My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 16 กันยายน 2022, 05:22:18

หัวข้อ: แพทย์วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการผิดพลาด แพทย์ต้องรับผิดหรือไม่
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 16 กันยายน 2022, 05:22:18
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2557

แม้อาการป่วยของโจทก์จะเกิดขึ้นจากความผิดปกติในร่างกายของโจทก์เอง โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นหรือกระทำการใด ๆ ให้โจทก์เกิดโรคมะเร็งก็ตาม แต่การแจ้งผลการตรวจผิดพลาดทำให้อาการโรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ อีกโดยตามใบมรณบัตรยังระบุว่าโรคมะเร็งของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้โจทก์ถึงแก่ความตายในที่สุด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงพยาบาลเอกชน จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 โจทก์ไปรับบริการการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของโจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองส่งผลการตรวจตามรายงานการตรวจสุขภาพ ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นแพทย์ผู้ตรวจ ระบุผลการตรวจเอกซเรย์ ในข้อที่ 4 ว่า ตรวจเอกซเรย์ช่องท้องส่วนบน U/S upper Abdomen เพื่อตรวจดูตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน ม้าม ไตทั้งสองข้างปกติ ครั้นต่อมาประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2550 โจทก์มีอาการปวดท้องและท้องอืด จึงไปตรวจรักษากับแพทย์ที่โรงพยาบาลธนบุรี 1 โรงพยาบาลธนบุรี 2 และโรงพยาบาลราชวิถี กลับตรวจพบว่า โจทก์มีก้อนเนื้อมะเร็งที่บริเวณไตข้างขวา จึงเข้ารับการรักษาโดยผ่าตัดไตข้างขวาออก คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นอกจากมรณบัตรที่แสดงสาเหตุความตายของโจทก์จะเป็นเอกสารประกอบการยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ มิใช่พยานหลักฐานในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 จะนำมากล่าวอ้างในฎีกาได้แล้ว แม้หากจะรับฟังถึงสาเหตุการตายของโจทก์ตามมรณบัตรฉบับนี้ก็ยังเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่า ผลแห่งการระบุในรายงานการตรวจสุขภาพ ทำให้โรคมะเร็งไตของโจทก์ลุกลามแพร่กระจายไปยังสมองเป็นเหตุให้ในที่สุดโจทก์ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งสมองนั่นเองเพราะปรากฏตามบทความทางวิชาการ ด้วยว่าอาการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ มะเร็งไตอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ อันได้แก่ปอด กระดูก หรือสมองก็ได้ จึงยิ่งเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เห็นถึงการร่วมกันทำละเมิดของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ให้มีน้ำหนักเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าจำเลยทั้งสองมิได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552

จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษาก็ตาม ก็หาใช่วิสัยของบุคคลผู้มีอาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำไม่ ทั้งห้องเวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร ตามพฤติการณ์ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเองแต่อย่างใด ถือว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการ ทำให้โจทก์เกิดอาการแพ้ยา อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษา แม้เป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์ก็ตาม แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่

ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 โดยไม่คำนึงว่าโจทก์ประกอบอาชีพหรือไม่ แพทย์ซึ่งเป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า อาการแพ้ยาของโจทก์อาจถึงขั้นเสียชีวิต กระจกตาดำข้างซ้ายของโจทก์เป็นแผลเปื่อยอักเสบบางลงอาจเป็นสาเหตุให้กระจกตาทะลุ ทำให้มองเห็นไม่ชัด ต้องเปลี่ยนกระจกตาดำจึงจะกลับมามองเห็นได้ ประกอบกับขณะเกิดเหตุโจทก์ตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานที่โจทก์รู้สึกได้ตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการรักษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินคือ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย 400,000 บาท ค่าเสียหายสมรรถภาพในการมองเห็น 800,000 บาท และค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ 800,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 2,000,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2542

จำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์และเป็นผู้ชำนาญพิเศษ ในแขนงสาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่งจากประเทศญี่ปุ่น จำเลยที่ 2 กระทำการผ่าตัดหน้าอกโจทก์ ที่มีขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลงตามสภาพปกติที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 หลังผ่าตัดแล้วจำเลยที่ 2 นัดให้โจทก์ไปผ่าตัดแก้ไขที่คลีนิกจำเลยที่ 2 อีก 3 ครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น โจทก์จึงให้แพทย์อื่น ทำการรักษาต่อโดยเดิมจำเลยที่ 2 ทำการผ่าตัดหน้าอกในวันที่ 12 เมษายน 2537 รักษาตัว ที่โรงพยาบาล 1 วัน วันที่ 13 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 อนุญาตให้โจทก์กลับบ้าน วันที่ 15 เมษายน 2537 จำเลยที่ 2 เปิดแผลพบมีน้ำเหลืองไหลบริเวณปากแผลทรวงอกไม่มีร่องอก มีก้อนเนื้ออยู่บริเวณ รักแร้ด้านขวา เต้านมด้านซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าด้านขวา และส่วนที่เป็นหัวนมจะมีบาดแผลที่คล้ายเกิดจากการถูกไฟไหม้ จำเลยที่ 2 รับว่าเกิดจากการผิดพลาดในการผ่าตัดแล้วแจ้งว่าจะดำเนินการแก้ไขให้ จำเลยที่ 2นัดให้โจทก์ไปทำแผลดูดน้ำเหลืองออกจากบริเวณทรวงอก และได้มีการผ่าตัดแก้ไขทรวงอกอีก 3 ครั้งแต่โจทก์เห็นว่าทรวงอกไม่มีสภาพดีขึ้น ประกอบกับระยะเวลาล่วงเลยมานานจึงเปลี่ยนแพทย์ใหม่ และแพทย์ที่ทำการรักษาต่อจากจำเลยที่ 2 ได้ทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขทรวงอก 3 ครั้ง จนมีสภาพทรวงอกดีขึ้นกว่าเดิม การที่แพทย์ต้องทำการผ่าตัดแก้ไขอีก 3 ครั้ง แสดงว่าจำเลยที่ 2 ผ่าตัดมามีข้อบกพร่องต้องแก้ไขยิ่งกว่านั้นการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมด้านเลเซอร์ผ่าตัด แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ การที่จำเลยที่ 2 ผ่าตัดโจทก์เป็นเหตุให้ต้องผ่าตัดโจทก์เพื่อแก้ไขถึง 3 ครั้ง ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช้ความระมัดระวังในการผ่าตัดและไม่แจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการรักษาระยะเวลาและกรรมวิธีในการดำเนินการรักษาจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์

สรุป

แพทย์เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เป็นพิเศษ เมื่อได้วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการผิดพลาด แพทย์ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษา ตามความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพแพทย์แล้ว

June 27, 2020
https://www.lawyers.in.th/2020/06/27/the-doctor-diagnoses-the-disease-and-orders-treatment-for-the-error/