แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - story

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 554
16

รัฐบาลไทยโดยความร่วมมือของ สธ.และคมนาคม มุ่งยกระดับความปลอดภัยทางถนน ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม พัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถตามมาตรฐานสากล ตรวจสุขภาพประเมินสมรรถนะผู้ขับขี่ก่อนออกหรือต่อใบอนุญาตขับรถเริ่มกลุ่มแรกในผู้ขับขี่รถสาธารณะ รถบรรทุก รถนักเรียน รถพยาบาลและกู้ชีพกู้ภัย

Home /ข่าวสารสุขภาพ / Update: 26.11.2567

ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย

           รัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญเร่งด่วนในการลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และตั้งเป้าดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม  เป็นไปตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ  เพื่อการบรรลุตามเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2021-2030 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม ที่กำหนดให้

        ลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลง ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2573

         รวมถึงแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยที่มีเป้าหมายลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็น 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี พ.ศ. 2570  (จาก 25 คนต่อแสนประชากร ณ ปี พ.ศ. 2566 - รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน)


         ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า  ในแต่ละปี ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 18,000 ราย บาดเจ็บกว่า 1 ล้านราย พิการกว่า 10,000 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 600,000 ล้านบาท


 

ไทยตั้งเป้า ลดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม HealthServ
 
มาตรการจาก 2 กระทรวง

         กระทรวงคมนาคม ในบทบาทการควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยในการคมนาคมของประเทศและประชาชน  ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางถนน ให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย พร้อมกับเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทุกมิติ อาทิ ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ พัฒนามาตรฐานยานยนต์ให้เป็นมาตรฐานสากล UN Regulations ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ


        ในด้านของกระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ  ควบคู่ไปกับการเร่งรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะ และทุกภาคส่วน มีความพร้อมด้านสุขภาพ ตระหนักถึงความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ

         6 พฤศจิกายน 2567 ที่ หอประชุมราชรถสโมสร กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน ระหว่าง นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยาน


           นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งยกระดับและพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถ ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยจะพิจารณาและปรับปรุงกฎระเบียบรองรับการตรวจคัดกรองสุขภาพและตรวจประเมินสมรรถนะผู้ขับรถพัฒนาและนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารจัดการและบริการประชาชน พัฒนามาตรฐานการตรวจและประเมินสมรรถนะทางสุขภาพของผู้ขับขี่ (Medical Fitness to Drive) และเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแพทย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการขอรับและขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก พัฒนาคลินิกประเมินสมรรถนะทางสุขภาพผู้ขับขี่ผ่านคลินิกอาชีวเวชกรรมในโรงพยาบาล โดยจะเริ่มดำเนินการในกลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะ รถบรรทุก รถนักเรียน รถพยาบาล และกู้ชีพ กู้ภัย เป็นกลุ่มแรก

https://healthserv.net/healthupdate/224877
6.11.2567

17
คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ มีมติเสนอรัฐบาลผลักดันนโยบาย 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล เลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเห็นชอบให้ขับเคลื่อนโครงการ Gen Z ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ทั่วประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยไม่สูบบุหรี่

11 พฤศจิกายน 2567 ที่กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 3/2567 และให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเสนอให้ผลักดันนโยบาย 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาลเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบในการเป็นจุดจัดการลดจำนวนนักสูบ พร้อมเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดโครงการ Gen Z ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ทั่วประเทศเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยไม่สูบบุหรี่ทุกประเภท

       นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร เกี่ยวกับการยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม โดยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาภายใต้แนวคิด “1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล ช่วยคนไทยเลิกบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าแบบครบวงจร” และการส่งเสริมการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมด้วยการขับเคลื่อน “การสร้างแกนนำเด็กและเยาวชน Gen Z ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อให้การควบคุมการบริโภคยาสูบ ทั้งการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และการช่วยให้นักสูบสามารถเข้าถึงระบบเลิกบุหรี่จนสามารถเลิกได้สำเร็จ ซึ่งที่ประชุมมีมติมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.มอบกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนการขยายโอกาสการเพิ่มระบบบริการเลิกบุหรี่ โดยสนับสนุนการใช้ยาเลิกบุหรี่ และให้ อสม. ช่วยชักชวน สร้างกำลังใจและกำกับติดตามให้นักสูบสามารถเลิกสูบได้สำเร็จ 2.สร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายแกนนำเด็กและเยาวชนไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งในสถานศึกษาและผ่านกลไกสมัชชาเด็กและเยาวชนทุกจังหวัด เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงองค์ความรู้ สื่อเผยแพร่เกี่ยวกับโทษพิษภัยบุหรี่ และกลยุทธ์ของธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบ เกิดการรู้เท่าทันและไม่หลงเชื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ


 
       นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า กรมควบคุมโรคได้เตรียมความพร้อมทั้งเรื่องการช่วยเลิกบุหรี่ โดยมียาเลิกบุหรี่ Cytisine ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ รองรับการเบิกจ่ายในโรงพยาบาลตามสิทธิ์การรักษาทุกประเภท และการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยประสานงาน และบูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดำเนินงานให้เด็กและเยาวชนไทยมีความรู้และภูมิคุ้มกันตนเอง พร้อมบอกต่อและชักชวนให้เพื่อนไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีสุขภาพที่ดี
 
       ทั้งนี้ ก่อนการประชุมฯ ได้มีการมอบรางวัลอาเซียนปลอดบุหรี่ (ASEAN Smoke-free Award) ให้กับเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูองค์กรที่มีผลงานและกลไกการบริหารระดับพื้นที่ที่มีผลงานโดดเด่นด้านการดำเนินงานสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ จนสามารถเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ โดยในปี พ.ศ. 2566 เทศบาลเมืองแสนสุข ได้รับรางวัลอาเซียนปลอดบุหรี่ระดับเหรียญทองแดง จากผลงานเด่นด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อนให้ชายหาดบางแสนเป็นชายหาดปลอดบุหรี่

https://healthserv.net/healthupdate/224878
11 พฤศจิกายน 2567

18
Google Maps แอปพลิเคชันนำทางยอดนิยมของใครหลายๆ คน กำลังถูกทางการอินเดียตรวจสอบ หลังนำทางนักท่องเที่ยวขับรถขึ้นสะพานขาด จนกลายเป็นโศกนาฏกรรม   
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ Google Maps พาหลงทางไปที่แปลกๆ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดีย เป็นเรื่องใหญ่จนทางการถึงกับต้องลงมาตรวจสอบ เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย

เหตุการณ์นี้เกิดที่รัฐอุตตรประเทศ ทางเหนือของอินเดีย เมื่อชายเคราะห์ร้ายทั้ง 3 ราย กำลังเดินทางไปร่วมงานแต่งงาน โดยใช้ Google Maps นำทาง

ปรากฏว่า Google Maps พาพวกเขาขับรถขึ้นสะพานขาดที่ยังซ่อมไม่เสร็จ ก่อนจะพุ่งตกลงไปในแม่น้ำรามกังกาที่อยู่เบื้องล่าง จากความสูงมากกว่า 15 เมตร ทำให้พวกเขาเสียชีวิตทันที

จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ สะพานที่เกิดเหตุนี้ เป็นสะพานชำรุด ที่ทางช่วงหนึ่งถล่มไปตั้งแต่เกิดน้ำท่วมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลใน  Google Maps จะไม่อัปเดต ขณะที่บนสะพาน หรือก่อนทางขึ้น ก็ไม่ได้มีแผงกั้นหรือป้ายเตือน เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้

เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับญาติของผู้เสียชีวิต และชาวบ้านในละแวกที่เกิดเหตุอย่างมาก จนมีการร้องเรียนไปยังทางการให้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การสอบสวนในเวลาต่อมา

โดยตำรวจเปิดเผยว่า ได้เรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ Google มาให้ปากคำแล้ว

ขณะที่ Google ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับยืนยันว่า จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการสอบสวนอย่างเต็มที่

หลงทางจาก GPS ไม่ใช่เรื่องใหม่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในอินเดีย เมื่อปีที่แล้ว ก็เพิ่งมีเหตุแพทย์ 2 ราย ขับรถตกสะพานเสียชีวิต ที่รัฐเกรละ ทางใต้ของอินเดีย เนื่องจากการนำทางของ Google Maps

และที่สำคัญ การหลงทางจาก Google Maps หรืออาจจะเรียกรวมๆ ว่าระบบ GPS ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่อินเดีย ล่าสุด เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ก็เพิ่งมีข่าวนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันหลงอยู่ในป่านานเป็นสัปดาห์ เนื่องจาก GPS พานำทางเข้าไป

หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง ก็เคยมีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันให้ได้ยินมาหลายครั้ง บางกรณีรุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต เช่น ข่าวใหญ่เมื่อปี 2564 หนุ่มวัย 27 ปี ขับรถยนต์พุ่งลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากเดินทางมาตาม GPS และไม่ชินพื้นที่

ใช้ระบบนำทางยังไงไม่ให้หลง
เหตุการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของการหลงทางที่มีสาเหตุจากการใช้งาน GPS ไม่ว่าจะด้วยความประมานเลินเล่อ หรือความบกพร่องของอุปกรณ์ GPS แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ แม้เทคโนโลยีจะนำพาความสะดวกสบายมาสู่ชีวิต แต่หากไม่รู้จักใช้งานอย่างถูกวิธีแล้ว ก็อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่อาจย้อนคืน ดังนั้น การป้องกัน ระมัดระวังตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า

NOSTRA ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลแผนที่ประเทศไทยออนไลน์ เคยให้คำแนะนำการใช้งานอุปกรณ์นำทาง GPS ให้ปลอดภัย ไม่หลงทาง

อันดับแรก ผู้ใช้งานควรศึกษาข้อมูลเส้นทางก่อนเดินทางทุกครั้ง เช็คให้แม่นยำว่าพิมพ์ชื่อจุดหมายปลายทางถูกต้อง ศึกษาการใช้งานอุปกรณ์ ตรวจดูว่าอยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน

และเมื่อใช้ GPS นำทาง ควรพยายามใช้ถนนสายหลัก หลีกเลี่ยงการขับรถไปในเส้นทางลัด ที่สำคัญก็คือ ไม่ควรชื่อ GPS ตลอดเวลา ต้องมีสติและวิจารณญาณในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกัน


WORKPOINT
28 พย 2567

19
ป.ป.ท.-ตำรวจ นำกำลังเจ้าหน้าที่บุกจับคาร้านยา อดีตเภสัชกร โรงพยาบาลดังชลบุรี แอบลักลอบเอายาไปขณะเข้าเวรจ่ายยา มูลค่ากว่า 60,000 บาท

วันที่ 27 พ.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้การอำนวยการของ นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. สั่งการให้ พ.ต.ท.สราวุธ คำเหลือง ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต พร้อมด้วย พ.ต.ต.จักรกฤษณ์ ประจันพล ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการด้านการคุ้มครองพยาน

นำกำลังเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสมุทรปราการ นำโดย พ.ต.ท.สรยุทธ จิโรภาส รอง ผกก.สส.สภ.เมืองสมุทรปราการ ติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ที่ จ.9/2567 ลงวันที่ 26 เม.ย.2567

ในความผิดฐาน "เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย"

สืบเนื่องจาก เมื่อประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.2552 ขณะที่ผู้ต้องหาดำรงตำแหน่งเป็นเภสัชกร โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ชลบุรี ได้แอบลักยาในห้องจ่ายยาในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรจ่ายยาให้กับผู้ป่วยนอกเวลาราชการ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 64,458 บาท

ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิด แต่ผู้ต้องหาไม่ไปพบพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลตามกำหนดนัด พนักงานสอบสวนจึงออกหมายจับผู้ต้องหาเพื่อนำตัวผู้ต้องหาฟ้องคดีต่อศาล

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. พบว่าผู้ต้องหาได้ไปทำงานอยู่ที่ร้านขายยาแห่งหนึ่ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. จึงประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสมุทรปราการ และทำการเข้าจับกุมเพื่อนำตัวผู้ต้องหาส่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ข่าวสด
27 พ.ย.2567

20
หมอพบ เด็กหญิงวัย11 ที่อุบลฯ ป่วยปอดอักเสบ หามเข้าICU เพราะบุหรี่ไฟฟ้า เผบสูบมานานได้ นานประมาณ 6 เดือน จนกระทั่งป่วยหนัก

วันที่ 27 พ.ย.2567 มีรายงานว่า พบเด็กหญิงอายุ 11 ปี ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีอาการ “ปอดอักเสบ” เข้าห้อง ICU จากการสอบถามยอมรับ “สูบบุหรี่ไฟฟ้า” เพราะเพลิดเพลิน และหาซื้อง่าย

โดยเพจเสียงจากทหารเรือ ระบุว่า พล.ร.ต.หญิง พญ.สุพิชชา แสงโชติ ผู้แทนราชวิทยากุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าว “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”ว่า ปกติเด็กก่อนวัยเรียนมักมีปัญหาป่วยเรื้อรัง น้ำมูกไหล หอบเฉียบพลันมากอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะคนในบ้านสูบบุหรี่ กระทั่งปี 2565 พบเด็กป่วยมากขึ้นสอบสวนโรคพบคนในบ้านสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเพื่อนที่โรงเรียนสูบ

ล่าสุดปี 2567 พบผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 11 ปี ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเดิมป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่แล้วแต่สามารถรักษา คุมโรคได้ดี ทำกิจกรรมได้ปกติ แต่ต่อมา 1 เดือนก่อนเข้าโรงพยาบาลพบว่ามีอาการเหนื่อยง่าย ไอ มีเสมหะมาก กระทั่งไม่ไหวต้องมารพ.รักษาในไอซียู เอกซเรย์พบปอดอักเสบ

ซักประวัติไม่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ รักษาเต็มที่แต่ไม่ตอบสนองการรักษา ต้องใส่ท่อช่วยหายใจระหว่างนั้นสอบถามเด็กยอมรับว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้า จึงรีบให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ทำให้อาการดีขึ้น จากนั้นเด็กเล่าว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ 6 เดือน โดยหาซื้อได้ง่ายในซอยข้างบ้าน จึงเพลิดเพลินกับการทดลองบุหรี่ไฟฟ้าหลายสี หลายรส กระทั่งป่วยต้องมารพ.

ข่าวสด
27 พ.ย.2567

21
รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เผยแพร่บทความพิเศษ เรื่อง “โรคไตเรื้อรัง : บทเรียน การออกแบบนโยบายของระบบ หลักประกันสุขภาพภาครัฐ” ระบุว่า

โรคไม่ติดต่อ (Non Communicable Diseases: NCDs) เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและมีความท้าทาย เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยสถานการณ์โรค NCDs จากดัชนีภาระโรค (disease burden)

ตั้งแต่ปี 2533 – 2564 พบว่า การสูญเสียปีสุขภาวะ (Disability adjusted life years: DALYs) ของประชากรโลกจากโรค NCDs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.15 พันล้านปี เป็น 1.70 พันล้านปี และมี ผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละกว่า 41 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตทั่วโลก

เช่นเดียวกับประเทศไทย โดยการสูญเสียปีสุขภาวะของโรค NCDs เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 9.44 ล้านปี ในปี 2533 เป็น 16.55 ล้านปี ในปี 2564 ซึ่งระหว่างปี 2561 – 2565 มีจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 1.6 – 1.7 แสนคนต่อปี คิดเป็นอัตราตาย ต่อประชากรแสนคนอยู่ที่ 247 – 271 คน

ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยโรค NCDs ของไทยเป็นรายโรค พบว่า โรคมะเร็งถือเป็นโรค ที่มีการสูญเสียปีสุขภาวะสูงที่สุดในปี 2564 โดยมีการสูญเสีย 3.01 ล้านปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของ การสูญเสียปีสุขภาวะจากโรค NCDs ทั้งหมด รองลงมาเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีสัดส่วนร้อยละ 19.3 และโรคไตเรื้อรังที่สัดส่วนร้อยละ 11.7

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการขยายตัวของการสูญเสียปีสุขภาพ กลับพบว่า โรคไตเรื้อรัง เป็นโรคที่มีการสูญเสียเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยระหว่างปี 2534 – 2564 มีการสูญเสียเพิ่มขึ้นถึง 3.14 เท่า สูงกว่าโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า และ 1.8 เท่าตามลำดับ

นอกจากนี้ โรคไตเรื้อรังยังเป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คนไทยที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง 1.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีจำนวน 0.98 ล้านราย

ขณะที่ข้อมูลสถิติสุขภาพคนไทย ของสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ พบว่า ในปี 2560 ผู้เสียชีวิต จากโรคไตเรื้อรังมีจำนวน 9,644 คน (คิดเป็นอัตรา 14.79 คนต่อประชากรแสนคน) เพิ่มขึ้นเป็น 11,850 คน ในปี 2564 (คิดเป็นอัตรา 18.17 คนต่อประชากรแสนคน) หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.8

การที่คนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นและมีอัตราการตายที่สูงขึ้น รวมทั้งมีการขยายตัวในอัตราเร่งของ การสูญเสียปีสุขภาวะสูงที่สุด สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะอาหารรสเค็ม ซึ่งปัจจุบัน คนไทยบริโภคเค็มเกินกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่า

นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยจำนวนมาก บริโภคยาไม่ถูกต้องและเกินความจำเป็น โดยในปี 2565 มีคนไทยเพียงร้อยละ 14 ที่มีความรอบรู้ด้านการใช้ยา ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งการใช้ยาโดยเฉพาะยาอันตราย อาทิ ยาแก้ปวดชนิดแรง และยาปฏิชีวนะนั้น เป็นสาเหตุ สำคัญอีกประการหนึ่งของการเกิดโรคไตเรื้อรัง

ขณะเดียวกัน โรคไตยังสามารถเกิดได้จากการสูบบุหรี่ ซึ่งควันบุหรี่ จะไปทำลายหลอดเลือดที่อยู่ตรงหน่วยกรองของไต (โกลเมอรูลัส) ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง รวมทั้ง ยังเกิดจากการเป็นโรค NCDs อื่น คือ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับการจัดการกับโรคไตเรื้อรังของไทยมีทั้งมาตรการป้องกันไม่ให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทั้งใน ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค และการลดระดับความเค็มในอาหารของผู้ผลิตอาหาร โดยมาตรการด้านผู้บริโภค อาทิ การสร้างความตระหนักและลดการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม และการพัฒนาเครื่อง Chem Meter ที่สามารถตรวจวัดระดับความเค็ม

ขณะที่มาตรการที่มีต่อผู้ผลิต อาทิ การศึกษา พิจารณากลไกการจัดเก็บภาษี โซเดียมหรือภาษีความเค็ม

สำหรับมาตรการด้านการรักษา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลมีนโยบายให้บริการ ล้างไตกับประชาชนด้วยวิธีใดก็ได้ตามความสมัครใจ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ เลือกวิธีการล้างไตด้วยตนเอง ซึ่งบริการล้างไตสำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย (ระยะที่ 5) แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การล้างไตผ่านทางช่องท้อง และการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งมีข้อดีและข้อเสีย สรุปได้ดังนี้

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบาย จากเดิมที่กำหนดให้การล้างไตผ่านช่องท้อง เป็นทางเลือกแรก (PD First) เป็นสามารถบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีใดก็ได้ตามความสมัครใจของผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย หันมาใช้บริการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 88.75 ภายในระยะเวลา 1 ปี จาก 24,837 คน ในปี 2564 เป็น 46,881 คน ในปี 2565 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พบว่า มีผู้รับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สูงถึง 74,134 ราย

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนของ ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องต่อผู้ป่วยที่ฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียม จะพบว่า ก่อนมีการเปลี่ยนแปลง นโยบาย สัดส่วนเฉลี่ยระหว่างปี 2561 - 2564 อยู่ที่ ประมาณร้อยละ 52.8 ต่อ 46.8 และในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ต่อ 59.8

ทั้งนี้ นอกจากพฤติกรรมของผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มาตรการดังกล่าวยังมีข้อค้นพบที่สามารถ นำมาใช้เป็นบทเรียน ในการดำเนินนโยบายด้านสุขภาพต่อไป ดังนี้

1. บุคลากรทางการแพทย์และหน่วยบริการด้านการล้างไตยังมีไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการล้างไตด้วยการฟอกเลือด ส่งผลให้บุคลากร ทางการแพทย์มีภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการบำบัดทดแทนไตจำเป็นต้องมีการผ่าตัดหลอดเลือด เพื่อทำการฟอกเลือด ซึ่งในการฟอกเลือดแต่ละครั้งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์

ขณะที่ การล้างไตทางช่องท้องแม้จะมีการผ่าตัดสำหรับใส่สายท่อล้างไตแบบถาวรเข้าไปในช่องท้อง แต่หลังจากนั้นผู้ป่วย สามารถล้างไตได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอายุรแพทย์โรคไตกลับมีจำนวนไม่เพียงพอ

ข้อมูลจากเวทีสนทนา หัวข้อ “สิ่งท้าทายและข้อเสนอระบบทดแทนไตของไทยในปัจจุบันและอนาคต” ของสำนักงานคณะกรรมการ สุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอายุรแพทย์โรคไตมีจำนวน ประมาณ 1,000 คน และมักกระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง ทำให้บางพื้นที่มีความขาดแคลน รวมถึงจำนวนพยาบาล เฉพาะทางด้านโรคไตยังมีไม่เพียงพอสำหรับการรองรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของหน่วย บริการไตเทียมจำนวนมากยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมคุณภาพของการให้บริการอีกด้วย

2. ความไม่พร้อมของเครื่องมือในการจัดบริการโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
จากข้อมูลของสมาคม โรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า จำนวนเครื่องไตเทียมเพิ่มขึ้นจาก 11,045 เครื่อง ในปี 2564 เป็น 11,613 เครื่อง ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.14 ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยที่เข้ารับบริการฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียมที่การใช้สิทธิบัตรทอง ต่อจำนวนเครื่องไตเทียมทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 2.25 คนต่อเครื่อง ในปี 2564 เป็น 4.04 คน ต่อเครื่อง ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า  ภายหลังการปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งอาจส่งผล ต่อมาตรฐานการให้บริการการรักษาที่ลดลง

3. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วย
โรคไตเรื้อรังทุกราย จากการศึกษาของคณะท างานพัฒนานโยบายการล้างไต ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งช าติ (2567) พบว่า แม้ว่ า การปรับเปลี่ยนนโยบายจะส่งผลให้ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายเข้าถึง การรักษาด้วยการฟอกเลือดมากขึ้น แต่ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่เข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีการเสียชีวิตมากกว่า ที่ควรจะเป็น โดยภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี มีจ านวนกว่า 5,500 คน และ คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลจากคู่มือการรักษาด้วยการฟอกเลือด และการกรองพลาสมาส าหรับผู้ป่วยโรคไต พ.ศ. 2561 ของคณะอนุกรรมการ ก าหนดแนวทางการรักษาด้วยการฟอกเลือดและการกรองพลาสมา สมาคม โรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า ผู้ป่วยแต่ละประเภทมีข้อแนะน าในการรักษา ที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยด้านอื่นประกอบการรักษาด้วย

4. การล้างไตทางช่องท้องมีต้นทุนต่ำกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
โดยข้อมูลของ ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 พบว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการล้างไตทางช่องท้องมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียมประมาณ 13,900 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีเช่นเดียวกับการศึกษาพบว่า การล้างไตทางช่องท้องเป็นต้นทุนของรัฐต่ำกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมประมาณ 80,000 – 200,000 บาทต่อคนต่อปี

โดยหากอายุของผู้ป่วยที่เริ่มเข้ารับการบำบัดมากขึ้น จะทำให้ความแตกต่างของต้นทุนทั้ง 2 วิธีลดลง และงานศึกษาพบว่า การล้างไตทางช่องท้อง มีต้นทุนต่ำกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมประมาณ 22,782 บาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้การคำนวณจากงบประมาณที่สำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับต่อจำนวนเป้าหมาย ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2568 พบว่า ต้นทุนการจัดบริการด้วยการล้างไต ทางช่องท้องมีมูลค่าประมาณ 140,000 – 150,000 บาทต่อคน ต่อปี ขณะที่ต้นทุนการฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียมมีมูลค่า ประมาณ 160,000 – 170,000 บาทต่อคนต่อปี

5. งบประมาณภาครัฐสำหรับการรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากจำนวนผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมากขึ้น ซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มขึ้น โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รายจ่ายสำหรับการบำบัดทดแทนไตของทุกสิทธิรวมกัน มีจำนวน 14,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 19,012 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงที่สุดจาก 8,962 ล้านบาท เป็น 12,384 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้ง กองทุนฯ ยังมี ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการรักษาภาวะแทรกซ้อน จากเดิมที่ก่อนการปรับนโยบายอยู่ที่ประมาณ 2,900 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 3,900 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการบริหารจัดการงบกองทุน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2567 พบว่า การใช้จ่ายจริงในการบำบัดทดแทนไต สูงกว่างบประมาณที่ได้ตั้งไว้อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตั้งงบประมาณไว้ที่ 12,000 ล้านบาท แต่คาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายทั้งปีประมาณกว่า 16,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น จากปีงบประมาณที่ผ่านมาถึงร้อยละ 33.33 สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านภาระทางการคลังของภาครัฐในการจัดบริการ ดังกล่าวภายใต้กรอบวงเงินที่ได้คาดการณ์ไว้

จากข้อค้นพบดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการปรับนโยบายการบำบัดทดแทนไต แม้ว่าจะทำให้ประชาชน มีอ านาจในการตัดสินใจเลือกรูปแบบบริการได้ แต่ประชาชนบางส่วนอาจเลือกรับบริการที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง และเกิดผลกระทบ ขณะที่ระบบการจัดบริการยังมีความไม่พร้อมทั้งในด้านบุคลากรและทรัพยากร ที่จะจัดบริการให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งผลต่อภาระ ทางการคลัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการกำหนด แนวทางการบำบัดทดแทนไต โดยจะมีการนำนโยบาย การล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรกกลับมาใช้ เพื่อมุ่งเพิ่มสัดส่วนบริการล้างไตทางช่องท้องอย่างน้อย ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไตรายใหม่ และให้ผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้องสามารถรับบริการ ล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติที่จะช่วยเพิ่ม ความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วย สามารถทำการฟอกเลือดที่บ้านขณะนอนหลับได้

บทเรียนจากการดำเนินการดังกล่าว สะท้อนถึงการออกแบบนโยบายภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ภาครัฐ ซึ่งในระยะถัดไปจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และความเหมาะสมของนโยบาย โดยหลักประกัน สุขภาพภาครัฐควรมุ่งสร้างผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน ภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่นการจัดการโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เป็นโรคที่สามารถ ป้องกันและสามารถลดภาวะแทรกซ้อนให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้

โดยอาจประยุกต์ใช้แนวคิดของ วิธีการงบประมาณแบบฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) ที่จะเป็นกระบวนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่เคยจัดสรรมาในอดีต แต่จะพิจารณาจากความจำเป็นและสถานการณ์ที่ต้องดำเนินการ ในปีงบประมาณนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐที่ต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณมีการพิจารณาความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และความเหมาะสม

ตลอดจนมีการจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐมีประสิทธิภาพภายใต้ ข้อจำกัดในด้านงบประมาณของประเทศ ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวัง และการป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อต่างๆ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ การบริโภคอาหาร การบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ การมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม การตรวจวัดและควบคุมระดับน้ำตาล/ความดัน โลหิตให้เหมาะสม และการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

 
ที่มา : รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2567

Thansettakij
26 พฤศจิกายน 2567

22
เตรียมปลดล็อก ให้ “ตัวเงินตัวทอง” สามารถเพาะพันธุ์ “เพื่อขายได้” เพราะตลาดกำลัง “นิยม” พามาเจาะโมเดลธุรกิจนี้ เลี้ยง “ตัวเหี้ย” ให้อะไรมากกว่าที่คิด พัฒนาไปถึงขั้นแปลงเป็น “ยารักษาโรค”

เตรียมพบ “สัตว์เศรษฐกิจ” ตัวใหม่

น่าตื่นตาตื่นใจ กับวาระล่าสุดที่ทางภาครัฐพิจารณาร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วางแผน “ปลดล็อก” ให้ “ตัวเงินตัวทอง” สามารถ “เพาะพันธุ์” เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้

การเพิ่ม “ตัวเหี้ย”(Varanus Salvator) ให้เป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ที่สามารถเพาะพันธุ์ ในรายงานนี้บอกว่า ปัจจุบันมันกลายเป็น สัตว์เลี้ยงเพื่อความสวยงาม และ “หนัง” ของมัน เป็นที่ต้องการใน “ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง”

การปลดล็อกนี้จะเป็นการช่วย “กระตุ้นเศรษฐกิจ”ได้ ซึ่งทีมข่าวไปค้นข้อมูลก็พบว่า แบรนด์แฟชั่นหรูอย่าง “แอร์เมส”(Hermes) ก็มีกระเป๋ารุ่นที่ทำจาก “หนังของตัวเหี้ย” จริงๆ แถมราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ ด้วย

หรือนี่อาจกลายเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ”ตัวใหม่ของเมืองไทย? ทางทีมข่าวจึงขอตอบข้อสงสัยนี้ ด้วยการชวนคุยกับคนที่ทำงานวิจัยเรื่องนี้โดยตรง อย่าง “ต้น” รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุขคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงศักยภาพใน “ตัวเหี้ย” ที่เราอาจมองข้ามไป

“ต่างประเทศ ซึ่งเขาอนุญาตให้เพาะทางเศรษฐกิจแล้ว เพราะฉะนั้น มันก็เลยมีหนัง เครื่องหนัง ที่เกี่ยวกับตัว Varanusเนี่ย ออกมาเยอะแยะเลย”

ในต่างประเทศที่เอามาทำเครื่องหนังนั้น เป็นคนละพันธุ์กับบ้านเรา ซึ่งแต่ละพันธุ์ก็จะมี “ลวดลาย”ที่ “เฉพาะตัว”แต่ตลาดเครื่องหนังในโลกตอนนี้ ยังไม่มีลายตัวเงินตัวทองไทย “หมอต้น”จึงมองว่า นี่อาจเป็น “โอกาสทางเศรษฐกิจ”ของเรา

นอกจากหนังแล้ว “เนื้อ” หรือ “ไข่”ของตัวเงินตัวทอง ก็สามารถ “กินได้” หากถอดอคติจากความเคยชินทุกวันนี้ออกไป แล้วหันย้อนมองในอดีตจะพบว่า เมนูจากตัวเหี้ยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่หลังจากที่เหี้ยกลายเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง”การบริโภคก็น้อยลง เพราะ “ผิดกฎหมาย”

และถ้ามีการเปิดให้ “เพาะพันธุ์เพื่อเศรษฐกิจ” นักวิจัยรายนี้มองว่า เมนูจากตัวเงินตัวทอง ก็อาจจะกลับมาต้องการในตลาดได้อีกครั้ง และอาจกลายเป็น “จุดเด่น”อีกอันในบ้านเราก็ได้

ไม่ใช่แค่เครื่องหนังหรือเนื้อเท่านั้น ตอนนี้สัตว์ตระกูล “Monitor Lizard” อย่าง “มังกรโกโมโด” หรือแม้แต่ “ตัวเหี้ย” เองก็ตาม กำลังได้รับความนิยมในฐานะ “สัตว์เลี้ยง” เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต่างประเทศ

“คนที่เขาเลี้ยงสัตว์ เขาก็จะเริ่มนิยมมากขึ้น เนื่องจากว่าแต่ละพันธุ์ แต่ละสถานที่เนี่ย มันมีลาย มันเอกลักษณ์ที่ต่างกัน”

“หมอต้น” บอกว่าการปลดล็อกนี้ ด้าน “การแพทย์” ก็มีผลดีเหมือนกัน เพราะจากงานที่กำลังวิจัยอยู่ตอนนี้ ในตัวเงินตัวทอง มีสารที่สามารถพัฒนาต่อไป เป็น “สารต้านแบคทีเรีย” และ “สารต้านมะเร็ง” บางชนิดได้

“น่าจะศึกษาต่อยอดได้อีก ใน 5 ปี 10 ปี น่าจะมีอะไรที่มากกว่านี้ครับ”

แต่ปัจจุบันการทำวิจัยไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วย “หลักการสวัสดิภาพสัตว์” นักวิจัยจึงไม่สามารถจับสัตว์ในธรรมชาติมาวิจัยได้ แต่ถ้าต่อไปสามารถ “ขออนุญาต” เลี้ยงเพื่อการวิจัยได้แล้ว อะไรๆ ก็จะสะดวกขึ้นมาก

ปลดแล้ว “พร้อมหรือเปล่า?”

แม้ดูเหมือนจะดี ที่ไทยกำลังจะมี “สัตว์เศรษฐกิจ” ตัวใหม่ แต่ “หมอต้น” ก็ตั้งคำถามเพิ่มอีกมุมว่า เรามีมาตรการหรือแผนรองรับแล้วหรือยัง? อย่างเรื่อง “การเลี้ยงเพื่อส่งออกหนัง”

ถึงจะเห็นว่า หนังของตัวเหี้ยในต่างประเทศนั้น “ราคาสูง” แต่ในบ้านเรา ยังไม่เคยมีฟาร์มตัวอย่างจริงๆ ว่า การเลี้ยงตัวเงินตัวทอง เพื่อให้ได้หนังที่คุณภาพดี ต้องทำยังไง หรือมีขั้นตอนอะไรบ้าง

“หนังจะได้เป็นหมื่น เป็นแสน มันอาจจะเหลือแค่ ไม่กี่พัน ก็ได้นะครับ”

ยกตัวอย่างเคสที่คล้ายกันอย่าง b ที่ถ้าหากหนังมีรอยตำหนิแค่นิดเดียว ราคาก็จะตกลงมา และอีกเรื่องที่หลายคนลืมคือ “โรคสัตว์น้ำ” ในสัตว์ประเภทนี้นั้นมีเยอะมาก

แม้ตัวเงินตัวทองจะไม่ตาย จากการติดโรคต่างๆ มันก็แสดงอาการออกมาทางผิวหนัง ทำให้หนังไม่สวย แปลว่าการจะ “เพาะพันธุ์เพื่อขาย”

ฟาร์มหรือบ่อ ก็ต้องมีระบบอีกหลายอย่าง เพื่อคัดกรองโรคพวกนี้ ซึ่ง “ใช้ทุนสูง”

“เพราะงั้น การลงทุนของโรงเรือน บ่อ หรือฟาร์ม มันคงไม่ใช่การเลี้ยงแบบชาวบ้านทั่วไป”

อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี กว่าเกษตรกรจะจับทางถูกว่า ต้องเลี้ยงแบบไหน ถึงจะได้คุณภาพสูงสุด แต่ในช่วงแรก หากการปลดล็อกนี้เกิดขึ้นจริง คนที่จะหวังเลี้ยงเป็นรายได้เสริมคงยาก

“ปลดแล้วทำกันเองสะเปะสะปะ สุดท้ายแล้วเนี่ย มันขายไม่ได้ มันก็ถูกปล่อย ถ้าถูกปล่อย(ลงธรรมชาติ)มา มันก็ยิ่งแย่กว่าเดิม”

ปัญหานึงคือ ตอนนี้ในหลายพื้นที่ ประชากรของตัวเงินตัวทองนั้นมีจำนวนมาก จนสร้างความรำคาญให้แก่ประชาชน แล้วถ้ามีการแอบปล่อยออกมาจากฟาร์มอีก ปัญหาจะยิ่งทวีความร้ายแรงกว่าเดิม

หรือถ้ามีการปลดล็อกแล้ว จะแน่ใจได้ยังไงว่า ไม่มีการจับตัวเหี้ยที่อยู่ตามธรรมชาติ มาไว้ในฟาร์มเพื่อสวมรอยขาย ตามหลักการเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะตัวอะไรก็ตาม
 คือ “สัตว์ที่เพาะ” กับ “สัตว์ในธรรมชาติ” ต้องแยกกันโดยสิ้นเชิงต้องให้แน่ใจว่า สัตว์ที่เพาะพันธุ์จะไม่หลุดไปในธรรมชาติ หรือจับสัตว์ในธรรมชาติมาเพื่อขาย

และอีกอย่างเมื่อปลดล็อกแล้ว จะมั่นใจได้ยังไงว่า “ต่างชาติ” จะไม่นำตัวเงินตัวทอง “สายพันธุ์บ้านเรา” ไปวิจัย และ “จดสิทธิบัตรก่อนคนไทย” เหมือนอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับ สมุนไพรพื้นบ้านของไทยต่างๆ

ดังนั้น ในฐานะที่เห็นด้วยกับการปลดล็อกนี้ แต่มองเห็นช่องโหว่ที่อาจกำลังจะเกิดขึ้น จึงขอแนะนำทิ้งท้าย

“จะต้องมีมาตรการอะไรขึ้นมารองรับ หรือว่ามี Roadmap อะไรทันที ขึ้นมาพร้อมกับการปลดล็อกตรงนี้ แล้วผมคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ที่สุดครับ”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
18 พ.ย. 2567  ผู้จัดการออนไลน์

23
วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2567) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” และมอบให้ สปสช. ดำเนินการ ที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการออกประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุข พ.ศ. 2567 แล้ว และได้จัดทำระบบศูนย์สั่งการและประสานงานผู้ให้บริการพาหนะรับส่งในระบบบัตรทองผ่านสายด่วน สปสช. 1330 รวมถึงดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดบริการตามโครงการดังกล่าวผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.)

อย่างไรก็ดี ในการประชุมบอร์ด สปสช. ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา และรับทราบ “รายงานความก้าวหน้าบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบฯ  นำเสนอโดย นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพฯ ได้ดำเนินการแล้วในส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยช่วงเดือน ต.ค. – พ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครได้เห็นชอบโครงการตามที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. 11 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 2 แห่ง และมูลนิธิเส้นด้ายอีก 1 แห่ง เสนอเพื่อขอร่วมให้บริการรถรับส่งผู้ป่วยทุพพลภาพสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการสาธารณสุข ซึ่งโดยรวมมีจำนวนรถรับส่งฯ กว่า 100 คัน สามารถให้บริการได้ประมาณ 50,000 เที่ยว โดยเบิกจ่ายค่าบริการจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดอัตราการจ่ายไม่เกิน 350 บาทต่อเที่ยว ภาพรวมใช้งบประมาณอยู่ที่ราว 15 ล้านบาท เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 15,440 คน

”นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ยังมีมติให้ปรับงบประมาณค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับฐานข้อมูลทะเบียนรายชื่อผู้ป่วยผู้รับบริการ หลักเกณฑ์และกติกาการให้บริการที่ต้องมีคุณภาพมาตรฐาน ตามที่คณะกรรมการฯ ได้กำหนด คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2567” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า ในส่วนของ สปสช. ได้ให้สายด่วน สปสช. 1330 ทำหน้าที่ประสานกับโรงพยาบาลที่ร่วมให้บริการ ในการจัดกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการโดยสอดรับกับแผนบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพของโรงพยาบาล และร่วมวางแผนติดตามผลการดำเนินงานต่อไป

24 พฤศจิกายน 2567
มติชน

24

จากกรณี สมาพันธ์แพทย์รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ “ความคิดเห็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีสุดท้าย (extern)
ต่อหลักสูตรและชีวิตนักศึกษาแพทย์” ซึ่งเป็นข้อมูลจากนักศึกษาแพทย์ก่อนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ทางสมาพันธ์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากแพทย์ใช้ทุน ปีที่ 2-3 ซึ่งจบหลักสูตรแพทย์ฯ แล้ว ว่ามีประสบการณ์และความคิดเห็น แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

ผลแบบสอบถาม: ความคิดเห็นแพทย์ใช้ทุน ปีที่ 2-3 ต่อ “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และ โครงการแพทย์
เพิ่มพูนทักษะ”
สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ได้สำรวจความคิดเห็นของแพทย์ใช้ทุน ปีที่ 2-3 ต่อ “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และ โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ” ในช่วง 1 ก.ค. ถึง 30 ต.ค. 2567 จำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 107 คน
หมายเหตุ: แพทย์ใช้ทุนที่ร่วมตอบแบบสอบถามบางคน อาจไม่ตอบคำถามทุกข้อ


ช่วงเวลาสำรวจ คือ 1 ก.ค. ถึง 30 ต.ค. 2567 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 107 คน ทั้งที่ฝึกเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาล
ศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข  และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม แพทย์ใช้ทุนฯ ให้ข้อมูลว่า ขณะศึกษาอยู่ในคณะแพทย์มีจำนวนผู้ป่วยและหัตถการให้ฝึกฝนเพียงพอ 57%

เมื่อจบหลักสูตรแพทย์ฯ คิดว่าตนเองมีความรู้ด้านทฤษฎีเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพ 78 %  และ สามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าเมื่อจบหลักสูตรแพทย์ฯ ต้องทำได้ด้วยตนเอง (พบ.1) ได้ครบ (ตามที่กำหนด) 70%
โดยหัตถการที่ไม่สามารถทำได้ ได้แก่ Amniotomy, Intercostal drainage, Episiotomy, Removal of nail or nail fold, Neonatal resuscitation, Normal labor


เมื่อผ่านโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะแล้ว แพทย์ใช้ทุนฯ ตอบว่าความรู้ด้านทฤษฎีเพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพเพิ่ม
เป็น 91 % และสามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าเมื่อจบหลักสูตรแพทย์ฯ ต้องทำได้ด้วยตนเองได้ครบเพิ่มเป็น 86% โดยหัตถการที่ไม่สามารถทำได้ ได้แก่ Amniotomy, Episiotomy, Intravenous fluid infusion



สามารถทำหัตถการที่แพทยสภากำหนดว่าเมื่อผ่านโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะแล้วต้องทำได้ด้วยตนเอง (พท.1) ได้ครบ (ตามที่กำหนด) เพียง 29% โดยหัตถการที่ไม่สามารถทำได้ ได้แก่ Tubal ligation & resection (postpartum), Venesection or central venous catheterization, Insertion of intrauterine contraceptive device แต่มีความมั่นใจปานกลางถึงมากในการดูแลเบื้องต้นผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้แก่ ผู้ป่วยอุบัติเหตุ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และ ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง (Ischemic heart disease) 96 – 98%



คิดว่าโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะมีประโยชน์มากถึงมากที่สุด 92% แต่ขณะฝึกอบรมในฐานะแพทย์เพิ่มพูนทักษะ อยู่ในกรอบของประกาศแพทยสภา เรื่อง แนวทางการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของแพทย์ภาครัฐ (ทำงานนอกเวลาราชการไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์, เวรอุบัติเหตุและฉุกเฉินไม่เกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกัน, ปฏิบัติงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ต้องได้พักผ่อนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง) เพียง 33%

ความเห็นเพิ่มเติมต่อหลักสูตรแพทย์และโครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ได้แก่ ควรมีการจำกัดเวลาการทำงานของแพทย์
เพิ่มพูนทักษะ, โครงการแพทย์เพิ่มพูนทักษะทำให้มีโอกาสฝึกฝนการตัดสินใจและการทำหัตถการ, บางครั้งแพทย์เพิ่มพูนทักษะต้องดูแลผู้ป่วยโดยไม่มีสตาฟดูแลอาจทำให้เกิดความผิดพลาด ความเครียด และถูกฟ้องร้อง, สตาฟที่ใจดีทำให้แพทย์ใช้ทุนทำงานด้วยความสบายใจ, ขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ไม่ได้ฝึกการตัดสินใจด้วยตนเองและฝึกทำหัตถการเพราะแพทย์ใช้ทุนและแพทย์ประจำบ้านเป็นผู้ทำ ได้เพียงช่วยหรือสังเกตการณ์, ติดภาระงานทำให้ไม่สามารถไปฝึกฝนหัตถการ

สมาพ้นธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯ
22 พฤศจิกายน 2567

25
ดั่งสายฟ้าฟาด! เมื่อโครงการที่เป็นหน้าเป็นตาให้ สปสช. อย่างนโยบาย ‘ร้านขายยาชุมชนอบอุ่น’ ที่ปชช.สามารถรับยาฟรีใน 32 กลุ่มอาการ ถูกแพทยสภาฟ้องร้อง และมากกว่านั้นคือศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องเสียด้วย!

ข้อสำคัญที่มีการโต้เถียงเกิดขึ้นคือ ‘ประเด็นการวินิจฉัยโรค’ ที่แพทยสภายึดเป็นจุดยืนว่าเกิดการก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพรบ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากเภสัชไม่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยโรคตามพรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม
แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่า ในขั้นตอนของการบริการของร้านขายยามีการกรอกรหัสโรค (ICD)ในระบบหลังการจ่ายยา ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานการวินิจฉัยโรคแล้วว่ามีการวินิจฉัยโรคและละเมิดกฎหมายวิชาชีพเวชกรรม

มีข้อมูลว่าทางคณะทำงานแพทยสภา ร่วมกับ ราชวิทยาลัยทางการแพทย์ และสมาคมทางการแพทย์ได้ศึกษาคู่มือดังกล่าวแล้วพบว่า มียาอันตรายหลายอย่างที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านที่ใช้รักษาอาการปกติธรรมดา และยาหลายชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
มีกฎหมายที่ว่าประชาชนสามารถซื้อยาที่ร้านยาได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายในประเด็นประชาชนสามารถวินิจฉัยโรคด้วยตัวเองเบื้องต้น
แม้จะประเมิน 3 วัน แต่บางโรครอแบบนั้นไม่ได้ หากคนไข้ตายหรือพิการแล้ว คำถามต่อมาใครคือคนที่ต้องรับผิดชอบ
ดั่งสายฟ้าฟาด! เมื่อโครงการที่เป็นหน้าเป็นตาให้ สปสช. อย่างนโยบาย ‘ร้านขายยาชุมชนอบอุ่น’ ที่ปชช.สามารถรับยาฟรีใน 32 กลุ่มอาการ ถูกแพทยสภาฟ้องร้อง และมากกว่านั้นคือศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องเสียด้วย!

จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่น ส่วนประชาชนก็ได้แต่งงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น? เพราะโครงการดังกล่าวมีมานานกว่า 1 ปีและมีการ ‘อัปเกรด’ จาก 16 กลุ่มอาการเป็น 32 กลุ่มอาการ ภายใต้การประชาสัมพันธ์ว่า รับยาฟรีกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

โพสต์ทูเดย์ รวบรวมประเด็นข้อสงสัยของทุกฝ่าย หอบไปถามและขอข้อมูลจาก  รศ.(พิเศษ) เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา  ตลอดจน ‘แหล่งข่าววงใน’ อย่างตรงไปตรงมา และสรุปเพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ข้อถกเถียงหลัก ‘เภสัช’ วินิจฉัยโรคหรือไม่? ในนโยบายนี้
ข้อสำคัญที่มีการโต้เถียงเกิดขึ้นคือ ‘ประเด็นการวินิจฉัยโรค’ ที่แพทยสภายึดเป็นจุดยืนว่าเกิดการก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามพรบ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากเภสัชไม่มีหน้าที่ในการวินิจฉัยโรคตามพรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม

โดยแพทยสภายืนยันจุดยืนคือ 'เพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนในทุกมิติ แต่ความปลอดภัยต่อชีวิตต้องไม่ถูกลดทอนลงไปโดยเด็ดขาด'  ทั้งนี้แพทยสภาชี้แจงว่าประกาศดังกล่าวมีเนื้อหาที่จะส่งผลต่อ ความปลอดภัยในชีวิตและอนามัยของประชาชนทั่วประเทศในหลายประเด็น

ในแง่ของกฎหมาย หลักคือ การก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา 4 และมาตรา 8(1) แห่ง พรบ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 ที่แพทยสภามีหน้าที่ต้องดูแลตามกฎหมาย  กล่าวคือ ประกาศดังกล่าวเป็นเสมือนให้การรับรองว่า ‘เภสัชกรสามารถทำงานแทนแพทย์โดยเสมือนทำการวินิจฉัยโรคและจ่ายยาได้เองโดยไม่ต้องผ่านการตรวจรักษาของแพทย์' หรือไม่?

ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิตและอนามัยของประชาชนทั่วประเทศแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงทางกฎหมายต่อเภสัชกรทั่วประเทศในการละเมิดมาตรา 43 แห่ง พรบ.วิชาชีพเวชกรรม รวมไปถึงเจ้าของกิจการร้านขายยาและเภสัชกร ก็จะกระทำผิดตามมาตรา 29 แห่ง พรบ.ยาโดยอาจไม่รู้ตัว  และผิดกฎหมายสถานพยาบาล ซึ่งกม.เหล่านี้มีไว้เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน

อย่างไรก็ตาม นายกเภสัชกรรมได้ออกมาให้ข่าวกับทาง Hfocus.org โดยมีการออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการวินิจฉัยโรคแต่อย่างใดสวนทางกับการฟ้องร้องของแพทยสภา โพสต์ทูเดย์ จึงเกิดคำถามว่ามีจุดไหนที่แสดงถึงการวินิจฉัยโรคของ ‘เภสัชกร’ ในนโยบายดังกล่าวหรือไม่?

แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่า ในขั้นตอนของการบริการของร้านขายยามีการกรอกรหัสโรค (ICD)ในระบบหลังการจ่ายยา ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานการวินิจฉัยโรคแล้วว่ามีการวินิจฉัยโรคและละเมิดกฎหมายวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากการกรอกรหัสโรคนั้นจะกระทำได้ โดยแพทย์เท่านั้น มิฉะนั้นหากทำโดยบุคคลอื่นและนำไปเบิกเงินหลวง อาจสุ่มเสี่ยงต่อความผิดที่เกี่ยวข้องบางประเด็น

แม้ว่า สปสช. จะมีการยกเลิกกระบวนการนี้ภายหลัง แต่คำถามคือ ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่? ซึ่งหากไม่มีการกรอกรหัสโรค ฐานข้อมูลผู้ป่วยก็จะบิดเบี้ยวไปหมด เพราะฉะนั้นสถิติว่าคนตายด้วยโรคอะไร ป่วยด้วยโรคใดจะบิดเบี้ยวไปเช่นกัน และจะทำให้มีปัญหาระยะยาวกับการวางแผนทั้งนโยบายสาธารณสุข การตั้งงบประมาณสาธารณสุข และกระทบนโยบายการวางแผนงบประมาณของชาติตามมา

นอกจากนี้แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “คู่มือเภสัชกรชุมชน”  ที่สภาเภสัชกรรมวางแนวทางขึ้นมา โดยให้ความเห็นว่า ในเนื้อหาของคู่มือดังกล่าวเปรียบเหมือนเป็นแนวทางการวินิจฉัยโรคก่อนสั่งจ่ายยาโดยไม่ผ่านการตรวจสอบหรือให้คำแนะนำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม  ซึ่งทำให้คณะกรรมการแพทยสภาที่มีตัวแทนจากทั้งกระทรวงสาธารณสุขและคณบดีที่ดูแลการเรียนการสอนของแพทย์ทั้งประเทศ เกิดความกังวลว่า ประชาชนทั้งประเทศจะตกอยู่ในความเสี่ยงของการได้รับยาทั้งโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าทางคณะทำงานแพทยสภา ร่วมกับ ราชวิทยาลัยทางการแพทย์ และสมาคมทางการแพทย์ได้ศึกษาคู่มือดังกล่าวแล้วพบว่า มียาอันตรายหลายอย่างที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านที่ใช้รักษาอาการปกติธรรมดา และยาหลายชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่สั่งจ่ายผ่านความเห็นของแพทย์ ที่ต้องทำการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรคก่อนสั่งจ่ายยาเช่น ยารักษาไมเกรน ( Ergotamine) ที่มีผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นตัดแขนหรือขา เป็นต้น

ประชาชนสงสัย ซื้อยาที่ร้านด้วยตัวเองตลอด ทำไมไม่มีปัญหา
จากประเด็นข้อสงสัยนี้  โพสต์ทูเดย์ ได้ไปสอบถาม รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่าจะขอชี้แจงตามข้อกฎหมาย  มีกฎหมายที่ว่าประชาชนสามารถซื้อยาที่ร้านยาได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายในประเด็นประชาชนสามารถวินิจฉัยโรคด้วยตัวเองเบื้องต้น เช่น ท้องเสียและคิดว่าอาหารเป็นพิษจึงไปซื้อคาร์บอนหรือยาแก้ท้องเสีย ซึ่งกฎหมายให้อำนาจเภสัชกรในการขายยาได้ โดยเภสัชกรมีหน้าที่แนะนำเรื่องยา เช่น แพ้หรือไม่ ยาต้องกินกี่ครั้ง อาการที่จะเกิดหลังจากกินยาคืออะไร อำนาจหน้าที่ของเภสัชกรคือให้คำแนะนำเรื่องยา ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้เภสัชกรจะไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจจะมีการให้คำแนะนำอย่างไม่เป็นทางการบ้าง แต่ถือว่าประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตามในประเด็นที่มีการเปรียบเทียบกับการจ่ายยาของแพทย์ในคลินิกว่าผิดเช่นกันนั้น รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวว่าแพทย์ไม่ได้ขายยาที่คลินิก หากประชาชนจะต้องซื้อยากินเอง ซื้อยาต่อเพิ่มเติมจากที่แพทย์เคยสั่งให้ ต้องไปที่ร้านขายยา ถ้าจะตรงเข้าไปที่คลินิกเพื่อซื้อยานั้นทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย กฎหมายตาม พรบ.ยา อนุญาตให้หมอขายหรือจ่ายยาได้เฉพาะคนไข้ที่หมอตรวจเท่านั้น หากไปคลินิกแล้วแพทย์ไม่อยู่มีแต่ผู้ช่วยอยู่แล้วขายยาก็จะผิดทันทีเช่นกัน

นอกจากนี้คลินิกจะมียาเพียงแค่ไม่กี่ประเภทที่หมอจะคุ้นเคยกับยาที่ตนเองสั่งจ่ายยา ต่างกับร้านยาที่มียาในสต็อคเป็นจำนวนมาก ในทางปฏิบัติหากแพทย์พบว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาที่คลินิกไม่มี ก็จะต้องแนะนำหรือออกใบสั่งยาให้ผู้ป่วยไปซื้อยาและรับคำแนะนำเรื่องยาจากเภสัชกรประจำร้านยา

ส่วนการระบุถึงการจ่ายยาโดยไม่เขียนชื่อยาหน้าซองของแพทย์ เพื่อไม่ให้ประชาชนไปซื้อยาเอง เพราะเกรงว่าจะขาดรายได้นั้น ก็ผิดตามกฎหมายซึ่งประกาศใช้มาราว 2 ปี โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า หากคลินิกไหนจ่ายยาไม่มีชื่อยาและรายละเอียดของยานั้นถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งแพทยสภาเห็นด้วยกับกระทรวงสาธารณสุขและสภาเภสัชกรรมอย่างมากเพราะเป็นความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้ยา จึงสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่

แพทย์ระบุการวินิจฉัยก่อนการให้ยาเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ และเอาความปลอดภัยมาก่อนความสะดวก
รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการวินิจฉัยโรคก่อนให้ยาว่า บางอาการใน 16 กลุ่มอาการหรือ 32 กลุ่มอาการเป็นอาการที่ดูเจ็บป่วยเล็กน้อยก็จริง แต่ถ้าหากไม่มีการตรวจเพิ่มเติมอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสการรักษาได้ เพราะให้แค่ยากลับไป

" บางคนอาจบอกว่าอีกสามวันมีการโทรติดตามอาการ ซึ่งดูเหมือนจะแค่ไม่กี่วันเองทำไมต้องกังวลด้วย  แต่ก็อยากให้ลองคิดว่าผู้ป่วยได้ยาไปแล้วไม่ดีขึ้น ตอนดึกจะโทรปรึกษาใคร ใครให้คำแนะนำเพิ่มเติมในภาวะเร่งด่วน หลายโรคที่มีการแสดงออกเหมือนเจ็บป่วยเล็กน้อยในครั้งแรกที่มีอาการอาจจะตายหรือพิการได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงถัดมา ดังที่เป็นข่าวเนือง ๆ เช่น เจ็บกล้ามเนื้อแล้วไม่กี่ชั่วโมงก็เสียชีวิตจากหัวใจวาย หากแพทย์ได้มีโอกาสตรวจเบื้องต้นและมีการตรวจร่างกายหรือส่งตรวจเลือดเพิ่มเติม ก็จะช่วยดึงโอกาสรอดชีวิตนี้กลับมาได้ ปวดศีรษะที่ดูเหมือนเล็กน้อยแล้วไปวินิจฉัยว่าเครียด แต่อาจหมายถึงการพิการถาวรครึ่งซีกจากเส้นเลือดสมองตีบ ซึ่งทั้งแพทยสภาและสปสช.เองก็ร่วมกันรณรงค์มาตลอดให้รีบไปพบแพทย์ ทำให้แพทยสภาวิตกห่วงใยประชาชนมากต่อนโยบายเพิ่มความสะดวกแต่ลดความปลอดภัยนี้ ทั้ง ๆ ที่แพทยสภาพยายามเสนอทางออกที่ดีทั้งสองฝ่าย ทั้งความสะดวกและความปลอดภัยแต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ เลยตลอด 1 ปีเศษที่ผ่านมา"

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีการทักท้วงจากแพทย์หลายต่อหลายฝ่ายเพิ่มเติมเข้ามายังแพทยสภา อย่างเช่น ทางราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทยก็ทักท้วงว่า ‘อาการตกขาวผิดปกติของผู้หญิง’ ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยแล้วไปร้านขายยาซึ่งให้แค่ยาเหน็บ เพราะตกขาวอาจเป็นสัญญาณของมะเร็ง ต้องตรวจร่างกาย ตรวจภายใน ต้องดูข้อมูลประวัติที่มีในโรงพยาบาล จึงจะทราบไม่ใช่ตกขาวแล้วให้ยาเหน็บเลยเพราะมีแรงจูงใจที่จะไปขึ้นเงินได้ฟรีจากสปสช.

โพสต์ทูเดย์ถามย้ำกลับว่า แต่ในนโยบายดังกล่าวมีการติดตามอาการหลังให้ยา 3 วัน เป็นระยะ ๆ

"หากไม่นับว่าในทางปฏิบัติว่าทำได้จริงแค่ไหน?  แม้จะประเมิน 3 วัน โรคเหล่านี้รอแบบนั้นไม่ได้ หากคนไข้ตายหรือพิการแล้วจะทำอย่างไร คำถามต่อมาใครคือคนที่ต้องรับผิดชอบ”

ข้อกังวลที่ตามมาหลังการจ่ายยาโดยไม่ได้รับการวินิจฉัยดังกล่าว ทางแพทยสภาถูกสมาชิกแพทย์ร้องเรียนกลับมาหลายต่อหลายครั้ง ว่าการที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้าจากต้นทาง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับแพทย์แต่ส่งผลเสียต่อประชาชน  ประชาชนจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าการจ่ายยานั้นถูกต้องตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลและการวินิจฉัยโรค สปสช.หรือสภาเภสัชกรรมจะเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนแพทยสภาใช่หรือไม่ และหากมีคดีฟ้องร้องเภสัชกรว่าจ่ายยาผิดหรือไม่เหมาะสม เมื่อมีคดีไปสู่ศาล ศาลจะให้องค์กรใดช่วยให้ความเห็นก่อนทำคำพิพากษา?

บทสรุปสุดท้าย ผลเสียนั้น จะเกิดขึ้นแก่ใคร? เมื่อนโยบายนำเอาความสะดวกมาก่อนความปลอดภัย

ล้วงลึก! แพทยสภาฟ้อง สปสช. ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ตอนหน้า ล้วงลึกทำไม แพทยสภาใช้เวลานานกว่าจะฟ้อง แม้จะรู้ว่าจะโดนตำหนิจากประชาชน และตอบข้อสงสัยทำไมหน่วยงานรัฐถึง ‘ไม่คุยกัน’  มีการกล่าวว่าที่ประเทศอังกฤษทำได้ทำไมไทยถึงไม่ทำ?

ทิ้งไว้เพียงว่า แพทยสภาใช้เวลามาเป็นปี แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จนคดีหมดอายุความ ก่อนศาลปกครองสูงสุดกลับคำวินิจฉัยศาลปกครองชั้นต้นหลังจากแพทยสภายื่นอุทธรณ์ เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยและประโยชน์ของสาธารณะ!.

18 พฤศจิกายน 2567
โพสต์ทูเดย์

26
ข่าวเด็ด 7 สี - นักศึกษาแพทย์ชายคิดสั้น กระโดดตึกฆ่าตัวตาย ที่อาคารจอดรถ ในโรงพยาบาลในตัวเมืองจังหวัดเชียงราย กระโดดลงมาจากชั้น 5  ร่างกระแทกพื้น อาการสาหัส นำส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจสอบ จุดที่นักศึกษาแพทย์ตกลงมาเสียชีวิต ซึ่งเป็นลานจอดรถ ฝั่งตรงข้ามทางเข้าโรงพยาบาล

ผู้เสียชีวิต เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 อายุ 24 ปี ฝึกงานอยู่ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลดังกล่าว ส่วนสาเหตุต้องรอการสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง

14 พ.ย. 2567
https://news.ch7.com/detail/766296

27
“หมอ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายความหมายว่า ” (1) น. ผู้รู้, ผู้ชำนาญ, เช่น หมองู หมอนวด (2) น. ผู้ตรวจรักษาโรค เช่น หมอฟัน หมอเด็ก…”
โดย “หมอ” ในความหมายผู้ตรวจรักษาโรค ยังมีหมอจริงหมอปลอมปะปนกัน ใน “แพทย์ในกรุงสยาม” (สนองโอษฐ์สภากาชาดเล่ม 1 พ.ศ. 2465-2466) อ้างอิงตาม “การแพทย์แผนไทย” ของรัชดา โชติพานิช จำแนกลักษณะของวิชาไทยในอดีต ออกเป็น 11 ประเภท พอสรุปได้ คือ

1) หมอมีครู หมอที่รักษาด้วยวิธีการแผนโบราณ ซึ่งกว่าจะได้วิชาความรู้จากครู (หมอ) จะต้องติดตามจนครูพอใจ, เชื่อใจจึงจะถ่ายทอดวิชาให้

2) หมอมียา คือ บุคคลที่ได้ตำหรับยาขนานใดขนานหนึ่งเฉพาะรักษาโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง และยานั้นเป็นยาดีรักษาโรคนั้นๆ ได้ผลดีจริงๆ

3) หมอฝีหมอแผล ผู้ใช้วิธีการรักษาแบบเก่าด้วยยาและขี้ผึ้งยา

4) หมอนวด ให้การรักษาอาการและแก้ไขในทางเส้นประสาทและช่วยให้โลหิตเดิน

5) หมอผดุงครรภ์แผนโบราณ หรือ “หมอตำแย” นั่นเอง

6) หมอพยาบาล ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนเป็นคนพยาบาลตามวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน

7) หมอเวทมนตร์ ฆราวาสที่รักษาโรคด้วยน้ำมนต์ ด้วยอาคมเสกเป่า ทั้งที่ทำโดยความเชื่อสุจริต และที่ทำหลอกลวงประชาชน

8) หมอขายยา เภสัชกร หรือผู้ขายยาที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นหมอ หรือเรียกตนเองว่าหมอ

ส่วนหมออีก 3 ประเภทนั้น ขออ้างอิงบทความดังกล่าวที่อธิบายไว้ดังนี้ (สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

“9) หมอพลอยเปน ได้แก่ ผู้ที่เปนบุตร ภรรยา หรือคนใช้ของแพทย์ รับใช้สรอยนิดหน่อย เช่น ช่วยตำยา บดยา พันแผล แล้วก็เลยสมมตตนเป็นแพทย์โดยมิได้เล่าเรียนอไร

แพทย์แผนโบราณมักจะให้ภรรยาไปเยี่ยมไข้แทนตนแล้วเลยกลายเปนเที่ยวรักษา พอสามีตายลงก็เลยรับมรดกล่วมยาไปเที่ยวทำต่อไป พวกนี้ใช้ไม่ได้…ส่วนคนใช้นั้น มักเป็นคนของแพทย์ชาวต่างประเทศ นายเคยใช้สรอยให้ทำการล้างแผลบ้าง ก็เลยวางตนเป็นหมอ พวกนี้อันตรายมากกว่าให้คุณเพราะเขามิได้สอน อไรให้เลย

10) หมอเดา มีขึ้นในชั้นหลังซึ่งอยู่ๆ ไม่รู้จะทำกินอย่างไรก็เลย ‘สมมตตนขึ้นเป็นหมอ พวกนี้กอร์ปด้วยอันตรายเปนอันมาก ช่างไม่คิดถึงชีวิตมนุษย์เลย เชื่อว่าเปนคนรกโลกแท้ที่เดียว’

11) หมอลวง มีได้ทุกชนิดที่กล่าวแล้ว คือมีความรู้แสดงอภินิหาร หลอกคนให้เห็นอัศจรรย์เกินการ หรือไม่มีความรู้เลยทำอไรแปลกๆ ขึ้น ลวงประชาชนซึ่งปราศจากเล่าเรียนให้หลงเชื่อ เช่น แพทย์แผนโบราณสำแดงรู้วิธีการแผนปัจจุบันด้วย และทำเปนที่ใช้เครื่องตรวจฟังโดยไม่รู้ว่าอไรเลย และฟังกระทั่งแข้งขาข้อเท้าซึ่งไม่มีอไรจะได้ยิน”

ส่วน “หมอ” แบบใด หรือจากหน่วยงานใด ในปัจจุบันจะเหมือนหรือต่างกับหมอ 11 ประเภทข้างต้นอย่างไร ท่านผู้อ่านโปรดวินิจฉัย


ข้อมูลจาก :
รัชดา โชติพานิช. “การแพทย์แผนไทย” ใน, ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย, แพทยสภาจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์เมื่อ 12 กรกฎาคม 2564
เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม

28
ศาลจังหวัดเลยออกหมายจับ อดีตพระมหา พระลูกวัดป่าเวฬุวนาราม โกงเงินสมทบสร้างตึกอุบัติเหตุโรงพยาบาลปากชม ออกอุบายสารพัด หลอกเจ้าคณะจังหวัด นำไปเล่นพนันออนไลน์ เสียหายแล้ว 10.5 ล้าน ตะลึงตั้งแต่ปี 62 มีเงินหมุนในบัญชีเกือบ 200 ล้าน ล่าสุดหายเข้ากลีบเมฆ

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567 พ.ต.อ.วรชัย บางยี่ขัน ผกก.สภ.เมืองเลย จ.เลย มอบหมายให้ พ.ต.ท.จิรัสย์ แสนประสิทธิ์ รอง ผกก.(สอบสวน) ขออนุมัติให้ศาลจังหวัดเลย ออกหมายจับ ที่ จ.4282 ลงวันที่ 15 พ.ย. 67 อดีตพระมหาปัคทวี พิมคีรี (อัคควีโร) อายุ 34 ปี พระลูกวัดป่าเวฬุวนาราม ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย บวชได้ 10 พรรษา ในข้อหาได้หลอกลวงซึ่งทรัพย์ หรือฉ้อโกง จากเงินสมทบสร้างตึกอุบัติเหตุโรงพยาบาลปากชม โดยนายแพทย์สรรคเพชร หอมสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปากชม ได้เปิดบัญชีธนาคารออมสิน สาขานาอาน ต.นาอาน อ.เมือง จ.เลย ประเภทเผื่อเลือก ร่วมกับพระราชวชิรสุธี เจ้าคณะจังหวัดเลย ธรรมยุต ชื่อบัญชี สร้างตึกอุบัติเหตุและผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลปากชม

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 66 พระปัคทวี พิมคีรี ได้หลอกลวงพระราชวชิรสุธี ขอเบิกเงินไปจัดงานผ้าป่ากรุงเทพมหานคร จำนวน 3,000,000 บาท หากได้เงินผ้าป่าจะนำเงินมาคืน โดยบอกว่าหลวงพ่อสมศรี ผู้ริเริ่มโครงการสร้างตึก อนุญาตแล้ว พระราชวชิรสุธี หลงเชื่อ จึงแจ้งให้นายสรรคเพชร มาถอนเงินให้พระปัคทวีฯ และวันที่ 24 กรกฎาคม 66 อีก 3,000,000 บาท วันที่ 5 กันยายน 66 อีก 1,300,000 บาท และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 67

ต่อมาพระปัคทวี พิมคีรี ได้หลอกลวงพระราชวชิรสุธี ขอเบิกเงินไปจัดโครงการเดินธุดงค์ที่ประเทศศรีลังกา จำนวน 500,000 บาท เพื่อนำรายได้มาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลปากชม โดยบอกว่าหลวงพ่อสมศรี อนุญาตแล้ว พระราชวชิรสุธี หลงเชื่อ จึงแจ้งให้นายสรรคเพชรฯ มาถอนเงินให้พระปัคทวีฯ และวันที่ 19 มีนาคม 67 พระปัคทวี พิมคีรี ได้หลอกลวงพระราชวชิรสุธี ขอเบิกเงินไปจัดโครงการเดินธุดงค์ที่ประเทศศรีลังกา จำนวน 2,160,000 บาท เพื่อนำรายได้มาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลปากชม และมาวันที่ 5 เมษายน 67 พระปัคทวี พิมคีรี ได้หลอกลวงพระราชวชิรสุธี ขอเบิกเงินไปจัดโครงการเดินธุดงค์ที่ประเทศศรีลังกา 700,000 บาท เพื่อนำรายได้มาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลปากชม รวมเงินที่พระปัคทวีฯ หลอกลวงไป จำนวน 7,900,000 บาท

ต่อมาเมื่อเวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังวัดป่าเวฬุวนาราม ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย พบภายในวัดเงียบเหงา มีแต่ญาติโยมบางส่วนมาที่วัดทำบุญ สอบถามพระในวัดถึงเรื่อง อดีตพระมหาปัคทวี พิมคีรี (อัคควีโร) อายุ 34 ปี หลอกลวงซึ่งทรัพย์ หรือฉ้อโกง จากพระราชวชิรสุธี เจ้าคณะจังหวัดเลย ธรรมยุต เป็นเงิน 10,501,600 บาท ไม่สะดวกที่จะให้ข้อมูล จากนั้นผู้สื่อไปที่กุฎิอดีตพระมหาปัคทวี พิมคีรี อยู่ไม่ไกลจากกุฎิเจ้าคณะอำเภอ บรรยากาศเงียบเหงา มีพระรูปใหม่เข้ามาอยู่แทนแล้ว

สอบถามชาวบ้านรายหนึ่ง เล่าว่า อดีตพระมหาปัคทวี พิมคีรี เป็นคนบ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย มาบวชที่วัดได้ 10 พรรษาแล้ว เป็นพระเลขาติดตามหลวงปู่ เป็นพระที่คล่อง เก่ง ขยัน อยู่วัดก็เป็นพระรูปหนึ่งที่ดี พักหลังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทราบว่าหลังมีเรื่องที่เกิดขึ้น ทางวัดได้ขับไล่ออกจากวัดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา และไปสึกที่วัดแห่งหนึ่งที่ จ.นครราชสีมา จากนั้นก็ไม่ทราบเรื่องเลย

ผู้สื่อข่าวเดินทางไปบ้านอดีตพระมหาปัคทวี พิมคีรี ที่บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง ที่อยู่ห่างจากวัดประมาณ 5-6 กม. พบว่าเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ 2 ชั้น บ้านปิดเงียบไม่มีใครอยู่บ้าน สอบถามชาวบ้าน บอกว่า ตั้งแต่เกิดเรื่องก็ไม่เห็นอดีตพระมหาปัคทวี มาที่บ้าน ส่วนแม่เมื่อทราบเรื่องก็ไปอยู่ที่อื่นไม่กลับมาบ้าน เหลือแต่พ่อที่ขายลอตเตอรี่อยู่ต่างจังหวัด จะกลับมาบ้านเดือนละ 2 ครั้ง

ส่วนอดีตพระมหาปัคทวี เป็นคนที่ขยัน เก่ง แต่ไม่รู้ว่าทำไมจึงไปสร้างเรื่องขึ้นมา คาดว่าคงไปเล่นการพนันออนไลน์ ส่วนที่ข่าวออกไปว่า 200 ล้านบาทนั้น จริงๆ ในบัญชีอดีตพระมหาปัคทวี ตั้งแต่ปี 2562 มีเงินหมุนเวียนเกือบ 200 ล้านบาท แต่เรื่องที่ไปหลอกหลวงปู่ เป็นเงินในบัญชี สร้างตึกอุบัติเหตุและผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลปากชม จ.เลย จำนวน 10,501,600 บาท

ส่วนทางคดี พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกอดีตพระมหาปัคทวี ตามที่อยู่ในวัดป่าเวฬุวนาราม เมื่อวันที่ 28 ต.ค.67 พนักงานสอบสวนได้ไปส่งหมายเรียกเอง แต่ทราบว่าทางวัดได้ขับไล่ออกจากวัดไปแล้ว และแอบไปสึกที่วัดแห่งหนึ่ง จ.นครราชสีมา จึงเป็นบุคคลที่ไม่มีที่อยู่แน่นอน จึงขออนุมัติศาลออกหมายจับ.

Thairath Online
16 พฤศจิกายน 2567

29
กรุงเทพมหานคร (กทม.) เผยยอดจัดเก็บกระทงปี 2567 ทั้งหมด 514,590 ใบ ลดลง 20% จากปีก่อน เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 98.39% กระทงที่ทำจากโฟม 1.61% สะท้อนประชาชนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ระบุเขตลาดกระบังกระทงมากสุด คลองสานน้อยสุด

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต 50 เขต ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยเนื่องในเทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 ในพื้นที่ต่าง ๆ

โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา สำนักการระบายน้ำ จัดเก็บในคลองและบึงรับน้ำที่รับผิดชอบ สำหรับสำนักงานเขต 50 เขต จัดเก็บในสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทง และบริเวณที่จัดงานภายในพื้นที่เขต โดยเริ่มจัดเก็บกระทงตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 แล้วเสร็จก่อนเวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567

สำหรับในปี 2567 กรุงเทพมหานคร จัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 514,590 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ จำนวน 506,320 ใบ คิดเป็นร้อยละ 98.39 กระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 8,270 ใบ คิดเป็นร้อยละ 1.61

โดยจำนวนกระทงทั้งหมดลดลงจากปีก่อน 125,238 ใบ คิดเป็นร้อยละ 19.57 โดยสถิติปี 2566 จัดเก็บกระทงได้ 639,828 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 618,951 ใบ และกระทงโฟม 20,877 ใบ

ในส่วนของการลอยกระทงออนไลน์ ซึ่งเป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครเชิญชวนประชาชนลอยกระทงออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ในบรรยากาศเสมือนจริงของสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 34 แห่ง และริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไอคอนสยาม มีประชาชนร่วมลอยกระทง จำนวน 36,832 ใบ ส่วนการลอยกระทงดิจิทัลในพื้นที่ 4 จุด มีจำนวน 10,885 ใบ

ลอยกระทงปีนี้มีการใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน คือ จากร้อยละ 96.74 เป็นร้อยละ 98.39 ส่วนกระทงโฟมลดลงจากร้อยละ 3.26 เป็นร้อยละ 1.61

โดยเขตที่มีจำนวนกระทงมากที่สุด ได้แก่ เขตลาดกระบัง จำนวน 20,806 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงน้อยที่สุด ได้แก่ เขตคลองสาน จำนวน 147 ใบ

ขณะที่สวนสาธารณะที่เปิดให้บริการ 34 แห่ง มีประชาชนใช้บริการรวมทั้งสิ้น 255,532 คน จำนวนกระทงที่เก็บได้ 96,508 ใบ คิดเป็นจำนวนสัดส่วนประชากรต่อจำนวนกระทง 3 คนต่อ 1 ใบ

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติแทนการใช้กระทงโฟม แสดงว่าประชาชนและผู้ค้าได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากเป็นการคืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสายน้ำแล้ว ยังเป็นลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด และช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย

สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กรุงเทพมหานครจะคัดแยกก่อนส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม และนำไปฝังกลบ ส่วนกระทงโฟมจะนำไปเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป


ประชาชาติ
16 พฤศจิกายน 2567

30
ยูเนสโก ยกย่อง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินสวยที่สุดในโลก เตรียมลุ้นอีก 1 รางวัล Prix Versailles ประกาศผล 2 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้รับการยกย่องจาก ยูเนสโก (UNESCO) ให้ติดอันดับ 1 ใน 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 (The World's most beautiful List 2024)

นอกจากนี้ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัล Prix Versailles หมวดหมู่สนามบิน จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ซึ่งร่วมกับ UNESCO ทั้งนี้ จะประกาศผลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 ธ.ค. 2567 ที่สำนักงานใหญ่ UNESCO กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สำหรับเกณฑ์การให้คะแนนการออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในด้านความงาม ทั้งภายนอก และภายในอาคาร ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ที่ผสมผสานกับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับอาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น เป็นอาคารสูง 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น มีพื้นที่ 216,000 ตารางเมตร มีประตูทางออกเชื่อมต่อกับหลุมจอดประชิดอาคาร (Contact Gate) จำนวน 28 หลุมจอด ถือว่ามีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม อัตลักษณ์ การออกแบบ การสร้างประสบการณ์ให้ผู้โดยสาร

รวมทั้งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการถ่ายทอดความวิจิตรของเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไทย สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ

สำหรับ 6 สนามบินที่เว็บไซต์ www.prix-versailles.com ได้ประกาศ 6 สนามบินที่สวยที่สุดในโลกประจำปี 2567 ได้แก่

1) อาคาร SAT-1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย
2) อาคารผู้โดยสาร E ท่าอากาศยานนานาชาติโลแกน (Logan International Airport) ประเทศสหรัฐอเมริกา
3) อาคารผู้โดยสารที่ 2 ท่าอากาศยานชางงี (Changi Airport) ประเทศสิงคโปร์
4) ท่าอากาศยานนานาชาติซายิด (Zayed International Airport) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
5) ท่าอากาศยานนานาชาติเฟลิเป้ แองเจเลส (Felipe Ángeles International Airport) ประเทศเม็กซิโก
6) ท่าอากาศยานนานาชาติแคนซัสซิตี้ (Kansas City International Airport)ประเทศสหรัฐอเมริกา

มติชน
15 พ.ย.2567

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 554