แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - knife05

หน้า: [1] 2 3 4
1
 รอยเตอร์ - สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทรงมีพระราชประสงค์สละราชสมบัติในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลังทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ระหว่างครองราชย์พยายามเยียวยาบาดแผลสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐเอ็นเอชเคและสื่อมวลชนท้องถิ่นอื่นๆ ในวันพุธ (13 ก.ค.)
       
       สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเครายงานว่าสมเด็จพระจักรพรรดิพระชนมายุ 82 พรรษา ซึ่งเคยเข้ารับการผ่าตัดพระหทัย (หัวใจ) และเคยรับการรักษาต่อมลูกหมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทรงแสดงพระราชประสงค์สละราชสมบัติต่อสำนักพระราชวัง (Imperial Household Agency)
       
       อย่างไรก็ตาม เอ็นเอชเคไม่ได้เอ่ยถึงเหตุผลของการสละราชสมบัติ ส่วนเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังก็ไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าว
       
       สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวรัฐบาลระบุว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงแสดงพระราชประสงค์สละราชสมบัติให้บุคคลใกล้ชิดทราบมานานนับปีแล้ว แม้ข่าวอีกชิ้นของเกียวโดนิวส์อ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักพระราชวัง ระบุว่ารายงานดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง
       
       สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงปรับลดพระราชกรณียกิจมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมอบหน้าที่บางส่วนแก่เจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น พระชนมายุ 56 พรรษา
       
       ทั้งนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงพระราชสมภพในปี 1933 และขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระนามตามชื่อรัชสมัยที่ญี่ปุ่นสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2
       
       สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทรงมีพระราชดำรัสในวาระครบรอบ 70 สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปีที่แล้ว ด้วยทรงแสดงความ “สำนึกผิดอย่างยิ่ง” ต่อสงครามที่กองทัพญี่ปุ่นได้กระทำลงไปในนามของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระราชบิดาของพระองค์ ซึ่งต่างจากพระราชดำรัสก่อนหน้านี้ และถูกมองว่าเป็นความพยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่มรดกแห่งสันตินิยมที่กำลังถูกคุกคามจากพวกชาตินิยม
       
       “ในการรำลึกถึงสงครามที่ผ่านมาด้วยความสำนึกผิดอย่างยิ่ง และหวังอย่างจริงใจว่าโศกนาฏกรรมเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ข้าพเจ้าพร้อมด้วยประชาชนชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ที่บาดเจ็บล้มตายในสงคราม และขอภาวนาให้โลกจงประสบแต่สันติสุข และประเทศของเราจงมีความเจริญก้าวหน้าสืบไป” พระราชดำรัสของสมเด็จพระจักรพรรดิซึ่งพระราชทานที่กรุงโตเกียว
       
       โคอิชิ นาคาโน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโซเฟียในโตเกียว ระบุว่า “ในขณะที่บิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิที่เต็มไปด้วยข้อถกเถียง แต่ในส่วนของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกยุคหลังสงครามที่อ้าแขนรับรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพและทรงมีบทบาทในฐานะสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาติ” เขากล่าว “พระองค์จัดการกับประเด็นสงครามและความปรองดอง (กับประเทศเอเชียอื่นๆ) ได้ดีเยี่ยม และเจ้าชายนะรุฮิโตะ ทรงแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าพระองค์จะเดินตามเส้นทางนั้น”
       
       สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทรงเสาะหาความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างญี่ปุ่นกับโลกภายนอกผ่านการเสด็จเยือนต่างแดน และในปี 1992 ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกของญี่ปุ่นในช่วงความทรงจำที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนซึ่งมีความทรงจำอันขมขื่นเกี่ยวกับการรุกรานของทหารญี่ปุ่นในอดีต
       
       การสละราชสมบัติครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ที่สมเด็จพระจักรพรรดิ โคคาคุ ทรงสละราชสมบัติเมื่อปี 1817 ก่อนยุคปฏิวัติเมจิ
       
       มิโกะ โคดามะ ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยมูซาชิ บอกว่าจำเป็นต้องมีการแก้กฎมณเฑียรบาลเพื่อเปิดทางให้สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะสละราชสมบัติ กระบวนการที่อาจต้องใช้เวลานานและเปิดอภิปรายในรัฐสภา
       
       ภายใต้รัฐธรรมนูญหลังสงครามที่ร่างโดยสหรัฐฯ สมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นทรงเป็นสัญลักษณ์ของรัฐและความเป็นหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน แต่ไม่มีอำนาจทางการเมือง
       
       สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายนะรุฮิโตะ เจ้าอะกิชิโนะ และ อดีตเจ้าหญิง เจ้าโนะริ ที่สมรสกับสามัญชน และต้องสละฐานันดรศักดิ์


โดย MGR Online       13 กรกฎาคม 2559

2
เอเจนซีส์ / MGR online - ทางการอินเดียเผยยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจากเหตุการณ์ไม่สงบในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ของตน เพิ่มจำนวนเป็นอย่างน้อย 36 ศพ หลังเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจล ขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บพุ่งสูงเกินกว่า 1,500 ราย หลายรายในจำนวนนี้มีอาการสาหัส
       
       การปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจลอินเดียมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ผู้ประท้วงจำนวนหลายร้อยคนฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวห้ามออกจากเคหสถานที่ทางการอินเดียนำมาบังคับใช้ ในพื้นที่ตอนใต้ของเขตปุลวา มา เพื่อหวังสกัดการเคลื่อนไหวของฝูงชนที่โกรธแค้นต่อการเสียชีวิตของ “บูร์ฮาน วานี” ผู้นำกลุ่มฮิซบุล มูจาฮิดีน ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลอินเดีย และถูกสังหารเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการดวลปืนกับกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาล
       
       การเสียชีวิตในวันศุกร์ (8) ของวานีซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในการปลุกระดมคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลอินเดีย คือต้นตอสำคัญที่นำไปสู่การประท้วงและเหตุรุนแรงตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 36 ราย รวมถึงตำรวจปราบจลาจล 1 นายที่เสียชีวิตในเขตอนันตนาค ภายหลังจากกลุ่มผู้ประท้วงช่วยกันผลักรถหุ้มเกราะของเขาตกลงไปในแม่น้ำสายหนึ่ง
       
       ขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บพุ่งสูงเกินกว่า 1,500 ราย หลายรายในจำนวนนี้มีอาการสาหัส
       
       ทางการอินเดียออกมายืนยันในเวลาต่อมาว่า นอกเหนือจากการใช้แก๊สน้ำตาและยุทโธปกรณ์เพื่อการควบคุมฝูงชนตามปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลในจัมมูและแคชเมียร์ยังมีการใช้ “กระสุนจริง” ในระหว่างภารกิจการบุกเข้าสลายการประท้วงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงการตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตในพื้นที่
       
       นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนอย่างน้อย 36 รายแล้ว เหตุการณ์ไม่สงบล่าสุดในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ในครั้งนี้ยังส่งผลให้มีผู้ ได้รับบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย รวมถึงตำรวจปราบจลาจลอินเดียจำนวน 90 นาย
       
       ทั้งนี้ แคชเมียร์กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการเผชิญหน้า และการปะทะกันหลายครั้งหลายหนระหว่างอินเดียกับปากีสถานตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกันในปี 2003
       
       โดยชาติเพื่อนบ้านทั้งสองซึ่งต่างมี “อาวุธนิวเคลียร์” ไว้ในครอบครอง ต่างอ้างกรรมสิทธิ์และอธิปไตยของตนเหนือดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยอันสวยงาม แห่งนี้ โดยที่อินเดียเป็นฝ่ายยึดครองดินแดน 2 ใน 3 ส่วนของแคว้นแคชเมียร์ ขณะที่ปากีสถานได้ครอบครองแคชเมียร์ในอีก 1 ส่วนที่เหลือ ท่ามกลางรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนหลายพันรายที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในพื้นที่ตลอด 20 ปีหลังสุด

โดย MGR Online       14 กรกฎาคม 2559

3
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยกเลิกประกาศฉบับเดิมปี 2547 งดเว้นการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการ หรือ คณะกรรมการในองค์กรอิสระ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่
       
       วันนี้ (13 ก.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 40/2559 เรื่อง ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 จากเดิมที่ให้มีการสรรหาบุคคลเพื่อดํารงตําแหน่งแทนตําแหน่งที่ว่าง ในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
       
       หัวหน้า คสช. อาศัยความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้งดเว้นการสรรหา จนกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ จะมีผลใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ส่วนบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าว ให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นต่อไป แม้จะครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว จนกว่าจะมีการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ หรือจนกว่ามีคำสั่งเป็นอย่างอื่น



โดย MGR Online       13 กรกฎาคม 2559

4
คนในดีเอสไอเผยวัดในเครือข่ายธรรมกายรุกที่ป่ายังไม่หมด เบื้องต้นพบ 75 แห่งที่เข้าข่ายผิด ทั้งรุกที่ป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ ส่วนพื้นที่รวมยังไม่สามารถสรุปได้ ชี้จุดใหญ่อยู่ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ 4,000 ไร่ ที่เข้าตรวจสอบบ้างแล้ว เผยศูนย์ปฏิบัติธรรมตามต่างจังหวัดคือวิธีการสะสมที่ดินของธัมมชโช และปั้นศูนย์ปฏิบัติธรรมตระกูล เวิลด์พีซฯ ทั้ง 4 แห่งเน้นรับลูกค้าไฮโซ ทุกอย่างไม่แตกต่างรีสอร์ตหรู
       

        สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย ไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจรกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จากกรณีเกี่ยวข้องกับการยักยอกเงินในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ได้แสดงหลักฐานว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยอาพาธด้วยโรคเบาหวาน เส้นเลือดดำใหญ่อุดตันที่ขาซ้ายและภูมิแพ้อยู่ จนในที่สุดศาลได้อนุมัติออกหมายจับ
       
       ขบวนการปกป้องพระธัมมชโยโดยคณะศิษย์จึงเกิดขึ้น มีการเชิญชวนผู้คนเข้ามาปฏิบัติธรรม โดยหนึ่งในผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมพบว่ามีคนที่เคยร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงเข้าไปในนั้นด้วย จนเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่สามารถดำเนินการใดๆ ตามหมายค้นได้ เนื่องจากเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลาย
       
       เมื่อกระบวนการดำเนินการตามกฎหมายกับพระธัมมชโยต้องสะดุดลง มีการเปิดใหม่ด้วยการที่พระเมธีธรรมาจารย์ หรือท่านเจ้าคุณประสาร จึงออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ หลังจากที่กฤษฎีกาตีความเรื่องการแต่งตั้งออกมาแล้วว่ามติของมหาเถรสมาคมดำเนินการถูกต้อง และเดินเครื่องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำเนินการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่
       
       พร้อมทั้งกล่าวว่าองค์กรพุทธพร้อมภาคีเครือข่ายจะรอดูท่าทีทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้องภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะกำหนดท่าทีร่วมกันในการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ทั่วประเทศ จนกลายเป็นการตอบโต้กันไปมาระหว่างพระเมธีธรรมาจารย์กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

        วัดในเครือธรรมกายรุกที่ป่า
       
       ขณะที่ภาครัฐเดินหน้ารุกตรวจสอบที่ดินต่าง ๆ ตามนโยบายทวงคืนพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ที่ฮือฮากันมากคือ กรณีสนามแข่งรถที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ที่นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของโบนันซ่าอยู่ในสายของพรรคเพื่อไทย
       
       การเข้าไปตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่ายังคงเดินหน้าต่อไปในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการตรวจพบการบุกรุกที่ป่าสงวนของวัดในเครือข่ายของวัดพระธรรมกายตามจังหวัดต่าง ๆ
       
       6 กรกฎาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ พร้อมด้วยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) และฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบโครงการเวิลด์พีซ วัลเล่ย์ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสาขาของวัดพระธรรมกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 บ้านหนองจอก ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
       
       พื้นที่ของโครงการ เวิลด์พีซ วัลเล่ย์ มีที่ดินประมาณ 500 ไร่ แบ่งเป็นมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 62 ไร่ เป็น นส.3 ก. 10 แปลง เนื้อที่ 230 ไร่ และไม่มีเอกสารสิทธิ ประมาณ 205 ไร่
       
       จากการตรวจสอบการก่อสร้างพบความผิดที่เห็นได้ชัดเจน คือ 1.ก่อสร้างอาคารขนาด 11 ชั้น และกำลังตรวจสอบว่าอาคารดังกล่าวมีการจัดทำรายการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA ) หรือไม่ และยังมี อาคารทรงกลม 3 ชั้น (จานบิน) กีดขวางทางน้ำสาธารณะ 2.สร้างอาคารกีดขวางทางสาธารณะเดิม และ 3.ขุดเจาะบ่อบาดาลโดยไม่ได้รับอนุญาต
       
       นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้เคียงกันพบว่าที่วัดเขาวง ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง ซึ่งเป็นวัดสาขาธรรมกายอีกแห่งหนึ่ง ผลการตรวจสอบพบว่า บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูงและป่าเขาอ่างหิน จำนวน 26 ไร่ มีการสร้างกุฏิหลังเล็กบนภูเขา ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ นับ 10 หลัง พร้อมมีการปักเสาไฟฟ้าในที่ดินป่าสงวนฯ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ
       
       จากนั้น 8 กรกฎาคม 2559 มีการเข้าไปตรวจสอบศูนย์ฝึกอบรมเยาวชน วัดโมคคัลลานะ ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สาขาของวัดพระธรรมกาย โดยวัดดังกล่าวตั้งอยู่ในหุบเขาบนดอยสูง มีการปลูกสร้างอาคารที่พัก และศาลาอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ และอาคารโรงฉันอย่างหรูหราเป็นอาคาร 2 ชั้น มีไฟฟ้าและติดเครื่องปรับอากาศ รวมอาคารที่ปลูกสร้างทั้งหมดเกือบ 10 หลัง
       
       จากการตรวจสอบภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศพบว่า มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าจอมทอง จำนวน 14 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา ส่วนที่มีเอกสารสิทธิอยู่นอกเขตป่าจำนวน 4 ไร่
       
       12 กรกฎาคม 2559 คณะตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่านำหมายค้นศาลจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 578/2559 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2559 เข้าตรวจยึดพื้นที่บุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เนื้อที่ 97 ไร่เศษ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นของวัดถ้ำเนรมิต เลขที่ 2 หมู่ 6 ต.แม่กระบุง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี และเป็นวัดศูนย์สาขาวัดพระธรรมกาย ซึ่งจะมีการตรวจสอบการกระทำความผิดข้อหาบุกรุกต่อไป
       
       ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้มีการตรวจสอบสถานปฏิบัติธรรมมุกตะวัน เกาะยาว จ.พังงา ของวัดพระธรรมกาย เกาะยาวสภาพพื้นที่เป็นภูเขาล้อมรอบ 4 ด้าน ซึ่งต้องรอสอบปากคำของเจ้าของเอกสารสิทธิดังกล่าวก่อน
       
       ธรรมกายรุกที่ป่าอีก 75 แห่ง
       
       แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การเข้าไปตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนนั้น เป็นการตรวจโดยไม่ได้เจาะจงไปที่ใดที่หนึ่ง เพียงแต่ในการตรวจสอบนั้นพบวัดในเครือข่ายของวัดพระธรรมกายรวมอยู่ด้วย ซึ่งการดำเนินการกับกรณีอื่นก็กระทำโดยมาตรฐานเดียวกัน
       
       ตอนนี้ที่เห็นว่ามีการเข้าไปตรวจสอบวัดในเครือของวัดพระธรรมกายเป็นพิเศษนั้น เนื่องจากเป็นที่สนใจของประชาชนและสื่อเลือกนำเสนอข่าว ทั้งนี้เนื่องจากวัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมในเครือของวัดพระธรรมกายนั้นมีมาก ซึ่งทั่วประเทศมีถึง 6,968 แห่ง
       
       เบื้องต้นเฉพาะเครือข่ายของวัดพระธรรมกาย ตอนนี้ตรวจพบว่ามีอยู่ราว 75 แห่งที่เข้าข่ายบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน หรือไม่มีเอกสารสิทธิที่ถูกต้อง ยังไม่สามารถสรุปออกมาได้ว่าพื้นที่ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายนั้นเป็นพื้นที่เท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเข้าไปตรวจสอบให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนที่ถูกต้องก็ไม่มีอะไร
       
       ขณะนี้ต้องรอความชัดเจนที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมมุกตะวัน ที่จังหวัดพังงา ซึ่งเข้าข่ายสงสัยแต่ต้องรอผลการตรวจสอบอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ เช่น ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งก็มีการตรวจสอบกันบ้างแล้ว แต่สถานที่เหล่านี้จะมีการแบ่งออกเป็นหลายส่วน เช่น วัดกิ่วลม สวนสุขสว่าง สวนพนาวัฒน์ สนแก้ววนาราม พื้นที่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 พันไร่ แต่ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง
       
       นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกส่วนหนึ่งที่กำลังดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่
       

        ตระกูลเวิลด์พีซฯ เน้นรับไฮโซ
       
       แหล่งข่าวที่ติดตามเรื่องวัดพระธรรมกายกล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติธรรมของวัดพระธรรมกายมีหลายระดับ เพื่อรองรับผู้ปฏิบัติธรรมแต่ละกลุ่ม โดยตระกูลเวิลด์พีซฯ ถือเป็นกลุ่มพรีเมียมมี 4 แห่งคือ ที่เขาใหญ่ มุกตะวัน (พังงา) ภูเรือ (เลย) และที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเข้าไปปฏิบัติธรรม
       
       พื้นที่ของศูนย์ปฏิบัติธรรมของเครือข่ายวัดพระธรรมกายนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นชื่อของมูลนิธิธรรมกาย หรือมูลนิธิอื่น เป็นชื่อของโยมที่ใกล้ชิดกับพระธัมมชโย บางส่วนก็เป็นชื่อของพระธัมมชโยเอง โดยพื้นที่ในระดับพรีเมียมนั้นจะเน้นไปที่ความสวยงามของพื้นที่ การก่อสร้างต่าง ๆ จะมุ่งไปที่ความสะดวกสบายไม่แตกต่างกับโรงแรมหรือรีสอร์ตชั้นนำ
       
       สำหรับการเลือกพื้นที่ในการสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมนั้น ในอีกด้านหนึ่งก็คือการสะสมที่ดินของท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพียงแต่ชั้นเรื่องสถานที่ปฏิบัติธรรมเป็นฉากหน้า ทำให้การได้มาซึ่งที่ดินเหล่านี้ทำได้ง่ายขึ้น ทั้งจากผู้มีศรัทธาที่มีต่อวัดเป็นทุนเดิม รวมไปถึงศิษยานุศิษย์ต่าง ๆ ที่มีทั้งระดับเศรษฐี ผู้นำท้องถิ่น ข้าราชการระดับสูง รวมไปถึงนักการเมืองในระดับรัฐมนตรียื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
       
       ตัวที่ดินจะเน้นไปที่สวย ทำเลดี ที่สำคัญต้องสามารถเปลี่ยนมือได้ง่าย จะเห็นได้ว่าในบางแห่งนั้นยากต่อการออกเอกสารสิทธิ แต่วัดก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีใครคัดค้าน แม้บางแห่งจะก่อตั้งมาเป็นสิบ ๆ ปี ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ ทั้งนี้เพราะทั้งลูกศิษย์และนักการเมืองต่างคอยช่วยเหลือ จนทำให้วัดแห่งนี้ขยายความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรมาอย่างต่อเนื่อง
       
       บังเอิญที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลจากรัฐบาลปกติมาเป็นรัฐบาลทหาร ทำให้การเข้าดำเนินการกับวัดแห่งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างความถูกต้องจึงสามารถทำได้ หากเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย คงไม่สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวัดแห่งนี้


โดย MGR Online       13 กรกฎาคม 2559

5
 เอเจนซีส์ / MGR online - องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกโรงเตือนในวันอังคาร (12 ก.ค.) โดยระบุราว 3 ใน 4 ของประชากรซูดานใต้ในเวลานี้ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน หลังประเทศของตนถลำกลับเข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้งภายในและสงครามกลางเมืองรอบใหม่
       
       เอตาแร็ง กูแซ็ง ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (UN’s World Food Program) ออกมาระบุว่า สงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นใหม่ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับประชากรซูดานใต้ที่อดอยากหิวโหยและมีชีวิตที่ทุกข์ยากอยู่เป็นทุนเดิมให้ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้ายยิ่งขึ้น
       
       ซูดานใต้ ประเทศเอกราชเกิดใหม่แห่งล่าสุดของโลกถลำกลับเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง หลังทหารฝ่ายรัฐบาลและกองกำลังฝ่ายกบฏเปิดฉากการสู้รบอย่างดุเดือดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นอย่างน้อย 271 ราย
       
       “ราว 3 ใน 4 ของประชากรซูดานใต้ในเวลานี้ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน” กูแซ็งกล่าว พร้อมเผยว่า บรรดาเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมต่างประสบความยากลำบากในการปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาหลายวันที่ผ่านมา และต้องใช้เวลาส่วนใหญ่หลบระเบิดอยู่แต่ภายใน “บังเกอร์ใต้ดิน” ภายในกรุงจูบา
       
       ก่อนหน้านี้ องค์การสหประชาชาติระบุว่าความขัดแย้งรอบใหม่ที่ปะทุขึ้นในซูดานใต้ ส่งผลให้มีประชากรไม่ต่ำกว่า 36,000 รายต้องอพยพหนีตายออกจากกรุงจูบาที่เป็นเมืองหลวง
       
       ด้านรายงานข่าวซึ่งอ้าง พันเอก วิลเลียม กัตจิอัธ โฆษกกองกำลังฝ่ายกบฏของรองประธานาธิบดี รีค มาชาร์ ออกมาเปิดเผยต่อ “บีบีซี” สื่อดังของอังกฤษ โดยระบุว่า ประธานาธิบดี ซัลวา คิอีร์ ผู้นำซูดานใต้ “ไม่จริงจัง” กับการยึดมั่นในข้อตกลงสันติภาพที่ทำไว้กับฝ่ายกบฏ และกล่าวหาทหารของฝ่ายรัฐบาลว่าเป็นฝ่ายที่เปิดฉากโจมตีก่อนต่อที่มั่นของฝ่ายกบฏ ในกรุงจูบาที่เป็นเมืองหลวงของประเทศในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งนั่นบีบให้ฝ่ายกบฏต้องหันหลังให้กับกระบวนการสันติภาพและหันมาจับอาวุธทำสงครามกลางเมืองกับฝ่ายรัฐบาลอีกครั้ง
       
       อย่างไรก็ดี ไมเคิล มากูเออิ ลิวธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลซูดานใต้ออกมาแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ โดยยืนยันหนักแน่นว่าสถานการณ์วุ่นวายในประเทศตลอดระยะเวลาหลายวันที่ผ่านมาได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีคิอีร์แล้ว
       
       ด้านสถานีวิทยุท้องถิ่นอย่าง “Radio Tamazuj” รายงานในวันอาทิตย์ (10 ก.ค.) ว่า มีทหารของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตรวมกันอย่างน้อย 271 นาย หลังเกิดเหตุปะทะกันในกรุงจูบาเมืองหลวงของซูดานใต้ตั้งแต่วันศุกร์ (8 ก.ค.) ต่อเนื่องจนถึงวันเสาร์ (9 ก.ค.) ถือเป็นข่าวร้ายที่สั่นคลอนเสถียรภาพของซูดานใต้ ในขณะที่มีการเฉลิมฉลองการเป็นเอกราชครบรอบ 5 ขวบปีของประเทศนี้
       
       ก่อนหน้านี้เพียง 1 วันมีรายงานข่าวซึ่งอ้างโรมัน เอ็นยาร์จี โฆษกประจำตัวของรีค มาชาร์ ผู้นำฝ่ายกบฏ ซึ่งในเวลานี้ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีอีกครั้ง ในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติระบุว่า การปะทะกันระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏในครั้งนี้ส่งผลให้มีทหารของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตรวมแล้วอย่างน้อย 150 นายเมื่อนับถึงวันเสาร์ (9) และมีแนวโน้มที่ยอดผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งระลอกล่าสุดนี้จะเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับการเปิดเผยของโฆษกประจำตัวของประธานาธิบดี ซัลวา คิอีร์ ผู้นำซูดานใต้
       
       เหตุยิงปะทะกันอย่างดุเดือดในเมืองหลวงของซูดานใต้ครั้งนี้ถูกระบุว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการปะทะฝีปากกันระหว่าง “บอดี้การ์ด” ของคิอีร์กับมาชาร์ ก่อนจะมีการชักอาวุธปืนยิงเข้าใส่กัน และลุกลามบานปลายไปสู่การปะทะกันเต็มรูปแบบระหว่างกองกำลังของทั้งสองฝ่าย
       
       ทั้งประธานาธิบดี ซัลวา คิอีร์ และรองประธานาธิบดี รีค มาชาร์ ออกมายอมรับว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นล่าสุดเป็น “โชคร้าย” ขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศออกโรงเตือนพลเมืองของตนในซูดานใต้ให้เร่งเดินทางออกจากประเทศนี้โดยเร็ว หรือไม่ก็ขอให้อยู่แต่ในโรงแรมหรือที่พัก
       
       ทั้งนี้ ซูดานใต้ซึ่งเพิ่งเป็นเอกราชหลังการแยกตัวออกจากซูดานเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2011 ต้องเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมืองตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2013 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายหมื่นราย ขณะที่ชาวซูดานใต้กว่า 3 ล้านคนต้องกลายสภาพเป็นผู้อพยพ และอีกเกือบ 5 ล้านคนต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาหารจากหน่วยงานบรรเทาทุกข์นานาชาติ

โดย MGR Online       13 กรกฎาคม 2559

6
GT200 แผลเป็น ในสังคมความจำสั้น ใครหนอ (เคย) การันตี?

GT200 กลายเป็นเรื่องที่กลับมาเป็นเผือกร้อนให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงอีกครั้ง

หลังจากศาลอังกฤษได้มีคำพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม GT200 เป็นจำนวนเงิน 7.9 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 400 ล้านบาท และให้นำเงินไปชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อเครื่องมือดังกล่าวที่ไม่สามารถใช้งานได้จริงแล้ว

ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลได้พิพากษาจำคุกผู้ผลิตไปแล้วเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งเจ้าเครื่อง GT200 เวลานี้กลายเป็นสัญลักษณ์และกลับกลายเป็น “แผลเป็น” ให้แก่ผู้ที่เคยมีหน้าที่และมีชื่อเสียงหลายต่อหลายคนในเวลานั้น ที่เคยการันตีถึงความสารพัดประโยชน์ของเครื่องนี้และมีการอนุมัติจัดซื้ออย่างที่ทราบๆ กันดี

จนล่าสุด ชาวโซเชียลผู้ที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ต่างตามหา “บุคคลในข่าว” ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้หลายต่อหลายคน นำคำให้สัมภาษณ์ นำภาพ นำคลิปวิดีโอที่เปรียบเสมือน “บันทึกหน้าประวัติศาสตร์” ของคำพูดและวาทกรรม ในการการันตีของคนระดับใหญ่โต ถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการซื้อเครื่อง GT200 ทั้ง พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด, พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา น่าจะเป็น 3 บุคคลที่ชาวโซเชียลนึกถึงเรื่องซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้

ซึ่งเมื่อถึงเวลาหนึ่ง คำพูดเหล่านั้นล้วนกลับมาเป็นนายของคนพูดเสียเอง

แน่นอนที่สุด เผือกร้อนนี้ถูกส่งถึง พล.อ.อนุพงษ์ ได้ตอบคำถามของสื่อถึงกรณีนี้หลังศาลอังกฤษมีคำพิพากษาว่า ตนได้ออกจากกองทัพบกแล้ว ควรให้เกียรติกองทัพในการดำเนินการ กองทัพก็คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าจะดำเนินการเรียกร้องความเสียหายอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นความต้องการของหน่วยงานข้างล่างที่เสนอขอขึ้นมา ซึ่งการซื้อโดยปกติไม่น่ามีอะไรผิดพลาด แต่ครั้งนี้เป็นการซื้อพิเศษ เป็นความต้องการของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทางภาคเหนือก็มี เป็นการร้องขอจากข้างล่างขึ้นมาที่มีความต้องการ

แต่เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาสามารถใช้งานได้หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ผมไม่อยากตอบ เพราะกลัวมีผลต่อการเรียกร้องเงินเยียวยา

ส่วนพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เครื่องดังกล่าวนั้นใช้ได้ผลในตอนแรก ต่อมาเจอบ้างไม่เจอบ้าง และเมื่อเขาทดสอบแล้วใช้ไม่ได้ มันก็ใช้ไม่ได้ ก็จบ ไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนผู้นำ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบด้วยน้ำเสียงดุดัน ว่า

    “เขางดใช้ไปตั้งนานแล้ว ทิ้งถังไปแล้วมั้ง เมื่อใช้ไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้ ถ้าโลกเขาใช้อยู่ก็ใช้ มันก็ใช้ได้ในระยะหนึ่ง แต่พอเขาพิสูจน์ว่าใช้ไม่ได้ ก็ไม่ใช้ แต่เธออย่าลืม ให้นึกถึงคนที่เขาตายเพราะถูกระเบิดเสียบ้าง นึกถึงครอบครัวเขาบ้าง”

ข้ามฟากมาดูความคิดเห็นของผู้ที่เกาะติดกรณีนี้อย่างใกล้ชิด อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว “Jessada Denduangboripant” บ่อยครั้ง หลังป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยถึงการทำงานของเครื่อง GT200 แต่แรกว่าไม่สามารถใช้ได้จริง

โดย อ.เจษฎากล่าวถึงกรณีนี้ว่า เครื่องนี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการเดาสุ่ม ว่ามีวัตถุระเบิดอยู่ในจุดนั้นหรือไม่ แต่โดยสภาพเครื่องนั้นเป็นการหลอกลวงอยู่แล้วเพราะไม่สามารถใช้ในการตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริง เป็นเพียงกล่องเปล่าๆ กับเสาอากาศ ที่หาเจอเพราะว่าสุ่มเจอเท่านั้น

แต่จุดที่ทำให้ชาวโซเชียลถึงกับกดแชร์กันหลายพันครั้ง คือกรณีที่ อ.เจษฎา ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความในหนังสือของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ได้เคยเขียนถึงเครื่อง GT200 ไว้อย่างชัดเจนว่า

    “เป็นเครื่องที่สามารถหาสารวัตถุระเบิดได้อย่างดีเยี่ยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยใช้หลักการค้นหาสนามแม่เหล็ก ซึ่งสามารถตรวจจับสารวัตถุระเบิดได้ทั้งในอากาศ บนดิน ใต้ดิน หรือกระทั่งในน้ำได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งคล้ายกับไมค์ลอยแต่มีชิพ-การ์ดในนั้น ทำหน้าที่ตรวจจับสาร”

โดยข้อความทั้งหมดนี้มาจากส่วนท้ายของหนังสือทักษิณวิปโยค หน้า 45 ที่หมอพรทิพย์เป็นผู้เขียนไว้ หลังมีการนำเสนอว่าหมอพรทิพย์ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการหนึ่งว่า ตนไม่เคยพูด และไม่เคยเชื่อว่า GT200 ใช้งานได้ จึงเกิดเป็นกระแสที่มีผู้คนต่างให้ความสนใจ

ซึ่ง อ.เจษฎาได้ขึ้นภาพดังกล่าวพร้อมข้อความว่า “คำพูดเป็นนายตัวเราเอง คนเราทุกคนมีสิทธิผิดได้ อยู่ที่จะยอมรับและปรับปรุงแก้ไขตัวเองได้แค่ไหน” ซึ่งก่อนหน้านี้ หากใครจำได้ อ.เจษฎา ได้เคยเรียกร้องการแสดงสปิริตรับผิดชอบตามจริยธรรมวิชาชีพของหมอพรทิพย์ และบุคคลสำคัญในกองทัพที่เคยมีบทบาทในอดีตมาแล้ว

แต่กระนั้น ทางคุณหญิงพรทิพย์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Porntip Rojanasunan หลังมีชาวโซเชียลตั้งคำถามว่าข่าว GT200 กำลังกลับมาอีกครั้ง คุณหมอหายไปไหน?

    โดยคุณหญิงหมอได้โพสต์ไว้ว่า “มองในแง่ดีก็ถือเป็นโอกาสได้อธิบาย แต่คนที่ปักใจด่าก็คงไม่เปลี่ยนใจ ประเด็นหลักๆ คือ 1.การใช้เครื่องมือนี้คือความโง่ของเจ้าหน้าที่ตามที่กล่าวหาหรือไม่ 2.เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์หรือไม่ และ 3.มีการทุจริตในการซื้อหรือไม่

    หากมีใจเป็นธรรมย่อมเข้าใจคนทำงานในเหตุการณ์ระเบิดรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่เมื่อทราบว่ามีอุปกรณ์ที่พอตรวจสอบระเบิดจากระยะไกลที่มีต่างประเทศใช้ คนทำงานย่อมรู้สึกอุ่นใจ แม้ว่าจะวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต่อมามีประเด็นเรื่องการทุจริตก็ควรแยกแยะว่านั่นคือเรื่องที่ต้องตรวจสอบคนซื้อ คนขาย

    เมื่อครั้งนั้นหมอเพียงออกมาปกป้องการกล่าวหาว่าคนทำงานโง่ ทั้งๆ ที่เขามีความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตลอดเวลา หมอไม่ได้ปกป้องว่าเครื่องนี้ดี แต่คนในสังคมเชื่อง่าย เสพข้อมูลจากสื่อที่ใส่สีโดยไม่ฟังความจริงใดๆ สิ่งที่ทำให้ไม่มีการรับฟังอีกเลยคือสังคมมีการแบ่งฝ่ายเอาทุกเรื่องมาโยงกัน

    สำคัญที่สุดคือการใช้ Social media กล่าวหาใส่ร้ายกันอย่างขาดความรู้ผิดชอบชั่วดี โอกาสที่จะฟังความจริงจึงไม่เหลือ หมอได้ปล่อยวางหมดแล้ว ตัวเราเท่านั้นที่รู้ว่าเราทำอะไรถูกหรือผิด จิตจะไม่ไปผูกกับสิ่งรอบตัวให้รุงรัง คนที่ด่าคนอื่นก็ต้องทุกข์เพราะเกลียดโกรธเขา

    ขอบคุณโอกาสที่กลับมาให้ชี้แจง จะฟังหรือไม่ไม่สำคัญเท่ากับได้ทำหน้าที่แล้ว”

กรณีนี้คงจะเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับใครหลายๆ คน อาจจะเป็นแผลเป็นติดตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่เคยพูดเคยเขียนเคยให้ข้อมูลไว้ก็ดี หรือผู้ที่เสพสื่อใช้สื่อก็ดี

แต่คาดว่าบทเรียนนี้คงไม่ใช่บทเรียนสุดท้ายในสังคมไทย

คงจะมีอีกหลายกรณีศึกษา อยู่ที่ว่าเราจะรับข้อมูลข่าวสารกันอย่างไร

คนเสพสื่อก็ต้องตรวจสอบที่ต้นตอว่าเคยพูดไว้จริงหรือไม่ ซึ่งเขาเหล่านั้นคงมีเจตนาอะไรที่ทำให้ต้องพูดในเวลานั้น

แต่อย่าห่วงไปทุกๆ คำพูดในยุคโซเชียลมีเดียแบบนี้ มีหลักฐานมากมายที่ถูกบันทึกไว้

หากพูดจริง ผู้พูดพูดไปจริงย่อมต้องรับผลที่ตามมา

แต่ถ้าไม่จริง ผู้ที่แชร์สิ่งผิดๆ ก็ต้องรับผลตามมาเช่นกัน



มติชนออนไลน์
วันพุธที่ 29 มิถุนายน 2559

7
ในหน้า 51 ของหนังสือ 100 ปีพระยาพหลฯ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส นเรศ นโรปกรณ์ เปิดบันทึกของ นายปรีดี พนมยงค์

ที่เขียน บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร และระบบประชาธิปไตย เอาไว้อย่างน่าสนใจ และน่าศึกษาอย่างยิ่งว่า

๑ การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฏร มีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1927 ( พ.ศ.2470) ที่หอพักแห่งหนึ่ง

ณ  RUE DU SOMMERRAD ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น ผู้ร่วมประชุมมี 7 คนคือ

(1)ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุนซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6

(2)ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาต่อโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส

(3)ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุ่นซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารม้า ฝรั่งเศส

(4)นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1

(5)หลวงสิริราชไมตรี นามเดิม จรูญ นามสกุล สิงหเสนี ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส เคยเป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และเป็นนายสิบตรีในกองทหารอาสาสงครามโลกคร้งที่ 1

(6)นายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ

(7) ข้าพเจ้า(นายปรีดี พนมยงค์) ที่ประชุมมติเป็นเอกฉันท์ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป – นายปรีดี พูดถึงการประชุมเพื่อการวางแผนไว้ด้วยแต่ผมขอข้าม..

เรื่องที่น่าสนใจคือการเตรียมงานในไทย ซึ่งนายปรีดี ได้บันทึกเอาค่อนข้างละเอียด เริ่มจาก..

“เมื่อเสร็จการประชุมก่อตั้งคณะราษฎรแล้ว ข้าพเจ้ากลับสยามในเดือนมีนามคมปีนั้น แล้วเพื่อนที่ยังอยู่ในปารีสเลือกเฟ้นผู้ที่สมควรชวนร่วมคณะต่อไป อีกประมาณ 2 – 3 เดือน เพื่อที่ยังอยู่ปารีสได้ชวน นายทวี บุณยเกตุ นักศึกษาวิชาเกษตร และ นายบรรจง ศรีจรูญ ไทยมุสลิมจากอียิปต์ที่มาเยือนปารีส ซึ่งรับภาระจัดตั้งไทยมุสลิมต่อไป อาทิ นายแช่ม มุสตาฟา (บุตรหัวหน้าศาสนาอิสลามในไทยที่รู้จักกันในนามว่า “ครูฟา” ต่อมานายแช่มเปลี่ยนนามสกุลว่า “พรหมยงค์” คล้าย ๆ นามสกุลข้าพเจ้า)

ต่อมาได้ชวน ร.ต.สินธุ์ กมลนาวิน ร.น.นักศึกษาวิชาทหารเรือเดนมาร์กที่มาเยือนปารีส ต่อมาพระยาทรงสุรเดช ได้มาดูงานทหารในฝรั่งเศส เพื่อที่ยังอยู่ในปารีสจึงลองทาบทามว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อระบบสมบูรณาฯ ก็ได้ความว่าไม่พอใจระบบนั้นแต่ยังมิได้ถูกชวนเข้าร่วมในคณะราษฎร

ต่อจากนั้นเพื่อที่ก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีสก็ทยอยกลับสยาม ค่อย ๆ ชวนเพื่อนนักศึกษาที่เคยสังเกตไว้ในการสนทนาเดียงเคร่า ๆ มิได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาในฝรั่งเศสเท่านั้น

ฉะนั้นต่อมาในสยามจึงชวน ม.ล.อุดม สนิทวงศ์ นักศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์, นายสพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา และนายเล้ง ศรีสมวงศ์ นักศึกษาจากอังกฤษ ฯลฯ และเพื่อนทหารบก ทหารเรือ พลเรือนคนอื่น ๆ ในสยาม

ในปลาย พ.ศ.2474 จึงได้ชวน พระยาพหลพลพยุหเสนา , พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ และ มอบให้ พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎร”

…… จากบันทึกนี้จะเห็นได้ว่า การวางแผนโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์มีจุดเริ่มต้นจากพลเรือน คือ นายปรีดี พนมยงค์ ที่วันสองวันนี้จะมีการเชิดชูเกียรติกันอย่างเอิกเกริก แล้วจึงมีนายทหารเข้าร่วม ซึ่งแต่มาคณะผู้ก่อการฯ ก็แตกคอเพื่อแย่งอำนาจกันถึงขั้นไล่ล่ากัน บางคนก็ไปตายนอกประเทศให้เป็นที่อเนจอนาจยิ่งนัก

เหมือนจะบอกให้รู้ว่า คนที่คิดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มักไม่ตายดีอย่างไรอย่างนั้น !

23 มิถุนายน 2015 โดย blogger 
http://chaoprayanews.com/blog/thaiflag/2015/06/23/%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%96/

8
ปีนี้เป็นปีที่ครบ 83 ปีของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบที่อ้างชื่อว่าประชาธิปไตย ในยุคสมัยนั้นประชาชนไทยยังไม่รู้จักคำนี้เลย ทุกคนคิดว่าเป็น “ชื่อลูกชาย” ของนักการเมืองใหญ่สมัยนั้นด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่พร้อมใดๆ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น

ในตอนนี้จะชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่ ปรีดี และคณะราษร ในการข่มเหงรังแกพระมหากษัตริย์ไทยต่างๆ นาๆ หลวงประดิษฐ (ปรีดี) หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ได้รีบแจกจ่ายใบปลิว และแผ่นพับโฆษณาชวนเชื่อขณะทำการปฏิวัติว่า “ถ้าใครขัดขืนจะทำร้ายเบื้องสูง” ตลอดจนการกระจายเสียงทางวิทยุ

ข้อความในประกาศคณะราษฎร ซึ่งเขียนขึ้นโดยหลวงประดิษฐ วิพากษ์วิจารณ์ ใส่ร้าย พระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงมากอย่างลบหลู่พระเกียรติจนไม่อาจนำมากล่าวซ้ำในที่นี้ได้ เนื่องจากเกินกว่าคนไทยจะรับได้ จากนั้นประกาศคณะราษฎร ซึ่งลงนามโดย พระยาพหล , พระยาทรง และพระยาฤทธิ์ ถูกส่งโทรเลขไปให้แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วังไกลกังวล หัวหิน มีใจความข่มขู่ว่า “..หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงปรารถนาที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คณะราษฎรจะเต็มใจถอดพระองค์ออก และแทนที่ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น”

ในโทรเลขดังกล่าวข่มขู่ด้วยว่า “หากสมาชิกคณะราษฎรคนใดได้รับบาดเจ็บ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ถูกคุมขังก็จะทรงทรมานไปด้วย…” อันเป็นถ้อยความข่มขู่พระมหากษัตริย์ที่ยะโสโอหังมาก
วันที่ 23 ตุลาคม 2476 เพื่อความปลอดภัย ข้าราชบริพารพร้อมใจกันพารัชกาลที่ 7 ระหกระเหิน โดยเรือศรวรุณ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ท่ามกลางสภาวะอากาศเลวร้ายในทะเล ใช้เวลากว่าสองวันจึงถึงจังหวัดสงขลา ไปประทับ ณ ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา

หม่อมเจ้าอัปษรสมาน ได้ทรงรับหม่อมราชวงศ์ สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศของสมเด็จพระราชินีขณะนั้น) ที่ยังพระเยาว์มีพระชนม์เพียง 1 พรรษา ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ไปสงขลาด้วย ต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จพรมแดนมลายู ที่อังกฤษควบคุมอยู่ คณะราษฎรมีการฆ่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสียชีวิตไปหลายคน

มีการจับกุมและกวาดล้าง จนในระยะนั้นประเทศไทยเป็นระบอบเผด็จการอย่างแท้จริง ไม่มีเค้าโครงระบอบประชาธิปไตยแม้แต่น้อย คณะราษฎรฝ่ายมีอำนาจ จึงตกลงกันว่าจะไม่ร่วมงานกับพระมหากษัตริย์ จะเลิกล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงแสดงความในพระราชหฤทัยครั้งนั้นว่า
“ฉันไม่คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นที่สะเทือนพระราชหฤทัยมาก พระปรมาภิไธยในพระราชหัตถเลขา ประกาศสละราชสมบัติฉบับเต็ม ที่สะท้อนเหตุการณ์ในช่วงนั้น คนไทยในยุคนั้นและในเวลาต่อๆ มาแทบไม่เคยเห็นเพราะไม่ปรากฎแพร่หลายในที่สาธารณะมากนัก

เนื่องจากถูกนักการเมืองปกปิดมาตลอดกว่า 80 ปี ซึ่งทุกอักษรของพระราชหัตถเลขานี้ คนไทยควรทราบ และศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะนี้คือจารึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย ขอให้ตั้งใจอ่านทุกคำ ทุกอักษรแล้วจะเข้าใจพระองค์อย่างถ่องแท้ และเล่าขานกันต่อไปตราบนานเท่านาน

———————————–>
บ้านโนล
แครนลีประเทศอังกฤษ
เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวก ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลังทหาร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้วได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯ และพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญ ตามแบบอย่างประเทศทั้งหลายซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น
เพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิ ที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศ และนโยบายต่าง ๆ อันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใส ในวิธีการเช่นนั้นอยู่แล้ว และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปแบบนั้น โดยมิได้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง
เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้ว และเมื่อมีผู้ก่อการรุนแรงนั้น อ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรโน้มตามความประสงค์ ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ

ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือ ในการที่จะรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนั้นเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง

และจากรัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับ จะพึงเห็นได้ว่าอำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่าง ๆ นั้น จะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการ และผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราว แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย

ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ตามคำร้องขอของข้าพเจ้า แต่ให้มีสมาชิกซึ่งตนเองเป็นผู้เลือกเอง เข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่งหนึ่ง การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภท ก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆ ไปไม่จำกัดเป็นพวกใดคณะใด
เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทาง ให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ นอกจากนี้คณะผู้ก่อการบางส่วน ได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการณ์เศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง
จึงเกิดแตกร้าวขึ้นกันเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของรัฐบาล ซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯ กับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ ๒ และแต่นั้นมาความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง
เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้มีโอกาสออกเสียง ก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฎขึ้น ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทย เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริง เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน

คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการและนโยบายอันสำคัญ มีผลได้เสียแก่พลเมืองรัฐบาลก็ไม่ยินยอม และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องคำร้องขอต่างๆ ของข้าพเจ้า สมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้ และละเอียดละออเสียก่อน เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วน ภายในวาระประชุมเดียว นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคล ซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ในเมื่ออำนาจอันสิทธิขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกวิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจ และยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใด “ ใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้ ”

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองให้แก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวง อันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะบ่งนามผู้ใดผู้หนึ่ง ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไปตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิ
ที่จะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศ เพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบ หรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐาน ขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอให้ประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขความสบาย

(พระปรมาภิไธย) ประชาธิปก ปร
วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
เวลา ๑๓ นาฬิกา ๕๕ นาที


9
บ่ายวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ผมไปประชุม ที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมการประชุมหารือนโยบาย ระบบการสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ในฐานะเป็นคณะที่ปรึกษาของ รมต. และ รมช. สาธารณสุข

ตรงนี้ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ผมไม่ได้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมือง ที่ผมเป็นคือ หนึ่งในคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรี ที่ นพ. มงคล ณ สงขลา เป็นประธานคณะที่ปรึกษา เป็นตำแหน่งช่วยให้คำปรึกษา เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทน ยกเว้นเบี้ยประชุม ๒ พันบาท ตอนประชุมคณะที่ปรึกษา ในการประชุมในวันที่ ๑ ตุลาคมนี้ ผมไปทำงานให้ฟรี ไม่มีเบี้ยประชุมหรือ การตอบแทนใดๆ ผมถือว่าเป็นการรับใช้บ้านเมือง

แต่ผมก็ได้ความสุขสดชื่นยิ่งนัก เพราะจากการประชุม ทำให้ผมเห็นว่า ระบบสุขภาพไทยได้ เตรียมการณ์ เรื่องสุขภาวะของผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายไว้อย่างดีมาก รองรับนโยบายของฝ่ายการเมือง ในช่วงนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ

นโยบายข้อ ๒.๕ ของ รมต. และ รมช. สาธารณสุขคือ "เร่งรัดการดำเนินการระบบการสร้างเสริม สุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในหนึ่งปี และมีผลอย่างต่อเนื่องยั่งยืน โดยเน้นการดูแลโดยชุมชนและครอบครัว ด้วยการสนับสนุนและร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสถานบริการสุขภาพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

ประชุมเสร็จ ผม (ในฐานะประธานของที่ประชุม) สรุปว่า ระบบสุขภาพไทยได้เตรียมการณ์ไว้ ตามนโยบายของฝ่ายการเมืองชุดนี้อย่างดีมาก ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข, สช., สปสช., สวรส., สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย, และ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยแต่ละฝ่ายมีการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง นับสิบปี มาสอดรับกับนโยบายของ รมต. และ รมช. สาธารณสุข ในรัฐบาลนี้พอดี

แสดงว่า นโยบายของ รมต. และ รมช. ยุคนี้สมเหตุสมผล เหมาะสมตามยุคสมัย และตามสภาพ สุขภาวะของประเทศ ไม่ใช่นโยบายหาเงินเข้ากระเป๋า หรือหาเสียงจากประชานิยม

ยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการ คือการทำโครงการนำร่อง ในทุกจังหวัด จังหวัดละ ๑ อำเภอ แล้วขยายผลจนเต็มทั้งประเทศใน ๕ ปี ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการพัฒนานิยาม พัฒนาคน พัฒนาเครือข่ายระบบบริการแบบไร้รอยต่อ พัฒนาบทบาทของท้องถิ่น (อปท.) บทบาทของภาคประชาสังคม (ชุมชน/สมาคม/ครอบครัว) พัฒนาระบบงบประมาณ กฎระเบียบ เวชภัณฑ์/สมุนไพร กลไกการจัดการระบบ ที่เน้นการประสานเครือข่าย การติดตามผลและพัฒนาต่อเนื่อง ด้วย SSS (Success Story Sharing)

ผมมีความสุข ที่เห็นว่า KM จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระบบ Longterm Care ของผู้สูงอายุ และระบบ Palliative Care หรือ End-of-life Care ของคนทุกอายุ

ที่จริง แต่ละส่วนมีรายละเอียดมากมาย ที่จะต้องทำ capacity building แต่ที่น่าชื่นใจคือ มีการทดลองพัฒนานำร่องไปก่อนแล้ว ในบางโรงพยาบาล บางพื้นที่ เช่นโรงพยาบาล ลำสนธิ จ. ลพบุรี นพ. สันติ ลาภเบญจกุล ดำเนินการมาเกือบสิบปี แรกๆ ก็ทำผิดทาง แต่เวลานี้กลายเป็นตัวอย่างที่ดี

ทีมวิชาการของ รมต. นำโดย นพ. พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ที่เรื่องนี้เจ้าของเรื่องคือ ดร. ทิพิชา โปษยานนท์ เตรียมงานดีมาก ทั้งการเตรียมเอกสาร และเตรียมเชิญคนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้รับข้อมูลครบถ้วน เห็นภาพรวมของการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายให้บรรลุผล โดยที่แต่ละหน่วยงานก็ดีใจ ที่งานของตนจะได้รับการสนับสนุน

ผมแซวคุณหมออุกฤษฏฺ์ มิลินทางกูร อดีตรองเลขาธิการ สช. ที่เวลานี้เป็นที่ปรึกษา สช. ผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบาย "ตายดี" ของ สช. ซึ่งก็คือเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ว่า สช. โดยมติของ คสช. (ไม่ใช่คุณสมชาย แต่ย่อมาจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ได้เสนอแนะนโยบาย ด้านสุขภาพจำนวนมาก ที่ได้จากมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ นำมาเข้า คสช. แล้ว คสช. มีมติสนับสนุนและให้นำเสนอ ครม. ที่ผ่านมามีเรื่องแบบนี้เข้า ครม. จำนวนมาก คงจะกว่าสิบเรื่อง ครม. เห็นชอบ แต่ไม่ทำอะไร ผมแซวว่า คราวนี้ สช. น่าจะตีไข่แตก คือ มติ คสช. เรื่องนี้ ซึ่งกำลังจะนำเสนอ ครม. น่าจะได้รับการนำไปปฏิบัติ เป็นเรื่องแรก



วิจารณ์ พานิช

๒ ต.ค. ๕๗


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

10
หมอประเวศยื่น 9 ข้อเสนอประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ทำให้นักข่าว คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุทีวี เดือดร้อนกันไปทั่ว เพราะต้องเวียนหัวตีความขยายประเด็นเฟ้นหาข้อดีมานำเสนอ

แบบว่าหมอประเวศท่านเป็นปราชญ์แห่งยุค เป็นคนดีที่เสียสละมาชั่วชีวิต ฉะนั้นข้อเสนอของท่านต้องไม่ธรรมดา ต้องลึกซึ้ง ถึงแก่น สุดสูงคืนสู่สามัญ ซับซ้อนคืนสู่เรียบง่าย จากเนื้อหามากมายท่านสรุปได้ซะจนไม่เหลืออะไร แต่ใครอย่าบังอาจบอกว่าท่านพูดไม่รู้เรื่องหรือไม่มีอะไรใหม่เชียว เดี๋ยวจะถูกโห่ฮาว่าไร้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เข้าไม่ถึงถ้อยคำของปราชญ์ ฉะนั้น ท่านพูดอะไรก็ต้องยกย่องเข้าไว้ ต้องดีต้องถูกเสมอ อะไรๆ ที่อธิบายขยายความได้ดีก็ช่วยกันเอามาขยายหน่อย

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปลโจนาธานลิฟวิงสตัน นางนวล เป็นหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในหมู่ปัญญาชนสยาม ก็มีหนังโจนาธานลิฟวิงสตันซีกัลเข้ามาฉาย ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ดูตั้งแต่รอบแรกๆ ยังจำได้ว่าดูที่โรงหนังฮอลลีวู้ด ออกจากโรงมาเดินตาลอย หัวหมุน มึนตึ้บ หนังเอี้ยอะไรไม่รุ มีแต่นกบินไปบินมา เดี๋ยวไอ้โจนาธานก็บินไปทางซ้าย ทางขวา แล้วคนพากย์ก็สาธยาย แต่พอเพื่อนถามว่าหนังดีไหม ก็ต้องวางฟอร์มทรงภูมิพูดให้เคร่งขรึมเข้าไว้ “มันลึกซึ้ง เป็นปรัชญาที่ลึกซึ้งมาก” (ลึกจนกรูไม่รู้เรื่องเลย)

ฉันใดก็ฉันนั้นละครับ กับคนที่แห่แหนยกย่องลัทธิประเวศ แต่ตอนนั้นผมอายุแค่ 18 ไม่ใช่ตอนนี้ที่โตๆ กันแล้ว

9 ข้อของหมอประเวศ พูดอีกก็ถูกอีก ไม่ผิดแน่นอน เพราะกว้างขวางเวิ้งว้างเป็นมหาสมุทร เต็มไปด้วยภาษาสวยๆ “สัมมาชีพ” “ปลดล็อคอำนาจ” “ดรรชนีพัฒนา” “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง” “ศูนย์ยุติธรรมชุมชน” ฯลฯ แต่ไม่รู้จะเอาอะไรเป็นรูปธรรมจับต้องได้

หมอประเวศให้นิรโทษกรรมประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ใครมั่งล่ะ แม่ขโมยนมห้างให้ลูกกิน หรือว่าเสื้อเหลืองเสื้อแดง ทักษิณก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกันนะ และเขาก็โวยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

เสื้อเหลืองได้รับความเป็นธรรมไหม (ไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเขาโวยว่าช่วยให้มาร์คได้เป็นนายกฯ แล้วกลับเห็นเป็นนั่งร้าน อิอิ) เสื้อแดงได้รับความเป็นธรรมไหม ที่ถูกปราบ ถูกฆ่า และถูกจับกุมคุมขังมาครึ่งปีโดยไม่ได้ประกัน ถูกศาลตัดสินลงโทษอย่างรุนแรง รวบรัด ภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ความยุติธรรมภายใต้ ศอฉ. ศตส. และตุลาการภิวัตน์เนี่ยนะ หมอประเวศตั้งความหวังกับกระทรวงยุติธรรมยุคพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เนี่ยนะ

หมอประเวศจะให้สื่อมวลชนของรัฐทำการสื่อสารเพื่อปฏิรูปประเทศไทย มิน่า ละครหลังข่าวเลยให้พระเอกทำการเกษตรอินทรีย์จนไปขัดผลประโยชน์กลุ่มอิทธิพลที่ทำศูนย์หัตถกรรมไทย (OTOP เป็นพวกผู้ร้ายไปซะแล้ว ละครน้ำเน่าเดี๋ยวนี้ทันยุคทันสมัยนะ พูดถึงชุมชนท้องถิ่น พอเพียง เชิดชูความเป็นไทย รักษาท้องไร่ท้องนาไว้เป็นสมบัติชาติ ฯลฯ แต่พักโฆษณาเครื่องสำอางนาทีละหลายล้าน)

หลายวันก่อนผมบังเอิญเปิดวิทยุเจอรายการ 96.5 สัมภาษณ์อาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เรื่องการเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทย ผมฟังไปก็หัวเราะไป เพราะ อ.ณรงค์ก็ยังเป็น อ.ณรงค์ นักวิชาการแรงงานฝ่ายซ้ายผู้ไม่เคยเปลี่ยน ท่านสาธยายถึงความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมของค่าแรง เมื่อเทียบกับราคาผลผลิต ท่านบอกว่าประชาชนจะต้องลุกขึ้นต่อสู้และวันนั้นใกล้มาถึงแล้ว

ผมหัวร่อท้องแข็งเลยครับ วิทยุ อสมท.ในยุค พ.ร.ก.ฉุกเฉินเปิดโอกาสให้นักวิชาการฝ่ายซ้าย “พล่าม” ได้หนึ่งชั่วโมงเต็มๆ ยังกะหลับฝันไปได้พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยเป็นรัฐบาล ไม่ใช่อยู่ใต้ระบอบอำมาตย์ที่ปราบปรามประชาชนเลือดนอง มันผิดฝาผิดตัวพิลึก อ.ณรงค์อาจจะบอกว่าถ้าท่านไม่มาทำงานให้ระบอบอภิสิทธิ์ ท่านก็คงไม่ได้เผยแพร่ความคิดให้กว้างขวาง แต่ผมไม่รู้เหมือนกันว่า อ.ณรงค์พูดให้ใครฟัง เพราะคนชั้นล่างที่ อ.ณรงค์อยากพูดด้วย เขาไม่ฟังท่านแล้ว ส่วนคนชั้นกลางก็ใช่ว่าสนใจแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาคแปลว่าคนชั้นล่างตีตัวเสมอ คนชั้นกลางเป็นผู้มีจิตใจเมตตาสัตว์ผู้ยาก สนับสนุนประชาสงเคราะห์ ประชาวิวัฒน์ บริจาคผ้าห่ม เสื้อกันหนาวผ่าน จส.100 ….แต่ถ้ามันกล้าหือ ลุกขึ้นสู้ ก็เชียร์ทหารให้ยิงหัวแม่-เลย

ไม่ต่างกันเลยกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ปาฐกถาเรื่องเปลี่ยนประเทศไทยด้วยพลังพลเมือง ท่านบอกว่าต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน การเมืองปัจจุบันกลายเป็นการเมืองแบบหางเครื่อง มวลชนฝากความหวังไว้กับชนชั้นนำกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ การช่วงชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำนำไปสู่ความรุนแรงเป็นระยะๆ

พูดอีกก็ถูกอีกนั่นแหละครับ แต่ตัวท่านอยู่ตรงไหนล่ะ พลังพลเมืองที่พร้อมจะเปลี่ยนประเทศนี้เกิดขึ้นแล้ว แม้อาจยังสะเปะสะปะไร้ทิศทาง แต่พวกเขาก็พร้อมจะสู้ถึงที่สุด ทำไมจึงมองพลังประชาชนเป็นแค่ “หางเครื่อง” แล้วตัวเองยอมเป็น “เครื่องมือ” ให้ระบอบอภิสิทธิ์

ท่านหวังว่าระบอบนี้จะยอมปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ อย่างนั้นหรือ อำนาจที่เคยอยู่ในมือชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้งเปลี่ยนไปอยู่ในมือชนชั้นนำที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง แล้วยิ่งรวมศูนย์อำนาจ ใช้อำนาจทหารอำนาจศาล กดหัวชาวบ้าน นี่หรือคือผู้ที่จะปฏิรูป

ผมพยายามเข้าใจในแง่ดีว่า อ.เสกสรรค์ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงฝากความหวังไว้กับชนชั้นนำกลุ่มนี้ กระทั่งเอาชื่อเสียงเกียรติภูมิที่ได้มาจากการเสียสละต่อสู้เผด็จการของวีรชน 14 ตุลา มาค้ำระบอบของพวกเขา

นี่คงเป็นสิ่งที่เราต่างกัน ผมต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรง ถ้าทำได้ ก็ให้มันรุนแรงน้อยที่สุด แต่ถ้าสุดวิสัยจะหลีกเลี่ยง ผมก็พร้อมรับความพินาศย่อยยับ มิคสัญญีไม่มีที่สิ้นสุด หรือกระทั่งพังไปด้วยกันทั้งหมด มากกว่าการปฏิรูปดัดจริตภายใต้อภิสิทธิ์และอำมาตย์

ราชการวิวัฒน์

อะไรคือประชาวิวัฒน์ที่โพนทนากันนักหนา นอกจากน้ำฟรีไฟฟรีรถเมล์ฟรีที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลสมัคร ก็เห็นจะให้เงินกู้นั่นนี่ ช่วยเหลือเรื่องนั้นเรื่องนี้ ฯลฯ (อู้กำเมืองว่าสะป๊ะสะเป้ด) ที่ไม่มีอะไรชัดเจนจับต้องได้และส่งผลต่อประชาชนโดยทั่วถึงเหมือนอย่างกองทุนหมู่บ้านหรือ 30 บาท

อย่างเดียวที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมคือ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ขึ้นเงินเดือน ส.ส. ส.ว. ขึ้นเงินเดือน อบต. แล้วตอนนี้ อบจ.กับ สก.สข.ก็จะขอมั่ง

รสนายุให้ฟ้องศาลปกครอง มีคนถามว่าทำไมไม่ฟ้องเอง อ้าว ก็เธอเป็น ส.ว. ได้ขึ้นเงินเดือนกับเขาด้วย ไม่ใช่ผู้เสียหาย ศาลอาจตีความว่าไม่มีอำนาจฟ้อง

แต่รสนาลืมไปว่า ศาลปกครองก็จะได้ขึ้นเงินเดือนพร้อม ส.ส. ส.ว. ด้วย เพราะรัฐขึ้นเงินเดือนให้ประธานรัฐสภาเมื่อไหร่ก็ต้องขึ้นเงินเดือนให้ประธานศาลฎีกาเท่านั้น และประธานศาลต่างๆ ประธานองค์กรอิสระ (ตลอดจนนายทะเบียนพรรคการเมือง) กรรมการ รองประธาน และตำแหน่งรองลงมา สะป๊ะสะเป้ด ก็จะได้ขึ้นเงินเดือนด้วยกันหมด

ฉะนั้น เราอาจจะตีความได้ว่า ศาลปกครองไม่มีอำนาจรับพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่ศาลปกครองก็ได้อ้อยเข้าปากด้วยเช่นกัน

ผมกำลังจะบอกว่าในขณะที่สังคมโวยวายคัดค้านการขึ้นเงินเดือน ส.ส. ส.ว. ซึ่งจริงๆ แล้วคิดเป็นเม็ดเงินนิดเดียว เม็ดเงินที่สูญเสียไปละลายแม่น้ำมากกว่าก็คือการขึ้นเงินเดือนศาล อัยการ องค์กรอิสระ และหน่วยงานพิเศษต่างๆ ที่เดิมก็ได้เงินเดือนและสวัสดิการสูงเหลื่อมล้ำกว่าข้าราชการธรรมดาๆ อยู่แล้ว

ผมไม่คัดค้านเลยกับการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ 5% เพราะข้าราชการหลายหน่วยงานทำงานหนัก อย่างที่ควรขึ้นให้ 10-20% เลยด้วยซ้ำ เช่น แพทย์ พยาบาล ครู ตำรวจ หรือหน่วยบริการประชาชนต่างๆ แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบราชการมี 2 ข้อ ข้อหนึ่งคือบางหน่วยทำงานหนัก บางหน่วยไม่มีงานทำและมีคนล้นเกิน ข้อสองคือเงินเดือนข้าราชการทั่วไปต่ำ แต่มีบางหน่วยงานเป็นข้าราชการอภิสิทธิ์ชน เงินเดือนสวัสดิการสูงกว่าข้าราชการทั่วไปทั้งที่ไม่ได้ทำงานมากกว่ากัน

ข้อแรกอาจยกตัวอย่างได้เช่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น เทศบาลนครที่ผมมีภูมิลำเนาอยู่เนี่ย ตอนไปทำบัตรประชาชนแทบจะถูกอุ้มขึ้นบันได เพราะมีเจ้าหน้าที่เกือบสิบ แต่มีคนไปทำบัตร 2-3 คน คิดถึงสมัยมาอยู่กรุงเทพฯใหม่ๆ ปี 2515 น้าชายผมพาไปทำบัตร คนเข้าคิวยังกะรอปอเต็กตึ๊งแจกข้าวสาร น้าผมเป็นข้าราชการ แกรู้ระเบียบดี พับแบงก์ยี่สิบใส่ไปในกองเอกสารด้วย

แต่ กทม.ทุกวันนี้บริการสะดวก รวดเร็ว ด้านหนึ่งต้องยกนิ้วให้ว่าปรับปรุงประสิทธิภาพยอดเยี่ยม แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่ามีเจ้าหน้าที่เยอะ

นี่คือข้าราชการท้องถิ่นในปัจจุบัน งานเบา เงินดี บรรจุกันเข้าไปเพราะบรรจุง่าย ไม่มีใครตรวจสอบ

ข้าราชการที่ควบข้อหนึ่งข้อสองคือ ศอฉ.เอ๊ย ศตส. ทหารไงครับ ทหารยังอยู่ในระบบเงินเดือนปกติ เทียบเท่าข้าราชการพลเรือน แต่มีบัญชีแยกเป็นของตัวเอง ถ้าเทียบทหารระดับกลางระดับล่างกับข้าราชการระดับกลางระดับล่าง ก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่ที่ต่างกันจริงๆ คือระดับสูง ซึ่งนายทหารระดับพลตรี จะมีอัตราเงินเดือนเทียบเท่าซี 10 ถ้าเป็นพลเรือนก็คืออธิบดี ผู้ว่าฯ พลโทพลเอกเทียบเท่าซี 11 ปลัดกระทรวง ส่วนพลเอกอัตราจอมพลยิ่งไปโน่นเลย หาใครเทียบไม่ได้

คือถ้าพลตรีที่เป็น ผบ.พล ได้เงินเดือนเท่าผู้ว่าฯ มันก็สมควรนะครับ แต่ทุกวันนี้เราเสียข้าวสุกเลี้ยงนายพลเป็นดอกเห็ด ผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำ บก.ทบ. ฯลฯ หิ้วกระเป๋าใบเดียวไปทำงาน มีโต๊ะนั่งมั่งไม่มีโต๊ะนั่งมั่ง มีงานทำมั่งไม่มีงานทำมั่ง ถ้าประเทศไทยลดนายพลลงเหลือเท่าที่จำเป็น อาจจะมีเงินจ้างแพทย์ไปประจำโรงพยาบาลชุมชนเพิ่มอีกนับพันคน

ข้าราชการข้อสองก็คือ ตุลาการ อัยการ และองค์กรอิสระ ตุลาการแยกบัญชีเงินเดือนมาตั้งแต่สมัยประมาณ ชันชื่อ อาศัยนักการเมืองเกรงใจ จึงได้เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งสูงลิบ ขนาดผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด ยังเงินเดือนสูงกว่าผู้ว่าฯ ต่อมาอัยการก็ขอมั่ง ต่อมามีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็เทียบชั้นว่าประธาน กกต. ประธาน ปปช. เหล่านี้ต้องได้เงินเดือนเทียบเคียงประธานศาลฎีกา ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับสูง ข้าราชการ กกต. ปปช.ก็กลายเป็นข้าราชการอภิสิทธิ์ เงินเดือนและสวัสดิการสูงกว่าข้าราชการทั่วไป พวกนี้ไม่ต้องมารอเข้า รพ.รัฐแล้วเบิกจ่ายเหมือนข้าราชการธรรมดา แต่ซื้อประกันกับบริษัทเอกชนเลย ฉะนั้น ตอนก่อตั้งหน่วยงานเหล่านี้ใหม่ๆ ก็มีข่าวข้าราชการวิ่งขอโอนย้ายกันขาขวิด

หน่วยงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานด้านกฎหมาย จึงส่งผลกระทบให้รัฐบาลต้องมาปรับค่าวิชาชีพให้นิติกรประจำหน่วยงานราชการทั่วไปด้วย นิติกรกลายเป็นวิชาชีพหายาก ทั้งที่คนจบกฎหมายเกร่อ ประกาศ ก.พ.เมื่อกลางปีที่ผ่านมาขึ้นค่าตอบแทนให้นิติกรซี 3-8 ที่มีราว 5,000 คน ตั้งแต่ 3,000-6,000 บาท ทั้งที่ไม่ได้ทำงานมากกว่าเพื่อนข้าราชการในหน่วยงานเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีข้าราชการข้อสองครึ่ง ได้แก่องค์การมหาชนหรือหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นทั้งสมัยรัฐบาลชวนและทักษิณ อย่างเช่น 5 ส.ของหมอประเวศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ เชื่อหรือไม่ว่าเปิดดูในวิกิพีเดีย เรามีองค์การมหาชนตั้ง 29 องค์การ

หน่วยงานราชการทั้งหมดนี้ได้ขึ้นเงินเดือน % พร้อมกันหมด โดยรวมไปถึงคุณพ่อคุณแม่พนักงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งรัฐวิสาหกิจที่ทำงานหนัก (นึกชื่อไม่ออก) ทั้งรัฐวิสาหกิจเสือนอนกิน (อย่าง CAT ที่ได้อานิสงส์จากคำสั่งศาลปกครอง เซ็งลี้ 3G เข้าปากทรูมูฟของนายทุนไทยแท้แต่พูกไม่ชัก)

ถามว่ามันยุติธรรมไหม กับข้าราชการที่ทำงานงกๆ เพราะสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการปรับโครงสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเกลี่ยตำแหน่งลดกำลังพลระดับสูงของบางหน่วยงาน

แล้วถามว่ามันยุติธรรมไหม กับประชาชนตาดำๆ ที่ได้แค่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 8-17 บาท กับประชาวิวัฒน์ที่เป็นแค่น้ำจิ้ม

 ธันวาคม 24, 2010 by นิวัต พุทธประสาท
https://thaiaudio.wordpress.com/tag/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8-%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B5/

11
งานเข้าแล้วไหมล่ะ ใบตองแห้ง มีข่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สสส.เรียกประชุมด่วน แล้วมีกระรอกคาบข้อเขียนของผมเข้าไปในที่ประชุม ฉะนั้นที่จะเขียนเพิ่มเติมต่อไปนี้ ก็ถือว่าผมช่วยมองต่างมุมเพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์แล้วกัน

เปล่า มิได้สำคัญตนว่าสามารถเขียนจน สสส.กระเทือนซาง ผมมองมุมกลับต่างหาก ว่าหลายคนใน สสส.ก็รู้ปัญหาและพยายามจะแก้ไข พอผมเขียนไปก็ถือว่า “เข้าทาง” แม้แต่หมอประเวศเอง มีคนบอกว่าแกรู้ตัวอยู่เหมือนกัน ว่าการไว้วางใจกันเฉพาะในเครือข่าย ไปๆ มาๆ มันก็ทับซ้อนกับ “ลัทธิพรรคพวก”

ฉะนั้นที่จะเขียนเพิ่มเติมต่อไปนี้ ก็ถือว่าผมช่วยมองต่างมุมเพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์แล้วกันนะครับ อิอิ

แต่ก่อนเขียนถึง สสส.ก็ขอทิ้งท้ายถึงกรณีของสถาบันอิศราและสมาคมนักข่าวซักนิด ดูเหมือนจะมีคนกังขาสืบหาให้วุ่นว่าผมได้ข้อมูลจากใคร ทั้งที่ความจริงมันไม่ใช่เรื่องลี้ลับ เช่น เรื่องศูนย์ข่าวอิศรา กับบิลค่า “เลี้ยงแหล่งข่าว” ทุกเย็นย่ำ ตอนที่ภัทระ คำพิทักษ์ ขอมติสมาคมนักข่าวเข้าไปเป็น สนช.และถูกบีบให้ลาออก ก็มีคนยกเรื่องนี้มาโจมตีเป็นภาคผนวก (หรือหมัดแถม) เรื่องอบรม บสส.บสก.ก็เป็นข่าวอื้อฉาวในวงการ เมาท์กันมาเป็นปี แต่สื่อไทยถือคติ “แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน” เรื่องเน่าๆ ไม่เล่าสู่คนนอก เพื่อรักษาเกียรติภูมิของวิชาชีพไว้ สื่อไม่มีคอกอย่างผมเลยต้องเอามาพูด เพื่อให้สื่อสนใจตรวจสอบกันเองบ้าง คนดีๆ ในวิชาชีพนี้มีเยอะ อย่าทำตัวเป็นคนดีอย่างมานิจ สุขสมจิตร ซึ่งแกดีเกินไปมั้ง เห็นแก่น้องเห็นแก่รุ่นลูกรุ่นหลาน เกรงใจคนนั้นคนนี้จนทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง ทั้งที่รับเป็นกรรมการทั่วไปหมด

ก็น่าเห็นใจนะครับ คนเราอยู่ในสังคมก็มีความผูกพัน ผมพูดได้เพราะมีความผูกพันน้อย แต่ไม่ใช่ไม่มีใครคบอย่างที่กล่าวหา ทุกคนที่ผมรู้จักก็ยังคบหากันดี เพียงแต่ผมไม่กว้างขวางในวงการ เพราะทำสื่อค่ายเล็กมาตลอด ตั้งแต่แนวหน้า INN สยามโพสต์ ไทยไฟแนนเชียล ไทยโพสต์ และไม่เคยเป็นนักข่าวภาคสนาม จึงรู้จักคนน้อย แต่ทุกคนที่รู้จักก็ไม่มีใครด่าผมได้ว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ยกเว้นเรื่องไปทำงานสาย กับไม่เป็นโล้เป็นพาย ถึงจะชอบดูหนังโป๊ แต่ไม่เคยเป็นสมภารกินไก่วัด ไม่เคยทำตัวให้น้องๆ นักข่าวสาวไม่ไว้วางใจ (ปัจจุบันไม่ใช่แค่สมภารกินไก่วัดนะครับ แต่กินไก่ตัวผู้ด้วย คริคริ นักข่าวสาวผู้ถูกแย่งแฟนสติแตกจนเตลิดเปิดเปิงไปทำอาชีพอื่น)

การรู้จักผูกพันกับคนน้อยมีด้านดี คือทำให้ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจหรือเห็นแก่หน้าใครมากนัก สังคมไทยที่แก้ปัญหาคอรัปชั่นไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเห็นแก่หน้าญาติพี่น้อง พรรคพวก เพื่อนฝูง ซึ่งไม่ใช่ผมไม่มี บางเรื่องผมก็แตะไม่ได้เหมือนกัน เช่นใครจะให้ผมเขียนด่าไทยโพสต์ ผมทำไม่ได้ มันไม่ใช่แค่ผมยังทำงานให้ไทยโพสต์ จนวันตายผมก็ด่าไทยโพสต์ไม่ได้เพราะเราอยู่ในสังคมไทย ยังถือสาเรื่องของน้ำใจและบุญคุณ

มีคนโต้แย้งว่าผมอิจฉาหรือเปล่าที่นักข่าวบางคนรับเงินเดือนต้นสังกัดแล้วยังมารับเงินเดือนสถาบันอิศราด้วย อย่าถามผมสิครับ ต้องถามนักข่าวคนอื่นๆ ในสังกัดเดียวกันว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร ที่เพื่อนเอาเวลางานไปรับจ็อบ บ้างก็ยกตัวอย่าง บก.ศูนย์ข่าวอิศราว่าได้เงินเดือน 30,000 โดยยังได้เงินเดือนต้นสังกัดด้วย ก็น่าจะคุ้มเพราะต้องลงไปเสี่ยงอยู่ภาคใต้ ปัญหาคือเขาไม่ได้ลงไปอยู่ประจำนี่ครับ ถึงได้ถูกครหา

ที่ผมพูดเรื่องการรับเงินเดือนสองทาง ก็เพราะมีคำถามว่า เขาสามารถทำงานให้สถาบันอิศราตามโครงการของ สสส.อย่างเต็มที่หรือไม่ บางโครงการต้องการให้ลงพื้นที่ เปิดเวที นัดพบกลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ แต่นักข่าวติดงานที่ต้นสังกัดมอบหมาย แล้วไปไม่ได้ จะทำอย่างไร ซึ่งถ้าสถาบันอิศราจ้างนักข่าวรีไทร์มาทำหน้าที่สำคัญๆ ใช้นักข่าวที่มีงานประจำเพียงบางหน้าที่ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยง ค่ารถ ก็จะไม่ว่ากันเลย

นี่คือเรื่องที่พูดในหลักการทั้งหมด ส่วนที่ว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวกหรือเปล่า เอาลูกศิษย์ลูกหาใครมาทำงาน เอาเมียใครมาทำวิจัย เป็นเรื่องที่ขี้เกียจพูด คนในวงการก็รู้ก็เห็น แต่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

แทรกแซงสื่อ

ผมตั้งหน้าตั้งตาวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิประเวศและ สสส.ไม่ใช่เพราะเมาควันบุหรี่ฟิลิปมอร์ริสนะครับ เรื่องดีๆ ที่เครือข่ายหมอประเวศทำ ผมก็หนับหนุนอย่างจริงจังมาทั้งนั้น ยกตัวอย่างนโยบาย 30 บาท ผมไม่เอาทักษิณแต่ก็เชียร์เต็มที่ เพราะเชื่อมั่น “พี่หงวน” หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เชื่อมั่นแพทย์ชนบท สมัยทำไทยโพสต์ผมสัมภาษณ์แพทย์ชนบทตั้งแต่พี่หมอวิชัย โชควิวัฒน์ หมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ หมออำพล จินดาวัฒนะ หมอวิทิต อรรถเวชกุล ฯลฯ มาจนถึงหมอเกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ (ขาประจำซี้ย่ำปึ้ก) รวมๆ กันร่วมยี่สิบครั้งมั้ง สมัยหมอมงคลทำ CL ผมก็ไปสัมภาษณ์ สมัยรัฐบาลสมัครเด้งหมอศิริวัฒน์ ทิพธราดล ผมก็ไปสัมภาษณ์ จะปลดหมอวิชัยจากองค์การเภสัช ผมก็ไปสัมภาษณ์ ขณะที่พวกแพทยสภา แพทย์พาณิชย์ ไม่เคยได้โอกาสจากผมหรอก

คนในเครือข่ายลัทธิประเวศที่ผมได้เสวนาด้วย ล้วนเป็นคนดีๆ ทั้งนั้น รวมทั้งหมอพลเดช ปิ่นประทีป คุณสมสุข บุญญะบัญชา คุณสารี อ๋องสมหวัง เหล่านี้เป็นต้น แต่ทำไมผมต้องหันมาวิพากษ์วิจารณ์ ก็เพราะเวลาที่พวกท่านทำดีในขอบเขตที่เกี่ยวกับงานของพวกท่าน เช่น รณรงค์ต่อต้านเหล้าบุหรี่ คุ้มครองผู้บริโภค วางระบบหลักประกันสุขภาพ หรือพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง ล้วนเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน (ถึงมีจุดบกพร่องบ้างก็แล้วๆ ไป) แต่พอหมอประเวศยกระดับความคิด “ชุมชนนิยม” ของท่านขึ้นมาผลักดันเป็นแนวทางหลักในการ “ปฏิรูปประเทศ” โดยใช้สรรพกำลังทุกอย่างในเครือข่าย ทั้งเครดิต ทั้งแหล่งทุน ทรัพยากร ผมก็ต้องร้องว่า เฮ้ย มันไม่ใช่แล้ว มันเป็นเรื่องที่ต้องโต้แย้งแลกเปลี่ยนความคิดกันอีกเยอะ ไม่ใช่บอกว่าพวกท่านเป็นคนดีแล้วทุกคนจะต้องเห็นด้วยกับแนวทางนี้

ซ้ำร้าย ท่านยังเอาการปฏิรูปประเทศไทย มาสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอภิสิทธิ์ชน โดย “แตะทุกปัญหายกเว้นปัญหาที่ควรจะแตะ” อย่างที่ธงชัย วินิจจะกูล พูดไว้เป็นวรรคทอง

เอ้า ยกเรื่องนี้ไว้ก่อนก็ได้ ต่อให้เป็นสถานการณ์ปกติ การที่เครือข่ายคนดีซึ่งมีบทบาทในกระแสรอง เป็นผู้รณรงค์เรื่องต่างๆ จะพลิกขึ้นมาเป็นกระแสหลัก เป็นผู้มีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ นั้น มันไม่ใช่ว่าคุณจะกำหนดอะไรได้ถูกต้องเสมอไปนะครับ ยกตัวอย่างเช่น สสส.รณรงค์ต่อต้านเหล้าบุหรี่ คุณจะรณรงค์ให้สุดขั้วสุดโต่งอย่างไรก็รณรงค์ไปเหอะ อะไรที่สังคมเห็นด้วยและยอมรับ ก็จะรับไปกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ร่วมกัน จาก 10 เรื่อง ก็อาจมีผล 4-5 เรื่อง ที่เหลือเอาไว้ก่อน ค่อยเป็นค่อยไป
แต่ถ้าพลิกกลับกัน ถ้า สสส.เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข คุณจะเอาให้ได้ตามที่ต้องการทุกอย่าง ก็ chip หายสิครับ หลายๆ เรื่องที่สังคมยังไม่เต็มใจก็จะถูกใช้มาตรการบังคับ หรือถ้า สสส.สามารถล็อบบี้ แทรกแซง มีทรัพยากร …และมีสื่อในมือ จนทำอะไรได้ตามใจชอบ สสส.ก็จะกลายเป็นตัวปัญหา

พูดง่ายๆ คือผมหนุนเต็มที่ให้ NGO มีปากมีเสียงรณรงค์เสนอปัญหาสังคม เรียกร้อง ต่อต้าน ประท้วง อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้า NGO เป็นนายกฯ ประเทศชาติคงวิบัติ

ผมเชียร์สุดตัวให้คุณสารี อ๋องสมหวัง แกรณรงค์ปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภค แต่ถ้าคุณสารีเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผมคงก่ายหน้าผาก (แค่รสนาเป็น สว.ก็ก่ายหน้าผากแล้ว อิอิ)

ฉะนั้นสิ่งที่ผมคัดค้าน ก็คือความพยายาม “ยัดเยียด” ลัทธิชุมชนนิยมให้กับสังคม โดยอาศัยเครือข่ายงบประมาณหลายพันล้าน ของ สสส.พอช.สช.สวรส.โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของชาวบ้าน “จากล่างขึ้นบน” ทั้งที่ความจริงมันเป็นการเอาความคิดหมอประเวศไปใส่ปากชาวบ้านผ่านงบสัมมนา เบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ฯลฯ ชัดๆ

จำได้ไหมครับที่หมอประเวศไปพูดเรื่อง “เทศาภิวัฒน์” ที่ศูนย์ประชุมไบเทค ทราบไหมว่า “เทศาภิวัฒน์” ราคาเท่าไหร่ ก็ลองคูณดู จากการเอาสมาชิก อบต.เทศบาล และผู้นำชุมชน ร่วม 3,000 คนมาพักโรงแรมหรูอย่างโนโวเทล บางนา และอวานา 3 คืน พร้อมค่าอาหารค่าเดินทาง เพียงเพื่อให้หมอประเวศแกได้พูดเรื่อง “สภาผู้นำท้องถิ่นแห่งชาติ”
ได้ยินว่าก่อนหน้านั้นยังมีการจัดประชุม 4 ภาค พร้อมค่าอาหารค่าที่พักค่าเดินทางและเซ็นชื่อรับเบี้ยประชุม (สภาผู้นำท้องถิ่นจงเจริญ!) หมอประเวศจึงขาดเงินไม่ได้ ในการขายความคิดดีๆ

ประเด็นที่ต้องพูดในปริมณฑลของผมคือ เครือข่ายลัทธิประเวศใช้เงินในการ “เซลส์ไอเดีย” ผ่านสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนในแง่จรรยาบรรณ

ดังที่ผมเคยเขียนมาก่อนแล้วว่า การโฆษณาในสื่อปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการลงโฆษณาว่าสินค้าของตนดีอย่างนั้นอย่างนี้ มาเป็นการพีอาร์ภาพลักษณ์ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะให้นักเขียนดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ทรูมูฟ หรือขายไก่ซีพี ก็เสียศักดิ์ศรีหมด แต่พอคุณให้มาทำรายการวิทยุซีพีเอฟ เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน แบบนี้ค่อยรับทรัพย์อย่างถูกจริตหน่อย

มันก็อีหรอบเดียวกับที่นิตยสารสารคดีรับโฆษณา ปตท.นั่นละครับ ปตท.ก็ยินดีให้สัมภาษณ์เรื่องดีๆ เพื่อพีอาร์ภาพลักษณ์ เพราะการขายก๊าซขายน้ำมันจากโรงกลั่นของ ปตท.เป็นธุรกิจเกือบจะผูกขาดไม่ต้องกลัวคู่แข่งอยู่แล้ว ปตท.กลัวอย่างเดียวคือชาวบ้านด่า จึงต้องพีอาร์ว่าตัวเองเอาเงินไปทำเรื่องดีๆ อย่างนั้นอย่างนี้

นี่พูดด้วยความเห็นใจนิตยสารสารคดีนะ ถ้าผมเป็น บก.สารคดีผมก็ต้องเอา ค่าโฆษณาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอด นิตยสารเมืองไทยอยู่ได้ด้วยโฆษณา ถ้าไม่มีโฆษณาต่อให้ขายหมดก็ขาดทุน นิตยสารบ้านเราจึงต้องสมคบกับเอเยนซี ระบุยอดพิมพ์ยอดขายเกินจริงหลอกลูกค้า เช่นพวกนิตยสารผู้หญิงที่ชอบจัดงานตามโรงแรมหรู พิมพ์ 10,000 เล่มก็บอกว่าพิมพ์ 50,000 ไม่มีใครเค้าบอกตัวเลขจริงกันหรอก

เมื่อโฆษณาเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตสื่อ จึงเกิดกรณีที่ “สื่อถูกซื้อ” เหมือนสมัยทักษิณที่ใช้โฆษณาชินคอร์ปเป็นเครื่องมือแทรกแซงสื่อ ซึ่งอันที่จริงก็ว่าไม่ได้เต็มปาก ไปด่าพ่อเขาแล้วเขาไม่ลงโฆษณา ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เหมือนการเอางบประมาณแผ่นดินมาลงโฆษณา แปะหน้าสะเหร่อๆ ของนักการเมือง ซึ่งก็ริเริ่มในยุคทักษิณ และยิ่งหนักข้อในยุคขวัญใจจริตนิยม
สื่อที่ไม่แคร์โฆษณาพวกนี้มีแต่ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ ซึ่งเอเยนซีต้องเข้าคิวกราบกรานถือพานดอกไม้ธูปเทียนขอลงโฆษณา นอกนั้นส่วนใหญ่สิบเบี้ยใกล้มือต้องเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจไม่ค่อยดี

ในสภาพอย่างนี้แหละ ที่ สสส.ก้าวเข้ามาเป็นสปอนเซอร์รายหนึ่งของสื่อต่างๆ และเป็นสปอนเซอร์ที่สื่ออ้าขาผวาปีกยินดีต้อนรับ เพราะเป็นโฆษณาไม่มีพิษไม่มีภัย สมัยก่อนไม่มีเงินให้ เราก็เต็มใจช่วยรณรงค์ต่อต้านเหล้าบุหรี่ รณรงค์เสริมสร้างสุขภาพอยู่แล้ว (แต่พอได้เงินแล้ว ต่อไปถ้าไม่มีเงินให้ เราก็อาจไม่เต็มใจ อิอิ)

สสส.จึงเป็นสปอนเซอร์รายสำคัญของสื่อเกือบทุกฉบับ ไม่เว้นแม้แต่หนังสือพิมพ์กีฬา 18 บาท (พื้นที่โฆษณา 9 บาท) หน้าข้างๆ แปะปั่ว ครึ่งควบลูก ลูกควบลูกครึ่ง แต่อีกหน้าดันพีอาร์กิจกรรม สสส.รณรงค์ให้เยาวชนสนใจกีฬา ห่างไกลอบายมุข เฉยเลย
ปัญหาก็คือ มันไม่มีพิษไม่มีภัยจริงหรือเปล่า หรือว่าทำให้สื่อทั้งหลายต้องเกรงใจ สสส.ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สสส.ยกตัวอย่างตอนที่มีรายงาน สตง.ท้วงติงการใช้จ่ายของ สสส.ว่าให้งบประมาณแต่องค์กรหน้าเดิมๆ ในเครือข่ายไปย้ำคิดย้ำทำ ถามว่ามีสื่อรายไหนเอามาลงบ้าง (ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนจะมีมติชนออนไลน์เจ้าเดียว)

พูดอย่างให้ความเป็นธรรมนะครับ สื่อส่วนหนึ่งก็สนับสนุน สสส.อย่างไม่ลืมหูลืมตา เพราะเชื่อว่าเป็นการทำความดี สนับสนุนเรื่องดีคนดี ไม่ว่าสุดขั้วสุดโต่งแค่ไหนก็ต้องเชียร์ไว้ก่อน (เราจะได้เป็นคนดีไปด้วย) ฉะนั้น สสส.ก็เลยสามารถผลักดันมาตรการหลายๆ อย่างที่มันเว่อร์ และละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่น ห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่ (เมืองไทยกลายเป็นรัฐพุทธ) ห้ามใส่เหล้าในกระเช้าปีใหม่ หรือขยับอายุอนุญาตให้ซื้อบุหรี่จาก 18 ปีเป็น 20 ปี (มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่มีวิจารณญาณพอที่จะซื้อบุหรี่ ต่อไปน่าจะขยับอายุเป็น 25 ปีเท่าผู้มีสิทธิสมัคร ส.ส.)

แต่ขณะเดียวกัน ถ้ามีสื่อเสียงข้างน้อยอยากจะวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านมาตรการเหล่านี้บ้างล่ะ หรืออยากวิจารณ์การทำงานของ สสส.บ้างล่ะ นอกจากต้องทวนกระแสแล้ว ยังต้องสวนทางกับผลประโยชน์ของโรงพิมพ์ แบบเดียวกับนิตยสารสารคดี ก็คงไม่สามารถไปสัมภาษณ์รสนา ด่า ปตท.แม้ไม่ถูกห้าม แต่มันเป็นเงื่อนไขที่มองไม่เห็น ซึ่งคุณรับมาพร้อมสัญญาโฆษณา

หมอประเวศล้มรัฐบาลได้

ด้วยเงื่อนไขทั้งสองประการ สื่อจึงเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่วิพากษ์วิจารณ์ สสส.ซึ่งมีทั้งเงินทั้งกล่อง และต่อมามันก็ยังไม่ใช่แค่เรื่องรณรงค์เพื่อสุขภาพ ต่อต้านเหล้าบุหรี่ แต่ยังรวมถึงการเป็นสปอนเซอร์โฆษณา “ลัทธิการเมือง” ด้วย

อย่าเถียงนะครับว่าความคิดหมอประเวศไม่ใช่ลัทธิการเมือง แนวคิดปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังทำกันอยู่คือลัทธิที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศในอีกรูปแบบหนึ่ง

งบโฆษณาของ สสส.จึงนำมาใช้ในการเผยแพร่ลัทธิประเวศ เผยแพร่แนวคิดปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งผิด ถ้าไม่มีส่วนที่ “ต่างตอบแทน” หรือทำให้สื่อเกรงใจ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ มีแต่สื่อฝ่ายสนับสนุนเสียงดังอยู่ฝ่ายเดียว

ตัวอย่างชัดๆ เลยคือการให้ทุนสถาบันอิศรามาจัดฝึกอบรมนักข่าว พูดในด้าน สสส.ไม่พูดด้านที่มีปัญหาในสถาบันอิศรา มันก็คือสิ่งที่ดี สิ่งที่ควรสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็มี “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” คือสถาบันอิศราต้องมาตั้ง “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ให้หมอประเวศด้วย

บางคนอาจบอกว่าก็เขาทำเรื่องดีๆ สมาคมนักข่าว สถาบันอิศรา ควรสนับสนุน แต่ผมจะบอกว่า เฮ้ย คุณกำลังทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อ “ไม่เป็นกลาง” เพราะเอาตัวเข้าไปสนับสนุน “ลัทธิชุมชนนิยม” ซึ่งแม้มีส่วนดีแต่ก็ต้องมีการโต้แย้งถกเถียงกันให้ถึงแก่น ต้องผ่านการวิพากษ์ปรับเปลี่ยนกว่าจะนำมาใช้ได้จริง

ลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ปรากฎอยู่เพียงแค่สมาคมนักข่าว แต่กระจายอยู่ในสื่อแทบทุกฉบับ ซึ่งก็แยกแยะไม่ออกเสียด้วยว่าเป็นการสนับสนุนอย่างสมัครใจ หรือว่าเป็นเนื้อที่โฆษณา หรือว่าต่างตอบแทน มันถึงได้มีข้อเขียนบทความของสาวกหมอประเวศ ข่าวสาร ข่าวพีอาร์ ไปปรากฏอยู่ในหน้านั้นหน้านี้ เพราะ สสส.ชอบทำให้สับสนระหว่างเนื้อที่โฆษณากับงานอาสาช่วยรณรงค์โดยไม่คิดสตางค์ ข่าวพีอาร์ หรือข้อเขียนบทความหลายๆ เรื่อง สสส.ไปจ้างลงโดยไม่ระบุว่าเป็นเนื้อที่โฆษณา แต่ทำเหมือนว่าเป็นข้อเขียนของกองบรรณาธิการ

เพราะชอบทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนอย่างนี้ไง มันถึงเกิดกรณีลักไก่ นักข่าว 5-6 คนรวมหัวกันรับโครงการ สสส.เอาเพื่อนนักข่าวรีไทร์มาอุปโลกน์เป็นผู้จัดการโครงการ แล้วนักข่าวพวกนี้ก็ช่วยกันผลักดันให้สื่อต้นสังกัดของตัวเองลงข่าว อย่างที่ผมแฉไปแล้ว
อิทธิพลของ สสส.และเครือข่ายหมอประเวศที่มีต่อสื่อ แน่นอนส่วนหนึ่งมาจากการที่หมอประเวศสร้างความสัมพันธ์กับสื่อมาเป็นสิบๆ ปี สร้างความเลื่อมใสศรัทธา จากนั้นก็ให้ความสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้ไปทำสิ่งดีๆ ต่างๆ

จึงอาจชี้ให้เห็นได้ยาก ว่าหมอประเวศมีอิทธิพลครอบงำสื่อ ซึ่งต้องแยก 2 ลักษณะ ครอบงำด้วยความคิดความเชื่อถือศรัทธาเราไม่ว่ากัน แต่ต้องแยกออกจากส่วนที่ให้ทุน ให้โฆษณา ให้ความช่วยเหลือแก่การทำงานของสื่อ ว่าต้องเป็นไปด้วยความปรารถนาดี และต้องให้สื่อคงความเป็นอิสระของตนไว้ แม้ความเป็นอิสระนั้นจะหมายถึงการมีความคิดเห็นแตกต่างจากเครือข่ายหมอประเวศก็ตาม

ปรากฏการณ์ที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงสถานการณ์แหลมคม ในช่วงที่พันธมิตรไล่รัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย แน่นอน สื่อกระแสหลักให้ท้ายพันธมิตรด้วยสุคติและอคติของตัวเองอยู่แล้ว แต่เครือข่ายหมอประเวศก็มีบทบาทสำคัญอยู่ในนั้น ทำอย่างไรผมก็ไม่อาจลบภาพที่อดีตผู้จัดการ สสส.เดินเข้าทำเนียบควักกระเป๋าบริจาคเงินให้พันธมิตร ขณะที่ สสส.ใช้ Media Monitor เป็นเครื่องมือตัดเงินทุนสนับสนุนประชาไท ซึ่งมีทัศนะสวนทางพันธมิตร

อย่าปฏิเสธด้วยว่าในพันธมิตรก็มีเครือข่าย NGO ที่รับทุนจาก สสส.พอช.อยู่หลากหลายองค์กร บางองค์กรจัดเสวนาชาวบ้านในกรุงเทพฯ จ่ายค่าเดินทางค่าที่พักค่าเบี้ยประชุม เอาเข้าจริงเสวนาแป๊ปเดียว ที่เหลือพาไปทัวร์ตึกไทยคู่ฟ้า ใครจะไปรู้
นี่หมอประเวศยังมีแค่ สสส.สปสช.สวรส.สช. ทีวีไทย และ พอช.นะครับ ถ้า “รัฐซ้อนรัฐ” จัดตั้งขึ้นเต็มรูป มีทั้ง สสส.การศึกษา มีทั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งแต่ละองค์กรล้วนมีที่มาของงบประมาณอย่างอิสระ อัตโนมัติ จากภาษีเหล้าบุหรี่ ไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ไม่ต้องผ่านสภา

ต่อไปภายภาคหน้า ถ้าหมอประเวศไม่เอารัฐบาลไหน ที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา พวกท่านก็มีทั้งเงินทั้งสื่อ ทั้งองค์กรเครือข่าย นักวิจัย นักวิชาการ และมวลชน ที่ล้มรัฐบาลได้จริงๆ นะครับ ไม่เชื่อคอยดู

เลือกปฏิบัติ?

ในขณะที่ประชาไทถูกตัดงบ ผมกลับได้ยินว่า สำนักข่าวทีนิวส์ ได้เงินไปกว่า 19 ล้านบาท เอาไปทำอะไรบ้างไม่ทราบ แต่เปิดดูเว็บทีนิวส์พบ “ศูนย์ปฏิบัติการสารสนเทศเชื่อมโยงองค์กรประชาชน” สนับสนุนโดย สสส.ซึ่งเป็นการจัดตั้งเครือข่ายวิทยุชุมชนทั่วประเทศ

ทีนิวส์เป็นของใคร ก็ของสนธิญาณ (หนูแก้ว) ชื่นฤทัยในธรรม เจ้าของฉายา “นักข่าวร้อยล้าน” ผู้บริหารสำนักข่าว INN ในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในสมัยที่ผมไปทำงานด้วย โดยมีสมชาย แสวงการ เป็นหัวหน้ากอง บก.(สนธิญาณเคยทำงานควบคุมระบบแบ่งผลประโยชน์อ้อยน้ำตาล 70-30 ให้ อ.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา สมัยเป็น รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าทีมคือ สุนทร โภคาชัยพัฒน์ ซึ่งต่อมาเป็นคนสนิทของตระกูลมาลีนนท์ ทำให้สนธิญาณและสมชายได้เข้าไปทำช่อง 3)
จุดยืนสนธิญาณเป็นอย่างไรเห็นได้ชัดเจนจากการที่เว็บทีนิวส์มีเซคชั่นพิเศษ “เจาะข่าวร้อนทักษิณและขบวนการเสื้อแดง” ไม่นับรายการของสนธิญาณเอง ที่โจมตีเสื้อแดงและเชียร์รัฐบาลอภิสิทธิ์สุดลิ่มทิ่มประตู

สสส.ช่วยตอบยืนยันผมด้วยนะครับ ว่าให้เงินทีนิวส์ไป 19 ล้านจริงไหม มากกว่าสมาคมนักข่าวอีกนะ เท่าที่ผมได้ยินมา เครือข่ายวิทยุชุมชนไปเสนอขอเงินมาทำโครงการรณรงค์ด้านสุขภาพ จะถูกปฏิเสธหมด โดย สสส.ให้ไปติดต่อขอกับทีนิวส์แทน (เออ ทียังงี้ไม่ให้สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์เป็นตัวกลาง กลับให้สนธิญาณเป็นหัวเบี้ย)

การให้เงินโครงการต่างๆ ของ สสส.มีปัญหาในเรื่องของการให้ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจคนกันเอง อย่างเช่น โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งหมอพลเดชเป็นผู้อำนวยการ ได้ยินว่าได้ไปกว่า 70 ล้านบาท โอเค ผมเชื่อใจหมอพลเดชเป็นคนสัตย์ซื่อสุจริต แต่ผมไม่รู้ว่าได้มรรคผลอะไรบ้าง เพราะหมอพลเดชแกก็มาอีหรอบเดียวกับหมอประเวศ คือทุ่มเงินลงไปอุ้ม “วิถีชุมชน” แล้วก็เชื่อเป็นตุเป็นตะว่าชาวบ้านศรัทธาในวิถีชุมชน มากกว่าค่าเบี้ยประชุม

หรืออย่างสถาบันส่งเสริมการจัดความรู้เพื่อสังคม ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (ผู้ก่อตั้ง สกว.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นบอร์ด สวรส.และ สช.) ได้เงินไปกว่า 200 ล้านบาท โอเค หลานชายท่านพุทธทาสก็เป็นที่เชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริต มีเกียรติประวัติการทำงานเพื่อสังคมที่ควรคารวะ แต่สถาบันของท่านทำอะไรได้มรรคผลแค่ไหน ผมเปิดดูเว็บไซต์เห็นมีแต่บทความของท่านเป็นตับ กับการจัดอบรมซึ่งผู้สมัครก็ต้องเสียค่าลงทะเบียนเหมือนอบรมกับสถาบันเอกชน

กรณีของสถาบันอิศรา แหล่งข่าวก็กระซิบบอกผมว่าจริงๆ แล้วมีปัญหาเรื่องเขียนโครงการไม่ชัดเจนในเป้าหมายและรายละเอียด แต่เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจสมาคมนักข่าวไงครับ ประกอบกับนายกสมาคมฯ ไปพรีเซนส์เอง ตอบเก่งชี้แจงเก่ง โครงการก็ผ่าน
มีคำถามว่า สสส.เขาอนุมัติเงินกันอย่างไร หะแรกผมยังเข้าใจว่าทุกโครงการต้องผ่านบอร์ด หรืออย่างน้อยผ่านผู้จัดการ สสส.ที่ไหนได้ ไม่ใช่ มีผู้รู้อธิบายว่า แต่ละสำนักใน สสส.สามารถอนุมัติเงินได้หมด โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5-6 คนเป็น Reviewer โครงการไหนเสนอเข้ามามีเนื้อหาสอดคล้องสำนักไหน ก็ดูแลอนุมัติกันไป ขณะที่ส่วนกลางของ สสส.เองก็มีการจัดแผนงานขึ้น 7 แผนงาน แต่ละแผนงานมีกรอบวงเงินไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท มีผู้จัดการแผนงานเป็นผู้ดูแล

สำนักใน สสส.มี 9 สำนัก ที่น่าจับตานอกจากสำนัก 5 รณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม ซึ่ง รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ เป็น ผอ.ยังได้แก่สำนัก 3 สนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน ซึ่ง ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ เป็น ผอ.เธอเป็นศิษย์ก้นกุฎีหมอประเวศมาตั้งแต่อยู่ สช.ตอนนี้สำนัก 3 มีแผนงานไปสร้างตำบลฝึกอบรม เช่น อบต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราชได้รับงบ 20 ล้านไปเป็นตำบลต้นแบบให้กับอีก 20 ตำบล ในภาคเหนือใช้ตำบลนาบัว จ.พิษณุโลกได้รับงบ 20 ล้านเช่นกัน ตำบลเหล่านี้จะถูกนำมาโฆษณาว่าเป็นตำบลต้นแบบของการบูรณาการ และนำมวลชนมาร่วมเวทีปฎิรูปประเทศไทยของหมอประเวศ/อานันท์

อ้อ ผมยังได้ยินมาว่าสำนัก 3 ของ “คุณด้วง” นี่แหละที่จัดประชุม “เทศาภิวัฒน์”

ใบตองแห้ง
17 มี.ค.54

 มีนาคม 18, 2011 by นิวัต พุทธประสาท
https://thaiaudio.wordpress.com/tag/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8-%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B5/

12
ข่าวสมาพันธ์ / TIME magazine : Ending the war on fat
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2014, 02:17:31 »






TIME magazine :
สงครามเรื่องไขมันยุติแล้ว (Ending the war on fat)
เรามีความเชื่อที่ผิดไปเกี่ยวกับไขมันอิ่มตัว ( We were wrong about saturated fat )

Reversing years of negative press on saturated fats, Time magazine has finally admitted defeat on this issue, reversing course and admitting that the war on fat was wrong. They even expose the junk science that supports this dietary philosophy.
...................................................

But ......The Cholesterol Drug War just started.................


13
สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เป็นบทเรียนสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ให้แง่คิดมุมมองมากมายหลายด้าน ไม่เพียงแต่ด้านการเมือง การสงครามเท่านั้น ยังทำให้เราเห็นว่า เมื่อครั้งที่บ้านเมืองมีศึกติดพัน ถึงคราววิบัติบ้านแตกสาแหรกขาดชนิด “ล่มสลาย” จริงๆ นั้น ใครมีบทบาทอย่างไร ใครคิดสู้ปกป้องบ้านเมือง ท้องถิ่น ใครถอดใจหนีเอาตัวรอด ใครรักษาหน้าที่ของตนจนถึงที่สุดในยามวิกฤต

 

“ในปีวอก ฉศกนั้น ฝ่ายพุกามประเทศ พระเจ้าอังวะมังระ ให้เกณฑ์พลฉกรรจ์ลำเครื่องสองหมื่นห้าพัน สรรพด้วยช้างม้าเครื่องสรรพศัตราวุธให้พร้อมไว้ คิดจะยกมาตีพระนครศรีอยุธยาอีก”


สงครามเสียกรุงคราวนี้ เริ่มต้นที่เมืองทวาย เพียงแค่เดือนเดียว กองทัพพม่าก็บุกทะลุถึงเมืองเพชรบุรี แต่ยั้งทัพรอต่อเรือรบจนเข้าปีระกา ก่อนจะบุกเข้าประชิดกรุงในเวลาต่อมา


ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาก็ระดมพลหัวเมือง ใช้ยุทธวิธี “ตั้งรับ” รอบๆ เมือง
 

“พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสสั่งเสนาบดีให้จัดแจงเกณฑ์กองทัพหัวเมืองปากใต้ทั้งปวง และให้ทัพบกยกไปตั้งค่ายรับข้าศึกอยู่ตำบลบำหรุใต้เมืองราชบุรี ให้ทัพเรือไปตั้งอยู่หัวเมืองตำบลบางกุ้ง และให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตะวันออก ตะวันตก เข้ามาช่วยการสงครามป้องกันพระนคร
 

ให้ทัพเมืองพระพิษณุโลกมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดภูเขาทอง ให้ทัพเมืองนครราชสีมาตั้งค่ายอยู่ใกล้วัดพระเจดีย์แดง แล้วให้พระยารัตนาธิเบศคุมกองทัพเมืองนครราชสีมา ยกมาตั้งรักษาเมืองธนบุรี ให้พระยายมราชเกณฑ์กองทัพหัวเมืองอื่นยกลงมาตั้งรักษาเมืองนนทบุรี และทัพหัวเมืองนอกกว่านั้นให้เกณฑ์เข้ามาบรรจบกับพลชาวพระนคร ขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ สรรพด้วยปืนใหญ่น้อยเครื่องสรรพาวุธพร้อม แล้วให้กวาดครอบครัวพลเมืองชาวเมืองและเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร”


แต่ตลอดรายทางก่อนจะปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้นั้นมีรายงานชัดเจนว่าหัวเมืองต่างๆยอมแพ้ต่อกองทัพพม่า ทั้งแบบต่อต้านเพียงเล็กน้อย จนถึงขั้นทิ้งเมืองหนีเลยก็มี


ทำให้กองทัพพม่าสามารถปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาได้แบบไม่ยากเย็นนัก ก่อนจะทำสงครามขั้นสุดท้ายปิดบัญชีกรุงศรีอยุธยา

 

Shutdown กรุงศรี

 

นับตั้งแต่ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๐๘ กองทัพพม่าก็เริ่มไล่ตีรุกคืบกินหัวเมืองรอบนอกกรุงศรีอยุธยาไว้แบบไม่ยากเย็นนัก
รุ่งขึ้นปีจอ พม่าซึ่งแต่เดิมมีนายทัพใหญ่ ๒ คน คือ เนเมียวมหาเสนาบดีนำทัพบุกทางเหนือ กับมังมหานรธานำทัพบุกทางตะวันตก ตามยุทธวิธี “คีมหนีบ” (pincers movement) แต่มังมหานรธาเสียชีวิตลงกลางศึก จึงเหลือเนเมียวมหาเสนาบดีเป็นนายทัพใหญ่เพียงคนเดียว เนเมียวมหาเสนาบดีสั่งนำทัพยกประชิดกำแพงพระนครโดยรอบเป็นการปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาอย่างสิ้นเชิง


โดยกองทัพพม่าตั้งค่ายใหญ่ที่ตำบลโพธิ์สามต้นแล้วกระจายออกตั้งค่ายที่วัดภูเขาทองวัดการ้องแล้วสั่งนายทัพนายกองเติมเข้าไปทางวัดกระช้าย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ ทางด้านตะวันตกทั้งหมด


อย่างไรก็ดี เวลานั้นกองทัพกรุงศรีอยุธยายังคงยึดพื้นที่นอกกำแพงเมืองบางส่วนไว้ได้ คือด้านเหนือที่เพนียด ด้านตะวันออกที่วัดพิชัย วัดเกาะแก้ว ด้านใต้มีกลุ่มคนจีนโดยหลวงพิพัฒน์คุมอยู่ที่คลองสวนพลู ด้านตะวันตกที่วัดไชยวัฒนาราม เป็นต้น

 

ต่อมากองทัพพม่าได้ขยายวงล้อมมาทางทิศเหนือ ตั้งค่ายที่วัดพระเจดีย์แดง วัดสามพิหาร วัดมณฑป วัดกระโจม วัดนางชี วัดนางปลื้ม วัดศรีโพธิ์ แต่ละค่ายให้พูนดินปลูกหอสูงตั้งปืนใหญ่ไว้ยิงถล่มกรุง

แต่ในที่สุดค่ายใหญ่น้อยต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาที่อยู่รอบนอกพระนคร ก็ไม่สามารถจะยันพม่าไว้ได้
 
“ค่ายไทยซึ่งออกมาตั้งรบอยู่นอกพระนครนั้น ก็เสียแก่พม่าในเดือน ๓ ปีจอ อัฐศกนั้นทั้งสิ้น”

 

เท่ากับว่ากองทัพพม่าได้ Shutdown กรุงศรีอยุธยาได้อย่างเบ็ดเสร็จก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกไม่น้อยกว่า ๒ เดือน แต่ว่าก่อนหน้านั้น กรุงศรีอยุธยาก็ถูกปิดล้อมทั้งหัวเมืองใกล้เคียงและชานพระนครไว้ก่อนแล้ว

 

กองทัพพม่าไม่เพียงแต่ตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้แบบชั่วคราวเท่านั้นแต่ได้“สร้างเมือง”ก่อกำแพงสูง โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ปักหลักพักค้าง” น้ำมาไม่หนี อยู่กันข้ามปีถึงขนาดว่าจะล้อมไว้นานเท่าไรก็ได้ “ถึงแม้ว่าเราจะต้องล้อม ๑๐ ปี เราก็จะล้อมไว้กว่าจะได้”


เมื่อพม่าตั้งค่ายตามวัด ก็ใช้อิฐวัดก่อกำแพงเมือง “พม่าล้วนแต่มีใจหยาบช้ามิได้ละอายแก่บาป ให้รี้พลไปรื้อเอาอิฐ โบสถ์วิหารวัดน้อยใหญ่ทั้งปวง มาก่อกำแพงล้อมเป็นค่ายทั้งสองตำบล” นี่เองทำให้กรุงศรีอยุธยาหลังสงคราม “หมดสภาพ” ที่จะฟื้นคืนให้ดีดังเก่าได้

 

“เมือง” หรือค่ายของกองทัพพม่ามั่นคงแข็งแรง สร้างด้วยอิฐจากวัดต่างๆ มีอยู่ถึง ๒๗ เมือง รายรอบกรุงศรีอยุธยา
 
“ได้สร้างเมืองรอบพระนครทั้ง ๔ ด้าน สร้างด้วยอิฐทั้งสิ้น ๒๗ เมืองๆ นี้ได้ก่อนสร้างป้อม คู ประตู หอรบ ไว้ทั้งสิ้น ดุจเทวดาลงมานฤมิตร แล้วจัดให้พลทหารเอาปืนใหญ่น้อยสาตราวุธทั้งปวงขนขึ้นรักษาตามป้อมแลหอรบบนเชีงกำแพงโดยแน่นหนา
 
ครั้งจัดเสร็จแล้วแม่ทัพทั้ง๒ก็สั่งให้พลทหารเอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในกำแพงกรุงศรีอยุทธยาดุจฝนแสนห่ามิได้ขาดเสียงปืน”


การ Shutdown กรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น เป็นการปิดล้อมเชิงยุทธวิธีแล้ว เพื่อตัดการส่งเสบียงอาวุธ เสบียงอาหาร ไม่ให้กรุงศรีอยุธยาได้รับการสนับสนุนใดๆ จากภายนอกได้อีก แล้วยังสามารถจัดการพื้นที่เพื่อสนับสนุนเสบียงให้กับ “เมือง” ที่กองทัพพม่าตั้งขึ้นรอบๆ พระนครอีกทางหนึ่ง
 
“เพราะฉะนั้นพวกเราจงแย่งชิงโคกระบือของพลเมืองอยุทธยาทั้งปวง เมื่อได้แล้วก็ไปทำนาตามพลเมืองแลนาหลวงอยุทธยาให้มีกำลังแก่เรา แลอย่าให้พลเมืองอยุทธยาทำไร่ทำนาได้”

 

การปิดล้อมแบบปิดตายครั้งนี้ส่งผลให้ภายในพระนครระส่ำระสายอย่างหนัก
 
“ฝ่ายข้างในกรุงฯก็เกิดโจรผู้ร้ายปล้นกันเนืองๆมิได้ขาดและผู้คนอดอยากซูบผอมป่วยไข้ล้มตายนั้นก็มากที่หนีออกไปหาพม่านั้นก็เนืองๆ”
ผลการรบที่กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสมอ ทำให้บาทหลวงชาวฝรั่งเศสถึงกลับกล่าวว่าไทยไม่คิดสู้ ซึ่งไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
 
“ฝ่ายพม่าข้าศึกก็ยกทัพเข้ามาทีละน้อย หวังจะให้ขาดเสบียงในกรุง เพราะพวกพม่าได้ทำลายทุ่งนาบ้านเรือนโดยรอบกรุง ถ้าไทยจะคิดตัดเสบียงพวกข้าศึกแล้วก็จะทำได้ง่ายที่สุด แต่ก็ไม่เห็นไทยคิดจะจัดการอย่างใดเลย”

 

ศึกใน ไส้ศึก


กองทัพพม่าที่ยกมาคราวนั้น มีหลักฐานบันทึกจำนวนไว้ต่างกันออกไป พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ว่ามีราว ๒๕,๐๐๐ นาย หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดว่ามีประมาณ ๘๐,๐๐๐ นาย หนังสือมหาวงษ์พงศาวดารพม่า ว่ามีราว ๗๓,๐๐๐ นาย


ด้านกองทัพกรุงศรีอยุธยาฝ่ายตั้งรับ หนังสือคำให้การฯ ว่ามีราว ๖๐,๐๐๐ นาย ใกล้เคียงกับหนังสือมหาวงษ์ฯ ว่ามีราว ๕๐,๐๐๐ ไม่รวมช้าง ม้า ปืนใหญ่ อีกหลักพัน


จำนวนทหารที่ปรากฏในบันทึกอาจจะไม่มีความแน่นอนนัก อย่างไรก็ดี ตามหลักยุทธศาสตร์การรบ ฝ่ายตั้งรับคือฝ่ายที่ได้เปรียบกว่า แต่ในกรณีนี้พม่าใช้ยุทธวิธีปิดล้อมยืดเยื้อ ผลการรบส่วนใหญ่พม่าจึงเป็นฝ่ายมีชัยเหนือกรุงศรีอยุธยาเกือบทุกสมรภูมิ

 

ความพ่ายแพ้ อดอยาก ยิ่งทำให้ทั้งทหาร ราษฎร ในพระนครหนีออกไปมอบตัวกับกองทัพพม่ามากยิ่งขึ้น “การข่าว” ของพม่าก็ยิ่งแม่นยำขึ้นมากเช่นเดียวกัน
 
“พวกพลทหารพลเมืองอยุทธยาทั้งปวงก็ได้รับความคับแค้นอดหยากคับแค้นอยู่ทุกผู้คนแล้วจึงได้เข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ที่กองทัพเราทุกวันมิได้ขาดเราก็ได้ทราบกิจราชการของพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาหมดแล้ว”

นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานเป็นบันทึกของชาวต่างชาติที่“บันทึกเรื่องราวของผู้เห็นเหตุการณ์”ไว้ว่ากรุงศรีอยุธยามี“ไส้ศึก” ของกองทัพพม่าอยู่ภายในตัวเมือง คอยช่วยเหลือกองทัพใหญ่นอกเมืองอีกด้วย
 

“ในการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ ทัพพม่าได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากชาวพม่าด้วยกันจำนวนประมาณ ๕๐๐ คน ที่อยู่ในตัวเมือง (ชาวพม่าเหล่านี้ถูกกองทัพไทยจับไว้ได้ในครั้งก่อนๆ) และได้ติดต่อกับกองทัพพม่าที่ยกเข้ามารุกรานกรุงศรีอยุธยา”


น่าเสียดายที่บันทึกเรื่องนี้ไม่สามารถยืนยันได้จากเอกสารฝ่ายพม่าและฝ่ายไทย

อย่างไรก็ดีคำให้การชาวกรุงเก่าได้เอ่ยถึงเรื่อง“ไส้ศึก” ไว้เหมือนกัน

“พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเห็นนายทัพนายกองแตกพ่ายมาดังนั้น ก็ให้ปิดประตูให้ทหารขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินมั่นไว้มิให้ออกรบ
 
ครานั้นพระยาพลเทพข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกหากลอบส่งเครื่องศัสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่าสัญญาจะเปิดประตูคอยรับ”


แม้ว่าเรื่องนี้จะเชื่อถือได้ยาก เพราะในกรุงศรีอยุธยาเองก็ขาดแคลนทั้งเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมาก จะมีปัญญาส่งเสียให้กับกองทัพพม่าได้อย่างไร


แต่ข้อเท็จจริงบางประการที่มีหลักฐานยืนยันตรงกันก็คือ“กองทัพพม่าเต็มไปด้วยคนไทย” จะเป็นการแปรพักตร์หรือถูกกวาดต้อนให้ร่วมรบก็ตามย่อมมีผลในการ “เติม” กำลังพลให้กับฝ่ายพม่า ในขณะเดียวกันก็ “ลด” กำลังทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไปไม่น้อย


การที่มีคนคิดสู้ และผู้ที่คิดหนี ในเวลาเช่นนี้ ย่อมมีผลอย่างสูงในเวลาที่บ้านเมืองระส่ำระสาย และหากผู้ที่คิดหนีเป็นขุนทหารไม่ใช่ราษฎรที่เป็นเด็ก ผู้หญิง หรือคนชรา ย่อมมีผลต่ออำนาจในการป้องกันตัวของกรุงศรีอยุธยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แน่นอนว่าเรื่องของนักสู้ และผู้ถอยหนี มีบันทึกไว้ไม่น้อยในประวัติศาสตร์หน้านี้

 

เช็คชื่อ ใครสู้ ใครถอย ใครหนี

 

ปกติการรบย่อมมีรุกมีรับ แต่ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยานั้น ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายถอยหนีมากกว่ารุกคืบ การที่กรุงศรีอยุธยาเน้นยุทธวิธีตั้งรับมากกว่ารุกไล่ หรือป้องกันข้าศึกตั้งแต่แนวชายแดน ทำให้ข้าศึกรุกคืบถึงพระนครได้โดยง่าย และมีโอกาส “รุกฆาต” เมื่อใดก็ได้

 

อย่างไรก็ดี การที่กรุงศรีอยุธยาสามารถตั้งรับได้นานนับปี อาจแสดงว่าประสิทธิภาพในการป้องกันตัว ยังใช้ได้ดีพอสมควร ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะทหารในพระนครสู้รบอย่างเต็มที่เนื่องจากเป็นปราการด่านสุดท้าย หรืออาจเป็นเพราะ “กรุงศรีอยุทธยานี้เปนกรุงใหญ่โตมั่นคง แลคูเมืองกว้างน้ำก็ลึกกับได้ก่อสร้าง ๕๐ ป้อม ค่ายคูประตูหอรบขึ้นไว้ใหม่”  ทำให้กองทัพพม่าต้องหายุทธวิธีฝ่าด่านสุดท้ายนี้ให้ได้ คือการขุดอุโมงค์เผารากกำแพงเมือง แล้วเข้าตีพร้อมกันทุกด้าน จนสามารถยึดกรุงศรีอยุธยาได้ในที่สุด

 

หากไล่เรียงความพ่ายแพ้นับตั้งแต่เริ่มเกิดศึก ก็จะเห็นได้ว่า กรุงศรีอยุธยาเสียทีตั้งแต่เริ่มศึก และไม่มีโอกาสกลับมาเป็นผู้ชนะได้ เนื่องจากตลอดเส้นทางการรบกรุงศรีอยุธยารบพลางถอยพลางอยู่ตลอดเวลา

 

นับตั้งแต่เดือน ๖ ปีวอก พุทธศักราช ๒๓๐๗ กองทัพพม่าได้ไล่ล่า “หุยตองจา” เจ้าเมืองทวาย ซึ่งหนีตายเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พม่าจึงตามตีไล่ล่าหุยตองจา ตั้งแต่เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี เลยมาถึงเมืองกระบุรี ชุมพร ปทิว เมืองกุย เมืองปราณ ก่อนจะยกทัพกลับไปตั้งหลักที่เมืองทวาย หลังจากไม่ได้ตัวหุยตองจาดังที่หวัง เพราะรัฐบาลกรุงศรีอยุธยาได้ส่งตัวหุยตองจาไปลี้ภัยที่เมืองชลบุรี

 

หลังจากได้หยั่งเชิงดูแล้วเห็นว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยานั้นอยู่ในสภาพอ่อนแอพม่าก็ตัดสินใจที่จะตีกรุงศรีอยุธยาสิ้นสภาพในคราวนี้จึงส่งกองทัพบุกทางเหนือหนึ่งกองทัพ ทางใต้อีกหนึ่งกองทัพ บุกตะลุยฝ่าด่านหัวเมืองต่างๆ มาเรื่อยๆ


เดือน ๔ ปีวอก เมืองกำแพงเพชร ไม่มีใครสู้รบ
เดือน ๗ ปีวอก พระพิเรนทรออกรับศึกเมืองกาญจนบุรี แตกพ่าย
ราชบุรี เพชรบุรี มิได้มีผู้ใดต่อรบ ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น
ปีระกา ให้พระพิษณุโลกไปตั้งรับที่วัดภูเขาทอง พระพิษณุโลกถวายบังคมลาไปปลงศพมารดา
เดือน ๑๑ ปีระกา พระยาสุโขทัย และพระยาสวรรคโลกพาครอบครัวพลเมืองหนีเข้าป่า

 

พวกไทยบางกุ้งแตกพ่ายหนี
พระยารัตนาธิเบศตั้งรับอยู่เมืองธนบุรีหนีกลับขึ้นไปกรุงศรีอยุธยามิได้สู้รบ
พระยายมราช ตั้งรับอยู่เมืองนนทบุรี เลิกทัพหนี มิได้ตั้งอยู่ต่อรบพม่า
บรรดาประชาชนชาวหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง ยกครอบครัวหนีเข้าป่า
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ผนวชอยู่วัดประดู่ หาได้ลาผนวชออกไม่

 

เดือนอ้าย ปีจอ พระยาแพร่ ซึ่งร่วมรบกับกองทัพพม่ามาตลอดทาง รวมทั้งร่วมเข้าตีค่ายบางระจัน เกิดเปลี่ยนใจไม่อยู่ฝ่ายพม่าอีกต่อไปเพราะ “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อยู่รบกรุงเทพมหานครด้วยพม่าแล้ว จะกลับไปเมืองของตน”

 

เดือนยี่ ปีจอ พระยาตาก “จัดแจงกันคิดจะยกทัพหนีไปทางตะวันออก”

 

พลเรือน ทหาร ข้าราชการ ที่ “หนี” เหล่านี้ เฉพาะที่ปรากฏชื่อ เรื่องราวในพระราชพงศาวดารเท่านั้น ในเหตุการณ์จริงคงจะมีนายทัพนายกองอีกมากที่ทำในสิ่งเดียวกัน นอกจากหนีแล้วหนังสือมหาวงษ์ฯ ยังได้กล่าวอ้างถึงการยอมสวามิภักดิ์ของเจ้าเมืองฝ่ายกรุงศรีอยุธยาไว้หลายเมือง เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เป็นต้น

 

“ฝ่ายผู้รักษาเมืองราชบุรีเห็นว่าเมืองเพ็ชร์บุรีเสียแก่มหานรทาก็มีความกลัวเกรงไม่อาจจะต่อสู้รบแล้วผู้รักษาเมืองราชบุรีก็เอาเครื่องราชบรรณาการเปนอันมากออกมาสวามิภักดิ์ยอมเข้าเปนข้ามหานรทาแม่ทัพแล้วมหานรทาแม่ทัพก็ตั้งให้ผู้รักษาเมืองราชบุรีกับตั้งให้นายทหารเอกอยุทธยากำกับรักษาเมืองราชบุรีต่อไป แล้วให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาด้วย”

 

แน่นอนว่าการศึกครั้งนี้ มิใช่จะมีแต่การ “หนี” เพียงอย่างเดียว

 

ในศึก “ป้องกันตัว” กรุงศรีอยุธยายังมีผู้ที่สู้ตายถวายชีวิตอีกมาก เพียงแต่ว่าการเสียสละเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้ผลการรบเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

 

ราวเดือน ๑๒ ปีระกา พ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ ปอเน นำเรือเข้ามาขายสินค้าในกรุงศรีอยุธยาในระหว่างเกิดสงครามพอดี
 

“โกษาธิบดีให้ล่ามถามแก่นายกำปั่นว่าถ้าพม่าจะเข้ามารบเอาเมืองธนบุรีอีกนายกำปั่นจะอยู่ช่วยรบหรือจะไปเสียนายกำปั่นว่าจะอยู่ช่วยรบ”

 

พวกปอเนยิงต่อสู้กับพม่าที่ป้อมเมืองธนบุรีได้ระยะหนึ่งก็ขอปืนใหญ่กระสุนดินปืนเพิ่มอีก“ไทยยอมจัดปืนให้แต่ไม่ครบจำนวน” สุดท้ายปอเนจึงถอนสมอออกไป “มิได้อยู่รบพม่า”

 

เดือน ๓ ปีระกา เกิด “ศึกบางระจัน” ชาวบ้านร่วมมือกันต่อสู้กับกองทัพพม่าอย่างดุเดือด และสามารถรักษาบางระจันไว้ได้นานถึง ๕ เดือน ก่อนจะแตกพ่ายไปในเดือน ๘ เสียชาวบ้านไป ๑,๐๐๐ กว่าคน พม่าตายไป ๓,๐๐๐ เศษ พวกที่รอดตายก็ถูกจับเป็นเชลยโดยมาก

 

กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่รวบรวมผู้คนทางหัวเมืองตะวันออกได้หลายพันคน คิดจะยกกลับมากู้กรุงศรีอยุธยา แต่แผนแตกเสียก่อน พม่ายกกองทัพมาตีจนแตกพ่าย กรมหมื่นเทพพิพิธหนีไปเมืองนครราชสีมา

นายเริก ทหารในกองเรือที่กำลังจะยกเข้าตีค่ายพม่าที่วัดการ้อง ถูกปืนยิงขณะรำดาบสองมืออยู่หน้าเรือ “ตกน้ำลง” ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นหรือตาย แต่เห็นจะมีวิชาดีอยู่จึงกล้ารำดาบท้าพม่าอยู่หน้าเรือได้

 

เดือน ๑๒ ปีระกา พระยาเพชรบุรีเป็น “กองหน้า” นำกองเรือเข้าตะลุมบอนกับพม่ากลางทุ่งวัดสังฆวาส พม่าเอาหม้อดินดำติดเพลิงโยนเข้าในเรือพระยาเพชรบุรี สุดท้ายจับพระยาเพชรบุรีได้ แต่พระยาเพชรบุรีเป็นคนมีวิชา ฟันแทงไม่เข้า “จึงเอาไม้หลาวเสียบแทงทางทวารหนักถึงแก่ความตาย”

 

ในกองเรือนี้มีพระยาตาก “นายกองเรือ” และหลวงศรเสนี “กองหนุน” แต่ทั้งสอง “จอดรอดูเสีย หาเข้าช่วยอุดหนุนกันไม่”

 

นอกจากนี้ยังมีชาวจีนคลองสวนพลูนำโดยหลวงพิพัฒน์ นำจีน ๒,๐๐๐ คน ตั้งค่ายรบอยู่ที่คลองสวนพลู (เอกสารบาทหลวงว่าตั้งอยู่ที่ค่ายฮอลันดา) ค่ายนี้รบกับพม่าอยู่ครึ่งเดือนถึงเสียค่าย


ค่ายทหารกรุงศรีอยุธยาที่วัดชัยวัฒนารามก็ต่อสู้พม่าอยู่แปดเก้าวันจึงพ่ายแพ้

 

นอกจากนี้ยังมีวีรบุรุษอีกมากที่สู้ตายถวายชีวิตในศึกครั้งนี้ บ้างก็อาจมีชื่ออยู่ในพระราชพงศาวดาร บ้างก็มีชื่ออยู่ในตำนานท้องถิ่น บ้างก็เป็นวีรบุรุษนิรนามไป

 

ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารกล่าวว่า ในศึกครั้งนี้กรุงศรีอยุธยามีผู้เสียชีวิต ทั้งด้วยอาวุธ ป่วยไข้ และอดตาย ประมาณได้ ๒๐๐,๐๐๐ คน ถูกจับเป็นเชลยราว ๓๐,๐๐๐ คน รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรอดีตพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาก็ถูกจับเป็นเชลยอีกพระองค์หนึ่งด้วย


แต่ก็ยังมีผู้ที่หลบหนีพม่าและรอดจากสงครามคราวนี้จนต่อมาได้เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ถึง๒คน

 

๓ กษัตริย์ “หนี” ในศึกกรุงแตก

 

พระเจ้าแผ่นดินพระองค์สุดท้ายในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาคือพระเจ้าเอกทัศน์พระราชพงศาวดารบันทึกพระราชประวัติในช่วง“หนี”พม่าไว้ว่า
 
“พระเจ้าแผ่นดินนั้นหนีออกจากเมือง ลงเรือน้อยไปกับมหาดเล็กสองคน ไปเร้นซ่อนอยู่ในสุมทุมไม้ใกล้บ้านจิกข้างวัดสังฆาวาส มหาดเล็กนั้นก็ทิ้งเสียหนีไปอื่น อดอาหารอยู่แต่พระองค์เดียว พม่าหาจับได้ไม่”


แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับพระพนรัตน์ บันทึกไว้ต่างกันคือ “หนีออกไปจากพระนครองค์เดียว ได้ความทุกข์ลำบากก็ถึงพิราลัยไปสู่ปรโลก” คล้ายกับ คำให้การชาวกรุงเก่า ที่ว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต” ส่วนบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสว่า “ฝ่ายพระเจ้ากรุงสยามซึ่งเป็นพระโรคเรื้อนนั้น ก็หนีข้าศึกไป และไปสวรรคตที่โพธิ์สามต้น”


บันทึกทั้งหมดนั้นต่างจากพงศาวดารพม่าอย่างสิ้นเชิง พงศาวดารพม่ากล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าแผ่นดินสยามว่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ปลอมพระองค์หนีไปกับพระมเหสีเล็ดลอดปะปนไปกับราษฎร แต่ทรงถูกปืนซึ่งพม่ายิงเข้าใส่ฝูงชนเมื่อบุกเข้าเมืองมา “พระศพพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาถูกอาวุธล้มสวรรคตอยู่ที่ประตูเมืองฝั่งตวันตกกรุงศรีอยุธยา” เป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา


แต่ก่อนที่จะสิ้นวงศ์อยุธยามีบุคคลสำคัญ๒ท่าน ที่หนีศึกในสงครามกรุงแตก และภายหลังได้กลับมาเป็นผู้ที่สถาปนาราชอาณาจักรและพระราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ สืบต่อจากวงศ์อยุธยา


หนึ่งในนั้นคือ พระยาตาก ที่พารี้พลหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ก่อนกรุงจะแตก ๓ เดือน ภายหลังจึงวกกลับมาขับไล่พม่า “ฟื้น” ราชอาณาจักรขึ้นมาใหม่มีราชธานีอยู่ที่ “กรุงธนบุรี”


อีกท่านหนึ่งคือ หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เมืองราชบุรี


เมื่อครั้งพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น นายสุดจินดา (บุญมา) หนีพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งหน้าไปหาพี่ชายคือหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง) เมืองราชบุรี ที่อัมพวา หมายจะชักชวนกันไปเฝ้าหาพระยาตากแถบเมืองชลบุรี เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันกู้กรุงศรีอยุธยา
 

“เมื่อถึงราชบุรีแล้วจึงเสด็จไปที่บ้านอำพะวา ก็หาพบพระเชษฐาไม่ สืบความทราบมาแต่พระสงฆ์บางองค์ที่กล้าอยู่ บอกว่าพระเชษฐาท่านพาพระชายาแลพระญาติหนีพม่าในป่าข้างทิศเหนือ ขณะนั้นกรมพระราชวังท่านก็ตามไปในป่าหลายวันจึงพบพระเชษฐา”


หากย้อนกลับไปตรวจสอบวันที่มังมหานรธาบุกเมืองราชบุรีคือเดือน๗ ปีวอก ซึ่งเวลานั้นพงศาวดารกล่าวไว้แตกต่างกันคือ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า “มิได้มีผู้ใดต่อรบ ยกครอบครัวหนีเข้าป่าไปสิ้น” ส่วนฉบับพระพนรัตน์กล่าวว่า “รบพุ่งกันอยู่หลายวัน” ในขณะที่พงศาวดารพม่าบันทึกว่าผู้รักษาเมืองราชบุรี “ออกมาสวามิภักดิ์ยอมเปนข้ามหานรทา”

 

ไม่ว่าสถานการณ์การรบจะเป็นอย่างไร บทสรุปที่แน่นอนก็คือราชบุรีเสียให้แก่พม่าตั้งแต่เดือน ๗ ปีวอก ในขณะที่ราษฎร ทหาร บางส่วนย่อมหลบหนี “เข้าป่าไปสิ้น” ซึ่งก็น่าจะเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่หลวงยกกระบัตรพาครอบครัวหลบหนีเข้าป่า


ถ้าเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับว่าหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี หนีเข้าป่าก่อนกรุงแตกเกือบ ๒ ปีเต็ม


จนกระทั่งนายสุดจินดาน้องชายไปชวนให้เข้าร่วมรบกับพระยาตาก กู้กรุงศรีอยุธยา แต่หลวงยกกระบัตรราชบุรีเวลานั้น “ไม่สะดวก” เนื่องจากเมียและพี่สาวตั้งครรภ์อยู่ และยังต้องคอยตามหาพ่อตาแม่ยายที่พลัดพรากจากกันไปอีกด้วย
 

“อยู่ที่ตำบลนี้ก็พอจะซ่อนตัวได้เมื่อเสบียงอาหารหมดลงก็จะเอาที่เราฝังไว้ในบ้านมากินอีกประการหนึ่งเงินทองก็ฝังไว้เหล่านี้ทั้งสิ้นจะทิ้งไปเสียกระไรได้ ต้องอยู่ดูแลระวังรักษาบ้าง”


อีกราว ๑๕ ปีต่อมา หลวงยกกระบัตรราชบุรีท่านนี้ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สืบต่อจากกรุงธนบุรี

 

สรุปบทเรียนของนายสุดจินดา


การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น ภายหลังถูกตีแผ่ด้วยเพลงยาวนิราศของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งเดิมคือนายสุดจินดา “ประจักษ์พยาน” ที่ฝ่าด่านพม่าไปทางเรือ เพื่อหวังจะ “สู้” กู้กรุงศรีอยุธยา


  อันจะเป็นเสนาบดี   ควรที่จะพิทักษ์อุปถัมภ์
  ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น ป้องกันปัจจาอย่าให้มี
  นี่ทำหาเป็นเช่นนั้นไม่   เหมือนไพร่ชาติชั่วช้ากระทาสี
  เหตุภัยใกล้กรายร้ายดี   ไม่มีที่จะรู้สักประการ
  ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที   มิได้มีเหตุเสียจึงแตกฉาน
  ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน   เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป
  ถึงเพียงนี้ละไม่มีที่กริ่งเลย  ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้
  ศึกมาชิงล่าเลิกกลับไป   มิได้เห็นจะฝืนคืนมา
  จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่  ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา
  ครั้นทัพเขากลับยกมา   จะองอาจอาสาก็ไม่มี
  แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ  จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่
  ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี  เมืองยับอัปรีย์จนทุกวันฯ

ปรามินทร์ เครือทอง ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2557
มติชนออนไลน์  17 เมษายน พ.ศ. 2557

14
คนไข้โรคประสาท 18 รายที่เข้ารับการผ่าตัดที่ศูนย์การแพทย์ “โนแวนต์เฮลท์ฟอร์ซิท” ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา อาจสัมผัสกับโรคที่ไร้หนทางรักษาและอันตรายถึงชีวิต ซึ่งคล้ายกับโรค “วัวบ้า” เนื่องจากเครื่องมือผ่าตัดไม่ได้ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ โรงพยาบาลดังกล่าวระบุวานนี้ (10 ก.พ.)
       
       บรรดาแพทย์ได้ผ่าตัดคนไข้ทั้ง 18 คน เมื่อวันที่ 18 มกราคม ด้วยเครื่องมือที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ ภายหลังนำไปใช้ผ่าตัดชายคนหนึ่งซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นโรค “ครอยตส์เฟลดต์-จาคอบ” (ซีเจดี) โรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองวินสตัน-ซาเล็มแห่งนี้เปิดเผย
   
       “ในนามของคณะแพทย์ผ่าตัดทุกคนของโนแวนต์เฮลท์ ผมต้องขอโทษคนไข้และครอบครัวของพวกเขาที่ทำให้ต้องวิตกกังวล” เจฟฟ์ ลินด์เซย์ ประธานของศูนย์การแพทย์แห่งนี้กล่าวในการแถลงข่าว
       
       สถาบันโรคประสาทและโรคเส้นโลหิตในสมองแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า โรคซีดีเจทำให้ผู้ป่วยความจำเสื่อม ตาบอด เคลื่อนไหวร่างกายเองโดยควบคุมไม่ได้ และในที่สุดก็เข้าสู่อาการโคมา โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะจบชีวิตลงภายในหนึ่งปี แม้ว่าโรคนี้มีอาการคล้ายโรควัวบ้า แต่ไม่ได้เป็นผลมาจากการบริโภคเนื้อ
       
       เชื้อโรคชนิดนี้ใช้ระยะฟักตัวเป็นปีๆ ก่อนจะปรากฏอาการในระยะแรก คำแถลงระบุ และภายหลังที่โรคส่งสัญญาณของอาการในระยะแรกออกมาแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายใน 4 เดือน
       
       อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลระบุว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีผู้ติดโรคนี้จากการผ่าตัด
       
       จูลี เฮนรี โฆษกของกระทรวงสาธารณสุขและงานบริการสังคม นอร์ทแคโรไลนา กล่าวว่า ทางกระทรวงรับทราบแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่คนไข้ทั้ง 18 รายจะติดโรคชนิดนี้ และกำลังเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
       
       เมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าวว่า เป็นไปได้ว่ามีคนไข้อย่างน้อย 15 รายในรัฐคอนเนกติกัต แมสซาชูเซตส์ และนิวแฮมป์เชียร์ได้รับเชื้อซีเจดี โดยเป็นผลมาจากที่เครื่องมือผ่าตัดที่ไม่สะอาด
       
       ที่นอร์ทแคโรไลนา อุปกรณ์ผ่าตัดจะต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อตามมาตรฐานของโรงพยาบาล แต่ไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนฆ่าเชื้อในระดับสูงเทียบเท่าเครื่องมือที่ผ่านการใช้ผ่าตัดผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคซีเจดี โรงพยาบาลระบุในคำแถลง
       
       ทั้งนี้ แพทย์ยังไม่สามารถหาหนทางในการรักษาโรคที่ทำให้ชาวสหรัฐฯ ล้มป่วยราว 300 คนต่อปีชนิดนี้
       
       ในแต่ละปี แพทย์จะตรวจพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้หนึ่งในล้านคน โดยโรคนี้สามารถติดต่อผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะหรือการผ่าตัด ฟลอเรนซ์ ครานิตซ์ ประธานมูลนิธิโรคครอยตส์เฟลดต์-จาคอบ ระบุ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 กุมภาพันธ์ 2557

15
ครม.อนุมัติงบ 20 ล้านจัดงานพระศพ “สมเด็จพระสังฆราช” นับตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์จนถึงวันครบ 100 วัน พบก่อนหน้านี้อนุมัติงบ 67 ล้านจัดงานพระราชทานเพลิงศพ “สมเด็จเกี่ยว” เดือนมีนาคมนี้
       
       วันนี้ (11 ก.พ.) นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่า ครม.มีมติพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระกุศลพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก นับตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์ถึงวันครบ 100 วัน
       
       ทั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2556 ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สาเหตุเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด โดยพระศพตั้งอยู่ที่พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
       
       ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เลขานุการกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการการจัดงานบำเพ็ญพระกุศลพระศพสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า งานบำเพ็ญพระกุศลพระศพสมเด็จพระสังฆราช ทางสำนักพระราชวัง แจ้งว่างานพระศพยังอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์จนกว่าจะมีกำหนดออกพระเมรุ โดยประชาชนยังสามารถเดินทางมาสักการะพระศพได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-21.00 น. และสามารถจองเป็นเจ้าภาพได้จนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ สำหรับกำหนดวันที่จะจัดพิธีพระราชทานเพลิงพระศพที่เมรุหลวง พลับพลาอิสริยยศ วัดเทพศิรินทราวาสนั้น ทางสำนักพระราชวังแจ้งว่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนจะเป็นวันใดจะต้องมีการหารือกันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯต่อไป
       
       อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 ม.ค. นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รักษาการรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณกลางปี 2557 วงเงิน 67 ล้านบาท ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอ เพื่อใช้สำหรับประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่มรณภาพ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2556 ในวันอาทิตย์ที่ 9 มี.ค. 2557 ที่วัดเทพศิรินทราวาส การนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ เวลา 17.00 น.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 กุมภาพันธ์ 2557

หน้า: [1] 2 3 4