My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวสมาพันธ์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 28 พฤษภาคม 2013, 21:56:24

หัวข้อ: ยกเลิก ม.นเรศวร เหยื่อที่ถูกรุมทึ้ง หายนะตกอยู่กับประชาชน
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 28 พฤษภาคม 2013, 21:56:24
(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/E210E190E400E230E280E270E230.jpg)
และถึงที่สุด “มหาวิทยาลัยนเรศวรกำแพงเพชร” ก็ถึงกาลอวสาน ทุกอย่างต้องพินาศลงด้วยความท้อแท้และสิ้นหวังในความรู้สึกของคนกำแพงเพชร

ย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีก่อน จากความคิดริเริ่มของ “จุลพันธ์ ทับทิม” อดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร ที่ต้องการจะให้จังหวัดกำแพงเพชร เป็นศูนย์กลางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะในแขนงวิทยาการเฉพาะทางในสายวิทยาศาสตร์ เช่น คณะแพทย์ พยาบาล วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีเกษตร ฯลฯ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ซึ่งเปิดสอนทางด้านศิลปศาสตร์ โดยใช้งบประมาณกว่า 5 ล้านบาท ของ อบจ. เพื่อทำการวิจัยถึงผลได้ผลเสีย และความต้องการทางด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในเขต 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี แพร่

ซึ่งผลการวิจัยทางวิชาการเป็นที่ชัดเจนว่า จังหวัดกำแพงเพชรมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน ในทางวิชาการ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างหลากหลาย ทั้งอ้อย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่ว ยางพารา ฯลฯ
เมื่อผลการวิจัยสรุปออกมาชัดเจนว่า อบจ. กำแพงเพชรจึงได้นำเสนอผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ต่อสภามหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อขอให้ดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยนเรศวรวิทยาเขตกำแพงเพชร โดยเปิดทำการสอนในสายวิทยาศาสตร์ล้วนๆ และมีการประชุมหารือร่วมกันหลายครั้ง
ซึ่งต่อมาสภามหาวิทยาลัยนเรศวรได้นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการ

โดย จุลพันธ์ ทับทิม ได้นำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอบรรยายสรุปต่อหน้าคณะกรรมการพัฒนาการการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างรอบด้าน ตามขั้นตอนถึง 4 รอบ และผ่านมติคณะกรรมการฯ ทั้ง 4 รอบ
จึงได้มีการลงนามทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดกำแพงเพชร อบจ.กำแพงเพชร และนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาการการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เมื่อช่วงกลางปี 2554 โดยรัฐบาลได้พร้อมอนุมัติงบประมาณกว่า 6 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเฉพาะทางแห่งนี้

มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้ดำเนินการประสานกับทางจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อขอให้จัดหาที่ดินเพื่อเป็นสถานที่ตั้งซึ่งจะต้องใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ไร่ โดย อบจ.กำแพงเพชร ได้กันที่ดินในความครอบครองของ อบจ. ที่บริเวณทุ่งน้ำโก้ หมู่ที่ 2 ตำบลเทพนคร ไว้ประมาณ 400 ไร่ ในเบื้องต้น เพื่อก่อตั้งคณะแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาล รวมระยะเวลากว่าจะถึงขั้นตอนนี้กว่า 3 ปี
จากความคิดอันเป็นการจุดประกายเริ่มต้นของ จุลพันธ์ ทับทิม ทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่าง เป็นจริง เหลือเพียงแค่สถานที่ก่อสร้างเท่านั้น พร้อมกับความหวังที่เกิดฉายขึ้นในหัวใจของประชาชนคนกำแพงเพชร

เพราะสิ่งที่จะได้มานั้น ไม่ใช่เพียงแต่สถานศึกษาขนาดใหญ่เท่านั้น แต่มันหมายถึงการขยายตัวของจังหวัด การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจที่จะตามมาอีกมากมาย ร้านอาหาร หอพัก และเม็ดเงินที่จะสะพัดในจังหวัด จากการที่มีนักศึกษาที่จะต้องมาอยู่ และบรรดาผู้ปกครองที่จะต้องแวะเวียนมาในจังหวัดกำแพงเพชร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ตามแผนงานและโครงการของมหาวิทยาลัยก็จะต้องสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการเรียนการสอนของคณะแพทย์และพยาบาล นั่นหมายถึงจังหวัดกำแพงเพชร จะมีโรงพยาบาลที่ทันสมัย เครื่องมือแพทย์ครบครัน ตลอดจนแพทย์ระดับอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ที่จะต้องมาอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้
ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลจังหวัดที่มีอยู่ ปริมาณคนไข้ก็ล้นเกินรับแทบไม่หวาดไม่ไหว เคสหนักๆ ก็ต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลจังหวัดใกล้เคียง
หลังจากนั้น จังหวัดกำแพงเพชรได้มีดำริจะยกพื้นที่ป่าสงวนที่หมดสภาพบริเวณหน้าศูนย์ราชการให้เป็นสถานที่ก่อสร้าง....
ชื่อเสียงของ จุลพันธ์ ทับทิม หอมหวลและเป็นที่ชื่นชมของผู้คนไปทั้งจังหวัด พร้อมๆ กับการตื่นตัวของนักฉวยโอกาส นักเก็งกำไรจากราคาที่ดิน...

ข่าวลือการเข้าจับจองซื้อขายที่ดินบริเวณสถานที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยดังกล่าว แพร่สะพัดไปทั่ว มีการกว้านซื้อ จำหน่าย จ่ายโอนการครอบครองกันอย่างสนุกสนาน มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงบนจังหวัด โดยผ่านตัวแทนขนาดเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของศูนย์วนวัฒนวิจัยระดับซีเล็กๆ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในที่ตั้งมีเงินสะพัดผ่านบัญชีกว่า 30 ล้านบาท
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ก็ไปสืบกันเอาเอง สถานที่ก่อสร้างซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน ที่ถูกกันไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ แทนที่จะเป็นแปลงสวยสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมจตุรัส จึงออกมาลักษณะคดโค้งยาวรี หงิกๆ งอๆ เป็นรูปตัวหนอน เพราะต้องบังคับให้ผ่านผืนที่ดินที่ไปกว้านดักไว้หรือไม่...

นี่คือปมเงื่อนที่ทำให้การอนุมัติที่ดินสถานที่ก่อสร้าง ต้องตกอยู่ในสภาพเดินไปสะดุดไป หรือไม่..
จึงเป็นช่องโอกาสให้จังหวัดพิจิตรเข้าเสียบนำเสนอโครงการโดยอาศัยผลวิจัยของ อบจ.กำแพงเพชร ด้วยข้อเสนอมีที่ดินพร้อมกว่า 1,000 ไร่ ให้กับมหาวิทยาลัยนเรศวรในทันทีเพื่อก่อตั้งวิทยาเขต โดยเบื้องต้นเป็นที่ดินบริจาคของเอกชน โดย พ.อ.หญิง ดร.สมสมัย สิทธิเกษตร บริจาคให้จังหวัดพิจิตรและกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนเกือบ 700 ไร่ พร้อมด้วยเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไปของจังหวัดพิจิตรอีกหลายล้านบาท เป็นต้นทุนดำเนินการ

จากหลักฐานบันทึกการตรวจสอบพื้นที่โดยตัวแทนของจังหวัดหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวแทนของมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 โดยศูนย์วนวัฒนวิจัยจังหวัดกำแพงเพชรระบุว่า ผู้ขอรับอนุญาตใช้ที่ดินคือมหาวิทยาลัยนเรศวร ยินดีจะชดใช้ค่าเสียหายให้ส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบเป็นวงเงินไม่เกิน 150 ล้านบาท และภาคเอกชนในวงเงินรวม ไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 650 ล้านบาท
ซึ่งมีข้อสังเกตว่า จะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงนามในบันทึกฉบับนี้ จำนวน 9 คน แต่กลับมีผู้ลงนามรับรองบันทึกเพียงสองคน โดยผู้แทนของมหาวิทยาลัยนเรศวรก็ไม่ยอมลงนามด้วยเช่นกัน
มันเกิดอะไรขึ้น....

จากการสอบถามผู้ที่ไม่ยอมลงนามในหนังสือฉบับนี้ ทราบว่า ในที่ประชุมไม่เคยพูดถึงเรื่องการชดเชยค่าเสียหายแต่อย่างใด
บันทึกฉบับนี้เป็นเท็จหรือไม่.....
เพราะข้อเท็จจริง ส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบ คือ ศูนย์วนวัฒนวิจัย มีวงเงินเสียหายไม่เกิน 35 ล้านบาทเท่านั้น และภาคเอกชน ข้อเท็จจริงก็คือ

พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวนที่เอกชนบุกรุกเข้าไปทำกิน จำนวน 129 ไร่ และมีการออกเอกสารสิทธิ์ไปจำนวน 8 ไร่
ในเมื่อป่าไม้และจังหวัดทราบว่า ที่ดินป่าสงวนถูกบุกรุก หน้าที่ก็ต้องเข้าไปดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ที่บุกรุก
ไม่ใช่มาเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยชดใช้เงินให้ ตั้ง 500 ล้านบาท และส่วนที่ออกเอกสารสิทธิ์ จำนวน 8 ไร่ จังหวัดก็ต้องสั่งการตรวจสอบว่าของใคร และเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยชอบหรือไม่...
ถ้าจังหวัดและป่าไม้ไม่ดำเนินการ ก็เท่ากับว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ผลที่สุด สภามหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเรียกประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 182 (4/2556) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2556 ขนาดเรียกประชุมวันอาทิตย์ก็แล้วกัน แสดงว่ามันเหลืออดเหลือทนจริงๆ
มติที่ประชุม สรุปว่า สมควรแจ้งจังหวัดกำแพงเพชรว่า มหาวิทยาลัยนเรศวร ไม่รับมาจัดตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดกำแพงเพชร หรือ จะยังคงดำเนินการต่อไป.....

ครับ...มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมสรรพวิทยาทางวิชาการ เมื่อมาเจอกับเรื่องบ้าบอคอแตกพรรค์นี้ นักวิชาการที่ไหนใครเขาจะเล่นด้วย
มันเป็นเวรเป็นกรรมของคนกำแพงเพชรเสียเหลือเกิน จังหวัดพิจิตรเขามีแต่จะให้ มีแต่จะแย่งกันบริจาค ให้ทั้งที่ดินทั้งเงิน เพราะสิ่งที่จะได้มานั้น มันมีคุณค่ามหาศาลสำหรับประชาชน

แต่กับจังหวัดกำแพงเพชร มีแต่จะฉวยโอกาส มีแต่จ้องจะรุมทึ้ง ....!!!!
อวสานมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตกำแพงเพชร หายนะจึงตกอยู่กับประชาชนคนกำแพงเพชร

พฤทธิ์ สรรคบุรานุรักษ์ รายงาน
จาก หนังสือพิมพ์เสียงวิจารณ์ภาคเหนือ ประจำเดือนพฤษภาคม 2556