แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 462 463 [464] 465 466 ... 534
6946
เมื่อเวลา 18.30 น.วันที่ 12 ต.ค.54 นพ.ทรงพล ชวาลตันพิพัทธ์ ผอ.โรงพยาบาลปทุมธานี ประสานโรงพยาบาลใกล้เคียงขอขนย้ายคนไข้จากโรงพยาบาลไปอยู่โรงพยาบาลอื่น เนื่องจากขณะนี้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลขึ้นมาในพื้นที่เขตตัวเมืองชั้นในแล้ว และที่ด้านหลังโรงพยาบาลแล้วก็ได้มีน้ำมาจ่อรอบโรงพยาบาลและริมถนนใกล้ รพ.มีน้ำขึ้นมาท่วมขัง ส่วนทางโรงพยาบาลได้เตรียมการทำคันล้อมยกคันสูงรอบโรงพยาบาลแต่ก็ยังไม่มั่น ใจว่ามวลน้ำที่จะไหลมาอย่างมหาศาลจะสูงกว่านี้อีกมากเท่าไรซึ่งยังไม่มีใคร คาดการได้ หรือหากว่าน้ำได้ไหลเข้าท่วมโรงพยาบาลถึงเวลานั้นแล้วทางโรงพยาบาลปทุมธานี คงไม่สามารถย้ายคนไข้ได้แน่นอนซึ่งจะพบกับอุปสรรคต่างๆตามมาทางโรงพยาบาล จึงได้ประสานโรงพยาบาลต่างจังหวัดช่วยรับคนไข้ที่จะส่งไปรักษายังโรงพยาบาล อื่นๆ และมีรพ.ราชบุรี รพ.สระบุรี รพ.ภูมิพล รพ.สมุทรปราการ รพ.สงฆ์ และรพ.ราชวิถี รวมคนไข้กว่า 50 ราย.

เนชั่นทันข่าว 12 ตค. 2554

6947
เมื่อนานมาแล้ว ปี พ.ศ. 2538 น้ำท่วมประเทศไทย ผมเขียนหนังสือร้อยพันปัญหาในการก่อสร้างเล่มที่ 3 เรื่อง “บ้านหลังน้ำท่วม” โดยมีเป้าหมายในการให้คนที่มีทุกข์จากการถูกน้ำท่วม ทราบแนวทางในการปรับปรุงบ้านของตนเองอย่างถูกวิธี และประหยัดงบประมาณ ซึ่งเป็นหนังสือที่ไม่มีลิขสิทธิ์ใดๆ จึงมีผู้จัดพิมพ์เพื่อแจกจ่ายไปเป็นจำนวนหลายแสนเล่ม

มาถึงวันนี้ คนไทยทั้งหลายเข้าใจเรื่องน้ำท่วมมากขึ้น ศึกษาข่าวสารบนความไม่ประมาทมากขึ้น และเริ่มมีการ “เตรียมตัว” เพื่อจัดเตรียมบ้านให้พร้อมก่อนที่น้ำจะมา จึงขอเขียนบันทึก “บัญญัติ 20 ประการ เตรียมบ้านก่อนน้ำท่วม” แบบสั้นกระชับนี้ขึ้น ซึ่งหวังว่าคงจะพอมีประโยชน์ครับ ขอให้หลับตาแล้วนึกภาพถึงว่าเรากำลัง “เตรียมเมืองรับศึกสงคราม” นะครับ

1. ดูทางน้ำที่จะมาสู่บ้านเรา แล้วจะไปทางไหนได้บ้าง   ขอให้คิดว่าเราเหมือนกำลังตั้งค่ายคูประตูหอรบอยู่ เราต้องรู้ว่าข้าศึกจะเข้ามาโจมตีเราทางทิศใดได้บ้าง และหากเกิดความพลาดพลั้งขึ้นมา เราจะหนีไปทางไหนได้บ้าง ซึ่งข้าศึกอาจจะเข้ามาตีเราหลายทางก็ได้ และเราก็อาจจะมีทางหนีไปหลายทางก็ได้ บางครั้งข้าศึกไม่ได้มาตีแค่ 2-3 ทาง แต่ทำการ “ล้อม” เราเอาไว้ทุกด้านก็ได้ ทำให้ทางหนีของเราถูกปิดกั้นไว้หมด

หากเมื่อรู้แนวทางเหล่านั้นแล้ว ก็ขอให้เริ่มวางแผนที่จะ“หยุดน้ำ หยุดข้าศึกที่จะเข้ามาโจมตีเรา” ซึ่งการหยุดยั้งน้ำหรือข้าศึกนั้น มีหลายวิธีที่ต้องจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการ“สร้างเขื่อนชั่วคราว” ด้วยกระสอบทราย หรือเอาแผ่นวัสดุใดๆ มากั้นก็ได้ การปิดกั้นนั้นมีหลายวิธี ซึ่งใช้ความเข้าใจพื้นฐาน บวกกับสอบหาข้อมูล ก็จะพอทราบกันเองได้ครับ

2.  กำแพงบ้านไว้กันน้ำได้แต่ต้องระวังรั้วพังนะครับ ตามปกติแล้ว รั้วบ้านที่เป็นคอนกรีตหรือก่ออิฐ จะเปรียบเสมือนกำแพงเมืองที่จะกันน้ำไม่ให้เข้ามาในบ้านของเรา แต่เราต้องไม่ลืมว่าน้ำหนักของน้ำที่ขังหรือถาโถมเข้ามากดที่ด้านข้างของกำแพงรั้วเรา จะทำให้รั้วบ้านของเราเกิดการเอียงหรือแตกร้าวหรือพังลงมากได้...

ทางป้องกันที่ง่ายที่สุดก็คือ เราหากระสอบทรายมาวางไว้อีกด้านหนึ่งของรั้วบ้านเรา...“กำแพงเมืองของเราก็ไม่แตก หรือล้มครืนลงมา” ครับผม

3.น่าจะมี “ปืน”ไว้สู้ฝน สู้น้ำท่วม จัดการกับ “รูรั่ว”บ้านหลายหลังที่มีรู มีรอยแตกเล็กๆ ตามผนังหรือช่องหน้าต่าง ตามรอยต่อของผนังกับเสาและคาน หรือแม้แต่ตามรั้วบ้าน ....เราก็น่าจะมีวัสดุอุดประสานรอยจำพวก ซิลิโคน หรือ อะคริลิค หรือ โพลี่ยูริเทน เอาไว้ เพื่ออุดรอยเหล่านี้ ...แต่การที่เราจะใช้วัสดุ ประสานที่มีความยืดหยุ่นและอยู่ในหลอดแข็งๆนี้ได้ เราจะต้องมีอุปกรณ์การ "ฉีด" ซึ่งภาษาช่างทั่วไปเขาเรียกกันว่า "ปืน" ซึ่งราคาไม่แพงเลยครับ

     4.อย่าให้ต้นไม้ล้มทับบ้าน ยามน้ำท่วมและพายุมาต้นไม้ทั้งหลายที่อยู่ในบ้านหรือใกล้บ้านเราจะเป็นอันตรายยามมีพายุมา เพราะต้นไม้อาจจะล้ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้ที่ล้อมจากที่อื่นมาปลูก เพราะต้นไม้เหล่านั้นไม่มี “รากแก้ว” ครับ) หรือ กิ่งต้นไม้บางประเภทที่ค่อนข้างเปราะ (เช่น ต้นประดู่กิ่งอ่อน) อาจจะหักลงมาสู่ตัวบ้านเรา ต้องทำการเล็มกิ่งหรือตัดกิ่งบางกิ่งออกไปเสีย

ยามเมื่อน้ำท่วม ระดับน้ำใต้ดินจะสูงมาก (หรือน้ำท่วมเข้ามาได้จริงๆ)รากของต้นไม้จะแช่น้ำเป็นเวลานาน รากต้นไม้จะเน่าได้ แล้วความสามารถในการยึดเกาะกับดินก็จะน้อยลง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้ใหญ่ที่ไม่มีรากแก้ว) ต้นไม้ก็อาจจะล้มลงได้ ต้องทำการค้ำยันลำต้นเอาไว้ให้ดี ก่อนน้ำจะท่วมครับ

สิ่งที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องการให้ปุ๋ย ซึ่งตอนที่น้ำท่วมห้ามให้ปุ๋ยต้นไม้ครับ เพราะจะทำให้รากเน่าเร็วขึ้น...

5.ตรวจสอบถังน้ำใต้ดิน บ้านใครมีถังน้ำใต้ดิน ต้องตรวจสอบ “ฝา” ของถังน้ำให้ดีๆ เพราะเวลาน้ำท่วม ถังน้ำจะอยู่ใต้น้ำด้วย หากฝาของถังน้ำมีระบบป้องกันน้ำเข้าไม่ดี น้ำสกปรกที่ท่วมเข้ามา ก็จะไปปนกับน้ำสะอาดในถังน้ำของเรา ปัญหาเรื่องโรคภัยต่างๆ ก็จะตามเข้ามาหาตัวเราโดยทันทีครับ

หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำเล็ดลอดเข้ามาในถังของเราได้ ก็ขอให้ต่อท่อน้ำตรงจากท่อประปาหน้าบ้าน เข้ามาที่ตัวบ้านของเราเลย (ปกติบ้านที่มีถังน้ำใต้ดินจะมีวาล์วหมุนเปิดทางให้น้ำประปาจากหน้าบ้านเราวิ่งผ่านเข้ามาในบ้านโดยไม่ลงไปที่ถังน้ำใต้ดินได้ต้องหาวาล์วตัวนี้ให้เจอแล้วต่อตรงเข้ามาเลยดีกว่า น้ำจะเบาลงหน่อยแต่ก็ยังเป็นน้ำสะอาด)

6. ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้านอกบ้าน ตัดกระแสไฟเสียภายนอกบ้านของเราจะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่างเช่น ปั๊มน้ำ เครื่องปรับอากาศ หรือแม้กระทั่งไฟสนาม และกริ่งหน้าบ้าน ต้องหาสวิตซ์ตัดไฟให้พบว่า จะต้องตัดไฟตรงไหนไม่ให้ไฟฟ้าวิ่งเข้าไปที่อุปกรณ์เหล่านั้นได้ ยามเมื่อน้ำท่วมเข้ามา ต้องทำการตัดไฟตรงนั้นเสีย...ส่วนการย้ายเครื่องมือย้ายอุปกรณ์เหล่านั้นในตอนนี้ หากแน่ใจว่าน้ำท่วมแน่ และมีช่างมาช่วยย้าย ก็อาจจะย้ายได้ แต่หากไม่มีช่างมาช่วย ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำเอง...

7.ป้องกัน งู เงี้ยว เขี้ยว ขอ ตะกวด และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ยามน้ำท่วม...ที่ทั้งเลื้อยและทั้งคลานเข้ามาในบ้านเรา เป็นสิ่งที่เราไม่ต้อนรับ และอาจเป็นผู้ทำอันตรายเราด้วย ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่า “รู” ต่างๆของบ้านเราจะต้องโดน “อุด” เอาไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรูที่ประตูหน้าต่าง หรือที่ผนังบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รูจากท่อระบายน้ำ” ที่พื้นบ้านของเรา (เขาชอบมาทางนี้กันครับ)

บางท่านอาจจะมีการโรย“ปูนขาว”ล้อมรอบบ้านเอาด้วยก็ได้ (ต้องมั่นใจว่าโรยรอบบ้านจริงๆและไม่ถูกน้ำท่วม หรือถูกฝนชะล้างจนหายไปหมด)เพราะปูนขาวจะกันสัตว์เหล่านี้ได้ นอกจากนี้ ก็น่าจะเตรียมยาฉีดกันแมลง ติดบ้านไว้ด้วย
   
8. เรื่องส้วม ส้วม ส้วม สุขา สุขา เป็นเรื่องของความสุขที่เปลี่ยนไปเป็นความทุกข์ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบส้วมที่เป็นระบบบ่อเกรอะ บ่อซึมแบบเดิม ที่น้ำจากการบำบัดจะต้องซึมออกสู่ดิน แต่พอน้ำท่วม น้ำจากดินภายนอกจะซึมเข้ามาในบ่อ ก็ทำให้บ่อเกรอะเต็มไปด้วยน้ำ ส้วมก็จะเกิดอาการ “อืด และ ราดไม่ลง” หากน้ำจากภายนอกท่วมมาก มีแรงดันมาก ก็อาจจะเกิดอาการ “ระเบิด” ทำให้สิ่งปฏิกูลต่างๆ พุ่งกลับมาที่โถส้วม ความสุขหายไป ความทุกข์ปล่อยออกไม่ได้

...ต้องปิดโถส้วมให้ดี หากเป็นโถส้วมนั่งราบที่มีฝาปิด ก็ต้องปิดฝาให้แน่น เอาเชือกผูกเอาไว้ หากเกิดอาการพุ่งขึ้น ก็จะไม่เรี่ยราดทำความสะอาดยาก ...

กรณีที่เป็นบ่อบำบัดสำเร็จ ซึ่งเขาจะทำงานโดยไม่ต้องมีบ่อเกรอะบ่อซึม ในเวลาปกติเขาจะบำบัดจนเสร็จภายในถังเอง แล้วก็จะระบายน้ำที่บำบัดเสร็จแล้วลงท่อระบายน้ำนอกบ้านของเรา ยามเมื่อน้ำท่วม น้ำจากบ่อบำบัดจะไหลระบายออกไปไม่ได้ เพราะระดับน้ำที่ท่วมอยู่สูงกว่าบ่อบำบัด ซึ่งเป็นการแก้อะไรไม่ได้  ต้องปล่อยไว้อย่างนั้นครับ

ถังบำบัดสำเร็จบางรุ่นจะมีมอเตอร์อัดอากาศเข้าไป (ซึ่งในบ้านส่วนใหญ่จะไม่ใช้รุ่นนี้) ก็ต้องตรวจดูว่ามอเตอร์อยู่ที่ไหน หากมอเตอร์น่าจะอยู่ในระดับที่น้ำท่วมถึง ก็ต้องตัดกระแสไฟไม่ให้เข้าไปสู่ตัวเครื่องกลนั้นครับ

สิ่งที่ต้องระวังก็คือ “ท่อหายใจ” ที่เป็นท่อระบายอากาศของระบบส้วมของเรา ต้องมั่นใจว่าท่อหายใจนั้นจะต้องอยู่สูงกว่าระดับน้ำที่มีโอกาสท่วม หากท่อหายใจของเราอยู่ระดับต่ำ ก็ต้อง “ต่อท่อ” ให้มีระดับสูงขึ้นให้ได้ จะต่อแบบถาวรก็ได้ (หากมีช่างมาทำ หรือเราทำเป็น) หรือจะต่อแบบท่อไม่ถาวร ก็คือเอาสายยางธรรมดา มาครอบท่อหายใจเดิม แล้วก็ยกให้ปลายท่อนั้นอยู่สูงขึ้นกว่าระดับน้ำที่คาดหมายว่าจะท่วมครับ

9. ปลั๊กไฟ สวิตซ์ไฟ ตรวจสอบและแยกวงจรเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของบัญญัติ 20 ประการของบทความนี้ เพราะอันตรายที่มองไม่เห็นก็คือเรื่องของ “ไฟฟ้า” ครับ แต่ในขณะเดียวกัน ไฟฟ้าก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตเสียแล้ว

หากบ้านของเรามีการแยกวงจรไฟฟ้าไว้ตั้งแต่แรก คือวงจรไฟฟ้านอกบ้าน วงจรไฟฟ้าชั้นล่าง และวงจรไฟฟ้าชั้นบน ก็ต้องปิดวงจรไฟฟ้านอกบ้านเมื่อน้ำท่วมนอกบ้าน หากน้ำสูงขึ้นมาจนเข้าในตัวบ้าน ก็ต้องปิดวงจรไฟฟ้าชั้นล่าง หากน้ำสูงขึ้นถึงชั้นสอง น่าจะหาทางออกจากบ้านเพื่อย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เพราะสวิตซ์หลักของบ้านโดยทั่วไปจะอยู่ที่ชั้นล่างระดับประมาณ 1.8 เมตรจากพื้นห้องครับ

กรณีที่บ้านไหนโชคดี วงจรไฟฟ้าชั้นล่างแยกวงจรออกมาเป็นระดับปลั๊กด้านล่างและระดับสวิตซ์บน ก็ค่อยๆ ตัดวงจรปลั๊กชุดล่างก่อนตามระดับน้ำที่ท่วมขึ้นมา...

ในกรณีที่วงจรบางวงจรที่ควบคุมทั้งปลั๊กหรือสวิตซ์ตัวล่างกับปลั๊กหรือสวิตซ์ตัวบน ก็จำเป็นต้องตัดวงจรทั้งหมด ห้ามเสี่ยงโดยเด็ดขาดครับ

อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆที่สามารถขนย้ายได้ในตอนนี้ ก็อาจขนย้ายขึ้นไปไว้ชั้นบนก่อน ยังไม่ต้องใช้ตอนนี้ก็ได้เช่น เตาไฟฟ้า เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องตีไข่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องชาร์จโทรศัพท์ ฯลฯ ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังต้องใช้งานอยู่ ก็ต้องเตรียมการขนย้ายขึ้นข้างบนเอาไว้เลย เช่น ไมโครเวฟ โทรทัศน์ วิทยุ เป็นต้น ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ การขนย้ายยุ่งยาก และหาที่วางยาก เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯต้องวางแผนว่าจะเอาอย่างไรในปัจจุบันและอนาคต หากยังใช้อยู่แล้วยามน้ำท่วมขึ้นจะมีคนช่วยขนหรือไม่ หรือจะทิ้งเอาไว้อย่างนั้น เรื่องไฟฟ้าเป็นอันตรายที่มองไม่เห็น และน้ำเป็น“สื่อไฟฟ้า”ด้วย ดังนั้นไฟฟ้าในบ้าน จึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องตรวจสอบและเตรียมการ

10.ตรวจสอบว่าประตูหน้าต่างแน่นหนาและแข็งแรงเพราะว่าประตูบ้านของเรา (ไม่ว่าจะเป็นประตูที่รั้วบ้าน หรือประตูที่ตัวบ้านเรา)  และหน้าต่าง เป็นจุดหนึ่งที่ถือว่ามีความอ่อนแอมากที่สุด มีโอกาสที่จะบิด หรือเผยอตัว หรืออาจจะหลุดออกมาทั้งบาน หากมีแรงดันน้ำมากๆ ดันเข้ามา

ดังนั้นเราจึงต้องตรวจสอบความแข็งแรงให้ดี ต้องพยายามที่จะใช้ “กลอน” ช่วยรับน้ำหนักทางด้านข้างด้วย การลงกลอนในบานประตูและหน้าต่างที่ไม่ได้ใช้เป็นปกติธุระ น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะป้องกันน้ำวิ่งเข้ามาที่ตัวบ้านของเราได้ครับ

หากหนักหนาจริงๆ ประตูหน้าต่างของเราดูจะอ่อนแอรับแรงดันน้ำไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องเอาไม้มาตีพาดขวางช่วยรับแรง หรือเอาของหนักๆมาวางช่วยดันประตูเอาไว้ (ต้องเป็นประตูด้านที่เราไม่ใช้โดยปกตินะครับ ไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาตอนที่เราจะหนีออกจากบ้าน หรือตอนที่คนเขาจะเข้ามาช่วยเราในบ้าน ยามเกิดวิกฤติครับ)

11.เตรียมระบบสื่อสารทุกประเภทเอาไว้ให้พร้อมระบบสื่อสารทุกอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นระบบโทรศัพท์ปกติหรือโทรศัพท์มือถือ ระบบอินเตอร์เน็ตทั้งมีสายและไร้สาย วิทยุ โทรทัศน์ หรือ อุปกรณ์สื่อสารพิเศษอย่างอื่น (เช่นระบบดาวเทียม วอร์คกี้ทอร์คกี้ เป็นต้น) เพราะการรับข่าวสาร และการติดตามข่าวสารเรื่องภัยน้ำท่วมที่จะมาถึงตัวเราเป็นเรื่องสำคัญ และไม่น่าจะเกิดความผิดพลาดในทุกวินาที

และหากน้ำท่วมแล้ว การขอความช่วยเหลือหรือสอบถามข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ณ วินาทีวิกฤตินั้นแน่นอน อีกทั้งระบบสื่อสารที่เรามีมิได้ใช้เพียงการที่เราช่วยตัวเอง แต่อาจจะมีผู้เดือดร้อนคนอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการคำปรึกษาจากเรา ก็สามารถติดต่อกับเราได้ ต้องคนละไม้คนละมือเสมอ ทุกคนล้วนลำบากทั้งสิ้น

12.ชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกอย่างเตรียมพร้อม 24ชั่วโมง อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่างมีความจำเป็นยามเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย วิทยุ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ มือถือ หรือแม้กระทั่งกล้องถ่ายภาพ ฯลฯ  จะต้องมีการชาร์จไฟไว้ให้เต็มร้อยตลอดเวลา เพราะยามน้ำท่วม ระบบไฟฟ้าทั้งหมดอาจติดขัดครับ

นอกจากอุปกรณ์ไฟฟ้าจะต้องชาร์จไฟให้เต็มที่แล้ว การใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเมื่อไฟฟ้าปกติไม่มา จะต้องประหยัดไฟด้วย เพื่อความมั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะทำงานได้เต็มที่ยามฉุกเฉิน อีกทั้งต้องเตรียมอุปกรณ์อื่นเสริมอีกด้วย เช่นไม้ขีดไฟ เทียนไข เป็นต้น

13.ย้ายของทุกอย่างให้อยู่ในที่ที่เหมาะสมข้าวของในบ้านของเรา ไม่ใช่เพียงเรื่องของอุปกรณ์ไฟฟ้าเท่านั้นที่เราจะต้องมีการจัดการย้ายให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดว่ามีความสำคัญ และอาจจะเสียหายได้เมื่อมีน้ำท่วม ตั้งแต่รถยนต์ ถังกาซ เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ ของขวัญ รูปภาพ ฯลฯ ขอให้ย้ายไปสู่ที่ที่เหมาะสม ซึ่งที่ที่เหมาะสมนั้นอาจจะอยู่ในตัวบ้านของเรา หรือจะย้ายออกไปเก็บไว้นอกบ้าน สถานที่อื่นที่คิดว่าปลอดภัย...แต่ของที่เราจะย้ายนั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นของทุกอย่างไปเลย เลือกเฉพาะที่เราคิดว่าต้องย้ายเท่านั้น  ของบางอย่างที่แช่น้ำได้ไม่มีปัญหา ก็ไม่ต้องขนย้ายก็ได้

14.ใช้พลาสติกซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่กลัวน้ำให้เป็นประโยชน์วัสดุส่วนใหญ่จะกลัวน้ำ หรือไม่สามารถที่จะสู้กับน้ำได้ แต่พลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่กลัวน้ำ ดังนั้นอุปกรณ์ต่างๆที่เป็นพลาสติก น่าจะต้องมีการเตรียมการเอาไว้ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นถังน้ำพลาสติก ท่อพลาสติก กระดานพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าหรือแผ่นพลาสติก ที่เราจะเอาไว้ใช้หุ้มอุปกรณ์หรือส่วนต่างๆของบ้านเรา ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ ฯลฯ แม้กระทั่งการหุ้มป้องกันตัวเรา หรืออวัยวะบางส่วนของตัวเราครับ

ขอให้หาซื้อผ้าหรือกระดานพลาสติกเก็บเอาไว้ใกล้มือเรา ยามฉุกเฉิน พลาสติกจะเป็นวัสดุอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์มากจนคาดไม่ถึงได้ครับ และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ “ห่วงยาง” ครับ

 15.เตรียมอาหาร น้ำดื่ม และยาให้พร้อมเพราะยามน้ำท่วมแล้ว เราอาจจะต้องติดอยู่ในบ้านของเราก็ได้ สิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีพของเราก็คือ “อาหาร” ที่ต้องเตรียมเอาไว้ ทั้งอาหารที่ต้องมีการปรุงด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า (หรือกาซ) กับอาหารที่สามารถกินได้เลย โดยไม่ต้องมีการปรุง และต้องเตรียมเรื่อง “น้ำดื่ม” เอาไว้ด้วย เตรียมให้เพียงพอสำหรับทุกคนประมาณ 3 วันครับ

ยาเป็นสิ่งสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องเตรียมเอาไว้ (ในที่ที่ปลอดภัย) ยาหลักๆก็คือ ยาแก้ปวด ยากแก้ไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ยาล้างแผล ยาแก้แพ้  ยากันแมลงและยาของโรคประจำตัวของทุกคน...

 16.บ้านชั้นเดียว ต้องตรวจสอบหลังคาด้วยสำหรับบ้าน 2 ชั้น หลังคาบ้านจะมีผลมากยามเมื่อฝนตกหนักๆ ซึ่งเราน่าจะต้องดูแลกันไปพอสมควรแล้วในเวลาที่เพิ่งผ่านมา แต่ในกรณีน้ำท่วมนั้นหลังคาไม่ค่อยมีผลมากเท่าไร เพราะน้ำท่วมจากข้างล่างขึ้นไป หากท่วมถึงหลังคาชั้นสอง เราก็น่าจะย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อนหน้านั้นแล้ว

แต่กรณีที่เป็นบ้านชั้นเดียว น้ำอาจจะท่วมชั้นล่างของบ้านอย่างรวดเร็ว หลังคาหรือส่วนของหลังคาจึงเป็นพื้นที่หลบภัยได้ชั่วคราวพื้นที่หนึ่ง เราจึงต้องตรวจสอบทางหนีทีไล่ของเรา กรณีที่เราต้องขึ้นไปหนีภัยบนหลังคา ซึ่งเราอาจจะขึ้นไปทางฝ้าเพดานของเรา (กรุณาอย่าลืมตัดวงจรไฟฟ้าที่บ้านทั้งหมดก่อนจะขึ้นไปบนฝ้าเพดานสู่หลังคานะครับ)

 17.ระวังโจร ระวังมาร ระวังผู้ชั่วร้ายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสลดใจที่สังคมน่าอยู่และเห็นอกเห็นใจของเมืองไทยเรา ได้ถูกลัทธิวัตถุนิยมเข้าครอบงำไปหลายส่วนแล้ว ดังนั้นเราจึงได้ข่าวเนืองๆว่า มีผู้ชั่วร้ายที่อยากได้ประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก เข้ามารังแกจี้ปล้นประชาชนที่กำลังลำบากทุกข์เข็ญ ...

ดังนั้น การเตรียมการป้องกันโจร จึงเป็นอีกประการหนึ่งที่เราต้องเตรียมการ อย่าเก็บของมีค่าเอาไว้ในบ้านของเรา เอาไปฝากที่อื่นก่อนดีกว่า เงินทองไม่จำเป็นที่ต้องพกมากมาย และคอยเฝ้าสังเกตบุคคลที่น่าสงสัย  การส่งเสียดังๆในบางครั้ง จะเป็นอาวุธป้องกันตัวเราได้

 18.เพื่อนบ้าน ต้องร่วมด้วยช่วยกันในกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องของการต่อสู้ป้องกันโจรประการเดียว แต่หมายถึงในทุกๆกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เรา “ขอความช่วยเหลือ” จากเพื่อนบ้าน แต่หมายถึงการที่ “เราจะช่วยเหลือเพื่อนบ้าน” ด้วย รวมๆกันก็หมายถึง “การสร้างชุมชนเข้มแข็ง” เพราะความรักที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เสมอยามที่คนเรามีความลำบากร่วมกัน ...

 19.เตรียมทางหนีทีไล่เพื่อออกจากบ้าน...หากถึงที่สุดแล้ว เราไม่มีทางต่อสู้ได้แน่ๆ  พ่ายแพ้แล้ว  การเตรียม “ทางหนี” เป็นเรื่องที่จำเป็น หากเราเตรียมทางหนีเอาไว้แต่แรก เราก็สามารถหนีได้ หนีทัน เกิดความเสียหายน้อยลง

ทางหนีจากกรณีน้ำท่วมบ้าน อย่าคิดเพียงทางหนีออกจากบ้าน แต่ต้องคิดให้จบว่าหนีออกไปแล้ว จะหนีด้วยอะไร มีเรือหรือห่วงยางหรือไม่ มีเชือกสาวตัวเองหรือไม่ จะพกอะไรติดตัวไปบ้าง (ที่สามารถพกพาแบกหามไปได้) และจะมุ่งหน้าไปทางทิศใด มุ่งหน้าไปไหน และจะไปหยุดที่ใด พักที่ใด กับใคร ทุกอย่างต้องคิดเป็นกระบวนการ และคิดให้จบวงจรไว้แต่แรกครับ

20.ตั้งจิตให้มั่น ตอนนี้ “สติ”สำคัญที่สุดอย่าเสียเวลากับการเกรี้ยวโกรธ อย่าเพิ่งด่าอะไรใคร อย่าโทษฟ้าดิน ยังมีเวลาและโอกาสอีกมากมายที่จะทำเช่นนั้น เวลานี้เป็นเวลาที่เราต้องตั้งสติ และคิด และเตรียมการอย่างเป็นระบบ เราต้องรับรู้ข่าวสารต่างๆอย่างทันต่อเหตุการณ์จากคนที่เชื่อถือได้ (ระวังคำพูดนักการเมืองนิดนะครับ)  ต้องฟังวิทยุ หรือแม้แต่ติดตามทางอินเตอร์เน็ต (เช่น http://www.thaiflood.com/  หรือ http://flood.gistda.or.th/  เป็นต้น)

ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์  สถ. ๓๔๔ ว.
ตุลาคม ๒๕๕๔
matichon.co.th  11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

6948
น้ำท่วมปีนี้หนักหนากว่าที่ใครๆคิด ไม่ว่าจะเกิดจากฝีมือมนุษย์ หรือจากธรรมชาติที่ประทานน้ำให้แก่มนุษย์มากเกินความต้องการ ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเรายังจำเป็นต้องดำรงชีวิตให้รอดท่ามกลางสภาพที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นนี้ต่อไป เราจึงมีวิธีการดูแลรถให้แก่ผู้ที่ยังจำเป็นต้องใช้รถเพื่อการประกอบอาชีพการงาน ให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

โดยระดับน้ำที่รถโดยทั่วไปสามารถแล่นผ่านได้คือ น้ำนิ่ง สูงไม่เกิน 6 นิ้ว แต่ถ้าน้ำไหล ต้องสูงไม่เกิน 4 นิ้ว ดังนั้นควรจอดรถลงมาสำรวจ  และคุยกับคนขับรถที่ผ่านมาว่าสถานการณ์น้ำเป็นอย่างไร เพื่อประเมินว่าคุณจะขับรถผ่านได้หรือไม่

หากตัดสินใจที่จะขับผ่าน ต้องขับรถบนส่วนที่ดูสูงที่สุดบนถนน และขับช้าๆ ประมาณ  2-3 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยเกียร์หนึ่งหรือเกียร์ต่ำ หากเป็นรถเกียร์ธรรมดา ให้เหยียบคลัชบ่อยๆ แต่ถ้าเป็นเกียร์อัตโนมัติให้เหยียบเบรกบ่อยๆ เพื่อไล่น้ำ อย่าแล่นเร็ว เพราะการเร่งความเร็วแค่ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะทำให้เครื่องยนต์เกิดความร้อน ใบพัดลมจะทำงาน และปัดน้ำเข้าห้องเครื่อง

นอกจากการขับรถเร็วจะเสี่ยงทำให้น้ำเข้าเครื่องยนต์หรือทำให้เกิดคลื่นน้ำที่จะไปทำลายคันดินหรือกระสอบทรายที่ก่อไว้ ยังเสี่ยงกับการควบคุมรถไม่ได้ด้วย แม้จะเป็นน้ำนิ่งก็ตาม เพราะถ้าแล่นรถเร็ว ยางรถจะไม่สัมผัสพื้นถนน ทำให้รถลอย และเสียการควบคุมในที่สุด ซึ่งหากควบคุมไม่ได้ ให้จับพวงมาลัยหลวมๆ และปล่อยให้รถเคลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะหากความเร็วลดลง ยางรถก็จะแตะพื้นถนนเอง

ส่วนข้อแนะนำอื่นๆ คือ ควรหยุดให้รถคันอื่นผ่านไปก่อนเพื่อลดความรุนแรงของคลื่นน้ำ เมื่อขับรถพ้นน้ำมาได้ให้เช็คระบบเบรกทันที และอย่าขับรถผ่านน้ำที่ไหลแรง เพราะรถอาจถูกพัดไปได้
_____________

ขับรถขณะน้ำท่วมควรทำอย่างไร?
 
1.ห้ามเปิดแอร์เด็ดขาด เพราะเมื่อเราเปิดแอร์ พัดลมจะทำงาน ทำให้ใบพัดพัดน้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง แล้วทำให้เครื่องดับ
   
2.ใช้เกียร์ต่ำ สำหรับเกียร์ธรรมดา เราควรใช้ประมาณเกียร์ 2 แต่หากว่าเป็นเกียร์ออโต้ สามารถใช้เกียร์ L ได้ รวมถึงการขับขี่ที่มีความเร็วต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรใช้ความเร็วอย่างสม่ำเสมอ อย่าหยุด หรืออย่าเร่งความเร็วขึ้น
   
 3.ไม่ควรเร่งเครื่องให้รอบสูงเกินไป ผู้ขับรถหลายคนมักเร่งเครื่องแรงๆเพราะกลัวเครื่องดับ เนื่องจากน้ำเข้าท่อไอเสีย ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเร่งเครื่องขึ้น ยิ่งจะทำให้รถมีความร้อนสูงยิ่งขึ้น ใบพัดระบายความร้อนก็จะทำงาน  และยิ่งทำให้น้ำเข้าเครื่องยนต์มากยิ่งขึ้น การสตาร์ตรถอยู่โดยที่รอบเดินเบา แม้ว่าจะแช่อยู่ในน้ำ (แต่ระดับน้ำต้องไม่สูงมากขนาดระดับกะโปรงรถ) แรงดันที่ออกมาเพียงพอที่จะดันน้ำออกมาได้

4.การลดความเร็วลง โดยเฉพาะในกรณีที่เมื่อกำลังจะขับรถสวนกับรถอีกคันหนึ่ง เพราะยิ่งขับเร็วมากเท่าไหร่ แรงคลื่นที่เกิดจากการปะทะก็จะแรงมากเท่านั้น และกระเด็นเข้าสู่เครื่องยนต์ได้ง่ายขึ้น

5.หลังจากลุยน้ำที่มีระดับลึกมา สิ่งแรกที่ควรทำคือ พยายามย้ำเบรกเพื่อไล่น้ำ เพราะในช่วงแรกๆจะเบรกไม่อยู่และเป็นอันตรายมาก

ขั้นตอนที่ควรทำทันที เมื่อรถยนต์ถูกน้ำท่วม

1.ล้างรถ รวมถึงการฉีดน้ำเข้าไปในบริเวณใต้ท้องรถและซุ้มล้อ เพื่อล้างเศษดินทรายที่ตกค้างหรือติดอยู่ออกให้หมด ซึ่งอาจมีเศษขยะหรือหญ้าแห้งติดอยู่ ที่อาจก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย เช่นเดียวกับกรณีของรถที่ติดตั้งตัวกรองไอเสีย หรือ CAT ที่ไม่แนะนำให้จอดในที่ที่มีหญ้าขึ้นสูง เนื่องจากอุณหภูมิของ Catalytic Converter ค่อนข้างสูง และอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ง่าย

2.พึงเอาไว้ว่าอย่าทำการสตาร์ทรถ หรือบิดกุญแจให้ไฟออนโดยเด็ดขาด จากนั้นเดินไปเปิดฝากระโปรงรถและปลดขั้วแบตเตอรี่ทันที โดยจะปลดขั้วใดขั้วหนึ่งหรือจะปลดทั้ง ขั้วบวกขั้วลบก็ได้ (จริงๆถ้าคุณคาดว่าน้ำจะท่วมสูงถึงห้องเครื่องให้เตรียมปลดขั้วแบตเตอรี่ เอาไว้ล่วงหน้าก่อนจะเป็นการดีที่สุด) เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟเข้าไปเลี้ยงระบบต่างๆของรถ รวมถึงเครื่องยนต์

3.เปิดประตูออกทุกบาน ให้ลมโกรก หรือถ้ามีแดดให้จอดตากแดด จากนั้นถอดเบาะนั่ง พรม ผ้าต่างๆ ที่อยู่ภายในรถออกมาซักทันที เพราะถ้าทิ้งเอาไว้นาน ความเหม็นอับจะมาเยือน และเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและเชื้อโรคต่างๆ

4.เริ่มเข้าสู่กระบวนการทางเทคนิคที่พอจะทำได้เอง คือ ปลดทุกอย่างที่เป็นขั้วไฟฟ้า ในกรณีที่เป็นเครื่องเบนซินให้ใช้ลมเป่าไปที่เบ้าหัวเทียนไล่น้ำออกให้หมดทุกซอกทุกมุม จากนั้นให้ถอดหัวเทียนออก ตรวจดูแผงฟิวส์ตัวฟิวส์ กล่องรีเลย์ต่างๆรวมทั้งกล่องอีซียูต้องถอดออกให้หมดตากแดดทิ้งไว้ ตรวจดูปลั๊กไฟใช้ลมเป่าทำความสะอาดทั้งหมด หรือใช้สเปรย์ไล่ความชื้นฉีดทิ้งไว้

5.สำรวจน้ำมันเกียร์ ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ คือถ้ามีลักษณะคล้ายสีชาเย็น นั่นแสดงว่ามีน้ำเข้าไปปะปนแล้ว ต้องรีบเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทันที เช่นเดียวกับน้ำมันเกียร์ รวมถึงเปลี่ยนกรองอากาศ ซึ่งประเด็นนี้ใครทำเองได้ก็ทำเลย เพราะยิ่งจัดการเร็วโอกาสที่สนิมจะมาเยือนก็น้อยตามไปด้วย แต่ถ้าไม่ไหวก็ต้องเข้าศูนย์บริการหรืออู่ ซึ่งจะมีขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายที่ถูกต้องและละเอียดมาก

6.เพลาขับ หากยางหุ้มเพลาขาดน้ำจะเข้าไปนำเอาจารบีออกไป ต้องอัด จารบีใหม่และเปลี่ยนยางหุ้มเพลาด้วย อีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือลูกปืนล้อทั้งหน้าและหลังที่มีอยู่ในรถทั่วไป ต้องนำออกมาล้างอัดจารบีใหม่แล้วใส่กลับคืนที่ด้วยการปรับใหม่ให้แน่นตามลำดับไม่แน่นเกินไปจนล้อหมุนฝืด

7.ในกรณีที่เป็นเครื่องเบนซินให้ใช้ลมเป่าไปที่เบ้าหัวเทียนไล่น้ำออกให้หมดทุกซอกทุกมุม จากนั้นให้ถอดหัวเทียนออก ตรวจดูแผงฟิวส์ตัวฟิวส์ กล่องรีเลย์ต่างๆรวมทั้งกล่องอีซียูต้องถอดออกให้หมดตากแดดทิ้งไว้ ตรวจดูปลั๊กไฟใช้ลมเป่าทำความสะอาดทั้งหมด หรือใช้สเปรย์ไล่ความชื้นฉีดทิ้งไว้

8.โคมไฟหน้าเลนส์ ไฟท้าย เบาะนั่ง พรมปูพื้น ที่ถอดออกมาตากแดดแห้งแล้วยังไม่ต้องรีบใส่ แม้ว่าส่วนประกอบอื่นๆจะแห้งดีแล้ว ให้เอารถออกตากแดดเปิดประตูรถทุกบาน พยายามให้แผงหน้าปัดรถตากแดดแรงๆเพื่อไล่ความชื้นออกจากแผงหน้าปัดให้หมด

9.เมื่อแน่ใจว่าทุกอย่างแห้งสนิทดีแล้วค่อยใส่ทุกอย่างที่ถอดออกจากในห้องเครื่องเข้าที่ให้หมด ยกเว้นหัวเทียนในกรณีของรถเครื่องยนต์เบนซินหรือหัวฉีดในกรณีเครื่องดีเซล ให้ยกแบตเตอรี่เข้าที่ก่อนโดยใส่ขั้วแบตเตอรี่ เสียบกุญแจบิดกุญแจไปจังหวะแรก(จังหวะสำหรับตรวจมาตรวัดต่างๆก่อนสตาร์ทรถ) หากเกจ์วัดไหนยังไม่ทำงานอย่าเพิ่งกังวล ให้เปิดสวิตช์ค้างไว้แล้วลงมาตรวจสอบที่ห้องเครื่องยนต์ว่ามีควันหรือความร้อนอะไรเกิดขึ้นจากการใช้ไฟจากแบตเตอรี่หรือไม่ เมื่อแน่ใจว่าไม่มีทุกอย่างปกติดีจึงค่อยบิดกุญแจปิดสวิตช์

10.ตรวจสอบเบ้าหัวเทียนอีกครั้งว่ามีอะไรติดขัดหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่ หากดูแล้วว่าเรียบร้อยดีให้ลองสตาร์ทเครื่องใหม่ โดยคนหนึ่งบิดกุญแจส่วนอีกคนหนึ่งคอยเช็คที่รูหัวเทียน เมื่อเครื่องหมุน หากถ้ามีน้ำ น้ำจะถูกพ่นออกมาทางรูหัวเทียน ให้สตาร์ทต่อไปจนแน่ใจว่าน้ำถูกพ่นออกมาจนหมด ต่อไปก็ให้ใส่หัวเทียนเข้าที่ หากทำมาถูกต้องและไม่มีอุปกรณ์อื่นที่เสียหายรุนแรง เมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ หากว่าได้ยินเสียงเครื่องยนต์ทำงานดังกระหึ่มขึ้นตามมา แสดงว่าทุกอย่างเป็นปกติ

วิธีการยกรถหนีน้ำ ด้วยการนำแม่แรงที่อยู่ภายในรถงัดรถให้สูงขึ้น จากนั้นให้นำก้อนอิฐไปค้ำล้อรถทั้ง 4 ล้อให้สูงเหนือระดับน้ำ ส่วนกรณีที่รถอาจต้องจมน้ำ ข้อแนะนำคือควรปิดกระจกให้แน่น หลังจากนั้นให้ถอดขั้วแบตเตอรี่ ขั้วบวกหรือขั้วลบออก เพื่อป้องกันระบบไฟฟ้าภายในรถช็อต

ภายหลังน้ำท่วมรถ ให้แกะลูกยางที่อยู่ใต้ท้องรถออก เพื่อเป็นการระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่ภายในรถ

เมื่อรถยนต์ถูกน้ำท่วมทั้งคันควรทำอย่างไร?

1.ห้ามเปิดสวิตช์ไฟหรือสตาร์ตเครื่องเด็ดขาด และถอดสายแบตเตอรีออก

2.ลากรถยนต์ออกจากน้ำให้เร็วที่สุด เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานจะก่อให้เกิดความเสียหายบริเวณตัวรถเพิ่มขึ้น

เมื่อรถจมน้ำทั้งคัน หลายคนเข้าใจว่าไฟฟ้าจะลัดวงจร แต่ในความเป็นจริงไฟฟ้ายังไม่ได้ลัดวงจรเพราะว่าไม่มีไฟฟ้าลงดิน แต่ความเสียหายจะเกิดขึ้นหลังจากที่ระบบอิเลคทรอนิกส์ต้องจมอยู่ในน้ำ และจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อมอเตอร์ไฟฟ้า กล่องอีซียูซึ่งปัจจุบันใช้ระบบกล่องรวมที่ควบคุมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นแอร์ ไฟส่องสว่างและเครื่องยนต์

หลังจากกู้รถขึ้นจากน้ำแล้ว ข้อห้ามอย่างแรกที่สำคัญคือห้ามติดเครื่องยนต์เด็ดขาด จนกว่าจะตรวจสอบจนแน่ใจว่าไม่มีน้ำค้างในเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง รถที่ถูกน้ำท่วมต้องเปลี่ยนถ่ายของเหลวและกรองต่างๆออก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีฝุ่นหรือดินโคลนค้างอยู่ การซ่อมบำรุงรถน้ำท่วมจะต้องทำโดยช่างผู้เชี่ยวชาญรถยี่ห้อนั้นจริงๆ เพราะแทบจะต้องประกอบใหม่ทั้งคันทีเดียว
_____________

วิธีป้องกันรถแบบไทยๆ

เว็บไซต์ rackmanagerpro.com ได้เสนอไอเดียให้มีการประดิษฐ์ "ถุงคลุมกันน้้ำแบบกลับหัวกลับหาง" ซึ่งเหมาะสมกับฤดูฝนของบ้านเราเป็นอย่างดี แค่นี้ผ้าคลุมรถธรรมดาๆ ก็ป้องกันน้ำท่วมรถยนต์คันงามของคุณได้แล้ว

มาใช้ผ้าคลุมรถกันน้ำท่วมเพื่อป้องกันรถคุณจากน้ำท่วมกันเถอะ!

เริ่มใช้ผ้าคลุมรถ โดยเลือกเอาขนาดไซซ์ XL หรือยิ่งใหญ่ยิ่งดี เพราะจะได้สวมใส่กันได้สะดวก และเนื่องจากไอเดียครั้งนี้คือ การเอาผ้าคลุมรถแทนที่จะใส่จากด้านบน ก็เอามาใส่จากด้านล่างแทน ดังนั้น ตอนที่เลือกผ้าคลุมรถ จึงต้องเลือกผ้าหรือเป็นวัสดุที่สามารถกันน้ำได้ด้วยเท่านั้น

และหากว่าอยากให้ผ้าคลุมดังกล่าวสามารถปกป้องรถได้อย่างเต็มที่ และไม่หลุดรุ่ยง่ายๆ ควรติดขอบยาง เพื่อให้กระชับพอดีกับตัวรถ

เริ่มต้นให้วางผ้าคลุมรถไว้ ณ ตำแหน่งที่คุณอยากจะจอดรถเอาไว้ แล้วก็ให้คนจับมุมเอาไว้ทั้งสองฝั่ง หลังจากนั้นก็ให้คนขับถอยรถช้าๆ การถอยรถต้องค่อยๆถอย โดยผ่านมุมเข้าผ้าคลุมช้าๆเป็นแนวเดียวกับผ้าคลุมรถ และ ผ้าคลุมควรจะต้องขึงตึงเอาไว้ เพราะ เราไม่อยากจะให้รถเหยียบผ้าคลุมเอาไว้ เดี๋ยวมันจะยกขอบผ้าคลุมไม่ขึ้นครับ

เมื่อถอยรถได้ตำแหน่งอยู่กลางผ้าคลุมแล้วก็ให้คุณเอาขอบของผ้าคลุมคลุมเอาไว้รอบคัน ทั่วทั้งคันครับ และ สำหรับการป้องกันที่จะทำได้จริง คุณจะต้องติด tape กาวแบบที่เมื่อมีน้ำชะจะต้องไม่หลุดลอกออกมาด้วยครับ แนะนำว่าให้แปะก็แปะทั่วทั้งคันเพื่อความมั่นใจได้ว่า น้ำจะไม่ซัดหรือดึงผ้า หรือไปกร่อนเนื้อกาวเพื่อให้ผ้าคลุมหลุดลอกออกมาได้ง่ายๆ

หรือปฏิบัติตามขั้นตอนง่ายๆดังนี้

1. ซื้อยางรถสิบล้อมา 3 เส้น
2. นำยางรถที่ยังไม่ได้สูบ สอดไว้ใต้ท้องรถ
3. สูบลมเข้าไปทั้ง 3 ล้อ ก่อนสูบควรผูกเชือกตำแหน่งต่างๆ เพื่อยึดรถให้อยู่กับล้อ
4. ผูกเชือกล่ามรถไว้กับเสาบ้าน หรือหลักที่แน่นหนา ป้องกันรถลอยไปตามน้ำ
5. รถจะปลอดภัยในช่วงน้ำท่วม และสามารถใช้เป็นที่พักชั่วคราวได้

matichon.co.th 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

6949
สธ.ปรับยุทธศาสตร์แก้ปัญหาน้ำท่วมเข้มข้นขึ้น  เร่งเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด ระดมแพทย์เข้าเสริม ใช้รพ.บางปะอิน ศูนย์ผ่าตัด

วันนี้ (12 ต.ค.) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมผู้บริหารและประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับยุทธศาสตร์ในการจัดการแก้ไขปัญหาพื้นที่น้ำท่วมให้เกิดประสิทธิภาพเข้มข้นมากขึ้น โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้สั่งการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแต่ละจังหวัด  ให้ผู้ตรวจราชการเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำประสานข้ามจังหวัด และมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 4 คน เป็นผู้ติดตามการดำเนินงานและประสาน กรมวิชาการ  ส่วนวอร์รูมใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข  จะสนับสนุนเวชภัณฑ์ เสื้อชูชีพ เครื่องกรองน้ำ เตียงสนาม เรือ และยานพาหนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน

ขณะนี้ได้แบ่งสถานการณ์น้ำท่วมออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มสถานการณ์รุนแรง 2.กลุ่มที่ผ่านระยะรุนแรงเข้าสู่ระยะฟื้นฟู  และ 3.กลุ่มที่ยังไม่เกิดสถานการณ์ เช่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมและการป้องกันไว้  แต่ละกลุ่มจังหวัดจะต้องมีแผนปฏิบัติการ และมีกรมวิชาการต่าง ๆ เข้ามาช่วยในภารกิจต่างๆ โดยประสานกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สั่งการของแต่ละจังหวัด

สำหรับเรื่องโรคระบาด ในขณะนี้ต้องเฝ้าระวังในเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม คือเรื่องขยะ สิ่งขับถ่าย  จากการที่เข้าไปดูแลที่จุดอพยพอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งค่อนข้างจะเป็นปัญหา เนื่องจากมีประชาชนมีอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมาก ซึ่งในวันนี้ได้ให้กรมอนามัยสร้างส้วมสนาม ส้วมลอยน้ำให้ประชาชน และดูแลเรื่องน้ำดื่ม ป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด

ทั้งนี้โรคระบาดที่มากับน้ำท่วมต้องเฝ้าระวัง 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ไข้หวัด ตาแดง และไข้เลือดออก ส่วนโรคที่ป่วยกันมากคือโรคน้ำกัดเท้า  ขอให้ประชาชนดูแลอย่าให้มีบาดแผลที่เท้า และให้ล้างเท้าให้สะอาดหลังจากลุยน้ำแล้วทุกครั้ง

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สำหรับการให้บริการผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมทีมแพทย์จากจังหวัดที่น้ำไม่ท่วม เช่นจังหวัดชลบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา สุราษฎรธานี ภูเก็ต เป็นต้น ร่วมออกให้บริการประชาชนในจังหวัดที่น้ำท่วม  พร้อมกับยกระดับโรงพยาบาลบางปะอิน เป็นโรงพยาบาลทั่วไปให้สามารถผ่าตัดได้ โดยใช้ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลชลบุรี  ส่วนที่ปทุมธานี ขณะนี้โรงพยาบาลปทุมธานีได้ย้ายผู้ป่วยหนัก 31 ราย เริ่มตั้งแต่วานนี้ เข้ามาโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง และดูแลผู้ป่วยที่เหลือต่อ.

เดลินิวส์ 12 ตุลาคม 2554

6950
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เดินทางมายังเทศบาลเมืองบางบัวทอง เพื่อฟังบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่ทหารหน่วย นปอ. ( หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศทหารบก) เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนนทบุรี โดยเฉพาะในเขตอำเภอบางบัวทอง ที่ถูกน้ำเข้าท่วมในหมู่บ้านหลายพื้นที่แล้ว และยังมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลบางบัวทอง ที่กระสอบทรายแนวคันกั้นน้ำเกิดพังทลายลง ทำให้น้ำเข้าท่วมในพื้นที่ของทางโรงพยาบาล ทางเจ้าหน้าที่ทหารจึงต้องระดมกำลังลงพื้นที่เพื่ออุดรอยรั่วไม่ให้น้ำเข้าท่วมโรงพยาบาล
    โดย ผบ.ทบ.ได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศทหารบกซึ่งเป็นหน่วยงานทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ของจังหวัดนนทบุรี จัดทำแผนป้องกันน้ำและแผนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม และยังได้สั่งการให้เตรียมแผนอพยพฉุกเฉินเอาไว้ด้วย หากสถานการณ์รุนแรงเกินกว่าที่แผนทั้งหมดจะรับมือไหว จากนั้น ผบ.ทบ. จึงเดินทางไปดูแนวป้องกันน้ำที่โรงพยาบาลบางบัวทองด้วยตนเอง ซึ่งระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 1 เมตร โดยทางเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังพลลงพื้นที่กว่า 500 คน พร้อมทั้งรถและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือประชาชนในเขตอำเภอบางบัวทอง ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมแล้ว

เนชั่นทันข่าว 12 ตค. 2554

6951
รพ.ขอนแก่น มุ่งสู่ระบบ รพ.สุขภาพพอเพียง บริหารจัดการระบบการบาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉินแบบครบวงจรตามมาตรฐานสากล ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ในระดับภูมิภาค

ขอนแก่น/ น.พ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า รพ.ขอนแก่น เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิ ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่บาดเจ็บและฉุกเฉินที่มารับบริการรักษาพยาบาลเอง และให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยที่ส่งต่อมาขอรับบริการจากโรงพยาบาลในเครือข่าย เขต 12 (มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์) และโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดขอนแก่น ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า "โรงพยาบาลขอนแก่นมุ่งสู่ระบบสุขภาพพอเพียง" ดังนั้น จึงได้กำหนดเป้าหมายหลักในการพัฒนาและแผนการดำเนินงาน ที่เน้นในเรื่องของการสร้างระบบบริการสุขภาพเชิงรุก สร้างระบบการบริการสุขภาพและการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีอย่างพอประมาณตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้ผู้รับบริการมีความอุ่นใจและผู้ให้บริการมีความสุข รวมทั้งพัฒนาสมรรถนะบุคลากรอย่างครอบคลุมทุกระดับ

น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด กล่าวว่า ศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤติบำบัด รพ.ขอนแก่น มีการดำเนินงาน 4 แผนงานหลัก คือ งานป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ/ งานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน/งานดูแลผู้บาดเจ็บและป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาล/ศูนย์จัดการความรู้เรื่องการบาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉินครบวงจร ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าวนี้จะแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มภารกิจและ 1 ในภารกิจนั้นจะเป็นกลุ่มภารกิจด้านผลิตและพัฒนาบุคลากร โดย รพ.ขอนแก่นได้รับการประสานจากสำนักงานองค์การอนามัยโลกที่ดูแลประเทศแถบภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) สนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก และโรงพยาบาลขอนแก่น (WHO Collaborating Centre For Injury Prevention and Safety Promotion) ด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการอบรม 3 rd International Training Program on Pre Hospital Care: Strategies in developing Pre Hospital Care ในระหว่างวันที่ 11-14 ตุลาคม 2554 เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บก่อนถึงโรงพยาบาล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบการป้องกันการบาดเจ็บ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งในการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจากกลุ่มประเทศเป้าหมาย 14 ประเทศ ประกอบด้วย พม่า, อินเดีย, ติมอร์-เลสเต, อินโดนีเซีย, ภูฏาน, เนปาล, ศรีลังกา, บังกลาเทศ และประเทศไทย และกลุ่มประเทศ WPR ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา, เวียดนาม, ลาว, ฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย โดยทีมวิทยากรได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนองค์การอนามัยโลก, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, รพ.อุดรธานี และ รพ.ขอนแก่น

ขณะที่ น.พ.ประวิทย์ ทวีแสงสุขสกุล นายแพทย์ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์หัวใจ รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบัน รพ.เปิดให้บริการห้องตรวจสวนหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการตรวจฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ รักษาหลอดเลือดหัวใจตีบและหัวใจขาดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวดค้ำยัน รักษาภาวะผนังกั้นหัวใจรั่วแต่กำเนิด รักษาภาวะหัวใจเต้นช้าด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดถาวร พร้อมทั้งการให้บริการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด คือการผ่าตัดรักษาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด เปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผ่าตัดต่อทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (ผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ) ผ่าตัดต่อเส้นเลือดเทียมเพื่อการฟอกเลือดผู้ป่วยไตวาย ผ่าตัดมะเร็งปอด โดยจะเริ่มให้บริการ วันที่ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะเดียวกันยังคงให้บริการในเรื่องของยาละลายลิ่มเลือดเพื่อการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันในโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดขอนแก่นให้ครบทั้ง 20 แห่ง รวมไปถึงการเปิดให้บริการตรวจคลินิกเฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือดนอกเวลาราชการ (ในวันพุธเวลา 16.00-20.00 น. และวันเสาร์ 08.30-12.30 น.) และการนัดตรวจพิเศษโรคหัวใจทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว ทันเวลา และลดอัตราการเสียชีวิต ควบคู่ไปกับการบริการส่งเสริมป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ป้องกันได้ รวมถึงเป็นสถาบันร่วมในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชน


บ้านเมือง  11 ตุลาคม 2554

6952
นายแพทย์ ณรงค์ อภิกุลวาณิช ผู้อำนายการโรงพยาบาลอ่างทอง จ. อ่างทอง กล่าวว่า โรงพยาบาลอ่างทองเป็นโรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัด มี ขนาด 308 เตียง ขณะนี้โรงพยาบาลน้ำยังไม่ท่วม แต่พื้นที่รอบนอกของโรงพยาบาลถูกน้ำท่วมล้อมรอบ ขณะนี้ได้ขนย้านผู้ป่วยและวัสดุอุปกรณ์ ที่อยู่ในอาคารชั้น 1 ขึ้นไปอยู่ชั้น 2 แล้ว และได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักบางรายไปไว้ที่โรงพยาบาลเครื่อข่ายที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ถ้าน้ำท่วม โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักต้องใช้ออกซิเจนตลอดเวลา เกรงถ้าน้ำท่วมจะมีปํญหาด้านออกซิเจนไม่เพียงพอ คาดจะมีใช้ได้ประมาณสัปดาห์เดียว และเครื่องบำบัดน้ำเสียจะมีปัญหา และเพื่อความสะดวกของผู้ใช้บริการ วันนี้ ที่ 11 ตุลาคม 2554 ได้ตั้งเต็นท์เป็นโรงพยาบาลเคลื่อนที่ออกไป ตั้งรับบริการผู้ป่วยอยู่ทั้งในและจังหวัดใกล้เคียงที่ถนนข้างโรงพยาบาล นอกจากนี้ได้เตรียมลานจอดรถของผู้ป่วยและญาติที่เคยมาใช้บริการของโรงพยาบาลอ่างทอง ตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงพบาบาล ใช้เป็นสถานที่จอดฮอลิคอปเตอร์ เพื่อรับหรือย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอ่างทอง ไปยังโรงพยาบาลอื่น กรณีมีผู้ป่วยหนัก หรือเกิดน้ำท่วมต้องย้ายผู้ป่วย.

นายวิศว ศะศิวสมิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ปริมาณน้ำได้ขยายวงกว้างและสร้างความเสียหายเพื่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉาะปริมาณน้ำที่ตลบหลังมาจาก จ.ลพบุรีและ อ.บ้านแพรก, อ.บางปะหัน จ. อยูธยา ท่วมเกือบทุกตำบล ในท้องที่ อ.เมืองฯ อ.ป่าโมก สำหรับโรงพยาบาลอ่างทอง ถูกกระหนาบทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำตลบหลังจาก อ.มหาราช อยุยายา สำหรับศูนย์เศรษฐกิจของจังหวัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้คุมเข้มและเสริมความสูงและแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะ จังหวัด.นครสวรรค์เป็นตัวอย่างมาแล้ว.ขณะนี้อ่างทองไม่ขาดทราย แต่กระสอบทรายไม่เพียงพอ


เนชั่นทันข่าว 11 ตค. 2554

6953
 “วิทยา” สั่งการให้สปสช.จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 55 ให้หน่วยบริการโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างเร่งด่วน ระบุให้หน่วยบริการไปเกลี่ยใช้ในภาวะอุทกภัยโดยอิงการจัดสรรงบประมาณปี 2554 ไปพลางก่อน
       
       วันนี้ (11 ตุลาคม) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เร่งจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี งบประมาณ 2555 ให้เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับรพ.ทั่วประเทศ ในการบรรเทาสถานการณ์ด้านการเงินการคลังของหน่วยบริการที่ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ สปสช.จึงได้ปรับวิธีการจ่ายเงินงบเหมาจ่ายรายหัวอย่างเร่งด่วนไปก่อนเพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตขณะนี้
       
       ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในภาวะปกติสำนักงบประมาณจะจัดสรรให้ในช่วงปลายเดือนตุลาคม จากนั้นสปสช.จึงได้จัดสรรให้หน่วยบริการต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปี2555 นี้ จากสถานการณ์ภาวะน้ำท่วมในขณะนี้ สำนักงบประมาณจึงได้จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวให้ก่อน ซึ่งอิงจากการจัดสรรงบประมาณปี 2554 โดยเป็นการจ่ายล่วงหน้าไปก่อนในกรอบวงเงินร้อยละ 25 ซึ่งสปสช.จะจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2555 ในกรณีงบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ให้กับหน่วยบริการทั่วประเทศ 76 จังหวัด ไม่รวมกทม.โดยเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท
       
       นพ.วินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2555 นั้นมีรายละเอียดดังนี้ คือ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 849 แห่ง จำนวน 13,782.55 ล้านบาท รพ.ของรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 77 แห่ง และรพ.เอกชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 56 แห่ง จำนวน 658.26 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเงินจะไปถึงรพ.ในวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม นี้ เพื่อให้การจัดการด้านการเงินของรพ.มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะรพ.ที่ประสบภัยน้ำท่วม เพราะขณะนี้มีหน่วยบริการได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในขณะนี้มีจำนวนมาก
       
       นอกจากนี้ สปสช.ยังได้จัดงบประมาณให้กับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยหนักโดยจัดสรรผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เพิ่มเติมจำนวนอีกจำนวน 50 ล้านบาท จากกองทุนฉุกเฉินสำหรับช่วยผู้ป่วยและหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประสบภาวะภัยพิบัติฉุกเฉิน และเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม


ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 ตุลาคม 2554 

6954
“วิทยา” เตือนอย่าประเมินสถานการณ์ต่ำ สั่งโรงพยาบาลเตรียมแผนอพยพผู้ป่วย เผย รพ.พระนั่งเกล้า เกือบท่วมแล้ว น้ำเจ้าพระยาจ่อกำแพงห่างแค่ 1 ฟุต เสริมคันกั้นสูง 1.5 เมตร แจ้งเลื่อนนัดผู้ป่วยผ่าตัดไม่ฉุกเฉินไป 2-3 สัปดาห์ ระบุ เตรียมแผนย้ายผู้ป่วยไปสถาบันบำราศฯ สำรองออกซิเจน 7 วัน สธ.เตรียมประสาน 5 หน่วยงาน ตั้งศูนย์แพทย์เฉพาะกิจ ขอความร่วมมือทั้งรัฐ เอกชน รอตั้งรับถ้าน้ำท่วม กทม.
       
       วันนี้ (11 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหาร สธ.เดินทางตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เนื่องจากด้านหลังของโรงพยาบาลอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขณะนี้ระดับน้ำอยู่ห่างจากกำแพงโรงพยาบาลราว 1 ฟุต และมีบางส่วนล้นเข้ามาตามช่องประตูรั้ว แต่ยังไม่เข้าท่วมภายในโรงพยาบาล เพราะมีการเสริมกระสอบทรายเป็นแนวป้องกันน้ำในระดับความสูง 1.5 เมตร
       
       นายวิทยา กล่าวว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ไม่ควรประเมินสถานการณ์ต่ำ โดยเชื่อว่า ภายใน 3-4 วัน มวลน้ำจะจากปทุมธานี จะมาถึง จ.นนทบุรี จึงควรเตรียมการในส่วนของระบบส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย โดยจะต้องประสานโรงพยาบาลเครือข่ายในหลายระดับ จำเป็นต้องประสานสถานพยาบาลจังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ เช่น จ.นครปฐม หรือ กาญจนบุรี ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯด้วย
       
       นพ.ธวัชชัย วงค์คงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า โรงพยาบาลได้ขอเลื่อนนัดผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดในกรณีไม่ฉุกเฉินออกไป 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้พ้นภาวะวิกฤตของสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อสำรองเตียงไว้สำหรับการรองรับผู้ป่วยอาการหนักจากโรงพยาบาลอื่นที่ถูกน้ำท่วม เนื่องจากโดยปกติเตียงสำหรับผู้ป่วยในของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เต็มทุกวัน ไม่มีเตียงว่าง นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังได้เตรียมการสำรองไฟ น้ำ และออกซิเจน สำหรับใช้ 7 วัน เพื่อดูแลผู้ป่วยทั่วไปได้ โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาลอื่น หากออกซิเจนหมดก่อนที่น้ำจะลดได้ติดต่อเช่าออกซิเจนวันละ 120 ถังและเครื่องสำรองไฟไว้กับเอกชนเรียบร้อยแล้ว
       
       นพ.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีที่โรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการได้นั้น ได้มีการประสานสถาบันบำราศนราดูร สังกัดกรมควบคุมโรค ซึ่งตั้งอยู่ติดกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษา ซึ่งได้รับแจ้งว่า หากเป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถรับได้ 50 ราย และผู้ป่วยทั่วไป 90 ราย ทั้งนี้ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเมื่อมีการประเมินสถานการณ์แล้วว่าอยู่ในภาวะวิกฤตจริงๆ เท่านั้น
       
       “ในการเตรียมเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะไม่ย้ายเมื่อเกิดน้ำท่วมแล้ว แต่จะเคลื่อนย้ายก่อนน้ำท่วมแน่นอน ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่า จะใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักที่มีอยู่ 30 ราย ภายใน 2-3 ชั่วโมง และในการส่งผู้ป่วยจะมีทีมแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลตามไปดูแลด้วย และได้ประสานขอรถอีเอ็มจากกองทัพ เรือและเฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้ในการส่งต่อผู้ป่วยไว้พร้อมแล้ว” นพ.ธวัชชัย กล่าว
       
       นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมหารือเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ว่า จะเตรียมประสานเครือข่ายโรงพยาบาล สังกัดโรงเรียนแพทย์, กทม., สังกัดทหาร, เอกชน เพื่อร่วมกันทำงานในการเตรียมพร้อมรองรับในสถานการณ์อุทกภัยที่พื้นที่ในปริมณฑลอาจได้รับความเสียหาย เพื่อร่วมวางแผนด้วยกัน ว่า มีปริมาณเตียงสำรองเพียงพอสำหรับประชาชนเท่าใด ซึ่งจะตั้งเป็นศูนย์การแพทย์กลาง อยู่ภายใต้ความดูแลของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ของรัฐบาล เพื่อให้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะต้องหารือกันในระดับสูงกว่านี้ ให้ได้มติว่าจะประสานงานอย่างไร และมีโรงพยาบาลใดบ้างที่พร้อมเข้าร่วมในการสำรองเตียง และรับผู้ป่วย ในกรณีที่ปริมณฑลไม่สามารถรับมือได้ โดยจะเร่งนำเสนอให้เร็วที่สุด


ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 ตุลาคม 2554 

6955
รมว.สธ.เชื่อ จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วม เชื่อว่า พื้นที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี และ กรุงเทพมหานคร จะเป็นพื้นที่ที่ต้องรับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อจาก จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างแน่นอน สั่ง ปทุม นนท์ เช่าพื้นที่ปลอดภัยเปิดรพ.ใหม่ชั่วคราว
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมและประชุมผ่านระบบทางไกลผ่านดาวเทียมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ ปทุมธานี นนทบุรี อ่างทอง และ ลพบุรี ว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วม เชื่อว่า พื้นที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี และ กรุงเทพมหานคร จะเป็นพื้นที่ที่ต้องรับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อจาก จ.พระนครศรีอยุธยา อย่างแน่นอน ดังนั้น สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่โดยเฉพาะ จ.ปทุมธานี และ นนทบุรี จะต้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์
       
       “ผมไม่แนะนำให้ใช้วิธีการทำแนวป้องกันน้ำท่วม เนื่องจากคงไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ ควรเตรียมแผนเปลี่ยนจุดบริการ โดยสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่น้ำจะท่วม ต้องหาเช่าพื้นที่ที่มีความปลอดภัยที่สุดรองรับเปิดเป็นสถานพยาบาลแห่งใหม่ชั่วคราวทันทีเมื่อเกิดน้ำท่วม และแจ้งให้ประชาชนทราบ” นายวิทยา กล่าว


ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 ตุลาคม 2554

6956
 สธ.ยันเหตุผู้ป่วยเสียชีวิตที่ จ.อยุธยา 10 ราย ไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนย้ายเพื่อออกจากพื้นที่น้ำท่วม แต่เป็นผู้ป่วยอาการวิกฤต ระบุนครสวรรค์ รับมือได้อีก 14 วัน ทยอยลำเลียงผู้ป่วยได้
             
       นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการายงานข่าว ว่า ระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจาก รพ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้ป่วยได้รับผลกระทบเสียชีวิตกว่า 10 ราย ว่า ได้รับการรายงานจาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแล้วว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิต เกิดขึ้นในช่วงระหว่าง 3 วันที่น้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่เกาะเมือง จำนวน 10 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่อาการหนัก และสิ้นหวังในการรักษา โดยไม่ได้เสียชีวิตจากการไฟดับ หรือ การเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด แต่เป็นการเสียชีวิตจากอาการของโรคที่ดำเนินอยู่ โดยแต่ละวันในสถานการณ์ปกติ ก็จะมีผู้ป่วยอาการหนักเสียชีวิตประมาณวันละ 5-6 รายอยู่แล้ว ซึ่งในวันนี้ (10 ต.ค.) ก็มีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิต 1 ราย ในห้องฉุกเฉิน ยืนยันว่า ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด ซึ่งในโรงพยาบาลอื่นๆ จะแยกกลุ่มผู้ป่วยเป็นอาการหนัก เคลื่อนย้ายได้ และอาการหนัก เคลื่อนย้ายไม่ได้ ที่ต้องหาทางดูแลในโรงพยาบาลต่อเนื่องอยู่แล้ว
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รพ.สวรรรค์ประชารักษ์ ซึ่งกำลังประสบปัญหาน้ำเริ่มเข้าท่วม เนื่องจากผนังกั้นน้ำแตกนั้น ขณะนี้เริ่มทยอยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออก โดยได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์น้ำท่วมมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ทำให้มีความพร้อม ในเรื่องเส้นทางอพยพ วิธีการอพยพ งดรับผู้ป่วยหนักรายใหม่มาร่วมสัปดาห์ และมีการสำรองไฟ น้ำ เวชภัณฑ์ ออกซิเจน ได้เพียงพอ อยู่ได้อีก 14 วัน ฉะนั้น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะทยอยนำผู้ป่วยออก เชื่อว่า จะไม่เกิดความโกลาหล เหมือนที่ จ.อยุธยา และจะแบ่งผู้ป่วยอาการหนักที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ออกมาก่อน โดยจะประเมินสถานการณ์ต่อไป อาจจะไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกมาทั้งหมด หากสามารถเดินไฟ มีน้ำใช้ ได้
       
       “สำหรับโรงพยาบาลในเขตที่น้ำกำลังจะเคลื่อนเข้าต่อไป คือ ปทุมธานี นนทบุรี ได้รายงานว่า มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านแล้ว โดยจะส่งรองปลัดเข้าไปประเมินสถานการณ์ว่า ยังขาดอะไรและต้องเตรียมอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ นอกจากนี้ จะมีการประสานไปยัง คณะแพทย์ มหาวิทยาลัย ต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ ในการรองรับผู้ป่วยอาการหนัก ที่ต้องเคลื่อนย้ายจาก รพ.ต่างๆ เพิ่มเติม เพราะ รพ.สังกัดกรมแพทย์ อาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ได้ให้ รพ.ในพื้นที่ประสบภัย จับคู่กับ รพ.ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพื่อส่งต่อผู้ป่วย และสับเปลี่ยนกำลังคนเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยแล้ว” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมและประชุมผ่านระบบทางไกลผ่านดาวเทียมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) 5 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ ปทุมธานี นนทบุรี อ่างทอง และลพบุรีว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมเชื่อว่าพื้นที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรีและกรุงเทพมหานครจะเป็นพื้นที่ที่ต้องรับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อจาก จ.พระนครศรีอยุธยาอย่างแน่นอน ดังนั้น สถาน บริการสาธารณสุขในพื้นที่โดยเฉพาะ จ.ปทุมธานีและนนทบุรีจะต้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์
       
       “ไม่แนะนำให้ใช้วิธีการทำแนวป้องกันน้ำท่วมเนื่องจากคงไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ ควรเตรียมแผนเปลี่ยนจุดบริการ โดยสถานพยาบาลแต่ละแห่งทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) และโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.)ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่น้ำจะท่วม ต้องหาเช่าพื้นที่ที่มีความปลอดภัยที่สุดรองรับเปิดเป็นสถานพยาบาลแห่งใหม่ชั่วคราวทันทีเมื่อเกิดน้ำท่วม และแจ้งให้ประชาชนทราบ”นายวิทยากล่าว
       
       ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ในวันที่ 10 ต.ค. 2554 มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายจำนวน 3 รายนั้น นายวิทยา กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 รายเท่านั้น โดยผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงอยู่ก่อนแล้ว และยืนยันว่า ผู้ป่วยที่มีการเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาปลอดภัยทั้งหมด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 ตุลาคม 2554

6957
สพฉ.ประสาน ฮ.ลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินต่อเนื่อง เร่งภารกิจขนย้ายผู้ป่วย พร้อมย้าย รพ.สนาม จากอยุธยา ไปประจำนครสวรรค์

       นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ได้วางแผนเคลื่อนย้ายลำเลียงผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยช่วงเช้าได้ประสานรถพยาบาลจาก รพ.อ่าวอุดม รพ.นพรัตน์ รพ.สมุทรสาคร รพ.เลิดสิน และรถทหารของ รพ.พระมงกุฎเกล้า เพื่อไปช่วยลำเลียงคนไข้ที่มีอาการไม่หนักมากออกจากพื้นที่ รพ.อยุธยา ส่วนคนไข้หนักนั้นได้ประสานเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยในช่วง 11.00 น.เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยทีมกู้ชีพ แพทย์ พยาบาล ของ รพ.เลิดสิน เพื่อรับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยฉุกเฉินรายแรกที่ลำเลียงเป็นพระสงฆ์หยุดหายใจ จึงต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ จะประสานเฮลิคอปเตอร์เพื่อลำเลียงผู้ป่วยหนักตลอดทั้งวัน โดยจะมีเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 ลำ อยู่ประจำเพื่อเตรียมพร้อมตลอดเวลา
       
       “วันนี้ที่ศูนย์ดอนเมือง’84 บริเวณสถานีดับเพลิง สนามบินดอนเมือง จะมีวอร์รูมด้านการแพทย์ 24 ชั่วโมง เพื่อประเมินการลำเลียงส่งต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ ได้รับความร่วมมือจาก รพ.ภูมิพล จะมาตั้ง รพ.สนาม เพิ่มเติม เพื่อรองรับคนไข้ด้วย รวมทั้งตนและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจะบินสำรวจพิกัดจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ด้วยเพื่อเตรียมแผนรับมือ” นพ.ชาตรี กล่าว
       
       เลขาธิการ สพฉ.กล่าวต่อว่า ส่วนการช่วยเหลือด้านการแพทย์อื่นๆ นั้น สพฉ.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานให้ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วตอบโต้ภัยพิบัติ เคลื่อนย้ายทีม รพ.สนาม ไปอยู่ที่ จ.อยุธยา แทน เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 ตุลาคม 2554

6958
 สธ.ระดมเจ้าหน้าที่ รถพยาบาลฉุกเฉิน ลำเลียงผู้ป่วยหนักใส่เครื่องช่วยหายใจ 50 ราย ออกจาก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ หลังน้ำทะลักเข้าท่วม ปิดบริการผู้ป่วยนอก ฉุกเฉิน และงดรับผู้ป่วยใหม่ชั่วคราว ส่วน รพ.พระนครศรีอยุธยา จะย้ายผู้ป่วยที่เหลือทั้งหมด 78 ราย ออกวันนี้ พร้อมกำชับโรงพยาบาลที่อยู่ในจุดเสี่ยงถูกน้ำท่วม ให้เปิดบริการบนอาคารชั้น 2 งดใช้บริการที่ชั้น 1 ทั้งหมด
   
       วันที่ 10 ตุลาคม นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า ได้รับรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.น้ำได้ทะลักเข้าท่วมโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ น้ำท่วมบริเวณชั้นล่างอาคารไม่สามารถให้บริการได้ ระดับน้ำสูงประมาณ 60 เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้นอาจถึง 2 เมตร และค่อนข้างเชี่ยว ขณะนี้มีผู้ป่วยนอนรักษา 650 ราย รวมญาติด้วยจะมีประมาณ 2,000 คน โดยมีผู้ป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 50 ราย ได้ระดมเจ้าหน้าที่ลำเลียงผู้ป่วยหนักจาก รพ.สวรรค์ประชารักษ์ ขณะนี้ส่งไปแล้ว 34 ราย รักษาที่ รพ.ในจังหวัดคือ รพ.ค่ายจิระประวัติ ที่เหลือจะทยอยย้ายไปที่อื่นๆ ต่อไป
       
       นายวิทยา กล่าวอีกว่า ขณะนี้งดการให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอก ฉุกเฉิน งดรับผู้ป่วยรายใหม่เป็นการชั่วคราว และจะทยอยย้ายผู้ป่วยที่เหลืออีก 600 รายต่อไป ซึ่งทุกรายจะต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและปลอดภัยที่สุด และได้ส่งหน่วยช่างจากกองวิศวกรรมการแพทย์ เข้าไปติดตั้งเครื่องปั่นไฟสำรองเพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยได้
       
       ในการจัดบริการในภาวะฉุกเฉิน ได้เพิ่มจุดบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก 1 จุด ที่สี่แยกพหลโยธิน และจัดหน่วยแพทย์เคลี่อนที่บริการในจุดอพยพประชาชน 5 จุด นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถไปใช้บริการที่โรงพยาบาลค่ายจิระประวัติ โรงพยาบาลแม่และเด็ก หรือให้โทร.แจ้งขอความช่วยเหลือที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
       
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันนี้ จะทำการส่งต่อผู้ป่วยที่เหลืออีก 78 ราย ออกจากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลต่างๆ ได้ทั้งหมด และได้เปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 1 จุด ที่จุดอพยพบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเลิดสิน และได้จัดส่งจิตแพทย์ นักจิตวิทยาไปให้บริการประจำที่จุดอพยพด้วย
       
       ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมวอร์รูมของกระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในช่วง 1-2 วันนี้ ยังน่าวิตก ได้สั่งการให้โรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงจะถูกน้ำท่วม ซึ่งมีกว่า 20 แห่ง ให้ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิดและปรับระบบบริการโดยให้ย้ายการให้บริการขึ้นบนอาคารบริการชั้น 2 งดการให้บริการที่ชั้น 1 ทั้งหมด และได้มอบหมายให้วอร์รูมศึกษาและประสานเส้นทางการส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่น้ำท่วมทุกวัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น เนื่องจากการส่งต่อผู้ป่วยต้องใช้รถยนต์เป็นส่วนใหญ่
       
       นอกจากนี้ ยังได้วางระบบการจัดบริการดูแลสุขภาพประชาชน โดยให้จังหวัดที่น้ำไม่ท่วม จับคู่บริการดูแผู้เจ็บป่วยในพื้นที่น้ำท่วม ทั้งทีมสับเปลี่ยนดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และทีมเสริมบริการในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รายวัน เพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้าของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เบื้องต้น 12 จังหวัด ได้แก่
1.จ.พระนครศรีอยุธยา กับ จ.ราชบุรี เชียงราย สมุทรปราการ และ ภูเก็ต
2.จ.ลพบุรี กับ จ.เพชรบุรี ชัยภูมิ และนครราชสีมา
3.จ.ชัยนาท กับจ.ประจวบคีรีขันธ์
4.จ.สิงห์บุรี กับ จ.สมุทรสาคร และ จ.ระยอง
5.จ.อ่างทอง กับ จ.สมุทรสงคราม
6.จ.สุพรรณบุรี กับ จ.ชลบุรี
7.จ.พิษณุโลก กับ จ.ร้อยเอ็ด
8.จ.เพชรบูรณ์ กับ จ.กาฬสินธุ์
9.จ.อุทัยธานี กับ จ.ชัยภูมิ
10.จ.พิจิตร กับ จ.บุรีรัมย์
11.จ.นครสวรรค์ กับ จ.สุรินทร์
12.จ.เชียงใหม่ กับ จ.ขอนแก่น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 ตุลาคม 2554

6959
 สธ.ร่อนหนังสือถึง รพ.ในสังกัด ขอระงับคำแนะนำกรณีสิทธิการตาย แจงต้องพิจารณาประเด็นทางกฎหมายเพิ่มเติม ประธาน สพศท.ชี้หนังสือสิทธิการตาย บังคับแพทย์เพิกเฉยคนไข้
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ในขณะนั้น) ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือ สธ 0201.047.6/ว 427 เรื่อง ขอระงับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ส่งถึงอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป และผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แจ้งการจัดทำคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
       
       สธ.พิจารณาแล้วขอเรียนว่า เนื่องจากเรื่องนี้มีประเด็นสำคัญในข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม และอาจมีความเกี่ยวข้องกับคำแนะนำดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดและเพื่อประโยชน์ต่อการสาธารณสุข จึงขอระงับการใช้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ซึ่งสธ.จะดำเนินการพิจารณาประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกครั้ง จะแจ้งให้ทราบต่อไป

       พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า ในความเป็นจริงแพทย์ที่ปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยจริง เมื่อวินิจฉัยแล้วเห็นว่าไม่มีหนทางที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยต่อไปได้อีก จะแจ้งให้ญาติทราบและร่วมตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว เช่น ต้องการให้แพทย์ยื้อชีวิตต่อไป หรือไม่ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.และต้องทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาฯแต่อย่างใด ซึ่งการกำหนดให้ผู้ป่วยจัดทำเป็นหนังสือเช่นนี้ เหมือนสนับสนุนให้แพทย์เพิกเฉยต่อคนไข้ เท่ากับเป็นการฆ่าโดยละเลยคนไข้
       
       “หนังสือแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการเป็นการบังคับให้แพทย์ไร้วิจารณญาณในการวินิจฉัยช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งเจตนาของการออกกฎแบบนี้ เพราะต้องการใช้บังคับโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีปัญหาการจัดเก็บเงินจากผู้ป่วย” พญ.ประชุมพร กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 ตุลาคม 2554

6960
สธ.ขนย้ายผู้ป่วยออกจาก รพ.อยุธยา กว่า 200 ราย

  สธ.ขนย้ายผู้ป่วยออกจาก รพ.อยุธยา กว่า 200 ราย มารักษาต่อที่ รพ.ใน กทม.พร้อมปล่อยคาราวานพารามอเตอร์บินสำรวจชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลที่เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือ
 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภารกิจหลักในวันนี้ ได้ขนย้ายผู้ป่วยกว่า 200 ราย ออกจากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา หลังน้ำทะลักท่วมโรงพยาบาล โดยใช้รถจีเอ็มซีของทหาร 10 คัน จะเริ่มทยอยย้ายตั้งแต่เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป โดยจะใช้ถนนหมายเลข 347 ไปที่จุดแยกวรเชษฐ์ และจะมีรถพยาบาลฉุกเฉินประมาณ 10 คัน จากโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมพยาบาล เครื่องมือแพทย์ มารับผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลตามแผนที่วางไว้ ส่วนผู้ป่วยหนักที่ใช้เครื่องช่วยหายใจให้ส่งต่อเข้ากทม.ซึ่งเหลือประมาณ 20 ราย ได้ใช้วิธีลำเลียงทางเฮลิคอปเตอร์ โดยเมื่อคืนนี้ส่งไปแล้ว 8 ราย ไปที่ รพ.ใน กทม.6 แห่ง ได้แก่ ตำรวจ 2 ราย รพ.ภูมิพล 1 ราย รพ.นพรัตนราชธานี 1 ราย รพ.สงฆ์ 2 ราย สถาบันโรคทรวงอก 1 ราย และสถาบันประสาทวิทยา 1 ราย

       ภารกิจที่ 2 คือ การปล่อยขบวนคาราวานพารามอเตอร์ 5 ลำ จากชมรมพารามอเตอร์จังหวัดนครราชสีมา บินขึ้นสำรวจในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง เพื่อจัดทำจุดการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามบ้านเรือนที่อยู่ห่างไกล และยังออกไปไหนไม่ได้ โดยจะทำการบินระยะต่ำกว่าเครื่องบิน หลังจากได้เป้าหมายแล้ว จะรายงานให้พันเอกพิเศษ ประเสริฐ บัวเขียว ที่ปรึกษารัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสั่งการช่วยเหลือต่อไป
       
       สำหรับประชาชนที่เจ็บป่วย สามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งตั้งจุดตรวจรักษาที่จุดอพยพตรงข้ามศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริการตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับสถานการณ์ผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วม ยอดสะสมจนถึงวันนี้ มีทั้งหมด 513,860 ราย ไม่มีการระบาดของโรค ส่วนด้านสุขภาพจิต ผลการตรวจคัดกรอง พบผู้มีความเครียดสูง 3,104 ราย ซึมเศร้า 4,435 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 574 ราย และต้องติดตามดูเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด 863 ราย อย่างไรก็ตาม ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งยาสามัญประจำบ้านให้พื้นที่ ประสบภัยอีกกว่า60,000 ชุด โดยส่งจังหวัดสุโขทัย 12,000 ชุด ลพบุรี 10,000 ชุด นครสวรรค์ 10,000 ชุด ปราจีนบุรี 6,000 ชุด สระบุรี 5,000 ชุด มหาสารคาม 10,000 ชุด พังงา 3,000 ชุด และหน่วยงานอื่นอีก 10,000 ชุด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 ตุลาคม 2554 15:10 น.
...

สพฉ.ประสานขอ ฮ.-รถพยาบาลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนัก รพ.อยุธยา

 สพฉ.ประสานเฮลิคอปเตอร์ รถพยาบาล เคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักจาก รพ.อยุธยา
       
       นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่ได้รับแจ้งจาก รพ.อยุธยา ว่า จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย สพฉ.จึงประสานเฮลิคอปเตอร์จากกองบินตำรวจ ทหารบก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ทีมแพทย์ฉุกเฉินได้ขึ้นบินสำรวจจุดจอดเฮลิคอปเตอร์เพิ่มเติมด้วย เนื่องจากจุดเดิมที่วางแผนไว้ไม่สามารถลงจอดได้
       
       นอกจากนี้ สพฉ.ได้ประสานรถพยาบาลจาก รพ.สมุทรสาคร รพ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา รพ.สมุทรปราการ รพ.บางจาก รพ.ชลบุรี รพ.นครปฐม กรมแพทย์ทหารบก รพ.บางปะกอก เพื่อลำเลียงผู้ป่วยจาก รพ.อยุธยา ด้วย โดยมีจุดนัดพบที่บริเวณโลตัส จ.อยุธยา ซึ่งทาง รพ.ในพื้นที่กรุงเทพฯและใกล้เคียงได้สำรองเตียงเพื่อเตรียมพร้อมรับมือแล้ว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 ตุลาคม 2554 15:18 น
...

รพ.ราชวิถี เคลียร์พื้นที่รับผู้ป่วยจาก รพ.อยุธยา และ จ.ใกล้เคียง

 รพ.ราชวิถี เตรียมสถานที่รองรับผู้ป่วยจาก รพ.อยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง หากพื้นที่ใน รพ.ไม่เพียงพอจะประสานกับ รพ.อื่นๆ ในสังกัดกรมการแพทย์
       
       นพ.อุดม เชาวรินทร์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้จัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับผู้ป่วยจากสถานพยาบาลจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเข้าไปในสถานพยาบาล โดยจะใช้พื้นที่ที่ว่างๆ ตามหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้ง 43 หอ ทุกพื้นที่ในโรงพยาบาล ทั้งนี้ จะตรวจสอบพื้นที่ว่าง รวมถึงเตียงผู้ป่วยที่ยังว่างอยู่ในทุกเช้า เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมา เพราะต้องยอมรับว่า โรงพยาบาลราชวิถี มีคนไข้เป็นจำนวนมาก พื้นที่ใช้สอยน้อย จึงได้สั่งการให้มีการสำรวจพื้นที่ว่างทุกวัน
       
       "หากสถานที่ของโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับ จะส่งตัวผู้ป่วยที่อพยพมากระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ประมาณ 9 แห่ง ในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ไปรักษาต่อ” รอง ผอ.โรงพยาบาสลราชวิถี กล่าว
       นพ.อุดม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้เตรียมใช้พื้นที่ของอาคารนันทนาการที่อยู่ด้านหลังของโรงพยาบาล เป็นสถานที่พักอาศัยชั่วคราวให้กับผู้ป่วยและญาติ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่บ้านเรือนของตัวเองได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ให้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว โดยวันที่ 10 ตุลาคมนี้ เวลา 13.30 น.จะมีพิธีเปิดศูนย์ประสานรับส่งต่อผู้ป่วยโดยกรมการแพทย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6-9 ตุลาคม โรงพยาบาลได้รับการส่งต่อผู้ป่วยมาแล้ว 23 คน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 ตุลาคม 2554 18:45 น
...

รพ.อยุธยางดให้บริการรักษาผู้ป่วยใน-นอก เร่งระดมรถพยาบาลขนย้ายผู้ป่วย

“วิทยา” ระดมรถพยาบาลฉุกเฉินกว่า 30 คัน เร่งย้ายผู้ป่วย 320 ราย ออกจาก รพ.พระนครศรีอยธยา หลังอาคารภายในทั้ง 13 หลักถูกน้ำท่วมหมด และระบบไฟฟ้า-ประปาใช้การไม้ได้ พร้อมงดให้บริการผู้ป่วยนอกและงดรับผู้ป่วยในชั่วคราว
                   
       บ่ายวันนี้ (9 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางไปโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามระบบการขนย้ายผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำท่วมในโรงพยาบาล สูง 2.2 เมตร รุนแรงกว่าช่วงปี 2538 ประมาณ 1 เท่าตัว
       
       นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ระบบไปฟ้าประปาภายในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ใช้การไม่ได้ โดยอาคารบริการภายในโรงพยาบาลถูกน้ำท่วมทั้งหมด 13 อาคาร ในวันนี้มีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด 320 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวน 33 ราย ส่วนที่เหลือเป็นผู้ป่วยอาการปานกลาง 110 ราย อาการไม่หนัก 70 ราย และมีผู้ป่วยที่แพทย์อนุญาตกลับบ้านได้แล้วอีก 70 ราย
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลได้งดให้บริการผู้ป่วยนอกและงดรับผู้ป่วยในเป็นการชั่วคราว โดยจะเร่งทยอยขนย้ายผู้ป่วยส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลในกทม. ปริมณฑลและข้างเคียง เช่น สระบุรี ปทุมธานี โดยเร็วและปลอดภัยที่สุดให้หมดภายใน 1-2 วัน ได้ระดมรถพยาบาลฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือแพทย์กว่า 30 คัน เพื่อนำส่งโรงพยาบาลตามแผน ซึ่งการขนย้ายเป็นไปด้วยความลำบาก คาดว่าในวันนี้จะได้ประมาณ 100 ราย
       
       นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้ประสานเจ้าหน้าที่ให้เร่งกู้ระบบไฟฟ้า โดยจะใช้เครื่องปั่นไฟสำรองใช้เป็นการชั่วคราวก่อน ส่วนอาหารนั้นทางโรงพยาบาลได้สำรองไว้อยู่ได้ 2 วัน ทั้งนี้ หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 1669 หรือที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งเปิดบริการ 2 แห่ง คือ ที่จุดอพยพบริเวณตรงข้ามศาลกลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดตลอด 24 ชั่วโมง และที่วิทยาลัยการอาชีพ อ.มหาราช

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 ตุลาคม 2554 19:47 น.
...

จีเอ็มซีทหารรับคนไข้รพ.อยุธยาหนีน้ำเข้า กทม.

รมว.สาธารณสุข สั่งใช้รถจีเอ็มซีของทหารเร่งเข้าขนย้ายผู้ป่วยจากรพ.อยุธยา ส่งตัวรักษาต่อรพ.ในเขตกทม.และปริมณฑล จำนวนกว่า 200 ราย ส่วนที่จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งจุดช่วยเหลือที่ศาลากลางจังหวัดฯ...

วันที่ 9 ต.ค. ภายหลังที่น้ำทะลักเข้าโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ในช่วงประมาณ 3 นาฬิกาของคืนวันที่ 9 ต.ค. จนไม่สามารถให้บริการรักษาพยาบาลต่อไปได้ นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ได้เรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด ทหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการขนย้ายผู้ป่วยทั้งประเภทอาการไม่หนักและอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ที่นอนรักษาในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จำนวน 200 กว่าราย โดยกล่าวว่า ภารกิจหลักคือการเร่งขนย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้สั่งการให้ใช้รถจีเอ็มซีของทหารจำนวน 10 คัน เริ่มทยอยย้ายผู้ป่วยตั้งแต่เวลา 9.30 น. โดยจะใช้ถนนหมายเลข 347 ไปที่จุดแยกวรเชษฐ์ และจะมีรถพยาบาลฉุกเฉินประมาณ 10 คันจากโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมพยาบาลเครื่องมือแพทย์ มารับผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลตามแผนที่วางไว้ ส่วนผู้ป่วยหนักที่ใช้เครื่องช่วยหายใจเข้ากทม. ซึ่งเหลือประมาณ 20 ราย ได้ใช้วิธีลำเลียงทางเฮลิคอปเตอร์ โดยเมื่อคืนนี้ส่งไปแล้ว 8 ราย ไปที่รพ.ในกทม. 6 แห่ง ได้แก่ รพ.ตำรวจ 2 ราย รพ.ภูมิพล 1 ราย รพ.นพรัตนราชธานี 1 ราย รพ.สงฆ์ 2 ราย สถาบันโรคทรวงอก 1 ราย และสถาบันประสาทวิทยา 1 ราย

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ส่วนภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนในจุดที่น้ำท่วมวิกฤติ ได้ปล่อยขบวนคาราวานพารามอเตอร์จำนวน 5 ลำ จากชมรมพารามอเตอร์จังหวัดนครราชสีมา บินขึ้นสำรวจในพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง เพื่อจัดทำจุดการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามบ้านเรือนที่อยู่ห่าง ไกล และยังออกไปไหนไม่ได้ โดยจะทำการบินระยะต่ำกว่าเครื่องบิน หลังจากได้เป้าหมายแล้ว จะรายงานให้พ.อ.พิเศษประเสริฐ บัวเขียว ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข เพื่อสั่งการช่วยเหลือต่อไป สำหรับประชาชนทั่วไปที่เจ็บป่วย สามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งตั้งจุดตรวจรักษาที่จุดอพยพตรงข้ามศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริการตลอด 24 ชั่วโมง

นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วม ยอดสะสมจนถึงวันนี้ มีทั้งหมด 513,860 ราย ไม่มีการระบาดของโรค ส่วนด้านสุขภาพจิต ผลการตรวจคัดกรอง พบผู้มีความเครียดสูง 3,104 ราย ซึมเศร้า 4,435 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 574 ราย และต้องติดตามดูเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด 863 ราย และในวันที่ 9 ต.ค. กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งยาสามัญประจำบ้านให้พื้นที่ประสบภัยอีกกว่า 60,000 ชุด โดยส่งให้จังหวัดสุโขทัย 12,000 ชุด ลพบุรี 10,000 ชุด นครสวรรค์ 10,000 ชุด ปราจีนบุรี 6,000 ชุด สระบุรี 5,000 ชุด มหาสารคาม 10,000 ชุด พังงา 3,000 ชุด และหน่วยงานอื่นอีก 10,000 ชุด

ไทยรัฐออนไลน์ 9 ตค 2554

หน้า: 1 ... 462 463 [464] 465 466 ... 534