My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 21 ตุลาคม 2010, 00:46:26

หัวข้อ: สปสช.แจง สพศท.จ่ายเงินตาม DRG ที่ผ่านคณะทำงานจาก สธ.
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 21 ตุลาคม 2010, 00:46:26
สปสช.ยืนยันการจ่ายเงินให้ รพ.ตามรายการโรคเฉพาะไม่ใช่สาเหตุหลักทำ รพ.ขาดทุนในทางกลับกันประชาชนเข้าถึงบริการโรคค่าใช้จ่ายสูงทั้งมะเร็ง โรคหัวใจ ย้ำ การจ่ายเงินผ่านระบบ DRG ผ่านการกำหนดจากคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญอิสระ ที่มีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างรวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข จ่ายไม่ครบตามราคาที่ รพ.เรียกเก็บ แต่ครอบคลุมราคาต้นทุนจริง ทั้งนี้ ยังไม่รวมต้นทุนอาคารสิ่งก่อสร้างที่ใช้งบประมาณของรัฐ และงบค่าเสื่อมราคาที่ชดเชยให้อีก ย้ำ นับตั้งแต่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเงินสดคงเหลือ รพ.สังกัด สธ.ภาพรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี
       
       นายแพทย์ ปรีดา แต้อารักษ์ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/รพ.ทั่วไป (สพศท.) ออกมาระบุว่า สปสช.จ่ายเงินให้รพ.ไม่ตรงกับต้นทุนที่เป็นจริงของ รพ.และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ รพ.ต้องประสบภาวะขาดทุนนั้น สปสช.ขอชี้แจงว่า ในการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น หลังจากแยกงบเงินเดือนบุคลากรออกแล้ว มีการจัดสรรงบเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ งบผู้ป่วยนอก งบผู้ป่วยใน และงบการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในส่วนของงบผู้ป่วยนอก สปสช.โอนตรงให้ รพ.เต็มตามจำนวนการดูแลประชากรในความรับผิดชอบของ รพ.นั้นๆ ในส่วนของงบผู้ป่วยใน เนื่องจากตระหนักดีว่า ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาที่อาจจะมีโรคที่ซับซ้อน รักษายาก จึงได้จัดระบบการเบิกจ่ายที่เรียกว่า กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือระบบ DRG ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกและได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกด้วย องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขก็มีส่วนรับรู้ และให้ความเห็นตลอด มีหลักการทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างเสมอภาคกัน สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในภาพรวมของประเทศได้มาตรฐานอย่างเสมอภาคกัน และต้องสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ ในภาพรวมของประเทศได้
       
       โฆษก สปสช.กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้แต่ละ รพ.ไม่ได้รับตรงตามจำนวนที่เบิกมา เพราะ สปสช.ยึดตามราคากลางในระบบ DRG ซึ่งเป็นการจ่ายให้ตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้จ่ายตามที่ รพ.เรียกเก็บซึ่งรวมค่าบริการและกำไรไปด้วย
       
       “ระบบ DRG นี้ใช้กันทั่วโลก ยืนยันได้ว่า การจ่ายด้วยระบบ DRG ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รพ.ขาดทุน แม้ได้รับไม่เต็มตามจำนวนเรียกเก็บ แต่จากราคากลางที่จ่ายคืนให้ บาง รพ.ที่มีต้นทุนสูงก็จะรู้สึกว่าขาดทุน แต่บาง รพ.ควบคุมต้นทุนได้ ก็จะพอใจกับค่าใช้จ่ายที่ได้รับ ที่เป็นราคากลางของโรคนี้ทั้งประเทศเพราะได้มากกว่าต้นทุน สามารถบริหารจัดการในระดับภาพรวมได้ ทั้งนี้ในการกำหนดนโยบาย แนวทางการปฏิบัติงานทุกครั้ง สปสช.ดำเนินการผ่านรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ แพทยสภา สมาคมวิชาชีพต่างๆ รวมถึงการกำหนดราคากลางของ DRG ด้วย” นายแพทย์ปรีดา กล่าว
       
       นอกจากนี้แล้ว โฆษก สปสช.ย้ำถึงกรณี ยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาทในการรักษาแต่ละครั้งนั้น ว่า ไม่ได้ทำให้ รพ.มีปัญหาทางการเงินมากมายอย่างที่ระบุกกัน โดยก่อนยกเลิกการเก็บนั้น มีข้อมูลว่า เงินค่าธรรมเนียมที่เก็บได้จากหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า10,000 แห่ง ทั่วประเทศ มีจำนวน 1,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับทั้งระบบกว่า 80,000บาท ข้อมูลที่ยืนยันได้ชัดเจน คือ แนวโน้มเงินสดคงเหลือของรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2545-2552 สูงขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2545 มีเงินสดคงเหลือ 14,605 ล้านบาท และในปี 2552 มีคงเหลือ 42,968 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่หนี้สินของ รพ.เหล่านี้ปี 2552 พบประมาณ 16,000 ล้านบาท เมื่อหักลบแล้วยังนับว่าสอดคล้อง ซึ่งข้อมูลตรงนี้สะท้อนว่า การมีระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้ทำให้ รพ.ทั้งระบบเป็นหนี้และประสบภาวะล้มละลาย เนื่องจากมีเงินเข้าระบบมากขึ้น แม้จะมีรายจ่ายมากขึ้น แต่ก็ยังสามารถจัดการได้
       
       “เป้าหมายของ รพ.รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อให้บริการประชาชนในประเทศทุกคน ไม่เลือกว่าจนหรือรวย เช่นเดียวกับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องการเห็นคนไทยมีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย หากเจ็บป่วยครั้งใดไม่ต้องล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะปัจจุบันประเทศของเราได้ช่วยประชาชนได้เป็นจำนวนมากไม่ให้สิ้นเนื้อประดาตัว จากโรคค่าใช้จ่ายสูง ทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เป็นต้น” ส่วนการดูแลให้บุคลากรในระบบที่ทำงานหนักนั้น รัฐต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังและหากต้องมีค่าตอบแทนเพิ่มก็ต้องจัดหามาเพิ่มเติมอีกต่างหาก และอยากเห็นความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสังคมที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในขณะนี้” นายแพทย์ปรีดา กล่าว


ASTVผู้จัดการออนไลน์ 20 ตุลาคม 2553