แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 650
76
เพื่อนบ้านแฉซ้ำ ฝรั่งเตะพญ. เจ้าของปางช้างดังภูเก็ต อารมณ์ร้อนโชว์ปืน มีลูกติดเป็นตำรวจ

จากกรณี ชาวต่างชาวสวิสเซอร์แลนด์ เจ้าของปางช้างดังที่ จ.ภูเก็ต เตะแพทย์หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเข้าไปนั่งเล่นบันไดที่ปลูกลงมาบริเวณชายหาดที่ต่อลงมาจาก วิลล่า หมายเลข 23 เพราะคิดว่าเป็นบันไดของชายหาด โดยแพทย์หญิงได้รับบาดเจ็บ และเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมขอความเป็นธรรมจากสังคมที่โดนทำร้าย ทั้งนี้ ชาวต่างชาติคนดังกล่าวอ้างว่า ไม่ได้ตั้งใจเตะแพทย์หญิง แต่สะดุดบันไดล้มลงนั้น

ผู้สื่อข่าว มติชนออนไลน์ ได้สอบถาม กับเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ปางช้างใกล้ๆกับปางช้างดังกล่าว ได้ความว่า นายซารา(นามสมมุติ) เป็นเจ้าของปางช้างที่มีนิสัยชอบโวยวาย อารมณ์ร้อน มักจะมีปากเสียงกับเจ้าของปางช้างอื่นๆเสมอ โดยนายซารามีภรรยาเป็นคนไทย ที่มีลูกติดทำงานเป็นตำรวจ ยศ สิบตำรวจ แต่ภรรยาชอบบอกกับคนอื่นๆว่า มีพรรคพวกเป็นคนใหญ่คนโต มีเส้นสาย และชอบร้องเรียนปางช้างคู่แข่ง ในขณะเดียวกัน จะไม่ยอมให้ใครเข้าไปใกล้พื้นที่ของตัวเอง โดยจะเข้าต่อว่าอย่างหนัก

ซึ่งที่ผ่านมานายซารา ก็มักจะมีปากเสียงกับคนอื่นๆในเรื่องนี้บ่อยๆ ซึ่งคนที่อยู่แถวนี้จะรู็กันดีว่านายซาราเป็นคนขี้โมโห ซึ่งวันดีคืนดี นายซารา เปิดหลังรถหยิบปืนออกมาโชว์แล้วเดินไปเดินมาอยู่แถวปางสร้างความหวาดกลัวแก่เพื่อนบ้านข้างๆมาก ทั้งนี้นายซาราได้สั่งลูกน้อง หรือควาญช้างในปางของตัวเอง ห้ามนำเพื่อน หรือญาติพี่น้องเข้าไปในปางอย่างเด็ดขาด จึงไม่ค่อยมีใครเห็นลักษณะในปางช้างของนายซารานั้นเป็นอย่างไร สำหรับลูกค้าของนายซาราทั้งหมดนั้น เป็นลูกค้าชาวต่างชาติที่จองตั๋วผ่านทางออนไลน์ ไม่มีคนไทย

อย่างไรก็ตาม มีเพื่อนควาญช้างมาเล่าให้ฟังเสมอว่า ช้างในปางของนายซารานั้นเป็นช้างที่เช่ามาจาก จ.สุรินทร์ โดยทราบมาว่า นายซารา มีมูลนิธิคอยรับบริจาคเพื่อช่วยดูแลช้างไทยจากต่างประเทศ ซึ่งมักจะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงมีมีปัญหาเรื่องโควิดนั้น ขณะที่ปางช้างอื่นๆมีปัญหาการเงินซบเซากันอย่างหนัก แต่ปางของนายซารายังอู้ฟู่ หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า นอกจากปางช้างแล้ว นายซาราทำงานอย่างอื่นด้วยหรือไม่

เมื่อถามว่า ในเรื่องการดูแลช้างในปางนั้น เพื่อควาญเคยเล่าให้ฟังหรือไม่ว่า นายซาราดูแลดีหรือไม่ อย่างไร เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าวว่า เพื่อเล่าว่า นายซาราจะให้ควาญฝึกช้างหนักมาก เพราะเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงต้องการให้ช้างนิ่ง มักจะใช้ตะขอสับคอช้างแบบแรงๆเพื่อให้ช้างเชื่อฟัง ซึ่งปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องสับแรงขนาดนั้นก็ได้ แค่ทำให้ช้างจดจำ ซึ่งหากสับแรง หรือใช้ความรุนแรงเกินไปนอกจากไม่จำแล้ว ช้างจะดื้อและแค้นด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับพฤติกรรมของหนุ่มชาวสวิตเซอร์แลนด์นั้น ในช่วงที่ผ่านมาที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนั้น จากการลงพื้นที่ที่เกิดเหตุ และได้สอบถามตัวแทนประชาชนในหมู่บ้านยามู หมู่ที่ 7 ตำบลป่าคลอกอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ทราบข้อมูลว่าหนุ่มสวิตเซอร์แลนด์รายนี้ ขับขี่รถยนต์ปิกอัพป้ายแดงส่วนตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ถนนในหมู่บ้านมีขนาดเล็กและในช่วงที่ผ่านมาเกิดปัญหารถยนต์เฉี่ยวชนและมีชาวบ้านเป็นคู่กรณี ชาวต่างชาติรายนี้เคยควักเอาอาวุธปืนในรถมาข่มขู่คู่กรณีที่เกิดอุบัติเหตุ และบางครั้งเมื่อมีการทะเลาะวิวาทหรือมีปากเสียงกับชาวบ้าน ชาวบ้านเคยเห็นอาวุธปืนตกมาจากรถของเขา

นอกจากนี้เมื่ออยู่ที่บ้านพัก มักออกมาไล่ประชาชนที่เดินทางไปพักผ่อนบริเวณชายหาดสาธารณะที่อยู่ใกล้บ้านของตนเอง กรณีที่เกิดกับแพทย์หญิงล่าสุด ไม่ใช่ครั้งแรกอย่างแน่นอน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพอย่างเหมาะสม กรณีตรวจสอบเชิงลึกในการประกอบอาชีพธุรกิจ เช่น ปางช้าง เพื่อไม่ให้ชาวต่างประเทศที่เข้ามาเป็นคนในชุมชน/หมู่บ้าน มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์กับสังคม ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่ในพื้นที่ บ้านยามู

มติชน
29กพ2567

77
แพทย์สาวร้อง ถูกเจ้าของศูนย์อนุรักษ์สัตว์ชื่อดังทำร้าย ขู่รู้จักตำรวจยศใหญ่ บอกยิงตายก็ไม่ผิด

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chaiyachot Uttamang โพสต์ข้อความและภาพว่า ลูกสาวที่เป็นหมออยู่ใน จ.ภูเก็ต ถูกชาวสวิสทำร้าย โดยมีข้อความว่า

“#เรื่องเล่า_จากแพทย์หญิงไทยถูกชายต่างชาติชาวสวิสทำร้ายบนผืนดินไทย
ลูกสาวของผมผู้เป็นหมออยู่ที่ภูเก็ต ซึ่งเป็นคนสุภาพและถ่อมตนเป็นปกติ เขียนข้อความออกมาจากร่างกายและจิตใจของเธอที่ถูกทำร้ายว่า…

สวัสดีค่ะ ขออนุญาตขอความช่วยเหลือเพื่อกระจายข่าวเพื่อความยุติธรรมด้วยค่ะ
เราถูกชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของศูนย์อนุรักษ์ช้างทำร้ายร่างกายค่ะ
โดยมีลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 19.30 น. เราไปกินข้าวกับเพื่อนผู้หญิงที่เป็นหมอด้วยกัน ที่ร้าน Taste Yamu หลังกินเสร็จก็ชวนกันไปเที่ยวหาดสาธารณะแถวใกล้บ้านบริเวณ Cape Yamu คือ ปกติไปเดินเที่ยวบ่อยเนื่องจากเป็นหาดที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด และค่อนข้างปลอดภัย

ตอนเราเดินไปที่หาดกับเพื่อนเจอพี่ยามคนนึง แกก็ถามว่าเรามาดูดวงจันทร์ใช่มั้ย เพราะมันเป็นวันมาฆบูชา (ฟูลมูน) เลยตอบไปว่า ใช่ค่ะ พี่ยามก็บอกว่า ครับ เอนจอย ครับ แล้วเดินจากเราไป เรากับเพื่อนเดินดูดวงจันทร์บนชายหาดกันสักพัก รู้สึกเมื่อยและอยากนั่งพัก จึงเดินไปนั่งตรงบันไดที่ปลูกลงมาบริเวณชายหาดที่ต่อลงมาจาก วิลล่า หมายเลข 23 เพราะคิดว่าเป็นบันไดของชายหาด โดยที่เท้ายังจุ่มอยู่บนพื้นทราย

ในขณะที่เรานั่งอยู่รู้สึกเหมือนมีใครเดินมาข้างหลัง จึงหันไปพูดกับเพื่อนว่า รู้สึกเหมือนมีคนเดินมา จากนั้น พลันก็รู้สึกสะเทือนหนักหน่วงไปทั้งร่าง เมื่อได้สติก็ทำให้รู้ว่า เกิดจากหน้าแข้งที่กระหน่ำเตะลงมาที่กลางหลัง จากชายชาวต่างชาติตัวใหญ่น้ำหนักราว 100 กิโลกรัม ในสภาพหน้าแดง เหงื่อท่วม กำลังถือโทรศัพท์เพื่ออัดวิดีโอ และสบถด่าคำหยาบออกมาสารพัด เรากับเพื่อนเลยเดินไปหาพี่ยาม บนป้อมยามบนเนินข้างบน แล้วบอกว่า “พี่คะ หนูถูกทำร้ายร่างกาย” พี่ยามก็ตกใจและพาเราไปยังหน้าวิลล่า 23 ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุ

ฝรั่งคนนั้นแสดงอาการโกรธสบถคำด่าออกมาสารพัด จากนั้นภรรยาชาวไทยพร้อมแผงสร้อยเพชรเม็ดโตก็เดินออกมา ตอนนั้นเรากับเพื่อนแอบดีใจเพราะคิดว่าจะเคลียร์กันได้ แต่ ประโยคแรกที่ภรรยาชาวไทยพูดถึงกับทำให้เรากับเพื่อนสตันท์ไป เพราะเธอบอกว่า “นี่อีดอ* สองตัวนี้มานั่งอยู่หน้าบ้านกุ พวกมึ* รู้มั้ยต่อให้พวกกุ ยิงพวกมึ*ตาย กุก็ไม่ผิด เพราะลูกกุเป็นตำรวจและรู้จักนายตำรวจใหญ่ของภูเก็ต กุจะเอาพวกมุ*เข้าคุกให้ได้ กุจะโทรหาท่านรองเดี๋ยวนี้” จากนั้นเธอก็โทรหาตำรวจยศใหญ่ของเธอว่าให้ส่งตำรวจมา

ผ่านไปประมาณ 15 นาที มีตำรวจ 2 คนเดินมา คนหนึ่งแต่งตัวนอกเครื่องแบบ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นตำรวจในเครื่องแบบ ตำรวจหนุ่มทั้งสองพยายามมาเจรจาเคลียร์เรื่อง หลังจากที่ตำรวจมาคุยกับเรา เราก็บอกกับตำรวจว่า เราถูกทำร้ายร่างกาย ชายชาวต่างชาติก็มาพูดกับเราว่า “อ่อเป็นชนพื้นเมือง เป็นคนไทยเหรอ รู้มั้ยชั้นไม่ได้จ่ายค่าเช่าวิลล่าเดือนละล้านบาท มาให้พวกมุ*นั่งหน้าบ้านกุ”

เราก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร หลังจากนั้นตำรวจก็เดินมาพูดกับเราว่า ตอนนี้มันผิดกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเราเป็นคนบุกรุกมีโทษหนักกว่าต้องติดคุก 4 ปี ฝ่ายเขาแค่ทำร้ายร่างกายจ่ายเงินก็จบ เราเลยช็อกไป ตำรวจนายหนึ่งบอกว่าต้องเคลียร์ให้ยอมความกันให้ได้ จะได้ไม่ต้องถึงโรงพัก

เราจึงเสนอให้ 3 ทางเลือก คือ 1. ต่างคนต่างขอโทษแล้วจบ 2. ต่างคนต่างไม่ขอโทษแล้วจบ 3. ไปคุยกันที่โรงพัก ฝั่งนู้นเค้าบอกว่า “#เราขอโทษฝรั่งได้_แต่ฝรั่งจะไม่ขอโทษเรา #และเราจะต้องติดคุก”

หลังจากนั้นเราจึงไปแจ้งความที่ สภ.ถลาง หลังจากแจ้งความ เราได้ทราบชื่อของชาวต่างชาติคนนี้ซึ่งทำให้เราช็อคมาก เพราะชายคนนี้เป็นชาวสวิส ที่เป็นเจ้าของศูนย์อนุรักษ์สัตว์ดัง ที่เคลมว่าเค้าจะปกป้องดูแลช้างและไม่ทำร้ายช้าง แต่เค้าทำร้ายผู้หญิงค่ะ!

รบกวนขอความยุติธรรมกับเรื่องนี้ด้วยนะคะ เพราะอีกฝั่งเป็นชาวต่างชาติที่มีอิทธิพลในภูเก็ต มีข้อสังเกตว่ามีตำรวจยศใหญ่คอยช่วยเหลือดูแลอยู่เบื้องหลัง และเราคิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น #ไม่สมควรมีคนไทยคนไหนโดนชาวต่างชาติทำร้ายร่างกาย #คนไทยผู้เป็นสุจริตชน #ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินไทยค่ะ
จาก #ผู้หญิงไทยคนหนึ่งผู้ถูกชายชาวต่างชาติคนหนึ่งทำร้าย
(28 กุมภาพันธ์ 2024)

ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้โทรศัพท์พูดคุยกับเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผู้เสียหายเป็นลูกสาวของตนเองประกอบอาชีพเป็นแพทย์อยู่ในโรงพยาบาล ที่จังหวัดภูเก็ต ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อดูแล ครอบครัวให้ได้รับความเป็นธรรม มีกำหนดการเดินทางมาที่จังหวัดภูเก็ต ถึงในค่ำวันนี้เนื่องจากในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พนักงานสอบสวน มีกำหนดการเรียกไปพบ เพื่อต้องการที่จะเอาเอกสารใบรับรองของแพทย์ที่ตรวจร่างกายไปให้ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเท่าที่ทราบ พนักงานสอบสวนยังไม่ลงหมายเลขคดีแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ลูกสาวต้องการขอความเป็นธรรม ในคดีให้อายัดตัวนักธุรกิจรายนี้ อย่างไรก็ดีทราบว่า มีนายตำรวจ ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 มีกำหนดการว่าจะมาร่วมพบปะลูกสาว ที่ สภ.ถลางในวันพรุ่งนี้ด้วย (ภรรยาชาวสวิสอ้างว่า มีลูกชายเป็นตำรวจและรู้จักตำรวจระดับรองฯ) อย่างไรก็ดีเท่าที่ได้พูดคุยกับลูกสาว ลูกสาวยืนยันว่า จะต่อสู้ในเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพทย์หญิงรายดังกล่าว ยังได้นำใบลงบันทึกประจำวัน โพสต์ลงในเฟซบุ๊กด้วย


28 กุมภาพันธ์ 2567
มติชน

78
ชายต่างชาติ ยัน ไม่ได้ทำร้าย แพทย์หญิง ชี้ เป็นอุบัติเหตุ สะดุดบันไดจนเท้าไปโดนหลัง

จากกรณีแพทย์หญิงรายหนึ่งร้องขอความเป็นธรรม หลังจากไปนั่งชมตรงบันไดที่ปลูกลงมาบริเวณชายหาดที่ต่อลงมาจากวิลล่า เพราะคิดว่าเป็นบันไดของชายหาด โดยที่เท้ายังจุ่มอยู่บนพื้นทราย กลับถูกชายชาวต่างชาติทำร้าย แถมเมียของชายคนดังกล่าวยังข่มขู่ว่า ยิงตายก็ไม่ผิด เพราะมีลูกเป็นตำรวจ และรู้จักนายตำรวจยศใหญ่นั้น

ชายต่างชาติ ระบุว่า เสียใจ ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอุบัติเหตุ เรื่องที่เกิดขึ้นวันนั้น ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตขนาดนี้ พร้อมกับยืนยันว่าไม่ได้เตะหมอ แต่สะดุดบันไดล้ม เพราะเกิดอุบัติเหตุ จนทำให้เท้าไปโดนหลังของอีกฝ่าย

ทั้งนี้ ขอโทษหากฝ่ายนั้นได้รับบาดเจ็บ

ชายต่างชาติระบุเพิ่มเติมว่า ตนมีหลักฐานชัดเจน หากตำรวจจะดำเนินคดี ก็พร้อมที่จะนำหลักฐานมาโชว์ โดยเป็นคลิปขณะเกิดเหตุ ว่ามีการสะดุดหรือกระทืบหรือไม่

ส่วนที่เดินเข้าไปหาหมอ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีคนบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ส่วนบุคคล กลัวว่าจะเป็นเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน จึงเดินเข้าไปหาคุณหมอ ขอให้ออกจากพื้นที่ แล้วเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ยืนยันไม่มีเจตนาทำร้ายหรือข่มขู่ใดๆ

29กพ2567
มติชน

79
งานเข้าวิลล่าหรูภูเก็ต จนท.ตรวจสอบ สั่งรื้อบันไดทิ้ง เหตุรุกที่สาธารณะ หลังหมอโดนทำร้าย ถูกกล่าวหาบุกรุก ไปนั่งในจุดบันไดลงชายหาดวิลล่าหรู

จากกรณี พญ.น้อง อายุ 32 ปี เป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ประจำคลินิก รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.ถลาง จ.ภูเก็ต ว่าถูกชายชาวต่างชาติทำร้ายร่างกาย และกล่าวหาว่าบุกรุก ไปนั่งในจุดบันไดลงชายหาดวิลล่าหรู

โดยคุณหมอเผยต้องการขอความเป็นธรรม เนื่องจากภรรยาชาวต่างชาติที่เป็นคนไทย อ้างว่ามีลูกชายเป็นตำรวจและรู้จักกับนายตำรวจใหญ่ของ จ.ภูเก็ต ซึ่งตนเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และได้แจ้งความไว้กับพ.ต.ท.ปฏิวัติ ยอดขวัญ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.ถลาง เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สำหรับความคืบหน้า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 ก.พ.67 นายไพโรจน์ ศรีละมุล นายอำเภอถลาง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต อำเภอถลาง และนายปัณยา สำเภารัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลป่าคลอก นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแนวเขตที่ดิน บริเวณวิลล่าที่เกิดเหตุ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง

จากการตรวจสอบพบว่า เจ้าของวิลล่าเคยนำชี้ขอออกโฉนด ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็น นส.3 ก. โดยแนวที่นำชี้คือ ขั้นบันไดที่ 1 ดังนั้นขั้นบันไดลงมา 2-4 เป็นการรุกล้ำที่ดินสาธารณะบริเวณแนวชายหาดทรายสาธารณะ จึงมอบหมายนายกเทศบาลตำบลป่าคลอก เข้าแจ้งความดำเนินคดีบุกรุกตามกฎหมาย และดำเนินการรื้อถอน

ด้านพ.ต.อ.ภาสกร สนธิกุล รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาก็จะออกหมายเรียก เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ไม่กังวลอะไร เพราะในวันนี้ทางคุณหมอนำรายงานการตรวจจากแพทย์โรงพยาบาลมาประกอบสำนวนแล้ว เพราะความหนักเบาของข้อหาอยู่ที่ลักษณะของบาดแผล และการรักษาที่แพทย์ลงความเห็นมา

ตอนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งคณะตรวจสอบความประพฤติของต่างชาติที่เข้ามาในภูเก็ต ผ่านคณะกรรมการ โดยมีตรวจคนเข้าเมืองเป็นเลขา เพราะในช่วงที่ผ่านมาจะมีชาวต่างชาติบางคน ประพฤติตนไม่เหมาะสม ก็จะมาเข้าคณะกรรมการชุดนี้ ถ้าเข้าข่ายในการเพิกถอนหนังสือเดินทาง ก็จะมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด

29 ก.พ. 2567
ข่าวสด

80
รัฐบาลเกาหลีใต้สั่งเร่งสอบสวนกรณีหญิงชราวัย 80 ปีเศษรายหนึ่งเสียชีวิต เนื่องจากรถพยาบาลที่ขับพาไปรักษาถูกโรงพยาบาลหลายแห่ง “ปฏิเสธ” ไม่รับ อ้างขาดแคลนบุคลากรจากการที่แพทย์ประท้วงหยุดงาน

แพทย์ฝึกหัดในเกาหลีใต้ราว 70% พร้อมใจกันหยุดงานประท้วงตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อคัดค้านแผนของรัฐบาลที่จะเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์ ขณะที่รัฐบาลประธานาธิบดี ยุน ซุกยอล ออกมาตำหนิแพทย์ที่ประท้วงว่ากำลังเอาชีวิตผู้ป่วยมาเป็นเครื่องต่อรอง

รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉินในเมืองแดชอน (Daejon) พยายามประสานไปยังโรงพยาบาลถึง 7 แห่งเพื่อขอส่งตัวหญิงชราเข้ารักษา แต่ก็ถูกปฏิเสธหมด โดยทางโรงพยาบาลอ้างว่ามีหมอและเตียงคนไข้ไม่เพียงพอ

สุดท้ายผ่านไป 67 นาที มีโรงพยาบาลประจำมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ยอมรับรักษา ทว่าเมื่อรถพยาบาลไปถึงคนไข้รายนี้ก็เสียชีวิตแล้ว เนื่องจากหัวใจล้มเหลว

เจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้ยืนยันวานนี้ (27) ว่าจะมีการสอบสวนเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง หลังจากที่เรื่องนี้กลายเป็นข่าวดังที่สร้างความสลดใจต่อผู้คน

คุณยายท่านนี้ยังคาดว่าจะเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกที่เชื่อมโยงกับกรณีแพทย์ฝึกหัดในเกาหลีใต้ประท้วงหยุดงาน

แม้รัฐบาลเกาหลีใต้จะยื่นคำขาดให้แพทย์ฝึกหัดเหล่านี้กลับมาทำงานภายในสิ้นเดือน ก.พ. ไม่เช่นนั้นก็จะมีการใช้กฎหมายลงโทษทั้งการดำเนินคดี จับกุม หรือแม้กระทั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทว่ายังคงมีแพทย์กว่า 9,000 คนที่ขัดขืนคำสั่ง ขณะที่แพทย์อีกราวๆ 10,000 คนตามโรงพยาบาลกว่าร้อยแห่งทั่วประเทศก็ยื่นใบลาออกแล้ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ก่อวิกฤตสาธารณสุขครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้ เนื่องจากแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินมีไม่เพียงพอ ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งก็ต้องเลื่อนนัดผ่าตัดคนไข้ หรือไม่ก็ส่งตัวไปรักษาที่สถานพยาบาลอื่นๆ

ประธานาธิบดี ยุน เมินข้อเรียกร้องขององค์กรแพทย์ที่กดดันให้รัฐบาลยกเลิกแผนรับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้น 60% โดยอ้างว่าจำเป็นต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนหมอซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรง เนื่องจากเกาหลีใต้กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

เกาหลีใต้ซึ่งมีประชากร 52 ล้านคน มีสัดส่วนแพทย์เพียง 2.6 ต่อประชากร 1,000 คนในปี 2022 ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3.7 ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และยังคงขาดแคลนแพทย์ในบางสาขา เช่น กุมารเวชศาสตร์ และสูติศาสตร์ เป็นต้น

รัฐบาลเกาหลีใต้หลายชุดที่ผ่านมาพยายามผลักดันให้วิทยาลัยแพทย์รับนักศึกษาเพิ่ม ทว่าก็ถูกต่อต้านจากองค์กรแพทย์เรื่อยมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขบางคนออกมาวิจารณ์ว่าแพทย์เหล่านี้เห็นแก่ประโยชน์ทางธุรกิจเป็นที่ตั้ง

ที่มา : BBC, รอยเตอร์

28 ก.พ. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

81
ไทยวิกฤติขาดพยาบาลราว 50,000  คน  สธ.เห็นชอบผลิตเพิ่ม 5,000 คน หลักสูตรเร่งรัดรับจบป.ตรี มาเรียน 2.6 ปี  ขณะที่ครม.เห็นชอบงบกว่า 37,000 ล้านบาท ผลิต “ทีมหมอครอบครัว” 9 สาขา ระยะ 10 ปี ราว 62,000 คน

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงสธ.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการเรื่องการเพิ่มการผลิตบุคลากร สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ เพื่อรองรับวิกฤติการขาดแคลนบุคลากรทางการพยาบาลตามที่สถาบันพระบรมราชชนกและสภาการพยาบาลเสนอ โดยเป็นการผลิตพยาบาลเพิ่มแบบเร่งรัดระยะเวลา 2 ปี ปีละ 2,500คน รวม 5,000 คน

เป็นการรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาแต่ถ้าจะดีจบสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาเรียนเพิ่มเติม 2.6 ปี จะเริ่มดำเนินการในปี 2568  มอบหมายให้สถาบันฯไปพิจารณาต่อเรื่องของหลักสูตร แหล่งผลิต และงบประมาณก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ต่อไป

ความจำเป็นที่ต้องผลิตพยาบาลเพิ่มอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีความขาดแคลนอยู่อีกราว 50,000 คน ซึ่งตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO สัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ270 คน แต่ภาพรวมของประเทศไทยอยู่ที่ 1 ต่อ 343 คน

อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการกระจายด้วยมี 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ  400 คน  15 จังหวัดสัดส่วน 1 ต่อมากกว่า 500 คน และ 5 จังหวัดที่สัดส่วนสูง คือ หนองบัวลำภู 1 ต่อ 712 คน บึงกาฬ 1 ต่อ 608 คน เพชรบูรณ์ 1 ต่อ 572 คน กำแพงเพชร 1 ต่อ 571 คน และศรีสะเกษ 1 ต่อ 569 คน

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2567 ครม.ได้เห็นชอบงบประมาณรว 37,200 ล้านบาทตามที่สธ.เสนอ  ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 รวม 16 ปี เป็นโครงการผลิตแพทย์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) หรือทีมหมอครอบครัว ใน  9 สาขา  ประกอบด้วย

แพทย์เวชศาสตร์
พยาบาล
นักวิชาการสาธารณสุข
ผู้ช่วยพยาบาล
ผู้ช่วยสาธารณสุข
ทันตแพทย์
เภสัชกร
นักฉุกเฉินการแพทย์
แพทย์แผนไทย

ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568-2577 เมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน โดยให้สถาบันพระบรมราชชนกผลิตเช่นกัน

การสร้างแรงจูงใจเพื่อให้คนมาเข้าศึกษาเป็นทีมหมอครอบครัว อาทิ

1.ปรับแก้ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดรับกับงาน

2.เงินตอบแทนวิชาชีพหรือพตส.จาก 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน เสนอขอเป็น 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน

3.อายุงานของผู้ที่ลงไปปฏิบัติงานในระกับปฐมภูมิ กำลังหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เพื่อให้นับอายุงานตั้งแต่ยังเรียน แต่ค่าตอบแทนได้รับเมื่อเรียนจบและปฏิบัติงานแล้ว

4.ความก้าวหน้า สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิได้

และ5.การจัดสรรงบประมาณให้สอดรับกับเนื้องาน เช่น งบฯเหมาจ่ายรายหัว ให้จัดสรรเรื่องของการส่งเสริมป้องกันโรคของปฐมภูมิแยกออกมา

นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบเรื่องการช่วยผู้ป่วยจิตเวชที่อาการรุนแรงไม่ยอมทานยา โดยให้จัดหายาฉีด LONG ACTING ANTIPSYCHOTIC INJECTABLE มาใช้ดูแลผู้ป่วย เนื่องจากมีผู้ป่วยที่เป็นเป้าหมายที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชเข้าข่ายสร้างความรุนแรงต่อสังคม 4.2 หมื่นคน แยกเป็นระดับ V1 ที่ทำร้ายตัวเอง และV4ที่ทำร้ายสังคม  เบื้องต้นให้รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป มีสำรองยาไว้ใช้ได้ราว 3 เดือน

 “ยาตัวนี้ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพภาครัฐ ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเสนอยาตัวนี้เข้าสู่ขั้นตอนเพื่อบรรจุในบัญชีบาหลักแห่งชาติ ส่วนระหว่างที่มีการพิจารณาให้เสนอเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อใช้เงื่อนไขเชิงนโยบาย พิจารณาใช้งบประมาณอุดหนุนมาจัดหาให้ผู้ป่วยใช้ก่อน”นพ.ชลน่านกล่าว

21 ก.พ. 2567
https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1114254

82
ครม. เห็นชอบผลิตแพทย์ฯ 9 สาขาวิชาชีพ 10 ปี จำนวน 62,000 คน โดยอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ รวมกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (20 ก.พ. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัวตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย

พร้อมกันนี้ได้อนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
 
นายชัย โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า โครงการผลิตแพทย์ฯ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่

1.แพทย์เวชศาสตร์
2.พยาบาล
3.นักวิชาการสาธารณ์สุข
4.ผู้ช่วยพยาบาล
5.ผู้ช่วยสาธารณสุข
6.ทันตแพทย์
7.เภสัชกร
8.นักฉุกเฉินการแพทย์
9.แพทย์แผนไทย
 
สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข และกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568 – 2577 ซึ่งเมื่อครบระยะเวลาโครงการจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน

โดยกรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการผลิตแพทย์ฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 รวมระยะเวลา 16 ปี ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.บุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขสามารถพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศตามแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว
2.บุคลากรของสถาบันพระบรมราชชนกและหน่วยงานเครือข่ายใน สธ. ได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะตอบสนองความต้องการการผลิตบุคลากรตามแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว
3.กระจายโอกาสทางการศึกษาทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค

20 ก.พ. 2567
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1114136

83
“ปัญหาคนไม่พอ เร่งผลิต ถ้าให้คิดคือคุณดึงคนอยู่ในระบบไม่ได้…​วันนี้ คุณวิเคราะห์ปัญหาถึงรากเหง้ากันหรือยัง?” เป็นเสียงสะท้อนจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย หลังมีข่าวนโยบายเพิ่มจำนวนพยาบาลเข้าสู่ระบบ

‘1 ต่อ 343 คน’ คือตัวเลขเฉลี่ยของสัดส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อจำนวนประชากรในประเทศไทย และ 1 ต่อ 712 คน คือสัดส่วนในจังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งพยาบาลขาดแคลนมากที่สุด ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุสัดส่วนที่ควรจะเป็นไว้ที่ 1 ต่อ 270 คนเท่านั้น โดยพบว่าเฉลี่ยแล้ว ไทยยังขาดแคลนพยาบาลอยู่มากถึง 51,420 คน

จากข้อมูลที่สะท้อนปัญหาขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชนนี้ สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล จึงมีข้อเสนอในการผลิตพยาบาลเพิ่มเฉลี่ยปีละ 2,500 คน โดยให้ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีจากสาขาใดก็ได้ เรียนต่อในคณะพยาบาลศาสตร์อีก 2 ปีครึ่ง โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าเห็นชอบกับนโยบายนี้ และจะเริ่มดำเนินการในปี 2568

การเพิ่มคนเข้าระบบเพียงอย่างเดียวจะเป็นการแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลนได้จริงหรือ?​ หรือมีปัจจัยอะไรมากกว่านั้น? นี่เป็นประเด็นที่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนทั่วไปกำลังวิจารณ์ถึงนโยบายนี้บนโซเชียลมีเดีย The MATTER จึงไปรวบรวมคำตอบต่อคำถามเหล่านี้มาให้

สรุปปัจจัย ทำไมพยาบาลถึงลาออก

1.ไม่มีความก้าวหน้า : พยาบาลจำนวนมากตำแหน่งเงินเดือนตันเนื่องจากระบบ ระบบก้าวหน้าไม่เป็นไปตามความรู้ความสามารถ แม้จะจบปริญญาโท–เอก แต่ก็ยังต้องอยู่ในระดับชำนาญการ
2. งานหนัก : พยาบาลต้องทำงานติดต่อกันถึง 24 ชั่วโมง และเพราะคนไม่เพียงพอ จึงมีภาระงานมากถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สวนทางกับประกาศจากสภาการพยาบาลเรื่องนโยบายชั่วโมงการทำงาน ว่าพยาบาลไม่ควรทำงานเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หรือหากมากกว่านั้นต้องเป็นไปตามความสมัครใจ และควรหลีกเลี่ยงการทำงานเกิน 12 ชั่วโมงต่อวันติดกันเกิน 3 วันใน 1 สัปดาห์
3. เงินน้อย : ค่าตอบแทนพยาบาลวิชาชีพ ตามประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข อยู่ที่ 1,000-22,800 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดจากค่าเวร 600 บาทต่อวัน และเวรบ่าย–ดึก 240 บาทต่อวัน นอกจากนั้นยังมีค่าตอบแทนที่ประมาณการไม่ได้ เช่น การช่วยผ่าตัด ช่วยเตรียมผู้ป่วย หรือคลินิกนอกเวลา
4. สวัสดิการบ้านพัก : สภาพบ้านไม่พร้อมแก่การอยู่อาศัยเพราะโครงสร้างไม่ได้รับการซ่อมแซมมาเป็นเวลานาน และจากสถิติในปี 2561 บ้านพักพยาบาลยังไม่เพียงพออีกกว่า 7,000 แห่ง

โดยผลสำรวจจากสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ในปี 2563 เก็บข้อมูลจากพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขจำนวน 4,563 คน พบว่า ‘เบื่อระบบ ไม่ก้าวหน้า และรายได้ไม่เพียงพอ’ เป็นปัจจัยสามอันดับแรกที่ทำให้อยากลาออก ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 46% ตอบว่าคิดจะลาออกก่อนเกษียณ ซึ่งในปัจจุบัน ข้อมูลจากสภาการพยาบาลเผยว่า มีจำนวนพยาบาลลาออกเฉลี่ยปีละ 7,000 คน

The MATTER ไปคุยกับ เตย (นามสมมติ) นักศึกษาพยาบาลจบใหม่ ถึงความรู้สึกที่มีต่อประเด็นนี้ เตยบอกเราว่า “เรามีความกังวลกับการทำอาชีพพยาบาลในอนาคต เพราะจบแล้วยังต้องใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐ แบกรับความเสี่ยงเรื่องการฟ้องร้อง และงานหนัก แต่เงินน้อย” 

เตยจึงเห็นว่านโยบายการแก้ไขปัญหานี้ไม่ตรงจุด และยังกังวลกับการให้เรียนพยาบาลต่อเพียงสองปีครึ่ง โดยเห็นว่าจำนวนเวลาที่น้อยอาจไม่เพียงพอต่อเนื้อหาทั้งหมดและไม่มีประสบการณ์มากเพียงพอ จึงอาจไม่เป็นผลดีกับผู้เข้าใช้บริการหรือผู้ป่วยได้

ในด้านของประชาชนทั่วไป มีการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ทั้งไม่เห็นด้วยกับนโยบาย เพราะมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และคิดว่าทักษะที่ได้จากเวลาเพียงสองปีครึ่งอาจไม่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ดี อีกฝั่งหนึ่งเห็นด้วยกับการให้เรียนจบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้และเรียนต่อพยาบาลอีกสองปีครึ่ง เพราะพยาบาลเป็นอาชีพที่ขาดแคลนทั้งในและนอกประเทศ และเห็นว่าจะได้มีคนเพิ่มขึ้นเพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระงาน

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เล่าถึงรายละเอียดหลักสูตรนี้ว่า “เป็นหลักสูตรเร่งรัดมาตรฐาน ใช้เวลาผลิต 2 ปีครึ่ง รับจากผู้จบการศึกษาปริญญาตรี ไปต่อยอดเร่งรัดการผลิต ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ แต่มีข้อสังเกตกระบวนการผลิต หลักสูตรการรับรอง ความพร้อมของแหล่งผลิต เรื่องงบประมาณ จึงให้ทาง สบช. และผู้เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อ ครม. ต่อไป”

หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากถึงความไม่เหมาะสมของนโยบาย จึงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการแก้ไขนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์การขาดแคลนพยาบาล รวมถึงบุคลากรทางสาธารณสุขต่างๆ จะถูกแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะสมองไหลออกจากระบบดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

23 February 2024
https://thematter.co/brief/thai-nurse-problems-in-system/222940

84
วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2567) ศ.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชนก (สบช.) เปิดเผยถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์วิพาก์วิจารณ์เกี่ยวกับการเปิดหลักสูตรผลิตพยาบาลเร่งด่วน 2 ปีครึ่ง โดยเปิดให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์เข้าเรียน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาล จำนวน 2 รุ่น ว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สบช. และสภาการพยาบาลมีความห่วงใยในเรื่องนี้ โดยสัปดาห์หน้า คณะพยาบาลศาสตร์ สบช. และ ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการพยาบาลจะมีการหารือเรื่องคุณภาพการเรียนในหลักสูตรนี้

“หลักสูตรการเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ คณะพยาบาลทั่วประเทศมีการหารือร่วมกันและพิจารณา จนเกิดหลักสูตรการเรียนการสอนนี้ขึ้น มีการเริ่มเรียนไปแล้วในมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” ศ.นพ.วิชัย กล่าวและว่า การเรียนหลักสูตรพยาบาลนี้ เน้นกลุ่มคนเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีการเจาะลึกข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ และภาคปฏิบัติ โดยคงหัวใจหลักของหลักสูตรไว้ คือ การขึ้นวอร์ด หรือ เวรปฏิบัติ ที่ต้องมีชั่วโมงการเรียนที่ครบถ้วน เพราะคือทักษะสำคัญของการเป็นพยาบาล

ศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า ยืนยันว่า สบช.ที่มีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีมากถึง 30 แห่ง ยังคงคุณภาพการเรียนการสอนเหมือนเดิม ไม่ได้ละวางหรือปล่อย โดยหลักสูตรพยาบาล 4 ปี กับ 2 ปีครึ่ง เนื้อหาและคุณภาพไม่แตกต่างกัน หากแต่นำบางวิชาที่ได้เรียนไปในพื้นฐานของปริญญาตรีมาเทียบโอน ส่วนวิชาการเป็นหัวใจ ยังต้องเรียนเสมอ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานและค่าตอบแทน ศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า ทราบว่า รัฐมนตรีว่าการ สธ. กำลังเตรียมพิจารณาเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า พยาบาลส่วนใหญ่ที่มีอายุการทำงานนาน มีประสบการณ์มาก หรือ มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักจะขอย้ายตัวเองไปขึ้นวอร์ดเช้า ทำงาน 8 ชั่วโมง หรือหันไปทำอาชีพอื่น เนื่องจากประสบการณ์การทำงานจนเชี่ยวชาญสามารถเป็นครูพยาบาลได้ มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยหลายแห่งต้องการตัว ต้องยอมรับว่า บางคนพลาดหวังจากตำแหน่งราชการหรือเงินเดือน ด้วยอายุที่มากขึ้น มีภาระครอบครัว จึงหันไปทำอาชีพอื่นแทน

24 กุมภาพันธ์ 2567
มติชน

85
“ชลน่าน” มอบปลัดสธ.หารือ สภาการพยาบาล ถก ‘พยาบาลขาดแคลน’ กับหลักสูตรการเรียนการสอน 2 ปีครึ่งตอบโจทย์แค่ไหน ด้าน นายกสภาการพยาบาลแจงคุมคุณภาพทุกหลักสูตรการเรียนการสอน ขณะที่หลักสูตร 2ปีครึ่ง จริงๆแค่ขั้นต่ำ แต่อาจมากกว่านี้ ที่สำคัญจบแล้วต้องสอบใบประกอบวิชาชีพทั้งหมด  ย้ำความเป็น "พยาบาล" ไม่ต่างกัน เป็นการให้โอกาสคนจบ ป.ตรีแล้วมาต่อยอด 

จากกรณีที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นชอบกรณีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เสนอโครงการผลิตพยาบาลแบบเร่งด่วน หลักสูตร 2 ปีครึ่ง เริ่มปีการศึกษา 2568 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาล ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพมาตฐานของหลักสูตรจะไม่เท่าการเรียน 4 ปี และอาจไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องของค่าตอบแทนและภาระงาน

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอบคำถามสื่อสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ที่ประชุมผู้บริหาร สธ.แค่เห็นชอบในหลักการ และ สบช.เพิ่งเสนอเข้ามา ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดอะไร แค่เสนอวิธีแก้ปัญหาว่าวิธีการแบบนี้จะแก้ได้ไหม ยังต้องไปดูรายละเอียดอีกเยอะ  ล่าสุดได้มอบหมายให้มีการหารือรายละเอียดเหล่านี้ ซึ่งช่วงบ่ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือประเด็นต่างๆกับทางสภาการพยาบาลเช่นกัน

สภาการพยาบาล เผยรายละเอียดหลักสูตร 2 ปีครึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นหลักสูตรการเรียนพยาบาล 2 ปีครึ่ง เกิดคำถามว่า นอกจากคุณภาพหลักสูตรจะเทียบเท่าพยาบาล 4 ปีหรือไม่แล้ว ยังมีคำถามสำคัญคือ จะแก้ปัญหาให้พยาบาลคงอยู่ในระบบอย่างไร เพราะสุดท้ายมองว่า เมื่อเติมเข้าระบบแต่หากไม่มีแรงจูงใจที่ดีพอก็ไหลออกอยู่ดี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่สภาการพยาบาล รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า สภาการพยาบาลในฐานะองค์กรวิชาชีพ ทำหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเพื่อคุ้มครองประชาชน สนับสนุนการผลิตพยาบาลอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เช่น พัฒนาพยาบาลวิชาชีพเฉพาะทางและพยาบาลเชี่ยวชาญในระบบ เพื่อรองรับการดูแลความเจ็บป่วยในปัจจุบัน เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สำหรับการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรี แบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต รับนักศึกษาจากคุณวุฒิประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า จากเดิมที่รับเฉพาะสายวิทย์ ตอนนี้ก็ไม่มีการแบ่งสายแล้ว มีระยะเวลาศึกษา 4 ปี และ 2.หลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาชีพการพยาบาล รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่นๆ มีระยะเวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี 6 เดือน

ย้ำ! หลักสูตรพยาบาลต้องมีมาตรฐานทั้งหมด
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ทั้งสองหลักสูตรเราดำเนินงานตามมาตรฐานของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เหมือนกัน คือ โดยสถาบันการศึกษาที่จะเปิดหลักสูตรพยาบาล จะต้องนำเสนอหลักสูตรมายังสภาการพยาบาลเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน โดยสภาฯ จะดูหลักสูตรว่าต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง มีจำนวนอาจารย์เท่าไร ซึ่งจะรับจำนวนนักศึกษาได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับจำนวนอาจารย์ เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะส่งไปยัง อว.พิจารณา แล้วถึงส่งไปยังสภามหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาแห่งนั้นอนุมัติในการเปิด เรียกได้ว่าหลักสูตรพยาบาลที่จะเปิดเราดูแลคุณภาพมาตรฐานถึง 3 ชั้น ทั้งเกณฑ์มาตรฐานของ อว. วิชาชีพ และมหาวิทยาลัย พยาบาลปริญญาตรีที่จบออกมาไม่ว่าที่ไหนก็ต้องผ่านมาตรฐานนี้ทั้งสิ้น

"ที่สำคัญผู้สำเร็จเป็นบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์ จะต้องเข้ามาสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะทำเป็นระดับประเทศ คือจบมาสอบพร้อมกัน แต่ละรุ่นมีการสอบ 9 พัน - 1 หมื่นคน หลังสอบได้ใบประกอบวิชาชีพก็จะไปทำหน้าที่ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล ตรงนี้เป็นการรับประกันคุณภาพอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ เรายังมีการกำกับมตรฐานสถาบันการศึกษาด้วย เราจะเข้าไปรับรอง ยิ่งหลักสูตรพยาบาลเปิดใหม่เราต้องเข้าไปรับรองทุกปี" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว

หลักสูตรพยาบาลปริญญาตรี (2ปีครึ่ง) รวม 106 แห่ง
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่ผลิตหลักสูตรพยาบาลปริญญาตรี จำนวน 106 แห่งในประเทศไทย รับนักศึกษารวมปีละประมาณ 12,500 คน ถือว่าผลิตได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสถานศึกษามีการเปิดมากขึ้นทุกปี ส่วนการผลิตพยาบาลจากผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น ปัจจุบันมีประมาณ 4 แห่ง เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จำนวนคนเรียนหลักสูตรนี้มีไม่มากปีแรกประมาณ ไม่เกิน 250 คน ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่เรียนจบปริญญาตรีสาขาอื่นมาต่อยอดหรือเป็นทางเลือกในการไปประกอบอาชีพ ส่วนของสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เขาก็เสนอหลักสูตรมาให้สภาฯ พิจารณา ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเริ่มในปีการศึกษา 2568 ก็ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาหลักสูตรตามเช่นกัน

หลักสูตร 2 ปีครึ่งเทียบโอนหน่วยกิต ไม่แตกต่าง 4 ปี
ถามถึงรายละเอียดหลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่ง มีความเข้มข้นเหมือนหรือแตกต่างจากพยาบาล 4 ปีอย่างไร  รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ตามข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ระดับวิชาชีพสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น พ.ศ. 2563 มีการกำหนดรายละเอียดเอาไว้ ซึ่งเราใช้โครงสร้างแบบเดียวกับหลักสูตร 4 ปี จำนวนหน่วยกิตรวมของหลักสูตรไม่น้อยกว่า 120 หน่วยกิต และไม่เกิน 150 หน่วยกิต เพียงแต่เปิดโอกาสให้สามารถเทียบโอนรายวิชาที่เรียนมาแล้วในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี ตามแนวปฏิบัติของ อว.และระเบียบการเทียบโอนผลการเรียนของสถาบันการศึกษา ซึ่งบางแห่งอาจเทียบโอนได้มาก บางแห่งเทียบโอนได้น้อย ซึ่งรายวิชาไหนที่เทียบโอนไม่ได้ก็ต้องไปลงเรียนเพิ่ม อย่างวิทยาศาสตร์ทั่วไปถ้าเทียบโอนไม่ได้ก็ต้องมาสอบเรียนเพิ่ม ส่วนที่ต้องเรียนเกี่ยวกับพยาบาลจริงๆ ก็จะมี 2 กลุ่มรายวิชา คือ

1.วิทยาศาสตร์สุขภาพที่สัมพันธ์กับรายวิชาการการพยาบาล ซึ่งจะเรียนแบบบูรณาการ ครอบคลุมเนื้อหาสาระ อาท กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ชีวเคมี จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา พยาธิวิทยา เภสัชวิทยา  ชีวสถิติ จิตวิทยาพัฒนาการตามวัย โภชนศาสตร์  และระบาดวิทยา และ 2.กลุ่มวิชาชีพ รายวิชาเฉพาะสาขาวิชาชีพพยาบาล ทั้งภาคทฤษฎี การเรียนในห้องปฏิบัติการ และภาคปฏิบัติทางการพยาบาล มีเนื้อหาครอบคลุมที่ทำให้เกิดสมรรถนะผู้ประกอบวิชาชีพ และต้องมีการฝึกปฏิบัติงานอย่างน้อย 36 หน่วยตามข้อกำหนดมาตรฐานของ อว. ซึ่งหลักสูตร 2 ปีครึ่งก้ต้องผ่าน 36 หน่วยเช่นกัน

"ดังนั้น จริงๆ แล้วการเรียนหลักสูตรพยาบาลสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีมาแล้ว จริงๆ อาจคืออาจจะต้องเรียนอย่างน้อย 2 ปีครึ่งหรือมากกว่านี้ ขึ้นกับการเทียบโอนรายวิชา หากโอนไม่ได้ก็ต้องเรียนเพิ่ม และการเรียนที่จะต้องผ่านตามมาตรฐาน อย่างฝึกปฏิบัติงานบางแห่งอาจจะกำหนดมากกว่า 36 หน่วยก็ได้" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว

หลักสูตร 2 ปีครึ่ง เพื่อเปิดโอกาสสาขาอื่นต่อยอดเรียน
ถามว่ามีการสื่อสารออกไปว่า เป็นหลักสูตรเร่งรัดเพื่อผลิตพยาบาลแบบเร่งด่วนแก้ปัญหาขาดแคลน แต่จริงๆ หลักสูตรนี้เป็นการเปิดโอกาสให้คนมาเรียน  รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า หลักสูตรพยาบาล 2 ปีครึ่ง เราเปิดโอกาสให้คนมาเรียนต่อยอด เนื่องจากกลุ่มที่มาเรียนนี้ก็คือคนที่สำเร็จปริญญาตรีแล้ว ก็จะมีความรู้ชุดหนึ่งหรืออาจจะไปทำงานมาแล้ว ก็ดูจะมีความเป็นผู้ใหญ่และเป้าหมาย เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ อย่างบางคนแม่เป็นพยาบาลอยู่แล้วเปิดเนอร์สซิ่งโฮม เขาก็มาเรียนต่อพยาบาลเพื่อกลับไปช่วยงานที่บ้าน หรือบางคนจบวิศวะมาต่อพยาบาล ก็ไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อช่วยดูแลสุขภาพต่อ หรือบางคนก็อยากมาทำงานต่อด้านนี้ ซึ่งจะเห็นว่าช่วยให้มีโอกาสทำงานที่กว้างและไกลมากขึ้น ซึ่งต่างประเทศก็มีการเปิดหลักสูตรเช่นนี้ ก็เป็นทางเลือกที่ อว.ก็เห็นตรงเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คน และเป็นเทรนด์ของการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง อุดมศึกษาก็มุ่งไปที่การศึกษาที่รองรับคนวัยทำงานแล้วมาเรียนต่อมากขึ้น

"ตรงนี้เป็นหลักสูตรเปิดโอกาสให้คนที่มุ่งมั่นได้มาเรียนพยาบาล ไม่ได้คำนึงว่าจะต้องผลิตได้มากน้อยเท่าไร หรือต้องเติมคนเข้าระบบ ซึ่งอาจจะเติมได้บ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้องมีคนตัดสินใจที่จะมาเรียน ซึ่งแตกต่างจาก ม.ปลายที่สมัครเข้าเรียน เพราะ ม.ปลายที่สมัครเขามาแรงดึงดูดว่าเรียนพยาบาลจบแล้วมีงานทำ 99% นอกจากนี้ หลังจากเปิดหลักสูตร 2 ปีครึ่งมาแล้ว 2 ปี ทำให้คิดว่านี่เป็นโอกาสของประชาชนด้วย จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลจากพยาบาลมากขึ้น" รศ.ดร.สุจิตรากล่าว

ทางออกแก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน
รศ.ดร.สุจิตรากล่าวว่า ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาความขาดแคลนพยาบาล สภาการพยาบาลเราคำนึงตลอด ซึ่งสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อพันกว่ามาตลอดตั้งแต่ปี 2536 ตั้งแต่นั้นเราก้มีการผลิตพยาบาลเพิ่ม ส่วนปัจจุบันเรามีประมาณ 2.5 แสน แต่เราควรมี 3 แสนคน ก็ต้องการอีก 5 หมื่นคน โดยเฉพาะการลงไปอยู่ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งบ่ายวันที่ 28 ก.พ.จะมีการหารือกับ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ถึงข้อเสนอในการดูแลบุคลากรพยาบาลทุกด้าน ทั้งความขาดแคลน ภาระงาน ค่าตอบแทนต่างๆ

ถามถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรียนหลักสูตร 2 ปีครึ่ง เหมือนต้องมาสอนงานใหม่หมด เพราะทำอะไรไม่เป็น  รศ.ดร.สุจิตรา  กล่าวว่า ไม่ว่าจะหลักสูตรไหน เมื่อจบพยาบาลออกมา สิ่งที่พยาบาลใหม่ทำได้คือ ตามรายวิชาพื้นฐาน จากห้องแล็บแล้วไปฝึก รพ. อย่างพอไปวอร์ดอายุรกรรม ก็ต้องทำพื้นฐานพยาบาลอายุรกรรม แต่ปัจจุบันคนไข้เราซับซ้อน การมอบหมายงานพยาบาลจบใหม่จึงควรดูแลน้องๆ เชื่อว่าเมื่อเข้าไปทำงาน ทุกหน่วยบริการจะมีการปฐมนิเทศให้เด็กไปดูว่า ที่นี่ทำอะไรบ้าง น้องใหม่ต้องทำอะไรบ้าง เช่น ถูกไปอยู่อายุรกรรม ก็ต้องเวียนดูทุกวอร์ดในอายุรกรรม ไม่ว่าจะหลักสูตร 4 ปี หรืออย่างน้อย 2 ปีครึ่ง จบออกมาแล้ว "ความเป็นพยาบาลเท่ากัน"

28 February 2024
https://www.hfocus.org/content/2024/02/29866

86
สธ.แก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน เพิ่มหลักสูตรเรียนพยาบาลจบใน 2 ปีครึ่ง เปิดโอกาสให้ผู้ปริญญาตรีทุกสาขา เรียนหลีกสูตรพยาบาลจบใน 2 ปีครึ่ง หลังพบบางพื้นที่พยาบาล 1 คน ต้องดูแลประชากร 700 คน

วันนี้ (21 ก.พ.2567) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบข้อเสนอจากสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล ในการผลิตพยาบาลเพิ่มในได้ภายใน 10 ปี หรือจำนวน 10,000 คน เฉลี่ยปีละ 2,500 คน โดยเปิดโอกาสให้ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ มาศึกษาต่อในคณะพยาบาลศาสตร์อีก 2 ปีครึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลน

โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2568 เนื่องจากปัจจุบันพบว่า มีปัญหาขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชน บางพื้นที่มีพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 700 คน อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมเฉลี่ยยังขาดแคลนอยู่ถึง 51,420 คน ในภาพรวมพบว่าพยาบาล1 คนต้องดูแลประชากร 343 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเกณฑ์และสัดส่วนของพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 270 คนเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย พบว่า มีปัญหาการกระจายกำลังคนด้านสุขภาพในส่วนภูมิภาค 42 จังหวัดที่มีสัดส่วนมากกว่า พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 400 คน และมี 15 จังหวัดที่มีสัดส่วน พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 500 คน
และมีถึง 5 จังหวัด ที่พบสัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากรจำนวนมาก คือ 
1.หนองบัวลำภู สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 712 คน
2.บึงกาฬ สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อพยาบาล 608 คน
3.เพชรบูรณ์ สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 572 คน
4.กำแพงเพชร สัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อประชากร 571 คน และ
5.ศรีสะเกษ สัดส่วนพยาบาล 1คน ต่อประชากร 569 คน

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่เรื่องการผลิตพยาบาล ยังมีอีกโครงการที่ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบผลิตทีมหมอครอบครัว ซึ่งเป็นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ 9 สาขา เพื่อไปประจำในหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฯ พยาบาล ทันตแพทย์ชุมชน เภสัชกรชุมชน แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล นักจัดการฉุกเฉินชุมชน และนักวิชาการสาธารณสุข คาดจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี เมื่อผลิตครบจะมีคนเข้าสู่ระบบราว 6.2 หมื่นคน

21 ก.พ. 67
ไทยพีบีเอส

87
ครม. เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพฯ 62,000 คน ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี แต่ใช้งบรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ 2568-2583

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์และทีมนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเวชศาสตร์ครอบครัว ตอบสนองต่อระบบสุขภาพปฐมภูมิทั่วไทย และอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการผลิตแพทย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 37,234.48 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ

สำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข กระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2568-2577 ซึ่งจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 รวม 16 ปี.

20 ก.พ. 2567
ไทยรัฐ

88
คติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชาวันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัท น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน ๓ หลังสมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสรู้และประกาศพระศาสนาแล้ว ๙ เดือน

เมื่อพิจารณาจากประวัติการณ์แห่งวันจาตุรงคสันนิบาต ย่อมเห็นประจักษ์ว่า พระภิกษุผู้มาประชุมกันเป็นมหาสังฆสันนิบาตนั้น ต่างพรั่งพร้อมกันมา ณ เวฬุวันมหาวิหาร ด้วยอานุภาพแห่ง “คารวธรรม” พุทธบริษัททั้งหลายผู้เป็นอนุชน จึงพึงเทิดทูนจริยาของพระอรหันต์ทั้งนั้น ขึ้นเป็นแบบอย่างทางประพฤติแห่งตน ๆ โดยสำนึกว่า ถึงแม้พระสาวกทุกรูป ได้บรรลุถึงคุณธรรมสูงสุด ดับกิเลสเพลิงทุกข์ได้สิ้นเชิงแล้ว แต่ก็ยังคงเคารพนอบน้อมอย่างยิ่งต่อพระบรมศาสดา และพระธรรม เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทผู้มุ่งหมายความสุขความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม จึงจำเป็นต้องมี “นิวาตธรรม” คือความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นพื้นอุปนิสัย ขอจงระลึกไว้ว่า คุณธรรมแห่งพระอรหันต์นั้น สูงส่งเหนือกว่าอิสริยยศทั้งปวงในโลก หากแต่พระอรหันต์กลับปราศจากความอวดดื้อถือดี ปราศจากความเนรคุณลบหลู่ดูหมิ่น เพราะทุกรูปต่างมีความคารวะนอบน้อมอย่างมั่นคง ต่อพระรัตนตรัย ต่อการศึกษา ต่อความไม่ประมาท และต่อการปฏิสันถาร ดังนี้ บรรดาผู้ยังมีธุลีในดวงตา มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองครอบงำใจอยู่ จึงพึงเพียรหมั่นเพิ่มพูนคารวธรรม ให้งอกงามขึ้นในตนอยู่เสมอ ให้สมด้วยธรรมภาษิตที่ว่า “มหตฺตปตฺโตปิ นิวาตวุตฺติ” แปลความว่า “ถึงแม้จะดำรงตำแหน่งใหญ่ คืออิสริยยศที่กว้างขวาง แต่ก็ไม่ผยองด้วยยศ ถ่อมตน ทำตามโอวาทของบัณฑิต.” เพื่อความผาสุกร่มเย็นในจิตใจตน ตลอดจนประเทศชาติ และโลกนี้ได้อย่างยั่งยืน

ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอสาธุชนทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองสถาพรสืบไป เทอญ.”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

89
วันที่ 23 ก.พ. รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจขยายบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในโรงพยาบาลอย่างเต็มรูปแบบเป็นการชั่วคราว เนื่องจากความกังวลว่าวิกฤตระบบการแพทย์จะย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ เนื่องจากการหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหัดทั่วประเทศ

แพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านหลายพันคนในโรงพยาบาลรัฐในกรุงโซลและหลายเมืองได้ลาออกจากงานและหยุดงานประท้วงต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แล้ว เพื่อคัดค้านแผนของรัฐบาลที่จะรับนักเรียนเข้าโรงเรียนแพทย์เพิ่มอีก 2,000 คนในปีหน้า

นอกจากการขยายบริการแพทย์ทางไกลแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ยังยกระดับคำเตือนวิกฤตด้านสุขภาพของรัฐขึ้นสู่ระดับ “ร้ายแรง” หรือระดับสูงสุด ซึ่งเป็นครั้งแรก และได้กำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน

พัค มินซู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ กล่าวว่า “บริการการแพทย์ทางไกลจะได้รับอนุญาตเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้ จนกว่าแพทย์จะยุติการนัดหยุดงาน”

เขาเสริมว่า “รัฐบาลจะยกเลิกกฎระเบียบทั้งหมดเกี่ยวกับบริการการแพทย์ทางไกลเป็นการชั่วคราว คลินิกท้องถิ่นระดับล่าง ๆ หลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่รองรับผู้ป่วยที่ไม่รุนแรง จะได้รับอนุญาตให้ให้บริการดังกล่าวได้”

บริการการแพทย์ทางไกลเปิดให้บริการบางส่วนตั้งแต่ปี 2020 หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวด มีเพียงโรงพยาบาลระดับสูงเท่านั้นที่มีสิทธิ์ให้บริการการแพทย์ทางไกลสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้มาโรงพยาบาลเป็นครั้งแรก ยกเว้นผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงกรณีที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนและวันหยุด

ณ คืนวันที่ 22 ก.พ. จากแพทย์ฝึกหัดของประเทศจำนวน 13,000 คนในโรงพยาบาลใหญ่ 96 แห่งในกรุงโซลและเมืองอื่น ๆ พบว่า มีอยู่ 8,897 คน หรือ 78.5% ได้ยื่นเรื่องลาออกแล้ว และ 7,863 คนในจำนวนนั้นไม่มาทำงานเลย

ตัวเลขล่าสุดลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขวันก่อนหน้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแพทย์กลับมาทำงานแล้ว เนื่องจากมีโรงพยาบาล 6 แห่งที่ไม่ได้นำข้อมูลมารวมด้วย เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ

โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ได้ลดการผ่าตัดในห้องผ่าตัดลงเหลือเพียง 50% และผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องถูกเลื่อนการผ่าตัดและการรักษาที่จำเป็นอื่น ๆ ออกไป

รัฐบาลได้รับการร้องเรียนเพิ่มเติม 40 เรื่องจากผู้ป่วยและคนอื่น ๆ เกี่ยวกับการหยุดงานประท้วงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดรายงานดังกล่าวอยู่ที่ 189 เรื่องแล้ว ณ วันที่ 22 ก.พ.

เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคนหนึ่งบอกว่า “สิ่งต่าง ๆ จะวุ่นวายไปหมด หากสถานการณ์ดำเนินต่อไปอีกสักสัปดาห์หนึ่ง”

ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ระยะเวลาการฝึกอบรมสำหรับแพทย์ฝึกหัดจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าร่วมการหยุดงานประท้วงนั้น คาดว่าจะสิ้นสุดในเดือน ก.พ. นี้ และสัญญาของแพทย์จำนวนมากก็จะสิ้นสุดลงภายในสิ้นปีนี้ด้วย นั่นหมายความว่า แม้แพทย์เหล่านี้จะไม่ได้ลาออกหรือหยุดงานประท้วง แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการแพทย์ในเกาหลีใต้เพิ่ม

แพทย์อีกคนหนึ่งบอกว่า “ภาระงานส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น 3 เท่า และระบบปัจจุบันจะคงอยู่ได้ไม่นาน เราจะเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ที่แท้จริงหลังจากวันที่ 29 ก.พ.”

สำหรับการประกาศคำเตือนวิกฤตด้านสุขภาพเป็นระดับร้ายแรง รัฐบาลให้คำมั่นว่า จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากสถาบันการแพทย์สาธารณะ โดยขยายเวลาทำการในวันธรรมดาให้นานที่สุด และขยายบริการช่วงสุดสัปดาห์และวันหยุด รวมถึงจะเพิ่มหน่วยที่รับผิดชอบในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย

นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดใช้งานคำเตือนระดับสูงดังกล่าว เนื่องจากปัญหาด้านบริการทางการแพทย์

รัฐบาลได้เตือนว่า ผู้ที่เป็นหัวหอกในการรณรงค์ให้แพทย์หยุดงานหรือลาออกอาจถูกจับกุม และอาจถูกยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

PPTVHD36
23 ก.พ.2567

90
ตำรวจหญิง สังกัดพิสูจน์หลักฐาน จ.นนทบุรี ยื่นใบลาออก ร่ายยาวเหตุผล แต่ละอย่างสุดพีก ทั้งเหนื่อย อึดอัด อ้างนายลำเอียง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จนป่วยซึมเศร้า

วันที่ 23 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี ในโลกโซเชียลมีการแชร์ บันทึกข้อความขอลาอออก ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงนายหนึ่ง สังกัดพิสูจน์หลักฐาน จ.นนทบุรี ซึ่งระบุว่า ตัวเองเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 พร้อมอ้างว่ามีความประสงค์ขอลาออกจากราชการเพราะอึดอัด เหนื่อย ปัญหาที่ทำงานเยอะ นายเลือกที่รักมักที่ชัง ลำเอียง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า และคิดจะฆ่าตัวตาย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ต่อมา ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังพิสูจน์หลักฐานจังหวัดนนทบุรี ริมถนนนนทบุรี 1 เพื่อสอบถามเรื่องการลาออกดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ ว่าที่ พ.ต.ท.หญิง คนดังกล่าว ได้เดินทางไปยัง ศปก.ตร. เพื่อชี้แจ้งถึงเหตุผลในการลาออกครั้งนี้แล้ว.

23 ก.พ.2567
ไทยรัฐ

หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 650