แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - Thitiporn

หน้า: [1]
1
                               สวัสดิการสังคมตามแนวคิดขงจื๊อ
                                                                                                              แก้วสรร  อติโพธิ
...
      กว่าสิบปีมานี้ สินค้าประชานิยมเพื่อสวัสดิการของชาวบ้าน โดยงบประมาณแผ่นดิน กำลังท่วมประเทศอย่างหนัก  ทั้งการนำร่องในยุคทักษิณแล้วติดตามมาในยุคขิงแก่
และประชาธิปัตย์   ยิ่งมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนยุบสภาในปี ๒๕๕๔ นี้ก็ยิ่งจะเห็นของขวัญประชานิยมเหล่านี้เกลื่อนไปหมดเลยทีเดียว
      ภาระด้านงบประมาณของโครงการประชานิยมนี้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี  ดังตัวอย่างค่าใช้จ่าย ในโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคนั้น  เมื่อสิบปีก่อนที่เริ่มโครงการก็อยู่ที่ ๑๔๐๐ บาทต่อหัว  แล้วก็เพิ่มขึ้นทุกปีไม่มีหยุดจนถึง ๒๔๐๐ บาทต่อหัวในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ มาปีนี้ก็จะขอเพิ่มอีก ๗๐๐ บาท     ซึ่งเมื่อรวมกับสวัสดิการสุขภาพของข้าราชการและผู้ใช้แรงงานอีก ๑๖% ด้วยแล้ว   งบประมาณสวัสดิการสุขภาพไทยในปีหน้าก็จะเกาะกินงบแผ่นดินถึงสองแสนล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากเนื้องบประมาณแผ่นดินในโครงการประชานิยมจะเพิ่มขึ้นแล้ว   ใน
ด้านความคิดก็ยังฝังรากลึกลงไปเรื่อยๆอีกด้วย    ดังตัวอย่างกรณีสวัสดิการสุขภาพตามระบบประกันสังคมที่ลูกจ้างควักเงินเดือนมากองไว้โดยมีนายจ้างและรัฐสมทบเงินด้วยนั้น    ก็มีการปลุกปั่นกันว่าไม่เสมอภาคถูกเอาเปรียบ  เพราะคนทั่วไปไม่ต้องออกเงินก็ได้รับการรักษาฟรีจากกองทุนบัตรทอง    ลูกจ้างจึงควรจะมารับการรักษาฟรีตามระบบนี้จะดีกว่าเพราะต่างก็ก็เสียภาษีให้รัฐเหมือนกัน
                       ข้อเรียกร้องให้คนที่รับผิดชอบตัวเองได้อยู่แล้ว   ให้ต้องกลับไปอยู่ในระบบขอทานเหมือนกับคนอื่นอย่างนี้    มาจากการกำเริบของโรคประชานิยมที่น่าวิตกมาก  จำเป็นต้องถูกท้วงติงด้วยระบบคิดตรงข้ามให้ได้คิดกันเสียใหม่   ซึ่งก็มีตัวอย่างจากสวัสดิการสังคมของสิงค์โปร์  ที่นายกฯลีกวนยู ได้ยึดแนวคิดตามลัทธิขงจื๊อมาเป็นหลักได้ อย่างเฉียบคมยิ่ง   และแตกต่างกับลัทธิขอทานนิยม หรือเอื้ออาทรนิยมเป็นอย่างมาก  ดังผมจะขอสังเขปมาเสนอในทำนองปุจฉา-วิสัชนาไว้ ดังนี้
ถาม   สวัสดิการสังคมของสิงค์โปร์มีที่มาของเงินมาจากไหน
ตอบ   นายกฯลีกวนยู  จัดตั้งระบบบังคับออมทรัพย์ขึ้น   ให้คนสิงค์โปร์ทุกคนต้องเปิดบัญชี
   ธนาคารเป็นบัญชีสวัสดิการของตนเองและครอบครัว    เงินจากบัญชีนี้จะไหลไปรวม
   เป็นกองทุนที่พักอาศัยให้กู้ยืมซื้อบ้านหลังแรก   เป็นกองทุนประกันสุขภาพที่ถ้วนหน้า
   จริงๆ  และเป็นเบี้ยยังชีพไว้ใช้ในยามชราด้วย   
ถาม   แล้วรัฐไม่ช่วยอะไรเลยหรือ
ตอบ   รัฐมีเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสุขภาพด้วย    แต่ลำพังเงินออมเหล่านี้ก็มีกองทุนของ
   รัฐนำไปลงทุนหาประโยชน์ตอบแทนได้เป็นอันมากอยู่แล้ว   มาซื้อกิจการโทรศัพท์
เอไอเอสที่เมืองไทย  ก็เงินออมพวกนี้นี่แหละครับ
ถาม   นายกฯ ลีกวนยู เอาความชอบธรรมมาจากไหน  มาบังคับให้ราษฎรต้องออมทรัพย์อย่างนี้
ตอบ   พ่อแม่คุณเคยซื้อกระปุกออมสินให้คุณบ้างไหม?
ถาม   เคยครับ   ท่านให้ผมเหลือเงินค่าขนมมาหยอดกระปุกให้ได้ทุกวันเลย   อาจารย์ล่ะครับ
ตอบ   เหมือนกันครับ   พอกระปุกเต็มเอาไปฝากออมสินท่านเติมเงินฝากให้ผมอีกด้วย   นี่
   แหละครับ  นายกฯลีกวนยูก็คิดอย่างนี้  ว่ารัฐต้องรู้จักสร้างราษฎรเหมือนพ่อแม่ที่ต้อง
   รู้จักสร้างลูก     สร้างให้รู้จักสร้างตนเองและครอบครัว   สังคมสิงค์โปร์ต้องสร้างจาก
คนสิงค์โปร์ที่เคารพตัวเองและรักครอบครัวเป็นหลัก   นี่คือหลักในลัทธิขงจื๊อที่ชัดเจน
มาก    เป็นที่มาของนโยบายหลายอย่างของสิงค์โปร์
ถาม   นโยบายอะไรบ้างครับ
ตอบ   ลีกวนยู เขียนไว้ว่า   เขาไม่เห็นด้วยกับสวัสดิการจากรัฐหรือสังคม   เพราะทำให้คนไม่
   เคารพตนเอง  ไม่ทำงานสร้างตัว   ส่วนคนที่ทำงานเสียภาษีก็จะสิ้นกำลังใจที่ถูกเอา
   เปรียบ   เขาสรุปว่าเขาต้องการ Social ที่ Fair  ไม่ใช่ Social Welfare  อย่าง
   บ้านอื่นเมืองอื่น   ด้วยเหตุนี้เขาจึงใช้วิธีบังคับออมเพื่อตนเองและครอบครัว  มาเป็นฐาน
   สวัสดิการทั้งสังคม  งานที่เหลือเขาก็ให้รัฐลงมาทุ่มเทอย่างเต็มที่
ถาม   งานอะไรที่เหลือครับ
ตอบ   สิงค์โปร์ทุ่มเทการศึกษาในด้านคุณภาพอย่างสุดตัว  ไม่ใช่ให้เด็กเรียนฟรีแต่คิดเงินทอน
   ไม่ถูกเหมือนบ้านเรา    ครูของเขาเงินเดือนสูงเท่าวิศวะกรคัดมาจาก ๕% แรกของคน
   หนุ่มคนสาว   ในระดับอุดมศึกษาเขาทุ่มเทสร้างสถาบันวิจัยไบโอเทคอย่างถึงไหนถึงกัน
   ทั้งคนและอาคาร  หาได้มีแต่ตึกอุทยาน กับนักวิจัยเงินเดือนจี๊ดเดยวเหมือนของเราที่
   ธรรมศาสตร์รังสิต
นโยบายนี้ลีกวนยูบอกเหมือนขงจื๊ออีกว่า  การศึกษาของลูกคือหน้าที่ของพ่อที่สำคัญ
ที่สุด   ซึ่งคนรุ่นเขาก็เป็นพ่อที่ทำงานหนักมากจริงๆ
ถาม   ด้านเศรษฐกิจล่ะครับ
ตอบ   เขาทุ่มเทสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เจ๋งมากๆ    มีคลัสเตอร์หรือกลุ่มการผลิตที่พร้อม
   หน้าที่เกี่ยวกับการขนส่งทางเรือและทางอากาศอยู่เต็มเกาะ    แค่นิตยสารของสายการบิน
   นี่  เขาก็มีคลัสเตอร์รับงานจากสายการบินต่างๆได้หนึ่งในสามของตลาดโลกแล้ว
คุณอย่าไปเห็นว่าเขาทำแค่ซื้อของถูกที่นี่ไปขายแพงที่โน่นเท่านั้น  ภาคการผลิตจริงที่
เก่งๆของเขาก็มีมาก
ในภาพรวมแล้ว  ลีกวนยูและคณะ  เขาได้สร้างคนของเขาให้เป็นคนที่แข็งแรงในความ
รับผิดชอบต่อตนเองและครอบครัว  ไม่งอมืองอเท้าขอการบริโภคหรือความช่วยเหลือ
จากรัฐ    จากนั้นเขาก็สร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพจริงๆ ให้แก่ราษฎร   แล้ว
เสริมด้วยสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี  ให้ผู้ประกอบการสร้างความเก่งกาจของกลุ่มการผลิต
ต่างๆยกสินค้าของสิงค์โปร์ขึ้นไปสู่ตลาดระดับบน    ขายได้ราคาจนสั่งสมเป็นความ
มั่งคั่งของตนเองและประเทศชาติได้
ถาม   รัฐบาลของเขามีคอรัปชั่นไหม ?
ตอบ   เรื่องคอรัปชั่นสำหรับลีกวนยูผมไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินแต่ลูกสะใภ้ของเขา   ลีกวนยูโด่ง
   ดังมากในเรื่องความซื่อตรง    ยุคของเขาเวนคืนที่ดินตัดถนนต้องเป็นเส้นตรงบ้านคนจน
   คนรวยไม่มีละเว้น  เจอสุสานตระกูลของเขาเอง  เขาก็ยังให้เดินตรงไปข้างหน้า    เขา
   ไม่เคยเอาข้อสอบรั่วมา   ให้ลูกติวก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนผู้นำบางคนเลย
ถาม   คนคอรัปชั่นขึ้นเป็นผู้นำแล้วสร้างบ้านสร้างเมืองได้แบบสิงค์โปร์มีไหม
ตอบ   คอรัปชั่นแปลว่าเน่าเปื่อย   คนเน่าเปื่อยจะเห็นตำแหน่งเป็นอำนาจ เป็นประโยชน์ที่ต้องแสวงหา    ไม่ใช่เห็นเป็นหน้าที่ ที่ต้องทุ่มเททั้งสมองและกายใจเพื่อแผ่นดินเกิด
   ผู้นำที่คอรัปชั่นจึงสร้างบ้านสร้างเมืองไม่ได้   มีแต่ราคาคุยเช่นคุยว่า ๖ เดือนหมดปัญหาจราจร   หรือ ๖ เดือนผมกลับมาทุกคนอู้ฟู่แน่เป็นต้น
ถาม   บ้านเมืองเราจะเลี้ยวกลับมาสร้างคนกันจริงๆ แบบสิงค์โปร์ได้ไหมครับ ?
ตอบ   ต้องเลิกพูดเลิกเน้นเรื่องฟรีๆ เช่น เรียนฟรี  รักษาฟรี  หรือเอื้ออาทรต่างๆนานากันเสียที
ปล่อยไว้อย่างนี้อีกหน่อยคงมีโลงฟรี  ฌาปนกิจฟรี ลอยอังคารฟรี เป็นแน่
ถาม   แล้วประกันสุขภาพบัตรทองนี่จะว่าอย่างไรครับ
ตอบ   อย่าเอาผู้ใช้แรงงานมาร่วมกองทุนนี้  เอาลูกเมียผู้ใช้แรงงานไปอยู่ประกันสังคมด้วย
   เอาระบบจ่าย ๓๐ บาทกลับคืนมาใช้     จะได้เลิกเห็นโรงพยาบาลเป็นโรงทานแจกยาเสีย
   ที    คัทเอาท์ที่มีใบหน้ารัฐมนตรีประกาศว่า  บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรคนั้นก็
   เลิกเสียที  จะเลือกตั้งแล้วเอาเงินชาวบ้านมาหาเสียงให้ตัวเองอยู่ได้  ไม่อายบ้างเลยหรือ ?
                                                              .............................

2
สยามรัฐรายวัน พุธนี้ (๑๘ สิงหา)

              เสียงจากคุณหมอ : จ่ายแล้วต้องจบจริงๆ
                                                                                                                                                                   แก้วสรร อติโพธิ
...
   
              หลังจากไทยแลนด์ฟอรั่ม ฉบับ “ตัณหานักบุญ ?” ๑๒-๑๕ สิงหา  ได้ผ่านพ้นไป  ผมก็ได้รับ
ความเห็นจากคุณหมอผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง  ที่นำเสนอว่าการจัดการความเสี่ยงในการรักษาพยาบาลครั้งนี้
น่าจะยังผลกระทบระบบทั้งระบบเลยก็ได้    ผมอ่านแล้วก็เห็นว่าเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่ควร
รับฟังประกอบการพิจารณา   จึงขอถ่ายทอดมายังเราๆท่านๆ ที่ยังไงก็ต้องเข้าโรงพยาบาลแน่ๆ  ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนี้

“  เรียน  อ.แก้วสรร ที่รัก
ผมได้อ่านข้อความที่ลงใน Thailand Forum 12-15 ส.ค. แล้ว  และอ่านซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ผมเลยเกิดความคิดขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งด้วยครับ
             ขอให้คิดให้รอบคอบก่อนที่จะรับร่าง พรบ.คุ้มครองฯ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้
   ร่าง พรบ. ที่จะจ่ายเงินให้ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ (ร่าง พรบ.เรียกว่าผู้เสียหาย) จากการรับบริการสาธารณสุขนั้น ดูอย่างผิวเผินน่าจะเรื่องที่ดีมากๆ เลย  แต่ มันเป็นไปได้หรือครับในเนื้อหาและวิธีปฏิบัติ ตามร่าง พรบ.ฉบับนี้ ที่ จะมีแต่ได้กับได้  มันจะไม่มีเสียเลยหรือ?  ลองพิจารณาดูนะครับ
1.   ผู้ป่วยที่มารับการรักษา สิ่งแรกที่ผู้ป่วย คาดหวังคือ  อยากจะหายจากโรค  หมอและโรงพยาบาลร้อยทั้งร้อยก็อยากจะให้ผู้ป่วยหายจากโรค เช่นกันแต่รักษาไปแล้ว  หายจากโรคก็มีมาก ไม่หายก็มีไม่น้อย  เลวลงและมีโรคแทรกก็มีบ้าง เสียชีวิตก็มีเช่นกัน  พวกที่ไม่หายจนถึงตาย สมควรที่จะได้รับการช่วยเหลือไหม???  และถ้าช่วยจะช่วยอย่างไร
2.   ถ้าคิดแบบก่อนๆ ก็บอกว่ามันเป็น“กรรมเก่า” คนคลอดกันเยอะแยะไม่เป็นอะไร  แต่ภรรยาเราไปคลอดกลับตายทั้งแม่ทั้งลูก  ถ้าคิดว่าเป็นกรรมเก่ามันก็คงจบเรื่อง  แต่ถ้าคิดว่าทำไมภรรยาเราตาย แต่ภรรยาคนอื่นทำไมไม่ตาย?   ก็มีช่องทางให้อยู่แล้ว (นอกเหนือจากการเจรจากับแพทย์และโรงพยาบาลซึ่งอาจจะตกลงกันได้ก็ได้)  คือ
1.   การฟ้องร้องคดีผู้บริโภค  ซึ่งง่ายมากไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เจ้าหน้าที่ที่ศาลจะเขียนคำฟ้องให้เอง  แล้วรอคอยการไกล่เกลี่ยและถ้าไม่สำเร็จเพราะได้เงินมาไม่พอใจ  ก็รอการตัดสินของศาล หรือ
2.   แจ้งความตำรวจ ให้ดำเนินคดีอาญา หรือถ้าไม่อยากรออัยการฟ้องก็
3.   นำคดีขึ้นสู่ศาลเอง เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ (ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่เห็นศาลก็จะประทับรับฟ้อง หมอก็คงเป็นจำเลยในคดีอาญานี้ และต้องต่อสู้กันในศาลต่อไป ซึ่งกรณีเช่นนี้ทำให้คุณหมอขวัญเสียมาก เพราะถึงแม้หมอจะชนะแต่ก็ขวัญเสียไปแล้วและคงถอดใจที่จะรักษาต่อไป)
3.   ถ้าคิดว่าผู้ป่วยเป็นผู้ที่น่าสงสาร   ต้องได้รับการช่วยเหลือ อยากจะช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหนอย่างไร  รัฐบาลก็จัดวงเงินมาให้เพื่อจ่ายให้ผู้ป่วย (หรือญาติ) ตามสภาพที่เป็นอยู่ก็สามารถทำได้ โดยจ่ายให้เพราะผู้ป่วยเป็นผู้ที่น่าสงสาร เป็นผู้มีเคราะห์กรรม  ก็เป็นสิ่งที่น่ากระทำนะครับ เพราะปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ดูแลสงเคราะห์ผู้ที่น่าสงสารอยู่แล้ว  คนแก่ได้ 500 บาท/เดือน  พิการได้ 500 บาท/เดือน  ทั้งแก่ด้วยพิการด้วยได้ 1,000 บาท/เดือน รักษาฟรี การศึกษาฟรี  รถประจำทางฟรี, รถไฟฟรี  ค่าไฟฟ้าฟรี ค่าน้ำฟรี เพิ่มอีก 1 อย่าง  ไม่เห็นจะสิ้นเปลืองเพิ่มเติมอะไรและจะควบคุมว่าปีหนึ่งจะให้เท่าไรก็ได้ เพราะสำนักงบประมาณเป็นผู้กำหนดวงเงิน
4.   แต่ถ้าสร้างระบบที่จ่ายให้ผู้ป่วยเหล่านี้แล้ว ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลและแพทย์อีก ต้องเรียกแพทย์มาให้การ ต้องไปให้โรงพยาบาลรายงานว่าจะปรับปรุงอย่างไร  ทั้งๆที่ในขณะที่เวลานี้โรงพยาบาลมีขบวนการพัฒนาดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและความเสี่ยงอยู่ทุกโรงพยาบาลอยู่แล้ว  อยู่ดี ๆ ก็ไปเพิ่มภาระให้ทางโรงพยาบาลอีก  โดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่าง ๆ  ของกระทรวงสาธารณสุขมีงานล้นมาก  แต่ก็ตั้งใจทำสุดความสามารถของมนุษย์ (ไม่ใช่ทำชุ่ย ๆ)  แต่ว่า ยิ่งงานมากผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ก็จะมีจำนวนมากเป็นเงาตามตัวและก็ต้องไปให้การต้องเขียนแผนการแก้ไขมากราย ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งนั้น  รักษาผู้ป่วยก็เป็นภาระหนักอยู่แล้ว  ต้องมีภาระเพิ่มเติมอีก  ผลสุดท้ายจะกลายเป็นว่าเราไม่ได้ออกแบบระบบให้แพทย์และโรงพยาบาลอยากจะทำงานช่วยผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะมีกำลังทำได้   กลับกลายเป็นว่าทำมาก ๆ   ไปทำไม เสี่ยงมากก็มีเรื่อง ต้องเข้าให้การมาก   ต้องเขียนแผนการแก้ไขมาก  สู้ทำน้อย ๆ  ทำโรคง่าย ๆ  ไม่ดีกว่าหรือ  ?
                   ถ้าเมื่อไรแพทย์และโรงพยาบาลทั้งหมดคิดอย่างนี้ผมว่าผู้ป่วยลำบากแน่นอน จึงมีความเห็นว่า อยากจะจ่ายให้ใครเท่าไรก็จ่ายไปเถอะครับ แค่อย่ามาทำให้แพทย์โรงพยาบาลยุ่งไปมากกว่านี้

5.   ถ้ากองทุนมาจากภาษีก็คงจะไม่มีเรื่อง แต่ถ้าต้องไปเก็บจากโรงพยาบาลคนไข้ยิ่งมามากโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายให้กองทุนมาก  ดูมันสวนทางกับความเป็นจริงยังไงก็ไม่รู้   ถ้ายังงั้น ให้มาน้อยๆ ไม่ดีกว่าหรือ? ผู้ป่วยในก็รับตามจำนวนที่มีอยู่  ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งเตียงเสริมไว้ตามระเบียงตามทางเดินก็จะค่อยๆ หายไป  ผู้ป่วยก็จะต้องเดือดร้อนอีก
          ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบัตรทอง ประกันสังคม ที่เป็นทางเลือกของประชาชนก็ต้องเก็บเงินส่งเข้ากองทุน โรงพยาบาลคิดราคาตามต้นทุนอยู่แล้ว ถ้าต้นทุนสูงขึ้นการคิดราคาก็สูงขึ้น  ซึ่งเป็นเรื่องปรกติถ้าต่อครั้งไม่มากนัก คงจะไม่เป็นไร  แต่ถ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยก็จะเดือดร้อนโดยไม่ได้รับอะไรชัดเจน ที่จับต้องได้  เพราะโดยปรกติแล้ว ต้นทุนสูงขึ้น จากการที่มีแพทย์ให้เลือกมากขึ้น  มีเครื่องมือใหม่ๆ ทันสมัยมีสถานที่สะดวกสบายเพิ่มขึ้น  เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถจับต้องได้ และได้รับโดยตรง แต่ต้นทุนสูงขึ้นประเภทนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จ่ายไป จะไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับมาเลย
   ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า วัตถุประสงค์เดียวและแท้จริง ของผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์นั้น  ต้องการมารักษาโรค ซึ่งอาจจะหายบ้างไม่หายบ้าง  ตายบ้างก็ตามสภาพที่มีความหลากหลาย และมีเงื่อนไขและองค์ประกอบเยอะมากๆ  เราคงไม่ได้มาโดยตั้งใจว่าถ้ามันไม่ได้ตามวัตถุประสงค์  ก็จะมีการตอบแทนให้ในรูปแบบของการช่วยเหลือ และชดเชย  แต่ถ้ามีกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือและชดเชยแล้ว ซึ่งแน่นอนเลยว่า  ผู้ได้รับช่วยเหลือและชดเชยอาจจะมีน้อยครั้ง ซึ่งไม่น่าจะเกิน 1%  ของจำนวน 200 ล้านครั้ง  ของการมารับบริการสาธารณสุข แต่กลับไปปรากฏว่าทำให้เกิดความกังวล  ความไม่แน่ใจ ความไม่เต็มใจ ในการรักษาพยาบาล    ดังนั้น  ประชาชนคนไทยทั้ง 64 ล้านคน ที่ไปรับการรักษาปีละกว่า 200 ล้าน ก็ต้องเป็นผู้เสียประโยชน์อย่างแน่นอน (กรุณาอ่านข้อ 4  อีกครั้งหนึ่ง) แล้วเหตุไฉนจึงจะให้มันเกิดขึ้นละครับ  ช่องทางที่จะให้การช่วยเหลือก็สามารถทำได้ตามข้อ 3  มาเป็นร่าง พรบ.ใหม่ หรือจะเอา ม.๔๑ ซึ่งได้ดูแล 47 ล้านคนมาแก้ไขเพิ่มเติมจนครอบคลุมทั้ง 63 ล้านคน  โดยที่จะเพิ่มเติมเงินเป็นเท่าไรก็ให้สำนักงบประมาณกำหนดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับฐานะของประเทศ
   ข้อคิดข้อเสนอของผมนี้ อาจจะไม่ถูกใจคนบางกลุ่มที่ตั้งใจว่า  ถ้าโรงพยาบาลและหมอทำไม่ดีต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนตามอำนาจศาลเตี้ย (เพราะไม่ได้เอาความรู้เฉพาะวิชาชีพมากำหนดเป็นมาตรฐาน) และนอกเหนือจากนี้แล้วก็อยากที่จะมีอำนาจในการให้โรงพยาบาลเขียนแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงมาให้ดู  (โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นผู้มีประสบการณ์อย่างมากในการบริหารโรงพยาบาลและบริหารความเสี่ยงเลย)
   รีบ ๆ ทำเถอะครับ อย่าให้ความแตกแยกมันเกิดขึ้นและต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ผลกระทบ  พอไม่รู้ก็รู้สึกไม่ชอบใจว่าของดี ๆ อย่างนี้พวกแพทย์ไปต่อต้านมันทำไม   ทั้งหมดนี้เพราะผู้ป่วยไม่ได้ทราบถึงผลกระทบที่ผมกล่าวแล้ว
                ดังนั้นถ้าจะช่วย ก็จ่ายให้เถอะครับ แต่  ขอให้จบลงแค่การจ่าย อย่าไปทำเรื่องยุ่งให้กับโรงพยาบาลและแพทย์อีกเลย

               นายแพทย์เอื้อชาติ  กาญจนพิทักษ์  ”

   จากที่คุณหมอเอื้อชาตินำเสนอมานี้   ท่านก็ได้แสดงความเห็นเป็นจุดยืนของท่านไว้ชัดเจนในตอนท้ายว่า  อยากจะช่วยจะสงเคราะห์อะไรกันท่านก็เห็นด้วย  ขอแต่อย่าให้ไปทำเรื่องยุ่งกับหมอและโรงพยาบาลอีกก็แล้วกัน  ซึ่งก็น่าจะทำได้ในกรอบต่อไปนี้
๑. อย่าเอาความคิดเรื่องความรับผิดจากการรักษาพยาบาลไม่ได้มาตรฐานมา เกี่ยวข้อง เพราะมีระบบฟ้องร้องหรือซื้อประกัน เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว
๒. อาจทำได้โดยคิดเป็นรัฐสวัสดิการ   เช่นคนต้องถูกตัดขาเพราะเป็นเบาหวาน  ก็มีกองทุนของรัฐช่วยเหลือไปเลย   
๓. น่าสังเกตว่า คุณหมอเอื้อชาติไม่ได้แยกแยะระหว่าง  กรณีที่แผลลุกลามมาจากบ้านจนต้องตัดขา  กลับแผลมาลุกลามที่โรงพยาบาลเพราะติดเชื้อ   กรณีหลังนี้เป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเหมือนกับผ่าต้อกระจกแล้วตาบอด     ถ้าแยกแยะเฉพาะกรณีหลังนี้ออกมาจากกรอบคิดสวัสดิการ ก็จะปรากฏเป็นปัญหาการจัดการ“ความเสียหายจากการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะ”   
การชดเชยความเสียหายในกรอบอย่างนี้  ถ้าไม่ต้องการให้ไปทำเรื่องยุ่งกับโรงพยาบาลและหมอเลย    ก็ต้องเข้าสู่ระบบประกันที่ชดใช้ให้โดยไม่ต้องพิจารณาเลยว่าหมอรักษาได้มาตรฐานหรือไม่    เช่นตาบอดจากผ่าต้อกระจกก็จ่ายทันที  ไม่ต้องสอบสวนว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเปล่า ( ร่างกฎหมายของซุ้ม เอ็นจีโอ  ยังซิกแซกแอบกำหนดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานอยู่ )  ถ้าใครยังข้องใจก็ให้ไปว่ากล่าวเอาเอง
๔. ท้ายสุดคุณหมอท่านก็บอกเล่าว่าถ้าภาระใหม่ข้างต้นนี้ตกแก่โรงพยาบาลแล้ว   ถ้าเป็นการรักษาพยาบาลในโครงการ ๓๐ บาท   รัฐก็ต้องแบกรับแทนด้วย   ถ้าเป็นการรักษานอก ๓๐ บาท ก็จะต้องถูกผลักให้ตกแก่คนไข้แน่นอน  คุ้มค่าหรือไม่ทุกคนพร้อมจ่ายหรือไม่ ก็คิดดูเอาเอง
ส่วนเงินเหล่านี้ถ้าตกลงใจจะยอมเสียกันจริงๆ แล้วนั้น    จะจัดการมารวมเป็นกองทุนที่รัฐจัดตั้งแล้วมอบให้กลุ่มเอ็นจีโอแฝงฝังอยู่   หรือจะใช้วิธีออกกฎหมายบังคับให้ไปซื้อประกันกันเอง  เหมือนประกัน พรบ.รถยนต์   ตรงนี้คุณหมอท่านไม่ได้พูดถึง   
ส่วนตัวผมเองนั้นพูดไว้ชัดเจนแล้วว่า  ถ้าต้องเจอกองทุนอิสระมีเอ็นจีโอรับจ๊อบอยู่เต็มไปหมดนี่ผมไม่เห็นว่าจะเลวน้อยไปกว่าราชการที่ตรงไหนเลย  ตรวจสอบก็ไม่ได้....แล้วแถมยังต้องยกย่องอีกต่างหาก
บังคับให้ทุกหน่วยบริการซื้อประกันจากบริษัทรับประกันภัยดีกว่าตั้งกองทุนแน่นอนครับ   ผมเบื่อนักบุญกินสองเด้งอย่างนี้ เต็มทีแล้ว

                                                     ..................................


3
             ปัญหาการประกันความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขโดยผิดพลาด
                        แก้วสรร  อติโพธิ ...
   การพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้มีบริการสาธารณสุขที่ได้ทั้งคุณภาพและความทั่วถึง   แถมด้วยความคุ้มครองที่มั่นคงจากความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น    ถือเป็นภารกิจที่ไม่มีรัฐใดปฏิเสธได้  แต่จะทำได้เพียงไหนด้วยแนวทางใดก็ยังมีทั้งข้อจำกัด และทางเลือกที่แตกต่างกันออกไปได้   ความรู้จักประมาณตนและรู้จักเลือกจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาในแต่ละประเทศ
กฎหมายประกันสุขภาพและระบบ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค   ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยหมอและเอ็นจีโอสาธารณสุขหัวก้าวหน้า   และผลักดันจนสำเร็จเป็นงานชิ้นโบว์แดงของระบอบทักษิณ    ซึ่งจนปัจจุบันก็ยังมีปัญหาแฝงฝังให้ต้องฟันฝ่าอีกมาก   
มาบัดนี้ซุ้มคุณหมอและเอ็นจีโอดังกล่าว   ก็ได้ดิ้นรนผลักดันร่างกฎหมายประกันความเสียหายตามมาอีก  และก็มีคุณหมอลุกขึ้นแต่งดำคัดค้านกันเป็นการใหญ่ ตามที่เป็นข่าว   ซึ่งดำริในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ และกระทบถึงประชาชนโดยตรง   จึงควรที่เราท่านจะได้รู้เท่าทันความเห็นและผลประโยชน์ที่ซุกซ่อนอยู่   ดังผมจะขอนำเสนอในท่วงทำนอง ปุจฉา-วิสัชนา ไปโดยลำดับดังนี้
ความเสียหายจากการรักษาพยาบาล
ถาม   อะไรคือความเสียหายจากการรักษาพยาบาลครับ?   ไปรักษาเบาหวานแล้วถูกตัดขาหามกลับมาบ้าน  อย่างนี้ใช่ความเสียหายจากการรักษาหรือไม่
ตอบ   กฎหมายเขาจะถามก่อนว่า   แม้คุณหมอจะพยายามรักษาดูแลอย่างไรก็ต้องถูกตัดขาอยู่ดีใช่ไหม ?   ถ้าตอบว่าใช่เพราะตอนไปหาหมอนั้นแผลที่ขามันลุกลามเรื้อรัง ขาดำจนหยุดไม่ได้แล้ว    อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าขาหายไปเพราะการรักษาพยาบาล  แต่หายไป ถูกตัดไป เพราะแผลลุกลามด้วยโรคเบาหวาน 
ถาม   แล้วถ้าแผลไปลุกลามตอนนอนที่โรงพยาบาล  เนื่องจากเกิดอาการติดเชื้อ เพราะการดูแลรักษาไม่ได้มาตรฐานล่ะครับ
ตอบ   ตรงนี้ก็กลายเป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาล คือขาหายไปเพราะการรักษา ไม่ได้มาตรฐาน  คุณหมอหรือโรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ
ถาม   มีไหมครับที่รักษาอย่างได้มาตรฐานแล้ว  ก็ยังเกิดความเสียหายอยู่ดี ?
ตอบ   มีแน่นอน  อย่างเพื่อนผมไปผ่าต้อกระจกแล้วตาบอด   แล้วปรากฏว่าหมอใช้ยาชาและฉีดยาชาได้มาตรฐานทุกอย่าง   แต่ประสาทตากลับแพ้ยาโดยเป็นอาการเฉพาะที่ไม่มีทางตรวจเจอ  และเกิดขึ้นได้หนึ่งในหมื่นเท่านั้น   ความเสียหายอย่างนี้  ในทางกฎหมายเขาเรียกว่าความเสียหายจากการรักษาพยาบาลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้    คุณหมอไม่ต้องรับผิด
   โดยสรุปแล้ว  ความเสียหายที่เกี่ยวข้องจึงแยกแยะได้ดังนี้
        ๑)+๒) ความเสียหายหลังออกจากโรงพยาบาลเช่น “ตัดขา”
        ๑) ความเสียหายจากอาการของโรคโดยแท้ เช่นแผลลามมาก่อนแล้ว  ต้องถูกตัดขาอยู่ดี
       ๒) ความเสียหายจากการรักษาพยาบาล
   ๒.๑)เสียหายเพราะรักษาไม่ได้มาตรฐานจนแผลติดเชื้อ
            
                ๒.๒) ความเสียหายที่รักษาดีแล้ว แต่ก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตามแผนผังข้างต้น ความเสียหายมี ๓ ชนิด คุณหมอต้องรับผิดเฉพาะ ๒.๑) คือรักษาไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น  ถ้าเสียหายเพราะโรคโดยแท้ คือ๑) หรือเป็นความเสี่ยงโดยสภาพของการรักษาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ได้คือ ๒.๒)ทั้งสองกรณีนี้คุณหมอไม่ต้องรับผิด   
ถาม   คดีที่มักจะเกิดขึ้นคือคดีอย่างไหนครับ
ตอบ   คือคดีที่ฟ้องตาม ๒.๑) ว่าหมอรักษาไม่ได้มาตรฐาน   แล้วหมอสู้ว่าได้มาตรฐานแล้วแต่ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะโรคโดยแท้ตาม ๑)  หรือเป็นความเสียหายจากการรักษาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตาม ๒.๒) ครับ
โครงสร้างกฎหมายในปัจจุบัน
ถาม   ในทางกฎหมายนั้น มีการจัดการความเสียหายหลังการรักษาพยาบาลอย่างไรบ้าง
ตอบ   ที่เป็นระบบทั่วไปนั้นรัฐจะไม่เข้ามายุ่ง  ปล่อยให้ชาวบ้านเขาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหมอหรือโรงพยาบาลเอาเอง    ข้างหมอหรือโรงพยาบาลเขาก็เฉลี่ยความเสี่ยงกันเองโดยการซื้อประกันความรับผิดทางวิชาชีพ  จากบริษัทประกันภัย   ซึ่งปัจจุบันก็ทราบว่าซื้อประกันกันแพร่หลายมากทีเดียว 
ถาม   แล้วระบบเฉพาะคืออะไรครับ
ตอบ   เป็นระบบเฉพาะในกองทุน ๓๐ บาทของรัฐเท่านั้น  ที่รัฐให้ประกันกับชาวบ้านว่า  ถ้าเสียหายเพราะหมอทำแล้วล่ะก็    ให้ยื่นขอชดใช้จากกองทุนได้เลยไม่ต้องไปฟ้องไปหาหลักฐานพิสูจน์กับใครให้เหนื่อยยาก  แล้วรัฐจะตรวจสอบให้เองถ้าพบว่าจริงก็จะจ่ายเงินชดเชยให้เลย  เพราะถือเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องประกันคุณภาพบริการของตน   
ถาม   เมื่อจ่ายเงินแล้วหมอที่รักษาผิดพลาดต้องจ่ายเงินให้ใครอีกไหมครับ
ตอบ   ระบบนี้กองทุนจะไปไล่เบี้ยเรียกจากหมอไม่ได้   เพราะถือเป็นการจ่ายตามหน้าที่ของรัฐเอง    ส่วนคนไข้จะติดใจไปฟ้องเรียกเงินจากหมอต่อไปอีกหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขาระบบอย่างนี้มีแต่การรักษาพยาบาลในโครงการ ๓๐ บาทเท่านั้น    ถ้าคุณไปรักษาในกองทุนประกันสังคมหรือใช้สิทธิข้าราชการ หรือโดยออกเงินเองก็ตาม  จะไม่มีระบบประกันคุณภาพแบบนี้    เกิดปัญหาคุณก็ต้องฟ้องหมอเอาเอง  ถ้าหมอมีประกัน ประกันเขาก็จะมาช่วยหมอเจรจากับคุณอีกแรงหนึ่ง
ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
ถาม   ถ้าร่างกฎหมายที่กำลังมีปัญหาในปัจจุบันนี้  ผ่านรัฐสภาจะเกิดอะไรขึ้นบ้างครับ
ตอบ   จะมีความเปลี่ยนแปลงเป็นนัยยะสำคัญดังตารางเปรียบเทียบต่อไปนี้ ครับ
                        โครงสร้างปัจจุบัน                                               โครงสร้างใหม่
๑. เอาเงินของรัฐมาเป็นประกันคุณภาพเฉพาะระบบ๓๐ บาทของรัฐเท่านั้น  หน่วยบริการระบบอื่นไม่ถูกบังคับให้มาร่วมประกัน   บังคับให้หน่วยบริการทุกระบบต้องวางเงินมารวมเป็นกองทุนประกันคุณภาพบริการของทุกระบบ  โดยแต่ละหน่วยอาจซื้อประกันเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้นต่อไปอีกก็ได้
๒. ไม่มีการผลักภาระค่าชดเชยไปยังประชาชนผู้รับบริการ  เพราะตัดมาจากกองทุน ๓๐ บาท   หน่วยบริการนอกระบบ๓๐ บาทจะต้องผลักภาระใหม่นี้มารวมในค่าบริการทั่วไป ส่วนตัวระบบ๓๐ บาทเองก็อาจลดเงินในส่วนนี้ลงอีก
๓.การตรวจสอบมาตรฐานในระบบประกันว่าแต่ละคดีมีการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐานหรือไม่  ยังใช้แพทย์วิชาชีพเฉพาะ
๔.โรงพยาบาลและหมอไม่คัดค้านอะไรเพราะไม่เกิดภาระทางการเงินและยังใช้หมอผู้ชำนาญเป็นผู้ตรวจมาตรฐาน   ใช้คณะกรรมการที่มีคนนอกวิชาชีพ ที่เป็นตัวแทนเอ็นจีโอ และส่วนงานอื่น มาร่วมตัดสินมาตรฐานด้วย
คัดค้านกันมากเพราะต้นทุนสูงขึ้นทั้งระบบและเห็นว่าเอาคนนอกมาชี้มาตรฐานวิชาชีพไม่ได้ ทุกวันนี้ก็เสี่ยงจะแย่อยู่แล้ว
ถาม   ผมฟังดูแล้วก็คล้ายๆกับกฎหมายที่บังคับให้รถทุกคันเอาประกันความเสียหายต่อบุคคลที่สามไว้ จึงจะต่อทะเบียนได้    เกิดอุบัติเหตุเมื่อใดผู้เสียหายก็ได้เงินจากบริษัทประกันเลย  โดยไม่ต้องมาเถียงกันว่าใครถูกใครผิด  ยังงี้ก็ดีนะครับ
ตอบ   ไม่เหมือนหรอกครับ  ตามร่างกฎหมายนี้มันยังยืนอยู่บนความรับผิดของหมอนะครับ   ถ้าเป็นเหตุสุดวิสัยกองทุนนี้ก็จะไม่จ่ายนะคุณ
แต่ ถ้าเปลี่ยนเสียใหม่ให้เป็นว่าใครเสียหายจากการรักษาก็เอาเงินไปเลยไม่ต้องหาว่าใครผิดอย่างนี้  ปัญหาโต้แย้งจะน้อยลงมาก   คงเหลือแต่ภาระทางการเงินเท่านั้น
   ว่ากองทุน ๓๐ บาทและผู้รับบริการนอกระบบ ๓๐ บาท จะรับภาระเงินกองทุนได้ไหม
   ปัญหาแรกจึงอยู่ที่ตรงนี้ก่อนว่าเราจะให้มีประกันความเสียหายชนิดใดบ้าง เอากว้างขวางถึงขนาดผิดหรือไม่ผิด ก็ให้ชดใช้ทุกกรณีเลยหรือไม่ คุณว่าอย่างไรล่ะครับ
ถาม   ถ้าคิดเป็นสวัสดิการก็ต้องช่วยเหลือทั้งหมดแหละครับ  ใครขาหายไปจากอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยก็ต้องช่วยทั้งนั้น   ต้องมาจากเงินรัฐทั้งหมดด้วย     แต่ถ้าคิดเป็นการประกันคุณภาพของบริการว่าจะไม่มีความผิดพลาด  อย่างนี้ก็จะต้องจำกัดการชดใช้แต่เฉพาะกรณีรักษาไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น  ผมว่าเอาแค่ประกันคุณภาพก่อนก็พอนะครับเรื่องสวัสดิการไปว่าอีกเรื่องหนึ่งดีกว่า
ตอบ   โอเค...ความคิดคุณชัดเจนแล้ว    ปัญหาต่อไปต้องถามว่ารัฐมาจัดตั้งกองทุนประกันเองทำไม?    ทำไมไม่ทำแบบประกัน พรบ. คือออกกฎหมายบังคับให้ทุกสถานบริการต้องซื้อประกันความรับผิดบุคคลที่สามจากบริษัทประกันภัย ตามกรมธรรม์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด   อย่างนี้คุณว่าจะดีกว่าให้รัฐตั้งกองทุนประกันเสียเอง ดังร่าง
กฎหมายนี้หรือไม่
ถาม   วิธีนั้นเอกชนเขาก็ทำกันมากอยู่แล้วนะครับ    แต่มันจะมีปัญหาโยกโย้ตอนเคลม
   ประกันมากนะครับ    ให้รัฐทำมันจะจ่ายง่ายกว่าแน่ๆ
ตอบ   ปัญหาตรงนี้ผ่อนคลายได้   ออกกฎหมายไปเลยให้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
รับคำขอเคลมประกันจากผู้เสียหายก่อน    แล้วเสนอความเห็นไปยังบริษัทประกัน  ได้ผลอย่างไร ใครยังไม่พอใจก็ค่อยไปถึงศาลอีกทีหนึ่ง   กลไกอย่างนี้จะช่วยให้ความเป็นธรรมได้มากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน
ถาม   ตรงนี้ก็มาถึงปัญหาสุดท้ายว่า   การสืบข้อมูลและตรวจมาตรฐานการให้บริการในคดี
เคลมประกันไม่ว่าจะประกันแบบใดนั้น   เราควรให้คนนอกวิชาชีพมาตัดสินหรือไม่
ตอบ   ผมเองเป็นนักกฎหมายผมมองไม่ออกว่าอยู่ดีๆถ้าผมไปนั่งเป็นกรรมการนี่  แล้วผมจะ
   มีความรู้ไปชี้ขาดอย่างนั้นอย่างนี้ได้อย่างไรในปัญหาอย่างนี้     ชี้ไปแล้วให้หมอเป็น
   ฝ่ายแพ้จนผู้เสียหายได้เงินไปจำนวนหนึ่ง   เขาก็จะไปฟ้องเรียกเงินเพิ่มจากหมออีก
   ต่างหาก เกิดคดีเพิกถอนใบอนุญาตตามมาอีกด้วย   
ปัญหาอย่างนี้พวกหมอเขาจึงต้องวิตกมากเป็นธรรมดาว่า  จะเอาใครที่ไหนมาชี้ขาดมาตรฐานนี้   ตรงนี้ผมเข้าใจและเห็นใจเขานะคุณ  คนไข้โรคเดียวกันแต่คนละสังขารนี่มาตรฐานก็ต่างกัน   โรคเดียวกันแต่คนละโรงพยาบาล  มีความพร้อมของเครื่องมือ
ประสบการณ์  ปริมาณงานไม่เท่าเทียมกัน  มาตรฐานมันก็ต่างกันได้อีก   คนที่จะวินิจฉัยปัญหาเรื่องมาตรฐานนี่  จึงต้องเป็นมืออาชีพที่มีวิจารณญาณจริงๆ  จึงจะให้ความเป็นธรรมได้ต่อทั้งสองฝ่าย
ถาม   แล้วหลักประกันนี้มันควรจะเป็นอย่างไร
ตอบ   เป็นผม ผมจะมีกองทุนให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย  มีอำนาจเรียกข้อมูลสถานบริการที่เกี่ยวข้องแทนผู้เสียหาย  มีนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญประจำ   สู้แทนผู้เสียหายได้ทุกชั้นจนไปถึงชั้นศาล  ว่ากันแฟร์ๆตรงตัวกระบวนการอย่างนี้   ผมว่าคุณหมอเขาปฏิเสธไม่ได้หรอกครับ  แต่เอาตัวแทนเอ็นจีโอจากไหนก็ไม่รู้มานั่งวินิจฉัยมาตรฐานของหมอนี่   เป็นผม..ผมก็ไม่ยอมแน่นอน
ถาม   นอกจากปัญหาหลักสามประการที่กล่าวมาแล้ว   ปัญหาในระดับภาพรวมคืออะไรครับ
ตอบ   ความคิดของซุ้มนี้   เขามุ่งเขาฝันจะรวมเอาทุกระบบมารวมกันหมดมานานแล้ว   จะเอาทั้งกองทุนประกันสังคม,กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือแม้กระทั่งเงินประกันสุขภาพที่ชาวบ้านเขาลงทุนซื้อประกันไว้เป็นส่วนตัว   เขาก็คิดจะเอามารวมกับกองทุน ๓๐ บาทให้ได้  ตอนเป็น สว.ผมค้านถึงที่สุดเลย  คนไม่เหมือนกันจะมาลิดรอนสิทธิของเขา โดยรวมปฏิบัติเท่ากันหมดได้อย่างไร
เรื่องประกันความเสียหายนี่ก็เอาอีกว่า  ต้องรวมเป็นระบบเดียวทั้งประเทศ  แล้วพอเรายอมจนเกิดอำนาจกลางขึ้นมา  ก็จะมีพื้นที่ให้ซุ้มของตนไปตั้งรกรากใช้อำนาจใช้ทรัพยากรนั้นอีกจนคนเขาไม่ไว้วางใจไปทั่วอีกชั้นหนึ่ง    เป็นอย่างนี้ทุกที
ภาพรวมของปัญหาอย่างนี้จึงมีคำถามรวบยอดที่สุดอยู่ตรงที่ว่า
 “ เราจะยอมรับระบบรวมศูนย์แบบเทพเจ้าแห่งความหวังดีนี้กันต่อไปอีกหรือไม่ ? ”   
                                            ...............................
         

ขออภัยที่ส่งรูปมาให้ไม่เป็นค่ะ

4
คำบอกกล่าว
   ครับ..เขาจะตั้ง“กองทุนอิสระ”กันอีกแล้ว   คราวนี้มาในนามของการคุ้มครองผู้เสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขที่ผิดพลาด       คราวหน้าเมื่อถึงคราวนำเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศนี่ก็คงโผล่ออกจากกระเป๋าอีกหลายกองทุนด้วยกันเป็นแน่
คำว่ากองทุนนี่..ผมหมายถึงกองทุนที่ตั้งขึ้นด้วยอำนาจรัฐแล้วมีกฎหมายบังคับเอาเงินจากส่วนรวมเป็นปกติธุระ   มารวมกันให้ไปใช้จ่ายทำงานอย่างหนึ่ง เช่น
๑. กองทุนสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพ ( สสส.) ตัดเอาเงินจากภาษีบาป ในอัตราแน่นอนปีละประมาณ ๓,๕๐๐ ล้านบาท
๒. กองทุน ดำเนินการทีวีสาธารณะ ( ไทยพีบีเอส) ตัดเอาเงินจากภาษีบาปในอัตราแน่นอนปีละประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท
๓. กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข   กำลังจะจัดตั้งโดยตัดเงินจากกองทุนประกันสุขภาพของรัฐมารวมกับเงินที่บังคับเก็บเอาจากโรงพยาบาล คลินิกทุกแห่ง
 ( รวมทั้งร้านขายยาด้วย?) ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาทแน่นอน
กองทุนที่กล่าวมาข้างต้น  ผมเรียกว่ากองทุนอิสระ   เพราะมีคณะกรรมการอิสระพร้อมสำนักงานและอำนาจหน้าที่แยกจากราชการ    ไม่มีทั้งการสั่งการและกำกับดูแลโดยรัฐมนตรีใด  ตัวกรรมการจะมาจาก เอ็นจีโอจำนวนมาก   
ที่มาของกองทุนอิสระเหล่านี้จะเริ่มผลักดันภารกิจส่วนรวมอันดูดีออกมาเสียก่อนจากนั้นจึงกล่าวอ้างว่าเป็นงานที่ต้องพ้นจากนักการเมือง  ด้วยเหตุที่ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ หรือการมีส่วนร่วมนานา   แล้วก็สร้างกลไกการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยการเลือกกันเอง หรือเลือกกันเองแล้วส่งไปให้คนอื่นให้ความเห็นชอบ 
 จนนานไปก็กลายเป็นถิ่นฐานของซุ้มเอ็นจีโอ ที่ทำงานไปโดยไร้การประเมิน ไร้การตรวจสอบ เล่นพรรคเล่นพวก ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยรั่วไหล    นำเงินที่บังคับเก็บจากส่วนรวมมาใช้ เหมือนราชการและนักการเมือง   แต่กลับมีอภิสิทธิ์ยิ่งกว่านักการเมืองมาจนทุกวันนี้
กองทุนอิสระอย่างนี้ ถึงเวลาที่ต้องตรวจสอบเพื่อปฏิรูปกันได้แล้วว่า     แท้ที่จริงนั้นก็เป็นการหนีเสือ คือหนีนักการเมืองมาปะจระเข้ที่ดูดีแต่ไม่ดีจริง  ใช่หรือไม่        ดังในกรณีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขที่ผิดพลาด ในครั้งนี้     ก็มีทางเลือกที่น่าจะหนีเสือแล้วไม่ปะจระเข้เอ็นจีโอ ได้เหมือนกัน  กล่าวคือ

ความเสี่ยงในการรักษาพยาบาล และทางเลือกของรัฐในการสร้างหลักประกัน
   คนป่วยเบาหวานเข้าโรงพยาบาล มีอาการเป็นแผลที่ขาขวาลุกลามไม่หยุดจนขาดำไปข้างแล้ว  หมอรับรักษาแล้วก็ต้องตัดขาทิ้ง  ถามว่าการที่ขาหายไปข้างหนึ่งนี้เป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาลหรือไม่?  คำตอบคือไม่ใช่   กรณีอย่างนี้ถ้ารัฐจะช่วยเหลืออย่างไร  ก็เป็นเรื่องของสวัสดิการผู้พิการโดยทั่วไปเท่านั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุขเลย     อย่าเอาเรื่องน่าสงสารอย่างนี้มาปนกับการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรักษาพยาบาล
   กรณีที่สอง  ผู้ป่วยเป็นต้อกระจกให้หมอผ่าตัดตา  แต่ฉีดยาชาแล้วตาบอดถาวร  อย่างนี้เป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาลแน่นอน   จะโทษว่าตาบอดเพราะต้อกระจกไม่ได้   ความเสียหายอย่างนี้มีสาเหตุได้ ๒ ลักษณะคือ
หมอผิด  เพราะรักษาไม่ได้มาตรฐาน  เช่นฉีดยาชาไม่ถูกต้อง ทำลายเส้นประสาทในดวงตา
หมอไม่ผิด หมอรักษาได้มาตรฐานฉีดยาและใช้ยาถูกต้องทุกอย่างแล้ว   แต่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ไม่อาจตรวจสอบพบได้  จึงแพ้ยาชา 
ในสภาวะข้างต้นถ้ารัฐไม่ทำอะไรเลย   ชาวบ้านก็ต้องคอยหาสาเหตุ คอยทวง คอยฟ้อง
จากหมอเอาเอง   สภาพเช่นนี้หลายประเทศเห็นว่าไม่พึงประสงค์ จำเป็นที่รัฐต้องใช้อำนาจเข้ามาสร้างระบบจัดการดูแลความเสี่ยงนี้ให้มีหลักประกันที่ดีกว่า  ก็ต้องใช้อำนาจบังคับให้เกิดหลักประกัน ได้ดังทางเลือกต่อไปนี้
๑.   รับประกันเฉพาะกรณีที่หมอผิดเท่านั้น  ทำได้โดย
๑.๑) รัฐออกเงินตั้งกองทุนเป็นประกันเสียเอง  ( วิธีนี้ปัจจุบันใช้อยู่ในไทยเฉพาะการรักษาพยาบาลที่อยู่ในกองทุน ๓๐ บาท ระบบอื่นทั้งประกันสังคมและข้าราชการและที่ซื้อบริการโดยปกติทั่วไปจะไม่มีหลักประกันนี้  )
๑.๒) รัฐออกกฎหมายบังคับให้ทุกสถานบริการต้องซื้อประกันจากบริษัทประกันภัยว่าถ้าตนรักษาผิดพลาดเมื่อใด บริษัทประกันจะจ่ายแทน  ( วิธีนี้ปัจจุบันยังไม่มีการบังคับ  ปล่อยให้หมอหรือโรงพยาบาลซื้อประกันเอาเอง )
๒. รับประกันทุกกรณีไม่ว่าหมอจะผิดหรือไม่ก็ตาม ทำได้โดย
              ๒.๑)  รัฐออกกฎหมายเรียกเก็บเงินจากทุกสถานบริการมารวมเป็นกองทุน โดยตั้ง
         คณะกรรมการพร้อมสำนักงานขึ้นบริหารโดยเฉพาะ ( วิธีนี้ซุ้มเอ็นจีโออ้างว่าอยู่ใน
         ร่างกฎหมายใหม่ของตน  แต่พอตรวจทานตัวร่างจริงๆ พบว่ายังยืนอยู่บน ๑.๑) คือ
                  ชดใช้เฉพาะเมื่อหมอทำผิด  แต่ขยายกรอบบังคับให้ทุกระบบการรักษาต้องถูกเก็บ
         เงินมาเข้ากองทุน และอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของกรรมการกองทุน ที่เขียนใหม่ให้เอ็นจี
         โอเข้ามาเต็มไปหมดพวกหมอจึงไม่ยอม  ที่จะให้ใครไม่รู้มาตัดสินมาตรฐานการ
         ทำงานของตน )
     ๒.๒) รัฐไม่เข้ามาดำเนินการเอง แต่จะออกกฎหมายบังคับให้ทุกสถานบริการและทุก
      บุคลากรต้องซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันตามกรมธรรม์มาตรฐานที่รัฐกำหนด
                ( วิธีนี้สวีเดนทำถึงขนาดให้รัฐตั้งรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทประกันภัยเพื่อการนี้
        โดยเฉพาะ )
ทางเลือกของผู้บริโภค
   การขยายหลักประกันตามข้อเสนอของซุ้มเอ็นจีโอในครั้งนี้   จะต้องเรียกเก็บเงินสมทบจากทุกสถานบริการและทุกบุคลากร  ว่ากันว่าจะเลยไปถึงการขายยาในร้านขายยาเลยทีเดียว  เงินนี้จะเก็บกันเท่าใด  ตกมาถึงผู้บริโภคที่เสียหายเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่   หรือไหลไปเป็นค่าบริหารกองทุน กว่า ๑๐%   แล้วมีเอ็นจีโอนั่งยิ้มรับจ๊อบทำงานอยู่เ ต็มไปหมด 
 จริงหรือไม่ว่าความรั่วไหลเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับกองทุน ๓๐ บาท   ที่ปัจจุบันมีหนี้สินค้างชำระโรงพยาบาลต่างๆ ที่ สตง.ตรวจพบกว่า ๑ พันล้านบาท  จนทำให้ต้องมา กดราคาโรงพยาบาลคู่สัญญา  ทำให้หลายโรงพยาบาลต้องบอกเลิกรับงาน ๓๐ บาท กันมากมายจนทุกวันนี้     
นอกจากความโปร่งใสแล้ว  ความแตกต่างระหว่างการประกันตาม ๑ และ ๒ ว่าจะประกันเฉพาะกรณีที่หมอผิด หรือรับทั้งกรณีหมอไม่ผิดด้วยนั้น    ทั้งสองทางเลือกนี้คิดเป็นมูลค่าเพิ่มที่จะตกแก่ผู้บริโภคเท่าใด   ใครบ้างที่ต้องจ่ายและจ่ายโดยเท่าเทียมเป็นธรรมหรือไม่
ก็เป็นปัญหาที่ซุ้มเอ็นจีโอผู้เสนอนี้ต้องทำให้กระจ่างด้วยเช่นกัน
ทางเลือกของบุคลากรด้านสาธารณสุข
   สำหรับบุคลากรสาธารณสุขตั้งแต่คุณหมอทั้งหลายลงไปนั้น   ทางเลือกที่ให้มีการประกันความเสียหายโดยไม่ต้องสอบสวนเอาผิดใคร   ใครเสียหายก็ใช้ให้ไปเลยเหมือนการประกัน พรบ.รถยนต์  ว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุโดยรถคันนี้เกี่ยวข้องด้วยก็เอาไปเลย ๒ หมื่นบาท   จะเอามาก กว่านี้ก็ไปฟ้องกันเองว่ารถคันนี้ผิด    วิธีนี้น่าจะเป็นสุขด้วยกันทุกฝ่ายและไม่มีเอ็นจีโอมาคอยตรวจทานมาตรฐานสาธารณสุขทั้งที่ไม่รู้เรื่องอีกต่อไป   ยังความสบายใจได้หมดทุกคน
ถ้ารับกันได้ตามนี้  ก็ต้องร่างกฎหมายออกมาให้ชัดเจน  ไม่ใช่ร่างแบบซ่อนเงื่อนจะเอาผิดหมอ
เหมือนร่างของ เอ็นจีโอ ปัจจุบัน   
การยืนกรานว่า “อย่ามายุ่งกับหมอนะ  เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว” จึงหาใช่ทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายเลย
ทางเลือกของรัฐ
ส่วนปัญหาสุดท้ายว่าจะทำเป็นกองทุนประกันภัย ให้รัฐบังคับเก็บจากทุกหน่วยบริการ   หรือจะทำแค่ตรากฎหมายบังคับให้ทุกหน่วยต้องเอาประกันความเสียหาย โดยซื้อประกันจากบริษัทประกันภัย เหมือนประกัน พรบ.รถยนต์นั้น   ตรงนี้รัฐก็น่าจะรู้ตัวดีว่าไม่มีใครเชื่อคุณเลย
 ทางเลือกที่มี จึงเหลือแต่เพียงว่า  จะยอมให้บริษัทประกันภัยเขารับงานนี้  โดยตนเองคอยคุมมาตรฐานไว้   หรือจะโอนอำนาจให้ซุ้มเอ็นจีโอรับงานไปตั้งกองทุนอิสระอีกเช่นเคย   
ทางเลือกไหนที่ผู้บริโภคและบุคลากรสาธารณสุขเขาจะรับได้มากกว่ากัน   ก็เป็นเรื่องที่ท่าน“รัฐ”   ท่านน่าจะตระหนักและตัดสินใจให้สมกับความรับผิดชอบของตนได้แล้ว    ถ้ายังทำตัวเป็นคนกลางจัดเจรจาเช่นทุกวันนี้     หรือตัดสินใจเตะออกโดยมอบให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศเขาศึกษาดู    ก็โปรดว่ามาให้ชัดเจนด้วยเถิด  จะได้เห็นกันว่า  ท่านได้ตัดสินใจจะไม่ตัดสินใจ   (อีกครั้งแล้ว)
                                                       .........................

หน้า: [1]