My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: Thitiporn ที่ 18 สิงหาคม 2010, 08:04:05

หัวข้อ: พบ อ. แก้วสรร กับ พรบ. คุ้มครอง วันนี้ค่ะ
เริ่มหัวข้อโดย: Thitiporn ที่ 18 สิงหาคม 2010, 08:04:05
สยามรัฐรายวัน พุธนี้ (๑๘ สิงหา)

              เสียงจากคุณหมอ : จ่ายแล้วต้องจบจริงๆ
                                                                                                                                                                   แก้วสรร อติโพธิ
...
   
              หลังจากไทยแลนด์ฟอรั่ม ฉบับ “ตัณหานักบุญ ?” ๑๒-๑๕ สิงหา  ได้ผ่านพ้นไป  ผมก็ได้รับ
ความเห็นจากคุณหมอผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง  ที่นำเสนอว่าการจัดการความเสี่ยงในการรักษาพยาบาลครั้งนี้
น่าจะยังผลกระทบระบบทั้งระบบเลยก็ได้    ผมอ่านแล้วก็เห็นว่าเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่ควร
รับฟังประกอบการพิจารณา   จึงขอถ่ายทอดมายังเราๆท่านๆ ที่ยังไงก็ต้องเข้าโรงพยาบาลแน่ๆ  ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนี้

“  เรียน  อ.แก้วสรร ที่รัก
ผมได้อ่านข้อความที่ลงใน Thailand Forum 12-15 ส.ค. แล้ว  และอ่านซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ผมเลยเกิดความคิดขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งด้วยครับ
             ขอให้คิดให้รอบคอบก่อนที่จะรับร่าง พรบ.คุ้มครองฯ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้
   ร่าง พรบ. ที่จะจ่ายเงินให้ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ (ร่าง พรบ.เรียกว่าผู้เสียหาย) จากการรับบริการสาธารณสุขนั้น ดูอย่างผิวเผินน่าจะเรื่องที่ดีมากๆ เลย  แต่ มันเป็นไปได้หรือครับในเนื้อหาและวิธีปฏิบัติ ตามร่าง พรบ.ฉบับนี้ ที่ จะมีแต่ได้กับได้  มันจะไม่มีเสียเลยหรือ?  ลองพิจารณาดูนะครับ
1.   ผู้ป่วยที่มารับการรักษา สิ่งแรกที่ผู้ป่วย คาดหวังคือ  อยากจะหายจากโรค  หมอและโรงพยาบาลร้อยทั้งร้อยก็อยากจะให้ผู้ป่วยหายจากโรค เช่นกันแต่รักษาไปแล้ว  หายจากโรคก็มีมาก ไม่หายก็มีไม่น้อย  เลวลงและมีโรคแทรกก็มีบ้าง เสียชีวิตก็มีเช่นกัน  พวกที่ไม่หายจนถึงตาย สมควรที่จะได้รับการช่วยเหลือไหม???  และถ้าช่วยจะช่วยอย่างไร
2.   ถ้าคิดแบบก่อนๆ ก็บอกว่ามันเป็น“กรรมเก่า” คนคลอดกันเยอะแยะไม่เป็นอะไร  แต่ภรรยาเราไปคลอดกลับตายทั้งแม่ทั้งลูก  ถ้าคิดว่าเป็นกรรมเก่ามันก็คงจบเรื่อง  แต่ถ้าคิดว่าทำไมภรรยาเราตาย แต่ภรรยาคนอื่นทำไมไม่ตาย?   ก็มีช่องทางให้อยู่แล้ว (นอกเหนือจากการเจรจากับแพทย์และโรงพยาบาลซึ่งอาจจะตกลงกันได้ก็ได้)  คือ
1.   การฟ้องร้องคดีผู้บริโภค  ซึ่งง่ายมากไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เจ้าหน้าที่ที่ศาลจะเขียนคำฟ้องให้เอง  แล้วรอคอยการไกล่เกลี่ยและถ้าไม่สำเร็จเพราะได้เงินมาไม่พอใจ  ก็รอการตัดสินของศาล หรือ
2.   แจ้งความตำรวจ ให้ดำเนินคดีอาญา หรือถ้าไม่อยากรออัยการฟ้องก็
3.   นำคดีขึ้นสู่ศาลเอง เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ (ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่เห็นศาลก็จะประทับรับฟ้อง หมอก็คงเป็นจำเลยในคดีอาญานี้ และต้องต่อสู้กันในศาลต่อไป ซึ่งกรณีเช่นนี้ทำให้คุณหมอขวัญเสียมาก เพราะถึงแม้หมอจะชนะแต่ก็ขวัญเสียไปแล้วและคงถอดใจที่จะรักษาต่อไป)
3.   ถ้าคิดว่าผู้ป่วยเป็นผู้ที่น่าสงสาร   ต้องได้รับการช่วยเหลือ อยากจะช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหนอย่างไร  รัฐบาลก็จัดวงเงินมาให้เพื่อจ่ายให้ผู้ป่วย (หรือญาติ) ตามสภาพที่เป็นอยู่ก็สามารถทำได้ โดยจ่ายให้เพราะผู้ป่วยเป็นผู้ที่น่าสงสาร เป็นผู้มีเคราะห์กรรม  ก็เป็นสิ่งที่น่ากระทำนะครับ เพราะปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ดูแลสงเคราะห์ผู้ที่น่าสงสารอยู่แล้ว  คนแก่ได้ 500 บาท/เดือน  พิการได้ 500 บาท/เดือน  ทั้งแก่ด้วยพิการด้วยได้ 1,000 บาท/เดือน รักษาฟรี การศึกษาฟรี  รถประจำทางฟรี, รถไฟฟรี  ค่าไฟฟ้าฟรี ค่าน้ำฟรี เพิ่มอีก 1 อย่าง  ไม่เห็นจะสิ้นเปลืองเพิ่มเติมอะไรและจะควบคุมว่าปีหนึ่งจะให้เท่าไรก็ได้ เพราะสำนักงบประมาณเป็นผู้กำหนดวงเงิน
4.   แต่ถ้าสร้างระบบที่จ่ายให้ผู้ป่วยเหล่านี้แล้ว ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลและแพทย์อีก ต้องเรียกแพทย์มาให้การ ต้องไปให้โรงพยาบาลรายงานว่าจะปรับปรุงอย่างไร  ทั้งๆที่ในขณะที่เวลานี้โรงพยาบาลมีขบวนการพัฒนาดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและความเสี่ยงอยู่ทุกโรงพยาบาลอยู่แล้ว  อยู่ดี ๆ ก็ไปเพิ่มภาระให้ทางโรงพยาบาลอีก  โดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่าง ๆ  ของกระทรวงสาธารณสุขมีงานล้นมาก  แต่ก็ตั้งใจทำสุดความสามารถของมนุษย์ (ไม่ใช่ทำชุ่ย ๆ)  แต่ว่า ยิ่งงานมากผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ก็จะมีจำนวนมากเป็นเงาตามตัวและก็ต้องไปให้การต้องเขียนแผนการแก้ไขมากราย ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งนั้น  รักษาผู้ป่วยก็เป็นภาระหนักอยู่แล้ว  ต้องมีภาระเพิ่มเติมอีก  ผลสุดท้ายจะกลายเป็นว่าเราไม่ได้ออกแบบระบบให้แพทย์และโรงพยาบาลอยากจะทำงานช่วยผู้ป่วยให้มากที่สุดเท่าที่จะมีกำลังทำได้   กลับกลายเป็นว่าทำมาก ๆ   ไปทำไม เสี่ยงมากก็มีเรื่อง ต้องเข้าให้การมาก   ต้องเขียนแผนการแก้ไขมาก  สู้ทำน้อย ๆ  ทำโรคง่าย ๆ  ไม่ดีกว่าหรือ  ?
                   ถ้าเมื่อไรแพทย์และโรงพยาบาลทั้งหมดคิดอย่างนี้ผมว่าผู้ป่วยลำบากแน่นอน จึงมีความเห็นว่า อยากจะจ่ายให้ใครเท่าไรก็จ่ายไปเถอะครับ แค่อย่ามาทำให้แพทย์โรงพยาบาลยุ่งไปมากกว่านี้

5.   ถ้ากองทุนมาจากภาษีก็คงจะไม่มีเรื่อง แต่ถ้าต้องไปเก็บจากโรงพยาบาลคนไข้ยิ่งมามากโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายให้กองทุนมาก  ดูมันสวนทางกับความเป็นจริงยังไงก็ไม่รู้   ถ้ายังงั้น ให้มาน้อยๆ ไม่ดีกว่าหรือ? ผู้ป่วยในก็รับตามจำนวนที่มีอยู่  ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งเตียงเสริมไว้ตามระเบียงตามทางเดินก็จะค่อยๆ หายไป  ผู้ป่วยก็จะต้องเดือดร้อนอีก
          ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบัตรทอง ประกันสังคม ที่เป็นทางเลือกของประชาชนก็ต้องเก็บเงินส่งเข้ากองทุน โรงพยาบาลคิดราคาตามต้นทุนอยู่แล้ว ถ้าต้นทุนสูงขึ้นการคิดราคาก็สูงขึ้น  ซึ่งเป็นเรื่องปรกติถ้าต่อครั้งไม่มากนัก คงจะไม่เป็นไร  แต่ถ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยก็จะเดือดร้อนโดยไม่ได้รับอะไรชัดเจน ที่จับต้องได้  เพราะโดยปรกติแล้ว ต้นทุนสูงขึ้น จากการที่มีแพทย์ให้เลือกมากขึ้น  มีเครื่องมือใหม่ๆ ทันสมัยมีสถานที่สะดวกสบายเพิ่มขึ้น  เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถจับต้องได้ และได้รับโดยตรง แต่ต้นทุนสูงขึ้นประเภทนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่จ่ายไป จะไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับมาเลย
   ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า วัตถุประสงค์เดียวและแท้จริง ของผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์นั้น  ต้องการมารักษาโรค ซึ่งอาจจะหายบ้างไม่หายบ้าง  ตายบ้างก็ตามสภาพที่มีความหลากหลาย และมีเงื่อนไขและองค์ประกอบเยอะมากๆ  เราคงไม่ได้มาโดยตั้งใจว่าถ้ามันไม่ได้ตามวัตถุประสงค์  ก็จะมีการตอบแทนให้ในรูปแบบของการช่วยเหลือ และชดเชย  แต่ถ้ามีกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือและชดเชยแล้ว ซึ่งแน่นอนเลยว่า  ผู้ได้รับช่วยเหลือและชดเชยอาจจะมีน้อยครั้ง ซึ่งไม่น่าจะเกิน 1%  ของจำนวน 200 ล้านครั้ง  ของการมารับบริการสาธารณสุข แต่กลับไปปรากฏว่าทำให้เกิดความกังวล  ความไม่แน่ใจ ความไม่เต็มใจ ในการรักษาพยาบาล    ดังนั้น  ประชาชนคนไทยทั้ง 64 ล้านคน ที่ไปรับการรักษาปีละกว่า 200 ล้าน ก็ต้องเป็นผู้เสียประโยชน์อย่างแน่นอน (กรุณาอ่านข้อ 4  อีกครั้งหนึ่ง) แล้วเหตุไฉนจึงจะให้มันเกิดขึ้นละครับ  ช่องทางที่จะให้การช่วยเหลือก็สามารถทำได้ตามข้อ 3  มาเป็นร่าง พรบ.ใหม่ หรือจะเอา ม.๔๑ ซึ่งได้ดูแล 47 ล้านคนมาแก้ไขเพิ่มเติมจนครอบคลุมทั้ง 63 ล้านคน  โดยที่จะเพิ่มเติมเงินเป็นเท่าไรก็ให้สำนักงบประมาณกำหนดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับฐานะของประเทศ
   ข้อคิดข้อเสนอของผมนี้ อาจจะไม่ถูกใจคนบางกลุ่มที่ตั้งใจว่า  ถ้าโรงพยาบาลและหมอทำไม่ดีต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนตามอำนาจศาลเตี้ย (เพราะไม่ได้เอาความรู้เฉพาะวิชาชีพมากำหนดเป็นมาตรฐาน) และนอกเหนือจากนี้แล้วก็อยากที่จะมีอำนาจในการให้โรงพยาบาลเขียนแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงมาให้ดู  (โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นผู้มีประสบการณ์อย่างมากในการบริหารโรงพยาบาลและบริหารความเสี่ยงเลย)
   รีบ ๆ ทำเถอะครับ อย่าให้ความแตกแยกมันเกิดขึ้นและต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ผลกระทบ  พอไม่รู้ก็รู้สึกไม่ชอบใจว่าของดี ๆ อย่างนี้พวกแพทย์ไปต่อต้านมันทำไม   ทั้งหมดนี้เพราะผู้ป่วยไม่ได้ทราบถึงผลกระทบที่ผมกล่าวแล้ว
                ดังนั้นถ้าจะช่วย ก็จ่ายให้เถอะครับ แต่  ขอให้จบลงแค่การจ่าย อย่าไปทำเรื่องยุ่งให้กับโรงพยาบาลและแพทย์อีกเลย

               นายแพทย์เอื้อชาติ  กาญจนพิทักษ์  ”

   จากที่คุณหมอเอื้อชาตินำเสนอมานี้   ท่านก็ได้แสดงความเห็นเป็นจุดยืนของท่านไว้ชัดเจนในตอนท้ายว่า  อยากจะช่วยจะสงเคราะห์อะไรกันท่านก็เห็นด้วย  ขอแต่อย่าให้ไปทำเรื่องยุ่งกับหมอและโรงพยาบาลอีกก็แล้วกัน  ซึ่งก็น่าจะทำได้ในกรอบต่อไปนี้
๑. อย่าเอาความคิดเรื่องความรับผิดจากการรักษาพยาบาลไม่ได้มาตรฐานมา เกี่ยวข้อง เพราะมีระบบฟ้องร้องหรือซื้อประกัน เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว
๒. อาจทำได้โดยคิดเป็นรัฐสวัสดิการ   เช่นคนต้องถูกตัดขาเพราะเป็นเบาหวาน  ก็มีกองทุนของรัฐช่วยเหลือไปเลย   
๓. น่าสังเกตว่า คุณหมอเอื้อชาติไม่ได้แยกแยะระหว่าง  กรณีที่แผลลุกลามมาจากบ้านจนต้องตัดขา  กลับแผลมาลุกลามที่โรงพยาบาลเพราะติดเชื้อ   กรณีหลังนี้เป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเหมือนกับผ่าต้อกระจกแล้วตาบอด     ถ้าแยกแยะเฉพาะกรณีหลังนี้ออกมาจากกรอบคิดสวัสดิการ ก็จะปรากฏเป็นปัญหาการจัดการ“ความเสียหายจากการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะ”   
การชดเชยความเสียหายในกรอบอย่างนี้  ถ้าไม่ต้องการให้ไปทำเรื่องยุ่งกับโรงพยาบาลและหมอเลย    ก็ต้องเข้าสู่ระบบประกันที่ชดใช้ให้โดยไม่ต้องพิจารณาเลยว่าหมอรักษาได้มาตรฐานหรือไม่    เช่นตาบอดจากผ่าต้อกระจกก็จ่ายทันที  ไม่ต้องสอบสวนว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเปล่า ( ร่างกฎหมายของซุ้ม เอ็นจีโอ  ยังซิกแซกแอบกำหนดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานอยู่ )  ถ้าใครยังข้องใจก็ให้ไปว่ากล่าวเอาเอง
๔. ท้ายสุดคุณหมอท่านก็บอกเล่าว่าถ้าภาระใหม่ข้างต้นนี้ตกแก่โรงพยาบาลแล้ว   ถ้าเป็นการรักษาพยาบาลในโครงการ ๓๐ บาท   รัฐก็ต้องแบกรับแทนด้วย   ถ้าเป็นการรักษานอก ๓๐ บาท ก็จะต้องถูกผลักให้ตกแก่คนไข้แน่นอน  คุ้มค่าหรือไม่ทุกคนพร้อมจ่ายหรือไม่ ก็คิดดูเอาเอง
ส่วนเงินเหล่านี้ถ้าตกลงใจจะยอมเสียกันจริงๆ แล้วนั้น    จะจัดการมารวมเป็นกองทุนที่รัฐจัดตั้งแล้วมอบให้กลุ่มเอ็นจีโอแฝงฝังอยู่   หรือจะใช้วิธีออกกฎหมายบังคับให้ไปซื้อประกันกันเอง  เหมือนประกัน พรบ.รถยนต์   ตรงนี้คุณหมอท่านไม่ได้พูดถึง   
ส่วนตัวผมเองนั้นพูดไว้ชัดเจนแล้วว่า  ถ้าต้องเจอกองทุนอิสระมีเอ็นจีโอรับจ๊อบอยู่เต็มไปหมดนี่ผมไม่เห็นว่าจะเลวน้อยไปกว่าราชการที่ตรงไหนเลย  ตรวจสอบก็ไม่ได้....แล้วแถมยังต้องยกย่องอีกต่างหาก
บังคับให้ทุกหน่วยบริการซื้อประกันจากบริษัทรับประกันภัยดีกว่าตั้งกองทุนแน่นอนครับ   ผมเบื่อนักบุญกินสองเด้งอย่างนี้ เต็มทีแล้ว

                                                     ..................................