My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 29 ธันวาคม 2010, 23:25:12

หัวข้อ: ข่าวเด่นสาธารณสุขปี 53 กม.คุ้มครองผู้ป่วยวุ่น-รพ.ขาดทุนยับ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 29 ธันวาคม 2010, 23:25:12
 ในรอบปี 2553 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภายใต้การกุมบังเหียนของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ดู เหมือนจะทำงานเข้าตาถูกอกถูกใจประชาชนอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือรุกรับฉับไวคลุกวงในแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม ทว่า ก็ยังมีหลายต่อหลายเรื่องที่ยังต้องแก้ไข ปรับปรุง โดยเฉพาะโจทย์ยากของวงการหมอเอง ทั้งเรื่องการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการทางสาธารณสุข พ.ศ....ที่โยงอิรุงตุงนังกับหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็นฟ้องร้องหมอ แพทย์ขาดแคลน โรงพยาบาลขาดทุน เรียกได้ว่ามีทั้งศึกนอกศึกในที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ในปี 2554
       
       1.“กม.คุ้มครองผู้ป่วยฯ” ชุลมุน
       
       ข่าว ฮิตประเด็นฮอตที่สุดรอบปีเสือดุ 2553 ในแวดวงกระทรวงหมอ คงหนีไม่พ้น เรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการทางสาธารณสุข พ.ศ....ที่แม้จะมีการตั้งเวทีหาทางออก ทั้งถก ทั้งชำแหละ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล จนหมอคนไข้ผลัดกันออกมาประท้วงรายวัน โดยเฉพาะกลยุทธ์หมอชุดดำประท้วงรักษาคนไข้อย่างละเอียด ป้องกันการฟ้องร้อง ส่วนด้านคนไข้และญาติที่ได้รับผลกระทบเสียหายทางการแพทย์ ลุกขึ้นมานุ่งขาวโกนหัว ให้กับบาดแผลที่เกิดขึ้นทางกายและใจ

แต่ ด้วยเสียงของบรรดาหมอๆ ที่ดูเหมือนจะดังกว่าเสียงของประชาชน ยิ่งทั้งออกแรงกดดันยืนกรานจะโค่น ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ได้ โดยให้เหตุผลว่า อาจทำให้ผู้ป่วยฟ้องร้องแพทย์เพราะหวังอยากได้เงินชดเชยค่าเสียหายมากขึ้น รวมทั้งมีผลทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่อยากเรียนแพทย์เพราะเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง
       
       ในที่สุด กลุ่มแพทย์ผลักดันร่างกฎหมายคู่ขนานที่ใช้ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากระบบสาธารณสุข พ.ศ. …” ซึ่งยกร่างโดย นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ประสาท โรงพยาบาลราชวิถี ขึ้นแทน
       
       สุดท้ายเรื่องราวก็ยืดเยื้อ ตามคาด เพราะในช่วงปลายปีวิปรัฐบาลออกมาประกาศชัดเจนว่า ไม่ทันประชุมสภาฯสมัยนี้แน่นอน ก็ถือว่าเบรคพักยกไปหาเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภากันก่อน เชื่อว่า ปีหน้ารัฐบาลคงจะต้องเจอบทหนักเวียนหัวกับปัญหามองต่างมุมเรื่องนี้อีกยาว
       
       2.บัตรทองต้นเหตุ รพ.ขาดทุนยับ!?!
       
       ข่าว ปัญหาโรงพยาบาลในสังกัด สธ.467 แห่ง มีความเสี่ยงขาดทุน และอีก 175 แห่ง กำลังเผชิญกับภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินขั้น ขณะที่กว่า 505 แห่งประสบกับภาวะขาดทุน (มีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย) ส่วนไตรมาส 2 ของปี 2553 มีโรงพยาบาล 191 แห่งที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินชนิดที่ไม่มีเงินบำรุงไว้จ่ายเงินเดือน และเงินทำงานล่วงเวลาแก่ลูกจ้างชั่วคราว ของโรงพยาบาลนั้น กลายเป็นชนวนจุดประเด็นในการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงสาเหตุของสภาพปัญหามากมาย
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาแพทย์มองว่า สาเหตุหนึ่งมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จัดสรรงบประมาณสำหรับรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าน้อย เกินไป ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ
       
       ฝ่าย สปสช.ก็ออกมาปฏิเสธยืนยันว่า กระจายงบให้ตามจำนวนเงินที่ถูกต้องทุกประการ แต่ต้นสายปลายเหตุของปัญหาการขาดสภาพคล่องในโรงพยาบาลเกิดขึ้นเป็นเพราะ สธ.ประกาศเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้กับแพทย์ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) เรื่องนี้จึงโยนกันไปโยนกันมา ระหว่างการบริหารงบประมาณ ของ สปสช.และรพ.แต่ละแห่งแบบหาข้อสรุปไม่ได้
       
       อย่างไรก็ตาม นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.บอกไว้น่าสนใจว่า ปัญหาเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เงินค่าตอบแทนพิเศษแพทย์หรือการจัดสรรงบของสปสช. เท่านั้น แต่น่าจะเกิดจากระบบบริการสาธารณสุขทั้งระบบ แหม...ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ก็รีบแก้ไขด้วยแล้วกัน
       
       3.โอ้ละพ่อ...ทุกจริตฉาวเอสพี 2
       
       มาถึงกรณีทุจริต SP2 ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2552 ในที่สุดก็จบแบบ “จับมือใครดมไม่ได้” เพราะ คณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข มี นางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (เลขาธิการ ก.พ.) เป็นประธานคณะกรรมการใช้เวลาเกือบ 8 เดือน แต่ในที่สุดฟันโฉะให้ผิดวินัยไม่ร้ายแรงเพียงรายเดียวจากทั้งหมด 9 ราย คือ นพ.สุชาติ เลาหบริพัตร แถมเสนอว่าควรลงโทษภาคทัณฑ์ แต่มีเหตุควรงดโทษ โดยให้ว่ากล่าวตักเตือน ขณะที่นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข จัดว่าไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการสอบสวนฯ เนื่อง จากไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็ง โดย สธ.จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่ เกี่ยวข้องต่อไป
       
       ส่วนการเดินหน้าโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนงบประมาณตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 นั้นก็ยังลูกผีลูกคนนัก เนื่องจากมีสิ่งก่อสร้างกว่า 100 รายการ รวมมูลค่า 1,400 ล้านบาท ไม่สามารถประมูลได้ตามราคากลางที่สำนักงบประมาณกำหนดเพราะราคากลางต่ำเกินไป ซึ่งหากหาเงินมาสมทบไม่ได้ก็ต้องคืนเงินให้กับกระทรวงการคลัง ทำให้อาจต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอขยายเวลาในการดำเนินการไปอีกเรื่อยๆ
       
       ดังนั้น ในปี 2554 จึงต้องรอลุ้นตัวโก่งกันต่อไปว่าจะได้ใช้งบประมาณเสียทีหรือไม่? แล้วงบประมาณที่จ่ายไปจะคุ้มค่าหรือไม่? ที่สำคัญจะมีใครขุดคุ้ยกลโกงฉ้อฉลกินบ้านกินเมืองอีกหรือไม่ ?
       
       4.ท้อง แท้ง ทิ้ง สู่ กม.อนามัยเจริญพันธุ์
       
       ไม่ว่าจะปีใดๆ ปัญหาการท้องไม่พร้อม การทำแท้ง ก็ไม่เคยสร่างซาไปจากสังคมพุทธอย่างสังคมไทยโดยเฉพาะกรณีพบศพทารกกว่า 2,000 ศพ ที่วัดไผ่เงิน ซึ่งเกิดจากการทำแท้งนั้น นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาท้องไม่าพร้อมและการทำแท้ง
       
       บทเรียนจากเรื่องนี้ดูเหมือนสังคมจะตระหนักมากขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในหลายมิติโดยเฉพาะการผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ของสธ.โดยเฉพาะมาตรา 12 กรณีที่สถานศึกษามีหญิงมีครรภ์ที่อยู่ในระหว่างศึกษา ผู้บริหาร สถานศึกษาต้องอนุญาตให้หญิงมีครรภ์ศึกษาต่อในระหว่างตั้งครรภ์ และกลับมาศึกษาต่อได้ภายหลังคลอดบุตรแล้ว ถือเป็นช่วยบรรเทาปัญหาการทำแท้งทางหนึ่ง
       
       นอกจากนี้ ยังมีการเปิดประเด็นทางสังคมว่าควรมีกฎหมายให้ทำแท้งเสรีได้เหมือนหลาย ประเทศ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของสตรีที่มีการทำแท้งโดยไม่ปลอดภัย และเปิดโอกาสให้สตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้มีทางเลือกในการยุติการตั้ง ครรภ์ในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ซึ่งดูเหมือนข้อเสนอนี้ถูกเขี่ยตกไปในที่สุด
       
       แต่ใช่ว่าจะหมดสิ้นหนทาง เมื่อ ครม.ผ่านร่าง กม.คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พร้อมไฟเขียวร่างยุทธศาสตร์ป้องกัน และแก้ไขปัญหาเด็ก และเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และประกาศเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2554 แนวโน้มจึงน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
       
       5.อย.คึกกวาดล้าง ยา-อาหาร-เครื่องสำอางเถื่อน!!
       
       ในยุคที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รมว.สธ.เข้าขากับ “นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี”เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา เป็นอย่างดี เพราะในยุคนี้มีการบุกทลายกวาดล้างอาหาร ยา เครื่องสำอางค์ผิดกฎหมาย บ่อยและถี่มากเป็นพิเศษ
       
       โดยเฉพาะคดีดัง คดีเด็ด การบุกจับ น้ำมหาบำบัด “ป้าเช็ง” ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพผ่านสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวี “Supercharge” โดยได้ดำเนินคดีในฐานความผิดต่างๆ หลายกระทง ทั้งผลิต และขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต ยาไม่ได้ขึ้นทะเบียน โฆษณาขายยาเกินจริง และประกอบโรคศิลปะโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งท้ายที่สุดป้าเช็ง ก็ต้องรับโทษตามกระบวนการของความยุติธรรม คดีนี้จึงถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงเลยก็ว่าได้
       
       นอกจากนี้ ก็ยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าของกิจการยาแผนโบราณอีกหลายเจ้า เครื่องสำอางอีกหลายยี่ห้อ ทั้งอ้างใส่สเต็มเซลล์ จำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ต อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือล่าสุดจับกาแฟลดความอ้วนก็มีแต่หลอกลวงทั้งสิ้น ทั้งนี้ จากการสรุปผลการดำเนินคดีของ อย.ในปีงบประมาณ 2553 พบว่า ส่วนมากเป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ยา มากที่สุด รองลงมาเป็น พ.ร.บ.อาหาร แหม...หากเข้มข้นคึกคักตลอดทุกๆ ปี เชื่อว่า ผู้บริโภคต้องสุขภาพดีหายห่วงแน่นอน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    28 ธันวาคม 2553