My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ABBA ที่ 19 กันยายน 2012, 22:36:42

หัวข้อ: สธ.สรุปผลสอบยาซูโดฯ มีผิด9แห่ง ไล่ออก4ราย
เริ่มหัวข้อโดย: ABBA ที่ 19 กันยายน 2012, 22:36:42
สธ.สรุปผลการสอบสวนกรณียาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน พบผิด 9 แห่ง เสนอไล่ออก 4 ราย คือเภสัชกรเจ้าพนักงานเภสัชกรรม ของ รพ.อุดรธานี รพ.กมลาไสย รพ.ทองแสนขัน และ รพ.ฮอด...

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 55 นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณียาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ของกระทรวงสาธารณสุขว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจพบว่า โรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่งสั่งซื้อยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนเป็นจำนวนมากผิดปกติ และมีการสูญหายไปจากโรงพยาบาลบางแห่ง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทั้งผิดวินัยร้ายแรงและไม่ร้ายแรงแก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เภสัชกร เจ้าพนักงานเภสัชกรรม ในโรงพยาบาล 9 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี โรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ โรงพยาบาลนากลาง จ.หนองบัวลำภู โรงพยาบาลหนองกี่ จ.บุรีรัมย์ โรงพยาบาลทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ โรงพยาบาลฮอด จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ และโรงพยาบาลเสริมงาม จ.ลำปาง

คณะกรรมการสอบสวนได้สรุปผลการสอบสวน และแนวทางการลงโทษดังนี้ 1.กรณีโรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุดรธานีได้มีคำสั่งไล่ออก นายสมชาย แซ่โค้ว ตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการ กรณีขาดราชการในคราวเดียวกันเกิน 15 วัน และอยู่ระหว่างการสอบสวนกรณียักยอกนำยาออกไป 7 ล้านเม็ด ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง 2 ราย 2.กรณีโรงพยาบาลทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ คณะกรรมการสอบสวนเสนอให้ลงโทษวินัยร้ายแรง 1 ราย คือ โทษไล่ออกจากราชการเป็นเภสัชกร ระดับชำนาญการ เนื่องจากใช้ตำแหน่งหน้าที่สั่งซื้อยาให้ตนเองโดยใช้ชื่อโรงพยาบาล ส่วนผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน 3.กรณีโรงพยาบาลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ คณะกรรมการสอบสวนเสนอให้ลงโทษวินัยร้ายแรง 1 ราย คือ โทษไล่ออกจากราชการ เป็นเจ้าพนักงานเภสัชกรรม ได้ปลอมแปลง แก้ไขเอกสาร และลักลอบนำยาไปขาย ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง 5 ราย 4.กรณีโรงพยาบาลฮอด จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการสอบสวนเสนอให้ลงโทษวินัยร้ายแรง 1 ราย เนื่องจากนำยาออกไปจากคลังยา อ้างว่ายืมแต่ไม่นำมาคืน ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง 2 ราย เป็นผู้บริหาร 1 ราย และเจ้าพนักงานเภสัชกรรม 1 ราย 5. กรณีโรงพยาบาลดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการสอบสวนเสนอให้ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง เภสัชกร 1 ราย 6.กรณีโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ คณะกรรมการสอบสวนเสนอให้ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง 2 ราย โดยเป็นผู้บริหารและเภสัชกร 7.กรณีโรงพยาบาลหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ คณะกรรมการสอบสวนเสนอให้ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง 1 ราย เป็นเภสัชกร 8.กรณีโรงพยาบาลเสริมงาม จังหวัดลำปาง พบว่ายังไม่ได้มีการจัดซื้อ และมีเภสัชกรที่มีหน้าที่ได้ลาออกจากราชการไปแล้ว คณะกรรมการสอบสวนเสนอให้ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรงผู้บริหารโรงพยาบาล 9.โรงพยาบาลนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน ยังไม่ได้ข้อสรุป

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทั้งนี้ จะมีการนำผลการสอบสวนเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนของกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.) อีกครั้ง ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกดำเนินการทางวินัยทั้ง 14 ราย ไปปฏิบัติราชการที่สำนักวิชาการ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จนกว่าการสอบสวนทางวินัยจะแล้วเสร็จ และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าราชการทั้ง 7 จังหวัด เร่งรัดดำเนินการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิด เพื่อหาผู้รับผิดและชดใช้ค่าเสียหายให้ทางราชการ.