My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ABBA ที่ 30 กรกฎาคม 2012, 20:49:51

หัวข้อ: เตือนพระ-เณรฉันน้ำปานะเกินวันละ 2 กล่อง/ขวด อันตรายต่อสุขภาพ/อาหารถุงใสบาตรเปื้อนโคลิฟอร์ม
เริ่มหัวข้อโดย: ABBA ที่ 30 กรกฎาคม 2012, 20:49:51
       วิจัยชี้พระสงฆ์เป็นโรคอ้วน 45% แถมโรคประจำตัวเพียบ ทั้งกระเพาะ เบาหวาน ความดัน เหตุบริโภคอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ตะลึง พบอาหารถุงใส่บาตรปนเปื้อนโคลิฟอร์ม เกือบ 50% บ่งชี้ว่า อาหารไม่สะอาดพอ เตรียมถวายความรู้พระสงฆ์ พร้อมฆราวาส เป็นเกราะป้องกันโรค พร้อมแนะพระ-เณร ฉันน้ำปานะไม่เกินวันละ 2 กล่อง/ขวด มจร.แนะ “หลักเจตนาองค์ 3” ตักบาตรเข้าพรรษาให้ได้อานิสงส์สูงสุด ขณะที่ สสส.ร่วมกับ 864 วัด เดินหน้าส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์อย่างยั่งยืน



       วันนี้ (30 ก.ค.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส.แถลงข่าว “วิจัยสุขภาวะสงฆ์ไทย...ถวายอาหารเข้าพรรษาอย่างไร ให้อิ่มบุญ” โดย ดร.พินิจ ลาภธนานนท์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เปิดเผยว่า การศึกษาแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีทั้ง 4 มิติของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยสัมภาษณ์พระสงฆ์ 246 รูป ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ พบ มิติสุขภาวะทางกาย พระสงฆ์มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ถึง 45% โรคประจำตัวที่พบ คือ ภูมิแพ้ กระเพาะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตสูง โรคทางตา เบาหวาน และกล้ามเนื้อกระดูกและข้อ มิติสุขภาวะทางจิต มีพระสงฆ์เพียงส่วนน้อยที่ประสบปัญหา โดยมักเป็นพระสงฆ์ อายุระหว่าง 20-35 ปี ในเขตเมืองใหญ่ มีอาการนอนไม่หลับจากความเครียดและวิตกกังวลปัญหาส่วนตัว ปัญหาการเรียน ปัญหาครอบครัว มิติสุขภาวะทางสังคม พระสงฆ์มีลักษณะปัจเจกบุคคลสูง ไม่ค่อยพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือปรึกษาหารือกัน ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน พบว่ามีความสัมพันธ์กันในระดับดีมาก และมิติสุขภาวะทางปัญญา พระสงฆ์เข้าใจปัญหาและจัดการอารมณ์ได้ค่อนข้างดีมาก
       
       “งานวิจัยเรื่องนี้จะจัดทำเป็น 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.สุขภาวะพระสงฆ์ในพระไตรปิฎก และ 2.ผลการศึกษาสุขภาวะพระสงฆ์ เพื่อเผยแพร่ให้พระสงฆ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพุทธศาสนิกชนทั่วไป ผ่านทางวิทยุชุมชน เครือข่ายสำนักงานพระพุทธศาสนา และศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีทั่วประเทศ ให้เกิดความตื่นตัวเรื่องสุขภาวะพระสงฆ์ รวมถึงนำไปจัดทำโครงการต้นแบบส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ ในพื้นที่ 4 ภาคๆ ละ 1 จังหวัด เน้นทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน วัด และฝ่ายราชการ เพื่อดูแลสุขภาวะพระสงฆ์อย่างยั่งยืน” ดร.พินิจ กล่าว
       
       ด้าน รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะที่การวิจัยโครงการจัดการและแก้ไขปัญหาด้านอาหารและโภชนาการของพระภิกษุ สามเณร ที่นำไปสู่การป้องกัน และแก้ไขการเกิดโรคเรื้อรังและการมีสุขภาวะที่ยั่งยืน โดยสัมภาษณ์เจาะลึกพระสงฆ์ 29 รูป จาก 4 วัดในชุมชนเมือง ทั้งนิกายธรรมยุต และมหานิกาย รวมถึงฆราวาสที่ใส่บาตร และศึกษาความปลอดภัยของอาหารและน้ำดื่ม พบว่า พระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่สูงวัย เช่น เช่น น้ำหนักเกินไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
       
       รศ.ดร.ภญ.จงจิตร กล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจ คือ เรื่องน้ำปานะซึ่งเป็นเครื่องดื่มหลังเพลนั้น สมัยนี้พระสงฆ์ฉันเครื่องดื่มหลากหลายคล้ายที่ประชาชนบริโภค การฉันน้ำปานะ วันละ 2 แก้วหรือ 2 กล่องขึ้นไป อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่น น้ำหนักเกิน และ โรคเบาหวาน เนื่องจากมีน้ำตาลสูง และฉันแล้วไม่ค่อยรู้สึกอิ่ม ขณะที่อาหารบรรจุถุงใส่บาตรพบว่าเน้นหนักแต่ แป้ง คาร์โบไฮเดรต แต่มีปริมาณโปรตีนค่อนข้างน้อย ที่น่าตกใจคือ อาหารที่จำหน่ายใส่บาตรจำนวนมากมีความไม่สะอาดพอพบการปนเปื้อนโคลิฟอร์มเกือบ 50% ของตัวอย่างทั้งหมด


ประคดเอวรอบรู้

       “งานวิจัยนี้สะท้อนชัดว่า พระสงฆ์ในชุมชนเมือง เสี่ยงต่อภาวะโภชนาการเกินจำเป็นต้องให้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการ โดยขณะนี้กำลังผลิตสื่อให้ 3 กลุ่ม เพื่อให้ครบวงจร ได้แก่ 1.องค์ความรู้สำหรับพระสงฆ์ อาทิ คู่มือสูตรสงฆ์ไทยไกลโรค วิดีทัศน์สงฆ์ไทยไกลโรคปฏิทิน สุขเริ่มเมื่อเพิ่มก้าว โปรแกรมปานะปัญญา หรือ iPaana และประคดเอวรอบรู้ 2.องค์ความรู้สำหรับฆราวาส อาทิ คู่มือใส่ใจใส่บาตร และ 3.องค์ความรู้สำหรับผู้ค้าอาหารใส่บาตร อาทิ คู่มือจากครัวสู่บาตร โดยเผยแพร่ผ่านทางมหาเถรสมาคม และ มจร. เพื่อเป็นแนวทางดูแลโภชนาการพระสงฆ์ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป” รศ.ดร.จงจิตร กล่าว
       
       ดร.พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพระพุทธศาสตร์ มจร.กล่าวว่า วันอาสาฬหบูชา และเข้าพรรษา ที่จะถึงนี้ ปกติจะมีประชาชนนำอาหารไปทำบุญกันมาก เพราะเชื่อว่าการทำบุญในวันพระใหญ่ จะได้รับอานิสงส์มากทั้งต่อตนเอง และผู้ล่วงลับ โดยนิยมนำอาหารที่เป็นสิริมงคล หรือที่ตนเองและผู้ล่วงลับชอบไปถวายพระสงฆ์ ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของกะทิและน้ำตาล อาทิ แกงกะทิ ขนมทองหยอด ฝอยทอง เป็นต้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดโรคตามมาได้ ทั้งนี้ การตักบาตรทำบุญที่จะได้อานิสงส์สูงสุด ไม่ได้อยู่ที่ชื่อหรือประเภทอาหาร แค่เป็นอาหารที่สะอาด ปลอดภัย รสไม่จัดก็พอ สิ่งสำคัญคือ ต้องทำด้วยเจตนาองค์ 3 ได้แก่ 1.บุพพเจตนา หรือเจตนาเบื้องต้น คือ มีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะถวายภัตตาหารที่หามาโดยสุจริต 2.มุญจเจตนา คือ เจตนาขณะกระทำ ถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมะบูชา สังฆบูชา และนึกถึงผู้มีพระคุณ และ 3.อปรเจตนา คือ เจตนาหลังกระทำ ด้วยการอนุโมทนาบุญให้แก่ผู้ล่วงลับ ส่วนปัญหาความเครียดและวิตกกังวลของพระสงฆ์นั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับพระสงฆ์บางรูป โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่บวชเรียนใหม่
       
       ด้าน นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.กล่าวว่า สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ประชาชนซื้ออาหารถุงแทนการปรุงอาหารใส่บาตรเอง รวมถึงความเชื่อต่างๆ ส่งผลกระทบต่อโภชนาการพระสงฆ์ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะการปนเปื้อนโคลิฟอร์ม ซึ่งปกติพบมากในอุจจาระ ดิน และพืชผักต่างๆ อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารได้ ทั้งนี้ หวังว่า งานวิจัยนี้จะทำให้พุทธศาสนิกชนตระหนักในการเลือกอาหารที่ดี มีประโยชน์ใส่บาตรกันมากขึ้น สำหรับ สสส.ได้ร่วมกับวัด 864 แห่งทั่วประเทศและภาคีเครือข่าย พัฒนาสุขภาวะพระสงฆ์ สามเณร และชุมชนรอบวัด ผ่านโครงการต่างๆ จำนวนมาก อาทิ โครงการพัฒนาสุขภาวะผ่านกิจกรรมวันอาทิตย์ โครงการสนับสนุนวัดเป็นศูนย์กลางสร้างสุขของชุมชน