แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 458 459 [460] 461 462 ... 648
6886
 กพย. ชี้การเมืองแทรกแซงระบบ ทำคนไทยได้ยาแพงขึ้นทุกวัน กรรมการยาเผยบริษัทยากดดันบัญชียาหลักผ่านความคิดหมอ การเมืองจับมือธุรกิจยาข้ามชาติ ปรับโครงสร้างกรรมการยาสนุกมือ
       
       
       เวลาที่คนเราไม่สบาย เราจะคิดว่าจะไปรักษาอย่างไร คนที่มีเงินทองไม่เดือดร้อนก็จะไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะคิดว่าโรงพยาบาลเอกชนนั้น หมอจะให้ยาอย่างดีมารักษาเรา ยาดีเหล่านั้นคือยาอะไร
       
       ขณะที่คนที่มีรายได้น้อยก็จะไปหาหมอในโรงพยาบาลรัฐ หรือตามสวัสดิการทางการแพทย์ในกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนที่เรามีชื่ออยู่ คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่าระบบยาในประเทศไทยขณะนี้ แต่ละภาคส่วนเลือกยามาใช้กับผู้ป่วยของตนอย่างไร เงินจ่ายไปน้อย ได้ยาห่วยมารักษาหรือได้ยาดี ส่วนไหนดี ส่วนไหนห่วย ใครคัดเลือกยาเหล่านี้ ?
       
       อนาคตอันใกล้ที่รัฐบาลกำลังมีความพยายามรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกันกับกองทุนสุขภาพถ้วนหน้า และยาแบบไหนที่จะถูกคัดเลือกมาให้หมอรักษาเรา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ต้องรีบทำความเข้าใจ
       
       วงจรยาในปัจจุบัน
       
       ยาที่ไหลเวียนอยู่ในระบบยาปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ ยาต้นแบบ/ยาต้นฉบับ (Original drugs) และยาสามัญ (Generic drugs) โดยส่วนใหญ่ยาต้นแบบ (Original drugs) จะมีราคาสูง เพราะเป็นยาที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องผ่านกรรมวิธีและกระบวนการทดลองหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การศึกษาสารตั้งต้นจำนวนมาก และทดลองกับสัตว์ทดลองก่อนนำมาใช้กับคนเพื่อให้แน่ใจว่ามีฤทธิ์ในการรักษาจริงและผลข้างเคียงน้อยที่สุด กว่าจะสำเร็จเป็นตัวยาแต่ละตัวต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยนานหลายปี ใช้เงินในการลงทุนจำนวนมาก และผู้ผลิตยาต้นแบบจะได้รับสิทธิบัตรผูกขาดในการผลิตยาประมาณ 20 ปี และเมื่อสิทธิบัตรสิ้นสุดลง ผู้ผลิตรายอื่นก็สามารถผลิตยานั้นออกจำหน่ายได้
       
       ส่วนยาสามัญ (Generic drugs) เป็นยาที่ผลิตขึ้นภายใต้เครื่องหมายการค้าอื่นที่ไม่ใช่เครื่องหมายการค้าตามสิทธิของผู้ครองสิทธิบัตรยา แต่มีตัวยาสำคัญเป็นชนิดเดียวกันกับยาต้นแบบ โดยผลิตออกมาหลังจากยาต้นแบบได้รับการรับรองและอนุมัติให้ใช้ในการรักษาโรคแล้ว จึงอาจจะลอกเลียนสูตรยาต้นแบบเมื่อยาเหล่านั้นหมดสิทธิบัตรลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้มาก เพราะไม่ได้ศึกษาวิจัยเอง ยาสามัญจึงมีราคาถูกกว่ายาต้นแบบหลายเท่าตัว เพราะเมื่อยาต้นแบบหมดสิทธิบัตรแล้ว ผู้อื่นจะสามารถนำสูตรไปผลิตได้ เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงยาของประชาชน แต่ต้องมีการควบคุมมาตรฐานการผลิตให้ได้ยาที่มีคุณภาพดี จนสามารถกล่าวได้ว่ายาสามัญมีคุณสมบัติเทียบเท่าตัวยาต้นแบบ เนื่องจากมีสูตรทางยาเช่นเดียวกับยาต้นแบบ ในบางกรณีอาจเป็นยาที่มาจากสายการผลิตเดียวกันกับยาต้นแบบเลย เพียงแต่ตีตราคนละยี่ห้อเท่านั้น
       
       ทั้งนี้ สิ่งที่เหมือนกันระหว่างยาต้นแบบกับยาสามัญ คือ ชนิดของตัวยาสำคัญ ขนาดความแรงของยา รูปแบบยา ผลของยา อาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา และวิธีการใช้ยา ซึ่งก่อนการจำหน่าย ยาสามัญต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ เพื่อเป็นหลักประกันว่ายาสามัญมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากยาต้นแบบ ส่วนสิ่งที่ต่างกันระหว่างยา 2 แบบนี้ คือ แหล่งที่มาของวัตถุดิบ แหล่งผลิตยา สารอื่นๆ ในตำรับที่ไม่ใช่ตัวยาสำคัญ เทคโนโลยีและกรรมวิธีในการผลิต รวมทั้งการควบคุมคุณภาพ ซึ่งบางครั้งสิ่งที่แตกต่างกันเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้การรักษาไม่ได้ผล แม้ว่าจะมีสารออกฤทธิ์เป็นสารชนิดเดียวกันก็ตาม

       “3 กองทุน” รับยาสามัญถ้วนหน้า
       
       สำหรับสถานการณ์การใช้ยาในระบบสาธารณสุขไทย ยาต้นแบบได้ถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนโรงพยาบาลรัฐมีการจ่ายยาต้นแบบในยาบางตัวที่ไม่มีในบัญชียาหลัก และในส่วนของการร่วมจ่าย สำหรับคนไข้ในระบบกองทุนสุขภาพที่ต้องการยานอกบัญชียาหลักโดยยอมจ่ายค่ายาเอง
       
       ขณะที่คนไข้ในระบบกองทุนสุขภาพต่างๆ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค), ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จะได้ยาตามระเบียบการเบิกจ่ายของกองทุนต้นสังกัด ซึ่ง ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคม ใช้วิธีการเหมาจ่ายรายหัว เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย การจ่ายยาจึงยึดตามยาในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ
       
       ส่วนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการใช้ระบบการจ่ายตามปริมาณการใช้บริการ และระบบเบิกจ่ายตรง ซึ่งกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้จ่าย โดยที่ผ่านมามีงานวิจัยที่ระบุว่าการเบิกจ่ายของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เป็นแบบปลายเปิดไม่จำกัดปริมาณ และมีการเบิกจ่ายย้อนหลัง กอปรกับระเบียบการเบิกจ่ายที่บวกค่ายาให้โรงพยาบาลอีกเม็ดละ 50 สตางค์ ทำให้มีการจ่ายยานอกบัญชียาหลักจำนวนมาก จนกระทั่งงบประมาณรายจ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงถึงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ในช่วงหลังจึงเริ่มมีระเบียบการจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่เข้มงวดขึ้นเพื่อคุมงบประมาณ
       
       สอดคล้องกับแพทย์โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งที่ระบุว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้ กองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนกำหนดให้ใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นหลัก โดยยาในบัญชียาหลักส่วนใหญ่เป็นยาสามัญ ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาต้นแบบค่อนข้างมาก เช่น ยาสามัญบางตัวถูกกว่ายาต้นแบบถึง 3 เท่า แต่ประสิทธิผลในการรักษาใกล้เคียงกัน ก็ถือว่ามีความคุ้มค่ากว่ามาก
       
       แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันในเรื่องความแตกต่างของประสิทธิผลของยาทั้ง 2 แบบ และสิทธิข้าราชการที่ถูกลดลงมาเยอะมาก เพื่อจำกัดยาให้ใกล้เคียงกัน ซึ่งส่วนหนึ่งยังเป็นเหตุผลให้แพทย์โรงพยาบาลรัฐลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน เพราะสวัสดิการการรักษาพยาบาลดีกว่า
       
       ยามเจ็บป่วย แม้แต่แพทย์เองก็อยากได้ยาต้นแบบ !

       รวมกองทุนสุขภาพ คนไทยเข้าถึงยาอะไร - ถูกลงหรือแพงขึ้น
       
       อย่างไรก็ดี คนไทยยังต้องจับตามองระบบยาที่จะนำมาใช้ในกองทุนสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีใบสั่งให้นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รีบรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างผลงานลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายประชานิยมตัวท็อปที่เรียกคะแนนเสียงถล่มทลายให้แก่พรรคมาตลอด ยาบัญชียาหลักแห่งชาติในอนาคตจะแพงขึ้นหรือถูกลงยังเป็นที่ถกเถียงในระบบสาธารณสุข แต่คนที่กุมคำตอบไว้แล้วคือ ฝ่ายการเมือง และกลุ่มธุรกิจยาที่อยู่เบื้องหลัง ?
       
       ในฝั่งที่มองแง่ดีอย่าง นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการรวม 3 กองทุนสุขภาพได้สำเร็จ คนไทยทุกคนในระบบกองทุนสุขภาพจะไม่ได้เข้าถึงเฉพาะยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น แต่จะเข้าถึงยานอกบัญชียาหลักเหมือนกันทั้งหมดด้วย
       
       “คนจะเข้าถึงยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในลักษณะเดียวกับที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีกลุ่มยาจำเป็นราคาแพง ซึ่งเกิดจากการต่อรองราคายาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็น โดยจ่ายเป็นยา เพื่อให้คนเข้าถึงยาจริงๆ หากรวม 3 กองทุนทุกคนจะเข้าถึงยาแพงเหมือนกันหมด และจะช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยที่สูงขึ้นทุกปีๆ ได้มาก”
       
       ส่วนฝ่ายที่ยังหวั่นใจ อาจกังขาในเรื่องเดียวกับ ผศ.ดร.นิยดา ที่มองว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาในอนาคตอาจจะแพงขึ้นได้อีก !
       
       ฝ่ายการเมืองอยากคุมเบ็ดเสร็จ 3 กองทุนอยู่แล้ว เม็ดเงินเบี้ยประกันมหาศาลที่สามารถกอบโกยไปใช้ได้อีกเยอะ คนไทยจะได้ยาแบบไหนยังไม่ทราบ แต่จากรูปการณ์การออกระเบียบที่ไม่ค่อยถูกต้องหลายตัว เช่น ล่าสุดก็ยอมให้เบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟตได้
       
       “มีแนวโน้มว่าเขาจะผลาญเงินต่อแน่ๆ เพื่อสร้างฐานเสียงประชานิยมของเขา ส่วนในบอร์ด สปสช.ชุดใหม่ก็มีกรรมการที่เป็นพรรคพวกที่ฝ่ายการเมืองคุมเสียงส่วนใหญ่ได้ ขณะที่สำนักงานประกันสังคมมีกรรมการแพทย์ที่ไม่แข็ง น่าจะถูกชักจูงได้ ดังนั้น การที่ฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามาคุมนโยบายระบบสุขภาพได้หมดทั้งกระทรวง อนาคตหากรวมกองทุนแล้วจะใช้ยาอะไรยังไม่รู้ แต่เชื่อว่าน่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น” ผศ.ดร.นิยดา กล่าว
       
       สอดรับกับ น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สมาชิกเอฟทีเอวอทช์ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ซึ่งกล่าวถึงผลกระทบด้านยา หากประเทศไทยยอมรับทริปส์พลัส (TRIPs Plus) ในกรอบการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ว่า สิ่งที่น่ากังวลในรายละเอียดของทริปส์พลัสที่กระทบต่อระบบยามีหลายประการ เช่น การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity - DE) ที่จะกีดกันไม่ให้รัฐบาลใช้ข้อมูลทดลองทางคลินิกเพื่อขึ้นทะเบียนยาให้กับยาสามัญ และการออกใบรับรองขยายการคุ้มครองเพิ่มเติม (supplementary protection certificates) ซึ่งจะส่งผลให้ยาต้นแบบที่นำเข้าจากบริษัทยาในยุโรปกว่า 40% ของยาทั้งหมดในประเทศไทยได้รับการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรเพิ่มอีก 5 ปี จากปกติคุ้มครองเพียง 20 ปี และจะมีการขยายการผูกขาดข้อมูลด้านยา หรือ DE ทำให้ยาต้นแบบแพงขึ้นและถูกผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น
       
       “ปัญหาที่จะเกิดตามมา คือ เมื่อยาต้นแบบได้รับการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรเพิ่มอีก 5 ปี ยาสามัญก็เข้าสู่ตลาดไม่ได้ ทำให้ระบบบัญชียาหลักแห่งชาติที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ มีความจำเป็นต้องนำยาราคาแพงเข้าสู่บัญชียาหลัก และหากระบบหลักประกันสุขภาพซึ่งจัดสรรงบแบบเหมาจ่ายรายหัวมีเงินไม่เพียงพอที่จะรับภาระราคายา คนก็จะเข้าไม่ถึงยา ระบบหลักประกันสุขภาพก็ลดความน่าเชื่อถือลง หรืออาจอยู่ไม่ได้เลย ทั้งที่เป็นนโยบายที่ดีของรัฐ แต่ถ้ารัฐบาลยอมรับทริปส์พลัสก็เท่ากับไปทำลายนโยบายด้านสุขภาพทั้งหมดที่รัฐสร้างขึ้น”
       
       นอกจากนั้น ทริปส์พลัสยังมีหลายวิธีในการขัดขวางยาสามัญ เช่น อาจถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นยาปลอม และใช้กฎหมายเข้าดำเนินการจับกุมทั้งระบบซัปพลายเชนของยาสามัญ ไม่ว่าจะเป็นคนขายยา หรือขนส่ง ก็อาจถูกจับทั้งหมด ทำให้ไม่มีใครอยากคบกับยาสามัญ และสุดท้ายยาสามัญจะตาย ในขณะที่บริษัทยาต้นแบบหากำไรได้เต็มที่ เช่นเดียวกับประเทศจอร์แดนที่รับทริปส์พลัสจากสหรัฐอเมริกา ทำให้ปัจจุบันยาจอร์แดนแพงกว่ายาอียิปต์ถึง 8 เท่า ทั้งที่ยาเหล่านั้นไม่มีสิทธิบัตรแล้ว แต่ก็ไม่มียาสามัญเข้าสู่ตลาด

       บริษัทข้ามชาติวิ่งซบอกการเมือง ดันยาเข้าระบบ
       
       ประเทศไทยจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 โดย นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยนั้น มีสาระสำคัญคือ นโยบายยาหลักแห่งชาติและการพึ่งตนเองด้านยา โดยจัดให้มียาปลอดภัย มีคุณภาพดี ในราคาพอสมควร กระจายอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะยาสำหรับสาธารณสุขมูลฐาน รวมถึงการปรับปรุงวิธีการด้านการจัดหาและกระจายยา การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และสนับสนุนการผลิตยาภายในประเทศของภาครัฐและเอกชน
       
       
       อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.นิยดาระบุว่า บัญชียาหลักถูกปรับปรุงคัดเลือกยาใหม่เข้าบัญชีมาตลอด จนกระทั่งรายการยามากขึ้น และมีการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยนำบัญชียาหลักมาใช้เพื่อการเบิกจ่าย หลักการที่ยึดหลักตามองค์การอนามัยโลก คือมีรายการยาเท่าที่จำเป็นหรือที่เรียกว่าMinimum จึงกลายเป็น Maximum ไปโดยปริยาย
       
       ปัจจุบันยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นยาที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบสวัสดิการอื่นๆ โดยบัญชียาหลักฯ มี 3 บัญชี คือ
1. บัญชียาสำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข
2. บัญชียาจากสมุนไพร
3. เภสัชตำรับโรงพยาบาล
โดยมีรายการยาแผนปัจจุบันกว่า 800 รายการ บัญชียาสมุนไพร 71 รายการ ครอบคลุมโรคที่มีความจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประเทศไทย
       
       ทั้งนี้ ยาจะถูกคัดเลือกเข้าสู่ระบบบัญชียาหลัก โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ. 2551 มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นฝ่ายเลขานุการ และคณะกรรมการมาจากหลายภาคส่วน อาทิ ฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ ผู้บริหารกองทุนสุขภาพ ภาคประชาสังคม มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ การพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ การกำหนดราคากลางยา การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อปฏิบัติงานทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยา คณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล
       
       โดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการ สปสช. และอดีตคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติชุดที่ผ่านมา ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน ระบุว่า ขั้นตอนการคัดเลือกบัญชียาสำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข (แผนปัจจุบัน) มีทั้งหมด 6 ขั้นตอนคือ
ขั้นตอนที่ 1 เปิดรับแบบเสนอยา จัดทำรายชื่อยา จัดกลุ่มยา และตรวจสอบสถานะข้อมูลทะเบียนยา
ขั้นตอนที่ 2 พิจารณาและจัดทำข้อมูลรายละเอียดทางวิชาการของยาแผนปัจจุบัน พัฒนาปรัชญา แนวคิด หลักการและเกณฑ์การคัดเลือกยาแผนปัจจุบันเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ
ขั้นตอนที่ 3 พิจารณาประมวล ประสานผลการพิจารณายาของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา ข้อเสนอของคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และคณะทำงานต่อรองราคายา มาพิจารณาในภาพรวมให้เป็นไปตามปรัชญาและหลักการอย่างครบถ้วน และเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ
ขั้นตอนที่ 4 พิจารณาแก้ไขปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติให้ทันสมัย ตามข้อเสนอของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติด้านการคัดเลือกยา 17 สาขา คณะทำงานประสานผลการพิจารณายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะทำงานสนับสนุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนที่ 5 จัดทำประกาศเสนอประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติลงนาม และ
ขั้นตอนที่ 6 จัดทำประกาศราชกิจจานุเบกษา
       
       อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจยาโดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติจะไม่ค่อยชอบแนวคิดบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะยาต้นแบบเป็นยาใหม่ที่มีราคาแพงมาก จึงไม่ค่อยมีโอกาสเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักเท่าไร ดังนั้นจึงมีแรงต่อต้านตลอดเวลา พร้อมกับการพยายามวิ่งเต้นเพื่อผลักดันยาเข้าสู่ระบบบัญชียาหลัก หรือการส่งเสริมการขายกับแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ เช่น เชิญแพทย์ไปเที่ยวต่างประเทศ ให้ทุนวิจัย เชิญไปบรรยาย ให้เงินไปประชุม หรือแม้กระทั่งบริการรับส่งลูกและช่วยดูแลแฟลตให้ขณะที่แพทย์ไปต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อให้แพทย์เลือกใช้ยาของตน จนกระทั่งกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ช่วยกดดันคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติอีกที
       “บริษัทยาจะทำงานทางความคิดกับหมอผ่านทางเซลส์ยา ผ่านการจัดประชุมสนับสนุนงานวิชาการ หรือไปตามโรงเรียนแพทย์ให้แพทย์คุ้นชินกับชื่อการค้าของตน บางครั้งมากับโปรแกรมส่งเสริมการขาย เช่น ถ้าแพทย์คนไหนใช้ยาก็จะได้รับการตอบสนองเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนต่างๆ กระบวนการแบบนี้จะมีผลทางอ้อมคือ ทำให้หมอส่งเสียงขึ้นมาว่า ฉันจำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ๆ ดังนั้นเวลาที่มีการสำรวจข้อมูลยา ก็จะพบว่ายาตัวนี้มีการใช้เยอะ วิธีการนี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่บริษัทยาทำกัน”
       
       นอกจากนั้น บริษัทยาอาจทำการตลาด โดยการสร้างมูลค่า สร้างภาพว่ายาแบรนด์เนมเป็นยาดี และถ้ายาตัวนั้นไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลัก แต่แพทย์มีการสั่งใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นประเด็นขึ้นมาว่า ยาตัวนี้ทำไมมีการใช้เยอะ มีความสำคัญ แต่ทำไมไม่อยู่ในบัญชียาหลัก เท่ากับเป็นการกดดันทางอ้อมให้กรรมการต้องพิจารณาว่าเป็นยาจำเป็นจริงไหม มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพจริงไหม คล้ายๆ กรณียากลูโคซามีนซัลเฟตที่กำลังเป็นปัญหา ซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลัก เพราะกรรมการเห็นว่าไม่มีประสิทธิผล แต่ภายนอกเกิดแรงต้านในทำนองเดียวกันนี้ เป็นต้น
       
       อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการนำยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติจะต้องผ่านการคัดกรองยาโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาคัดกรองยาชุดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยคนจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักวิชาการ ข้าราชการ ตัวแทนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และตัวแทนของหน่วยบริการ
       “และในการพิจารณายาแต่ละครั้ง อนุกรรมการทุกคนจะต้องแสดงตัวว่าตนเองมีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับยาตัวนั้นๆ หรือไม่ หากมีต้องเปิดเผยตัวและออกจากการพิจารณา จากนั้นหลักการพิจารณายาหลักใหญ่จะดูที่
1. ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยาว่ามีความสำคัญจำเป็นจริงๆ หรือไม่
2. พิจารณาถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจว่ามีราคาแพงเกินไปหรือไม่
หากยาผ่านเกณฑ์ดังกล่าว กรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้จะเรียกบริษัทยามาเจรจาต่อรองราคา และพิจารณาว่าถ้าเอายานั้นเข้าสู่ระบบบัญชียาหลักแห่งชาติจะมีผลกระทบต่องบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพหรือไม่ การคัดเลือกยาจะต้องมองอย่างรอบด้านละรอบคอบว่ายานั้นมีความจำเป็นจริงๆ ตัวคณะอนุกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้ในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติเอง จึงได้รับความน่าเชื่อถือ เพราะมีกลไกกำกับตรวจสอบค่อนข้างดี” นายนิมิตร์กล่าว
       
       สอดคล้องกับ ผศ.ดร.นิยดา ซึ่งบอกว่า จากการประเมินคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติในแง่ของธรรมาภิบาลเป็นคณะที่ได้คะแนนค่อนข้างดี โดยได้คะแนน 8 เต็ม 10 เนื่องจากมีระบบแถลงเรื่องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะอนุกรรมการก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณายา อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังขาดคือระบบติดตามตรวจสอบว่าใครพูดจริง พูดไม่จริง ทำให้ได้คะแนนไม่ดีเท่าที่ควร
       
       แต่ประเด็นใหม่ที่จะทำให้โครงสร้างคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติถูกลดศักยภาพลง คือ การปรับโยกย้ายคณะกรรมการยาชุดสำคัญโดยฝ่ายการเมือง คณะอนุกรรมการกำหนดราคากลางยาและคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่เพิ่งหมดวาระลง กำลังถูกปรับไปอยู่ภายใต้คณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งตั้งขึ้นตามมติ ครม.วันที่ 19 มิถุนายน 2555 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ประกอบด้วยคณะกรรมการจากฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ และผู้บริหารกองทุนสุขภาพ โดยอ้างเหตุผลเพื่อความคล่องตัวในทางปฏิบัติ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม !
       
       แต่สาเหตุที่แท้จริง ว่ากันว่า เกิดจากความไม่พอใจของบริษัทยาข้ามชาติที่ถูกต่อรองจนเสียราคายา จึงกระชับสายสัมพันธ์ให้ฝ่ายการเมืองช่วยจัดการ
       
       อนุกรรมการฯ 2 ชุดถูกโยกไปทำเฉพาะส่วนนโยบาย ไม่มีอำนาจตัดสินใจ อยู่ภายใต้ร่มคณะอนุกรรมการคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อคุมงบยาข้าราชการ แต่พอคุมเสร็จก็ทำงานสะเปะสะปะไปตามคำสั่งฝ่ายการเมืองที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของกรรมการชุดนี้ เหลือไว้แต่ความกังขาว่า ยาที่จะเข้าสู่บัญชียาหลักครั้งต่อไป จะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเป็นเช่นไร ในเมื่อฝ่ายการเมืองเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการยาที่เคยเข้มแข็งทีละน้อย
       
       ในที่สุดบริษัทยาข้ามชาติคงได้แต่นั่งยิ้มหวาน เพราะบอกรักฝากใจอะไรไปกับฝ่ายการเมืองก็ได้ดังใจ ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ตามที่ปูชนียบุคคลแห่งวงการเภสัชกร ผศ.ภญ.สำลี ใจดี กรรมการ สปสช. ในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยบ่นเบาๆ ว่า ในที่ประชุม สปสช. ท่านรัฐมนตรีระบุว่า การทำบัญชียาหลักต้องตรวจสอบให้ดี จะเอายาอะไรเข้าต้องให้ตัวเขาอนุมัติก่อน เพื่อป้องกันการกระทบงบประมาณกลางปี ทั้งที่ สปสช. วางงบประมาณไว้หมดแล้ว
       
       “จะเอายาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ต้องไปถามพระเจ้าก่อน เราก็ได้แต่หัวเราะหึหึ เพราะแทนที่จะควบคุมธุรกิจข้ามชาติขายยาราคาแพง กลับมาคุมกรรมการต่อรองราคายา!”


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ธันวาคม 2555

6887
"เหรินไจ้จย่งถูจือไท่จย่ง(人再囧途之泰囧)" หรือ Lost in Thailand หนังจีนแนว road movie ฟอร์มเล็กที่เพิ่งลงจอฉายในจีนช่วงกลางเดือนธันวาคม กลายเป็นม้ามืดส่งท้ายปี ทำรายได้แซงหน้าหนังฟอร์มยักษ์เจ้าของสถิติรายได้สูงสุดในประเทศเดิมอย่าง "ฮว่าผี ภาค2 (画皮2)" หรือ Painted Skin 2 : The Resurrection โดยหลังจากฉายเพียง 2 สัปดาห์ Lost in Thailand ทำรายไปกว่า 720 ล้านหยวน นอกจากนี้ยังเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในการเข้าฉายวันแรกและสัปดาห์แรก ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จีนด้วย

       Lost in Thailand เป็นหนังภาคต่อของ "เหรินไจ้จย่งถู(人再囧途 : Lost On Journey) ปี 2553 หนังตลกแนว road movie ซึ่งกำกับและแสดงนำโดย สีว์ เจิง และยังได้ดาวตลกคู่หู หวัง เป่าเฉียง มาร่วมแสดงเช่นเคย โดยภาคใหม่นี้ถ่ายทำในประเทศไทยเกือบทั้งเรื่อง (กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่)
       
       หนังเล่าเรื่องราวของสองผู้จัดการหนุ่ม สีว์ และ ปั๋ว ที่มีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับงานวิจัยผลิตภัณฑ์ประหยัดน้ำมันที่บริษัทคิดค้นขึ้น โดย ปั๋ว ต้องการที่จะขายลิขสิทธิ์ให้บริษัทในฝรั่งเศส ขณะที่ สีว์ ต้องการวิจัยต่อเพื่อหวังผลระยะยาว แต่ผู้ที่จะตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรคือประธานบริษัทที่พักผ่อนอยู่ในเมืองไทย ทั้งสองจึงต้องเดินทางมาเมืองไทยเพื่อแข่งกันเสนอความคิดและโน้มน้าวให้ประธานเชื่อตน แต่ระหว่างทาง สีว์ มีเหตุให้ต้องร่วมทางกับ หวัง เป่า ผู้ซึ่งนำพาเขาไปสู่การผจญภัยและความหมายของชีวิต

       พล็อตขายความฮาที่ไม่ซับซ้อน บวกกับรายชื่อของนักแสดงนำที่ไม่ใช่ระดับซูเปอร์สตาร์ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกประเมินตั้งแต่ก่อนเข้าฉายว่าอย่างดีที่สุดไม่น่าจะทำรายได้เกิน 500 ล้านหยวน แต่สุดท้ายสรุปรายได้ 13 วัน Lost in Thailand สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการภาพยนตร์ในประเทศด้วยยอดรายได้ 729 ล้านหยวน

       อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในประเทศไทยหรือไม่ เนื่องด้วยหน้าหนังที่อาจไม่ดึงดูดชาวไทยนัก รวมทั้งมุกตลกที่คนไทยอาจไม่ขำ อาทิ มุกพระสงฆ์ หรือ มุกสาวประเภทสอง เป็นต้น แต่ที่แน่ๆ กลุ่มสื่อจีนรายงานว่า ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกระตุ้นการท่องเที่ยวประเทศไทยของชาวจีนให้กระเตื้องขึ้นอย่างมาก ในโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพการท่องเที่ยวตามรอยหนัง Lost in Thailand อย่างแพร่หลาย ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนทั้งแบบกรุ๊ปทัวร์และแบบแบ็คแพ็กในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วยยอดจอง 10,000 คน(21 ธ.ค.) ขณะที่ช่วงตรุษจีนปี 2556 มียอดนักท่องเที่ยวจองแล้วกว่าร้อยละ 50 หลายๆ บริษัททัวร์จัดโปรแกรมทัวร์ตามรอยแหล่งท่องเที่ยวในภาพยนตร์ อาทิ จัดโปรแกรมให้นักท่องเที่ยวพักที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ ซึ่งเป็นฉากเปิดในภาพยนตร์ รวมทั้งจัดกิจกรรมอย่างการปล่อยโคม นั่งรถตุ๊กตุ๊ก และดูการแสดงช้าง เป็นต้น


ASTVผู้จัดการออนไลน์    27 ธันวาคม 2555

6888
องค์กรพัฒนาเอกชน“Venezuelan Violence Observatory” เผยเมื่อวันพฤหัสบดี (27) ระบุเหตุฆาตกรรมในเวเนซุเอลาพุ่งสูงทำสถิติใหม่ หลังมียอดเหยื่อสูงถึง 21,692 รายในปีนี้ หรือคิดเป็นอัตราส่วนผู้ถูกฆาตกรรม 73 รายต่อประชากร 100,000 คน
       
       ก่อนหน้านี้ เวเนซุเอลาเพิ่งเป็นเจ้าของสถิติประเทศที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดของทวีปอเมริกาใต้โดยข้อมูลของทางการเวเนซุเอลาระบุว่า มีผู้ถูกฆ่าตาย 14,092 รายเมื่อปี 2011 หรือมีเหยื่อฆาตกรรม 50 รายต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ตัวเลขของหน่วยงานเอกชนระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมในเวเนซุเอลาในปีที่แล้วมีสูงถึง 19,336 รายหรือ 67 ใน 100,000 ราย
       
       อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมในปีนี้ซึ่งมีถึง 21,692 รายนั้นถือเป็นสถิติใหม่และเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในปี 2011 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์
       
       ทั้งนี้ ข้อมูลของทางการเวเนซุเอลาระบุว่า อาวุธที่ใช้ก่อเหตุฆาตกรรมส่วนใหญ่ในเวเนซุเอลา คือ ปืน และมีตัวเลขว่าจำนวนอาวุธปืนทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายในประเทศมีระหว่าง 9-15 ล้านกระบอก ขณะที่จำนวนประชากรทั้งประเทศมีเกือบ 29 ล้านคน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 ธันวาคม 2555

6889
 กรุงเทพฯ คว้ารางวัลท่องเที่ยวส่งท้ายปีกับตำแหน่งแชมป์ เมืองยอดนิยมที่มีสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่น่าตื่นตาตื่นใจ จากการสำรวจของ Agoda.com โดยไทยติดถึง 3 เมืองใน 10 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต
       
       Agoda.com บริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์สำรองห้องพักในโรงแรมแบบออนไลน์ซึ่งรับประกันราคาห้องพักที่ดีที่สุดในเอเชียและเป็นส่วนหนึ่งของเครือ Priceline.com (Nasdaq:PCLN) นำเสนอรายชื่อเมืองยอดนิยมสิบอันดับที่มีสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่น่าตื่นตาตื่นใจ จากการคัดเลือกโดยลูกค้า และเนื่องจากวันส่งท้ายปีเก่ากำลังใกล้เข้ามาทุกที เมืองเหล่านี้จึงเหมาะสำหรับการเดินทางมาพักผ่อนอย่างกะทันหันหากยังไม่ได้วางแผนใดๆ ไว้
       
       จากความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 113,000 ราย เมื่อการเข้าพักสิ้นสุดลง ลูกค้าของ Agoda.com มีโอกาสที่จะให้คะแนนสถานบันเทิงยามค่ำคืนในระดับคะแนน 1-5 โดยที่ 1 หมายถึง "แย่” และ 5 หมายถึง “ดีมาก” อันดับสูงสุดได้แก่กรุงเทพ เมืองหลวงที่ไม่หยุดนิ่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักจากรถตุ๊กตุ๊ก วัดวาอาราม อาหารริมทาง ตามมาด้วยดูไบ เมืองแห่งทะเลทรายที่เจิดจรัสในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโบราเคย์/กาติกลัน ในฟิลิปปินส์ ซึ่งมีชื่อเสียงจากหาดทรายสีขาวและต้นมะพร้าวพลิ้วไหวยามต้องลม
       
       ประเทศไทยติดอันดับอีกครั้งกับพัทยา เมืองชายทะเลที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายสำหรับวอล์กกิ้งสตรีทที่คึกคักและนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ รองลงมาคือภูเก็ต เกาะที่ใหญ่ที่สุดของไทย ตามด้วยเขตปกครองพิเศษของจีน นั่นคือ ฮ่องกงซึ่งมีชื่อเสียงด้านสถาปัตยกรรม อาหาร และมาเก๊า ที่ได้รับความนิยมจากคาสิโนขนาดใหญ่ และอาหารโปรตุเกส/จีน
       
       ปิดท้ายรายชื่อด้วยไทเปเมืองหลวงที่ทันสมัยของไต้หวัน และบาหลี เกาะสวรรค์ที่ได้รับความนิยมตลอดกาลของอินโดนีเซีย
       
       สำหรับรายชื่อเมืองทั้งหมด 10 เมือง(จาก 25 เมือง)ตามลำดับซึ่งได้รับเลือก มีดังนี้
       1) กรุงเทพ, ไทย
       2) ดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
       3) โบราเคย์/กาติกลัน, ฟิลิปปินส์
       4) พัทยา, ไทย
       5) โตเกียว, ญี่ปุ่น
       6) ภูเก็ต, ไทย
       7) ฮ่องกง, จีน
       8) มาเก๊า, จีน
       9) ไทเป, ไต้หวัน
       10) บาหลี, อินโดนีเซีย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 ธันวาคม 2555

6890
ยอดผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศที่หนาวจัดในรัสเซีย เพิ่มเป็นอย่างน้อย 123 รายในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อุณหภูมิในเขตไซบีเรีย ทางภาคตะวันออกของประเทศลดต่ำถึงขั้น “ติดลบ 60 องศาเซลเซียส” แล้ว
       
       รายงานของสำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ในวันอังคาร (25) ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่การแพทย์จากกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินของรัสเซียระบุว่า ตลอดระยะเวลา 10 วันนับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พบผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นสุดขั้วในรัสเซียแล้วอย่างน้อย 123 ราย และอีกราว 800 คนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในจำนวนดังกล่าวมีอยู่อย่างน้อย 201 รายที่ถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
       
       ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของรัสเซียล่าสุดระบุว่า อุณหภูมิในกรุงมอสโก เมืองหลวงของประเทศ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงได้ลดต่ำลงแตะระดับ “-30 องศาเซลเซียส” ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (24) ส่วนในเขตไซบีเรียทางตะวันออกของประเทศนั้นอุณหภูมิได้ลดลงจนถึง “-60 องศาเซลเซียส” แล้ว และมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิอาจลดลงอีกโดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศในรัสเซียหนาวเย็นที่สุดในรอบปี โดยมีความเป็นไปได้ที่เมื่อถึงช่วงดังกล่าวอุณหภูมิอาจลดต่ำมากกว่า “-70 องศาเซลเซียส”
       
       ด้านวลาดิมีร์ อันเดรเยวิช พุชคอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาออกแถลงที่กรุงมอสโกโดยระบุ มีความเป็นไปได้ที่ยอดผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศที่หนาวจัดในรัสเซียอาจเพิ่มจำนวนขึ้นอีก
       
       ทั้งนี้ เมื่อปี ค.ศ. 1924 เซอร์เกย์ โอบรีเชฟ นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย สามารถบันทึกสถิติอุณหภูมิที่หนาวเย็นที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไว้ได้ที่ “-71.2 องศาเซลเซียส” ที่เมืองออยเมียก็อน ในเขตสาธารณรัฐซากาทางตะวันออกของประเทศ แต่สภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดผิดปกติในขณะนี้ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าสถิติอุณหภูมิต่ำสุดดังกล่าวที่ยืนยงมานานหลายสิบปี อาจถูกทำลายลงในช่วงสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 ธันวาคม 2555

6891
สื่อออนไลน์ชื่อดังของสหรัฐฯ ยก “กรุงเทพมหานคร” ติดโผ 20 เมืองที่ดีที่สุดของโลกสำหรับเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ และถือเป็นมหานครเพียง 1 ใน 2 แห่งของเอเชียที่ติดอันดับในครั้งนี้ร่วมกับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
       
       “ฮัฟฟิงตันโพสต์” สื่อออนไลน์ชื่อดังของสหรัฐฯ ซึ่งมีฐานอยู่ที่มหานครนิวยอร์กระบุ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านของประชากรเกิน 8 ล้านคน ถือเป็น 1 ใน 20 เมืองที่ดีที่สุดของโลกสำหรับการร่วมฉลองการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ แต่ถือเป็นเมืองของเอเชียเพียง 1 ใน 2 แห่งที่ติดโผครั้งนี้ร่วมกับเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
       
       รายงานระบุว่า การนับถอยหลังเข้าสู่ศักราชใหม่ และบรรยากาศของการเฉลิมฉลองในกรุงเทพฯในคืนวันที่ 31 ธันวาคมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลกถึงความสนุกสนานและสีสันอันน่าตื่นตาตื่นใจโดยบรรดาร้านอาหาร ผับ บาร์ตั้งแต่ย่านทองหล่อ ไปจนถึงถนนข้าวสาร ที่เป็น “สวรรค์ของนักท่องเที่ยวแบกเป้” ต่างมีกิจกรรมรื่นเริง แต่ไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดของค่ำคืน คือ การรวมตัวของคนไทยและชาวต่างชาติจำนวนเรือนหมื่น บริเวณลานด้านหน้าห้างสรรพสินค้า “เซ็นทรัลเวิลด์” ย่านราชประสงค์ เพื่อร่วมนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ โดยมีคอนเสิร์ตและการแสดงแสงสีเสียงตลอดทั้งคืน รวมถึงช่วงเวลาสำคัญอย่างการนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ร่วมกันผ่านจอภาพขนาดใหญ่ และการแสดงพลุอันสวยงามตระการตา
       
       โดยนอกจากกรุงเทพมหานคร และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ที่เป็นตัวแทนจากเอเชียแล้ว เมืองอื่นๆของโลกที่ถูกยกให้ติด 20 สถานที่ดีที่สุดสำหรับการ “เคานต์ดาวน์” ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ยังประกอบไปด้วย
มหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ
กรุงปารีสของฝรั่งเศส
กรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร
มลรัฐฮาวายของสหรัฐฯ
กรุงเวียนนาของออสเตรีย
นครเมลเบิร์นและนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย
เมืองวิสต์เลอร์ ในแคว้นบริติชโคลัมเบียของแคนาดา
เมืองเอดินบะระที่แคว้นสกอตแลนด์
นครลาสเวกัสของสหรัฐฯ
เมืองออร์แลนโดของสหรัฐฯ
กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี
เมืองนิวออร์ลีนส์ของสหรัฐฯ
กรุงเรกยาวิกของไอซ์แลนด์
นครริโอเดอจาเนโรของบราซิล
เมืองบาร์เซโลนาของสเปน
เมืองโทรอนโตของแคนาดา
และเคปทาวน์ของแอฟริกาใต้


 ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 ธันวาคม 2555

6892
 สธ.เตรียมหารูปแบบจัดบริการสุขภาพให้ชาวต่างชาติในไทยที่เหมาะสม เสนอใช้ระบบประกันสุขภาพเป็นทางเลือก
       
       วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการสาธารณสุขระหว่างประเทศ ว่า เรื่องหลักที่กระทรวงสาธารณสุข มองว่า จะเป็นปัญหาสำคัญเมื่อเปิดพรมแดนในประชาคมอาเซียนมี 2 เรื่อง คือ 1.โรคอุบัติใหม่ต่างๆ ที่ประเทศไทยเคยคิดว่าหายไป หรือควบคุมได้ เช่น คอตีบ มือเท้าปาก วัณโรค เอดส์ กามโรค และการตั้งครรภ์ในไทย และเพิ่มจำนวนประชากรในไทย หรือโรคใหม่ที่อุบัติขึ้นมา เนื่องจากแต่ละประเทศมีมาตรฐานด้านบริการสาธารณสุขที่ต่างกัน จึงได้เน้นให้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ทั้งเชิงรับและเชิงรุก เชิงรับ คือ เตรียมบุคลากรต่างๆ ให้พร้อม เช่น การให้วัคซีน ส่วนเชิงรุก คือ สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตามพรมแดนต่างๆ 2.เรื่องคุณภาพอาหาร ยา สารเคมี เครื่องสำอางต่างๆ ที่จะเข้ามาในประเทศ จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในประเทศ เช่น อาจจะมีการจัดตั้งศูนย์กำหนดคุณภาพมาตรฐานในการดูแลคุณภาพมาตรฐานของอาหาร และยา หรือเครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วคือ เรื่องการดูแลคุณภาพยาและอาหาร
   
       นายแพทย์ ประดิษฐ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการเปิดพรมแดนอาจจะมีประชาชนเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดน จะต้องปรับปรุงระบบบริการและระบบการเงิน ให้สามารถเข้าไปคิดค่ารักษาพยาบาลได้ตามความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารูปแบบ อาจจะเป็นการทำประกันสุขภาพ แต่วิธีนี้อาจมีปัญหาว่าคนที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วอาจจะมาซื้อประกันสุขภาพ เพื่อต้องการเข้ามารักษามากขึ้น หรือหากเป็นการรักษาฟรี ก็อาจมีปัญหาว่าไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ จนเป็นปัญหาการเงินของโรงพยาบาลที่รักษาตามมา โดยในการจัดทำประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขกำลังคิดหารูปแบบที่เหมาะสมอยู่ว่าควรเป็นรูปแบบใด คิดค่าหัวเท่าใดจึงจะคุ้มทุน และเป็นมาตรฐานในการดำเนินการของแต่ละโรงพยาบาล และคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ควบคู่กันไปด้วย เพราะเมื่อคนข้ามมามากจำนวนภาระต่างๆ ก็ต้องเพิ่มมากขึ้น การซื้อประกันสุขภาพก็เป็นประโยชน์ในการควบคุมป้องกันโรคอีกทางหนึ่ง
       
       สำหรับกลยุทธ์ที่ไทยจะดำเนินการเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีหลายอย่าง เช่น สร้างความเชื่อมั่นในด้านการเป็นผู้นำการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาค สนับสนุนให้บริษัทประกันสุขภาพของไทยไปขายที่ต่างประเทศด้วย เช่น ที่ลาว กัมพูชา หากเข้ามาประเทศไทยแล้วเจ็บป่วย ก็สามารถรับการรักษาได้ทันที นอกจากนี้ อาจจะมีการให้ซื้อประกันสุขภาพแบบเชิงท่องเที่ยว หากมาเที่ยวแล้วป่วยก็รักษาได้ ไม่เป็นภาระของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่คนไทยไปเที่ยวที่ยุโรป ที่ผ่านมา เราให้การดูแลรักษาต่างชาติเกือบฟรีมาตลอด แต่ในอนาคตจะหารูปแบบวิธีการเก็บเงินที่เหมาะสมและถูกต้อง อย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังดี หรืออาจจะคิดค่าบริการเป็นรายครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาการเก็บค่ารักษามีข้อจำกัดทั้งด้านกฎหมาย ระเบียบ ประเภทแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
       
       นายแพทย์ ประดิษฐ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการขายประกันสุขภาพให้ต่างชาติแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะให้มีหน่วยงานดูแลไม่ให้มีการเก็บเงินค่ารักษาสูง หรือแพงเกินเหตุ และมีกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เป็นภาษาของประเทศที่จะซื้อประกันสุขภาพ และอาจเพิ่มช่องทางการขายประกันสุขภาพทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะตั้งคณะทำงานเชิงรุก เพื่อดำเนินงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาลส่งออกของไทย ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับอาเซียน ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะประชากรครึ่งหนึ่งของอาเซียนเป็นชาวมุสลิม และบางประเทศ เช่น บรูไน ก็อยากให้กระทรวงสาธารณสุขไทยเข้าไปช่วยพัฒนาด้านการแพทย์ของเขา เราก็มีหน่วยงานเข้าไปตั้งต้น และอาจมีโรงพยาบาลเอกชนเข้าไปลงทุนด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 ธันวาคม 2555

6893

สมาพันธ์แพทย์ รพศ/รพทฯ จะจัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในวันที่ ๑๕ (ศุกร์) กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

เนื้่อหาเข้ม และข้น โดยมีประเด็นใหญ่ ๒ ประเด็น คือ Quality of (patient) care และQuality of (work) life โดยวิทยากรที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ พลาดไม่ได้

ขอให้พี่ๆน้องๆเตรียมตัวสำหรับการประชุมในครั้งนี้ด้วย


6894
โฆษกรัฐบาลเผยที่ประชุม ครม.เห็นชอบจัดงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ปี 55 ให้ 24-28 ธ.ค.สัปดาห์ป้องกันอุบัติภัย - รับทราบผลการประเมินรัฐวิสาหกิจปี 54 ออมสินแชมป์ อ.ต.ก.-บินพลเรือน-อคส.-ร.ฟ.ท.ห่วย อนุมัติ 4 พันล้านแจกโบนัสข้าราชการ
       
       วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบและเห็นชอบการจัดงานวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2555 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ที่กำหนดดำเนินการในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ และเห็นชอบให้วันที่ 24-28 ธ.ค.นี้ เป็นสัปดาห์ป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี 2555 โดยให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ และมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ จัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยภายในบริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นแบบอย่างแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในช่วงสัปดาห์การป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการในวันที่ 26 ธ.ค.นี้พร้อมกันทั่วประเทศ ที่ที่จังหวัดและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเห็นสมควร
       
       โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีการรับทราบผลการประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2554 โดยรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลการประเมินเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่
1. ธนาคารออมสิน
2. การประปานครหลวง
3. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
4. องค์การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และ
5. การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น

ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ ได้รับผลประเมินต่ำติดต่อกันมาหลายปี ได้แก่ องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.), สถาบันการบินพลเรือน, องค์การคลังสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น
       
       โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อนุมัติงบประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นเงินรางวัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ให้ผู้ปฎิบัติและผู้บริหารของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ที่ได้จัดทำคำรับรองการปฏิบัติราชการและประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาที่มีเงินงบประมาณเหลือจ่ายสามารถโอนเปลี่ยนแปลงรายการเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ไปตั้งจ่ายในรายการเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติของหน่วยงานเพื่อใช้สำหรับการจัดสรรเงินรางวัล โดยไม่ต้องขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเป็นรายๆ ไป

ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 ธันวาคม 2555

6896
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดำเนินโครงการทุนการศึกษาด้านการสอนภาษาต่างประเทศภาษาที่สอง เพื่อผลิตครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลน โดยอนุมัติอัตราข้าราชการครูเพื่อบรรจุรับทุนจำนวน 600 อัตรา ในช่วงปี 2556-2561 ให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่วนจำนวนทุนต่อปีอาจปรับเพิ่ม-ลดไม่เกินร้อยละ 5 ตามสถานการณ์ที่จำเป็น ใช้งบประมาณดำเนินโครงการ 78 ล้านบาท

 

 

โดยใน 600 อัตรานี้ จะผลิตครูสอนภาษาต่างประเทศในภาษาญี่ปุ่น 200 คน ภาษาเกาหลี 140 คน ภาษาเยอรมัน 40 คน ภาษาฝรั่งเศส 60 คน ภาษาสเปน 40 คน ภาษารัสเซีย 20 คน ภาษาเวียดนาม 25 คน ภาษาพม่า 25 คน ภาษาเขมร 25 คน และภาษาบาฮาซา 25 คน โดยให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 5 หรือบัณฑิตวิชาเอกสาขาที่ขาดแคลนเข้ารับอบรมทักษะภาษาและการสอนที่จัดโดยองค์กรประเทศเจ้าของภาษา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภาซึ่งจะพิจารณาให้เป็นกรณีพิเศษ และจะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการครูสอนภาษาต่างประเทศที่สองในโรงเรียนของสพฐ.
 

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติปรับเปลี่ยนโครงการคูปองสร้างเสริมอัจฉริยะที่ให้จัดสรรคูปองให้กับเด็กและเยาวชนที่เรียนดี มีความประพฤติดีไปแลกหนังสือจากร้านค้าที่ร่วมโครงการ มาเป็นโครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ โดยจัดหาหนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร และหนังสือ สำหรับห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบบ้านหนังสืออัจฉริยะ หรือห้องสมุดประชาชนประจำหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 4 หมื่นแห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน1.8 พันแห่ง และห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีจำนวน 87 แห่ง ใช้งบดำเนินการ 450 ล้านบาท

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  25 ธ.ค. 2555

6897
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นาย Vyacheslav Ledovsky นักหนังสือพิมพ์ จากเมือง Krasnoyarsk ของรัสเซีย สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้คน ด้วยการตัดสินใจทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อ 2 ปีก่อน (พ.ศ. 2553) ที่เขาเขียนระบุว่าจะกินงานเขียนของตัวเองที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์หากเขาเขียนคาดการณ์เกี่ยวกับข่าวการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นผิดพลาด

ทั้งนี้ นาย Ledovsky ทำงานที่หนังสือพิมพ์ The Builder newspaper หนังสือพิมพ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ และเขียนบทความเกี่ยวกับ ความมั่นใจที่จะมีการเริ่มต้นก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 4 ในเมือง Krasnoyarsk ที่ถึงขนาดรับประกันว่าหากผิดพลาดจะกินข้อเขียนของตัวเอง กระทั่งผ่านมา 2 ปี ข่าวคลาดเคลื่อนเขาจึงตัดสินใจทำตามสัญญา โดยมีการถ่ายภาพพร้อมวิดีโอไว้เป็นสักขีพยาน โดยนักหนังสือพิมพ์รายนี้ ได้ตัดข่าวที่ตีพิมพ์ออกมา และแบ่งเป็นชิ้นๆม้วนให้เป็นแท่งเล็กๆและนำไปคลุกกินกับซาวครีมเพื่อเป็นการลงโทษกับข้อเขียนที่ผิดพลาดของตัวเอง

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  24 ธ.ค. 2555

6898
ร้านกาแฟชื่อดัง "สตาร์ บัคส์" ก็ห้ามลูกค้านั่งแช่ หลังทั้งวางของทิ้งไว้บนโต๊ะเป็นเวลานาน จับกลุ่มติวหนังสือ ไม่ซื้อขนม-เครื่องดื่มแต่กับจับจองที่ เผยเตรียมใช้วิธีขอความร่วมมือ ไม่ออกประกาศห้ามเป็นทางการ ด้านผู้จัดการ "แมคโดนัลด์" มาบุญครอง ระบุมีวัยรุ่นจับกลุ่มติวหนังสือเพียบ โดยเฉพาะช่วงวันหยุด จนบางครั้งต้องเข้าไปแจ้งเตือน ขณะที่ลูกค้าบางรายขู่ย้ายร้านหนี หากห้ามนั่งแช่จริง

จากกรณีร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง "แมคโดนัลด์" ออกประกาศห้ามลูกค้านั่งแช่ภายในร้านเกิน 1 ชั่วโมง หลังรับการร้องเรียนมีวัยรุ่นนั่งติวหนังสือ นัดประชุม สัมภาษณ์งานและขายตรงตั้งแต่เช้ายันเย็น แถมลากโต๊ะมาต่อกันจนลูกค้ารายอื่นเดือดร้อนไม่มีที่นั่ง จนทำให้บริษัทตัดสินใจออกมาตรการรักษาสิทธิ์ลูกค้ารายอื่นๆ จนกลายเป็นข่าวฮือฮาอย่างแพร่หลาย

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบร้านแมคโดนัลด์ สาขาห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง พบว่าภายในร้านมีลูกค้าเข้ามาซื้ออาหารและเครื่องดื่มรับประทานจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวต่างชาติ และไม่พบป้ายประกาศขอความร่วมมือจากลูกค้าให้นั่งภายในร้านได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง

นายยุทธการ เป๋อรุณ ผู้จัดการร้านแมคโดนัลด์ สาขาห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง กล่าวว่า หลังมีข่าวออกมาทางร้านแมคโดนัลด์ สาขาห้างสรรพสินค้ามาบุญครองยังไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องของยอดขาย โดยยังมีลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการและนั่งรับประทานภายในร้าน ซึ่งใช้เวลาไม่นานก่อนจะเดินออกจากร้านไป ส่วนกรณีที่มีนักเรียนมาใช้พื้นที่นั่งแช่ เพื่อติวหนังสือหรือประชุมนั้น ก่อนหน้านี้มีเข้ามาหลายกลุ่ม เริ่มนั่งตั้งแต่ร้านเปิดในช่วงเช้า โดยแต่ละคนจะจับกลุ่มประมาณ 3-4 คน จากนั้นแต่ละคนจะสั่งอาหารในปริมาณไม่มากนักมารับประทาน อาทิ มันฝรั่งทอดเฟรนช์ ฟรายด์หรือน้ำดื่ม โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ต่อจากนั้นจะมีนักเรียนกลุ่มใหม่เข้ามาติวหนังสือต่อ โดยจะเป็นลักษณะเช่นนี้ในทุกวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ส่วนมาตรการดำเนินการกับกลุ่มลูกค้าที่มานั่งแช่ภายใน ร้านเป็นเวลานานนั้น ทางร้านจะใช้วิธีการประชาสัมพันธ์แจ้งไปยังลูกค้า โดยบางรายจะสั่งอาหารมารับประทานเพิ่ม

ส่วนบรรยากาศภายในร้านแมคโดนัลด์ สาขาเมเจอร์รัชโยธิน พบว่าภายในร้านยังคงมีกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งส่วนมากเป็นนักศึกษาเข้ามาใช้บริการเป็นปกติ โดยกลุ่มวัยรุ่นที่มาใช้บริการ กล่าวว่า ส่วนมากจะนัดกันมานั่งกินอาหารและติวหนังสือเรียนกัน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ตอนแรกที่ทราบว่าทางร้านมีประกาศขอความร่วมมือออกมาก็เข้าใจดี แต่มองว่าเป็นการให้บริการกับลูกค้ามากกว่า ถ้าถึงขั้นมากำหนดเวลาคงจะไปใช้บริการที่อื่น แต่คิดว่าทางร้านคงจะไม่ทำในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากทำให้เสียลูกค้า

ด้าน น.ส.สุมนพินทุ์ โชติกะพุกกะณะ ผอ.ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านกาแฟ "สตาร์บัคส์" กล่าวว่า บริษัทไม่ได้จัดทำประกาศห้ามไม่ให้ลูกค้านั่งแช่ในร้านเป็นเวลานานอย่างเป็นทางการ เพียงแต่ขอความร่วมมือจากลูกค้าไม่ให้นั่งนานจนเกินไป หลังจากที่รับประทานเครื่องดื่มหรือขนมเสร็จ หรือการจองพื้นที่โดยไม่ได้อยู่ที่ร้าน เพื่อเป็นการให้ลูกค้าท่านอื่นๆ ได้เข้ามาใช้บริการด้วยเช่นกัน

"ร้านสตาร์บัคส์เป็นที่ลูกค้าสามารถนั่งพักผ่อนและจิบกาแฟได้ตามต้องการ ไม่ว่าคุณจะมาคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม ทางสตาร์บัคส์พร้อมต้อนรับและเคารพในความต้องการและความชื่นชอบของแต่ละปัจเจกชน แต่อย่างไรก็ตามในบางโอกาส เช่น ในช่วงที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการหนาแน่น และกำลังมองหาที่นั่ง แล้วพบว่ามีกลุ่มคนมาใช้พื้นที่โดยไม่ได้ซื้อหรือรับประทานเครื่องดื่มหรืออาหารของร้าน หรือการวางสิ่งของทิ้งไว้ที่โต๊ะเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือจากทางลูกค้าด้วย" น.ส.สุมนพินทุ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้านสตาร์บัคส์สาขาบริเวณใจกลางเมืองถือเป็นร้านสาขาที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อเนื่องตลอดทั้งวัน และจะมีกลุ่มที่เข้ามาใช้สถานที่ เพื่อติวหนังสือตลอดทั้งวันเช่นกัน ซึ่งสาขาที่พบบ่อย ได้แก่ สาขาในสยามสแควร์ สาขาสยามพารากอน และสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ โดยนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีป้ายตั้งโต๊ะขอความร่วมมือลูกค้าในการใช้บริการ ซึ่งไม่ควรนั่งนานเกินไปและควรซื้อเครื่องดื่มหรืออาหารรับประทานด้วย เพื่อให้ลูกค้าได้เพลิดเพลินการใช้บริการในร้านได้เท่าเทียมกัน


ที่มา ข่าวสดรายวัน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  24 ธ.ค. 2555

6899
ไม่ใช่ว่าเป็นแพทย์แล้วจะปราศจากความผิดพลาดโดยสิ้นเชิง เป็นแพทย์ก็ผิดพลาด พลั้งเผลอกันได้ แต่ที่แตกต่างออกไปจากความพลั้งเผลอของบุคคลทั่วไปก็คือ ความผิดพลาดของแพทย์ โดยเฉพาะศัลยแพทย์นั้นเป็นอันตรายสูงยิ่ง บางครั้งถึงตายและอีกหลายครั้งถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยพิการโดยถาวร

นายแพทย์ มาร์ตี้ แมคารีย์ ศัลยแพทย์ของศูนย์การแพทย์จอห์น ฮอปสกิน สหรัฐอเมริกา ที่เชี่ยวชาญการศึกษาเรื่องข้อบกพร่องของโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งนำเอาคดีฟ้องร้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2533 ถึงปี 2553 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับศัลยแพทย์ ที่มีผู้ป่วยเป็นโจทก์และโรงพยาบาลตกเป็นจำเลย รวม 9,744 คดี มาศึกษาสาเหตุที่มาของการฟ้องร้องดังกล่าวว่าเกิดจากความผิดพลาดของแพทย์หรือไม่และด้วยสาเหตุผิดพลาดบกพร่องใด เพื่อจัดทำเป็นสถิติให้เห็นเป็นภาพรวมของความผิดพลาดพลั้งเผลอที่เป็นรูปธรรมของแพทย์ในสหรัฐอเมริกา

ผลการศึกษาวิจัยที่เพิ่งแล้วเสร็จและตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เดอะ เจอร์นัล เซอร์เจอรี่ ฉบับประจำวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดผู้ป่วยแล้วผิดพลาดนั้น แม้จะเปรียบเทียบแล้วต่ำกว่าความผิดพลาดพลั้งเผลอของแพทย์ด้านอื่น แต่ก็ยังถือว่าน่าตกใจ เพราะพบว่า แพทย์มักลืม ผ้าขนหนู, ก้อนสำลี, ฟองน้ำ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ไว้ในร่างกายของผู้ป่วยโดยเฉลี่ยแล้วมากถึง 39 ครั้งต่อสัปดาห์ ไปดำเนินการผ่าตัดในส่วนของร่างกายที่ไม่ใช่ส่วนที่ผู้ป่วยต้องการผ่าตัด หรือเรียกง่ายๆ ว่า ผ่าตัดผิดที่โดยเฉลี่ยแล้ว 20 ครั้งต่อสัปดาห์

ที่แย่กว่านั้นก็คือ ศัลยแพทย์อเมริกัน ผ่าคนไข้ผิดคนมากถึง 20 ครั้งต่อสัปดาห์โดยเฉลี่ยเช่นเดียวกัน

(สถิติที่ว่านี้เป็นสถิติเชิงอนุมานจากกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา)

สิ่งที่นายแพทย์ แมคารีย์ เตือนเอาไว้ก็คือ สถิติที่บอกเอาไว้ในการศึกษาวิจัยดังกล่าวนั้นเป็น "ขั้นต่ำ" ของพิสัยที่เป็นไปได้ทั้งหมด เพราะจำนวนความผิดพลาดที่แท้จริงนั้นสูงกว่าที่เกิดเป็นคดีฟ้องร้องกันมากมายนัก เขาบอกว่ายังมีการศึกษาวิจัยอีกบางชิ้นที่บอกว่า การลืมของหมอมักเกิดขึ้นเมื่อผ่าตัดผู้ป่วยที่ "อ้วนเกินไป" หรือเมื่อการผ่าตัดดำเนินการเป็น "ทีม" หรือ "หลายๆ ทีม" ในตัวผู้ป่วยเพียงรายเดียว

ความผิดพลาด พลั้งเผลอ ยังเกิดขึ้นได้ง่ายในกรณีที่แพทย์เร่งรีบ และเกิดขึ้นในกรณีที่วัฒนธรรมของสถานพยาบาลแห่งนั้นยึดถือแพทย์เป็นใหญ่ ทำให้พยาบาลไม่กล้าปริปากแม้จะเกิดความรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติขึ้นก็ตามที

ทีมวิจัยครั้งล่าสุดสรุปเอาไว้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ศึกษาวิจัย พบความบกพร่องของศัลยแพทย์ที่สำคัญๆ มากถึง 80,000 ครั้ง ราว 7 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยที่โชคร้ายเหล่านั้นเสียชีวิตลงเพราะความผิดพลาดดังกล่าว ส่วนอีกราว 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เกิดความผิดพลาด ลงเอยด้วยการบาดเจ็บหรือพิการอยู่อย่างถาวรเพราะความผิดพลาดเหล่านั้น

นายแพทย์ แมคารีย์ เชื่อว่าหนทางแก้เพื่อลดความผิดพลาดลงให้เหลือน้อยที่สุด จำเป็นต้องนำเอาเรื่องความปลอดภัยเข้าไปบรรจุไว้ในระบบการรักษาพยาบาลทั้งระบบ ให้ทุกส่วนในทีมผ่าตัดคำนึงถึงเป็นลำดับแรกเพื่อปกป้องผู้ป่วย แม้แต่พยาบาลก็ควรมีสิทธิบอกหรือโวยนายแพทย์ได้หากพบเห็นความผิดพลาดบกพร่อง การติดตั้งระบบติดตามวัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นไว้ด้วยชิปอาร์เอฟไอดี นอกจากจะช่วยตรวจสอบการหลงลืมวัสดุไว้ในร่างกายผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วแล้วยังเป็นการบีบกลายๆ ให้แพทย์ต้องรายงานความบกพร่องและโรงพยาบาลต้องยอมรับผิดและหาทางแก้ไขโดยเร็วได้อีกด้วย


ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  25 ธ.ค. 2555

หน้า: 1 ... 458 459 [460] 461 462 ... 648