แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - patchanok3166

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 20
46
สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แนะ 5 พฤติกรรมดี 4 พฤติกรรมร้าย ใส่ใจสมอง เพื่อสุขภาพที่ดีและพัฒนาการของสมอง ซึ่งหลายคนอาจละเลยการดูแลสุขภาพสมองของตัวเองโดยไม่รู้ตัว
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สมองถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย โดยมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหว การหายใจ เป็นต้น โดยควบคุมและสั่งการร่างกายให้ทำงานตามความคิด เพื่อให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข โดยสมองมีการทำงานตลอดเวลา ดังนั้นการใส่ใจพฤติกรรมที่ควรปฏิบัติเพื่อให้สมองทำงานได้ดี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญเพื่อสุขภาพที่ดีของสมอง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมร้ายๆ ที่อาจทำลายสมอง
พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สมองยังมีความเกี่ยงข้องกับอารมณ์ การเรียนรู้ ทั้งนี้มนุษย์จึงควรหันมาใส่ใจพฤติกรรมพัฒนาสมอง โดยมี 5 พฤติกรรมดีดังนี้ กินดี คือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ลดอาหารบางจำพวกโดยเฉพาะอาหารทีมีน้ำตาลสูง ซึ่งจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมอง ออกกำลังกายดี การออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายโดยรวมและหลอดเลือดแข็งแรง ไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน นอนหลับพักผ่อนดี การพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีเวลาพักเพื่อซ่อมแซมตัวเอง ดังนั้นควรมีเวลาพักผ่อนนอนหลับอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง คิดดี การฝึกคิด ฝึกลงมือทำ จะช่วยให้สมองเกิดการเรียนรู้ และพัฒนากระบวนการคิดให้รวดเร็วขึ้น สนทนาดี การฝึกสนทนาพูดคุยกับคนอื่นๆ เป็นประจำ สม่ำเสมอ จะช่วยให้สมองได้มีการฝึกฝนแก้ปัญหา ส่วนคนที่เก็บตัว ไม่พบปะผู้คน พบว่าสมองมีกระบวนการทำงานในการแก้ปัญหาที่ช้าลง
และควรหลีกเลี่ยง 4 พฤติกรรมร้ายทำลายสมอง ได้แก่ ความเครียด เป็นผลร้ายต่อสภาพจิตใจ และส่งผลกระทบต่อสมองทำให้เสียสมาธิ หรือบางคนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า สิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะ การอยู่ในอากาศที่ดีจะทำให้สมองได้รับออกซิเจนเพียงพอ สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำนอกจากทำให้เป็นมะเร็งปอดแล้ว ยังทำให้ร่างกายและสมองได้รับออกซิเจนลดลง และเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง โรคประจำตัวบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองหลายโรค โรคหลอดเลือด ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีโรคประจำตัว ควรรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสีย เพราะการรักษาเมื่อเกิดการทำลายของสมองแล้วจะไม่สามารถทำให้สมองกลับมาทำงานได้สมบรูณ์ตามปกติ และจิตใจจะทำงานผิดปกติไปด้วย

Fri, 2019-01-18 23:17 เผยแพ่: hfocus

47
4 องค์กรหมออนามัย จับมือ กระทรวงสาธารณสุข ติดตามผลงานชวนคนเลิกสูบบุหรี่ปีที่ 3 ประเดิมภาคอีสาน เขต 7 และเขต 8 สร้างขวัญกำลังใจคนทำงาน ร่วมผลักดันโครงการสู่เป้าหมาย เลิกบุหรี่ให้ได้ 3 ล้านคนในปี 2562
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามสนับสนุนการดำเนินการและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย ตามโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ปีที่ 3 นพ.อิทธิพล สูงแข็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 ได้เป็นประธานการประชุม มี นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การประชุม ร่วมด้วยนายมงคล เงินแจ้ง นายกสมาคมหมออนามัย และนายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัยร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงาน สร้างขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนรับทราบปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไข ให้การขับเคลื่อนโครงการเป็นไปอย่างราบรื่นและใกล้เคียงเป้าหมายมากที่สุด
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แกนนำสาธารณสุขอำเภอ และผู้รับผิดชอบงานควบคุมการบริโภคยาสูบระดับจังหวัด กว่า 50 คน ณ โรงแรมพิมาน การ์เด้น บูติค โฮเต็ล จ.ขอนแก่น
นพ.อิทธิพล สูงแข็ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 กล่าวว่า ขอชื่นชมกับการขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน 3 ปี ที่ผ่านมาตลอด 2 ปี จนทำให้ผู้บริหารระดับสูงเห็นความสำคัญและผลักดันให้เป็นนโยบายการพัฒนาสาธารณสุขที่สำคัญ กำหนดเป็นข้อตกลงการปฏิบัติราชการของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (Performance Agreement) หรือ PA ประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นความท้าทายและกล้าหาญในการทำเรื่องลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพที่สำคัญ ซึ่งการแก้ไขปัญหาเพื่อลดจำนวนการสูบบุหรี่ควรมีจุดสำคัญที่ต้องตระหนักนำไปผลักดันให้เกิดการปฏิบัติ คือ
1) การสร้างฐานข้อมูลผู้สูบบุหรี่และองค์ความรู้การเลิกสูบบุหรี่เพื่อถ่ายทอดให้กับประชาชน
2) รณรงค์การเลิกสูบบุหรี่ร่วมกับการรณรงค์ทางสุขภาพในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม
3) การค้นหาบุคคลและพื้นที่ต้นแบบที่เป็นสื่อในการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ
4) สร้างมาตรการทางสังคมเพื่อควบคุมพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ
และ 5) การเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้สมัครใจเลิกบุหรี่ เช่น การจัดคลินิกเลิกบุหรี่ โดยเฉพาะการมี อสม.เป็นผู้กระตุ้นเสริมสร้างกำลังใจจะช่วยเพิ่มอัตราการเลิกเลิกสูบบุหรี่ได้เพิ่มมากขึ้น
“ความคาดหวังตอนนี้คือ ทำให้ดีที่สุด และเร่งรัดช่วยเหลือทุกอย่าง เพื่อทำให้การขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะ อสม. เป็นกลไกสำคัญเพราะใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด อยากให้ อสม.ใช้ความใกล้ชิด ความคุ้นเคย ความเป็นพี่น้อง ชักชวนและให้ความรู้นำไปสู่การเลิกบุหรี่เพราะบุหรี่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำร้ายคนที่รัก คนในครอบครัว สุดท้ายส่งผลเสียต่อประเทศชาติ และแม้ว่าการทำงานใกล้ครบระยะเวลาที่กำหนดแล้วก็ตาม แต่การรณรงค์เลิกบุหรี่ก็จะยังคงทำต่อและตั้งเปาหมายต่อไป เพื่อทำให้ประเทศไทยปลอดบุหรี่ให้ได้”
นายมงคล เงินแจ้ง นายกสมาคมหมออนามัย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ สมาคมหมออนามัย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและ สสส.ขับเคลื่อน โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชันย์ ปีที่ 3 เพื่อประชุมติดตามการทำงาน รับทราบปัญหาอุปสรรค และแนวทางการสนับสนุนเพื่อให้คนเลิกสูบบุหรี่ ได้อย่างน้อย 3 ล้านคน ภายใน 3 ปี โดยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2560 และ 2561 โดยจะครบปีที่ 3 ในปี 2562 นี้
นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย กล่าวว่า การลงพื้นที่เยี่ยมติดตามสนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย การขับเคลื่อนโครงการฯ เป็นการมาร่วมกันเสริมพลังครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการร่วมทำความดีให้แผ่นดิน ร่วมช่วยให้คนไทยทั่วประเทศเลิกสูบบุหรี่ มีสุขภาพที่ดีทั้งนี้ ผลการดำเนินโครงการในปีที่ 1 และ ปีที่ 2 สามารถชักชวนคนเข้าร่วมโครงการสมัครใจเลิกบุหรี่ 1.4 ล้านคน โดยมีคนสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้เกิน 6 เดือน กว่า 2.2 แสนคน

Fri, 2019-01-18 22:44 -- hfocus

48
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบบัตร Smart card อสม.ให้ชมรม อสม.ลำปาง เผย อสม.ลำปางมีการใช้งานแอปพลิเคชัน “Smart อสม.” มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 ที่ศูนย์แสดงสินค้าเซรามิกและหัตถอุตสาหกรรม อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมติดตามการพัฒนาศักยภาพ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้กำลังใจการทำงานและมอบบัตร Smart card ให้แก่ชมรม อสม.จังหวัดลำปางทั้ง 13 อำเภอ ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพระบบบริการปฐมภูมิ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับบริการที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง การสร้างความเข็มแข็งของชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตามบริบทของพื้นที่ โดยใช้กลไกขับเคลื่อนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ (พชอ.) คลินิกหมอครอบครัว และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล ผ่านเกณฑ์คุณภาพเป็น รพ.สต.ติดดาว
พลเอกฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดพัฒนา อสม. 4.0 เพื่อรองรับกับบริบทปัญหาที่เปลี่ยนแปลง ตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดยให้ อสม.มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Skill) ทํางานผ่านแอปพลิเคชัน ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชน มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) การปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีจิตอาสาและเป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ และความมีจิตอาสา ส่งผลต่อการทํางานสาธารณสุขเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับเป้าหมาย ของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจังหวัดลำปางมี อสม.ทั้งสิ้น 18,847 คน และมีการใช้งานแอปพลิเคชัน “Smart อสม.” มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
“บัตร Smart card ที่มอบให้ในวันนี้ เพื่อให้เป็นบัตรประจำตัว อสม. มีฐานข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง เป็นทั้งบัตร ATM และบัตรชำระค่าบริการในร้านที่รองรับบัตร ช่วยให้ อสม.มีความสะดวก คล่องตัวมากขึ้น เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่” พลเอกฉัตรชัย กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล ให้เป็น รพ.สต.ติดดาว เป็นนโยบายสําคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข เพื่อยกระดับหน่วยบริการระดับปฐมภูมิให้ได้มาตรฐาน ประกอบด้วย 5 ดี ได้แก่ การบริหารดี ประสานงานดี ภาคีมีส่วนร่วม บุคลากรดี บริการดี และประชาชนมีสุขภาพดี โดยจังหวัดลำปางมี รพ.สต.ทั้งหมด 141 แห่ง ได้ดำเนินการพัฒนาโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายแบบบูรณาการในระดับอำเภอได้แต่งตั้งทีมพี่เลี้ยงสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพรพ.สต.ครบทั้ง 13 อำเภอ ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาตามส่วนขาดของ รพ.สต. จากการประเมินตั้งแต่ปี 2560-2561 มี รพ.สต.ผ่านเกณฑ์ ระดับ 5 ดาว จำนวน 44 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 31.20 สูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งไว้ร้อยละ 25 ตั้งเป้าหมายพัฒนา รพ.สต.ทุกแห่งให้ผ่านเกณฑ์ รพ.สต.ติดดาว ระดับ 5 ดาว ภายในปี 2563

Fri, 2019-01-18 22:59 -- hfocus

49
กระทรวงสาธารณสุข ระดมจักษุแพทย์ เครื่องมือแพทย์ จากเขตสุขภาพที่ 4 และมูลนิธิ พอ.สว. ผ่าตัดต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ 109 ดวงตา อุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 ที่โรงพยาบาลปทุมธานี จ.ปทุมธานี นพ.สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 4 เปิดโครงการผ่าตัดต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ 109 ดวงตา อุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อส่งเสริมและเพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดการรอคิวผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อน และลดความพิการ ตลอดจนเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ
นพ.สมยศ กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสาขาจักษุ เขตสุขภาพที่ 4 ได้จัดทำโครงการผ่าตัดต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติ 109 ดวงตาฯ รองรับผู้ป่วยจากโครงการบูรณาการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อดูแลประชาชน อุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัฐบาลมอบเป็นของขวัญให้คนไทย และผู้ป่วยอื่นๆที่คัดกรองไว้แล้วจำนวน 109 คน นัดมาทำการผ่าตัดพร้อมกันที่โรงพยาบาลปทุมธานี โดยระดมจักษุแพทย์ พยาบาล เครื่องมือแพทย์ อาทิ กล้องผ่าตัดตา เครื่องสลายต้อกระจก จากโรงพยาบาลอ่างทอง โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มูลนิธิ พอ.สว. และโรงพยาบาลปทุมธานี ทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการได้อย่างรวดเร็ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นพ.สมยศ กล่าวต่อว่า โรคต้อกระจก เกิดจากความผิดปกติของเลนส์ตา พบมากในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ตาบอดได้ ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคต้อกระจกประมาณ 1.2 แสนคนรอคอยการผ่าตัด และมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 4 หมื่นคน กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว ได้กำหนดให้เรื่องตาอยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) ส่งเสริมและเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ป่วย ตั้งเป้าลดอัตราความชุกของตาบอดให้ต่ำกว่าร้อยละ 0.5 ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ล่าสุดได้จัดทำโครงการบูรณาการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ฯ ที่มีบริการตรวจคัดกรองสุขภาพตา ค้นหาและนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบบริการอีกหนึ่งช่องทาง ประชาชนเข้าถึงบริการและพอใจกับโครงการดังกล่าว

Sun, 2019-01-20 17:06 -- hfocus

50
“อภิสิทธิ์” ยืนยัน ประชาธิปัตย์ไม่มีนโยบายร่วมจ่าย พร้อมเดินหน้าให้สิทธิประชาชนตกหล่น ระบุ ไม่รวมกองทุนสุขภาพ แต่จะเปิดช่องให้ผู้ประกันตนเลือกใช้บัตรทองได้ จ่อใช้ยาแรงโรงพยาบาลเอกชนรีดค่ารักษาพยาบาลแพง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในเวทีเสวนามองไปข้างหน้า “พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ซึ่งอยู่ภายใต้งานรำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้มี 2 เรื่องที่ซ้อนกันอยู่ หนึ่งคือระบบหลักประกันสุขภาพ กับอีกหนึ่งคือระบบสุขภาพในภาพรวม ซึ่งขอยืนยันก่อนว่า ปชป.มองเรื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องของระบบสวัสดิการ เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นจึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีการพูดถึงเรื่องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า คำว่าถ้วนหน้านั้น กรณีที่ภาคประชาสังคมแสดงความเป็นห่วงว่ายังมีคนชายขอบหรือผู้มีปัญหาด้านสถานะตกหล่นและไม่ได้รับสิทธิในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) นั้น ปชป.เห็นว่าก็ควรจะให้สิทธิกับประชาชนเหล่านั้น
“ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ไปเส้นทางนั้น ขอยืนยันว่าเรามองเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ ปชป.มองว่าเป็นความท้าทายในอนาคตนั้น 1. ปัญหาระบบการเงินการคลัง อยากจะย้ำว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเกิดปัญหาปีแล้วปีเล่า ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับสำนักงบประมาณ รัฐบาล ต้องต่อรองกัน และตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็พบว่างบประมาณที่ได้รับไม่เป็นไปตามที่ สปสช.คิดว่าควรจะเป็น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกติกาในการจัดสรรงบประมาณ ส่วนกองทุนอื่นๆ อีก 2 กองทุน คือประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการนั้น ปชป. มองว่ามาตรฐานการรักษา และคุณภาพของยาต้องเท่าเทียมกัน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งในประเด็นการรวมกองทุนนั้น ปชป.อาจมีมุมมองที่แตกต่างออกไปบ้าง เช่น ประกันสังคม เรามองว่าผู้ประกันตนต้องเสียเงิน 2 ต่อ คือเสียทั้งภาษีเพื่อมาดูแลระบบ และยังต้องเสียเงินสมทบอีก ดังนั้นสิ่งที่ประชาธิปัตย์อยากนำเสนอก็คือ เราควรเปิดโอกาสให้คนในระบบประกันสังคมตัดสินใจว่าเขาอยากจะอยู่ในระบบนี้หรือไม่ ถ้าเขาไม่อยากเสียเงินสมทบก็ต้องเปิดช่องให้เขาสามารถออกมาอยู่ในระบบบัตรทองได้
สำหรับสวัสดิการข้าราชการนั้น ส่วนตัวคิดว่าผู้ที่ตัดสินใจเข้ามารับราชการได้ตัดสินใจบนเงื่อนไขว่าเขาจะได้รับสิทธินี้ ดังนั้นถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงควรจะเริ่มต้นจากคนที่เข้ารับราชการรายใหม่ และหากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปคิดว่าสิทธิที่เขาพึงจะได้นั้น เมื่อเอาออกมาแล้วจะชดเชยให้เขาอย่างไร
“ถ้าเราคิดว่าจะยกระดับมาตรฐานคุณภาพให้ดีขึ้น ประเด็นของผมคืออย่าไปคิดแต่ว่าจะรวมกองทุน เพราะสิ่งที่ผมเกรงคือหากเรารีบไปสู่การยุบกองทุน ผมไม่แน่ใจว่าถ้าบริหารจัดการกันอยู่อย่างในปัจจุบันแล้ว คุณภาพของคนที่ที่อยู่ในระบบหลักประกันจะดีขึ้น แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่คนเคยได้จากระบบราชการจะเสื่อมถอยลง ประเด็นหลักก็คือต้องหาเงินมาสนับสนุนให้เพียงพอ และระบบสวัสดิการที่มาจากภาษีนั้น เราต้องมาพูดกันด้วยว่าระบบภาษีเป็นธรรมหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชน ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องคำนึงถึง เพราะทุกวันนี้กฎหมายอ่อนเกินไป การกำหนดให้เพียงแค่แจ้งค่ารักษาพยาบาลคงไม่เพียงพอ และในอดีตที่ ปชป.เป็นรัฐบาล เราได้เคารพธรรมนูญสุขภาพที่ระบุว่าไม่ให้รัฐบาลไปสนับสนุนธุรกิจด้านทางการรักษาพยาบาลหรือสุขภาพ เพราะนั่นจะเป็นตัวที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำและดึงทรัพยากรจากภาครัฐไปจัดบริการ

Fri, 2019-01-18 10:51 -- hfocus

51
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย พร้อมชื่นชมการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบบริการประชาชน สู่การเป็น สมาร์ท ฮอสปิทัล ใช้ระบบเรียกคิวอัตโนมัติ รู้ลำดับคิวตัวเองผ่านสมาร์ทโฟน นัดหมายผู้ป่วยลงทะเบียนตรวจล่วงหน้า จัดส่งยาผู้ป่วยถึงบ้าน จัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยด้วยอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ สะดวกรวดเร็ว ลดการใช้กระดาษ ลดความแออัดและการรอคอยคิว
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ว่า ขอชื่นชมโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยได้นำเทคโนโลยีมาพัฒนาปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว และจัดเก็บข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ตามนโยบายพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัด ให้เป็น สมาร์ท ฮอสปิทัล (Smart Hospital)
โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยได้นำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบทั้ง 4 ด้านคือ Smart Appointment การนัดหมายผู้ป่วยลงทะเบียนตรวจล่วงหน้า, Smart Service ระบบจัดการคิวอัตโนมัติ, Smart Delivery การจ่ายยา จัดส่งยาผู้ป่วยถึงบ้าน, Smart Intermediate Care การเชื่อมโยงข้อมูล แผนการรักษาผู้ป่วย และ Long Term Care เพื่อลดความจำเป็นในการมาโรงพยาบาล รวมถึงการส่งข้อมูลการรักษาอย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อ
นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า จากการดำเนินงาน Smart Hospital ของโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ยพบว่า ได้พัฒนาครอบคลุมในทุกด้าน อาทิ มีการโทรนัดตรวจล่วงหน้าในบริการทันตกรรม กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย การจัดการระบบคิวอัตโนมัติ ซึ่งผู้ป่วยสามารถรู้คิวการตรวจโดยการแสกน QR Code ทำให้ผู้ป่วยมีเวลาทำกิจกรรมอื่นได้ก่อน ลดการรอคอย ลดความแออัดหน้าห้องตรวจ การส่งหมอไปตรวจรักษาจ่ายยาผู้ป่วยถึงบ้าน เน้นในกลุ่มผู้ป่วยด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และการรับผู้ป่วยหลังผ่าตัด จากโรงพยาบาลแม่ข่ายมาดูแล กายภาพบำบัด ฟื้นฟูสภาพก่อนส่งกลับบ้าน
โรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green and Clean Hospital) ใช้ระบบโซลาร์เซลล์ประหยัดพลังงานไฟฟ้า เปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า ห้องฉุกเฉินใช้ประตูเลื่อนอัตโนมัติร่วมกับเซ็นเซอร์ โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีน้ำดื่มบรรจุแก้วไว้บริการแก่ประชาชนตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล จากผลการประเมินความพึงพอใจพบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่มีความสุข ทำให้การบริการดีขึ้น

Fri, 2019-01-18 09:07 -- hfocus

52
"สุดารัตน์" นำทีมเพื่อไทย ชู รพ.บ้านแพ้วโมเดล รพ.ออกนอกระบบแห่งเดียวของไทย เดินหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค เฟส 2 ด้วยกระจายอำนาจ รพ.ออกนอกระบบ ตามนโยบายรักษาคุณภาพ ยาดี ไม่ต้องรอคิว สร้างขวัญกำลังใจหมอพยาบาล
เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ม.ค.62 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยพร้อมด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แกนนำพรรค, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรค, นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค, นายดนุพร ปุณณกันต์ และคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เปิดตัวว่าที่ผู้ลงสมัคร ส.ส.สมุทรสาคร เขต 3 พ.ต.อ.วิเลข ศรีนิเวศน์ ใน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เพื่อพบปะและพูดคุยกับทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ จากนั้นจึงได้ลงพื้นที่บริเวณตลาดริมคลองบ้านแพ้ว
โดยคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ที่สำคัญของพรรคเพื่อไทยนั้นก็คือ เรื่องของการให้บริการทางด้านการแพทย์ และการดูแลผู้ป่วยให้ได้รับบริการที่รวดเร็วทันสมัย ตามยุทธศาสตร์ชูโรงที่ว่า “สร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า บริการดี ยาดี ไม่ต้องรอคิว” โดยมีการประยุกต์เอาเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพทัดเทียมกัน ซึ่งในอดีตสมัยยุคของ นายกฯทักษิณ นั้นเคยทำสำเร็จมาแล้วกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ส่วนในปัจจุบันพรรคเพื่อไทยจะพาเดินสู่เฟส 2 ก็คือเดินไปสู่การสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า
"เนื่องจากที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้วสภาพก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยตลอด ฉะนั้นในครั้งนี้เราจึงได้นำเสนอโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเฟสที่ 2 หรือเรียกว่าเป็นก้าวใหม่ของ 30 บาท ที่จะมุ่งไปสู่การสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า ด้วยการให้บริการที่ดี ยาที่ดี ไม่ต้องรอคิว แล้วก็มุ่งไปสู่การกระจายอำนาจที่จะคืนโรงพยาบาลทั่วประเทศให้กับประชาชน โดยมีโมเดลที่คล้ายๆ กับบ้านแพ้ว" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ประธานยุทธศาสตร์ฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวด้วยว่า โดยพรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นว่าคนไทยต้องมีสุขภาพดี และเชื่อมั่นว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นไม่ได้เป็นตัวทำให้ระบบการให้บริการทางการแพทย์ล้มละลายเสียหายอย่างที่มีผู้นำทางการเมืองบางคนเคยกล่าวไว้ และพรรคเพื่อไทยยังเชื่อมั่นอีกว่างบประมาณที่นำมาใช้เพื่อการสร้างสุขภาพที่ดีของคนไทยนั้น สำคัญกว่าการซื้อเรือรบแน่นอน
ทั้งนี้วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์โพสต์ facebook คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan ระบุว่า
ก้าวต่อไปของสามสิบบาท สู่การสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า “รักษาคุณภาพ ยาดี ไม่ต้องรอคิว สร้างขวัญกำลังใจหมอพยาบาล” “ชูโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นต้นแบบกระจายอำนาจ #คืนโรงพยาบาลให้ประชาชน”

Thu, 2019-01-17 18:36 -- hfocus

53
วันนี้ (16 ม.ค.) นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณีหนุ่มออกมาโพสต์เตือนผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน จนมีอาการแสบจมูก แสบคอ ถึงขั้นจามเป็นเลือดจำนวนมาก ว่า การจามเป็นเลือดมีหลายสาเหตุ ซึ่งหากเกิดขึ้นฉับพลันเพียงครั้งเดียว ก็อาจเป็นปัญหาที่เราเจอบ่อยๆ คือ เส้นเลือดฝอยในจมูกแตก ถามว่าสัมพันธ์กับการหายใจเอาฝุ่นลงไปหรือไม่ ก็แน่นอนว่า ถ้าทำให้เกิดการระคายเคืองและจามอย่างรุนแรงก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ แต่ว่าก็ต้องไปหาสาเหตุด้วยว่ามีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ หรือเกิดขึ้นเพียงหนเดียวแล้วหายไป

"ผมคิดว่า เป็นปัญหาที่ตอบยาก แต่ถามว่าเกิดขึ้นได้หรือไม่ เมื่อเกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ การไอหรือจามรุนแรงบางครั้งก็ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้เหมือนกัน ถ้าเลือดออกคงต้องมีการประเมินให้ดีว่า ไม่ได้เกิดจากปัญหาอื่นร่วมด้วยหรือไม่ แต่ก็เป็นไปได้ที่ไอจามรุนแรงแล้วเลือดออก โดยที่ไม่มีโรคร้ายแรงแต่อย่างใด" นพ.ฉันชาย กล่าว

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า หากเลือดออกเพียงหนเดียวที่สัมพันธ์กับอาการไอหรือจามรุนแรง แนะนำว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจมาจากการระคายเคือง ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกแล้วเป็นเลือดออกมา ก็อาจแค่เฝ้าระวังก่อน ยังไม่ต้องถึงขั้นไปพบแพทย์ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น และมีเลือดออกต่อเนื่อง หรือมีอาการอย่างอื่นร่วม เช่น มีไข้ เจ็บคอมาก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า การมีเลือดออกทางจมูก นอกจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตกแล้ว ยังเกิดจากสาเหตุอื่นได้ คือ อาจมีรอยโรคทางจมูกที่ทำให้เลือดออกได้ หรือโรคเรื้อรังที่ทำให้มีอาการเลือดออกทางจมูกบ่อยครั้ง เป็นๆ หายๆ หรือถ้าไอออกมาเป็นเลือดก็ต้องระวังการติดเชื้อในปอดที่ทำให้เกิดการไอเป็นเลือดได้ ซึ่งต้องไปหาสาเหตุ

นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ช่วงนี้ขอแนะนำให้ติดตามข่าวสารหรือระดับฝุ่นละอองของพื้นที่รอบตัวให้ดี ถ้ามีฝุ่นละอองระดับสูง เช่น ถ้าฝุ่น PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ก็แนะนำว่าว่าออกไปข้างนอกถ้าไม่จำเป็น หรือหากต้องออกไปก็อาจป้องกันด้วยอุปกรณ์เท่าที่เราหาได้เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัส แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคปอด โรคหอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด ก็อาจพิจารณาว่าถ้าค่าเกิน 30 มคก./ลบ.ม.ก็อาจเลี่ยงการออกจากบ้าน

ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า เชื่อว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวน่าจะมีโรคประจำตัว เพราะในคนปกติ จะไม่มีอาการไอจามเป็นเลือด เมื่อเจอกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่อาจเจอกับภาวะคอแห้ง แสบจมูกได้ ส่วนอาการไอจามเป็นเลือดอาจเกิดได้จากป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ส่วนกรณีระบุว่ามีสมุนไพรป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้นั้น ยังไม่มีองค์ความรู้เรื่องข้อมูล แต่ที่แน่ชัดและดีที่สุด คือการเลี่ยง พื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูง งดทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง ในพื้นที่สีแดง และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจากฝุ่นสูงขึ้น คาดว่าตัวเลขจะเห็นชัดในอีก 3 เดือนข้างหน้า สำหรับปัญหาคนแห่ซื้อหน้ากากอนามัย N95 จนขาดตลาด เห็นว่าหน้ากากาอนามัยเป็นการป้องกัน สามารถสวมหน้ากากอนามัยธรรมดา 2 ชั้นกรองอากาศทดแทนได้ หรือใช้ผ้าขาวม้า เย็บ 4 ชั้น แทน แต่ว่าควรแก้ที่ต้นเหตุด้วย คือการลดแหล่งเกิดฝุ่นละออง


เผยแพร่: 16 ม.ค. 2562 13:51   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

54
แพทยสภา เร่งทำอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ฉบับใหม่ ครอบคลุมหมอทุกสาขาเชี่ยวชาญ แบ่งเป็นช่วงสูงสุดต่ำสุด รวมถึงครอบคลุม รพ.เอกชน หากคิดแพงกว่าที่กำหนดจะพิจารณาจริยธรรม "หมอสมศักดิ์" เชื่อคุมค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษา แต่ค่าใช้จ่ายจะไปโป่งส่วนอื่น แนะใบเสร็จค่ารักษาควรแจงค่าใช้จ่ายตามจริง ไม่ควรบวกในค่ายา


ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา กรรมการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบให้ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม ว่า ค่ายาของ รพ.เอกชน ปัจจุบันอาจจะมีการขายในราคาที่บวกกำไรขึ้นไปอย่างมาก อาจจะ 200-300% ส่วนหนึ่งเพราะมีค่าอย่างอื่นแฝง โดยมีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่อาจจะไม่รู้ว่าจะนำไปไว้ในค่าอะไรของใบเสร็จ ก็เพิ่มไว้ในค่ายา เพราะฉะนั้น ส่วนตัวเห็นว่า รพ.เอกชนควรที่จะแสดงใบเสร็จแจกแจงรายละเอียดจริงๆ ตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น ไม่ควรนำมาแฝงไว้ในค่ายาแทน เพราะจะทำให้เหมือนว่า คิดค่ายาที่แพงกว่า รพ.รัฐที่ปัจจุบันมีการบวกกำไรเพิ่มราว 10-20% ส่วน รพ.เอกชนอาจจะบวกกำไรเพิ่มมากขึ้นในส่วนของยาที่ราคาไม่แพง และบวกกำไรเพิ่มเล็กน้อยสำหรับยาที่มีราคาแพง เพื่อไม่ให้ยาราคาแพงอยู่แล้วแพงมากเกินไป แต่จะต้องนำปริมาณการใช้ยาชนิดนั้นและต้นทุนการซื้อยาของ รพ.แต่ละแห่งมาพิจารณาด้วย


“หากเห็นว่า ซื้อยาใน รพ.แพงก็สามารถขอให้แพทย์ออกใบสั่งยาไปซื้อจากข้างนอกที่ถูกกว่าได้ แต่ปัญหา คือ คนไทยส่วนใหญ่มีประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล ก็จะยอมรับยาจาก รพ. เพราะประกันจ่าย ไม่ขอใบเสร็จมาซื้อยาข้างนอก เพราะต้องจ่ายเอง อย่างไรก็ตาม หากดูค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศจะแพงกว่าไทยมาก ทำให้คนต่างชาติเดินทางมารักษาในไทยแต่ละปีค่อนข้างสูง และเชื่อว่าแม้จะคุมค่ายา เวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ บริการรักษาพยาบาล ท้ายที่สุดค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการรักษาก็จะไปโป่งในส่วนอื่นอยู่ดี” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว


ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนค่าธรรมเนียมแพทย์ แพทยสภามีการกำหนดโดยประกาศค่าธรรมเนียมแพทย์แต่ละสาขาเฉพาะทางที่มีความแตกต่างกัน ฉบับปัจจุบันใช้มาเป็น 10 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงค่าธรรมเนียมแพทย์ เนื่องจากบริบทแตกต่างจากในอดีตมาก และพบว่า ค่าเฉลี่ยค่าธรรมเนียมแพทย์ในปัจจุบันเท่ากับอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดของฉบับเดิม คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ อัตราค่าธรรมเนียมแพทย์แต่ละสาขา แพทยสภาจะกำหนดขึ้นจากการหารือกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเป็นช่วงๆ ต่ำสุด-สูงสุด เพราะหากกำหนดอัตราเดียวทั้งหมดหรือเป็นเพดาน จะทำให้สถานพยาบาลที่มีขนาดเล็กคิดอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ในระดับสูงสุดเกรดเอทั้งสิ้น ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ของแพทยสภาจะครอบคลุมแพทย์ในรพ.เอกชนด้วย หากแพทย์ใน รพ.เอกชนมีการคิดค่าธรรรมเนียมแพทย์ในการตรวจรักษามากกว่าที่แพทยสภากำหนดไว้ ก็จะมีการพิจารณาในเรื่องของจริยธรรม จรรยาบรรณแพทย์ด้วย
 

"การที่จะเข้ามาควบคุมค่าต่างๆ ใน รพ.เอกชน จริงๆไม่ควรทำ แต่ถ้าไม่ทำก็จะทำให้ค่ารักษาอาจจะแพงขึ้นๆ ไปอีก หากจะดำเนินการก็ต้องดูข้อกำหนด ผลกระทบให้รอบด้านด้วย เพราะการรักษารพ.เอกชนเป็นทางเลือกของประชาชน ถ้ามองว่าแพงก็ไม่ต้องเข้าในรพ.เอกชนแห่งนั้น ไปแห่งอื่นแทน เป็นไปตามกลไกการค้าเสรี หากไปบีบ รพ.มากๆอาจจะทำให้เขาเจ๊งได้" ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว



เผยแพร่: 11 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

55
ทันตแพทยสภาสอบใบประกอบวิชาชีพผ่านระบบออนไลน์ทั่วประเทศอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก โดยใช้ระบบดิจิทัลช่วยให้รูปถ่ายเคสต่างๆ รวมทั้งฟิล์มเอกซเรย์ชัดเจน วัดความรู้นักศึกษาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมนักศึกษาในต่างจังหวัดไม่ต้องเดินทางมาสอบที่ส่วนกลาง ลดค่าใช้จ่าย ด้านนายกทันตแพทยสภา เผย ระบบได้ผลดี น่าพอใจ ไม่มีสนามสอบไหนมีปัญหา เตรียมยกระดับการสอบเพื่อวัดผลการผลิตทันตแพทย์ให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน


ผศ.ทพ.บัณฑิต จิรจริยาเวช ประธานศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ศ.ป.ท.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 12-13 ม.ค. 2562 นี้ มีการสอบประเมินความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพทันตกรรมของนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 และ 6 โดยการสอบในปีนี้เป็นการสอบแบบออนไลน์เต็มระบบทั่วประเทศเป็นครั้งแรก มีผู้เข้าสอบพร้อมกันกว่า 800 คนทั่วประเทศ


สำหรับการสอบนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 4 จะเป็นการสอบวัดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และในส่วนของนักศึกษาทันตแพทย์ชั้นปีที่ 6 เป็นการสอบความรู้พื้นฐานทางด้านคลินิก แต่เดิมใช้การสอบแบบข้อเขียนบนกระดาษตามปกติ ซึ่งประสบปัญหาคือรูปภาพในกระดาษจะไม่ชัด เมื่อรูปไม่ชัดก็มีผลกับการทำข้อสอบ แต่เมื่อนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ รูปถ่ายเคสต่างๆ หรือฟิล์มเอกซเรย์ก็ชัดเจนขึ้น ทำให้นักศึกษาเข้าใจและทำข้อสอบได้ดีขึ้น การประมวลผลก็ง่ายขึ้น รวมทั้งจัดให้มีสนามสอบทั่วประเทศ นักศึกษาไม่ต้องเดินทางมาศูนย์สอบที่ส่วนกลาง ลดภาระค่าใช้จ่ายของนักศึกษา ทำให้มีเวลาเตรียมตัวมากยิ่งขึ้น


“ระบบนี้ก็ทำให้เกิดความยุติธรรมและความเที่ยงตรงในการประมวลผล ก่อนหน้านี้ เราก็มีการทดลองสอบบนระบบออนไลน์ แต่ยังทำไม่เต็มจำนวน ส่วนปีนี้เป็นปีที่ออนไลน์ครบทั้งระบบเป็นครั้งแรก ถือเป็นวิชาชีพแรกๆ ที่ใช้การสอบออนไลน์เข้ามาช่วย” ผศ.ทพ.บัณฑิต กล่าว


ด้าน ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงาน พบว่า การจัดสอบเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีสนามสอบไหนที่มีปัญหาเลย การใช้ระบบออนไลน์ก็มีประสิทธิภาพดีค่อนข้างน่าพอใจ สามารถสอบพร้อมกันหมดทั่วประเทศ เด็กต่างจังหวัดก็ไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่ส่วนกลาง สามารถสอบในพื้นที่ของตัวเองได้เลย


“เดิมเราใช้ระบบพิมพ์ข้อสอบ รูปที่พิมพ์ลงไปไม่ชัด จะพิมพ์สีก็ลำบาก รูปเอกซเรย์เลิกพูดได้เลย การจะวัดว่าเด็กนักเรียนอ่านฟิล์มเป็นหรือไม่ทำไม่ได้เลย แต่ในรูปแบบของระบบดิจิทัลสามารถทำได้หมด รูปภาพเคส เนื้องอก ภาพจากกล้องจุลทรรศน์ ลักษณะฟันผุ โรคในช่องปากทั้งหลายสามารถใช้เป็นรูปสีได้ ภาพเอกซเรย์ก็สามารถลงได้ในคอมพิวเตอร์ เห็นได้ชัดเจนกว่าเดิม ทำให้การวัดความรู้ของนักศึกษาดีขึ้น เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าเด็กที่จบไปจะมีความรู้ความสามารถในการดูแลประชาชนได้จริงๆ” ทพ.ไพศาล กล่าวว่า เมื่อเห็นว่าระบบทุกอย่างทำงานดีเช่นนี้ การสอบครั้งต่อๆ ไปก็จะใช้รูปแบบนี้ต่อไปและจะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น




เผยแพร่: 13 ม.ค. 2562   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

56
เลือกตั้งแพทยสภา "หมอธีระวัฒน์-หมอฉันชาย" หน้าใหม่คะแนนสูง จับตา "หมอสมศักดิ์" ขึ้นนายกฯ อีกสมัย?


ประกาศผลเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา "หมอสมศักดิ์" คะแนนสูงสุดเหมือนทุกครั้ง จับตาหวนนั่งนายกแพทยสภาอีกสมัยหรือไม่ พบส่วนใหญ่เป็นกรรมการหน้าเดิม เพิ่มเติมรายใหม่ส่วนอาจารย์แพทย์ ทั้ง "หมอธีระวัฒน์-หมอฉันชาย" ลงสมัครครั้งแรก คะแนนนำสูงอันดับ 2 และ 7


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2562-2564 มีผู้สมัครเลือกตั้งเป็นกรรมการแพทยสภาทั้งสิ้น 117 ราย ซึ่งได้มีการส่งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่แพทย์ทั่วประเทศ ในการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยให้เลือกผู้สมัครได้ไม่เกิน 29 หมายเลข และให้ส่งกลับมาสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา โดยกำหนดปิดหีบรับบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา


วันนี้ (8 ม.ค.) คณะอนุกรรมการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2562-2564 ได้จัดให้มีการนับคะแนนการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา โดยขนหีบบัตรเลือกตั้งจากสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ไปยังอาคารใหม่ของสภาวิชาชีพด้านสาธารณสุข เพื่อดำเนินการตรวจนับผลคะแนน โดยเชิญนิสิตนักศึกษาแพทย์ใน กทม.จำนวน 80 คน มาช่วยดำเนินการ ทั้งนี้ บัตรลงคะแนนเลือกตั้งที่จัดส่งมีทั้งสิ้น 55,791 ฉบับ มีสมาชิกแพทยสภาลงคะแนน จำนวน 14,732 คน ซึ่งผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุด 29 คนแรก จะได้รับการแต่งตั้งเป้นกรรมการแพทยสภาวาระ พ.ศ. 2562-2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งผลคะแนนการเลือกตั้งมีดังนี้


1.ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา 7,909 คะแนน 2.ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา 5,969 คะแนน 3.พญ.ชัญวลี ศรีสุโข 5,896 คะแนน 4.ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ 5,585 คะแนน 5.รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร 5,567 คะแนน 6.พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ 5,497 คะแนน 7.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ 5,269 คะแนน 8.นพ.พินิจ หิรัญโชติ 4,925 คะแนน 9.ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา 4,833 คะแนน 10.ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ 4,684 คะแนน


11.นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ 4,572 คะแนน 12.ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ 4,301 คะแนน 13.นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ 4,282 คะแนน 14.พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม 4,036 คะแนน 15.รศ.นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ 3,930 คะแนน 16.ศ.คลินิก เกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก 3,867 คะแนน 17.ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ 3,846 คะแนน 18.นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน 3,840 คะแนน 19.ศ.นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธุ์ 3,782 คะแนน 20.นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ 3,654 คะแนน


21.รศ.นพ.บุญส่ง พัจนสุนทร 3,654 คะแนน 22.พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา 3,472 คะแนน 23.นพ.ชาตรี บานชื่น 3,388 คะแนน 24.ศ.คลินิก นพ.วิรุฬ บุญนุช 3,387 คะแนน 25.นพ.พิชญา นาควัชร 3,340 คะแนน 26.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ 3,350 คะแนน 27.ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ 3,335 คะแนน 28.ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงศ์ 3,319 คะแนน และ 29.ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ 3,258 คะแนน


ทั้งนี้ ผู้ได้รับการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาวาระนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกรรมการหน้าเดิม เช่น ทีมชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) ซึ่งครั้งนี้ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ได้รับคะแนนนำสูงสุด ก็ต้องจับตาว่าจะกลับมาเป็นนายกแพทยสภาอีกสมัยหรือไม่ หลังจากวาระที่ผ่านมา ศ.นพ.ประสิทธิ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นนายกแพทยสภา ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้ลงเลือกตั้งต่อ แต่ครั้งนี้ก็มีกรรมการแพทยสภาหน้าใหม่ๆ ที่ได้รับเลือกเข้ามา เช่น ทีมแพทย์อาสา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ เช่น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งลงสมัครเป็นครั้งแรก ก็ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงเป็นอันดับ 2 เช่นเดียวกับ นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รพ.จุฬาฯ ที่ลงสมัครครั้งแรกเช่นกัน ก็ได้คะแนนสูง เป็นอันดับ 7


อย่างไรก็ตาม กรรมการแพทยสภาชุดใหม่ จะมีการประชุมร่วมกับ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเลือกนายกแพทยสภา และจากนั้นนายกแพทยสภาจะเลือกทีมขึ้นมาทำงานในส่วนของเลขาธิการแพทยสภาตอ่ไป



เผยแพร่: 8 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

57
กรมการแพทย์สำรวจภาระงาน 5 วิชาชีพ "หมอ-พยาบาล-เภสัชฯ-เทคนิคการแพทย์-รังสี" พบหมอเกิน 60% ทำงาน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์ เกินแพทยสภากำหนด 2 เท่า 15% อยู่เวรทั้งสัปดาห์ 90% เคยขึ้นเวรทั้งที่ป่วย 90% ยอมรับผิดพลาดการรักษาเพราะนอนน้อยงานมาก 65%ไม่มีความสุขกับการทำงาน จ่อสรุปผลทั้งหมดในสัปดาห์นี้ หาทางออกนำร่อง รพ.สังกัดกรมฯ เสนอ รมว.สธ.-ปลัดสธ.สัปดาห์หน้า


วันนี้ (7 ม.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการสำรวจภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ว่า ที่ผ่านมาปัญหาภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขถูกตั้งคำถามจำนวนมาก เพื่อให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ กรมการแพทย์ จึงได้มอบหมายให้ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายทางการแพทย์ กรมการแพทย์ ทำการสำรวจการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานขึ้นเวรในโรงพยาบาล หลักๆ มี 5 วิชาชีพ คือ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และรังสีเทคนิค โดยเป็นกลุ่มทำงานเวรดึก โดยผลการสำรวจจะนำมาพิจารณาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เบื้องต้นจะหาทางออกภายในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 31 แห่งจากทั่วประเทศก่อน ซึ่งบุคลากรในกรมการแพทย์สำหรับสายวิชาชีพน่าจะประมาณร้อยละ 70 จากทั้งหมดประมาณ 18,000 คน ทั้งนี้ กรมฯ จะมีการหารือและสรุปผลทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจะนำเรียนต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงสัปดาห์หน้า


ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลสรุปเบื้องต้นเป็นอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากสำรวจเมื่อช่วงปลายปี 2561 ทราบว่า ใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือนก็ทราบผลเบื้องต้น โดยได้สำรวจบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่ที่มาตอบจะเป็นสังกัด สธ. โดยพบว่า ในส่วนของแพทย์ที่มาตอบคำถามประมาณกว่าพันคน พบร้อยละ 60 ทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่าที่แพทยสภาเคยกำหนดไว้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ก็ต้องพิจารณาหลายๆ อย่าง โดยขอให้มีการหารือกันก่อนและจะมีการสรุปพร้อมหาทางออกต่อไป


นพ.เมธี กล่าวภายหลังโพสต์เฟซบุ๊ก Methee Wong ถึงภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ว่า การทำงานถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นการทำงานเกินเวลาที่แพทยสภาประกาศถึง 2 เท่า และยังพบว่าอีกกว่าร้อยละ 30 แพทย์ทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินกว่า 3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่าแพทย์ร้อยละ 15 ต้องอยู่เวรทั้งสัปดาห์ และแพทย์กว่าร้อยละ 90 มีประสบการณ์ต้องทำงานและขึ้นเวรทั้งที่ตนเองป่วย เพราะหาคนทำแทนไม่ได้ และโดนบังคับให้ทำ นอกจากนี้ ยังพบว่า แพทย์ 70% มีประสบการณ์ต้องทำงานและขึ้นเวรทั้ง ๆ ที่ญาติพี่น้อง ทั้งบิดามารดา สามีภรรยา บุตร ป่วย แต่ไม่สามารถไปดูแลได้ และมากกว่า 50% ต้องรับผิดชอบคนไข้นอกมากกว่า 100 รายต่อวัน ซึ่งจริงๆ มาตรฐานการตรวจผู้ป่วยรายใหม่ คนหนึ่งควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10-15 นาที รายเก่า 5 นาที


"แพทย์มากกว่า 55% ต้องรับผิดชอบคนไข้ห้องฉุกเฉินเกือบ 70 รายต่อวัน แพทย์ 90% ยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดในการรักษา เพราะภาระงานที่มากเกินไปและอดนอน แพทย์ 70% ยอมรับว่าป่วยก่อนวัยอันควรและมีปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้ง ซึมเศร้า เบื่องาน นอนไม่หลับ ต้องใช้ยานอนหลับ ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง แพทย์ 65% ไม่มีความสุขกับการทำงานในวิชาชีพแพทย์” นพ.เมธี กล่าว



เผยแพร่: 7 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

58
"ปาบึก" ทำ รพ.เสียหาย 92 โรง รพ.สต.บ้านปลายทราย "แหลมตะลุมพุก" ยังปิดบริการ สธ.ฟุ้งโครงสร้างอาคารแข็งแรง


สธ.เผย รพ.เสียหายจากพายุปาบึก 92 โรง เสียหายรุนแรง 29 โรง หนักสุดที่นครศรีธรรมราช พบ รพ.สต.บ้านปลายแหลม ยังต้องปิดปรับปรุง คาดเปิดบริการได้ 8 ม.ค. ชี้โครงสร้างอาคาร รพ.มั่นคงแข็งแรง แม้เจอพายุหนักพอๆ กับอดีต สำรวจแล้วยังไม่พบปัญหาสุขภาพจิต เตรียมพร้อมดูแลทั้งประชาชนและบุคลากร สธ.ที่รับผลกระทบ ยังเหลือ 23 ราย ติดค้าง รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช เหตุไฟที่บ้านยังดับ


วันนี้ (7 ม.ค.) ที่ศูนย์ราชการฯ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ว่า ขณะนี้ได้ให้กองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำรวจความเสียหายของสถานพยาบาล พบว่า มีสถานพยาบาลทุกระดับในสังกัด สธ. ได้รับผลกระทบ 92 แห่ง แต่เสียหายรุนแรง 29 แห่ง แต่ทั้งหมดยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายจากแรงลม ทำให้หลัง ฝ้า และเพดานเสียหาย ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ไม่ได้รับผลกระทบ ถือว่าไม่รุนแรง


ต่อมา ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม ได้ประชุมร่วมกับทีมแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ว่า สถานพยาบาลของ สธ.ได้รับความเสียหายเล็กน้อย ส่วนใหญ่เกี่ยวกับหลังคา ฝ้า และเพดาน แต่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ แต่ที่รับผลกระทบมากที่สุดเป็น จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะ รพ.สต.บ้านปลายทราย ที่แหลมตะลุมพุก ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 ส่วนน้ำท่วมสถานพยาบาลแค่บางแห่ง สามารถให้บริการได้ตามปกติ ส่วนปัญหาระบบไฟฟ้าที่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ก็กลับมาใช้ได้ตามปกติแล้ว ส่วนการรายงานผู้เสียชีวิต มีแค่ 4 คน ซึ่งพายุเข้าครั้งนี้ เมื่อเทียบกับพายุเกย์ในอดีตแม้จะรุนแรง แต่ความเสียหายไม่มาก เห็นได้จากโครงสร้างของอาคารก็ไม่ได้รับความเสียหาย


นพ.สุขุม กล่าวว่า ส่วนการซ่อมแซมจะใช้เงินบำรุงของ รพ.ก่อน ซึ่งคาดว่าไม่มาก แต่ละโรงน่าจะอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นบาท แต่ต้องรอประเมินสรุปอีกเพื่อจัดสรรงบและความช่วยเหลือให้เพียงพอ สำหรับสถานการณ์โดยทั่วไปถือว่า อากาศแจ่มใส ไม่มีฝนตก อยู่ในช่วงของการฟื้นฟู โดยจัดทีมแพทย์ 4 ทีม คือ ทีมแพทย์ ด้านการดูแลฉุกเฉิน ทีมแพทย์ควบคุมป้องกันโรคติดต่อ ทีมแพทย์ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม และทีมแพทย์ดูแลสุขภาพจิต ซึ่งผลการสำรวจและให้การดูแลสุขภาพจิตของผู้ประสบภัย ตอนนี้ยังไม่พบปัญหาทางสุขภาพจิต แต่อาจมีความเครียด วิตกกังวลบ้าง ซึ่งต้องมีการสำรวจ และติดตามต่อเนื่อง อย่างไรก้ตาม ไม่เพียงแค่ประชาชนเท่านั้นที่เราดูแล แต่จะดูแลไปถึงบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งหากเป็นบ้านพักบุคลากรในสถานพยาบาลก็มีงบจัดสรรลงไป แต่หากเป็นบ้านพักส่วนตัว ก็จะมีการระดมเงินบริจาคช่วยเหลือ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมมีการสรุปสถานการณ์ดังกล่าว โดยพบว่า จ.นครศรีธรรมราชได้รับผลกระทบมากที่สุด โรงพยาบาลได้รับผลกระทบ 4 แห่ง คือ 1.รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ลมพัดแรง เสาไฟฟ้าล้ม 4 ต้น ทำให้รถทั้งของเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการเสียหายรวม 12 คัน แต่มีการซ่อมแซมให้ไฟฟ้ากลับมาใช้ได้ปกติแล้ว แต่ยังรอติดตั้งเสาไฟฟ้าต้นใหม่ ส่วนกรณีที่เปิดเป็นศูนย์พักพิงให้ผู้ติดค้างกว่า 100 รายนั้น ตอนนี้เหลืออยู่ 23 ราย เป็นผู้ป่วยติดเตียง 3 ราย ยังกลับบ้านไม่ได้ เพราะไฟฟ้าที่บ้านดับ และยังไม่ได้ทำความสะอาด 2.รพ.ปากพนัง เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ลดแล้ว มีความเสียหายมที่อาคารซักฟอก โรงเก็บยา และแผนกยานพาหนะ 3.รพ.เฉลิมพระเกียรติ มีปัญหาฝ้าเพดานเสียหายแฟลตที่พัก และอาคารซักฟอก และ 4.รพ.ชะอวด พบว่าฝ้าถล่ม ส่วน รพ.สต.เสียหาย 5 แห่ง ส่วนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งจังหวัดไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่บ้านพักส่วนตัวเสียหาย 48 ราย


โดยวันที่ 8 ม.ค. 2562 นพ.สุขุม เตรียมหารือกับผู้บริหาร เพื่อระดมความช่วยเหลือจากการได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย




เผยแพร่: 7 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

59
บอร์ด สปสช. เห็นชอบงบกองทุนบัตรทองปี 63 จำนวน 1.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่จัดสรรปี 62 ถึง 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 1.82 แสนล้านบาท เฉลี่ย 3,784 บาทต่อหัว งบกองทุนย่อย 1.73 หมื่นล้านบาท เพิ่มสิทธิประโยชน์ 15 รายการ จ่อชง ครม.เห็นชอบเร็วๆ นี้


วันนี้ (7 ม.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีวาระพิจารณาร่างข้อเสนองบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2563 และกรอบภาระงบประมาณปี 2564 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบเรื่องดังกล่าวตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน สปสช. โดยเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินต่อไป


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2563 ในส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวได้เสนอจำนวน 182,658.48 ล้านบาท หรือ 3,784.57 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ ซึ่งมีทั้งหมด 48.26 ล้านคน ซึ่งขอเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ได้รับการจัดสรรจำนวน 166,445.22 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16,213.26 ล้านบาท หรือ 358.01 บาทต่อประชากร ปัจจัยการปรับเพิ่มงบประมาณมาจากต้นทุนบริการ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ ค่ายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตอบแทนบุคลากร ปริมาณการใช้บริการ สิทธิประโยชน์ใหม่ และการเพิ่มการเข้าถึงบริการแบบก้าวกระโดด ซึ่งเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรภาครัฐจำนวน 49,832.58 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณเข้าสู่กองทุนจำนวน 132,825.90 ล้านบาท


นพ.จเด็จ กล่าวว่า ส่วนงบประมาณนอกเหมาจ่ายรายหัว ปีงบประมาณ 2563 คณะอนุกรรมการฯ ได้นำเสนอรายละเอียดดังนี้ 1.งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,632.58 ล้านบาท 2. งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,537 ล้านบาท 3.งบบริการบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรงเรื้อรัง (เบาหวานและจิตเวชเรื้อรังในชุมชน จำนวน 1,291.66 ล้านบาท 4.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.28 ล้านบาท 5.งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,025.55 ล้านบาท และ 6.งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 284.18 ล้านบาท เมื่อรวมรายการงบนอกเหมาจ่ายรายหัวแล้ว คิดเป็นงบประมาณจำนวน 17,261.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 2,122.41 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต้นทุนการบริการ ปริมาณการใช้บริการ ขอบเขตบริการและนโยบายที่เพิ่มขึ้น



"ปี 2563 นี้ยังได้เพิ่มเติมงบประมาณเพื่อชดเชยวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) เพื่อแก้ไขปัญหาการะบาดในภาคใต้ ปีงบประมาณ 2561-2562 จำนวน 45.02 ล้านบาท เมื่อรวมกับข้อเสนองบประมาณทั้ง 3 ส่วนนี้ รวมเป็นงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสิ้น จำนวน 199,964.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ได้รับจัดสรร จำนวน 181,584.09 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18,380.68 ล้านบท หลังหักเงินเดือนบุคลากรภาครัฐเป็นงบเข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 150,132.19 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15,863.07 ล้านบาท" นพ.จเด็จ กล่าว


นพ.จเด็จ กล่าวว่า ข้อเสนองบประมาณเพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน ซึ่งมี 15 สิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2563 นี้ ได้แก่ 1.บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยากันชัก Carbamazepine ป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง สตีเวนส์ จอห์นสัน 2.ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70 ปี 3.บริการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัย และบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ 4.เพิ่มสิทธิประโยชน์เข้าถึงยาราคาแพง บัญชียา จ.(2) ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ เส้นประสาทที่เกิดจากการทำลายปลอกมัยอิลินชนิดเรื้อรัง และผู้ป่วยเอดส์ที่ดื้อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน 5.นำร่องบริการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์


6.บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน (Intermediate care) ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน บาดเจ็บทางสมองและบาดเจ็บที่เส้นประสาทไขสันหลัง 7.เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพโดยหมอครอบครัว 8.บริหารจัดการ่วมระหว่างหน่วยบริการ อปท. ชุมชนและครอบครัวเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงทุกลุ่มอายุ และกลุ่มสิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม 9.ติดตามค่าน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจในผู้ป่วยโรคเบาหวานในเด็กทุกราย 10.นำร่องการล้างไตผ่านเครื่องอัตโนมัติในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 11.นำร่องป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยวิธี Pre-Exposure Prophylaxis (PrEP) ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี 12.เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทยมากขึ้น 13.การเพิ่มโอกาสได้รับการส่งต่อเพื่อรับการรักษาโรคอย่างต่อเนื่องในประชาชนชาว กทม. 14.การขยายสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ และ 15.เพิ่มการให้วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงเด็กอายุ 2-18 เดือน


นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ บอร์ด สปสช.ยังรับทราบการจัดทำกรอบงบประมาณกองทุนฯ ปี 2564 โดยได้นำเสนอกรอบงบประมาณจำนวน 210,868.52 ล้านบาท แยกเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 192,813.79 ล้านบาท หรือ 3,975.87 บาทต่อประชากร และงบค่าบริการอื่นนอกงบเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 18,054.73 ล้านบาท ซึ่งจะมีการนำเสนอต่อ ครม. รับทราบพร้อมข้อเสนองบประมาณปี 2563 ต่อไป



เผยแพร่: 7 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

60
กลืนไม่ลง!! หมดยุค “ข้อมูลสุขภาพ” ชุดเดียวใช้ทั้งประเทศ กรมอนามัยลุยทำ “การตลาด” เจาะทุกกลุ่มวัย เล็งหารือ “กูเกิล” ช่วยติดอันดับค้นหา


กรมอนามัยลุยใช้ “การตลาด” สร้างสื่อรณรงค์-ข้อมูลสุขภาพแนวใหม่ ตรงใจคนแต่ละกลุ่ม หวังชักจูงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพคนไทยได้ดีขึ้น รับแต่ละคนสนใจต่างกัน ไลฟ์สไตล์ต่างกัน ใช้ข้อมูลชุดเดียวสื่อสารคนทั้งประเทศไม่ได้ เร่งทำคลังข้อมูลสุขภาพบนเว็บไซต์ คิดประสานกูเกิลช่วยติดอันดับการค้นหาเรื่องสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึง ลดปัญหาแชร์ข้อมูลสุขภาพแบบผิดๆ


พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนไทย ว่า ขณะนี้กรมฯ กำลังหันมาใช้หลักการตลาดเข้ามาช่วยเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ หรือ นำความรู้สุขภาพต่างๆ ไปใช้ เพราะต้องยอมรับว่า แต่ละคนมีความชอบ ความสนใจ และจริตที่แตกต่างกันออกไป จะใช้ข้อมูลความรู้สุขภาพหรือสื่อรณรงค์เพียงชุดเดียวที่มีความเป็นแมส (Mass) มากๆ แล้วเอาไปใช้สื่อสารกับคนทุกกลุ่มวัยอีกต่อไปคงไม่ได้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะกลืนหรือรับข้อมูลทั้งหมดเข้าไปได้ เพราะเมื่อคำแนะนำที่ให้เป็นการฝืนไลฟ์สไตล์เขาก็จะไม่สนใจหรือไม่ทำ ดังนั้น จะต้องใช้หลักการตลาดแบ่งกลุ่มคนออกมาและทำสื่อรณรงค์หรือชุดความรู้ที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มบุคคลต่างๆ เหล่านี้ให้ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เหมือนกับสินค้าที่วางขาย ยังต้องทำออกมาหลากหลายให้คนเลือกตามความสนใจ ความรู้ทางสุขภาพหรือสื่อรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็เช่นกัน ควรจะต้องมีความหลากหลายให้เหมาะกับคนหลายๆ กลุ่มในสังคมหรือเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเขาเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้


พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การจะสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมายนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายก่อน เหมือนอย่างบริษัทต่างๆ ที่ทำการตลาดก็ต้องเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน ถึงจะทำสินค้าออกมาตรงกับความต้องการและทำให้คนหันมาซื้อสินค้าได้ ความรู้ทางสุขภาพก็เช่นกัน จำเป็นที่จะต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ก่อนว่า กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มนั้นสนใจเรื่องอะไร พูดคุยเรื่องอะไร เพื่อที่จะได้ทำข้อความส่งไปได้ตรงมากขึ้น เช่น สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กเล่มสีชมพู ซึ่งมีความรู้ทั้งหมดอยู่ในนั้น แต่ก็ต้องมาเปิดหาเรื่องที่สนใจเอง พอถึงเวลาก็ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ เราก็กำลังทำเป็นแอปพลิเคชัน ที่มีระบบประมวล ว่า แม่นั้นสนใจค้นหาเรื่องอะไร หรือพูดคุยเรื่องอะไร ก็จะได้ทำข้อมูลสื่อสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้โดยเฉพาะเลย แต่ถามว่าคนอื่นอ่านได้หรือไม่ ก็สามารถอ่านได้ เรียกว่าต้องทำสื่อรณรงค์ให้จับใจผู้รับสาร และหวังว่าเมื่อจับใจเขาแล้วเขาก็จะไปเปลี่ยนตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะต้องประสานทางอาจาย์มหาวิทยาลัยที่สอนด้านการตลาดในการช่วยเรื่องเหล่านี้ด้วย



พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ส่วนการสื่อสารออกไปให้คนรับรู้ก็จะมีหลายช่องทาง อย่างแรกคือ ทำคลังข้อมูลของตัวเอง คือ เว็บไซต์กรมอนามัยที่จะเป็นคลังความรู้สุขภาพทั้งหมด และมีการจัดทำออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาค้นหาได้ตามความชอบ และอาจต้องประสานงานกับเสิร์ชเอนจินอย่าง “กูเกิล” เพื่อให้เวลาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพแล้ว ข้อมูลของกรมอนามัยควรจะติดอันดับอยู่ในหน้าแรกของการค้นหา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ เป็นแหล่งอ้างอิงได้ ซึ่งตรงนี้จะต้องมีการลงทุน นอกจากนี้ อาจต้องใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มคนต่างๆ มากขึ้น ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราทำองค์ความรู้เช่นนี้ ก็จะช่วยลดปัญหาการถูกหลอกลวงหรือข้อมูลสุขภาพผิดๆ ที่แชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ได้ด้วย



เผยแพร่:  4 ม.ค. 2562    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 20