My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 05 กรกฎาคม 2022, 20:49:06

หัวข้อ: หมอเด็กชี้ กัญชาอันตรายกับเยาวชนมากกว่าที่รัฐบาลคิด
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 05 กรกฎาคม 2022, 20:49:06
เด็กอายุ 6 ปีคนหนึ่งใน กทม. ทานขนมผสมใบกัญชาแล้วมีอาการสมาธิสั้น และซนผิดปกติ ส่วนเด็กอายุ 15 ปีครึ่งที่ป่วยภาวะซึมเศร้า เผลอสูบบุหรี่ผสมกัญชา 2 มวน จนคลุ้มคลั่งถือมีดวิ่งไล่แทงผู้คน

นี่เป็นกรณีผู้ป่วยเด็กจากอิทธิพลของกัญชาที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้รับรายงานในช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนเกิดความวิตกว่า การปลดล็อกกัญชา-กัญชง ออกจากยาเสพติดให้โทษผิดกฎหมาย ที่เริ่มมีผลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. กำลังส่งผลต่อเยาวชนไทยมากขึ้น จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเด็ก รวมถึงตัวผู้ปกครองเอง

รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และกุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง และอนาคตผู้ป่วยเด็กจากกัญชาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขา และเครือข่ายนักวิชาการและกุมารแพทย์เคยเตือนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ก่อนปลดล็อก "กัญชาเสรี" เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. แล้ว

"เข้าใจว่าเขา (รัฐบาล) ไม่ได้ตั้งใจให้เด็กเข้าถึงกัญชา แต่เขาไม่ได้ปกป้องเด็กและเยาวชน...ผู้ใหญ่กำลังทำอะไรกับเด็ก ๆ" รศ.นพ. สุริยเดว กล่าวกับบีบีซีไทย

สิ่งที่รัฐบาลทำได้ในตอนนี้ คือ "รัฐบาลผูกปมปัญหาขึ้นมา กล้าไหมที่จะกลับไปล็อก (กัญชา) ใหม่ คุณต้องไปออกกฎเกณฑ์กติกาให้มันเรียบร้อย"

สอดคล้องกับความเห็นของ พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด โรงพยาบาลเมดพาร์ค ซึ่งเพจเฟซบุ๊กของเธอมีผู้ติดตามกว่า 4 แสนคน เธอมองว่า กัญชาควรใช้เฉพาะทางการแพทย์อย่างเดียว "แต่เป็นแพทย์มา 20 กว่าปี ก็ไม่เคยเจอกรณีที่ต้องใช้กัญชารักษา"

คำกล่าวของ รศ.นพ. สุริยเดว และ พญ. สุธีรา สวนทางกับคำกล่าวของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ. ภายหลังออกประกาศ สธ. ให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. หรือภายหลังเปิดเสรีกัญชามา 9 วัน โดยนายอนุทิน ระบุว่า "นี่เป็นการควบคุมแทบจะเรียกว่าครอบจักรวาลแล้ว"

ห้ามผสมกัญชาในอาหาร-ติดฉลากเตือนชัดเจน
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ถึงผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น โดยเสนอรัฐบาลให้มีมาตรการควบคุม แบ่งเป็น 4 ข้อ ดังนี้

1. เห็นควรให้กำหนดการใช้กัญชาเฉพาะกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น โดยอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

2. ต้องมีมาตรการห้ามมิให้มีการใช้กัญชา และสารสกัดจากกัญชา เป็นส่วนประกอบในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มทุกชนิด เนื่องจากประชาชนรวมทั้งเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตรอาจเข้าถึงได้โดยไม่ตั้งใจ และไม่สามารถควบคุมปริมาณกัญชาในส่วนประกอบที่บริโภคได้

3. ในระยะเร่งด่วน ระหว่างรอร่างกฎหมาย เสนอให้มีมาตรการควบคุมดังนี้

     3.1 ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม กำหนดให้มีเครื่องหมาย/ข้อความเตือนอย่างชัดเจน โดยระบุว่า "กัญชามีผลทำลายสมองเด็ก งดจำหน่ายให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร"

     3.2 ห้ามโฆษณา จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายรวมถึงนำเด็กและเยาวชนมามีส่วนร่วม และจัดจำหน่าย

     3.3 ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนเรื่องโทษของกัญชากับสมองเด็กและวัยรุ่น เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ว่ากัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้

4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และนำมาเปิดเผยสู่สาธารณชน

แถลงการณ์ของราชวิทยาลัยฯ ออกมาพร้อมกับรายงานถึงผู้ป่วยเด็กที่ได้รับผลกระทบ หรืออาการป่วยจากกัญชา เฉพาะที่แจ้งมาถึงทางราชวิทยาลัยฯ เพิ่ม 3 ราย ระหว่างวันที่ 27-30 มิ.ย. ดังนี้ และรวมแล้วระหว่างวันที่ 21-30 มิ.ย. พบผู้ป่วยเด็กจากกัญชาทั้งหมด 9 ราย แบ่งเป็นเด็กอายุ 0-5 ปี 1 ราย, อายุ 6-10 ปี จำนวน 1 ราย, อายุ 11-15 ปี จำนวน 4 ราย และ 16-20 ปี จำนวน 3 ราย และเกือบทุกคนเป็นผู้ชาย

"ผสมกัญชากันมั่วซั่วไปหมด"

รศ.พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู เลขาอนุกรรมการจัดทำข้อแนะนำและติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็ก ของราชวิทยาลัยฯ ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีมุมมองที่ "เห็นด้วย" กับกระทรวงสาธารณสุขถึงการปลดล็อกกัญชา-กัญชง ในฐานะ "สมุนไพรควบคุมและใช้ในทางการแพทย์" เพื่อรักษาโรคอาทิ ลมชักชนิดดื้อยา และผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น

เธอยังมองว่าเด็กเข้าถึงและเสี่ยงบริโภคกัญชาเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มากกว่าเหล้าและบุหรี่ จากอิทธิพลของการเสพสื่อและชมโฆษณาถึงสรรพคุณของกัญชาว่า "ส่งเสริมสุขภาพ นอนหลับดีขึ้น ลดไขมันในเส้นเลือด กินอาหารได้มากขึ้น"

กุมารแพทย์แทบทุกคนที่ พญ. สุธีรา ได้พูดคุยถึงอันตรายของกัญชาในเด็ก มองว่า การเปิดกัญชาเสรีของไทย "ไร้การควบคุมมากเกินไป" พร้อมยกตัวอย่างที่เธอนำไปโพสต์ในเพจ "สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ" ที่ได้รับฟังมาจิตแพทย์เด็กคนหนึ่งมาอีกทีว่า

กรณีนี้ พญ.สุธีรา ซึ่งยังเป็นผู้ให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มองว่า "คนขายเอา (กัญชา) ไปผสมมั่วซั่วไปหมดเลย เข้าถึงง่ายมาก แม้แต่ในร้านสะดวกซื้อ"

"เด็กก็อยากรู้อยากเห็น ในความเป็นจริง กินไปแม้แต่หนึ่งโดสก็ส่งผลกระทบแล้ว ถ้ากัญชาจะเสรีขนาดนี้ อนาคตของประเทศชาติก็คงแย่"

พัฒนาการเด็กไทยในยุคกัญชาเสรี
รศ.นพ. สุริยเดว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น อธิบายว่า เด็กและเยาวชนไม่ควรรับประทานกัญชาเลย ไม่ว่าจะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพียงเพราะความบังเอิญ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว

ประการแรก เซลล์สมองของเด็กและวัยรุ่นไวต่อสิ่งเร้า หากบริโภคกัญชาแม้เพียงเล็กน้อย จะบ่มเพาะสมอง จนสุ่มเสี่ยงทำให้เข้าสู่วงจรของการติดยาเสพติดได้

ประการที่สอง การบริโภคกัญชาจะกระทบต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการแพ้ และเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอากาศ รวมถึงส่งผลในมิติการตัดสินใจ และการดำเนินชีวิตของเยาวชนได้

ดังนั้น รศ.นพ. สุริยเดว มองว่า การโฆษณา การกล่าวถึงสรรพคุณต่าง ๆ ของกัญชา ยิ่งเป็นการเชื้อเชิญให้เยาวชน "อยากรู้-อยากลอง"

และแม้จะมีประกาศ สธ. ออกมาห้ามการจัดจำหน่าย แต่ รศ.นพ. สุริยเดว ชี้ว่า นี่เป็นคำสั่งเชิงระบบ มีผลกับคนที่อยู่ในระบบ "แล้วมีประชากรแค่ไหนที่อยู่นอกระบบ?"

ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย นำไปสู่การถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ตามราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ นับแต่รัฐบาลไทยปลดล็อกกัญชา เกิดข้อถกเถียงถึงผลกระทบของกัญชาไม่เพียงแต่ในด้านสุขภาพ กัญชาในรั้วโรงเรียน อันตรายของการใช้กัญชาในปริมาณเกินความเหมาะสม ไปจนถึงความเสี่ยงถูกลงโทษทางกฎหมายในต่างแดน หากพลั้งเผลอพกพากัญชาเดินทางเข้าประเทศที่ยังกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย ไปจนถึงโอกาสที่ศิลปินเกาหลีที่คนไทยหลายคนชื่นชอบ จะยกเลิกเดินทางมาไทยเพราวิตกว่าจะเผลอรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา

บีบีซีไทย ได้รวบรวมกระแสความวิตกในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นที่พูดถึงกว้างขวางในสังคมออนไลน์มาดังนี้

สถานทูตไทยประกาศเตือน ฝ่าฝืนนำเข้ากัญชา-กัญชงมีโทษตามกฎหมาย

สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ทยอยออกประกาศตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มิ.ย. เตือนคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศ มิให้นำกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวเข้ามาในประเทศ หากฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายทั้งโทษปรับ จำคุก ทั้งจำทั้งปรับ หรือห้ามไม่ให้เดินทางเข้าประเทศอีกขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

ส่วนโทษรุนแรงที่สุดของอินโดนีเซียและสิงคโปร์กรณีลักลอบค้า นำเข้า หรือส่งออก ผู้กระทำผิดอาจได้รับโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

รับฝากของเข้าประเทศอาจตกเป็นเหยื่อกัญชาสอดใส้

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งทวีตข้อความเมื่อวันที่ 3 ก.ค. เตือนภัยถึงผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศแล้วรับฝากของจากคนรู้จัก ให้ตรวจสอบสิ่งของให้ดีเพราะอาจเจอของผิดกฎหมายอย่างกัญชาสอดใส้ได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ผู้รับฝากต้องแบกรับไว้เองหากถูกตรวจสอบพบสิ่งผิดกฎหมายที่ประเทศปลายทาง

เมื่อ 4 ก.ค. น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศเตือนคนไทยห้ามนำเข้ากัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของพืชชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ โดยยืนยันว่าการปลดล็อกกัญชา-กัญชง มีผลบังคับใช้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และขอให้ประชาชนระมัดระวังการรับฝากสิ่งของผิดกฎหมายเข้าไปในประเทศต่าง ๆ ห้ามรับฝากสิ่งของจากผู้อื่นโดยเด็ดขาดแม้กระทั่งจากญาติพี่น้องเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ายาเสพติด

แฟนคลับกังวล กัญชาเสรีอาจทำศิลปินเกาหลีไม่กล้ามาไทย

ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางส่วนแสดงความกังวลว่าการเปิดกัญชาเสรีจะทำให้ศิลปินเกาหลีไม่กล้ามาจัดแสดงหรือทำงานในไทย เนื่องจากเสี่ยงรับประทานหรือได้รับสารจากกัญชาโดยไม่รู้ตัวและอาจถูกตรวจพบภายหลัง โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีกฎหมายห้ามประชาชนเสพกัญชาหรือสารเสพติดทุกชนิดอย่างเข้มงวดแม้จะอยู่ในเขตประเทศที่กัญชาถูกกฎหมายก็ตาม ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเมื่อเดินทางกลับประเทศและตรวจสอบพบ โดยถือว่ากฎหมายเกาหลีใต้มีผลบังคับใช้กับพลเมืองเกาหลีใต้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ประเทศใด

5กค2565
BBC News ไทย