แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 587 588 [589] 590 591 ... 650
8821
นายชัยวัน ​เจริญ​โชคทวี คณบดีคณะ​แพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุง​เทพมหานคร กล่าวว่า คณะ​แพทยศาสตร์วชิรพยาบาล รับสมัครสอบคัด​เลือกบุคคล ​เพื่อ​เข้าศึกษาหลักสูตร​แพทยศาสตรบัณฑิต ระบบรับตรง​โควตาพิ​เศษ ประจำปี​การศึกษา 2555 จำนวน 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่ม 1 นัก​เรียนของ​โรง​เรียนสังกัดกรุง​เทพมหานคร จำนวน 2 คน

กลุ่ม 2 นัก​เรียนที่มีภูมิลำ​เนา​ใน​เขตกรุง​เทพ มหานคร จำนวน 2 คน ​และ

กลุ่ม 3 นัก​เรียนที่​เป็นบุตรของข้าราช​การ/ลูกจ้างประจำสังกัดกรุง​เทพมหานคร ​หรือพนักงาน มหาวิทยาลัยกรุง​เทพมหานคร จำนวน 6 คน

ผู้สน​ใจ​ให้ขอ​และยื่น​ใบสมัครด้วยตน​เองที่ฝ่าย​แพทยศาสตร์ศึกษา​และกิจ​การนักศึกษา ชั้น 6 อาคาร​เพชรรัตน์ คณะ​แพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุง​เทพมหานคร ​หรือ download ​ใบสมัคร​ได้จาก webside : www.vajira.ac.th ​หรือ www.vajira.ac.th/mededu ตั้ง​แต่บัดนี้​ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ​ในวัน​และ​เวลาราช​การ สอบถาม​โทร. 02-2443151-2

แนวหน้า 30 สิงหาคม 2554

8822
    เมื่อวานนี้โฆษกกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งให้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ในกรุงไทเป ทำรายงานชี้แจงอย่างละเอียดภายในวันพรุ่งนี้ กรณีที่มีการผ่าตัดนำอวัยวะของผู้บริจาคที่ติดเชื้อเอชไอวี สาเหตุของโรคเอดส์ ไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยถึง 4 คน
    ล่าสุดเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ได้กล่าวขอโทษสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและบอกว่าขณะนี้ผู้ป่วยที่ได้รับอวัยวะของผู้ติดเชื้อเอชไอวี กำลังได้รับยาต้านเอดส์แล้ว นอกจากนี้เวบไซต์ของโรงพยาบาลได้โพสข้อความชี้แจงเมื่อสุดสัปดาห์ว่า ความผิดพลาดเกิดจากเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ปลูกถ่ายอวัยวะ ได้ยินผิดพลาดว่า ผลการตรวจสอบหาเชื้อเอชไอวีในอวัยวะของผู้บริจาคมีผลเป็นลบ แต่จริงๆแล้วมีผลเป็นบวก ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสองสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์โดยไม่มีการตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งอื่นซ้ำอีกรอบตามที่ขั้นตอนกำหนด
    ผู้บริจาคอวัยวะชายวัย 37 ปีในเมืองซินฉู่ ล้มป่วยถึงขั้นโคม่าเมื่อวันที่ 24 ส.ค. และหัวใจ ตับ ปอด และไตสองข้าง ของเขาได้รับการปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย 4 คนในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันและผู้ป่วยอีก 1 รายในโรงพยาบาลอีกแห่ง โดยที่ครอบครัวของผู้บริจาค ไม่รู้ว่าเขาติดเชื้อเอชไอวี
    ขณะนี้แพทย์และพยาบาลที่ร่วมทำการปลูกถ่ายอวัยวะเริ่มแสดงความกังวลว่าพวกเขาอาจมีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีด้วยก็เป็นได้
    เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะส่งทีมไปตรวจสอบเรื่องนี้และจะตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการลงโทษต่อโรงพยาบาลอย่างไร ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจต้องรับโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีและทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน อาจต้องถูกสั่งห้ามทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะนาน 1 ปี

เนชั่นทันข่าว 29 สค. 2554

8823
 “ต่อพงษ์” ชู “อุดรโมเดล” เป็นต้นแบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ดึงเครือข่ายสังคมออนไลน์มาช่วยแจ้งเตือนข่าวสาร เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กับส่วนกลาง และจัดบริการอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์น้ำท่วม ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คน เอกเซรย์ทุกข์สุขชาวบ้าน 300 หลังคาเรือน
       
       วันนี้ (29 ส.ค.) ที่ จ.อุดรธานี นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์นิทัศน์ รายยวา ผู้ตรวจราชการ เขต 10 นายแพทย์สัญชัย ปิยะพงษ์กุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

       นายต่อพงษ์กล่าวว่า ต้องการให้จังหวัดอุดรธานีเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข บริการผู้ประสบภัย หรือเรียกว่า อุดรโมเดล เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว โดยการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือระบบไอที เข้ามาช่วยในการประสานและบูรณาการระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และส่วนกลาง ในการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารน้ำท่วมถึงประชาชนในพื้นที่
       
       นายต่อพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการเตรียมรับมือน้ำท่วมได้แบ่งความรุนแรงของปริมาณน้ำฝนและระยะเวลาของระดับน้ำท่วม เช่น หากน้ำท่วมในพื้นที่มีระยะเวลาน้ำท่วม 3 วัน จะต้องมีการส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และยารักษาโรคลงพื้นที่ หากมีระยะเวลาน้ำท่วมเกิน 5 วัน จะต้องส่งหน่วยสุขภาพจิตดูแลด้านจิตใจของประชาชนผู้ประสบภัย นอกจากนี้ จะมีหน่วยค้นหาปัญหาสุขภาพ หรือเฮลท์ ยูนิต แสกน (Health Unit Scan) โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คน ออกให้ความรู้เรื่องระบบการดูแลสุขภาพประชาชน คนละ 300 ครอบครัว ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความรู้ในการปฏิบัติตัวในช่วงน้ำท่วมได้อย่างถูกต้อง จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่จะมาใช้บริการโรงพยาบาลได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 สิงหาคม 2554

8824
 ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากสารพิษ สระบุรี บุก สธ.อีกระลอก จี้ “วิทยา” ให้แก้ปัญหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
       
       วันนี้ (29 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วยโรคสารพิษและได้รับสารพิษจากบ่อขยะอันตราย (คสส.) ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี กว่า 70 ราย นำโดย น.ส.ศรีวรินทร์ บุญทับ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ต.หนองปลาไหล ได้เข้ามายื่นหนังสือขอบคุณนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ได้รับปากว่าจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านที่มีปัญหาสุขภาพจากสารพิษนานาชนิด

       โดย น.ส.ศรีวรินทร์กล่าวว่า ประเด็นหลักๆที่ชาวบ้านคาดหวังมากที่สุด ในการแก้ปัญหาสุขภาพ คือ
1.เรื่องการจัดตั้งโรงพยาบาลโรคสารพิษ หรือ สถาบันโรคสารพิษขึ้นในพื้นที่เสี่ยงและเกิดสารพิษระบาด อาทิ ในพื้นที่บ่อขยะ จ.สระบุรี พื้นที่มาบตาพุด และร่อนพิบูลย์ เป็นต้น
2.จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะอาจจะเป็นกรมสุขภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีงบประมาณในการจัดจ้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญโรคจากสิ่งแวดล้อมคอยให้บริการประชาชน และ
3.เร่งรัดให้หน่วยงานดังกล่าวลงพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายประชาชนอย่างเต็มที่ ซึ่งตนเชื่อว่า รมว.สธ.จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยดี
       
       หลังจากที่เครือข่ายได้นำเสนอปัญหาและความเดือดร้อน ไปเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่บ้านพักของนายวิทยา ซึ่งได้รับปากแล้วว่าจะเร่งหาทางแก้ให้โดยเร็ว
       
       “จากการเข้าพบที่ผ่านมา รัฐมนตรีแค่รับปากว่าจะหาทางแก้ปัญหาสุขภาพแก่ประชาชนที่ได้รับสารพิษโดยเร็ว แต่ในเรื่องของการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ที่เสนอนั้นยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในฐานะตัวแทนประชาชน ให้ความไว้วางใจในการทำหน้าที่อยู่แล้ว ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุข จะมีวิธีแก้ที่ดีกว่า ก็ยินดี ขอพียงแค่บรรเทาปัญหาก็พอ ” น.ส.ศรีวรินทร์กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 สิงหาคม 2554

8825
หลวงพ่อคูณ" ทรุด ทีมแพทย์ ศิษยานุศิษย์เครียดถกด่วน เล็งส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ศิริราช มีอาการสำลัก ฉันได้น้อยถึงไม่ยอมฉันเลย เล็งเจาะช่องท้องให้อาหาร-ยา ขณะที่ รพ.ศิริราช ตอบกลับ เตรียมส่งหมอชุดใหญ่มารักษาแทน...

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 ส.ค. ที่หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และลูกศิษย์ใกล้ชิด เปิดเผยถึงอาการอาพาธของพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ซึ่งพักรักษาอยู่ที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา เป็นเวลานานเกือบ 4 เดือน มีอาการทรุดลงในช่วงกลางดึกว่า ตนได้รับรายงานจากคณะแพทย์แล้ว ไม่ได้ทรุดหรือเป็นอะไรมาก เนื่องจากน้ำหนักหลวงพ่อไม่เพิ่มขึ้น และฉันได้น้อย ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว ซึ่งอาการโดยรวมยังทรงๆ ทรุดๆ และที่น่าห่วงคือเมื่อคืนหลวงพ่อคูณเกิดอาการสำลักอาหาร ทำให้ฉันภัตตาหารไม่ได้ และน้ำหนักตัวลดลงประมาณ 2-3 กิโลกรัม ทางคณะแพทย์ รพ.มหาราชนครราชสีมา จึงอยากให้นิมนต์หลวงพ่อคูณไปเจาะหน้าท้อง เพื่อให้อาหารทางกระเพาะอาหารที่ รพ.ศิริราช กรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับ รพ.ศิริราช เพื่อส่งตัวไปรักษา ซึ่งทาง รพ.ศิริราชยังไม่ตอบรับกลับมา

ต่อมาเมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน ที่ห้อง 9821 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 8 รพ.มหาราชนครราชสีมา คณะแพทย์โดยการนำของ นพ.พินิศจัย นาคพันธ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด รพ.มหาราชฯ แพทย์ประจำตัวหลวงพ่อคูณ ได้เข้าตรวจอาการ โดยหลวงพ่อคูณยังคงนอนพักผ่อนอยู่บนเตียง มีสายยางให้อาหารทางโพรงจมูก เนื่องจากหลวงพ่อคูณฉันได้น้อย และบางครั้งก็ไม่ยอมฉัน ประกอบกับมีอาการสำลักบ่อยครั้ง พร้อมกับให้ยาขยายหลอดลม โดยการตรวจใช้เวลาประมาณ 30 นาที ก่อนอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวบันทึกภาพ และถ่ายภาพอยู่หน้าห้องกระจก โดยหลวงพ่อคูณนั่งก้มหน้าตลอดเวลา แต่รับรู้ และตอบสนองได้ดี ขยับมือ เท้าได้ ลุกยืนได้ แต่ก็ต้องมีลูกศิษย์คอยพยุงช่วย เนื่องจากหลบแสงแฟลช

นพ.พินิศจัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. หลวงพ่อคูณมีอาการสำลัก และติดเชื้อในปอดขึ้นอีกครั้ง จากนั้นได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ รักษาภาวะปอดบวมจากการสำลัก ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อวันที่ 28 ส.ค. สามารถที่จะหยุดยาฆ่าเชื้อที่ ให้ทางหลอดเลือดดำ สาเหตุสำลักเกิดจากปัจจัย 1. อายุมาก และ 2. เคยมีปัญหาเส้นเลือดสมองตีบ และเส้นเลือดสมองแตกที่รุนแรงมากต้องผ่าตัดเมื่อ 7 ปีก่อน จึงทำให้กลไกการกลืนผิดปกติ ทำให้มีอาการลำลักได้ง่ายขึ้น ส่วนอาการติดเชื้อที่ปอด ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว

เมื่อถามถึงการที่หลวงพ่อไม่ยอมฉัน หรือฉันได้น้อย และมีอาการสำลักบ่อยครั้ง จำเป็นจะต้องเจาะหน้าท้อง เพื่อให้อาหารหรือไม่ นพ.พินิศจัย ตอบว่า มาถึง ณ วันนี้ที่เราได้คำตอบคือว่า ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าให้ท่านฉันอาหารเอง ไม่พอแน่ เพราะพอให้ท่านฉันเอง น้ำหนักก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ ท่านอยากฉัน แต่ก็ฉันได้น้อย และเรื่องของภาวะสำลัก เพราะพอท่านฉันเอง ก็จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการกลืน ซึ่งตั้งแต่ท่านอยู่ที่ รพ.มหาราชฯ ยังมีปัญหาปอดบวมจากการสำลัก 3 รอบแล้ว

ฉะนั้นคณะแพทย์ และลูกศิษย์รวมถึงผู้ใหญ่ที่ดูแล และทาง รพ.ศิริราช ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า หลวงพ่อคงจะต้องให้อาหารทางหน้าท้องดีที่สุด เมื่อถามว่าหากจะย้ายไป รพ.ศิริราช จริงจะเดินทางได้หรือไม่ นพ.พินิศจัย กล่าวว่า เดินทางได้ แต่ตนคิดว่าทางศิริราชประเมินไว้หมดแล้ว ไม่อย่างนั้นจะเอาอาจารย์ขึ้นมา ทำให้เราหรือตนเชื่อว่าทางศิริราช ก็คงเอาหลวงพ่อเป็นหลัก จึงให้คำตอบเรามาแบบนั้น ส่วนอาการหรือสภาพ ณ วันนี้ ถือว่าท่านดีขึ้น วัณโรคดีขึ้นชัดเจน น้ำในช่องปอด วัณโรคในปอดด้านซ้ายก็หายไปเกือบหมด น้ำหนักขึ้นมา 5 กก.ครึ่ง จาก 35 กก. ตอนนี้ 40.5 กก. ส่วนการเจาะหน้าท้อง คงต้องรอคำตอบจากทางศิษยานุศิษย์ และผู้ว่าฯ ว่าประสานกันว่าจะเอาอย่างไร ส่วนโอกาสจะคืนสภาพร่างกาย กลับมาฉันอาหารเหมือนเดิม หรือเดินไปไหนมาไหนสะดวกนั้น ถ้าพูดในแง่ฉันอาหารได้เหมือนเดิม ตนคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งท่านฉันได้น้อยลงเรื่อยๆ ตามอายุของท่าน เรื่องเดินไปมา คิดว่าคงมีโอกาสที่ท่านจะมาเดินได้ ทุกวันนี้ก็เดินได้แต่เดินได้ระยะสั้นๆ.

ไทยรัฐออนไลน์ 30 สิงหาคม พ.ศ.2554

8826
จ.ส.อ.ทหาร ผช.แพทย์ รพ.ค่ายวชิราวุธ ทภ.4 ใช้ปืนจ่อหน้าอกซ้ายยิงตัวเองดับสยองหน้าลานกีฬาในหมู่บ้าน พี่สาวเผยคาดน้องเครียดจากงาน เนื่องจากช่วงนี้ที่ รพ.งานเยอะ...

เมื่อเวลา 06.45 น. วันที่ 30 ส.ค. พ.ต.ท.ไพรัช ทองฉิม พนักงานสอบสวน หน.สภ.ย่อยปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้รับแจ้งว่ามีเหตุยิงตัวตายที่ลานเล่นกีฬาหมู่บ้านสุวรรณภูมิ ถนนอ้อมค่าย ม.5 ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช จึงพร้อมด้วย พ.ต.อ.ธรรมนูญ ไฝจู ผกก., พ.ต.ท.วินัย คงประพันธ์ สว.สส. และเจ้าหน้าที่กองวิทยาการเขต 43 นครศรีธรรมราช แพทย์เวร รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช และ จนท.มูลนิธิประชาร่วมใจรุดไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุพบศพผู้เสียชีวิตชื่อ จ.ส.อ.คมสัน คงทน อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 320/17 ม.5 ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นอนหงายเสียชีวิตจมกองเลือดอยู่ในสภาพนุ่งกางเกงขาก๊วยขายาวสีขี้ม้า ไม่สวมเสื้อ สภาพศพมีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด .38 เข้าที่อกด้านซ้าย 2 นัด และพบอาวุธปืนขนาด .38 ตกอยู่ที่หว่างขา 1 กระบอก เจ้าหน้าที่จึงเก็บไว้เป็นหลักฐานตรวจสอบต่อไป

จากการสอบสวนทราบว่า จ.ส.อ.คมสัน ทำงานเป็นผู้ช่วยแพทย์ประจำอยู่ห้องผ่าตัดโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 อ.เมือง จ. นครศรีธรรมราช ก่อนเกิดเหตุได้ออกจากบ้านซึ่งอยู่หลังหมู่บ้านดังกล่าวเพื่อไปออกกำลังกาย ที่ลานกีฬาของหมู่บ้าน ระหว่างนั้นมีคนได้ยินเสียงปืนดังติดต่อกัน 2 นัดซ้อน เมื่อออกไปดูพบร่างของ จ.ส.อ.คมสัน นอนเสียชีวิตจมกองเลือดอยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว จากการตรวจสอบการยิงตัวตายถึง 2 นัด ทำให้เจ้าหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน และเป็นข้อสงสัยบางคนระบุว่ายิงนัดแรกอาจจะยังมีสติจึงยิงนัดที่สอง ขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าการยิงตัวเองเข้าจุดสำคัญนั้นแค่นัดเดียวก็หมดสติ ไม่สามารถยิงนัดที่สองได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ตรวจสอบวิถีกระสุนอย่างละเอียดต่อไป เบื้องต้นพบรอยเขม่าดินปืนที่มือขวา

ด้านเจ้าหน้าที่กองวิทยาการ เขต 43 นครศรีธรรมราช ระบุว่า การชันสูตรศพพบเขม่าดินปืนที่มือขวาของผู้ตาย และระยะการยิง ยิงมาจากด้านหน้า เชื่อว่าน่าจะเป็นการยิงตัวตาย ขณะที่ตำรวจได้สอบปากคำพี่สาวของผู้ตายระบุว่า จ.ส.อ.คมสัน เป็นน้องชาย ไม่มีครอบครัว ทราบว่าผู้ตายได้ขโมยอาวุธปืนไปจากบ้านกระทั่งมีคนได้ยินเสียงปืนจึงตามไปดู พบศพน้องชายยิงตัวตายแล้ว ส่วนสาเหตุน่าจะมาจากเรื่องงานในที่ทำงานใน รพ.ค่ายวชิราวุธ โดยช่วงนี้ที่ รพ.ค่ายวชิราวุธ มีงานเยอะมาก อาจจะทำให้ผู้ตายเครียดจึงได้ก่อเหตุในที่สุด อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆ ในที่ทำงานระบุว่าอุปนิสัยใจคอของ จ.ส.อ.คมสันนั้นปกติเป็นคนร่าเริง และจริงจังกับงานมาก ไม่คาดคิดว่าจะมาฆ่าตัวตาย สาเหตุน่าจะมาจากสาเหตุเรื่องส่วนตัวก็ได้ และหลังจากชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้วจึงมอบให้กับญาตินำไปจัดการตามประเพณีต่อไป.

ไทยรัฐออนไลน์ 30 สิงหาคม พ.ศ.2554

8827
 ท่านจะเชื่อไหมครับ หากผมบอกว่าวันนี้บทบาทของสิทธิบัตรในอุตสาหกรรมยากำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากอุตสาหกรรมยาจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับเงื่อนไขใหม่ๆ ของการแข่งขันในตลาดเวชภัณฑ์โลก

ที่ผมว่ามานี้ เป็นการพยากรณ์การศึกษาล่าสุดของ UNCTAD และ ICTSD ที่นครเจนีวา ซึ่งระบุว่าอุตสาหกรรมยาเป็นธุรกิจที่ให้ความสำคัญแก่การคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่คิดค้นและผลิตยาจากการทำวิจัย (research-based pharmaceutical industry) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด โดยใช้เงินลงทุนสูงถึง 8.1 หมื่นล้านยูโรในปี 2551 หรือร้อยละ 16.5 ของยอดขายสุทธิในปีเดียวกัน (อันดับสอง ได้แก่ ธุรกิจซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ 3.1 หมื่นล้านยูโร หรือร้อยละ 9.4 ของยอดขายสุทธิ) และที่ผ่านมาบริษัทยาเหล่านี้ก็อาศัยสิทธิบัตรเป็นเครื่องมือหลักในการปกป้องการลงทุนของตน เพราะสิทธิบัตรให้สิทธิผูกขาดในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากนวัตกรรมที่เป็นผลจากการวิจัยและพัฒนา

 แต่ขณะนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมยากับสิทธิบัตรเริ่มจะเปลี่ยนไป อันมีเหตุผลสำคัญมาจากปรากฏการณ์ที่เรียกกันในวงการว่า "การสึกกร่อนของสิทธิบัตร" กล่าวคือสิทธิบัตรยายอดนิยมจำนวนมากกำลังจะหมดอายุลงในเร็วๆ นี้ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการค้นพบยาใหม่กลับยากลำบากขึ้นแม้ว่าบริษัทยาใหญ่ๆ จะยังคงทุ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนามหาศาลอยู่เช่นเดิมก็ตาม ดังนั้นวิธีทำธุรกิจที่มุ่งลงทุนเพื่อค้นหายาใหม่ๆ ที่เป็น "blockbuster drug" มาผลิตขายแบบผูกขาดโดยอาศัยการคุ้มครองของสิทธิบัตร (ซึ่งจะทำกำไรมหาศาลเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตสามารถตั้งราคายาได้สูง) ดูจะไม่ใช่สูตรสำเร็จของความร่ำรวยอีกต่อไปเสียแล้ว   

 ไม่เพียงแต่ค้นคิดยาใหม่ออกสู่ตลาดได้น้อยลง บริษัทยายักษ์ใหญ่ของตะวันตกยังประสบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลกจากผู้ผลิตยาชื่อสามัญจากประเทศกำลังพัฒนา ทำให้วันนี้บางบริษัทเริ่มเข้าสู่ตลาดยาชื่อสามัญเสียเอง ทั้งที่เมื่อไม่นานมานี้เองบริษัทยาตะวันตกต่างก็ต่อต้านยาชื่อสามัญและพยายามกีดกันทุกวิถีทาง เช่น ผลักดันมาตรการ border enforcement อาทิ กรณีศุลกากรเนเธอร์แลนด์กักยาชื่อสามัญ Losartan จากอินเดียขณะแวะท่าที่รอตเตอร์ดัมระหว่างเดินทางไปบราซิล ซึ่งมองกันว่ามีผลประโยชน์ของบริษัทยารายใหญ่อยู่เบื้องหลัง

 นอกจากนี้ การหันมาผลิตยาชื่อสามัญยังจะเป็นช่องทางให้บริษัทยาตะวันตกได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยในปี 2552 ตลาดเวชภัณฑ์ในบราซิล จีน อินเดีย เม็กซิโก รัสเซีย เกาหลีใต้และตุรกี รวมกันมีการขยายตัวสูงถึง 51% ขณะที่ตลาดยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือและญี่ปุ่นมีการเติบโตเพียง 16%

 ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่บริษัทยาตะวันตกรายใหญ่จะได้ส่วนแบ่งตลาดในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในส่วนของยาที่ผลิตภายใต้สิทธิบัตรด้วย เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนายังมีกำลังซื้อต่ำ หากตั้งราคายาสูงจะมีเฉพาะประชากรส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงยาได้ แต่หากปรับราคายาให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของประเทศกำลังพัฒนา ก็อาจช่วยเพิ่มยอดขายและเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงยาให้กับประชากรส่วนใหญ่ เช่น กรณีอินเดียซึ่งมีคนป่วยโรคมะเร็ง 2 ล้านคนและจะมีเพิ่ม 700,000 คนต่อปี คาดว่าต้องการยารักษาเป็นมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ขณะนี้ยอดขายยารักษามะเร็งในอินเดียอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งตัวเลขที่แตกต่างกันมากนี้ทำให้มองได้ว่าราคายาขณะนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยา จึงมีแนวโน้มว่าบริษัทยารายใหญ่เริ่มที่จะยอมรับแนวคิดเรื่อง Tiered pricing มากขึ้น โดยในอีกไม่ช้า ยาจะมีราคาหนึ่งสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และอีกราคาหนึ่งสำหรับขายในประเทศกำลังพัฒนา โดยขึ้นกับกำลังซื้อ

 ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่าสิทธิบัตรลดความสำคัญลงนะครับ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่าแม้แต่อุตสาหกรรมยาก็อาจลดการพึ่งพาสิทธิบัตรลง ซึ่งก็น่าจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ในเรื่องนี้พลอยลดลงไปด้วย อันเป็นแนวโน้มที่ดี และที่แน่ๆ ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราน่าจะได้ประโยชน์ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,661  14 - 17  สิงหาคม พ.ศ. 2554

8828
..ก็ไม่ยากครับ เราต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดชีวิต เพราะ ชีวิตก็คือการเรียนรู้ ยังไงล่ะครับ

สิ่งแรกที่เราจะมีส่วนร่วมได้ดีสิ่งหนึ่งก็คือ เราน่าจะรู้ “หลักคิด” พื้นฐานที่หมอจะใช้ในการวินิจฉัยโรค

เราๆท่านๆคงเคยไปเจอหมอมาบ้างแล้วทุกคนแหละ โรคหนักบ้างเบาบ้างก็แล้วแต่กรณีไป แต่เราเคยคิดหรือไม่ว่า เอ..แล้วหมอเขามีหลักยังไง ใช้อะไรเป็นแนวทางในการพินิจพิเคราะห์ว่าคนป่วยของหมอ จะเป็นโรคอะไรได้บ้าง

หรือว่าหมอเขาเห็นคนป่วยเดินเข้ามาก็เขียนใบสั่งยาเลย ไม่ได้พูดคุยอะไรก็รู้เรื่องแล้ว ...แสดงว่าหมอเขาคงระดับเซียนแหงๆเลย ใช่หรือเปล่า?

ไม่ใช่หรอกครับ เพราะการที่หมอเราจะรู้ว่าคนป่วยของเขาเป็นโรคอะไร มีอะไรผิดปกติอยู่ภายในนั้น ไม่มีทางที่จะพูดคุยไม่กี่คำ แล้วจะวินิจฉัยได้อย่างไม่มีพลาด เพราะโดยพื้นฐานแล้ว การที่เราจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั้น สิ่งแรกที่เราต้องทำก่อนคือ การพูดคุยซักถามคนป่วยก่อน

ยกตัวอย่างเช่น มีชายฉกรรจ์เป็นหนุ่มใหญ่อายุราวๆสี่สิบเศษๆอยู่คนหนึ่ง แกมาหาหมอที่คลินิกตามสิทธิประกันสุขภาพใกล้บ้านอยู่เป็นประจำ ทุกครั้งที่มาก็เพื่อมาขอเอายาโรคกระเพราะ หรือโรคกรดไหลย้อน ...ทำไมทุกครั้งถึงมาขอรับยาได้หรือครับ ก็ง่ายมาก เขาก็บอกหมอที่คลินิกซิครับว่า “พอดีเป็นโรคกระเพาะ จะมาขอรับยา”

เจอแบบนี้ หมอที่มีคนป่วยรออยู่อีกเป็นร้อย ไม่มีใครหรอกครับจะมานั่งซักประวัติ ตรวจร่างกายกันให้ยุ่งยาก เอ้า...คุณอยากได้ยาโรคกระเพาะใช่ไหม “โอเคครับ สบายมาก เดี๋ยวจัดให้..”

ว่าแล้วคุณหนุ่มใหญ่คนนี้ก็มารอรับยา แน่นอนว่าเขามาที่คลินิกนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มารับยาโรคกระเพราะ หรือโรคกรดไหลย้อนอะไรนั่น แต่เขามาขอยาร่วมๆสองหรือสามปีได้แล้ว ทุกครั้งที่มารับยา หมอจะไม่ได้มาซักถามอะไรมาก เพราะถูกคนป่วย “ช่วย” วินิจฉัยให้เสียก่อนแล้ว

สำหรับอาการที่เขาเป็นนั้นหรือ ก็ไม่มีอะไรมาก นอกเสียจากอาการแสบๆร้อนๆตรงลิ้นปี่ แล้วก็มีบางครั้งที่มันร้อนๆแผ่มาถึงบริเวณคอ จะว่ามันมีอาการที่เกี่ยวอะไรกับเวลาที่กินข้าวด้วยหรือเปล่า ก็มีบ้างที่เวลากินอิ่มๆจะแน่นลิ้นปี่ หรือแสบร้อนๆ จุกๆ ขึ้นมาบ้าง …คือสรุปว่า เขาคิดว่า มันไม่น่าจะเป็นอะไร ร้ายแรง อย่างมากก็แค่โรคกระเพาะนั่นแหละ เพราะไปเจอหมอตั้งหลายครั้งแล้ว หมอก็ไม่เห็นจะว่าเป็นอะไรอย่างอื่น ..ซึ่งก็แน่นอนล่ะครับ ก็หมอท่านไม่ได้ซักไซ้ไล่เรียงอะไรมากมายนี่นา

แต่ในห้วงเวลาร่วมๆสองปี ก็มีหมออยู่ท่านหนึ่งที่คลินิก (หมอรักษาหน่วยปฐมภูมิจะเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ เพราะหมอส่วนใหญ่มักจะนิยมเข้าไปเรียนต่อเฉพาะทางกัน) เกิดบังเอิญถามคุณหนุ่มฉกรรจ์ท่านนี้ว่า สูบบุหรี่หรือเปล่า ซึ่งคำตอบก็คือสูบจัดมากพอควร วันละซองสองซอง... หมอท่านก็เลยแนะนำว่า ให้เลิกบุหรี่ซะ เพราะมันทำให้อาการโรคกระเพาะเป็นมากขึ้นได้

จากนั้น เขาก็ยังมารับยากันเรื่อยๆเกือบทุกเดือน แต่เมื่อราวๆเดือนกรกฎา ที่ผ่านมานี่เอง คุณผู้อ่านเชื่อไหมครับว่า มันคือเดือนสุดท้ายที่เขายังมีลมหายใจมารับยาโรคกระเพาะ

เมื่อเดือนก่อนนี้เอง ที่ชายหนุ่มใหญ่ พ่อของลูกสาวสองคนที่กำลังเรียนมัธยมต้นรายนี้ ก็มารับยาไปตามปกติ พอเอายาเสร็จ ภรรยาของเขาที่มาด้วยกัน ก็บอกว่าจะไปซื้อข้าวมันไก่ที่ปากซอยฝั่งตรงข้าม ตัวคุณสามีก็บอกว่างั้นเดี๋ยวไปรอที่รถก่อนก็แล้วกัน

ระหว่างที่คุณภรรยาไปรอซื้อข้าวมันไก่ฝั่งตรงข้าม พอดีร้านข้าวมันไก่ร้านนี้ขายดีมาก คุณภรรยาก็รอนานตั้งร่วมๆเกือบยี่สิบนาที กว่าจะข้ามถนนกลับมาที่รถได้ก็เล่นเอาเมื่อยเหมือนกัน พอคุณภรรยาเปิดประตูรถปุ๊บ ยังไม่ทันจะบ่นว่ารอซื้อข้าวนานฉิบ คุณภรรยาก็ต้องชะงักไปครู่หนึ่ง ก่อนที่จะกรีดร้องด้วยความตกใจสุดขีด

“หา... ตายแล้วคุณพี่ค่ะ เป็นอะไรไป ทำไมถึงนอนฟุบแบบนี้” คุณภรรยาเรียกสามีของเธอด้วยความตื่นตระหนก เพราะสามีของเธอ ทุกทีเห็นว่าแข็งแรงดีเสมอ แต่คราวนี้นอนสลบเหมือดอยู่บนเบาะข้างคนขับ ปลายนิ้ว ปลายเล็บเขียวอื๋อชัดเจน ริมฝีปากก็ซีดเขียว และแน่นอนว่า เรียกยังไงก็ไม่รู้สึกตัว ตัวเย็นเหมือนกับคนตายยังไงยังงั้น

“ช..ช่วย ...ช่วยด้วยค่ะ ใครก็ได้ช่วยหน่อยค่ะ” เธอร้องตะโกนให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาใกล้เคียง มาช่วยกันหน่อย เพราะไม่รู้ว่าสามีของเธอ เกิดอะไรขึ้น เป็นอะไร เป็นอย่างนี้ไปได้ยังไง

ก็พอดี หมอที่อยู่ใกล้ที่สุดก็อยู่ที่คลินิกที่เขาเพิ่งจะไปเอายาโรคกระเพาะมานี่แหละ คุณภรรยาก็รีบวิ่งเข้าไปที่คลินิก เพื่อไปเรียกหมอที่กำลังหน้าดำคร่ำเคร่งกับการเขียนใบสั่งยาเป็นพัลวัน

“คุณหมอค่ะ... สามีหนูตอนนี้หมดสติอยู่ในรถค่ะ” คุณภรรยาบอกหมอคนเดิมที่เขียนใบสั่งยาโรคกระเพาะมาให้เมื่อครู่ อาการตื่นตระหนกที่เห็นได้ชัดของคุณภรรยา ทำให้หมอต้องพิศวงไปไม่น้อย

...ซึ่งก็แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นหมอคนไหน ก็ต้องทำหน้างงๆในตอนแรก และคงตั้งคำถามในใจว่า ...หมดสติอะไร จริงหรือเปล่า แต่ยังไงหมอก็รีบวิ่งออกจากห้องตรวจ ที่มีคนป่วยกำลังนอนตรวจอยู่บนเตียง

...จากนั้น ปฏิบัติการปั๊มหัวใจ เพื่อยื้อมัจจุราชก็เริ่มขึ้นบนรถเก๋งคันนั้น ก็คิดดูแล้วกันว่าหมอเขาอุตส่าห์พยายามแค่ไหน ที่เริ่มปั๊มหัวใจในรถ อย่างทุลักทุเล ต้องเรียกคนที่คลินิกมาช่วยอีก เพราะคนป่วยหยุดหายใจ วิธีการที่จำเป็นยิ่งยวดในตอนนั้น ก็คือต้องใส่ท่อหายใจก่อน เพื่อจะได้ทำการบีบปอด เอาอากาศไปฟอกในปอด พร้อมๆกับการปั๊มหัวใจเพื่อให้มีกระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกาย รวมทั้งตัวกล้ามเนื้อหัวใจเองด้วย

...แต่ทว่า ที่คลินิกแห่งนี้ ไม่มีอุปกรณ์การใส่ท่อหายใจที่เตรียมพร้อมสำหรับใช้งานได้ตลอด อ้าว...แล้วหมอจะทำไงดีล่ะ ...ก็ไม่ยากครับ คนป่วยก็ขาดออกซิเจน หรือรับออกซิเจนไม่ได้เต็มที่ไปก่อนนะสิครับ!

ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนั้น ก็คือรีบกระเตงผู้ป่วย ส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด
...ครับ หนุ่มใหญ่วัยฉกรรจ์คนนี้ เช้าวันนั้น ชีวิตของเขาเริ่มต้นที่คลินิก มาเอายาโรคกรดไหลย้อนกับโรคกระเพาะ แต่ตอนเที่ยงๆ เขาต้องมาอยู่ในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ที่โรงพยาบาลศูนย์หัวใจแห่งหนึ่ง

ภายใต้สภาพที่ยังไม่รู้สติดี หรือเทียบเท่ากับโคม่านั่นแหละครับ หัวใจของคนที่หมอจัดแต่ยาโรคกระเพาะให้มาตลอดนี้ กำลังขาดเลือดรุนแรง ตอนนี้ หัวใจกลับมาเต้นได้แล้ว หลังฉีดยากระตุ้นหัวใจนานาชนิดที่มีก่อนจะได้มาฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ ...ตอนนี้ หัวใจยังเต้นได้ก็จริง แต่สมองเขากลับขาดเลือดมานาน การขาดเลือดไปเลี้ยงนาน ก็คือการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ประสาทที่แสนจะเปราะบางนั่นเอง

ครับ... หัวใจคนเราทนการขาดเลือดได้นานประมาณยี่สิบนาที โดยที่ไม่เกิดความเสียหายถาวร แต่เซลล์สมองมันทนทานต่อการขาดเลือดได้เพียงแค่ไม่เกินสามหรือสี่นาทีเท่านั้น โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ ความคิดอ่านตรรกะ และการทำงานขั้นสูงของสมองที่เกิดเป็นสติปัญญาของเรา จะเสียหายได้เร็วที่สุด

ตอนนี้ ผู้ป่วยมาอยู่ในห้องปฏิบัติการสวนหัวใจแล้ว เส้นเลือดก็ตีบรุนแรงอยู่หลายเส้น ตันสนิทไปไม่น้อยกว่าสองในสามเส้นหลักของเส้นเลือดหัวใจปกติ ถ้าเป็นรายอื่น กรณีแบบนี้ก็ต้องผ่าตัดด่วน แต่ผู้ป่วยคนนี้ เขามีภาวะโคม่า สมองไม่สั่งการใดๆ การผ่าตัดหัวใจเพื่อบายพาสหลอดเลือดหัวใจ แม้จะสำเร็จ แต่ก็อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรผู้ป่วยมากนัก เพราะสมองตายอยู่ดี

สุดท้าย ญาติผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งเพิ่งจะมาถึงที่หน้าห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ พอดีเขาเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่แผนกรังสีวินิจฉัยที่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง คุยกันไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก เขาก็เข้าใจดีว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลย ก็เท่ากับตอนนี้กล้ามเนื้อหัวใจกำลังเสียไปเรื่อยๆ จากการขาดเลือดไปเลี้ยงขั้นรุนแรง ถ้าเราไม่ไปทำอะไรกับเส้นเลือดหัวใจที่ตันสนิทในตอนนี้ ก็เท่ากับนอนรอความตายแน่ๆ แต่ถ้าหากผ่าตัดบายพาส หลังผ่าตัดก็ไม่แน่ว่าสมองอาจจะค่อยๆกลับมาฟื้นสภาพบ้าง ไม่มากก็น้อย แม้จะมีโอกาสค่อนข้างริบหรี่ก็ตาม แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้เสียชีวิตไปเฉยๆ

...ก็พอดีว่า คุยกับญาติแล้ว เขาก็เข้าใจถึงอันตรายและโอกาสที่จะได้ประโยชน์บ้าง ในเมื่อไม่มีอะไรจะเสีย ก็...เอ้า ผ่าตัดหัวใจก็ผ่า แล้วค่อยมาว่ากันอีกที

สุดท้ายเคสผู้ป่วยรายนี้จบลงอย่างไร อาจจะพอเดากันได้อยู่ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ผู้ป่วยคนนี้ เขาเริ่มต้นจากการรักษา โดยกินแต่ยาโรคกระเพาะกับโรคกรดไหลย้อนมาร่วมๆสองปี โดยอาการไม่ได้ทุเลาลง แต่ก็ยังไปขอรับยากับหมอทุกครั้ง ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัย เมื่อมองย้อนกลับมาก็คือ การที่ไปสรุปเอาเองแล้วว่าตนเองเป็นอะไร อีกทั้งไม่เคยมีการซักประวัติอาการให้ละเอียดมาก่อนแต่อย่างใด ทำให้เขาเริ่มด้วยโรคกระเพาะ และจบลงด้วยหัวใจหยุดเต้น

เทคโนโลยีทางการแพทย์อันทันสมัย จะมาทดแทนการซักถามข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบไม่ได้หรอกครับ

ฐานเศรษฐกิจ 14 สิงหาคม 2010

8829
ก่อนหน้านี้ชื่อของ “อิทธิ ทองแตง” อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อ “วิชัย ทองแตง” คนไทยส่วนใหญ่คงจะจดจำเขาได้ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความที่ทำให้ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” รอดพ้นจากคดีซุกหุ้น และปัจจุบัน กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ร.พ.ศิครินทร์, ร.พ.เปาโล, ร.พ.พญาไท, ร.พ.กรุงเทพ เป็นต้น
       
       “อิทธิ” เป็นบุตรคนที่สองในจำนวน 4 คน ของ “วิชัย” ที่เข้ามาช่วยบริหารกิจการของบิดาหลังจากสำเร็จการศึกษาทางด้านเทรดดิ้ง เช่นเดียวกับ “อัฐ” ซึ่งเป็นพี่ชายคนโต
       
       นอกจากจะช่วย “วิชัย” ดูแลพอร์ตการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว “อิทธิ” ยังช่วยโอเปอเรชั่นที่โรงพยาบาลเปาโล เป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่จะย้ายมาเป็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มพัฒนาธุรกิจ เครือโรงพยาบาลพญาไท เป็นลำดับต่อมา
       
       ปัจจุบัน “อิทธิ” ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล ส่วน “อัฐ” ผู้พี่ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล
       
       จะว่าไปแล้ว “อิทธิ” และ “อัฐ” ในวันนี้ก็เปรียบเสมือนกับ Marketing Arms ของเครือข่ายธุรกิจผู้เป็นพ่อก็ไม่ผิดนัก เพราะการสร้างอาณาจักรธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในลักษณะที่เป็นทั้งการรุกไล่และเกื้อหนุน เชื่อมโยงต่อกัน เสมือนใยแมงมุมที่มีตัวแม่อยู่ตรงกลางนั้น
       
       งานส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องมีความต่อเนื่อง และมีกลไกขับเคลื่อนให้กับหลายธุรกิจที่ซื้อกิจการเข้ามาบริหาร ภายใต้กรอบโครงข่ายใหญ่เดินหน้าต่อไปอย่างราบรื่น ไม่สะดุดล้ม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศของ “ธุรกิจเฮลท์แคร์ระดับเอเชีย” ตามที่วิชัยได้กำหนดเข็มทิศไว้ตั้งแต่รุกเข้ามาสู่ธุรกิจโรงพยาบาลเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา
       
       ในขณะที่ “อัฐ” ผู้พี่ จัดวางระบบ และกำหนดโครงสร้าง “อิทธิ” ก็เข้ามาเสริม และสร้างสีสันทางการตลาดที่น่าสนใจ หากจำกันได้บุตรคนที่สองของวิชัย ได้สร้างความฮือฮาให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเป็นอย่างมาก
       
       เมื่อเขาเปิดมิติใหม่ของธุรกิจนี้ ด้วยการนำกลยุทธ์ Music Marketing มาใช้เป็นสื่อกลาง เพื่อนำโรงพยาบาลพญาไทขยายฐานไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยร่วมกับ บริษัท ลักษ์มิวสิค สนับสนุนศิลปินน้องใหม่ เอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ ซึ่งกำลังจะเป็นคุณหมอคนใหม่ในอนาคตอันใกล้
       
       “เป้าหมายสูงสุดที่ผมอยากเห็นก็คือ ทำให้คนมองอุตสาหกรรมโรงพยาบาลต่างไป จากปัจจุบันคนจะมาโรงพยาบาลเฉพาะในยามป่วยไข้ แต่ผมอยากทำให้ทุกคนรู้สึกว่าโรงพยาบาลเป็นเหมือนเพื่อนที่สามารถพูดคุยได้ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากเปลี่ยนอุตสาหกรรมนี้ไปเลย”
       
       ทุกวันนี้ “อัฐ” รับผิดชอบ 2 แบรนด์หลัก นั่นคือ เครือ ร.พ.พญาไท และเครือ ร.พ.เปาโล เมโมเรียล โดยวางเป้าหมายสร้างให้ทั้ง ร.พ.พญาไท และเปาโล เป็น Top of Mind สามารถครองใจกลุ่มลูกค้าใหม่ได้อย่างยั่งยืน
       
       “กลุ่มลูกค้า พญาไท 1-3 มีความแตกต่างกัน ทั้งในระดับอายุลูกค้า และรายได้ ซึ่งมีตั้งแต่ A-B เช่น พญาไท 1 ลูกค้าค่อนข้างสูงวัยหน่อย ตามอายุ ร.พ. กลุ่มเป้าหมายหลักจะอยู่แถบประตูน้ำและลูกค้าต่างจังหวัด
       
       ส่วนพญาไท 2 จะสมาร์ทขึ้นมาหน่อย เพราะอยู่ในแหล่งคนทำงานออฟฟิศ จึงมีฐานลูกค้ากว้างขึ้น สำหรับพญาไท 3 ย่านฝั่งธนบุรี ได้จุดแข็งจากแต่แรกที่รุกตลาด คือ ศูนย์แม่และเด็ก และมีศูนย์แพทย์เฉพาะทางเพิ่มเรื่อยๆ” เขาให้ข้อมูลกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”
       
       ส่วนเครือ ร.พ.เปาโลฯ นั้น แม้จะมีลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับพญาไท แต่ “อิทธิ” ก็พบว่าการแบรนดิ้งกลับแตกต่างกัน ต่อเรื่องนี้เขาอธิบายว่า เนื่องจากกลุ่มลูกค้าคาบเกี่ยวกัน ประกอบกับลูกค้าที่ศรัทธามักไม่ค่อยเปลี่ยน
       
       อย่างเปาโลฯ พหลโยธิน แม้ว่าโครงสร้างราคาใกล้เคียงกัน ประวัติส่วนตัวของลูกค้าใกล้เคียงกับพญาไท 1-2 แต่ลูกค้าหลักของโรงพยาบาลมักจะเป็นลูกค้าเก่ามากกว่า น้อยมากที่จะเปลี่ยนไปใช้บริการที่อื่น ส่วนลูกค้าใหม่ที่ยังไม่ศรัทธา มักจะเลือกที่ความสะดวกมากกว่า
       
       รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล เผยต่อว่า สำหรับเปาโลฯ อีก 4 สาขา ได้แก่ พหลโยธิน, นวมินทร์ (ศรีสยามเดิม)-ระดับพรีเมียม, โชคชัย 4 และสมุทรปราการ (วชิรปราการเดิม) ที่หันมารับประกันสังคมไม่ใช่เป็นการลดเกรดโรงพยาบาลแต่อย่างใด
       
       “นี่เป็นอีกจุดที่จะหารายได้และลูกค้าเพิ่มเติมต่างหาก เพราะคนทำงานมักมีประกันสังคม หรือมีการทำประกันกลุ่ม อย่างคนที่มีรายได้เกิน 1.5-2 หมื่นก็มักซื้อประกันสุขภาพด้วย สามารถลดหย่อนภาษีได้”
       
       ก่อนหน้านี้ “อิทธิ” ก็พยายามสร้างสโลแกนใหม่ขึ้นมา คือ “ดูแลชีวิตคุณ ด้วยชีวิตเรา” เพราะต้องการให้ภาพของเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล เกิดขึ้นในใจของผู้บริโภคว่า “ดูแลชีวิตคุณ (อย่างเต็มที่) ด้วยชีวิต (ของ) เรา” นั่นเอง” โดยสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายวัยทำงานที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยใช้สื่อทั้งป้ายกลางแจ้ง สื่อเคลื่อนที่ ทั้งรถประจำทาง ยูโรบัส ประชาสัมพันธ์ทางรายการวิทยุ
       
       ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีหน้า ร.พ.พญาไท ใช้เงินเกือบ 1,000 ล้านบาท ปรับปรุงทั้งภายในและภายนอกให้ทันสมัยมากขึ้น เนื่องจากภาพลักษณ์ในขณะนี้ค่อนข้างเก่า โดยปรับปรุงอาคารใหม่ทั้ง 3 แห่ง ใช้งบกว่า 1,000 ล้านบาท และนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์อีก 1,200 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินจะมาจากเงินหมุนเวียน สถาบันการเงิน และการหาพันธมิตรร่วมทุนธุรกิจ
       
       “เราปรับปรุงเพื่อต้องการชูจุดขายความเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง อาทิ พญาไท 1 ชำนาญเรื่องสมอง, พญาไท 2 ชำนาญด้านโรคหัวใจ และพญาไท 3 ชำนาญด้านแม่และเด็ก คาดว่าภายใน 3 ปีจะโตขึ้น 15%”
       
       ทายาท วิชัย ทองแตง กล่าวต่อว่า แม้ว่าต้นทุนต่างๆ จะขยับสูงขึ้นทั้งราคายา เงินเดือนบุคลากร แต่โรงพยาบาลจะปรับค่าบริการ ตามเงินเฟ้อมากกว่า และพยายามที่จะหาวิธีให้ลูกค้าประหยัดขึ้น อาทิ โครงการ “สบายไลฟ์” จัดขึ้นสำหรับข้าราชการ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องของการเบิกจ่ายตรงกับกรมบัญชีกลาง ซึ่งทำให้ข้าราชการมีสิทธิ์เบิกจ่ายกับ ร.พ.เอกชนได้โดยตรง
       
       นอกจากนี้เครือ ร.พ.พญาไท และเปาโลฯ จะเริ่มรุกกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น เพราะต้องการยกระดับความรู้สาธารณสุข จึงได้ลงทุนกับทางกรุ๊ปเอ็ม บริษัทเอเยนซี ที่ทำรายการ The Symtom “เกมหมอยอดนักสืบ” ทุกวันอาทิตย์ ทางช่อง 9 เวลา 21.30 น. เพื่อสร้างการติดต่อสื่อสารระหว่างแพทย์กับผู้บริโภคให้เข้าใจกันมากขึ้น
       
       “ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราอาจเงียบไปในแง่การตลาด เพราะมีการปรับปรุงดังที่กล่าวมา แต่ต่อจากนี้เราจะออกแคมเปญแต่ละโรคในเชิงเจาะลึก ตามคอร์ปอเรต แคมเปญ “วางใจ...ให้แพทย์เฉพาะทางดูแล” พร้อมการสร้างแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์องค์กร ทำตัวอาคารใหม่ เพื่อให้คุ้มค่ากับการมาใช้บริการ ให้ลูกค้าได้เห็นใน 2-3 ปีจากนี้ไป”

       “เฮลท์แคร์เอเชีย”
       เข็มทิศที่รุ่นลูกต้องสานต่อ

       
       หากนำภาพความเคลื่อนไหวจากการเข้าซื้อและบริหารโรงพยาบาลหลายแห่งที่เกิดขึ้นของ “วิชัย ทองแตง” มาเรียงลำดับต่อกัน จะทำให้เห็นภาพการสร้างอาณาจักรธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ในลักษณะที่เป็นไปทั้งการรุกไล่และเกื้อหนุนต่อกัน โดยมีพญาไท เปาโล และรามคำแหง ต่างเติบโตและดูแลระบบกันเอง ทุกจุดจะสามารถเชื่อมโยงกันได้หมด เสมือนใยแมงมุมที่มีตัวแม่อยู่ตรงกลาง
       
       จุดประสงค์ทั้งหมดของอดีตทนายความชื่อดังก็เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของ ‘เมดิคัล สปา’ หรือศูนย์สุขภาพ ที่นำการแพทย์ทั้งแผนไทยและปัจจุบันผสมผสานกับสปาเพื่อดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติ นั่นเอง
       
       เพราะสิ่งที่วิชัยต้องการเห็นคือ การสร้างให้อาณาจักรโรงพยาบาลของเขากลายเป็นศูนย์แห่งสุขภาพ มีเครือข่ายรองรับให้มากที่สุดในประเทศ และถูกกล่าวขานมากที่สุดในเอเชีย
       
       “นี่คือสิ่งที่ครอบครัวทองแตง คิดและวางแผนมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะมองอนาคตธุรกิจเฮลท์แคร์ของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ มองว่าอนาคตไทยต้องเป็นเมดิคัลฮับ เป็นเลิศในธุรกิจเฮลท์แคร์ในเอเชีย ระหว่างเดินทางของครอบครัวทองแตง ต้องมีโมเดลใหม่ สร้างเครือข่ายเฮลท์ เน็ตเวิร์คขึ้นมาให้ครอบคลุม”
       
       วิชัย ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังตัดสินใจนำบริษัทเฮลท์ เน็ตเวิร์ค เข้าควบรวมกิจการกับบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ และบริษัทในเครืออีกกว่า 26 แห่ง เมื่อปลายปี 53 ที่ผ่านมา
       
       และนั่นทำให้กลุ่มโรงพยาบาลวิชัย กลายเป็นเบอร์ 2 ในตลาดทันที!
       
       หลายคนสงสัยว่า “วิชัย” ที่เป็นเบอร์ 1 อยู่ดีๆ แล้วทำไมต้องดิ้นรนไปเป็นเบอร์ 2?
       
       “การเป็นเบอร์ 1 ในรูปแบบนี้อาจจะไม่แข็งแกร่งพอ ยิ่งมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ด้วยแล้ว การมีเน็ตเวิร์กที่เข้มแข็งน่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดีกว่า ที่สำคัญโอกาสที่จะถูกใครเข้ามาครอบงำก็ยากขึ้น เพราะถึงตอนนั้นเม็ดเงินของฝรั่ง จีน อินเดีย จะไหลเข้ามาในไทยจำนวนมาก การมีฐานที่แข็งแกร่งจะช่วยลดความเสี่ยงการถูกเทกโอเวอร์ได้ดีที่สุด”
       
       ด้วยเหตุนี้เอง “วิชัย” จึงขอปรับตัวเองจาก “เป็นหัวหมา” มาเป็น “หางราชสีห์” ดีกว่า เพราะถ้า “เป็นหัวหมา” แล้วต้องตกอยู่ในอันตราย ก็ยอม “เป็นหางราชสีห์” เพราะคือทางรอดที่ดีที่สุด
       
       ปัจจุบัน ร.พ.กรุงเทพเน้นจับกลุ่มลูกค้าตลาดบน ตลาดเอ ตลาดต่างประเทศ เอบวก แต่พญาไทดูแลตลาดบี บีบวก เป็นโรงพยาบาลที่มีกลุ่มบีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขณะที่เปาโลมีทั้งบีและซี สามารถดูแลได้ทั้งคนไข้ระดับบีและประกันสังคม เป็นเครือข่ายที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ทุกตลาด
       
       นอกจากนี้ การที่เปาโลและพญาไทมีสถานที่ตั้งติดถนนใหญ่ จึงทำให้เกิดความสะดวกทั้งในแง่การเคลื่อนย้ายทรัพยากรบุคคล เครื่องมือ ถัดมาก็เป็นเรื่องของ purchase power พญาไทรวมเปาโล มี 8 โรง เครือกรุงเทพมีอีก 19 เป็น 27 โรง จึงทำให้มีอำนาจต่อรองมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ แถมมีฐานทุนมหาศาล ขนาด 27 แห่ง 4,600 เตียง
       
       ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้นทุนทางการเงินในการบริหารจัดการ ทันทีที่มีการเซ็นข้อตกลงกัน แบงก์เจ้าหนี้เดิมวิ่งเข้ามาหา ขอลดดอกเบี้ยให้อีก 2-3% นี่คือประโยชน์ของการซินเนอยีกันที่ “วิชัย” มองขาด
       
       ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทองแตงรุ่นที่สอง ทั้ง “อัฐ” และ “อิทธิ” จะทุ่มเงินมากกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อเร่งปรับโฉมพญาไท และเปาโล รวมถึงธุรกิจในเครือขนานใหญ่ และมองที่จะหว่านเงินเพื่อแบรนดิ้งธุรกิจต่อไปอีกในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ต่อไป
       
       คงไม่ใช่เพียงแค่เพื่อรองรับลูกค้าต่างประเทศซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตลาดเสรีอาเซียนเท่านั้น แต่ “ครอบครัวทองแตง” มองไกลไปกว่านั้น เพราะขนาดมาร์เกตแค็ปมหึมาที่กระโดดไปถึงเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นที่ 1 ในเอเชีย (ไม่รวมเอเชีย-แปซิฟิก กลุ่มโรงพยาบาลในออสเตรเลีย Ramsay มีมาร์เกตแค็ปแสนกว่าล้าน) ก้าวขยับไปต่างประเทศได้อย่างง่ายดาย ด้วยคอนเซ็ปต์โรงพยาบาลเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ไปเป็นตัวแทนสาขาเหมือนเมื่อก่อน
       
       “ขณะนี้เริ่มมีพันธมิตรประมาณ 10 รายเข้ามาเจรจาร่วมทุนบ้างแล้ว คาดสรุปผลปีหน้า และเตรียมโรดโชว์สร้างแบรนด์โรงพยาบาลทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากต้องการรุกทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ยอดลูกค้าต่างชาติต่อเดือนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100% เพิ่มสัดส่วนจาก 5% เป็น 10%” อิทธิ ทองแตง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล ซึ่งเป็นบุตรชายคนที่สองของวิชัย เล่า
       
       ไม่แน่ ถ้าวิชัยและครอบครัวทองแตงวางแผนอย่างรัดกุม ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เฮลท์แคร์เอเชีย” เผลอๆ การเป็นที่ 1 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คงไม่ไกลเกินฝัน
       
       เพราะขนาดมาร์เกตแค็ปกลุ่มเครือข่ายโรงพยาบาลของวิชัย 8 หมื่นล้านกว่าบาท เมื่อเทียบกับมาร์เกตแค็ปของกลุ่มโรงพยาบาล Ramsay ในออสเตรเลีย แสนกว่าล้านบาท ห่างกันแค่ 2 หมื่นกว่าล้านเท่านั้น!


ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์    25 สิงหาคม 2554

8830
ผู้ป่วยชาวเวียดนามเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการเข้าคิวรอพบแพทย์เพื่อตรวจโรค แม้ว่าโรงพยาบาลจะเปลี่ยนเวลาตรวจรักษาให้เช้าขึ้น จากเวลา 8.00 น. เป็น 6.30 น. ก็ตาม แต่สถานการณ์ที่ต้องรอพบแพทย์เป็นเวลานานหลายชั่วโมงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง.
       
เวียดนามเน็ต - ทางการเวียดนามพบว่า ประชาชนชาวเวียดนามใช้จ่ายไปกับค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แม้ภาคส่วนการให้บริการทางสุขภาพของประเทศจะพยายามพัฒนาอย่างมากก็ตาม แต่เนื่องจากการให้บริการที่ต่ำกว่ามาตรฐาน รวมทั้งแพทย์และพยาบาลที่ทำงานอย่างหนัก ส่งผลให้คนไข้ชาวเวียดนามไม่มีความสุขกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับทั้งการตรวจรักษา หรือเอาใจใส่ที่ดีมากนัก
       
       นางเหวียน ถิ กิม เตียน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับรองนายกรัฐมนตรีในการประชุม ว่า ประชาชนชาวเวียดนามเสียค่าใช้จ่ายราว 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในการดูแลรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์ และว่าจำนวนผู้ป่วยชาวเวียดนามที่เดินทางไปไทย เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ เพื่อรักษาโรคมีสูงมาก ดังนั้นชาวเวียดนามใช้จ่ายเงินไปกับการรักษาพยาบาลในต่างแดนสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
       
       รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ป่วยชาวเวียดนามไม่ได้รับการรักษา หรือเอาใจใส่อย่างเต็มที่ในภาคส่วนให้บริการทางสุขภาพของเวียดนาม แม้ว่าภาคส่วนการให้บริการทางสุขภาพของประเทศได้พัฒนาตัวเองอย่างมากเพื่อให้ได้ระดับเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคหรือในโลก
       
       ดร.เล แถ่งห์ หาย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ ยืนยันว่า แม้ชาวเวียดนามชื่นชอบการให้บริการและผลิตภัณฑ์ของต่างชาติ แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักทั้งหมด ต้องดูสถานการณ์ในโรงพยาบาลของเวียดนามจึงจะพบคำตอบว่าเหตุใดพวกเขาถึงเลือกใช้บริการในต่างประเทศ
       
       สำนักข่าวเวียดนามเน็ตได้รายงานสถานการณ์การให้บริการทางสุขภาพในเวียดนามเพื่อยืนยันว่าเหตุใดผู้ป่วยชาวเวียดนามจึงหันไปใช้บริการในต่างประเทศดังภาพที่ปรากฏต่อไปนี้
       
     
ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 สิงหาคม 2554

8831

...ความเปลี่ยนเปลงและความเป็นไปของโลก ทำให้ประเทศไทยวันนี้ อยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 3 ประการ อันประกอบด้วย
1.การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ
2.การเปลี่ยนผ่านทางด้านการเมือง และ
3.การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประชากรและสังคมไทย
ถ้อยคำเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำแถลงนโยบายบริหารบ้านเมืองที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2554

ใน 3 ประเด็นแห่งการเปลี่ยนผ่านนั้น นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย บอกว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข จึงแปลงออกมาเป็นนโยบายบริหารประเทศ และจำเป็นจะต้องได้พลังจากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน โดยรัฐบาลชุดนี้ได้วางนโยบายบริหารประเทศไว้เป็น 2 ระยะ คือ นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในช่วง 1 ปีแรก และนโยบายการบริหารราชการในช่วง 4 ปีของรัฐบาล สำหรับในส่วนของ “นโยบายด้านสาธารณสุข” นั้น มาดูกันว่ารัฐบาลได้วางนโยบายและแถลงต่อรัฐสภาว่าอย่างไร

1เรื่องด่วน 7 เรื่องทำใน 4 ปี

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงว่า นโยบายเร่งด่วนด้านสาธารณสุขที่จะต้องเร่งดำเนินการในปีแรก คือ รัฐบาลจะ “พัฒนาระบบประกันสุขภาพ” โดย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมทั้งบูรณาการแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและคุ้มค่าต่อการให้บริการ มาใช้แพร่หลาย รวมทั้งจัดให้มีมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและภาวะทุพโภชนาการ ที่นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็ง รวมทั้งเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ และมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจร

ส่วนนโยบายด้านสาธารณสุขที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะ 4 ปี ของรัฐบาลชุดนี้ คือ

1.ลงทุนด้านบริการสุขภาพโดยการพัฒนาคุณภาพการให้บริการสุขภาพทั้งระบบ อย่างมีบูรณาการเชื่อมโยงทุกระดับ จัดให้มีระบบสารสนเทศทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอกับปริมาณงานที่เพิ่ม ขึ้นตามข้อเท็จจริงในปัจจุบัน เพิ่มขีดความสามารถของโรคพยาบาลระดับต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ความเป็นเลิศที่กระจายอยู่ในส่วนภูมิภาค และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้โรงพยาบาลในระดับต่างๆ มีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทัน สมัย รวมทั้งพัฒนาสถานบริการปฐมภูมิในเขตเมืองและชนบทที่สมบูรณ์แบบทั่วประเทศ   

2.ผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้เพียงพอ โดยกำหนดแผนงานแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับจำนวน ประชากรในพื้นที่ และสนับสนุนให้มีการเร่งผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้กลับไปปฎิ บัติงานในภูมิลำเนาเดินในชนบท พร้อมกับสร้างขวัญกำลังใจในเรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพ และการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม

3.จัดให้มีมาตรการสร้างสุขภาพโดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราป่วย ตาย และผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็ง อย่างมีบูรณาการและครบวงจร ตั้งแต่การมีนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ จัดให้มีการสื่อสารสาธารณะของรัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ให้ความรู้ป้องกันโรคเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพเชิงรุก ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

4.พัฒนาขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทุกคนใหเป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน ขยายความครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สนับสนุนอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน พัฒนาแกนนำสุขภาพครอบครัวและการสาธารณสุขมูลฐานที่ชุมชน ท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพ และจัดการปัญหาสุขภาพของตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

5.พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย เริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ วัยบรรลุนิติภาวะ วัยชรา และผู้พิการ สนับสนุนโครงการส่งเสริมเชาว์ปัญญาของเด็ก และให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ฝึกอบรม ผู้ปฎิบัติงานศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สนับสนุนโครงการพัฒนาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี เพื่อดูแลสุขภาพของสตรีและเด็กอย่างบูรณาการทั่วประเทศ รวมทั้งเผยแพร่ให้ความรู้และดูแลป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการตั้ง ครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อดุแลผู้สูงอายุและผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้ได้เข้าถึงการบริการอย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพ และเป็นธรรม รวมทั้งให้มีระบบการฟื้นฟูสุขภาพชุมชน จัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพผ่านสื่อแขนงต่างๆ อย่างเป็นระบบ

6.ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีโอกาสออกกำลังกาย และเล่นกีฬาเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและพลานามัยที่ดี สร้างนิสัยความมีน้ำใจ เป็นนักกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการหมกมุ่น มั่วสุมกับอบายมุขและยาเสพติด

7.ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพและ การรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย โดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างความก้าวหน้าใน ทางวิชาการ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย สนับสนุนเอกชนให้จัดบริการศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการใช้บุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เอื้อ อำนวยต่อการดำเนินงาน

10 ปัญหารอ รมว.สธ.สะสาง

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวันที่ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เดินทางเข้าปฎิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเป็นทางการวันแรก นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอรายงานว่า ปัจจุบันพบว่าอัตราการให้บริการรักษาของสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกด้าน ดังนี้ ผู้ป่วยนอก จำนวน 174.8 ล้านครั้ง ผู้ป่วยใน จำนวน 4.497ล้านคน ผ่าตัดใหญ่ จำนวน 1.9 ล้านครั้ง การส่งต่อผู้ป่วย จำนวน 8 แสนครั้ง มูลค่าการใช้ยาสมุนไพร จำนวน 382.4 ล้ านบาท

นอกจากนี้ นพ.ไพจิตร์ ยังสรุปแผนงาน ภาระงานและปัญหาต่างๆ ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไว้ 10 ประเด็น ได้แก่

1.การขาดเอกภาพในการบริหารระบบบริการสุขภาพ ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ซื้อบริการ รวมถึงภาวะการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ซึ่งพบว่าในปีงบประมาณ 2553 มีโรงพยาบาลทั่วประเทศขาดสภาพคล่องมากถึง 585 แห่งจากโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ที่มีอยู่ทั้งหมด 888 แห่ง

2.การสร้างสุขภาพที่ดี เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสุขภาพของประชาชน

3.การปรับระบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและโรคไม่ติดต่อ

4.การขาดแคลนกำลังบุคลากรด้านสาธารณสุข โดยปัจจุบันพบว่า สธ.มีแพทย์จำนวน 15,684 คน พยาบาลวิชาชีพ จำนวน  84, 085 คน อีกทั้งยังพบว่ามีปัญหาค่าตอบแทนอีกด้วย

5.การขาดงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถานพยาบาลโดยพบว่านับ ตั้งแต่มีนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ทำให้งบประมาณในส่วนนี้ลดลงไปมาก มาเป็นเวลากว่า10 ปีแล้ว

6.การเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติและโรคระบาด

7.ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยพบว่าจำนวนการฟ้องร้องแพทย์ เพิ่มมากขึ้นถึง14เท่า ในช่วงเวลา10กว่าปี ซึ่งจากตัวเลขสถิติ พบว่า ปี 2539 มีการฟ้องร้องเพียง 2 คดีแต่ในปี 2552 มีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้นเป็น 28 คดี

8.การเตรียมการเปิดเสรีการค้าอาเซียน

9.การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข และ

10.กฎหมายที่ยังพิจารณาค้างอยู่ในหน่วยราชการต่างๆเช่น ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์และสาธารณสุข พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ....เป็นต้น

เรื่องที่ภาคประชาสังคมอยากให้ทำ

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของเครือข่ายภาคประชาชนก็มองเห็นถึงปัญหาที่หมักหมมอยู่ภายใน สธ.และต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาทันทีเช่นกัน โดยมี 10 ประเด็น ที่เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการแก้ไขหรือ คลี่คลายเป็นอันดับต้นๆ คือ
1. เร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ และญาติ
2.แก้ปัญหาโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ขาดสภาพคล่องทางการเงิน
3.แก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ พยาบาล โดยหามาตรการไม่ให้แพทย์และพยาบาลกระจุกตัวอยู่แต่โรงพยาบาลในเขตเมือง นอกจากนี้ มีการเสนอให้แยกอัตรากำลังแพทย์ พยาบาล ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อความเป็นอิสระในการจัดสรรตำแหน่งได้
4.แก้ปัญหาค่าตอบแทนแพทย์
5.การขยายสิทธิรักษาพยาบาล โดยทำให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ มีสิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ ที่เท่าเทียมกันหรือไม่แตกต่างกันมากนัก
6.การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล(รพ.) ทั้งยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) กว่า 9,000 แห่ง การปรับปรุงอาคารสถานที่และป้ายโรงพยาบาล  มีบุคลากรครบ มีระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลแม่ข่าย
7.การส่งเสริมป้องกันโรค ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกันโรค เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับการการรักษาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ
8.งานคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นด้านสุขภาพ
9.การสานต่อกฎหมายด้านสุขภาพ เช่น การผลักดันร่างพ.ร.บ.ธุรกิจบริการสุขภาพ พ.ศ....ที่จะช่วยควบคุมธุรกิจสปาที่อาจมีการแอบแฝงขายบริการทางเพศ หรือการผลักดันให้ออกประกาศ กฎกระทรวงตาม พร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่เคยเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ จำนวน6 ฉบับ ทั้งการห้ามขายเหล้าปั่น การห้ามขายเหล้ารอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร การกำหนดสถานที่หรือบริเวณที่ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนท้ายรถกะบะ การติดภาพฉลากคำเตือนที่บรรจุภัณฑ์  ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาของรัฐโดยเด็ดขาด ส่วนสนามกีฬาเอกชน ให้ขายได้เฉพาะในสโมสรของสนามกีฬานั้นๆ และห้ามขายและดื่มในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
10.การคลี่คลายปัญหาภายใน สธ.ซึ่งแม้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กร โดยเฉพาะประเด็นความเห็นต่างในหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า หนังสือแสดงสิทธิการตาย

หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่จะต้องเดินหน้าเต็มสูบ เพื่อทำงานตามที่ได้ให้ “สัญญาประชาคม” กันไว้ อย่างน้อยภายใน 1 ปี นับจากนี้ ประชาชนชาวไทยคงจะได้เห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

ที่มา สถาบันอิศรา 25 สิงหาคม 2011
เขียนโดย น.รินี เรืองหนู

8832
สธ.ตั้ง บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ที่ช่วยกิจกรรมและส่งเสริมภารกิจการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมตั้งเป็นทูตการแพทย์ฉุกเฉินของไทย เป็นแบบอย่างผู้เสียสละช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ -เจ็บป่วยฉุกเฉิน ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ล่าสุดประเทศไทย มีทีมกู้ชีพ ออกปฎิบัติการผ่านสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง มี ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 10,984 ชุด มีเจ้าหน้าที่กู้ชีพมืออาชีพ 122,945 คน
       
       วันนี้(27 ส.ค.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน ประกอบด้วย ภาคเอกชน มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายปฎิบัติการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ-เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภทร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนยิ่งขึ้น
       
       นายวิทยา กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยในปัจจุบัน ลำพังการปฎิบัติการโดยภาครัฐอาจยังไม่ครอบคลุมเหตุฉุกเฉินที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ ซึ่งมีสถิติการเกิดถี่ขึ้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐอื่นๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ดำเนินการในเรื่องการกู้ชีพมาก่อน และงานด้านนี้ได้รับความสนใจ เนื่องจากเป็นช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ด้านมนุษยธรรม มีบุคคลหลายสาขาอาชีพ เช่น ดารานักแสดง ได้อาสาตัวเข้ามาช่วยงานโดยไม่หวังผลตอบแทน นับว่าเป็นต้นทุนของสังคมไทยที่ได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งในปีนี้ นับเป็นการประชุมเครือข่ายภาคเอกชนด้านการกู้ชีพเป็นครั้งแรก
       
       “ต้องขอขอบคุณ คุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ กับคุณแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ที่เข้ามาช่วยกิจกรรมและส่งเสริมภารกิจการแพทย์ฉุกเฉิน โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมแต่งตั้งเป็นทูตการแพทย์ฉุกเฉินของไทย เป็นแบบอย่างผู้เสียสละช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ -เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมั่นใจว่า ทูตทั้ง 2 คนนี้ จะสร้างกระแสสังคมให้หันมาเอื้ออาทร ช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุฉุกเฉินมากขึ้น โดยจะทำหนังสือประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้อีกครั้ง นายวิทยากล่าว
       
       นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า บทบาทหลักของกระทรวงสาธารณสุขที่จะสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิภาคเอกชนต่างๆ ที่ปฎิบัติงานด้านการกู้ชีพ กู้ภัย คือการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฎิบัติงานให้ถูกต้องตามหลักวิชาการการแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้อย่างปลอดภัยและมีชีวิตรอด ไม่เกิดความพิการตามมาภายหลัง หรือกล่าวได้ว่าสร้างเป็นมืออาชีพโดยเฉพาะ ขณะนี้ได้อบรมและขึ้นทะเบียนเป็นเครือข่ายกู้ชีพ ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งหมด 122,945 คน โดยปฎิบัติงานเป็นทีมรวม 10,984 ชุด รถพยาบาลที่มีเครื่องมือช่วยชีวิตได้มาตรฐาน 14,189 คัน เรือ 1,128 ลำ เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ 78 ลำ โดยมีศูนย์บัญชาการสั่งการทุกจังหวัด มีสายด่วนรับแจ้งขอความช่วยเหลือจากประชาชนทางโทรศัพท์หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ทุกระบบทั้งโทรศัพท์บ้านและมือถือ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 สิงหาคม 2554

8833
ม.มหิดล เตรียมเปิดตัว “หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บท” เพื่อเผยแพร่เกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย อันมีคุณค่า ทั้งยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในหมู่ชาวมหิดล คนรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไป เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 1 ก.ย.นี้
       
       รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล (ม.มหิดล) กล่าวว่า “หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล” มีการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนงานด้านจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ให้ดำเนินไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นศูนย์กลางการประสานข้อมูลระหว่างเครือข่ายและสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อเผยแพร่เกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย อันมีคุณค่า ทั้งยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในหมู่ชาวมหิดล คนรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไป โดยสถานที่หลักในการดำเนินกิจกรรม คือ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บท ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จฯ เปิดอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2554 นี้
       
       “วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง “หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” อันเนื่องมาจากประวัติอันยาวนานกว่า 120 ปี ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลเต็มเปี่ยมไปด้วยเกียรติประวัติและความทรงจำอันทรงคุณค่า ซึ่งปรากฏในรูปของเอกสาร ภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ และสิ่งของจากการปฏิบัติงาน ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดตั้ง “หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหิดล” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมด็จพระบรมราชชนก และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติพัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นแหล่งอ้างอิงและศึกษาค้นคว้าด้านแผนที่ แผนผังอาคาร และพัฒนาการด้านกายภาพของมหาวิทยาลัย”
       
       สำหรับแนวคิดหลักในการออกแบบ ประกอบด้วย 3 ห้อง คือ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก หอเกียรติยศและประวัติมหาวิทยาลัยมหิดล และห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บท มีแนวคิดหลักในการออกแบบร่วมกัน คือ “ฟ้า - รุ้ง - ดิน - ธาตุ” เพื่อสื่อความหมายของห้องต่างๆ และสร้างความต่อเนื่องของเรื่องราว
       
       หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 7 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ที่ 1ปัญญาของแผ่นดิน นำเสนอการเป็นต้นแบบปัญญาของแผ่นดินของสมเด็จพระบรมราชชนก โดยสะท้อนจากพระราชดำรัสของพระองค์ รวมทั้งพระราชกรณียกิจที่มุ่งสร้างประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ
       
       พื้นที่ 2 เจ้าฟ้าของแผ่นดิน แสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชชนกโดยสังเขป ตั้งแต่ประสูติจนถึงสิ้นพระชนม์ รวมทั้งแสดงบริบททางสังคมไทยและสังคมโลกในช่วงพ.ศ. 2435-2472ทั้งการรับความเจริญจากตะวันตก ยุคล่าอาณานิคม และแนวคิดมนุษยนิยม ซึ่งส่งผลต่อ “ตัวตน” ของพระองค์
       
       พื้นที่ 3 เจ้าฟ้านักเดินทางแสดงการเสด็จฯ ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศของสมเด็จพระบรมราชชนก ทำให้ทอดพระเนตรเห็นสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของผู้คน และทรงถ่ายทอดพระประสบการณ์ของพระองค์ผ่านงานศิลปะ รวมทั้งพระราโชวาทที่พระราชทานแก่นักเรียนไทย
       
       พื้นที่ 4 ประทีปแห่งปัญญาแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนกด้านการศึกษาที่ทรงมุ่งมั่นในการสร้างคน ทรงสนับสนุนด้านการเรียนการสอนและพระราชทานทุนการศึกษา
       
       พื้นที่ 5 รักษ์คนไข้ด้วยความรักแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนกด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งการรักษาคนไข้แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทรงมุ่งเน้นการรักษาด้านจิตใจควบคู่ไปกับร่างกาย อีกทั้งการที่มิได้ถือพระองค์ว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ทำให้ทรงเป็นที่รักของประชาชน
       
       พื้นที่ 6 กันภัยมหิดลแสดงผลจากพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ทรงสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคมไทยในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา และวิทยาการต่างๆ
       
       พื้นที่ 7 หยั่งรากในแผ่นดินแสดงการสืบสานงานที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงริเริ่มไว้
       
       ส่วน หอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 3พื้นที่
       พื้นที่ 1“มหิดลวันนี้” แสดงภาพปัจจุบันของมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศทั้งการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการ รวมทั้งคุณภาพชีวิตของนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรทุกส่วนงาน
       
       พื้นที่ 2 เมื่อแรกสถาปนาในชื่อ “มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” แสดงประวัติความเป็นมาและพัฒนาการในยุคแรกของมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ การขยายขอบเขตการเรียนการสอน ชีวิตนักศึกษาและการเรียนการสอนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งจุดตั้งต้นของมหาวิทยาลัย ที่สืบเนื่องมาจากการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราช
       
       พื้นที่ 3 “มหิดล” มุ่งสู่ความเป็นเลิศแสดงพัฒนาการของมหาวิทยาลัยที่ครอบคลุมทุกสาขาวิชา ตั้งแต่การขอพระราชทานนาม “มหิดล” เป็นชื่อมหาวิทยาลัย การจัดหาที่ดินและสร้างวิทยาเขตศาลายา และบทบาททางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และ6 ต.ค. 2519 รวมถึงการพัฒนาด้านวิชาการซึ่งมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” พร้อมทั้งแสดงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบัน และวิสัยทัศน์ในอนาคตของมหาวิทยาลัย
       
       ปิดท้ายที่ ห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บทแบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 5พื้นที่
       พื้นที่ 1 พัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งแสดงภาพรวมของการขยายตัวทางกายภาพที่ไม่หยุดนิ่งของมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตต่างๆ พื้นที่ 2 สองวิทยาเขตรุ่นบุกเบิกมหิดล แสดงประวัติพัฒนาการทางกายภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตบางกอกน้อย และวิทยาเขตพญาไท ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
       
       พื้นที่ 3 “วิทยาเขตศาลายา” ศูนย์รวมประชาคมมหิดล แสดงประวัติพัฒนาการทางกายภาพของวิทยาเขตศาลายา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของสถาบันและเป็นศูนย์รวมของชาวมหิดลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
       
       พื้นที่ 4 มุ่งขยายการศึกษาสู่ภูมิภาคแสดงประวัติพัฒนาการทางกายภาพของวิทยาเขตในส่วนภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาเขตกาญจนบุรี วิทยาเขตนครสวรรค์ และวิทยาเขตอำนาจเจริญ
       
       พื้นที่ 5 ความสัมพันธ์ของวิทยาเขตต่างๆ กับสภาพแวดล้อมและชุมชนโดยรอบแสดงความสัมพันธ์ทางกายภาพระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับชุมชนโดยรอบ ทั้งการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบด้านกายภาพที่มีต่อพื้นที่โดยรอบของวิทยาเขตต่างๆ
       
       สำหรับแนวคิด เรื่อง “ฟ้า” สื่อถึง “เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช” หอเกียรติยศและประวัติมหาวิทยาลัยมหิดลว่า ใช้แนวคิดเรื่อง “รุ้ง” ซึ่งมี 7 สีสื่อถึงวัฒนธรรมองค์กรในมหาวิทยาลัย “รุ้ง 7 สีประกอบด้วยที่ประกอบด้วย 7 ตัวอักษร ( M-A-H-I-D-O-L) และ “ดิน” สื่อถึงเกียรติประวัติของสถาบันที่สั่งสมมาและเป็นแหล่งกำเนิดพืชพันธุ์ซึ่งก็คือคนรุ่นใหม่ และห้องจดหมายเหตุแผนที่และผังแม่บทใช้แนวคิดเรื่อง “ธาตุ” สื่อถึงองค์ประกอบหลักที่จะทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ซึ่งก็คือหลักฐานของความเป็นมาในการเกิดขึ้นทางกายเตรียมพบกับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1ก.ย.นี้ ได้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 สิงหาคม 2554

8834
 เอเอฟพี/เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ - สื่อทางการจีนรายงาน (26 ส.ค.) ว่า เกิดเหตุผู้ป่วยเสียชีวิตคาห้องผ่าตัด เนื่องจากแพทย์และนางพยาบาลได้วิ่งออกจากห้อง เพื่อหนีเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลในเซี่ยงไฮ้
       
       สำนักข่าวซินหวา รายงานว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 ส.ค.) แพทย์โรงพยาบาลในเขตเป่าซาน นครเซี่ยงไฮ้ ได้ฉีดยาสลบให้ผู้ป่วยชาวเซี่ยงไฮ้ แซ่จู วัย 49 ปี ซึ่งประสบอุบัติเหตุรถยนต์ เพื่อทำการผ่าตัดขา แต่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ข้างๆ ห้องผ่าตัด บรรดาแพทย์และนางพยาบาลจึงวิ่งหนีออกไป ทิ้งให้คนไข้นอนไร้สติอยู่คนเดียว
       
       โฆษกโรงพยาบาลดังกล่าว เผยว่า “ก่อนเข้ารับการผ่าตัด คนไข้ชาวเซี่ยงไฮ้ดังกล่าวอยู่ในสภาพร่อแร่ เนื่องจากเสียเลือดไปเยอะ และก่อนเกิดไฟไหม้ 2 ชั่วโมง เขาได้รับการถ่ายเลือดและมีอาการคงที่ขึ้นแล้ว สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตยังอยู่ระหว่างการสืบสวน”
       
       พร้อมกล่าวว่า “คนไข้ถูกทิ้งให้อยู่ลำพังในบางช่วงเวลา แต่แพทย์และนางพยาบาลไม่ได้หนีเพื่อเอาตัวรอด เราเข้าใจว่า พนักงานของโรงพยาบาลได้พยายามไปดับไฟ และมีการเรียกร้องความช่วยเหลือกัน”
       
       ญาติของผู้ป่วยซึ่งรออยู่นอกห้องผ่าตัด เห็นวิสัญญีแพทย์ แพทย์ และพยาบาล รวมทั้งสิ้น 6 คน วิ่งหนีออกมาและทิ้งผู้ป่วยไว้บนเตียงผ่าตัดคนเดียว
       
       สำนักข่าวซินหวา อ้างคำกล่าวของผู้เห็นเหตุการณ์ว่า “เราเห็นควันโขมงออกมาจากหน้าต่างห้องผ่าตัด จากนั้นบรรดาแพทย์และนางพยาบาล ได้รีบวิ่งออกมาอย่างรวดเร็ว เมื่อเราถามถึงผู้ป่วย พวกเขาก็บอกว่ายังอยู่ข้างในห้อง”
       
       ญาติคนหนึ่งของผู้ป่วยเคราะห์ร้ายดังกล่าว ได้เผยว่า “ต่อมาผมเห็นร่างของนายจู นอนอยู่บนพื้นห้องผ่าตัด แต่ไม่เห็นรอยไหม้ใดๆ”
       
       ชายแซ่จิน เผยว่า “เพลิงไหม้ไม่ได้ลามไปยังห้องผ่าตัดของผู้ป่วย เห็นได้ชัดว่า เขาสำลักควันจนเสียชีวิต”
       
       ฟัง หยง ประธานโรงพยาบาลดังกล่าวได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวซินหวา ว่า “เรายอมรับว่า แพทย์และพยาบาลของเราตัดสินใจผิดพลาด และไม่มีความเป็นมืออาชีพในการช่วยเหลือปฐมพยาบาลในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบที่ปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิต”
       
       ฟัง กล่าวเสริมว่า “แม้ผู้ป่วยแซ่จูจะใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ แต่แพทย์กลับไม่คิดว่าควันไฟอาจทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออกได้”
       
       ฟัง และโฆษกโรงพยาบาล เผยว่า “เหตุเพลิงไหม้อาจเกิดจากเครื่องโอโซนฆ่าเชื้อโรคข้างห้องผ่าตัดไหม้”
       
       บรรดานางพยาบาลได้พยายามดับไฟ แต่เปลวเพลิงลุกไหม้และลามอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ควันหนาทึบก็ได้ปกคลุมห้องผ่าตัดดังกล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 สิงหาคม 2554

8835
ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องการการรักษา และการบริการที่สะดวกรวดเร็วควบคู่กันไป  แต่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถแบกภาระค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาและการบริการในโรงพยาบาลรัฐได้  โดยเฉพาะ รพ.ศิริราช ที่นับวันสัดส่วนงบประมาณที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับจากภาครัฐ การบริจาค และรายได้จาก รพ.ศิริราช ไม่เพียงพอที่จะแบกรับภารกิจต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ คณะแพทยศาสตร์ฯ จึงมีแนวคิดที่จะเปิด รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้การรักษาและการบริการที่ควบคู่กันไป โดย ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ เผยว่า ในปัจจุบัน รพ.ศิริราชต้องดูแลผู้ป่วยปีละ 2.8 ล้านราย เป็นผู้ป่วยใน 80,000 ราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยินดีจ่ายเพิ่มแต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากศิริราช
   
“คณะแพทยศาสตร์ฯ จึงได้ริเริ่มโครงการ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ขึ้น โดยจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกที่มีรูปแบบการบริหารและบริการที่มีประสิทธิภาพแบบเอกชน โดยมีจุดต่างที่การยึดหลักคืนรายได้จากการดำเนินงานกลับสู่คณะแพทยศาสตร์ฯ อย่างต่อเนื่อง จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนา 4 ด้านหลัก ได้แก่ การบริการผู้ป่วยโดยรวม,
การศึกษาของแพทย์, การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งการพัฒนาทั้ง  4 ด้านจะนำมาซึ่งประโยชน์และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยรวมตามปรัชญาความเป็นโรงพยาบาลเพื่อแผ่นดิน และพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ระดับสากลดังนั้นผู้ป่วยที่ยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อเข้ารับบริการในรพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์นอกจากเป็น “ผู้รับ” คือได้รับบริการที่เป็นเลิศตามมาตรฐานทางการแพทย์แล้ว ยังมีโอกาสเป็น “ผู้ให้” ด้วย”
     
ศ.คลินิกนพ.ธีรวัฒน์ กล่าวเน้นว่า มาตรฐานการรักษาพยาบาลของ รพ.ศิริราช ปิยมหาการุณย์ คือมาตรฐานเดียวกับรพ.ศิริราช ทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยทั้งสองโรงพยาบาลมีการคัดกรองบุคลากรทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานเดียวกันคือ ดี เก่ง และมีความสุขในการทำงาน ด้านเครื่องมือทางการแพทย์มีความก้าวหน้าและทันสมัยในระดับมาตรฐานโลกเหมือนกัน และยังสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสองโรงพยาบาลได้ด้วย ส่วนรูปแบบการบริหารและบริการที่มีอิสระ คล่องตัว จะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วเช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชน ในอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล และยังมั่นใจได้ในความเป็นเลิศทางการแพทย์มาตรฐานเดียวกับ รพ.ศิริราช มีกำหนดเปิดบริการต้นปี 2555.

เดลินิวส์ 24 สิงหาคม 2554

หน้า: 1 ... 587 588 [589] 590 591 ... 650