My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 19 พฤษภาคม 2012, 00:45:13

หัวข้อ: เบื้องหลัง 7 คะแนน ไม่เป็นเอกฉันท์ หักเหลี่ยมหมอ ชิงเก้าอี้เลขาธิการ สปสช.
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 19 พฤษภาคม 2012, 00:45:13
ในที่สุด “นพ.วินัย สวัสดิวร” ก็กลับมายึดเก้าอี้เลขาธิการ สปสช.ต่อเนื่องเป็นวาระที่สองได้เป็นผลสำเร็จ ด้วยคะแนนอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ 22 คะแนน จากทั้งหมด 30 เสียง นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข งดออกคะแนนเสียง 1 เสียง ทำให้ทิ้งห่างอันดับ 2 นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ที่ได้เพียง 7 คะแนนเท่านั้น
       
       คะแนนในการเลือกเลขาธิการ สปสช.ครั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่ 22 คะแนนที่ให้หมอวินัย แต่เป็น 7 คะแนน ที่เทให้หมอสมเกียรติ 7 คะแนนนี้ ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเครือข่ายแพทย์ในนามสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) นำโดย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ขึ้นป้ายใน รพ.ทั่วประเทศต้านคนมีปัญหานั่งเลขาธิการ สปสช.และสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) นำโดยหมอเชิดชู อริยศรีวัฒนา ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีหญิงให้ยกเลิกการสรรหาโดยอ้างว่าไม่โปร่งใส และมีการสัญญาว่าจะให้ ทำให้มีการเลื่อนการเลือกเลขาธิการ สปสช.หลายครั้งหลายหน
       
       อาจกล่าวได้ว่า ทั้ง 2 เครือข่ายถือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ยินดีปรีดากับนโยบาย 30 บาท ตั้งแต่เริ่มแรก ซ้ำยังคัดค้านมาโดยตลอด ถึงขั้นเคยใส่ปลอกแขนดำ เพื่อประท้วงกฎหมายฉบับนี้มาแล้วเมื่อปี 45 ที่สำคัญ ยังชิงชังกลุ่มเอ็นจีโอและแพทย์ชนบท ดังนั้นจึงอาศัยจังหวะร่วมกับกลุ่มการเมืองมาเป็นพวก และเกือบทำได้สำเร็จ
       
       เดิมหมอกลุ่มนี้ ถูกมองว่า เป็นเพียงตัวป่วนในวงการสาธารณสุข แต่เบื้องหลังจับมือแน่นกับกลุ่มแพทยสภา สมาคม รพ.เอกชน ประกอบกับฝ่ายการเมืองต้องการลดบทบาทสายแพทย์ชนบทที่ครอบงำองค์กรตระกูล ส.จึงหันไปจับมือหนุนแพทย์อีกกลุ่ม และพยายามเข้ากุมอำนาจในบอร์ด สปสช.โดยเฉพาะในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เขี่ยสายแพทย์ชนบทกระเด็นไม่มีเหลือ กระทั่งบอร์ด สปสช.กลายเป็นบอร์ดที่การเมืองกุมได้หมด
       
       แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อฝ่ายการเมืองเริ่มรู้ตัว เนื่องจากบรรยากาศในที่ประชุมบอร์ด สปสช.ทุกครั้ง แพทย์กลุ่มนี้ไม่เอาทุกเรื่องที่วิทยาเสนอ 5-6 เดือนที่ผ่านมา ย่อมทำให้วิทยา มองออกว่า ถ้าจะให้ 30 บาทเดินหน้า เพื่อสร้างผลงานให้เข้าตา เป็นฐานเพื่อสร้างอนาคตและบารมีทางการเมืองต่อไป เขาต้องต่อยอด 30 บาทให้ได้ แม้แต่เรื่องฉุกเฉิน 3 กองทุน ในที่ประชุมบอร์ดสปสช.ก็มีเหตุสะดุดหลายประการ
       
       ขณะที่ นพ.วินัย เองก็พยายามสร้างผลงานให้เข้าตา และแสดงชัดเจนว่า ยอมทุกอย่างต่อฝ่ายการเมือง แว่วว่า ถึงขั้นไปหาทักษิณที่ลาว เมื่อช่วงสงกรานต์มาแล้ว ขณะที่การเมืองไม่มีตัวเลือก ที่สำคัญ อาจยังไม่อยากหักหน้ากลุ่มแพทย์ชนบทและเอ็นจีโอ การเลือกหมอวินัยให้เป็นต่อ ก็เป็นทางเลือกที่ดี ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ถึงเวลาต้องเลือกเลขาธิการคนใหม่ ผู้ที่แพทย์สายนี้ส่งท้าชิง ก็เป็นแพทย์ที่มีประวัติ ไม่เอาทักษิณ ทำให้ฝ่ายการเมืองเกิดความไม่มั่นใจ แน่นอนว่า 7 คะแนน ที่เลือก นพ.สมเกียรติ เป็นสายกลุ่มแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่เพิ่งได้รับเลือกเข้าไป นั่นเอง
       
       ด้วยประสบการณ์การเมืองจากการเป็นประธานวิปฝ่ายค้าน แม้ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่ของกระทรวงหมอ ที่อาจเพลี่ยงพล้ำวิทยายุทธ์ของบรรดาคุณหมอ ก็ตัดสินใจได้ว่า จะเลือกจับมือกับใคร ระหว่างกลุ่มหมอที่ก่อตั้ง 30 บาท หรือ 2 เครือข่ายหมอ ที่คัดค้าน 30 บาทมาโดยตลอด
       
       ดังนั้น 7 คะแนน ที่เลือกหมอสมเกียรติ จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เป็นสัญญาณส่งถึงใครบางคนที่เชื้อเชิญหมอกลุ่มนี้มาเป็นบอร์ด สปสช.ได้ว่า เดินเกมผิด ทำให้เสียรังวัดกับบารมีที่สร้างมาในสธ. ด้วยข้อหาเลือกคบคนผิด! ที่สำคัญ เป็นสัญญาณ บอกว่า วิทยา “เอาไม่อยู่” (อีกแล้ว) กับเครือข่ายกลุ่มหมอที่ตัวเองเป็นฝ่ายเชื้อเชิญเข้ามาเองกับมือ
       
       ทีมข่าวสาธารณสุข
ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 พฤษภาคม 2555


หัวข้อ: Re: เบื้องหลัง 7 คะแนน ไม่เป็นเอกฉันท์ หักเหลี่ยมหมอ ชิงเก้าอี้เลขาธิการ สปสช.
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 19 พฤษภาคม 2012, 00:47:43
สืบเนื่องจากเมื่อ 17 พ.ค. 2555 มีข่าวเรื่อง นพ. วินัย สวัสดิวร กลับมายึดเก้าอี้เลขาฯ สปสช. ต่อ อีกวาระหนึ่ง แล้วพาดพิงถึงดิฉันคือ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธาน สพศท. ว่าได้ใส่ปลอกแขนดำต่อต้าน พ.ร.บ. สปสช. เมื่อปี 45และคัดค้าน 30 บาทมาตลอดนั้น ผิดทั้งเพ ท่านควรทำการบ้านมากกว่านี้ในฐานะสื่ออย่าได้จับแพะชนแกะอย่างนี้อีกนะคะเพราะทำให้ดิฉันถูกเข้าใจผิดอย่างแรง ข่าวเรื่องเหล่านี้มีบันทึกอยู่ในสื่อค้นหาได้ค่ะ ประเด็นแรกเรื่องคัดค้าน 30 บาทนั้นมีแต่อดีตบอร์ดและเลขาฯ สปสช. ในเวลานั้นเป็นคนค้านอย่างแข็งขันและบอกว่าได้เงินเพิ่มเพียง 1-2 พันล้านเท่านั้น ถ้าเอา 30 บาท กลับมา แต่ดิฉันได้เพียรพยายามส่งหนังสือถึงประธานบอร์ด(รมต.วิทยา บุรณศิริ) และนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ให้เอา " 30 บาทรักษาทุกโรค" คืนกลับมา ไปถามท่านเหล่านั้นได้ถ้าไม่เชื่อ ประเด็นที่2เรื่องสวมปลอกแขนดำค้าน พ.ร.บ. สปสช. ปี 45 นั้น ดิฉันไม่เคยทำเลย แต่สวมเสื้อดำค้าน พ.ร.บ.คุมครองผู้เสียหายเมื่อปี 2552 ต่างหาก คนละเรื่องเลยทีเดียวค่ะ

          ส่วนเรื่องต้านคนมีปัญหามานั่งเลขาฯ สปสช.เป็นเรื่องที่ดิฉันทำแน่นอน คุณคิดว่าเป็นการเหมาะสมหรือคะที่จะเอาคนมีปัญหามาบริหารกองทุน สปสช. ปีละกว่าแสนล้านของประชาชนเนี่ยค่ะไม่น่าจะเข้าใจยากอะไรในเรื่องที่คนทั่วไปก็คาดหวังเช่นกัน

          การที่ นพ.วินัยได้พยายามกลับมาอย่างสุดชีวิตเหลือเกินนั้นก็น่าสงสารเห็นใจเพราะท่านเองอาจรู้ตัวว่าได้ก่อปัญหาใดค้างไว้มากมายทั้งที่สังคมรู้และไม่รู้ จึงต้องรีบกลับมาแก้ไขโดยเร็วเพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาแผ่นดินในอนาคตก็เป็นได้ พวกเรามิได้มีความขัดแย้งเป็นส่วนตัวกับท่านเลย ก็เห็นใจ เอาใจช่วยให้ท่านแก้ไขปัญหาที่ทิ้งไว้ได้สำเร็จโดยไวก็แล้วกันค่ะ เราจะช่วยจับตาดูอย่างละเอียดนับแต่นาทีแรกที่ท่านเริ่มงานรอบใหม่นี้  ส่วนเรื่องที่ว่าดิฉันเป็นตัวป่วนในวงการสาธารณสุขไม่น่าจะใช่ เราเป็น"ตัวปลุก"ต่างหาก ให้คนสาธารณสุขตื่นตัวขึ้นมาปกป้องระบบไม่ให้ล้มหายตายจากไปต่างหาก และพวกเราก็เตือนสติอดีตบอร์ดและเลขาฯ สปสช.ด้วยดีทุกครั้งในเรื่องที่ว่าพวกท่านกำลังทำลายระบบสาธารณสุขของประเทศไทยอยู่ขณะนั้น  ถ้ามันจะเสียดแทงขั้วหัวใจบ้างก็ขอให้รู้ว่า ยาดีอาจรสขมขื่นแต่ก็ช่วยให้หายจากโรค"ตัวกิน"ได้นะคะ น่าจะขอบคุณพวกเราด้วยซ้ำที่กล้าหาญบอกเตือนสติท่านคนอื่นไม่กล้าเตือนหรอกค่ะ เพราะปกติพวกท่านไม่เคยรับฟังใครในประเทศนี้เลย หวังดีแท้ๆ และดิฉันไม่ได้มีฤทธิ์มากมายเหมือนในบทความว่าไว้หรอกค่ะ ก็แค่หมอธรรมดาๆคนหนึ่งอยู่บ้านนอกชายแดนเขมรเป็นเซราะกราวคนหนึ่งเท่านั้นเองค่ะ ขอให้เจ้าของบทความดังกล่าวเข้าใจให้ถูกต้องด้วยค่ะ และท่านเองก็เป็นคนหนึ่งที่สามารถตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่ดิฉันต้านอยู่โดยไม่รู้ตัวได้ตลอดเวลานะคะอย่าเผลอก็แล้วกัน ลองเชื่อดิฉันสักครั้งจะได้ปลอดภัยทั้งท่านและญาติมิตร

      จากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ยิ่งชวนให้ตระหนักว่าคนที่จะแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขได้ต้องคนสาธารณสุขทุกคนช่วยกันอย่างเต็มที่ เพราะจะรอผู้มีอำนาจหน้าที่อาจไม่ทันการเพราะมีมารยาของผู้อยากได้อำนาจในวงการนี้คอยหาสิ่งเย้ายวนมาล่อหลอก ผู้มีอำนาจและบิดเบือนความจริงให้เข้าใจผิดทุกเมื่อที่มีโอกาส จนผู้มีอำนาจอาจหลงอยู่ในมายาจนมาช่วยพวกเราไม่ทันเวลา ก็ได้

       ดิฉันทำทุกอย่างเพื่อให้พวกเราชาวไทยพ้นจากอันตรายจากผู้หลงผิดคิดว่าพวกเขาเป็นเจ้าของวงการสาธารณสุขของประเทศนี้ เพราะรักทุกคนอยากเห็นผู้หลงผิดกลับใจไม่ทำสิ่งผิดต่อไปเรายินดีต้อนรับถ้าท่านคิดได้เลิกทำลายระบบและเห็นใจประชาชนอย่างจริงใจขออนุโมทนาจิตล่วงหน้าคะ   

ด้วยรัก   
พญ. ประชุมพร บูรณ์เจริญ