แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 441 442 [443] 444 445 ... 648
6631
ผู้สูงอายุเตรียมเฮ! บอร์ด สปสช.รับหลักการดึงคลินิกเอกชนร่วมทำฟันปลอม ลดการรอคิวนานใน รพ.รัฐ โยนอนุฯสิทธิประโยชน์พิจารณาความคุ้มค่าการจ่ายเงินและการจัดคิว พ่วงเรื่องขยายสิทธิประโยชน์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้หญิงตั้งครรภ์และเด็กเพิ่มเติม ขีดเส้นเสนอใน 60 วัน
       
       วันนี้ (3 มิ.ย.) เมื่อเวลา 15.40 น.ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยภายหลังประชุมบอร์ด สปสช.ว่า การประชุมในครั้งนี้มีข้อเสนอเรื่องการบังคับใช้และการลงโทษ ในร่างระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยประมวลจริยธรรมสำหรับคณะกรรมการ กรณีมีคณะกรรมการถูกร้องเรียนและมีหลักฐานปรากฏ โดยให้สำนักงานรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยในที่ประชุมมีข้อกังวลในแนวทางปฏิบัติว่าหากมีการทำผิดใครจะเป็นผู้ตัดสิน จึงเห็นควรให้มีกระบวนการกลางขึ้นมาตรวจสอบและกลั่นกรองในเรื่องนี้ ก่อนเสนอประธานในที่ประชุมให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน นอกจากนี้ ยังให้นำกลับไปทำประชาพิจารณ์ก่อน พร้อมให้หาผู้มีประสบการณ์มาให้คำปรึกษาถึงแนวทางการปฏิบัติด้วย
       
       นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอให้ดึงคลินิกเอกชนทันตกรรมทำฟันปลอมฟันเทียมให้ผู้สูงอายุ เพื่อลดการรอคิวทำฟันที่ยาวนานในโรงพยาบาลรัฐและมีการเข้าถึงน้อย โดยขออนุมัติให้จ่ายเงินแก่คลินิกเอกชนที่ร่วมโครงการราคา 8,000 บาท ซึ่งรวมค่าแรงด้วยนั้น ควรมีการคำนึงถึงการจ่ายเงิน อัตราการจ่ายซึ่งปกติไม่รวมค่าแรง และการปฏิบัติการเข้าคิว โดยผ่านคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ว่ามีความคุ้มค่าทางการเงินหรือไม่ อัตราการจ่ายมีความเหมาะสมหรือยัง และจะจัดคิวอย่างไรไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่ใกล้ถึงคิวและคนที่รอคิวนาน ส่วนการขยายสิทธิประโยชน์การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้แก่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป และเด็กอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี มีข้อกังวลว่า กลุ่มสิทธิประโยชน์เดิมคือทุกกลุ่มอายุทุกสิทธิการรักษาที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ยังไม่สามารถฉีดให้ครบได้ การขยายกลุ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นผลหรือไม่ หรือควรขยายให้แก่ผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปแทน เรื่องนี้ต้องให้คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์พิจารณาถึงความคุ้มค่าก่อน นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเรื่องทั้งหมดควรผ่านอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องก่อน โดยให้ระยะเวลาในการพิจารณา 60 วัน ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาอีก 60 วันเช่นกัน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 มิถุนายน 2556

6632
คนไข้หนีออกจากโรงพยาบาลตะกั่วป่า กระโดดน้ำฆ่าตัวตาย คาดเกิดอาการเครียด หลังจากหมอตรวจพบอาจเป็นโรคมะเร็ง...

วันนี้ (2 มิ.ย.56) เวลา 08.30 น. พ.ต.ท.สันติ คงศรี พงส.สภ.ตะกั่วป่า ได้รับแจ้งพบศพคนจมน้ำในบ่อน้ำ ด้านหลังในโรงพยาบาลตะกั่วป่า หมู่ที่ 1 ต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จึงได้เดินทางไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุเป็นบ่อน้ำประปา ที่ใช้ภายในโรงพยาบาลตะกั่วป่า สภาพศพนอนคว่ำหน้าลงน้ำ อยู่ห่างจากริมตลิ่งประมาณ 1 เมตร ใส่กางเกงสีขาว เขียนว่าโรงพยาบาลตะกั่วป่า ไม่สวมเสื้อ ทราบชื่อต่อมาคือ นายสมเกียรติ แสงอรุณ อายุ 51 ปีเป็นพนักงานผลิตน้ำประปา สำนักงานเทศบาลตำบลบางนายสี

จากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทราบว่าผู้ตาย ได้มานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลตะกั่วป่า ประมาณวันที่ 30 พ.ค.56 โดยหมอตรวจร่างกายพบว่า ผู้ตายมีก้อนเนื้อคล้ายมะเร็ง ซึ่งเมื่อทราบว่าตัวเอง น่าจะป่วยเป็นโรคมะเร็ง ทำให้เกิดอาการเครียดและซึมเศร้า จนเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.56 ทางญาติได้ไปแจ้งความที่ สภ.ตะกั่วป่า ว่า นายสมเกียรติ หายออกจากโรงพยาบาล ทางญาติจึงได้ออกตามหาตลอดทั้งวัน แต่ก็ไม่พบ จนกระทั่งมารู้ เมื่อช่วงสายของวันนี้ว่า พบศพนายสมเกียรติ บริเวณบ่อน้ำประปาโรงพยาบาล ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ลงบันทึกและส่งศพให้แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลตะกั่วป่าชันสูตรพลิกศพต่อไป.

ไทยรัฐออนไลน์  2 มิย 2556

6633
1. พันธมิตรฯ ยื่นศาล รธน. สั่งระงับแก้ ม.68 พร้อมยุบ 6 พรรค ด้านศาลฯ ยกคำร้อง “เรืองไกร” ขอยุบ ปชป.!

       หลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ต่อประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. เพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ได้สั่งให้บรรจุร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว โดยอ้างว่า ร่างดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประชุมและออกแถลงการณ์เรื่อง หยุดยั้งการล้มรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพวกพ้อง โดยสรุปว่า ขณะนี้ปรากฏชัดเจนว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงประชาชน มุ่งแต่แสวงหาประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ,มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างใหญ่หลวงในโครงการรับจำนำข้าว ,มีการใช้งบประมาณมหาศาลในการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดความโปร่งใส ,เดินหน้ารับอำนาจศาลโลกในการตีความคดีปราสาทพระวิหาร ,ปล่อยให้ราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนไปทุกหย่อมหญ้า ฯลฯ
       
       ยิ่งกว่านั้น พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ยังเหิมเกริมลุแก่อำนาจ เดินหน้าออกกฎหมายเพื่อลบล้างความผิดให้ตัวเองและพวกพ้องในคดีอาญาร้ายแรงโดยไม่สนใจผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำดังกล่าว รวมทั้งปล่อยให้มีการเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกความผิดให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่สภาฯ อีกด้วย โดยพันธมิตรฯ ยืนยันอีกครั้งว่า จะคัดค้านการออกกฎหมายล้างความผิดให้ นช.ทักษิณและพวกอย่างถึงที่สุด
       
       ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยพยายามล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ด้วยการแก้ไขมาตรา 68 ไม่เคารพหลักนิติรัฐและหลักการถ่วงดุลอำนาจโดยตุลาการ มีการออกแถลงการณ์ของ ส.ส.และ ส.ว.ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ใส่ร้ายป้ายสีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ปล่อยให้มวลชนออกมาข่มขู่กดดันศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้พิจารณาคดีที่รัฐบาลกระทำผิด ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นขบวนการทำลายการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยอย่างเดียว ไม่ใช่แนวทางในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด
       
       ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรฯ จึงจำเป็นต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา 8 ประเด็นต่อไปนี้ 1.ขอให้ศาลฯ สั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 ไว้จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย 2.ให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.-ส.ว.จำนวน 311 คน เสนอต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม เป็นอันตกไป เพราะเป็นการใช้สิทธิที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 3.การที่ประธานรัฐสภารับร่างดังกล่าว แล้วบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 4.ขอให้ศาลฯ สั่งให้ประธานรัฐสภา พร้อมด้วย ส.ส.-ส.ว.311 คน ยกเลิกการกระทำดังกล่าว และถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 หรือ 3
       
       5. การที่ ส.ส.-ส.ว.จำนวน 374 คน ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 6. ขอให้ศาลฯ สั่งยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ เนื่องจาก ส.ส.พรรคการเมืองเหล่านี้เสนอกฎหมายและออกแถลงการณ์ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 7.ขอให้ศาลฯ สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคดังกล่าวทุกพรรค เป็นเวลา 5 ปี และ 8 ขอให้ศาลฯ สั่งให้การกระทำของประธานรัฐสภาและ ส.ส.-ส.ว.เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
       
       ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ได้มอบหมายให้นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรฯ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำพันธมิตรฯ รุ่นสอง ไปยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน(27 พ.ค.)
       
       วันต่อมา(28 พ.ค.) ทางพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และหัวหน้าทีมกฎหมายของพรรค ก็ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยขอให้ศาลพิจารณาในประเด็นเดียวกับที่พันธมิตรฯ ยื่นคำร้อง พร้อมเผยว่า พรรคเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และ ร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ กับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ
       
       ด้านศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค. แต่ยังไม่ได้พิจารณาว่าคำร้องของพันธมิตรฯ และคำร้องของนายวิรัตน์ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจคำร้องของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ได้พิจารณาคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ศาลฯ สั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ตลอดจนร่วมประชุมและใช้สิทธิอภิปรายในการประชุมร่วมรัฐสภา โดยตุลาการฯ มีมติไม่รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ จึงไม่เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
       
       2. สภาฯ ผ่านวาระแรกร่าง พ.ร.บ.งบฯ 57 แล้ว ด้วยมติ 292 ต่อ 155 ด้าน ปชป. แฉทุจริตจำนำข้าว-จัดซื้อรถตู้แพงเว่อร์ ขณะที่ “เสริมศักดิ์” โบ้ย ธุรการพิมพ์ตัวเลขผิด!

       เมื่อวันที่ 29-31 พ.ค. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 โดยการประชุมเปิดฉากด้วยการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำเสนอหลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า ครม.ได้ตั้งงบฯ ไว้ไม่เกิน 2.525 ล้านล้านบาท โดยเป็นการทำงบแบบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท มีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ คือ เพื่อดำเนินนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องจากงบประมาณปีที่ผ่านมา และเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศและรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แจกแจงยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 2557 ด้วยว่า มี 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยจัดสรรงบไว้กว่า 1.45 แสนล้านบาท 2.ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ จำนวนกว่า 2.10 แสนล้านบาท 3.ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำนวนกว่า 3.43 แสนล้านบาท
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายว่า งบประมาณปีนี้เป็นงบที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้หากสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ก็จะเกือบเท่างบประมาณทั้งปี ซึ่งเมื่อดูเอกสารงบจะเห็นว่า รัฐบาลสามารถกู้เงินตามงบประมาณได้ถึง 5 แสนกว่าล้านบาท แต่รัฐบาลเสนองบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท และยังจะไปกู้เงิน ทั้งที่เงินกู้สามารถเอามาอยู่ในเพดานจัดทำงบได้ทั้งสิ้น นายอภิสิทธิ์ ยังเตือนการจัดงบของรัฐบาลด้วยว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ “รัฐบาลเดินหน้าต่อการสุ่มเสี่ยงขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จัดงบไม่รับผิดชอบต่ออนาคตประเทศ ...รัฐบาลกำลังบริหารทำให้เศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพ ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซ้ำเติมคนจน เพราะหลักคิดทั้งหมดยังเหมือนเดิม เป็นแนวคิดที่ผิด ไม่สอดคล้องสถานการณ์”
       
       ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายติงการจัดงบของรัฐบาลว่า แม้รัฐบาลจะพยายามแสดงว่าได้ลดจำนวนงบขาดดุลลงแล้ว แต่กลับผลักภาระให้ประชาชน ทั้งการเพิ่มภาษีน้ำมันดีเซลและเพิ่มราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ทั้งที่ควรไปปรับลดโครงการประชานิยมของรัฐบาล เช่น โครงการรับจำนำข้าว ที่ขาดทุนไปแล้ว 2.6 แสนล้านบาท นายกรณ์ ยังถามหาความรับผิดชอบของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วย เพราะเคยระบุว่า หากโครงการรับจำนำข้าวขาดทุนเกิน 6 หมื่นล้านบาทจะรับผิดชอบ
       
       ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแฉทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลโดยชี้ว่า คนที่รวยคือนายทุนโรงสี ส่วนคนรวยสุดคือ นายทุนผูกขาดด้านข้าวและคนในรัฐบาล โดยใช้วิธีระบายข้าวที่อ้างว่าเป็นความลับ และว่า มีคนที่ไม่ธรรมดาในกระทรวงพาณิชย์เป็นจอมบงการฟันหัวคิวในโครงการรับจำนำข้าว โดยบุคคลคนนี้มีความสำคัญอยู่ในทุกรัฐบาล มีตำแหน่งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยที่นายกิตติรัตน์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการในโครงการจำนำข้าวทุกชุด และเมื่อมีการปรับ ครม.ให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บุคคลคนนี้ก็ยังมาเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และยังเป็นคณะกรรมการในนโยบายจำนำข้าวทุกชุดเหมือนเดิม “แสดงว่าคนคนนี้มีความสำคัญมาก มีอำนาจเหนือรัฐมนตรี คนคนนี้คือ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ซึ่งเป็นตัวจริงเสียงจริงในกระทรวงพาณิชย์ มีความใกล้ชิดกับกลุ่มทุนด้านข้าว ซึ่งข้าราชการจะเสนออะไร ท่านรัฐมนตรีจะถามว่าคุณหมอทราบหรือยัง ทุกครั้ง”
       
       นพ.วรงค์ ยังแฉต่อว่า มีตัวแทนนายทุนสามานย์อีกคน ใช้รถโฟลก์สวาเก้น ทะเบียน ฮธ 20 เข้าออกกระทรวงพาณิชย์ทุกวัน ซึ่งคนในกระทรวงกระซิบตนว่า เขามาทำงานตามปกติ เมื่อสืบค้นดูพบว่า เจ้าของรถคือ น.ส.ชุติมา วัชระพุกกะ ซึ่งน่ากังขาว่าเป็นคนเดียวกับนางชุฏิมา วัจนะพุกกะ ที่เป็นภรรยาของ นพ.วีระวุฒิหรือไม่
       
       ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไม่ได้ขาดทุน 2.6 แสนล้านบาท พร้อมอ้างว่า ตัวเลขขาดทุน 2.6 แสนล้านนั้นมาจากโครงการแทรกแซงสินค้าเกษตรทั้งหมด 17 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการรับจำนำข้าวแค่ 2 โครงการ นายบุญทรง ยังปฏิเสธด้วยว่า ไม่มีคนในกระทรวงพาณิชย์ที่ใหญ่กว่ารัฐมนตรี “ขอยืนยันว่า อำนาจการบริหารกระทรวงพาณิชย์ไม่มีใครใหญ่กว่าผม ดังนั้นการไปกล่าวอ้างคนอื่น คงเป็นเรื่องไม่เป็นความจริง”
       
       นอกจากเรื่องทุจริตโครงการรับจำนำข้าวแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังอภิปรายชี้พิรุธการจัดงบในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการด้วย ซึ่งส่อว่าอาจมีการทุจริตงบจัดซื้อรถตู้เพื่อรองรับนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยนายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แฉว่า งบจัดซื้อรถตู้โดยสารขนาด 12 ที่นั่ง(ดีเซล) จำนวน 1,000 คัน วงเงินกว่า 2,343 ล้านบาท ถือว่าจัดซื้อแพงเกินจริง เพราะราคารถตู้ 12 ที่นั่ง คันละ 9.6 แสนบาท แต่กระทรวงศึกษาธิการกลับตั้งงบไว้ที่คันละ 2.34 ล้านบาท มีส่วนต่างถึง 1.3 ล้านบาท ทั้งที่สำนักงบประมาณตั้งงบให้กระทรวงศึกษาฯ ที่คันละ 1.2 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ทราบว่ากระทรวงศึกษาฯ แก้ไขเป็นคันละ 2.3 ล้านบาทได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีการล็อกสเปก เพราะหากใช้รับ-ส่งนักเรียน ควรใช้รถตู้ 16 ที่นั่ง จะเหมาะสมกว่า ซึ่งราคาขายตามท้องตลาดอยู่ที่คันละ 1.1 ล้านบาท
       
       ด้านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงโดยอ้างว่า ไม่ได้มีการทุจริต แต่ตัวเลขผิดพลาดจากจากการพิมพ์ของธุรการ โดยกระทรวงฯ ตั้งงบไว้ 1,232 ล้านบาท รถราคาคันละ 1,232,400 บาท
       
       ขณะที่นายจุฤทธิ์ ถามกลับนายเสริมศักดิ์ว่า ถ้าไม่ได้มีการตรวจสอบพบ คงหวานคอแร้งหรือไม่ เพราะส่วนต่าง 1,300 ล้านบาท ถ้าจับไม่ได้ ไม่ทราบว่าจะเข้ากระเป๋าใคร
       
       ทั้งนี้ หลังการประชุมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในวันที่สาม(31 พ.ค.) เสร็จสิ้นลง ได้มีการลงมติรับหลักการร่างดังกล่าวในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 292 เสียง ไม่เห็นชอบ 155 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง และไม่ลงคะแนน 4 เสียง จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จำนวน 63 คน เพื่อแปรญัตติใน 30 วัน
       
       3. ศาลปกครอง สั่งนายกฯ คืนตำแหน่งเลขาฯ สมช.ให้ “ถวิล” ชี้ สั่งย้ายไม่ชอบ-ขัดคุณธรรม ด้าน “ยิ่งลักษณ์” เล็งอุทธรณ์!

       เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาคดีที่นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ฐานกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรมตามคำสั่งสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2554
       
       ทั้งนี้ องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการโอนนายถวิลดำเนินการอย่างเร่งรีบ ไม่เป็นไปตามขั้นตอน จึงเชื่อได้ว่าที่มาของการเปลี่ยนแปลงนายถวิลออกจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ คือต้องการให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่งอยู่ ว่างลง เพื่อแต่งตั้งให้คนอื่น(พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ดำรงตำแหน่งแทน การออกคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ราชการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญตามระบบคุณธรรม ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 34 ประกอบมาตรา 42 องค์คณะตุลาการฯ จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกฯ ดังกล่าว เนื่องจากการโยกย้ายใช้ดุลพินิจไม่ชอบ และมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แก่นายถวิลโดยเร็วที่สุด
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องจะยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน แต่ศาลก็ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลด้วยว่า เมื่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งการโยกย้ายโดยให้มีผลย้อนหลังแล้ว ย่อมมีผลทางกฎหมายว่านายถวิลไม่ได้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้นายถวิลสามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการ สมช.โดยเร็ว
       
       ด้านนายถวิล เผยความรู้สึกหลังทราบคำพิพากษาว่า ดีใจกับคำพิพากษา แต่ก็ต้องรอดูว่า นายกฯ จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ แต่อยากให้นายกฯ ยึดมาตรฐานเดียวกับที่ไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีโยกย้ายนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ศาลปกครองกลางเคยมีคำพิพากษาว่าถูกโยกย้ายไม่เป็นธรรม นายถวิล ยังฝากถึงผู้มีอำนาจและข้าราชการด้วยว่า “ขอฝากไปยังผู้ที่มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตามว่า ระบบที่ไม่ตั้งอยู่ในพื้นฐานคุณธรรม จริยธรรม ได้ทำร้ายข้าราชการที่ดีจำนวนมาก ขอฝากไปยังเพื่อนข้าราชการด้วยว่า ได้เข้ามารับราชการเป็นอาชีพ ขอให้ภาคภูมิใจในการเป็นข้าราชการรับใช้ประชาชน และขอให้มีใจเข้มแข็งต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ผมฝากไปยังข้าราชการที่ไม่ดี คิดว่ามีอยู่น้อย เลิกทำร้ายข้าราชการด้วยกันได้แล้ว รวมทั้งเลิกนิสัยมักง่าย ประจบสอพลอ การย้ายข้าราชการได้ทำลายองค์กร ทำลายขวัญกำลังใจข้าราชการ ในขณะที่ผมเป็นเลขาฯ สมช. ผมได้สอนน้องๆ ตลอดว่า จะเป็นข้าราชการที่ดีเติบโตได้ ต้องทุ่มเท เห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และตั้งแต่รับราชการมา ผมไม่เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ไม่เคยทำงานให้พรรคการเมืองเลย”
       
       ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางหรือไม่ แต่นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับทราบคำสั่งของศาลปกครองกรณีนายถวิลเรียบร้อยแล้ว ขณะที่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ ได้ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ อ่านคำสั่งของศาลอย่างละเอียด คาดว่าคงจะมีการอุทธรณ์ต่อไป
       
       ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พูดถึงกรณีที่ศาลปกครองสั่งให้นายกฯ คืนตำแหน่งเลขาธิการ สมช.แก่นายถวิลว่า คงต้องรอคำสั่งจากนายกฯ ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ หากไม่อุทธรณ์ก็ต้องรอคำสั่งอย่างเป็นทางการจากนายกฯ ว่าจะให้ไปรับหน้าที่ใด โดยพร้อมจะปฏิบัติตาม เพราะเป็นข้าราชการของแผ่นดิน ส่วนการเปลี่ยนตำแหน่งจะกระทบต่อการเป็นหัวหน้าคณะเจรจาเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น พล.ท.ภราดร บอกว่า ขึ้นอยู่กับนายกฯ ว่าจะให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาต่อไปหรือไม่ เพราะหัวหน้าคณะเจรจา ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นตำแหน่งเลขาธิการ สมช.
       
       4. กนง. มีมติเอกฉันท์หั่นดอกเบี้ย 0.25% ปัดตอบการเมืองแทรกหรือไม่ ให้สังคมคิดเอง ด้าน “กิตติรัตน์” ได้คืบเอาศอก บอก ยังน้อยไป!

       เมื่อวันที่ 29 พ.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นประธาน ได้ประชุมก่อนมีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือ 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงว่า เหตุที่ กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เนื่องจากประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัว เพราะมีปัจจัยพื้นฐานในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายเพิมเติมได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน กนง.จึงต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายที่เหมาะสมตามสถานการณ์
       
        ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ยืนยันว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ถือว่าเพียงพอเหมาะสมต่อการรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า และไม่ขอตอบว่า การลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้เป็นเพราะได้รับแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่ โดยบอกว่า สังคมต้องตีความเอง
       
        ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ของ กนง.ว่า น้อยเกินไป แต่มาช้าดีกว่าไม่มา “ผมยอมรับการตัดสินใจของ กนง. และแม้ว่า ธปท.จะมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน แต่ผมจะยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ธปท.ต่อไป ซึ่งเรื่องดอกเบี้ย ผมอยากให้ลดลงมากกว่านี้”
       
       ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ ธปท.และประธาน กนง. ยืนยันว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว หากลดมากไป อาจเกิดความเสี่ยง และตลาดเงินอาจตีความหมายผิดเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของไทย "ถ้าไปลดเยอะแยะตอนนี้ ด้วยข้อมูลที่เรามีแบบนี้ ไปสู่ตลาดการเงินที่มีคนเกี่ยวข้องเยอะ อาจจะมีการตีความผิดไปว่า เราเห็นอะไรที่มันเลวร้ายจนเกินไปหรือเปล่า ถึงต้องลดดอกเบี้ยเยอะขนาดนั้น"
       
       ทั้งนี้ หลัง กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% หลายฝ่ายต่างออกมาแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า การลดดอกเบี้ยแค่ 0.25% ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างอะไรมากนัก น่าจะส่งผลทางจิตใจและสร้างความโล่งใจอย่างที่หลายฝ่ายอยากให้ปรับลดลงมากกว่า
       
        ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) บอกว่า ไม่ได้ผิดหวังอะไร แต่ยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ “หาก กนง.ลดดอกเบี้ย 0.50% จะเป็นเนื้อเป็นหนังกว่านี้ แต่ ส.อ.ท.เข้าใจว่า กนง.ต้องดูภาพรวมของประเทศเป็นหลัก และในอดีต การลดดอกเบี้ยจะใช้วิธีลดครั้งละ 0.25%”
       
        ขณะที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เชื่อว่า การลดดอกเบี้ยนอกจากไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจเกิดความเสี่ยงตามมา “หลายประเทศที่มีปัญหาใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ แต่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นไม่ได้ฟื้นตัวตามที่หวังไว้ ขณะที่การลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะมีผลทำให้คนไม่อยากออม เพราะไม่มีอะไรจูงใจ และสิ่งที่พูดมาตลอดคือ การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อนานเกินไป อาจจะเป็นความเสี่ยงภายหลังได้”
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง กนง.ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ปรากฏว่า ค่าเงินบาทในวันดังกล่าวไม่ได้อ่อนตัวลงมากนัก โดยเปิดตลาดที่ระดับ 30.08-30.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดลาดที่ระดับ 30.18-30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 มิถุนายน 2556

6634
 1. พท. ชงร่าง กม.ปรองดองฯ เข้าสภาแล้ว - “เฉลิม” ลั่น พา “ทักษิณ” กลับบ้านก่อนปีใหม่ หากไม่สำเร็จ ยอมให้ตัดหัว ด้านพันธมิตรฯ แถลงท่าที 27 พ.ค.นี้!

       ความคืบหน้ากรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาของสภา เพื่อพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน โดยยืนยันว่า ทุกฝ่ายทุกสีได้ประโยชน์ ไม่เว้นแม้กระทั่งแกนนำผู้ชุมนุมหรือผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม พร้อมประกาศว่า จะยื่นร่างดังกล่าวต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 23 พ.ค. ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงและ ส.ส.เสื้อแดง ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม แต่หนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย มากกว่า เพราะไม่นิรโทษกรรมให้แกนนำและผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมนั้น
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมายืนยันว่า ที่ประชุม ส.ส.ของพรรค มีมติสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เป็นเหยื่อทางการเมือง และจะไม่นำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองมาปนกัน พร้อมย้ำ ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.นี้ จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 อย่างเดียว จะไม่มีการสอดแทรกหรือดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ,ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ,ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าพิจารณาแต่อย่างใด
       
       ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม พูดถึงกรณีที่ ส.ส.เสื้อแดงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของตนว่า ได้สั่งให้นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ตัดมาตรา 5 (ซึ่งกำหนดให้ ครม.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม) ออกจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แล้ว เพราะเรื่องเยียวยารัฐบาลให้อยู่แล้ว
       
       ทั้งนี้ 2 วันต่อมา(23 พ.ค.) ส.ส.พรรคเพื่อไทยประมาณ 15 คน นำโดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ก็ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ฉบับ ร.ต.อ.เฉลิม พร้อมรายชื่อ ส.ส.ที่สนับสนุน 163 คน ต่อประธานสภาฯ โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นผู้รับแทน
       
       ซึ่งนายเจริญ บอกว่า หลังจากนี้จะตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ และหากพบว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จะส่งให้นายกฯ เซ็นรับรองก่อน หากไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน จะบรรจุเข้าระเบียบวาระตามปกติ พร้อมเผยว่า อำนาจในการวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ เป็นของประธานสภาฯ แต่ประธานสภาฯ มอบหมายให้ตนวินิจฉัยแทน นายเจริญ ยังยืนยันด้วยว่า การเปิดประชุมสมัยวิสามัญ จะไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าพิจารณาแน่นอน
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ว่า ร.ต.อ.เฉลิม พยายามบิดไม่ให้ร่างดังกล่าวเป็นกฎหมายการเงินด้วยการตัดมาตรา 5 ทิ้ง เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะถ้าเป็นกฎหมายการเงิน นายกฯ ต้องเซ็นรับรองก่อนบรรจุเข้าวาระการประชุมสภา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า แม้จะตัดมาตรา 5 ออก แต่ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ก็ยังเป็นกฎหมายการเงินอยู่ดี เพราะมาตรา 4 (ซึ่งระบุให้ข้อกล่าวหาที่มาจากคำสั่ง คปค. ที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ระงับไป ไม่ถือว่าเป็นความผิด) จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ นำไปอ้างเพื่อเรียกเงินที่ถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทคืนได้
       
       ขณะที่นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาสวนกลับพรรคประชาธิปัตย์ โดยยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่ได้มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อคืนเงินให้ พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด “ร.ต.อ.เฉลิมพูดอยู่ตลอดว่า เรื่องเงินนั้น ทาง พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่าไม่ต้องคืนและไม่ติดใจในเรื่องนี้ วันนี้ให้จบ บ้านเมืองจะได้เดินหน้า เลิกแล้วต่อกัน เพราะเจตนาที่เรายื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ไม่ได้พูดถึงเรื่องเงินเลย นี่คือความสัตย์จริง แต่ฝ่ายค้านเขาก็ต้องแหย่ในประเด็นเหล่านี้ เพราะเชื่อมั่นว่าประเด็นนี้จุดติด เรียกแขกง่าย”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ร.ต.อ.เฉลิม ได้ขึ้นเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดงที่สนามทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 24 พ.ค. โดยเวทีดังกล่าว ชูสโลแกนว่า “ทวงคนดีคืนถิ่น เอาทักษิณกลับบ้าน” ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ได้เปิดใจว่าทำไมต้องพาทักษิณกลับบ้านว่า ยอมรับว่าเป็นขี้ข้า พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นขี้ข้าทางใจ ถ้าพี่น้องให้ความกรุณา จะเอา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านก่อนปีใหม่ ร.ต.อ.เฉลิม ยังเอาหัวเป็นประกันด้วยว่า หากพาทักษิณกลับบ้านไม่สำเร็จ เอาตนไปตัดหัวได้เลย “ถ้าไม่สำเร็จ ผมรับผิดชอบคนเดียว จะเอาไปตัดหัว คั่วแห้งที่ไหนก็เชิญ”
       
       ด้านแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมประชุมประเมินสถานการณ์บ้านเมืองพร้อมกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เวลา 12.00น.
       
       2. ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งรวม 4 คำร้องแก้ รธน.มาตรา 68 นัดพิจารณาต้องไต่สวนหรือไม่ 29 พ.ค.นี้!

       เมื่อวันที่ 22 พ.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณากรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องหลายคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับพวกรวม 312 คน กระทำการผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผู้ยื่นคำร้องรวม 4 คำร้อง ประกอบด้วย คำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ,คำร้องของนายบวร ยสินทร และคณะ ,คำร้องของนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา และคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา โดยที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ทั้ง 4 คำร้องมีลักษณะเดียวกัน จึงให้รวมเป็นคำร้องเดียว เพื่อพิจารณาในคราวเดียวกัน
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมวันที่ 29 พ.ค. เวลา 09.30น. เพื่อพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวจำเป็นต้องออกนั่งบัลลังก์เพื่อไต่สวนฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องหรือไม่ หรือจะพิจารณาคำร้องและมีคำวินิจฉัยได้ทันทีโดยไม่ต้องไต่สวน
       
       ส่วนกรณีที่นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน ,นายชาญ ไชยะ ,นายมาลัยรักษ์ ทองส้ม ,นายไพวรรณ์ สีน้ำอ้อม และนายธนชัย สีหิน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คน ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล ,นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเป็นตุลาการฯ เสียงข้างมากที่มีมติให้รับคำร้องของนายสมชาย ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่มีมูล จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
       
       นอกจากนี้ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาคำร้องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ,นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายคมสัน โพธิ์คง ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณกับพวกรวม 283 คน กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้สไกป์หรือวิดีโอลิงก์หลายครั้ง เพื่อสั่งการในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายปรองดอง ออกกฎหมายนิรโทษกรรม และออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยตุลาการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองทั่วไป ยังมิได้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
       
       3. ครม. เปลี่ยนโฆษก รบ. พร้อมเด้ง “หมอพรทิพย์” เข้ากรุ สะพัด หวังเปลี่ยนรูปคดี 6 ศพวัดปทุมฯ !

       เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมืองและโยกย้ายข้าราชการประจำบางตำแหน่ง สำหรับข้าราชการการเมือง ได้แก่ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการเปลี่ยนจาก นพ.ทศพร เสรีรักษ์ เป็นนายธีรัตถ์ รัตนเสวี บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ทีวีของตระกูล “ชินวัตร” แล้วให้ นพ.ทศพร ไปเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง(รองนายกฯ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) ,นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้รับแต่งตั้งให้ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฯลฯ
       
       ส่วนข้าราชการประจำที่ถูกโยกย้าย ได้แก่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ โดยถูกโยกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(กปต.) และให้ พ.ท.เอนก ยมจินดา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ฝ่ายพัฒนา กระทรวงยุติธรรม มาเป็นผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แทน
       
       ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พูดถึงการโยกย้าย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ว่า เนื่องจาก พญ.คุณหญิงพรทิพย์ดำรงตำแหน่ง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มา 5 ปี ดังนั้นผู้บริหารจึงพิจารณาว่าจะต่ออายุในตำแหน่งดังกล่าวอีก 1 ปี หรือจะมีการปรับย้ายให้ไปรับผิดชอบงานในส่วนอื่น ซึ่งในที่สุดมีการปรับย้าย นายกิตติพงษ์ ยังยืนยันด้วยว่า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ชอบและพึงพอใจในตำแหน่งใหม่ และว่า ในอนาคต จะมีการให้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ดูแลงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในส่วนของสถาบันฝึกอบรมด้วย ซึ่งจะมีส่วนของนิติวิทยาศาสตร์ควบคู่กับสืบสวนสอบสวน โดยไม่ต้องรับผิดชอบงานบริหารด้านอื่น พร้อมย้ำว่า การโยกย้าย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ครั้งนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองหรือเป็นการลงโทษ แต่เป็นการโยกย้ายตามวาระและความเหมาะสม
       
       ขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เผยความรู้สึกหลังทราบมติ ครม.ที่โยกย้ายให้ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรมว่า แสดงว่าการเมืองไม่พอใจงานที่ตนทำ และว่า สำหรับตนแล้วมองว่าการถูกโยกครั้งนี้เป็นการลดตำแหน่ง เพราะที่ผ่านมา สาขาที่ขาดแคลนสามารถเสนอขอต่ออายุได้อีก 2 ปี โดยก่อนหน้านี้ตนได้ต่อมา 1 ปี
       
       ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พูดถึงมติ ครม.ที่โยกย้าย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ว่า กระทรวงยุติธรรมมีอำนาจในการปรับย้าย แต่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ทำงานกับตนมาตลอด “ได้สอบถามไปแล้ว ได้รับคำตอบว่าการปรับย้ายครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะหมอทำงานไม่ดี หน่วยเหนือเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสม หมอเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด” พล.อ.ประยุทธ์ ยังพูดถึงคนใหม่ที่จะเป็น ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์แทน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ด้วยว่า ต้องทำงานในแนวทางที่หมอทำไว้แล้ว เพราะเริ่มต้นไว้ดีอยู่แล้ว และว่า คงต้องดูแลคนดีกันต่อไป ประเทศไทยต้องการคนดีเยอะๆ ต้องช่วยกัน หมอท่านดีอยู่แล้ว คนใหม่ก็ต้องดี อย่างน้อยก็ต้องดีเท่ากัน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง ครม.มีมติโยก พญ.คุณหญิงพรทิพย์เข้ากรุเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ปรากฏว่า ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมออนไลน์ว่า “การเด้งหมอพรทิพย์ หวังเปลี่ยนรูปคดี กรณี "ชายชุดดำ " ผลการชันสูตร 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม พบว่ากรณีการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด ไม่ได้เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะจากบาดแผลและการจำลองวิถีกระสุน และคลิป 15 วินาทีบริเวณเต๊นท์ ที่ประกอบในสำนวนของดีเอสไอ เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดจากการยิงจากบนรางรถไฟฟ้า "ดีเอสไอ" เจอ "หมอพรทิพย์" จัดหนัก ส่งหลักฐานวิถีกระสุนที่ยิงจากบีทีเอสให้แล้ว แต่กลับไม่บรรจุในสำนวนการสอบสวน ขณะที่ตัวแทนดีเอสไอ ใบ้กิน บอกเฉยไม่ทราบ”
       
       4. เกิดเหตุไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้หลายชั่วโมง - “พงษ์ศักดิ์” อ้างเหตุ ฟ้าผ่าสายส่ง ด้านเอ็นจีโอ จี้ รมว.พลังงานลาออก!

       เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ได้เกิดเหตุไฟฟ้าดับทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้นานประมาณ 5 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 18.52น.-23.45น. ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความแตกตื่น เกรงว่าจะมีการก่อเหตุไม่สงบขึ้น ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องต่างออกมาพูดถึงสาเหตุที่ไฟฟ้าดับแตกต่างกันไป โดยนายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) บอกว่า เหตุที่ไฟฟ้าดับเนื่องจากสถานีไฟฟ้าบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีกำลังส่ง 500 กิโลวัตต์ ซึ่งเป็นสถานีที่จ่ายไฟตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึง จ.ยะลา รวม 14 จังหวัด เกิดเหตุขัดข้อง
       
        ขณะที่นายนพพงศ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 จ.เพชรบุรี บอกว่า เหตุที่ไฟฟ้าดับดังกล่าว เนื่องจากหม้อแปลงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จ่ายไฟจากภาคกลางไปยังพื้นที่ภาคใต้เกิดหลุดที่โรงไฟฟ้าบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้สถานีไฟฟ้าถัดไปไม่สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้ จึงหลุดตามไปด้วย
       
        ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมผู้บริหารของกระทรวง ,ผู้บริหาร กฟผ. และตัวแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ เพื่อหาสาเหตุของไฟฟ้าดับดังกล่าว ซึ่งหลังประชุม นายพงษ์ศักดิ์ ได้ขอโทษประชาชนแทนกระทรวงพลังงานและ กฟผ. พร้อมเผยว่า กฟผ.ตรวจสอบพบว่า สาเหตุของไฟฟ้าดับครั้งนี้เนื่องจากระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน เกิดขัดข้อง “สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ 500 กิโลโวลต์ 2 เส้น และ 230 กิโลโวลต์ 2 เส้น ช่วงเช้าวันที่ 21 พ.ค. กฟผ.ได้ปลดสายส่ง 500 กิโลโวลต์ 1 เส้น เพื่อซ่อมบำรุงตามกำหนด แต่ช่วงเย็นสายส่ง 500 กิโลโวลต์ เส้นที่ 2 เกิดชำรุด คาดว่าเกิดจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 กิโลโวลต์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งไฟฟ้าเกินกำลัง ส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ นอกจากนี้โรงไฟฟ้าในภาคใต้ 4 โรงปิดซ่อมบำรุง ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าต่ำกว่ามาตรฐาน 50 เฮิร์ตซ์ ดังนั้นศูนย์สั่งจ่ายไฟฟ้าอัตโนมัติของภาคใต้ที่ จ.ตรัง จึงระงับไฟฟ้าอัตโนมัติ เพื่อป้องกันโรงไฟฟ้าอื่นๆ เสียหาย เป็นเหตุให้ไฟฟ้าทั้งระบบในภาคใต้ดับลง”
       
        นายพงษ์ศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันภาคใต้ใช้ไฟฟ้ามากกว่ากำลังผลิต โดยวันที่ 21 พ.ค. ความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 2,200 เมกะวัตต์ ขณะที่ผลิตได้เพียง 1,600 เมกะวัตต์ จึงต้องรับไฟฟ้าจากภาคกลางไปช่วย พร้อมชี้ว่า เมื่อสาเหตุหลักของไฟฟ้าดับครั้งนี้มาจากสายส่ง จึงได้ให้นโยบายให้ขยายสายส่งให้มีขนาดเดียวกันทั่วประเทศ และว่า จากการตรวจสอบสายส่งทั่วประเทศพบว่า มี 2 พื้นที่น่าห่วงเรื่องสายส่งคือ กรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้นายพงษ์ศักดิ์ ยังได้ให้นโยบายผู้เกี่ยวข้องทบทวนการทำงานว่า เมื่อระบบควบคุมการหยุดจ่ายไฟควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์จนเกิดปัญหาครั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้บุคคลหนึ่งบุคคลเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการหยุดจ่ายไฟตามกฎหมาย เพื่อให้การดับไฟสามารถระบุหรือเลือกพื้นที่ดับได้
       
        ส่วนใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบเหตุไฟฟ้าดับครั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ โบ้ยว่า “คงต้องให้ฟ้ารับผิดชอบ เพราะเกิดจากฟ้าผ่า” สำหรับการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับนั้น นายพงษ์ศักดิ์ บอกว่า เป็นหน้าที่ของเรกูเลเตอร์ที่จะสอบสวนสาเหตุและพิจารณาเยียวยาต่อไป เมื่อถามว่า ปัญหาไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้น กระทรวงพลังงานต้องเร่งเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในพื้นที่ภาคใต้หรือไม่ นายพงษ์ศักดิ์ บอกว่า เป็นคนละเรื่อง ไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าจะใช้โอกาสนี้ผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้า แต่ยอมรับว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเป็นความจำเป็นของคนในพื้นที่
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ครั้งนี้ หลายฝ่ายสงสัยว่าเป็นการดับเพราะสายส่งชำรุดและถูกฟ้าผ่าจริงๆ หรือเป็นความตั้งใจให้ไฟฟ้าดับของฝ่ายการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้กันแน่ เพราะก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายพงษ์ศักดิ์ ได้พูดถึงนโยบายของรัฐบาลในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ใน จ.กระบี่ ที่ยังถูกต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ว่า “รู้สึกเบื่อ ดังนั้นหากประชาชนไม่ต้องการ จนสร้างไม่ได้ ก็จะไม่สร้างเช่นกัน หากภาคใต้เกิดปัญหาไฟดับ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบกันเอง”
       
        ด้านนางอัญชลี ชวนิชย์ ประธานคณะกรรมการ กฟผ. พูดถึงการตั้งคณะทำงานสอบสวนเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในภาคใต้ว่า กำหนดเวลาไว้ไม่เกิน 7 วัน พร้อมย้ำ การสอบสวนไม่ใช่การหาตัวผู้รับผิดชอบหรือลงโทษ แต่เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง โดยเฉพาะการขัดข้องของระบบ เพราะเชื่อว่าเป็นเหตุสุดวิสัย นางอัญชลี ยังพูดถึงแผนปรับระบบสายส่งของ กฟผ.ให้มีขนาดเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับซ้ำรอย 14 จังหวัดภาคใต้ด้วยว่า มาตรการเร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ ขยายสายส่งจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้เป็นขนาด 500 กิโลโวลต์ทั้งหมด รวมทั้งขยายสายส่งไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็น 500 กิโลโวลต์เช่นกัน คาดว่าจะใช้งบในการดำเนินการประมาณ 1.23 แสนล้านบาท
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเกิดเหตุไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เวลานาน 5 ชั่วโมงกว่าจะแก้ปัญหาให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติได้ ปรากฏว่าในสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่คลิปสปอตโฆษณาของ กฟผ.ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ โดยเนื้อหาโฆษณาดังกล่าวเป็นการจำลองสถานการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ และทาง กฟผ.สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาแค่ 10 นาที ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง
       
        ด้านนางพัลลภา เรืองรอง คณะกรรมการ กกพ.หรือเรกูเลเตอร์ พูดถึงความเสียหายและการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับครั้งนี้ว่า จะตรวจสอบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ หากเป็นความละเลยของ กฟผ. ทางเรกูเลเตอร์อาจขอให้ กฟผ.ชดเชยค่าใช้จ่าย โดยอาจเป็นการช่วยเหลือผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) หรือลดราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน และว่า “หากให้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นในภาคอุตสาหกรรม เรกูเลเตอร์คาดการณ์ตัวเลขในอดีตไว้ว่า ไฟฟ้าที่ดับทุก 1 นาที จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 60 ล้านบาท”
       
        ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ประเมินความเสียหายจากไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ว่า เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเสียหายประมาณ 7-8 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.จะสรุปตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ค.
       
        ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตกรณีไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ว่า มีความพยายามสร้างความชอบธรรมในการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ หรือ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ให้ได้ ทั้งที่ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่หลายโรง ดังนั้นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งนี้อาจส่อไปในทางมิชอบ เพื่อหวังผลสิ่งใดหรือไม่ “หากผู้บริหารของกระทรวงพลังงานและ กฟผ.ยังพอมีมาตรฐานทางจริยธรรมอยู่บ้าง ควรที่จะแสดงสปิริตลาออก เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมใหม่ในแวดวงข้าราชการและนักการเมือง และเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทย ในความผิดพลาดและล้มเหลวในการบริหารจัดการระบบสายส่ง”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 พฤษภาคม 2556

6635
1. พท. มีมติส่ง “ยุรนันท์” ลงเลือกซ่อม ส.ส.ดอนเมือง หลัง “สุดารัตน์” ปฏิเสธ ด้าน ปชป. ส่ง “แทนคุณ” อีกครั้ง!

       หลังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.เขต 12 (ดอนเมือง) พรรคเพื่อไทย(พท.) เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งใส่ร้ายนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 12 พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 และให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขต 12 ใหม่แทนนายการุณ
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้มีมติส่งนายแทนคุณลงสมัครเลือกตั้งซ่อมในเขตดอนเมืองอีกครั้ง ทั้งนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาค กทม. แถลงว่า นายแทนคุณมีความเหมาะสม เพราะเป็นอดีตผู้สมัครและได้ทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมเชื่อว่า ผู้สมัครของพรรคมีโอกาสชนะได้ เพราะการเลือกตั้ง ส.ก.ที่ผ่านมา พรรคก็ได้รับเลือก หลังจากเว้นมา 10 กว่าปี
       
       ทางด้านพรรคเพื่อไทยนั้น ตอนแรกมีข่าวว่า แคนดิเดตที่พรรคจะส่งลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตดอนเมือง มี 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ,น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และนางพิมพ์ชนา โหสกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) เขตดอนเมือง ภรรยานายการุณ แต่คุณหญิงสุดารัตน์ได้ออกมาปฏิเสธ โดยขอเวลาทำงานให้กับศาสนาอีกระยะหนึ่ง
       
       จากนั้นเริ่มมีชื่อนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมามาเป็นแคนดิเดตด้วย ซึ่งนายการุณ ก็หนุนว่านายยุรนันท์เหมาะสมที่จะลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ดอนเมือง ซึ่งในที่สุด ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ส่งนายยุรนันท์ ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตดอนเมือง โดยให้เหตุผลว่า นายยุรนันท์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับของประชาชน ขณะที่เจ้าตัว เผยว่า ยังไม่ได้ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องรอให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคดูรายละเอียดในข้อกฎหมายก่อน พร้อมยืนยันว่า ส่วนตัวมีความศรัทธาต่อนายการุณ และไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวกับนายแทนคุณ แต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหากัน เพราะตนจะหาเสียงด้วยการคิดดีทำดีไม่มีเรื่องกับใคร
       
       ด้านนายแทนคุณ พูดถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยมีมติส่งนายยุรนันท์ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตดอนเมืองว่า เป็นเรื่องดี และน่าจะทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้ดีขึ้น แต่ยอมรับว่ายังประมาทไม่ได้ เพราะนายการุณยังอยู่เบื้องหลัง จึงขอให้นายการุณเคารพกฎหมายและคำสั่งศาล และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เข้ามาดูแลด้วย
       
       สำหรับวันเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 12 ดอนเมืองนั้น เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 16 มิ.ย.
       
       ส่วนความคืบหน้าการเลือกตั้ง ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้งนั้น ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว โดยเป็นการรับรองไปก่อน เนื่องจาก กกต.ไม่สามารถพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้งได้ ด้านนางเยาวภา เผยว่า วันที่ 15 พ.ค.เป็นวันคล้ายวันเกิด ดีใจที่ กกต.รับรองให้เป็น ส.ส. เหมือนเป็นของขวัญวันเกิด
       
       2. “เฉลิม”ดัน กม.ปรองดองเข้าสภา 23 พ.ค.นี้ พร้อมให้ ตร. 1,800 สถานี ช่วยพา“ทักษิณ กลับบ้าน แลก 4 พันล้านปรับปรุง สตช.!

       ความคืบหน้ากรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เข้าสภา เพื่อพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน พร้อมอ้างว่า ทุกฝ่ายไม่ว่าสีใดกลุ่มใดก็ได้ประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาเผยว่า มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยลงชื่อในญัตติเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ 149 คนแล้ว โดยจะยื่นร่างดังกล่าวต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 พ.ค.นี้
       
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(15 พ.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม ได้กล่าวในงานสัมมนาการปฏิบัติราชการด้านความมั่นคงของประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีตำรวจระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) และผู้กำกับการสถานีตำรวจ 1,800 สถานีเข้าร่วม ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมบอกเหตุผลที่ต้องมาพูดคุยกับตำรวจในครั้งนี้ว่า ที่นัดหมายมาเพื่อหาแนวทางนำพาตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน และว่า การนัดหมายวันนี้กำหนดหัวข้อแบบเลี่ยงๆ เพื่อไม่ให้นักข่าวมาด่า โดยเป็นหัวข้อเกี่ยวกับความมั่นคง ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และการปราบปรามแก๊งทวงหนี้ พร้อมอ้างว่า ที่ต้องมาพูดกับตำรวจ เพราะตำรวจมีหน้าที่สร้างความสุขให้ประชาชน
       
       ร.ต.อ.เฉลิม ยังพูดถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของตนมีวาระซ่อนเร้นเพื่อเอื้อต่อ พ.ต.ท.ทักษิณว่า พวกนี้อ่านกฎหมายไม่เป็น พร้อมยืนยัน ในร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่มีการพูดถึงเรื่องคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด ร.ต.อ.เฉลิม ยังส่งสัญญาณเหมือนเอาเงิน 4 พันล้านบาทมาล่อให้หัวหน้าตำรวจทั้ง 1,800 สถานีไปช่วยพูดกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ให้เข้าใจร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ด้วย “อยากให้น้องๆ ไปพูดกับประชาชนในพื้นที่ ไปเผยแพร่กฎหมาย ส่วนใครไม่สนใจก็ไม่เป็นไร วันนี้อยากให้ตำรวจมาทำความดี โดยพรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลอีก 2 ปี และจะเป็นต่ออีก 4 ปี เพื่อสร้างองค์กรตำรวจให้อย่างดี ต่อไปจะทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรูหราเหมือนเซ็นทาราแกรนด์ ตอนนี้ก็มีงบประมาณอยู่ 4 พันล้านบาท จะเอามาสร้างที่พักอาศัยให้ตำรวจ สร้างศูนย์ฝึก สร้างสถานีโทรทัศน์ของตำรวจ...”
       
       ด้านอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) พูดถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะให้ ส.ส.ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ เข้าสภาว่า เป็นการยื่นญัตติเพื่อให้ประธานสภาฯ บรรจุเป็นระเบียบวาระพิจารณาของสภา พร้อมยืนยันว่า การประชุมสภาสมัยวิสามัญระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.นี้ จะไม่มีการพิจารณาร่างกฎหมายปรองดองฯ กฎหมายนิรโทษกรรม หรือกฎหมายอื่นใด โดยจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เท่านั้น นายอำนวย ยังพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญด้วยว่า สภาจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไป โดยไม่รอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าเมื่อเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในเดือน ส.ค. จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในวาระ 2 ได้
       
       ส่วนท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิมจะยื่นร่างกฎหมายปรองดองฯ เข้าสภานั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ชี้ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายปรองดอง แต่เป็นกฎหมายที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดทุกอย่าง “ผมเชื่อว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ผ่าน พ.ต.ท.ทักษิณก็จะอ้างว่า คดีความที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์ เป็นผลพวงมาจากการทำงานของ คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) เพราะฉะนั้นคงจะมีการยื่นขอคืนเงิน มันก็จะเป็นปัญหาต่อไป” นายอภิสิทธิ์ ยังย้ำด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะคัดค้านทั้งร่างกฎหมายปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม ,ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และกฎหมายปรองดองที่ค้างอยู่ในวาระการประชุมของสภาอีก 4 ฉบับ เพราะเป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และคงต้องมีช่องทางยับยั้งไม่ให้กฎหมายที่สร้างความเสียหายอย่างนี้ออกมา
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า คนเสื้อแดงบางส่วนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม เช่น กลุ่ม 29 มกราฯ ที่มีนางสุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแกนนำ ชี้ว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวที่นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้ทุกฝ่าย จะทำให้เกิดแรงต้านในสังคมทั้งฝ่ายเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม จนกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาเป็นวาระแรกหลังเปิดสมัยประชุมสภา และว่า หาก ร.ต.อ.เฉลิม ยังคงหนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ดังกล่าว จะเท่ากับลืมความสูญเสียของพี่น้องประชาชน เพราะผู้สั่งการและเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ทำให้ประชาชนเสื้อแดงบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งทางกลุ่มอาจมีการแสดงจุดยืนต่อต้านและประณามเพื่อให้ยุติการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสภา
       
       ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ก็ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิมเช่นกัน เพราะเห็นว่าคนที่สั่งฆ่าประชาชนต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย และว่า ความปรองดองจะเกิดก็ต่อเมื่อความยุติธรรมเกิดขึ้น ดังนั้นการเกี้ยเซี้ยะกวาดขยะเข้าใต้พรม ไม่ทำให้เกิดความปรองดอง แต่จะยิ่งทำให้ประชาชนคาใจว่า ฆาตกรยังไม่ถูกลงโทษ
       
       ทั้งนี้ เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม มีทั้งหมด 6 มาตรา มาตรา 1 เป็นชื่อ พ.ร.บ. เรียกว่า “พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ...” มาตรา 2 ให้ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา 3 ให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวระหว่าง พ.ศ.2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ หากมีการกระทำใดที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และให้ผู้ที่กระทำพ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง หากการกระทำนั้นอยู่ระหว่างสอบสวน ให้ระงับการสอบสวน หากอยู่ระหว่างฟ้องร้อง ให้ระงับการฟ้อง ถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษสิ้นสุดลง โดยการไม่ต้องรับผิดดังกล่าว ให้รวมถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและปราบปรามในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วย
       
       มาตรา 4 ให้บรรดาการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำผิดที่มาจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ที่ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 หรือคณะบุคคลซึ่งได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งของ คปค.หรือการกล่าวหาจากหน่วยงานอื่นใด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการของ คปค.ไม่ว่าเป็นการกล่าวหาข้อหาใด ให้การกล่าวหานั้นระงับไป และให้ถือว่าผู้นั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด หากการกระทำนั้นอยู่ระหว่างสอบสวน ให้ระงับการสอบสวน หากอยู่ระหว่างฟ้องร้อง ให้ระงับการฟ้อง ถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี ถ้ามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษสิ้นสุดลง
       
       มาตรา 5 กรณีที่มีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายตามความเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ครม.กำหนด ส่วนมาตรา 6 ให้นายกฯ รักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       
       3. ศาล รธน. มีมติ 7 ต่อ 2 รับวินิจฉัย “อภิสิทธิ์” พ้น ส.ส.หรือไม่ กรณีถูกถอดยศ ขณะที่เจ้าตัว พร้อมแจง ยัน คดีพัวพันหลายศาล และยังไม่ได้ข้อยุติ!

       เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ 7 ต่อ 2 รับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของ ส.ส.ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2555 พร้อมให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือให้ชี้แจงข้อกล่าวหา
       
       สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าไม่ควรรับวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว คือ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายชัช ชลวร เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ
       
       ส่วนกรณีที่นายบวร ยสินทร และคณะ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า ประธานรัฐสภากับพวกรวม 315 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 เป็นการจำกัดสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชน และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นคนละกรณีกับการแก้ไขมาตรา 68 ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงไม่มีมูลที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องดังกล่าว
       
       สำหรับคำร้องที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา จงใจใช้สิทธิเสรีภาพ และอำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นคำร้องที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยรับไว้พิจารณาก่อนหน้านี้ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องเช่นเดียวกับคำร้องของนายบวร ยสินทร
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า พร้อมชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่ถูก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งปลดออกจากราชการทหาร อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ เผยว่า คดีนี้เกี่ยวพันกับหลายศาล เพราะหลังจาก พล.อ.อ.สุกำพล มีคำสั่งออกมา ตนได้ไปร้องศาลปกครอง ซึ่งศาลก็รับเรื่อง แต่ พล.อ.อ.สุกำพลไปโต้แย้ง ทำให้เรื่องต้องส่งไปที่ศาลแพ่ง นอกจากนั้นตนยังได้ดำเนินการทางอาญาด้วย ซึ่งเรื่องยังค้างอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความมั่นใจทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะต่อสู้กรณีถูกถอดยศและปลดออกจากราชการทหาร
       
       4. “วสิษฐ” เปิดตัวเว็บไซต์ “ไทยสปริง” ปฏิเสธปาฐกถาและการบริหารงานรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เหตุเป็นหุ่นเชิด “ทักษิณ”-มีแผนยึดประเทศ!

       เมื่อวันที่ 16 พ.ค. พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ และอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ พร้อมด้วยนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต ส.ว.กทม. และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) และนายขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ไทยสปริง(Thai spring) หรือ ดอกบัวแห่งการตื่นรู้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิเสธการบริหารงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดำเนินการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่แต่งตัวเป็นประชาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากการปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ประเทศมองโกเลีย ที่เรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนการต่อสู้ของตนและครอบครัว
       
       ทั้งนี้ พล.ต.อ.วสิษฐ บอกว่า ตนผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองมาตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบัน และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีคนบางกลุ่มพยายามจะทำลายระบอบ และกระทำการจาบจ้วงสถาบันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้ดำเนินการอย่างมีแผนการที่จะล้มล้างเพื่อยึดประเทศไทย และเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งตนยอมไม่ได้ และว่า ที่ผ่านมา เรามีอาวุธมากมายที่จะต่อสู้ แต่วันนี้เรามีอาวุธอีกอย่าง คือ การแสดงความรู้สึกและอารมณ์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ www.change.org/users/thaispring ที่ร่วมลงชื่อปฏิเสธปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนว่า รัฐบาลดำเนินการไม่ถูกต้อง และว่า การรวมพลังแบบนี้ จะเกิดผลมากกว่าที่จะไปเรียกให้คนออกมาที่ท้องสนามหลวง ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก “รัฐบาลควรทบทวนบทบาทของตัวเองที่คิดว่าไม่เข้าท่า ไม่ถูกต้อง แต่นายกฯ ไม่รู้จะคิดออกหรือไม่ แต่แน่ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะคิดออก ถ้าเกิดยังดึงดันในท่าทีอย่างนี้ต่อไป เชื่อว่าปรากฏการณ์ไทยสปริงก็คงจะนำไปสู่เหตุการณ์อื่น เช่นเดียวกับเหตุการณ์อาหรับสปริงที่มีคนออกมาชุมนุมเป็นจำนวนมาก จนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้”
       
       ล่าสุด(19 พ.ค.) มีประชาชนเข้าไปร่วมลงชื่อสนับสนุนเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อปฏิเสธปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้วเกือบ 2 หมื่นรายชื่อ
       
       ด้านนายแก้วสรร บอกว่า ทางกลุ่มฯ จะรวบรวมรายชื่อดังกล่าวส่งไปยังประเทศสมาชิกประชาคมประชาธิปไตย 106 ประเทศ โดยผ่านสำนักเลขานุการของประชาคมที่กรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ รวมทั้งส่งให้คณะทูตประจำประเทศไทยด้วย นายแก้วสรร ยังชี้ด้วยว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมในการปกครองประเทศ เพราะรัฐบาลนี้มีนายกฯ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์อย่างถูกต้อง แต่กลับมีนายกฯ อีกคนคอยเชิดอยู่เบื้องหลัง และสั่งการตลอดเวลา ขณะที่การกระทำหลายอย่างเป็นไปเพื่อประโยชน์ของครอบครัวชินวัตร รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก พยายามที่จะย่ำยีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงขั้นให้ลูกน้องไปขู่ฆ่าศาล เป็นการกระทำที่ใช้ไม่ได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ตอนนี้เหมือนการปิดประตูตีแมว โดยรัฐบาลพยายามแก้รัฐธรรมนูญและออกกฎหมายต่างๆ เพื่อล้างผิดให้นักการเมืองและครอบครัวตนเอง
       
       5. พระราชพิธีพืชมงคลฯ ปีนี้ พระโคกินข้าวโพด-หญ้า ธัญญาหารจะดี ขณะที่พระยาแรกนา ได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมาก!

       เมื่อวันที่ 13 พ.ค. เวลา 08.40น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา โดยเสด็จด้วย
       
        สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนาคือ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ น.ส.สุมาลี จำเริญ นิติกรชำนาญการ กรมปศุสัตว์ และ น.ส.สุวิสาข์ เกตุอินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ น.ส.พชร ลาภผล นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กรมประมง และ น.ส.กาญจนา มาลัยกฤษณะชาลี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ส่วนพระโคแรกนา ได้แก่ ฟ้า และ ใส พระโคสำรอง ได้แก่ มั่น และ คง
       
        ทั้งนี้ เมื่อพราหมณ์ทำพิธีเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ,ข้าวโพด ,ถั่ว ,งา ,เหล้า ,น้ำ และหญ้า ปรากฏว่า พระโคกินข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี นอกจากนี้ พระโคยังกินหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์เพียงพอ ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี ส่วนผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนา ปรากฏว่า ได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า ปีนี้น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 พฤษภาคม 2556

6636
1. มือดี แฮกเว็บสำนักนายกฯ ด่า “ยิ่งลักษณ์” คาด เย้ย รมว.ไอซีที ด้าน ตร.เจอแค่ผู้ต้องสงสัย ยังไม่ได้มือแฮกตัวจริง!

       เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เวลาประมาณ 12.00น. เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี http://www.opm.go.th ได้ถูกแฮกเกอร์ในนาม Unlimited Hack Team ทำการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็น I’m a slutty moron. ซึ่งเป็นคำหยาบ แปลว่า สำส่อน และผู้พิการทางสมอง พร้อมแนบภาพถ่ายใบหน้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ในอิริยาบถที่น่าตลกขบขัน นอกจากนี้ยังระบุข้อความด้านล่างรูป น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วยว่า I know that I am the worst Prime Miniser ever in Thailand history!!! ซึ่งแปลว่า “ฉันรู้ว่าฉันคือนายกรัฐมนตรีที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย”
       
       ทั้งนี้ หลังเว็บไซต์ถูกแฮก ทางสำนักนายกฯ ได้ปิดเว็บไซต์ดังกล่าวชั่วคราว พร้อมประสานกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ให้ตรวจสอบหามือแฮก
       
       การแฮกเว็บไซต์สำนักนายกฯ เพื่อด่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า เป็นการท้าทายรัฐบาลและกระทรวงไอซีที เนื่องจากเมื่อวันที่ 5 พ.ค. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ได้ออกมาขู่ปิดเว็บไซต์ที่วิพากษ์วิจารณ์ด่าทอนายกฯ กรณีปาฐกถาที่ประเทศมองโกเลีย รวมทั้งจะเอาผิดผู้ที่โพสต์ข้อความด่าทอนายกฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       ขณะที่กลุ่ม Unlimited Hack Team ซึ่งถูกลงชื่อว่าเป็นผู้แฮกเว็บไซต์สำนักนายกฯ ได้ออกมาปฏิเสธการกระทำดังกล่าวผ่านแฟนเพจของกลุ่ม โดยยืนยันว่า ไม่มีสมาชิกคนใดของกลุ่มเข้าไปแฮกเว็บไซต์ดังกล่าว พร้อมอ้างว่า “อาจเป็นเพราะมีแฮกเกอร์บางท่านหรือบางกลุ่มมีความคิดที่จะโยนความผิดมาให้ Unlimited Hack Team ซึ่งทุกๆ ครั้ง หากเราได้แฮกเว็บไซต์ใด เราก็จะออกมายอมรับการกระทำของเรา แต่ครั้งนี้ขอให้ทุกท่านรอเวลาที่ตำรวจจับผู้กระทำความผิดตัวจริงมาลงโทษ แล้วท่านจะได้รู้ว่าใครเป็นคนทำ”
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคงเป็นปฏิกิริยาต่อกระทรวงไอซีที เพราะรัฐบาลเริ่มทำในสิ่งที่ทำให้ความขัดแย้งเกิดขึ้น และทำให้สังคมเกิดความอึดอัด นายอภิสิทธิ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า บรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้ ดูเหมือนย้อนกลับไปสู่ภาวะที่ฝ่ายบริหารพยายามรวบอำนาจ ซึ่งจะเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนมากกว่า
       
       ทั้งนี้ หลังเว็บไซต์ถูกแฮก ตัวแทนจากสำนักนายกฯ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ผบก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีทีมแฮกเกอร์ โดยแฮกเกอร์จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 16 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังกองบังคับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) รายงานผลตรวจสอบการแฮกเว็บไซต์สำนักนายกฯ ให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทราบแล้ว ปรากฏว่า ร.ต.อ.เฉลิม รีบออกมาเผยว่า ทราบแล้วว่ามือแฮกเป็นชาว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม อายุ 29 ปี และเคยแฮกสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มาครั้งหนึ่งแล้ว
       
       ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ส่วนตัวไม่ติดใจการแฮกดังกล่าว และว่า ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ พร้อมยืนยันว่า ไม่ใช่ทุกเวทีที่ตนจะต้องไปพูดเรื่องประชาธิปไตยแบบที่ประเทศมองโกเลีย ต้องดูจังหวะและความเหมาะสมด้วย
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาเปิดรายละเอียดเกี่ยวกับมือแฮกเว็บไซต์สำนักนายกฯ ปรากฏว่า ในเวลาต่อมา ได้มีการเปิดภาพบุคคลดังกล่าว คือนายณรงค์ฤทธิ์ สุขสาร หรือฉายา “ตาเล็ก วินโดว์ 98 เอสอี” อายุ 29 ปี อาชีพนักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ (โปรแกรมเมอร์) บริษัทเกมชื่อดังแห่งหนึ่ง
       
       ซึ่งต่อมา นายณรงค์ฤทธิ์ ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท.เมื่อวันที่ 10 พ.ค. เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแฮกเว็บดังกล่าว พร้อมบอกว่า ตนอาจถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเคยมีปัญหาขัดแย้งกับ Unlimited Hack Team มาก่อน และว่า การเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้ เพื่อให้คำแนะนำในการสืบหาตัวผู้กระทำผิดตัวจริง เนื่องจากตนมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และเคยเป็นผู้สอนการแฮกข้อมูล ดังนั้นจะเข้าไปดูว่าผู้แฮกข้อมูลใช้วิธีใดแฮกข้อมูล
       
       ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก ปอท.ได้เข้าตรวจค้นห้องพักของนายณรงค์ฤทธิ์ ที่ไอบิสซ่า คอนโดมิเนียม อาร์ซีเอ ย่านถนนพระรามเก้า โดยได้อายัดคอมพิวเตอร์พีซี 1 เครื่อง จากนั้นได้เข้าตรวจค้นอาคารยูเอ็ม ทาวเวอร์ ย่านคลองตัน ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัท ไซเบอร์เกมส์ คอร์ปอเรชั่น สถานที่ทำงานของนายณรงค์ฤทธิ์ พร้อมอายัดคอมพิวเตอร์ที่นายณรงค์ฤทธิ์ใช้ประจำอีก 1 เครื่อง เพื่อนำไปตรวจสอบ รวมทั้งสอบปากคำหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานด้วย
       
       ซึ่งนายพิพัฒน์ รุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการบริษัท ไซเบอร์เกมส์ฯ บอกว่า แฮกเกอร์ในท้องตลาดขณะนี้มีจำนวนมาก มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง พร้อมยืนยันว่า นายณรงค์ฤทธิ์เป็นไวท์แฮกเกอร์ โดยจะคอยเผยแพร่วิธีแก้ปัญหาให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จึงเชื่อว่า นายณรงค์ฤทธิ์ไม่มีเหตุผลที่จะก่อเหตุดังกล่าว และว่า ในวันเกิดเหตุ นายณรงค์ฤทธิ์ทำงานอยู่ที่บริษัท ส่วนช่วงค่ำไปรับประทานอาหารย่านเลียบทางด่วนรามอินทรา มีรูปถ่ายยืนยันได้ เชื่อว่าไม่น่าจะมีเวลาไปแฮกเว็บไซต์ของสำนักนายกฯ
       
       ด้าน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เผยว่า เบื้องต้น นายณรงค์ฤทธิ์ยังไม่ตกเป็นผู้ต้องหาและยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา โดยเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องสงสัยเท่านั้น จึงได้เชิญตัวเข้าพบเจ้าหน้าที่ เพราะต้องการให้ช่วยเหลือนำความรู้ด้านแฮกเกอร์มาช่วยสอบสวนหาผู้กระทำผิดตัวจริง และว่า นอกจากนายณรงค์ฤทธิ์แล้ว ยังมีกลุ่มแฮกเกอร์ต้องสงสัยอีกประมาณ 20 คน ดังนั้นจะใช้วิธีการให้แฮกเกอร์จับแฮกเกอร์ เชื่อว่า จะสามารถหาตัวผู้กระทำผิดตัวจริงได้
       
       2. เสื้อแดงยุติการชุมนุมแล้ว หลังแนวร่วมไม่ถึงแสน เปลี่ยนแผนเดินหน้าถอดถอน-แจ้งจับตุลาการฯ ด้านศาล รธน.แจ้งความกลับ!

       หลังจากกลุ่มเสื้อแดง นำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน ประธานกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.) ซึ่งปักหลักชุมนุมที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญเพื่อกดดันให้ตุลาการฯ ทั้ง 9 คนลาออก พร้อมประกาศระดมพลเพื่อกดดันตุลาการฯ ในวันที่ 8 พ.ค.นั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายชาญ ไชยะ หรือหนุ่ม โคราช รองประธาน กวป.ได้ประกาศว่า วันที่ 8 พ.ค.จะเป็นวันชี้ชะตาการชุมนุมของ กวป. ถ้าประชาชนมาร่วมชุมนุมถึง 1 แสนคน ทางกลุ่มจะชุมนุมต่อ แต่ถ้ามาไม่ถึง 1 แสนคน จะยุติการชุมนุม และยุติบทบาทลงทันที
       
       ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้ออกมาจี้ให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อควบคุมการชุมนุมของกลุ่ม กวป.เช่นเดียวกับที่เคยประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้กับการชุมนุมขององค์กรพิทักษ์สยาม(อพส.) มาแล้ว ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการกระทำที่สองมาตรฐาน
       
       ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ้างว่า การชุมนุมของ กวป.ไม่เข้าเงื่อนไขที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มใหม่ มีมวลชนไม่มาก และการชุมนุมที่ผ่านมา 15 วัน ก็มีผู้ชุมนุมแค่ประมาณ 500 คน รวมทั้งไม่ปรากฏเหตุรุนแรง ประกอบกับการข่าวของสันติบาลประเมินว่า วันที่ 8 พ.ค.จะมีผู้มาร่วมชุมนุมไม่ถึง 1 แสนคน จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการรักษาความปลอดภัย
       
       ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนด(8 พ.ค.) ปรากฏว่า เป็นไปตามคาด คือมีผู้มาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กวป.ไม่ถึง 1 แสนคน ซึ่งทางกลุ่มได้มีการเคลื่อนขบวนจากหน้าศาลรัฐธรรมนูญไปยังรัฐภา เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คน ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล ,นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ,นายจรูญ อินทจาร ,นายนุรักษ์ มาประณีต และนายเฉลิมพล เอกอุรุ โดยอ้างว่าตุลาการฯ ทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และขาดจริยธรรม โดยหลังจากยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา เพื่อแสดงเจตจำนงรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 หมื่นคนเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ทางแกนนำกลุ่ม บอกว่า ขณะนี้มีผู้เข้าชื่อแล้วกว่า 5 หมื่นคน หลังจากนี้จะทำการคัดกรองภายใน 15 วัน ก่อนนำรายชื่อมายื่นต่อประธานวุฒิสภาอีกครั้งเพื่อเข้ากระบวนการถอดถอนต่อไป
       
       นอกจากยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน แกนนำ กวป.ยังได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อดำเนินคดีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ,นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างมากที่ลงมติรับวินิจฉัยคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดยอ้างว่า การกระทำของตุลาการฯ ทั้งสาม เข้าข่ายกบฏ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 113 ,83 และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นายพงษ์พิสิษฐ์ ยังบอกด้วยว่า จะทำสำเนาคำร้องแจกจ่ายให้เครือข่าย กวป.ทั่วประเทศ เพื่อนำคำร้องเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจทั่วประเทศด้วย
       
       ด้านสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อดำเนินคดีแกนนำ กวป.เช่นกัน ประกอบด้วย นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา ,นายมาลัยรักษ์ ทองชัย หรือศรรักษ์ มาลัยทอง และนายชาญ ไชยะ เนื่องจากมีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จโดยรู้อยู่แล้วว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กระทำผิด การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้ว การกระทำของแกนนำ กวป.จึงแสดงให้เห็นว่า มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการฯในวงกว้าง รวมทั้งมุ่งทำลายความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการฯ
       
       3. ศาลฎีกาฯ แจกใบแดง “การุณ” กรณีใส่ร้าย “แทนคุณ” ด้าน กกต.เตรียมฟ้องให้ชดใช้ค่าจัดเลือกตั้งใหม่ 10 ล้าน!

       เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ได้นัดอ่านคำสั่งคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.เขต 12 (ดอนเมือง) พรรคเพื่อไทย กรณีเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2554 และ 12 มิ.ย.2554 นายการุณได้ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค.2554 กับประชาชนที่ตลาดบุญอนันต์และตลาดนัดโกสุมรวมใจ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ใส่ร้ายนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 12 พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตดอนเมืองเข้าใจผิด รวมทั้งไม่ลงคะแนนให้นายแทนคุณ อันเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 โดย กกต.ขอให้ศาลฎีกาฯ มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายการุณ เป็นเวลา 5 ปี และให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขต 12 ใหม่
       
       ทั้งนี้ ศาลฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของนายการุณ เป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของนายแทนคุณและพรรคประชาธิปัตย์ มีผลให้การเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขต 12 ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายการุณเป็นเวลา 5 ปี และให้เลือกตั้ง ส.ส.กทม.เขต 12 ใหม่ แทนนายการุณ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า นายการุณไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งศาลด้วยตัวเอง แต่ให้ทนายความมาแทน ซึ่งทนายไม่ให้สัมภาษณ์ใดใด
       
       ด้าน กกต.ได้ประชุมและมีมติกำหนดวันเลือกตั้งในเขตดังกล่าวใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 16 มิ.ย. โดยหลังจากนี้จะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งไปให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ กกต. คาดว่าจะตกประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการจัดเลือกตั้งใหม่จากนายการุณต่อไป
       
       ด้านนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 12 พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเสียใจกับนายการุณ พร้อมขอโทษหากมีอะไรกระทบกระทั่งกัน และว่า อยากให้นายการุณปรับตัว ทำงานแบบไม่ว่าร้ายกัน ส่วนตนจะได้ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของพรรค แต่ยืนยันว่า มีความพร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ แม้มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลงสมัคร ตนก็ไม่รู้สึกหวั่นไหว
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า พรรคจะประชุมคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตดอนเมืองในวันที่ 13 พ.ค. ก่อนส่งชื่อให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันเดียวกันว่าจะส่งใครลงสมัคร
       
       ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เผยว่า พรรคได้นัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตดอนเมืองในวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือไม่
       
       4. ศาล อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว “ก่อแก้ว” เชื่อ สำนึกผิดแล้ว พร้อมสั่งห้ามยั่วยุปลุกปั่น-ออกนอกประเทศ!

       เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ศาลอาญาได้นัดไต่สวนคำร้องกรณีนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จำเลยที่ 5 คดีก่อการร้าย ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 พ.ค. หลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 พ.ค. เนื่องจากเห็นว่านายก่อแก้วกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัว โดยมีพฤติการณ์ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเข้าข่ายยุยง ปลุกปั่น ปลุกระดม ถึงขนาดอาจทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง และยังไม่สำนึกในการกระทำผิด
       
       ทั้งนี้ นายก่อแก้วเบิกความว่า ที่ศาลเห็นว่าตนไม่สำนึกในการกระทำผิดนั้น ความจริงแล้วตนให้ความเคารพในดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งเพิกถอนประกัน ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยไม่มีเจตนาโต้แย้งดุลพินิจของศาล และว่า ช่วงที่ได้รับเอกสิทธิ์การเป็น ส.ส. ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค. 55 - 29 เม.ย. 56 ตนได้ตระหนักในคำสั่งศาลที่เพิกถอนการประกันตนเพียงคนเดียว ทั้งยังได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ให้กับจำเลยคนอื่นๆ ด้วย แต่ตนไม่สามารถกล่าวคำขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากตุลาการฯ แจ้งความดำเนินคดีตนไว้ หากขอโทษ จะเป็นเครื่องผูกมัดว่าตนได้กระทำผิดจริง และจะไม่สามารถมองหน้าเพื่อนสมาชิกได้ ทั้งยังขัดต่อจุดยืนทางการเมืองของตนด้วย
       
       นายก่อแก้ว ยังบอกอีกว่า การกักขังตนไว้เป็นการเสียโอกาสในการช่วยเหลือสังคม การทำหน้าที่ของ ส.ส. และทำหน้าที่พ่อเลี้ยงดูครอบครัว ทั้งยังเป็นภาระของกรมราชทัณฑ์ด้วย หากศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ยินดีจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ และหากการเคลื่อนไหวของ นปช.ขัดต่อเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวก็จะหลีกเลี่ยง ด้านศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ในวันที่ 10 พ.ค.
       
       ซึ่งเมื่อถึงกำหนด ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ฟังคำเบิกความในชั้นไต่สวนของนายก่อแก้วแล้วเห็นว่า จำเลยรู้สำนึกในการกระทำผิดเงื่อนไขต่อศาล อีกทั้งระหว่างที่ได้รับการปล่อยตัวในระหว่างสมัยประชุมสภาฯ ก็ไม่เคยขึ้นเวทีปราศรัยที่ใด หรือกระทำการใดที่ส่งผลให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย นอกจากนี้นายก่อแก้วยังยอมรับจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล แต่ที่ไม่ได้ขอโทษศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท หากขอโทษอาจส่งผลต่อรูปคดีที่ให้การปฏิเสธไว้
       
       นอกจากนี้ศาลยังเห็นว่า การที่นายก่อแก้วเบิกความหนักแน่นว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราวจากศาลในครั้งนี้จะไม่ไปกระทำการใดใด เช่น การขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่ม นปช.อีก หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนพาดพิงทำให้บุคคลหรือองค์กรอื่นใดเสียหายนั้น ดูมีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ และศาลเห็นว่า นายก่อแก้วมีลักษณะท่าทีนุ่มนวลอ่อนลงมาก เมื่อพิจารณาคำยืนยันต่างๆ จึงเห็นว่า นายก่อแก้วมีความสำนึกในการกระทำผิดเงื่อนไขของศาลแล้ว ประกอบกับเห็นว่า หลังศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวไปเมื่อวันที่ 30 พ.ย.55 จนบัดนี้นายก่อแก้วถูกขังตามหมายขังของศาลรวม 37 วัน ซึ่งเหมาะสมเพียงพอกับการกระทำแล้ว จึงมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวนายก่อแก้วอีกครั้ง โดยตีราคาประกัน 6 แสนบาท
       
       ทั้งนี้ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว โดยห้ามนายก่อแก้วกระทำการใดใดในลักษณะดูหมิ่นผู้อื่น ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ของผู้อื่น หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล พร้อมย้ำให้นายก่อแก้วปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนเงื่อนไขอีก ศาลก็สามารถเพิกถอนคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวได้อีก
       
       5. เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดี 3 อดีต กกต.จัดเลือกตั้งมิชอบเอื้อ ทรท. หลัง “ปริญญา” เข้า รพ.ผ่าตัด!

       เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ศาลอาญา ได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ,พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต. และอดีตกรรมการ กกต. ประกอบด้วย นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ,นายวีระชัย แนวบุญเนียร (เสียชีวิตแล้ว) ,พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ และ พล.ต.ต.เอกชัย วรุณประภา อดีตเลขาธิการ กกต. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.
       
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 3-5 เม.ย. 2549 จำเลยได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่รอบ 2 ใน 38 เขต 15 จังหวัด เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2549 และเปิดรับสมัครใหม่ ทั้งที่ไม่มีอำนาจ รวมทั้งอนุญาตให้ผู้สมัครรายเดิมเวียนเทียนลงสมัครข้ามเขตได้ เพื่อช่วยให้ผู้สมัครพรรคไทยรักไทย(ทรท.) มีคู่แข่ง เพื่อเลี่ยงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องได้คะแนน 20% ขึ้นไป ทำให้การเลือกตั้งใหม่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
       
        ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2549 ว่า จำเลยที่ 2 (พล.ต.อ.วาสนา) ,จำเลยที่ 3 (นายปริญญา) และจำเลยที่ 4(นายวีระชัย) กระทำผิดจริง ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยทั้งสามเป็นเวลา 10 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 (สำนักงาน กกต.) และจำเลยที่ 6 (พล.ต.ต.เอกชัย) ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 5 (พล.อ.จารุภัทร) ได้ลาออกจาก กกต. โจทก์จึงถอนฟ้อง ซึ่งต่อมา จำเลยที่ 2 ,3 และ 4 ได้ยื่นอุทธรณ์ ขณะที่ศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามจึงได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้อง
       
        ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ปรากฏว่า ทนายความของนายปริญญา จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมใบรับรองแพทย์ว่า นายปริญญาได้เข้ารับการรักษาผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไปก่อน ด้านศาลพิจารณาแล้วคำร้องดังกล่าวมีเหตุสมควร จึงอนุญาตให้เลื่อนฟังคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 13 มิ.ย.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    12 พฤษภาคม 2556

6637
1. “ในหลวง” ทรงประชวรพระปัปผาสะอักเสบ - คณะแพทย์ขอทรงงดพระราชกิจสักระยะหนึ่ง!
       
       เมื่อวันที่ 29 เม.ย. สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า เมื่อประมาณ 01.00น.วันที่ 28 เม.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอาการไม่สบายพระองค์ ทรงมีพระกรรสะ(ไอ) เล็กน้อย หายพระทัยเร็วกว่าปกติ ทรงเริ่มมีพระปรอทต่ำๆ ต่อมาขึ้นสูง 38.8 องศาเซลเซียส การเต้นของพระหทัยเร็วขึ้นเล็กน้อย ความดันพระโลหิตลดลงเล็กน้อย
       
       ด้านคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา ได้ตรวจพระวรกาย พบเสียงผิดปกติของพระปัปผาสะ(ปอด) และที่พระนาภี ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ปรากฏว่าเหมือนเดิม ผลการตรวจทางรังสีวิทยาด้วยเครื่องเอกซเรย์และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พระอุระ พบการอักเสบเล็กน้อยที่พระปัปผาสะทั้งสองข้างด้านล่าง ผลการตรวจทางรังสีวิทยาด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พระนาภี ไม่มีความผิดปกติ ผลการตรวจพระโลหิต แสดงว่ามีการอักเสบ และได้ทำการเพาะเชื้อในพระโลหิต
       
       ทั้งนี้ คณะแพทย์ได้ขอพระราชทานงดเสวยพระกระยาหารชั่วคราว และได้ถวายสารน้ำทางหลอดพระโลหิตร่วมกับพระโอสถปฏิชีวนะ จากนั้นพบว่า พระปรอทลดลง ความดันพระโลหิตและการหายพระทัยเป็นปกติ พระอาการทั่วไปเริ่มดีขึ้น
       
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ค. สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า คณะแพทย์ฯ รายงานความคืบหน้าพระอาการประชวรพระปัปผาสะอักเสบว่า ผลการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ พบการอักเสบลดลงและบรรทมได้ แต่ยังเสวยพระกระยาหารไม่ได้มาก และยังมีพระอาการอ่อนเพลียอยู่บ้าง คณะแพทย์ฯ ยังคงถวายพระโอสถปฏิชีวนะทางหลอดพระโลหิตต่อไปจนครบกำหนด พร้อมกันนี้ ได้ขอให้ทรงงดพระราชกิจสักระยะหนึ่ง
       
       2. พท. ขู่ยื่นถอดตุลาการศาล รธน. ด้านเสื้อแดงระดมพลกดดัน 8 พ.ค. ขณะที่ศาล รธน. แจ้งจับ “เรืองไกร” หมิ่น !

       เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ได้มีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาหลายเรื่อง เรื่องแรกเป็นกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลฯ วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106(5) ประกอบมาตรา 102(6) หรือไม่ หลังกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากราชการเป็นนายทหารกองหนุน เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2555 ซึ่งที่ประชุมตุลาการฯ ยังไม่มีมติว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ และการพิจารณายังไม่ได้ข้อยุติ จึงเลื่อนไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
       
       ส่วนเรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามมาตรา 68 ว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับ ส.ส.และ ส.ว.รวม 312 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมตุลาการฯ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 รับคำร้องไว้วินิจฉัย ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินนั้น ศาลฯ ให้ยกคำขอ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีมูลเหตุฉุกเฉิน พร้อมกันนี้ศาลฯ ได้ให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งให้ศาล 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง และให้ผู้ถูกร้องชี้แจงข้อกล่าวหาต่อศาลฯ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ยื่นภายในกำหนด จะถือว่าไม่ติดใจ
       
       นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณากรณีที่ ส.ส. และ ส.ว. 312 คน ไม่ได้รับหนังสือของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ขอให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และคำร้องของนายบวร ยสินทร ที่ให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยตุลาการฯ เห็นว่า ศาลฯ ได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดของศาลฯ แล้ว ศาลจึงสามารถเดินหน้ากระบวนการพิจารณาต่อไปได้ ส่วนกรณีที่ 46 ส.ว. ยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงนั้น ศาลฯ อนุญาต โดยให้ส่งคำชี้แจงภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หากไม่ส่งภายในกำหนด จะถือว่าไม่ติดใจ
       
       ด้านที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 เม.ย.จะไม่ส่งหนังสือชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งมีมติให้ส่งจดหมายเปิดผนึกไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไปยังองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยยังขู่ด้วยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเดินหน้าพิจารณาคำร้องตามมาตรา 68 จะถือว่าก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าถอดถอนตุลาการฯ ต่อไป โดยขณะนี้มี ส.ส.ร่วมลงชื่อเพื่อถอดถอน 1 ใน 4 แล้ว
       
       ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็ออกมายืนยันเช่นกันว่า จะไม่ส่งคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมออกตัวว่า ตัดสินใจเอง ไม่ได้ทำตามมติพรรคเพื่อไทย และไม่ได้เกี่ยวกับที่มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกตนไปพบแต่อย่างใด
       
       ส่วนความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน ประธานกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(กวป.) นั้น ได้มีการระดมพลเพื่อกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ลาออกในวันที่ 8 พ.ค. โดยตั้งเป้าว่าจะมีมวลชนมาร่วมชุมนุม 2-3 หมื่นคน และว่า ในวันดังกล่าว จะมีการเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงบประมาณ ,ทำเนียบรัฐบาล ,สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และรัฐสภา
       
       ด้าน พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พูดถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันที่ 8 พ.ค.ว่า ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการชุมนุม จึงจัดเตรียมกำลังเอาไว้ให้เหมาะกับพื้นที่เท่านั้น คือประมาณ 9 กองร้อย (1,350 นาย) โดยอาจส่งไปเพียงบางส่วน และว่า ด้านการข่าวยังไม่มีอะไรน่าห่วง และไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดความรุนแรง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงที่กดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่อดีต ส.ว.สายเสื้อแดง นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็เคลื่อนไหวด้วยการยื่นหนังสือจี้ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยอ้างว่า การทำหน้าที่ตุลาการฯ ของนายชัช ชลวร ไม่ชอบ เพราะไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตุลาการฯ
       
       ด้านสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สุดทนพฤติกรรมของนายเรืองไกรที่พยายามดิสเครดิตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ กล่าวหาตุลาการฯ และศาลรัฐธรรมนูญว่ากระทำการบิดเบือนพระบรมราชโองการ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อมูล และไม่ได้มีจุดประสงค์ในการตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญตามสิทธิ แต่มุ่งทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของศาลฯและตุลาการฯ จึงได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีนายเรืองไกร ฐานดูหมิ่นศาล ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และ 198
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ได้มีประชาชนในนามองค์กรพิทักษ์ปกป้องมาตุภูมิแห่งประเทศไทยและเครือข่ายประมาณ 100 คน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมกดดันของคนเสื้อแดง พร้อมให้กำลังใจตุลาการฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญต่อไปด้วยความเข้มแข็ง
       
       3. “ยิ่งลักษณ์” ปาฐกถาที่มองโกเลีย อุ้ม “ทักษิณ”- ติง รธน. /องค์กรอิสระ ด้าน “ชัย ราชวัตร” เฟซบุ๊ก “กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงคนชั่ว เที่ยวเร่ขายชาติ”!

       เมื่อวันที่ 29 เม.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ครั้งที่ 7 ระหว่างเยือนประเทศมองโกเลียอย่างเป็นทางการ โดยเตือนให้ทุกประเทศระวังว่า แรงปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยไม่เคยถดถอยลดน้อยลง พร้อมยกตัวอย่างรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พี่ชายตน ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ถึง 2 ครั้ง แต่ถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ทำให้ประเทศไทยเสมือนรถไฟตกราง และประชาชนไทยต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี กว่าจะได้เสรีภาพแห่งประชาธิปไตย
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ถ้าการถูกยึดอำนาจ ทำให้ตนและครอบครัวต้องเจ็บปวดฝ่ายเดียว ตนก็คงจะปล่อยวาง แต่การทำรัฐประหารทำให้ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือจากนานาชาติ ขณะเดียวกันหลักนิติธรรมและหลักกฎหมายก็ถูกทำลาย เสรีภาพของประชาชนก็ถูกปล้น เมื่อประชาชนกลุ่มเสื้อแดงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้ได้เสรีภาพคืนมา กลับถูกสลายการชุมนุมเมื่อเดือน พ.ค.2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 คนในใจกลางกรุงเทพฯ
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า แม้ตนจะได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว แต่ผู้ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยยังคงอยู่ รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในรัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหาร ได้ใส่กลไกตีกรอบเพื่อจำกัดความเป็นประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น การที่ ส.ว.ครึ่งหนึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคนกลุ่มเล็กๆ และการที่องค์กรอิสระใช้อำนาจเกินขอบเขต เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังพูดทำนองเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ เข้ามาช่วยกดดันให้เกิดประชาธิปไตยในเมืองไทยด้วย
       
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังทิ้งท้ายปาฐกถาดังกล่าวด้วยว่า “ดิฉันหวังว่าความเจ็บปวดที่ครอบครัวของดิฉันได้รับ ที่ครอบครัวของเหยื่อทางการเมืองไทย และครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 91 คนในเหตุการณ์เมื่อเดือน พ.ค.2553 ต้องเผชิญ จะเป็นความเจ็บปวดครั้งสุดท้ายสำหรับประเทศไทย”
       
       ทั้งนี้ ปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง และดึงต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า นายกฯ ใช้วิธีการเดียวกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณใช้แสดงมาหลายปี เป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในต่างประเทศในลักษณะว่าปัญหาทั้งหมดมาจากการที่มีคนมาโค่นล้มตนเอง โดยไม่พูดถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศ และพยายามสรุปว่า การเดินหน้าลดอำนาจองค์กรอิสระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ซึ่งสุดท้ายปัญหาจะย้อนกลับมา
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่า สิ่งที่ตนปาฐกถา เพื่อเป็นอุทาหรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้แสดงความชื่นชมปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยบอกว่า เป็นการสรุปข้อเท็จจริงทางการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน แหลมคม และทรงพลัง
       
       ด้าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจและอดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่คนเสื้อแดงชุมนุมกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและการปาฐกาถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า เป็นหนึ่งในแผนการยึดประเทศของทักษิณและพวก “ผมเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่เข้าใจบทบาทของนายกรัฐมนตรี จึงได้นำเอาทุกข์ของตนและของพี่ชายไปเปิดเผยเป็นเชิงขอความเห็นใจในที่ประชุมนานาชาติ ที่ทุเรศที่สุดก็คือ ทุกข์ที่ว่านั้นเป็นผลของความทุจริตประพฤติมิชอบของพี่ชายตนเอง แต่ไปโยนความผิดให้คนอื่น”
       
       พล.ต.อ.วสิษฐ ยังเชื่อด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เขียนปาฐกถาดังกล่าวเอง เพราะความรู้ภาษาอังกฤษของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คงมีไม่พอที่จะเขียน “แต่ใครจะเป็นคนเขียนก็ตาม คนที่เอาไปอ่านนอกจากจะโกหกอย่างหน้าด้านแล้ว ยังแสดงความโง่ของตนด้วยอย่างแน่นอน โง่ตรงที่ไปบอกเขาว่าบ้านเมืองยังไม่สงบ แล้วก็เชิญชวนให้เขามาลงทุน และโง่ตรงที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในรัฐสภา คุมทั้งทหารและตำรวจ แล้วไปยอมรับว่ายังทำอะไรกับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยไม่ได้... ผมเห็นว่า การขู่บังคับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญหรือพ้องกัน แต่เป็นไปตามแผนของทักษิณกับพวก ที่จะยึดประเทศไทยทั้งประเทศให้ได้เท่านั้นเอง"
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ในห้วงเวลาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ปาฐกถาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์กันอย่างกว้างขวางนั้น ได้มีผู้นำข้อความที่อ้างว่ามาจากเฟซบุ๊กของ “ชัย ราชวัตร” หรือนายสมชัย กตัญญุตานันท์ คอลัมนิสต์การ์ตูนล้อการเมืองชื่อดังแห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ โดยข้อความดังกล่าวเขียนว่า “โปรดเข้าใจ กะหรี่ไม่ใช่หญิงคนชั่ว กะหรี่แค่เร่ขายตัว แต่หญิงคนชั่ว เที่ยวเร่ขายชาติ”
       
       ซึ่งข้อความดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้คนเสื้อแดง ถึงกับบุกไปที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จี้ให้เอาผิดชัย ราชวัตร โดยอ้างว่าหมิ่นนายกฯ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารไทยรัฐ ได้ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาทำนองว่า หากชัย ราชวัตร กระทำการไม่เหมาะสมในหนังสือพิมพ์ ทางผู้บริหารพร้อมจะดำเนินการ แต่กรณีนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวทางเฟซบุ๊ก จึงถือเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ส่งทนายเข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ดุสิต ให้ดำเนินคดีชัย ราชวัตร ฐานหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ทำเหมือนเอาใจนายกฯ ด้วยการออกมาขู่ปิดเว็บไซต์ที่มีการด่าทอนายกฯ พร้อมเตือนผู้ที่โพสต์ข้อความด่านายกฯ จะเข้าข่ายผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       ขณะที่ชัย ราชวัตร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ว่า ได้รับดอกไม้และกำลังใจจากมวลมิตรทะลักล้นจอคอมพ์ แต่จนปัญญาจะกล่าวขอบคุณเป็นรายบุคคล อยากจะบอกว่า ทุกๆ ชื่อ ทุกๆ น้ำใจ จะจารึกอยู่ในความทรงจำตลอดไป “A friend in need is a friend indeed ขอขอบคุณอย่างยิ่งครับ ขอยืนยันไว้ ณ ตรงนี้ ผมจะไม่มีวันทำให้ท่านผิดหวังในจุดยืนครับ”
       
       4. “ภราดร” ปัด เจรจาบีอาร์เอ็นรอบสามเหลว อ้าง แค่ฟังข้อเสนอซึ่งกันและกัน นัดถกรอบหน้า 13 มิ.ย.!

       ก่อนที่การเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายความมั่นคงของไทยและแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น(แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) จะเปิดฉากขึ้นเป็นรอบที่สามเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ปรากฏว่า วันที่ 26 เม.ย. ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น 2 คน คือ นายฮัสซัน ตอยิบ และนายอับดุลการีม กาลิบ ได้อ่านคำประกาศผ่านเว็บไซต์ยูทูบว่า เป้าหมายในการก่อตั้งขบวนการบีอาร์เอ็น เพื่อต้องการสร้างความเป็นหนึ่งให้เกิดขึ้นในหมู่ชนชาวมลายูปัตตานี และได้รับอิสรภาพในทุกๆ ด้าน รวมทั้งได้บริหารปกครองด้วยตัวเอง และว่า ขบวนการปลดปล่อยปัตตานีได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อปลดปล่อยปัตตานีจากการถูกกดขี่จากรัฐไทย ที่ยึดครองปัตตานีตั้งแต่ปี ค.ศ.1785 พร้อมย้ำว่า การโจมตีด้วยอาวุธจะยังดำเนินต่อไปจนกว่าการกดขี่จะหมดไปจากแผ่นดินปัตตานี
       
       ตัวแทนบีอาร์เอ็น ยังประกาศด้วยว่า การเจรจาสันติภาพที่จะมีขึ้น จะดำเนินไปภายใต้เงื่อนไข 5 ข้อ คือ 1.รัฐสยาม(รัฐไทย) ต้องให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา ไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก 2.ต้องเป็นการพูดคุยระหว่างชาวมลายูปัตตานีที่นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นกับฝ่ายสยาม 3.ระหว่างการพูดคุย จะต้องมีผู้สังเกตการณ์จากประชาคมอาเซียน โอไอซี(องค์การการประชุมอิสลาม) และเอ็นจีโอ(องค์กรพัฒนาเอกชน) 4.รัฐสยามต้องปล่อยนักโทษที่ถูกคุมขังและยกเลิกหมายจับทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข และ 5.รัฐสยามจะต้องยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปัตตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
       
       ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) บอกว่า การเจรจาสันติภาพกับแกนนำบีอาร์เอ็นในวันที่ 29 เม.ย. ยังคงเน้นเรื่องการลดความรุนแรงในพื้นที่ รวมทั้งจะสอบถามเรื่องแกนนำบีอาร์เอ็นโพสต์ข้อเสนอ 5 ข้อผ่านยูทูบด้วยว่า มีเป้าหมายใด
       
       สำหรับตัวแทนฝ่ายบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมหารือกับฝ่ายความมั่นคงของไทย มีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ นายฮัสซัน ตอยิบ ,นายอับดุลการีม กาลิบ ฯลฯ
       
       หลังใช้เวลาเจรจา ณ สถานที่ลับ ในประเทศมาเลเซียนานกว่า 8 ชั่วโมง พล.ท.ภราดร เผยว่า การเจรจาครั้งนี้ นอกจากมีตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว ยังมีกลุ่มพูโลและตัวแทนกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่เข้าพูดคุยด้วย โดยกลุ่มบีอาร์เอ็นได้เสนอ 5 ข้อที่แถลงในเว็บไซต์ยูทูบ เพื่อฟังความเห็นของฝ่ายไทย ทำให้บรรยากาศการพูดคุยตึงเครียดมาก เพราะมีแค่บางข้อเท่านั้นที่ไทยรับได้ ส่วนข้อเสนอของฝ่ายไทยที่อยากให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นลดการก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ตัวแทนบีอาร์เอ็น บอกว่า ที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังทุกกลุ่มแล้ว
       
       ทั้งนี้ พล.ท.ภราดร ยืนยันว่า การเจรจาสันติภาพครั้งนี้ ไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะเป็นการรับฟังข้อมูลข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน และจะมีการเจรจาครั้งต่อไปในวันที่ 13 มิ.ย. ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยการเจรจารอบหน้า จะหยิบยกผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ที่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้กับข้อเสนอ 5 ข้อของฝ่ายบีอาร์เอ็น ขึ้นมาพูดคุยด้วย
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการเจรจารอบสามดังกล่าว สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงทวีความรุนแรงขึ้น โดยเมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค. คนร้าย 4 คน ซึ่งใช้รถจักรยานยนต์ 2 คันเป็นพาหนะ ได้ใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงใส่ร้านขายของชำที่ชาวบ้านกำลังจับจ่ายซื้อของและนั่งจับกลุ่มคุยกัน บริเวณหมู่ 5 ต.รูสิมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี จากนั้นคนร้าย 2 คนได้ลงจากรถมาจ่อยิงหัวชาวบ้านเสียชีวิตรวม 6 ศพ โดยในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 3-4 ขวบรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย
       
       ทั้งนี้ กลุ่มผู้ไม่หวังดีได้มีการโปรยใบปลิวที่ถนนสิโรรส อ.เมือง จ.ยะลา ระบุว่า การก่อเหตุฆ่า 6 ศพที่ปัตานี คือการล้างแค้น โดยข้อความในใบปลิวระบุว่า “พี่น้องนักรบฟาตอนีทุกคน เราได้ล้างแค้นให้กับพวกท่านแล้ว เราตายไป 4 คน แต่เราเอาคืนมากกว่าเดิม... เราจะฆ่าทุกคนไม่เว้นเด็ก หรือผู้หญิง เราจะต่อสู้เพื่อขบวนการบีอาร์เอ็นที่ยิ่งใหญ่ของเรา...”
       
       5. “ก่อแก้ว” นอนคุกต่อ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เหตุยังไม่สำนึกผิด!

       เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์กรณีที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. จำเลยที่ 5 คดีก่อการร้าย ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หลังศาลอาญามีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่านายก่อแก้วยังไม่สำนึกผิดกรณีพูดข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
       
        ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายก่อแก้วเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว แต่ได้ทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัว จนศาลชั้นต้นเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งที่ผ่านมานายก่อแก้วยังไม่เคยแสดงออกอย่างหนักแน่นว่าจะไม่มีพฤติกรรมผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวอีก ในชั้นนี้ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า คำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย จึงยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว นั่นหมายความว่า นายก่อแก้วจะต้องถูกควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ต่อไป จนกว่าจะมีการเปิดสมัยประชุมสภา แล้วจึงจะสามารถขอใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มครองเพื่อให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวออกมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้อีกครั้ง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 พฤษภาคม 2556

6638
 รัฐบาลกดดันหมอชนบทห้ามก่อม็อบบ้านนายกฯ “หมอเกรียง” ประกาศเลื่อนชุมนุมออกไป 2 สัปดาห์ เปลี่ยนทำเวิร์กชอปหารือร่วม 3 ฝ่ายแทน มีตัวแทนนายกฯ แพทย์ชนบท และ รมว.สธ.“สุรนันทน์” เผยประเด็นไหนตกลงกันได้ในเวทีเจรจาเป็นอันยุติ หากไม่ตรงกันเสนอนายกฯตัดสินใจ
   
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 พ.ค.) นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวภายหลังเดินทางมาเข้าพบ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วยตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และเครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ เพื่อเจรจาหาข้อยุติในเรื่องการชุมนุมวันที่ 6 มิ.ย.ที่บริเวณหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี ว่า ข้อสรุปคือจะไม่มีการชุมนุมในวันดังกล่าว แต่จะขอเลื่อนออกไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อหาข้อยุติหลังจากมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ร่วมกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มิ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเป็นการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสุรนันทน์ ชมรมแพทย์ชนบท และ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
       
       “อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือเบื้องต้นในวันที่ 4 มิ.ย.ก่อน ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เพื่อนำไปสู่การหารืออย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มิ.ย.ซึ่งหลักการเราขอยืนยันตามเดิม คือ ขอใช้ 1 กระทรวง 2 ระบบ คือ โรงพยาบาลชุมชนขอใช้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามเดิม ส่วนการคิดแบบผลการปฏิบัติงาน (P4P) ขอเป็นแบบสมัครใจ โดยขอให้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาในเชิงพื้นที่ใหม่ เนื่องจากการปรับพื้นที่ใหม่ว่าแห่งใดทุรกันดาร หรือไม่ทุรกันดาร ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้ หากการประชุมไม่ได้ข้อยุติอย่างที่ต้องการ ก็จะเรียกร้องเพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป” ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว
       
       นายสุรนันทน์ กล่าวว่า จะไม่มีการชุมนุมหน้าบ้านนายกฯ และรัฐบาลไม่ยอมรับการชุมนุมกดดัน หลักการแก้ไขปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ประเด็นไหนที่ตกลงกันได้ในเวทีการเจรจาถือเป็นข้อยุติ เป็นนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติทันที หากประเด็นไหนที่เห็นไม่ตรงกันให้เสนอนายกฯตัดสินใจ
       
       ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การที่ นพ.เกรียงศักดิ์ ตัวแทนจากสหภาพฯ อภ.และเครือข่ายต่างๆ เข้าไปเจรจากับนายสุรนันทน์นั้น เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการให้เกิดการชุมนุมในวันที่ 6 มิ.ย.ที่หน้าบ้านนายกฯ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า ช่วงนี้มีการเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น จึงไม่อยากให้มีการชุมนุม จึงได้ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันว่า จะมีการจัดเวิร์กชอปหาทางออกเรื่อง P4P ปัญหา อภ.และระบบหลักประกันสุขภาพชาติ ในวันที่ 6 มิ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาลแทน ในเวลา 10.00 น.แต่หากหาทางออกร่วมกันไม่ได้ก็จะให้นายกฯเป็นผู้ตัดสินใจ
       
       นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า การหารือดังกล่าวไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ เพียงแต่เป็นการคุยกันว่าที่ผ่านมาอาจยังไม่มีการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกันในหลายๆเรื่อง และทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งกลุ่มแพทย์ชนบทอยากให้ผู้บริหาร สธ. รับฟังข้อคิดเห็นของพวกเขาว่า มีข้อขัดข้องในการดำเนินการตามนโยบายการปรับเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนอย่างไรบ้างในลักษณะเวิร์กชอปว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งตรงกับสิ่งที่ตนได้พยายามอธิบายมาตลอด และเชิญชวนให้กลุ่มแพทย์ชนบทเข้ามาคุยกันในเรื่องข้อจำกัด เพราะเชื่อว่ากลุ่มแพทย์ชนบทไม่ได้คัดค้านเรื่องนี้ เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสเข้ามาให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะบางประการที่จะทำให้ระบบนั้นดีขึ้น
       
       ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รักษาการ ผอ.อภ.กล่าวว่า การที่กลุ่มสหภาพฯ อภ.จะร่วมชุมนุมกับแพทย์ชนบทในวันที่ 6 มิ.ย.เป็นการแสดงออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแปรรูป แต่ส่วนตัวมองว่าทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรามากกว่า และสำหรับการแสดงออกสามารถทำได้แต่ต้องไม่กระทบกับการทำงาน อย่าทำให้องค์กรเดือดร้อน และขอให้ไม่ว่าการจะทำอะไรนั้นต้องทำอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ส่วนเรื่องสิทธิที่จะขอลา สหภาพฯทุกคนใช้สิทธิลาได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมว่าลาไปเพื่ออะไร

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 พฤษภาคม 2556

6639
พยาบาลคลินิก กทม.สุดชุ่ย หอบขยะติดเชื้อกองใหญ่ให้ญาติในกรุงเก่าทยอยเผา สาธารณสุขลงพื้นที่ ตรวจสอบที่มาของขยะเตรียมเอาผิดทาง ก.ม.กับผู้เกี่ยวข้อง พร้อมเร่งจัดเก็บคิดค่าใช้จ่ายกับผู้กระทำผิดอีกต่อหนึ่ง...

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2556 นายธวัชชัย พวงเพียงงาม สาธารณสุข อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนายเชาวลิต ระย้า ผอ.กองช่าง อบต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา เดินทางมาตรวจสอบกองขยะโรงพยาบาลจำนวนมาก อาทิ หลอดฉีดยา สำลี อุปกรณ์ทำความสะอาดแผล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ บรรจุในถุงดำและถุงส้ม มีกลิ่นคาวคลุ้งที่มีผู้นำมาทิ้งไว้และเผาบริเวณป่ากกหน้าทางเข้าหมู่บ้านจัดสรร พื้นที่หมู่ 1 ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา

นายธวัชชัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งต้องมีบริษัทรับกำจัดโดยเฉพาะ ไม่ใช่คนธรรมดาชาวบ้านมาเผาทำลายได้ ซึ่งการเผาทำลายเช่นนี้ผิดกฎหมาย จึงจะร่วมกับ อบต.หันตรา แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะทำการจัดเก็บพร้อมคิดค่าใช้จ่ายจากผู้ที่กระทำผิดด้วย นอกจากนี้จะตรวจสอบถึงที่มาของขยะเหล่านี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นการรับจ้างมาทำลาย ซึ่งจะดำเนินคดีต่อไป

ขณะที่ น.ส.อินทุอร กองธนะ อายุ 27 ปี ซึ่งบ้านอยู่ใกล้กับกองขยะดังกล่าว ยอมรับว่า ได้มีญาติที่อยู่กรุงเทพฯ ทำงานเป็นพยาบาลในคลินิกแห่งหนึ่งได้นำมาทิ้งไว้เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา และให้ตนเองเป็นคนเผา โดยทยอยเผาทุกวัน ไม่คิดว่าจะทำให้ใครเดือดร้อน.

ไทยรัฐออนไลน์
29พค2556
   


6640

และถึงที่สุด “มหาวิทยาลัยนเรศวรกำแพงเพชร” ก็ถึงกาลอวสาน ทุกอย่างต้องพินาศลงด้วยความท้อแท้และสิ้นหวังในความรู้สึกของคนกำแพงเพชร

ย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีก่อน จากความคิดริเริ่มของ “จุลพันธ์ ทับทิม” อดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร ที่ต้องการจะให้จังหวัดกำแพงเพชร เป็นศูนย์กลางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะในแขนงวิทยาการเฉพาะทางในสายวิทยาศาสตร์ เช่น คณะแพทย์ พยาบาล วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีเกษตร ฯลฯ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ซึ่งเปิดสอนทางด้านศิลปศาสตร์ โดยใช้งบประมาณกว่า 5 ล้านบาท ของ อบจ. เพื่อทำการวิจัยถึงผลได้ผลเสีย และความต้องการทางด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในเขต 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี แพร่

ซึ่งผลการวิจัยทางวิชาการเป็นที่ชัดเจนว่า จังหวัดกำแพงเพชรมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน ในทางวิชาการ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างหลากหลาย ทั้งอ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่ว ยางพารา ฯลฯ
เมื่อผลการวิจัยสรุปออกมาชัดเจนว่า อบจ. กำแพงเพชรจึงได้นำเสนอผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ต่อสภามหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อขอให้ดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนเรศวรวิทยาเขตกำแพงเพชร โดยเปิดทำการสอนในสายวิทยาศาสตร์ล้วนๆ และมีการประชุมหารือร่วมกันหลายครั้ง
ซึ่งต่อมาสภามหาวิทยาลัยนเรศวรได้นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการ

โดย จุลพันธ์ ทับทิม ได้นำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอบรรยายสรุปต่อหน้าคณะกรรมการพัฒนาการการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างรอบด้าน ตามขั้นตอนถึง 4 รอบ และผ่านมติคณะกรรมการฯ ทั้ง 4 รอบ
จึงได้มีการลงนามทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดกำแพงเพชร อบจ.กำแพงเพชร และนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาการการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อช่วงกลางปี 2554 โดยรัฐบาลได้พร้อมอนุมัติงบประมาณกว่า 6 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเฉพาะทางแห่งนี้

มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้ดำเนินการประสานกับทางจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อขอให้จัดหาที่ดินเพื่อเป็นสถานที่ตั้งซึ่งจะต้องใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ โดย อบจ.กำแพงเพชร ได้กันที่ดินในความครอบครองของ อบจ. ที่บริเวณทุ่งน้ำโก้ หมู่ที่ 2 ตำบลเทพนคร ไว้ประมาณ 400 ไร่ ในเบื้องต้น เพื่อก่อตั้งคณะแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาล รวมระยะเวลากว่าจะถึงขั้นตอนนี้กว่า 3 ปี
จากความคิดอันเป็นการจุดประกายเริ่มต้นของ จุลพันธ์ ทับทิม ทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่าง เป็นจริง เหลือเพียงแค่สถานที่ก่อสร้างเท่านั้น พร้อมกับความหวังที่เกิดฉายขึ้นในหัวใจของประชาชนคนกำแพงเพชร

เพราะสิ่งที่จะได้มานั้น ไม่ใช่เพียงแต่สถานศึกษาขนาดใหญ่เท่านั้น แต่มันหมายถึงการขยายตัวของจังหวัด การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจที่จะตามมาอีกมากมาย ร้านอาหาร หอพัก และเม็ดเงินที่จะสะพัดในจังหวัด จากการที่มีนักศึกษาที่จะต้องมาอยู่ และบรรดาผู้ปกครองที่จะต้องแวะเวียนมาในจังหวัดกำแพงเพชร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ตามแผนงานและโครงการของมหาวิทยาลัยก็จะต้องสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการเรียนการสอนของคณะแพทย์และพยาบาล นั่นหมายถึงจังหวัดกำแพงเพชร จะมีโรงพยาบาลที่ทันสมัย เครื่องมือแพทย์ครบครัน ตลอดจนแพทย์ระดับอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ที่จะต้องมาอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้
ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลจังหวัดที่มีอยู่ ปริมาณคนไข้ก็ล้นเกินรับแทบไม่หวาดไม่ไหว เคสหนักๆ ก็ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลจังหวัดใกล้เคียง
หลังจากนั้น จังหวัดกำแพงเพชรได้มีดำริจะยกพื้นที่ป่าสงวนที่หมดสภาพบริเวณหน้าศูนย์ราชการให้เป็นสถานที่ก่อสร้าง....
ชื่อเสียงของ จุลพันธ์ ทับทิม หอมหวลและเป็นที่ชื่นชมของผู้คนไปทั้งจังหวัด พร้อมๆ กับการตื่นตัวของนักฉวยโอกาส นักเก็งกำไรจากราคาที่ดิน...

ข่าวลือการเข้าจับจองซื้อขายที่ดินบริเวณสถานที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยดังกล่าว แพร่สะพัดไปทั่ว มีการกว้านซื้อ จำหน่าย จ่ายโอนการครอบครองกันอย่างสนุกสนาน มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงบนจังหวัด โดยผ่านตัวแทนขนาดเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของศูนย์วนวัฒนวิจัยระดับซีเล็กๆ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในที่ตั้งมีเงินสะพัดผ่านบัญชีกว่า 30 ล้านบาท
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ไปสืบกันเอาเอง สถานที่ก่อสร้างซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน ที่ถูกกันไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ แทนที่จะเป็นแปลงสวยสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมจตุรัส จึงออกมาลักษณะคดโค้งยาวรี หงิกๆ งอๆ เป็นรูปตัวหนอน เพราะต้องบังคับให้ผ่านผืนที่ดินที่ไปกว้านดักไว้หรือไม่...

นี่คือปมเงื่อนที่ทำให้การอนุมัติที่ดินสถานที่ก่อสร้าง ต้องตกอยู่ในสภาพเดินไปสะดุดไป หรือไม่..
จึงเป็นช่องโอกาสให้จังหวัดพิจิตรเข้าเสียบนำเสนอโครงการโดยอาศัยผลวิจัยของ อบจ.กำแพงเพชร ด้วยข้อเสนอมีที่ดินพร้อมกว่า 1,000 ไร่ ให้กับมหาวิทยาลัยนเรศวรในทันทีเพื่อก่อตั้งวิทยาเขต โดยเบื้องต้นเป็นที่ดินบริจาคของเอกชน โดย พ.อ.หญิง ดร.สมสมัย สิทธิเกษตร บริจาคให้จังหวัดพิจิตรและกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนเกือบ 700 ไร่ พร้อมด้วยเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไปของจังหวัดพิจิตรอีกหลายล้านบาท เป็นต้นทุนดำเนินการ

จากหลักฐานบันทึกการตรวจสอบพื้นที่โดยตัวแทนของจังหวัดหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนของมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 โดยศูนย์วนวัฒนวิจัยจังหวัดกำแพงเพชรระบุว่า ผู้ขอรับอนุญาตใช้ที่ดินคือมหาวิทยาลัยนเรศวร ยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายให้ส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบเป็นวงเงินไม่เกิน 150 ล้านบาท และภาคเอกชนในวงเงินรวม ไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 650 ล้านบาท
ซึ่งมีข้อสังเกตว่า จะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงนามในบันทึกฉบับนี้ จำนวน 9 คน แต่กลับมีผู้ลงนามรับรองบันทึกเพียงสองคน โดยผู้แทนของมหาวิทยาลัยนเรศวรก็ไม่ยอมลงนามด้วยเช่นกัน
มันเกิดอะไรขึ้น....

จากการสอบถามผู้ที่ไม่ยอมลงนามในหนังสือฉบับนี้ ทราบว่า ในที่ประชุมไม่เคยพูดถึงเรื่องการชดเชยค่าเสียหายแต่อย่างใด
บันทึกฉบับนี้เป็นเท็จหรือไม่.....
เพราะข้อเท็จจริง ส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบ คือ ศูนย์วนวัฒนวิจัย มีวงเงินเสียหายไม่เกิน 35 ล้านบาทเท่านั้น และภาคเอกชน ข้อเท็จจริงก็คือ

พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนที่เอกชนบุกรุกเข้าไปทำกิน จำนวน 129 ไร่ และมีการออกเอกสารสิทธิ์ไปจำนวน 8 ไร่
ในเมื่อป่าไม้และจังหวัดทราบว่า ที่ดินป่าสงวนถูกบุกรุก หน้าที่ก็ต้องเข้าไปดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ที่บุกรุก
ไม่ใช่มาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยชดใช้เงินให้ ตั้ง 500 ล้านบาท และส่วนที่ออกเอกสารสิทธิ์ จำนวน 8 ไร่ จังหวัดก็ต้องสั่งการตรวจสอบว่าของใคร และเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยชอบหรือไม่...
ถ้าจังหวัดและป่าไม้ไม่ดำเนินการ ก็เท่ากับว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ผลที่สุด สภามหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเรียกประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 182 (4/2556) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2556 ขนาดเรียกประชุมวันอาทิตย์ก็แล้วกัน แสดงว่ามันเหลืออดเหลือทนจริงๆ
มติที่ประชุม สรุปว่า สมควรแจ้งจังหวัดกำแพงเพชรว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร ไม่รับมาจัดตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดกำแพงเพชร หรือ จะยังคงดำเนินการต่อไป.....

ครับ...มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมสรรพวิทยาทางวิชาการ เมื่อมาเจอกับเรื่องบ้าบอคอแตกพรรค์นี้ นักวิชาการที่ไหนใครเขาจะเล่นด้วย
มันเป็นเวรเป็นกรรมของคนกำแพงเพชรเสียเหลือเกิน จังหวัดพิจิตรเขามีแต่จะให้ มีแต่จะแย่งกันบริจาค ให้ทั้งที่ดินทั้งเงิน เพราะสิ่งที่จะได้มานั้น มันมีคุณค่ามหาศาลสำหรับประชาชน

แต่กับจังหวัดกำแพงเพชร มีแต่จะฉวยโอกาส มีแต่จ้องจะรุมทึ้ง ....!!!!
อวสานมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตกำแพงเพชร หายนะจึงตกอยู่กับประชาชนคนกำแพงเพชร

พฤทธิ์ สรรคบุรานุรักษ์ รายงาน
จาก หนังสือพิมพ์เสียงวิจารณ์ภาคเหนือ ประจำเดือนพฤษภาคม 2556

6641
กลุ่มแพทย์ชนบท พยาบาล และบุคลากร 9 จังหวัดอีสานตอนล่างกว่า 100 คน ประท้วงคัดค้านนโยบาย P4P  และมีมติไม่ร่วมประชุมฟังคำชี้แจงใดๆ หวั่นแอบอ้างว่าเห็นด้วย ลั่นจะยกระดับอารยะขัดขืนต้านเต็มที่ เตรียมบุกบ้าน "นายกฯ ปู" ขอเปลี่ยนเจ้ากระทรวงหมอ...

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2556 นพ.สมชาย ธรรมสารโสภณ นายแพทย์ 9 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนอำเภอกระสัง จ.บุรีรัมย์ พร้อมตัวแทนกลุ่มแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดอีสานตอนล่าง คือ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร และอุบลราชธานี กว่า 100 คน เดินทางมายังหน้าโรงแรมลายทอง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีการประชุมโครงการผู้บริหารพบบุคลากรสาธารณสุข ปี 2556 มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นประธาน โดยมีการรวมตัวถือป้ายเขียนข้อความคัดค้าน ไม่เอาระบบจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการทำลายระบบโรงพยาบาลชุมชนให้อ่อนแอลง

นพ.สมชาย กล่าวว่า การมารวมตัวประท้วงครั้งนี้ เนื่องจาก นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ได้มอบหมายให้นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดประทรวงสาธารณสุข มาชี้แจงการนำนโยบายระบบจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานหรือ P4P กับบุคลากรทางการแพทย์ใน 9 จังหวัดอีสานตอนล่าง แต่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นคัดค้านร่วมแสดงความเห็น ดังนั้น ตัวแทนแพทย์ พยาบาล บุคลากรใน 9 จังหวัดอีสานตอนล่างที่ไม่เห็นด้วย จึงมารวมตัวเรียกร้อง และยื่นข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติคือ

1. เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดอีสานตอนล่าง มีมติไม่เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงฝ่ายเดียวของตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะจะมีการนำไปแอบอ้างว่าเห็นด้วยกับนโยบาย P4P

2. เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดอีสานตอนล่างสนับสนุนจุดยืนของชมรมแพทย์ชนบทต่อกรณีนโยบาย P4P โดยเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ระบบหนึ่งกระทรวงสองระบบคือ โรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วไป ใช้นโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P ส่วนโรงพยาบาลชุมชนกลับไปใช้ระบบเหมาจ่ายเบี้ยเลี้ยงแบบเดิม พร้อมเพิ่มให้กับบุคลากรด้านเภสัชกรและวิชาชีพสาธารณสุขอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย

พร้อมกับย้ำว่า หาก นพ.ประดิษฐ์ ยังเดินหน้าใช้นโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P ทางกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน 9 จังหวัดอีสานตอนล่าง จะยกระดับอารยะขัดขืนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ จะร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศเดินทางไปยื่นอุทธรณ์ ให้มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่บ้านพักของ น.ส.ยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต่อไป.

ไทยรัฐออนไลน์ 27 พค 2556

6642
เผยสูตรสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการจากการควบรวมกิจการเครือรพ.กรุงเทพ-พญาไท-เปาโล ยืนยันกลยุทธ์ 1+1 มากกว่า 2 ตั้งแต่การเงิน บุคลากร การตลาด วางเป้าหมายพญาไท 3 เป็น Destination Hospital ย่านฝั่งธน ปรับ Positioning เปาโลเจาะกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง
       
       หลังการควบรวมกิจการของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เครือพญาไท และเครือเปาโล เข้าด้วยกันส่งผลให้ธุรกิจเกิดการ Synergy อย่างเห็นได้ชัดในหลายๆ ส่วน เริ่มจาก Financial Synergy ซึ่งสามารถทำให้ประหยัดการจ่ายดอกเบี้ยได้ทันทีประมาณ 500 ล้านบาท นอกจากนี้ ทำยังให้เกิด Economy of Scale ในการจัดหาต่างๆ ทั้งยาและเวชภัณฑ์ ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น รวมทั้ง การดูแลรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ
       
       แม้กระทั่ง เรื่องห้องแล็ปที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็เกิดขึ้นได้ จากเดิมต้องส่งไปใช้บริการข้างนอก นอกจากนี้ Resource Synergy เรื่องของบุคลากรโดยเฉพาะการฝึกอบรมในด้านทักษะต่างๆ จะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุดแต่ต้องได้คุณภาพ แต่เรื่องที่เห็นว่าน่าจะยากที่สุดแต่ทำได้แล้วคือ Clinical Synergy ซึ่งทำออกมาดีมาก เช่น ศูนย์หัวใจ และศูนย์ฉุกเฉิน
       
       “สำหรับศูนย์หัวใจ ตามปกติจะเปิดได้ต้องใข้เวลาเตรียมตัวอย่างน้อย 1 ปี ส่วนที่ยากที่สุดคือการวางระบบคุณภาพของการรักษาพยาบาล แต่เราสามารถทำได้ภายในเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น จากการใช้วิธี co-branding กับโรงพยาบาลกรุงเทพ และได้แพทย์จากโรงพยาบาลมาร่วมด้วย โดยมีการเทรนร่วมกัน เพราะทั้งสองทีมมีจุดแข็งเมื่อเทรนร่วมกันก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน และทำให้ศูนย์หัวใจที่เปิดมาประมาณ 2 ปี เติบโตประมาณ 10%” อัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท - เปาโล กล่าวถึงผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ - พญาไท - เปาโล
       
       “ส่วนศูนย์ฉุกเฉิน เราเชื่อมโยงระบบการแพทย์ฉุกเฉินเข้าด้วยกันได้ทั้งหมด 12 โรงพยาบาล บนพื้นที่ 700 ตารางเมตรของกรุงเทพ เมื่อโทรมาเบอร์กลางสามารถรู้ได้ทันทีว่าผู้ป่วยอยู่ตำแหน่งไหน รถพยาบาลที่ใกล้ที่สุดของเครือข่ายอยู่ที่ไหน และมีการใช้ระบบจีพีเอสที่ทันสมัย ประเด็นคือทำอย่างไรให้ถึงผู้ป่วยเร็วที่สุด แต่การร่วมมือด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ต้องทำควบคู่กับภาครัฐและมูลนิธิต่างๆ เริ่มตั้งแต่การฝึกคนซึ่งขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถก็ต้องรู้จักการช่วยชีวิต ฯลฯ เพราะเมื่อใครมีศักยภาพมากขึ้นจะเป็นที่พึ่งให้อีกคน”
       
       การมีศูนย์ฉุกเฉินหรือ BES (Bangkok Emergency Service) ซึ่งในย่านฝั่งธนโรงพยาบาลพญาไท 3 เป็นตัวแทนของเครือ นอกจากมีเครื่องมือกับรถที่ทันสมัย ยังมีแพทย์เฉพาะทางฉุกเฉินอยู่ประจำรถ ไม่ใช่แพทย์ทั่วไป การมีหมอกับเครื่องมือที่พร้อมทำให้ช่วยคนไข้ได้ ณ ที่เกิดเหตุ ตามหลักการ “นำโรงพยาบาลไปถึงคนไข้” และศักยภาพของรถพยาบาลต้องใกล้เคียงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมากที่สุด
       
       นอกจากนี้ ยังมี “รถมอเตอร์แลนซ์” เพื่อไปให้ถึงก่อนอย่างรวดเร็ว มีระบบสื่อสาร “เทเลเมดิซิน” เช่น สามารถส่งข้อมูลต่างๆ เพื่อวางระบบการผ่าตัดได้ในระหว่างเดินทาง เมื่อมาถึงเข้าห้องผ่าตัดได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ขณะที่โรงพยาบาลมีหมอหัวใจประจำตลอด 24 ชั่วโมง
       
       อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้จะขอการรับรองมาตรฐาน CAMPTS ( The Commission on Accreditation of Medical Transport Systems) ซึ่งเป็นมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินระดับโลก และที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้คือ JCI (Joint Accreditation International ) ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลที่ได้รับการยอมรับระดับโลกเช่นกัน เพื่อรองรับคนไข้ต่างชาติได้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม health tourism และกลุ่มบริษัทประกันชีวิตต่างชาติ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยจะได้ทีมของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพมาช่วยเป็นที่ปรึกษา และคาดว่าจะได้รับการรับรองในปีหน้า ซึ่งจะเลือกขอการรับรองเฉพาะแห่งที่จะเป็นศูนย์กลางได้จริงๆ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการทำมาตรฐานค่อนข้างสูง
       
       สำหรับโรงพยาบาลพญาไท 3 ในวันนี้เป็น flagship ของฝั่งธน และเป็น Destination Hospital สามารถรักษาโรคยากๆ ได้เพราะมีศูนย์แพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขา เช่น ศูนย์หัวใจ ศูนย์สมองและระบบประสาท ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและโรคตับ ฯลฯ และสามารถเปิดเป็น One Stop Service เพื่อให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว
       
       นอกจากนี้ โรงพยาบาลเปาโล นวมินทร์ เมื่อได้รับการช่วยเหลือจากทีมของโรงพยาบาลกรุงเทพเพียง 3 เดือน เพื่อวางระบบทำให้สามารถใช้เครื่องฉายรังสีที่ราคาสูงมากและไม่ได้ใช้งานเพราะก่อนหน้านี้ไม่กล้าใช้ และยังช่วยให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของคนไข้ถูกลงจนทุกคนสามารถเข้าถึงได้การฉายรังสีได้ แม้กระทั่งกลุ่มที่ใช้สิทธิประกันสังคม นี่คือผลต่อเนื่องจากการควบรวมกิจการ ทำให้เรามีศักยภาพเพิ่มขึ้นในราคาที่ถูกลง
       
       Marketing Synergy จากการที่เมื่อก่อนทุกโรงพยาบาลพยายามแข่งกันทำการตลาดต่างประเทศและทำอะไรที่เหมือนๆ กัน แต่เมื่อมีการควบรวม ทำให้โฟกัสได้มากขึ้น แยกกลุ่มเป้าหมายและบริหารจัดการได้ชัดขึ้น เช่น การวางตำแหน่งเครือโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นระดับ "ซูเปอร์พรีเมี่ยม" เครือพญาไทเป็นระดับ "พรีเมี่ยม" ในคอนเซ็ปต์ International Quality for Thai ขณะที่ เครือเปาโลจะกลับไปเน้นเป็นระดับ "แมส" ของคนไทยจริงๆ รองรับคนไข้ระดับกลางและมีโซนรับกลุ่มประกันสังคม จากเดิมซึ่งพยายามจะทำให้เป็นพรีเมี่ยม
       
       “การเลือกปรับโพสิชั่นนิ่งใหม่ เพราะมองว่าเมื่อวันนี้เราเป็นเบอร์หนึ่ง ถ้าไม่ดูแลคนให้ครบทุกกลุ่มไม่ได้ เราต้องตอบรับทุกกลุ่มเป้าหมาย สำหรับเปาโลเมื่อเราปรับตัวแน่นอนว่าจำนวนคนไข้ย่อมจะมากขึ้น วิธีทำธุรกิจมีหลายอย่าง ขอให้เรากำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร”

ASTVผู้จัดการออนไลน์    20 พฤษภาคม 2556

6643
 รมว.สาธารณสุข เผยนายกรัฐมนตรีไทย สนใจระบบประกันการดูแลระยะยาว ของประเทศญี่ปุ่น ให้กระทรวงสาธารณสุขนำมาปรับใช้กับไทย เน้นให้ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาพดี ย้ำการเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุไทยจะสำเร็จ ต้องมีหน่วยสั่งการหน่วยเดียว ภายใต้เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินการบูรณาการร่วมกัน
       
       นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นกับคณะของนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและคณะ โดยประเทศญี่ปุ่นได้ส่ง นายคัตสุโนริ ฮารา (Mr.Katsunori Hara) อธิบดีสำนักสุขภาพและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ( Director General, Health and Welfare Bureau for the Elderly) และคณะผู้เชี่ยวชาญ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ ที่โรงแรมเพนนินซูลา ประเทศญี่ปุ่น ว่า ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้นำเสนอถึงปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ โดยญี่ปุ่นใช้เวลาเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากรสูงอายุจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 14 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาเพียง 25 ปี จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต่างจากประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ ที่ใช้เวลาประมาณ 50-120 ปี ญี่ปุ่นจึงต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลผู้สูงอายุ จนต้องจัดให้มีระบบประกันการดูแลระยะยาว (Long Term Care Insurance) ออกเป็นกฎหมาย ให้มีการจ่ายเงินเป็นค่าประกัน เริ่มจ่ายอายุ 40 ปี แต่จะมีผลในการใช้เมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เพื่อดูแลผู้สูงอายุในการใช้ชีวิต นอกเหนือจากระบบประกันสุขภาพ (Health Care Insurance)
       
       นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการบริการดูแลระยะยาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก คาดการณ์ว่าจำนวนเงินจะเพิ่มขึ้นมาก อาจถึงประมาณ 21 ล้านล้านเยน จึงต้องมีการจัดรูปแบบการดูแลใหม่ จากรูปแบบเดิมเน้นให้ผู้สูงอายุเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาล แต่รูปแบบใหม่นี้ได้เน้นรวบรวมเอาโรงพยาบาล ชุมชน อาสาสมัคร เข้าไปดูแล คาดว่าจะสำเร็จ ในพ.ศ. 2568 เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินจำนวนมาก เพื่อเตรียมรับปี พ.ศ. 2593 ซึ่งญี่ปุ่นจะมีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เหลือวัยทำงานกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ปัญหาที่ประเทศญี่ปุ่นพบอีกก็คือ การดูแลผู้สูงอายุที่ความจำเสื่อมที่เพิ่มจาก 2 ล้านกว่าคนเมื่อ 10 ปีก่อน เป็น 5 ล้านคน โดยได้เน้นทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้อยู่ในสังคมได้ และจัดทำโครงการหาอาสาสมัครผ่านการอบรมเข้ามาดูแล ซึ่งสามารถดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้พอสมควร
   
       ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ญี่ปุ่นให้คำแนะนำว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเร็ว ในประเทศฝรั่งเศสใช้เวลา 100 กว่าปี จึงจะมีผู้สูงอายุ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนญี่ปุ่นใช้เวลา 25 ปี ส่วนไทยใช้เวลา 22 ปี ซึ่งน้อยกว่า จึงต้องรีบป้องกันไว้ก่อน เพราะถ้าเวลามาถึง จะเตรียมตัวปรับตัวไม่ทัน เกิดปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งประเทศไทยได้กระตุ้นเพิ่มสัดส่วนประชากรให้สมดุลกัน คือให้มีเด็กมากขึ้น มีคนวัยหนุ่มสาว คนสูงอายุในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยญี่ปุ่นมีโครงการกระตุ้นให้คนสูงอายุในวัยเกษียณออกมาทำงานตามเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดภาระในการดูแล
       
       นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตระหนักและเห็นปัญหาเมื่อมีการจัดโปรแกรมการดูแลผู้สูงอายุไทย มีแนวโน้มใช้งบประมาณมาก ได้กำชับดำเนินการดังนี้ 1.จัดระบบดูแลให้ผู้สูงอายุไทยมีสุขภาพดี 2.ศึกษาการทำระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ด้วยระบบการจ่ายค่าประกัน โดยนำโครงการเงินออมมาใช้ 3.ให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือส สส. สนับสนุน มีโปรแกรมเข้าไปดูแลผู้สูงอายุ 4.นำเอากองทุนสตรีมาร่วมดูแลผู้สูงอายุด้วย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และพบว่าผู้หญิงเริ่มมีบทบาทเพิ่มขึ้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.จำนวนกว่า 1 ล้านคนเป็นกำลังสำคัญ ในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานในชุมชน

       “ในการปรับตัวเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยนั้นจะประสบความสำเร็จ จำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างมีเอกภาพ โดยมีหน่วยสั่งการหน่วยเดียว ภายใต้เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินการบูรณาการกัน เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องหลายกระทรวง จึงต้องมีกลไกในการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน หนุนเสริมกัน เนื่องจากต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
       
       ทางด้านนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ ศาสตราจารย์ โทโมโนริ ฮาเซกาวา (Professor Tomonori Hasegawa) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าทุกประเทศที่มีการพัฒนาระบบสุขภาพ ต้องผ่านช่วงเวลาในการปฏิรูประบบ จากการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไปสู่การเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจนสูงเกิน และจะเกิดการปฏิรูประบบสุขภาพ ในระยะเริ่มต้นจะเน้นเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย ต่อมาจะนำไปสู่ความยั่งยืน การใช้จ่ายอย่างสมเหตุผล มีคุณภาพและความปลอดภัย รวมทั้งการบริหารจัดการ ทั้งนี้ชี้แจงว่า จากประสบการณ์ของญี่ปุ่น แพทย์และบุคลากรวิชาชีพ จะต่อต้านการปฏิรูปและมองการปฏิรูปในเชิงลบ แต่การปฏิรูปมีความจำเป็นและจะต้องทำให้ต่อเนื่อง โดยมีระบบการเมืองมั่นคง และอยู่ยาวพอที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบสุขภาพและการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยิ่งดำเนินการล่าช้า จะยิ่งมีปัญหาอุปสรรคมาก และยิ่งปฏิรูปได้ยากลำบาก

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 พฤษภาคม 2556

6644
สปสช.แจง จนท.ร่วมชุมนุมเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ใช่ท่าที สปสช. หากใครจะไปต้องลาตามระเบียบราชการ
       
       ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่มีข่าวระบุว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่สปสช.จะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มแพทย์ชนบทในวันที่ 6 มิ.ย.ที่จะถึงนี้นั้น สปสช.ขอชี้แจงว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่แต่ละคนที่สามารถดำเนินการและสามารถแสดงออกได้ตามหลักการสิทธิมนุษยชน และไม่เกี่ยวข้องกับท่าทีหรือความคิดเห็นของ สปสช.ในฐานะหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใดทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามหากจะมีเจ้าหน้าที่รายใดไปร่วมชุมนุมก็ต้องดำเนินการขออนุญาตลาราชการจากผู้บังคับบัญชาตามระเบียบ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 พฤษภาคม 2556

6645
ล้างแค้นทันควัน โจ๋กระหน่ำแทงอริดับคา รพ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ดับ 1 ศพ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่และญาติคนไข้ หลังดวลปืนพ่าย รวมตาย 2 สาหัส 1 ราย...

เมื่อเวลา 01.30 น. วันที่ 21 พ.ค. 56 ร.ต.ท.ธีรพัฒน์ เจริญฤทธิ์ พนักงานสอบสวนฯ สภ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ได้รับแจ้งเหตุฆ่ากันใน รพ.ย่านตาขาว มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บสาหัส อีก 1 ราย จึงรุดไปสอบสวน พร้อมด้วย พ.ต.อ.บุญยงค์ ภู่จิรเกษม ผกก. และ พ.ต.ท.บัญญัติ วงษ์สุวรรณ รอง ผกก.สส.

ที่เกิดเหตุที่บริเวณพื้นห้องโถงหน้าห้องรับบัตรคนไข้ พบศพ นายสมศักดิ์ หรือ "เขียด" ตาเตะ อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 204 ม.7 บ้านทับจาก ต.ทุ่งกระบือ นอนหงายเสียชีวิต ไม่สวมเสื้อ นุ่งกางเกงยีนส์ขายาว ตามร่างกายมีบาดแผลถูกทุบด้วยของแข็งที่ศีรษะ หน้าอก และแขนขวาถูกแทงด้วยมีดปลายแหลมเป็นรูพรุนกว่า 20 รู นอกจากนี้ ภายในห้องฉุกเฉิน ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย ทราบชื่อคือ นายบุญเลิศ พันธรักษ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบขนาด เข้าด้านหลัง 3 นัด กระสุนฝังใน นอกจากนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บสาหัส 2 ราย คือ นายปิยะพงศ์ หรือ "เบิร์ด" พันธรักษ์ อายุ 27 ปี บุตรของนางนิตยา พันธ์รักษ์ ส.ท.หญิง เทศบาลตำบลทุ่งกระบือ และนายกิตติกร หรือ "อู๊ด" ขาวคง อายุ 27 ปี ถูกยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดเข้าที่ด้านหลังเช่นกัน ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาจนพ้นขีดอันตราย ก่อนนำตัวส่งไปรักษาต่อยัง รพ.ตรัง

จาการสอบสวน นายวุฒิชัย เส็มไข อายุ 28 ปี อาชีพรับจ้างเป็นคนงานเฝ้าบ่อกุ้ง และเป็นเพื่อนกับนายสมศักดิ์ ผู้ตาย ให้การว่า ตนยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากเรื่องใด โดยนายกิตติกรได้โทรศัพท์ไปท้ายิงกับนายสมศักดิ์ ก่อนจะนัดมาดวลกันที่บริเวณถนนบ้านนานิน-ทับจาก ม.7 ต.ทุ่งกระบือ เมื่อเวลาประมาณ 01 .00 น.คืนเดียวกัน พอเผชิญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างก็ควักอาวุธปืนพกออกมายิงใส่กัน จนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากนั้นตนก็ได้ขี่รถ จยย.นำตัวนายสมศักดิ์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บมาส่งโรงพยาบาล โดยเห็นว่ากลุ่มคู่อริที่เพิ่งดวลปืนกันมาก็พาคนเจ็บมารักษาที่นี่เช่นกัน

ทั้งนี้ ระหว่างที่กำลังจะเข้าพบหมอ ก็มีชายคนหนึ่ง ทราบเพียงชื่อเล่นว่า "เอ" เป็นน้องชายของนายกิตติกร หรือ อู๊ด ควักมีดปลายแหลมออกมาพุ่งไล่แทงนายสมศักดิ์ทันที จนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและญาติผู้ป่วยที่มารอเฝ้าไข้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้สอบสวนเพิ่มเติม เพื่อนำตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.

ไทยรัฐออนไลน์ 21 พค 2556

หน้า: 1 ... 441 442 [443] 444 445 ... 648