้เปี่ยมบารมีและแรงศรัทธา

        ในช่วงต้นท่านพูดภาษาแม่คือภาษาสเปนด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาแต่หนักแน่น  โดยไม่มีโน้ตหรือโพยใดๆ  ท่านไม่ได้เอ่ยถึงช่วงเวลาที่เคยมองชาวคริสต์นิกายเอวังเยลิสต์อย่างหมิ่นๆ  แบบเดียวกับสงฆ์คาทอลิกชาวลาตินอเมริกันทั่วไป  แต่บุรุษผู้มีอำนาจสูงสุดใน “ศาสนจักรจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว” ของอาร์เจนตินากลับกล่าวว่า  ความแตกต่างเหล่านี้หาได้มีความหมายในสายตาของพระเจ้า  ท่านกล่าวว่า  “เป็นเรื่องดีเพียงใดที่พวกเราพี่น้องได้มารวมตัวกัน  สวดภาวนาร่วมกัน  ดีเพียงใดที่ไม่มีใครยกประวัติแต่หนหลังมากล่าวอ้างบนเส้นทางแห่งศรัทธา  เราแตกต่างกันก็จริง  แต่เราต้องการและเริ่มหันหน้าเข้าหากันแล้ว เป็นความแตกต่างแบบไม่แตกแยก”

          ท่านผายมือทั้งสองออก  ใบหน้ามีชีวิตชีวาขึ้นมา  น้ำเสียงสั่นสะท้านด้วยความรู้สึกแรงกล้า  ท่านวิงวอนต่อพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระบิดา  เราแบ่งแยก ได้โปรดหลอมรวมเราเป็นหนึ่งเดียวกันเถิด”

          พระอัครสังฆราชองค์นั้นคือ คอร์เก มารีอา เบร์โกกลีโอ หรือผู้จะกลายมาเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส(ฟรานซิส) ในเวลาต่อมา

         “ข้าพเจ้าต้องลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆในทันที” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสแก่สหายร่วมชาติ  ชาวอาร์เจนตินาหกคนในเช้าวันหนึ่ง  เพียงสองเดือนหลังจากพระคาร์ดินัล 115 องค์ในที่ประชุมลับ (conclave) ของพระราชวังวาติกัน ตัดสินใจเลือกตัวแทนหนึ่งในพวกเขาซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักให้ดำรงตำแหน่งสันตะปาปา  ในสายตาผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีทั้งคนที่ยินดีและคนที่อึดอัดใจ ดูเหมือนว่าสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ได้ทรงเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งไปแล้วภายในชั่วข้ามคืน  พระองค์ทรงเป็นสันตะปาปาพระองค์แรกที่เป็นชาวลาตินอเมริกา  เป็นพระองค์แรกที่มาจากคณะเยสุอิต (คณะแห่งพระเยซูเจ้า)  เป็นพระองค์แรกในเวลากว่า 1,000 ปีที่มิได้ถือกำเนิดในทวีปยุโรป และเป็นพระองค์แรกที่ทรงเลือกพระนาม “ฟรังซิส”  เพื่อยกย่องนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี  วีรบุรุษของคนยากไร้ 

          สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงปฏิเสธที่จะประทับในห้องชุดของพระสันตะปาปาภายในพระราชวังสมเด็จพระสันตะปาปา (Apostolic Palace) แต่ทรงเลือกห้องชุดสองห้องนอนที่กาซาซันตามาร์ตา (Casa Santa Marta)  ซึ่งเป็นเรือนรับรองแขกของวาติกันแทน  ในการเสด็จออกพบสื่อมวลชนนานาชาติครั้งแรก  พระองค์ทรงประกาศความมุ่งหวังอันดับแรกว่า  “ข้าพเจ้าหวังให้พระศาสนจักรยากจนและทำเพื่อคนยากจน”  และแทนที่จะทรงประกอบพิธีมิสซาในตอนเย็นเพื่อฉลองวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ [Holy Thursday] ที่มหาวิหารสักแห่ง และทำพิธีล้างเท้าคณะสงฆ์ตามธรรมเนียม พระองค์กลับเสด็จไปเทศน์ในคุกเยาวชนแห่งหนึ่งแทน และทรงล้างเท้าให้ผู้ต้องขัง 12 คน รวมทั้งสตรีและชาวมุสลิม ทรงเป็นสันตะปาปาพระองค์แรกที่ทำเช่นนั้น เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเดือนแรกของการเป็นพระสังฆราชแห่งกรุงโรม

          กระนั้น  เหล่าสหายชาวอาร์เจนตินาของสันตะปาปาพระองค์ใหม่ทราบดีว่า  “การเปลี่ยนแปลง” ของพระองค์หมายถึงอะไร บุรุษที่พวกเขารู้จักดีผู้นี้จะไม่ทำสิ่งที่เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้น  พระองค์ทรงเป็นนักปฏิบัติตัวยง  เป็น ปอร์เตโญ (porteño) ผู้รอบรู้ทางโลกดังที่ชาวบัวโนสไอเรสมักเรียกตัวเอง  พระองค์ทรงปรารถนาให้พระศาสนจักรคาทอลิกสร้างความเปลี่ยนแปลงถาวรต่อชีวิตผู้คน เช่นที่พระองค์ตรัสเสมอว่า ให้เป็นโรงพยาบาลในสนามรบ ดูแลคนบาดเจ็บทุกคน โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาต่อสู้กับฝ่ายไหน 

          การขึ้นสู่ตำแหน่งพระสันตะปาปาของท่านไม่ใช่เรื่องโชคช่วย  ดังที่มัสซีโม ฟรังโก นักเขียนชาวโรมอธิบายว่า  “การได้รับเลือกของพระองค์มีที่มาจากความเจ็บปวด” จากการลาออกจากตำแหน่งของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหกอย่างกะทันหัน (ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระยะเวลาเกือบ 600 ปี)  และจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นของเหล่าคาร์ดินัล หัวก้าวหน้าว่า  ความคร่ำครึและมุ่งเน้นแต่ความต้องการของชาวยุโรปของสันตะสำนัก (The Holy See) กำลังทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกฟอนเฟะจากภายใน

          ขณะประทับในห้องรับแขกที่ห้องชุดของพระองค์ในเช้าวันนั้น  พระองค์ตรัสกับพระสหายเก่าถึงความท้าทายใหญ่หลวงที่รออยู่  ทั้งความไร้ระเบียบทางการเงินในสถาบันแห่งกิจการด้านศาสนา (Institute for the Works of Religion หรือเรียกง่ายๆว่า ธนาคารวาติกัน)  ความโลภต่ออามิสของคณะเจ้าหน้าที่บริหารที่ทำให้เกิดความเสื่อมขึ้นในสันตะสำนัก ข่าวคราวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ศาสนจักรช่วยปกป้องบาทหลวงที่กระทำความผิดทางเพศต่อเยาวชนที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง  นอร์แบร์โต ซารักโก  พระสหายและนักวิชาการผู้มาเข้าเฝ้าในเช้าวันนั้นด้วยบอกว่า  พระองค์ตั้งพระทัยที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้โดยเร็ว  ทั้งๆที่ทรงทราบดีว่า  “จะสร้างศัตรูมากมาย แต่อย่าลืมว่าพระองค์ไม่ใช่คนอ่อนประสบการณ์นะครับ”

          ซารักโกจำได้ว่า  เคยกราบทูลถึงความกังวลที่มีต่อความกล้าหาญของพระองค์ว่า  “คอร์เก พวกเรารู้ดีว่าท่านไม่ได้สวมเสื้อเกราะกันกระสุน  มีคนบ้าอยู่ทั่วเลยนะครับ”

          พระองค์ตรัสตอบเรียบๆว่า  “พระเจ้าทรงให้ข้าพเจ้ามาอยู่ตรงนี้  พระองค์ก็ต้องทรงระวังให้ข้าพเจ้าด้วย”  แม้พระองค์จะไม่ได้ร้องขอตำแหน่งสันตะปาปา  แต่ทรงยอมรับว่า  ทันที่มีการขานพระนามของพระองค์ในที่ประชุมลับ ทรงรู้สึกถึงความสงบศานติอย่างใหญ่หลวง  และแม้ว่าอาจทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง  พระองค์ก็ทรงปลอบใจบรรดาสหายว่า “ข้าพเจ้ายังคงรู้สึกถึงความสงบเช่นนั้น”


เรื่องโดย โรเบิร์ต เดรเพอร์
กันยายน 2558

22

ภาพ : ณ จุดที่ไม่อาจหันหลังกลับ
ภาพโดย : เรนัน ออซเทิร์ก
คำบรรยายภาพ : สายลมหนาวเหน็บถึงกระดูกพัดเชือกลอยสะบัด ขณะคอรี ริชาร์ดส์ไต่ขึ้นสันเขาโล่งกว้างระหว่างพยายามพิชิตยอดเขาคากาโบราซีที่ว่ากันว่าเป็นยอดเขาสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คากาโบราซีคือยอดเขาสูงที่สุดในเมียนมาร์จริงหรือ เพื่อหาคำตอบนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ ทีมนักปีนเขาทีมหนึ่งยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

"เราไปผจญภัยกันแบบรุ่นเก๋ากันเถอะ" ฮิลารีเอ่ยขึ้น "ไปสำรวจที่ไหนสักแห่งที่รกร้างห่างไกลและไม่มีใครรู้จัก" ตอนนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิปี 2012  และเราอยู่ระหว่างปีนลงจากเมานต์เอเวอเรสต์  ฮิลารีเป็นผู้หญิงแกร่งที่สุดที่ผมเคยเจอ หลังพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ เธอก็ไปปีนเขาโลตเซที่อยู่ติดกัน ทั้งๆที่เอ็นยึดข้อเท้าข้างหนึ่งยังฉีกขาดอยู่สองจุด

          เรามีอะไรเหมือนกันหลายอย่าง   เราทั้งคู่รักภูเขามาตั้งแต่เด็กๆ  แต่งงานมีลูกแล้วสองคนเหมือนกัน และต่างพยายามหาทางจัดการชีวิตครอบครัวกับการปีนเขาให้สมดุลลงตัว  เราเสื่อมศรัทธาในความเป็นธุรกิจและคลื่นมนุษย์บนเอเวอเรสต์ และอยากหวนคืนสู่สิ่งที่ดึงดูดให้เราเป็นนักปีนเขาตั้งแต่แรก

          แต่การเสาะหาสถานที่อันรกร้างห่างไกลอย่างแท้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย  เครื่องบินพาเราไปได้ถึงขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้  คุณสามารถขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่เบสแคมป์ของเอเวอเรสต์  ลงเรือท่องเที่ยวล่องแม่น้ำไนล์หรือ แอมะซอนก็ยังได้  สถานที่ที่ตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างแท้จริง  เป็นที่ที่ต้องใช้เวลาเดินเท้าหลายวันหรือกระทั่งหลายอาทิตย์เพียงเพื่อไปถึงนั้น แทบสูญสิ้นไปจากโลกแล้ว

          กระนั้น ผมก็ยังรู้จักอยู่ที่หนึ่ง แต่ความที่เคยมีความหลังกับภูเขาลูกนี้  ผมจึงลังเลที่จะพูดอะไรออกไป แต่ท้ายที่สุด หลังเสนอความคิดกันไปมา  ความปรารถนาอันแรงกล้าของผมก็มีชัยเหนือความลังเล "นี่ไหมละ" ผมอึกอัก "คากาโบราซี"   

          คากาโบราซี (Hkakabo Razi) นั้นว่ากันว่าเป็นยอดเขาสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นเทือกเขาหินสีดำสลับธารน้ำแข็งขาวโพลนที่ทะยานขึ้นจากป่าดงดิบเขียวขจีและร้อนชื้นทางภาคเหนือของเมียนมาร์  คากาโบราซีตั้งอยู่ติดกับแนวขอบเทือกเขาหิมาลัยฝั่งตะวันออกบนพรมแดนติดกับทิเบต  และได้รับการบันทึกความสูงเป็นครั้งแรกในรายงานการสำรวจของอังกฤษที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1925 ว่ามีความสูง 5,881 เมตร  ยอดเขาแห่งนี้นับว่ารกร้างห่างไกลเสียจนมีนักปีนเขาเพียงไม่กี่คนที่เคยได้ยินชื่อแม้กระทั่งในปัจจุบัน  การเดินทางไปยังภูเขาลูกนี้ต้องเดินเท้าสองอาทิตย์ผ่านป่าดิบที่คั่นด้วยโกรกธารลึกล้น  และเป็นแหล่งอาศัยของงูพิษสารพัดชนิด  ฮิลารีสนใจทันที เราวางแผนการสำรวจตั้งแต่ก่อนออกจากกาฐมาณฑุเสียด้วยซ้ำ

          ลำพังแค่ฝ่าฟันไปให้ถึงเชิงเขาคากาโบราซีก็ต้องใช้เวลาหนึ่งเดือนแล้ว  สิ่งที่ฮิลารีกับผมโหยหาตอนอยู่บนลาดเขาของเอเวอเรสต์  ความรกร้างห่างไกลนั่นเองที่กลับกลายเป็นอุปสรรคคุกคามการสำรวจของเราตั้งแต่เริ่มต้น

          อันดับแรก  เราต้องเดินทางรอนแรมข้ามครึ่งค่อนประเทศเมียนมาร์ จากกรุงย่างกุ้งเรานั่งรถโดยสารข้ามคืนไปยังพุกาม จากนั้นก็ล่องเรือขึ้นไปตามแม่น้ำอิรวดีสู่มัณฑะเลย์  เพื่อต่อรถไฟที่โยกคลอนและกระเด้งกระดอนราวกับพร้อมจะตกรางได้ตลอดเวลา  ที่เมืองมิตจีนาเราขึ้นเครื่องบินลำเดียวกับผู้โดยสารคนหนึ่งที่ขอเช็คอินปืนอาก้า กระบอกหนึ่งเป็นกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง  หลังไปถึงปูตาโอ เมืองทางเหนือสุดของรัฐคะฉิ่น เราเสียเวลาไปห้าวันอยู่ในฐานะเหมือน "ถูกจับกุม" ระหว่างที่ใบอนุญาตปีนเขาของพวกเราถูกตีกลับไปมาระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น  ท้ายที่สุดเราก็จัดข้าวของสัมภาระขึ้นคาราวานมอเตอร์ไซค์  แล้วเริ่มต้นการเดินทางที่ใช้เวลานานสามวัน ตะบึงข้ามลำธาร เร่งเครื่องล้อหมุนติ้วฝ่าโคลนตม จนกระทั่งเส้นทางสามารถไปต่อได้ด้วยการเดินเท้าเท่านั้น   

          จากนั้นการเดินป่า 243 กิโลเมตรไปยังตีนเขาคากาโบผ่านป่าดิบมืดครึ้มและชื้นแฉะก็เปิดฉากขึ้น  เรือนยอดไม้ดกหนาทอแสงสีเขียวจางๆลงมา  เราเดินไปตามเส้นทางที่ดูเหมือนอุโมงค์นี้อยู่สองอาทิตย์เต็มๆ บ่อยครั้งที่เส้นทางลาดชันขึ้น หรือไม่ก็ดิ่งลงอย่างฉับพลัน   เราผ่านหมู่บ้านโดดเดี่ยวแห่งหนึ่งไปสู่อีกแห่งหนึ่ง 

          หลังจาก 39 วันของการลงเรือ ขึ้นรถไฟ เผชิญงูและทาก  หลังปีนป่ายอย่างยากเย็นขึ้นมาตามผาชันของสันเขาฝั่งตะวันตกของคากาโบ วันนี้เป็นวันปีนสู่ยอดเขา เราผลัดกันซดชาควันฉุยคนละอึกสองอึกจนหมดหม้อ จากนั้นก็คลานออกจากเต็นท์อย่างลังเลมาเผชิญกับลมกรรโชก ละอองหิมะลอยฟุ้งหมุนวนรอบตัวเรา ดวงอาทิตย์ดูเหมือนลูกบอลเยียบเย็นลอยอยู่ไกลๆ  เราล็อกตะปูพื้นรองเท้าเข้ากับรองเท้าส่งเสียงดังคลิก ผูกโยงตัวกันไว้ด้วยเชือก แล้วก็เริ่มออกปีน  เท้ากับนิ้วเราชาดิก แต่การได้เคลื่อนไหวย่อมดีกว่านั่งสั่นอยู่ในเต็นท์ เลือดเราเริ่มสูบฉีด ความอบอุ่นค่อยๆ กลับคืนสู่ร่างกาย

          เราไต่ข้ามยอดหินสูงใหญ่ยอดแรกไปด้วยกัน  ทั้งสองฟากฝั่งลึกลงไปมากกว่าหนึ่งกิโลเมตร  คือทะเลหมอก ถ้าเราคนใดคนหนึ่งเกิดลื่นตกจากสันเขา  วิธีเดียวที่จะช่วยชีวิตเขาไว้ได้ก็คือ คนปีนที่อยู่ถัดไปจะต้องรีบกระโดดพุ่งหลาวไปทางฟากตรงข้าม   โดยทั้งคู่ต้องภาวนาขอให้ในเสี้ยววินาทีแห่งความเป็นความตายนั้น เชือกที่ผูกโยงกันไว้จะไม่ตกไปพาดบนหินที่คมเหมือนใบมีดจนถูกตัดขาด  นี่คือความลึกล้ำของความไว้เนื้อเชื่อใจที่ต้องมีในการปีนเขา เป็นหนทางสู่การก้าวพ้นตนเองและร้อยรัดตัวคุณเข้ากับสหายร่วมปีนเขา  นี่คือเหตุผลที่เรามาปีนเขากัน

เรื่องโดย มาร์ก เจนกินส์
กันยายน 2558

23
นับตั้งแต่งอกงามขึ้นบนผืนแผ่นดินสยามเมื่อกว่า 500 ปีก่อน ศาสนจักรคาทอลิกมีบทบาทและอิทธิพลอย่างไรในสังคมไทยปัจจุบัน

รถกระบะของคณะภคินีแพร่ธรรมแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล (ซิสเตอร์แม่ปอน) กำลังแล่นอย่างช้าๆ ไปตามถนนลูกรังริมสันดอย  ไต่ระดับจากเนินเขาลูกหนึ่งไปสู่อีกลูกหนึ่งที่สูงกว่า  แม้พวกเราจะนั่งอยู่ท้ายกระบะพลางชมทิวทัศน์งดงามของผืนป่าไปพลางๆ  แต่หุบเหวลึกและเส้นทางลูกรังแคบๆ ก็ทำให้เราหวั่นใจอยู่ลึกๆ  “เราจะสวดภาวนาเพื่อให้  พระเจ้าคุ้มครองการเดินทางของเราให้ปลอดภัยทุกครั้งค่ะ ความกลัวหรือความกังวลใจทั้งหลายจะได้หมดไป”  ซิสเตอร์ลาวา ปูลือ บอก “เพราะถือว่าเราฝากชีวิตไว้กับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว”

          ซิสเตอร์เซซีลีอา ลาวา ปูลือ อายุ  70 ปี เป็นชาวปกาเกอะญอคาทอลิก และเป็นซิสเตอร์คนแรกของคณะซิสเตอร์แม่ปอน  เธอเกิดเมื่อ พ.ศ. 2487  และกลับใจนับถือคาทอลิกใน พ.ศ. 2500   เธอใช้คำว่า “กลับใจ” เพราะก่อนหน้านี้เคยนับถือภูตผี  ไม่ถึงสิบปีให้หลังใน พ.ศ. 2508 เธอก็ตัดสินใจบวชตลอดชีวิต  ซิสเตอร์เป็นคนคุยเก่ง สุขภาพแข็งแรงและช่างจดจำรายละเอียดของทุกคน การสัญจรไปยังหมู่บ้านต่างๆ ตามดอยสูงกันดารคราวนี้คือภารกิจที่เธอเรียกว่าการแพร่ธรรม ซึ่งมีทั้งการสอนสวดภาวนาขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า และการฝึกอาชีพอย่างการทอผ้า

          ถนนฝุ่นคลุ้งโยกคลอนพาเรามาถึงหมู่บ้านสะลี  หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ระหว่างหุบเขาห่างไกลในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  คณะซิสเตอร์แม่ปอนไม่รอช้า  ออกเดินเท้าเยี่ยมชาวบ้านอย่างคุ้นเคย พวกเธอทำหน้าที่เหมือนพนักงานไปรษณีย์  เพียงแต่สิ่งที่นำมามอบให้หาใช่จดหมายหรือพัสดุ หากเป็นสารหรือกำลังใจมอบแก่คนที่กำลังเจ็บป่วย และน้อมนำศรัทธาไปสู่ผู้ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์  ชาวบ้านให้การต้อนรับคณะซิสเตอร์ด้วยรอยยิ้มและพูดคุยกันด้วยภาษากะเหรี่ยง  ทุกคนในหมู่บ้านต่างรอคอยการมาถึงของคณะ และในบางครั้งอาจหมายถึงการกลับมาเยี่ยมครอบครัวของซิสเตอร์ที่มาจากหมู่บ้านปกาเกอะญอหลายแห่งซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางด้วย

          แสงสุดท้ายของวันทอดลำผ่านฝาไม้ไผ่ขัดแตะ  กระท่อมหลังเล็กหลังนั้นมีเตาฟืนเป็นหัวใจของบ้าน  ใช้ทั้งประกอบอาหารและสร้างความอบอุ่นในค่ำคืนอันหนาวเหน็บ  ลำแสงบางๆ สาดส่องเข้ามากระทบผ้าคลุมผมสีขาวของซิสเตอร์ลาวา เธอมอบหมวกไหมพรมให้แม่เฒ่าเลโคโม่ผู้เป็นเจ้าของบ้าน  หมวกใบนี้ซิสเตอร์ลาวาถักขึ้นเอง แม่เฒ่ารับไว้พร้อมรอยยิ้มแทนคำขอบคุณ

          “ตอนอายุได้สองขวบ ฉันกำลังนั่งเล่นอยู่กับคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน  มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามา รูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาวซีด และตาสีแปลกประหลาดมาก เขาสวมรองเท้าคู่ใหญ่มาก  และแต่งตัวไม่เหมือนใครที่เคยเห็น ฉันตกใจกลัวมากจนลุกขึ้นวิ่งหนี แต่พ่อของฉันดึงแขนเอาไว้  ชายคนนั้นบอกฉันว่าไม่ต้องกลัว แล้วก็หยิบทอฟฟี่ให้ฉันค่ะ” รัตนา ก้อยงามเลิศ หรือแม่ซอ วัย 60 ปีรำลึกคุณพ่อเซกีนอต (บาทหลวง Joseph Seguinotte) มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสคนแรกที่เดินทางไป แพร่ธรรมถึงดอยสูง แม่ซอเป็นชาวคาทอลิกที่บ้านลาก๊ะ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นลูกสาวของคุณตาคริมู ยอดเมืองฟ้า (ซึ่งเป็นเพื่อนกับพ่อของซิสเตอร์ลาวาด้วย) คนแรกๆ ในหมู่บ้านลาก๊ะที่กลับใจมานับถือคริสต์ศาสนา

          บาทหลวงเซกีนอตเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์อบรมเด็กชาวไทยภูเขาแม่ปอนเมื่อ พ.ศ. 2496 หนึ่งในคณะสงฆ์พระหฤทัยเยซูเจ้าแห่งเบธาราม  รูปเหมือนของบาทหลวงเซกีนอตซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์ฯ แม่ปอน  มีข้อความสลักไว้ว่า “ผู้ยิ่งใหญ่สำหรับชาวปกาเกอะญอ”  ท่านรับผิดชอบศูนย์แห่งนี้จนถึง พ.ศ.  2535  “ในสมัยที่คาทอลิกเพิ่งเข้ามาที่ภาคเหนือของประเทศไทย ตอนนั้นชาวปกาเกอะญอยังสูบฝิ่นกันเยอะ คุณพ่อนำทั้งศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและความเจริญเข้ามา ทำให้คนเลิกสูบฝิ่นแล้วกลับใจมานับถือศาสนาคริสต์กันมาก” ซิสเตอร์ลาวาเล่า

          ซิสเตอร์ลาวาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ชาวปกาเกอะญอหันมาเข้ารีตเป็นจำนวนมาก เป็นผลมาจากความคล้ายคลึงกันระหว่างความเชื่อผีแบบดั้งเดิมกับคริสต์ศาสนา รวมถึงวัฒนธรรมการครองคู่แบบผัวเดียวเมียเดียว “เพราะเราเชื่อในพระเจ้าและความดีสูงสุดค่ะ” เธอบอก

          ต่อมาใน พ.ศ. 2494 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศจีนซึ่งรู้จักกันในนามการปฏิวัติวัฒนธรรม บาทหลวงคณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งเบธารามจำนวน 10 รูป ถูกขับออกจากประเทศและได้เข้ามาพักพิงในประเทศไทย ยุคนั้นตรงกับช่วงที่พระสังฆราชหลุยส์ โซแรง พระสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ ดำรงตำแหน่งอยู่

          พระสังฆราชหลุยส์ โซแรง ได้แนะนำให้พระสงฆ์คณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งเบธาราม ดูแลปกครองมิสซังภาคเหนือต่อจากคณะมิสซังแห่งกรุงปารีส  และสานต่อภารกิจอภิบาลสัตบุรุษ  พัฒนาโบสถ์และโรงเรียนในหลายท้องที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และแพร่ โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มชุมชนพื้นราบเป็นหลัก

          ทว่าในเวลาเดียวกัน  พระสงฆ์คณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าแห่งเบธาราม ก็ได้เริ่มเข้าไปแพร่ธรรมในเขตชุมชนชาวปาเกอะญอและอาข่าซึ่งอาศัยอยู่ในเขตภูเขาสูง  ห่างไกลและกันดารจากถนนหลวงและตัวเมือง บาทหลวงลูเซียน ลากอสต์ ซึ่งเป็นผู้นำคณะได้เขียนจดหมายลงใน Feuilles Missionnaires  ซึ่งเป็นจุลสารของคณะเบธาราม  ฉบับปี ค.ศ.1955 (พ.ศ. 2498) บันทึกการดำเนินงานเผยแพร่ศาสนาว่า  พบอุปสรรคหนักเป็นครั้งคราว ทั้งกำลังคนและทุนทรัพย์ “ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจว่า งานแพร่ธรรมนี้ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน” กระนั้นบาทหลวงลูเซียนก็ได้ระบุว่า ได้เกิดความหวังขึ้นในกลุ่มชาวปกาเกอะญอ ส่งผลให้ภารกิจชักจูงชาวบ้านให้ “กลับใจ” ได้เพิ่มมากขึ้น และได้แผ่ขยายออกไปทางด้านทิศตะวันตก ทิศเหนือ และตลอดแนวชายแดนประเทศพม่า

          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแพร่ธรรมค่อนข้างประสบความสำเร็จในหมู่ชาวปกาเกอะญอ  คือคริสต์ศาสนาลดทอนความยุ่งยากของพิธีกรรมลง  ต่างจากความเชื่อในภูตผีดั้งเดิมที่มีพิธีกรรมยุ่งยาก ซิสเตอร์ลาวา เล่าว่า แม่ของเธอเสียชีวิตตั้งแต่ 6 ขวบจากอหิวาตกโรค  เธอกับน้องจึงอยู่กับพ่อมาตลอด “การนับถือผีเป็นเรื่องลำบากมากสำหรับครอบครัวที่ขาดแม่ เพราะคนปกาเกอะญอถือว่า  ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว แต่ผู้หญิงคือหัวใจของบ้าน เมื่อแม่ตายไป  พ่อจึงต้องรื้อบ้านหลังเดิมทิ้ง ฆ่าสัตว์ทุกตัวที่เคยเลี้ยงจนหมด และสร้างบ้านใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณของแม่มาสิงอยู่ในบ้าน และต้องทำตามความเชื่ออื่นๆ อีกมากมาย จนเมื่อทราบข่าวของคุณพ่อเซกีนอต พ่อของฉันจึงไปพบและเกิดศรัทธาในที่สุดก็กลับใจเข้าสู่คาทอลิก”

          สายวันหนึ่งเราติดตามคณะซิสเตอร์ออกจากหมู่บ้าน   เดินเท้าไปตามสันเขาที่ปกคลุมไปด้วยไร่ข้าวโพด  ไต่ความสูงลัดเลาะขึ้นไปจนถึงยอดเขาบ้านป่าตึง บนนั้นเป็นแปลงปลูกข้าวไร่ เราเห็นพิธีกรรมเพาะปลูกของชาวปกาเกอะญอ ผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมกับความเชื่อแบบคาทอลิก

          ชาวปกาเกอะญอคาทอลิกเชื่อว่าข้าวให้ชีวิต พิธีกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงความเคารพนับถือต่อพระผู้สร้างหรือพระผู้เป็นเจ้า มีการทำพิธีร่วมกันระหว่างผู้นำทางศาสนาและเจ้าของที่นา กล่าวคือสวดขอพรในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เริ่มตั้งแต่การถางไร่ เตรียมดิน หยอดเมล็ด เกี่ยวข้าว ไปจนถึงการตีข้าว การสวดขอพรในขั้นตอนเหล่านี้เป็นไปเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าอำนวยพรให้ผลผลิตดี  ช่วยประทานน้ำฝนหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ให้เจริญงอกงาม และเมล็ดพันธุ์ไม่เสียหาย “ชาวปกาเกอะญอเราถือว่า ข้าวเป็นสิ่งมีชีวิต ข้าวตาย 3 ครั้งเพื่อเรา คือตอนหว่านลงนา ตอนสี และตอนหุง  ข้าวคือชีวิต เพราะคนเราต้องกินน้ำกินข้าวจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ค่ะ” ซิสเตอร์ลาวาอธิบาย

         หลังจากตระเวนเยี่ยมหมู่บ้านต่างๆ ไปตามยอดดอยลูกแล้วลูกเล่า เราก็มีโอกาสได้ไปเยือนศูนย์อบรมเด็กชาวไทยภูเขา แม่ปอน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมให้กับชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่ก่อตั้งขึ้นโดยคุณพ่อเซกีนอตและคุณพ่อโฟญีนี ศูนย์แห่งนี้เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่อันอบอุ่นและร่มรื่นของซิสเตอร์กว่า 50 ท่านในคณะภคินีแพร่ธรรมแห่งพระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล  หน้าที่หลักของซิสเตอร์ในคณะนี้คือ  การเดินทางแพร่ธรรมตามหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก  สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ส่วนการทำนา เพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ รวมถึงการทอผ้าพื้นเมืองก็ยังเป็นสิ่งที่ซิสเตอร์ทุกคนในคณะแม่ปอน ยังคงยึดถือเป็นกิจวัตรประจำวัน  เช่นเดียวกับชาวปกาเกอะญอทั่วไป และในช่วงเปิดเทอมก็ยังรับภาระดูแลเด็กๆ ที่ศูนย์อบรมเด็กชาวไทยภูเขาแม่ปอนอีกด้วย

          เรามองภาพของเหล่าซิสเตอร์ในเครื่องแต่งกายจากผ้าฝ้ายทอมือสีกรมท่า ปักลวดลายพอเป็นเอกลักษณ์ ผ้าคลุมผมสีขาวสะอาดตา สวมรองเท้ายางหูหนีบ เดินรดน้ำต้นไม้  ให้อาหารนกกระทา เลี้ยงไก่ อาบน้ำให้หมู เก็บผักผลไม้ ดูแลสวนอย่างสุขุมและเบิกบานใจ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เรานึกถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงที่ชาวไทยภูเขาทุกหมู่เหล่าให้ความเคารพรัก เรานึกอิจฉาในวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและไร้ความรีบเร่ง และได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งจะมีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนที่นี่อีกครั้ง

 เรื่องโดย กมลวรรณ ลีลัคนาวีระ
กันยายน 2558

24
กองกำลังติดอาวุธบางกลุ่มในแอฟริกาหาเงินทุนจากการล่าช้างและค้างาเถื่อน งาช้างปลอมฝังอุปกรณ์จีพีเอส จะช่วยขัดขวางคนเหล่านั้นได้หรือไม่

           ตอนที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันต้องการปรับปรุงห้องจัดแสดงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม                     จากทวีปอเมริกาเหนือให้ทันสมัย จอร์จ ดันเต นักสตัฟฟ์สัตว์ ได้รับมอบหมายงานนั้น แต่นักสตัฟฟ์สัตว์ฝีมือระดับโลกอย่างดันเตไม่เคยทำสิ่งที่ผมขอให้เขาทำ และไม่มีใครเคยทำสิ่งนี้มาก่อน

            ผมอยากให้ดันเตออกแบบงาช้างจำลองซึ่งมีหน้าตาและผิวสัมผัสเหมือนงาช้างของจริง แล้วฝังอุปกรณ์ติดตามผ่านดาวเทียมและระบบจีพีเอสที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษไว้ภายใน  ในโลกของอาชญากร งาช้างไม่ต่างอะไรจากเงินตรา ดังนั้นจึงเท่ากับว่าผมกำลังขอให้เขาพิมพ์ธนบัตรปลอมเพื่อให้ผมติดตามและแกะรอยได้นั่นเอง

            ผมจะใช้งาช้างของเขาไล่ล่าพรานฆ่าช้าง และแกะรอยเส้นทางขบวนการค้างาช้างเถื่อนว่า สินค้าเหล่านี้     ลงเรืออะไร ออกจากท่าเรือแห่งไหน ผ่านเมืองและประเทศใดบ้าง และมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ใด

            พ่อค้างาช้างจะทดสอบสินค้าโดยใช้มีดขูดผิวงาหรือเอาไฟลน งาช้างก็คือฟันดีๆนี่เอง เพราะฉะนั้นจึงไม่ละลาย งาของผมต้องมีคุณสมบัติเหมือนงาช้าง “และผมต้องหาวิธีทำให้มันแวววาวด้วยสินะ” ดันเตเอ่ย  เขาหมายถึงความเงางามของงาช้างที่ได้รับการทำความสะอาดแล้ว

            จอร์จ ดันเต ก็เหมือนคนอีกมากมายในโลกที่รู้ว่า ช้างแอฟริกาถูกล่าอย่างหนัก ความนิยมในงาช้างที่ดูเหมือนไม่รู้จักพอของชนชั้นกลางชาวจีนที่เติบโตขึ้น กอปรกับปัญหาความยากจนในแอฟริกา การบังคับใช้กฎหมายที่ย่อหย่อนและฉ้อฉล ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้สถานการณ์สุกงอม ส่งผลให้ช้างแอฟริกาถูกฆ่า ปีละประมาณ 30,000 ตัว งาช้างผิดกฎหมายส่วนใหญ่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่จีนที่ซึ่งตะเกียบงาคู่หนึ่งอาจมีราคาสูงกว่าหนึ่งพันดอลลาร์สหรัฐ และงาช้างแกะสลักขายได้กิ่งละหลายแสนดอลลาร์สหรัฐ

            ปัจจุบัน ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกคือแดนวิกฤติของการฆ่าช้าง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลแทนซาเนียประกาศว่า ประเทศสูญเสียช้างถึงร้อยละ 60 ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 110,000 ตัวเหลือไม่ถึง 44,000 ตัว ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านอย่างโมซัมบิกก็รายงานการสูญเสียช้างราวร้อยละ 48 ผู้คนในท้องถิ่นล้วนฆ่าช้างเพื่อหารายได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่พวกเขายอมแลก เพราะต่อให้ถูกจับ บทลงโทษ  ก็มักเล็กน้อยจนไม่ทำให้หลาบจำ แต่ในแอฟริกากลาง การฆ่าช้างขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น นั่นคือ  กองกำลังติดอาวุธและกลุ่มก่อการร้ายที่ได้เงินสนับสนุนบางส่วนจากการค้างาช้าง กลุ่มคนเหล่านี้ออกล่าช้าง  อย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยมักลงมือนอกประเทศของตน และถึงขั้นเข้าไปซ่อนตัวในอุทยานแห่งชาติต่างๆ ปล้นสะดมชุมชนในท้องถิ่น จับผู้คนไปเป็นทาส และสังหารเจ้าหน้าที่อุทยานที่เข้าขัดขวาง

            เซาท์ซูดาน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซูดาน และชาด ห้าประเทศที่อยู่ในทำเนียบชาติที่ขาดเสถียรภาพมากที่สุดในโลกตามการจัดอันดับขององค์การกองทุนเพื่อสันติภาพ (Fund for Peace) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. คือบ้านของพรานเถื่อนที่ออกล่าช้างในเขตประเทศอื่นๆ  ปีแล้วปีเล่าที่การฆ่าช้างครั้งใหญ่และน่าสะพรึงกลัวที่สุดหลายครั้งสาวกลับไปถึงซูดาน ซึ่งไม่มีช้างเหลือให้ล่าแล้ว แต่เป็นที่กบดานของผู้ก่อการร้ายนักล่าช้างชาวต่างชาติ และเป็นแหล่งซ่องสุมของกองกำลังติดอาวุธจันจาวีด (Janjaweed) และกลุ่มโจรหัวรุนแรงชาวซูดานกลุ่มอื่นๆที่ก่อเหตุปล้นฆ่าข้ามพรมแดน

            เจ้าหน้าที่อุทยานมักเป็นกำลังหลักเพียงหนึ่งเดียวที่ต้องรับมือกับเหล่านักล่า พวกเขาปักหลักสู้อยู่ในแนวหน้าของสงครามรุนแรงที่ส่งผลต่อเราทุกคน ทั้งๆที่มีจำนวนน้อยกว่าและมักขาดอาวุธยุทโธปกรณ์

                  อุทยานแห่งชาติกาแรมบาซึ่งตั้งอยู่ ณ หัวมุมทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และมีพรมแดนติดกับเซาท์ซูดาน เป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ที่นี่เป็นบ้านของโขลงช้างป่าและทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลที่โด่งดังระดับโลก แต่เมื่อผมถามเด็กๆและผู้สูงอายุในหมู่บ้านคไพกา ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนด้านตะวันตกของอุทยานราว 50 กิโลเมตร ว่าใครเคยไปเที่ยวอุทยานบ้าง ไม่มีใครยกมือเลยสักคน แต่พอถามต่อว่า “มีกี่คนเคยถูกแอลอาร์เอลักพาตัว” ผมก็เข้าใจทันทีว่าเป็นเพราะเหตุใด

            คุณพ่อเออร์เนสต์ ซูกูเล บาทหลวงประจำหมู่บ้าน เล่าให้ผมฟังว่า เด็กหลายคนในสังฆมณฑลของท่านเห็นคนในครอบครัวถูก “กองกำลังต่อต้านของพระเจ้า” หรือแอลอาร์เอ (Lord’s Resistance Army: LRA) สังหาร กลุ่มกบฏยูกันดากลุ่มนี้นำโดยโจเซฟ โคนี ผู้ก่อการร้ายที่ถูกหมายหัวมากที่สุดคนหนึ่งของแอฟริกา คุณพ่อซูกูเลตั้งกลุ่มช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกองกำลังของโคนีทำร้าย

            โคนีประกาศพันธกิจโค่นรัฐบาลยูกันดาในนามของชาวอาโชลีที่อยู่ทางตอนเหนือของยูกันดา นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 คนของโคนีเริ่มปฏิบัติการในยูกันดา เชื่อกันว่าพวกเขาสังหารผู้คนไปหลายหมื่นคน ข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงและเด็ก และลักพาตัวเด็กชายไปสร้างกองทัพทหารเด็กที่โตขึ้นมาเป็นนักฆ่า

            ต่อมาในปี 1994 โคนีออกจากยูกันดาและพากองกำลังสังหารโหดออกเดินทาง เขาไปซูดานเป็นที่แรกซึ่งในขณะนั้นสงครามกลางเมืองระหว่างซูดานเหนือกับซูดานใต้กำลังดำเนินอยู่ โคนีเสนอตัวช่วยรัฐบาลซูดานในกรุงคาร์ทูมบ่อนทำลายทางใต้ เพื่อแลกกับอาหาร ยา และอาวุธ เมื่อปี 2008 กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯขนานนามโคนีว่า “ผู้ก่อการร้ายคนสำคัญระดับโลก” และสหภาพแอฟริกา (African Union) ประกาศให้แอลอาร์เอเป็นองค์กรก่อการร้าย

            โคนีต้องเสียเจ้าภาพไปเมื่อซูดานเหนือและใต้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพเมื่อปี 2005 พอถึงเดือนมีนาคม ปี 2006 เขาหนีไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและตั้งค่ายพักที่อุทยานแห่งชาติกาแรมบา ซึ่งเวลานั้นมีประชากรช้างราว 4,000 ตัว จากกาแรมบา โคนีส่งสัญญาณว่าต้องการสงบศึกกับยูกันดา ขณะที่เขากับคนของเขาอยู่อย่างปลอดภัยภายในและรอบๆอุทยานด้วยอานิสงส์ของข้อตกลงหยุดยิง โคนีถึงกับเชิญผู้สื่อข่าวต่างชาติไปสัมภาษณ์ในค่าย ขณะเดียวกัน คนของเขาก็ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงด้วยการข้ามพรมแดนเข้าไปในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ที่นั่นพวกเขาลักพาตัวเด็กหลายร้อยคนและฉุดคร่าผู้หญิงกลับมาเป็นทาสบำเรอความใคร่

            คุณพ่อซูกูเลแนะนำให้ผมรู้จักเด็กสาวคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อลักพาตัวของพวกแอลอาร์เอเมื่อไม่นานมานี้ เกลี โอห์ วัย 16 ปี ทนทุกข์อยู่กับกองกำลังของโคนีถึงสองปีครึ่ง  เธอเล่าว่าเห็นช้างหลายตัวในอุทยานแห่งชาติกาแรมบาซึ่งเป็นจุดที่แอลอาร์เอจับตัวเธอไป “คนพวกนั้นบอกว่ายิ่งฆ่าช้างมากเท่าไร ก็ยิ่งได้งามากเท่านั้น”

            กองกำลังของโคนีลดลงจากช่วงเฟื่องฟูที่มีนักรบ 2,700 คนเมื่อปี 1999 มาอยู่ราว 150-250 คนในทุกวันนี้ การสังหารพลเรือนก็ลดลงด้วย จาก 1,252 คนเมื่อปี 2009 เหลือ 13 คนเมื่อปี 2014 แต่การลักพาตัวกลับสูงขึ้นอีกครั้ง ในหมู่บ้านแห่งแล้วแห่งเล่า ผมพบเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากกองกำลังของโคนีหลายคนที่เล่าว่าเคยกินเนื้อช้าง และเล่าถึงวิธีการที่พวกทหารฆ่าช้างและขนงาไป

            แต่ไปไหนเล่า

            ขณะเขียนเรื่องนี้ งาช้างปลอมของผมส่งข่าวล่าสุดมาจากเมืองเอดดาอัยน์ในซูดาน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงคาร์ทูมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 800 กิโลเมตร ผมรู้ว่ามันอยู่ในบ้านหลังไหนจากการใช้โปรแกรมกูเกิลเอิร์ท  ผมเห็นหลังคาสีฟ้าอ่อนจากหน้าจอ จนถึงตอนนี้ มันเดินทางรวมแล้ว 950 กิโลเมตรจากป่าสู่ทะเลทรายภายในเวลาไม่ถึงสองเดือน เมื่อสารคดีเรื่องนี้อยู่ในมือของผู้อ่าน งาช้างของผมอาจไปถึงกรุงคาร์ทูม หรืออาจไปถึงประเทศปลายทางซึ่งเป็นตลาดงาช้างเถื่อนใหญ่ที่สุดอย่างจีนแล้วก็เป็นได้


เรื่องโดย ไบรอัน คริสตี
กันยายน 2558

25
สภาพการศึกษาและมหาวิทยาลัยของประเทศไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมานี้ ผมรับรู้ถึงกระแสความเข้มข้นของอำนาจและเงินตราเพิ่มมากขึ้นในทั่วทุกบริบท เหตุผลและความมีเหตุผลถูกทอดทิ้งเพื่อสังเวยอำนาจและความเชื่อที่มืดบอด ธรรมาภิบาลและจริยธรรมถูกท้าทายด้วยเงินตราอย่างรุนแรง พื้นที่ซึ่งสร้างความเจริญเติบโตทางปัญญา การแสวงหาความจริง และจริยธรรมพร่าเลือนลงไปอย่างน่าใจหาย
       
        แม้อยู่ภายในแวดวงการศึกษาระดับสูง ผมกลับประสบพบเห็นกับวิธีคิดและการให้เหตุผลของผู้ที่มีการศึกษาสูงหลายคนและบางคนเป็นผู้บริหารมีลักษณะที่หาได้แตกต่างจากชาวบ้านทั่วๆไปแต่อย่างใด ราวกับว่าสถาบันการศึกษาระดับสูงทั้งในและต่างประเทศที่พวกเขาเคยร่ำเรียนมาในอดีต มิได้ปลูกฝังวิธีคิดและ การให้เหตุผลที่ดีแก่คนเหล่านั้นเท่าไรนัก หรือมิฉะนั้นก็สถาบันเหล่านั้นอาจสอนและกล่อมเกลาอยู่บ้างระหว่างการเรียนและอยู่ในห้องเรียน ครั้นออกมาสู่โลกทางสังคมวัฒนธรรม ความเข้มข้นของการมีเหตุผลกลับถูกทำให้เจือจางลงไปโดยบริบททางอำนาจที่พวกเขาเสพและวัฒนธรรมที่พวกเขาสังกัด หรืออาจด้วยสาเหตุอื่นๆที่ไม่อาจคาดคะเนได้
       
        ระบบคิดอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารองค์การ รวมทั้งผู้บริหารทางการศึกษานิยมใช้คือ การใช้ความหวาดกลัวเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใต้บังคับบัญชา ความหวาดกลัวเป็นสิ่งยอดนิยมที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออยู่เป็นประจำในหลากหลายระดับของสังคม เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ภายในสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกรูปทุกนาม ความหวาดกลัวถูกขับเคลื่อนจากความปรารถนาของมนุษย์ในการอยู่รอดและปราศจากจากภยันตรายทั้งปวงที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเองและต่อสิ่งที่พวกเขาให้คุณค่า เช่น ครอบครัว องค์การ และประเทศ
       
        การใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือมีหลากหลายรูปแบบ แต่แก่นของมันคือ การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบในเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อมายับยั้งพฤติกรรมที่ต่อต้านความประสงค์ของผู้สร้าง ขณะเดียวกันก็หนุนเสริมให้เกิดการยอมตามความประสงค์ของผู้สร้าง ผู้บริหารการศึกษาจำนวนไม่น้อยจึงนิยมใช้วิธีการนี้เป็นเครื่องมือในการบริหาร
       
        สิ่งเกิดขึ้นในเวลานี้ภายในแวดวงการศึกษาคือ การข่มขู่ว่าจะไม่รับรองหลักสูตร หากมหาวิทยาลัยไม่เขียนหรือกรอกข้อความลงไปในสิ่งที่เรียกว่า “กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา” (มคอ.) ซึ่งมีแบบฟอร์มทั้งหมด 7 แบบ ตั้งแต่ มคอ. 1 ถึง มคอ. 7 เครื่องมือนี้ผู้มีอำนาจในแวดวงการศึกษาเชื่ออย่างลมๆแล้งๆ ว่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ชวนให้คิดว่าที่จริงพวกเขาอาจไม่เชื่อเครื่องมือนั้นก็ได้ แต่ประสงค์ใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่อสร้างอำนาจและใช้อำนาจนั้นเพื่อกดข่มมหาวิทยาลัยเป็นหลัก
       
        ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งกลัวจนลนลาน เร่งรีบนำมากำหนดบังคับให้อาจารย์ดำเนินการตามความประสงค์ของกลุ่มอำนาจนำทางการศึกษา ทั้งที่พวกเขาส่วนมากก็ไม่เชื่อว่า มคอ. เป็นเครื่องมือที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้จริง แต่เมื่ออำนาจแผ่อิทธิพลลงมา ความกลัวเข้าครอบงำ พื้นที่ทางปัญญาก็หดหายลงไป
       
        การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งกำลังเป็นประเด็นปัญหาอยู่ไม่น้อย ความเชื่อที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้คือ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ทำให้เกิดอิสระในการบริหาร ความเป็นอิสระจะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของมหาวิทยาลัยดีขึ้นทั้งในงานด้านการผลิตนักศึกษา ด้านการวิจัย และด้านการบริการสังคม ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยจำนวนมากก็ได้ออกนอกระบบ แต่ความเป็นจริงก็แสดงออกมาว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งมิได้มีผลลัพธ์เกิดขึ้นตามความเชื่ออันเป็นรากฐานของการขับเคลื่อนในระยะเริ่มต้นแต่อย่างใด
       
        มหาวิทยาลัยนอกระบบหลายแห่งชำรุดทรุดโทรมลงไปทั้งคุณภาพการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ บางแห่งแปรสภาพเป็นศูนย์การค้า บางแห่งมีปัญหาเรื่องธรรมาธิบาลอย่างรุนแรงทั้งในระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัย และระดับกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีการทุจริตคอรัปชั่นจนเป็นเรื่องอื้อฉาวเป็นที่รู้กันทั่วทั้งสังคม จนกระทั่งชาวมหาวิทยาลัยจำนวนมากแทบต้องเอาหน้ามุดดิน การกล่าวว่ามหาวิทยาลัยเป็นดินแดนที่ปลอดการทุจริต จึงเป็นเพียงตำนานที่ยาวนานซึ่งถูกฝังไว้ในอดีตเท่านั้น
       
        ด้านอาจารย์ จากเคยมีสถานภาพเป็นปูชนียบุคคลอันน่านับถือ ก็ถูกทำให้เป็นเครื่องจักรในการผลิตบัณฑิต ผลิตงานวิจัย ผลิตบทความวิชาการ และหาเงินเข้ามหาวิทยาลัยราวกับเป็น “กรรมกรที่ใช้แรงงานสมอง” หรือลูกจ้างบริษัทเอกชน ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ปัญญาและงานวิชาการที่มีคุณภาพไหนเลยจะเบ่งบานได้ ที่เห็นและเป็นอยู่ ก็มีแต่ปริมาณของตัวอักษรที่ซ้ำๆกันและกระดาษกองพะเนิน ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ไม่มีใครอ่าน
       
        มหาวิทยาลัยบางแห่งที่ยังไม่ออกนอกระบบราชการ ผู้บริหารก็มีความกระเหี้ยนกระหือรือในการผลักดันให้ออกจากระบบราชการอย่างไม่ลืมหูลืมตา ยังไม่ทันตกลงกันให้ชัดเจนว่าจะให้ออกหรือไม่ออก ระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัย ก็เร่งรีบเขียนร่างพระราชบัญญัติเตรียมการรอตั้งแต่ไก่โห่ ซ้ำยังข่มขู่ให้ผู้ไม่เห็นด้วยเกิดความหวาดกลัวโดยการสร้างภาพเชิงลบอันเกิดจากจินตนาการหรือมโนเอาเองว่าสิ่งที่เลวร้ายจะเกิดขึ้นในอนาคต หากไม่ออกนอกระบบราชการ
       
        ขณะเดียวกันก็สร้างความหวังลมๆแล้งๆเชิงโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหวังจะดึงการสนับสนุน ทั้งปกปิดกลบเกลื่อนข้อเสียที่เกิดขึ้นจากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งอำนาจ การสืบทอดอำนาจและผลประโยชน์ที่ฝ่ายบริหารได้รับจากการออกนอกระบบด้วย
       
        ปัญหาใหญ่ของการบริหารมหาวิทยาลัยนอกระบบคือ ปัญหา “อธรรมาภิบาล” อันเป็นผลมาจากการที่สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจมาก แต่ไร้การตรวจสอบและควบคุม อีกทั้งเรื่องการที่ไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย เรียกได้ว่าเป็นกันกี่วาระติดต่อกันก็ได้ จึงทำให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่งสร้างอำนาจและอิทธิพลครอบงำมหาวิทยาลัยได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนกลายเป็นแก๊งมาเฟียทางการศึกษาขึ้นมา
       
        ยิ่งมหาวิทยาลัยใดที่มีวงจรปีศาจ ผลัดกันเกาหลังระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยและกรรมการสภาแล้วไซร้ มหาวิทยาลัยนั้นก็มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปสู่หุบเหวแห่งความหายนะได้ในไม่ช้า กระบวนการผลัดกันเกาหลังนี้ เริ่มจากมีกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งประสงค์สืบทอดอำนาจ พวกเขาใช้บทบาทในฐานะผู้บริหารแปลงสภาพตนเองให้เป็นผู้กำกับและใช้อำนาจสั่งการพวกพ้องของตนเอง โดยกำหนดชื่อบุคคลที่จะถูกเลือกมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยไว้ล่วงหน้า บางมหาวิทยาลัยถึงกับมีการทาบทามบุคคลที่ผู้บริหารหมายตาไว้ล่วงหน้าหลายเดือน ก่อนที่มีจะมีกระบวนการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป ขนาดยังไม่นอกนอกระบบราชการ ก็ยังมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลขนาดนี้ หากออกนอกระบบราชการจะเป็นถึงขนาดไหน
       
        เมื่อได้กรรมการสภามหาวิทยาลัยแล้ว กรรมการเหล่านั้นก็เลือกกลุ่มผู้บริหารชุดที่เลือกตนเองเข้ามาเป็นกรรมการเป็นผู้บริหารอีกครั้งในวาระต่อไป เรียกว่าผลัดกันชง ผลัดกันตั้ง และเมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนเดิมหมดวาระ พวกเขาก็จะวางทายาทสืบทอดอำนาจกันภายในกลุ่ม จากนั้นก็จะดำเนินการวงจรปีศาจนี้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และท้ายที่สุดก็จบลงด้วยปัญหาการทุจริต การไร้ธรรมาภิบาล และความเสื่อมของระบบการศึกษาโดยรวม
       
        สิ่งที่เห็นและรับรู้หลายครั้งทำให้เกิดความพิศวงกับตรรกะและการให้เห็นเหตุผลของผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น กรณีการกำหนดจำนวนวาระของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งยืนกรานอย่างแข็งขันไม่ให้มีการกำหนดจำนวนวาระของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่า “หาบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยยาก ไม่ค่อยมีคนอยากมาเป็นนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย จึงไม่ควรกำหนดจำนวนวาระไว้” นัยคือให้กลุ่มเดิมเป็นนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยติดต่อกันไปเรื่อยๆได้จนกว่าจะตายไป หรือจนกว่าผู้บริหารไม่ประสงค์ให้บุคคลนั้นเป็นกรรมการสภาอีกต่อไปนั่นแหละ การให้เหตุผลเช่นนี้ดูเป็นเรื่องที่ห่างไกลกับสิ่งที่เรียกว่าการมีปัญญาอยู่มากโข
       
        การศึกษาและมหาวิทยาลัยในยามนี้มีความเป็นจริงอันมืดดำหลากหลายมิติแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ภายใต้มายาภาพอันสวยหรู เมฆหมอกแห่งอำนาจ การเล่นพวกเล่นพ้อง ความฉาบฉวย และการมุ่งสู่การแสวงหาเงินตราเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นและแผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่การเจริญเติบโตทางปัญญา การแสวงหาความจริง และความกล้าหาญทางจริยธรรมในการชี้นำสังคมของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าปัญญาชนได้มืดสลัว พร่าเลือนลงไปเรื่อยๆ ในยามนี้แสงสว่างแห่งปัญญาและจริยธรรมได้อ่อนล้าลงไปเสียแล้ว

ปัญญาพลวัตร
       โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ASTVผู้จัดการรายวัน    
   25 กันยายน 2558

26
 ที่ประชุมกลุ่มประเทศ จี 77 ที่จัดขึ้นระหว่างประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ไทยทำหน้าที่ประธานในวาระปี 2558 นับเป็นครั้งแรก หลังเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งเมื่อ 51 ปีก่อน
       
       เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 ตามเวลาท้องถิ่น นายอภิชาติ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม 77 (G 77) ครั้งที่ 39 ในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐเมริกา โดยมี นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ นายโมนส์ เลิคเคทอฟ ประธานสมัชชาสหประชาชาติ ตลอดจนรัฐมนตรีและผู้แทนจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ เข้าร่วม
       
       ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวขอบคุณประเทศสมาชิกกลุ่ม G 77 ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม G 77 สำหรับวาระปี 2558 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นการแสดงความพร้อมและบทบาทนำของไทยในการสานต่อความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา
       
       ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม G 77 ประเทศไทยยึดมั่นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งเสริมผลประโยชน์และผลักดันประเด็นซึ่งกลุ่มให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ประเทศไทยจะแสดงบทบาทเป็นสะพานเชื่อม (Bridge-builder) ระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม และระหว่างกลุ่มกับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ
       
       ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของกลุ่ม G 77 ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2507 โดยประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 77 ประเทศ ปัจจุบันกลุ่ม G 77 มีสมาชิก 134 ประเทศ แต่ยังคงชื่อเดิมไว้เนื่องจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กลุ่ม G 77 เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติ โดยเป็นเวทีให้ประเทศกำลังพัฒนาส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมกัน ตลอดจนช่วยส่งเสริมความร่วมมือใต้ - ใต้ (South-South Cooperation) ด้วย
       
       การที่ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ประธานในวาระปี 2558 นับเป็นครั้งแรก หลังจากไทยที่เป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งเมื่อ 51 ปีก่อน


ASTVผู้จัดการออนไลน์    
   26 กันยายน 2558

27
“ประยุทธ์” ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ฉลองครบ 150 ปี ITU และร่วมรับรางวัล รับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ยกเป็นองค์กรเก่าแก่ไทยร่วมตั้งแต่สมัย ร.5 เพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคม แถมไทยยังเป็นฐาน ITU ในภูมิภาค ประชุมครั้งนี้เน้นเทคโนโลยีสื่อสารกับการเติบโต ศก.- พัฒนายั่งยืน สอดคล้องนโยบายดิจิตอลรัฐ ย้ำ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมชาติต่าง ๆ ให้โลกก้าวไปพร้อมกัน
       
       เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2558 เวลา 20.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ในโอกาสฉลองครบรอบ 150 ปี สหภาพโทรคมนาคม ระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union :ITU) และร่วมรับรางวัล ITU Global Sustainable Digital Development Award พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
       
       นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมงานในเย็นวันนี้ และขอขอบคุณสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู ที่ได้มอบรางวัล ITU Global Sustainable Digital Development Award ให้แก่ประเทศไทย โดยเมื่อปี ค.ศ. 1883 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศไทย หรือ สยาม ในขณะนั้น ได้ตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกไอทียู ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นองค์การระหว่างประเทศแรกที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก ด้วยเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศ และขยายขอบเขตการบริการโทรคมนาคมให้กว้างขวางทันสมัย ทัดเทียมกับนานาประเทศ ซึ่งรวมทั้งการบริหารความถี่วิทยุเพื่อกิจการโทรคมนาคมด้วย
       
       ประเทศไทยยังได้รับเลือกเป็นที่ตั้งของสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเมื่อปี ค.ศ. 1992 ทำให้ไทยสามารถติดต่อและมีความร่วมมือทางวิชาการกับไอทียู ในการพัฒนาบุคลากรและรับวิทยาการที่ทันสมัยได้สะดวกยิ่งขึ้น และประเทศไทยยังเป็นฐานของไอทียูที่จะขยายการสนับสนุนและความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาคนี้ด้วย
       
       ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ และต่อมาในปี ค.ศ. 2003 ประเทศสมาชิกไอทียูได้ให้ความเห็นชอบต่อปฏิญญาและแผนปฏิบัติการเจนีวา เพื่อช่วยรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมสารสนเทศที่ประชากรทั่วโลกสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งรวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ภายในปี ค.ศ. 2015
       
       การประชุมสุดยอดที่ตูนิส ในปี ค.ศ. 2006 ประชาคมโลกเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามอันเกิดจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในทางที่ผิด ประเทศไทยจึงได้ออกกฏหมายและมีมาตรการในการทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ และส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้เทคโนโลยีนี้ในทางที่เหมาะสม ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศสมาชิกอาเซียน และในระดับโลก
       
       นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าในการประชุม UNGA70 ครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการลดช่องว่างด้านดิจิตอล และการกำหนดนโยบายที่จะกระตุ้นการสร้างเทคโนโลยีใหม่ การวิจัย และการส่งเสริมนวัตกรรมในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนด้านเศรษฐกิจก้าวหน้าทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ ทั้งด้านการผลิต การค้าผลิตภัณฑ์ดิจิตอลโดยตรง และการใช้ดิจิตอลรองรับบริการของภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจบริการอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคสื่อสารและบันเทิง ตลอดจนการใช้ดิจิตัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
       
       ตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทยจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จกับมิตรประเทศ และยินดีจะรับฟังคำแนะนำในทุก ๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเทคโนโลยีดิจิตอลและการพัฒนาด้านอื่น ๆ เพื่อเผชิญหน้าและรับมือกับความท้าทายของโลกปัจจุบัน เพราะไทยพร้อมจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อประชาคมโลกจะสามารถก้าวไปพร้อมกันบนเส้นทางสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยไม่มีใครถูกทิ้งอยู่เบื้องหลัง ทั้งนี้ ประเทศไทยขอให้คำมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมสารสนเทศเพื่อประชาคมโลก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
       
       อนึ่ง สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU (International Telecommunications Union) ฉลองการก่อตั้งครบรอบ 150 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ITU ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือกับไทย โดยเห็นว่า ไทยมีบทบาทนำในเรื่องเทคโโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม (ICT) และไทยยังเป็นที่ตั้งสำนักงาน ITU ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งแต่ปี 2535
       
       ทั้งนี้ ไทยเข้าเป็นสมาชิก ITU ตั้งแต่ปี 2426 และมีบทบาทสำคัญ อาทิ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Connect Asia-Pacific Summit เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 และงาน ITU Telecom World 2013 ระหว่างวันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน 2557 ณ อิมแพค เมืองทองธานี และล่าสุด ไทยได้แสดงความสนใจอย่างเป็นทางการที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom World ปี 2559 อีกด้วย
       
       รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศแบบองค์รวม โดยได้มีการเปลี่ยนกระทรวง ICT เป็น “กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เพื่อผลักดันการพัฒนาดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม


ASTVผู้จัดการออนไลน์    
   27 กันยายน 2558

28
 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย กล่าวถ้อยแถลงต่อองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องทุกประเทศทั่วโลกดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาอย่างสมดุล พร้อมแนะให้ใช้หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” สร้างความเข้มแข็งทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
       
       รายงานข่าวล่าสุดซึ่งถูกเผยแพร่จากสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับผู้นำ เพื่อรับรองวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ. 2015 หรือการประชุม “POST 2015 Summit” ที่เป็นหนึ่งในการประชุมย่อยของสมัชชาใหญ่ยูเอ็น และจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ภายใต้หัวข้อ “Ending poverty and hunger”
       
       นายกรัฐมนตรีของไทยได้เรียกร้องต่อที่ประชุม ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ต้องดำเนินไปควบคู่กับ “ความสมดุลและความยั่งยืน” ทั้งนี้ ก็เพื่อขจัดปัญหาความยากจนและความอดอยากหิวโหยของประชากรโลก รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม
       
       ในตอนหนึ่งของถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีการเผยแพร่ในวันเสาร์ (26 ก.ย.) ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาประเทศ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึงบนหลักของ “ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” เพื่อรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ และว่าการพัฒนาที่ประเทศไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนตามหลักดังกล่าวนี้ ยังมุ่งเน้นให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ด้วยการสร้างงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่เน้นวัตถุนิยม - บริโภคนิยม ด้วยเช่นกัน
       
       ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย แม้ว่าสัดส่วนของคนยากจนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือเพียงร้อยละ 10.53 ในปี ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการลดลงอย่างสำคัญของจำนวนคนยากจนในประเทศจากที่เคยมีสูงถึงร้อยละ 42 เมื่อปี ค.ศ. 2000 ขณะที่อัตราส่วนของการมีงานทำของคนไทย ยังสูงถึงร้อยละ 98.7 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล และปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินและทรัพยากรของประเทศ ที่อยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย
       
       ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยที่ได้อำนาจจากการเข้าควบคุมอำนาจ โดยกองทัพ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว มีแผนจัดการชุมนุมเพื่อให้กำลังใจ แก่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลใกล้กับสำนักงานใหญ่สหประชาชาติตลอดระยะเวลา 3 วัน คือ ตั้งแต่วันเสาร์ (26) จนถึงวันจันทร์ (28) นี้
       
       ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารซึ่งนำโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เสื้อแดงยูเอสเอ” มีแผนจัดการประท้วงต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ในอีกพื้นที่หนึ่งที่อยู่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ยูเอ็นเช่นกัน
       
       ด้านแหล่งข่าวทางการทูตในนิวยอร์ก เผยว่า นายกรัฐมนตรีของไทยจะใช้โอกาสในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติคราวนี้ ในการรณรงค์ขอเสียงสนับสนุนจากชาติสมาชิกให้โหวตหนุนไทยเข้าเป็น “สมาชิกแบบไม่ถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ระหว่างปี 2017 - 2018 ซึ่งรายงานข่าวล่าสุดระบุว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา “G 77” ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1964 และมีสมาชิกในปัจจุบัน 134 ประเทศ มีแนวโน้มอาจออกเสียงสนับสนุนไทยในเรื่องนี้ ระหว่างการลงมติที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2016 ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ 71 ของสหประชาชาติในปีหน้า

ASTVผู้จัดการออนไลน์    
   27 กันยายน 2558

29
“เทพราช-ลลิตยา” 2 ทายาทของอดีตมหาราชาอินเดียที่เกิดกับราชนิกุลสูงศักดิ์ของไทย “ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต” ที่ฟ้องลุงเรียกสมบัติคืนจากมหารานี ผู้เป็น “ย่า” ชนะคดีมรดกบันลือโลกเรียกคืนทรัพย์สินหมื่นล้าน โดยศาลอินเดียพิพากษาให้เป็นผู้ได้สิทธิ์อันชอบธรรม ได้สมบัติกองมหาศาลมาครอง เป็นอันจบสิ้นคดีฟ้องร้องที่ยืดเยื้อยาวนาน

คดีฟ้องร้องเรื่องทรัพย์สินมรดก เป็นที่ฮือฮาระดับโลก โดยราชนิกุลสูงศักดิ์ของไทย ชนะคดีสิทธิในมรดกหมื่นล้านของอดีตมหาราชาอินเดีย ที่เป็นอดีตพระสวามี หลังมีการฟ้องร้องกันมาอย่างยาวนานชนิดเป็นมหากาพย์กับพระมารดาของอดีตพระสวามี จนในที่สุดก็ยุติลงแล้วตามกฎหมาย

เรื่องราวฮือฮาในหมู่สังคมชั้นสูงครั้งนี้ สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษและเว็บไซต์แคทช์นิวส์ของอินเดีย พร้อมใจกันรายงานเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ถึงผลการตัดสินคดีฟ้องร้องอ้างสิทธิในมรดกของมหาราชจกัต ซิงห์ แห่งราชวงศ์ชัยปุระ ในรัฐราชสถานของอินเดีย ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อปี 2540 โดยศาลฎีกาของอินเดีย ตัดสินให้นายเทพราช ซิงห์ และ น.ส.ลลิตยา กุมารี สองพี่น้องผู้เป็นทายาทของมหาราชจกัต ซิงห์ กับอดีตพระชายาราชนิกุลไทย ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ธิดาคนเล็กของ ม.จ.ปิยะรังสิต รังสิต กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต สายพระโลหิตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้รับชัยชนะในการยื่นคัดค้านพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี พระชายาองค์ที่ 3 ในมหาราชาสวัย มัน ซิงห์ ที่ 2 แห่งราชวงศ์ชัยปุระ พระราชมารดาในมหาราชจกัต ซิงห์ ผู้ทรงเป็นท่านย่าของนายเทพราชและ น.ส.ลลิตยา เมื่อวันที่ 23 ก.ย.

ทั้งนี้ ผู้พิพากษาศาลฎีกาของอินเดีย ได้ตัดสินยืนคำพิพากษาของศาลกรุงนิวเดลี ซึ่งระบุว่านายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา มีสิทธิ์ในสมบัติของมหาราชจกัต ซิงห์ รวมถึงส่วนแบ่งในพระราชวังชัย มาฮาล และพระราชวังรามบักห์ ในเมืองชัยปุระถูกดัดแปลงเป็นกิจการโรงแรมหรูในปัจจุบัน ตลอดจนกิจการอื่น คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 200-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7,000-14,000 ล้านบาท ขณะที่นายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา ยื่นฟ้องศาลคัดค้านพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี ที่สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2552 ขณะมีพระชนมายุ 90 พรรษา

เนื้อหาในพินัยกรรมของมหารานี คยาตรี เทวี ได้มอบสิทธิ ในการจัดการสมบัติของมหาราชจกัต ซิงห์ ให้แก่คณะกรรมการบริหารบริษัทราม-บักห์ พาเลซ โฮเต็ล พีวีที จำกัด รวมถึงบริษัทอื่นๆ รับหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สมบัติที่สืบทอดมาจากมหาราชาสวัย มัน ซิงห์ ที่ 2 ขณะที่นายเทพราช และ น.ส.ลลิตยา ซึ่งยื่นฟ้องร่วมกัน ระบุว่ามหารานี คยาตรี เทวี ทรงทำพินัยกรรมในขณะที่ทรงมีพระชนมายุมาก ทั้งยังมีสุขภาพอ่อนแอ จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพูด จึงอาจถูกแทรกแซง โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายอื่นๆ

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายเทพราช ซิงห์ ระบุว่าช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งตนและน้องสาว เพียงแต่ต้องการทวงถามถึงส่วนแบ่งในกิจการของตระกูลซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมของมหาราชจกัต ซิงห์ ผู้เป็นบิดา แต่ไม่เคยเรียกร้องอะไรนอกเหนือไปจากนั้น ในที่สุดได้มีโอกาสก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆที่มีต่อผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษได้

สำหรับมหารานี คยาตรี เทวี เคยได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน “สตรีที่สวยที่สุดในโลก” จากการจัดอันดับของนิตยสารโว้ค สื่อด้านแฟชั่นและความงามในโลกตะวันตก ยุคหลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2490 แม้ว่าการปกครองในระบอบกษัตริย์และมหาราชาผู้ครองแคว้นต่างๆในอินเดียจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่การใช้ชีวิตอย่างหรูหรามีระดับของมหารานี คยาตรี เทวี ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้พระองค์ได้รับการกล่าวขวัญถึงกันอย่างมาก ในแวดวงสังคมระดับโลก ทั้งยังมีการพบปะกับบุคคลสำคัญระดับโลกอีกหลายราย ทั้งราชนิกุลในราชวงศ์อังกฤษ และสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น

นอกจากนี้ มหารานี คยาตรี เทวี ยังได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนสิทธิสตรีด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสตรีในแคว้นชัยปุระ ปัจจุบันกลายเป็นเมืองชัยปุระ เมืองเอกของรัฐราชสถาน ทางภาคตะวันตกของอินเดีย ทั้งยังเป็นสตรีที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองอินเดีย เพราะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินเดียในปี 2502 และได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งอีก 2 สมัยซ้อนด้วย

วันเดียวกัน นายปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล คนสนิทของ ม.ร.ว. ปรียนันทนา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงเรื่องนี้ว่า ม.ร.ว.ปรียนันทนา อดทนสู้คดีนี้มานานถึง 9 ปี เพื่อสิทธิอันชอบธรรมของลูก 2 คน คือเทพราชและลลิตยา โดยเดินทางไปๆมาๆ ระหว่างไทยกับอินเดียตลอดเวลา 9 ปี ที่เป็นคดี

ค่ำวันเดียวกัน ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ซึ่งอยู่ที่ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์มายัง นสพ.ไทยรัฐว่า รู้ว่าศาลจะตัดสินคดีนี้ในวันที่ 24 ก.ย. และรู้สึกโล่งใจมากที่ศาลฎีกาอินเดียยืนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และสั่งยกฟ้องคำอุทธรณ์ของอีกฝ่าย ทำให้เทพราชและลลิตยาเป็นฝ่ายชนะคดีแบบขาดลอย ต่อจากนี้ไปก็จะเป็นเรื่องของการบังคับคดี ซึ่งยังมีอีกหลายขั้นตอนและต้องเดินทางไปๆมาๆอินเดียอีกหลายครั้ง เพื่อตามเรื่องการโอนหุ้นให้ลูกทั้ง 2 คน และจัดการเรื่องบัญชีต่างๆนานา ทั้งนี้ เรื่องหุ้นที่มีจำนวน 99 เปอร์เซ็นต์แต่ถูกยักยอกไปจนเหลือเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องสะสางกัน

ม.ร.ว.ปรียนันทนากล่าวด้วยว่า ขณะนี้ลูกทั้งสองคนอยู่ที่กรุงเทพ ทราบข่าวเรื่องนี้แล้ว และข่าวนี้เป็นข่าวดังในอินเดีย สื่อต่างๆได้เผยแพร่กันทั่วประเทศ ได้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิแทนลูกจนลูกได้รับความยุติธรรม ต้องขอบคุณศาลฎีกาอินเดียที่ให้ความยุติธรรมกับเรา สำหรับลูกชายคือเทพราช ตอนนี้อายุ 32 ปี ปกติอยู่ที่อินเดียดูแลบ้าน ดูแลธุรกิจกับเรื่องคดีเป็นประจำ และกำลังจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ส่วนลูกสาวคือลลิตยา อายุ 34 ปี อยู่ที่เมืองไทยเพราะแต่งงานมีครอบครัวแล้ว

เมื่อถามถึงระยะเวลาในการบังคับคดีนี้ ม.ร.ว.ปรียนันทนายังกล่าวด้วยว่า ยังไม่ทราบว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ เพราะมีบางส่วนที่โอนได้ทันที คือทรัพย์สินของอดีตสามี ส่วนหุ้นที่ถูกยักยอกไปต้องกลับไปสะสางที่ศาลพาณิชย์ให้ศาลสั่งให้โอนคืนกลับมาให้หมด คิดเป็นจำนวนเงินหลายพันล้านบาท โดยผู้ที่ยักยอกไปคือลุงของเด็กๆ สำหรับคดีนี้ได้ใช้ทีมทนายที่มีฝีมือของอินเดียเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องต่อสู้คดี และต้องเปลี่ยนทนายบ่อยมากแต่โชคดีที่ได้ที่ปรึกษาคดีที่ยอดเยี่ยมมาก ทำให้ลูกได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา

มีรายงานด้วยว่า คดีฟ้องร้องเรื่องทรัพย์สินมรดกกว่าหมื่นล้านบาทของทายาทอดีตมหาราชาแห่งอินเดียครั้งนี้ ฝ่ายคู่กรณีที่เป็นลุงของเทพราชและลลิตยา เป็นผู้มีอิทธิพลในรัฐราชาสถาน ทำให้ฝ่าย ม.ร.ว.ปรียนันทนาไม่สามารถจ้างทนายความในพื้นที่ได้ ต้องไปจ้างทีมทนายที่เก่งมากๆ รวม 3 ชุดด้วยกัน คือที่ศาลฎีกา ที่กรุงนิวเดลี และที่ชัยปุระ เพื่อมาต่อสู้คดี ที่มีทั้งการไซฟ่อนเงิน การโกงหุ้นและพินัยกรรมปลอม ทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ มาได้ ต้องขอขอบคุณทีมงานทนายความทุกคน ที่ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่จนทำให้งานนี้สำเร็จลงได้



ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 26 ก.ย. 2558

30

ภาพ : กันยายน 2005
ภาพโดย : โรเบิร์ต โพลิดอรี
คำบรรยายภาพ : สองสัปดาห์หลังแนวทำนบพังทลาย นิวออร์ลีนส์ไม่ต่างจากเมืองร้าง ภาพถ่ายของผมเผยร่องรอยของชีวิตที่ขาดสะบั้นและถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะรอดตาย แต่พวกเขากลับกลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” ในบ้านของตนเองและจากครรลองชีวิตที่คุ้นเคย พวกเขาต้องก้าวต่อไป ไม่ว่าจะไปอาศัยอยู่ที่อื่นหรือบางทีอาจหวนกลับมา แต่ชีวิตที่เคยรู้จักและแวดล้อมไปด้วยข้าวของที่มีคุณค่าต่อความทรงจำกลับสูญสิ้นไปแล้วตลอดกาล

เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 10 ปีที่พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาพัดถล่มชายฝั่ง อ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ช่างภาพร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของการทำลายล้าง ความหวัง และชีวิตที่หวนคืนมาอีกครั้ง

วันที่ 29 สิงหาคม ปี 2005 เฮอร์ริเคนแคทรีนาพัดกระหน่ำชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ แนวทำนบในเมืองนิวออร์ลีนส์รัฐลุยเซียนา ที่ไม่อาจต้านทานพายุ ตลอดจนการเตรียมพร้อมที่ไม่ดีพอ และการตอบสนองอันเชื่องช้าของทางการ จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อไปอีกหลายปีหลังจากนั้น ชื่อของนิวออร์ลีนส์กลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกในฐานะเวทีแห่งโศกนาฏกรรมและชัยชนะของมนุษย์

                เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 10 ปีโศกนาฏกรรมแคทรีนา เราคัดเลือกภาพถ่ายที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจอันเข้มแข็งหยัดยืน ตั้งแต่ฉากแห่งการทำลายล้างที่ถ่ายไว้ไม่นานหลังพายุพัดผ่าน ไปจนถึงภาพถ่ายในปัจจุบันที่ถ่ายทอดความมีชีวิตชีวาของขบวนพาเหรดในงานมาร์ดิกราส์ ช่างภาพผู้ถ่ายภาพเหล่านี้ย้ำเตือนเราว่า นิวออร์ลีนส์ยังคงไว้ซึ่งมนตร์เสน่ห์ของสถานที่แสนพิเศษเฉกเช่นที่เคยเป็นมาท่ามกลางภูมิทัศน์อันล่อแหลมสุ่มเสี่ยง

เรื่องโดย เจสซี เวนเดอร์
สิงหาคม 2558

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 51