My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: pradit ที่ 31 มกราคม 2010, 18:31:13

หัวข้อ: "คนไทยไร้สถานะ" ยังเข้าไม่ถึงสิทธิด้านการแพทย์ -วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553-มติชน
เริ่มหัวข้อโดย: pradit ที่ 31 มกราคม 2010, 18:31:13
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ,สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ถามหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้คนไทยไร้สถานะ” เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2553 โดยมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ,นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ,นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางการแก้ไขการไร้ สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา และ น.ส.ชวิดา วาทินชัย เป็นวิทยากร

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า ตนทำงานมา 20 ปีแล้ว ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนไทยไร้สถานะมีมาตั้งแต่ผมเริ่มทำงาน แต่เพิ่งจะเห็นชัดๆ 5-6 ปี คนเหล่านี้ รัฐบาลไทยทำหลักประกันสุขภาพตกหล่น  ความเจ็บป่วยยังเหมือนเดิม ปัญหาคือไม่มีเจ้าภาพ โรงพยาบาลชายแดน โดยเฉพาะที่อุ้มผางนั้น ต้องช่วยเหลือด้วยการรักษาพยาบาลแล้วไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพราะคนเหล่านี้ไม่มีเงินจ่าย บางครั้งต้องให้เงินค่าเดินทางกลับ ซึ่งขณะนี้ทำไปทำมาทางโรงพยาบาลแบกรับภาระจนจะเจ๊งแล้ว
“ตอน นี้เราถูกจำกัดการฉีดวัคซีน เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ทางการให้เฉพาะคนมีบัตร หรืออย่างกรณีวัณโรคก็ต้องกรอกเลข 13 หลัก สุดท้ายเราจะคุมอะไรไม่ได้ เพราะโรคภัยไข้เจ็บไม่สามารถแยกกันด้วยบัตรประชาชนได้ ตอนนี้ทั้งยาและวัคซีนบางตัวก็ไม่ให้เรา ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร สุดท้ายเราก็จะควบคุมโรคไม่ได้ และคนที่มีบัตรก็จะตาย โรคไม่ได้แยกกันด้วยบัตร ”นพ.วรวิทย์ กล่าว

นพ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาการเข้าถึงหลักการพื้นฐานด้านสาธารณสุขของคนที่อยู่ในเมืองไทยเป็น เรื่องสำคัญ ทั้งชาวเขาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ผู้อพยพในศูนย์พักพิง หรือหลบหนีเข้าเมือง หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดโรคระบาด และสุดท้ายผู้ที่มีหลักประกันสุขภาพก็จะติดโรคด้วย
ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่สำคัญของสาธารณะสุขซึ่งสช.ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดย ตลอด ซึ่งตอนปลายปี 2549 สมัยที่ตนดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ได้มีความพยายามผลักดันเรื่องนี้เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนละส่วนกับแรงงานต่างด้าว โดยเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทยมานานตามแนวตะเข็บชายแดน แต่พอแบ่งเขตแดนพวกเขาต้องหลุดไป ดังนั้นเขาควรได้รับบัตรประกันสุขภาพเหมือนกับคนไทย

“ตอนนี้ คนไทย 47 ล้านคนมีหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่อย่างน้อยมีคนอีก 5 แสนคนยังไม่มีหลักประกันสุขภาพเลย ทำให้ไม่มีสิทธิในการรับเงินอุดหนุนต่อหัวจากรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี แต่สำนักงบประมาณและสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)ไม่เห็นด้วยเพราะกลัวใน เรื่องความมั่นคงระยะยาว อย่างไรก็ตามพบว่ามีอีก 2 เรื่องใหญ่ที่เคลื่อนไปอย่างคืบหน้าคือ ตอนปี 2550 มีการทำธรรมนูญว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยฟังความเห็นอย่างกว้างขวางในสังคม ซึ่งทั้งรัฐบาล รัฐสภาต่างเห็นชอบ ซึ่งในข้อ 16 เขียนไว้ชัดเจนว่าหลักประกันสุขภาพต้องครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติหรือสัญชาติ”  นพ.อำพล กล่าว
นพ.มงคล ณ สงขลา  กล่าวอีกว่า อยากบอกรัฐบาลว่า เจตนารมณ์ทางการเมืองสำคัญเรื่องนี้จะแก้ได้คือต้องเอาหัวใจมาพูดกันแล้ว ทุกอย่างจะแก้ปัญหาได้ และเรื่องนี้เป็นปัญหาความมั่นคง หากให้สิทธิ์พวกเขาก็จะแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงของประเทศได้

“เรื่องเงินจริงๆนั้นน้อยมาก แต่จะแก้ได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่สำคัญ รวมทั้งทัศนคติของหน่วยงานต่างๆ ถ้าให้สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเพิ่มความมั่นคงของประเทศ ต้องเปิดหัวใจ เรื่องนี้รัฐบาลน่าจะทำสำเร็จได้” นพ.มงคล กล่าว
นาย สุรพงษ์ กองจันทึก สภาทนายความและกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางการ แก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯทำเรื่องนี้มาเป็นปีที่ 7 แล้วแม้เปลี่ยนตัวประธาน ซึ่งมักมีคำถามว่าทำไมต้องเอาเงินภาษีของคนไทยไปช่วยต่างชาติด้วย ซึ่งขอชี้แจงว่าภาษีที่รัฐได้ส่วนใหญ่เป็นภาษีทางอ้อมซึ่งคนที่มีปัญหาสถานะ บุคคลต่างเสียด้วยกันทั้งสิ้น ที่สำคัญพวกเขาไม่สามารถเรียกคืนภาษีได้เหมือนคนไทย นอกจากนี้กฎหมายต้องใช้บังคับกับคนทุกคนในผืนแผ่นดินไทย
นาย สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า มีข้ออ้างว่าคนไทยเพิ่มทุกวัน ไปดูแลต่างด้าวทำไม เพราะทุกวันนี้ก็ดูแลกันไม่ไหวอยู่แล้ว จากการทำวิจัยประชากรของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนไทยไม่เพิ่ม และจะอยู่ที่ 65 ล้านคนไปอีก 20 ปี เพราะ ค่านิยมไม่แต่งงาน แต่งงานก็ไม่มีลูก ถึงมีลูกก็มีคนเดียว

“การจะให้หลักประกันทางสาธารณสุข ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนที่อยู่มานานแล้ว และประชากรไทยก็จะไม่เพิ่ม สำนักงบประมาณควรเข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้ ในด้านความมั่นคง ที่กลัววว่าคนจะทะลักเข้ามาถ้าเราเปิดให้ได้รับสิทธิ์สุขภาพถ้วนหน้านั้น ผมยืนยันว่าเข้ามาไม่ได้ เพราะเราให้บริการเฉพาะผู้มีบัตรประชาชน ปัจจุบันเราป้องกันเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว” นายสุรพงษ์ กล่าว