แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 584 585 [586] 587 588 ... 648
8776
 สวรส.ร่วมมือนักวิจัย แฉชาวต่างชาติ จ่อคิวขอสิทธิบัตรยาเพียบ เผย ร้อยละ  96 เป็นการจดแบบไม่มีที่สิ้นสุด   จวกแค่จดให้คุ้มครองนานขึ้น แต่มีการพัฒนานวัตกรรม
       
       วันนี้ (5 ก.ย.) ภญ.ดร.อุษาวดี มาลีวงศ์  นักวิจัยอิสระ กล่าวในงานแถลงข่าว “ผลวิจัยคำขอสิทธิบัตรยา 1 ทศวรรษ” ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข  (สวรส.)   ว่า   ขณะนี้พบปัญหาเรื่องบริษัทยาที่มีการจดสิทธิบัตรยาแบบ Ever greening Patent หรือเรียกว่า การขอสิทธิบัตรในลักษณะที่ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรได้รับการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์อะไรที่สูงขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค  ทั้งนี้สำหรับการแบ่งลักษณะของ Evergreening ที่พบ นั้นมีหลายลักษณะ ได้แก่  การทำคำขอรับสิทธิบัตรที่มีการระบุถึงการใช้และข้อบ่งใช้ที่สองของยาที่เปิดเผยแล้ว มากที่สุดถึงร้อยละ 73.6 ซึ่งถือว่าขาดความใหม่ และไม่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม และไม่มีกรรมวิธีการเตรียมสูตรตำรับใดๆที่ใหม่หรือเป็นนวัตกรรมที่แสดงถึงการพัฒนาระบบยาเลย ราวร้อยละ 36.4 และ คำขอรับสิทธิบัตรที่เป็น Markush Claim คือ มีเนื้อหาคลอบคลุมวงศ์ (family) ของสารประกอบที่สามารถเป็นไปได้ทั้งหมดโดยไม่มีการจำเพาะเจาะจงซึ่งบางครั้งคลอบคลุมถึงจำนวนพันหรือล้านสารประกอบร้อยละ 34.7
       
       ภญ.ดร.อุษาวดี กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาโดยรวมในการตรวจสอบคำขอจดสิทธิบัตรในปีที่ผ่านมาจำนวน 2,034 ฉบับ พบว่า บริษัทที่ยื่นขอสิทธิบัตรส่วนมากเป็นของต่างชาติ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 673 ฉบับ เยอรมนี 285 ฉบับ สวิสเซอร์แลนด์ 255 ฉบับ สวีเดน 122 ฝรั่งเศส 116 คน  อังกฤษ 64 ขณะที่ประเทศในเอเชียพบเป็นชาวญี่ปุ่น 189 ฉบับ อินเดีย 23 ฉบับ จีน 18 ฉบับ ส่วนสัญชาติไทยมีเพียง 10 ฉบับเท่านั้น ที่เหลือเป็นเกาหลี  8 ฉบับ สิงคโปร์ 8 ฉบับ
       
       “ทั้งนี้ ในจำนวนสิทธิบัตรกว่า 2,000 ฉบับนั้น มีสถานะคำขอต่างกัน คือ รับจดคำขอแล้ว 22 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,419 ฉบับ และละทิ้งคำขอ 556 ฉบับ โดยในส่วนที่ละทิ้งเป็นเพราะรายละเอียดคำขอนั้นไม่ชัดเจน หรือไม่มีข้อมูลแสดงถึงกรรมวิธีที่ยืนยันว่าเป็นยาตัวใหม่ ซึ่งจากการพิจารณาเบื้องต้นพบว่า ร้อยละ 96.4  หรือ1,960 ฉบับ แต่ยังไม่ยืนยันชัดเจนเป็นเพียงการสังเกตลักษณะของคำขอในเอกสารบางส่วนเท่านั้น  ซึ่งในการวิจัยขั้นต่อไปน่าจะสามารถชี้ชัดได้  โดยในส่วนที่พบ คือ พบในลักษณะของการผสมยาตัวเดิม เช่น จดยาลดน้ำมูกและยาลดไข้ไปแล้ว แต่กลับมาผสมยาสองตัวให้อยู่ในเม็ดเดียวกันแล้วจดสิทธิบัตรใหม่ เพื่อขยายเวลาในการคุ้มครอง  ” ภญ.ดร.อุษาวดี กล่าว
       
       
       ภญ.ผศ.ดร.นุศราพร  เกษสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายวิจัยระบบยา สวรส.  กล่าวว่า  หลังจากนี้ ทีมวิจัยจะทำการศึกษาในระยะที่ 2 ต่อไป โดยศึกษาว่า  หากคำขอที่เป็นปัญหาเหล่านี้ได้รับสิทธิบัตรไปจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยอย่างไรบ้าง  โดยจะวิเคราะห์ยอดขายหรือค่าใช้จ่ายด้านยาที่เกิดจากการขอสิทธิบัตร evergreening patent  ในยาจำนวน 100 รายการ เนื่องจากระบบดังกล่าวทำให้บริษัทยาได้เปรียบอย่างมากในการคุ้มครองสิทธิยาวนานถึง 20 ปีต่อการจดสิทธิบัตรหนึ่งครั้ง หากกรมทรัพย์สินทางปัญหาให้ความสำคัญในการเข้มงวดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ มากขึ้นก็จะเป็นการดี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กันยายน 2554

8777
 กรมควบคุมโรค เปิดตัว “มูลนิธิวัคซีน”  ลุยงานรณรงค์ให้ความรู้ด้านวัคซีนแก่คนไทย เผย 10 วัคซีนไม่อยู่ในระบบ จำเป็นต้องผลักดันต่อเนื่อง
       
       วันนี้ (5 ก.ย.) นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานมูลนิธิวัคซีน กล่าวว่า    เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ดังนั้นมูลนิธิฯจะเข้ามาเป็นส่วนกลาง ระหว่างภาครัฐ เอกชน ภาควิชาชีพ และนักวิชาการ เพื่อนำไปสู่การสร้างพลังขับเคลื่อนภาคประชาคม และรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปในเรื่องวัคซีน ทั้งคุณค่าและความสำคัญด้านต่างๆ เพราะปัจจุบันวัคซีนบางตัว โดยเฉพาะวัคซีนใหม่ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ประชาชนไม่กล้ารับการฉีดวัคซีน เว้นแต่เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ประชาชนส่วนใหญ่คุ้นเคย และมีประสบการณ์การฉีดอยู่แล้ว ดังนั้น ในอนาคตจำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนตัวนั้นๆ แก่ประชาชนก่อนให้บริการจริงด้วย
       
       นพ.มานิต กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานของมูลนิธิ ไม่ได้มุ่งเน้นวัคซีนชนิดใดเป็นพิเศษ แต่สนับสนุนข้อมูลทุกประเภท  โดยกิจกรรมแรกที่จะรณรงค์ คือ กิจกรรม “คุณค่าของวัคซีนเพื่อประชาชน..วัคซีนเสริมรัก สร้างรอยยิ้ม” ขึ้นในวันที่ 19 กันยายน ที่ลานกิจกรรม ชั้น 2 Life Style Hall ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งจะเปิดบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวัคซีน พร้อมบริการตรวจสุขภาพมากมาย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
       
       ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับวัคซีนที่ยังไม่เข้าสู่ในรายการบัญชีวัคซีนพื้นฐาน เบื้องต้นมีจำนวน 10 รายการ ประกอบด้วย
1.ไอกรนชนิดใหม่ (Acellura pertussis)
2.ตับอักเสบชินด เอ (Hepatitis A)
3.โรคฮิบ (Hib) เกิดการติดเชื้อในสมอง
4.มะเร็งปากมดลูก(Human Papillomavirus)
5.โปลิโอชนิดใหม่ (Infectivated Polioyelitis)
6.โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
7.ไข้สมองอักเสบเจอี (Live Attenuted Japanese Encephalitis )
8.เชื้อนิวโมค็อกคัส โรคปอดบวม (Pneumococcal Conjugate)
9.อุจจาระร่วงในเด็ก (Rotavirus)
10.อีสุกอีใส (Varicella )

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กันยายน 2554

8778
อึ้ง!! คนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 10 ราย ภาคเหนือยอดฆ่าตัวตายพุ่งเหตุเพราะหวงวัฒนธรรม “รักษาหน้า กลัวเสียชื่อเสียง” ชี้ สัญญาณอันตรายเพราะเก็บงำปัญหาไม่กล้าพูด  พ่วงปัญหาคนสูงวัย 80-84 ปี อัตราฆ่าตัวตายสูงสุด แนะลูกหลานเอาใจใส่
       
        วันนี้ (5 ก.ย.) นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต  เป็นประธานในการแถลงข่าวการสัมมนาทางวิชาการการป้องกันการฆ่าตัวตายในหลากสังคมหลายวัฒนธรรม หรือเรียกง่ายๆ ว่า รักตัวเองบ้าง...นะ
       
       โดย นพ.อภิชัย กล่าวว่า จากข้อมูลที่ที่กรมได้เก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลฆ่าตัวตายของคนไทยตั้งแต่ปี2540 -2553  พบว่า หลังจากที่กรมจัดทำโครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2542อัตราการฆ่าตัวตายลดลงจากปีละ 5,700 ราย หรือคิดเป็น 8 ต่อแสนประชากร  ขณะที่ในปี 2553 เหลือเพียง 5.9 ต่อแสนประชากร หรือ 3,761 รายต่อปี เฉลี่ยวันละ 10 ราย โดยเพศชายมีอัตรา 9.29 ต่อแสนประชากรสูงกว่าเพศหญิงที่มีอัตราอยู่ที่ 2.62 ต่อแสนประชากร   หากจำแนกตามอายุพบว่าวัย 80-84 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด อยู่ที่ 10.73 ต่อแสนประชากร รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 75-79 ปี อยู่ที่ 10.19 ต่อแสนประชากร
       
       นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า พื้นที่ซึ่งมีการฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ ภาคเหนือมี 5 จังหวัดแรกที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ จ.ลำพูน จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน จ.น่าน และ จ.เชียงใหม่ อยู่ที่ 20.02, 15.63, 14.45, 13.03 และ 12.47 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ  ขณะที่ 5 จังหวัดที่มีอัตราต่ำสุด ได้แก่ จ.ปัตตานี จ.หนองคาย จ.นราธิวาส จ.ยะลา และ จ.พิจิตร อยู่ที่ 0.77, 1.76, 1.77, 1.86 และ 2.17 ต่อแสนประชากร สำหรับวิธีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุด ได้แก่ การแขวนคอ/รัดคอ ร้อยละ 66.42 รองลงมา คือ พิษจากยาฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ ร้อยละ 19.81 พิษจากยา ตัวยา และสารชีวภาพอื่น ร้อยละ 4.28 สารเคมีและสารพิษ ร้อยละ 3.67 กระสุนปืนร้อยละ 3.11 ส่วนสา เหตุนั้นน่าจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งประชากรในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม ฆ่าตัวตายแล้วผิดกฎหมาย
       
       “เหตุผลที่ผู้สูงวัยฆ่าตัวตายกันมาก เพราะไม่มีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่มีญาติมาเยี่ยมเยือน หรือไม่มีลูกหลานมาเอาใจใส่ดูแล จึงจำเป็นที่ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดจะต้องทำให้ผู้สูงอายุรู้ว่าจะต้องอยู่ทำไม ให้รู้สึกมีความหวังและรอบางสิ่งเช่น พยายามหาเวลาไปพบปะแล้วพูดคุยเรื่องดีๆ เพื่อให้รู้สึกว่า ไม่ใช้ชีวิตลำพังเป็นต้น  ส่วนสาเหตุที่ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดนั้น เป็นผลจากวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีการรักษาหน้าที่รุนแรง การเสียหน้าถือเป็นเรื่องที่แรงมาก เมื่อผู้ชายเหนือมีเรื่องกลุ่มใจก็ไม่กล้าปรึกษาใคร ขณะที่ภาคอื่นมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น เช่น ร้านน้ำชา   ร้านขายซาลาเปา  ในตอนเช้าเป็นที่พบปะพูดคุย ทั้งที่ ในทางสุขภาพจิต ถือว่าการปรึกษากับผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญมาก”
       
       อนึ่ง 10 ก.ย.ปีนี้ องค์การอนามัยโลก หรือ ฮู (WHO) กำหนดให้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “การป้องกันการฆ่าตัวตายในหลากสังคมหลายวัฒนธรรม” โดยปีนี้กรมจะจัดงานในวันที่ 8 กันยายน 2554 ภายใต้แนวคิด “รักตัวเองบ้าง...นะ” ที่เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา ในงานจะมีการเปิดตัวแบบคัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตาย ฉบับประชาชน (SU 9) เพื่อให้ประชาชนด้วย


ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 กันยายน 2554

8779
มร.​เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรม​การ​ผู้จัด​การ บริษัท ​เมส​เซ่ ดู​เซดอร์ฟ ​เอ​เชีย จำกัด ​ผู้จัดงาน ​แสดงสินค้านานาชาติระดับ​โลก ร่วมกับ นพ. ​ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระ ทรวงสาธารณสุข ​แถลงข่าวจัดงาน MEDICAL FAIR THAILAND 2011 ครั้งที่ 5 ​หรืองาน​แสดงสินค้า​และ​เทค​โน​โลยีทาง​การ​แพทย์ ​และนวัตกรรม​การดู​แลสุขภาพนานาชาติ ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ย.ศกนี้ ณ ศูนย์​การประชุม​แห่งชาติสิริกิติ์

ไทย​โพสต์  5 กันยายน 2554

8780
ศูนย์วิจัย​โรค​เอดส์ สภากาชาด​ไทย จัดงาน​แถลงข่าว​เปิดตัว “Adam’s Love” ​แคม​เปญ​เพื่อสุขภาพชายรักชาย ครั้ง​แรก​ในอา​เซียน

กรุง​เทพฯ--5 ก.ย.--อาซิ​แอม ​เบอร์สัน-มาร์ส​เตล​เลอร์
รู้​หรือ​ไม่? 3 ​ใน 10 ของชายรักชาย​ไทยมี​เชื้อ​เอช​ไอวี!!!

ศูนย์วิจัย​โรค​เอดส์ สภากาชาด​ไทยขอ​เชิญสื่อมวลชนร่วมงาน​แถลงข่าว​เปิดตัว“Adam’s Love” ​แคม​เปญ​เพื่อสุขภาพชายรักชาย ครั้ง​แรก​ในอา​เซียนพบกับต๊อบ — ชัยวัฒน์ ทอง​แสง​แอมบาส​เดอร์​โครง​การอย่าง​เป็นทาง​การคน​แรกของประ​เทศ
พร้อมด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ น.พ. ประพันธ์ ภานุภาค ​ผู้อำนวย​การศูนย์วิจัย​โรค​เอดส์ สภากาชาด​ไทย
ป้าต้อ-มารุต สา​โรวาท ​ผู้กำกับละครคนดัง
มาร่วมพูดคุย​เกี่ยวกับวิถี​การ​ใช้ชีวิตชายรักชายอย่างปลอดภัย
วันอังคารที่ 6 กันยายน 2554 ​เวลา 13.30 — 15.00 น.
ณ ห้องประชุม​ใหญ่ ชั้น 7 อาคาร​เฉลิมพระ​เกียรติ 48 พรรษา
สม​เด็จพระ​เทพฯ ศูนย์วิจัย​โรค​เอดส์สภากาชาด​ไทย (ประตู ถ.ราชดำริ)

ryt9.com 5 กันยายน 2554

8781
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ แอบคิดแผน 'ซื้อกิจการ' เสริมเขี้ยวเล็บ โตแบบ Inorganic Growth รับศึก 'สามก๊ก' ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีธุรกิจอะไรจะร้อนแรงเท่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน มีความเคลื่อนไหวจับมือเป็นพันธมิตรและซื้อกิจการกันอย่างคึกคักเตรียมรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ในอนาคตโรงพยาบาลเดี่ยว จะอยู่ยาก ด้วยต้นทุนการแข่งขันที่สูง ต้นทุนบริหารและค่าเสี่ยงที่สูง ทำให้มีโอกาสจะถูกไล่ซื้อกิจการจากต่างชาติ แม้แต่ บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ ผู้บริหารเครือ "รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล" ของ รศ.ดร.นพ.วิชัย วนดุรงค์วรรณ ยังต้องลุกขึ้นมาแต่งตัวเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนหนีการเป็น "ผู้ถูกล่า" จากรายใหญ่

เมื่อโจโฉแห่งธุรกิจโรงพยาบาล นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผนึกกำลังเข้ากับ ทนายวิชัย ทองแตง แห่ง รพ.พญาไท-เปาโล ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งวงการ รพ.วิภาวดีของ "เสี่ยอ้วน" ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล ก็ไปตีอาณาจักรทางภาคเหนือผนึกกำลังกับ บมจ.เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ (CMR) และจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ รพ.รามคำแหง, รพ.วิภาราม, รพ.สินแพทย์ และ รพ.แพทย์ปัญญา 

รพ.บำรุงราษฎร์ ของ ชัย โสภณพนิช ที่ถูก รพ.กรุงเทพ ของนพ.ปราเสริฐ แอบตีท้ายครัวเข้าถือหุ้น 11.14% แบบไม่ทันตั้งตัวเตรียมใจ จึงแก้เกมโดยสายตรง "เสี่ยตึ๋ง" อนันต์ อัศวโภคิน ขอซื้อหุ้น รพ.เกษมราษฎร์ ของ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ สัดส่วน 24.99% กลายเป็น "ศึกสามก๊ก" (ใหญ่) ที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด

การผนึกพลังของ รพ.บำรุงราษฎร์ และ รพ.เกษมราษฎร์ ได้นำไปสู่การวาง Positioning ทางการตลาดใหม่ ขณะที่ นพ.เฉลิม เตรียมเสริมเขี้ยวเล็บซ่อนแผนเติบโตแบบ Inorganic Growth (ซื้อกิจการ) รองรับขาขึ้นของธุรกิจโรงพยาบาล "ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก"

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล กล่าวกับ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า แผนความร่วมมือกับ รพ.บำรุงราษฎร์ ที่ซื้อหุ้นต่อจาก บมจ.แลนด์ แอนด์  เฮ้าส์ ในระยะสั้นถึงระยะกลางคงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ต่างคนต่างดำเนินตามแผนธุรกิจของตัวเอง ส่วนความร่วมมือขอให้มองระยะยาวมากกว่า

หมอใหญ่ฉายภาพอุตสาหกรรมโรงพยาบาลในอนาคตให้ฟังว่า ตลาดกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดเซ็กเมนท์ใหม่คือ “ตลาดบนแมส” หรือ A- กลุ่มคนไข้ระดับกลางจะหาทางเลื่อนตัวเองขึ้นไปใช้บริการที่ระดับดังกล่าวโดยยอมจ่ายค่ารักษาแพงขึ้น 5-10% แลกกับบริการที่ดีขึ้น เพราะชนชั้นกลางเริ่มมีรายได้มากขึ้น และตลาดยังไม่มีใครให้บริการรองรับคนกลุ่มนี้

“ผมมั่นใจว่าตลาด "บนสุด" จะเริ่มแคบลงเพราะแข่งขันกันหนัก คนไข้จะหันมาใช้บริการตลาด "บนแมส" มากขึ้นและจะอยู่บนราคาค่าบริการที่สมเหตุผล ศูนย์การแพทย์ World Medical Center ซึ่งเป็นแบรนด์ใหม่ของเราจะตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มนี้”

นพ.เฉลิม คาดว่าศูนย์ World Medical Center แห่งแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะจะสร้างเสร็จในสิ้นปีนี้ และเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ปี 2555 เมื่อดำเนินการจนถึงจุดคุ้มทุนก็จะลงทุนที่พัทยาต่อตอนนี้ซื้อที่ดินเอาไว้แล้วทำให้ รพ.เกษมราษฎร์ มีฐานลูกค้าที่ชัดเจนสองกลุ่มคือ "ตลาดกลาง" และ "บนล่าง" (A-)

เมื่อสิ้นปีก่อน รพ.เกษมราษฎร์ ได้ยกเลิกลูกค้าระบบหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง เนื่องจากสร้างภาระมาโดยตลอดเพราะรัฐบาลอุดหนุนโดยไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้สัดส่วนลูกค้าเงินสดเพิ่มเป็น 67% จากเมื่อก่อน 60% และเมื่อเปิด World Medical Center ก็จะเพิ่มเป็น 70% ที่เหลือเป็นลูกค้าประกันสังคม ผลที่ออกมาก็เป็นไปตามที่คาดคือไตรมาส 2 กำไรสุทธิโตขึ้น 27% EBITDA Margin เพิ่มขึ้นจาก 35% เป็น 38% อัตรากำไรสุทธิเพิ่มจาก 14% เป็น 17% ขณะที่รายได้ต่อไตรมาสก็อยู่ในระดับเดียวกับสมัยมีลูกค้าบัตรทองแล้ว

“มีคนถามผมว่าไม่เสียดายเหรอกับรายได้ที่จะหายไปเป็นพันล้านบาท ผมบอกว่าไม่เสียดายเพราะเราเป็นบริษัทมหาชนต้องคิดถึงผู้ถือหุ้นด้วย แม้ทุนเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาท แต่เราก็ยังจ่ายปันผลในอัตราเท่าเดิม แสดงว่าเราตัดสินใจถูกแล้ว”

สำหรับแผนการลงทุนในอนาคต หมอใหญ่ ยืนยันว่า จะขยายงานต่อเนื่องแน่นอน ที่ผ่านมาก็ได้ซื้อหุ้นเพิ่มในโรงพยาบาลศรีบุรินทร์ จังหวัดเชียงราย จนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 93.67% นอกจากนี้ ก็ได้ซื้อหุ้นของบริษัท โรงพยาบาลรัตนาธิเบศร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่ง เพิ่มขึ้นเป็น 72.73% แล้ว โรงพยาบาลศรีบุรินทร์ ได้ลงทุนซื้อที่ดินไป 100 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์แพทย์เฉพาะทาง นอกจากนี้ ยังเล็งเปิดคลินิกที่อำเภอแม่สาย และวางแผนจะเปิดคลินิกเพิ่มที่อำเภอเชียงแสนต่อไป ซึ่งคาดว่าพื้นที่ตรงนั้นจะมีการเติบโตสูงในอนาคตเพราะนักลงทุนจีนมาก่อสร้างกาสิโนขนาดใหญ่

“ลูกค้าที่จังหวัดเชียงรายมีกำลังจับจ่ายสูงมากใช้เงินสดทั้งนั้น เราคาดว่ารายได้จากโรงพยาบาลศรีบุรินทร์จะเพิ่มขึ้นจากปกติ 500-600 ล้านบาท เป็น 1,000 ล้านบาทได้ในอนาคต อนาคตเรายังมองถึงการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งบริเวณนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด”

นอกจากนี้ ยังดำเนินการตามแผนเดิมที่จะสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่บริเวณรามคำแหง พื้นที่กว่า 300 ไร่ทดแทน รพ.เกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 อนาคตจะเน้นขยายการลงทุน "สองแบรนด์" คือ รพ.เกษมราษฎร์ และ World Medical Center โดยยึดหลักแบบไม่เสี่ยง อย่างไรก็ตาม คุณหมอเปรยว่ามองถึงการเติบโตแบบ Inorganic Growth (ซื้อกิจการ) ด้วยเช่นเดียวกัน

“ตอนนี้ก็คุยๆ กันอยู่หลายเจ้าทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาด ทั้งที่เป็นเครือข่ายและสแตนอะโลน คาดว่าน่าจะจบทีละดีล เรื่องเงินไม่มีปัญหาแน่เพราะเรามีหนี้สินต่อทุนเพียง 0.38 เท่า และมี Free Cash Flow 900-1,000 ล้านบาท และได้ขอผู้ถือหุ้นออกหุ้นกู้วงเงิน 3,000 ล้านบาทไว้แล้ว ถ้ามีความต้องการก็พร้อมออกได้ทันที”

สำหรับการซื้อกิจการจะมี 2 รูปแบบคือซื้อสินทรัพย์มาจากโรงพยาบาลที่ไม่ทำกำไรมาบริหารต่อหรือซื้อโรงพยาบาลที่กำลังดำเนินกิจการอยู่ นโยบายจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 25% ขึ้นไป ส่วนตัวให้ความเห็นว่ากระแสการซื้อกิจการโรงพยาบาลน่าจะยังมีอยู่และเป็นสิ่งที่ดีเพราะโรงพยาบาลที่มีผลการดำเนินงานไม่ดีจะสามารถอยู่รอดได้และการมีขนาดที่ใหญ่พอจะได้เปรียบในเรื่องของ Economy of Scale ทั้งเรื่องอุปกรณ์ และคน

สำหรับเป้ารายได้ 10,000 ล้านบาทที่เคยตั้งไว้ นพ.เฉลิม บอกว่า "ยังไม่ทิ้ง" แต่ต้องเก็บเอาไว้ก่อนเพราะอย่างไรขนาดก็มีความสำคัญ จริงแล้วถ้ายังรักษาลูกค้าบัตรทองไว้ป่านนี้รายได้เราคงใกล้แตะ 7,000 ล้านบาทแล้ว แต่เรามองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลักจึงต้องให้ความสำคัญกับ “บรรทัดสุดท้าย” (กำไร) เพราะไม่มีประโยชน์ที่รายได้โตแต่ไม่มีกำไร

"รายได้ทั้งปี 2554 อาจจะโตได้เล็กน้อยแต่กำไรสุทธิน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน"

ก่อนจากกันคุณหมอทิ้งท้ายว่าอนาคตไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและชนชั้นกลางมีกำลังซื้อมากขึ้น ธุรกิจโรงพยาบาลระยะยาวยังโตได้อีกเรื่อยๆ แน่นอน นักลงทุนควรซื้อหุ้นโรงพยาบาลเข้าพอร์ตไว้บ้าง...นพ.เฉลิม กล่าวสรุป

5 กันยายน 2554

8782
เผยผลสอบว่องไว เหตุ “หมอเผ่นไฟไหม้ ทิ้งคนไข้ตายคาห้องผ่าตัด” ในเซี่ยงไฮ้ ปลดรองผอ.รพ.

เอเจนซี-รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลประชาชนที่สาม นครเซี่ยงไฮ้ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากกรณีแพทย์พยาบาลทิ้งคนไข้ในห้องผ่าตัด ขณะเกิดเพลิงไหม้ที่โรงพยาบาลประชาชนที่สาม ในนครเซี่ยงไฮ้ ระบุคนไข้เสียชีวิตจากการได้รับควันพิษ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นที่สนใจและจับตาของสาธารณชนมาก
       
       กลุ่มสื่อจีนอ้างแหล่งข่าวสำนักงานสาธารสุขประจำนครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันศุกร์(2 ก.ย.) เผยผลการตรวจสอบเครื่องบันทึกภาพในที่เกิดเหตุและพยานแวดล้อมหลายฝ่ายต่อกรณีคนไข้ในห้องผ่าตัดเสียชีวิตขณะเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา
       
       รายงานการตรวจสอบระบุคนไข้ผู้เสียชีวิตประสบอุบัติเหตุรถยนต์ และถูกนำตัวมายังโรงพยาบาลประชาชนที่สาม สังกัดมหาวิทยาลัยเจียวถงแห่งเซี่ยงไฮ้ คนไข้ได้ถูกนำตัวเข้าห้องผ่าตัดหมายเลขหนึ่ง ชั้นสามของอาคาร แพทย์ได้ให้ยาสลบคนไข้ก่อนดำเนินการผ่าตัด โดยคณะแพทย์พยาบาล 6 คน ได้แก่ ศัลยแพทย์ 2 คน วิสัญญีแพทย์ 2 คน และ พยาบาล 2 คน ขณะดำเนินการผ่าตัดใกล้เสร็จสิ้น วิสัญญีแพทย์คนหนึ่ง และพยาบาลคนหนึ่งได้ออกจากห้องผ่าตัดไปก่อน
       
       เมื่อเวลา 21.45 น. พยาบาลผู้หนึ่งรู้ว่าเกิดเหตุไฟไหม้ที่ห้องผ่าตัดชั้นสอง ก็รีบฉวยอุปกรณ์ดับเพลิง แต่ไม่เป็นผล จึงรีบวิ่งไปแจ้งห้องควบคุมอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆที่ชั้นสอง ขณะนั้นไฟได้ลามมาที่ห้องผ่าตัดหมายเลขหนึ่ง แพทย์วางยาสงบอีกคนได้ออกจากห้องไปบอกให้คนอื่นๆช่วยแจ้งไปที่หน่วยฉุกเฉิก ด้วยควันที่หนามากจึงไม่สามารถกลับมายังห้องผ่าตัด ส่วนแพทย์ผ่าตัดอีกสองคนก็ช่วยกันเย็บแผลให้คนไข้ต่อ แต่ไฟก็เกิดดับลง ควันยิ่งหนามากขึ้น จากการตรวจสอบเครื่องช่วยหายใจยังเป็นปกติดี (โดยทั่วไปเมื่อไฟดับ เครื่องช่วยหายใจยังทำงานโดยอัตโนมัติต่อไปได้อีกครึ่งชั่วโมง) และเนื่องจากไฟดับไม่สามารถเคลื่อนย้ายเตียงคนไข้ แพทย์พยาบาลจึงพากันวิ่งหนีออกไปเรียกคนอื่นๆมาช่วย
       
       เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินมาถึงโรงพยาบาลเวลา 21.56 น. พร้อมด้วยรถดับเพลิง 13 คัน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาถึงห้องผ่าตัดหมายเลขหนึ่งที่ชั้นสาม ก็พบคนไข้นอนอยู่แต่สายเครื่องช่วยหายใจหลุดออก แพทย์พยาบาลก็ไม่สามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้ทันแล้ว และจากการพิสูจน์ศพคนไข้เสียชีวิตจากควันพิษ
       
       หลังเหตุไฟไหม้ฯนี้ หน่วยสาธารณสุข หน่วยพิทักษ์สันติราษฎร์ และหน่วยดับเพลิงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบฯ และได้เผยต้นตอไฟไหม้ครั้งนี้ว่า เกิดจากระบบป้องกันอัคคีภัยย่ำแย่ ขาดแคลนระบบเตือนภัยและแจ้งเหตุตามห้องผ่าตัดและเขตพิเศษต่างๆในโรงพยาบาล ทำให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ไม่อาจรับมือสถานการณ์ร้ายได้ทันท่วงที ดังนั้น จึงได้พิจารณาปลด เฉิน ไอ้ตง รองผู้อำนวยการฝ่ายระบบป้องกันอัคคีภัยของโรงพยาบาล ส่วนผู้อำนวยโรงพยาบาล ฟัง หย่ง ก็ได้ถูกตักเตือนคาดโทษทางวินัย.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    4 กันยายน 2554

8783
หน้าฝนนี้อาหารที่​ได้รับ​ความนิยม​ในหมู่​ผู้บริ​โภคคงจะหนี​ไม่พ้น​เมนู​เห็ด ​เพราะนอกจาก​เห็ดจะมีรสชาติอร่อย ​และมีคุณค่าทาง​โภชนา​การสูง​แล้ว ​เห็ดต่างๆ ​ในบ้าน​เรายังมี​ให้​เลือกมากมาย สามารถนำมาปรุงอาหาร​และ​เป็น​เครื่องปรุงดาว​เด่น​ในครัวที่สามารถนำ​ไปประกอบอาหาร​ได้หลากหลาย​เมนู ​ทั้งต้ม ผัด ​แกง ทอด ย่าง ​หรือยำ นำมารับประทาน​แทน​เนื้อสัตว์​ได้ ​เนื่องจาก​เป็น​แหล่งที่ดีของ​โปรตีนจากอาหารพืช ​เห็ดมีพลังงานต่ำ ปลอด​ไขมัน​และคอ​เลส​เตอรอล ​ใยอาหารสูง อุดม​ไปด้วยวิตามินบี ​และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ​จึงช่วย​ใน​การป้องกัน​โรคหัว​ใจ​ได้ ช่วยชะลอวัย ช่วยส่ง​เสริมสุขภาพ​เกินกว่าอาหารที่​เราบริ​โภค​ในชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน​เห็ด​จึง​เป็นอาหารที่​ได้รับ​ความนิยมมากขึ้น​ในหมู่​ผู้บริ​โภคทั่ว​ไป ​และ​ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ​หรือ​เจ ​แต่ต้องระวัง​เห็ด​เป็นพิษที่อาจจะ​เป็นอันตราย​ถึง​แก่ชีวิต​ได้ ​เพราะ​เห็ดบางชนิดหาก​ไม่ชำนาญอาจดู​ไม่ออกว่ามีพิษ ​และ​ไม่รู้​แหล่งที่มาห้ามนำมารับประทาน​เด็ดขาด

อ.ศัลยา คงสมบูรณ์​เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะ​เบียนวิชาชีพจากสหรัฐอ​เมริกา ​เปิด​เผยว่า ​เห็ดที่​เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีมาก​ถึง 38,000 สายพันธุ์ ​แต่มี​เห็ด​เพียง​ไม่กี่ชนิดที่สามารถรับประทาน​ได้​และ​ให้สารที่มีประ​โยชน์ต่อร่างกาย ​และยิ่งถ้า​เป็น "​เห็ดทาง​การ​แพทย์"​หรือ Medicinal Mushroom ​ก็มีจำนวนน้อยมาก ปัจจุบันพบว่ามีอยู่​ไม่กี่ชนิดที่สำคัญต่อ​การส่ง​เสริมสุภาพ ​ได้​แก่ ​เห็ด​ไมตา​เกะ ​เห็ดยามาบูชิตา​เกะ (​เห็ดปุยฝ้าย) ​เห็ดหลินจือ ถั่ง​เฉ้า ​เห็ดชิตา​เกะ (​เห็ดหอม) ​และ​เห็ด​เทอร์กี้​เทล ​เป็นต้น ​ซึ่งถูกนำมา​ใช้​เป็นสาร​แอนติออกซิ​แดนท์ ส่ง​เสริมสุขภาพหัว​ใจ ลด​ความ​เสี่ยง​โรคมะ​เร็ง ​เพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกัน​ไวรัส ​แบคที​เรีย ​และ​เชื้อรา ลด​การอัก​เสบ ต้าน​การ​แพ้ ควบคุมสมดุลของระดับน้ำตาล ส่ง​เสริมระบบ​การขับพิษจากร่างกาย ​เพราะฉะนั้น สิ่งดีๆ ที่มี​ใน​เห็ดถ้ารู้จัก​ใช้​ให้​เป็นประ​โยชน์ต่อร่างกาย ​ก็จะ​เป็นอาหารที่​ใช้​เป็นยา​ใน​การบำรุงสุขภาพร่างกาย​ได้ดี​เยี่ยม

​ใน​การปรุงอาหาร​เมนู​เห็ด ​เราสามารถลดปริมาณ​เกลือลง​ได้​ถึง 50% ​โดย​ไม่​เสียรส ​เพราะ​เห็ดมี​โซ​เดียมต่ำ ​และมี​โปตัส​เซียมสูง ​ในด้านรสชาติ​เห็ดมีรสที่ 5 ที่​เรียกว่า อูมามิ ตัดรส​เค็ม​ได้ ​การลด​เกลือ​หรือ​โซ​เดียม​และ​เพิ่มอาหาร​โปตัส​เซียมสูง จะช่วยป้องกัน​ความดัน​โลหิตสูง​ใน​ผู้ที่มี​ความ​เสี่ยง​หรือ​ผู้ที่มีปัญหาอยู่​แล้ว ​และ​ใน​เห็ดบางชนิด ​เช่น ​เห็ดกระดุมขาว ​เมื่อนำ​ไปผัดกับน้ำ ​เห็ด 100 กรัม มี​โปตัส​เซียมมากกว่ากล้วย ​โปตัส​เซียมช่วย​ใน​การลด​ความดัน​โลหิต

วิตามินบีที่มีมาก​ใน​เห็ด คือ ​ไร​โบฟลาวิน ​ไนอะซิน กรด​แพน​โทธีนิค ​ซึ่งช่วย​ใน​การผลิตพลังงาน ​โดย​การสลาย​โปรตีน ​ไขมัน คาร์​โบ​ไฮ​เดรต ยิ่ง​ไปกว่านั้น​เห็ดมีสาร​แอนติออกซิ​แดนท์ ซีลี​เนียมสูงนำผักผล​ไม้อื่นๆ ​ซึ่งช่วย​เพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกัน​เซลล์จากอันตรายที่จะนำ​ไปสู่​โรค​เรื้อรัง

นอกจากนี้​เห็ดยัง​เป็น​แหล่งอาหารที่ดีที่สุดของสาร ergothioneine ​ซึ่งร่างกาย​ไม่สามารถสร้าง​เอง​ได้ ต้องรับประทานจากอาหาร ​หรือผลิตภัณฑ์สกัดจาก​เห็ด​เหล่านั้น สาร ergothioneine มีฤทธิ์ทาง​เภสัชวิทยาที่มีประ​โยชน์ต่อร่างกายมากมาย​เป็นสาร​แอนติออกซิ​แดนท์ที่มีบทบาทสำคัญ​ใน​การ​ทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงหลอด​เลือด ต่อต้านกระบวน​การอัก​เสบ​ในร่างกาย

​การวิจัย ​เบื้องต้นยังพบว่า​เห็ดมีสารพฤกษ​เคมี ที่มีฤทธิ์ยับยั้ง​เอน​ไซม์ อ​โรมา​เทส (aromatase) ​ซึ่งช่วยร่างกายสร้างฮอร์​โมน​เอส​โตร​เจน ​การยับยั้งอ​โรมา​เทส ​เป็นวิธีหนึ่งที่​แพทย์​ใช้​ใน​การลดระดับ​เอส​โตร​เจนที่อยู่​ในกระ​แส​เลือด ​ซึ่งระดับ​เอส​โตร​เจนที่สูง​เกิน​เกณฑ์ปกติมี​ความสัมพันธ์กับมะ​เร็ง​เต้านม

จากผล​การศึกษาวิจัยอย่างต่อ​เนื่อง ​โดย​เฉพาะอย่างยิ่ง​ใน​เรื่องของระบบภูมิคุ้มกัน ​ซึ่งมีรายงาน​การศึกษาทางวิชา​การมากมายรวม​ทั้งวารสาร​เห็ดทาง​การ​แพทย์นานาชาติ ยืนยันว่า​เห็ดทาง​การ​แพทย์มีส่วนช่วยกระตุ้น​การ​ทำงานของ​เม็ด​เลือดขาว ​โดย​การปรับสมดุล​การ​ทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน​ให้มีประสิทธิภาพ​เพื่อ​การต่อต้าน​เชื้อ​โรค​และ​เซลล์มะ​เร็ง

สำหรับ​เห็ดทาง​การ​แพทย์ค่อนข้างหา​ได้ยาก​และบางชนิดยังมีราคาสูงมาก​ถึงกิ​โลกรัมละ​แสนบาท ​แต่ยังพบว่ามี​แนว​โน้ม​ความต้อง​การ​เพิ่มมากขึ้น​เรื่อยๆ ​โดย​เฉพาะอย่างยิ่ง​ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาด้วยผล​การวิจัย​ถึงประสิทธิภาพของ​เห็ดทาง​การ​แพทย์จำนวนมาก​ในประ​เทศจีน ญี่ปุ่น ​และ​เกาหลี ส่งผล​ให้​เห็ดทาง​การ​แพทย์มี​การ​ใช้ประ​โยชน์​ใน​การป้องกัน​และรักษา​โรคตาม​แนวทางของ​การ​แพทย์ทาง​เลือกมากขึ้น

บ้าน​เมือง  4 กันยายน 2554

8784
    นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี พร้อมให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
    โดยนายวิทยา กล่าวถึง สภาพปัญหาของโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ ว่า เนื่องจากมีคนไข้จำนวนมาก สถานที่ ไม่เพียงพอ ที่จะให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้สั่งการไปยังปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้จัดทำงบประมาณแล้ว
    ในขณะเดียวกัน ต้องมีพัฒนาโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ ให้มีศักยภาพ รองรับคนไข้ และกระจายความแออัด ออกไปจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังต้องพัฒนา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ให้มีประสิทธิภาพ ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในเบื้องต้นด้วย ซึ่งจะสามารถกระจายความแออัดไปได้อีกระดับหนึ่ง โดยเฉพาะ เรื่องของการบำบัด โรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน เส้นเลือดในสมอง ซึ่งโรงพยาบาลท่าโรงช้าง อ.พุนพิน เป็นต้นแบบที่ดี
    สำหรับภารกิจ ที่ได้รับจากการประชุม 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีมติให้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นศูนย์ส่งต่อคนไข้ที่สมบูรณ์แบบ หรือโลจิสติกส์ ด้านการบริการ จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องให้สิ่งก่อสร้างที่จะมารองรับภารกิจนี้ ส่วนการนำนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย จะนำมาใช้ใหม่ เป็นการเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพการรักษา ที่สำคัญคือเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งต่างจากนโยบายของรัฐบาลก่อน ซึ่งเป็นภาระด้านงบประมาณอยู่พอสมควร
    ด้านนายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานีได้รับงบประมาณ 560 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารรองรับกับการเป็นโรงพยาบาลศูนย์การรักษาของ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน โดยมีแพทย์ประจำทุกสาขาวิชาพร้อมที่จะรองรับในการรักษาผ่าตัดเคสใหญ่โดยที่ไม่ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (มอ.)หรือโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเกี่ยวกับโรคหัวใจมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถผ่าตัดหัวใจได้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ๆ โดยงบประมาณดังกล่าวผ่านมติ ครม.และเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2555
    ทั้งนี้หากให้โรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานีมีความสมบูรณ์แบบที่สุดเทียบเท่ากับโรงพยาบาลใหญ่ คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด ไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งมีการเขียนโครงการไว้แล้วขึ้นอยู่กับมติ ครม.ของรัฐบาลชุดนี้

เนชั่นทันข่าว 3 กย. 2554

8785
รมว.สธ.เร่งรัดนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ตั้งศูนย์สาธารณสุขชุมชนในเขตเมือง 215 แห่ง จัดแพทย์ พยาบาลประจำ บริการเหมือนแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล  ตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไปที่อาการไม่รุนแรงและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง...

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง และคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 500-1,200 เตียง เพื่อพบปะให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และวางแนวทางในการปรับระบบบริการผู้ป่วย เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งขณะนี้เกิดปัญหาทุกแห่ง ผู้ป่วยรอคิวตรวจนาน เจ้าหน้าที่แบกภาระหนัก

นายวิทยา กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจะเพิ่มการลงทุน เพื่อพัฒนาระบบบริการทุกระดับทั้งเขตเมืองและชนบทให้เพียงพอ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่ปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการด่วนขณะนี้ คือ การลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ คือ ที่โรงพยาบาลศูนย์ซึ่งมี 25 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไปจำนวน 70 แห่ง ซึ่งมักเป็นพื้นที่ในเขตอำเภอเมือง จำนวนประชาชนมีมากอยู่แล้ว จุดที่แออัดที่สุดคือแผนกผู้ป่วยนอก เฉลี่ยต่อแห่งมีผู้ป่วยทุกประเภทใช้บริการวันละมากกว่า 2,000 คน  ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการช้า รอคิวนาน และเกิดปัญหาร้องเรียนบ่อยที่สุด เนื่องจากแพทย์ พยาบาล มีเวลาดูแลผู้ป่วยจำกัด งานล้นมือ เกิดความเครียด น่าเห็นใจมาก ที่สำคัญส่งผลให้คุณภาพการรักษาพยาบาลลดลง

"จำเป็นที่ต้องเร่งแก้ไข โดยวิธีการเพิ่มจุดตรวจรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการไม่รุนแรง โดยตั้งศูนย์สาธารณสุขชุมชนเขตเมืองมาช่วยทำหน้าที่แทน เพื่อลดภาระงานเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลใหญ่ มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ คุณภาพบริการเหมือนกันทุกอย่าง และจะนำระบบบัตรคิวเหมือนธนาคารมาปรับใช้ในการให้บริการผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยสามารถตรวจรับบริการโดยใช้ระบบไอทีเชื่อมโยงการรักษา โดยโรงพยาบาลทั่วไปจะตั้งแห่งละ 2 ศูนย์ ส่วนโรงพยาบาลศูนย์จะตั้งแห่งละ 3 ศูนย์" นายวิทยากล่าว

ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การตั้งศูนย์สาธารณสุขชุมชนเขตเมืองนี้ จะบริหารในลักษณะของโรงพยาบาลสาขา มีแพทย์ตรวจรักษา ผู้ป่วยรายใดที่อาการรุนแรง จำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะใช้ระบบการส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลใหญ่ลดลง แพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลใหญ่ สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซับซ้อนโดยเฉพาะได้เต็มที่ จะส่งผลดีต่อประชาชนโดยตรง และสามารถรักษาอยู่ใกล้บ้าน


ไทยรัฐออนไลน์ 4 กย 2554

8786
กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมพัฒนา​การ​แพทย์​แผน​ไทย​และ​การ​แพทย์ทาง​เลือก ​และภาคี​เครือข่าย จัดงานมหกรรมสมุน​ไพร​แห่งชาติ ครั้งที่ 8 ภาย​ใต้​แนวคิด “ยา​ไทย ​เด็ก​ใช้​ได้ ​ผู้​ใหญ่​ใช้ดี” ​เพื่อสนับสนุน​การ​ใช้ยา​ไทยสำหรับคนทุก​เพศทุกวัย พร้อมรับ​การจดทะ​เบียน​เข้าสู่บัญชียาหลัก​แห่งชาติ ฉบับที่ 4 ที่สนับสนุน​การ​ใช้ยาสมุน​ไพรทด​แทน​การ​ใช้ยานำ​เข้าจากต่างประ​เทศ ตั้ง​แต่วันนี้ — 4 กันยายน 2554 ณ ศูนย์​การ​แสดงสินค้าอิม​แพ็ค ​เมืองทองธานี อาคาร 7 — 8

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่า​การกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ​โดย กรมพัฒนา​การ​แพทย์​แผน​ไทย​และ​การ​แพทย์ทาง​เลือก ​และภาคี​เครือข่าย ​เผยว่า งานมหกรรมสมุน​ไพร​แห่งชาติ ครั้งที่ 8 จัดขึ้น​เพื่อ​เป็น​เวที​ใน​การขับ​เคลื่อนน​โยบาย​และยุทธศาสตร์ระดับชาติ​และพื้นที่ ​เป็น​เวที​ใน​การพัฒนาองค์​ความรู้ ​ทั้ง​ในด้าน​เชิงระบบ ​และ​เชิงวิชา​การ ​เป็น​เวที​ใน​การพัฒนาศักยภาพของบุคคล กลุ่ม ​และ​เครือข่าย ตลอดจน​เป็น​เวทีสนับสนุน​การขับ​เคลื่อน​เชิงวัฒนธรรมภูมิปัญญา​ไท สุขภาพวิถี​ไท ​ซึ่งจัดขึ้นภาย​ใต้​แนวคิด “ยา​ไทย ​เด็ก​ใช้​ได้ ​ผู้​ใหญ่​ใช้ดี”

“งานนี้กระทรวงสาธารณสุข ต้อง​การที่จะส่ง​เสริม​ให้ประชาชน​ใช้ยาสมุน​ไพร​ไทย​เพิ่มมากขึ้น ​โดย​เฉพาะ​ใน​เด็ก ​ซึ่งปัจจุบันมี​การ​ใช้ยา​เคมี​ใน​การรักษา ตั้ง​แต่​แรก​เกิด จน​โต ​ซึ่งหากมี​การปรับมา​ใช้ยาสมุน​ไพร​ไทย​แล้ว จะ​เป็น​การช่วยลด​การสะสมของสาร​เคมี​ในร่างกายของ​เด็ก ตลอดจน​เพิ่มภูมิคุ้มกัน​ความ​แข็ง​แรงของร่างกาย​ให้มากขึ้นด้วย

ปัจจุบันยาสมุน​ไพร​ไทย​ได้มี​การบรรจุ​ในบัญชียาหลัก​แห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2554 จำนวน 71 ราย​การ จาก​เดิมที่มี​เพียง 19 ราย​การ นับว่า​เป็นก้าวสำคัญของ​การส่ง​เสริม​การ​ใช้ยาสมุน​ไพร​ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ​ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีว่าประ​เทศ​ไทยมี​การนำ​เข้ายาจากต่างประ​เทศปีละหลายหมื่นล้านบาท ​และหาก​เราต้อง​การปรับตัว​เพื่อ​เตรียม​การรองรับ​การ​เข้าสู่ประชาคมอา​เซียน​ในปี 2558 ​ได้นั้น ​เราจำ​เป็นต้อง​เพิ่มศักยภาพ​การผลิตยาสมุน​ไพร​ไทย ลด​การนำ​เข้ายากจากต่างประ​เทศ ​ซึ่งหาก​เราสามารถลด​การพึ่งพิงต่างประ​เทศ​ในด้าน​การ​ใช้ยา​ได้​แล้วนั้น จะ​เป็นส่วนหนึ่ง​การ​เสริมสร้างฐานรากของประ​เทศ​ให้​เข้ม​แข็งมากยิ่งขึ้น ​และสามารถ​เติบ​โตอย่างยั่งยืนต่อ​ไป

สำหรับกิจกรรมภาย​ในงานมหกรรมสมุน​ไพร​แห่งชาติ ครั้งที่ 8 ประกอบด้วย ​การจัดประชุมวิชา​การประจำปี ​การ​แพทย์​แผน​ไทย ​การ​แพทย์พื้นบ้าน นิทรรศ​การยา​ไทย ยา​ในบัญชียาหลัก​แห่งชาติ ยา​ไทยทุกภาค หลากตำรับ อาทิ ยากลางบ้าน ยากลาง​เมือง ยา​เด็ก ยาวัยรุ่น ยา​ผู้หญิง ​ผู้ชาย ​และยา​ผู้สูงอายุ ยาช้าง ม้า วัว ควาย หมา (มุ่ย) ร้านยา​ไทย​โบราณ หมอยาพื้นบ้าน 4 ภาค ตรวจสุขภาพด้วย​การ​แพทย์​แผน​ไทย ​แผนจีน ​และ​แพทย์ทาง​เลือก สำหรับ​เด็ก วัยรุ่น ​ผู้หญิง ​ผู้ชาย ​และ​ผู้สูงอายุ ร่วม​เรียนรู้​การปรุงยาสมุน​ไพร​เพื่อ​การพึ่งตน​เอง อาทิ ยาดองที่หลากหลาย ​ทั้งดอง​เปรี้ยว ดอง​เกลือ ดองน้ำผึ้ง ดองน้ำมูตร ​และยาดอง​เหล้า ยาฝน ยาต้ม ยาลูกกลอน

​เรียนรู้​การปรุงอาหารจากข้าว พืชผักพื้นบ้าน​เพื่อบุคคลทุกวัย อาทิ ข่างปองขมิ้น ​โย​เกิร์ตขมิ้น ทอฟฟี่มะขามป้อม ยำรางจืด ยำ​เพกา ขนมจาก​โมจิท้าวยายม่อม ตลอดจน​การจัดหลักสูตร​การอบรมระยะสั้น มากกว่า 40 หลักสูตร อาทิ สารพันลูกประคบ อย่างลูกประคบหน้าสวย ลูกประคบ​แม่ลูกอ่อน ลูกประคบสูตรผิว​เหลือง​และผิว​ไม่​เหลือง ​และลูกประคบจากอิน​เดีย สีผึ้งสมุน​ไพร ​แชมพู​และยาสีฟันสมุน​ไพร ผลิตภัณฑ์สปา ​การ​ทำชันตะ​เคียน น้ำนัวปรุงรส​แทนผงชูรส ​การนวดตน​เอง นวด​ผู้หญิง ​การกดจุดบำบัด ​การนวด​เด็ก​แบบจีน ​โยคะ​เพื่อ​การพึ่งตน​เอง ​เลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุน​ไพรคุณภาพมากกว่า 300 บูธ

นอกจากนี้ ยังมี​การ​แจกหนังสือสมุน​ไพร…บันทึกของ​แผ่นดิน​เล่มที่ 4 วันละ 200 ​เล่ม รวม​ถึง​การ​แจกสมุน​ไพร​แห่งยุค 5 ชนิด 5 วันๆ ละ 300 ต้น ​โดย​เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ​ซึ่ง​เป็นวัน​แรกของจัดงาน​ได้​แจกต้น “อัคคีทวาร” ​หรือ” อ้าส่วย กิน​แล้วสวย” ส่วนวันที่ 1 กันยายน ​แจกต้น “รางจืด” ราชายา​แก้พิษ วันที่ 2 กันยายน ​แจกต้น “​เพกา” ต้านอนุมูลอิสระ บำรุง​ผู้ชาย วันที่ 3 กันยายน ​แจกต้น “​เครือ​เขา​แกลบ” ​หรือ “ราง​แดง” บำรุงกำลัง ​เพิ่มภูมิคุ้มกัน ​และวันที่ 4 กันยายน ​แจกต้น “ตำยาน”

งานมหกรรมสมุน​ไพร​แห่งชาติ ครั้งที่ 8 ​เริ่ม​แล้วตั้ง​แต่วันนี้ 4 กันยายน 2554 ณ ศูนย์​แสดงสินค้าอิม​แพ็ค ​เมืองทองธานี อาคาร 7 — 8

แนวหน้า -- ศุกร์ที่ 2 กันยายน 2554

8787
สธ.ตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาพเด็กเล็ก ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ-คนพิการ ในรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และองค์กรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาไอคิว อีคิวเด็กไทย ดูแลเรื่องฟันเทียมพระราชทาน สร้างรอยยิ้มให้ผู้สูงอายุ รวมทั้งดูแลสายตา ป้องกันตาบอดจากโรคตาต้อกระจก...

1 ก.ย. นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพ ผอ.รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 613 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่เขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 10 ประกอบด้วย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ เพื่อเพิ่มความรู้ด้านการบริหารจัดการ สามารถจัดบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาคุณภาพการให้บริการสุขภาพทั้งระบบ โดยบูรณาการเชื่อมโยงสถานบริการทุกระดับ สนับสนุนให้โรงพยาบาลทุกระดับมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทันสมัย รวมทั้งพัฒนาสถานบริการเบื้องต้น หรือหน่วยปฐมภูมิ คือ ศูนย์สาธารณสุขชุมชนในเขตเมืองที่สมบูรณ์แบบ ทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยนอก เพื่อลดความแออัดโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวม 95 แห่ง ในเบื้องต้นจะพัฒนาจังหวัดละ 2-3 ศูนย์ ใช้งบลงทุน 215 ล้านบาท  ซึ่งจะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้เข้าถึงบริการอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น

รมช.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งมีจำนวน 9,750 แห่งทั่วประเทศ จะเน้นการจัดบริการเชิงรุก โดยเฉพาะเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพประชาชน มีนโยบายจัดตั้งศูนย์พัฒนาสุขภาพเด็ก และศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุและผู้พิการในรพ.สต.ทุกแห่ง  ในการพัฒนาสุขภาพเด็กนั้น จะส่งเสริมเรื่องการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน และให้ยาเม็ดเสริมไอโอดีนแก่หญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสารไอโอดีนในเด็ก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคปัญญาอ่อน หรือโรคเอ๋อ และจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาไอคิว อีคิว และกระตุ้นพัฒนาการเด็กวัย 0-2 ปีอย่างสมวัย ทั้งเรื่องการส่งเสริมให้กินนมแม่ โภชนาการ การกอด การเล่น และการเล่านิทาน โดยประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ซึ่งดูแลศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศอยู่แล้ว

สำหรับศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพ ผู้สูงอายุและผู้พิการนั้น นายต่อพงษ์ กล่าวว่า จะประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ โดยเน้นการสนับสนุนฟันเทียมพระราชทานให้ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันเคี้ยวอาหารให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างรอยยิ้มผู้สูงอายุ และดูแลเรื่องสายตา ป้องกันปัญหาตาบอดจากโรคตาต้อกระจก หรือสนับสนุนแว่นตาให้ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสายตา รวมทั้งการส่งเสริมดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยด้วย

ไทยรัฐออนไลน์ 2 กย 2554

8788
รมว.สธ.เร่งรัดพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศที่มีเกือบ 20,000 แห่ง เป็นเขตปลอดโรคติดต่อที่พบบ่อยอย่างน้อย 6 โรค อาทิ โรคหวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคมือเท้าปาก หัด อีสุกอีใส ภายใน พ.ศ.2556  เพื่อให้เด็กไทยมีสุขภาพดี พัฒนาการสมวัย โดยใช้ 3 ยุทธศาสตร์ 10 มาตรการดูแล 
               
       วันนี้ (2 ก.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เป็นประธานเปิดประชุม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ครูผู้ดูแลเด็กของศูนย์เด็กเล็ก และเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 350 คน เพื่อพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อ
               
       นายวิทยา กล่าวว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบันนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และนำบุตรหลานไปฝากเลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลจำนวนมาก คาดว่าน่าจะมีประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ  700,000 คน จากจำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอายุ 1-4 ปี ที่มีประมาณ 3.2 ล้านคนทั่วประเทศ   นับเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย หากมีเด็กเจ็บป่วย โรคจะแพร่ระบาดได้ง่าย เนื่องจากเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก และเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว และเด็กยังป้องกันตัวเองไม่เป็น โรคที่พบบ่อย 6 โรค ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคมือเท้าปาก คางทูม อีสุกอีใส และหัด หากมีเด็กป่วย ส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก กระทบการทำงานและค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง 
               
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีทั่วประเทศประมาณ 20,000 แห่ง ให้เป็นศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคติดต่อที่กล่าวมา และเป็นศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดี มีพัฒนาการสมวัย ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ โดยให้กรมควบคุมโรค และกรมอนามัยร่วมกันพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานแนวทางปฏิบัติ สนับสนุนแก่พื้นที่ โดยเร่งรัดให้สำเร็จทุกแห่งภายในปี 2556
               
       ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามเฝ้าระวังการเจ็บป่วยในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ได้รับรายงานในรอบ 8 เดือนปีนี้ มีเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ป่วยจาก 6 โรคที่พบได้บ่อยที่กล่าวมารวม  2 แสนกว่าคน แนวทางในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคมี 3 ยุทธศาสตร์ใหญ่คือครูผู้ดูแลเด็กมีสุขภาพและความรู้ดี มีระบบริหารจัดการดี และสภาพแวดล้อมในศูนย์เด็กเล็กดี ไม่แออัด ไม่มีแมลงนำโรค
       
       โดยมีแนวทางปฏิบัติทั้งหมด 10 มาตรการ ได้แก่ 1.การจัดอบรมความรู้ และการควบคุมโรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็กเล็กแก่ครูที่ดูแลเด็ก 2.ตรวจสอบประวัติการได้รับวัคซีนของเด็กทุกภาคเรียน 3.ตรวจสุขภาพร่างกายและบันทึกอาการป่วยของเด็กทุกคน ทุกวัน 4.หากมีเด็กป่วย ให้ใช้มาตรการควบคุมป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเบื้องต้น คือแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และทำความสะอาดทำลายเชื้อสถานที่ อุปกรณ์ของเล่น เครื่องใช้ต่างๆ อย่างถูกวิธี 5.ครูผู้ดูแลเด็กต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
               
       มาตรการที่ 6 หากครูเจ็บป่วย ต้องหยุดพักอยู่บ้านจนกว่าจะหาย 7.ครูจะต้องให้ความรู้กับเด็กในเรื่องการป้องกันควบคุมโรคง่ายๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 8.จัดให้มีกิจกรรมล้างมือทุกวัน 9. เมื่อมีเด็กป่วยให้ครูดูแลเบื้องต้นและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทราบ และ 10.ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กแก่ผู้ปกครอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  ทั้งนี้ จากการนำร่องใช้ 10 มาตรการที่ พัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค 31 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี เชียงราย และสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2552-2553 พบว่า ได้ผลดีมาก สามารถลดอัตราอุบัติการณ์ของโรคหวัดจากร้อยละ 24.9 เหลือเพียงร้อยละ 9.0 พบโรคมือ เท้า ปาก เพียงร้อยละ 0.25 และพบโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ร้อยละ 1 นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจจับและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2554

8789
 พลันที่มีผู้จุดประกายความเหลื่อมล้ำของสวัสดิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมที่มีสิทธิประโยชน์ด้อยกว่าบัตรทอง ซึ่งไม่ต้องจ่ายสมทบทุกเดือน หวังกระตุกให้สังคมฉุกคิดถึงความไม่เป็นธรรม และนำไปสู่ความพยายามที่จะผลักดันให้ฝ่ายนโยบายทั้งฝ่ายการเมือง และข้าราชการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
       
       ทว่า การเคลื่อนไหวกดดันเรียกร้อง นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 เป็นต้นมา ความคืบหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้กลับมีน้อยมาก ดังนั้น เมื่อย้อนกลับไปดูความพยายามของภาครัฐที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กลับพบว่า ส่วนใหญ่เหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง
       
       จุดเริ่มต้นของความพยายามแก้ไขปัญหามาจากการเรียกร้องของ “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” ภายใต้การนำของนายนิมิตร์ เทียนอุดม และน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เริ่มต้นเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความเป็นธรรมของชมรมพิทักษ์สิทธิฯ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2554 ในงานเสวนา “ทำไมเราต้องจ่ายอยู่กลุ่มเดียว”

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
       ถัดจากนั้นอีกเพียง 5 วัน ในวันที่ 11 ก.พ.2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสางระบบสุขภาพ 3 ระบบใหญ่ให้เกิดความเป็นธรรม
       
       นับแต่นั้นมาการขับเคลื่อนเรียกร้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องมีกลุ่มผู้เข้าร่วมสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระแสกดดันดังกล่าวตกหนักอยู่กับสำนักงานประกันสังคม โดย นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานบอร์ด สปส.ที่ให้คำยืนยันเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2554 ว่าจะนำเรื่องความเป็นไปได้ที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นการเก็บเงินสมทบขัดต่อรัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมบอร์ดสปส.เดือน เม.ย.2554 พร้อมกับจะเร่งให้ สปส.ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนและเตรียมขยายสิทธิให้ครอบคลุมประชาชนกลุ่มอื่นๆ ด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานยังโยนให้ผู้ประกันตนเป็นผู้ตัดสินใจสามารถเลือกใช้ระบบประกันสุขภาพได้ตามความสมัครใจ
       
       ระหว่างนั้น ดูเหมือนปัญหาด้านข้อกฎหมายกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ถกกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น โดยเฉพาะประเด็นการเก็บเงินสมทบขัดต่อรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ซึ่งอาจต้องรอผลสิ้นสุดที่ชั้นศาล
       ระหว่างนี้ได้มีการร่วมกันหาทางแก้ปัญหาโดยที่ประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ได้ลงมติแต่งตั้งตัวแทนบอร์ด สปสช.เพื่อไปหารือร่วมกับบอร์ดสปส.ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทว่าการประชุมหลายครั้งหลายครา ดูเหมือนปัญหายังคงวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาไม่คืบหน้า

       จากที่ต้องตกเป็นฝ่ายรับมาโดยตลอด ในวันที่ 8 พ.ค.2554 สปส.ปรับบทบาทกลับมาเป็นฝ่ายรุกด้วยการจัดเสวนาหัวข้อทางเลือกในการประกันสุขภาพของแรงงานในระบบประกันสังคม : เสือหรือจระเข้ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ นพ.สมเกียรติ นพ.สุรเดช นายพนัส นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาแรงงานแห่งประเทศไทย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และ นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ โดยทั้งหมดเห็นพ้องกันว่า สปส.เป็นองค์กรที่ดี เป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข แต่ที่ผ่านมาถูกพูดถึงเฉพาะด้านที่ด้อยกว่า สปสช.เท่านั้น หากหยุดเก็บสมทบจะสร้างนิสัยให้ผู้ประกันตนเป็นขอทาน
       
       ที่สำคัญ มีการตั้งข้อสังเกตว่าจุดประสงค์ของชมรมพิทักษ์สิทธิ์ฯ คือ จงใจฮุบกองทุน สปส.ซึ่งมีเงินร่วม 8 แสนล้านบาท ให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลของสปสช. อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมระหว่าง2บอร์ดสุขภาพยังคงจัดขั้นเป็นคู่ขนาน แบบฉบับที่คุยกันโดยไร้ทางออก หรือ ข้อยุติที่จะพอใจทั้ง 2 ฝ่าย
       เรื่อยมาจนถึงเดือน มิ.ย.เข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มรูปแบบ จับกระแสการหาเสียงผ่านนโยบายด้านสาธารณสุข-แรงงาน ไม่พบพรรคการเมืองใดที่ให้ความสนใจกับประเด็นความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพนัก
       
       จนถึงขณะนี้ กลไกมาตรา 10 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นช่องทางตีบตันที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมของระบบประกันสังคมได้ เช่นเดียวกับการตีความเรื่องความเหลื่อมล้ำของสิทธิรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมที่ด้อยกว่าสิทธิบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการก็ยังคงค้างเติ่งอยู่ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะคืบหน้าไปได้อย่างไรต่อไป
       
       คำว่า “พายเรือในอ่าง” อาจจะเป็นคำที่เหมาะสมที่สุด ณ เวลานี้ สำหรับความพยายามที่จะแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ผู้ประกันตน ถูกทำให้เผชิญหน้าอยู่ และคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานตราบเท่าที่ผู้มีอำนาจทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริงร่วมกัน แต่ยังคิดถึงผลประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นที่ตั้ง ขณะที่จุดยืนของกลุ่มการเมืองอำนาจใหม่ที่มีต่อเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เสมือนหนึ่งเฝ้ารอดูจนกว่าจะเห็นช่องทางใหม่ที่จะสร้างชื่อได้จากกรณีนี้เท่านั้น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2554

8790
แพทย์ชี้ยาป้องกันสมองเสื่อม ใช้ไม่ได้ผลเสมอไป แนะควรควบคุมการโฆษณายาให้เข้มงวดยิ่งขึ้น  เสนอผู้สูงอายุออกกำลังกายป้องกันจะดีกว่า
       
       พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมประเทศไทย กล่าวในการประชุมระดมความคิดเพื่อพัฒนานโยบายการป้องกัน รักษาและดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทย ที่เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกับกลุ่มผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพ ต่อสถานการณ์ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมประเทศไทยและนำไปสู่การหาแนวทางและระบบการป้องกัน ดูแลรักษา และผลักดันสู่การพัฒนาเชิงนโยบายระดับประเทศ ว่า จากสถานการณ์โรคสมองเสื่อมในประเทศไทยว่าด้วยอัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มจำนวนผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน การรับมือกับโรคสมองเสื่อมยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจต่อภาวะสมองเสื่อม ส่งผลให้ขาดการดูแลที่ถูกต้องที่อาจนำไปสู่การทอดทิ้งผู้ป่วยนำไปสู่การเป็นภาระของสังคม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องประชุมความร่วมมือเพื่อเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว
       
       ขณะที่ พท.พญ.พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ       โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวถึงการป้องกันระดับปฐมภูมิของโรคสมองเสื่อม (Primary Prevention of Dementia) ว่า  จากการทบทวนผลวิจัยจากหลายประเทศพบว่ายังไม่มีการยืนยันการใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมตามที่มีการอ้างอิงในผลิตภัณฑ์หลายประเภท ชี้วิธีการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมที่ดีที่สุด คือ การออกกำลัง รักษาสุขภาพให้ห่างจากโรคที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยง การทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด และเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
       
       “ว่ายาลดไขมันจำพวกสแตติน (Statin), ยาชาเฉพาะที่ Procain, ฮอร์โมนทดแทนเพศหญิง, ฮอร์โมนเพศชาย, กรดโฟลิค, วิตามินบี 6, ยาต้านการอักเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID), สารสกัดใบแปะก๊วย (Ginkgo Biloba) และ กรดไขมันโอเมก้า 3 ไม่สามารถช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ตามคำกล่าวอ้างของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์บางชนิด นอกจากไม่สามารถป้องกันได้แล้ว ยาบางตัวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาด้วยจึงไม่มีการสนับสนุนให้ยาดังกล่าว ดังนั้นจึงควรมีการควบคุมการโฆษณาสรรพคุณยาที่มีส่วนประกอบดังกล่าวว่าในการอ้างถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสมองเสื่อม และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค” พท.พญ.พัฒน์ศรี กล่าว
       
       พท.พญ.พัฒน์ศรี กล่าวด้วยว่า การป้องกันโรคสมองเสื่อมที่ดี สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกาย หรือ การทำกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ และการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด (cognitive activities) เช่น การคิดเพื่อแก้ปัญหา การเขียน หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การคิดที่ซับซ้อน หรือแม้แต่การเรียนในระดับสูง ก็ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ ส่วนเรื่องอาหารแม้จะยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนในเรื่องผลของอาหารประเภทไหนสามารถป้องกันได้ แต่แนะนำให้รับประทานอาหาร เพื่อสุขภาพเน้นผัก ผลไม้ และปลา ไม่ดื่มสุรามากเกินไป งดเว้นการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บทางศีรษะ มีกิจกรรมทางสังคม มีกิจกรรมในเวลาว่างเพื่อความผ่อนคลาย และรักษาสุขภาพให้ห่างไกลโรคที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง  ไขมันสูง และโรคซึมเศร้าเนื่องจากการมีโรคเรื้อรังเหล่านี้มีผลเสียต่อการทำงานของสมองระดับสูง
               
       ขณะที่ พญ.อรุณี ประจัญอธรรม  สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า  โรคสมองเสื่อม แบ่งได้หลายระดับตามความรุนแรงของโรค ตั้งแต่รุนแรงน้อย ผู้ป่วยจะยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จนกระทั่งถึงระดับรุนแรงมาก ที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย นอนอยู่บนเตียงเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม ต้องตรวจหาความผิดปกติหลายด้าน เช่นความผิดปกติของความจำร่วมกับการใช้ภาษาและการรับรู้ รวมทั้งติดตามอาการต่อเนื่อง ทั้งนี้จากการที่ทำการศึกษาการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม พบว่า ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มคนทั่วไป แต่ให้ตรวจประชากรสูงอายุที่มีอาการผิดปกติทางด้านความจำ หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน หรือกลุ่มที่มีประวัติการเป็นโรคภายในครอบครัว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กันยายน 2554

หน้า: 1 ... 584 585 [586] 587 588 ... 648