แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 ... 399 400 [401] 402 403 ... 534
6001
พลัส พร็อพเพอร์ตี้  ชี้มหันตภัย “โรคตึกเป็นพิษ-Sick Building Syndrome" วิจัย 30% ตึกสร้างใหม่มีปัญหาคุณภาพอากาศ พลัสฯกระตุ้นเจ้าของอาคารในไทย  อย่าเน้นเพิ่มเรื่องความทันสมัยและไฮเทคเพียงอย่างเดียว วอนให้เห็นความสำคัญด้านความปลอดภัยของสุขภาพผู้อาศัยและทำงานในอาคารด้วย หลังแนวโน้มผู้ทำงานในอาคารมีสุขภาพที่อ่อนแอลง จากผลสำรวจล่าสุดขององค์การอนามัยโลก พบว่าร้อยละ 30 ของอาคารหรือตึกที่สร้างขึ้นใหม่หรือปรับปรุงใหม่ทั่วโลกจะมีปัญหาคุณภาพของอากาศภายในอาคาร ซึ่งเป็นที่มาของอาการตึกเป็นพิษ อันเกิดจากประสิทธิภาพในการหมุนเวียนอากาศในอาคาร

นายชาญ ศิริรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารทรัพยากรอาคารและฝ่ายวิศวกรรม บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาคารทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหา “ตึกเป็นพิษ” หรือ Sick Building Syndrome (SBS) ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวของผู้ที่อยู่อาศัยและทำงานภายในอาคาร

โดยหากยังคงละเลย ต่อปัญหาดังกล่าว จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนไทยในระยะยาว และที่สำคัญจะส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างมากเพราะบุคลากรเสี่ยงที่จะรับและเผยแพร่โรคต่างๆ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะ หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจบริหารทรัพยากรอาคารของไทย จึงต้องการออกมากระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึง ปัญหาดังกล่าว และร่วมรณรงค์เพื่อให้บรรดาเจ้าของอาคารต่างๆ ควรเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย ในคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับความทันสมัยด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ โรคตึกเป็นพิษ คือ อาการที่เกิดขึ้นจากมลพิษภายในอาคารที่ด้อยศักยภาพด้านระบบหมุนเวียน อากาศ ทำให้สารระเหยและสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องใช้สำนักงาน รวมถึงสารระเหยจากสีทาผนัง ไม้อัด สารเคลือบเงาทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งไรฝุ่นในพรม วนเวียนอยู่ภายในระบบปรับอากาศของอาคาร ทำให้เกิดอาการอ่อนล้า ปวดหัว คลื่นไส้ คัดจมูก ไอ จาม เกิดผดผื่นคัน ระคายเคืองดวงตา และมีความผิดปกติของประสาทรับกลิ่น เป็นต้น

“ที่ผ่านมา พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เน้นหนักเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารทรัพยากรอาคารแบบองค์รวม ทั้งการดูแลด้านศักยภาพของอาคาร บุคลากรที่ปฏิบัติงาน และหรือผู้อยู่อาศัยภายในอาคารด้วยเช่นกัน

“โรคตึกเป็นพิษ” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักที่เราให้ความสำคัญและสร้างมาตรการ เพื่อจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาคาร เพราะความปลอดภัยภายในอาคารจัดเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของผู้ใช้อาคาร

โดยอาคารที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพชีวิตของผู้ใช้อาคาร จัดเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะสามารถส่งผลเสียหายโดยตรงต่อองค์กรทั้งด้านการเงิน และ Productivity ขององค์กร ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาคารต่อผู้ใช้อาคารเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของงานบริหารทรัพยากรอาคาร

ผู้บริหารอาคารจึงมีหน้าที่สำคัญในการบริหารจัดการ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงลดผลกระทบที่จะตามมาด้วย” นายชาญ ศิริรัตน์ กล่าว ด้านมาตรการในการการแก้ไขปัญหา “ตึกเป็นพิษ” นั้น นายชาญ ศิริรัตน์ กล่าวเสริมว่า เนื่องจากโรคตึกเป็นพิษจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ภายในอาคารเท่านั้น การแก้ไขจึงควรมุ่งเน้นที่การปรับปรุง จากภายในอาคาร

เริ่มที่การค้นหาสาเหตุโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วย วิศวกรผู้ดูแลอาคาร และนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ทำการปรับปรุงจากสิ่งที่ทำได้ง่ายก่อน เช่น ย้ายกระถางดอกไม้ไปนอกอาคาร จัดวางอุปกรณ์สำนักงานให้เหมาะสม กำหนดพื้นที่ทำงานที่สอดคล้องกับจำนวนคน ทำความสะอาด อย่างสม่ำเสมอ เพิ่มการระบายอากาศ ลดการนำอากาศภายนอกเข้าสู่ภายในโดยตรงเพื่อลดฝุ่น ทำความสะอาดระบบปรับอากาศ กำหนดพื้นที่สูบบุหรี่ให้อยู่ภายนอกอาคาร

หากมีการจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงานใหม่ให้เลือกประเภทที่มีการระเหยของ VOCs น้อยที่สุด เพิ่มการไหลเวียนของอากาศให้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน หากไม่เพียงพอต้องมีการปรับปรุงอย่างทันท่วงที

ต้องให้ความรู้แก่บุคคล ผู้อาศัยในอาคารเพื่อทำความเข้าใจและหาวิธีป้องกันตนเองร่วมกัน รวมไปถึงการรณรงค์ให้พนักงานออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ”

“พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้ตระหนักถึงปัญหาของ Sick Building Syndrome (SBS) ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้อาคาร ตลอดจนกลุ่มลูกค้าที่ทางบริษัทฯ ได้ให้บริการอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นดัชนีชี้วัด (KPIs) ซึ่งได้กำหนด เป็นข้อตกลงทางธุรกิจกับกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ในบางอาคาร

ซึ่งการจะเข้าไปดำเนินการ เริ่มจากการสำรวจความผิดปกติของสภาพการปรับอากาศที่ไม่เหมาะสมภายในอาคาร ทำการเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินการปรับปรุง  เช่น ระบบการหมุนเวียนอากาศที่ไม่เพียงพอ การปรับตั้งค่าอุณหภูมิภายในพื้นที่ปรับอากาศที่ไม่เหมาะสม การบำรุงรักษาเชิงป้องกันในระบบปรับอากาศ ซึ่งเราจะต้องดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงให้อยู่ในสภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยมีหน่วยงานกลางที่เป็นที่ยอมรับเป็นผู้รับรองผลงาน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นในการดำเนินการควบคุมปัจจัยที่จะก่อให้เกิดปัญหา  Sick Building Syndrome (SBS) ดังกล่าว เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า ซี่งผลที่ได้อยู่ในระดับน่าพอใจ”   นายชาญ ศิริรัตน์ กล่าวสรุป

ปัจจุบัน พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้นำมาตรการในการแก้ไขอาการ “ตึกเป็นพิษ” ไปดำเนินการในบางอาคารสำนักงานซึ่งเป็นลูกค้าของพลัสแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถระบุผลการดำเนินงานและรายงานอัตราสภาพอากาศที่ดีขึ้นในอาคารดังกล่าวได้ภายในสิ้นปี
2555 นี้

ประชาชาติธุรกิจ  2 เมษายน พ.ศ. 2555

6002
"ยันฮี" สบช่องเปิดเออีซี หนุนไทยขึ้นแท่นฮับแปลงเพศ ฝีมือหมอไทยสุดเจ๋ง ทำได้ทั้งชายเป็นหญิง-หญิงเป็นชาย กฎหมาย-สังคมเปิดกว้าง แถมราคาเป็นต่อ ถูกกว่าต่างประเทศ 5-10 เท่า "จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ยุโรป ออสเตรเลีย" บินแห่ใช้บริการคิวยาว

นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 นอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นในแง่ของการเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลของภูมิภาค หรือเมดิคอลฮับแล้ว ยังจะทำให้เมืองไทยมีความได้เปรียบประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องของศัลยกรรมการแปลงเพศ เนื่องจากไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ทั้งจากชายเป็นหญิงและหญิงเป็นชายในโรงพยาบาลเดียวกันได้

ประกอบกับมีราคาที่ไม่แพง ยกตัวอย่าง การผ่าตัดจากชายเป็นหญิงในสหรัฐ ยุโรป แคนาดา ราคาประมาณ 1.5-2 ล้านบาท แต่ราคาของไทยเฉลี่ยประมาณ 1.2-1.5 แสนบาท หรือจากหญิงเป็นชาย เมืองไทยเฉลี่ย 4-5 แสนบาท ต่างประเทศ 4-5 ล้านบาท และที่สำคัญคือหมอไทยได้รับการยอมรับมากในเรื่องของฝีมือการผ่าตัดที่ทำได้เหมือนจริง

ที่ผ่านมาประเทศในแถบเอเชียส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาผ่าตัดแปลงเพศในไทย แต่หลังเออีซีเปิด การเดินทางจะง่ายขึ้น บวกกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของหลาย ๆ ประเทศดีขึ้น ความต้องการที่อั้นมาระยะหนึ่งเพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือโรงพยาบาลที่ทำเรื่องนี้ จะทำให้การเดินทางเข้ามาทำศัลยกรรมแปลงเพศในไทยเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของโรงพยาบาลในไทย

"หลังจากแพทยสภาได้วางกฎระเบียบเรื่องนี้อย่างชัดเจน เมื่อช่วงปี 2553 ตลาดด้านนี้ค่อย ๆ โต และได้รับการยอมรับมากขึ้น"

จากสถิติของโรงพยาบาลยันฮี ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีลูกค้าแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย 400 กว่าคน หรือเฉลี่ยปีละประมาณ 100 คน และแปลงเพศจากชายเป็นหญิง 600 กว่าคน และในจำนวนนี้เป็นคนไทยและชาวต่างประเทศในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันประมาณ 50:50 ชาวต่างประเทศที่บินเข้ามาแปลงเพศส่วนใหญ่มาจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ฯลฯ เท่ากับเป็นการดึงเงินตราต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง เพราะอย่างน้อยที่สุด คนไข้ 1 คน จะมีญาติติดตามมาคอยดูแลอีก 2-3 คน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เติบโตตามไปด้วย

"ตลาดแปลงเพศเป็นตลาดที่มีความต้องการและเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีละ 10% ขณะนี้มีผู้สนใจรอรับการแปลงเพศจากหญิงเป็นชายประมาณ 50 ราย และเมื่อลูกค้าผ่านการพบจิตแพทย์และกระบวนการตามที่แพทยสภากำหนดแล้ว จะใช้เวลารอเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศราว 1 สัปดาห์ ส่วนการแปลงเพศจากชายเป็นหญิงสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากมีทีมแพทย์ที่พร้อม เรามีศัลยแพทย์ตกแต่งฟูลไทม์ถึง 15 คน"

นายเอกพล ธารสิริโรจน์ กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลสิริโรจน์ จังหวัดภูเก็ต เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการศัลยกรรมความงามและการแปลงเพศที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่มาจากยุโรปและออสเตรเลีย ส่วนการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวเป็นเรื่องรอง โดยกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาทำศัลยกรรมมีเข้ามาตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่จะเลือกช่วงที่เป็นโลว์ซีซั่น สำหรับการทำตลาดของโรงพยาบาลหลัก ๆ จะเน้นการจัดกิจกรรมหรือโรดโชว์ ด้วยการจัดสัมมนากับกลุ่มเป้าหมาย

ก่อนหน้านี้ นายเอกพลให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเดินทางมาใช้บริการที่สิริโรจน์มีมากถึง 95% ที่ทำศัลยกรรมและส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ บริการที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ เสริมหน้าอก ที่มีโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 80-100 คน และผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ผู้ชายวัยกลางคน หรือวัยใกล้เกษียณ

สอดคล้องกับความเห็นของนายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันบริการแปลงเพศกำลังไปได้ดีในภูเก็ต นักท่องเที่ยวต้องต่อคิวรอใช้บริการนานเป็นเดือน ขณะที่คลินิกทันตกรรมก็กำลังอยู่ในช่วงการเติบโตและได้รับการยอมรับจากชาวต่างประเทศทั้งในแง่ของคุณภาพและราคา ขณะที่แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กล่าวว่า บำรุงราษฎร์มีบริการเช่นกัน แต่ไม่ได้ทำการตลาด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เนื่องจากโรงพยาบาลเน้นการรักษาพยาบาลโรคหลัก ๆ

ประชาชาติธุรกิจ  2 เมษายน พ.ศ. 2555

6003
เปิดชื่อท็อป 10 ประเทศที่ควักเงินจ่ายต้นทุนสุขภาพมากที่สุดในโลก

รายจ่ายด้านสุขภาพเป็นภาระหนักของทุกๆ รัฐบาล ข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เผยชื่อ 10 ประเทศที่มีต้นทุนด้านการดูแลสุขภาพต่อบุคคลสูงที่สุดในโลก ขณะที่ประเทศที่มีต้นทุนดูแลสุขภาพสูงกลับไม่ได้ส่งผลให้ประชากรแข็งแรงมากขึ้น โดยในบรรดา 34 ชาติสมาชิกโออีซีดี มีเพียง 3 ประเทศที่ใช้จ่ายด้านนี้มาก มีประชากรอายุยืนยาว

ส่วนปัจจัย ที่ทำให้ต้นทุนสุขภาพมีราคาแพง ได้แก่ ราคายาที่สูง และพฤติกรรมของประชาชนที่บั่นทอนสุขภาพ ตั้งแต่การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไป การสูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ประเทศที่จ่ายต้นทุนด้านการดูแลสุขภาพมากสุดในโลก คือ “สหรัฐ” ใช้เงินต่อหัวต่อปีประมาณ 7,960 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 17.4% ของจีดีพี อัตราการขยายตัวของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของมะกันต่อปีอยู่ที่ 2.2% ส่วนอายุคาดเฉลี่ยของอเมริกันชนอยู่ที่ 78.2 ปี

อันอับ 2 ตกเป็นของ “นอร์เวย์” ใช้จ่ายเงินดูแลสุขภาพ 5,352 ดอลลาร์ต่อหัวต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 9.6% ของจีดีพี มีอัตราการเพิ่มของรายจ่าย 8.4% ต่อปี คาดการณ์อายุเฉลี่ยที่ 81 ปี

อันดับ 3 “สวิตเซอร์แลนด์” ใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวต่อปีที่ 5,344 ดอลลาร์ คิดเป็น 11.6% ของจีดีพี มีอัตราการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายส่วนนี้ 2.8% ต่อปี ขณะที่ประชากรมีอายุคาดเฉลี่ย 82.3 ปี

อันดับ 4 “เนเธอร์แลนด์” รายจ่ายด้านการดูแลสุขภาพของประเทศนี้อยู่ที่ 4,914 ดอลลาร์ต่อหัวต่อปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ของจีดีพี มีอัตราค่าใช้จ่ายด้านนี้เพิ่ม 16.4% ต่อปี และมีอายุเฉลี่ย 80.6 ปี

อันดับ 5 คือ “ลักเซมเบิร์ก” มีรายจ่ายด้านสุขภาพต่อหัวต่อปี 4,808 ดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 7.8% ของจีดีพี มีอัตราเพิ่มของรายจ่ายด้านนี้ 8% ต่อปี อายุเฉลี่ยของผู้คนอยู่ที่ 80.7 ปี

ตามมาด้วยอันดับ 6 “แคนาดา” มีต้นทุนด้านสุขภาพต่อหัวต่อปีที่ 4,478 ดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 11.3% ต่อจีดีพี มีอัตราการเพิ่มของรายจ่ายส่วนนี้ 7.4% ต่อปี และผู้คนมีอายุเฉลี่ยที่ 80.7 ปี

อันดับ 7 ได้แก่ “เดนมาร์ก” มีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ 4,348 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี คิดเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายราว 11.5% ของจีดีพี อัตราขยายตัวของรายจ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้น 6% ต่อปี อายุคาดเฉลี่ยของผู้คนอยู่ที่ 79 ปี

อันดับ 8 “ออสเตรีย” ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ 4,298 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 11% ของจีดีพี มีอัตราเพิ่มของรายจ่ายด้านนี้ 2.2% ต่อปี อายุคาดเฉลี่ยของผู้คนอยู่ที่ 80.4 ปี

อันดับ 9 “เยอรมนี” มีต้นทุนด้านการดูแลสุขภาพประมาณ 4,218 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี คิดเป็น 11.6% ของจีดีพี มีอัตราเพิ่มของรายจ่ายด้านนี้ 4% ต่อปี ผู้คนมีอายุเฉลี่ยประมาณ 80.3 ปี

อันดับ 10 “ฝรั่งเศส” มีต้นทุนเรื่องเฮลท์แคร์ประมาณ 3,978 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 11.8% ของจีดีพี มีอัตราเพิ่มของรายจ่ายส่วนนี้ 2.7% ต่อปี และมีอายุคาดเฉลี่ยของประชากร 81.5 ปี

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  2 เมษายน 2555

6004
"ดีเอสไอ"พบเภสัชฯจ.บุรีรัมย์สั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนเกินแจ้ง อย.กว่า 9 หมื่นเม็ด -ชนิดน้ำอีก1,500 ขวด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ตรวจสอบเภสัชกร รพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ อ้างชื่อโรงพยาบาลซื้อยาซูโดอีเฟดรีน มาจำหน่าย ยอดสั่งซื้อยาซูโดฯ ชนิดเม็ดเกินตัวเลขที่รายงาน อย. 90,000เม็ด และชนิดน้ำอีก 1,500 ขวด ขณะเภสัชกร ปฏิเสธไม่ขอให้การในชั้นพนักงานสอบสวน จะให้การในชั้นสอบสวนของดีเอสไอ

ความคืบหน้ากรณีที่มีการตรวจพบว่า นายสมพงษ์  ตีรถะ เภสัชกร ปฏิบัติการโรงพยาบาลหนองกี่  อ.หนองกี่  จ.บุรีรัมย์ แอบอ้างชื่อโรงพยาบาลสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีน มาจำหน่ายที่ร้านขายยาของตัวเอง

ล่าสุด จากการตรวจสอบข้อมูลของพนักงานสอบสวน สภ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ หลังจากที่นายแพทย์บุญโฮม แก้วชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองกี่  ได้เข้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน

จากการตรวจสอบยอดการสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีน ในปี 2554 ที่ผ่านมา พบว่ายอดการสั่งซื้อยาของโรงพยาบาลหนองกี่ ที่ทางโรงพยาบาลรายงานกับทางองค์การอาหารและยา (อย.)รายงานไม่ตรงกัน คือ อย.รายงานว่า ส่งยาให้โรง

"ดีเอสไอ"แบ่งงานสอบสวนคดีลักซูโดฯผลิตยาเสพติด

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ,กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสถานีตำรวจภูธร 7 แห่ง ร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการสอบสวนคดีการลักลอบนำยาแก้หวัดที่มีส่วนประกอบของซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาลเพื่อนำไปสกัดเป็นยาเสพติด
 
 นายธาริต กล่าว ภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีมติที่จะแบ่งการทำงานประกอบด้วยชุดปฏิบัติการตรวจสอบแต่ละท้องที่เกิดเหตุ ชุดสอบสวนหลัก และชุดสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงและชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ ซึ่งจะเริ่มทำงานทันทีและจะเร่งขยายผลการตรวจสอบไปยังสถานพยาบาลของเอกชน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบสถานพยาบาลเอกชน เบื้องต้นพบว่ามีสถานพยาบาลเอกชนหลายแห่งเข้าข่ายพบความผิดปกติ ทั้งนี้ ที่ประชุมนัดหารือกันอีกครั้งใน 2 สัปดาห์หลังจากนี้เพื่อสรุปผลการทำงานภาพรวม

นายธาริต กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาฐานความผิดที่เกี่ยวกับคดีดังกล่าว พบว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 6 ฉบับ ประกอบพ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ร.บ.ฟอกเงิน และพ.ร.บ.มาตรการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  2 เมษายน 2555

6005
′พสิษฐ์′เผยมีอีก 4 รพ.ใน กทม.-ปริมณฑลต้องสงสัยเอี่ยวขบวนการยักยอกซูโด เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบ ยัน′วชิรพยาบาล′เคลียร์แล้ว ไม่พบผิดปกติ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด สธ. กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่าพบความเชื่อมโยงไปถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณียาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนว่า ที่นาย ธาริตระบุชัดออกมาเช่นนั้น ก็เป็นสิ่งที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นหนึ่งในรายชื่อที่อยู่ในข้อมูลลับที่ทางคณะทำงานมอบให้กับนายธาริตขอที่จะไม่พูดถึงเรื่องรายชื่อดังกล่าว เพราะถือว่าอยู่ในอำนาจการสอบสวนของทางดีเอสไอ ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ยังได้มอบข้อมูลชุดเดียวกันกับที่มอบให้ดีเอสไอส่งเป็นเอกสารประทับตราลับมากส่งไปยังนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการ สธ. และ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีแล้ว

นายพสิษฐ์กล่าวว่า ในส่วนข้อมูลที่คณะทำงานพบว่าโรงพยาบาล (รพ.) วชิรพยาบาล อยู่ในข่ายที่ควรเข้าไปตรวจสอบเรื่องการเบิกจ่ายยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนนั้น ยอมรับว่าข้อมูลที่คณะทำงานตรวจสอบมาครั้งแรกมีชื่อ รพ.วชิรพยาบาล อยู่ในจำนวน 20 รายชื่อ ที่คณะทำงานเห็นว่าอาจจะเข้าข่าย และน่าสงสัย แต่เมื่อค่ำวันที่ 31 มีนาคม คณะทำงานนำรายชื่อทั้ง 20 โรงพยาบาลมาตรวจสอบในเชิงลึกอีกครั้งก่อนจะลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามี 16 โรงพยาบาล ที่ไม่อยู่ในข่ายที่ควรลงไปตรวจสอบ ซึ่งหนึ่งใน 16 โรงพยาบาลนั้นมี รพ.วชิรพยาบลรวมอยู่ด้วย ส่วนที่เหลืออีก 4 โรงพยาบาลนั้นคณะ ทำงานพบข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่าเข่าข่ายที่ควรจะต้องไปตรวจสอบ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และจะลงพื้นที่ตรวจสอบในเร็วๆ นี้

นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรี ธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวถึงกรณีที่นายธาริตเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากนายพสิษฐ์ ว่ามีอดีตรัฐมนตรี สธ.บางคนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำยาแก้หวัดซูโดอีเฟดรีน ออกจาก รพ.ต่างๆ ว่า อยากให้กำลังใจนายธาริต ในการหาข้อเท็จจริงให้ได้ อย่าหยุดนิ่งให้ค้นหาต่อไปกระทั่งถึงตัวผู้กระทำผิดจริงๆ เพราะยาเสพติดเป็นเรื่องใหญ่ ต้องรู้ให้ได้ว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้มีการจับแพะชนแกะ อ้างลอยๆ ว่ามีอดีตรัฐมนตรี สธ.เกี่ยวข้อง เพราะคนอาจจะคิดว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง หรือนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ส่วนตนเชื่อว่าแทบไม่มีใครจำได้ว่าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ.เมื่อไร

"อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มีบางคนถูกศาลพิพากษา บางคนก็ยังมีคดีอยู่ในศาล อย่างเรื่องคอมพิวเตอร์ฉาว จึง ไม่อยากให้มีการกล่าวอ้างลอยๆ" นายวิทยากล่าว

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ในวันที่ 2 เมษายน ดีเอสไอ ประชุมคณะทำงานร่วมกันครั้งแรกภายหลังรับคดีลักลอบนำสารซูโดอีเฟดรีน ไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำงานร่วมกัน โดยจะแบ่งชุดการทำงานเป็นหลายชุด ทั้งชุดสืบสวนหลัก ชุดสอบสวนหลัก คาดว่าชุดการสืบสอบสวนจะแบ่งตามพื้นที่ สภ.ที่เกิดเหตุ ส่วนการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ ต้องหารือในข้อกฎหมายว่าจะทำอะไรได้บ้าง

นายธาริตกล่าวว่า นอกจากนี้ตนและ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน จะแถลงข่าวการทุจริตการเบิกจ่ายยาออกจากระบบสาธารณสุขด้วย

รายงานข่าวจาก ดีเอสไอ แจ้งว่า หลังจากรับคดีซูโดอีเฟดรีนเป็นคดีพิเศษ และได้รับข้อมูลลับเป็นตัวอักษรย่อและหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ของผู้ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง และรับผลประโยชน์จากยาแก้หวัดที่มีสาร ซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสมหลักที่หายไปจากโรงพยาบาล จากนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ.แล้ว ดีเอสไออยู่ระหว่างตรวจสอบการโทรศัพท์ของบุคคลที่มีชื่อปรากฏว่า มีการติดต่อใครบ้าง และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอย่างไร รวมถึงการติดต่อระหว่างผู้ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในข้อมูลนายพสิษฐ์ด้วยกันเองว่า มีการติดต่อกันบ้างหรือไม่ ทั้งนี้ เบื้องต้นจากการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์มือถือของคนชื่อ ป. ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด มีข้อมูลเพียงเป็นผู้ที่ทำงานกับ

ข้าราชการประจำระดับสูงมายาวนาน และเคยเดินทางไปต่างประเทศร่วมคณะเดียวกัน แต่ไม่พบความผิดปกติทั้งในแง่ความสัมพันธ์ และความเชื่อมโยงกับซูโดอีเฟดรีน

วันเดียวกัน ที่ จ.เชียงใหม่ นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อธิบดีกรมสนับสนุน บริการสุขภาพ กล่าวว่า ในฐานะที่ดูแล โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทั่วประเทศ พบว่าโรงพยาบาลนวมินทร์ 1-9 และคลินิกตรวจสอบยาซูโดอีเฟดรีนที่ใช้ไม่ตรงกัน 900,000 เม็ด ซึ่งโรงพยาบาลต้องหาหลักฐานมายืนยันว่ามีการสั่งยาและใช้ยาจริงหรือไม่ หากใช้ยาจริงก็ไม่มีอะไร ซึ่งกรมจะร่วมกับองค์การอาหารและยา (อย.) และดีเอสไอ จะสนธิกำลังในวันที่ 2 เมษายน เข้าตรวจสอบที่มาและข้อมูล โดยเฉพาะตัวยา ที่มีความคลาดเคลื่อนของตัวเลข

"หากมีหลักฐานการสั่งยาใช้ยาจริงก็ไม่ว่ากัน ทุกอย่างตรวจสอบได้ หากมีประเด็นข้อสงสัย ดีเอสไอก็จะดำเนินการต่อ ส่วนกรม จะส่งหลักฐานต่างๆ ให้กระทรวงสาธารณสุข ไปให้ดีเอสไอสืบสวนและดำเนินคดีอาญา" นพ.สมชัยกล่าว

ด้านนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะอดีตที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไออ้างว่ามีอดีตรัฐมนตรี สธ. และอดีตนักการเมืองในสธ.บางคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนยาแก้หวัดซูโดอีเฟดรีนออกจากรพ. ว่า ตนไม่รู้เรื่องเลย และไม่เคยสนใจเรื่องนี้ สมัยตนเป็นที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข ก็ไม่เคยมีงานที่เกี่ยวข้องกับยาซูโดฯ ตนจึงไม่คิดจะทำอะไรแบบนี้ หากนายธาริตมีพยานหลักฐานอะไรก็เปิดออกมา อย่ามาอ้างลอยๆแบบนี้

มติชนออนไลน์   2 เมษายน พ.ศ. 2555

6006
กระทรวงสาธารณสุข​แนะ​ให้บริ​โภคยาสมุน​ไพร มะระขี้นก กระ​เจี๊ยบ​แดง ​เพื่อควบคุมป้องกัน​โรค​เบาหวาน​และ​ความดัน​โลหิตสูง

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่า​การกระทรวงสาธารณสุข ​เผยว่า ขณะนี้คน​ไทย​ทั้ง​ใน​เมือง​และชนบทป่วย​เป็น​โรค​เบาหวาน ​และ​ความดัน​โลหิตสูง มาก​ถึง3 ล้านคน รวม​ทั้งยังพบ​ผู้ที่มีอา​การผิดปกติ ​เสี่ยงจะป่วย​เพิ่มอีกประมาณ 6 ล้านคน

ดังนั้นทางกระทรวงฯ ​จึง​เร่งส่ง​เสริมสนับสนุน​ให้​เพิ่มยาสมุน​ไพร อย่าง มะระขี้นก ​ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาล​ใน​เลือด​ได้ ​และ กระ​เจี๊ยบ​แดง ​ซึ่งมีสรรพคุณ​ใน​การลด​ไขมัน​ใน​เลือด ลด​ความดัน​โลหิต​ได้ รวม​ทั้งสมุน​ไพรตัวอื่นๆ ที่​ให้ผล​ใน​การป้องกัน​โรค ​เพื่อส่ง​เสริม​ให้ประชาชน​ได้บริ​โภคสมุน​ไพร​ใกล้ตัวมาดู​แลสุขภาพ ​และมั่น​ใจว่าจะสามารถลดจำนวน​ผู้ป่วย​โรคดังกล่าว​ได้สำ​เจ รวม​ทั้งป้องกัน​โรคดังกล่าว​ได้ด้วย​เช่นกัน ตามน​โยบาย​ใน​การลด​โรค ป้องกัน​โรคของกระทรวงสาธารณสุข

RYT9.COM -- จันทร์ที่ 2 ​เมษายน 2555

6007
นายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข เปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาในวิทยาลัยสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ในปีการศึกษา 2555 จำนวน 9 หลักสูตร ทั้งระดับปริญญาตรีและต่ำกว่าปริญญาตรี รวม 6,290 น โดยจัดสรรโควตานักศึกษาเข้าศึกษาหลักสูตรต่างๆ ตามความขาดแคลนของแต่ละจังหวัดที่นักศึกษาที่นักศึกษาบิดามารดาตามกฎมายมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อกระจายโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่ได้เข้าศึกษาและกลับไปทำงานในภูมิลำเนาของตนเองเมื่อจบการศึกษา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขที่ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยให้เข้าศึกษาในวิทยาลัย 37 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย วิทยาลัยพยาบาล 29 แห่ง วิทยาลัยการสาธารณสุข 7 แห่ง และวิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข 1 แห่ง โดยเปิดรับสมัคร 2 ระบบ ได้แก่ ระบบสอบตรง เปิดรับสมัครและคัดเลือกเมื่อวันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวนประมาณ 3,000 คน ส่วนที่เหลือเปิดรับในระบบสอบแอดมิชชั่นกลาง (Admissions) จะเปิดรับในวันที่ 1-20 เมษายน2555 ทางเว็บไซต์   http://adimission.pi.in.th  เท่านั้น

ด้านนายแพทย์สมควร  หาญพัฒนชัยกูร  ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า ระดับปริญญาตรีเปิดรับ 5 หลักสูตร   รวมทั้งหมด 5,600 คน   ประกอบด้วย 
1.หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต 4,500 คน 
2.สาธารณสุขศาสตรบัณฑิตหรือวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน 450 คน
3.สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาทันตสาธารณสุข 300 คน 
4.สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาเวชระเบียน  50 คน  และ
5.การแพทย์แผนไทยบัณฑิต 300  คน

ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี มี 4 หลักสูตรรวม 690 คน ประกอบด้วย
1.ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาธารณสุขศาสตร์ (เทคนิคเภสัชกรรม) 300 คน
2.ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เวชกิจฉุกเฉิน  300  คน
3.ประกาศนียบัตรเวชระเบียน  50  คน และ
4.ประกาศนียบัตรโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์ 40  คน

นายแพทย์สมควรกล่าวต่อว่า ผู้มีสิทธิ์สมัครจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และไม่เกิน 35 ปี โดยผู้สมัครต้องมีภูมิลำเนาทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดที่มีโควตาให้เข้าศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือบิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฏหมาย มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดที่มีโควตาให้เข้าศึกษาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันเปิดภาคการศึกษา เฉพาะผู้ที่จะสมัครเข้าศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตต้องมีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 145 ซ.ม. นอกจากนี้ จะต้องกำลังศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาชั้นม.6 ทั้งการศึกษาในโรงเรียนและการศึกษาเฉพาะผู้ศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ยกเว้นหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตรับเฉพาะผู้ศึกษาในระบบโรงเรียน โปรแกรมเน้นคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต จะต้องรับทุนและทำสัญญาผูกพันชดใช้ทุนเมื่อเรียนจบ

ทั้งนี้ ผลการรับสมัครในระบบรับตรงวันที่ 1 – 10 กุมภาพันธ์ 2555ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีนักเรียนสมัครทั้งหมด 28,000 คน ในขณะที่จะคัดเลือกไว้ประมาณ 3,000 คน คิดเป็นอัตราการแข่งขันประมาณ 1 ต่อ 9 ส่วนรอบสอบแอดมิชชั่นกลาง จะเปิดรับสมัครวันที่ 1-20 เมษายน 2555

มติชนออนไลน์  2 เมษายน พ.ศ. 2555

6008
ที่รัฐสภา วันนี้ ( 2 เม.ย.)  ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองปรานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นพ.เจตน์ ศิธรานนท์ ส.ว.สรรหา ได้หารือ ตนเห็นด้วยกับหลักการที่ให้ผู้ป่วยในกองทุนหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ได้รับสิทธิพิเศษกรณีป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2555 ที่ผ่านมา แต่เห็นว่ารัฐบาลเร่งดำเนินการอย่างฉุกละหุกเกินไป และคาดว่าจะมีความสับสนวุ่นวายมาก เพราะเร่งทำโดยไม่มีความพร้อม ตนมีข้อสังเกตคือ

1.ผู้ป่วยฉุกเฉินใช้เกณฑ์ของสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งฉุกเฉินของแพทย์กับของผู้ป่วยผิดกันอย่างสิ้นเชิงซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ 
2.มาตรฐานเดียวกันของ 3 กองทุนไม่ต้องสำรองจ่ายกรณีผู้ป่วยนอกยังมีกลุ่มนอก 3 กองทุนเช่นกรณี ข้าราชการท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจต่างๆจะเป็นปัญหาเพราะยังไม่เคลียร์กันให้เรียบร้อย และ
3. ผู้ป่วยในใช้ อาร์ดับบลิว 10,500 บาทต่ำกว่าต้นทุน จะมีปัญหากับโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ระดับพรีเมี่ยมเขาไม่อยากจะรับ แล้วหากเป็นผู้ป่วยหนักก็ต้องอยู่โรงพยาบาลก็จะมีปัญหาตามมาว่า ผู้ป่วยในไม่มีข้อจำกัดที่จะอยู่ได้ 72 ชั่วโมงหากอยู่ไปแล้วไม่อยากออกจะมีปัญหา ถามว่าอาการทุเลาถืออย่างไร และ
4.สายด่วน โทร1330 ประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบ
 
เดลินิวส์  วันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2555

6009
ยาแก้ไข้หวัดหลากหลายยี่ห้อตามร้านขายยาทั่วไป ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของสารตั้งต้นยาเสพติดที่สามารถนำมาผลิตเป็น ยาบ้า-ยาไอซ์ ได้จำนวนมาก สารตั้งต้นชนิดนี้มีชื่อว่า “ซูโดอีเฟดรีน” ออกฤทธิ์แก้อาการคัดจมูกได้ แต่ในทางกลับกันสารชนิดนี้ถือเป็นยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นที่มาสู่การทุจริตยาแก้หวัดในโรงพยาบาล เชื่อมโยงถึงขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ บงการอยู่เบื้องหลัง

ปริมาณของสารซูโดอีเฟดรีน ในยาแก้หวัด 1 เม็ดสามารถสกัดออกมาทำเป็นยาบ้าได้ 2 เม็ด นั่นหมายความว่าเมื่อสกัดสารชนิดนี้ออกมาทำเป็นยาเสพติดได้จะสร้างกำไรมหาศาลให้แก่เจ้าพ่อค้ายา ดังนั้นขบวนการค้ายาเสพติดจึงสบโอกาสสร้างเครือข่ายรวบรวมยาแก้หวัดให้ได้จำนวนมาก ก่อนส่งไปยังแหล่งสกัดทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นนำกลับมาสร้างหายนะแก่สังคมไทย

ทว่าการรวบรวมยาแก้หวัดจากร้านขายยาทั่วไปไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากร้านขายยาแต่ละแห่งจำหน่ายได้ไม่เกิน5พันเม็ดไม่เพียงพอกับออเดอร์ที่พ่อค้ายาเสพติดต้องการ ฉะนั้นเป้าหมายหลักจึงมุ่งไปที่โรงพยาบาลของ รัฐ เอกชน รวมไปถึง คลินิก ที่มียอดสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก

 

ซากซอง-กล่องเกลื่อนกลาดที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

ปมจุดนี้เป็นช่องให้ขบวนการค้ายาข้ามชาติสร้าง “คนกลาง” ไปติดต่อกับเภสัชกรตามโรงพยาบาลต่างๆ ชักจูงให้ทุจริตปลอมแปลงเอกสารเบิกจ่ายยา แล้วลักลอบนำยาแก้หวัดออกมาจากห้องเก็บยาของโรงพยาบาลหลายต่อหลายแห่ง นำมารวมกัน ก่อนที่จะสูญหายอย่างไร้ร่องรอยตั้งแต่ปี2551-2555 แล้วจำนวนกว่า 48 ล้านเม็ด

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เจ้าของสำนวนสืบสวน เปิดเผยว่า ดีเอสไอ ได้รับแจ้งเตือนจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotics Control Board – INCB)  เนื่องจากประเทศไทยร่วมเป็นภาคีอยู่ด้วย และได้รับข้อมูลรูปแบบขบวนการรวบรวมยาแก้หวัดมาตั้งแต่ปี 2546-2548 โดยรูปแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน และไต้หวัน จากนั้นไม่นานมีการจับกุมการลักลอบขนยาแก้หวัดซุกซ้อนภายในเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ที่จ.ภูเก็ต ขณะเตรียมขนส่งไปยังประเทศออสเตรเลีย

จำนวนยาแก้หวัดที่สามารถจับกุมได้มีปริมาณสูงขึ้นจนน่าตกใจ ผบ.สำนักคดีความมั่นคง อธิบายว่า การจับกุมเริ่มจากปี 2551 เมื่อจับกุมขบวนการกว้านซื้อยาได้ 7 แสนเม็ด ส่วนปี 2552 จับกุมได้ 1.9 ล้านเม็ด มีการเปลี่ยนรูปแบบมาใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่านส่งต่ออีกทอดหนึ่ง และขยายวงกว้างมากขึ้นจนสามารถจับกุมได้อีกครั้งจำนวนถึง 3 ล้านเม็ด

กระนั้นในวันที่ 18 ก.พ. 2555 พบกล่องยาแก้หวัดจำนวนมากถูกแกะกล่องนำเม็ดยาออกไปหมด ทิ้งไว้เพียงซากซอง-กล่องเกลื่อนกลาดอยู่ภายในบ้านร้างที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องพื้นที่เก็บรวบรวมหลักฐานในที่เกิดเหตุ พบใบสั่งจ่ายยาจาก รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งรับยามาจากรพ.อุดรธานี โชคดีที่ข้างกล่องยาระบุ “ล็อตนัมเบอร์” ซึ่งสามารถสืบหาที่มาของโรงงานผลิต วันที่ผลิต และจำนวนได้ไม่ยาก ทำให้การสืบสวนคดีทุจริตยาโรงพยาบาลเริ่มเปิดปฐมบทจากจุดนี้

เมื่อตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายยาของรพ.อุดรธานี พบความผิดปกติชัดเจนในจำนวนยาที่ขอเบิกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยาแก้หวัดจำนวน 7.2 ล้านเม็ดหายสาบสูญไปไม่ตรงกับเอกสารขอเบิกจ่ายตามจริง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบความเชื่อมโยงอีกหลายโรงพยาบาลด้วยกัน อาทิ รพ.ดอยหล่อ รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ  รวมทั้งสิ้นมีโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องถึง 13 แห่ง จากทั้งหมด 22 โรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าข่ายต้องสงสัยเนื่องจากมีตัวเลขขอเบิกจ่ายยาสูงผิดสังเกต

ดีเอสไอ ตั้งข้อสงสัยในขบวนการทุจริตครั้งนี้ ใครเป็นคนกลาง มีเครือข่ายกระจายอยู่ที่ใด ขั้นตอนกระบวนการทุจริตเป็นอย่างไร และใครเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลัง?

ข้อมูลจากโต๊ะสืบสวน พบว่าพฤติกรรมของขบวนการทุจริต เกิดขึ้นจากการนำยาแก้หวัดออกจากคลังยาของกระทรวงสาธารณะสุข โดยมี 3 รูปแบบวิธี คือ 1.ทุจริตจากห้องเก็บยา เริ่มจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซ็นอนุมัติขอเบิกยาจากคลังของกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นยาแก้หวัดจะถูกส่งเข้าคลังยาของโรงพยาบาล โดยมีเภสัชกร เป็นผู้จัดทำบัญชีรายการจำนวนยาแก้หวัดที่เบิกเข้ามาใหม่ หรือเรียกว่า (สต็อกการ์ด)

จุดบกพร่องอยู่ที่ การทำสต็อกการ์ด เป็นเท็จแล้วดึงยาแก้หวัดออกจากระบบ โดยทำทีว่าเบิกจ่ายยาออกไปให้กับ รพ.อื่นๆ ที่ขอเบิกเอาไปใช้ แต่สุดท้ายยาแก้หวัดเหล่านี้ถูกนำไปให้คนกลาง ส่วนเงินก็เข้ากระเป๋าของเภสัชกรเม็ดละ 1.30 บาท สูญหายไป 7.2 ล้านเม็ด รูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นที่รพ.อุดรธานี

รูปแบบที่ 2.ทุจริตจากการสั่งซื้อ คือไม่มียาแก้หวัดเข้าสู่ระบบคลังยาของ รพ.เนื่องจากเภสัชกรที่ทุจริต อาศัยหนังสือสั่งซื้อของ รพ.ไปยื่นให้โรงงานผลิต โดยมีคนกลางออกเงินให้ และเมื่อโรงงานผลิตยาออกมาแล้ว แทนที่ตัวยาแก้หวัดจะเข้ามาที่คลังยาของรพ. กลับถูกนำไปให้คนกลางที่มารอรับ ส่งต่อแหล่งสกัดสารซูโดอีเฟดรีน และรูปแบบที่ 3.ทุจริตซับซ้อน คือการนำรูปแบบที่ 1-2 มารวมกัน ขั้นตอนอาจซับซ้อนแต่กลับทิ้งหลักฐานให้แกะรอยไว้มาก

 

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเภสัชกรจะได้เงินค่าตอบแทนเฉลี่ยเม็ดละ 80 สตางค์ ส่วนคนกลางจะได้เงินส่วนต่างเม็ดละ 2.20 บาท จากยาแก้หวัดที่หายไปแล้วกว่า 48 ล้านเม็ด

แม้กระทั่ง คลินิกรักษาโรคทั่วไปก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากคลินิกจับผิดสังเกตได้ง่าย ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถจำหน่ายยาแก้หวัดจำนวนมากๆ ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแล้ว ทีมสืบสวนถูกส่งลงพื้นที่ เพื่อติดตามหาผู้ต้องสงสัยที่หลบหนีไปก่อนหน้านี้คือ “อุดร การสมพรต” และ “สมชัย รักยอดยิ่ง” ที่มีชื่อเป็นผู้เช่าบ้านเลขที่ 111/1 หมู่ 2 ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ภายหลังตรวจพบกล่องยาจำนวนมากถูกทิ้งไว้ภายในบ้าน

“ทั้ง 2 คน ติดต่อกับเภสัชกรของโรงพยาบาลหลายแห่ง และติดต่อกับเอเยนต์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรวบรวมยาแก้หวัดจาก รพ.ทองเสนขัน ไปรวบรวมที่บ้านเช่า ถ้าหากได้ตัวนายอุดร และนายสมชัย เชื่อว่าจะเป็นกุญแจสำคัญ ในการขยายผลไปถึงเส้นทางการส่งต่อยาแก้หวัดสูตรซูโดฯ ให้กลุ่มผลิตยาเสพติดได้” พ.ต.ท.พงศ์อินทร์กล่าว

บุคคลทั้งสองนี้ เป็นกุญแจที่จะไขคดีให้กระจ่าง ว่ามีเภสัชกรหรือผู้บริหารคนใด เข้ามาพัวพันในการทุจริตครั้งนี้ และอาจสาวลึกไปถึงขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติที่อยู่เบื้องหลังได้

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ เป็นผู้กำหนดปริมาณที่ต้องผลิตยาเสพติดให้ได้ในแต่ละปี จากนั้นจะใช้คนกลางหลายคนรับช่วงต่อในการรวบรวมยาแก้หวัดให้ได้ปริมาณตามเป้าที่ตั้งไว้ เมื่อรวบรวมได้มากพอจะส่งออกชายแดนทันที แต่หลักฐานในส่วนนี้ยังไปไม่ถึง

“จะให้ความเป็นธรรมกับเภสัชกรที่สามารถให้ข้อมูลซัดทอดถึงตัวใหญ่ ระดับ ผอ.รพ.หรือคนสั่งการที่สูงกว่าตัวเองขึ้นไปได้ จะไม่ดำเนินคดีแม้มีส่วนผิด เรื่องนี้ดีเอสไอตั้งสมมุติฐานว่า ผอ.รพ.ต้องมีความรับผิดชอบถือว่ารู้เห็นด้วย แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าได้ทำระบบป้องกันการทุจริตไว้อย่างดีแล้ว จะถือว่าพ้นข้อกล่าวหา” นายธาริตกล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคดีพิเศษ ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณารับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ทำให้แนวทางการสืบสอบสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ ได้เต็มรูปแบบ ทั้งในการสนธิกำลังร่วมกับ สำนักงานอัยการสูงสุด เจ้าหน้าที่รัฐจากกระทรวงสาธารณะ(สธ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา( อย.) สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน(พฐ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด( ป.ป.ส.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมใช้มาตรการตรวจสอบกระแสการเงิน การใช้โทรศัพท์ การใช้เครื่องมืออิเลคทรอนิก สายลับ การแฝงตัว การพรางตัว ยุทธวิธีทุกรูปแบบ โดยจะมีการประชุมใหญ่สนธิกำลังในวันที่ 2 เม.ย.นี้

ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางฝั่งของกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ตรวจราชการสาธารณสุข ตรวจสอบแล้วเชื่อได้ว่ามีข้าราชการ เภสัชกร 7 คน เกี่ยวข้องกับการทุจริต ผิดวินัยร้ายแรงโทษถึงขั้นไล่ออกจากราชการ โดยมีคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สป.) ตรวจสอบเภสัชกรทั้ง 7 คนอยู่ในขณะนี้

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดพบความผิดปกติในโรงพยาบาลอีก 3 แห่งคือ รพ.สันทราย จ.เชียงใหม่ รพ.เสริมงาม จ.ลำปาง และรพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ พบความผิดปกติในบัญชีเบิกจ่าย และการสั่งซื้อยาของโรงพยาบาล กับรายงานของ อย. และบริษัทยาแจ้งข้อมูลไว้ไม่ตรงกัน

ด้านหนึ่ง ความคลาดเคลื่อนของตัวเลขเบิกจ่ายยาจำนวนมาก เกิดขึ้นจากการความสับสนของโรงพยาบาล เช่นกรณี รพ.นวมินทร์ 9 ย่านมีนบุรี  มีการแจ้งยอดการจัดซื้อไม่ตรงกับบริษัทยาที่ส่งมาให้

นายยุทธภูมิ มีประดิษฐ์ ผู้ช่วย รพ.นวมินทร์ 9 ดูแลด้านการจัดชื้อ ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือถึง อย.แล้ว โดยยอมรับว่า ตัวเลขเบิกจ่ายคลาดเคลื่อนจริง แต่เกิดจากการจัดซื้อของ บริษัท โอสถอินเตอร์ แลบ บอราทอรี่ ที่รับจัดซื้อยาให้รพ.นวมินทร์ ได้นำยอดจัดซื้อยาของรพ.นวมินทร์ 1 จำนวน 3 หมื่นเม็ด มารวมกับรพ.นวมินทร์ 9 ที่มียอดสั่งจำนวน 3.5หมื่นเม็ด กลายเป็นว่า รพ.นวมินทร์ 9 แจ้งเบิกยาจำนวนถึง  6.5 หมื่นเม็ด

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือตอบกลับมาตามที่ อย.ได้ส่งเรื่องพิจารณา ปรับระดับให้ยาสูตรซูโดอีเฟดรีน เป็นกลุ่มยาออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่2 เป็นยาที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ในทางผิดสูง มีอันตรายต่อสุขภาพ ตามพ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ. 2518 จากที่ปัจจุบันเป็นยาออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่4 ก่อให้เกิดการกระทำผิดต่ำมีความเสี่ยงน้อย โดยในวันวันที่30มี.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

การทุจริตที่เกิดขึ้น หรือความสับสนในบัญชีเบิกจ่ายยา ต้นตอปัญหาทั้งหมดมาจากการไม่วางระบบป้องกันและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน จึงเป็นช่องโหว่ให้ให้ขบวนการค้ายาเสพติดบงการอยู่เบื้องหลัง คำถามจากนี้คือ ผู้บริหารโรงพยาบาล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปจนถึง กระทรวงสาธารณสุข ต้องรับผิดชอบอย่างไร ที่รู้จุดบกพร่องมาตลอดแต่ปล่อยปละละเลย

โดย.... นิติพันธุ์ สุขอรุณ
โพสต์ทูเดย์  1 เมษายน 2555

6010
ดี​เอส​ไอนัดถกคณะ​ทำงานคดีซู​โดฯ ครั้ง​แรก พร้อม​แถลงทุจริต​เบิกจ่ายยา ​แพทย์ชนบทบี้ "ปู" สางปัญหานี้​เอง ​เหตุพันบิ๊ก ขรก.นัก​การ​เมือง อดีต รมว.สธ.ปัด​เอี่ยว หนุน "ธาริต" ล่าตัว​การ​ให้​ได้

​เมื่อวันที่1 ​เมษายน นายธาริต ​เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิ​เศษ (ดี​เอส​ไอ) ​เปิด​เผยว่า ​ในวันที่ 2 ​เม.ย.นี้ ​เวลา 14.00 น. ดี​เอส​ไอ​เตรียมประชุมคณะ​ทำงานร่วมกันครั้ง​แรก ภา ยหลังรับคดี​การลักลอบนำสารซู​โดอี​เฟดรีนจาก รพ.​ไป​เป็นสารตั้งต้นผลิตยา​เสพติด ​เพื่อกำหนดหลัก​เกณฑ์​การ​ทำงานร่วมกัน ​โดยจะ​แบ่งชุด​การ​ทำงานออก​เป็นหลายชุด ​ทั้งชุดสืบสวนหลัก, ชุดสอบสวนหลัก คาดว่า​การสืบสวนสอบสวนจะ​แบ่งตามพื้นที่ สภ.ที่​เกิด​เหตุประมาณ 8 ชุด ส่วน​การ​ทำงานของหน่วยงานอื่นๆต้องหารือ​ในข้อกฎหมายว่าจะ​ทำอะ​ไร​ได้บ้าง

นอกจากนี้ ​ในวันที่ 2 ​เม.ย. ​เวลา 10.00 น. ตนพร้อมด้วย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวง​การคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่าย​และหนี้สิน จะ​แถลงข่าว​การทุจริต​การ​เบิกจ่ายยาออกจากระบบสาธารณสุข

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าว​ถึงกรณีที่นายธาริต ​เสนอ​ให้กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรม​การจากบุคคลภายนอกสอบสวน ก รณียา​แก้หวัดที่มีส่วนผสมของซู​โดอี​เฟดรีนหาย​ไปจาก​โรงพยาบาลหลาย​แห่ง ​เพื่อ​ให้​เห็นกระบวน​การ​ใหญ่ว่า ต้องขอดูข้อกฎ หมายก่อนว่า​เปิดช่องทาง​ให้กระ ทรวงดำ​เนิน​การ​เช่นนั้น​ได้​หรือ​ไม่

อย่าง​ไร​ก็ตาม ​เรา​ได้พยา ยาม​แก้ปัญหาที่​เกิดขึ้น คือ​ในวันที่ 2 ​เม.ย. สำนักงานคณะกรรม​การอาหาร​และยา (อย.) จะนำร่างประ กาศยกระดับยา​แก้หวัดสูตรผสมซู​โดอี​เฟดรีน​เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต​และประสาทประ​เภท 2 มา​ให้ตนลงนาม ​เพื่อ​เป็นข้อปฏิบัติต่อ​ไป​ใน​การครอบครองยา​แก้หวัดที่มีส่วนผสมของซู​โดอี​เฟดรีน​แบบ​เรียล​ไทม์ ​โดย​เฉพาะ​การพกติดตัว​เข้าประ​เทศ​ไทยของนักท่อง​เที่ยวต่างชาติ ​ซึ่ง​ได้กำชับ​เป็นพิ​เศษว่าต้อง​ไม่​ให้​เกิดผลกระทบ ​เพราะต้อง​ไม่ลืมว่าต่างประ​เทศ​ไม่​ได้มีข้อห้าม​เหมือนประ​เทศ​ไทย

นพ.​เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูล​เกียรติ ประธานชมรม​แพทย์ชนบท กล่าวว่า ​ในวันที่ 2 ​เม.ย. ตนพร้อม​แพทย์ชนบทจะ​ไปพบอธิบดีดี​เอส​ไอ​เพื่อหารือปัญหาดังกล่าว ​โดย​เห็นด้วยกับข้อ​เสนอของทางดี​เอส​ไอว่าควรมีคณะกรรม​การจากภายนอก​เข้ามาสอบสวน​เรื่องนี้อย่างจริงจัง​เพื่อ​เอาปลาตัว​ใหญ่มาลง​โทษ ​แทนที่จะลง​โทษ​แค่ปลาซิวปลาสร้อย จากนั้น​ในช่วงบ่ายจะ​เดินทาง​ไปยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ​เพื่อขอ​ให้นายกฯลงมาจัด​การกับปัญหา​เรื่องนี้​เพราะมี​การ​เชื่อม​โยง​ไป​ถึงข้าราช​การระดับสูงนัก​การ​เมือง ​และอดีตรัฐมนตรี

นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ประธานคณะ​ทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟู​และ​เยียวยาด้านยา​เสพติด กล่าวว่า ​ใน​เวลา 09.00 น. วันที่ 2 ​เม.ย. จะมี​การประชุมคณะ​ทำงานก่อนลงพื้นที่ รพ.​เอกชน 2 ​แห่งที่ยอดยาหาย​ไปกว่า 9 ​แสน​เม็ด ​เพื่อดูหลักฐานจากทางรพ.

ขณะที่นายวิทยา ​แก้วภรา ดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ​ในฐานะอดีต รมว.สาธารณสุข กล่าว​ถึงกรณีที่นายธาริตระบุมีอดีต รมว.สาธารณสุข​เกี่ยวข้องกับขบวน​การลักลอบนำยา​แก้หวัดซู​โดอี​เฟดรีน​ไปผลิต​เป็นสารตั้งต้นยา​เสพติดว่า ​เมื่อครั้งรับตำ​แหน่ง​ไม่มี​เรื่องดังกล่าว​เกิดรับตำ​แหน่ง​ไม่มี​เรื่องดังกล่าว​เกิดขึ้น ​และอยาก​ให้กำลัง​ใจนายธาริต​ใน​การหาข้อ​เท็จจริง​ให้​ได้อย่าหยุดนิ่ง ​ให้ค้นหาต่อ​ไปกระทั่ง​ถึงตัว​ผู้กระ​ทำผิดจริงๆ ​เพราะยา​เสพติด​เป็น​เรื่อง​ใหญ่ต้องรู้​ให้​ได้ว่า​ใคร​เกี่ยวข้องบ้าง.

ไทย​โพสต์ -- จันทร์ที่ 2 ​เมษายน 2555

6011
กทม.ระบุยังไม่พบความผิดปกติเบิกจ่าย"ซูโด"ในสถานพยาบาลสังกัด กทม. เรียกร้องคนปูดข่าวรับผิดชอบในคำพูด เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร ขณะที่ ผอ.วชิรพยาบาล เผยหารือกับ “พสิษฐ์” แล้ว ยืนยันไม่เคยระบุชี้ชัดวชิรพยาบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง...

พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จากตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายยาซูโดอีเฟดรีนของโรงพยาบาลในสังกัดกทม.ทั้ง 8 แห่ง และ 1 มหาวิทยาลัยในกำกับ เบื้องต้นไม่พบความผิดปกติ โดยในส่วนของวชิรพยาบาลได้มีการรายงานผลการใช้ยา และยาที่เหลือในคลังยาขณะนี้ 16,000 เม็ด ซึ่งในพรุ่งนี้ (2 เม.ย.) โรงพยาบาลในสังกัดจะมีการรายงานผลมาเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง  ที่ผ่านมา กทม.ปฏิบัติตามการประสานมาของปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้มีการตรวจสอบการเบิกจ่ายยาซูโดอีเฟดรีนแต่ละโรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนกรณีที่มีการด่วนสรุปว่าโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เข้าข่ายยาซูโดอีเฟดรีนหายนั้น ต้องการให้มีการรับผิดชอบคำพูดที่ออกไปทุกครั้ง เพราะสถานพยาบาลที่เปิดรายชื่อได้กลายเป็นจำเลยสังคม บางแห่งที่ระบุว่าเข้าข่ายดังกล่าวเป็นโรงเรียนแพทย์ อาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร เพราะไม่ได้มีแค่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล จึงขอให้มีการตรวจสอบที่แน่ชัดก่อนมีการเปิดเผยรายชื่อสถานพยาบาล ทุกอย่างควรทำอย่างมีหลักการ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการพูดบนเวทีเสวนา ส่วนจะมีการฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวหรือไม่คงต้องปล่อยให้สถานพยาบาลที่ได้รับความเสียหายจากเรื่องดังกล่าวพิจารณา ว่าจะดำเนินการเช่นไรต่อไป

ด้าน นพ.ชัยวัน เจริญโชคทวี ผู้อำนวยการวชิรพยาบาล กล่าวว่า ได้มีการหารือกับนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยยืนยันว่าไม่เคยมีการเอ่ยชื่อว่า วชิรพยาบาลเกี่ยวข้องกับยาซูโดอีเฟดรีนหาย จึงขอให้ความเป็นธรรมกับทั้งวชิรพยาบาลและนายพสิษฐ์ด้วย  การจัดทำข้อมูลยาของวชิรพยาบาลมีการจัดทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และมีการจำกัดการใช้ยาดังกล่าวด้วยควรระมัดระวังมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งตนและนายพสิษฐ์จะขอให้สื่อเปิดเผยรายชื่อแหล่งที่กล่าวอ้างที่ทำให้เกิดความเสียหาย หากทำไม่ได้ก็จะดำเนินการฟ้องร้อง

ไทยรัฐออนไลน์  2 เมย 2555

6012
 ใครที่ชอบนอนดึกตื่นเช้า จะด้วยภาระหน้าที่การงาน ติดหนังติดละคร นอนดูบอลยามดึก กว่าจะได้ล้มตัวลงนอนก็ปาเข้าไปค่อนคืน แถมยังต้องตื่นแต่เช้ามาผจญกับวันใหม่ ยังไงๆ ก็ต้องง่วงหงาวหาวนอนกันเป็นธรรมดา แถมยังทำให้ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่าเหมือนกับวันที่พักผ่อนเต็มที่อีกด้วย
       
       และอาหารที่กินเข้าไปก็เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ความสดชื่นกลับมาเยือนอีกครั้ง “108 เคล็ดกิน” ก็มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากสดชื่นในยามเช้า เริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่ควรกินกันก่อน นั่นคือ อาหารทอด หรืออาหารมัน อาหารเค็มจัด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้จะยิ่งทำให้อาการนอนน้อยแย่ลงไปอีก
       
       ส่วนอาหารที่ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกายก็คือ อาหารพวกผัก ผลไม้ อาหารจำพวกนี้จะมีโครเมียม ที่ช่วยให้รักษาระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย โดยเฉพาะในแอปเปิ้ล กล้วย และมันฝรั่ง
       
       อาหารที่มีวิตามินบี และซี วิตามินบีจะช่วยลดอาการนอนไม่หลับ ช่วยให้สมองผ่อนคลาย และทำให้ประสาทตื่นตัว พบมากในข้าวกล้อง ธัญพืชต่างๆ ไข่ เนื้อสัตว์ เป็นต้น ส่วนวิตามินซี จะช่วยต้านความเหนื่อยล้าของร่างกาย สร้างภูมิต้านทาน พบมากในผักและผลไม้สด และผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่าจากความเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดด้วย
       
       ควรกินอาหารเบาๆ ย่อยง่ายๆ กระเพาะจะได้ไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไป อย่างเช่น กินเนื้อปลา จะได้โปรตีนที่ย่อยง่าย ได้รับไขมันชนิดดี เช่นโอเมก้า 3 ที่จะช่วยบำรุงสมอง สร้างสมาธิและความจำให้ดีขึ้นเวลาอดนอน กินถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าวสาลี และธัญพืชต่างๆ นอกจากจะย่อยง่ายแล้ว ก็ยังมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมที่ช่วยบำรุงประสาท และช่วยให้จิตใจแจ่มใสสดชื่น
       
       สุดท้าย ต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อเรียกความสดชื่นให้กลับคืนมา การที่พักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ และอาจเกิดอาการร้อนใน การดื่มน้ำเข้าไปชดเชยให้เพียงพอนั้นจะช่วยให้ร่างกายปรับสมดุลเข้าสู่ภาวะปกติได้ และกลับมาสดชื่นเหมือนเดิม
       
       แต่ข้อสำคัญ ก็ไม่ควรนอนน้อยเกินไป หรืออดนอนบ่อยๆ เพราะจะทำให้ร่างกายทรุดโทรม หน้าตาไม่ผ่องใส ไม่สดชื่น

ASTVผู้จัดการออนไลน์    29 มีนาคม 2555

6013
สธ.ระดมทีมแพทย์ช่วยชีวิตเหยื่อคาร์บอมบ์ที่ยะลา เบื้องต้นตาย 8 ราย บาดเจ็บ 68 ราย ส่วนเหตุไฟไหม้ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ในหาดใหญ่พบผู้สำลักควันไฟ 50 ราย
       
       วันนี้ (31 มี.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุคาร์บอมบ์ 3 จุด ที่บริเวณย่านร้านอาหาร เทศบาลเมือง จังหวัดยะลา เมื่อเที่ยงวันนี้ว่า ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ยะลาว่า มีผู้เสียชีวิตทันที 8 ราย เป็นชาย 4 ราย หญิง 4 ราย ได้สั่งการระดมหน่วยแพทย์ พยาบาล รถกู้ชีพไปช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บยังจุดที่เกิดเหตุ และให้เตรียมพร้อมคลังเลือด ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู และทีมแพทย์เฉพาะทางให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่
       
       นายวิทยากล่าวว่า ข้อมูล ณ เวลา 14.00 น. มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 68 ราย นำเข้ารักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ในจำนวนนี้อาการสาหัส 10 ราย ประมาณร้อยละ 50 ถูกไฟลวก และถูกสะเก็ดระเบิดตามร่างกาย โดยแพทย์ได้ทำการผ่าตัดด่วนเพื่อเอาสะเก็ดระเบิดออก ส่วนที่เหลือ 58 ราย บาดเจ็บเล็กน้อยถึงปานกลาง อย่างไรก็ดี ประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับจุดระเบิด หากมีอาการผิดปกติ เช่น หูอื้อ เจ็บแน่นหน้าอก สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาตลอด 24 ชั่วโมง

       สำหรับเหตุไฟไหม้จากท่อส่งแก๊สระเบิดชั้น 3 ที่โรงแรมลีการ์เดนส์  อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  ได้ระดมหน่วยแพทย์กู้ชีพจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ ไปให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ  ในเบื้องต้นพบผู้สำลักควันไฟ  นำส่งโรงพยาบาลหาดใหญ่ 30 ราย และส่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ 20 ราย  วันนี้ได้สั่งการให้นายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา และยะลา  เพื่ออำนวยการดูแลผู้บาดเจ็บให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตสูงสุด    โดยผู้บาดเจ็บทุกราย กระทรวงสาธารณสุขจะให้การรักษาฟรีตามนโยบายการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    31 มีนาคม 2555

6014
“วิทยา” เดินหน้าปรับโฉมหน้าบริการของ รพ.สต.9,750 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นศูนย์สุขภาพใกล้บ้าน ใกล้ใจ มีบริการควบคู่ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน และแผนไทย ตรวจรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภายในปี 2556 เริ่มในปีนี้ 1,000 แห่ง โดยติดตั้งระบบวิดีโอออนไลน์ ให้ผู้ป่วยได้พบแพทย์เฉพาะทาง ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ ขณะนี้พบหลายแห่งใช้ได้ผลดี
   
       วันนี้ (31 มี.ค.) ที่โรงแรมวรบุรีอโยธยา คอนเวนชั่น รีสอร์ท จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจง และมอบนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือรพ.สต.และศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองหรือ ศสม.เพื่อยกระดับความเข้มแข็งของระบบบริการขั้นปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ ผู้แทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.และศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง หรือ ศสม.ใน 29 จังหวัดภาคกลาง รวมกว่า 1,000 คน เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพบริการแก่ประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วงทศวรรษที่ 2 ให้มีสถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ให้เป็นรูปธรรม ประชาชนสัมผัสบริการได้จริง ภายใน 6 เดือนในปีนี้
      
       นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ คือ รพ.สต.ที่มี 9,750 แห่ง ทั่วประเทศ และ ศสม.อีก 228 แห่ง ซึ่งเป็นหน่วยบริการในสังกัดที่ไม่มีเตียงรับผู้ป่วยนอนรักษา ตั้งอยู่ในเขตชนบท และชุมชนในเขตเมือง เพื่อให้สถานบริการเหล่านี้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2 โรค คือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยจะเน้นหนักการดูแลส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน เพื่อลดจำนวนผู้เจ็บป่วย ลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ให้เป็นผลสำเร็จภายในปี 2556 โดยในปี 2555 นี้ มีเป้าหมายพัฒนารพ.สต.ขนาดใหญ่ 1,000 แห่ง
      
       ในการพัฒนาดังกล่าว จะมีการเพิ่มบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตาภิบาล เพิ่มแพทย์แผนไทยให้บริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยและส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะเป็นหมอประจำทุกครัวเรือน และมีแพทย์ที่ปรึกษาประจำ รพ.สต. 1,000 แหง และได้ให้รพ.สต.ทุกแห่งติดตั้งสไกป์ (Skype) ซึ่งเป็นระบบวิดีโอออนไลน์ ใช้เงินลงทุนต่ำมาก เชื่อมโยงระบบกับโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อสามารถปรึกษาและสนทนากับแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลใหญ่ ในรายที่มีปัญหาซับซ้อนแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยอาการผู้ป่วยได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลใหญ่ จากการตรวจเยี่ยม รพ.สต.หลายแห่งที่ จ.นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา พบว่าได้ผลดี ประชาชนพึงพอใจมาก การเสริมบริการด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารนี้ จะทำให้สามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนแพทย์ได้
      
       ทั้งนี้ ตั้งเป้าในปี 2555 มุ่งหวังจะลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ให้ได้ร้อยละ 50 ของที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มั่นใจว่าภายในปี 2556 จะสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มอัตราการใช้บริการของประชาชนให้ได้ร้อยละ 60 และดูแลเยี่ยมบ้านประชาชนได้ร้อยละ 80 ส่วนผู้ป่วยทั้งโรคทั่วไป หรือโรคเรื้อรังที่ป่วยรุนแรงหรือมีอาการแทรกซ้อน จะมีระบบส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล

ASTVผู้จัดการออนไลน์    31 มีนาคม 2555

6015
  “วิทยา” เผย เหตุระเบิดยะลา ดับ 11 ราย อีก 2 รายบาดเจ็บหนักเสี่ยงตาบอด เร่งกำชับทีมแพทย์ช่วยเหลือด่วน พร้อมเปิดศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเกิด เหตุการณ์ระเบิดที่เทศบาลนครยะลา ถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการณ์ของจังหวัดยะลา ล่าสุด ณ เวลา 08.00 น.วันนี้ (1 เม.ย.) สรุปมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 11 ราย เป็นชาย 6 ราย หญิง 5 ราย โดยเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ 8 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 3 ราย เนื่องจากอาการบาดเจ็บรุนแรงมาก มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 127 ราย ซึ่งผู้บาดเจ็บทยอยมาที่โรงพยาบาลยะลา จนถึงเวลา 23.00 น.(31 มี.ค.) ทีมแพทย์ได้ดูแล ทำแผล ส่วนใหญ่กลับบ้านได้ มีผู้บาดเจ็บที่ต้องนอนรักษาตัว 31 ราย ในจำนวนนี้อาการสาหัส 10 ราย ส่วนใหญ่ถูกเปลวไฟลวก และสะเก็ดระเบิด โดยมี 5 รายที่ถูกไฟลวกตามร่างกายรุนแรงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ นอนรักษาที่ห้องไอ.ซี.ยู.ในวันนี้เตรียมส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 1 ราย คือ อาสาสมัครทหารพราน สุวิทย์ ช่วยนะ ซึ่งถูกไฟลวกเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ อยู่ระหว่างการประสานงานส่งต่อทางเครื่องบิน ซี 130
       
       ส่วนผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 5 ราย ขณะนี้อาการปลอดภัยแต่มี 2 ราย ที่เสี่ยงตาบอด เนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ลูกตาทำให้ตาแตก ซึ่งทั้งหมดนี้ทีมแพทย์โรงพยาบาลยะลา ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาได้ให้การดูแลอย่างเต็มที่
       
       นพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ประสานงานการบริการฉุกเฉินทุกสิทธิ์ รวดเร็ว ปลอดภัย ไร้รอยต่อ ของกระทรวงติดตามการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินของสถานบริการในสังกัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล คือ เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน เพื่อให้การขับเคลื่อนบริการประชาชนเป็นไปด้วยดี โดยมีสายด่วนเบอร์โทร 02-590-1994 มี 10 คู่สาย เบอร์โทรสาร 02-590-1993 ประสานงานสำหรับเจ้าหน้าที่ในการจัดบริการประชาชน ขณะเดียวกัน สปสช.ได้เปิดสายด่วนให้บริการประชาชนในเรื่องนี้ด้วย ทางสายด่วน 1330 โดยหากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทร.แจ้ง หน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน ฟรีทั่วประเทศ ทางหมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    1 เมษายน 2555

หน้า: 1 ... 399 400 [401] 402 403 ... 534