แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 440 441 [442] 443 444 ... 650
6616
ป.ป.ช.มีมติ 8 ต่อ 0 ยกคำร้อง "คุณหญิงสุดารัตน์" และทีม คดีจัดซื้อคอมพิวเตอร์สาธารณสุข 821 ล้าน ชี้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอว่ามีพฤติกรรมบีบขรก.และบริษัทไม่ให้ชนะประมูล "วิชัย" ปลัดสธ.ก็รอดด้วย พร้อมมติ 5 ต่อ 3 ชี้กก.พิจารณาผลประกวดราคาไม่ผิด ส่วนประธานสอบข้อเท็จจริง ถูกเลื่อนพิจารณาไปครั้งหน้า       

       วันนี้ (2 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. นานกว่า 6 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาคดีการกล่าวหา ร้องเรียนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงสาธารณสุข กับพวกรวม 16 คน ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 กรณียกเลิกโครงการประกวดราคาจัดซื้อและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารข้อมูลข่าวสาร ด้านการเงินการคลังและข้อมูลโรงพยาบาล จำนวน 818 แห่งทั่วประเทศ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2547 โดยที่ประชุม โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 8 เสียง ให้ยกคำร้อง ในประเด็นการกล่าวหานักการเมืองที่ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณุข นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้ช่วย รมว.สาธารณสุขและนายอุดมเดช รัตนเสถียร เลขานุการ รมว.สาธารณสุขในขณะนั้น เนื่องจากไม่พบว่ามีพฤติกรรมข่มขืนใจและบีบบังคับให้ข้าราชการประจำ กลั่นแกล้งบริษัทกิจการร่วมค้า พีสแควร์ ไทยคอม ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดให้ไม่ไดเป็นผู้ชนะการประกวดราคาในโครงการดังกล่าว โดยจากการไต่สวนพยานบุคคลและเอกสารที่มีการอ้างถึง ข้อเท็จจริงไม่มีน้ำหนักที่จะฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามได้กระทำตามที่มีการกล่าวหาร้องเรียน
       
       นอกจากนี้ ยังมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีกล่าวหา นายวิชัย เทียนถาวร ปลัดกระทรวงขณะนั้นในฐานะผู้อนุมัติยกเลิกการประกวดราคา และมีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 เสียง ว่าการดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ที่ประกอบด้วย นายชาตรี บานชื้น ผู้ตรวจราชการกระทรวง นายสมชาย เชื้อเพชระโสภณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข นายชาญวิทย์ ทระเทพ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ นายเทียม อังสาชน ผอ.รพ.สระบุรี นายวิบูลย์ แสงวีรพันธุ์ศิริ รองศาสตราจารย์ศูนย์คอมพิวเตอร์คณะวิศวกรรมศาศตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชัยเชวง กฤตยาคม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บ.ทศท คอเปอร์เรชั่น จำกัดมหาชน และนายวริทธิ์นันท์ จินดาถาวรกิจ นิติกร 7 กลุ่มกฎหมายสำนักบริหารกลาง ไม่มีมูลควาผิด ให้ยกคำร้อง ทั้งนี้ ในส่วนกรณีการกล่าวหานายพิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการประกวดราคาซื้อและติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ปี 2547 นายจรัญ ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกามควบคุมโรคและรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายบุญเลิศ ลิ้มทองกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุมครั้งต่อไป
       
       อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ให้เหตุผลการยกคำร้องว่า แม้ในการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ครั้งที่ 6 เมื่อ 16 เม.ย. 2547 ได้มีติเรียก บริษัทกิจการร่วมค้าพีสแควร์ ไทยคอม ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยมีคู่แข็งคือบริษัท ไพรม์ลิ้งค์ จำกัด ที่เสนอราคาสูงกว่าแต่ไม่เกินร้อยละ 20 มาต่อรองราคากัน และต่อมาในวันที่ 3 พ.ค. 2547 คณะกรรมชุดดังกล่าว มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อให้ทบทวนการประกวดราคา คณะกรรมการจึงได้มีการประชุมพิจารณาข้อร้องเรียนใน วันที่ 15 มิ.ย. 2547 และมีมติว่า บ.ไพรม์ลิ้งค์ จำกัด มีคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขายดีกว่า คณะกรรมพิจารณาผลการประกวดราคาจึงมีมติเสียงข้างมากเห็นควรจึงเสนอให้ยกเลิกการประกวดราคา ซึ่งการประชุมดังกล่าวที่ประชุม ป.ป.ช พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการประชุมตามระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุและมีเหตุผลที่รับฟังได้ อีกทั้งเป็นไปตามคำวินิจฉัยของอัยการกระทรวงการคลังและศาลปกครองกลาง ที่ระบุว่า ตราบใดที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคายังไม่มีการเสนอใบราคาจัดซื้อจัดจ้างไปยังหัวหน้าส่วนราชการผู้มีอำนาจในการอนุมัติสามารถจะนำกลับมาทบทวนแล้วพิจารณาใหม่ได้ โดยคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาย่อมมีดุลยพินิจพิจารณาทบทวนการดำเนินการของตนเองได้ การไม่รายงานผลการพิจารณา ผลการประกวดราคา จนนำไปสู่การพิจารณาสั่งยกเลิกผลการประกวดราคานั้นตามคำวินิจฉัยของ ศาลปกครองกลาง กระทรวงคลัง กรมอัยการ ก็เห็นตรงกันว่าการยกเลิกสามารถทำได้เป็นการชอบด้วยระเบียบ ตลอดจนมีเหตุผลของการยกเลิก อย่างไรก็ตาม การล่าช้าของคดีนี้เกิดจากผู้ถูกร้องมีการยื่นขอถอดถอนบุลคลในคณะอนุกรรมการชุดแรกที่มีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานพร้อมทั้งยังมีประเด็นปัญหาในเรื่องของเอกสารที่ไม่ตรงกันระหว่างเอกสารที่ ป.ป.ช.ได้มา และเอกสารของผู้ถูกร้องยื่นเพิ่มเติมเข้ามา จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้มติของ ป.ป.ช ในครั้งนี้ถือเป็นการปิดฉากคดีที่มีการกล่าวหา คุณหญิงสุดารัตน์และพวก รวมถึงข้าราชการ 16 คน เป็นเวลากว่า 10 ปี
       
       สำหรับคดีการทุจริตคอมพิวเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกิดขึ้นในสมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ช่วงปี 2547 ซึ่งขณะนั้นเกิดความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายการเมือง คือ คุณหญิงสุดารัตน์กับฝ่ายข้าราชการประจำ ที่นำโดยนายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ที่ถูกคุณหญิงสุดารัตน์สั่งปลด จนเป็นที่มาของการเปิดเผยข้อมูลกล่าวหาว่าต่างฝ่ายต่างเกี่ยวข้องกับการทุจริตการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ดังกล่าว และทำให้เกิดการร้องเรียนมายัง ป.ป.ช.
       
       ทั้งนี้ การประชุม ป.ป.ช.เพื่อชี้มูลเรื่องดังกล่าวเดิมกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. แต่เนื่องจากได้มีการขอคำสั่งจากศาลอาญา และศาลปกครอง กรณีบุคคลในกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหามีการฟ้องร้องกันว่า ต่างฝ่ายต่างให้การเท็จต่อ ป.ป.ช.มาประกอบการพิจารณา ประกอบกับยังมี 2-3 ประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังพิจารณาไม่เป็นที่ยุติ จึงจะนำไปพิจารณาต่อในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 20 มิ.ย.
       
       อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 มิ.ย.ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมซึ่งใช้เวลา 3 ชั่วโมง นายกล้านรงค์เปิดเผยว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาไม่เป็นที่ยุติ จึงมีมติให้นำไปพิจารณาต่อในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ แต่เมื่อถึงวันที่ 25 มิ.ย.ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเลื่อนการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากนายประสาท พงษ์ศิวาภัย หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.ป่วยเป็นโรคนิ่วต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างกะทันหัน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 กรกฎาคม 2556

6617
ธุรกิจสเต็มเซลล์กลายเป็นธุรกิจขายความหวัง-หลอกคนรวย รายหนึ่งเสียเงินไม่ต่ำกว่าล้านบาท แพทยสภายืนยันชัดในประเทศไทยและทั่วโลกรับรองการรักษาได้แค่สเต็มเซลล์จากเลือด โรคอื่นทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ ข้อเข่าเสื่อม กล้ามเนื้อตา เสริมทรวงอก ชะลอความแก่ ฯลฯ ล้วนอยู่ในขั้นทดลอง หมอต้องแจ้งความเสี่ยงทั้งหมดให้ผู้ป่วยรู้ พร้อมทั้งห้ามเก็บเงินค่ารักษาเด็ดขาด วอนประชาชนรู้เท่าทัน ระวัง!ถูกหลอก แจงผู้เดือดร้อนจากการรักษาร้องเรียนแพทยสภาได้แม้เซ็นชื่ออนุญาต เพราะเอกสารสัญญานั้นอาจผิดกฎแพทยสภาอยู่แล้ว
       
       เวลานี้ชัดยิ่งกว่าชัดแล้วว่า ธุรกิจสเต็มเซลล์ในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งทั่วโลกเองตอนนี้มีการรับรองการรักษาแค่สเต็มเซลล์เลือด รักษาเฉพาะโรคเลือดต่างๆ ซึ่งโรคเลือดบางโรคเองก็ยังมีผลการรักษาไม่ 100% ขณะที่สเต็มเซลล์รักษาโรคกระดูกต่างๆ ต้องบอกว่าวงการแพทย์ รวมทั้งผู้ควบคุมกฎดูแลแพทย์อย่างแพทยสภานั้นไม่ได้ให้การยอมรับให้มีการรักษาอย่างถูกกฎหมาย
       
       ยอมให้แค่แพทย์สามารถทำการทดลองวิจัยในผู้ป่วยโรคต่างๆ ได้ แต่ต้องบอกกับคนไข้ตามความเป็นจริงว่าเป็นแค่การทดลอง ซึ่งมีสิทธิที่คนไข้จะเกิดอาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ต่างๆ และต้อง “ไม่มีการเก็บเงิน”!
       
       แต่ปัญหาคือความจริงกลับพบว่า หลายๆ โรงพยาบาล รวมทั้งคลินิกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐบางแห่ง โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่มีการโฆษณาว่ามีการเอาสเต็มเซลล์มารักษาโรคต่างๆ (นอกเหนือจากโรคเลือด) และคลินิกต่างๆ ที่เอาเทคโนโลยีสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาความงาม “ชะลอความแก่” กันทั่วประเทศในขณะนี้ ซึ่งนับๆ แล้วมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการแพทย์นี้มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท
       
       ธุรกิจขนาดใหญ่ ผลประโยชน์มหาศาล!
       
       เขาทำอะไรกันบ้าง?
       
       วงการแพทย์ต่างปท.กดดันไทย-สเต็มเซลล์ผิดกม.
       
       นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา เปิดเผยว่า การรักษาแบบสเต็มเซลล์ในประเทศไทยมีการรักษากันมาหลายปีแล้ว โดยแนวคิดที่ว่าอวัยวะไหนที่เสียไป สามารถใช้สเต็มเซลล์มาปลูกถ่ายขึ้นใหม่เพื่อซ่อมแซมได้ ซึ่งก็มีทั้งโรคที่ทำได้จริงคือโรคเลือดที่ใช้ไขกระดูกต่างๆ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มีการรักษาอย่างที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ได้แก่การใช้สเต็มเซลล์เข้าไปรักษาโรคกระดูก และกล้ามเนื้อต่างๆ ซึ่งแต่เดิมแพทยสภายังไม่ได้เข้ามาควบคุม ทำให้หลายโรงพยาบาลมีการรับรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจ, โรคกระดูกข้อเข่าเสื่อม, ชะลอความแก่, เสริมเต้านม ฯลฯ ซึ่งภายหลังพบว่าเกิดเคสที่มีอันตรายต่อชีวิตขึ้นมา รวมกับธุรกิจสเต็มเซลล์ได้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าอันไหนรักษาได้จริง อันไหนไม่มีประโยชน์
       
       จนวงการแพทย์ในประเทศไทยก็เป็นที่รู้กันว่าใครคือคนที่กุมชะตาธุรกิจนี้ ขณะที่วงการแพทย์จากต่างประเทศก็ทำการกดดันไทยในเรื่องนี้มาโดยตลอด
       
       “ไทยถูกโจมตีหนักเลย เพราะก่อนหน้านี้ที่จะมีการควบคุมได้มีโรงพยาบาลนำเรื่องสเต็มเซลล์ไปทำการรักษาให้คนไข้ ทั้งๆ ที่ยังไม่รับรองความปลอดภัยครบ 100% และมีความเสี่ยงว่าเซลล์ที่ฉีดเช่นเดียวกัน เข้าไปอาจไปสร้างเส้นเลือด สร้างกระดูก หรืออาจทำให้เกิดมะเร็งได้อีก”
       
       เหตุดังกล่าวทำให้แพทยสภาไม่สามารถอยู่เฉยกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ จึงออกประกาศควบคุม ในข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่องการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา พ.ศ. 2552 ระบุชัดโดยสรุปว่า ผู้ที่จะปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในคน ยกเว้นโรคทางโลหิตวิทยานั้น จะต้องทำการ
       
       1.รักษาเฉพาะโรคที่มีผลวิจัยรองรับและเป็นที่ยอมรับแล้วว่าเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานและแพทยสภาเห็นชอบเท่านั้น
       
       2.หากจะไปรักษาโรคที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย จะต้องได้รับอนุมัติจาก คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันที่ผู้ทำวิจัยสังกัด และคณะกรรมการวิชาการและจริยธรรมการวิจัยในคนด้านเซลล์ต้นกำเนิดของแพทยสภา
       
       3.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาต้องได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติของแพทยสภาหรือจากสถาบันที่แพทยสภารับรอง
       
       4.ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากแพทยสภาให้สามารถทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาได้
       
       ส่วนใครที่เคยรักษามาก่อนหน้านี้ จะต้องส่งหลักฐานแสดงว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนั้นเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน และใครที่กำลังดำเนินการวิจัยจะต้องส่งโครงร่างการวิจัย เอกสารคู่มือการวิจัย เอกสารรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมจากสถาบันที่ผู้วิจัยสังกัด รวมทั้งเอกสารชี้แจงโครงการวิจัยและเอกสารยินยอมของคนไข้ ฯลฯ มาให้แพทยสภาด้วย
       
       “ก่อนหน้าที่เราจะออกประกาศมีหลายโรงพยาบาลทำอยู่แล้ว บางโรงพยาบาลปลูกถ่ายรักษากล้ามเนื้อหัวใจที่ตายไปให้กลับมาเป็นปกติ มีอยู่โรงพยาบาลหนึ่งทำไป 120 รายแล้ว แต่ความจริงคือในวงการแพทย์ยังไม่ได้ให้การยอมรับ เราโดนต่างประเทศโจมตีเรื่องนี้มากในปี 2550 ว่าเมืองไทยทำไมถึงไม่มีการควบคุม เหมือนหลอกคนของเขามาทำให้ดีขึ้นชั่วคราวแล้วก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเร่งแก้ไข เพราะว่าไทยวางเป้าหมายที่จะเป็น Medical Hub ถ้าทำไม่ดี วันหลังจะเสียชื่อมาก ต้องทำให้เกิดมาตรฐาน”
       
       นี่เป็นเหตุผลที่แพทยสภาต้องตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาเรื่องของสเต็มเซลล์นี้โดยเฉพาะ และโดยเร่งด่วน!

       ธุรกิจขายความหวัง-คนรวยเป็นเหยื่อ
       
       แพทยสภาและวงการแพทย์เองต่างรู้ดีว่า แม้แพทยสภาจะออกประกาศดังกล่าวมา แต่ธุรกิจสเต็มเซลล์ก็ยังอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหาผลประโยชน์มหาศาลได้
       
       “คนป่วยโรคร้ายก็เหมือนชีวิตหมดความหวัง แพทย์ที่ไม่มีจริยธรรมก็รู้จุดนี้ดี บางคนจึงใช้สเต็มเซลล์มาเป็นธุรกิจขายความหวังให้คนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรวยที่มีอำนาจจ่ายเงินได้ไม่อั้น แม้มีความหวังเพียงน้อยนิด คนเหล่านี้ก็พร้อมจะเสี่ยง ถามว่าคนไข้รู้ไหมว่าต้องเสี่ยง เขารู้นะ แต่มันเป็นความหวังเดียวที่จะรอด คือเราไม่รู้ว่าหมอเขาพูดอะไรให้คนไข้ฟัง แล้วคนไข้ยินยอมอย่างไร กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าเคยมีคนไข้ที่มีปัญหาจากการฉีดสเต็มเซลล์แต่ไม่มีใครฟ้องร้อง เมื่อไม่มีใครฟ้องร้องแพทยสภาก็เอาผิดหมอคนนั้นๆ ไม่ได้ จะเข้าไปตรวจสอบรายต่อรายก็เป็นเรื่องยาก”
       
       อีกทั้งคนในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ กำลังเป็นกลุ่มคนที่ถูกตั้งคำถามจากหมู่แพทย์ด้วยกันว่า กำลังทำธุรกิจผลประโยชน์มหาศาลนี้เพื่อหลอกเอาเงินคนรวยโดยเฉพาะ เพราะค่ารักษาต่อหัวตกแล้วอย่างต่ำ คนคนหนึ่งที่จะทำการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้จะต้องจ่ายเป็นหลักล้านบาท
       
       ดังนั้น ธุรกิจสเต็มเซลล์ ก็คือธุรกิจหลอกเงินคนรวย! นายกแพทยสภาย้ำชัดเจน
       
       “ถ้าจะให้ถูกต้อง มันมีหลักเกณฑ์ว่า อันดับแรกหมอต้องบอกคนไข้ว่าการรักษานี้เป็นเพียงการทดลอง เป็นการทำงานวิจัย และสองจะคิดเงินผู้ป่วยไม่ได้ อย่างที่บอกส่วนใหญ่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับคนรวยโดยเฉพาะ เพราะคนกลุ่มนี้มีเงินมาก และพร้อมจะซื้อโอกาสรอด แต่มันไม่ถูก คนไข้เวลาจะต้องตาย หมอบอกว่ามีโอกาสรอด แต่ไม่บอกรอดกี่เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยแทรกซ้อนอะไรบ้าง ไม่ได้บอกทั้งหมด”
       
       3 กลุ่มเกี่ยวข้องสเต็มเซลล์
       
       นพ.สมศักดิ์เปิดเผยว่า ตามรายงานที่ส่งมาให้แพทยสภา จะมีคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้สเต็มเซลล์ในวงการแพทย์ 3 กลุ่ม ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลเอกชน และบริษัทหรือคลินิกสถานบริการสุขภาพต่างๆ
       
       โดยกลุ่มโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลรัฐนั้น มีหลายแห่งที่ทำการปลูกถ่ายเซลล์ให้คนไข้ แต่อยู่ในขั้นตอนของการวิจัย ซึ่งระบุชัดว่าจะต้องบอกรายละเอียดให้คนไข้ทราบว่าเป็นการทดลอง มีหนังสือยินยอม และห้ามเก็บเงินค่ารักษาโดยเด็ดขาด โดยปกติแล้วกลุ่มแพทย์ในโรงพยาบาลแพทย์จะทำการวิจัยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ค่อยทำผิดมาตรฐานทางวิชาการ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีโรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งในต่างจังหวัดมีการเก็บเงินจากผู้ป่วย โดยอ้างว่าผู้ป่วยนั้นเบิกค่ารักษาจากกรมบัญชีกลางได้ ดังนั้นจึงไม่ได้เก็บเงินจากผู้ป่วยโดยตรง แต่เป็นรัฐจ่ายให้ ซึ่งในส่วนนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดอยู่ ทางแพทยสภากำลังดำเนินการให้มีการแก้ไขปัญหานี้
       
       สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีการนำเอาเรื่องสเต็มเซลล์ไปโฆษณารักษาโรคนั้น มีส่วนหนึ่งก็เกิดจากแพทย์โรงพยาบาลรัฐบางคนได้นำเอาโครงการวิจัยสเต็มเซลล์ไปร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เพื่อทำการวิจัยรักษาคนไข้ แต่ในรายละเอียดแล้ว ไม่ทราบแน่ชัดว่าแพทย์ได้แจ้งกับคนไข้ถึงความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด รวมกระทั่งว่าได้แจ้งหรือไม่ว่าเป็นเพียงขั้นตอนของการทดลอง และต้องไม่มีการเก็บเงิน
       
       ส่วนกลุ่มคลินิกหรือสถานบริการต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ได้นำสเต็มเซลล์มาใช้ในเรื่องของการชะลอความแก่เป็นหลัก รวมทั้งมีบางส่วนตั้งเป็นบริษัทเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ใช้รักษาตัวเองด้วย
       
       จะเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจสเต็มเซลล์ทุกวันนี้ถูกจำแนกออกเป็นในเรื่องของการรักษา และการเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ใช้ในอนาคต
       
       โดยกลุ่มธุรกิจฟากรักษาก็จะมีการรักษาโรคร้ายต่างๆ ด้วยการทำลายเซลล์ที่มีปัญหาออกไป แล้วปลูกถ่ายเซลล์ใหม่เข้ามา กลุ่มนี้คนที่ไปหาประโยชน์จากการโฆษณาสเต็มเซลล์เกินจริง จึงเอาความหวังของคนที่เป็นโรคร้ายมาหาผลประโยชน์จากคนเหล่านั้น
       
       นายกแพทยสภาบอกว่า แพทย์กลุ่มนี้ผิดจรรยาบรรณแพทย์อย่างรุนแรง แต่คนที่ทำเขาก็ไม่แคร์ เพราะว่าได้เงินมหาศาลมาก ขณะที่เวลาทำการโฆษณาก็ให้คนอื่นเป็นคนโฆษณา แพทยสภาก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะแพทยสภามีหน้าที่ควบคุมจริยธรรมของแพทย์เท่านั้น

       เสริมนม-ชะลอความแก่ ระวัง!มะเร็ง
       
       ขณะที่กลุ่มธุรกิจความงาม ฉีดสเต็มเซลล์เพื่อชะลอความแก่ที่ขณะนี้มีการให้บริการอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังมีผู้ที่เชื่อว่าการฉีดสเต็มเซลล์จะทำให้เต้านมใหญ่ขึ้นได้ ที่ผ่านมาก็มีคนฉีดสเต็มเซลล์เพื่อเสริมเต้านม โดยไม่รู้ว่าที่จริงแล้วมีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกและมะเร็งได้ ที่สำคัญเต้านมทั้ง 2 ข้างก็อาจจะไม่เท่ากัน
       
       อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจเก็บสเต็มเซลล์นั้น จะเป็นการขายความเชื่อ โดยให้คนที่มีเงินเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ใช้ในอนาคต ซึ่งถามว่าอนาคตนั้นมีสิทธิที่วิทยาการการแพทย์ในด้านสเต็มเซลล์จะก้าวหน้าหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามี แต่ก็ใช่ว่าจะจำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์ของตัวเอง อย่างโรคมะเร็ง ก็จำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์ที่ไม่ใช่ของตัวเอง เพราะเกรงว่าเลือดจะเจือปนเชื้อมะเร็งอยู่ เป็นต้น อีกทั้งเทคโนโลยีการเพาะเซลล์ก็สามารถทำได้ในเทคโนโลยีที่มีอยู่ ไม่ยากที่จะเพาะเซลล์ขึ้นมาใหม่ จึงไม่จำเป็นต้องเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเองไว้ใช้ในอนาคตยาวถึง 20 ปี
       
       “ที่พบมากคือ มีการโฆษณาเกินจริง มันไม่มีประโยชน์ ประเทศสหรัฐอเมริกามีการตีพิมพ์งานวิจัยระบุชัดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเก็บสเต็มเซลล์ของตัวเราเองไว้ใช้ในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่แพทยสภาก็ไม่ได้ไปเอาผิด เพราะถือเป็นธุรกิจที่เอาสเต็มเซลล์มาเก็บเฉยๆ ไม่ได้ทำร้ายมนุษย์ แต่มันไม่จำเป็นต้องเก็บ เพราะจริงๆ เก็บไปก็ไม่ได้ใช้”
       
       ดังนั้น เวลานี้ในประเทศไทยและแทบทุกประเทศทั่วโลกรับรองการใช้วิทยาการแพทย์มารักษาโรคด้วยการใช้สเต็มเซลล์เพียงโรคที่เกี่ยวกับโรคเลือดเท่านั้น
       
       โรคทางกระดูก กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อตา ข้อเข่า เต้านม มะเร็งที่ไม่ใช่มะเร็งในเม็ดเลือด รวมทั้งการฉีดสเต็มเซลล์เพื่อความงาม ชะลอความแก่ทั้งหลาย
       
       ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนยังไม่มีการรับรองความปลอดภัย!
       
       คนไข้ต้องรู้เท่าทัน-ร้องเรียนแพทยสภาได้ทันที
       
       นายกแพทยสภายอมรับอย่างหนักใจว่าแพทยสภาเองก็รู้ว่าแพทย์คนใด กลุ่มใด โรงพยาบาลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่สามารถเอาผิดกับแพทย์ หรือโรงพยาบาลที่โฆษณาเกินจริงได้ เพราะเขาอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายแพทยสภาให้คนอื่นที่ไม่ใช่แพทย์เป็นผู้โฆษณา อีกทั้งที่สำคัญหากไม่มีคนไข้ หรือญาติคนใดกล้ามาร้องเรียนกับแพทยสภา การเอาผิดแพทย์ที่ผิดจรรยาบรรณจึงดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่การควบคุมของแพทยสภาจะเข้าไปถึง
       
       ที่สำคัญแพทย์บางคนก็ให้คนไข้เซ็นสัญญาว่าจะไม่มีการเอาผิดหรือฟ้องร้องแพทย์หากเกิดปัญหาใดๆ ตามมา ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว นายกแพทยสภาย้ำว่าข้อสัญญาที่แพทย์ให้คนไข้เซ็นชื่อไว้นั้นอาจไม่ตรงกับกฎของแพทยสภา เพราะท้ายที่สุดแล้วจะมีแต่ตัวคนไข้ และหมอผู้ทำการรักษาเท่านั้นที่รู้ว่าเอกสารที่เซ็นไป มีเนื้อหาว่าอย่างไร ครอบคลุมกฎของแพทยสภาหรือไม่
       
       ดังนั้น คนไข้หรือญาติที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับแพทยสภาได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนหรือสถานบริการสุขภาพต่างๆ เพราะอาจจะทำให้มีอาการโรคแทรกซ้อน หรือว่าไม่มีโรคแทรกซ้อนแต่มีการเรียกเก็บค่ารักษาในการใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคที่ไม่เกี่ยวกับเลือดได้เช่นกัน
       
       “หากมีคนไข้ ญาติคนไข้ออกมาร้องเรียน กลไกของแพทยสภาจะเข้าไปตรวจสอบ และควบคุมเรื่องนี้ได้ดีขึ้น เพราะข้อเท็จจริงมีคนไข้ที่ฉีดสเต็มเซลล์แล้วเกิดเป็นก้อนเนื้อ ที่สุดพบว่าเป็นมะเร็งไปรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ แต่ไม่ต้องการร้องเรียนเพราะกลัวเสียชื่อเพราะเป็นที่รู้จักในสังคม ทางแพทยสภาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”
       
       นายกแพทยสภายืนยันอีกครั้งว่า ไม่เคยบอกว่าสเต็มเซลล์ไม่ดีกับวงการแพทย์ และสเต็มเซลล์เป็นความหวังให้กับคนไข้ได้จริง แต่ไม่ใช่วันนี้ เพราะประเทศไทยและทั่วโลกยังไม่สามารถรับรองความปลอดภัยของมนุษย์ได้ และอยากบอกคนไข้รวมทั้งญาติคนไข้ทุกคนอย่าไปคิดว่าไหนๆ ก็ต้องตายแล้ว ขอให้มีความหวังรอดสัก 1% จะยอมทุ่มเงินเท่าไรเท่ากัน เพราะว่าความหวังจอมปลอมก็มีคนมาหาประโยชน์ก็เยอะ แทนที่จะดีขึ้น กลับทรุดลงกว่าเดิม!
       
       อย่างไรก็ดี ธุรกิจสเต็มเซลล์ แม้วันนี้แพทยสภาหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทย์ พบว่าธุรกิจนี้มีมูลค่ามหาศาล และอยากจะปกป้องไม่ให้ประชาชนทั่วไปต้องตกเป็นเหยื่อของนวัตกรรมความก้าวหน้าที่มีผู้เกี่ยวข้องทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ แพทย์ และหน่วยราชการของรัฐได้ใช้อำนาจ ความเชื่อ มาหลอกลวงให้คนหลงเชื่อไปใช้บริการก็ตาม
       
       แต่ในความเป็นจริง แพทยสภา หรือบรรดาแพทย์ที่ถือระเบียบจริยธรรม ก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ เพราะคนกลุ่มนี้คือ “มาเฟียธุรกิจสเต็มเซลล์” หากเข้าไปยุ่งอันตรายมาถึงตัวแน่ หรืออาจต้องเผชิญมรสุมเช่นที่ รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เจ้าของ “ฮาร์ท เจเนติกส์” กำลังถูกคุกคามอยู่ก็เป็นได้ (ตอนที่ 5)

ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 กรกฎาคม 2556

6618


นี่ก็ผ่านมา 12 ปีแล้วครับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการสาธารณสุขไทย เห็นแล้วก็อดเขียนบทความเพื่อรำลึกถึงความหลังอันขมขื่น..เอ้ย ...! หวานชื่นไม่ได้ ผมขอเท้าความถึงสมัยก่อนนิดนึงนะครับ ก่อนปี 2544 ประชาชนตาดำ ๆต้อง จ่ายเงินซื้อบัตรสุขภาพปีละ 500 บาทครับ แล้วเวลาที่เกิดเจ็บป่วยไปที่โรงพยาบาล รัฐ ก็แค่ยื่นบัตรให้เจ้าหน้าที่ ส่วนแพทย์ก็มีหน้าที่รักษาไปตามมาตรฐาน ถ้าค่าใช้จ่ายเกินกว่าวงเงิน 500 บาท โรงพยาบาลที่จ่ายไปก่อนก็สามารถทำเรื่องไปเก็บเงินกับกระทรวงสาธารณสุข ได้ตามวงเงินที่ใช้ไปจริง แต่ถ้าคนไหนไม่มีบัตรก็จะต้องจ่ายเงินเองทุกบาทตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง รัฐบาลจึงได้มีแนวคิดที่จะนำเรื่อง “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” เข้ามาใช้ (ปัจจุบันไม่ต้องชำระ 30 บาทแล้ว) โดยให้ประชาชนที่ไม่มีสิทธิ์ทุกคน สามารถมีสิทธิ์ในการรักษาที่เท่าเทียมกัน โดยขึ้นทะเบียนตามเลขบัตรประชาชน ผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ ทำให้ประชาชนที่มีบัตรประชาชนทั้งประเทศ สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ "เกือบจะเท่าเทียมกัน" แต่อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันคงไม่มีจริงในโลกซึ่งเดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นครับ

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ คนส่วนใหญ่น่าจะมีความพึงพอใจกับนโยบายใหม่นี้เพราะรู้สึกว่า ได้รับการให้บริการที่เหมือนจะดีขึ้น แถมยังไม่ต้องจ่ายเงินอีกตะหาก จึงอาจเรียกได้ว่านโยบายนี้เป็นนโยบาย "ประชานิยม" โดยแท้จริง เพราะ “ประชาชนนิยมมาใช้บริการฟรีกันอย่างล้นหลามจริง ๆ” ยังความปลาบปลื้มปิติให้กับผู้ที่ออกนโยบายเป็นอย่างมาก แต่เอ...มันมีมุมมองอื่นหรือมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมาหรือไม่นะ? ตัวผมเองได้มีโอกาสทำงานในฐานะแพทย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ที่ได้สัมผัสกับทั้ง 2 ระบบ ผมเองมีความคิดเห็นส่วนตัวว่า มันแตกต่างกันครับ แตกต่างกันอย่างมากถึงมากที่สุดครับ ผมขออนุญาตนำเสนอแนวคิดของผมเองให้ฟังซัก 2 ประเด็นนะครับ ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการการใช้เงินบำรุงและเงินประกันสุขภาพของโรงพยาบาล และเป็นคนที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์ การตลาดและบัญชีมาแบบงู ๆ ปลาๆ ซึ่งกว่าจะจบปริญญาโทมาได้ก็แทบแย่.... ขอย้ำนะครับว่าความคิดเห็นของผมคนเดียว และเรื่องที่ผมนำมาเล่ามันกลายได้เป็นอดีตไปแล้ว เพียงแต่อาจจะมีเศษเสี้ยวของความจริงที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผมอยากนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้ทั้งข้อดีข้อเสียของอดีตที่ผ่านมาจะได้เก็บไว้พัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพราะฉะนั้นฟังหูไว้หูและที่สำคัญพยายามทำใจเป็นกลางโดยปราศจากอคติในการอ่านข้อความต่อจากนี้นะครับ

เรามาเริ่มประเด็นแรกกันเลยครับ ผมว่าเริ่มจากภาพใหญ่ ๆ ก่อนดีกว่า เหมือนกับที่เราเริ่มเรียนหนังสือในแนวกว้างโดยดูภาพรวมแล้วค่อยลงรายละเอียดมากขึ้นนะครับ สมมติว่าถ้าผมเป็นเจ้าของเงิน 60,000 ล้านบาท เอาไว้ใช้จ่ายในการรักษาคนในประเทศหนึ่ง ซัก 60 ล้านคน กะว่าเฉลี่ยใช้เงินคนละ 1,000 บาท โดยระบบเดิม (ก่อนปี 2544) ผมให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพตัวเองอีก 500 บาทรวมเป็นคนละ 1,500 บาท รวมแล้วจะมีวงเงินเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาทโดยประมาณ แต่อนิจจังทุกสิ่งย่อมไม่เที่ยงแท้ คนจำนวนมากไม่ยอมควักตังจ่าย เพื่อซื้อบัตรสุขภาพดังที่ผมหวังไว้ แถมคนที่ซื้อก็มักมีแต่พวกที่ป่วยหนัก ๆ เพื่อหวังว่าจะใช้ทฤษฎี "กุ้งฝอยตกปลากระพง" คือลงทุนน้อย ๆ แต่หวังผลตอบแทนเยอะ ๆ เช่น ถ้ามีคนไข้ป้วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ที่ต้องการผ่าตัดซักรายนึง เมื่อผ่าตัดอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ตั้งแต่ 200,000-1,000,000 บาทต่อคน คนไข้กลุ่มนี้ก็จะซื้อบัตรประกันสุขภาพ เพราะเวลารักษาจะจ่ายเงินจริงแค่เพียง 500 บาทเปรียบได้กับจ่ายแค่กุ้งฝอย ส่วนที่เหลืออีกหลายแสนบาท รัฐบาล..เอ๊ย... ผมต้องเป็นคนจ่าย ซึ่งยังไงซะตามนโยบายเดิมตัวผมเองก็คงต้องควักกระเป๋าจ่ายคืนให้กับโรงพยาบาล ที่ออกค่ารักษาล่วงหน้าให้กับคนไข้ไปก่อนตามวงเงินที่เกิดขึ้นจริง โดยคนไข้ไม่ต้องรับภาระแม้ว่าหลาย ๆ รายจะป่วยจากการกระทำของตัวเองก็ตาม (ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่คุมอาหาร) ซึ่งผมมองว่าน่าจะมีคนนำกุ้งฝอยมาตกปลากระพงจำนวนมาก และคาดว่าปลากระพงจะหมดบ่อ เพราะเลี้ยงปลากระพงไว้จำนวนจำกัด (มีงบอยู่แค่ 60,000 ล้านบาท)…

ถ้าอย่างงั้นผมคิดใหม่ทำใหม่ดีกว่า… ผมเอาปลากระพงที่มีทั้งหมดแจกจ่ายให้กับคน 60 ล้านคน ไปก่อนเลย โดยแบ่งให้ตามการกระจายตัวแต่ละพื้นที่ก็แล้วกัน ถ้าหมดแล้วก็หมดเลย ถือว่าช่วยไม่ได้ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐซึ่งทั้งหมดเป็นแพทย์ (ส่วนใหญ่แทบไม่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์หรือบัญชีด้วยซ้ำ) บริหารเงินไม่เป็นเอง พูดง่าย ๆ ว่าถ้า ผอ. โง่ บริหารแล้วเงินหมดโรงพยาบาลก็เป็นความผิดของคนที่บริหารไม่เป็น แต่ถ้าบริหารแล้วบังเอิญมีเงินเหลือก็จะเชิดชูโปรโมทให้เป็นโรงพยาบาลตัวอย่างว่าสามารถบริหารระบบ 30 ให้มีเงินคงคลังเหลือได้ ซึ่งโรงพยาบาลนั้นก็จะกลายเป็นสถานที่ดูงานของ ผอ.ท่านอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะมีแค่ไม่กี่โรงพยาบาลที่สามารถบริหารงานจนมีเงินเหลือ เพราะความเป็นจริงก็คือ "ความเจ็บป่วยของประชาชนกระจายตัวไม่เท่ากัน ในแต่ละพื้นที่ แต่ได้เงินเท่ากันหมด" แล้วมันจะบริหารได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ? (คำตอบข้อนี้ผมว่า ท่าทางจะยาก) แล้วถ้าอย่างงั้นประชาชนจะได้รับบริการที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกันหรือไม่ ? คำตอบคือ “เท่าเทียมกันครับ แต่มาตรฐานต่ำลงเท่าเทียมกันทุกคน” เพราะเดิมรักษาเท่าไหร่ก็เบิกได้ตามวงเงินที่จ่ายจริง สุดท้ายก็เบิกกันจนปลากระพงหมดบ่อ ต้องไปหาปลาที่อื่นมาให้อีกต่างหาก แต่แบบใหม่นี้จำกัดเหลือแค่ปลาในบ่อ แถมมีกฎว่าจะไม่เติมให้อีกแม้ว่าปลาจะหมดบ่อไปแต่ตั้งต้นปีก็ตาม สุดท้ายการรักษาบางอย่างของแพทย์จึงต้องจำกัดเหลือเพียงเท่ากับวงเงินที่มีให้ หรือถ้าค่ารักษาเกินกว่าวงเงินที่จะได้รับ ทางโรงพยาบาลก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายไปเอง ก็แค่นั้นเองครับ

ต้องขอชมเชยว่าคนที่คิดระบบนี้เป็นอัจฉริยะเลยก็ว่าได้ เพราะทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ใกล้เคียงกัน โดยที่ “ตัดเงินค่ารักษาพยาบาลของประชาชนให้เหลือวงเงินที่จำกัด” แถมซ้ำร้ายกว่านั้น “ประชาชนไม่เคยรับรู้ว่าตนเองถูกจำกัดวงเงินในการรักษา” และ “ยังสามารถโยนภาระความผิดมาให้แพทย์ผู้ทำการรักษาที่ตัดสินใจการรักษาคนไข้” โดยอ้างว่า ถ้าแพทย์รักษาไม่เต็มที่
ก็ผิดจรรยาบรรณเพราะไม่รักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ แต่ถ้าค่าใช้จ่ายเกินไปมาก ก็ทำให้ผอ. จะต้องลงมาตักเตือน ว่าแพทย์ทำให้โรงพยาบาลขาดทุน สุดท้ายคนคิดนโยบาย ลอยลำ แถมได้หน้า ประชาชนได้ใจ แพทย์ผู้ปฏิบัติกลายเป็นผู้รับเคราะห์ ไปซะง้ัน ด้วยเหตุนี้และอีกหลาย ๆ เหตุทำให้แพทย์หลาย ๆ คนเปลี่ยนวิถีชีวิต หันไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนกันมากขึ้น เพราะทนโดนด่าว่ารักษาไม่ดีไม่ไหว แถมคนไข้อยากได้ของฟรีมีก็เยอะซะเหลือเกิน จนทำให้ตรวจไม่ทัน แล้วก็โดนร้องเรียนว่าให้บริการช้า สุดท้าย แพทย์ซวยทั้งขึ้นทั้งร่อง ...เห็นมั้ยครับว่าคนคิดนโยบายเก่งมาก แค่ไหน ผมว่าเก่งขั้นเทพเลยครับ

เข้าสู่ประเด็นที่สอง ที่นี้เราลองมาดูเรื่องการส่งตัวผู้ป่วยดูบ้างครับ เดิมทีเวลาส่งตัวผู้ป่วยเราก็แค่เขียนใบส่งตัวให้คนไข้ถือไปโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่สูงกว่า ส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมดโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยไปรักษาก็จะไปเบิกคืนกับรัฐบาลเต็มจำนวน แต่ด้วยระบบใหม่ที่ถือว่าเราแจกจ่ายปลากระพงให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ดังนั้นถ้าโรงพยาบาลของท่านไม่สามารถรักษาคนไข้ได้เพราะ ไม่มีแพทย์หรือไม่มีเครื่องมือก็ตาม “ถ้าท่านส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลไหน ท่านก็ต้องตามไปจ่ายเงินแทนผม เข้าใจมั้ยครับ ผมให้เงินคุณไปแล้ว คุณก็ตามไปจ่ายเองสิ ช่วยไม่ได้อยาก โง่ รักษาคนไข้ไม่ได้เองนะครับ !!! ”

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น งานนี้ผมขอเล่าเหตุการณ์ประมาณ 10 ปีที่แล้วให้ฟังแล้วกันนะครับ โรงพยาบาลที่ผมอยู่มีคนไข้ที่ใช้สิทธิ์ 30 บาทประมาณ 40,000 คน ได้เงินสนับสนุนค่าหัวประมาณไม่ถึง 500 บาทเพราะต้องหักค่าใช้จ่ายจิปาถะ รวมแล้วได้เงินค่ารักษาพยาบาลมา ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี มีคนไข้คนหนึ่งสูบบุหรี่จัดแล้วเกิดเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ สุดท้ายทางโรงพยาบาลก็ส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ได้รับตัวไว้ในโรงพยาบาลพร้อมกับผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจใหั แต่โชคร้ายคนไข้ดันมีโรคแทรกซ้อนเป็นปอดอักเสบติดเชื้อจึงต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น จนสุดท้ายคนไข้กลับบ้านได้ โรงพยาบาลดังกล่าวส่งบิลมาเรียกเก็บกับโรงพยาบาลที่ผมอยู่เท่าไหร่รู้มั้ยครับ ...ค่าใช้จ่าย 1,000,000 กว่า ๆ เท่านั้นเอง ทีนี้ดูนะครับ คนไข้ได้ประโยชน์แน่นอนเพราะเสียแค่ค่ากุ้งฝอย 30 บาท แต่ได้ปลากระพงฟรีมูลค่า 1 ล้านบาท เป็นใครก็ต้องพอใจครับ แต่โรงพยาบาลมีงบประมาณที่ใช้ซื้อยารักษาคนไข้ จำนวน 40,000 คน แค่ 20 ล้านบาท เราเสียให้คน ๆ เดียวไปแล้ว 1 ล้านบาท สุดท้ายเหลือแค่ 19 ล้านบาท ถ้าท่านเป็นผู้บริหารจะยอมจ่ายมั้ยครับ ? จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลที่เราส่งคนไข้ไปเพราะความโง่ของพวกผม ที่ผ่าตัดหัวใจคนไข้ไม่เป็น ? สุดท้ายโรงพยาบาลที่ผมอยู่ตัดสินใจจ่ายให้ครับ สรุปเหตุการณ์ทั้งปี เราจ่ายค่าส่งตัวไปทั้งหมด 20 ล้านบาทครับ อ้าว...งั้นเงินของโรงพยาบาลที่ได้มาก็หมดเลยดิ คำตอบคือ
เงินจากโครงการ 30 บาทหมดจริง ๆ ครับ แต่โรงพยาบาลที่ผมอยู่โชคดีที่มีเงินสนับสนุนจาก กทม.เพราะเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่สังกัด กทม. ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงยังมีเงินเหลือพอซื้อยาให้คนไข้ครับ แต่ผลกระทบจากปีนั้นผมว่า "โดนกันถ้วนหน้า" คล้าย ๆ กับชื่อ "โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ประมาณเนี้ยครับ ผม (แอบ) ทราบมาว่าโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งตัดสินใจไม่ส่งต่อผู้ป่วยครับ เพราะขืนส่งต่อมีหวังปลากระพงหมดคลังโรงพยาบาลแน่นอน เพราะยังไงรัฐบาลก็ไม่มีทางเพิ่มปลากระพงให้อีกแล้ว ทีนี้ลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นนะครับ ผมลองสมมติเหตุการณ์ให้ฟังครับ...

กาลครั้งหนึ่งมีคุณลุงแก่ ๆ มาตรวจด้วยน้ำหนักลดกับไอมาก เอกซเรย์พบก้อนในปอด แพทย์บอกคนไข้ว่า คุณลุงยังมีอาการไม่มาก ลองติดตามดูเอกซเรย์ปอดก่อนซัก 1-2 เดือนนะครับ ถ้าผิดปกติมากขึ้นเดี๋ยวหมอส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่ให้นะ (ในใจคิดว่าแกคงเป็นมะเร็งแน่ ๆ) พอครบ 2 เดือนมาตรวจซ้ำพบก้อนมะเร็งโตขึ้น ก็บอกกับคนไข้ว่า คุณลุงครับหมอสงสัยว่าเป็นมะเร็งปอดแต่ด้วยขนาดก้อนที่ใหญ่ขนาดนี้รักษาไม่ได้แล้ว หมอว่าทำใจเถอะครับ คาดว่าอีกไม่นานจะเสียชีวิต เดี๋ยวหมอนัดมาดูอาการทุกเดือนแล้วกันนะครับ ปรากฏว่าอีก 1 เดือนถัดไปคนไข้ตาย สรุป ไม่ต้องส่งตัว ไม่ต้องเสียค่า CT scan ไม่ต้องจ่ายค่าผ่าตัด ไม่ต้องจ่ายค่ายา รวมแล้วโรงพยาบาลประหยัดค่าใช้จ่ายคนนี้น่าจะเกิน 100,000 บาท ผมแค่ลองยกตัวอย่างให้ดูเล่น ๆ เฉย ๆ นะครับ ถ้าบังเอิญเหตุการณ์แบบนี้ไปตรงกับใครก็คิดซะว่า มันเป็นความบังเอิญแล้วกันนะครับ หมอเค้าทำดีที่สุดแล้วครับ ภายใต้สถานการณ์ในตอนนั้น (ซึ่งก็ไม่ค่อยต่างกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้มากนัก)

ยังไม่จบนะครับผมยังไม่ได้เล่าถึงการแก้ปัญหาของโรงพยาบาลของผมให้ฟังเลย หลังจากปลากระพงหมด เราก็เบิกจ่ายปลากระพงแหล่งใหม่จากงบประมาณของกทม. แต่เราก็ต้องหาวิธีประหยัดให้มากกว่าเดิมครับ โดยการปรับบัญชีรายการยาใหม่ทั้งหมด ให้ราคายาถูกลงจากเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรื่องคุณภาพไม่ต้องพูดถึงครับ เพราะในเมื่อ อย. รับรอง ถ้ายาคุณภาพห่วยก็ช่วยไม่ได้นะครับ เพราะเราซื้อยาที่ถูกที่สุดที่ อย. รับรองแล้ว ถ้ารักษาแล้วไม่หายก็เป็นความซวยของคนไข้เองครับ พวกผมจ่ายยาตามมาตรฐานแล้วนะครับ แต่บังเอิญยามันห่วยเองครับ อย่ามาโทษพวกผมเลย ไปโทษคนตรวจสอบคุณภาพยาดีกว่าครับ ที่ปล่อยให้ยาด้อยคุณภาพออกมาวางจำหน่าย

จากกรณีนี้เองแพทย์จึงต้องระวังการส่งตัวผู้ป่วยโดยไม่เหมาะสม เพราะแค่เพียงคนเดียวที่ส่งตัวแบบ ไม่เหมาะสมอาจมีผลกระทบกับคนไข้อีก 40,000 คนที่ต้องดูแลได้ ดังนั้นประชาชนตาดำ ๆ ก็ต้องทำใจนะครับ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกผมต้องบริหารยา บริหารเงิน บริหารคนและบริหารการส่งตัวให้เหมาะสม เพื่อคนหมู่มากจะได้รับการรักษาที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดนะครับ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของประชาชนตาดำ ๆ ก็ควรหัดดูแลสุขภาพตัวเองบ้างก็ดีนะครับ ไม่ใช่สักแต่ว่ากินเหล้าสูบบุหรี่ ถึงเวลาป่วยก็มาขอรับยาฟรี กลับไปก็ทำตัวแย่ ๆ เหมือน ๆ เดิม ประเทศชาติมันคงจะเจริญหรอกครับ

Ukris Utensute
1 กค 2556

6619
พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาด (Hellfire Pass Museum) ของไทยที่ จ.กาญจนบุรี เป็นพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับคะแนนโหวตจากท่องเที่ยวทั่วโลก ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ดีที่สุดแห่งหนึ่งในย่านเอเชีย โดยอยู่ในอันดับ 10 จากทั้งหมด 25 แห่ง ในการจัดอันดับโดย TripAdviser.Com เว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
       
       จากผลการโหวตของนักท่องเที่ยว “นับล้านคน” จากทั่วโลก พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดได้คะแนนมากเป็นอันดับ 4 ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ตูลสะแลง (Toul Sleng) กรุงพนมเปญ กัมพูชาซึ่งอยู่ในอันดับ 3 ของเอเชีย พิพิธภัณฑ์สงคราม (War Remnants Museum) นครโฮจิมินห์ เวียดนาม (5) กับ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ (Museum of Ethnology) กรุงฮานอย (6) เวียดนาม
       
       ในเวียดนามยังมีพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งเป็นแห่งที่สามที่ติดอันดับเอเชีย ซึ่งได้แก่พิพิธภัณฑ์สตรีเวียดนาม (Vietnam Women's Museum) กรุงฮานอย (11)
       
       พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาด สร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับกองทัพไทย เพื่อรำลึกถึงเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตจากการถูกกองทัพญี่ปุ่นบังคับให้ทำงานหนักก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่ตัดผ่านช่องเขาบริเวณช่องเขาแห่งนี้
       
       เชลยศึกนับหมื่นคนถูกบังคับให้สกัดหรือตัดหินด้วยเครื่องมือง่ายๆ ที่พอจะหาได้ในยามนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนในบริเวณช่องเขาขาด ด้วยสาเหตุจากการถูกบังคับให้ทำงานหนัก อดอยาก ล้มป่วย รวมทั้งถูกทรมาน กลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดเป็นเชลยศึกชาวออสเตรเลีย
       
       พิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ในเขต อ.ไทรโยค อยู่ห่างจากน้ำตกไทรโยกน้อยราว 18 กิโลเมตรโดยแยกจากทางหลวงสายหลัก ทั้งไทยและพม่าในยุคใหม่มีแผนการฟื้นฟูเส้นทางรถไฟสายมรณะให้กลับคืนมาใช้การได้อีกครั้งหนึ่ง แต่คาดกันว่าจะไม่ตัดผ่านบริเวณช่องเขาขาดแห่งนี้
       
       พิพิธภัณฑ์มีทั้งบริเวณกลางแจ้งที่แสดงเศษสิ่งของเหลือใช้ของทหาร มีแผ่นจารึกรำลึกถึงผู้เสียชีวิต กับส่วนที่อยู่ในอาคารซึ่งวางแสดงเรื่องราวต่างๆ ประกอบแสงและเสียง ปัจจุบันกลายเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งสามารถใช้เวลาเที่ยวชมน้ำตก สถานที่อื่นๆอีกหลายแห่ง รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดได้ในวันเดียว
       
       อันดับ 1 ในเอเชียได้แก่พิพิธภัณฑ์เทอร์ราค็อตตา (ทหารกับม้าที่ปั้นจากดินเหนียว) ในเมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และอันดับ 2 ได้แก่เขตเมืองต้องห้าม (Forbidden City) ในบริเวณพระราชวังเก่า กรุงปักกิ่ง และอันดับ 4 คือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งสันติภาพ เมืองฮิโรชิมา ญี่ปุ่น
       
       ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังพิพิธภัณฑ์สถานในสิงคโปร์อีก 3 แห่งติดอันดับเอเชียซึ่งได้แก่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย (Asian Civilizations Museum) ในอันดับ 12 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ (National Museum of Singapore) อันดับ 16 และพิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี (Changi Chapel and Museum) อันดับ 17
       
       อีก 2 แห่งอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งได้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม กรุงกัวลาลัมเปอร์ อันดับ 13 และพิพิธภัณฑ์ปีนังเปรานากัน (Pinang Peranakan Museum) ที่จอร์จทาวน์ (Georgetown) อันดับ 20
       .
       
อันดับ   
สถานที่-ที่ตั้ง
1.   พิพิธภัณฑ์เทอร์ราค็อตตา นครซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
2.   เมืองต้องห้าม กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
3.   พิพิธภัณฑ์ตูลสะแลง กรุงพนมเปญ กัมพูชา
4.   พิพิธภัณฑ์รำลึกสันติภาพ ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น
5.   พิพิธภัณฑ์สงคราม นครโฮจิมินห์ เวียดนาม
6.   พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ กรุงฮานอย เวียดนาม
7.   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน
8.   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครไทเป ไต้หวัน
9.   พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
10.   พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด จ.กาญจนบุรี ประเทศไทย
11.   พิพิธภัณฑ์สตรีเวียดนาม กรุงฮานอย เวียดนาม
12.   พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย สิงคโปร์
13.   พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
14.   พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลี กรุงโซล เกาหลีใต้
15.   พิพิธภัณฑ์ระเบิดอะตอมนางาซากิ นางาซากิ ญี่ปุ่น
16.   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ สิงคโปร์
17.   โบสถ์ชางงีและพิพิธภัณฑ์ สิงคโปร์
18.   พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ส่านซี นครซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
19.   พิพิธภัณฑ์โบราณคดีมาเตนาดารัน กรุงเยราวัน อาร์มีเนีย
20.   พิพิธภัณฑ์ปีนังเปรานากัน จอร์จทาวน์ มาเลเซีย
21.   พิพิธภัณฑ์ภวัณคานธี มุมไบ อินเดีย
22.   พิพิธภัณฑ์ซาลาร์จุง ไฮเดราบัด อินเดีย
23.   พิพิธภัณฑ์โรงละครพื้นเมืองแห่งเคราลา โคจิ อินเดีย
24.   พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งฮาโคเนะ ฮาโคเนะ-มาชิ ญี่ปุ่น
25.   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว ตาอิโต ญี่ปุ่น

พิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ที่ติดใน 25 อันดับ อยู่ในฮ่องกง ไต้หวัน นครเซี่ยงไฮ้ เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น กับอีก 1 แห่งในประเทศอาร์เมนี ในเอเชียกลาง
       
       สำหรับพิพิธภัณฑ์สงครามในโฮจิมินห์ก่อตั้งขึ้นในเดือน ก.ย.2518 โดยใช้ชื่อว่า "ห้องแสดงอาชญากรรมสงครามอเมริกากับพวกลูกสมุนหุ่นเชิด" ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในปี 2538 และยังเป็นสมาชิกสภาพิพิธภัณฑ์โลก (Council of the World Museum - ICOM) อีกด้วย
       
       ภายในมีเอกสาร ภาพยนตร์กับวัตถุต่างๆ จากครั้งสงครามวางแสดงกว่า 20,000 ชิ้น รายงานอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในนครโฮจิมินห์แห่งนี้ปีละประมาณ 500,000 คน
       
       เว็บไซต์ทริปแอดไวเซอร์กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในกรุงฮานอยในขณะเดียวกันว่า เป็นสถานที่ผู้ไปเที่ยวชมได้ความรู้ ความเพลิดเพลินกับประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า"
       
       พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ของเวียดนามเปิดให้บริการในเดือน พ.ย.2540 ภายในวางแสดงวัตถุเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมของ 54 ชนชาติในเวียดนาม รวมจำนวนกว่า 15,000 ชิ้น เอกสารต่างๆ อีกกว่า 42,000 ชุด มีทั้งห้องแสดงกลางแจ้งและในอาคาร เป็นปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่ง ทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวเวียดนามเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
       
       สำหรับพิพิธภัณฑ์สตรีนับเป็นสิ่งที่หาชมได้ยาก ภายในวางแสดงรูปภาพและวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวกับสตรีเวียดนามทั้งในประวัติศาสตร์และในยุคปัจจุบัน รวมทั้งการแต่งกายตามยุคสมัยต่าง สร้างขึ้นเพื่อยกย่องสตรีเวียดนามที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษ ในสงครามเพื่อเอกราชจากฝรั่งเศสกับสงครามต่อต้านสหรัฐ.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 มิถุนายน 2556

6620
สปสช.ฟุ้งลดคิวผ่าตัดตาต้อกระจก จากต้องรอข้ามปีเหลือไม่เกิน 3 เดือน หลังจับมือ สธ.ใช้แนวทางจัดการโรคเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2549 ช่วยให้แต่ละปีมีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดกว่าแสนราย จำนวนผู้ป่วยเข้าผ่าตัดเพิ่มทุกปี
       
       นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคตาต้อกระจกรายใหม่ 60,000 คน ขณะที่มีผู้ป่วยสะสมรอรับการผ่าตัดกว่า 100,000 คน หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ตัวเลขผู้ป่วยสะสมจะเพิ่มมากขึ้น และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สูงอายุและครอบครัว สปสช.จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใช้แนวทางการบริหารจัดการโรคเฉพาะ เริ่มตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยสนับสนุนการผ่าตัดแก่ผู้ป่วยต้อกระจกอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทั้งในโรงพยาบาลและหน่วยผ่าตัดต้อกระจกในโครงการผ่าตัดต้อกระจกเชิงรุก มีการกำหนดแนวทางการชดเชยที่เหมาะสมชัดเจนแก่โรงพยาบาลที่ให้บริการรักษา ซึ่งเป็นการใช้การบริหารจัดการร่วมกับกลไกทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้โรงพยาบาลในการผ่าตัดตาต้อกระจกให้ผู้ป่วย
       
       “วิธีนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจ ทำให้ผู้ป่วยโรคตาต้อกระจกในประเทศไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น ลดการรอคิว ลดจำนวนผู้ป่วยสะสม และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนไทย ผลการดำเนินงาน มีผู้ได้รับการผ่าตัดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 100,000 ราย โดยล่าสุดในปี 2555 มีผู้ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกและการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม 141,574 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 142 จากเป้าหมาย 100,000 ครั้ง” เลขาธิการ สปสช.กล่าว
       
       นพ.วินัย กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล กรณี “ไม่ต้องรอรักษานาน” ในโรคต้อกระจก ที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ สามารถได้รับการผ่าตัดภายใน 90 วัน ผลการดำเนินงานพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 87 ได้รับการผ่าตัดภายใน 90 วัน ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และที่เหลือร้อยละ 13 ได้รับการผ่าตัดภายใน 38 วัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จากความร่วมมือกันระหว่าง สปสช. สธ.และโรงพยาบาลในสังกัดต่างๆ สามารถทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการผ่าตัดได้บรรลุตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ ลดการรอคิวจากเดิม 6 เดือน-1 ปี เป็นไม่เกิน 3 เดือน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 มิถุนายน 2556

6621
สธ.ออกระเบียบไฟเขียว อสม.เจาะเลือดปลายนิ้วตรวจเบาหวานได้ เปิดกว้างให้ทุกจังหวัดจัดซื้ออุปกรณ์สนับสนุนการทำงาน อสม.13 รายการ
       
       นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดสรรงบประมาณของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจัดซื้อเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา เพื่อสนับสนุนแก่อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.ในการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาโรคเบาหวานในประเทศ จังหวัดละ 2 ล้านบาท ว่า ภายหลังที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆ นี้ มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพไปทบทวนความจำเป็นและระเบียบรองรับการปฏิบัติงานของ อสม.ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้ไปหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข เห็นตรงกันว่า โรคเบาหวานยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ และมีแนวโน้มเกิดในผู้อายุน้อยลง กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ปรับระบบการเฝ้าระวังจากเดิมในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไปเป็นตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมีประมาณ 45 ล้านคนเพื่อป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ ขณะเดียวกัน ได้จัดอบรม อสม.ให้เป็น อสม.เชี่ยวชาญเบาหวาน จำนวน 8 หมื่นคน สนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาศักยภาพให้ อสม.เป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน เพราะฉะนั้น สมควรสนับสนุนเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของ อสม.ด้วย

       รองปลัด สธ.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามในระเบียบกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ เพื่อให้ อสม.ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งผ่านการรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์และแพทยสภา สามารถเจาะเลือดฝอยจากปลายนิ้วและตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก สธ.ภายใต้การควบคุมดูแลและการควบคุมคุณภาพของนักเทคนิคการแพทย์หรือแพทย์ มีผลใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป ดังนั้นจากนี้ไป อสม.ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
       
       นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ส่งหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ให้พิจารณาจัดซื้อชุดตรวจน้ำตาลในเลือดชนิดพกพา หรือแผ่นตรวจน้ำตาลในเลือดได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสมของพื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่มีชุดตรวจน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว ก็เปิดกว้างให้สามารถจัดหาอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นซึ่งมี 13 รายการ ได้แก่
1.ชุดตรวจน้ำตาลในเลือด
2.เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอล
3.กระเป๋าใส่เครื่องมือ
4.เครื่องชั่งน้ำหนัก
5.ปรอทวัดไข้
6.เทปวัดรอบเอวหรือชนิดที่สามารถเทียบค่าดัชนีมวลกายได้
7.เทปหรืออุปกรณ์วัดส่วนสูง
8.แผ่นวัดสายตา
9.กรรไกร
10.ถุงมือ หรือหน้ากากอนามัย
11.ชุดอุปกรณ์ทำแผลเบื้องต้น
12.โทรโข่งหรือเครื่องขยายเสียงชนิดพกพา และ
13.แผ่นตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ
โดยปลัดกระทรวงได้กำชับให้ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.และ อสม.มีส่วนร่วมในการพิจารณาจัดซื้อ และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุโดยเคร่งครัดต่อไป และรายงานความคืบหน้าต่อไป

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 มิถุนายน 2556

6622
 ผศ.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เตือน-ธุรกิจหลอกลวงสเต็มเซลล์มากขึ้นเรื่อยๆ อยากที่จะทำให้คนไทยมีความรู้เรื่องสเต็มเซลล์ที่ถูกต้อง เพื่อไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของนักธุรกิจเสื้อกาวน์ได้ง่ายๆ   ขณะเดียวกันเป็นการพัฒนาวิธีการรักษาโรคใหม่จากเทคโนโลยีสเต็มเซลล์มีความเป็นไปได้จริงแต่ยังไม่ใช่ในปัจจุบัน ที่มีข่าวใช้กันแพร่หลายในสังคมไทยตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นใช้ต้านวัยชรา ใช้เสริมความงาม ไปจนถึงรักษาโรคเรื้อรังที่ไม่มีทางหายเช่น อัมพาตร ไตวาย สมองเสื่อม นั้นเป็นการเกาะกระแสความดังระดับโลกของงานวิจัยสเต็มเซลล์ในหลอดทดลองซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วใน 10 ปีที่ผ่านมา นำมาหาผลประโยชน์ โดยที่ยังไม่มีข้อมูลหรือแม้แต่หลักการทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน นำมาหลอกลวงขายในราคาแพงมากทั้งที่บางครั้งอาจเป็นเพียงการฉีดน้ำเปล่าหรือเซลล์ที่ไม่ใช่สเต็มเซลล์ มีการให้ข้อมูลต่อคนไข้ที่ไม่ถูกต้อง และไม่แจ้งถึงผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้  ทำให้เกิดความเชื่อผิดๆว่าสเต็มเซลล์เป็นเซลล์วิเศษเป็นโรคอะไรฉีดเข้าไปก็รักษาได้
       
       
       จริงๆแล้ว สเต้มเซลล์มีหลายชนิดแต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่แหมือนกัน สำหรับวงการแพทย์ทั่วโลกการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่เป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับว่าได้ผลจริงในปัจจุบันนับแค่การใช้สเต็มเซลล์จากระบบเลือดรักษาโรคเลือดต่างๆ เท่านั้น การใช้สเต็มเซลล์โรคเช่นข้อเข่าเสื่อม-กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด—เชื่อมกระดูกยังเป็นระดับการทดลอง มีที่ได้ผลเล็กน้อยบ้างแต่ยังไม่ได้ผลน่าพอใจจนเป็นการรักษามาตรฐาน ส่วนอื่นๆเช่นโรคสมอง ฉีดรกแกะ ชะลอความแก่ ลดความเหี่ยวย่น กล่าวได้ว่ายังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่น่าเชื่อถือแม้ในระดับสัตว์ทดลอง
       
       
       Stem cell “สเต็มเซลล์” แสงสว่างของผู้ป่วยที่แฝงด้วยมุมมืด!
       
       กว่า 10 ปีมาแล้วที่ชื่อของ “สเต็มเซลล์” ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างมากในวงการแพทย์ถึงนวัตกรรมการรักษาที่ก้าวหน้า และในหมู่ประชาชนเอง “สเต็มเซลล์” ก็กลายเป็น “ความหวัง” สำคัญสำหรับผู้ที่กำลังประสบภาวะโรคร้ายแรง รักษาไม่หายขาด รวมทั้งครอบครัวของผู้ป่วยเหล่านั้น จนกระทั่งแพทยสภาประกาศว่าการใช้สเต็มเซลล์ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายเมื่อหลายปีก่อน หลายคนรู้สึกว่าแพทยสภาล้าหลัง ไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งๆ ที่มีความหวัง แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะเรื่อง “สเต็มเซลล์” ยังไม่ได้มีผลวิจัยที่ระบุอย่างชัดเจนว่าปลอดภัยต่อผู้ป่วย แต่ธุรกิจทางการแพทย์ต่างๆ ได้เตรียมจับจ้องเอาชื่อของ “สเต็มเซลล์” หารายได้กันอย่างไม่แคร์จริยธรรมเป็นดอกเห็ด
       
                 
       ปัจจุบัน ผศ.นพ.นิพัญจน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยสเต็มเซลล์ (Stem Cell and Cell Therapy Research Unit) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย!
       
       ผศ.นพ.นิพัญจน์เล่าว่า สเต็มเซลล์ในประเทศไทยเวลานี้หากหมายถึงเรื่องนวัตกรรมทางการแพทย์แล้ว สเต็มเซลล์ก็เป็นความหวังสำคัญสำหรับแพทย์ และผู้ป่วย ในการรักษาโรคร้ายต่างๆ มากมาย แต่ก็ต้องเข้าใจว่าขณะนี้การใช้สเต็มเซลล์มารักษาทางการแพทย์ในประเทศไทย และแม้แต่ในต่างประเทศเองนั้น มีการรับรองการใช้แค่รักษาโรคที่เกี่ยวกับโรคเลือดต่างๆ เพราะผ่านการวิจัยมาแล้วว่าปลอดภัยพอสำหรับมนุษย์ แต่การนำสเต็มเซลล์มารักษาโรคอื่นนั้น ยังเป็นเพียงการอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง หรือการทำวิจัยเท่านั้น
       
       หมอนิพัญจน์ยืนยันว่าไม่มีโรงพยาบาลใดทั้งรัฐบาล และเอกชนที่ได้รับการรับรองการรักษาโรคต่างๆ ที่ไม่ใช่โรคเลือดเลยแม้แต่โรงพยาบาลเดียว
       
       ดังนั้น ที่เห็นโฆษณาว่า รพ.นี้มีการใช้สเต็มเซลล์ หรือบางแห่งเลี่ยงบาลีด้วยการใช้คำว่า เซลล์บำบัด มารักษาคนไข้ได้ เห็นผลอย่างนั้นอย่างนี้ ถือว่าเป็นการโฆษณาที่เข้าข่ายหลอกลวง!
       
       ถึงวันนี้คนไข้ทุกคนต้องรู้ตัวว่ากำลังถูกหลอก เพราะทุกโรงพยาบาลนำสเต็มเซลล์มารักษาได้เฉพาะในขั้นตอนของการทดลองวิจัย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิต ดังนั้นหากแพทย์โรงพยาบาลไหนรักษาคนไข้ด้วยสเต็มเซลล์ในเวลานี้ จึงไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากคนไข้ได้ เพราะเป็นเพียงการทดลอง แพทย์โรงพยาบาลไหนเรียกเก็บเงินการรักษา จึงถือว่าทำผิดวินัยทางการแพทย์!
       
       
       Cell Therapy จริงหรือหลอก?
       
       อย่างไรก็ดี หลายๆ ประเทศมีการใช้ “ความเชื่อ” ในการรักษาพยาบาลมาอย่างยาวนานด้วย โดยเฉพาะกรณีการรักษาที่เรียกว่า Cell Therapy หรือเซลล์ซ่อมแซมรักษา
       
       ผศ.นพ.นิพัญจน์อธิบายว่า Cell Therapy หรือการใช้เซลล์เพื่อรักษาโรคนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นศาสตร์จริงที่กำลังมีการศึกษาพัฒนา เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูกซึ่งเป็นการรักษามาตรฐานในปัจจุบัน การใช้เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง การใช้ mesenchymal stem cell จากไขกระดูกเพื่อรักษาภาวะภูมิต้านทานจากเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่าย ที่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ยอมรับแต่ยังอยู่ระหว่างการทดลองเพื่อทดสอบพัฒนาประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็มีการใช้คำว่า cell therapy ในสิ่งที่ที่อาจไม่ตรงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แต่มาจากความเชื่อ เช่นเชื่อว่าร่างกายเซลล์ชนิดใดเสียก็ฉีดเซลล์ชนิดนั้นเข้าไป ทั้งๆที่ในทางวิทยาศาสตร์เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าต่อให้มีเซลล์ชนิดที่ต้องการ การจะนำไปปลูกถ่ายให้เซลล์เชื่อมกับเซลล์ร่างกายโดยสมบูรณ์ มีการทำงาน และอยู่ในร่างกายอย่างยาวนานเป็นไปได้ยากมาก การฉีดเข้าเลือดหรือแม้แต่ฉีดเข้าอวัยวะส่วนใหญ่เซลล์ที่ฉีดจะหายไปจากร่างกายใน 24 ชั่วโมง ในส่วนที่เป็นความเชื่อนี้มีไปจนถึงการฉีดเซลล์สัตว์ ซึ่งในทางการแพทย์การฉีดเซลล์สัตว์มีโอกาสเกิดอันตรายได้หลายๆอย่าง มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต ทำให้หลายๆประเทศรวมทั้งไทยห้ามการฉีดเซลล์สัตว์เข้าในร่างกายมนุษย์
       
       “Cell Therapy ที่ทำตามความเชื่อ มีมานานแล้ว เกือบ 100 ปี แต่ถามว่าพิสูจน์ในวงการรักษาหรือยัง ตรงนี้ ไม่มีพื้นฐานทางวิชาการรองรับ แต่บางประเทศก็เอาเรื่องนี้ออกยาก เพราะอยู่ในวงการมานานแล้ว เช่นบางประเทศในยุโรปแต่อย่าลืมว่าหมอมีหน้าที่พัฒนาความรู้มารักษาคน ถ้าองค์ความรู้เดิมดี แน่นอนว่าหมอจะต้องลงไปศึกษาแล้วหาทางว่าจะเอามารักษาอย่างไร ต้องถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางแล้ว แต่ ที่รักษากันมาเป็น 100 ปี ก็ยังไม่มีข้อสรุป โอกาสที่จะเป็นจริงมันก็ต่ำมาก”
       
       พอมาถึงเมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีการนำเซลล์กระดูกมารักษาโรคเลือดจริงๆ บางคนก็เลยเรียกว่า Cell Therapy ด้วย ที่รักษาโรคเลือดบางประเภทได้ ไขกระดูกเสื่อม ไขกระดูกฝ่อ โรคพันธุกรรมของระบบเลือดอันนี้รักษาแล้วหายจริงได้ แต่ก็ใช่ว่าทุกโรคที่เกี่ยวกับเลือดจะได้ผลดีกับทุกคนหมด ต้องหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ ขึ้นอยู่กับการรักษาแบบเคสต่อเคสด้วย เช่น ธาลัสซีเมียนั้น การปลูกถ่ายเซลล์ในเด็กจะได้ผลดีกว่าผู้สูงอายุ และมีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน เพราะการรักษาไขกระดูกจะต้องมีการให้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุก็จะหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ยากกว่าเด็กด้วย ซึ่งธาลัสซีเมียในขณะนี้รักษาด้วยยาจะได้ผลดีกว่า
       
       สำหรับโรคกลุ่มมะเร็งในเลือดหรือมะเร็งอวัยวะอื่น เป้าหมายไม่ใช่ว่าเราจะใช้เซลล์ที่ฉีดเข้าไปไปฆ่ามะเร็ง แต่เราจะใช้ยาที่รุนแรงเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งซึ่งก็จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดในร่างกายไปด้วย จึงจะต้องปลูกระบบเลือดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่จะใช้เซลล์คนอื่นมากกว่าเซลล์ของตัวเอง แต่ต้องเป็นเซลล์ที่เข้ากันได้ เพราะกลัวว่าเซลล์ของตัวเองจะมีเชื้อมะเร็งอยู่ในเลือดก็จะกลับมาเป็นมะเร็งใหม่
       จุดนี้มาถึงกรณีความเชื่อที่สำคัญที่มีการทำธุรกิจเก็บเซลล์เลือด (Code Blood) ว่าแท้จริงแล้วจะนำมาใช้กับโรคอะไรได้บ้าง คำตอบคือถ้าหวังจะนำมาใช้กับตัวเองแทบไม่มีเลย ที่cord blood นำไปใช้ในโรคต่างๆ เกือบทั้งหมด เป็นการนำไปใช้รักษาผู้อื่นหรือญาติ โรคพันธุกรรมเช่น ธาลัสซีเมีย ย่อมไม่ใช้เพราะเซลล์เราก็มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอยู่ดี โรคมะเร็งระบบเลือดก็กลัวว่าcord blood เราจะมีเซลล์มะเร็งอยู่
                 
        “ปัจจุบันเราเริ่มพบสเต็มเซลล์ในหลายอวัยวะ สเต็มเซลล์มาจากอวัยวะไหนก็จะเอามาใช้สร้างเซลล์ของอวัยวะนั้นได้ในหลอดทดลอง แต่การนำไปใช้รักษาอวัยวะนั้นๆยังต้องพัฒนาเป็นกรณีๆไป ที่สเต็มเซลล์เลือดใช้ปลูกถ่ายง่ายเพราะเมื่อฉีดเข้าเลือดจะวิ่งไปไขกระดูกเอง สเต็มเซลล์อวัยวะอื่นๆปลูกถ่ายยากกว่าเช่น สเต็มเซลล์สมองแม้ฉีดเข้าไปในสมองก็ยากที่จะกลายเป็นเซลล์ประสาทชนิดที่ต้องการที่บริเวณที่เหมาะสม และส่งรากประสาทไปเชื่อมกับเซล์ประสาทที่อยู่ในสมองและไขสันหลังอย่างถูกต้องต้องหาวิธีที่จะนำสเต็มเซลล์ไปใช้ในจุดที่เราต้องการใช้ได้จริงด้วย
       
       “ยังเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าฉีดเซลล์เข้าไปแล้ว อวัยวะไหนที่บาดเจ็บ เซลล์จะวิ่งไปหาเองเสมอ  มีคนใช้คำพูดที่สวยหรูว่า Stem Cell Homing เป็นความจริงครึ่งเดียว สเต็มเซลล์จากไขกระดูกบางชนิดมีการวิ่งไปอวัยวะที่บาดเจ็บจริง แต่เมื่อไปถึงแล้วทำอะไร ช่วยมากน้อยแค่ไหนยังเป็นที่ถกเถียงกันแต่ที่แน่ๆ สเต็มเซลล์จากเลือดและไขกระดูกหรือไขมันไม่กลายไปเป็นเซลล์สมองหรือเซลล์หัวใจแน่ ถ้าใช้สเต็มเซลล์ชนิดอื่นฉีดเข้าเส้นเลือดปรากฏการณ์ homing ไม่แน่ชัด จากข้อมูลในโดยทั่วไปในสัตว์ทดลองมักหายไปจากร่างกายใน 24-48 ชั่วโมง         
       
       4 ความเชื่อผิดๆ รักษาด้วย Cell Therapy
       
       ผศ.นพ.นิพัญจน์บอกอีกว่า เดิมนั้นมีการเชื่อว่า Cell Therapy ด้วยการนำเซลล์มาฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วจะบำบัดได้ทุกอย่าง ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เป็นความเชื่อที่ผิดและอันตรายมาก สิ่งที่พบในช่วงที่ผ่านมาในการรักษาด้วยสเต็มเซลล์มี 4 ประการที่อยากย้ำด้วยเป็นห่วง
       ประการแรก ประเด็นสำคัญเป็นความเชื่อที่ผิดว่าถ้าเป็นเซลล์ตัวเองจะปลอดภัย ไม่จริงเพราะเซลล์เราเองถ้าฉีดไม่ดีก็ทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันได้ ถ้าเป็นเส้นเลือดสำคัญก็เกิด หลอดเลือดสมองตีบ ไตวาย อัมพาตร หรือเสียชีวิตได้ นอกจากนี้เนื่องจากเป็นเซลล์ของตัวเองระบบภูมิมองไม่เห็นถ้าเพาะเลี้ยงไม่ดีผิดปกติก็เกิดมะเร็งได้  ในทางตรงข้ามถ้าไม่ใช่เซลล์ของร่างกายเรา เป็นเซลล์ของคนอื่น ฉีดเข้าไปร่างกายเราต่อต้านแน่ เหมือนเวลาไปบริจาคเลือดก็ใช่ว่าจะใช้เลือดของใครก็ได้ ต้องทดลองว่าเข้ากับเลือดเราได้หรือไม่ เช่นเดียวกับอวัยวะ เราปลูกถ่ายอวัยวะเข้าไปในร่างกายเราก็ต้องใช้เซลล์ที่เข้ากันได้กับร่างกายเรา อย่างไรก็ตาม เมื่อเราฉีดเซลล์คนอื่นเข้าไป ร่างกายก็จะพยายามทำลายเซลล์ของคนอื่น ร่างกายเราก็จะหลั่งสารมากมายเพื่อไปทำลายเซลล์นั้น บางครั้งก็รุนแรงจนเกิดอันตรายได้
       “บางทีคนก็รู้สึกซู่ซ่า แปล๊บๆ รู้สึกมันแรงตรงบริเวณที่ฉีดเซลล์เข้าไป มันตึง แต่ไม่ใช่ว่าดี หรือร่างกายออกปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแล้ว มันเป็นเพียงการหลั่งสารเพื่อไปทำลายเซลล์ที่เราฉีดเข้าไป เราจะเป็นหนุ่มเป็นสาวหน้าตึงเลยทำให้เกิดการอักเสบใต้ผิวหนัง อันนี้ต้องระวังบางทีอักเสบมากจนเสียโฉมก็มี”
       
       ประการที่สอง การฉีดเซลล์สัตว์เข้าไป เช่น รกแกะ หรือตับอ่อนของเม่น ปรากฏว่าร่างกายเห็นว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงจดจำเซลล์เหล่านั้นหรือโปรตีนที่อยู่ในเซลล์เหล่านั้นไว้  แล้วเริ่มทำลายเซลล์ที่มีโปรตีนเหมือนกับเซลล์แปลกปลอม ซึ่งโปรตีนของมนุษย์ในหลายๆ เซลล์นั้นมีลักษณะคล้ายโปรตีนในเซลล์ของสัตว์ ดังนั้นจึงปรากฏพบว่าร่างกายของผู้ที่ฉีดสเต็มเซลล์ของสัตว์เข้าไปนั้น ร่างกายของมนุษย์ได้ผลิตสารทำลายเซลล์ของมนุษย์เองที่คล้ายกับเซลล์ของสัตว์ที่ฉีดเข้าไปด้วย ตรงนี้สามารถทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ตัวเอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมีอันตรายถึงตายได้
       
       ประการที่สาม เซลล์ที่ฉีดเข้าไปจะกลายเป็นเซลล์ชนิดที่ถูกต้องเองเมื่อไปอยู่ในอวัยวะเป้าหมาย ตามที่กล่าวมาแล้วสเต็มเซลล์มีหลายชนิดแต่ละชนิดมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน สร้างเซลล์คนละชนิดกัน เมื่อฉีดสเต็มเซลล์ชนิดที่ไม่เหมาะสมมีการพบว่าเซลล์ที่ฉีดเข้าไปกลายเป็นเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการ เช่นกลายเป็นกระดูกในสมอง หรือยังแบ่งตัวไม่ยอมหยุดจนกลายเป็นก้อนเนื้องอก 
                 
       “เรื่องนี้ก็อย่าคิดว่าไม่มี เพราะในประเทศไทยเคยเกิดขึ้นแล้ว มีคลินิคที่นำสเต็มเซลล์จากเลือดผู้ป่วยไปเพาะแล้วฉีดเข้าไปที่ไตหวังรักษาไตวาย ปรากฎกลายเป็นเนื้องอกจนต้องตัดไตข้างนั้นไป
       
       ประการที่สี่ เซลล์บางชนิดที่ฉีดเข้าไปหลั่งสารหลายอย่าง บางอย่างอาจนำไปใช้ประโยชน์ได้ถ้าศึกษาต่อไปเพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อมูลให้เห็นว่าสารบางอย่างอาจกระตุ้นการเจริญของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ในร่างกายให้เจริญดีขึ้น และแพร่กระจาย กล่าวได้ว่าเป็นเซลล์พี่เลี้ยงของมะเร็ง การหลั่งสารของเซลล์เปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมของเซลล์ทำให้ควบคุมได้ลำบาก
                 
       “ถามว่าเราต่อต้านไหม เราไม่ได้ต่อต้านความก้าวหน้าทางการแพทย์ เพราะเรื่องของสเต็มเซลล์ มีโอกาสที่จะพัฒนาไปรักษาโรคต่างๆ ได้มากมายจริง แต่ขณะนี้ในประเทศไทย หรือต่างประเทศเองนั้นมีการรับรองการฉีดสเต็มเซลล์เฉพาะเซลล์เลือด เพื่อรักษาโรคเลือดต่างๆที่เหลือส่วนมากผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ”
       
       เพราะฉะนั้น โรงพยาบาลไหนที่มีการโฆษณาว่ามีความสามารถในการรักษาโรคต่างๆ ด้วยสเต็มเซลล์แล้ว จึงถือเป็นการหลอกลวง!
       
       “โรงพยาบาลบางแห่งบอกว่าขณะนี้ใช้สเต็มเซลล์รักษาข้อกระดูกเสื่อมได้แล้ว พอบอกว่ารักษาได้ คนก็วิ่งไปหา  สิ่งที่น่ากลัวคือผลประโยชน์มหาศาลที่มากับสิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องระมัดระวังในการรับฟังข้อมูลว่าน่าเชื่อถือเพียงไร การวิจัยมีอคติหรือไม่ วิธีการรักษาเหมือนหรือต่างกับงานวิจัยที่มีมาก่อนอย่างไร ก่อนเชื่อควรฟังความคิดเห็นจากสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดีต้องระวังสมาคมที่เกิดขึ้นเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ
       
       นอกจากสเต็มเซลล์เลือดแล้ว ยังมีสเต็มเซลล์จากร่างกายชนิดอื่นๆที่ในอนาคตอาจนำมาใช้ได้อีกมาก ตัวอย่าง เช่น mesenchymal stem cell (MSC) สามารถใช้สร้างกระดูก กระดูกอ่อน รวมทั้งมีคุณสมบัติปรับระบบภูมิคุ้มกัน หรือ สเต็มเซลล์ของหัวใจที่สร้างกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือดได้
       
       “MSC ทั่วโลกก็ยังเป็นขั้นของการทดลองอยู่ เพราะยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ แต่คำถามคือเราทำได้ไหม โรงพยาบาลแพทย์มหาวิทยาลัยในไทยทำได้หมดแล้ว เพราะการเพาะเซลล์ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่เลย อย่างไรก็ดีแม้ MSC จะเปลี่ยนเป็นกระดูกอ่อนได้ในหลอดทดลอง ยังไม่แน่ว่าเมื่อฉีดเข้าข้อจะไม่กลายเป็นกระดูกแข็ง หรือเซลล์จะยึดติดกับเซลล์รอบข้างแล้วฟอร์มเป็นชิ้นเดียวกัน ในอนาคตมองแล้วมีทางที่โรคไขข้อกระดูกจะรักษาได้ แต่ต้องมีผลทางการศึกษารองรับก่อนดังนั้น ในแง่ของการวิจัย การทดลอง แพทย์จะเก็บเงินกับคนไข้ไม่ได้ มันไม่แฟร์”       
             
       เทคโนโลยีสเต็มเซลล์ใหม่
       
                   หัวหน้าหน่วยสเต็มเซลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกอีกว่า วิทยาการด้านสเต็มเซลล์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีนักวิจัยชาวญี่ปุ่นได้คิดค้นวิธีเปลี่ยนเซลล์เลือดหรือเซลล์ผิวหนังของผู้ป่วยให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ที่ใช้สร้างเซลล์ทุกชนิดในร่างกายได้ และยังเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเองทำให้ไม่มีปัญหาทางภูมิคุ้มกันเมื่อปลูกถ่าย ซึ่งเรียกว่า induced pluripotent stem cell(iPS) กำลังจะมีการศึกษาในผู้ป่วยในไม่ช้านี้ หากยืนยันการทดลองได้ว่าปลอดภัย ทางประเทศไทยโดยเฉพาะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรัฐก็มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในประเทศ เนื่องจากว่าในไทยก็มีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนี้อยู่จนประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยข้อมูลจากศูนย์วิจัยทางวิชาการที่มีทุนการวิจัยขนาดใหญ่กว่าในต่างประเทศ ซึ่ง โรคที่ทางญี่ปุ่นคาดว่าจะทดสอบเทคโนโลยีนี้ในผู้ป่วยในช่วง 5 ปีที่จะถึงนี้ได้แก่ โรคลานประสาทตาเสื่อม โรคพาห์กินสัน โรคตับในเด็กที่เป็นโรคพันธุกรรม และ โรคหัวใจ
       
       เราต้องอาศัยการต่อยอดการวิจัยของญี่ปุ่นและอเมริกาเพราะรัฐบาลให้งบประมาณจำนวนมากในการทำวิจัย และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ถ้ารู้ผลเมื่อไร คนไทยก็เตรียม Transfer Technology ที่พิสูจน์ได้ว่าไม่อันตรายในคนก็ทำได้ทันที เพราะมีความพร้อมหมดแล้ว และในขั้นตอนของงานวิชาการเราไปไกลถึงการตัดต่อยีนแก้ไขความผิดปกติในiPS cellsแล้ว”
       
       โดยรวมอนาคตประเทศไทยจึงมีโอกาสใช้สเต็มเซลล์รักษาหลายโรค ทั้ง แผลเบาหวาน, หัวใจ, กระดูก, ผิวหนังไหม้, กระจกตา, กระดูกข้อเข่าเสื่อม ฯลฯ
       
       “ถามว่าตอนนี้ประเทศไทยมีการทดลองสเต็มเซลล์ไหม คำตอบคือมี แต่การจะไปสู่บริการในผู้ป่วยทั่วไปต้องพิสูจน์ให้ดีพอก่อนว่ามีประสิทธิภาพ ปลอดภัยเพียงใด สำหรับที่ยังเป็นการทดลอง ที่สำคัญคือคนไข้ต้องไม่เสียตังค์ เพราะมันคือการทดลอง มันมีความเสี่ยงต่อชีวิตของเขาอยู่แล้ว”       
       
       ทุ่ม 1 ล้านบาทฉีดสเต็มเซลล์สุดช้ำ
       เจอฉีดน้ำ-เสี่ยงมะเร็ง!
       
       ปัจจุบันในเรื่องของสเต็มเซลล์ กลายเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ และสุขภาพที่มีการโปรโมตในหลายๆแห่ง ทั้งโรงพยาบาลเอกชน รวมไปถึงสถานบริการด้านสุขภาพ ความงามขนาดใหญ่มากมาย เพียงแต่บางแห่งหลีกเลี่ยงใช้คำว่า “สเต็มเซลล์” และมีคำอื่นทดแทนเช่นเซลล์บำบัด เซลล์ซ่อมแซม นั้น ผศ.นพ.นิพัญจน์ บอกว่า ในข้อเท็จจริงธุรกิจเสริมความงามอาจจะไม่ได้ใช้เซลล์ฉีดอาจเพียงฉีดสารบางอย่างให้ผู้ป่วย เพราะความจริงแล้วสเต็มเซลล์ต้องได้รับการเพาะเลี้ยงอย่างดีในอุณหภูมิเหมาะสมมิเช่นนั้นจะตายหรือเสียคุณสมบัติ ไม่สามารถบรรจุใส่ขวดตามที่เห็นในโฆษณาได้ ดังนั้นที่ฉีดเป็นอะไรก็ไม่ทราบ อาจเป็นน้ำผสมสารบางอย่างซึ่งอาจอันตราย ทำให้เกิดแพ้หรือไปจนถึงเกิดมะเร็งได้ เป็นที่ทราบกันดีว่ามีสารหลายชนิดมีผลชั่วคราวที่เหมือนบำรุงผิวแต่ระยะยาวให้โทษ ทำให้ทางองค์กรอาหารและยาห้ามผลิตภัณฑ์เสริมความงามใช้คำว่าสเต็มเซลล์ในประเทศไทย สิ่งที่ขายกันในตลาดมืดไม่มีการตรวจสอบส่วนประกอบว่ามีอะไรอันตรายปนมาบ้าง ต้องระมัดระวัง
       
       
       ไม่ว่าที่ฉีดเข้าไปจะเป็นแค่น้ำ หรือเซลล์ผสม เข็มนี้บางครั้งมีมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ซึ่งแพงมากโดยไม่สอดคล้องกับต้นทุน
       
       แพงแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งอีก ตลอดจนไม่มีเหตุผลทางวิชาการ
       
       คิดให้ดีว่าคุ้มจริงไหม?
       
       ที่สำคัญนายกแพทยสภาให้คำจำกัดความ “ธุรกิจสเต็มเซลล์” ไว้อย่างชัดเจนว่า “สเต็มเซลล์ ธุรกิจหลอกคนรวย!” อ่าน “แพทยสภา!ปลุกคนไทยอย่าตกเป็นเหยื่อ” ตอนที่ 4

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 มิถุนายน 2556

6623
รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เจ้าของ “ฮาร์ท เจเนติกส์” ผู้คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์แค่เจาะเลือดตรวจระดับยีนมนุษย์ด้วยการถอดรหัสยีน-DNA ก็สามารถบอกได้ว่าคุณกำลังจะป่วยด้วยโรคร้ายอะไร ที่สำคัญนวัตกรรมนี้ชี้ช่องทางรักษาเพื่อสกัดกั้นการเกิดโรคได้ ล่าสุดเตรียมให้บริการตรวจลึกระดับอาร์เอ็นเอและผลจากที่เป็นหนึ่งเดียวของไทยในระดับโลก ทำให้ทุนธุรกิจใช้ “วิชามาร” จ้องงาบกิจการแห่งนี้
       
        ขณะเดียวกันนวัตกรรมของ “คล้ายอัปสร” กลายเป็นตัวการกระชากหน้ากาก “ธุรกิจหลอกคนรวย” ที่บรรดาโรงพยาบาลเอกชน และศูนย์ความงามต่างๆ ดูดลูกค้าทั้งไทย-เทศ มาใช้บริการอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนทำให้ธุรกิจนี้มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท
       
        ดังนั้น “คล้ายอัปสร-ฮาร์ท เจเนติกส์” จึงกลายเป็น “ศัตรูตัวร้าย” ของทุนธุรกิจที่มีทั้ง “มาเฟียตำรวจ-นักการเมือง-นักธุรกิจ-แพทย์” ส่งผลให้คล้ายอัปสรตัองเผชิญสิ่งเลวร้ายที่ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์จะกระทำกันและหลายครั้งเธอก็แทบ “สติแตก'!!
       
        ทีม Special scoop จะนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทุกแง่ทุกมุมของฮาร์ท เจเนติกส์ และวงการธุรกิจสุขภาพหลอกคนรวย ที่แม้แต่ “แพทยสภา” ซึ่งรู้ลึกถึงระดับใครคือมาเฟีย แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับมนุษย์เสื้อกาวน์กลุ่มนี้ได้ โดยจะนำเสนอทั้งหมด 5 ตอนจบ
       
       อ่านย้อนหลังตอนที่ 1 : “นวัตกรรมเซลล์บำบัด-สเต็มเซลล์” ธุรกิจหลอกคนรวย!? “ฮาร์ท เจเนติกส์” ถอดรหัสยีนพบมะเร็งก่อนระยะที่ 1 (ตอนที่ 1)
       
       อ่านข่าวประกอบ : เจ้าของ บ.ถอดรหัส DNA แจ้งจับ จนท.ห้องแล็บปลอมเอกสาร
       
       ตอนที่ 2
       
       “คล้ายอัปสร” รับถูกบีบทุกทาง หลังนำนวัตกรรมตรวจยีนบอกโรคให้บริการเชิงพาณิชย์ ลูกน้องเก่า-ลูกค้าพร้อมใจฟ้องร้อง ตัดช่องทางรับลูกค้า จนต้องกลับไปใช้บ้านทำแล็บลดต้นทุน ส่วนคู่ค้าเดิมไม่ขายน้ำยาตรวจผลให้ บริการส่งผลไปตรวจต่างประเทศก็ถูกสกัด แถมผู้ถือหุ้นเปลี่ยนท่าทีต้องการบริหารเอง หนักสุดปล่อยงูเข้าบ้าน ชี้นวัตกรรมนี้ดีต่อผู้บริโภคที่ทราบผลได้ตรงเหตุ แต่กระทบฐานธุรกิจให้บริการแบบเดิม เพราะบริษัทยามีส่วนได้เสีย       

       กว่า 30 ปีในการค้นคว้าและวิจัยของ ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร จนค้นพบนวัตกรรมในการตรวจหาสาเหตุของโรคในระดับยีน และกำลังก้าวไปในระดับ RNA ความสำเร็จและความเพียรพยายาม ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ ที่จะสามารถให้การรักษาโรคแก่ผู้ป่วยได้ตรงกับต้นเหตุของโรคที่แท้จริง
       
       จากความสำเร็จในการค้นพบนวัตกรรมการตรวจยีนเพื่อหาต้นเหตุของโรค ที่ ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร ได้เปิดให้บริการตรวจเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงนวัตกรรมตัวนี้ ในนามบริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นแล็บตรวจยีน 1 ใน 4 ของโลก หนึ่งเดียวในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ช่วยให้คนไทยได้พบกับการรักษาที่ถูกต้องตรงกับโรค และถึงขั้นรู้ได้ก่อนการป่วยเป็นโรค ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีเพราะช่วยชีวิตของผู้ป่วยยืนยาวขึ้น
       
       แต่ความสำเร็จดังกล่าวกลับกลายเป็นปมปัญหาอันหนักหน่วงให้กับ ดร.คล้ายอัปสรเป็นอย่างมาก เพราะการค้นพบต้นตอของโรคผ่านการตรวจยีน ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนที่เคยได้ประโยชน์กุมชะตากรรมของคนไทยมาตั้งแต่อดีต รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพทั้งระดับคลินิกตรวจสุขภาพทางเลือกชื่อดังหรือโรงพยาบาล ที่ต้องการสกัดและต้องการทราบถึงเจ้านวัตกรรมอันนี้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ร่วมถือหุ้นในบริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ ที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ต้น
       
       พบโรค-เพิ่มศัตรู
       
       “ลูกค้าบางรายของเราเคยตรวจหามะเร็งจากที่อื่นมา ผลการตรวจแจ้งว่าไม่พบมะเร็ง แต่เมื่อมาตรวจกับเรากลับพบ โดยการตรวจในระดับยีนจะทำให้เห็นถึงยีนบางตัวที่ตรงกับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ระยะที่ 1 การพบสาเหตุก่อนย่อมเป็นผลดีต่อการรักษาหรือยับยั้งไม่ให้ต้นเหตุของโรคแพร่กระจาย” ดร.คล้ายอัปสรกล่าว
       
       นอกจากนี้เธอยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการให้บริการด้านความงามในรูปแบบต่างๆ บางครั้งมีการฉีดสเต็มเซลล์เพื่อความงาม เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสู่ร่างกาย มีโอกาสที่จะทำให้ยีนกลายพันธุ์เป็นโรคมะเร็งได้
       
       ด้วยนวัตกรรมที่เธอค้นพบทำให้ทราบถึงโอกาสของการที่จะเป็นโรคร้ายเหล่านี้ แม้จะไม่ใช่เรื่องของความจงใจที่จะทำร้ายคู่แข่ง แต่หากมีลูกค้าที่เคยใช้บริการที่หนึ่งไปตรวจค้นหาโรคในระดับยีนแล้วพบว่ายีนเกิดการกลายพันธุ์ไปสู่มะเร็ง ธุรกิจด้านความงามที่เปิดให้บริการอยู่เดิมนั้นคงไม่มีใครกล้าเข้าไปใช้บริการ และเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมาก
       
       ดังนั้น คงไม่มีเจ้าของกิจการด้านสุขภาพหรือความงามรายใดพึงพอใจกับผลการตรวจแล้วมีโอกาสพบโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับลูกค้าจากการเข้ามาใช้บริการของตน
       
       เมื่อการค้นพบนวัตกรรมใหม่ในการตรวจหาสาเหตุของโรค กลับกลายเป็นชนวนเหตุในการทำลายธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการเดิมโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงเป็นที่มาของกระบวนการจ้องทำลายนวัตกรรมของฮาร์ท เจเนติกส์ ด้วยกรรมวิธีทางธุรกิจจึงได้เปิดฉากและหนักขึ้นเรื่อยๆ
       

       มีคนอยากฮุบ
       
       ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เจ้าของบริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ จำกัด เปิดใจถึงปัญหาที่รุมเร้ากับบริษัท ฮาร์ท เจเนติกส์ในเวลานี้ว่า นับตั้งแต่การตัดสินใจนำเอางานวิจัยที่เคยทำไว้ในมหาวิทยาลัยมาให้บริการในเชิงพาณิชย์ ทางบริษัทประสบปัญหาหลายอย่าง
       
       “เราคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดน่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือมีคนหรือภาคธุรกิจที่อยากได้นวัตกรรมของเรา อีกเหตุหนึ่งน่าจะมาจากมีหุ้นส่วนบางคนอยากได้ธุรกิจของเรา”
       
       เริ่มตั้งแต่อดีตพนักงานของเราออกไปเมื่อสิงหาคม 2552 แล้วย้ายไปอยู่กับแล็บอื่น ได้ฟ้องร้องในคดีแรงงาน เมื่อราวเดือนกรกฎาคม 2553 ซึ่งกระบวนการยังอยู่ในขั้นสืบพยาน หลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ขโมยสินทรัพย์ในบริษัท พบว่าสิ่งที่หายไปเป็นเครื่องมือและฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงพลาสมาดีเอ็นเอบางส่วน ที่น่าสงสัยคือผู้ที่เข้ามาขโมยเลือกที่จะขโมยส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั้งสิ้น และขโมยก็เลือกเฉพาะส่วนที่เก็บข้อมูลสำคัญได้อย่างถูกต้อง
       
       ก่อนหน้านี้เคยมีหน่วยงานบางแห่งขอสัมภาษณ์อดีตพนักงานของบริษัทเรา หลังจากนั้นการพรีเซนต์งานของหน่วยงานนั้นก็มีงานที่คล้ายๆ ผลงานของบริษัทฯ ไปอยู่กับเขา เรื่องนี้จึงคิดว่าพนักงานของเราน่าจะมีการนำเอานวัตกรรมที่เรามีไปให้กับเขา ที่สำคัญในช่วงที่อดีตพนักงานชุดที่ฟ้องร้องดร.คล้ายอัปสรยังอยู่ บริษัทฯ หาลูกค้าได้น้อยมาก แต่เมื่อพนักงานชุดนี้ลาออกไปบริษัทฯ กลับมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
       
       ท่ามกลางคดีความฟ้องร้องกับอดีตพนักงานและการยกเค้าอุปกรณ์และข้อมูลสำคัญที่เป็นหัวใจในการทำงานของเธอแล้ว ยังมีลูกค้ารายหนึ่งที่ขอใช้บริการตรวจยีนได้ฟ้องร้องว่าส่งผลตรวจล่าช้า ซึ่งลูกค้ารายนี้เคยมีคดีฟ้องร้องกับหมอบางรายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายมาแล้ว เมื่อกระบวนการสู่ชั้นศาล ทาง ดร.คล้ายอัปสรก็แสดงหลักฐานว่าได้ส่งผลตรวจไปที่สหรัฐอเมริกา สุดท้ายบริษัทฯ และ ดร.คล้ายอัปสรก็เป็นฝ่ายชนะคดี       

       สารพัดวิธีบีบ
       
       เมื่ออุปสรรคในการเปิดฮาร์ท เจเนติกส์ถูกถาโถมเข้ามาทั้งจากคดีฟ้องร้องของอดีตพนักงาน ลูกค้าบางรายที่คาดกันว่าน่าจะไม่ใช่ลูกค้าตามปกติ รวมไปถึงพันธมิตรจากโรงพยาบาลไม่ส่งลูกค้ามาให้โดยไม่ทราบสาเหตุ แม้กระทั่งน้ำยาที่ใช้ในการตรวจ บริษัทที่เคยขายให้กลับไม่ขายให้แล้ว จึงทำให้บริษัทฯ ต้องประสบปัญหา เลยต้องใช้บ้านของ ดร.คล้ายอัปสรมาเป็นแล็บแทนเพื่อลดต้นทุน
       
       แต่เรื่องวุ่นวายก็ยังไม่จบ เดือนมิถุนายน 2555 ดร.คล้ายอัปสรได้เข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจนครบาลบางโพงพาง หลังจากที่บริษัทขนส่งพัสดุระดับโลกอย่างเฟดเอ็กซ์ ย่านพระราม 3 ทำดีเอ็นเอที่กำลังจะนำไปถอดรหัสที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเสียหายโดยปฏิเสธความรับผิดชอบ
       
       หลังจากนั้นได้เกิดเรื่องวุ่นวายในบ้านที่ใช้เป็นแล็บในการวิจัย อยู่ๆ ก็มีงูขนาดใหญ่เข้ามาในบ้านหลายตัวเดือนตุลาคม 2555 มีทั้งงูเหลือมและงูเห่าขนาดเมตรกว่า จึงต้องเผาในบางจุดเพื่อไล่งู ผลที่ตามมาคือพื้นที่บางส่วนเสียหายและทำให้ระบบไฟฟ้าในบ้านเสียหายทั้งหมด
       
       หนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทเองก็ได้สร้างปัญหาในการบริหารงานในฮาร์ท เจเนติกส์ไม่น้อยเช่นกัน เพราะบางคนต้องการที่จะเข้ามาบริหารในบริษัทแห่งนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นส่วนน้อย พยายามเข้ามาจัดการในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงการข่มขู่ และเสนอให้มีการถ่ายทอดความรู้ที่เราค้นพบเพื่อแลกกับการยุติปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
       
       “เราถูกบีบทุกอย่าง ถูกสกัดทุกทาง สถานพยาบาลบางแห่งก็อยากได้นวัตกรรมของเราไป บางแห่งก็ดึงเด็กของเราไปอยู่ด้วย รวมไปถึงคดีฟ้องร้อง แต่เราก็ยังจะสู้ต่อไป เราบอกเด็กทุกคนว่าให้ยึดงานเป็นที่ตั้ง แล้วหลังจากนั้นเงินจะตามมาเอง เพราะสิ่งที่เราทำอยู่นี้เป็นประโยชน์กับมนุษย์”       

       เป็นทั้งคู่แข่งและผู้ทำลาย
       
       ปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้นพบของ ดร.คล้ายอัปสรกับการตรวจเลือดลึกลงไปถึงระดับยีนนั้น มีเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่ทำได้ แถมยังเป็นเพียง 1 ใน 4 ของโลก โดยการตรวจในระดับยีนทำให้สามารถทราบได้ถึงโอกาสของการเป็นโรคตั้งแต่ระดับที่ยังไม่แสดงอาการ การตรวจในระดับนี้ทำได้เหนือกว่าคลินิกตรวจสุขภาพทั่วไป
       
       การตรวจลึกในระดับยีนนอกจากจะทำให้แก้ปัญหาหรือจัดยา อาหารเสริมหรือหาแนวทางที่เหมาะสมในการยับยั้งโรคได้ ไม่ต้องใช้ระบบการวินิจฉัยแบบเดิมที่ค่อยๆ หาสาเหตุของโรคตามสมมติฐานไปเรื่อยๆ โดยในระบบเดิมย่อมเป็นผลบวกต่อบริษัทยาและสถานประกอบการที่ลูกค้าหรือคนไข้จะต้องเข้ามาพบแพทย์บ่อยๆ หากเป็นสถานประกอบการเอกชนย่อมมีผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่เป็นรายได้ของสถานพยาบาลแห่งนั้น
       
       แม้กระทั่งการให้บริการด้านความงามต่างๆ ก็มีผลต่อการเกิดยีนกลายพันธุ์ อาจทำให้เป็นโรคอื่นตามมาได้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการเหล่านั้น หากยังมีบริการตรวจยีนอย่างที่ฮาร์ท เจเนติกส์ตทำอยู่
       
       อีกด้านหนึ่งผู้ที่ให้บริการตรวจสุขภาพย่อมมองว่าบริการของฮาร์ท เจเนติกส์ ย่อมทำให้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญ เพราะสามารถบ่งชี้ไปถึงต้นตอของโรคได้ตั้งแต่ยังไม่เกิดหรือเริ่มเกิด โดยโรคนั้นยังไม่แสดงอาการ ย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือที่มีต่อการให้บริการในปัจจุบัน
       
       ขณะเดียวกันด้วยความสามารถในการตรวจและหาต้นตอของโรคได้ ทำให้นวัตกรรมของ ดร.คล้ายอัปสรเป็นที่หมายตาของโรงพยาบาลและสถานประกอบการด้านสุขภาพหลายแห่ง นอกจากชื่อเสียงที่อยู่ในระดับโลกแล้วรวมถึงเป็น 1 ใน 10 ที่ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ทำให้การต่อยอดในทางธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น แม้ว่าค่าตรวจจะมีราคาแพง แต่สำหรับคนที่รักสุขภาพและมีฐานะในระดับกลางขึ้นไป ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขา
       
       ดังนั้น กระบวนการในการสกัดกั้น เพื่อให้คู่แข่งไม่สามารถยืน เติบโตหรือเกิดขึ้นได้ในธุรกิจสุขภาพที่มีเม็ดเงินมหาศาลจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากปัญหาต่างๆ ที่ตัวของ ดร.คล้ายอัปสรต้องเผชิญอยู่นับตั้งแต่การนำเอานวัตกรรมนี้มาเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์
       
       อีกแนวทางหนึ่งที่แพทย์อาวุโสพยายามเจรจาเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ซื้อหุ้นเพิ่ม เพื่อหวังฮุบกิจการและขอให้ ดร.คล้ายอัปสร เป็นเพียงผู้ปฎิบัติ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของบริษัทนี้ทั้งหมด ยังคงดำเนินต่อไป
       
       เพราะนวัตกรรมนี้หากไม่สามารถหยุดยั้งได้จะกระทบกับธุรกิจด้านสุขภาพทางเลือกทั้งที่โรงพยาบาลเอกชน หรือศูนย์ความงามต่างๆ ที่มีการโฆษณาการใช้นวัตกรรมเซลล์บำบัด เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า สเต็มเซลล์ ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน!
       
       เพราะฉะนั้น กรรมวิธีที่ดีที่สุดคือการทำลาย หรือเข้ามาฮุบกิจการนี้เสียเอง!!
       
       แต่สิ่งที่น่าสนใจในวงการสุขภาพขณะนี้ก็คือ สเต็มเซลล์มีความมหัศจรรย์รักษาโรคได้จริงหรือ ที่สำคัญฉีดสเต็มเซลล์ช่วยชะลอความแก่และหย่อนยาน ที่บรรดานักการเมือง นักธุรกิจ ดารา หรือหนุ่มสาวในวงการไฮโซนิยมฉีดกันได้จริงหรือไม่ และฉีดแล้วมีโอกาสเกิดมะเร็งตามมาหรือไม่ ผศ.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าหน่วยสเต็มเซลล์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะมาไขคำตอบ (ตอนที่ 3)

ASTVผู้จัดการออนไลน์    26 มิถุนายน 2556

6624
 รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เจ้าของ “ฮาร์ท เจเนติกส์” ผู้คิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์แค่เจาะเลือดตรวจระดับยีนมนุษย์ด้วยการถอดรหัสยีน-DNA ก็สามารถบอกได้ว่าคุณกำลังจะป่วยด้วยโรคร้ายอะไร ที่สำคัญนวัตกรรมนี้ชี้ช่องทางรักษาเพื่อสกัดกั้นการเกิดโรคได้ ล่าสุดเตรียมให้บริการตรวจลึกระดับอาร์เอ็นเอและผลจากที่เป็นหนึ่งเดียวของไทยในระดับโลก ทำให้ทุนธุรกิจใช้ “วิชามาร” จ้องงาบกิจการแห่งนี้
       
       ขณะเดียวกันนวัตกรรมของ “คล้ายอัปสร” กลายเป็นตัวการกระชากหน้ากาก “ธุรกิจหลอกคนรวย” ที่บรรดาโรงพยาบาลเอกชน และศูนย์ความงามต่างๆ ดูดลูกค้าทั้งไทย-เทศ มาใช้บริการอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนทำให้ธุรกิจนี้มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท
       
       ดังนั้น “คล้ายอัปสร-ฮาร์ท เจเนติกส์” จึงกลายเป็น “ศัตรูตัวร้าย” ของทุนธุรกิจที่มีทั้ง “มาเฟียตำรวจ-นักการเมือง-นักธุรกิจ-แพทย์” ส่งผลให้คล้ายอัปสรตัองเผชิญสิ่งเลวร้ายที่ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์จะกระทำกันและหลายครั้งเธอก็แทบ “สติแตก'!!
       
       ทีม Special scoop จะนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทุกแง่ทุกมุมของฮาร์ท เจเนติกส์ และวงการธุรกิจสุขภาพหลอกคนรวย ที่แม้แต่ “แพทยสภา” ซึ่งรู้ลึกถึงระดับใครคือมาเฟีย แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับมนุษย์เสื้อกาวน์กลุ่มนี้ได้ โดยจะนำเสนอทั้งหมด 5 ตอนจบ

รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร
       ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องดีเอ็นเอ นอกจากจะช่วยคลี่คลายคดีความหลายๆ คดี ทั้งเรื่องการตรวจสอบหาญาติหรือใช้สืบหาผู้กระทำผิดแล้ว ในวงการแพทย์ ดีเอ็นเอยังสามารถนำมาใช้ในการตรวจหาสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ค่อนข้างแม่นยำ
       
       กรรมวิธีดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายกันในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยมีแล็บ (LAB) ให้บริการตรวจสุขภาพบริการอยู่ทั่วไป แต่ที่จะให้บริการตรวจสุขภาพถึงระดับพลาสมาดีเอ็นเอ คงมีเพียง Lab ของ Heart Genetics ที่มี รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร เป็นผู้ดูแล
       
       จากอาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ความสนใจศึกษาวิจัยในเรื่องการถอดรหัสพันธุกรรม ดีเอ็นเอมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ประกอบกับญาติพี่น้องของอาจารย์ต่างประสบปัญหาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ รศ.ดร.คล้ายอัปสร มีความสนใจที่จะศึกษาในเรื่องต้นเหตุของการเสียชีวิตอย่างจริงจังในระดับยีนของมนุษย์
       
       ตรวจยีนบอกต้นตอโรค
       
       สำหรับการตรวจหาสาเหตุโรคร้ายในระดับยีน สามารถตรวจจากเลือดและชิ้นเนื้อเพื่อสกัดลงไปในชั้นดีเอ็นเอ เพื่อตรวจสอบการเกิดโรค รวมถึงการใช้ยาและวิธีการที่ตรงกับสาเหตุการเกิดโรค เนื่องจากยีนจะเป็นตัวกำหนดหน้าที่และการทำงานของเซลล์ภายในร่างกาย
       
       ดร.คล้ายอัปสรอธิบายว่า การตรวจในระดับยีนจะทำให้ทราบว่ายีนยังสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ หรือมีปัญหาที่จะก่อให้เกิดโรคในอนาคตหรือไม่ รวมถึงคำนวณระยะเวลาที่จะเกิดโรคได้ ซึ่งนำไปสู่ขั้นตอนในการตรวจให้คำแนะนำและคำปรึกษาก่อนทำการรักษา (Pre-Counselling) เพื่อส่งต่อข้อมูลให้แพทย์ทำการวินิจฉัยแนะนำการป้องกันในกรณีที่มีแนวโน้มที่จะเกิดโรค หรือเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะกับชนิดและสาเหตุของโรคเพื่อทำการรักษาต่อไป
       
       ดังนั้น การตรวจวิเคราะห์ยีนจึงเหนือกว่าการตรวจเลือดของโรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยในเรื่องการถอดรหัสดีเอ็นเอเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ที่สำคัญคือมีการรวบรวมข้อมูลดีเอ็นเอไว้กว่า 28,000 ราย หรือมี “DNA Bank” มากที่สุดในประเทศ
       
       ในการตรวจเลือดเพื่อเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลในการวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดโรคต่างๆ มีขั้นตอนดังนี้ คือ เมื่อเจาะเลือดทำการปั่นเลือด แยกเลือดระหว่างพลาสมาและเม็ดเลือดขาวออกมา โดยเม็ดเลือดขาวจะนำไปตรวจหายีนที่กลายพันธุ์และนำไปสู่โรคร้ายต่างๆ
       
       ขณะที่พลาสมาจะถูกนำไปสกัดดีเอ็นเอเพื่อหาจุดที่เกิดเซลล์มะเร็งในยีนทั้งจากครอบครัวที่มีประวัติการป่วยและที่ไม่มีการป่วย เพราะฉะนั้นความแม่นยำส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับครอบครัว การประพฤติปฏิบัติตัว สิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล และเมื่อนำผลการตรวจไปพิจารณาประกอบกับประวัติครอบครัวก็จะสามารถจำกัดวงและจุดที่จะเกิดโรคได้ รวมถึงการมีฐานข้อมูลในการศึกษาจากต่างประเทศเพื่อนำไปสู่การให้คำแนะนำเพื่อป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง

ภาพ : ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
       ยีนกลายพันธุ์เกิดสารพัดมะเร็ง
       
       ในการตรวจระดับพลาสมาของยีนเพื่อหาต้นตอของโรค ยีนจะเป็นตัวบ่งบอก ซึ่งสามารถกลายพันธุ์ได้ใน 2 ลักษณะคือ 1. Germline Mutation ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ถ่ายทอดทางสายเลือดของบุคคลในครอบครัวซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ อันได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งสมอง และมะเร็งเม็ดเลือด
       
       Somatic Mutation เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเองภายหลัง และจะถูกกระตุ้นให้เกิดโรคหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหรือสัมผัสสารก่อมะเร็งไม่รู้ตัว เช่น อยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่ สัมผัสสารก่อมะเร็ง โลหะหนัก หรือเชื้อไวรัสบางชนิด ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งในชนิดที่ใกล้เคียงกับกลุ่มแรกเพียงแต่อาจเกิดโรคในช่วงที่อายุมากขึ้น โดยผู้ที่ประวัติครอบครัวไม่พบผู้ป่วยในโรคร้ายมาก่อนก็จะค่อนข้างมั่นใจในสุขภาพ โดยลืมไปว่าโอกาสที่จะเกิดโรคร้ายมีอยู่เช่นกัน และเมื่อตรวจพบก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นการเกิดมะเร็ง ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเกิดโรคและรับมือได้เร็วที่สุด
       
       มะเร็งรู้ก่อนระยะที่ 1
       
       อย่างการตรวจหาเซลล์มะเร็งโดยทั่วไปที่มักตรวจพบในระยะที่ 1-4 ซึ่งหมายความว่าผู้เข้ารับการตรวจต้องตกอยู่ในสถานะผู้ป่วยแล้วไม่ว่าจะอยู่ในขั้นที่ 1-4 ก็ตาม ซึ่งจะเป็นอันตรายเนื่องจากอัตราการขยายตัวของเซลล์เนื้อร้ายจะลุกลามแบ่งตัวขึ้นแบบทวีคูณหากมีการแตกตัวของเซลล์มะเร็งในขั้นที่ 2-4 และนำไปสู่การสูญเสียชีวิตในที่สุด
       
       “เซลล์เพียงเซลล์เดียวหลุดมาในกระแสเลือด ในช่วงก่อนที่จะพบว่าเป็นมะเร็งตรวจเจอค่อนข้างยาก แต่ก็สามารถตรวจได้อย่างแม่นยำ ทำให้เตรียมตัวรักษาได้ ที่สำคัญผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการป่วยเป็นมะเร็งก็สามารถตรวจได้ เพราะมีโอกาสเป็นเช่นกัน”
       
       รวมถึงระยะเวลาของการบ่มเพาะและการเติบโตและแสดงอาการของโรคมะเร็งใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุผลว่า ผู้ที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจึงไม่พบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่การตรวจวิเคราะห์ในพลาสมาดีเอ็นเอจะค้นหาเซลล์มะเร็งก่อนการป่วยระยะที่ 1 (ระยะที่ 0) หรือเรียกว่า ZeroPlus ได้
       
       1 ใน 4 ของโลก หนึ่งเดียวในอาเซียน
       
       อย่างไรก็ดี การตรวจพลาสมาดีเอ็นเอที่ผ่านมา ทำได้เฉพาะในมหาวิทยาลัยแพทย์ แต่ถ้าเป็นในเชิงพาณิชย์แล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีที่ฮาร์ท เจเนติกส์ เพียงแห่งเดียว และถือเป็น 1 ใน 4 ของโลกที่ให้บริการตรวจสอบในเรื่องนี้
       
       นวัตกรรมใหม่ของฮาร์ท เจเนติกส์ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐใน 2 หน่วยงาน คือ 1. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NIA) หรือ สนช. และ 2. ศูนย์ความเป็นเลิศทางชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) จุดสำคัญก็คือ การเจาะเลือดโดยอ้างอิงและตรวจในระดับยีน ซึ่งการตรวจในรูปแบบเฉพาะรายบุคคลนี้จะช่วยให้การตรวจรักษามีความถูกต้องและเหมาะสมกับผู้เข้ารับการรักษาได้ดีที่สุด
       
       งานของฮาร์ท เจเนติกส์ ยังได้รับรางวัล 10 สุดยอดนวัตกรรมจาก สนช. ในปี 2550 หลังได้รับทุนสนับสนุนให้เป็นผู้วิจัย DNA ตรวจหายีนโรคไม่ติดต่อทั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วนและโรคมะเร็งได้สำเร็จ ระบุผลงานวิจัยนี้ถือเป็นนวัตกรรมระดับสูงและมีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ภาพ : www.siamhealth.net
       ตรวจได้มากกว่ามะเร็ง
       
       ความสำเร็จในการตรวจหาต้นเหตุของโรคในระดับยีนในปี 2546 ทำให้ ดร.คล้ายอัปสร ตัดสินใจนำความรู้ที่มีมาให้บริการในเชิงพาณิชย์ แม้จะต้องล้มลุกคลุกคลานกับการผันตัวมาให้บริการในเชิงพาณิชย์ อันเนื่องมาจากต้นทุนการตรวจรักษาที่สูง รวมถึงเรื่องดังกล่าวยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย จนทำให้ทุกวันนี้แล็บของฮาร์ท เจเนติกส์ ต้องใช้บ้านของ ดร.คล้ายอัปสรเป็นที่ทำการเพื่อลดต้นทุน
       
       “แรกๆ เราให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคหัวใจเป็นหลัก เนื่องจากญาติพี่น้องเสียชีวิตด้วยโรคเหล่านี้ แต่ในเมืองไทยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ทำให้เราต้องรับบริการในการตรวจเรื่องโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน”
       
       นอกเหนือจากการตรวจมะเร็งแล้ว ยังสามารถตรวจโรคอื่นๆ รวมถึงการตรวจยีนเพื่อค้นหาความเป็นอัจฉริยะของลูกก็สามารถตรวจพบได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฝึกฝนและพัฒนาอย่างถูกวิธีโดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่ความเป็นอัจฉริยะสามารถตรวจหา “พรสวรรค์” และครอบครัวสามารถฝึกฝน “พรแสวง” ให้พัฒนาไปพร้อมๆ กันเพื่อสร้างเด็กอัจฉริยะให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในช่วงเด็กแรกเกิดสามารถตรวจได้ทันทีจากการเจาะเลือด ซึ่งในช่วงวัย 3-5 ขวบเป็นช่วงของการบ่มเพาะความสามารถของเด็กให้พัฒนาอย่างถูกทางและเหมาะสมที่สุด
       
       รวมถึงปัญหาของเด็กออทิสติก หรือสมาธิสั้น ก็สามารถตรวจพบจากการตรวจยีนเช่นกัน เมื่อผู้ปกครองทราบตั้งแต่ต้นจะสามารถเตรียมการรับมือและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูแลได้อย่างถูกต้องต่อไป แต่สำหรับผู้ป่วยหรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถตรวจค้นหาโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อที่จะวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม และวางแผนในชีวิตและการรักษาโรคไว้ล่วงหน้า ก่อนที่โรคร้ายจะลุกลามเกินแก้ไข
       
       นอกจากนี้ยังตรวจหาโรคภัยเมื่อล่วงเข้าสู่วัยชราที่มักพบเจอกันบ่อย อันได้แก่ โรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ซึ่งโรคเหล่านี้จะสร้างปัญหาในช่วงวัยชราและเมื่อค้นพบแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกวิธี ซึ่งวิธีการตรวจในระดับยีนสามารถตรวจค้นโรคได้กว่า 10 โรค ดังนี้
       
       1.มะเร็งทุกชนิด 2. โรคหลอดเลือดหัวใจ-สมอง อุดตันจากคอเลสเตอรอล 3. โรคหัวใจอุดตันกะทันหัน 4. โรคเบาหวาน (เบาหวานเมื่ออายุเยอะและตรวจไม่พบในช่วงแรก) 5. โรคอ้วนจากพันธุกรรม 6. โรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ 7. โรคตับแข็ง 8. โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 9. สมาธิสั้น ออทิสติก และ 10. ความเป็นอัจฉริยะ
       
       ลึกกว่าตรวจสุขภาพทั่วไป
       
       ดร.คล้ายอัปสรอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการตรวจสุขภาพทั่วไปตามสถานพยาบาลต่างๆ กับการตรวจในระดับยีนว่า จุดที่แตกต่างกันก็คือ การตรวจเลือดโดยทั่วไปสามารถบอกได้เพียงว่าเป็นโรคใด จำนวนกี่โรค รวมถึงสามารถตรวจได้เพียงในรายการที่กำหนดไว้ ที่สำคัญคือ เป็นการตรวจภายหลังที่มีการป่วยหรือเกิดการติดเชื้อหรือขยายตัวของโรคแล้ว
       
       แต่การตรวจเลือดในระดับดีเอ็นเอ นอกจากจะสามารถรู้ว่าป่วยเป็นโรคใดแล้ว ยังสามารถรู้ถึงโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้ก่อนที่จะแสดงอาการ รวมถึงยังประเมินระยะเวลาในการเกิดโรค ไปจนถึงสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงระบุจุดที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้ โดยเทียบเคียงกับประวัติของครอบครัวและสิ่งแวดล้อมและข้อมูลการวิจัยเพื่อความแม่นยำในการพิจารณาเป็นข้อมูลให้กับแพทย์เพื่อเลือกวิธีการในการรักษาต่อไป
       
       เตรียมให้บริการตรวจอาร์เอ็นเอ
       นอกจากการให้บริการตรวจพลาสมาดีเอ็นเอแล้ว ในอีกไม่นานทางฮาร์ท เจเนติกส์จะเปิดให้บริการตรวจพลาสมาอาร์เอ็นเอ ซึ่งเป็นการตรวจในระดับที่ลึกมากขึ้น โดยไมโครอาร์เอ็นเอมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการและควบคุมการทำงานของเซลล์ ในด้านมะเร็งมีทั้งไมโครอาร์เอ็นเอที่ก่อให้เกิดมะเร็งและส่วนที่ต้านมะเร็ง หากส่วนที่ต้านมะเร็งลดลงและมีส่วนที่ก่อให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้น โอกาสการเป็นมะเร็งย่อมมีสูงขึ้น ไมโครอาร์เอ็นเอจึงเป็นตัวบ่งชี้ในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น
       
       นับเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์ที่ยังประโยชน์ต่อวงการแพทย์ ในการตรวจหาต้นตอของโรคที่เหนือกว่าการตรวจทั่วไป เพื่อที่จะหาทางหยุดยั้งโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ก่อนที่โรคร้ายจะลุกลาม ที่สำคัญการค้นพบนี้เป็นฝีมือของคนไทย

ภาพ : www.ostc.thaiembdc.org
       แม้ว่าความสำเร็จของฮาร์ท เจเนติกส์ ที่สามารถตรวจหาต้นตอของโรคต่างๆ ได้ตั้งแต่ในระดับที่อาการของโรคยังไม่แสดง ด้วยความล้ำหน้าในกระบวนการตรวจเทียบเท่าระดับโลก และเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ธุรกิจของดร.คล้ายอัปสรจึงเป็นที่ต้องการของทุนธุรกิจด้านสุขภาพรายใหญ่
       
       ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าธุรกิจของฮาร์ท เจเนติกส์ ได้สร้างผลกระเทือนต่อวงการสุขภาพมากมาย ทั้งโรงพยาบาลเอกชน สถาบันการแพทย์ทางเลือก ศูนย์บริการสุขภาพ หรือคลินิกตรวจสุขภาพทั่วไปที่นำนวัตกรรมการบริการรักษาแบบเซลล์บำบัดมาเป็นจุดขาย แต่หลายคนที่เข้าไปใช้บริการ อาจไม่รู้ว่าผลที่ตามมาของนวัตกรรมเหล่านั้นคือการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งฮาร์ท เจเนติกส์ ตรวจพบในระดับยีน
       
       ด้วยเหตุนี้การผันตัวออกมาให้บริการในเชิงพาณิชย์ของ ดร.คล้ายอัปสร จึงเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย จากเดิมที่มีโรงพยาบาลต่างๆ เคยป้อนลูกค้าให้ก็งดส่ง หรือแม้แต่ทีมทำงานภายในฮาร์ท เจเนติกส์ ก็ถูกซื้อตัวออกไป และยังมีคดีฟ้องร้องต่างๆ ตามมา รวมไปถึงปัญหากับผู้ถือหุ้น
       
       การใช้กลยุทธ์และอำนาจในทางธุรกิจและการใช้คดีความทำให้ฮาร์ท เจเนติกส์ต้องล้มลุกคลุกคลาน ประสบปัญหาในด้านผลการดำเนินงาน ภาระขาดทุน จนต้องแสวงหาวิธีการลดต้นทุนด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยการใช้บ้านเป็นสำนักงานแทน
       
       แม้จะแก้ปัญหานี้แล้วก็ตาม แต่กระบวนการไล่ล่าเพื่อหวังครอบครองนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ฮาร์ท เจเนติกส์ค้นพบนี้ยังคงไม่จบสิ้น ติดตามอ่าน ทุนใหญ่! กำจัด “คล้ายอัปสร” พ้นเส้นทางถอดรหัสยีน (ตอนที่ 2)

ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 มิถุนายน 2556

6625
โปรดเกล้าฯ ครม.ยิ่งลักษณ์ 1/5 ตามโผ นายกฯ ควบ รมว.กห.“ยุทธศักดิ์” เป็น รมช.กห. “เฉลิม” หลุดรองฯ นั่ง แรงงาน “พงศ์เทพ” เหลือเก้าอี้รองนายกฯ “นิวัฒน์ธำรง” ได้ดีนั่งรองฯ ควบ รมว.พาณิชย์ “ประชา” ไปรองนายกฯ “ชัยเกษม อสส.” นั่ง รมว.ยธ.แทน “สันติ” โยกอยู่สำนักนายกฯ “เบญจา” กรมศุลฯ นั่ง รมช.คลัง “ปวีณา” คุม พม.“วราเทอ ควบช่วยเกษตรฯ “จาตุรนต์” รมว.ศธ. “พีรพันธุ์” รมว.วิทย์ “วิเชษฐ์” ว่าการ ทส.“พ้อง” รมช.คค.“ยรรยง” ช่วย พณ.“วิสาร” มท.3 “สุกำพล-ศันสนีย์-ยุทธพงศ์-ประเสริฐ-ปรีชา-บุญทรง-ชัจจ์-เผดิมชัย-ชลน่าน-วรวัจน์” หลุดจากตำแหน่งโคตรป๋าเหนาะผลัดมือนั่ง
       
       วันนี้ (30 มิ.ย.) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า “ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ และประกาศครั้งสุดท้ายลงวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ นั้น
       
       บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า สมควรปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๑ และมาตรา ๑๘๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
       
       ๑. ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
       ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
       นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
       นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
       นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
       พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
       นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
       นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
       นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
       นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
       นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
       พลตำรวจโท ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
       พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
       นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
       นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
       นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
       นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
       
       ๒. ให้แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
       นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
       พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก เป็นรองนายกรัฐมนตรี
       นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรองนายกรัฐมนตรี
       นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
       นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกตำแหน่งหนึ่ง
       พลเอก ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
       นางเบญจา หลุยเจริญ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
       นางปวีณา หงสกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
       นายวราเทพ รัตนากร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกตำแหน่งหนึ่ง
       นายพ้อง ชีวานันท์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
       นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
       นายยรรยง พวงราช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
       นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
       นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
       ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
       นายพีรพันธุ์ พาลุสุข เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
       นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
       นายสรวงศ์ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
       
       ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๖ เป็นปีที่ ๖๘ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 มิถุนายน 2556

6626
หาม ผวจ.ร้อยเอ็ด ผ่าตัดด่วน หลังเป็นฝีที่ก้นด้านซ้าย เผยหากส่งช้า 3-5 ชม. อาจเสียชีวิต เหตุจะติดเชื้อในกระแสเลือด ล่าสุด พ้นขีดอันตรายแล้ว พร้อมเปลี่ยนห้องผู้ป่วยเป็นห้องทำงานราชการชั่วคราว...

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 มิ.ย.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีข่าวลือว่า นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม ผวจ.ร้อยเอ็ด ได้เข้า รพ.ร้อยเอ็ด อย่างฉุกเฉินเมื่อเวลา 18.30 น. วานนี้ (24 มิ.ย.)  เมื่อไปตรวจสอบ ที่ห้องหมายเลข 10 ชั้น 2 ของ ตึกมหาวีโร ใน รพ.ร้อยเอ็ด  พบ นายสมศักดิ์ นั่งอยู่บนเตียงคนป่วย ที่แขนเต็มไปด้วยสายระโยงระยางน้ำเกลือ แต่หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสพร้อมกล่าวทักทายผู้สื่อข่าว

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้าเมื่อเวลา 14.30 น. วานนี้ ได้เป็นประธานวางศิลาฤกษ์สร้างศาลาการเปรียญวัดราศีการาม บ้านโนนราษี ต.บึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซากเป็นเวลากว่า 10 ปี  หลังเสร็จภารกิจ ตนต้องไป รพ.ร้อยเอ็ดโดยด่วน เมื่อเวลา 18.30 น. เพื่อผ่าตัดเอาหนองออกจากใต้ผิวหนังอักเสบ(ฝี) ที่บริเวณก้นด้านซ้าย ก่อนที่เชื้อโรคจากแผลจะเข้ากระแสเลือด

ผวจ.ร้อยเอ็ด  กล่าวต่อว่า ตนต้องทนทรมานด้วยอาการเจ็บปวดและเป็นไข้สูงตลอดเวลามาเป็นเวลาหลายวันแล้ว แต่ต้องอดทน เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายอย่างติดต่อกัน ซึ่งขณะที่เข้าถึง รพ.ร้อยเอ็ด แล้ว แพทย์บอกว่า มีอาการบวมที่ก้นด้านซ้ายมือรุนแรงขึ้น  ถ้าหากตนไป รพ.ร้อยเอ็ด ช้าประมาณ 3 ชั่วโมง ถึง 5 ชั่วโมง อาจเกิดอันตรายถึงชีวิต เพราะจะติดเชื้อเข้ากระแสเลือด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาการของนายสมศักดิ์ พ้นขีดอันตรายแล้ว ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ได้นั่งบนเตียงคนป่วยลงนามหนังสือราชการที่สำคัญ โดยไม่ยอมพักผ่อน และ มีข้าราชการ ชาวบ้าน พนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวนมากพากันไปเข้าคิวเข้าเยี่ยม.

ไทยรัฐออนไลน์ 25 มิย 2556

6627
พบศพสาวใหญ่ ตายปริศนาคาเตียง เพื่อนบ้านคาด ผู้ตายกินทุเรียนควบคู่กับเหล้าขาว ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกเสียชีวิต...

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 มิ.ย.56 มีรายงานว่า ร.ต.ท.อุบล วงศ์คำชัย ร้อยเวรสอบสวน สภ.สัตหีบ รับแจ้งมีผู้เสียชีวิต ภายในบ้านเลขที่ 101/16 หมู่บ้านการเคหะนคร ซ.เย็นฤดี ม.6 ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จึงพร้อมด้วย เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย มูลนิธิสว่างโรจนธรรมสถานสัตหีบรุดไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุบนเตียงนอนไม้หน้าบ้านพบศพ นางจันทรา ฟูสกุล อายุ 47 ปี เจ้าของบ้าน นอนเสียชีวิตสภาพนอนหงาย คล้ายคนนอนหลับปกติ สวมเสื้อยืดคอกลม แขนสั้น สีน้ำเงิน นุ่งกางเกงขาสั้น สีดำ มีผ้าห่มคลุมทับ หน้าท้องข้างเตียงมีพัดลมเปิดอยู่ จากการตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบบาดแผล หรือร่องรอยถูกฆาตกรรม ใกล้กันพบ ขวดสุรา 30 ดีกรี และลูกทุเรียน พันธุ์ชะนี ที่คาดว่า ผู้ตายได้ดื่มและกินก่อนเสียชีวิต

จากการสอบปากคำ เพื่อนบ้าน ทราบว่า ผู้ตายเป็นคนชอบดื่มสุรา 30 ดีกรี (เหล้าขาว) เป็นประจำ ก่อนตายช่วงเย็นของเมื่อวานนี้ ผู้ตายได้กินทุเรียนเข้าไป นอกจากนี้ ยังนำมาแบ่งให้เพื่อนบ้านด้วย จึงคาดว่าผู้ตายได้ดื่มสุรา 30 ดีกรี ควบคู่กับการกินทุเรียน จนเกิดมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่าน กระทั่งมาพบนอนเสียชีวิตอยู่บนเตียงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ได้นำศพผู้เสียชีวิตส่งชันสูตรยังโรงพยาบาลสัตหีบ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง.

ไทยรัฐออนไลน์ 25 มิย 2556

6628
หนุ่ม นศ.แพทย์ เกิดบันดาลโทสะ ถูกคู่กรณีต่อยแล้วสู้ไม่ได้ จึงกลับไปเอาปืนมายิงบาดเจ็บ 3 ราย ก่อนถูกควบคุมตัวที่บ้านพัก โดนตั้งข้อหาพยายามฆ่า แต่ยังให้การปฏิเสธ...

เมื่อเวลา 00.30 น. วันที่ 22 มิ.ย.56 มีรายงานว่า ร.ต.อ.วินัย ระวิเดช พงส. สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ อ.เมือง เชียงใหม่ ได้รับแจ้งว่ามีเหตุ ยิงกันได้รับบาดเจ็บ ที่หน้าร้านอาหารบ้านดิน ถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 13 ต.สุเทพ จึงพร้อมกับ พ.ต.ท.บุญรักษ์ คำประพันธ์ รอง ผกก.สส. พ.ต.ท.พูนทรัพย์ รวมสุข สว.สส. นำกำลังตำรวจรุดไปสอบสวน

ที่เกิดเหตุ บริเวณหน้าร้านพบเพียงกองเลือดและหัวกระสุนปืนขนาด 9 มม. จึงเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน ส่วนคนเจ็บถูกส่งไปรักษาที่ รพ.มหาราช นครเชียงใหม่แล้ว 2 รายทราบชื่อต่อมา คือ นายนิโคลาส บราวด์ อายุ 35 ปี นักท่องเที่ยวชาวแคนาดาถูกยิงด้วยกระสุนปืน 9 มม.ที่กระดูกสันหลัง บริเวณบั้นเอวและนายแต ยุงลี อายุ 30 ปี ลูกครึ่งชาวเกาหลี ถูกยิงที่เอวขวา 1 นัด ส่วนคนเจ็บอีกรายถูกส่งไปรักษาที่ รพ.เชียงใหม่ราม ทราบชื่อว่า นายมอร์ริส ไชยวัฒน์เบรค อายุ 35 ปี ลูกครึ่งไทย-สกอตแลนด์ ถูกยิงทะลุที่สีข้างขวา

ต่อมาทางตำรวจได้นำพยานในร้านมาสอบสวน ทราบว่า ผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุคือ นายดนตร์ ประวีณเมธ อายุ 27 ปี เป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยก่อนเกิดเหตุผู้ก่อเหตุได้มาเที่ยวที่ร้านและมีเรื่องกันายมอริส พนักงานจึงเข้าไปห้ามและพามานอกร้าน และเกิดชกต่อยกันขึ้น นายดนตร์ถูกนายมอร์ริสชกเข้าที่เบ้าตาซ้ายจนบวมปูดเหนือคิ้วแตก จึงเกิดบันดาลโทสะขับรถยนต์เก๋งกลับไปที่บ้านพักเอาปืนพกสั้นขนาด 9 มม. ย้อนกลับมาที่ร้านและก่อเหตุจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

หลังจากก่อเหตุแล้ว นายดนตร์ ได้ขับรถกลับไปที่บ้านพัก ก่อนถูกตำรวจควบคุมตัวมาสอบสวน โดยยังให้การปฏิเสธ ต่อมา เช้าวันเดียวกัน พนักงานสอบสวนได้ไปขออนุมัติต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ออกหมายจับในข้อหาพยายามฆ่า และมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต

ไทยรัฐออนไลน์
22 มิถุนายน 2556

6629
หลังจากออกมาประท้วงกันอยู่นาน สำหรับกลุ่มแพทย์ชนบทที่ตอนแรกก็คัดค้านการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P : Pay for Performance) กันแบบหัวชนฝา ให้ตายอย่างไรก็ไม่ทำ เพราะมีการลดค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายลง นอกจากรายได้หดหายแล้ว ยังต้องมาบันทึกการทำงานอีกว่า วันๆ หนึ่งทำงานอะไรบ้าง เพื่อที่จะวัดและประเมินผลงาน หรือที่เรียกกันสวยหรูว่า KPI ซึ่งเป็นแนวทางที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องการให้มี จนถึงขั้นประณามว่าเป็นการล่าแต้มต่างๆ มากมาย
       
       มาวันนี้เรื่อง P4P ก็ทำท่าว่าจะจบลงด้วยดี เพราะตั้งแต่นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงมาเป็นตัวกลางในการหารือระหว่างฝ่ายแพทย์ชนบทและ สธ. ก็ได้ข้อสรุปให้มีการจัดตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขขึ้น ซึ่งมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เป็นประธาน
       
       โดยคณะทำงานชุดนี้ได้ตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมา 3 ชุด คือ

1.คณะทำงานย่อยชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิธีการจ่ายค่าตอบแทน P4P โดยมี พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นประธาน ซึ่งล่าสุดมีการพิจารณาแล้วว่าตัวเลขการเยียวยาที่ชัดเจนสำหรับโรงพยาบาลชุมชนอยู่ที่ 200-500 ล้านบาท สามารถดำเนินมาตรการเยียวยาได้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยหลักเกณฑ์ในการเยียวยาคือให้นำค่าตอบแทนเดิมตามฉบับ 4 และ 6 เป็นตัวตั้ง แล้วลบด้วยค่าตอบแทนฉบับ 8 หากได้รับค่าตอบแทนน้อยลงก็ให้ชดเชยตามส่วนต่างดังกล่าว โดยจะชดเชยย้อนหลังตั้งแต่ 1 เม.ย. 2556 ซึ่งเริ่มประกาศใช้หลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนฉบับ 8 เป็นวันแรก
       
2.คณะทำงานย่อยกำหนดตัวชี้วัดและประเมินผล (KPI) ที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลชุมชน มี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทเป็นประธาน เนื่องจาก P4P จะต้องมีการเดินหน้าต่ออย่างเป็นระบบพร้อมกันตั้งแต่ ต.ค. 2556 กลุ่มโรงพยาบาลชุมชนจึงต้องเตรียมทำระบบประเมินผลให้เหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจะต้องวัดผลเป็นรายโรงพยาบาลมากกว่ารายบุคคลที่วัดได้ยาก เพราะขอบข่ายงานโรงพยาบาลชุมชนจะเน้นในเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคให้คนในชุมชนมากกว่าการรักษาพยาบาล และ

3.คณะทำงานย่อยกลุ่มผู้ปฏิบัติงานอื่นที่อาจจะมีบางจุดต้องปรับ มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ.เป็นประธาน

       แต่เรื่องที่เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาก็คือ ชมรมแพทย์ชนบทได้เสนอร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนฉบับใหม่ หรือฉบับ 10 ขึ้นมา ซึ่งอิงเนื้อหาฉบับ 4 และ 6 รวมถึงมีการปรับพื้นที่โรงพยาบาลชุมชนใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง 211 แห่ง เช่น โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งมีการปรับพื้นที่ใหม่ให้เจริญขึ้น จากเดิมค่าตอบแทนแพทย์ที่ได้รับ 50,000 บาทต่อเดือน ก็เหลือ 30,000 บาท เป็นต้น จะช่วยลดงบประมาณที่ต้องจ่ายบุคลากรลงไปประมาณ 500 ล้านบาท ตรงนี้เองที่หลายฝ่ายต่างคิดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อวิชาชีพอื่น โดยเฉพาะพยาบาล เพราะเท่ากับว่าจะกลับไปได้ค่าตอบแทนน้อยเหมือนเดิม
       
       แม้ นพ.เกรียงศักดิ์ จะออกมาอธิบายว่า โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งที่เจริญขึ้นจะมีเพียงบุคลากรแพทย์และทันตแพทย์เท่านั้นที่จะได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายลดลง แต่ก็เป็นนัยว่าบุคลากรวิชาชีพอื่นจะได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่ายน้อยเท่าเดิม ขณะที่แพทย์และทันตแพทย์ยังคงได้มากเหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้เป็นการลดความเหลื่อมล้ำลงแต่อย่างใด ขนาด รมว.สาธารณสุข ยังออกปากเตือนว่า โดยหลักการแล้วเงินที่ได้รับต้องไม่น้อยกว่าเดิม และต้องไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในแต่ละวิชาชีพ
       
       ซึ่งเรื่องนี้ นพ.เกรียงศักดิ์ ก็ได้เตรียมทางออกไว้เช่นกัน โดยร่างแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบแทนเพิ่มเติมฉบับ 10.1 ให้กับวิชาชีพอื่นๆ เพื่อเพิ่มค่าตอบแทนให้ พร้อมระบุว่าได้พูดคุยกับวิชาชีพพยาบาลแล้วว่าทั้งหมดเป็นแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ
       
       สำหรับตัวเลขการเพิ่มเงินให้วิชาชีพอื่นที่ นพ.เกรียงศักดิ์ ร่างขึ้นมานั้น พบว่า วิชาชีพอื่นที่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี จะเพิ่มเงินให้ 300-400 บาท ระดับปริญญาตรีขึ้นไป 600-700 บาท เภสัชกรเพิ่มขึ้น 800-900 บาท
       
       ตรงนี้เองที่ทำให้วิชาชีพอื่นไม่พอใจ โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาล
       
       โดย ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 กล่าวว่า ข้อเสนอนี้เป็นเพียงการหารือเฉพาะพยาบาลในกลุ่ม นพ.เกรียงศักดิ์ เท่านั้น สภาการพยาบาลไม่เคยรับทราบและเห็นตัวเลขดังกล่าวมาก่อน เพิ่งจะได้รับทราบตัวเลขการเพิ่มเงินก็จากในที่ประชุมคณะทำงานฯ ซึ่งมองว่าการเพิ่มเงินให้แค่ 600-700 บาท ไม่ได้เป็นการลดความเหลื่อมล้ำใดๆ เลยแม้แต่น้อย เพราะช่องว่างก็ยังคงกว้างมากเหมือนเดิม
       
       ยกตัวอย่าง การทำงานปีที่ 1-3 ของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนพื้นที่ปกติ ค่าตอบแทนอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือน ขณะที่พยาบาลอยู่ที่ 1,200 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าพยาบาลได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าแพทย์ถึง 8.33 เท่า หากพยาบาลได้รับเงินเพิ่มขึ้น 600 บาท ตามที่ นพ.เกรียงศักดิ์ เสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็เท่ากับว่าพยาบาลจะได้รับค่าตอบแทน 1,800 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ยังได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าแพทย์อยู่ดีคือ 5.56 เท่า
       
       “พยาบาลได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าแพทย์มาก ทั้งที่เวลาการทำงานทั้งสองวิชาชีพต่างก็ต้องเกื้อกูลกัน และทำงานหนักไม่ต่างกัน และดูเหมือนว่าพยาบาลจะทำงานหนักกว่าด้วยซ้ำ เพราะทุกครั้งที่มาโรงพยาบาลถามว่าพบใครมากกว่ากันก็คือพยาบาล การดูแลผู้ป่วยเวรดึกก็เป็นหน้าที่ของพยาบาล ปฏิบัติงานแทนแพทย์ 24 ชั่วโมง ทำไมแพทย์ต้องได้มากกว่าพยาบาลถึง 20 เท่าในพื้นที่เดียวกัน การจะมาบอกว่าพยาบาลได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นมากไม่ได้เพราะมีคนเยอะหรือไม่ขาดแคลนคงไม่ถูก ข้อเสนอของแพทย์ชนบทจึงไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำจริง หากจะลดความเหลื่อมล้ำจริงอย่างน้อยขอให้ได้รับค่าตอบแทนประมาณ 60% ของค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับ”
       
       หากวิเคราะห์จากตัวเลขที่ ดร.กฤษดา เสนอ ทีมข่าวคุณภาพชีวิต ASTVผู้จัดการออนไลน์ คำนวณได้ว่า ค่าตอบแทนแพทย์และพยาบาลจะต่างกันอยู่ที่ 1.67 เท่าเท่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนระดับใดหรืออายุการทำงานเท่าใด เช่น แพทย์ได้รับค่าตอบแทน 10,000 บาทต่อเดือน พยาบาลก็จะได้รับค่าตอบแทนที่ 6,000 บาทต่อเดือน ต่างกันเพียง 1.67 เท่า หรือแพทย์ได้รับค่าตอบแทน 20,000 บาทต่อเดือน พยาบาลจะได้ที่ 12,000 บาทต่อเดือน ก็ต่างกันเพียง 1.67 เท่าเช่นเดิม
       
       เพื่อให้เปรียบเทียบกันอย่างชัดเจนว่าค่าตอบแทนแพทย์และพยาบาลเหลื่อมล้ำกันมากน้อยเพียงใด ทีมข่าวคุณภาพชีวิต ASTVผู้จัดการออนไลน์ได้ทำตารางเปรียบเทียบค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแพทย์และพยาบาลตามค่าตอบแทนเดิมฉบับ 4 และฉบับลดความเหลื่อมล้ำที่แพทย์ชนบทร่างขึ้น ดังนี้
       
       โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.3 และพื้นที่ชุมชนเมือง
       
       (เดิม) ระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ 10,000 บาท พยาบาล 1,200 บาท ต่างกัน 8.33 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 600 บาท แพทย์ 10,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 5.56 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 4-10 ปี แพทย์ 20,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 11.11 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 20,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 8 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 11-20 ปี แพทย์ 25,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 13.89 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 25,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 10 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 21 ปีขึ้นไป แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 16.67 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 12 เท่า

       โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.2 พื้นที่ปกติ
       
       (เดิม) ระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ 10,000 บาท พยาบาล 1,200 บาท ต่างกัน 8.33 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 600 บาท แพทย์ 10,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 5.56 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 4-10 ปี แพทย์ 25,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 13.89 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 25,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 10 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 11-20 ปี แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 16.67 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 12 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 21 ปีขึ้นไป แพทย์ 40,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 22.22 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 40,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 16 เท่า

       โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.2 พื้นที่ทุรกันดาร ระดับ 1
       
       (เดิม) ระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ 20,000 บาท พยาบาล 1,500 บาท ต่างกัน 13.33 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 600 บาท แพทย์ 20,000 บาท พยาบาล 2,100 บาท ต่างกัน 9.52 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 4-10 ปี แพทย์ 35,000 บาท พยาบาล 2,000 บาท ต่างกัน 17.5 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 35,000 บาท พยาบาล 2,700 บาท ต่างกัน 12.96 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 11-20 ปี แพทย์ 40,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 16 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 40,000 บาท พยาบาล 3,200 บาท ต่างกัน 12.5 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 21 ปีขึ้นไป แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 3,000 บาท ต่างกัน 16.67 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 3,700 บาท ต่างกัน 13.51 เท่า

       โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.2 พื้นที่ทุรกันดาร ระดับ 2
       
       (เดิม) ระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 3,000 บาท ต่างกัน 10 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 600 บาท แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 3,600 บาท ต่างกัน 8.33 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 4-10 ปี แพทย์ 45,000 บาท พยาบาล 3,500 บาท ต่างกัน 12.86 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 45,000 บาท พยาบาล 4,200 บาท ต่างกัน 10.71 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 11-20 ปี แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 4,000 บาท ต่างกัน 12.5 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 4,700 บาท ต่างกัน 10.64 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 21 ปีขึ้นไป แพทย์ 60,000 บาท พยาบาล 4,500 บาท ต่างกัน 13.33 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 60,000 บาท พยาบาล 5,200 บาท ต่างกัน 11.54 เท่า

       โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.1 พื้นที่ปกติ
       
       (เดิม) ระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ 10,000 บาท พยาบาล 1,200 บาท ต่างกัน 8.33 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 600 บาท แพทย์ 10,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 5.56 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 4-10 ปี แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 16.67 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 12 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 11-20 ปี แพทย์ 40,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 22.22 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 40,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 16 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 21 ปีขึ้นไป แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 1,800 บาท ต่างกัน 27.78 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 20 เท่า

       โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.1 พื้นที่ทุรกันดาร ระดับ 1
       
       (เดิม) ระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ 20,000 บาท พยาบาล 1,500 บาท ต่างกัน 13.33 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 600 บาท แพทย์ 20,000 บาท พยาบาล 2,100 บาท ต่างกัน 9.52 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 4-10 ปี แพทย์ 40,000 บาท พยาบาล 2,000 บาท ต่างกัน 20 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 40,000 บาท พยาบาล 2,700 บาท ต่างกัน 14.82 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 11-20 ปี แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 2,500 บาท ต่างกัน 20 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 3,200 บาท ต่างกัน 15.63 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 21 ปีขึ้นไป แพทย์ 60,000 บาท พยาบาล 3,000 บาท ต่างกัน 20 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 60,000 บาท พยาบาล 3,700 บาท ต่างกัน 16.22 เท่า

       โรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.1 พื้นที่ทุรกันดาร ระดับ 2
       
       (เดิม) ระยะเวลา 1-3 ปี แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 3,000 บาท ต่างกัน 10 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 600 บาท แพทย์ 30,000 บาท พยาบาล 3,600 บาท ต่างกัน 8.33 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 4-10 ปี แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 3,500 บาท ต่างกัน 14.29 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 50,000 บาท พยาบาล 4,200 บาท ต่างกัน 11.91 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 11-20 ปี แพทย์ 60,000 บาท พยาบาล 4,000 บาท ต่างกัน 15 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 60,000 บาท พยาบาล 4,700 บาท ต่างกัน 12.77 เท่า
       
       (เดิม) ระยะเวลา 21 ปีขึ้นไป แพทย์ 70,000 บาท พยาบาล 4,500 บาท ต่างกัน 15.56 เท่า
       (10.1) เพิ่ม 700 บาท แพทย์ 70,000 บาท พยาบาล 5,200 บาท ต่างกัน 13.46 เท่า

       จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าค่าตอบแทนระหว่างแพทย์และพยาบาลต่างกันลิบลับเราฟ้ากับเหว โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาลที่มีอายุงานเกิน 21 ปีขึ้นไปในโรงพยาบาลชุมชนระดับ 2.1 เขตพื้นที่ปกติ ที่ต่างกันถึง 27.78 เท่า แม้จะเพิ่มเงินให้อีก 700 บาทก็ยังต่างกันอยู่มากถึง 20 เท่าอยู่ดี จึงไม่แปลกใจที่วิชาชีพพยาบาลถึงได้เรียกออกมาบอกว่าค่าตอบแทนฉบับที่ นพ.เกรียงศักดิ์ ร่างขึ้นถึงยังคงความเหลื่อมล้ำอยู่
       
       สุดท้ายการเดินหน้าจ่ายค่าตอบแทนระบบใหม่ที่ผสมผสานทั้งเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและ P4P จะเป็นอย่างไร และจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนระหว่างแพทย์และวิชาชีพอื่นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมาลุ้นการทำงานของคณะทำงานชุดที่มี นพ.สุพรรณ เป็นประธานว่าจะทำงานออกมาได้ถึงกึ๋นและถึงใจวิชาชีพต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน กับระยะเวลาการทำงานเพียง 2 เดือน ก่อนที่จะมีการเดินหน้าจ่ายค่าตอบแทนระบบใหม่อย่างเต็มสูบในเดือน ต.ค. 2556

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 มิถุนายน 2556

6630
PwCเผยผลสำรวจพบคนวัยทำงานยุค Generation Y หรือ Millennials ของบริษัทจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของแรงงานทั้งหมดใน 3 ปีข้างหน้า และจะขึ้นแท่นการเป็นผู้บริหารแทนคนยุค Baby Boomers สะท้อนถึงเทรนด์ทั่วโลกภาคธุรกิจต้องเร่งปรับกลยุทธ์การทำงานแบบเก่า หรือ ‘Top-down approach’ เพื่อลดช่องว่างความแตกต่าง แนะต้องรักษาคนรุ่นใหม่ที่เป็น Talent ให้อยู่กับองค์กร

       วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) กล่าวถึงผลสำรวจ  “NextGen: A global generational study 2013” ว่า คน Gen Y คือผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523 - พ.ศ. 2538 ที่เติบโตมาในยุคดิจิตัล ที่เต็มไปด้วยการสื่อสารผ่านอีเมลล์ เทคโนโลยีบนมือถือ อินเทอร์เน็ต และสื่อออนไลน์ เช่น Facebook, Skypes, Facetime, Twitter และอื่นๆอีกมาก มีความเชื่อมั่นในความคิดเห็นของตนเองสูง และมีสไตล์การใช้ชีวิตอย่างสมดุล หรือWork/life balance
         
       “ประเด็นสำคัญที่เราพบคือ ตอนนี้หลายๆ องค์กรกำลังประสบปัญหาการทำงานร่วมกันของพนักงานในแต่ละ Gen ที่มีลักษณะนิสัย ความคิด ความเชื่อ รูปแบบการทำงาน และทัศนคติที่แตกต่างกันจนเกิดการทำงานที่เรียกว่า Out of Sync พูดง่ายๆ ก็คือเข้ากันไม่ได้” วิไลพร กล่าว
       
       “สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Personality Clash ระหว่างคนในแต่ละรุ่น คนยุคก่อนหน้ามองว่าคนรุ่น Gen Y เป็นพวกไม่ทุ่มเทกับการทำงาน ไม่มีน้ำอดน้ำทน เปลี่ยนงานบ่อย ไม่ฟังคำสั่ง แต่ในทางกลับกัน เด็กรุ่นใหม่ก็จะมองว่าคนรุ่นเก่าชอบวางอำนาจ ทำงานเชื่องช้า ทำงานแบบ Hierarchy ล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งหากมองแบบผิวเผิน ปัญหานี้ดูไม่ได้นักหนาอะไร เป็นปัญหาภายในที่ไม่ได้ส่งผลต่อการสร้างรายได้ หรือ Bottom line ให้กับบริษัท แต่จริงๆแล้ว ถ้ามองดีๆ มันเป็นปัญหาเชิงลึกที่ส่งผลต่อ Performance และ Turnover อย่าลืมว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนในองค์กรทั้งสิ้น”
       
       ผลสำรวจฉบับนี้ ถูกจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง PwC มหาวิทยาลัย Southern California และ The London Business School ผ่านการสำรวจพนักงานในกลุ่ม Gen Y และ Generation อื่นๆ กว่า 44,000 คน จากเครือข่าย PwC ใน 18 ประเทศทั่วโลก การสำรวจดังกล่าวใช้เวลา 2 ปีในการจัดทำ มีวัตถุประสงค์ที่จะทำความเข้าใจถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพนักงานในองค์กร ลักษณะนิสัย (Stereotype) ทัศนคติ และแรงจูงใจของคนทำงานในแต่ละรุ่น รวมทั้ง ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ให้พนักงานในองค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
       “ต้นกำเนิดของรายงานนี้เริ่มขึ้นเมื่อสิบปีก่อนในช่วงที่คน Gen Y เริ่มเข้ามาทำงานกับ PwC มากขึ้น แต่สิ่งที่เราสังเกตได้ในเวลาเดียวกัน คือคนรุ่นใหม่ๆที่เข้ามาทำงาน ก็อยู่กับเราได้ไม่นาน หลังจากสองสามปีก็ไป ประเด็นนี้ทำให้เราหันมาศึกษาอย่างจริงจังว่าอะไรเป็นปัจจัยหรือ Shift in Culture ที่เกิดขึ้น” วิไลพรกล่าว

       คน Gen Y เลือกความสมดุลมากกว่า เงิน ตำแหน่ง
       
       ผลสำรวจระบุว่า พนักงานในกลุ่ม Gen Y ให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว (Work/life balance) มากกว่าคนรุ่นอื่นๆ โดยร้อยละ 71 ของคน Gen Y มองว่าค่าตอบแทนหรือการเลื่อนตำแหน่งเป็นความสำคัญที่รองลงมา เปรียบเทียบกับคนรุ่นอื่น (Non Milliennials) ที่ร้อยละ 63
       
       ในขณะเดียวกัน พนักงานในกลุ่ม Gen Y กว่าร้อยละ 60 ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน (Greater flexibility) เช่น สามารถเลือกหรือปรับเปลี่ยนเวลาเข้าทำงานได้ หรือทำงานจากที่บ้าน หรือที่อื่นๆ และเชื่อว่าการได้มาซึ่งความสามารถในการผลิต (Productivity) ไม่ได้วัดกันที่จำนวนชั่วโมงที่ใช้ทำงาน แต่อยู่ที่ผลงานที่ได้มากกว่า (Results/goals achieved over time invested) ซึ่งแตกต่างกับคนรุ่นเก่าที่ถูกปลูกผังและเคยชินกับการทำงานหนักที่ทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง และความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
       
       วิไลพร กล่าวต่อว่า “ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เราพบคือ คนทำงานรุ่นนี้ (Gen Y) ต้องการรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมและกำหนดทิศทางของบริษัทไปพร้อมๆ กับการเติบโตในองค์กร ผู้บริหารจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของเด็กรุ่นนี้ให้ได้ และต้องสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ให้พนักงานทุก level มีส่วนร่วม กระตุ้นให้เกิดความคิดริเริ่ม ร่วมทำงานกับเพื่อนร่วมงานและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ”
       
       พนักงานในกลุ่ม Gen Y ร้อยละ 41 ต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน และผู้บริหารอย่างน้อยเป็นประจำทุกเดือน ในขณะที่คนรุ่นเก่ามักไม่ชินกับการแสดงความคิดเห็น หรือมักทำงานตามคำสั่งอย่างเดียวและไม่ได้รับ Feedback จนกว่าจะถึงรอบ Performance review cycles (ร้อยละ 30) 
       
       “คนรุ่นนี้ทำงานรวดเร็วและต้องการให้เจ้านายมีเสียงตอบรับกับผลงานอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาพัฒนาความสามารถ แทนที่จะนั่งรอรายงานวัดผลงาน คนเป็นผู้บริหารควรให้คำตอบรับ แนะนำ หรือติชมในทางสร้างสรรค์ ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามอยู่เสมอ เพราะคนรุ่นนี้มักคาดหวังว่าจะได้มีผลตอบรับจากนายจ้างทันที และที่สำคัญที่สุดคือการชื่นชมความสำเร็จของพวกเขาอย่างจริงใจ”
       
       ผลสำรวจยังระบุว่า คน Gen Y ยังมองหาโอกาสในการทำงานในต่างประเทศหรือ Opportunity oversea (ร้อยละ 37) ผิดกับคนรุ่นเก่า (ร้อยละ 28) ที่มักไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง หรือย้ายถิ่นฐานห่างจากครอบครัว

       แนวโน้มข้างหน้า
       
       เมื่อมองแนวโน้มในอนาคต “สำหรับประเทศไทยเอง ตอนนี้เราเริ่มเห็นหลายๆ องค์กรปรับกระบวนการทางด้าน HR ที่จะ Retain พนักงานให้เหมาะกับแต่ละ Gen อย่างจริงจังมากขึ้น เมื่อก่อนเราอาจจะมีแค่วิธีเดียว สูตรเดียวใช้กับทุกคนในองค์กร เดี๋ยวนี้เริ่มมีบางที่ ที่วิเคราะห์สัดส่วนจำนวนพนักงานแต่ละ Gen ว่ามีจำนวน Gen X กี่เปอร์เซ็นต์ Gen Y กี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อออกแบบกลยุทธ์ให้เหมาะสม อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ บางบริษัทเริ่มมีการประเมินผลงานในรูปแบบ Result-oriented โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของ Output มากกว่าปริมาณ”
       
       “นโยบายจากบนลงล่าง หรือ Top-down approach อาจจะเป็นรูปแบบการทำงานที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะคนทำงานรุ่นใหม่ที่เข้ามาในตลาดแรงงานมีการศึกษามากขึ้นกว่าเดิมและคนรุ่นนี้กล้าตั้งคำถามกับเจ้านาย คนรุ่นหลังๆเติบโตมากับการตั้งถามกับพ่อแม่ ครูอาจารย์ มากกว่าการทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว ถ้าองค์กรยังใช้วิธีบริหารแบบเดิมๆ ก็มีแนวโน้มที่คนรุ่นนี้จะไม่ตอบสนองกับวิธีการบริหารแบบใช้อำนาจและการควบคุม จนในที่สุดบางรายลาออกไป โดยเราไม่สามารถรักษาไว้ได้”
       
       “ทุกวันนี้จะเห็นพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนใน Gen Y และเริ่มมี Gen Z เข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงว่า มีผู้บริหารระดับกลางถึงสูงในบางองค์กรที่เป็นคนในรุ่น Gen Y แล้ว หากผู้บริหารสามารถวางกลยุทธ์เพื่อเชื่อมความแตกต่าง และลดช่องว่างระหว่างวัยของพนักงานเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพมากเท่าไร องค์กรก็จะยิ่งได้เปรียบทางการแข่งขัน ส่งผลดีทั้งในแง่การบริหารงานที่ได้ไอเดียมาจากคนรุ่นใหม่ และยังรักษาคนเก่งๆ ที่เป็น Gen Y โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปิด AEC ในปี 2558 ที่การโยกย้ายแรงงานจะเป็นไปอย่างเสรี เราจำเป็นที่จะต้องสร้างแรงดึงดูดเพื่อรักษา Talent ให้อยู่กับธุรกิจให้ได้” วิไลพรกล่าวทิ้งท้าย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 มิถุนายน 2556

หน้า: 1 ... 440 441 [442] 443 444 ... 650