แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - patchanok3166

หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 20
181
น้ำถือได้ว่าเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย เพราะในร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 70% หรือ 4/5 ของน้ำหนักตัว ดังนั้น น้ำจึงเป็นปัจจัยหลักสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่หลายคนก็ยังมีข้อสงสัยอยู่เหมือนกันว่า แล้วการดื่ม “น้ำอุ่น” หรือ “น้ำเย็น” แบบไหนดีกว่ากัน?


จริงๆ แล้ว น้ำอุ่น และ น้ำเย็น ล้วนแล้วแต่ก็มีประโยชน์แตกต่างกันไป

ประโยชน์ของ “น้ำอุ่น” มีดังนี้

1.มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายใน

2.เพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวหนัง และซ่อมแซมเซลล์ผิวพรรณ

3.บรรเทาอาการท้องผูก โดยการดื่มน้ำอุ่นเป็นประจำจะช่วยควบคุมการเคลื่อนตัวของลำไส้ได้ดี

4.ช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ ออกไปจากร่างกายทั้งจากทางเหงื่อ และการขับถ่าย

5.ช่วยขจัดน้ำหนักส่วนเกิน ช่วยให้ปริมาณไขมันในร่างกายลดลงได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญอาหาร ทำให้ร่างกายเผาผลาญแคลอรีได้มากขึ้นด้วย

6.มีส่วนช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย

7.เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต

8.บรรเทาอาการคอแห้ง

9.ช่วยลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อได้ เช่น การดื่มน้ำอุ่นช่วยลดอาการปวดประจำเดือน เพราะน้ำอุ่นจะช่วยคลายกล้ามเนื้อมดลูกที่กำลังหดตัว บรรเทาอาการเกร็งและกระตุกตัวของมดลูกได้ดีนั่นเอง

เวลาที่ดีในการดื่มน้ำอุ่น

•เวลา 05.00-07.00 น. ให้ดื่มน้ำอุ่น 2 แก้ว เพื่อกระตุ้นการขับถ่าย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลำไส้ใหญ่เคลื่อนตัว พร้อมสำหรับขับของเสีย สิ่งที่ควรทำคือ ควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร

•เวลา 07.00-09.00 น. ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว เนื่องจากเวลานี้กระเพาะอาหารจะทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหาร สิ่งที่ควรทำคือ รับประทานอาหารเช้าที่ย่อยและดูดซึมง่าย

•เวลา 11.00-13.00 น. ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว เพื่อให้หัวใจสูบฉีดเลือดไหลเวียนทั่วร่างกาย เพราะเวลานี้เป็นช่วงที่จะทำงานหนักเป็นพิเศษ สิ่งที่ควรทำคือ รับประทานอาหารเที่ยง และหลีกเลี่ยงความเครียด

•เวลา 15.00-17.00 น. ดื่มน้ำอุ่นอย่างน้อย 2 แก้ว เป็นช่วงเวลาที่ดีในการระบายความร้อนออกจากร่างกาย สิ่งที่ควรทำคือ ออกกำลังกายให้เหงื่อออก โดยเฉพาะเวลา 17.00 น.จะเป็นเวลาที่ดีที่สุด

•เวลา 17.00-19.00 น. ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว เนื่องจากไตจะเก็บสะสมพลังงานเป็นทุนสำรองของร่างกาย สิ่งที่ควรทำคือ รับประทานอาหารเย็น ทำจิตใจให้สดชื่น

• เวลา 21.00-23.00 น. ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว เพราะพลังงานในร่างกายเชื่อมถึงกัน เป็นเวลาที่เกิดการพักฟื้น สิ่งที่ควรทำคือ ทำร่างกายให้อบอุ่น ไม่อาบน้ำเย็น




ประโยชน์ของการดื่มน้ำเย็น


หากต้องทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย โดยการปั่นจักรยาน วิ่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้น การดื่มน้ำเย็นจะช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกายได้ดีกว่าการดื่มน้ำอุ่น อีกทั้งการดื่มน้ำเย็นจะช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกายให้ทำกิจกรรมนั้นๆ ได้นานขึ้นโดยไม่รู้สึกเหนื่อย



ข้อแนะนำในการดื่ม น้ำอุ่น และ น้ำเย็น

- หลังจากรับประทานอาหาร ควรดื่มน้ำอุ่นทุกครั้ง เพราะหากคุณดื่มน้ำเย็น ร่างกายจะใช้พลังงานมากขึ้นเพื่อเพิ่มอุณหภูมิ ทำให้ประสิทธิภาพการย่อยอาหารลดลง

- หลังการออกกำลังกาย ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอุ่น เพราะในขณะนั้นร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงมากอยู่แล้ว ให้ดื่มน้ำเย็นแทน เพราะจะสามารถช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายและช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ได้



ปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสม


สำหรับผู้ที่อายุ 4-8 ปี 5 แก้วต่อวัน (ประมาณ 1,200 มิลลิลิตร)
สำหรับผู้ที่อายุ 9-13 ปี 7-8 แก้วต่อวัน (ประมาณ 1,600-1,900 มิลลิลิตร)
สำหรับผู้ที่อายุ 14-18 ปี 8-11 แก้วต่อวัน (ประมาณ 1,900-2,600 มิลลิลิตร)
สำหรับผู้หญิงที่อายุ 19 ปีขึ้นไป 9 แก้วต่อวัน (ประมาณ 2,100 มิลลิลิตร)
สำหรับผู้ชายที่อายุ 19 ปีขึ้นไป 13 แก้วต่อวัน (ประมาณ 3,000 มิลลิลิตร)



เผยแพร่: 13 ก.ค. 2561 18:58  โดย: MGR Online

182
ยามเมื่อได้ไปใช้บริการในสระว่ายน้ำตามที่ต่างๆ นั้น แน่นอนว่านอกจากที่จะได้ใช้ประโยชน์สถานที่แห่งนี้แล้ว หลายๆ คนก็น่าจะได้ความเพลิดเพลินจากสระว่ายน้ำได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่หากเกิดเผลอไปดื่มน้ำในสระน้ำแล้วจะเกิดอะไรต่อร่างกายหรือไม่ ทางแฟนบุ๊กเพจ “ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว” ก็ได้อธิบายถึงปัญหาดังกล่าว ดังนี้


จากปัญหาที่ว่า เราควรที่จะดื่มน้ำจากสระว่ายน้ำได้หรือไม่ คำตอบที่ได้คือ ไม่ควรดื่ม โดยมี 2 เหตุผล คือ

1.เชื้อบางชนิดทนคลอรีน

โดยเชื้อ Cryptosporidium เป็นปรสิตที่มีเปลือกอันแข็งแกร่ง มีความสามารถทนทานต่อคลอรีนในสระน้ำได้หลายวัน หากมีคนที่มีอาการท้องเสียแล้วล้างก้นไม่สะอาด หรือล้างก้นแล้วไม่ฟอกสบู่ และไปลงสระน้ำ เชื้อโรคก็จะลอยละล่องเข้าสู่ปากของคนอื่นได้ แล้วเชื้อดังกล่าวนี้ก็เป็นเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียระบาดในสระว่ายน้ำที่พบบ่อยในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

2.คลอรีนในสระน้ำบางแห่งไม่เพียงพอ

แม้ว่าในสระว่ายน้ำบางแห่งจะมีใส่สารคลอรีนลงไป แต่เนื่องด้วยสารในบางทีนั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อแต่ละจุด แล้วพอเกิดเหตุดังกล่าวก็ส่งผลต่อให้เกิดการท้องเสียได้ โดยเฉพาะสาร Norovirus E Coli Shigella ที่ส่งผลต่อร่างกายพอสมควร อาจจะเกิดอาการดังกล่าวได้

สำหรับข้อแนะนำในการใช้สระน้ำ คือ ต้องมีความระมัดระวังไม่ให้ตัวเองกลืนน้ำลงไป และหลังจากใช้สระว่ายน้ำเรียบร้อยแล้ว ควรอาบน้ำและทำความสะอาดร่างกายด้วย





เผยแพร่: 19 ก.ค. 2561 12:27  โดย: MGR Online

183
นายกสมาคมโรคตับฯ เผย มีคนไทยอีก 1 ล้านคน ป่วย “ไวรัสตับอักเสบ” ไม่รู้ตัว อยู่นอกระบบการรักษา สธ.เร่งค้นหา จัดบริการตรวจหาเชื้อไวรัสฯ ฟรี 83 รพ.ทั่วประเทศ วันที่ 31 ก.ค.- 3 ส.ค. นี้ ด้าน สปสช.บรรจุยาใหม่เพิ่ม 2 สูตร เอ็นจีโอร้องเงื่อนไขใช้ยาใหม่มีปัญหา


วันนี้ (23 ก.ค.) นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” ว่า โรคไวรัสตับอักเสบ เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ โดยไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในไทย คือ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งคาดว่า ในไทยจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านราย ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง 3-7 แสนราย สำหรับสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก ประจำปี 2561 คำขวัญ คือ “ตรวจเร็ว รักษาได้ ห่างไกลมะเร็งตับ” ขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีได้ฟรี ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-3 ส.ค. 2561 ที่โรงพยาบาลสังกัด สธ.ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 83 แห่ง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5-8 และไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 1-2 พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยยังมีผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่อยู่นอกระบบอีกกว่า 1 ล้านคน เพราะไม่แสดงอาการ ทำให้ไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการคาดการณ์ตัวเลข จากการที่ตนทำงานด้านนี้ในพื้นที่ทางภาคอีสานมาประมาณ 10 ปี ซึ่งพบว่า คนอีสานเดินมา 10 คน จะพบ 1 คน มีเชื้อไวรัสตับอักเสบไม่กลุ่มซีก็บี ซึ่งเมื่อมีการคาดการณ์กับตัวเลขของแต่ละภาค ทำให้เชื่อว่าในภาพรวมทั้งประเทศจะมีคนที่ไม่รู้ตัวเองว่าติดเชื้ออีกประมาณ 1 ล้านคน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดนโยบายให้ทุกประเทศร่วมมือกันกำจัดไวรัสให้หมดไปในปี 2573 จึงจำเป็นต้องจัดระบบตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งตับได้ โดยมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย อันดับ 3 ในเพศหญิง แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมะเร็งตับมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ทั้งหญิงและชาย

รศ.พญ.วัฒนา กล่าวว่า หลายคนไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นที่ต้องคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง ซึ่งประกอบด้วย 1.คนที่ติดเชื้ออยู่แล้ว ที่มีญาติหรือคนในครอบครัวที่ใกล้ชิด สามารถบอกเขาให้มาตรวจเชื้อได้ 2.กลุ่มที่ได้รับเลือด ซึ่งมาจากการรับบริการก่อนปี 2535 เนื่องจากสภากาชาดไทยมีการจัดระบบการตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นไป 3.กลุ่มที่มีการสัก เจาะที่อาจมีการปนเปื้อนเลือดก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง 4.กลุ่มผู้ที่ใช้สารเสพติด คนที่อยู่ในคุก และ 5.กลุ่มที่มีประวัติครอบครัวป่วยโรคมะเร็งตับ หรือตับอักเสบหรือมีภาวะตัวเหลือง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ไปตรวจสุขภาพแล้วพบตับอักเสบ ต้องรีบรักษา ส่วนคนตั้งครรภ์ก็ต้องตรวจด้วยเช่นกัน เมื่อทราบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง จะได้เข้าสู่ขบวนการรักษา ซึ่งรัฐบาลให้การรักษาฟรีทุกกองทุน หากทุกคนตระหนักและคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ถ้าติดเชื้อก็เข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็สามารถจะเดินไปถึงการกำจัดไวรัสตับอักเสบให้สิ้นซากได้ในอีก 12 ปีข้างหน้า

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 สปสช. ได้กำหนดสิทธิประโยชน์และดำเนินการจัดหายาเพิ่มเติม สำหรับให้บริการผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นอีก 2 สูตร คือ 1.ยาเม็ดรับประทานโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) 400 มิลลิกรัม เพื่อใช้ร่วมกับยาฉีดเพกอินเตอเฟอรอน (Peginterferon) และยาเม็ดรับประทานไรบาวิริน (Ribavirin) สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์ที่ 3 และ 2.ยาเม็ดสูตรผสมโซฟอสบูเวียร์ 400 มก. และเลดิพาสเวียร์ (Ledipasvir) 90 มก. สำหรับการรักษาการติดเชื้อตับอักเสบซีเรื้อรังสายพันธุ์อื่นทั้งที่มีหรือไม่มีภาวะตับแข็งร่วมด้วย

“สูตรยาที่เพิ่มมานี้ จะสามารถลดระยะเวลาในการรักษาลง จาก 24 สัปดาห์ เป็น 12 สัปดาห์ และมีประสิทธิผลการรักษาที่ดีขึ้นกว่าการใช้ยาฉีดเพกอินเตอเฟอรอน และยาไรบาวิริน สูตรเดิมอย่างเดียว ทั้งนี้ สปสช. ได้ร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการจัดหาและกระจายให้กับหน่วยบริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นมา คิดเป็นมูลค่ายาเม็ดทั้งสิ้น 66,360,000 บาท ซึ่งเป็นการจัดหายาระดับประเทศ ทำให้มีอำนาจในการต่อรองและได้ยาในราคาที่ถูกลงกว่ากระจายให้หน่วยบริการจัดหาเอง” ภก.คณิตศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงาน นายวัชรศักดิ์ วิจิตรจันทร์ เจ้าหน้าที่แผนและนโยบาย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอให้มีการปรับเกณฑ์การใช้ยาของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ พร้อมกล่าวว่า ปัจจุบันยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีในระบบหลักประกันสุขภาพมีตัวยาโซฟอสบูเวียและเลดิพาสเวียร์ สำหรับรักษาในจีโนไทป์ที่ 1, 2, 4, 5, 6 และเพกอินเตอเฟอรอน โซฟอสบูเวียร์ ไรบาวิริน สำหรับรักษาจีโนไทป์ที่ 3 แต่ทั้งหมดนี้ได้บรรจุในบัญชียา จ (2) ที่มีเงี่อนไขและแนวทางกำกับที่ชัดเจน โดยเฉพาะการระบุว่า รพ.ที่จะทำการวินิจฉัยโรคต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีใบรับรองหรือมีประสบการณ์ด้านทางเดินอาหารไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งในความเป็นจริง รพ. ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ รพ.ในท้องถิ่นทีจำนวนแพทย์ดังกล่าวไม่เพียงพอ หากผู้ป่วยต้องการตรวจวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบซีในแต่ละครั้ง ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในระบบการรักษา เนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายและการเดินทาง

รศ.พญ.วัฒนา กล่าวว่า เรื่องนี้ทั้งฝ่ายวิชาการและทางภาครัฐก็ทราบเรื่องดี ซึ่งกำลังเตรียมนำยาที่สามารถรักษาได้ทุกสายพันธุ์เข้ามา ซึ่งอยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) และกำลังหาข้อมูลทางวิชาการมารองรับในเรื่องการตรวจคัดกรองที่ลดราคาลง แต่สามารถตรวจได้ไม่แพ้ของเดิม ทั้งนี้ ไม่ได้นิ่งนอนใจ อยู่ระหว่างดำเนินการ





เผยแพร่: 23 ก.ค. 2561 โดย: MGR Online

184
วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ร่วมกับสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต จัดการเสวนาวิชาการ เรื่อง “การนำใช้กัญชาทางการแพทย์ตามหลักวิชาการและกฎหมาย” วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2561 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ศาลากวนอิม สถาบันจีน-ไทย แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต



โดยมีวิทยากรและหัวข้อบรรยายดังนี้


1. “การใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อการรักษาโรคตามหลักฐานเชิงประจักษ์”
โดย นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต


2. “การศึกษาวิจัยเพื่อนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ในต่างประเทศ”
โดย ดร.ภก.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ประธานบริหาร สำนักงานปราบปรามยาเสพติด ประจำกรุงเวียนนา


3. “การขออนุญาตนำกัญชาของกลางมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์”
โดย พ.ต.อ. รุ่งโรจน์ อำมาตย์โยธิน ผู้กำกับการฝ่ายกฎหมายและวินัยกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด


4. “การพัฒนาเภสัชภัณฑ์จากสารสกัดกัญชาที่มีประสิทธิผลและความปลอดภัย”
โดย รศ.ดร.ภญ. นริศา คำแก่น ผู้อำนวยการฝ่ายเภสัชกรรมสมุนไพร
และ ผศ.ดร.ภก. ธนภัทร ทรงศักดิ์ คณบดีวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต


ดำเนินรายการโดย อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต


ผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนาสามารถลงทะเบียนได้ที่ link : https://goo.gl/forms/dIiDZDI7R2w3fvpm1 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (รับจำนวนจำกัด)




เผยแพร่: 23 ก.ค. 2561   โดย: MGR Online

185
“ขนมปังที่เพิ่งจะซื้อมา ขึ้นราเสียแล้ว” เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่อากาศทั้งร้อน ทั้งชื้น ถ้าเห็นก่อนว่าขนมชิ้นนั้นมันขึ้นรา แล้วก็ทิ้งมันไปก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้ากินเข้าไปจนจะหมดแล้ว ค่อยมาเห็นทีหลังนี่สิ เอามาเพ่งดู ยิ่งเพ่งก็ยิ่งเห็นชัด ว่ามันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากเชื้อราอย่างเดียวเท่านั้น แล้วที่นี่จะทำอย่างไร


Omar Oyarzabal ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารของมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ แนะนำว่า เราต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมปัง และอาหาร ที่มีลักษณะเหมือนมีเชื้อราติดอยู่ แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคของอาหารที่ต่างก็ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อมาสารพัด แตก็ยังมีโอกาสที่เราจะพบเชื้อราในอาหารได้ หากสังเกตเห็นว่าขนมปัง มีจุดเล็กๆ ที่อาจจะเป็นเชื้อรา ให้ทิ้งมันไปทั้งชิ้นเลย


เพราะเชื้อรานั้น จะมีลักษณะเป็นเส้นๆ เหมือนเส้นผมที่เล็ก และบางมาก มันมีราก และแผ่ขยายออกไปแม้ในพื้นผิวที่เรามองไม่เห็น ดังนั้น หากพบเชื่อราเพียงจุดเล็กๆ 1 จุด บนชิ้นขนมปัง ก็ให้โยนมันทิ้งไปให้หมดทั้งก้อน และการจะหลีกเลี่ยงการกินเชื้อรา ก็ทำได้วิธีเดียวคือ สังเกตอย่างรอบคอบ


แต่หากเราเผลอกินอาหารที่มีเชื้อราเข้าไปเรียบร้อยแล้ว จะทำอย่างไรต่อดี?


เชื้อราบนขนมปัง นิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นอันตรายมากนัก บางคนกังวลมากว่า เชื้อราเป็นสารพิษ และยังก่อให้เกิดอาการแพ้ แต่เชื่อหรือไม่ เชื้อราธรรมดาๆ ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า เพนิซิลเลี่ยม ที่เป็นราเขียวๆ บนขนมปัง เรานำมาใช้ทำยาปฏิชีวนะที่ชื่อว่า “เพนิซิลิน” แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้เชื้อรา แล้วบังเอิญกินเข้าไป อาจเป็นอันตรายได้ อาการแพ้อาจรุนแรงถึงขั้นความดันตก หายใจลำบาก ไปจนถึงหัวใจล้มเหลวเลยทีเดียว

แต่ถ้าหากไม่แพ้ และเผลอกินเชื้อราเข้าไป ก็ไม่ต้องตื่นตกใจ เพราะเชื้อราจะทำอันตรายต่อร่างกายเราได้ ในกรณีที่กินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเท่านั้น

 

เราจะหลีกเลี่ยงเชื้อราได้อย่างไรบ้าง?

1. การหมั่นสังเกต อาหารที่จะซื้อ และก่อนที่จะรับประทานเข้าไป การดม ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเชื้อราไม่มีกลิ่น และลองสังเกตตัวเอง ว่ามีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น คัดจมูก คัน น้ำตาไหล น้ำมูกไหล คันปาก คันจมูก จากการทานอาหารบ้างหรือไม่


2.  ควรรักษาความสะอาดภายในบ้านให้ดี เพราะนั่นเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำเพี่อป้องกันเชื้อรา นอกจากนี้เชื้อราสามารถเติบโต และแพร่สปอร์ออกไปตามพื้นผิวต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ดังนั้นตามตู้เย็น ผ้าเช็ดจาน ภาชนะใส่อาหาร หรือแม้กระทั่งเคาท์เตอร์ในครัว ก็อาจจะมีสปอร์ของเชื้อราเกาะอยู่ได้ จึงควรทำความสะอาดบ่อย ๆ


3. เชื้อราเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้น หากเป็นไปได้ ควรควบคุมระดับความชื้นภายในบ้าน ไม่ให้เกิน 40%


4. ควรทำความสะอาดภายในตู้เย็นบ่อยๆ อย่างน้อยเดือนหรือสองเดือนครั้ง ด้วยการนำเบกกิ้งโซดา มาละลายน้ำ แล้วเช็ดทำความสะอาด และจุดไหน ที่น่าสงสัยว่าจะมีเชื้อรา ก็ให้นำน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำ มาขัดออก ส่วนผ้าเช็ดจาน หากเริ่มมีกลิ่น ก็ให้นำไปทิ้งเสียดีกว่าจะซักมาใช้อีก เพราะนั่นอาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อราแพร่กระจายในบ้านต่อไป




ขอขอบคุณ
21 ก.ค.61  ข้อมูล :rodalesorganiclife.com

186
วันนี้ (23 ก.ค.) รศ.ดร.จิรดา สิงขรรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การออกประกาศห้ามใช้ “ไขมันทรานส์” ในการห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่าย ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารไทย จึงต้องปรับตัว โดย มธ.มีข้อแนะนำใน 4 ขั้นตอน เพื่อลดต้นทุนในการกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร คือ 1. เลือกใช้น้ำมันที่สกัดจาก “ปาล์ม” หรือ “มะพร้าว” แทน เพราะมีคุณสมบัติยืดอายุอาหารคล้ายไขมันทรานส์ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน และต้นทุนต่ำ 2. ผสมน้ำมันเมล็ดปาล์มกับน้ำมันอื่นๆ เพื่อปรับลักษณะให้ใกล้เคียงกับไขมันทรานส์ คือจุดหลอมเหลวสูง เสถียรต่อการเกิดออกซิเดชันสูง อ่อนตัวได้เร็ว สัดส่วนไขมันที่เป็นของแข็ง และการทำสมบัติต่อการอบขนมที่ดี 3. เปลี่ยนแปลงผ่านเทคนิคทางเคมี ได้แก่ เปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยา มิให้เกิดไขมันทรานส์ในกระบวนการผลิต การเติมสารสร้างความเป็นเจลให้กับน้ำมัน เป็นต้น และ 4. การปรับเปลี่ยนพันธุกรรม สำหรับน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน



ผศ.ดร.บุศราภา ลีละวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มธ. และผู้อำนวยการโครงการผลิตและจำหน่ายขนมอบ ภายใต้แบรนด์ Bake@Dome กล่าวว่า กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Bake@Dome ได้คัดเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดี การเลือกใช้น้ำมันหรือไขมันทุกชนิดในสูตร จะเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับล่าสุดกำหนด ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีผู้ผลิตมาการีน หรือเนยขาว ที่ปราศจากไขมันทรานส์ออกมาจำหน่ายหลากหลายบริษัทด้วยกัน ควรเลือกใช้มาการีนที่มีจุดหลอมเหลวสูง ทนต่อการรีดหรือพับในกระบวนการผลิต และมีปริมาณไขมันทรานส์ที่ฉลากโภชนาการเป็น “ศูนย์” จะทำให้ได้ชั้นแป้งที่เกิดจากแผ่นแป้งหลายชั้นซ้อนกันจากเนยที่แทรกอยู่เป็นชั้นภายในแป้ง พายชั้นที่ได้มีความกรอบเบา และมีรสชาติอร่อย นอกจากนี้ ยังเลือกใช้เนยสดซึ่งเป็นไขมันธรรมชาติจากน้ำนมวัวเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ประเภทเค้ก คุกกี้ ขนมปัง เช่น เค้กคัสตาร์ต มัฟฟินลูกเกด พายหมูหยอง ขนมปังเนยสด คุ้กกี้เนยสด ฯลฯ มานานแล้ว โดยที่ไม่ได้ผสมไขมันประเภทมาการีนหรือเนยขาวที่เป็นแหล่งของไขมันทรานส์เลย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของทางร้านมีกลิ่นรส และรสชาติที่อร่อยเป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค




ผยแพร่: 23 ก.ค. 2561   โดย: MGR Online

187
สธ.เตรียมจัดงานครบรอบ 100 ปี วันที่ 18-20 ก.ค. ลั่นศตวรรษหน้าลุยระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ไม่ใช่รอป่วยแล้วไปหาหมอ ต้องสร้างเสริมสุขภาพดีตั้งแต่ต้น


วันนี้ (2 ก.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การสาธารณสุขได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2461 ซึ่งในปี 2561 ก็ถือว่าครบรอบ 100 ปีการสาธารณสุขไทย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ระบบสาธารณสุขมีความเจริญก้าวหน้ามาก ผ่านมาทั้งวิกฤตและโอกาส จนทำให้ประเทศไทยที่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ไม่ร่ำรวย แต่ก็มีระบบการสาธารณสุขที่เป็นตัวอย่างให้กับนานาชาติได้หลายๆ เรื่อง และสามารถสร้างสุขภาวะให้แก่ประชาชนได้ดีที่สุดเท่าที่จะมีโอกาส และทิศทางอนาคตต่อจากนี้ จะเน้นเรื่องการระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ไม่ใช่รอป่วยแล้วไปหาหมอเพื่อรักษาอย่างเดียว แต่เราจะต้องเน้นเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีตั้งแต่ต้น มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ดูแลคนไทยในจำนวนที่เหมาะสม เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องรักษาก็สามารถให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ค่ารักษาที่เหมาะสม


นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.จะมีการจัดงานครบรอบ 100 ปี การสาธารณสุขไทย ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ อิมแพคเมืองทองธานี ในวันที่ 18-20 ก.ค.นี้ โดยในวันที่ 18 ก.ค.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสุขภาพคนไทย” พร้อมกันนี้ ภายในงานยังจะมีการจัดแสดงนิทรรศการด้านการสาธารณสุขให้ชมอีกด้วย


ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่อง 100 ปี ก็ต้องนึกถึงการแพทย์โบราณ ยาสมุนไพร ภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นทางกรมจึงได้จัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 15 ขึ้นในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย ภายใต้หัวข้อ “โลกมั่นใจ สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย” ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นเรื่องสำคัญ ที่มีบทบาทใยการดูแลสุขภาพของคนไทยมายาวนาน อย่างไรก็ตาม ท่านนายกฯ เองบอกว่านอกจากเอาสมุนไพรไทยมาช่วยส่งเสริมสุขภาพของคนไทยแล้วก็น่าจะต่อยอดในทางเศรษฐกิจได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสมุนไพรไทยถือว่าได้รับความนิยมมาก นำรายได้เข้าประเทศกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี เช่น เครื่องสำอาง มีมูลค่า 192,600 ล้านบาท อาหารเสริม 51,848 ล้านบาท และยาสมุนไพร 7,548 ล้านบาท หรืออย่างลูกประคบก็ได้รับความนิยมมีการจำหน่ายปีละกว่า 1 แสนลูก ดังนั้น ขอเชิญชวนประชาชนไปเที่ยวชมได้






เผยแพร่: 2 ก.ค. 2561   โดย: MGR Online

188
จักษุแพทย์ มธ. มั่นใจ “ดวงตา” ของ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงปลอดภัย ชี้ จอประสาทตาใช้เวลา 5-10 นาที ปรับการทำงานเป็นปกติหลังออกจากถ้ำ ไม่เกิดอันตรายถาวร แนะค่อยๆ ให้เจอแสงด้วยแว่นกันแดด เหตุเซลล์รับแสงทำงานหนักขณะอยู่ที่มืด เมื่อเจอแสงจึงรู้สึกจ้ากว่าปกติ


จากกรณีทีมปฏิบัติการสามารถค้นหาทีมหมูป่า 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย พบแล้ว โดยอยู่เลยจากพัทยาบีชประมาณ 400 เมตร ซึ่งทั้งหมดปลอดภัยดี แต่มีอาการอ่อนเพลีย โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อพาตัวทั้งหมดออกมา อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมมีความเป็นห่วงถึงดวงตาของทั้ง 13 คน อาจเกิดอันตราย หลังออกจากถ้ำ เพระาอยู่ในที่มืดมานานถึง 10 วัน


วันนี้ (3 ก.ค.) รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ก่อนอื่นตนขอร่วมแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนและผู้คนอีกกว่าครึ่งโลก ที่ส่งกำลังใจให้ทีมกู้ภัยฯสามารถช่วยเหลือน้องๆ นักฟุตบอลออกมาจากถ้ำหลวงได้สำเร็จ ส่วนประเด็นที่ผู้คนให้ความเป็นห่วง หนึ่งในนั้นคือ การที่เด็กๆ ติดอยู่ในถ้ำที่มืดสนิทนานเกือบ 10 วัน จะเกิดอันตรายกับดวงตาหรือไม่นั้น เท่าที่ประเมินจากคลิปที่เผยแพร่ออกมาขณะพบตัวทั้ง 13 คน คาดว่า ไม่น่ามีปัญหาด้านดวงตา ส่วนการออกจากที่มืดมาสู่แสงสว่างนั้น ก็ไม่ได้น่ากังวลอย่างที่คิด เนื่องจากสามารถจอประสาทตาจะปรับให้รับแสงสว่างได้ แม้จะอยู่ในที่มืดมาเป็นระยะเวลานานก็ตาม ยืนยันว่า จะไม่เกิดอันตรายถาวร ซึ่งต่างจากคนที่จ้องดวงอาทิตย์ตรงๆ แบบนี้จะทำให้จอประสาทตาเสียหายได้


“ในจอประสาทตาคนเรามีเซลล์รับแสง 2 ชนิด คือ เซลล์ชนิดแท่งสำหรับรับแสง และเซลล์ชนิดโคนสำหรับมองเห็นสี ซึ่งเมื่อเราอยู่ในที่มืด เซลล์ชนิดแท่งสำหรับรับแสงจะทำงานหนักขึ้น เพื่อพยายามให้เห็นแสง ขณะที่เซลล์รับสีจะทำงานน้อยลง เพราะไม่มีสีสันใดๆ ในที่มืด ดังนั้น เมื่อออกมาเจอแสงสว่าง การทำงานของเซลล์รับแสงที่เยอะผิดปกติจะทำให้รู้สึกแสงจ้ามากกว่าคนอื่นเห็น แต่จอประสาทตาปรับตัวเอง โดยเซลล์รับแสงจะกลับไปทำงานปกติ ส่วนเซลล์รับสีจะเริ่มทำงานมากขึ้น ทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นปกติ ไม่เกิดความพิการถาวรอย่างที่หลายคนกลัว” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว


รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จอประสาทตาจะใช้เวลาในการปรับดวงตากับสภาพแวดล้อมใหม่ประมาณ 5-10 นาที โดยการปรับแสงสว่างนั้น ควรให้ค่อยๆ เจอแสงเพิ่มทีละน้อย เช่น เตรียมแว่นกันแดดให้ใส่ระหว่างนำเด็กๆ ออกสู่แสงสว่างครั้งแรก โดยสวมแว่นกันแดดตั้งแต่อยู่ภายในถ้ำ ซึ่งแว่นกันแดดจะใช้แบบใดก็ได้ หรือแว่นกันแดดทั่วๆ ไปก็ได้ เพราะใช้เพื่อตัดแสงเป็นเวลาไม่นาน 5-10 นาทีเท่านั้น เพื่อให้จอประสาทตากลับมาปรับตัวในสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ ไม่เหมือนแว่นกันยูวีเวลาอยู่กลางแดด ที่ตามหลักแล้วจะต้องกันได้ 95-98% ทั้งนี้ แม้จะมีการอยู่ในที่มืดมานานเป็นเดือน หลักการก็เป็นเช่นเดียวกันคือ ดวงตาสามารถปรับรับแสงสว่างในสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ แต่แค่ต้องค่อยเพิ่มการรับแสงทีละน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อดูแลสภาพทั่วไปของน้องๆ แล้วสามารถนำไปตรวจสุขภาพตาเพิ่มเติมเพื่อความสบายใจได้




เผยแพร่: 3 ก.ค. 2561  โดย: MGR Online

189
สธ.กำชับสื่อสารคลินิกเอกชน ร้านขายยา หากพบผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น ให้ไป รพ. ห้ามจ่ายยา ฉีดยา กลุ่มแก้ปวดลดไข้ต้านการอักเสบ หวั่นทำโรคไข้เลือดออกรุนแรงขึ้น พร้อมจัดทำโครงการจิตอาสาปราบยุงลาย ถวายเป็นพระราชกุศล


วันนี้ (29 มิ.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. กล่าวภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อติดตามการดำเนินงานมาตรการป้องกันควบคุมไข้เลือดออก ว่า สธ.มีข้อสั่งการใน 2 เรื่อง สำคัญ คือ


 1.การดูแลรักษาผู้ป่วย กำชับให้สื่อสารเชิงรุกถึงมาตรการรักษาผู้ป่วยให้ถึงคลินิกเอกชนและร้านขายยา แนะนำหากมีผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วัน อาการไม่ดีขึ้นต้องแนะนำให้ไปโรงพยาบาล ห้ามฉีดยา ห้ามจ่ายยา กลุ่มแก้ปวดลดไข้ต้านการอักเสบ หรือกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากจะเป็นอันตรายหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออก และให้จัดอบรมชี้แจงเกณฑ์การวินิจฉัยโรคและรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยให้เหมาะสม


2.การควบควบคุมโรค ได้จัดทำ “โครงการจิตอาสาปราบยุงลาย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล” ให้ทุกพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป โดยจัดรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 9-15 กรกฎาคม ที่ศูนย์ราชการ ศาลากลางจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาล หลังจากนั้นให้ร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคให้จัดทีมสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ศาสนสถาน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ให้ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายต้องเป็นศูนย์


“ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน โรคที่พบได้บ่อยคือไข้เลือดออกโดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน อาจพบผู้ป่วยได้มากกว่า 10,000 ราย ต่อเดือน หากไม่มีการควบคุมป้องกันโรคที่ดี ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกพร้อมกำชับให้เร่งรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนทั่วประเทศเป็นจิตอาสาปราบยุงลาย” นพ.โอภาส กล่าว


สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 29 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วยแล้ว 22,539 ราย เสียชีวิต 38 ราย พบผู้ป่วยในอายุ 15-34 ปี คิดเป็นร้อยละ 40 รองลงมาในกลุ่มอายุ 5-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 36 ส่วนผู้เสียชีวิตเป็นผู้ใหญ่มากถึง 28 ราย โดยเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่น มีภาวะซีด  มีภาวะ ตับ ไต หัวใจทำงานบกพร่อง มีภาวะอ้วน เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือประชาชน ในการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านตนเอง เพราะขณะนี้พบบ้านในชุมชนมียุงลายถึงร้อยละ 29 หรือสามบ้านพบ 1 บ้าน ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือกันจะไม่สามารถควบคุมโรคไข้เลือดออกได้



เผยแพร่: 29 มิ.ย. 2561   โดย: MGR Online

190
สปสช.เผย 6 เดือน ยอดผู้ป่วยผ่าตัดวันเดียวกลับสะสม 947 ราย ผ่าตัดไส้เลื่อนขาหนีบสูงสุด 378 ราย สะท้อนผลสำเร็จ เพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วย เข้าถึงการรักษาเพิ่ม ลดความแออัด รพ.ประหยัดงบประมาณ


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากแนวทางการพัฒนาประเทศไทย “ไทยแลนด์ 4.0 ด้านสาธารณสุข” ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ สปสช., กรมบัญชีกลาง และ สำนักงานประกันสังคม ส่งเสริมการรักษาด้วยระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (one day surgery: ODS) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ราชวิทยาลัยแพทย์, สมาคมและองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมมือพัฒนาระบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับในการดูแลผู้ป่วย ในส่วนของการดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อเป็นการสนับสนุนการบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้ สปสช.ปรับกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายชดเชยค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขรักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการสอดคล้องกับการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ และ สปสช.ได้ออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ พ.ศ. 2561


นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากรายงานผลการดำเนินงานระบบบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายหลังจาก สปสช.ได้ประกาศหลักเกณฑ์เบิกจ่ายฯ นั้น ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง มิถุนายน 2561 มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับและเบิกจ่ายในระบบจำนวน 68 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น โดยเดือนมกราคม 2561 ที่เริ่มต้นดำเนินการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายนี้ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ จำนวน 43 ราย และมีจำนวนเพิ่มขึ้นในเดือนถัดไป ส่งผลให้ในช่วง 6 เดือน มีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับสะสมทั้งสิ้น จำนวน 947 ราย (ข้อมูล 1 ม.ค.- 20 มิ.ย. 61)


ทั้งนี้ เมื่อแยกดูข้อมูลบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับตามรายโรค มีการให้บริการผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนขาหนีบมากที่สุด จำนวน 378 ราย รองลงมา เป็นผ่าตัดหลอดเลือดดำโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะ จำนวน 181 ราย ตัดติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่ จำนวน 147 ราย โรคนิ่วในท่อน้ำดี จำนวน 60 ราย โรคถุงน้ำอัณฑะ จำนวน 58 ราย ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด จำนวน 46 ราย ภาวะหลอดอาหารตีบ จำนวน 38 ราย โรคริดสีดวงทวาร จำนวน 29 ราย และภาวะท่อน้ำดีตีบ จำนวน 10 ราย


“จากข้อมูลผลการดำเนินงานนี้ นอกจากสะท้อนการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จโดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ได้ร่วมพัฒนาระบบการรักษาและดูแลผู้ป่วยผ่าตัดวันเดียวกลับอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดทั้งเวลานอนในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อของผู้ป่วย ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ป่วยและญาติระหว่างมาโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอยผ่าตัด รวมถึงลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล ทำให้มีเตียงว่างเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินและซับซ้อนเพิ่มขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว


นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สปสช.พร้อมสนับสนุนการผ่าตัดแบบวันเดียวกับ นอกจากเป็นหนึ่งในภารกิจและบทบาทหน้าที่ของ สปสช.ในการร่วมพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานแล้ว ในอนาคตเชื่อว่าการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าแล้ว ยังดีกับตัวผู้ป่วยและระบบบริการสาธารณสุขในภาพรวมประเทศ เพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยภายใต้งบประมาณจำกัด ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งได้มีการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับแล้ว อาทิ การให้ผู้ป่วยเตรียมตัวที่บ้านก่อนมารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ การพักฟื้นหลังผ่าตัดเพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองและกลับบ้านได้ในวันเดียวหรืออยู่ในโรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย



เผยแพร่: 1 ก.ค. 2561  โดย: MGR Online

191
กรมควบคุมโรค เดินหน้ารณรงค์ “Test for Life ตรวจเพื่อก้าวต่อ” ตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้ง ย้ำตรวจเร็ว รู้ผลเร็ว รับการรักษาได้เร็ว ช่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี หากไม่พบได้รับการดูแลแนะนำป้องกันความเสี่ยง


วันนี้ (1 ก.ค.) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ทุกวันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ตรวจเอชไอวี (Voluntary Counseling and Testing Day: VCT Day) โดยให้ความสำคัญของการรู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง และได้กำหนดคำขวัญรณรงค์ คือ “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์: Test for Life ตรวจเพื่อก้าวต่อ” ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดง และจะทราบได้โดยการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น การตรวจเร็ว รักษาเร็วมีความสำคัญอย่างมากต่อการยุติปัญหาเอดส์


“หากพบว่าติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยเร็ว สามารถวางแผนการใช้ชีวิต ดูแลรักษาสุขภาพ หากพบว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับการแนะนำเพื่อป้องกันให้ปลอดภัยตลอดไป โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้ยาป้องกันก่อน-หลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี รวมทั้งการใช้เข็มและอุปกรณ์ฉีดที่สะอาดด้วย ซึ่งไม่ว่าผลการตรวจเป็นอย่างไร ลบหรือบวก ก็จะก้าวต่อไปได้” นพ.อัษฎางค์ กล่าว


นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า ประชาชนสามารถตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง ได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยแสดงบัตรประชาชนที่มีเลข 13 หลัก และรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ฟรีตามสิทธิ สำหรับเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถรับบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีได้โดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากผู้ปกครอง เพื่อจะได้รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง หากรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีจะได้เข้ารับการรักษาทันที ทั้งนี้ สามารถค้นหาสถานบริการปรึกษา/ตรวจเอชไอวี ได้ที่ www.buddystation.org สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนปรึกษาเอดส์ โทร. 1663


นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า ขอเชิญชวนหน่วยงานองค์กรทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์ ตลอดเดือนกรกฎาคม ตามแนวคิด ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์ : Test for Life ตรวจเพื่อก้าวต่อ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการรู้สถานะการติดเชื้อ จะได้ลดปัญหาการเจ็บป่วยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคโดยสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จัดกิจกรรมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ผ่านทาง Facebook Live ในแฟนเพจ “สอวพ.” ทุกวันพุธ เวลา 11.30 น. ตลอดเดือนกรกฎาคม หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422



เผยแพร่: 1 ก.ค. 2561 โดย: MGR Online

192
เมื่อเริ่มสูงวัย ร่างกายย่อมเสื่อมลงไปตามกาลเวลา การเอาใจใส่ต่อสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็น มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กว่าจะทราบถึงสุขภาพของตนเองก็ต่อเมื่อมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลง หลายคนคิดว่าการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไปก็เพียงพอ แต่ไม่จริงเสมอไป

ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราส่วนของผู้สูงอายุเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด นับเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจาก สิงคโปร์ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจเพื่อประเมินความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ในอนาคต เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี



การประเมินสมรรถภาพผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 1.การตรวจประเมินผู้สูงอายุ โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู 2.การตรวจประเมินภาวะทางด้านร่างกาย ความจำและอารมณ์ โดยนักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัด เช่น การตรวจความสมดุลของกล้ามเนื้อ ไขมันและน้ำในร่างกาย ด้วยเครื่อง Body Composition Evaluation การตรวจประเมินความเสี่ยงในการหกล้ม ด้วยแบบทดสอบ Time up and Go test ตรวจประเมินการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุ โดย Tandem Standing Test ตรวจประเมินกำลังกล้ามเนื้อขา Five Time Sit to Stand การตรวจวัดความเร็วในการเดินเพื่อประเมินความเร็วและระยะการก้าวเท้า และสำรวจการควบคุมความสมดุลในการเดิน 4 Meter Gait Speed Test รวมถึงการตรวจความสามารถด้านการเรียนรู้และการรับรู้ และการตรวจประเมินความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติทางด้านอารมณ์ เป็นต้น


การตรวจสมรรถภาพในผู้สูงอายุ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้ อาทิ อาการซึมเศร้า หรือการหกล้มจนเกิดภาวะทุพพลภาพ ซึ่งพบได้บ่อยๆ โดยมี 10 ความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุควรรู้ คือ


 1. อารมณ์ซึมเศร้า (Depression) มีโอกาสเป็นได้มากกว่าวัยอื่น เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและบทบาทในสังคม เช่น ผมขาว ผิวหนังเหี่ยวย่น นั่งและยืนนานๆ ไม่ได้ เป็นต้น หากผู้สูงอายุรับไม่ได้กับภาวะที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดอาการเบื่อหน่าย หมดกำลังใจ ขาดความรัก รู้สึกว่าไม่มีคุณค่าและไม่มีใครต้องการ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตผู้สูงอายุที่ใกล้ชิด หากมีภาวะแยกตัว เบื่อหน่าย หรือทุกข์ใจ ไม่ควรละเลย ควรรีบปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการตรวจความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความประเมินการแสดงออกทางอารมณ์ การแสดงออกทางความคิด ทางพฤติกรรม และการแสดงออกทางกาย เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติทางอารมณ์ในผู้สูงอายุ



2. การล้ม (Fall) เป็นปัญหาที่พบบ่อยและอันตรายมากในวัยสูงอายุ จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการล้ม 28-35% ส่วนในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้นเป็น 32-42% โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่ไปเข้าห้องน้ำ เนื่องจากสูญเสียการทรงตัว เพราะสมอง กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ เกิดความเสื่อม การได้ยินและมองเห็นลดลง ทำให้มีโอกาสลื่นล้มได้ง่าย ซึ่งการบาดเจ็บมีตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรง พิการและเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรดูแลใส่ใจและหมั่นสังเกตการทรงตัวของผู้สูงอายุ หากเกิดการล้มควรให้อยู่ในท่าเดิมและรอผู้เชี่ยวชาญมาทำการเคลื่อนย้ายเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง และแม้จะบาดเจ็บไม่มากก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอีกครั้ง ควรมีการตรวจประเมินการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุด้วยการตรวจ Tandem Standing Test เพื่อให้ผู้สูงอายุทราบถึงภาวะทรงตัวบกพร่องและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการหกล้มและได้รับบาดเจ็บ เพราะการทรงตัวบกพร่องจะเสี่ยงต่อการหกล้มได้ 4-5 เท่า และแบบทดสอบ Time Up and Go Test เพื่อประเมินความเสี่ยงในการหกล้มสำหรับผู้สูงอายุ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการทรงตัวและการเคลื่อนไหว



3. สมองเสื่อม (Dementia Disease) ภาวะสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการรู้คิด (Cognitive Function) ซึ่งเป็นกระบวนการรับรู้ เรียนรู้ และวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากสมองทำหน้าที่ผิดปกติไปจากเดิม เสื่อมลง จากการที่อายุมากขึ้น โรคต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึมเศร้า โรคทางระบบประสาท เป็นต้น รวมถึงพันธุกรรมก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ดังนั้นการกระตุ้นการรู้คิดผ่านกิจกรรมต่างๆ จึงมีประโยชน์อย่างมาก เช่น จับคู่ภาพ ทายคำ ต่อจิ๊กซอว์ วาดรูป หมากรุก เป็นต้น เพื่อกระตุ้นการคิด อ่าน สมาธิ ความจำ โดยมุ่งเน้นขั้นตอนการทำกิจกรรมที่ชัดเจนเข้าใจง่ายมากกว่าผลของกิจกรรม นอกจากนี้ยังควรตรวจประเมินความสามารถด้านการเรียนรู้และการรับรู้ เพื่อหาความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ นำไปสู่การป้องกันและการรักษาอย่างเหมาะสม



4. กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Weakness) ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะจำนวนขนาดและเส้นใยของกล้ามเนื้อบวกกับกำลังการหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว ซึ่งอาการอ่อนแรงมีหลายระดับ ตั้งแต่กำมือแน่น ไม่แน่น ไปจนถึงการยกขา บางคนเมื่อเป็นแล้วอาจมีอาการช่วงสั้นๆ แล้วหายไป แต่บางครั้งไม่มีสัญญาณเตือนและมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน ดังนั้นการหมั่นสังเกตและตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทาง อย่างการตรวจประเมินกำลังกล้ามเนื้อขา ด้วยการตรวจ Five Time Sit to Stand จะมีการจับเวลาผู้สูงอายุในการลุกนั่ง 5 ครั้ง เพื่อให้ผู้สูงอายุทราบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความสามารถในการรับความรู้สึก การทรงตัว และความเร็วในการเคลื่อนไหว


5. การเดินผิดปกติ (Abnormal Walking) สมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุจะเสื่อมลงตามวัย โดยเฉพาะการเดินที่ช้าลง การก้าวเท้าที่สั้นลง เนื่องจากความเสื่อมของเนื้อเยื่อข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ การประหยัดพลังงานที่ใช้ในการยืน เดิน อีกทั้งเมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลบางครั้งไม่สามารถเดินได้ ดังนั้นการออกกำลังกายด้วยการเดินวันละ 20 - 30 นาทีทุกวัน โดยใส่เครื่องพยุง เช่น ข้อเท้าและข้อเข่า เลือกรองเท้าที่เหมาะกับการเดิน ย่อมช่วยป้องกันการล้มและการบาดเจ็บของข้อต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ความเร็วในการเดินยังเป็นตัวพยากรณ์อายุขัย (Mortality) ได้ด้วย โดยพบว่าผู้สูงอายุในวัย 75 ปีที่เดินช้าเสียชีวิตเร็วกว่าผู้สูงอายุที่เดินด้วยความเร็วปกติถึง 6 ปี และเสียชีวิตเร็วกว่าผู้สูงอายุที่เดินเร็ว 10 ปี การตรวจประเมินสมรรถภาพผู้สูงอายุด้วยการวัดความเร็วในการเดิน(4 Meter Gait Speed Test) จะเป็นการตรวจความบกพร่องของเนื้อเยื่อข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ ดูความสามารถในการควบคุมสมดุลและการเดิน เพื่อให้ผู้สูงอายุทราบอัตราความเร็วในการ ระยะก้าว เป็นต้น


6. ประสาทสัมผัส (Sense) ทางหู การได้ยินลดลง มีอาการหูตึงมากขึ้น การเสื่อมของอวัยวะในหูชั้นในมีมากขึ้น เสียงพูดเปลี่ยนไป เพราะกล้ามเนื้อกล่องเสียงและสายเสียงบางลง ระดับเสียงสูงจะได้ยินน้อยกว่าระดับเสียงต่ำ มีข้อมูลวิจัยระบุว่า การสูญเสียการได้ยินในผู้สูงอายุจะเสียเสียงสูงก่อน นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการเวียนศีรษะและเคลื่อนไหวไม่คล่อง เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในมีภาวะแข็งตัว ทางตา การมองเห็นไม่ดีเหมือนเคย เนื่องจากรูม่านตาเล็กลงและตอบสนองต่อแสงลดลง หนังตาตก แก้วตาเริ่มขุ่นมัว เกิดต้อกระจก ลานสายตาแคบ กล้ามเนื้อลูกตาเสื่อม ความไวในการมองภาพลดลง สายตายาว เวลามืดหรือกลางคืนการมองเห็นจะไม่ดี ตาแห้งและเยื่อบุตาระคายเคืองง่าย ทางจมูก การดมกลิ่นไม่ดีเหมือนเดิม เนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกเสื่อม ต่อมรับรสทำหน้าที่ลดลง การรับรสของลิ้นเสียไป อาจเกิดภาวะเบื่ออาหาร โดยรสหวานจะเสียก่อนรสเปรี้ยว รสขม และรสเค็ม



7. ระบบขับถ่าย (Bowel and Bladder System) จากการเสื่อมของเซลล์และกล้ามเนื้อหูรูดต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาระบบขับถ่าย ปัสสาวะ มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะบ่อย ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าและรุนแรงกว่าผู้ชาย เนื่องจากหมดประจำเดือนถาวร ทำให้ขาดฮอร์โมนเพศ อุจจาระ ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ที่สำคัญคือท้องผูกเป็นประจำ เนื่องจากกระเพาะอาหารและลำไส้ลดการบีบตัวตามอายุ เคลื่อนไหวน้อย ไม่ออกกำลังกาย ทานผักผลไม้น้อย ดื่มน้ำน้อย รวมถึงอาจเป็นจากผลข้างเคียงของยาที่ทานเข้าไป



8. กระดูกพรุน (Senile Osteoporosis)ปัญหากระดูกของผู้สูงอายุ คือ แคลเซียมจะสลายออกจากกระดูกมากขึ้น ทำให้น้ำหนักกระดูกลดลง เปราะ หักง่าย ความยาวกระดูกสันหลังลดลง หมอนรองกระดูกบางลง หลังค่อมมากขึ้น ความสูงลดลง เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก ตึง แข็ง อักเสบ ติดเชื้อง่ายขึ้น ดังนั้นหากออกกำลังกายประจำจะช่วยลดความเบา
บางของมวลกระดูกได้ รวมทั้งการทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ที่สำคัญคือตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหากระดูกพรุนได้ถูกวิธี


9. ท่าทางและการทรงตัว (Posture and Balance) ท่าทางของผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิตประจำวันมีความสำคัญ เพราะอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต้องทำงานร่วมกัน ที่สำคัญท่าทางและการทรงตัว ที่ดีส่งผลต่อความคล่องตัวในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งปัญหาที่พบค่อนข้างบ่อย เช่น เดินแอ่นหลัง เดินหลังค่อม เดินเซ ก้าวเท้าสั้นลง ขณะก้าวปลายเท้าจะออกด้านข้างมากกว่าหนุ่มสาว เป็นต้น ซึ่งสามารถทำให้ดีขึ้นได้โดยการทำกายภาพ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวและเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละบุคคลด้วย ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจประเมินการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุ ด้วยการตรวจ Tandem Standing Test ร่วมกับการตรวจประเมินอื่น ๆ ตามการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทาง เพื่อจะได้เคลื่อนไหวและออกกำลังกายได้ถูกท่า

10. ความอึด (Endurance) เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความอึดย่อมลดลงยกตัวอย่างเช่น เมื่ออายุ 40 ปี และอายุ 50 ปีขณะที่ขึ้นบันไดในจำนวนขั้นที่เท่ากัน ความอึดอาจไม่เท่ากัน ในวัย 50 ปีอาจจะรู้สึกเหนื่อยง่ายมากขึ้นและอดทนได้น้อยกว่า เป็นต้น ฉะนั้นการออกกำลังกายเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ อย่างการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ จะช่วยเพิ่มความทนทานของระบบไหลเวียนเลือดและการทำงานของปอด เนื่องจากมีการใช้ออกซิเจนสันดาปไขมันสร้างพลังงานให้กล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยต้องเลือกชนิดการฝึกที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจประเมินสมรรถภาพ กำลังกล้ามเนื้อ การทรงตัว ความเสี่ยงในการล้มโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลตนเองอย่างถูกต้อง


นอกจากนี้ ยังมีการตรวจความสมดุลของกล้ามเนื้อ ไขมัน และน้ำในร่างกาย ประเมินด้วยเครื่อง Body Composition Evaluation เพื่อวัดปริมาณไขมัน กล้ามเนื้อ กระดูก ปริมาณน้ำในร่างกาย วัดสมดุลของกล้ามเนื้อแขนขาและน้ำหนักตัวที่เหมาะสม เพื่อเป็นการวิเคราะห์ภาวะโภชนาการ วางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ทั้งนี้ การตรวจประเมินภาวะในด้านต่างๆ และการได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดึงศักยภาพตามวัยออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการกายภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพเรื่องเทคนิค วิธีการและระยะเวลาในการฝึกฝน ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในแต่ละราย ซึ่งมีศักยภาพในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดียามสูงวัย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกรุงเทพ โทร. 1719



เผยแพร่: 30 มิ.ย. 2561  โดย: MGR Online

193
สธ.ปรับแผนช่วยเหลือ 13 ชีวิตติด “ถ้ำหลวง” ใหม่ ใช้เฮลิคอปเตอร์ส่งต่อ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เท่านั้น ใช้เวลาเพียง 15 นาที แทนการใช้ส่งต่อด้วยรถ ห่วงอ่อนแรง อากาศชื้น มีผลต่อทางเดินหายใจ ต้องระวังดวงตาหลังออกจากที่มืด ด้านครอบครัวความเครียดลดลงหลังพูดคุยกับ “บิ๊กตู่”


วันนี้ (1 ก.ค.) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการปรับแผนการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ใน “ถ้ำหลวง” ใหม่ โดยจะใช้การเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งจะสามารถขนย้ายทั้ง 13 คนได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 15 นาที หากเดินทางโดยรถยนต์ต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมง อีกทั้งขณะนี้จากการประเมินสถานการณ์ เบื้องต้นเชื่อว่า ทั้ง 13 คน น่าจะอ่อนแรง เพราะขาดอาหารและน้ำ หรือหากได้รับก็ไม่เพียงพอ ไม่เต็มที่ เกลือแร่ในร่างกายคงไม่สมดุล แต่หากมีบาดแผลตามร่างกายก็จะทำแผลที่ รพ.สนาม ส่วนเรื่องอากาศการหายใจไม่น่าเป็นห่วง แต่สภาพอากาศที่ชื้น อาจมีผลกับระบบทางเดินหายใจ ส่วนการไม่ได้เจอแสงแดดมาหลายวัน ย่อมมีผลกับสายตา โดยขณะอยู่ในที่มืด ม่านตาจะขยาย ฉะนั้น เมื่อออกมาภายนอกต้องมีการปิดดวงตา เพื่อให้ดวงตาปรับสภาพ


นพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องสภาพจิตใจญาติของทั้ง 13 ชีวิต ขณะนี้ได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ อีกทั้งที่ผ่านมา ได้รับรู้การส่งแรงใจจากทุกพื้นที่ของประเทศ ที่ส่งมาให้ ก็มีกำลังใจและมีความหวัง และนายกรัฐมนตรีเองก็ได้มาพูดคุยด้วย ประกอบกับทางทีมแพทย์ก็จำกัดบุคคลที่เข้าไปพูดคุยซักถามก็ช่วยลดความเครียด แต่จะมีผู้ปกครอง 2-3 คนที่ยังคงมีความเครียดมากอยู่


น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หลังจากที่ครอบครัวนักบอลได้พบกับนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้มีกำลังใจดีขึ้น บรรเทาความวิตกกังวลลงได้มาก สภาวะทางสุขภาพจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ยิ้ม หัวเราะได้ นอนหลับพักผ่อนได้ดี สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ถือเป็นช่วงวิกฤตทางใจของญาติเช่นกัน อารมณ์จิตใจจะตึงเครียด ความกังวลห่วงใยยังคงสูงตามระยะเวลาที่รอคอยจะพบกับลูกหลานที่ยังติดอยู่ภายในถ้ำ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อร่างกายได้ ปรากฏอาการถี่ขึ้น เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย ใจสั่น ภาวะหายใจไม่อิ่ม หงุดหงิด โกรธ โมโหง่าย ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดกิจกรรมผ่อนคลายให้ตามความเหมาะสม เช่น การฝึกสอนการนวดคลายเครียดง่ายๆ ฝึกให้ทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายลงได้ดี รวมทั้งการขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ระมัดระวังเรื่องการสัมภาษณ์ครอบครัว เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางจิตใจมากที่สุด


นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ประชาชนทั่วประเทศที่ติดตามผลการค้นหาช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่า 13 คน ของทีมเจ้าหน้าที่ อาสากู้ภัยทุกฝ่าย ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่ 8 อาจก่อความเครียดให้ผู้ติดตามได้เช่นกัน ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก 6 ประการดังนี้ 1. ให้ตั้งความหวังที่เหมาะสม ควรเผื่อใจไว้สำหรับทุกผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นทั้งบวกและลบ 2. เป็นกำลังใจให้ทีมผู้ปฏิบัติงานทุกคน 3. เลือกติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเท่านั้นคือข่าวจากภาครัฐ เพื่อลดความสับสน 4. ดูแลสุขภาพร่างกาย รับประทานอาหาร และนอนหลับให้เพียงพอ เป็นเวลา 5. มีกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ทำงานบ้าน อ่านหนังสือ ฟังเพลง ไม่จดจ่อกับข่าวติดต่อกันเกิน2ชั่วโมง และ 6. ทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการช่วยเหลือเท่าที่สามารถทำได้ ตามกำลังความสามารถ อาจเป็นด้านการให้ข้อมูลความรู้ หรือสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับการให้ความช่วยเหลือ





1 ก.ค. 2561  โดย: MGR Online

194
ขนาดเวลาดูหนัง ยังต้องมีป๊อปคอร์น แล้วทำไมเวลาดูฟุตบอลโลก 2018 ถึงจะมีของทานเล่นเพลิน ๆ บ้างไม่ได้ แต่จะให้จัดหนัก จัดเต็มช่วงดึกๆ ก็คงไม่ไหว แต่ถ้าไม่มีของขบเคี้ยวเลย ก็เหมือนอรรถรสในการเชียร์บอลจะขาดหายไป


ดังนั้น เพื่อให้การเชียร์บอลโลกของแก๊งคุณไม่เงียบเหงา Tonkit360 ขอเสนอ “ของทานเล่น” ประเภทเบา ๆ ขนาดพอดีคำ หยิบรับประทานง่าย ไม่หกเลอะเทอะ ส่วนของทานเล่นที่ว่าควรมีอะไรบ้างนั้น ลองดูไอเดียที่เรานำมาฝากกันเลย


 
1. ถั่วชนิดต่างๆ

ถึงแม้ถั่วจะเป็นขนมทานเล่นที่ย่อยยาก แต่ก็มีประโยชน์ค่อนข้างเยอะ ทั้งช่วยให้ระดับน้ำตาลในเส้นเลือดสมดุล รวมถึงมีไขมันดีที่จำเป็นต่อร่างกาย ทำให้ถั่วชนิดต่างๆ จัดเป็นหนึ่งในขนมทานเล่นที่เหมาะกับการจับโยนใส่ปากช่วงดูบอลโลกเป็นที่สุด


 
2. ผลไม้นานาชนิด

ถึงจะนอนดึก เพราะดูบอล เราก็สามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยการทานผลไม้นะจ๊ะ เพราะผลไม้แต่ละชนิดล้วนมีประโยชน์ในตัวของมันเอง เราอาจเลือกทานฝรั่ง, แอปเปิ้ล, องุ่น, ชมพู่ หรือกล้วย เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าอยากได้ความหลากหลาย (ไม่ขี้เกียจจนเกินไป) ก็จัดเป็นผลไม้รวมไปเลยค่ะ


 
3. ปลาแห้ง ปลาเส้น ปลากรอบ

สารพัดผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูป อาทิ ปลาสวรรค์ ตราทาโร หรือขนมปลากรอบ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งขนมทานเล่นยอดนิยม ที่นอกจากจะเคี้ยวเพลินแล้วยังมีโปรตีนค่อนข้างสูง เรียกได้ว่า ทั้งอร่อยและมีประโยชน์กันทีเดียว เหมาะหยิบมาเคี้ยวเล่นเพลิน ๆ ตอนนั่งลุ้นทีมโปรดทำประตูนะจ๊ะ


 
4. สาหร่ายอบกรอบ

“สาหร่าย” เป็นของทานเล่นยอดนิยมที่สามารถหาทานได้ง่ายๆ โดยเฉพาะสาหร่ายที่ผ่านกรรมวิธีการ “อบ” มาแล้ว เพราะจะได้ไม่อ้วน แถมหาซื้อง่าย ส่วนประโยชน์ของสาหร่ายอบกรอบนั้น ทั้งช่วยป้องกันโรคคอหอยพอก และช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด


 
5. เมล็ดทานตะวัน

มาปิดท้ายด้วย “เมล็ดทานตะวัน” ที่มีคุณค่าทางโภชนาการอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามินต่าง ๆ อาทิ วิตามินเอ, วิตามินอี และวิตามินบี 2 รวมไปถึงสารอาหารอื่น ๆ อย่างโปรตีน, ธาตุเหล็ก, ฟอสฟอรัส และแคลเซียม ที่สำคัญกินเพลินจนหมดถุงก็ยังไม่อ้วนเลยนะจ๊ะ



02 ก.ค. 61  sanook.com

195
คนไข้ปวดหัวไมเกรน ไม่พอใจรอคิวนาน ตบหน้าพยาบาล ที่ รพ.ชัยภูมิ ตำรวจชี้เป็นเรื่องเล็กน้อย เพจดังแฉเส้นใหญ่จัด บีบคนเจ็บให้รับผิดชอบ

           จากกรณี เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมือง จ.ชัยภูมิ รับแจ้งเหตุทะเลาะวิวาทในห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลชัยภูมิ โดยพบว่าคนเจ็บคือ น.ส.ประภาพร แคล่วไพรี เจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลชัยภูมิ ยืนให้การในห้องฉุกเฉิน

           สอบถามผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า มีคนไข้เป็นหญิง ชื่อนางสาวบี (นามสมติ) มีอาการปวดหัวไมเกรนมารักษาตัวในห้องฉุกเฉิน ก่อนจะไม่พอใจพยาบาลที่ให้รอนานและได้รับการบริการล่าช้า จึงเกิดอาการโมโหตบเข้าที่หน้าพยาบาล ทางเจ้าหน้าที่จึงโทร. แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยระงับเหตุ

    ด้าน ร.ต.ท. อุทัย หงส์วิเศษ รองสว ร้อยเวร 20 สภ.เมือง จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการและทีมบริหารกำลังคุยกัน เพราะเป็นมาตรการของโรงพยาบาล เวลาบุคลากรถูกทำร้ายก็ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งหากจะแจ้งความก็ให้ทางโรงพยาบาลดำเนินการตามกฎหมาย แต่ช่วงนี้ทางโรงพยาบาลก็รักษาคนไข้รายนี้ตามปกติ โดยรอจนกว่าจะหายแล้วจึงค่อยมาคุยกันเพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย

30 พ.ค. 2561  โดย ไทยรัฐออนไลน์

หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 20